ง่วงคือเงา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : “ง่วงนอนเป็นเวทนา”
กราบนมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพอย่างสูง
๑. ความง่วงเป็นเวทนาอย่างหนึ่งใช่ไหมคะ
๒. ขอให้หลวงพ่อเมตตาอธิบายการดูความง่วงขณะฝึกหัดภาวนา เมื่อคราวง่วงนอน ล้างหน้าก็แล้ว เปลี่ยนอิริยาบถก็แล้ว ก็ยังสู้ไม่ไหว สุดท้ายก็ยอมนอน
ถ้าจะดูมันไปเลย ไม่ทราบจะจับจุดที่ตรงไหนเจ้าคะ เคยได้ยินแต่ครูบาอาจารย์ท่านสอนให้ดูทุกขเวทนาในร่างกายเวลาภาวนา แต่ความง่วงนั้นลูกยังสงสัยอยู่ จึงกราบเรียนถามหลวงพ่อเพื่อเป็นความรู้ และฝึกหัดตนเองต่อไปเจ้าค่ะ
ตอบ : นี่นะ ความง่วง ความง่วงเป็นเวทนาอย่างหนึ่งหรือไม่ ถ้าพูดถึงโดยรวมนะ โดยรวมมันเป็นเวทนาไหม
ถ้าเป็นความรู้สึก มันก็เป็นเวทนา เพราะเวทนามันจะมีเวทนาอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด เห็นไหม เวทนากาย เวทนาจิต แต่ความง่วงมันก็เป็นความง่วง เพราะความง่วง มันไม่พอใจ หงุดหงิดก็เป็นเวทนา เวทนาสุข ทุกขเวทนา
“ความง่วงเป็นเวทนาอย่างหนึ่งหรือไม่”
เป็นความรับรู้นี่ มันมีเวทนารับรู้ มันถึงรู้ว่าง่วง แต่ถ้าไม่มีเวทนารับรู้นะ ง่วงเป็นเรา เราง่วง เราก็สัปหงกโงกง่วงอยู่นั่นน่ะ นั่นคือความง่วง ฉะนั้น ความง่วง เวลาภาวนาไปแล้ว ความง่วง มันเกี่ยวกับบางคนนะ บางคนเขาอดนอนได้นาน อย่างเช่นเราเดินทางบ่อย พวกโชเฟอร์ขับรถ เขาบอกเขาจะนั่งได้ ๒ วัน เขานั่งได้นะ พวกขับรถเขาจะฝึกหัด นั่งได้ ๒ วันเลย ๑ วัน ๑ คืน เขาจะนั่งได้ตลอดเวลาเลย แล้วก็ถามว่า แล้วทำอย่างนี้ได้อย่างไร
เขาบอกอยู่ที่การฝึก เขาจะฝึกหัดอย่างนั้น เพราะว่าเวลาเขาเดินทางไกล รถ เวลาเขาขับรถทางไกล เขาจะนั่งได้ ๑ วัน ๑ คืน นั่งได้สบายๆ เลย เขายังนั่งได้เลย เออ! เราก็ เออ! แต่เกิดจากการเขาฝึกนะ
แต่อย่างของเรา เวลาเราปกติ คนเราปกติบางคน บางคนก็ง่วงนอน บางคนก็ขี้เซา บางคน ไอ้กรณีเขาบอกว่า “ความง่วงเป็นเวทนาอย่างหนึ่งหรือไม่”
เราบอก ความง่วงมันเป็นจริตนิสัยของคน เพราะว่านักปฏิบัติเขาบอกว่า ไอ้พวกง่วงนอน ไอ้พวกนอนตัวยาวๆ เขาบอกว่าอดีตชาติเป็นงู เขาว่าอย่างนั้นนะ พวกงู พวกตะเข้ พวกนี้อดีตชาติเป็นอย่างนั้น มันถึงจะนอนอยู่อย่างเดียวนั่นน่ะ
อันนี้เราบอกว่า ถ้ามันเป็นจริตนิสัย คือว่าพันธุกรรมมันเป็นอย่างนั้น ถ้าพันธุกรรมเป็นอย่างนั้น ไอ้พวกง่วงเหงาหาวนอน พวกที่เขาเป็นอย่างนั้น เขาเคยเป็นอย่างนั้นใช่ไหม
แต่ถ้าเรา อดีตชาติเราเป็นเทวดา เราเป็นผู้ที่จิตใจดีงามมา มันกลับมาเกิดในชาติปัจจุบันนี้มันก็เป็นปกติ คำว่า “ปกติ” บางคนเกิดมาชาตินี้แล้ว แบบว่าตื่นตัวตลอดเวลา มีสติตลอดเวลา เขาให้ดูอย่างนี้ ให้ดูว่า เกิดมาจากภพข้างล่างกับเกิดมาจากภพข้างบน แล้วดูจริตนิสัย นี่เวลาเขาดูเรื่องการปฏิบัติ เขาดูกันตรงนั้น
ฉะนั้นถึงบอกว่า ไอ้ความง่วงนี่เป็นเวทนาอย่างหนึ่งหรือไม่
ถ้ามันเป็นกับเรา นิสัยเราเป็นแบบนั้น มันก็จะอยู่กับเราตลอดไป มันเหมือนคนน่ะ เวลาคนออกไปในที่มีแสงมันจะมีเงา ถ้ามีเงา เราหลบจากแสง เงาก็ไม่มี ถ้าเราออกไปกลางแสงแดด มันจะมีเงา
เราจะบอกว่า ความง่วงกับจิตมันก็มาด้วยกัน ความง่วงมันก็เป็นเงา ถ้าจิตของเรา อาการของใจมันก็เป็นเงา ไอ้ความง่วง ความง่วงก็คือเงา ถ้าเป็นเงา แล้วเงามันหายไปได้ไหม ได้
แล้วบอกความง่วงเป็นเวทนา
เราบอกว่า ง่วงก็คือเงา เงาของนามธรรม เงาของนามธรรมมันเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ง่วงเหงาหาวนอนนี่แหละ แล้วเราจะแก้อย่างไร
ถ้าแก้ ถ้าเป็นพระปฏิบัติ ถ้าแก้ สูตรสำเร็จของเราเลย ของกรรมฐานเลย...อดนอนผ่อนอาหาร
อดนอนมันจะแก้ง่วงนอนได้อย่างไร
กรณีไอ้เรื่องนอน เราเคยตั้งแต่ก่อนบวช เรามีเพื่อน แม่ของเพื่อนเขาบอกว่า เขาทำราชการ เขาบอกเขาง่วง เขาชอบนอน แล้วเขานอน เขาจะนอนให้หายง่วงนอน เขาบอกเขาก็ลองดูนะ นอนอยู่อย่างนั้น นอนอย่างไร ยิ่งนอนมันก็นอนต่อไป
นี่พูดถึงว่า เวลาเราบวชแล้วเขาถามว่าเขาจะแก้อย่างไร เขาจะแก้อย่างไร
อ้อ! คนอย่างนั้นก็มี แต่ของเรานี่ไม่อย่างนั้น ของเรา เราตื่นตัวตลอดเวลา แต่เวลาตื่นตัวตลอดเวลา เวลาเรานั่งนานๆ ไป ที่บอกว่าเราตกภวังค์ ๗-๘ ชั่วโมง มันก็อยู่ของมันได้ แต่เวลาออกจากภาวนามานี่ โอ้! ทำไมจีวรเปียกๆ วะ ดมดู โอ้โฮ! กลิ่นน้ำลาย แสดงว่าเอ็งหลับ
ทั้งๆ ที่มันยังอหังการว่าฉันนี่ภาวนาเก่งนะ อหังการมาก ฉันทำได้ แล้วพอทำได้ เพราะพอมันลงภวังค์ไปแล้วมันก็หายไปเลย พอหายไปเลย เราไม่รู้เรื่อง เวลาสะดุ้งตื่นขึ้นมา แล้วพอออกมามันก็ภูมิใจ มันภูมิใจนะ ความภูมิใจคือกิเลสมันบังเงา มันบอกว่ากิริยาที่เรานั่ง ๗-๘ ชั่วโมงเป็นคนเก่ง เราทำอะไรได้ทุกอย่าง เราเป็นคนเก่ง ความเก่งก็คืออหังการไง แล้วมันเป็นความจริงไหม
แล้วถ้ามันเป็นความจริง เวลาพอเรามาแก้ของเราเอง เราก็แก้ด้วยทีแรกก็ตรึกในธรรมนี่แหละ แล้วตรึกไม่ไหว ตรึกแล้วมันก็ยังหลับอยู่ สุดท้ายก็ฉันแต่น้อย แล้วก็อด ค่อยๆ ผ่อน ค่อยๆ ผ่อน จนมันละเอียดเข้ามา พอมันผ่านจากการตกภวังค์ นี่ตั้งแต่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันถึงรู้จักอัปปนาสมาธิไง เวลามันละเอียดจนแบบว่ามันสักแต่ว่ารู้ มันไม่มีขาดช่วงขาดตอนเลยล่ะ มันเข้าไปนะ เข้าไปสักแต่ว่า นิ่งเฉยเลยนะ นิ่งเลย แต่รู้อยู่ตลอดเลย ชัดเจนมาก มันชัดเจนตรงไหนล่ะ ชัดเจนเพราะเราเคยตกภวังค์มาก่อน หายทีหนึ่งไป ๗ ชั่วโมง ๘ ชั่วโมง มันรู้หมดน่ะ มันเคยเป็นมา แต่พอมันลงอย่างนี้มันก็รู้เหมือนกันนะ มันเลยมาเทียบกันไงว่าตอนที่เป็นภวังค์เป็นแบบใด
เราเคยเป็นมาแล้ว อหังการมากว่าตัวเองนี่สุดยอด ตัวเองนี่เก่งไปหมด แต่ถ้าให้อธิบายนะ คนที่เขารู้เขาฟังออกหมดเลย แต่พอเราแก้ เพราะเรารู้ สำนึกตัวเองว่ามันไม่ใช่ ก็เลยมาแก้ พอแก้ขึ้นมาด้วยการผ่อนอาหาร ด้วยการอดอาหาร โอ๋ย! หิวมาก ร้องนะ ท้องนี่ร้อง จ๊อกๆๆ เลยนะ
ถ้าพูดถึง นี่ไง ที่บอกว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอดอาหาร ๔๙ วัน อดเฉยๆ ไง ถ้าเป็นการอดเฉยๆ อดแบบแอฟริกา อดแบบคนไม่มีจะกิน โอ๋ย! มันทุกข์นะ ทุกข์มากเลย
แต่นี่มันอดเพราะอะไร อดเพราะเราตกภวังค์มา เราทุกข์มาก อยากจะแก้มัน คือนี่มันเป็นยา เป็นวิธีการ เป็นความเพียร เป็นความเพียรที่จะย้อนศรเข้าไป มันก็มีความอดทนไง มันมีความอดทน มีความพอใจ พอมันมีความพอใจ พอเวลามันทำเข้าไป โอ๋ย! ท้องนี่ร้อง หิวมาก แต่พอกำหนดพุทโธๆ ละเอียดเข้าไปๆ พอมันสักแต่ว่า พอมันสักแต่ว่า แค่เข้าอุปจาระมันก็หมดแล้ว คือหมด คือจิตมันหดสั้นเข้ามา พอหด จิตมันหดเข้ามาตัวมันเอง มันไม่รับรู้อาการหิวหรอก อาการหิว อาการต่างๆ ที่ว่าจ๊อกๆ ไม่มีเลย ว่างหมด มีความสุขหมด
แล้วพอมันละเอียดเข้าไปๆ จนเป็นอัปปนาสมาธิ โอ้โฮ! มันสักแต่ว่ารู้ มันเข้าไประงับอยู่อย่างนั้นน่ะ จนกว่ามันจะคลายตัวของมันออกมาเอง บางครั้งนะ ๓ ชั่วโมง บางครั้ง ๔-๕ ชั่วโมง แล้วแต่ บางครั้งก็ครึ่งชั่วโมง ชั่วโมงหนึ่ง แล้วแต่จะเข้าไปตรงนี้ได้มากขนาดไหน
มันก็ย้อนกลับไปที่คำของหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะท่านเคยบอก พุทโธๆๆ ไวๆ แล้วไม่ต้องการสมาธิ ถ้าสมมุติเราพุทโธ ๕ ชั่วโมง จะลงสมาธิได้ ๕ นาที ถ้า ๑๐ ชั่วโมง จะลงสมาธิ ๑๐ นาที นี่พุทโธมากเท่าไร ผลของสมาธิมันจะได้มากเท่านั้น
ฉะนั้น เราบอกพุทโธๆๆ มันก็เหมือนพอเราได้สักชั่วโมงหนึ่ง มันก็จะเข้าสมาธิ เราก็ตามมันไป เข้าไปจิ่มๆ มันก็ออก
แต่ถ้าเราไม่ให้มันลง เราก็พุทโธๆๆ มันจะลงอย่างไรเราก็รั้งไว้ พุทโธๆๆ ไปอย่างนั้นนะ เหตุมันเยอะเท่าไร ผลมันจะตอบมามากเท่านั้น นี่หลวงปู่เจี๊ยะเคยสอน เคยยืนยัน เราก็มาทดสอบตรงนี้ ที่ว่า เวลามันลงไปแล้วมากน้อยแค่ไหน ด้วยคำที่เราบริกรรมมายาวนานแค่ไหน
แต่เพราะพอพวกเรา เห็นไหม ไม่ต้องลงหรอก พอมันพุทโธๆ แล้วก็ทำลืมๆ จะให้พุทโธหายก่อนไง มันจะลง มันจะลงเอง มันจะให้ลงไง แล้วก็ลงจริงๆ ลงอะไร ลงภวังค์ มันก็พุทโธหายจริงๆ เพราะอะไร เพราะเราปล่อยมัน มันก็หาย เราไม่รับรู้มันก็หายนะ แต่มันหายแบบนั้นหายแบบไม่มีเหตุไม่มีผล
แต่พุทโธชัดๆ มันจะอย่างไร รั้งไว้ไม่ให้มันหาย รั้งไว้ๆ พุทโธชัดๆ อย่างนั้นน่ะ เวลามันจะหายนะ รั้งอย่างไรมันก็พุทโธๆๆ ไปเลย รั้งอย่างไรมันก็เป็น เพราะว่าเหตุผลมันสมดุลของมัน ลงไปเลย สักแต่ว่า แล้วมันคลายตัวออกมา เวลาคลายตัวออกมามันถึงรู้ของมัน
ฉะนั้น เวลาแก้ง่วง แก้ง่วง ถ้าจะบอกว่า เราผ่อนอาหาร ยิ่งตอนนี้ยิ่งเข้ายุคสมัยเลย สาวๆ ตอนนี้ต้องกินแต่น้อย กินแบบแมว กลัวจะเสียรูปทรง กินแต่น้อยๆ นี่เข้ากับภาวนาเลย กินวันละคำสองคำก็พอ เดี๋ยวมันอ้วน แล้วพอไม่มีพลังงานเหลือใช้ไง
แล้วเราก็ดูนะ ดูพระ ดูพระที่ว่าเวลาเข้มงวดในการปฏิบัติจะเพรียวมาก จะมีแต่หนังหุ้มกระดูก ไม่มีพลังงานเหลือเลย เพราะอะไร มันผ่อนอาหารหมด แล้วเวลาพระที่ว่า เวลาพระนักปฏิบัตินะ พุงนี่ยื่นเลยน่ะ นั่นน่ะ ไขมันมันเท่าไรน่ะ
เวลามันอดอาหารบ่อยๆ มันจะไปดึงไขมันมาใช้โดยธรรมชาติ มันไปดึงไขมันนั้นมาใช้ พอมันดึงไขมันมาใช้จนไม่มีไขมัน คิดดูซิว่ามันจะมีอะไรกดถ่วง
นี่ธาตุขันธ์ทับจิต ธาตุขันธ์ทับจิตนี่ชัดๆ เลย แล้วคนปฏิบัติมันเห็นชัดๆ เลย แต่พวกเราก็จินตนาการเฉยๆ มันก็ไม่ทำอะไรให้จริงจัง ถ้ามันจริงจังขึ้นมา อย่างว่า ง่วงนอนมันจะแก้อย่างไร นี่พูดถึงว่ามันใช่เวทนาอย่างหนึ่งหรือไม่
ถ้าเราบอกว่าเป็นทางวิชาการ เป็นการที่เราสื่อสารกันก็ว่าได้ แต่ถ้าพูดถึงจริงๆ แล้วมันก็คือง่วงนั่นแหละ ง่วงคือเงา คือมันเกิด แล้วเวลามันพิจารณาไปแล้วทั้งเงาทั้งง่วงหายหมด แล้วจิตนี่ชัดมาก นี่พูดถึงว่า เวลาที่ว่า ง่วงเป็นเวทนาหรือไม่
ข้อ ๒ นะ “ขอให้หลวงพ่อเมตตาอธิบายที่ว่า ความง่วงขณะฝึกหัดภาวนา ถึงคราวง่วงนอน ล้างหน้าก็แล้ว เปลี่ยนอิริยาบถก็แล้ว ก็ยังสู้ไม่ไหว สุดท้ายก็ยอมนอน จะดูมันไปเลย ไม่ทราบว่าจะจับที่ไหน”
จะดูมันไปเลย ไปดูมันไม่ได้หรอก ง่วง
สมมุติว่าเวลาเพื่อนมาชวนไปเที่ยว บอกว่าเราจะไม่ไปกับมัน แต่เราตามไปดูมันก่อน มันพาไปเที่ยวหมดล่ะ เวลาเพื่อนชวนนะ บอกฉันไม่อยากไป แต่ลองตามไปดูมันหน่อย กลับมาแล้ว เที่ยวกลับมาแล้วค่อยกลับ
นี่เหมือนกัน เวลามันง่วงมา นั่นมันง่วงแล้ว เวลาที่ว่าถ้าจะตามไปดูมันหรือไม่
ไม่ต้องตามอะไรไป พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ หลวงปู่มั่นสั่งไว้เลย จะไม่เสียหาย
มันจะง่วงเพราะพุทโธมันเจือจาง มันจะง่วงเพราะว่าเราขาดสติ ขาดพุทโธ มันก็ง่วง ถ้าพุทโธชัดๆ เพราะพุทโธชัดๆ คำบริกรรมไปเรื่อยๆ มันก็ง่วง เพราะมันจำเจ มันจำเจนะ เริ่มต้นก็ชัดเจนมาก พอพุทโธไปเรื่อยๆ ก็จางไปๆๆ จำเจ แล้วจะพุทโธมันไม่ฟื้น พอไม่ฟื้น มันไป จิตมันไปอยู่ที่นั่นแล้ว มันส่งออกไปแล้ว ฉะนั้น เวลาใครมาชวนไปไหน ไม่ต้องไปกับมัน
หลวงตาท่านบอกอยู่กับหลวงปู่มั่นใหม่ๆ ที่ว่าจิตเสื่อมๆ
“อ๋อ! จิตมันไปเที่ยว จิตมันเหมือนเด็กๆ จิตมันต้องกินอาหารเหมือนกัน ถ้ามันหิว มันต้องกลับมา ไม่ต้องไปตามมัน เราสร้างอาหารไว้ พุทโธๆ ไว้”
แล้วท่านก็ทำนะ พุทโธๆๆ มันก็กลับมาจริงๆ ท่านถึงรำพึงออกมาไง “โอ๋ย! สอนเหมือนสอนเด็กๆ เลย”
คนไม่เป็นนี่เหมือนเด็กๆ เลย เด็กๆ ทำอะไรมันผิดไปหมดล่ะ แล้วถ้าเชื่อ ถ้าเชื่อตามผู้ใหญ่ว่า อยู่กับพุทโธ อยู่กับผู้รู้ พุทโธชัดๆ นี่คืออาหารของมัน เราบริกรรมพุทโธๆๆ เวลาจิตมันไปเที่ยวไง พอไปเที่ยว พอถึงเวลามันหิวกระหาย มันไม่มีจะกิน มันก็ต้องกลับมา มันกลับมาก็กลับมา ก็จิตเราสงบไง ทั้งๆ ที่มันจริงๆ ก็จิตอยู่กับเรานี่แหละ มันส่งออกไป เราพุทโธๆ แล้วมันก็กลับมา กลับมามันก็สงบ
นี่ก็เหมือนกัน จะไปดูมันหรือ สุดท้ายเลย ก็ยอมนอน
ใช่ สุดท้ายก็ยอมนอน ถึงสุดวิสัยแล้วนอน ทีนี้พอนอนแล้ว นอนก็กะว่านอน เดี๋ยวจะตื่นขึ้นมาภาวนา นี่มาตื่นอีกทีเที่ยงวัน นอนแล้วจะตื่นมาภาวนา ทีนี้มันนอนแล้วมันไม่ตื่นน่ะสิ หรือตื่นขึ้นมาแล้วก็แถมอีกหน่อย นี่ธรรมชาติของกิเลสเป็นแบบนั้น
แต่นอน พระพุทธเจ้าสอนไว้ ไปสอนพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะเป็นพระโสดาบัน เพราะพระสารีบุตรไปฟังพระอัสสชิมา มาบอกพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะเป็นพระโสดาบัน แล้วไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเอาจริงเอาจังขึ้นมา พระโสดาบันยังโงกง่วงเลย
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปด้วยฤทธิ์ เห็นไหม เธอจงดูดาว แหงนหน้าดูดาวเลย เอาน้ำลูบหน้า ตรึกในธรรม แล้วอีกอย่างหนึ่ง ถ้าทำทุกอย่างแล้วมันยังง่วงอยู่ นอนเสียก่อน นอนเลย พอนอนเสร็จแล้วตื่นขึ้นมาจะได้สดชื่น
นี่มันเป็นความจริง การนอน การพักผ่อน เป็นเรื่องจริงเรื่องหนึ่ง แต่เพราะว่าเรานอนแล้วเราคิดว่าเรานอนแล้วมันจะหาย นอนแล้วมันจะแก้ได้ ก็เลยนอนๆๆ เพราะนอนแล้วไม่ได้นอนตื่นมา ภาวนานี่นะ ถ้านอนตื่นมาภาวนามันก็จบ
ทีนี้อย่างที่ว่า เราก็ทำแล้ว อย่างที่ว่าง่วงนอนก็เอาน้ำล้างหน้า เอาน้ำลูบหน้า เปลี่ยนอิริยาบถ ก็ทำแบบนี้แหละ ถ้าทำแบบนี้ เพียงแต่เราอยากหาย เราอยากทำต่างๆ มันก็เลยยิ่งกดทับเข้าไปใหญ่ เห็นไหม ง่วงคือเงา เวลาไม่ง่วงมันไปไหนล่ะ แล้วเวลามันง่วง มันมาจากไหนล่ะ มันทับตายเลย เงาแท้ๆ นี่ตื่นเงา ตื่นเงาของตัวเอง ตื่นความง่วงไง
แล้วเวลาคนเล่นไพ่ ๗ วัน ๗ คืนเขาไม่ง่วงเลยนะ เวลาคนไปดูกีฬากำลังมัน โอ๋ย! ไม่มีง่วงเลย แต่เรามานั่งอยู่คนเดียวมันง่วงไง เพราะจิตสงบกับจิตที่ฟุ้งซ่าน จิตที่ออกไปเสวยอารมณ์ สิ่งที่เป็นโลกธรรมที่เขาอยู่ทางโลกมันตื่นตัว แต่เวลาเราจะพุทโธๆๆ มันละเอียด จิตมันละเอียด มันจะเข้าไปสู่คุณธรรมอันละเอียด ถ้าเข้าไปสู่คุณธรรมอันละเอียด เรายังเข้าไม่ได้ เราจะบอกว่า วุฒิภาวะของใจเราหยาบหรือละเอียด
ถ้าวุฒิภาวะของเราละเอียดนะ อยากอยู่ที่สงัด อยากอยู่ที่วิเวก ไม่อยากคลุกคลีกับใคร นี่จิตใจพวกนี้จิตใจอยากละเอียด จิตใจของเราไม่ได้หรอก ไปหาเพื่อน เพื่อนไม่มาก็โทรไปหาเขา เขาไม่มาก็น้อยใจว่าเขาไม่มาหาเรา เขาไม่มาหาเราก็ไปหาเขา ไอ้พวกนั้นน่ะมันต้องไปคลุกคลี ไอ้พวกนี้พวกภาวนาไม่ค่อยได้ เพราะพวกนี้เขาต้องทำบุญๆ เป็นขบวนไปเลย เออ! เขาชอบ แต่ให้อยู่คนเดียวอยู่เฉยๆ เหงา เห็นไหม จิตใจหยาบ จิตใจละเอียด มันอยู่ที่จริตนิสัย
เราแก้ตรงนี้ไง คำว่า “ง่วงนอน” มันก็มีปัญหาของมัน เราก็ค่อยๆ แก้ของเรา เราเป็นนักปฏิบัตินะ นักปฏิบัติต้องเอาชนะตนเอง ถ้าชนะตนเองได้ ชนะทั้งจิตเราเองด้วย ชนะทั้งเงาเราด้วย แล้วถ้าทำอย่างนั้นได้ก็ทำ
ฉะนั้น เขาบอกว่า “มีครูบาอาจารย์ท่านสอนให้ดูทุกขเวทนาในร่างกายเวลาภาวนา แต่ความง่วงนั้นลูกก็สงสัยอยู่ จึงอยากทราบว่า...”
ไอ้ดูทุกขเวทนาทางกาย พุทโธ ถ้ายังไม่เห็นไง ถ้าทุกขเวทนาทางกาย นั่งนานๆ มันทุกข์ เราก็พิจารณาได้ ร่างกายนี้ทำไมมันเจ็บมันปวด เวลาเดินจงกรม เวลามันเหนื่อยมันล้า ก็พิจารณาอย่างนี้ได้ ถ้าการพิจารณาคือใช้ปัญญา ถ้าพิจารณา พอปัญญาออกก้าวเดินปั๊บ ความง่วงก็หาย ก็กลับมาพุทโธใหม่
อันนี้พูดถึงว่า การแก้ความง่วงของเรานะ ค่อยๆ ทำไป จบ
ถาม : เรื่อง “กลุ้มใจเพราะนั่งสมาธิแปลกๆ”
หนูกลุ้มใจมากค่ะ ปกติหนูนั่งสมาธิแล้วพิจารณากาย หลวงปู่เจี๊ยะกับพุทโธตลอด ซึ่งก่อนนี้รู้สึกว่าจิตสงบดี ไม่ค่อยเหลือความคิดเลย แต่ปรากฏว่าพี่ชายลากไปทำมโนมยิทธิมา ๒ ครั้ง พระที่นั่นเอาผ้ามาครอบหัวแล้วท่องบริกรรม แต่ละคนพอนั่งสมาธิแล้วก็เกิดอาการแปลกๆ ตีตัวเอง กรีดร้อง ส่วนตัวหนูเองทำไปก็ดันเกิดอาการแสดงท่าทางเป็นสัตว์จำพวกต่างๆ ไม่สามารถควบคุมได้ หลังจากนั้นหนูก็ตกใจมาก ไม่กล้าไปอีกเลย ไม่ชอบวิธีการทำสมาธิแบบนี้ หนูกลัวเพี้ยน หนูชอบแนวหลวงปู่มั่นมากกว่าค่ะ
จึงขอเรียนถาม
๑. หลังจากหนูเลิกไปมาหลายปีแล้ว ไปแค่ครั้งนั้นครั้งเดียว ทำไมตอนนี้หนูทำสมาธิแล้วเกิดอาการแสดงท่าประหลาดๆ เป็นสัตว์อยู่ หนูกลัวมากเลย พระที่นั่นบอกว่าหนูได้ญาณระลึกชาติ เป็นเพราะตอนนั้นพระที่นั่งครอบหัวให้หนูหรือเปล่าคะ กลัวจริงๆ
๒. อาจารย์ช่วยพิจารณาอาการที่เกิดขึ้นได้ไหมคะว่า ทำไมจึงแสดงอาการท่าทางประหลาดๆ โดยห้ามไม่ได้ มันเป็นไปเอง
๓. จะแก้อย่างไรดีคะให้หาย หนูพยายามนึกถึงครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่นก่อนทำสมาธิ ก็ยังแสดงหน้าตาท่าทางเป็นสัตว์อยู่
ขอบคุณค่ะ
ตอบ : นี่พูดถึงว่า เวลาเขาเริ่มต้น เห็นไหม บอกว่า เคยภาวนาแบบหลวงปู่เจี๊ยะ พุทโธเร็วๆ แล้วจิตเป็นสมาธิดี แต่พี่ชายมาลากไป พี่ชายมาลากไปทำมโนมยิทธิมา ๒ ครั้ง เขาเอาผ้าคลุม แล้วก็มีพระสวด หนูก็เลยกรี๊ดๆๆ เลย
ไม่ต้องไปมโนมยิทธิหรอก เรานี่ก่อนบวช เรามีเพื่อนเยอะมาก เพื่อนเราเขาก็ไปสักน้ำมันมา สักน้ำมัน สักอะไร สักจิ้งจก สักตุ๊กแก สักจระเข้ แล้วตอนนี้ธรรมดาวัยรุ่นเนาะ เวลาถึงเวลาก็ล้อมวงกินเหล้า เขากินเหล้ากัน เรานิสัยไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่มาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่ในก๊วนของเพื่อนนี่เยอะมาก กินเหล้าเมายากันทั้งนั้นน่ะ ทุกอย่างพร้อม เพราะวัยรุ่นธรรมดา
เรานี่มีหน้าที่ เวลาเขากินเหล้าปั๊บ ไอ้พวกที่สักๆ มา เวลามันกินเหล้าเข้าไปนะ ไอ้นั่นตุ๊กแกออกแล้ว พอตุ๊กแกออกแล้ว ไอ้นั่นจระเข้ออกแล้ว แล้วบางคน พอมันออกปั๊บ มันก็อื้ออ้า โอ๋ย! ตะกายใหญ่เลยนะ เราก็ต้องจับมันเอาหัวไปชนฝาไว้ ไอ้จระเข้ตัวนี้ให้เข้าข้างฝา มันก็ตะกายอยู่นั่นน่ะ ตะกายแกรกๆ ไอ้ตัวนี้หนุมานนะ อ้าว! เอ็งเข้าตรงนี้ไว้ แล้วไอ้พวกลิงลมเวลามันขึ้น เราก็ อ้าว! เอ็งเข้าตรงนี้ไว้ เรานี่เป็นคนแยกเลยนะ เพื่อนๆ นี่ ตอนนี้เพื่อนยังมีชีวิตอยู่ทั้งนั้นน่ะ ที่พูดถ้าเขาฟังอยู่เขาจะรู้
เวลากินเหล้าเป็นอย่างนี้หมดเลย เห็น โอ้โฮ! ตะเข้ อู้ฮู! ขึ้นใหญ่นะ ไอ้นั่นพรหมนะ ตบตุ้บตั้บๆ โอ้โฮ! ทุบใหญ่ แล้วกระโดดไปตีตุ้บตั้บๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ โอ๋ย! หน้าอกมันจะพัง เราก็ต้องจับมันไว้ นี่คือไสยศาสตร์ เวลาเขาทำกันน่ะ
เมื่อก่อนนี้ที่อำเภอดำเนินสะดวกมันมีอาจารย์อยู่ อาจารย์เป็นธง เขาสักที่หูจะเป็นธงชัย กับมีอีกอาจารย์หนึ่ง มี ๒ ก๊วนนี้ เจอกันไม่ได้ เจอกันจะต้องตีกัน ต้องเอามีดฟันกัน มันเป็นการพิสูจน์ มันเป็นการพิสูจน์สำนัก ที่ดำเนินสะดวกนี่ก็มี
นี่ก่อนบวชนะ เพราะก่อนบวช เราวัยรุ่นก็เที่ยวไปเรื่อย เพราะว่าธรรมดาวัยรุ่นก็อยากมีของเหนียว อยากยิงไม่เข้า ฟันไม่ออก ยิงก็ไม่เข้า ฟันก็ไม่ออก อยากเหมือนกัน ก็มีเหมือนกัน ไปไหนก็มีไปอย่างนี้
ฉะนั้น กรณีนี้เห็นมาแต่ไหนแต่ไร เห็นมาเยอะ ถ้าเห็นมาเยอะแล้วเราไม่แปลกประหลาดเลย ไม่มหัศจรรย์ตรงไหนเลย เพราะอะไร เพราะเพื่อนเราก็กินเหล้าเมายาทั้งนั้นน่ะ พอกินเหล้าเมายาแล้วมันก็แสดงอาการอย่างนี้ มันมีเยอะแยะไปหมด
แล้วนี่ ดูสิ โทษนะ เวลาเขาสวดภาณยักษ์ เขาสวดอะไรที่ว่า แหม! ออกกันใหญ่นะ เราก็เห็นอยู่ เราเห็นแล้วเราก็สังเวช เราสังเวชนะ เพราะว่า เวลานะ เราเป็นมนุษย์ใช่ไหม เราเป็นสัตว์ประเสริฐใช่ไหม เราเป็นสัตว์ประเสริฐ มนุษย์เท่านั้นที่จะมาภาวนากันได้ แล้วมนุษย์ทำไมไปเลือกเอาสัตว์มาสักใส่ตัวล่ะ ทำไมมนุษย์จะต้องไปทำกิริยาแบบสัตว์ล่ะ ทำไมต้องไปทำอย่างนั้นน่ะ
เราหลีกเลี่ยงภพชาติอย่างนั้นมาใช่ไหม เราไม่ต้องการเกิดเป็นไอ้พวกอบายภูมิใช่ไหม เราไม่อยากไปอยู่ในภพต่ำๆ ใช่ไหม พวกเราไม่อยากจะอยู่ในภพต่ำๆ หรอก เราอยากอยู่ในภพที่สูงขึ้น เราอยากจะทำคุณงามความดี จะทำให้เราพ้นจากทุกข์ แล้วทำไมความรู้สึกเราไปให้สิ่งที่ว่าเป็นสัตว์ เป็นสิ่งต่างๆ มาครอบงำล่ะ
นี่พูดถึงถ้าเราเป็นชาวพุทธแท้นะ ถ้าชาวพุทธแท้นะ ให้เชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระธรรม สัจธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ไม่ไปเชื่อสิ่งนั้น ไอ้เชื่อสิ่งนี้พวกไสยศาสตร์ พวกอะไร มันมีอยู่แล้ว ศาสนาแรกของโลกคือศาสนาผี ทุกคนมีแต่ความวิตกกังวล ทุกคนมีแต่ความกลัว ก็นับถือๆ กราบภูเขา กราบพระอาทิตย์ กราบไฟ กราบต่างๆ
แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว อทาสิ เม อกาสิ เม เธออย่าเสียใจ อย่าร้องไห้ อย่าคร่ำครวญ แต่เก่าคนยังโง่อยู่ ก็กราบภูเขา กราบก้อนหิน กราบพระอาทิตย์ แต่ปัจจุบันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สัจธรรมเป็นความจริง ให้ระลึกถึงคุณงามความดีต่อกัน ให้ระลึกถึงคุณงามความดีนะ การทำคุณงามความดีแล้วอุทิศส่วนกุศล ทำคุณงามความดีแล้วระลึกถึงกัน เอาคุณงามความดีนี้เผื่อแผ่กัน ให้เขาคิดดี คิดดี ทำดี คิดดีเหมือนเรา
เรามีความคิดดีๆ เราอยากให้คนอื่นคิดดีๆ อย่างนี้ เราเอาความคิดดีๆ เผื่อแผ่เขา ระลึกถึงเขา ขอให้เขาคิดถึงแต่เรื่องดีๆ เรื่องที่ไม่ดี อย่าให้เขาไปคิดถึงเรื่องอย่างนี้ เรื่องที่ว่ามันเป็นความทุกข์ อย่าให้เขาคิดถึงอย่างนี้อีกเลย นี่สัจธรรม
แล้วเวลาเขาไปทำมโนมยิทธิกัน พระเอาผ้ามาคลุมแล้วก็มาสวด
เออ! มันก็เหมือนบังสุกุลเป็นบังสุกุลตายเนาะ กลัวตาย ก็ไปนอนในโลง บังสุกุลเป็น อยากให้มันอายุยืนๆ น่ะ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนถึงความประมาทเลินเล่อในชีวิต ถ้าเรามีสติปัญญา ไม่ประมาทไม่เลินเล่อในชีวิต เราก็จะไม่มีอุบัติเหตุ เราก็ไม่มีสิ่งใด แต่ถ้าถึงเวลาถึงคราววาระของกรรมมันมาถึง ใครก็ช่วยใครไม่ได้หรอก
นี่พูดถึงว่าเขาไปทำมโนมยิทธิ อันนั้นเรื่องหนึ่ง
มโนมยิทธิมันเป็นวิธีการอันหนึ่งในการภาวนา ในพระไตรปิฎกมี แต่เขาไม่ได้มโนมยิทธิมาชวนกันไปรู้ไปเห็นอะไร ไม่ใช่อย่างนั้น มโนมยิทธิคือทำจิตให้เข้าฌานสมาบัติ แล้วระลึกเอาความสงบอันนี้ เหมือนอภิญญา ๖ ที่ว่าอภิญญา ๖ มันต้องมีมรรค คำว่า “มีมรรค” นะ อภิญญา ๕ แก้กิเลสไม่ได้ อภิญญาที่ ๖ รู้ว่าเราสิ้นจากกิเลส แล้วรู้อย่างไรล่ะ อภิญญา ๖
มโนมยิทธินั่นน่ะ อันนั้น เพราะในมโนมยิทธิบอกว่าเลยนะ เราเข้าฌานสมาบัติได้ด้วยขณะจะถ่าย ขณะจะกินอยู่นี่ ต้องเข้าได้ตลอด คล่องขนาดนั้นเลย แล้วคล่อง ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับอุทกดาบส อาฬารดาบส ได้สมาบัติ ๘ ก็แค่นั้นน่ะ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาฝึกหัดวิชชา ๓
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เราจะเข้าฌานสมาบัติขนาดไหนมันก็เป็นฌานสมาบัติ แต่ถ้ามันรู้ความสิ้นสุดแห่งทุกข์ แล้วรู้อย่างไร รู้อย่างไร ที่สุดแห่งทุกข์รู้อย่างไร ถ้ามึงไม่เห็นทุกข์ มึงไม่รู้จักความจริง มึงจะสิ้นจากทุกข์ได้อย่างไร
ฉะนั้น มันชำนาญแล้วย้อนกลับมาพิจารณา ย้อนกลับมาสู่มรรค มันต้องกลับมาสู่มรรค ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล ไม่มีหรอก ทำกันไป เชื่อกันไป มันก็ว่าแต่อย่างนั้นน่ะ
แต่นี้กลับมาที่คำถาม มันจะไปไกล
“๑. หลังจากหนูเลิกไปหลายปีแล้ว แค่ครั้งนั้นครั้งเดียว ทำไมตอนหนูทำสมาธิแล้วเกิดอาการแสดงท่าทางประหลาดๆ เหมือนสัตว์อยู่ หนูกลัวมากเลย พระที่นั่นบอกว่าหนูได้ญาณระลึกชาติ เพราะตอนนั้นพระที่นั่นครอบหัวหนูหรือเปล่าคะ”
ถ้าหนูมีญาณระลึกชาติได้ หนูก็คงไม่เขียนมาถามหลวงพ่อ เพราะระลึกได้ มันชัดๆ อยู่นี่
เขาบอกว่า พระที่นั่นบอกว่าหนูมีญาณระลึกอดีตชาติได้
ถ้าระลึกได้ก็คงไม่ได้เขียนมาวันนี้ ก็ระลึกได้มันก็รู้อยู่แล้ว ถ้าเอ็งระลึกได้ เอ็งก็รู้แล้วไง นี่เอ็งแสดงว่าเอ็งระลึกไม่ได้ เอ็งถึงเขียนมาถามไง นี่มันก็ชัดๆ อยู่แล้วว่าพระพูดจริงหรือว่าเป็นความจริง พระพูดจริงหรือว่าความจริงของเอ็งที่เอ็งรู้จริง พระเขาพูดจริงหรือพูดเท็จล่ะ เออ! พระเขาบอกว่าหนูระลึกอดีตชาติได้ แล้วเอ็งระลึกได้หรือเปล่าล่ะ ถ้าไม่ได้ แสดงว่าพระพูดปด เออ! เอ็งระลึกอดีตชาติได้จริงหรือเปล่า ก็ระลึกไม่ได้ ระลึกไม่ได้แล้วพระบอกว่าเอ็งระลึกได้ พระโกหกเอ็งหรือเปล่า เออ! ก็พระโกหก ถ้าพระโกหกแล้วก็จบแล้วไง แล้วไปฟังอะไรอีกล่ะ
ถ้าพระโกหก สิ่งที่คำพูดของเขาทุกคำที่เขาพูดกับเอ็งก็ไม่มีค่าไง ก็คนเขาโกหกเราแล้วยังเชื่อเขาอีกไหม ถ้าคนเขาโกหกเราแล้วก็จบจริงไหม ถ้าจบแล้ว ไอ้คำที่เขาพูดๆ ไว้ เอ็งไปเชื่อทำไม ก็จบไง ถ้าจบแล้ว
แต่หนูมานั่งภาวนาแล้วทำไมหนูยังทำอาการประหลาดๆ อยู่ล่ะ
อาการประหลาดๆ นี่นะ เวลาสังเกตได้ไหม ไปตามงานน่ะ จิ้ม ๕ ล้าง ๑๐ เขาเอามือไปจิ้มของเหม็นไว้แล้วล้างไม่ออก เวลาจิ้มนี่ ๕ บาท แต่เวลาล้างต้อง ๑๐ บาท เราล้างเองล้างไม่ออก จิตมันไปรับรู้ มันไปจิ้ม มันไปรับรู้สิ่งนี้ไว้ แล้วพอรับรู้แล้วมันก็แสดงอาการ นี่ไง
ฉะนั้น เวลาหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านสอนนะ ท่านเวลาเทศน์นะ ท่านจะเทศน์ของท่าน เวลาที่สำคัญๆ ท่านจะข้ามๆ เพราะกลัว กลัวลูกศิษย์มันจะเป็นสัญญารับรู้สิ่งนั้นแล้วสร้างภาพ
ไอ้นี่จิต เห็นไหม ทั้งๆ ที่จิตนี้เป็นของเรา จิตนี้เป็นเราเอง แล้วเราก็เคยไปประสบสิ่งนั้นมา แล้วพอเดี๋ยวนี้จะนั่งสมาธินะ ออกอาการอย่างนั้น แล้วจะล้างอย่างไร
เหมือนกับเราเวลานั่งปกติก็ปกติ เวลาที่ถ้าตัวมันโยกตัวมันคลอน มันจะโยกอยู่อย่างนั้นน่ะ จะแก้อย่างไร เหมือนกัน เพียงแต่อันนี้มันหนักกว่า หนักกว่าเพราะอะไร เพราะไอ้นี่มันฝังสู่รากลึกเลย แล้วพอฝังสู่รากลึกแล้วก็ต้องภาวนาไปเรื่อยๆ
ถ้าวิธีการแก้นะ ภาวนาไป เรากลับมาพุทโธ กลับมาพุทโธ กลับมาผู้รู้ แล้วตั้งสติไว้ ถ้ามันจะแสดงอาการอะไรออกมา ตั้งสติไว้ แล้วพยายามระงับอาการนั้น มันจะค่อยๆ จางลงๆ จนหายไป เพราะมันไม่มีอยู่จริง มันไม่มีหรอก มันไม่มี แต่เราไปเชื่อเขา เพราะพระเขาบอกว่าหนูระลึกอดีตชาติได้ ก็เลยยังติดใจไง
เขาบอกว่าเราระลึกอดีตชาติได้ เราเป็นคนดีนี่ชอบ แต่ไอ้ที่แสดงกิริยาอย่างสัตว์นี่ไม่ชอบ แสดงกิริยาอย่างสัตว์ เวลาภาวนาไปแล้วไหลไปอย่างนี้ไม่ชอบ แล้วไม่ชอบ ไม่ชอบก็ต้องไม่ชอบทั้งหมด เพราะมันผิดมาตั้งแต่ต้น คำสอนก็ผิด เขาบอกก็ผิด เขาให้ผลว่าเรารู้ก็ผิด แล้วเราทำไมยังลังเลใจอยู่ล่ะ ถ้าเขาผิดก็เรื่องของเขาผิด เขาผิด ทำไมคนเขาเชื่อกัน คนเขาไปกันเยอะแยะล่ะ
อ้าว! ก็วุฒิภาวะของคนมีเท่านั้น คนมีความรู้เท่านั้น คนมีความรู้เท่านั้นพิสูจน์ด้วยตัวเองไม่ได้ ก็เชื่อเขาไป ถ้าเชื่อเขาไป ก็ต้องไปอยู่ในวังวนเขานั่นแหละ
แต่ถ้าเราจะออกจากวังวนนั้น เพราะเราเป็นชาวพุทธ เราเชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สัจธรรม สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา
แล้วเวลาเขาโกหกเราไม่เห็นดับสักที ระลึกอดีตชาติได้นี่ แหม! มันผูกไว้ที่ใจเลยล่ะ แล้วเวลาแสดงกิริยาออกไป เวลาภาวนาทีไรไหลไปเลย มันก็เหมือนเวลาเราภาวนากัน โยกๆ คลอนๆ แล้วจิตมันไปผูกไว้ตรงนั้นน่ะ แล้วจะปลดอย่างไร
ถ้าจะปลดก็บอกว่า หลวงปู่มั่นไม่ได้สอนอย่างนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น คำสอนอย่างนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ คำสอนอย่างนี้เป็นคำสอนผิด เราไม่ฟัง เราเลิก จบ
แล้วตอนนี้เลิกแล้วเอาอะไรเป็นที่พึ่งล่ะ
อ้าว! ก็พระพุทธเจ้าไง ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำกิริยาอย่างนี้ไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาผ้าไปคลุมศีรษะใครไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้คนระลึกชาติได้หรือเปล่า
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้พุทโธใช่ไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้รู้จักทุกข์ใช่ไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์ แล้วเราก็อยากจะเป็นอย่างนี้ ถ้าเราเชื่อพระพุทธเจ้า เราก็กลับมาที่นี่ กลับมาสัจจะ กลับมาที่มรรคก็จบ
แล้วสิ่งที่เราไปรับรู้มา ไปจำมา วางมัน ของมันมีอยู่ดั้งเดิม ศาสนาแรกของโลกคือศาสนาถือผี ของอย่างนี้มันมีอยู่แล้ว ความเชื่อถือของสังคม เราวาง เราเป็นชาวพุทธ เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วาง ถ้าวาง พอวางอย่างนั้นปั๊บ มันตัดเลย ตัดความสงสัย
ไม่ใช่สงสัย ยังแง้มประตู ยังอยากดูเขาอีกว่ามาอย่างไร อย่างนั้นแก้ไม่หายหรอก
ตัด ไม่ต้องแง้มประตูเลย ใครมาเคาะ ไม่แง้มประตูก็ดูช่อง เฮ้ย! ใครมา อยากจะเห็นหน้า อย่างนั้นมันก็เข้ามาเป็นกิริยาอย่างสัตว์อยู่อีก ไม่ต้องไปยุ่งกับมันเลยนี่จบ
“๒. อาจารย์ช่วยอธิบายอาการที่เกิดขึ้นได้ไหมคะว่าทำไมแสดงอาการแปลกๆ โดยห้ามไม่ได้ มันเป็นไปเอง”
ห้ามได้ ไม่เป็นไปเองหรอก ห้ามได้ทั้งนั้นน่ะ อาการที่เป็นอย่างนั้นก็เป็นอย่างนั้น โดยธรรมชาติของเรา จิตนี้เคยเวียนว่ายตายเกิดมาแล้ว อย่างที่ว่าเป็นจริตนิสัยอะไรมา มันมีมาของมันอยู่แล้ว มันมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าครูบาอาจารย์ของเราท่านเพียงแต่ระงับ ท่านไม่ได้ห้าม เพราะต้องการให้ประเสริฐไง
ในบรรดาสัตว์สองเท้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ในบรรดาสัตว์สองเท้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด
แล้วในบรรดาวัฏฏะนี้ใครจะประเสริฐที่สุดล่ะ แล้วประเสริฐอย่างเราแล้วเราทำไมต้องไปเลียนกิริยาแบบสัตว์ล่ะ สัตว์มันเดินสี่เท้า สัตว์มันคลานไป สัตว์มันไถตัวมันเองไป เรามาเดินสองเท้า เราทำไมต้องไปเลียนแบบไอ้กิริยาเดินสี่เท้า ถ้าเราไปเลียนแบบอย่างนั้นน่ะ อาการมันประหลาดตรงไหน มันไม่มีอาการอะไรประหลาดเลย ไส้เดือนมันไม่มีเท้า มันใช้ตัวมันไถไปนั่นน่ะ อาการแบบนั้นพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอยู่แล้ว
ฉะนั้น ในบรรดาสัตว์สองเท้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด เราก็กลับมายืนในกิริยาสองเท้าของเรา เรากลับมายืนในกิริยาของเรา เรากลับมาพุทโธของเรา ใช้ปัญญาของเรา
“อาการแบบนั้น ให้อธิบายอาการที่มันเกิด”
โอ๋ย! ร้อยแปด อย่างที่เราว่าน่ะ เพื่อนเขาไม่ได้บวชนะ วัยรุ่นด้วยกัน วัยรุ่นด้วยกันก็ประสาว่าอยากมีของดีอะไรน่ะ ก็ว่ากันไป ด้วยความไม่รู้ไง แต่เรานี่ดีอย่างหนึ่ง เขาชวนไปสัก ชวนไปทุกอย่าง เขามีทุกอย่าง เราไม่เอา เราเอาแต่พระพุทธรูป เราเอาแต่พระ เอาแต่เหรียญ เอาแต่ตะกรุด อย่างอื่นไม่เอา อย่างอื่นไม่เอา ขนาดเขาฝังเข็ม เขาฝังตะกรุด แบบนั้นเราก็ไม่เอา ไม่เอา อะไรที่ฝังเข้าตัวนี่ไม่เอาเลย แต่ก็ไปเห็นมา
นั่นเขาเป็นเครื่องรางของขลัง แต่ของเรา เครื่องรางของขลังเขาก็เรียกว่าไสยศาสตร์ แล้วของเราพุทธศาสน์ แล้วนี่เพียงแต่ว่าพี่ชายเชื่อ คนอื่นเขาเชื่อ เขาลากไป ด้วยความเชื่อ พอเขาเชื่อนะ เขาก็เอาความดีๆ เอาแต่ของดีๆ ให้น้อง แต่น้องพอไปเจออย่างนี้ น้องมันเป็นทางสองแพร่งไง แพร่งหนึ่งเคยปฏิบัติกับหลวงปู่เจี๊ยะมา แพร่งหนึ่งคือเรายังมีคุณสมบัติ มีคุณงามความดีของเรา อีกแพร่งหนึ่งเขาพาไปเจอมาแล้วงงๆ ไม่อยากได้ แต่มันก็ดีเนอะ ไม่อยากได้ เราก็แสดงอาการได้ อู๋ย! ดีดดิ้นเหมือนสัตว์เลย ไม่อยากได้ แต่มันก็เป็น แล้วพอถ้าเวลาเราจะแก้ล่ะ
เราจะแก้ เราก็พุทโธ กลับมาพุทโธ คำว่า “แก้” ถ้าอธิบายมันก็อธิบายเป็นสเต็ปว่า อาการจะเป็นอย่างนี้ มันมีเหตุมีผลเป็นอย่างนี้ แต่อธิบายก็เป็นทางทฤษฎี มันก็เหมือนตำรายา แต่ถ้าเวลาคนจะแก้ คนต้องกินยา คือว่าจิตของผู้เป็นต้องแก้เองไง จิตของผู้เป็นจะต้องกำหนดพุทโธเอง แล้วผ่อนคลายเอง ทำกลับมาให้เป็นปกติเอง นั่นคือการแก้ นั่นคือตัวยา ตัวยาคือศีล สมาธิ ปัญญา
ฉลากยา ให้หลวงพ่ออธิบาย ก็อธิบาย
“หลวงพ่อนี่พูดอะไรแจ้วๆ แต่มันไม่เป็นเหมือนหลวงพ่อสักอย่างหนึ่งเลย”
เวลาเอ็งทำไป เดี๋ยวเอ็งจะรู้ว่าเป็นหรือไม่เป็น ถ้าเป็น มันก็เห็นเป็นสเต็ป แล้วมันก็แก้ได้ไง
แต่นี่ยังงงๆ อยู่ไง เพราะงงๆ อยู่ อวิชชา ไม่รู้ มันก็เลยเป็นไปกันอย่างนั้น นี่พูดถึงว่าข้อที่ ๒
“๓. จะแก้อย่างไรดีคะให้หาย หนูพยายามนึกถึงครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่นก่อนนั่งสมาธิ ก็ยังแสดงหน้าตาท่าทางเป็นสัตว์อยู่ ขอบคุณค่ะ”
ถ้ายังระลึกถึงหลวงปู่มั่นอยู่ ระลึกถึงครูบาอาจารย์อยู่นะ ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เห็นไหม เราต้องมีที่พึ่งไง อย่างเช่นถ้าเราเป็นพุทธมามกะ เรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในหัวใจ อยู่ในหัวใจคือว่าเหมือนกับเรามีพ่อมีแม่ เราระลึกถึงพ่อแม่เรานี่ เราก็อบอุ่นใช่ไหม
นี่ก็เหมือนกัน เราเป็นชาวพุทธ เราไม่มีอะไรเป็นที่พึ่งเลยหรือ เราเป็นชาวพุทธ เราต้องลอยอยู่กลางทะเลเลยหรือ เราเป็นชาวพุทธ เราไม่มีอะไรเป็นที่พึ่งกันเลยหรือ เราเป็นชาวพุทธ เราก็มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นแก้วสารพัดนึกนะ ใครมีความมั่นคงขนาดไหนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คนนั้นก็จะได้ผลมากเท่านั้น
นี่ก็เหมือนกัน เราระลึกถึงหลวงปู่มั่น ระลึกถึงครูบาอาจารย์ ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ระลึกถึง ระลึกถึงนะ พุทโธๆ นี่ก็ชื่อของท่านอยู่แล้ว พุทโธๆ ระลึกถึงแล้วทำตาม เอาสิ่งนี้เป็นที่พึ่ง แล้วพยายามเกาะนี้ไว้ ถ้าจิตมันเกาะพุทโธไว้ พุทโธๆ มันไม่เป็นอย่างนั้นหรอก อาการที่มันเป็นมันส่งออกแล้ว มันเป็นแล้ว ถ้าเราพุทโธๆ ฝืนมันเลยๆ หาย มันต้องหาย
มันไม่หายเพราะมันสงสัยว่าอยากเป็น มันเป็นอย่างไรๆ แล้วจะแก้อย่างไร เพราะไปแก้ตรงนั้นก็ไม่หายหรอก เราอยากจะแก้กิริยาอย่างสัตว์ แต่เราทำกิริยาอย่างสัตว์อยู่ มันจะแก้หายได้อย่างไร ถ้ากิริยาอย่างสัตว์ก็เป็นกิริยาอย่างสัตว์ แต่กิริยาอย่างนั้นเป็นกิริยาอย่างสัตว์
แต่กิริยาของพระ นั่งสมาธิ นั่ง เห็นไหม กิริยาของพระพุทธเจ้านั่งอยู่โคนต้นโพธิ์ เราทำท่ากิริยาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็เป็นพุทธะขึ้นมาแล้ว พุทโธๆๆ มันก็ไม่แสดงกิริยาอย่างสัตว์
ถ้าเราฝืนกลับมาอยู่กิริยาของธรรม กิริยาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จบ เราดึงกลับมาที่นี่ พอกิริยามันไม่ไป จิตมันเริ่มสงบ มันก็หาย หายแล้วเราค่อยๆ แก้ ค่อยๆ แก้คือทำจิตเราให้สงบ จิตเราให้หายได้ หายจากอาการอย่างนั้น พุทโธ ตั้งสติไว้ แล้วไม่เป็นอย่างนั้น ฝืนๆๆ ฝืนจนจบ
ที่เราทำอยู่นี่เราฝืนกิเลส กิเลสมันจะพยายามให้สุขสบาย เราก็ฝืนมันกลับมาพุทโธ ฝืนมาภาวนา ฝืนกิเลสๆ จนมันเป็นธรรม
เป็นธรรมคือเป็นมรรค เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เป็นมรรค เป็นมรรคเป็นทางก้าวเดินของจิต จิตมันก้าวเดินมรรค จิตมันมีมรรค มันเป็นทางเดิน จิตมันเอามรรคญาณเข้ามาชำระล้างอวิชชา มันก็จบ
นี่ก็เหมือนกัน ฝืนมา ฝืนมา แก้ก็จบ ถ้าไปแก้ไปตามเขา ไม่มีวันจบหรอก แล้วไม่ต้องไปสงสัย แล้วไม่ต้องไปแก้ไข ไม่ต้องไปพูดถูกพูดผิด มันเรื่องของเขา
หลวงตาบอกว่า ในโลกคนโง่มากหรือคนฉลาดมาก
คนฉลาดมันต้องมีปัญญา แล้วคนฉลาดจะคุยกันนี่ยาก เห็นไหม เขาบอก “พระพุทธศาสนานี่ยุ่งมากเลย ศาสนาอื่นเขาอ้อนวอนก็จบ พระพุทธศาสนาต้องมีปัญญา ต้องเอาตัวรอด อู๋ย! มันยุ่งขนาดนี้เลย”
ก็เอาตัวรอด มันก็เอาตัวเองพ้นจากความไม่รู้ เอาตัวเองพ้นจากมาร ศาสนาพุทธที่ว่าประเสริฐ ประเสริฐอย่างนี้
แต่เราบอก “มันยุ่งมาก มันยุ่ง”
ถ้าเรามีปัญญาแล้วจะยุ่งไหม มีปัญญาแล้วมันก็ใคร่ครวญได้ออกหมด มันพิจารณาได้หมด มีปัญญาก็เอาตัวรอดได้ พอเอาตัวรอดได้ เห็นไหม เรามีปัญญา ศาสนทายาท เราเป็นคนที่มีคุณธรรม มันเป็นตัวอย่าง
แต่บอกว่าไม่ต้องไปยุ่งกับเขา ไม่ต้องไปแก้เขาหรอก เพราะอะไร เพราะคนโง่มากหรือคนฉลาดมาก มันก็ไหลกันไปแบบนั้นน่ะ แล้วไปพูดนะ มันก็เสียพลังงานมาก เว้นไว้แต่เป็นญาติเป็นพี่เป็นน้องกันก็อีกเรื่องหนึ่งนะ แต่ถ้าไม่ใช่จะทำอย่างไรล่ะ
เวลาหลวงตาท่านพูด หน้าที่ของท่าน ท่านแสดงธรรม ท่านเมตตามาก ท่านอยากจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ แต่สัตว์มันไม่เชื่อ สัตว์มันบอกอันนั้นง่าย อันนั้นมันดี มันต้องการอย่างนั้น มันก็เป็นกรรมของสัตว์ เอวัง