เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๑ ต.ค. ๒๕๕๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ ออกพรรษาแล้วเขาแสวงหาธรรมนะ ออกพรรษาแล้ว เวลาหลวงท่านอยู่ ท่านบอกเลย เวลาหน้ากฐิน เงินเดือนทั้งเดือนจะไม่ได้ใช้จ่ายเลย เพราะว่าจิตใจของคนมันปรารถนา มันแสวงหาบุญกุศลของตัว บุญกุศลของตัวนะ รอกาลรอเวลาไง เวลาหน้ากฐิน หน้ากฐินเราแสวงหากัน เราทำบุญกุศลของเรากัน เพราะบุญกุศล กฐินมีหนเดียว แต่เวลาทำบุญกุศลเราทำได้ทั้งปี จะทำเมื่อไหร่ก็ได้

ขนาดทำเมื่อไหร่ก็ได้นะ ถ้าจิตใจของเขา เขาตระหนี่ถี่เหนียวเขาก็ไม่ทำของเขา ถ้าเขาไม่ทำของเขา เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ท่าน ท่านเทศน์ตรงนั้นแหละ ท่านเทศน์ พยายามจี้หัวใจของคน ให้หัวใจของคนมันเข้าใจ คือผลประโยชน์ของคนคนนั้น นี่ผลประโยชน์ของคนคนนั้น ใครทำใครได้ไง

ดูสิ เวลาเราเป็นหวัด เราหายใจไม่ออก เราอึดอัดของเราใช่ไหม เวลาเราหายใจสะดวกของเรา เห็นไหม นี่ก็เหมือนกัน หัวใจถ้ามันทำของมัน ปลอดโปร่งของมัน มันเป็นประโยชน์ของมัน มันเป็นของบุคคลคนนั้น แต่ครูบาอาจารย์ท่านเน้นย้ำ เน้นย้ำเพื่อประโยชน์กับใจดวงนั้นไง

แต่ผู้ที่ทำแล้ว ผู้ที่แสวงหาแล้ว เราแสวงหาเพื่อประโยชน์กับเราไง ในเมื่อมันเป็นบุญกุศล เราก็แสวงหาของเรา บุญกิริยาวัตถุ แต่เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติของเรา เราจะเอาใจของเราไว้ในอำนาจของเรา เราจะต้องละเอียดอ่อนมากกว่านั้น

ถ้าละเอียดอ่อนมากกว่านั้น เห็นไหม เวลาพระเรา พระเราถึงต้องมีความกระฉับกระเฉง ความกระฉับกระเฉงเพื่อให้มีสติไง เพื่อไม่ให้กิเลสมันดินพอกหางหมูไง ถ้าดินพอกหางหมูนะ จริตนิสัยของคน ดูสิ ดูลูกหลานของเรา คนคนหนึ่งกว่าเราจะฝึกฝนมันมา เราจะฝึกฝนของเราให้ลูกของเราเป็นคนที่มันมีสติสัมปชัญญะ คนที่มันรับผิดชอบ เราฝึกมาแสนยากนะ

นี่ก็เหมือนกัน หัวใจของพระ หัวใจของพระแต่ละองค์เพื่อจะให้ตื่นตัวตลอดเวลามันแสนยาก เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นไป เวลามันจนตรอกไง เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอนนะ บอกว่าเวลาปัญญามันเกิดมันจะเกิดตอนจนตรอกนั่นล่ะ เวลาจนตรอกขึ้นมาแล้วมันเป็นวิกฤติของเรา ถ้าเป็นวิกฤติกับเรา เราจะต้องเอาตัวรอดของเรา

เวลากิเลสมันไล่ต้อนนะ ทำสิ่งนั้นก็ไม่ได้ ทำสิ่งนี้ก็ไม่ได้ มันล้มลุกคลุกคลานไปหมด มันจนตรอก พอมันจนตรอกขึ้นมา เราจะสู้อย่างใด แต่ถ้ามันจนตรอกขึ้นมา ถ้าโดยกิเลส ถ้ามันจนตรอก จนตรอกเราก็พลิกไง เราก็เลิกไง เราก็หาทางออกทางอื่นไง ถ้าทางออกทางอื่นมันไม่เกิดปัญญา แต่มันเสียโอกาสของเราไป ถ้ามันเสียโอกาสของเรา เห็นไหม

มันต้องสร้างความเข้มแข็งอย่างนี้ ถ้าสร้างความเข้มแข็งอย่างนี้ วัดปฏิบัติเราจะตื่นตัวตลอดเวลา คำว่า “ตื่นตัวตลอดเวลา” เราจะต้องตื่นตัว ตื่นตัวเพราะฝึกสติของเราไว้ อย่าให้ไปนอนจมอย่างนั้น ถ้าไปนอนจมอย่างนั้น ดูสิ เวลาคนพลั้งคนเผลอเขาจะมีความผิดพลาดจะมาก จะน้อย เขาจะมีความผิดพลาดของเขาตลอดไป

แต่เวลาเราจะต่อสู้กับกิเลสนะ ถ้าต่อสู้กับกิเลส กิเลสมันคืออะไร? กิเลสคือความพอใจ กิเลสคือความเคยใจของเรา มันเคยตัว มันซับซ้อนอยู่ในใจนั่นน่ะ แล้วเราบอกว่าเราเป็นชาวพุทธ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมานะ มันละเอียดลึกซึ้ง “จะสอนใครได้หนอ จะสอนใครได้หนอ” สอนใครได้หนอก็คือมันขัดแย้งกับความรู้สึกของเราไง มันขัดแย้งกับจิตใจสำนึกของเราไง มันขัดแย้งกับความพอใจของเรา

เราเกิดมา เรามีความพอใจ เราจะมีความสะดวกสบายของเราต่างๆ ความสะดวกสบายนั้น เราคิดว่าสิ่งนั้นเป็นบุญของเรา เป็นบุญกุศลของเรา...ใช่ บุญกุศลของเรามันมีบุญกุศลของเรา แต่การประพฤติปฏิบัติข้ามทั้งบุญและบาป

สิ่งที่บุญนั้น เราทำบุญกุศลของเราเป็นสุจริต สิ่งนี้คุ้มครองเรา สิ่งนี้ทำให้เราสะอาดบริสุทธิ์ สิ่งนี้ทำให้เราสุขสบาย คำว่า “สุขสบาย” เห็นไหม คนเราสุขสบายแล้ว ถ้ามันคิดได้ คนมันทุกข์มันยากมันต้องแสวงหามาเพื่อบรรเทาความทุกข์อันนี้ เวลาขาดแคลนต่างๆ ก็พยายามแสวงหามา สิ่งนั้นเขาว่าเป็นความสุขของเขา ถ้ามันสมความปรารถนาของเขาก็เป็นความสุขของเขา อันนั้นมันเป็นเรื่องวัตถุ เป็นเรื่องปัจจัยเครื่องอาศัย ถ้าปัจจัยเครื่องอาศัย สิ่งนั้นปัจจัยเครื่องอาศัย ถ้าคนจิตมันไม่สูงส่งมันก็เอาสิ่งนั้นเป็นเป้าหมาย

แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ ถ้ามันขาดแคลน สิ่งใดขาดแคลนแล้วเราแสวงหาสิ่งนั้นมาเพื่อสมประโยชน์ของเรา เราก็พอใจ ถ้าเรามีบุญกุศลของเรา สิ่งนั้นมันสมบูรณ์อยู่แล้วเราก็ยิ่งพอใจเข้าไปใหญ่ ความพอใจๆ นะ สิ่งที่ความพอใจ บุญกุศลข้ามทั้งดีและชั่ว เพราะการทำบุญกุศลทำให้เรานอนใจ

ถ้าเราถือธุดงควัตร เครื่องขัดเกลาๆ จะได้มากน้อยขนาดไหน เราก็มักน้อยสันโดษของเรา เราทั้งมักน้อยด้วย เราสันโดษด้วย เราใช้แต่พอประมาณของเรา มันจะมั่งมีขนาดไหน จะสมบูรณ์ขนาดไหน เราวางไว้ นี่เป็นสมบัติของเรา เราได้ทำบุญกุศลของเรามา เราถึงประสบความสำเร็จของเรามา แต่เราต้องการอริยทรัพย์ ต้องการอัตตสมบัติ สมบัติของใจของเรา สิ่งนี้เราวางไว้ วางไว้ ถ้าเราใช้ประโยชน์ก็ประโยชน์ของเรา ถ้าเราสร้างบุญกุศลมันก็เป็นประโยชน์กับสาธารณะ ถ้าประโยชน์สาธารณะ นั่นล่ะบารมี

แล้วเวลาดัดแปลง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นถึงกษัตริย์ สละราชสมบัติออกมา เวลาไปรื้อค้นออกมา ไปรื้อค้นอยู่ในป่าในเขา มันทุกข์มันยากขนาดไหน มันทุกข์มันยากก็อยู่ที่อำนาจวาสนาบารมี อำนาจวาสนาบารมีอย่างนี้มันไม่จนตรอก ไม่จนตรอกเพราะปัจจัยเครื่องอาศัย แต่เวลาจะย้อนกลับมาที่ใจไง ย้อนกลับมาที่ใจของเรา

ถ้าย้อนกลับมาที่ใจ ถ้ามันสมบูรณ์เกินไป สิ่งต่างๆ มีสมบูรณ์เกินไป เราพอใจกับสิ่งนั้น นั่นล่ะมันเป็นตัวชักนำให้พลั้งเผลอ แต่ถ้าเราถือธุดงควัตร มันขัดเกลากิเลสๆ มันจะตื่นตัว มันจะมีมากมีน้อยเราก็มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ไปกับมัน เราก็วางไว้ เราใช้ประโยชน์พอประมาณ แต่เราจะสร้างสติ เราจะทำสมาธิของเรา เราจะใช้ความสงบร่มเย็นจากภายในของเรา แล้วถ้ามันเกิดภาวนามยปัญญาขึ้นมา ปัญญาที่เกิดจากการชำระล้างกิเลส ปัญญาที่มันจะแยกแยะว่าอะไรถูก อะไรผิด

อะไรถูก อะไรผิด สิ่งที่ว่าถูก ว่าผิด ผิดตรงไหน สิ่งที่เราใช้ประโยชน์ทางโลกมันผิดตรงไหน เราได้มาด้วยความสุจริต เห็นไหม ดูสิ พระไปบิณฑบาตมา เขาใส่บาตรมา มันของเราทั้งนั้นแหละ ทำไมเราต้องมามักน้อย เราต้องมาสันโดษล่ะ นี่มันสุจริตทั้งนั้นแหละ สัมมาอาชีวะไง เลี้ยงชีพชอบ เลี้ยงชีพด้วยความชอบธรรมทั้งนั้นแหละ ทำไมเราต้องมาอัตคัดขาดแคลน ถ้ากิเลสมันคิด มันคิดอย่างนั้น

แต่ถ้ามันเป็นธรรมนะ เราไม่ใช่อัตคัดขาดแคลน มันประหยัดมัธยัสถ์ ความกตัญญูกตเวที ความประหยัดมัธยัสถ์เป็นเครื่องหมายของคนดี ถ้าคนดีเขาใช้สอย เขาใช้พอประมาณ แล้วสิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์กับโลก

แล้วถ้ามันใช้สอยพอประมาณ เวลานั่งสมาธิภาวนา ธาตุขันธ์มันก็ไม่ทับจิตใช่ไหม เราใช้แต่พอประมาณ มันปลอดโปร่ง เวลาภาวนาขึ้นมามันก็จะเป็นประโยชน์กับเราใช่ไหม เวลาเรามานั่งภาวนาของเรา เราต้องการอัตตสมบัติ เราต้องการอริยทรัพย์ เราต้องการสมบัติความจริงของเราขึ้นมา เวลานั่งภาวนาขึ้นมาก็สัปหงกโงกง่วง เวลาเราใช้สอยเราก็ว่าสิ่งนั้นเป็นบุญกุศล สิ่งนั้นเป็นความพอใจ มันเป็นสุจริต ทำแล้วมันเป็นสิทธิของเรา นี่สิทธิของเรา ถ้าคนมันประมาท

แต่เวลามานั่งภาวนา สิ่งที่ว่าเป็นสิทธิของเรานั่นแหละมันจะพอกพูน ธาตุขันธ์ทับจิต แต่ถ้าเราประหยัดมัธยัสถ์มาตั้งแต่ต้น เราได้มาด้วยความสุจริตของเรา เราได้มาด้วยบุญกุศลของเรา เราใช้สอยแต่พอประมาณ แล้ววางสิ่งนั้นไว้ เวลามาภาวนาต่อเนื่องมันก็ปลอดโปร่ง มันก็ดีงามขึ้นไป มันส่งต่อขึ้นไปเป็นชั้นๆ ขึ้นไปถ้าเรามีสติสัมปชัญญะไง มันเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส มันเป็นเครื่องขัดเกลาให้เรามีสติมีปัญญา

เรามีสติปัญญา จะทำทานเราก็ต้องมีสติปัญญา จะรักษาศีลก็ต้องมีสติปัญญา จะภาวนาก็ต้องมีสติปัญญา มีสติปัญญาว่า คำบริกรรมต่างๆ สิ่งที่เราบังคับให้จิตเรามันอยู่กับคำบริกรรม อยู่กับหนึ่งเดียวเพื่อไม่ให้มันแตกออกไป ไม่ให้มันฟุ้งซ่านออกไป นี่เราต้องมีปัญญาด้วยเหตุด้วยผล ด้วยเหตุด้วยผลมันก็พอใจจะทำ

พอทำสิ่งใด เวลาเราทำสมาธิเราก็ต้องมีปัญญา แล้วเวลามันจะเกิดปัญญา เกิดภาวนามยปัญญา ปัญญาการรู้แจ้ง ปัญญาที่มันไปเห็นไง ไปเห็นสิ่งที่ว่าเราเข้าใจผิดๆ สักกายทิฏฐิคือความเห็นผิด เราเข้าใจผิดไปหมดว่าสมบัติของเราๆ

สมบัติที่เป็นบุญกุศลนี่สมบัติของเราจริงๆ แต่มันเป็นของชั่วคราว มันเป็นผลของวัฏฏะ วัฏฏะคือมันมีวาระของมัน แต่เราต้องการความจริงใช่ไหม เราต้องการความคงที่ของเราใช่ไหม ถ้าความคงที่ของเรา สมาธิเวลามันเจริญขึ้นมาแล้วเดี๋ยวมันก็เสื่อม สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา มันเป็นข้อเท็จจริงของมัน ข้อเท็จจริงของเขาเป็นอย่างนั้น แต่เราไม่เห็นจริงตามนั้น ถ้าเราไม่เห็นจริงตามนั้น เราถึงไม่มีหลักใจไง เพราะเราไม่เห็นจริงตามนั้นเราถึงเร่ร่อนอยู่นี่ไง

แต่ถ้าเรามีหลักใจของเรา เพราะเราเห็นจริงแล้ว เป็นความจริงแน่นอนแล้ว ความจริงนั้นมันเกิดจากไหน? เกิดจากความเพียร ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ ความแสวงหา พอเราทำได้ เห็นไหม ดูสิ คนทำงานเป็นมันทำได้ทุกอย่าง ถ้าคนทำงานไม่เป็น นั่นแหละต้องแสวงหา นั่นแหละต้องฝึกหัด ฝึกหัดให้เป็นขึ้นมา ฝึกหัดตั้งสติ ฝึกหัดให้มีปัญญารักษาให้เป็นสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิแล้วเกิดปัญญา เพราะมันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้นด้วยความเพียรชอบ ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะอันนั้นมันทำให้เป็นความจริงอย่างนี้ ถ้าความจริงอย่างนี้พิจารณาซ้ำพิจารณาซาก นี่เราต้องการสมบัติอย่างนี้

แต่โลกนี้เราเกิดมาเราก็มีร่างกายใช่ไหม เกิดมาเราก็มีสังคมใช่ไหม เราอยู่กับสังคมนั่นแหละ อยู่กับสังคมนั้นอยู่กับโลก ฉะนั้น ถ้าเรามีสติมีปัญญา เราวิวัฏฏะนะ ผลของวัฏฏะคือผลของการเวียนว่ายตายเกิด วิวัฏฏะมันจะเป็นไปได้มันต้องมีสัจธรรม วิวัฏฏะมันไม่ลอยมาจากฟ้าหรอก วิวัฏฏะมันไม่เกิดขึ้นมาเอง

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นๆ ก็พยายามจะฝึกฝน จากวัฏฏะ การเวียนว่ายตายเกิดของพระโพธิสัตว์ เวียนว่ายตายเกิดของจิต เวียนว่ายตายเกิดมา สร้างอำนาจวาสนาบารมีมา ถึงเวลามันจะออกวิวัฏฏะ ออกเกิดบุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ วิชชา ๓ วิชชา ๓ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

อวิชชาคือความไม่รู้ เพราะความไม่รู้มันเลยมืดบอด คนมืดบอดมันก็คลำทางกันไปอย่างนั้นแหละ แต่เราฝึกฝน เราฝึกฝน เราทำของเรา วิชชา ๓ อวิชชา มีวิชชา มีวิชชาที่มันเป็นปัญญาญาณ ปัญญาเข้ามาชำระล้างมันก็เป็นประโยชน์กับเรา

เรามีเป้าหมายอย่างนั้นนะ ถ้าเรามีเป้าหมายอย่างนั้น เพราะเราเป็นชาวพุทธใช่ไหม คนที่เขาไม่เห็นด้วยในการทำบุญกุศลเขาก็ว่าของเขาเป็นประโยชน์กับเขา แล้วเขาเกิดมาแล้วเขาแสวงหาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของเขา เราก็แสวงหาความอุดมสมบูรณ์ของเราเหมือนกัน แต่ความอุดมสมบูรณ์นี้เราอุดมสมบูรณ์มาเลี้ยงชีวิตของเรา เลี้ยงชีวิตไว้เพื่อประพฤติปฏิบัติ เลี้ยงชีวิตเพื่อศึกษาหาความจริง ถ้าหาความจริงอย่างนี้ได้มันจะออกจากวิวัฏฏะ ถ้าออกจากวิวัฏฏะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว ๔๕ ปี ออกวิวัฏฏะแล้วก็มีชีวิตเหมือนกัน มีชีวิตเหมือนกัน แต่มันมีชีวิตที่ว่ามีวิชชา ความเข้าใจ เข้าใจในเรื่องของจิตของตัวนะ เข้าใจเรื่องอวิชชาในหัวใจ แต่ทางโลกมันมีการเปลี่ยนแปลง

เขาถามว่าพระอรหันต์ลืมในอะไร

ลืมในสมมุติบัญญัตินี่ลืมได้ ลืมในสมมุติบัญญัติ บางอย่างลืมได้ พระอรหันต์ไม่ลืมในอริยสัจ สัจจะความจริง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เพราะมันประพฤติปฏิบัติมา มันทำเป็น ทำได้ สิ่งที่ทำเป็น ทำได้ มันจะลืมไหม เราทำงานของเราเป็น เราทำงานของเราได้แล้วมันจะลืมสิ่งนั้นไหม? มันไม่ลืมหรอก แต่สิ่งที่ยังไม่เคยทำสิมันลืม

เราศึกษาทางวิชาการมา เราอยากจะทำอย่างนี้ๆ เห็นไหม มันมีตำราทำอาหาร ไปอ่านมาแล้วก็ลืม อ่านมานะ จะทำอย่างนั้น เราอ่านมาเลย ตำราทำอาหารนั่นน่ะ แต่เราทำของเราทุกวัน เราพลิกแพลงของเราไปเรื่อย อาหารชนิดนี้เราปรุงต่อเนื่องไปมันก็ดีขึ้น กลมกล่อมขึ้น ทุกอย่างถูกปากขึ้น ดีขึ้น นี่ทำของเราไป แต่ตำราอาหารอ่านแล้วมันลืม แต่ที่เราทำอยู่ เราฝึกหัดอยู่นี่ เราได้ทำมาแล้ว ไม่ลืมหรอก เราทำมาแล้ว เราทำมาแล้ว ไม่ลืม

นี่ก็เหมือนกัน ไม่ลืมในอริยสัจ ไม่ลืมในความเป็นจริง แต่สมมุติบัญญัตินี่ลืม เพราะสมมุติบัญญัติ เราศึกษาทางโลกมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โลกนี้เป็นอนิจจัง สิ่งนี้มันลืมได้ แต่จะไม่ลืมในอริยสัจ ไม่ลืมในความเป็นจริง ถ้าเราได้อย่างนั้นแล้วมันไม่ลืมในความเป็นจริง เวลาผู้ที่ปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์ จิตไปอยู่ในธรรมธาตุ แล้วมันเสวยอารมณ์นะ เวลามันจะคิด หลวงตาท่านใช้คำนี้ ท่านบอกเวลาจะคิดมันต้องไปแบกขอนไม้ คนเราถ้ามันปล่อยขอนไม้ มันนั่งสบายใช่ไหม เวลามันจะคิดมันไปแบกขอนไม้ ขอนไม้คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปคืออารมณ์ความรู้สึกมันต้องเสวย มันต้องไปแบก

ทีนี้คนที่ไปแบก คนไปแบกขอนไม้มันรู้ตัวมันไหม มันแบกหนัก มันรู้ตัวมันไหม ฉะนั้น เวลาจะออกไปคิด เวลาจะออกมาเสวยอารมณ์มันเหมือนแบกขอนไม้หนักๆ เลย แต่ถ้ามันไม่แบกมันก็ปล่อยวาง ปล่อยวางในตัวของมัน

แล้วถ้าปล่อยวางแบบเรา ปล่อยวางแบบขี้ลอยน้ำ ปล่อยวางไม่ได้ ปล่อยวาง มันยังคิดอยู่ การปล่อยวางมันต้องมีวิปัสสนาญาณ การรู้แจ้ง การชำระล้างรู้แจ้งแล้วมันชำระล้างขาดไปจากใจ เวลามันเสวยอารมณ์ มันคิด นั่นล่ะชีวิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชีวิตของครูบาอาจารย์ที่ท่านสิ้นสุดแห่งทุกข์

มนุษย์เหมือนกัน มนุษย์คนหนึ่งแบกขอนไม้ไว้บนบ่า มันไม่รู้ว่ามันแบกนะ แต่มนุษย์คนหนึ่งทิ้งขอนไม้ไปแล้ว เวลาจะคิด มันไปแบกมัน มนุษย์เหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกันโดยหัวใจ ไม่เหมือนกันโดยสัจธรรมอันนี้

เราแสวงหาสมบัติอย่างนี้เพื่อประโยชน์กับเรานะ เราทำเพื่อเรา ทำทานก็ทำเพื่อสร้างอำนาจวาสนาบารมี เวลาฝึกหัดปฏิบัติเข้ามาก็ใช้ปัญญาของเราเพื่อสัจจะความจริง ถ้ามันมีปัญญาญาณของเราขึ้นมา เห็นไหม ทำเป็น ทำเป็น ศาสนทายาท เราสอนเราได้ ใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่งนะ ถ้าเราสอนใจเราไม่ได้ เราไม่รู้สัจจะความจริง เราจะเอาอะไรไปบอกเขา จากใจดวงหนึ่งไปใจดวงหนึ่งมันเป็นงานของใจ งานของเราเป็นงานสัมมาอาชีวะ งานเลี้ยงชีพ นี่เป็นงานประจำชีวิต แต่งานของใจเป็นงานของธรรม ถ้าธรรมเกิดขึ้นมันจะมีความจริงในหัวใจดวงนี้เพื่อประโยชน์กับเรา เราแสวงหาสิ่งนี้

ฉะนั้น จะต้องมีสติมีปัญญา อย่างใดก็แล้วแต่ เราจะตื่นตัวตลอดเวลา การตื่นตัวนี้เพื่อไม่ให้กิเลสมันครอบงำ การตื่นตัวๆ ตื่นตัวตลอดเวลาเพื่อให้เป็นสำนักปฏิบัติ ให้ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมีตัวอย่าง ให้มีแบบอย่าง ไม่ดึงฟ้าลงต่ำ ไม่ดึงสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับเราให้มาคลุกคลีกับโลก เราจะออกจากโลก เราจะทำแตกต่างจากโลก ถ้าทำแตกต่างจากโลก ทำอย่างใด ทำอย่างใด มีผู้นำให้ถือผู้นำเป็นแบบอย่าง แล้วเราทำตามนั้นเพื่อเราจะออกจากวัฏฏะ เอวัง