ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

๗ วัน ๗ ปี

๒๗ ก.ย. ๒๕๕๗

๗ วัน ๗ ปี

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๗

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องพระสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพเป็นอย่างสูง กระผมมีคำถามหนึ่งที่พอเป็นนิวรณ์สร้างความลังเลสงสัยต่อการเริ่มต้นประพฤติปฏิบัติของกระผม ซึ่งรบกวนจิตใจมานานพอสมควร คือเกี่ยวกับพระสูตรหนึ่งชื่อมหาสติปัฏฐานสูตร

เนื่องจากอ่านพบบ่อยในหนังสือประวัติครูบาอาจารย์ เช่น ประวัติหลวงปู่มั่นในมุตโตทัย ในธรรมานุธรรมปฏิบัติก็มีการกล่าวถึงพระสูตรนี้ หรือในหลวงปู่ฝากไว้ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) ในช่วงที่หลวงปู่ดูลย์ท่านทบทวนธรรมานุสติครั้งสุดท้าย ท่านก็ให้สวดมหาสติปัฏฐานสูตรให้ฟัง นั้นแสดงว่าพระสูตรนี้เป็นพระสูตรที่มีความสำคัญพระสูตรหนึ่ง จึงอยากเรียนถามหลวงพ่อดังนี้ คือ

. สำหรับผู้เริ่มปฏิบัติ จำเป็นหรือไม่ครับที่ต้องทำความเข้าใจพระสูตรนี้ก่อน

. พระสูตรนี้มีความจำเป็นมากหรือไม่ต่อการประพฤติปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงพระนิพพาน

. ในตอนท้ายของพระสูตรมีการกล่าวอ้างถึงอยู่บ่อยๆ ว่าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติสม่ำเสมอจะได้บรรลุธรรมภายใน ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี อย่างน้อยจะได้เป็นพระอนาคามี เป็นจริงไหมครับ

กราบขอบพระคุณอย่างสูงครับ

ตอบ : นี่พูดถึงเป็นนิวรณ์ ถ้าเป็นนิวรณ์ เห็นไหม เขาบอกว่ามันเป็นความลังเลสงสัย มันเป็นนิวรณ์อันหนึ่งที่ฝังใจมาตลอด เรื่องมหาสติปัฏฐานสูตร แล้วเวลาเราไปศึกษา เราไปอ่าน เขาบอกว่าอ่านพบในประวัติครูบาอาจารย์ต่างๆ สิ่งที่ครูบาอาจารย์ ประวัติหลวงปู่มั่น ในมุตโตทัย ในธรรมานุธรรมปฏิบัติของหลวงปู่มั่น

สิ่งนี้เวลาโดยทั่วไป โดยทั่วไปเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราศึกษาโดยว่าเรามีอวิชชา ว่าอย่างนั้นเลย เรามีอวิชชา เราศึกษาแล้วเราก็ไม่เข้าใจ เราไม่เข้าใจ เราอ่านออก ในภาษานี่เราพูดได้ แต่เราไม่เข้าใจความหมาย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็อ่านออก แต่เราไม่เข้าใจความหมาย แต่ไม่เข้าใจ เวลาเขาเรียนปริยัติกัน จะไม่เข้าใจความหมายได้อย่างไร เวลาบาลีเขาแยกแยะ เขาแยก เขาวิจัย เขาทำวิจัยในเรื่องธรรมะได้สว่างกระจ่างแจ้ง อันนี้เวลาเราคิดกันนะ

มันก็เหมือนกับเรามีการศึกษา เราศึกษาแล้ว เราศึกษา คนที่ศึกษาแล้วเขาต้องฝึกงาน ศึกษาทางวิชาชีพเขาจะมีการฝึกงาน ฝึกงานแล้วเขาจะส่งไปฝึกงานในสถานที่ต่างๆ แล้วถ้าเขาให้คะแนนมาแล้วถึงได้จบ ถ้าให้คะแนนก็จบ นี่เขาพยายามจะทำให้นักศึกษามีประสบการณ์ นักศึกษามีความรู้จริง

แต่ในภาคปฏิบัติมันไม่เป็นอย่างนั้น เราพยายามทำ ใช่ เราพยายามทำกัน พยายามเข้าใจกัน เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้เลย ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เวลาปริยัติ ปริยัติคือการศึกษา ความเข้าใจ นี้เราปริยัติแล้ว เราศึกษาแล้ว เราก็พยายามจะฝึกงาน พยายามจะทำให้ได้

ในปัจจุบันเขาพยายามฝึกวิปัสสนาจารย์กัน เขาบอกว่ามีการศึกษาจบแล้วไม่รู้จะทำอะไรต่อ ก็มาศึกษาวิปัสสนาจารย์ วิปัสสนาก็ตามหลักสูตร หลักสูตรก็ ๖ เดือน ๘ เดือน พอจบแล้วก็เป็นวิปัสสนาจารย์ มันก็เป็นปริยัติ มันก็เป็นการไปฝึกหัด แต่มันฝึกหัดแล้วรู้จริงหรือเปล่า

ถ้าเป็นภาคปฏิบัติ ถ้ามันเป็นความจริง เพราะภาคปฏิบัติเป็นความจริงแล้วมันก็ย้อนกลับมาที่ว่า เวลาไปอ่านหนังสือในประวัติหลวงปู่มั่น ในมุตโตทัย ในธรรมปฏิบัติ ในหลวงปู่ดูลย์ฝากไว้ต่างๆ นั่นเป็นผู้ที่ปฏิบัติรู้จริงแล้วไง ถ้าปฏิบัติรู้จริงแล้ว ในมหาสติปัฏฐาน ๔ เขาเข้าใจแล้วทะลุปรุโปร่ง แล้วแนะนำได้ด้วย

ฉะนั้น เวลาภาคปฏิบัติเราบอกเลย ทุกคนจะอ้างว่าปฏิบัติแนวทางสติปัฏฐาน ๔ แนวทางสติปัฏฐาน ๔ แล้วพวกพุทโธๆ พวกทำสมถะไม่ใช่แนวทางสติปัฏฐาน ๔ เพราะไม่มีปัญญาไง พวกพุทโธไม่มีปัญญาหรอก พวกที่ปฏิบัติไม่มีปัญญาหรอก แต่ถ้าใช้ปัญญาอย่างเขาแนวทางสติปัฏฐาน ๔ ถ้าพุทโธไม่ใช่แนวทางสติปัฏฐาน ๔

แต่เวลาโยมถามมา เวลาไปอ่านในประวัติหลวงปู่มั่นในมุตโตทัย ในธรรมานุปฏิบัติ พระสูตรในหลวงปู่ดูลย์ฝากไว้ ทำไมท่านให้สวดมหาสติปัฏฐาน ๔ ให้ฟัง ทำไมหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ ท่านเทศน์มหาสติปัฏฐาน ๔ กายในกาย จิตในจิต เวลากาย กายนอก กายใน กายในกาย เวลาจิต เวทนานอก เวทนาใน เวทนาในเวทนา นี่เวลาอธิบายถึงสติปัฏฐาน ๔ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอธิบายไว้แล้ว

แล้วเวลาคนศึกษาเขายังบอกเลยนะกรรมฐานมีกายนอก กายใน มันจะมีจริงหรือเปล่า มันจะมีอยู่จริงหรือ กายนอกก็คือกายนี่ จะมีกายในอะไรอีกล่ะ”...ไม่เคยภาวนาไง

ถ้าภาวนาจะเห็นกาย ถ้าเห็นกาย เห็นกายโดยสัญญา เห็นกายโดยมรรค เห็นกายโดยสัจธรรม เวลาเห็นกาย พิจารณากายไปแล้ว พิจารณาแล้วมันเป็นสัญญา มันก็ไปเอาแต่ความจำไง คือทฤษฎีที่จำได้ ปฏิบัติที่เคยเป็น แล้วก็เอาสิ่งนั้นมาเป็นจินตนาการ นี่เวลาปฏิบัติไป จินตนาการไปก็เป็นสมุทัย สมุทัยก็กิเลสเข้ามาแทรก

เวลากิเลสแทรก เราจะพุทโธๆ ให้จิตสงบขึ้นมาเพื่อให้มันละวางสมุทัย ละวางสมุทัย เพราะจิตเป็นสมาธิมันก็วางสมุทัย สมุทัยแล้วมันก็เป็นธรรม เพราะมันมีสมุทัยมาเจือปน มันก็เป็นศีล สมาธิ ปัญญาโดยเนื้อแท้ เนื้อแท้ เวลาวิปัสสนาไปมันก็จะเข้าเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป นี่พูดถึงผู้ที่ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริงไง ถ้าผู้ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง

แต่ทางกระแสสังคม กระแสโลก เห็นไหมพุทโธนี่เป็นสมถะ ไม่ใช่วิปัสสนาก็ว่ากันไป

แต่คนที่วิปัสสนาจริง วิปัสสนาจริงๆ ทำตามความเป็นจริงขึ้นมาแล้ว พอโยมไปอ่านแล้วโยมก็เห็นจริง พอเห็นจริงขึ้นมาแล้ว อันนี้ก็เป็นกังวลแล้วว่า มหาสติปัฏฐานสูตรสำคัญหรือไม่สำคัญ จะต้องศึกษาให้เข้าใจก่อนหรือเปล่า แล้วค่อยมาประพฤติปฏิบัติ แล้วถ้าปฏิบัติไปก่อน ถ้าไม่ได้ศึกษาเลยมันจะหลงหรือไม่หลง แล้วมันจะเป็นหรือไม่เป็นล่ะ นี่จะต้องไปศึกษาไหม

ศึกษาจนหัวทะลุเลย ศึกษาจนอ่านหนังสือจนหนังสือทะลุหมดเลย เข้าใจหมดเลย มันก็เป็นปริยัติ มันก็ได้แค่นั้นน่ะ

ศึกษาแล้ววาง นี่ไง เป็นกรณีที่เวลาหลวงตาท่านศึกษาจนเป็นมหานะ แล้วท่านบอกว่าท่านได้มหาแล้วท่านจะออกปฏิบัติ แต่ขณะที่ศึกษาเป็นมหา เวลาศึกษา ท่านเล่าให้ฟังเอง บวชใหม่ๆ พอศึกษาบอกว่า เทวดาเป็นทิพย์มีความสุขอย่างนั้น อู้ฮู! มีความประณีตอย่างนั้น อยากเกิดเป็นเทวดา อยากไปสวรรค์แล้ว พอศึกษาไปๆ เพราะมันศึกษาแล้วปัญญามันจะกว้างขวางไป พอถึงเป็นเทวดา โอ้โฮ! เป็นพรหม พรหมดีกว่าเทวดา แล้วพอศึกษาไป อ้าว! พรหมก็ต้องหมดอายุขัย เทวดาหมดอายุขัย ศึกษานิพพาน โอ้! จะไปนิพพานแล้ว จะไปนิพพานแล้ว

นี่ศึกษาไปแล้ว พอปัญญามันศึกษาไปแล้วอะไรที่ดีกว่าจะเอาสิ่งนั้นน่ะ แต่พอศึกษาตั้งใจไว้ว่า ถ้าเป็นมหาแล้วจะออกปฏิบัติ จะปฏิบัติขึ้นมา ศึกษาแล้วน่ะ แล้วถ้าเราปฏิบัติไปมันจะมีจริงหรือเปล่า แล้วใครจะบอกเราได้จริงหรือเปล่า นิพพานจะเป็นจริงไหม

ศึกษาแล้วนะ ศึกษาทางทฤษฎีเข้าใจหมด แยกแยะได้หมด สุดท้ายแล้วก็ต้องตั้งเป้าเลย จะต้องไปหาหลวงปู่มั่น เวลาไปไม่ทันหลวงปู่มั่น ก็ไปจำพรรษาที่จักราชก่อน หลวงปู่มั่นอยู่ที่บ้านผือ ที่หนองคาย ไปไม่ทัน หลวงปู่มั่นท่านไปสกลฯ ก่อน

สุดท้ายแล้วท่านตามไป พอเข้าไปเจอหลวงปู่มั่น เห็นไหมมหา สิ่งที่มหาศึกษามาแล้วเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ประเสริฐ พวกเราศึกษา เราบวชมาก็มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ถึงได้บวช มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีรัตนตรัยถึงได้บวช บวชแล้ว ถ้าศึกษาแล้ว สิ่งนี้ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐมาก แต่ให้เก็บเข้าลิ้นชักไว้นะ เก็บใส่ลิ้นชักไว้แล้วใส่กุญแจมันไว้ด้วย แล้วเราประพฤติปฏิบัติของเราไปก่อน ถ้าปฏิบัติของเราไป พอถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่เป็นสัจธรรมข้อเท็จจริง สติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริงในหัวใจ ถ้าเป็นจริงแล้วมันจะเข้าเป็นอันเดียวกันกับสติปัฏฐาน ๔ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่ถ้าเรายังปฏิบัติของเรายังไม่รู้ตามความเป็นจริง สติปัฏฐานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับการคาดการหมายของเรา การจินตนาการของเรามันจะขัดแย้งกัน คือว่ามันจะเป็นอนาคต มันจะจินตนาการ มันจะทำให้เราปฏิบัติได้ยากมาก เหมือนเราปฏิบัติละล้าละลังว่า ถ้าไม่รู้ก็บอกว่ารู้ เรียนจบแล้ว ไอ้ว่ารู้ รู้ก็งง อ้าว! ไอ้ไม่รู้หรือก็รู้ ไอ้ว่ารู้ รู้ก็สงสัย มันก็จะละล้าละลังไง

หลวงปู่มั่นบอกว่า ถ้าปฏิบัติโดยการจินตนาการไป ความรู้ความเห็นระหว่างกิเลสกับธรรมมันจะเตะมันจะถีบกัน คือมันไม่ลงความจริง มันจะขัด มันจะแย้ง มันจะสงสัย มันจะรู้ว่ามันรู้แล้ว แล้วมันพยายามจะเข้าข้างตัวเอง มันจะเข้าข้างตัวเองตลอด เห็นไหม ถึงต้องเอาสิ่งที่เรียนมาเข้าลิ้นชักไว้ ลิ้นชักในสมองนี่ เพราะมันมีอยู่แล้ว เดี๋ยวมันก็ออกมา แล้วใส่กุญแจมันไว้ แล้วมหาปฏิบัติไปนะ พอปฏิบัติไป ถ้าถึงที่สุดแล้ว ความจริงในพระไตรปิฎกกับความจริงในหัวใจมันจะเป็นอันเดียวกัน

แล้วหลวงตาท่านก็ทำแบบนั้น ท่านทำตามนั้น เพราะหลวงปู่มั่นท่านเป็นคนคอยชี้นำอยู่ พอทำไปแล้วนะ มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่เวลาปฏิบัติ เวลาเป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้วคิดดูสิ ประวัติศาสตร์ของแต่ละบุคคล ประวัติของครูบาอาจารย์แต่ละองค์ แล้วเราจะเอาใครเป็นคติแบบอย่าง

ถ้าคติแบบอย่าง หลวงตาท่านก็ไปอย่างหนึ่ง หลวงปู่ฝั้นท่านก็ไปอย่างหนึ่ง หลวงปู่คำดีท่านก็ไปอย่างหนึ่ง หลวงปู่ชอบท่านก็ไปอย่างหนึ่ง หลวงปู่เจี๊ยะท่านก็ไปอย่างหนึ่ง ครูบาอาจารย์แต่ละองค์ท่านไปอย่างหนึ่งๆ อย่างหนึ่งเพราะอะไร เพราะจริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน แล้วเราจะเอาอะไรเป็นความจริงล่ะ

เราเอาความจริง เราก็ต้องเอามหาสติปัฏฐานสูตรเป็นที่ตั้ง เห็นไหม เพราะจริตนิสัยของคนมันไม่เหมือนกัน จริตนิสัยคน คนชอบ คนถนัดแตกต่างกัน ทีนี้คนชอบ คนถนัดแตกต่างกัน ถ้าเราศึกษาประวัติครูบาอาจารย์ ส่วนใหญ่แล้วเรานักปฏิบัติกัน เราจะก็อปปี้ หลวงปู่มั่นทำอย่างไร เราจะทำอย่างนั้นเลย หลวงปู่มั่นออกป่า เราก็ออกป่า เดี๋ยวหลวงปู่มั่นออกป่า เราก็ไปสร้างต้นไม้ไว้หลังบ้านให้เป็นป่า แล้วเราก็เดินตามว่าเราได้เข้าป่า คือเราจะทำให้เหมือน แต่ไม่เหมือน เราจะทำให้จริง แต่ไม่จริง ไม่จริงหรอก

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราจะศึกษา ศึกษาขนาดไหน คติแบบอย่างครูบาอาจารย์นะ ท่านเป็นจริตนิสัย เราศึกษานี่ศึกษาได้ ศึกษาแล้วเอาเป็นตัวอย่าง เอาเป็นตัวอย่างเพราะอะไร เพราะว่าครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติแล้ว ทุกคนต้องผิดพลาด

คนขับรถไม่เป็น ตอนหัดขับรถมันจะมีอุบัติเหตุบ้างไหม มันจะผิดพลาดบ้างไหม มี มีทั้งนั้นน่ะ คนขับรถต้องหัดขับรถ พ่อแม่ก็สอนให้ลูกขับรถ ขับรถนี่ขับไม่ได้ พอขับแล้วเดี๋ยวมีความชำนาญขึ้นมา มันขับได้นะ มันบอกว่าอย่าเข้ามายุ่งนะ อย่าเข้ามายุ่งนะ มันจะไปเอง อย่าเข้ามายุ่งนะ แต่ถ้าไม่เป็น มันต้องการ

นี่ก็เหมือนกัน มีครูมีอาจารย์ท่านคอยชี้นำคอยบอก แต่เวลาความจริงแล้วเราก็ต้องขับให้ได้ เราต้องขับให้เป็น ถ้าขับเป็น มันจะเป็นความนั้น นี่พูดถึงว่า มันมีความสำคัญไหม หนึ่ง

สอง เราจะบอกว่า ในแนวทางปฏิบัติมันมีหลากหลายนัก แล้วต่างคนก็ต่างว่าของตัวเองถูก ของตัวเองดีทั้งนั้นน่ะ ถ้าของตัวเองถูก ของตัวเองดี ของคนอื่นก็ต้องไม่ถูกน่ะสิ ของคนอื่นก็ต้องไม่ดีน่ะสิ

แต่นี้มันจะของตัวเองถูกหรือของตัวเองดี มีสาระแก่นสารอะไรหรือไม่ แล้วของที่เขาไม่ถูก เขาไม่ดี เขามีสาระแก่นสารหรือไม่ ถ้าเขามีสาระแก่นสารของเขา เราเอาสาระแก่นสารเขามาเป็นประโยชน์ แล้วสิ่งที่มันไม่เป็นประโยชน์ ทิ้งไป อย่าไปยุ่งกับสิ่งนั้น

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า พุทโธมันไม่เป็นสติปัฏฐาน ๔ มันไม่มีปัญญา มันเป็นสมถะ มันไม่มีปัญญา

ถ้าไม่มีปัญญา มันทำสมาธิได้อย่างไร ไม่มีปัญญา มันจะเข้าไปสู่ศาสนาอย่างไร ไม่มีปัญญา มันจะมีหัวคิดทำคุณงามความดีได้อย่างไร มันก็มีปัญญาสิ มันถึงได้ทำอยู่นี่ แต่ปัญญามันมากน้อยแค่ไหน ปัญญามันจะดีแค่ไหน ถ้าปัญญามันดีมันก็ดีขึ้นมา

นี่พูดถึงว่า แหม! เพราะคำถามมันชงมาดี พูดถึงมหาสติปัฏฐานสูตรเลย มันมาเข้าทางไง มันก็เลยได้ระบายบ้าง ฉะนั้น มันได้ระบายบ้าง

ทีนี้เราจะบอกว่า เวลาเขาศึกษา เขาอยากรู้ แล้วพอเวลาอ่านไป อ่านประวัติหลวงปู่มั่น มันเป็นนิวรณ์ เราต้องศึกษา ต้องมีความเข้าใจไหม เพราะว่าไปอ่านประวัติหลวงปู่มั่น ไปอ่านมุตโตทัย ไปอ่านธรรมานุธรรมปฏิบัติเป็นของหลวงปู่มั่นท่านเขียนขึ้นมาเอง แล้วก็ไปอ่านที่ว่าหลวงปู่ฝากไว้ของหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์เวลาท่านพิจารณาธรรมครั้งสุดท้าย ท่านบอกว่าให้สวดมหาสติปัฏฐานสูตรให้ฟัง

นี่เพราะอะไร เพราะมันเป็นอันเดียวกันนั่นน่ะ อันเดียวกันแบบคนรู้จริงรู้แจ้ง มันอันเดียวกันมันต้องมีที่มาที่ไปก่อน เห็นไหม พวกเราอยากหัดขับรถๆ เราก็อยากขับรถเหมือนกัน แต่เราไม่มีรถ โยมมีรถคนละคันนะ มานี่ขับรถมาเต็มเลย เราไม่มีรถ เราจะขับอย่างไรวะ กูก็นึกเลย ขับรถ ขับรถ เราไม่มีรถจะขับ นี่ก็เหมือนกัน เราจะไปฝึก เราจะปฏิบัติในมหาสติปัฏฐานสูตร เราเอาอะไรไปปฏิบัติ

เราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะนะ พวกนักปฏิบัตินามรูปเขามาถาม มาถามหลวงปู่เจี๊ยะ ถามปัญหา เพราะหลวงปู่เจี๊ยะถามว่า แล้วพิจารณากันอย่างไรล่ะที่ว่ามหาสติปัฏฐานสูตร

ก็พิจารณากายสิคะ

แล้วพิจารณาอย่างไรล่ะ

ก็พิจารณากายสิคะ

นี่มหาสติปัฏฐานสูตร กาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณากายสิคะ

หลวงปู่เจี๊ยะท่านพูดขึ้นมานะ เฮ้ย! เขาต้องเอาจิตพิจารณานะ เขาต้องมีผู้พิจารณา แล้วเอ็งว่าพิจารณากายสิคะ พิจารณาสิคะ แล้วมันเอาอะไรพิจารณาล่ะ เอาอะไรไปพิจารณาอะไร เอาอะไรไปเริ่มต้นทำให้มันถูกต้อง ทำกันอย่างไร

ไอ้นี่มันสามัญสำนึกใช่ไหม ทางวิชาการ วิชาชีพ เราคิดเรื่องอะไรก็ได้ เราเรียนสิ่งใดมา เราก็คิดตามนั้นน่ะ ไอ้นี่พอเราไปเรียนธรรมะ เราก็คิดธรรมะ คิดธรรมะนี่มันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นสามัญสำนึก ความคิดมันเกิดจากเรา เรามีความคิดอยู่แล้ว ความคิดเรามีอยู่แล้ว แล้วเราคิดเรื่องอะไรก็ได้

แต่ในทางธรรม ในทางธรรมนะ หลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกว่า เฮ้ย! เขาต้องเอาจิตพิจารณานะ เขาต้องเอาจิตพิจารณา

เพราะปฏิสนธิจิตมันมาเกิดเป็นมนุษย์อยู่นี่ ปฏิสนธิจิตมันไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม กำเนิด ๔ ของจิต จิตมันเวียนว่ายตายเกิดในกำเนิด ๔ นี้ แล้วเวลาจะถอนก็ต้องตัวมันถอน ตัวมันถอน ถอนพิษถอนไข้ ถอนอวิชชาออกไปแล้วมันถึงจะได้ไม่ไปเกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายต่อไปข้างหน้า แต่ถ้ามันยังไม่ได้ถอนพิษไข้ของมัน ยังไม่ได้ถอนอวิชชาในจิตของมัน มันก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดเป็นธรรมชาติของมัน

ฉะนั้น ก่อนที่จะไปพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ ที่ว่าใช้ปัญญา เขาต้องมีจิตไปพิจารณา

ถ้าจิตพิจารณา จิตมันคืออะไร จิตมันคืออะไร ทุกคนถามตัวเองว่าตัวเองคืออะไร เราอยู่ที่ไหน ตัวเราอยู่ที่ไหน ชี้มาสิ

ชี้ไปที่ไหนมันก็ไม่มีตัวตนนะ มันเป็นอวัยวะ แขนก็คือแขน ขาก็คือขา มันก็เป็นปอด เป็นไต เป็นตับ อ้าว! มึงชี้ไปสิ มึงชี้ไปตรงไหนเป็นอวัยวะ เป็นอวัยวะนะ เครื่องใน เครื่องในวัว เขาต้มเครื่องในวัวอร่อยตายห่าเลย มึงชี้มาสิ ตัวมึงอยู่ไหน

อ้าว! ก็บอกว่าก็ตัวเราก็อยู่ที่เรานี่ไง

อ้าว! แล้วเราอยู่ไหนล่ะ มึงชี้มาสิ

ดูสิ เกิดโดยเวรโดยกรรม เกิดจากไข่ของมารดา จากไข่ จากสเปิร์ม ออกมาแล้วมันเจริญเติบโตมา มาเป็นเรา สิ่งที่มันประกอบขึ้นมาเป็นเรา แล้วเราอยู่ไหนล่ะ

แต่ถ้าพุทโธๆๆ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านให้สอนพุทโธ สอนให้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าจิตมันสงบแล้ว เออ! นี่ไง ถ้าจิตสงบนะ โอ้โฮ! มันนิ่งเลย เอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่น จิตเห็นจิต จิตรู้จักตัวมัน อื้อหืม! นี่สมาธิ

พอสมาธิ แล้วทีนี้มันออกไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นี่มหาสติปัฏฐาน ๔ มหาสติปัฏฐาน ๔ มาแล้ว

แต่ถ้ามันยังไม่มีตรงนี้ มันเป็นมหาสติปัฏฐาน ๔ ศึกษาทางวิชาการไง ศึกษาทางวิชาการ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ มันก็ศึกษาทางวิชาการไง บริหารธุรกิจมันก็ศึกษาทางวิชาการไง มันก็ศึกษาไง ศึกษาไง ศึกษาก็วิชาชีพไง ศึกษาก็วิชาโลกไง

อ้าว! แต่ภาคปฏิบัติ ปริยัติ ปริยัติแล้วนี่ปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติ เห็นไหม ฉะนั้น มาที่คำถามก่อน เดี๋ยวจะไม่เข้าคำถามเขาเลย

. สำหรับผู้เริ่มต้นปฏิบัติ จำเป็นหรือไม่ครับที่จะต้องทำความเข้าใจพระสูตรนี้ก่อน มีความจำเป็นไหมครับ

ความจำเป็นน่ะ ในภาคปริยัติมันต้องศึกษา คำว่าศึกษาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ การศึกษานี่สำคัญ สำคัญ ศึกษามานี่เรารู้หลักการ หลักการของศาสนา ถ้ารู้หลักการของศาสนาแล้ว ถ้าเราภาคปฏิบัติล่ะ รู้หลักการศาสนา รู้หลักการ แต่ตัวจริงมันได้หรือเปล่า

ฉะนั้นบอกว่าสำหรับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจำเป็นต้องศึกษาไหม ต้องทำความเข้าใจไหม

ทำความเข้าใจ ความเข้าใจนะ มันอยู่ที่เรา ถ้าเราจิตหยาบๆ นะ เราเข้าใจได้แค่นี้ เหมือนฟังเทศน์เลย ฟังเทศน์ไปนะ เวลาเปิดเทศน์ครูบาอาจารย์ไป พอฟังไป คำไหนที่สะดุดใจ อื้อหืม! สุดยอดเลย มันซึ้งใจมาก พอคราวหน้ามาเปิดอีก เฮ้ย! มันไปฟังคำอื่น คำอื่นดีกว่าอีก เห็นไหม

จิตของเราถ้ามันสงบ จิตของเรา ไม่ใช่ฟังเทศน์ทั้งกัณฑ์นะ ไม่ได้ฟังเทศน์ทั้งหมดเลย แต่เวลาฟังไปแล้วนะ อะไรที่มันสะดุดใจ อะไรที่มันทิ่มแทงใจ โอ้โฮ! มันจะซาบซึ้งมาก

อันนี้ก็เหมือนกัน บอกว่าเราจะไปศึกษา ศึกษาคราวนี้จิตมันรับรู้ได้แค่นี้ มันก็เข้าใจแค่นี้ พอเรามาค้นคว้า เรามาพิจารณาของเรา เราไปศึกษาใหม่ โอ้โฮ! ทำไมตรงนี้ครั้งที่แล้วเราไม่เห็นล่ะ โอ้โฮ! ทำไมตรงนี้มันลึกซึ้งกว่าน่ะ ไม่มีวันจบหรอก

ศึกษาทำความเข้าใจ ศึกษานี่เป็นแนวทาง ปริยัตินี่ศึกษาแล้ววางไว้ แล้วเรามาปฏิบัติ เวลาปฏิบัติเข้าไป ถ้าเป็นสมาธิก็เป็นสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิแล้วถ้ามันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม สติปัฏฐาน ๔ ถ้าตามความเป็นจริงนะ สติปัฏฐาน ๔ ความจริงต้องมีจิต จิตเป็นผู้วิปัสสนา จิตเป็นผู้รู้ผู้เห็น จิตเป็นผู้พิจารณา แล้วเวลาจิตมันสำรอก จิตมันคาย นี่วิปัสสนา วิปัสสนาคือปัญญารู้แจ้ง

ถ้าสมถะ คือพยายามหาจิต หาตัวเองให้เจอ ถ้าหาตัวเองเจอ ตัวเองนี่จะไปเป็นผู้วิปัสสนา ถ้าเราไม่มีตัวเรา ใครไปวิปัสสนาล่ะ ศึกษามาแล้ว ศึกษาแล้วก็ให้ใบประกาศนียบัตร ถ้าใครไม่ได้ประกาศนียบัตร ใครสอบไม่ผ่าน คนนั้นก็ไม่มีความรู้ แล้วกรรมฐานเรา ครูบาอาจารย์ของเราศึกษาทุกคน ครูบาอาจารย์เราศึกษา เราก็ศึกษา พระไตรปิฎกดูแล้วดูอีก เปิดแล้วเปิดอีก แต่เปิดแล้วไม่ไปสอบ ไม่เอากระดาษของใคร จะเอาความรู้ จะเอาความเป็นจริงของเรา

นี่ศึกษานะ เวลาปฏิบัติไปแล้วถ้ามีอะไรสงสัย เราก็มาเปิดเทียบเคียง ถามครูบาอาจารย์ด้วย ถามครูบาอาจารย์เสร็จแล้วก็เปิดพระไตรปิฎกเทียบเลยว่าอันไหนจริงไม่จริง พิจารณาของเรา แล้วเราก็มาปฏิบัติของเราต่อ เห็นไหม ปริยัติก็คือปริยัติ ศึกษามาเป็นแนวทาง แล้วปฏิบัติ

สำหรับผู้ที่ปฏิบัติใหม่ มีความจำเป็นหรือไม่

เราจะบอกว่า ศึกษาเท่าไรก็ไม่รู้ ศึกษาแล้วเป็นแนวทางแล้ววางไว้ ถ้าจะรู้ รู้ที่ปฏิบัตินี่ ถ้าจะรู้นะ ถ้าจะรู้ รู้ที่ปฏิบัตินี่ พอรู้ที่ปฏิบัติ อ๋อ! แล้วมันอ๋อ! แล้วมันเข้าใจนะ พอมันเข้าใจจะย้อนกลับเลย เพราะนี่เราพูดกับพระเราบ่อยว่า เรานี่โดนโกหกมาเยอะ เรานี่โดนหลอกมาเยอะนะ

บวชใหม่พรรษาแรก ใครบวชใหม่ๆ ไอ้พวกไฟแรงๆ วัยรุ่นจบใหม่ๆ อื้อหืม! คึกมากเลย บวชใหม่ๆ โอ้โฮ! คึกมาก ไม่นอนน่ะ ไม่นอนเลย ๓-๔ เดือนไม่นอน เนสัชชิกตลอด หาคนสอนๆ จิตมันจะเป็นอย่างไร ไปถามคนอื่น ไปไหนมา สามวาสองศอก ถามอย่าง มันตอบอย่าง เวลาไม่เจอของจริง พรรษา ๑ พรรษา ๒

พอพรรษา ๑ ไม่ไหวแล้ว สุดท้ายพอขึ้นไปอีสานไปเจอหลวงปู่จวนอวิชชาอย่างหยาบของท่านสงบตัวลง

เรามีความสามารถขนาดไหน เราก็พยายามทำความสงบของเราได้มากขนาดนี้ แต่เราจับต้นชนปลายไม่ถูก เหมือนรถเราออกตัวไม่ได้ เราติดเครื่องได้ ฮึม! ฮึม! เร่งคันเร่งอยู่นั่นน่ะ ฮึม! ฮึม! เครื่องจะพังอยู่แล้วมันยังไม่รู้ว่าเครื่องมันจะพัง

นี่ก็เหมือนกัน ทำความสงบได้หรือไม่ได้ก็อยู่อย่างนั้นน่ะ มันไปไหนไม่รอดหรอก มันไปไม่ได้ มันไม่เป็น แล้วไปถามใครก็ ไอ้นู่นจะเป็นไอ้นั่น ไอ้นั่นจะเป็นอย่างนี้ โอ๋ย! ตอนนั้นก็เชื่อเขานะ พอไปถามใคร ใครแนะนำอย่างไรก็พยายามทำกับเขา มันก็ไม่ใช่ ไม่ใช่คือไม่ก้าวหน้า คือรถยังออกไม่ได้อยู่ดี ฮึม! ฮึม! เครื่องนี่ติด เหยียบจน อู้ฮู! เครื่องจะพังอยู่แล้ว มันยังขยับไปไหนไม่ได้เลย

พอไปเจอหลวงปู่จวนอวิชชาอย่างหยาบของท่านสงบตัวลง อวิชชาอย่างกลางในหัวใจอีกมหาศาล อวิชชาอย่างละเอียดที่มันนอนในก้นใจของท่านยังอีกเบ้อเร่อเท่อ อีกมากมายเลย

อืม! จริงเนาะ เราก็แค่ทำความสงบได้ เราแค่หาเครื่องยนต์ได้ เราไปคว้ากุญแจใครมาแล้วก็ติดเครื่องได้ มันก็ ฮึม! ฮึม! อยู่นี่ แล้วไม่รู้คันเกียร์มันอยู่ไหน ส่วนประกอบมันอยู่ไหน มันไม่เป็นน่ะ

พอท่านเตือนปั๊บ มันย้อนกลับมา ทีแรกมันไปแล้วมันเรียกร้อง เห็นไหม เห็นเขาแข่งรถไหม เวลาเขาเหยียบเขาก็วิ่ง อู้ฮู! เวลาเขานี่ทำเวลาได้ดีมากเลย ไอ้เราก็เหยียบเครื่อง ฮึม! ฮึม! แต่มันไม่ไปเลย มันไม่วิ่งเลย เอ๊ะ! มันเป็นอย่างไรของมันน่ะ

นี่มันก็ย้อนกลับมาไง พอย้อนกลับมา พอเริ่มย้อนกลับมา เริ่มรักษาใจตัวเองให้ดี พอส่วนประกอบรถไม่ดี เครื่องยนต์ก็มีแล้ว เกียร์ก็มีแล้ว ทุกอย่างก็มีแล้ว ล้อก็มีแล้ว ต้องให้มันสมบูรณ์แล้ว แล้วฝึกหัดให้มันออกตัวได้ โอ๋ย! ถ้ามันออกตัวได้ อ๋อ! ถึงมาเจอของจริงไง

ก่อนหน้านั้นโกหกทั้งนั้นน่ะ ไปไหนมา สามวาสองศอก ถามอย่าง มันตอบอีกอย่าง ถามมัน มันบอกว่าอย่างนี้ไม่ถูก มันไม่เป็นน่ะ

นี่ให้เห็นว่า สิ่งที่เราจะปฏิบัติแล้วเป็นความจริง ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา มันเข้าใจ เข้าใจเพราะว่าพอเราปฏิบัติผิด เราก็ไม่รู้เรื่อง คำว่าไม่รู้เรื่องหมายถึงว่า ใครพูดอย่างไรก็เชื่อนะ เราก็เชื่อมาก่อน ใครสอนอย่างไรก็เชื่อ เพราะคนมันทุกข์ คนมันทุกข์นะ เขายื่นอะไรให้ก็รับแล้ว มันจะจมน้ำตายอยู่แล้ว ใครโยนอะไรมา กูก็เกาะ แต่เกาะไปแล้วนะ มันเป็นซากศพทุกที มันไม่ได้เกาะเรือ ยิ่งเกาะมันเหลวไหล

พอไปเจอของจริงเขาโยนห่วงยางมาให้ พอเกาะแล้วเราสามารถพาตัวเข้าฝั่งได้เลย เขาโยนห่วงยางมาให้เลย เขาไสเรือ ไสขอนไม้มาให้เราเกาะเข้าฝั่งได้เลย นี่ถ้าคนเป็นนะ ถ้าคนไม่เป็นนะ ไปไหนมา สามวาสองศอก

นี่เขาบอกว่ามันจำเป็นหรือไม่

คำว่าจำเป็นหรือไม่เพราะเราไม่เข้าใจ เราไปศึกษาเท่าไรนะ มันศึกษาแล้วมันก็วนอยู่นั่นน่ะ จะบอกว่าไม่ศึกษาเลย เราศึกษาแล้วก็วาง ไม่ต้องสงสัย แล้วเริ่มปฏิบัติแล้วมาเอาจริงเลย

. พระสูตรนี้มีความจำเป็นมากหรือไม่ต่อการประพฤติปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน

มันเป็นอริยสัจเลยล่ะ

มันเป็นความจำเป็นหรือไม่

มันเป็นหลักการเลยล่ะ ในหลักของพระพุทธศาสนา อริยสัจ ๔ สติปัฏฐาน ๔ นี่เป็นหัวใจของศาสนาเลย มรรค ๘ ฉะนั้น มหาสติปัฏฐาน ๔ มันเป็นหลักเลย คือเป็นถนนเลย คือเป็นทางที่ต้องเดิน ว่าอย่างนั้นเถอะ

จะเข้ากรุงเทพฯ ต้องไปเพชรเกษม ถ้าบอกว่าเพชรเกษมไม่สำคัญ อ้าว! เพชรเกษม ถ้าไปขวาก็ลงใต้นะ เพชรเกษมต้องซ้ายด้วย เพชรเกษมซ้ายนี่เข้ากรุงเทพฯ ถ้าเพชรเกษมขวานู่น หาดใหญ่ มาเลเซีย เพชรเกษมก็ต้องเพชรเกษมเลี้ยวขวาเข้ากรุงเทพฯ นะ มันเป็นหนทางเลย

เขาบอกว่าพระสูตรนี้มีความจำเป็นหรือไม่ต่อการประพฤติปฏิบัติ

มันจำเป็น จำเป็นที่ปฏิบัติให้รู้แจ้ง ไม่ใช่จำเป็นแล้ว ทุกคนนี่นะ โตแล้ว เราดูแผนที่ออกใช่ไหม เพชรเกษมใครก็รู้จัก แต่เราไม่ไปไหน เพชรเกษมก็คือเพชรเกษมไง เราใช้ทางหลวงชนบทอยู่นี่ เราไม่ได้ขึ้นเพชรเกษม เพชรเกษมก็คือเพชรเกษม เราก็ใช้ทางหลวงชนบทอยู่นี่ไง เราก็ไปไหนมาไหนได้ไง เราไม่ต้องขึ้นเพชรเกษม แต่ถ้าเราจะเข้าสู่กรุงเทพฯ ต้องขึ้นเพชรเกษม

นี่ก็เหมือนกัน เราจะเข้าสู่นิพพาน ถ้าไม่เข้าสู่สติปัฏฐาน ๔ ไม่พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม เพราะอะไร เราบอกว่าเราไม่ต้องการพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม เราต้องการพิจารณากิเลส เราต้องการการชำระกิเลส แล้วกิเลสมันอยู่ไหนล่ะ อวิชชามันอยู่ไหน ปู่กิเลส พ่อกิเลส ลูกกิเลส หลานกิเลส มันอยู่ไหน มันเป็นนามธรรม มันเป็นความรู้สึกใช่ไหม

นี่เขาไปเขียนไว้ไง เขาไปเขียนไว้ที่โบสถ์ เห็นไหม อวิชชาก็เป็นยักษ์ตัวใหญ่ๆ เลย พญามาร โอ้โฮ! มันน่ากลัวมาก นั้นบุคลาธิษฐานไงว่าสิ่งนี้มันมีอำนาจเหนือครอบครองหัวใจ

แต่กิเลสมันก็อยู่กลางหัวอกนี่ไง แล้วพอจะฆ่ากิเลส แล้วพิจารณาจะฆ่ากิเลส เราไม่ต้องการทำกาย กายก็รู้จัก หมอมันก็รักษาอยู่แล้ว เวทนา จิตแพทย์มันก็รู้อยู่แล้ว จิตแพทย์มันก็เข้าใจ แล้วธรรมารมณ์ๆ ปรัชญามันยิ่งรู้ใหญ่เลย แล้วต้องไปศึกษามันทำไม

เราต้องการฆ่ากิเลสๆ กิเลสเป็นนามธรรม กิเลสมันจะแสดงตัวได้ต่อเมื่อจะไปเสริมสวย นั่นแหละกิเลสมันบอกแล้วน่ะ สวยๆ สวยๆ จะไปเสริมสวย เวทนาก็อยากจะมีความสุขเยอะๆ นั่นล่ะกิเลสมันบอกแล้ว กิเลสมันอาศัยกาย อาศัยเวทนา อาศัยจิต อาศัยธรรมแสวงหาผลประโยชน์เพื่อบำรุงตัวมันอ้วนๆ เราก็ต้องเอากาย เอาเวทนา เอาจิต เอาธรรมค้นคว้า ถ้าค้นคว้าทำลายเป็นไตรลักษณ์ พอพิจารณากายเป็นไตรลักษณ์ มันแปรสภาพไปหมดเลย ถ้ากายมันไม่มีอะไรเลย แล้วกิเลสมันจะอาศัยอะไรล่ะ

เหมือนสายไฟ เวลาสายไฟ เขาต้องมีสายไฟเพื่อส่งไฟ สายส่งส่งไฟไปสู่เป้าหมาย กาย เวทนา จิต ธรรม กิเลสอาศัยสิ่งนี้ออกไปหากิเลสมาเพิ่มพูนกับมัน เราถึงจิตสงบแล้วเราก็พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม พิจารณาเข้าไป แยกแยะเป็นไตรลักษณ์ เราทำลายสายส่งทั้งหมด ทำลายทุกอย่างทั้งหมด แล้วไฟมันจะไปอย่างไรล่ะ เว้นไว้แต่ฟ้าผ่า ฟ้าผ่ามันไม่ต้องอาศัยสายส่งนะ มันเปรี้ยงใส่เลย ถ้าฟ้าผ่า นี่ไง

ฉะนั้นบอกว่ามหาสติปัฏฐานสูตรสำคัญอย่างไร

นี่แหละหนทางเลยล่ะ ถ้าอยากฆ่ากิเลสให้พิจารณากายซะ ถ้าอยากฆ่ากิเลสให้พิจารณาเวทนาซะ ถ้าอยากฆ่ากิเลสให้พิจารณาจิต ให้พิจารณาธรรม นี่พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม นั่นล่ะคือการฆ่ากิเลส ทำลายกิเลส เพราะทำลายมัน ทำลายมัน จะเห็นตัวมัน แล้วตัวมัน พอมันจะตาย มันไม่ยอมตาย มันก็พยายามจะสร้างสม พยายามจะเอาสิ่งที่มันอาศัยนั้นไว้ต่อสู้กับเรา แล้วเราก็พิจารณาต่อสู้ไปกับมัน ทำลายมันไป ทำลายไป ทำลายจนถึงเข้าตัวมัน มันต้องตายต่อหน้า

นี่พูดถึงความจำเป็นไหมไง มหาสติปัฏฐานสูตร

ถ้าตรงนี้มันจำเป็น แต่ค้นคว้าในภาคปฏิบัตินะ ค้นคว้าในกลางหัวใจ

ในตำราค้นคว้าได้แค่นั้นน่ะ ในตำรานะ ในตำรามหามกุฏ มหาจุฬา พระไตรปิฎกสำนวนของแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีเยอะแยะ กดเอาก็ได้ในคอมพิวเตอร์ ออกหมดล่ะ เอ็งจะเอาสำนวนไหนล่ะ ในมหาสติปัฏฐาน ๔

อันนั้นเป็นทางวิชาการ อันนี้เป็นทฤษฎี เห็นไหม ชื่อของมัน ชื่อของมัน แผนที่ แต่ตัวมันยังไม่มี ขับรถเป็นมันถึงจะไปได้

ขับรถเป็น มีรถ ต้องมีจิต มีจิตพิจารณากาย มีจิตพิจารณาเวทนา มีจิตพิจารณาจิต มีจิตพิจารณาธรรม ต้องมีจิต ต้องมีผู้ขับรถ มีรถ ไม่มีคนขับรถ รถก็ไปไหนไม่ได้ ไม่มีรถเลย คนขับมันดีอยู่ คนขับมันอยากขับรถ แต่มันไม่มีรถให้ขับ มันก็ไปไหนไม่ได้ มีรถ ไม่มีคนขับ มันก็ไปไม่ได้ ทำความสงบของใจ ใจนี้คือผู้ขับ มหาสติปัฏฐาน ๔ เห็นไหม เส้นทาง มัคโค ทางอันเอก คนภาวนาเป็นเขารู้ของเขา เขาทำของเขา มันเป็นความจริงของเขา

. ในตอนท้ายของพระสูตรมีการอ้างอยู่บ่อยๆ ว่า ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติสม่ำเสมอจะได้บรรลุธรรมภายใน ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี อย่างน้อยจะได้พระอนาคามี เป็นจริงไหมครับ

เออ! เป็นจริงไหมครับ เป็นจริงไม่เป็นจริงมันก็ดูที่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นนี่ ครูบาอาจารย์เรานี่ ถ้าไม่เป็นจริงจะมีคนสอนจริงได้อย่างไร หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านไม่เคยปฏิญาณตน ไม่เคยอวด ไม่เคยอ้าง ไม่เคยคิดว่าท่านเป็นอะไรเลย หลวงปู่มั่น หลวงตา หลวงปู่เจี๊ยะ ครูบาอาจารย์ที่อยู่กับหลวงปู่มั่นมา ท่านพูดให้ฟังตลอด บอกว่า อยู่กับหลวงปู่มั่นมา หลวงปู่มั่นท่านไม่ได้บอกว่าฉันเป็นพระขั้นนั้นขั้นนี้ ท่านไม่เคยพูด ไม่เคยบอกอะไรทั้งสิ้น หลวงปู่มั่นไม่เคยพูดสิ่งใดเลย

แต่ของท่านเวลาท่านแสดงธรรม เวลาท่านแก้ไขความขัดข้องของคน ท่านมีธรรมแก้ไข แล้วคนที่ปฏิบัติมันรู้ขึ้นมา พอรู้ขึ้นมา เราไปเห็นที่ไหน แล้วคนที่บอกเราที่นั่นเขาก็ต้องมีความรู้เหมือนเราสิ เขาบอกว่าที่นั่นเป็นอย่างนั้นๆ พอเราเข้าไปเจอตรงนั้นปั๊บ เราก็รู้ จริงไหม เพราะเขาเป็นคนบอกเรา เราเข้าไปเห็นมันก็จริง

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่า ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปีจริงหรือเปล่า

เพราะครูบาอาจารย์ของเราท่านสอนนั่นน่ะจริงอยู่แล้ว หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติของท่านมาแล้ว มันเป็นความจริงอยู่แล้ว ฉะนั้น เวลาเป็นความจริงแล้วท่านจะบอกด้วย เวลาปฏิบัติท่านจะเน้นย้ำ เวลาคนเราอ่อนแอ คนเราไม่มีกำลัง ท่านบอกเลย ให้ปฏิบัติสม่ำเสมอ เสมอต้นเสมอปลายในการพิจารณา

ในการพิจารณาตามความจริงนั่นเป็นมรรคนะ ถ้าในการพิจารณาโดยสีข้างเข้าถู โดยการพิจารณาโดยความเป็นของเรา จะพิจารณาให้มันครบ ๗ ปี ให้ ๗ ปีแล้วให้มันเป็นพระอรหันต์ขึ้นมามันไม่เป็นหรอก

มันจะเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาด้วยมรรคสมดุล เวลามรรคสามัคคี มรรคที่มันสมุจเฉทปหาน มันชำระกิเลสเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา อันนั้นถึงจะเป็นความจริง

แต่ถ้ามันพยายามทำให้ได้เวลา ๗ ปี ไปขังตัวเองไว้ ๗ ปี แล้วออกมาจะเป็นพระอรหันต์ มันไม่เป็นหรอก ถ้าเป็นอย่างนั้น นักโทษมัน ๒๐ ปี นักโทษติดคุก ๒๐ ปีออกมาเป็นพระอรหันต์หมดเลย...ไม่ใช่

นักโทษมันทำผิดมันถึงติดคุก เวลามันพ้นโทษออกมาแล้ว มันพ้นโทษออกมามันก็เป็นนักโทษที่เพิ่งพ้นทุกข์ออกมา

แต่ของเราเวลาปฏิบัติมันต้องให้เป็นมรรค ให้เป็นมรรค ให้จิตเป็นผู้พิจารณา พิจารณาแล้วมันปล่อยวางอย่างไร นั่นตทังคปหาน เวลาพิจารณาซ้ำแล้วมีความชำนาญมากขึ้น สมดุลๆ เวลาสมดุลมีหนเดียว ขณะจิตที่เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี เป็นพระอรหันต์มีหนเดียว เพราะกิเลสมันขาดหนเดียว คนตายได้หนเดียว ไม่ได้ตายได้ ๒ หน ๓ หน กิเลสก็ตายได้หนเดียวเหมือนกัน

ไม่มีว่ากิเลสตายแล้ว พรุ่งนี้มาตายใหม่ ไม่มี กิเลสตายแล้วต้องตายเลย แต่ถ้ากิเลสยังไม่ตาย มันสลบไง เวลาสู้กันมันพิจารณาไปแล้วมันปล่อย มันหลบมันเลี่ยงไป มันสลบไสลไปเลย แต่มันยังไม่ตาย แล้วคนปฏิบัติไปแล้วมันชะล่าใจ เห็นมันนอนก็นึกว่ามันตาย พอมันฟื้นขึ้นมา โอ้โฮ! มันฟื้นขึ้นมาต้องสู้กับมันใหม่

ฉะนั้น เวลาพิจารณาไปแล้ว เวลาตทังคปหานมันสลบไสลไปแล้ว มันสู้ธรรมของเราไม่ได้ เราพิจารณาซ้ำไปๆๆ เวลามันขาด นั่นน่ะสมุจเฉทปหาน ขาดกลางหัวใจไปเลย นี่เป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมา

๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี มีครูบาอาจารย์ทำเป็นตัวอย่างอยู่แล้ว มันก่อนหน้านั้น อย่างเช่นพาหิยะฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีเดียวเป็นพระอรหันต์เลย นั่นน่ะแค่ฟังหนเดียวในวินาทีนั้นเลย

ครูบาอาจารย์ หลวงปู่มั่นท่านพูดถึง เวลาพิจารณาไป เวลาจะรู้จริงขึ้นมา ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น แพล็บ!

แต่กว่าช้างมันจะกระดิกหู คิดดูสิ ช้างท้อง ๒ ปีเนาะ เดี๋ยวจะพูดผิด กว่ามันจะคลอดออกมาจากท้องแม่มัน ๒ ปี แล้วมันออกมาแล้วมันต้องโตขึ้นมา กว่ามันจะกระดิกหูมันเป็น มันจะกระดิกหูโดยรู้ภาษานะ ช้างไร้สาระมันก็เล่นภาษามันน่ะ แต่ถ้าช้างที่มันเป็นหัวหน้าฝูงนะ มันเป็นหัวหน้าฝูง มันกระดิกหู มันชูชันขึ้นมา นั่นน่ะมันส่งสัญญาณฝูงของมัน

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเอาจริงเอาจังขึ้นมา ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น แพล็บ! ทีเดียวเลย ขาดเลย

แต่กว่าจะเป็นอย่างนั้นได้ กว่าจะเป็นหัวหน้าฝูงผู้ที่ส่งสัญญาณกับฝูงของมัน ช้างกระดิกหู สิ่งต่างๆ มันส่งสัญญาณนะ ภัยมาแล้ว ภัยมาแล้วให้หลบๆ เวลามันกระดิกหู พวกในฝูงมันจะมองเป็นสัญญาณเลย มันเข้าใจกันเลย

ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้นมันเร็วมาก แต่มันเร็วมาก มันต้องฝึกหัดของมันขึ้นมา

ทีนี้เขาบอกว่าพระสูตรนี้มีความสำคัญ แต่ถ้าปฏิบัติสม่ำเสมอมันจะบรรลุอย่างน้อยเป็นอนาคามีภายใน ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปีจริงหรือไม่

ครูบาอาจารย์เราท่านเป็นตัวอย่างอยู่แล้ว เรายืนยันว่าตามเป็นจริง แต่คนที่ประพฤติปฏิบัติเยอะมาก ไม่ใช่ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปีหรอก ๗ ชาติมันก็ยังหมุนกันอยู่นั่นน่ะ ทำไมเป็นอย่างนั้นน่ะ

มันเป็นอย่างนั้น เห็นไหม ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระไตรปิฎก พระอรหันต์ต้องสร้างบุญญาธิการมาอย่างน้อยแสนกัป พระพุทธเจ้า ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย เราจะรู้ว่าใครสร้างบุญสร้างกรรมมามากน้อยขนาดไหน

ถ้าเราไม่รู้ว่าใครสร้างบุญสร้างกรรมมามากน้อยขนาดไหน เชาวน์ปัญญานี่แหละมันจะบอก คนที่มีบุญมันจะมีเชาวน์มีปัญญานะ จะฉลาดมาก จะมีสิ่งที่วินิจฉัย ไม่เป็นเหยื่อของใคร คนที่มีเชาวน์ปัญญา นั่นเพราะเขาสร้างอำนาจวาสนาของเขามา

แต่พวกเราไอ้พวกขี้โลภ อยากเป็นนู่น อยากเป็นนี่ หลงใหลเขาไปทั่ว ไอ้นี่มันต้องให้เข้มแข็งหน่อย นี่ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปีมันต้องอยู่ตรงนั้นด้วยไง อยู่ที่อำนาจวาสนาของจิตที่สร้างมา แต่เราสร้างมาอย่างไรก็แล้วแต่ ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว เราพยายามสร้างคุณงามความดีของเรา เราจะประพฤติปฏิบัติของเรา ทำได้

คำถามของคนเพิ่งปฏิบัติใหม่ แล้วตอนนี้กำลังสับสนไง อ่านหนังสือก็เยอะ ทุกอย่างก็เยอะ ต้องเป็นอย่างนั้นๆ

อ่านแล้ววางไว้ เวลาอ่านหนังสือนี่เขาเรียกปริยัติคือการศึกษา สุตมยปัญญา ศึกษาด้วยตำรับตำรานี่เขาเรียกสุตมยปัญญา หาข้อมูล เวลาคนจะปฏิบัติมันต้องวางข้อมูลไว้นะ แล้วเราทำจริง เราทำของเรา ผิดถูกแล้วออกมาค่อยทบทวน อย่าเอาของ ๒ อย่างนี้มาปนกัน ถ้ามาปนกันแล้วนะ อย่างที่หลวงปู่มั่นบอกหลวงตา มันจะเตะมันจะถีบ คือปฏิบัติก็ยาก ละล้าละลังไปหมดเลย

ศึกษานี่เป็นสุตมยปัญญา คือการค้นคว้าตำรับตำราแล้ววางไว้ เราจะปฏิบัติ วางไว้ ถอดปลั๊ก เสียบปลั๊กใหม่ พับ! เอาทางนี้เลย ถอดปลั๊กนี้ไว้ก่อน เสียบปลั๊กนี้ แล้วทำทางนี้ไป แล้วพอมันสงสัย ถอดปลั๊กนี้ กลับมาเสียบปลั๊กนี้ ถ้าทำอย่างนี้ได้ อย่างนี้จะภาวนาได้ จะก้าวหน้าได้

แต่ถ้าเอา ๒ ปลั๊กมาเสียบพร้อมกันเลยนะ เดี๋ยวมันลัดวงจร ปฏิบัติแล้วก็ไม่ได้ ทำแล้วก็ทุกข์นี่มันลัดวงจรแล้ว มันจะเผาไหม้ มันจะทำลายความเพียร มันจะทำลายเราหมด

ใส่ทีละปลั๊ก ใส่ปลั๊กนี้ เสียบปลั๊กนี้ แล้วศึกษาก็ศึกษา เวลาจะปฏิบัติ ถอดปลั๊กนี้เลย แล้วเสียบปลั๊กปฏิบัติเลย ปฏิบัติให้จริงให้จัง ทำของเราให้เป็นจริงเป็นจังอย่างนี้

เพราะผู้ปฏิบัติใหม่ เขาเขียนมาว่าเขาเป็นผู้ปฏิบัติใหม่ แล้วเขาจะเริ่มปฏิบัติ แล้วก็สงสัย นี่เขาเขียนมาถาม วันนี้ก็เลยได้อธิบาย อธิบายให้เห็นว่ามันสำคัญ แต่สำคัญในทางศึกษาก็ส่วนหนึ่ง ในทางประพฤติปฏิบัติก็ส่วนหนึ่ง ถ้ามันรู้แจ้งนะ เหมือนกับหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นที่ท่านรู้แจ้ง แล้วท่านเขียนในประวัติหลวงปู่มั่น ในมุตโตทัย ในธรรมานุธรรมปฏิบัติ ท่านรู้แจ้ง ท่านอธิบาย เราศึกษา เห็นไหม เราไปอ่านสิ อ่านที่เป็นภาคปริยัติ แล้วมาอ่านที่หลวงปู่มั่นเขียนสิ มันเหมือนจะไม่เหมือนกัน แต่ก็เหมือนกัน

คนที่ปฏิบัติจริงรู้จริงเขียนมันอีกอย่างหนึ่งนะ แต่ทางวิชาการเขาเขียนเลย อธิบายเลยนะ สติปัฏฐาน ๔ ต้องพิจารณาอย่างนั้นๆๆ นะ

ถามว่า แล้วทำอย่างไรล่ะ

เออ! ก็กำลังทำวิจัยอยู่นี่ ยังไม่รู้เลย

เวลาถามนะ มันถึงคนละปลั๊กไง ปลั๊กปริยัติกับปลั๊กปฏิบัติ เสียบเข้ามาสู่จิตอันเดียวกัน แล้วเราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา นี่พูดถึงปฏิบัติใหม่

สำคัญไหม สำคัญ แล้ว ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปีจริงไหม จริง แล้วจะทำได้จริง มี หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นทำได้แล้ว ครูบาอาจารย์ทำได้แล้ว แต่ของเราอยู่ที่วาสนาของเรา อยู่ที่ความมั่นคงของเรา อยู่ที่ความจริงของเรา จะทำได้ทำไม่ได้มันอยู่ที่ความเพียร ความเพียรชอบ ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะจะทำให้เราพ้นกิเลสได้ เอวัง