โลกลวง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “สภาวธรรม”
กราบนมัสการหลวงพ่อ ลูกได้ไปฝึกสมาธิอีกวิธีหนึ่งที่ไม่ใช่แนวพุทโธ แล้วได้พบสภาวธรรมบางอย่าง กราบขอความเมตตาหลวงพ่อชี้แนะด้วยว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสัมมาทิฏฐิหรือไม่คะ
ขณะนั่งสมาธิรู้สึกว่าจิตว่างแล้วเกิดสภาวะดังนี้ค่ะ
๑. เห็นด้วยตาว่ามีจุดจุดหนึ่งมันวิ่งแนวดิ่งอย่างช้าๆ ตั้งแต่ศีรษะมาจรดแถวสะดือ แล้วย้อนจากสะดือไปที่ศีรษะอีก วิ่งๆ ไปลักษณะนี้อยู่นานพอสมควร จากนั้นก็ไปเห็นอีกสิ่งหนึ่งเป็นเกลียวยาวๆ ขาวๆ สว่างๆ หมุนติ้วๆ อยู่ที่กลางอก สิ่งที่เห็นคืออะไรคะ
๒. หลังจากนั้นเริ่มรู้สึกว่าแขนขามันไม่ใช่แขนขา แต่เรารับรู้ว่ามันเป็นสิ่งหนึ่งที่ไหวๆ อยู่นอกๆ จากสิ่งที่เห็นเป็นเกลียวยาวๆ ข้างต้น แล้วอยู่ๆ มันก็ไปพิจารณาไตรลักษณ์เอง เห็นการบังคับแขนขาไม่ได้ โดยที่เราไม่ได้สั่งให้มันคิดพิจารณาแบบนี้เลย ลูกรู้สึกว่า ตัวที่มันคิดพิจารณาไตรลักษณ์คือสิ่งที่เห็นเป็นเกลียวยาวๆ ตามข้อที่ ๑
หลวงพ่อเมตตาสั่งสอน หากสิ่งเหล่านี้ไม่ถูกต้อง ลูกจะได้เลิกปฏิบัติวิธีการนี้ ขอบพระคุณค่ะ
ตอบ : จะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามแนวทางไหน นี่เป็นความชอบ เป็นความเห็นส่วนตัว ทีนี้ความเห็นส่วนตัว โดยพระพุทธศาสนา ถ้าไม่นับถือพระพุทธศาสนา เรานับถือศาสนาใด เราทำสิ่งใดก็ได้
แต่ถ้าเรานับถือพระพุทธศาสนา เราปฏิญาณตนว่าเราเป็นชาวพุทธ เราปฏิญาณตนว่าเป็นพุทธมามกะ เราจะเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เท่านั้น ถ้ามันไม่อยู่ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราจะไม่เชื่ออย่างนั้น ถ้าเชื่ออย่างนั้นมันขาดจากไตรสรณคมน์ คือขาดจากความเป็นชาวพุทธ
ฉะนั้น มันเป็นสิทธิ์ มันเป็นสิทธิ ถ้ามันเป็นสิทธิ์ มันเป็นสิทธิ์ของบุคคลคนนั้น บุคคลคนนั้นเขาจะเลือกนับถือศาสนาใด เขาจะเลือกเชื่อถือสิ่งใด ถ้าเขาเชื่อถือสิ่งนั้น เขาทำสิ่งนั้น นั่นก็เป็นสิทธิ์ของเขา ถ้าเป็นสิทธิ์ของเขา นั่นมันเป็นสิทธิ์ไง ฉะนั้น ความเป็นสิทธิ์ของเขา ความเป็นสิทธิ์นั้น แล้วถ้าทำไปแล้วมันจะได้ประโยชน์และไม่ได้ประโยชน์ตามความเป็นจริง นั้นอีกเรื่องหนึ่ง
ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่า เราจะปฏิบัติ เราฝึกสมาธิในวิธีหนึ่งที่ไม่ใช่แนวพุทโธ
ถ้าไม่ใช่แนวพุทโธ ไม่ใช่แนวพุทโธ จะเป็นแนวไหนได้ แนวไหนถ้าเป็นกรรมฐาน ๔๐ ห้อง ในการทำความสงบของใจตามความเป็นจริงนั้นอีกเรื่องหนึ่ง อีกเรื่องหนึ่ง หมายความว่า วิธีการทำความสงบของใจมันมีหลากหลาย มีหลายวิธีการ ทีนี้หลากหลายวิธีการ เพียงแต่ว่าคนทำทำเป็นหรือเปล่า
ถ้าทำไม่เป็น ทำไม่เป็นมันก็เข้า เพราะถ้าไม่มีพระพุทธศาสนา ศาสนาแรกของโลก ศาสนาดั้งเดิมของโลกคือศาสนานับถือผี นับถือผี นับถือสาง พอนับถือผี นับถือสาง ดูสิ เขาถือเคร่งกัน เขาถือสิ่งที่เป็นเครื่องป้องกันตัวเขา เห็นชนเผ่าหรือเปล่า เห็นชนเผ่าทางภาคเหนือ ชนเผ่า นั่นความเชื่อของเขานะ ความเชื่อของเขา เขามีความเชื่อของเขา เขาเคารพบูชา เขาถือผีของเขา เขาเชื่อของเขา
นี่ก็เหมือนกัน แล้วความเชื่อของเขา เขามีแนวทางอย่างนี้ไหม เวลาดั้งเดิม ศาสนาแรกคือศาสนาถือผี แล้วพระพุทธศาสนาเผยแผ่มา พอเผยแผ่มา เผยแผ่เข้ามาในสังคมที่นับถือผี ถ้านับถือผี คนนับถือผีโดยสัญชาตญาณอยู่แล้ว
แต่พระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามา คนต้องมีปัญญา พอคนมีปัญญา พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้เชื่ออะไรเลย ให้เชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าให้เชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าพระพุทธ พระธรรม สัจธรรม ศีล สมาธิ ปัญญา
สมาธิมันคืออะไร ถ้าทำสมาธิ ทำสมาธิเพื่อความสงบร่มเย็น ทำสมาธิเป็นสัมมาสมาธิ ทำสมาธิเพื่อยกขึ้นวิปัสสนา ทำสมาธิ ทำสมาธิเพื่อความสงบ ทำสมาธิเพื่อความสงบ
แต่ถ้าทำสมาธิขึ้นมาแล้วออกลิงออกค่าง ออกเป็นสัตว์ประหลาด ออกไปอย่างนั้นน่ะ เวลาเขาทำสมาธิ อย่างนั้นเป็นสมาธิหรือ อย่างนั้นเป็นสมาธิไหม เพราะอะไร เพราะดั้งเดิม วิชาอาคมเขาก็มีของเขาอยู่แล้ว ของสิ่งนี้เขามีของเขาอยู่แล้ว ถ้าเขามีของเขาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราปฏิบัติ เราบอกเราเป็นชาวพุทธ เราจะปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะปฏิบัติเพื่อพ้นจากทุกข์
ถ้าปฏิบัติเพื่อพ้นจากทุกข์ต้องมีสติ ถ้ามีสติ เราทำความสงบของใจเข้ามา ใจเข้าสู่สัมมาสมาธิ ถ้าสัมมาสมาธิแล้วยกขึ้นวิปัสสนา เห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นหลักของพระพุทธศาสนา เป็นอริยสัจ เป็นสัจจะความจริง แต่พอเราปฏิบัติแล้ว แค่ทำสมาธิมันก็ทำได้แสนยาก
ทีนี้เราบอกเราจะปฏิบัติสมาธิในแนวอื่น ในแนวไหนก็ได้ที่ไปทำกันน่ะ พระเองก็สอน ดูสิ เวลาสวดภาณยักษ์ สวดอะไรกันน่ะ เห็นแสดงอาการกันออก อย่างนั้นมันเป็นอะไรนั่นน่ะ
เขาบอกนั้นมันเป็นประเพณีไง มันเป็นประเพณีวัฒนธรรม ดูสิ เวลาแต่ดั้งเดิม เวลาที่ว่าเขาเข้าทรงกัน เข้าทรงทรงเจ้า ดูเขารำกันสิ โดยทั่วไปเดี๋ยวนี้เขาจะมีศาล มีการเข้าทรง มีเข้าทรง พอเข้าทรงนะ โอ้โฮ! ทุกคนก็รำกันเต็มไปหมดเลยนะ เวลาเข้าทรง แล้วสวดภาณยักษ์ต่างกับเขาไหม เวลาสวดภาณยักษ์ขึ้นมา อู้ฮู! เห็นออกอาการกันอย่างนั้นหมดเลย เวลาเขาเข้าทรงนั่นเป็นศาสนาพุทธหรือเปล่า เวลาเขาเข้าทรงกัน
เวลาเขาเข้าทรงกันนะ ไม่ใช่ศาสนาพุทธนะน่ะ เขาประทับทรง ทรงคือจิตวิญญาณ จิตอ่อนเขาทับกันอย่างนั้นน่ะ แล้วเวลาเราจะปฏิบัติ เราจะมาออกลวดลายกันอย่างนั้นหรือ
แล้วเวลาสำนักปฏิบัติ สำนักที่เขาสอนๆ กันมันเป็นเรื่องโลกๆ นะ มันลวงโลก ถ้าลวงโลก ลวงโลกมันเป็นอุปาทานหมู่ ใครทำหมู่คนแรกก็ทำตามๆ กันไป
แต่เวลาทำสมาธิ ถ้าสงบก็ให้เป็นอุปาทานหมู่บ้างสิ คือคนหนึ่งสงบก็สงบให้หมดเลย ที่ไหนเขาทำสงบนะ ครูบาอาจารย์ท่านนั่งสมาธิสงบ ลูกศิษย์ก็ต้องสงบไปหมดเลย ลูกศิษย์ได้สมาธิหมดเลย แล้วมันได้ไหม
อุปาทานหมู่ คำว่า “อุปาทาน” มันเรื่องกิเลสแล้ว แต่ถ้าเป็นเรื่องความจริงนะ ถ้ามันสงบขึ้นมามันสงบตามความเป็นจริง เห็นไหม ถ้าสงบ มันจะเห็นอย่างนี้ไหม
เขาบอกว่าเขาไปฝึก ฝึกไม่ใช่แนวทางพุทโธ แล้วมันมีความเห็นว่าจิตมันว่าง พอจิตมันว่าง มันเป็นสมาธิแบบนี้
เวลาคนจะเป็นลม เวลาเขาทำนา เขาอยู่กลางแดด มันลมแดด พอแดดเผา มันเป็นลม มันหน้ามืดนะ ตามันลาย พอตามันลายมันก็เห็นไปหมดแหละ
นี่ก็เหมือนกัน “พอจิตมันว่างมันก็เห็น เห็นว่าเห็นเป็นจุดหนึ่ง มันมีแนวดิ่ง มันมีสิ่งหนึ่งวิ่งเข้ามาเหมือนแนวดิ่ง มันมาจรดศีรษะ จรดสะดือแล้วขึ้นไป”
เวลาคนเป็นลม ถามสิ เวลาคนเป็นลมเขาฟื้นมา บอกว่าเอ็งเห็นอะไรบ้างวะ เวลาคนจะเป็นลม ถามมันนะว่ามันเห็นอะไรบ้าง โอ้โฮ! โลกมันหมุนเลย เวลาจะเป็นลม โลกมันหมุนติ้วๆ เลย
นั้นคนมันจะเป็นลม แต่ไอ้ที่ว่าจิตมันดิ่งต่างๆ เพราะในการปฏิบัติของเรานะ เวลาเราปฏิบัติ ถ้าจริตนิสัยของคน เวลาปฏิบัติไปแล้วถ้ามันไปเห็นนิมิต เขาก็ต้องแก้ แก้ให้กลับมาสู่ความสงบ
เวลาครูบาอาจารย์นะ เวลาท่านปฏิบัตินะ เราปฏิบัติมา เราทำสมาธิ เราทำความสงบของใจ ถ้าใจมันออกรู้ออกเห็นอย่างไร รั้งไว้ก่อน อย่าให้ออก อย่าให้เป็นไป
ถ้าทำสัมมาสมาธิ คนที่มีจริตนิสัยอย่างนั้นเขาต้องแก้ แก้เข้ามาให้สู่ความสงบ ถ้าจิตมันสงบแล้วเรามีสติปัญญาเข้าไป เราพัฒนาของเราขึ้นไป ถ้าจิตมันสงบนะ แล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา
ถ้ามันวิปัสสนา ถ้ามีบุญกุศลนะ ถ้าทำได้จริง เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาแล้ว ย้อนกลับมาสิ่งที่ว่ามันเป็นจริตนิสัย มันเป็นวาสนาไง เอตทัคคะ ๘๐ ทาง พระอนุรุทธะเลิศในทางรู้วาระจิต พระโมคคัลลานะเลิศในทางมีฤทธิ์ พระสารีบุตรเลิศในทางปัญญา เห็นไหม นี่จริตนิสัย จริตนิสัยของใครมีแนวทางอย่างไร ถ้าทำถึงที่สุดแห่งทุกข์ ไม่มีกิเลสเข้ามาบิดเบือนนะ อันนั้นจะเป็นประโยชน์ เพราะจิตใจมันไม่มีกิเลสในหัวใจ
แต่ถ้าเป็นจริตนะ ถ้ามีจริต แล้วเวลาปฏิบัติไปเห็นนิมิต มันแบบว่าจริตนิสัยใช่ไหม มันความเคยชินใช่ไหม ใช้อย่างนั้นไปก่อน แต่จิตมันไม่สงบเข้ามาถึงฐาน จิตมันไม่ยกขึ้นวิปัสสนา จิตมันไม่ได้ชำระล้างกิเลส มันก็อยู่แค่นั้นน่ะ แล้วมันจะเสื่อมไป เห็นไหม ฤๅษีชีไพรที่เขาทำฌานสมาบัติ เขารู้วาระจิต อภิญญา ๖ อภิญญาก็คือการรับรู้ การส่งออก มันจะเป็นอะไร
อริยสัจเขาต้องวางตรงนั้นให้ได้ ย้อนกลับมาก่อน เห็นไหม เวลาอภิญญา อภิญญารู้ว่าสิ้นกิเลส มันก็กำหนดนี่ไง พอจิตมันว่างๆ มันจะเป็นลม มันก็ระลึกรู้เลยว่าสิ้นกิเลสเป็นอย่างนี้ รู้ว่าสิ้นกิเลส แล้วมันสิ้นจริงหรือเปล่า เพราะอะไร เพราะมันไม่มีมรรค มันไม่มีเหตุไม่มีผล
แต่ถ้ามันจะสิ้นกิเลส โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค โสดาปัตติมรรคก็โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรคก็สกิทาคามิผล อนาคามิมรรคก็อนาคามิผล อรหัตตมรรคก็อรหัตตผล มรรคผลมันมีเหตุมีผล มันมีที่มาที่ไป มันต้องสมเหตุสมผลมันทั้งนั้นน่ะ
แล้วนี่จิตมันว่างๆ แล้วมันก็รู้เลย มีสิ่งที่เห็นขึ้นมา มันวิ่งเข้ามา มันเป็นเกลียวๆ ลงไปที่สะดือแล้วขึ้นไปบนศีรษะ...มันไม่เกี่ยวอะไรกันเลย
ถ้าพูดถึงจิตที่ว่าจิตนี้มหัศจรรย์นะ เวลาถ้าจิตมันพ้นจากความเป็นปุถุชน ถ้ามันเข้าไปมันจะรู้มันจะเห็นสิ่งต่างๆ แต่ถ้ามันเข้าไปขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันเข้าไปสู่สมาธิ เข้าไปสู่สัจจะความจริง มันคนละเรื่องกัน
ฉะนั้น ถ้าจะปฏิบัติแนวทางไหนก็ปฏิบัติของเขา เพราะว่าถ้าพูดถึงลวงโลก ลวงโลกหมายถึงว่าคิดว่าอย่างนี้เป็นสมาธิ มันพูดได้กับคนที่ไม่เคยทำไง มันพูดได้กับปุถุชน มันพูดได้กับสังคมทั่วไป
แต่จะพูดกับหลวงปู่มั่น พูดกับครูบาอาจารย์ของเรา เรื่องนี้ท่านมองดูว่ามันจะว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิได้เลย มันจะเป็นมิจฉาทิฏฐิ มันออกไป เห็นไหม ดูสิ มี มีพระสอนเยอะมาก เวลาสอนแล้ว ที่ว่าไปรู้ไปเห็นอะไรร้อยแปดนั่นน่ะ มันอุปาทานหมู่ ไปรู้ไปเห็นมาแล้วได้อะไร
ในปัจจุบันนี้ ดูสิ ในการท่องเที่ยวเขาไปเที่ยวรอบโลกกันทั้งนั้นน่ะ ไปเที่ยวมาให้เปิดหูตากว้าง ดูสิ ทุกคนเวลามีเงินมีทองเขาจะไปเที่ยวต่างประเทศกัน เพื่ออะไร เพื่อให้เป็นแรงบันดาลใจ กลับมาจะได้มีแรงบันดาลใจเพื่อจะมาทำธุรกิจ จะมาทำสิ่งใดจะมีแรงบันดาลใจ มันก็เป็นแรงบันดาลใจของโลก
นี่ก็เหมือนกัน มันจะไปรู้ไปเห็นอะไร มันจะเป็นประโยชน์อะไร
แต่ถ้าทำความสงบของใจ แล้วใจสงบแล้ว สัมมาสมาธิยกขึ้นวิปัสสนา นั่นน่ะสำคัญ เพราะอะไร เพราะมันจะเข้าสู่อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มันมีสมุทัย มีตัณหาความทะยานอยาก เขาไปแก้กันตรงนั้น ถ้ามันเป็นอย่างนั้นมันถึงจะเป็นชาวพุทธ มันถึงไม่ใช่การลวงโลก
ลวงโลก เห็นไหม ปฏิบัติลวงโลกกัน เดี๋ยวนี้เยอะมาก แล้วพระเรามันไม่มีหลักเกณฑ์ ถ้าพระเรามีหลักเกณฑ์จะชี้ได้เลยว่าอะไรผิดอะไรถูก ถ้าผิดก็คือผิด ถ้าถูกก็คือถูก แต่ในการปฏิบัติมันมีผิดกับมีถูก ถ้าปฏิบัติผิดก็คือผิด ถ้าปฏิบัติถูกก็คือถูก นี่ในแนวทางปฏิบัติ แล้วถ้าจิตเราเป็นโลกด้วย จิตของเรามันเป็นโลก โลกียปัญญามันก็ลวงอยู่แล้ว จิตมันลวงมันก็เป็นปัญหาแล้ว
“๒. หลังจากที่เริ่มรู้สึกว่าแขนขามันไม่ใช่แขนเรา แต่เรารู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ไหวอยู่ข้างนอก จากนั้นมันก็เห็นเป็นเกลียวยาวๆ ข้างต้น แล้วอยู่ๆ มันก็พิจารณาเป็นไตรลักษณ์ไปเลย”
มันจะพิจารณาไปอย่างไรเป็นไตรลักษณ์ล่ะ คนเรา สติ ถ้ามันยับยั้งได้ สติมันควบคุมได้ มันก็เป็นสมาธิได้ เพราะมีสติ เป็นสมาธิยกขึ้นวิปัสสนาได้
ไอ้นี่มันไม่มีสติ แต่แขนขามันเป็นไปเอง มันเกลียวยาวๆ แล้วมันก็พิจารณาไตรลักษณ์มันไปเอง พอพิจารณาไป คนเวลามันจะเป็นลมมันก็วูบ มันก็สลบไปเลย นี่ก็เหมือนกัน เวลามันวูบไปมันก็ว่าเป็นไตรลักษณ์ไง คำว่า “เป็นไตรลักษณ์ต่างๆ” เราศึกษาธรรมะ เราก็ว่ามันเป็นไตรลักษณ์ มันจะเป็นสิ่งใดไปล่ะ
ตอนนี้โลกเขาเป็นอย่างนั้นกัน การปฏิบัติเป็นอย่างนั้นกันเยอะแยะไปหมดเลย แล้วเวลาเรามาปฏิบัติ ปฏิบัติเอาความจริง คนทำมาหากินมันทำแล้วมันทุกข์มันยาก คนเรานี่นะ เที่ยวไปเล่นการพนัน ไปเสี่ยงโชคมันง่าย อย่างนี้ก็ไปเสี่ยงโชคกัน ไปล้วงเบอร์กันว่ามันจะรวยเมื่อไหร่ แต่ถ้ามันประกอบธุรกิจทำมาหากิน เวลามันจะตั้งตัวได้มันแสนยาก
นี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ทำตามความเป็นจริงมันแสนยาก แต่เวลาปฏิบัติไป อุปาทานหมู่กันไป คิดตามๆ กันไป มันง่าย แล้วถ้ามันง่ายมันก็เป็นไป
นี้เราไม่เห็นด้วย แล้วเราไม่คิดว่าสิ่งนั้นเป็นแนวทางปฏิบัติจริง แม้แต่ถ้าเป็นพระสอน พระอะไร พระเวลาทำๆ กันไป ตามๆ กันมา มันมีความจริงอยู่ไหม ถ้ามีความจริง อย่างนี้มันเรื่องของเขา
ฉะนั้น ถ้าเป็นเรื่องของเรา โลกมันลวง โลกคือจิตเราเอง โลกคือโลกียปัญญา โลกมันลวงอยู่แล้ว แล้วมันลวงมันก็เป็นอย่างนั้นน่ะ นี่พูดถึงว่าความเห็นของเขานะ
ทีนี้ดูที่ปฏิบัติแล้วมีอุปสรรค ถ้าปฏิบัติความจริงมันจะมีอุปสรรคอย่างนี้
ถาม : เรื่อง “เวทนาในจิต พิจารณาให้ขาดอย่างไรครับ”
กราบนมัสการหลวงพ่อเป็นอย่างสูง กระผมเป็นผู้ที่ปฏิบัติใหม่ เริ่มทำสมาธิแล้วได้สัมผัสกับความสงบของใจได้บ้างแล้ว บางคราวถึงกับน้ำตาซึมกับความสงบที่เกิดขึ้น จึงเริ่มฝึกหัดใช้ปัญญา แต่ในขณะที่จิตมีความสงบเป็นสมาธิและจิตไม่เป็นสมาธิ ก็ใช้การพิจารณาแบบปัญญาอบรมสมาธิ
กระผมสังเกตเห็นเวทนาที่เกิดกับจิต พบว่า เมื่อจิตเป็นสมาธิ จิตมีความสงบและมีความสุข (สุขเวทนา) เมื่อจิตไม่เป็นสมาธิก็ฟุ้งซ่านรำคาญ (ทุกขเวทนา) อั้นตู้ บางคราวก็รู้สึกเฉาๆ แต่บางคราวก็รู้สึกเฉยๆ (อัพยากฤต)
นอกเวลาภาวนาบางคราว เมื่อมีสิ่งกระทบทางทวารต่างๆ ก็มีความรู้สึกยินดีพอใจหรือไม่พอใจไปกับสิ่งเหล่านั้น เช่น เมื่อได้ยินเสียงมีคนเปิดเสียงเพลงเสียงดังก็รู้สึกรำคาญขึ้นมาภายในจิต ได้ทานอาหารอร่อยหรือลมพัดถูกกายเย็นสบาย จิตก็รู้สึกในเชิงสุขเวทนา พออากาศร้อนก็หงุดหงิดไม่พอใจ เมื่อมีคนนินทาหรือพูดกับเราแรงๆ ก็รู้สึกเสียใจ พอคนชม ใจก็ฟู
เมื่อคราวอยู่คนเดียวเงียบๆ ก็มีภาพในอดีตปรากฏขึ้นในมโนทวาร บางคราวก็มาเป็นภาพชัดเจนมาก บางคราวก็มาเป็นเสียงเพลงที่เคยชื่นชอบในอดีต (ทั้งๆ ที่ไม่ได้ดูหนังหรือเปิดเพลงฟังมานานเกือบ ๓ ปีแล้ว) จิตก็ปรากฏสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาไปกับสิ่งนั้น แม้บางคราวจะปรากฏเวทนาไม่ชัด แต่ก็พอทำให้จิตกระเพื่อมและไหวจนรู้สึกได้ จึงอยากถามหลวงพ่อดังนี้
๑. เมื่อมีสิ่งเข้ามากระทบทวารต่างๆ เราสามารถห้ามไม่ให้เกิดเวทนาทางใจขึ้นได้หรือเปล่าครับ
ป.ล. ตอนนี้ผมใช้วิธีกลับมาอยู่กับพุทโธชัดๆ หรือลมหายใจชัดๆ ก็สามารถช่วยได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้ทุกครั้งครับ
๒. บางคราวเมื่อพยายามจับเวทนาขึ้นมาพิจารณา โดยการเพ่งไปที่ตัวเวทนา คือความรู้สึกของกระผมก็ปรากฏในจิต ขณะนั้นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนานั้นก็ดับไปเฉยๆ ปรากฏเป็นความรู้สึกเฉยๆ ขึ้นมาภายในจิต ทำให้งงมาก ถ้าเป็นอย่างนี้ควรทำอย่างไรดีครับ
๓. การพิจารณาเวทนาเพียงอย่างเดียวไปตลอด สามารถทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้หรือไม่ครับ หรือจะต้องพิจารณาจนครบทุกหมวดในสติปัฏฐาน ๔ จะรู้ได้อย่างไรว่าเราควรเลือกพิจารณาหมวดไหนจึงจะเหมาะสมกับเราที่สุดครับ
๔. ตามความเข้าใจของผมคือพระอรหันต์ท่านมองโลกแบบสักแต่ว่า ฉะนั้น สิ่งใดๆ ในโลกจึงไม่สามารถสร้างความหวั่นไหวหรือสะเทือนต่อจิตใจของท่านได้ นั่นแสดงว่าเวทนาทางจิตจะไม่ปรากฏแก่บุคคลที่บรรลุอรหัตตผลแล้วใช่หรือไม่ครับ กราบขอบพระคุณหลวงพ่อมาก
ตอบ : อันนี้พูดถึงเราจะพิจารณาเวทนาอย่างไร เห็นไหม
เริ่มต้นตั้งแต่เวลาเขาปฏิบัติตามความเป็นจริง เราเป็นชาวพุทธไง เราจะปฏิบัติตามความเป็นจริง ถ้าเราทำความสงบของใจ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง การทำความสงบ ๔๐ วิธีการ
แล้วใน ๔๐ วิธีการมีหยาบมีละเอียด มีจริตนิสัยต่างๆ ยังอีกมากมายมหาศาล เราพยายามทำความสงบของใจด้วยข้อเท็จจริง ด้วยสัจจะ ด้วยคำบริกรรม ด้วยทำจริง ทำจริงไง คือจิตเป็นคนกระทำแล้วจิตมันสงบเข้ามา
ไม่ใช่ว่า เราจะไปภาวนาแนวไหนก็แล้วแต่ เรานึกเอา เราคาดหมายเอา แล้วก็จินตนาการกันไป มันเป็นจินตมยปัญญา มันเป็นจินตนาการ มันจินตนาการไปแล้วมันก็เป็นจริงๆ นะ จินตนาการแล้วก็รู้ก็เห็นอย่างนั้นน่ะ แล้วก็เคลิบเคลิ้มไป แล้วก็ เออ! ปฏิบัติอย่างนี้มันง่ายดาย ไปปฏิบัติตามข้อเท็จจริงมันแสนยาก เห็นไหม ทำมาหากินนี่เหนื่อย เสี่ยงโชคมันสบาย ทำมาหากินนี่ยาก
ทีนี้ทำมาหากินเราทำตามความจริงของเรา เรามีวาสนาแค่ไหน เราทำความจริงของเรา เราจะไม่ไปเสี่ยงโชคกับใคร เราทำความจริง เพราะการทำมาหากินมันก็เสี่ยงโชคโดยตัวมันเองอยู่แล้ว มันก็ต้องมีความเสี่ยง แล้วยิ่งไปเสี่ยงโชคมันยิ่งยุ่งเข้าไปใหญ่เลย
ฉะนั้น เวลาทำตามความเป็นจริง พุทโธก็ได้ ธัมโมก็ได้ สังโฆก็ได้ มรณานุสติก็ได้ ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ ทำต่างๆ
เขาบอกว่า เวลามันสงบบ้าง น้ำตาซึม น้ำตาซึมเชียวนะ เวลามันสงบมันสะเทือนใจ เราไปหาอะไร เราไปตะครุบอะไร เราหามาจากไหน แต่มันหาได้ในหัวใจ เห็นไหม ฉะนั้น เขาทำของเขาไป ทีนี้พอทำไปแล้วทุกคนมันอยากจะพัฒนา ถ้าพัฒนาขึ้นไป
“ผมสังเกตถึงเวทนา เวลามันสุขบ้าง มันทุกข์บ้าง”
อันนี้คือว่าเขาใช้ปัญญาอบรมสมาธิ
เวลาพุทโธๆ บางคนพุทโธบ่อยๆ คือว่ามันเคยชิน มันไปไม่ได้ ก็กลับมาปัญญาอบรมสมาธิ ใช้ปัญญาไล่ไป มันจะเห็นเหตุเห็นผล มันก็วางได้ มันวางอารมณ์
พุทโธๆ ก็เพื่อให้วาง มันพุทโธ ไม่คิดเรื่องอื่น คิดแต่พุทโธอย่างเดียว พุทโธๆ จนละเอียดเข้ามา พออยู่กับพุทโธมันก็ละเอียดเข้ามา มันก็วางพุทโธนั่นแหละ
ปัญญาอบรมสมาธิมันจะพิจารณาอารมณ์ความรู้สึก มันพิจารณาถึงโทษของมัน มันก็วางอารมณ์นั่นน่ะ แต่วางด้วยสติไง เพราะมันพิจารณา คนเรามันทำต่อหน้า เวลามันสงบ มันสงบต่อหน้าไง เราไม่ใช่ไปเสี่ยงโชค ไปจับเบอร์ เออ! มันได้ไม่ได้อีกเรื่องหนึ่งใช่ไหม
ปัญญาอบรมสมาธิหรือพุทโธมันมีสติ มันมีการกระทำ คำบริกรรมนี่มีการกระทำ การกระทำต่างๆ ทำขึ้นมาจนตัวมันเอง เวลาละเอียดๆ มันจะรู้ว่าละเอียด พอละเอียดขึ้นมา ความสงบนี่ อื้อหืม! ถ้าจิตมันสงบนะ มันมั่นใจแล้ว ศาสนานี้มีจริง เพราะเวลามันฟุ้งซ่าน เราทุกข์ขนาดนี้ เวลามันปล่อยวาง โอ้โฮ! มันสุขขนาดนี้ แล้วถ้ามันวิปัสสนา ถ้ามันเป็นธรรมมันจะสุขมากกว่าไหน นี่มันมีความจริง มีความจริงเป็นบรรทัดฐาน แล้วมันทำของมันไปได้
ฉะนั้น สิ่งที่ทำมานี่เป็นอารัมภบท
เข้าคำถาม “๑. เมื่อมีสิ่งที่มากระทบกับทวารต่างๆ เราสามารถห้ามไม่ให้เกิดเวทนาทางใจขึ้นได้หรือไม่ครับ ตอนนี้ผมใช้วิธีกลับมาดูอยู่กับพุทโธชัดๆ หรือลมหายใจชัดๆ ก็สามารถช่วยได้เป็นบางครั้ง แต่ไม่ทุกครั้ง”
มันช่วยได้บางครั้ง บางครั้งเพราะสติปัญญามันทัน ถ้าสติมันทัน มันสงบได้ด้วยสติ แต่ถ้าบางครั้งสติปัญญามันอ่อน กิเลสมันเข้มแข็งกว่า นี่ไม่ได้ ไม่ได้คือมันไม่ได้ทุกทีไปไง
ถ้าอารมณ์เราดีๆ ใช่ไหม เราไม่มีอะไรกระทบรุนแรง เราทำสิ่งใดเราภาวนาได้ง่าย วันไหนเรากระทบมารุนแรง จิตใจมันรุนแรง พุทโธไม่อยู่ อะไรไม่อยู่ เห็นไหม เดินจงกรมต้องไวๆ นี่มันมีวาระ มันมีบางคราวที่จิตใจเรานุ่มนวล จิตใจเราดีงาม บางคราวจิตใจเรามีความทุกข์มาก บางคราวจิตใจเรามันโดนกระทบมารุนแรง เราต้องมีอุบายแก้ไขไง คนเรามันมีผลกระทบ มันไม่ใช่ขอนไม้นี่ มันจะเป็นอย่างนั้นตลอดไป
ฉะนั้น สิ่งที่ว่า เวลามันมีผลกระทบทางทวาร เราจะห้ามไม่ให้เกิดเวทนาทางใจได้หรือไม่
ถ้ากระทบมันก็รับรู้ แต่เรามีสติปัญญาแยกแยะหาเหตุหาผลไง ถ้าพุทโธก็พุทโธไป มันเป็นขั้นของสมาธิ มันเป็นขั้นของปัญญา ถ้าขั้นของสมาธิ เราใช้ปัญญาก็ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาแยกแยะให้มันสู่ความสงบ ถ้าสงบแล้วจะใช้ปัญญา มันปัญญาอีกเรื่องหนึ่งนะ นั่นเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้น เห็นไหม การภาวนาไปมันต้องเป็นสเต็ปไปแบบนี้ ฉะนั้น เป็นสเต็ปไปแบบนี้แล้วเราวางไว้
ถ้ามันฟุ้งซ่าน มันไม่มีกำลัง เรากลับมาทำความสงบ ทำสมาธิ ทำความสงบของใจ อันนั้นก็เป็นผลของการปฏิบัติแล้ว แล้วถ้าสงบแล้วเราฝึกหัดใช้ปัญญา มันจะลึกซึ้งเข้าไป พอลึกซึ้งเข้าไป มันก็มีความอยากได้ มีความอยากได้ เราจะมีการขวนขวาย เราจะรักษาตัวเองเพื่อทำให้มันดีขึ้นไปไง แต่ถ้ามันทำไม่ได้ มันเจริญแล้วเสื่อมอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา นี่ข้อที่ ๑ ไง เราต้องพยายามของเราอยู่อย่างนี้
ถ้าพยายามไปแล้วมันเป็นไปได้ไหม เพราะเขาถามว่า มันเป็นไปได้ไหมที่ว่าเราจะห้ามไม่ให้เกิดเวทนาทางใจเลย
ถ้าเวทนาทางใจ ถ้าอยู่ในสมาธิ หลวงตาท่านพูดว่า ท่านฟังเทศน์หลวงปู่มั่น จิตดับไป ๓ วัน คำว่า “จิตดับไป ๓ วัน” มันไม่ออกรับรู้เวทนา มันไม่ออกรับรู้ แต่มันรู้ในตัวมันเอง แต่ไม่ออกรับรู้ เห็นไหม มันดับจากการออกรับรู้ ดับออกจากว่าเวทนาไม่เกิดกับจิตเลย แต่ ๓ วันออกมารับรู้อีก
มันจะไม่รับรู้ไม่ได้ มันจะรับรู้ ต้องรับรู้ แต่เรามีสติปัญญาใคร่ครวญทัน แล้วมันวาง มันวางได้ มันรับรู้ ถ้าไม่รับรู้ เราจะรู้สึก ชีวิตเราจะดำรงได้อย่างไร มันต้องรับรู้
ขณะที่เข้าสมาธิ เราก็เข้าสมาธิ ขณะเข้าสมาธิ เรานั่งหรือเราเดินจงกรม เวลาเราออกมา เราก็มีสติอยู่กับตัวเราเอง แต่ก็รับรู้ รับรู้แบบธรรม ถ้ารับรู้แบบธรรม มันมหัศจรรย์นะ รับรู้แบบธรรม มันเห็นแล้วมันมหัศจรรย์
แต่ถ้าสติมันเสื่อม สมาธิมันเสื่อม สติมันอ่อน เวลารับรู้ รับรู้แบบโลก รับรู้แบบโลก เราสุข เราทุกข์ มันหลง มันหลงไปกับอารมณ์ แต่ถ้าเรารับรู้แบบธรรม อารมณ์ สติปัฏฐาน ๔ ไง มีอารมณ์ เราจับพิจารณาได้ นี่พูดถึงถ้ามันเป็นธรรมนะ ฝึกหัดไปมันจะพัฒนาไป นี่ข้อที่ ๑
“๒. บางคราวเมื่อพยายามจับเวทนาขึ้นมาโดยการเพ่งไปที่ตัวเวทนา คือความรู้สึกของกระผมปรากฏในจิต ขณะนั้นสุขเวทนา ทุกขเวทนานั้นก็ดับไปเฉยๆ ปรากฏเป็นความรู้สึกเฉยๆ ขึ้นมาภายในจิต งงมาก ถ้าเป็นอย่างนี้ควรทำอย่างใด”
เวลาเราเพ่งไปที่เวทนา ถ้าสติกับปัญญามันทัน เวลาความรู้สึกสุขเวทนา ทุกขเวทนามันดับ มันดับไปเฉยๆ มันดับ ถ้าเรามีสติ มันทันมันก็ดับอย่างนั้นน่ะ ถ้าดับอย่างนั้นนะ เราก็อยู่กับพุทโธ เราก็อยู่กับผู้รู้ เดี๋ยวมันก็รับรู้อีก ถ้ารับรู้อีก เราก็จับภาวนาต่อไป นี่ถ้าเราใช้สติปัญญานะ
แต่ถ้ามันดับเฉยๆ มันดับเฉยๆ คำว่า “เฉยๆ ที่มันดับไปเอง”...ไม่ได้ ถ้าดับไปเองนะ เวลามันดับไปเฉยๆ เวลาเราจับอยู่ เวลาเราจับอยู่ เวทนาที่มันบอกว่ามันปรากฏ เราไม่อยากให้ปรากฏได้ไหม
ถ้าเราจะเอาประโยชน์ กิเลสมันก็พลิกแพลงแล้ว มันดับไปเฉยๆ
“นี่รู้สึกงงมากเลย”
งงสิ เพราะของอยู่กับเรา เหมือนของหาย ถือของอยู่แล้วของหายไปกับมือ แล้วหายไปอย่างไรล่ะ มันก็เกิดความสงสัยน่ะสิ ถ้าเกิดความสงสัย ของมันหายไปแล้ว ของมันหายไปก็หายไปเลย แต่นี่ความรู้สึกหายไป เดี๋ยวก็มาอีก เพราะว่าสุขกับทุกข์ เดี๋ยวมันหายไป เดี๋ยวก็เกิดอีก เดี๋ยวหายไปก็เกิดอีก เวลามันหายไป มันหายไปที่จะไม่ให้เราทำประโยชน์ไง
แต่ถ้าเรามีสติปัญญานะ ถ้ามันหายไป อ้าว! หายไป หายไปทีนี้เราผิดพลาด ถ้าคราวต่อไปเราจับได้ มันอยู่ต่อหน้า แล้วพิจารณาไป ถ้ามันหายไปอีก หายไป เราต้องระวังแล้ว มันต้องระวัง มันต้องมีอุบายรู้เท่ามันน่ะ
แล้วถ้ามันพิจารณา พิจารณาให้หายไป มันหายไปเฉยๆ โดยที่ไม่ได้ทำอะไร อันนี้เราไม่ได้ประโยชน์จากมัน เรามีเงินแล้ว แต่เราไม่ใช้เงินเป็นประโยชน์ แต่พอเราพิจารณาไป เรามีเงินแล้ว เราใช้เงินเป็นประโยชน์ไง
เราจับเวทนาได้แล้วเราพิจารณาไปเรื่อยๆ ถ้าพิจารณาจนถึงที่สุดมันปล่อย มันปล่อย มันก็หายไป หายไป มันหายไปเพราะการพิจารณา พอพิจารณา ถ้ามันหายไป มันก็ว่าง ว่าง เดี๋ยวพอมันจิตสงบ มันคลายตัวออกมาก็จับอีก นี่การพิจารณา พิจารณาอย่างนี้ พิจารณาแล้วพิจารณาเล่า คือมีความชำนาญไง เราต้องมีความชำนาญ มีการกระทำของเรา เราจะทำของเราได้ มันจะเป็นประโยชน์กับเรานะ นี่ข้อที่ ๒
“๓. การพิจารณาเวทนาเพียงอย่างเดียวตลอดไป สามารถทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้หรือไม่ จะต้องพิจารณาจนครบทุกหมวดของสติปัฏฐาน ๔ และรู้อย่างไรว่าควรจะเลือกพิจารณาอย่างใด”
สติปัฏฐาน ๔ เป็นสติปัฏฐาน ๔ มันเป็นแนวทาง ๔ แนวทาง กาย เวทนา จิต ธรรม เราพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ถ้าพิจารณาอย่างเดียว พิจารณาเวทนาอย่างเดียว ถ้าเวทนานอก เวทนาใน เวทนาในเวทนา มันเป็นชั้นๆ เข้าไป ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้
เหมือนคนพิจารณากาย พระบางองค์พิจารณากายตลอดเลย แต่หลวงตาท่านพิจารณาครั้งแรกท่านพิจารณาเวทนา แล้วพิจารณาครั้งที่ ๒ เห็นไหม ขั้นแรกโสดาบันท่านพิจารณาเวทนา นั่งตลอดรุ่ง ครั้งที่ ๒ ท่านพิจารณากาย พิจารณากายเป็นธาตุ ๔ ธาตุ ๔ ที่มันรวมลงหมด แล้วมันว่างหมด แล้วติด ๕ ปี นี่พิจารณากาย แล้วพิจารณาครั้งที่ ๓ ก็พิจารณาอสุภะ อสุภะก็กาย สุดท้ายจุดและต่อม นั่นน่ะพิจารณาจิต ธรรมารมณ์ จุดและต่อม
แต่หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่ชอบ หลวงปู่คำดีท่านพิจารณากายนอก พิจารณากายใน พิจารณากาย พิจารณากายทุกขั้นเลย พิจารณากายนอกก็พิจารณากายเป็นละสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดของกาย พิจารณากายครั้งที่ ๒ มันกลับสู่ธาตุเดิมของมันที่หลวงตาพิจารณาเป็นธาตุ พิจารณากายครั้งที่ ๓ ก็เป็นอสุภะ พิจารณากายขั้นที่ ๔ กายอันละเอียดมันเป็นรูป รูปที่มันสร้างขึ้นมาอยู่ภายใน นี่พิจารณาได้หมดเลย พิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่ง
“ถ้าพิจารณาอย่างหนึ่งจะสิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งหมดได้ไหม”
ได้ ครูบาอาจารย์บางองค์พิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่งตลอดสาย ครูบาอาจารย์บางองค์พิจารณา อย่างหลวงตามหัศจรรย์มาก พิจารณาเวทนาขั้นแรก ขั้น ๒ พิจารณากาย ขั้น ๓ พิจารณาอสุภะ พิจารณากายเหมือนกัน ขั้น ๔ พิจารณาจิต พิจารณาธรรม จุดและต่อม นี่มันพิจารณาของมันแล้วแต่วาสนาของคน วาสนาของคนมันจับต้องได้ พิจารณาได้
ฉะนั้น “จะต้องพิจารณาให้ครบทั้งสติปัฏฐาน ๔ ไหม”
ไม่ต้อง เพราะพิจารณา ๑ ก็รู้ทั้ง ๔ พิจารณาอันเดียวเหมือนกัน อริยสัจมีหนึ่งเดียว ไม่ต้องเป็นห่วง เพียงแต่จับเวทนาก็ได้ ให้เวทนาชัดเจนไปเลย
ไม่ต้องไปห่วงว่าจับเวทนาแล้ว เวลาคนทำงาน ทำงานหนักไง พิจารณาเวทนาแล้วเดี๋ยวต้องไปพิจารณากายอีก ต้องพิจารณา คือว่ามันยังเหลืองานอีก ๓ อย่างต้องให้ทำ มันอยากให้จบไวๆ
ทำไปเลย อย่างใดอย่างหนึ่งให้จบ ไอ้ ๓ อย่างนั้นน่ะมันจะมารู้พร้อมกันหมด สิ่งใดสิ่งหนึ่งถ้ามันรู้รอบ รู้เหมือนกันหมดเลย แล้วพิจารณาผ่านเวทนาแล้ว ผ่านกายก็เป็นแบบนี้ ผ่านเวทนาก็เป็นแบบนี้ ผ่านจิตก็เป็นแบบนี้ ผ่านธรรมก็เป็นแบบนี้ ถ้าเป็นแล้วเป็นเหมือนกันเลย พิจารณาได้
ฉะนั้น “จะต้องพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ ครบไหม”
วางไว้ก่อน ไม่ต้องไปกังวล ไอ้นั่นวางไว้ก่อนเลย
“๔. ตามความเข้าใจของกระผมคือพระอรหันต์ท่านมองโลกแบบสักแต่ว่า ฉะนั้น สิ่งใดๆ ในโลกจึงไม่สามารถสร้างความหวั่นไหวหรือสะเทือนต่อจิตใจของท่านได้ แสดงว่าเวทนาทางจิตจะไม่ปรากฏแก่บุคคลที่เป็นพระอรหันต์แล้วใช่หรือไม่ครับ”
มันก็ใช่ ใช่ที่ว่าถ้าเวทนาจะไม่ปรากฏกับจิต เพราะเวทนามันโดนทำลายมาตั้งแต่อนาคามิมรรคแล้ว เพราะนั่นมันขันธ์อย่างละเอียด เวลาปฏิจจสมุปบาท มันอิทัปปัจจยตาที่เขาว่านั่นน่ะ นั่นน่ะปฏิจจสมุปบาท อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ มันเกี่ยวเนื่องกันหมด ถ้ามันเกี่ยวเนื่องกันหมด ทำลายแล้วธรรมธาตุมันพ้นออกไป ฉะนั้น ธรรมธาตุมันพ้นออกไป มันถึงไม่มีเวทนาทางจิต ไม่มี ไม่มีเวทนาทางจิต ถ้ามีเวทนาทางจิตมันก็กระเพื่อมไง กระเพื่อมเวทนาทางจิต
ฉะนั้น เวลาพระอรหันต์รู้ถูกรู้ผิดไหม พระอรหันต์แบ่งแยกถูกแยกผิดเป็นไหม เป็น พระอรหันต์รู้ถูกรู้ผิด
ทีนี้รู้ถูกรู้ผิด ถูกผิดนี่เป็นเวทนาหรือเปล่า สุขเวทนา ทุกขเวทนาหรือเปล่า รู้ถูกรู้ผิดหรือเปล่า
ฉะนั้น สิ่งนี้ นี่คือเศษส่วนไง คือสอุปาทิเสสนิพพาน ขันธ์ที่สะอาด ขันธ์ที่ยังมีอยู่ ยังสืบต่อได้ ฉะนั้น ขันธ์ที่มีอยู่ ฉะนั้น ถ้ามันเสวยก็ไม่มี ฉะนั้น จิตพระอรหันต์ไม่มีนี่ใช่
แต่คำว่า “พระอรหันต์มองโดยสักแต่ว่าใช่ไหม”
มองสักแต่ว่า มองสักแต่ว่า สักแต่ว่ามันเป็นของมันอยู่แล้ว อย่างเช่นพายุเวลาเกิด เกิดในทวีปอื่น เราอยู่ในทวีปนี้เราก็รู้ข่าวใช่ไหม นี่มันสักแต่ว่า มันไกลตัวเราไง
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าสักแต่ว่ามันเป็นขันธ์ ที่ว่าสักแต่ว่า ใช่ แต่อัตตานุทิฏฐิ คือว่าตัวจิตพระอรหันต์อันนั้นสำคัญกว่า
ฉะนั้น “มองว่าสักแต่ว่าใช่ไหม”
เพราะถ้ามองสักแต่ว่าใช่ไหม เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาสอน สอนโมฆราชว่า “เธอจงมองโลกนี้เป็นสักแต่ว่า” โมฆราชยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ก็พิจารณาตามนั้น พอพิจารณาตามนั้นก็เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา
นี่มองโลกสักแต่ว่า คำว่า “เรามองโลกสักแต่ว่า” ถ้าใครมองโลกสักแต่ว่าได้จะได้เป็นพระอรหันต์
“จะได้เป็น” เห็นไหม แสดงว่ายังติดอยู่
แล้วถ้าเป็นแล้วล่ะ ถ้าเป็นแล้วมันเป็นสักแต่ว่าไหม
มันเป็นตัวมันสมบูรณ์แล้ว คำว่า “สักแต่ว่า” มันยังมีเป้าหมายอยู่ ยังมีความมั่นหมายอยู่ก็สักแต่ว่า แต่ถ้ามันไม่มีอะไรเลยล่ะ ว่าธรรมะเหนือธรรมชาติ มันเหนือทุกๆ อย่างอยู่แล้ว มันก็เป็นของมัน มันเหนือของมันอย่างนั้น
คำว่า “สักแต่ว่า” มันเป็นสมมุติที่เอามาพูดกัน ฉะนั้น ถึงว่าอันนี้เป็นอันหนึ่ง
ฉะนั้น ถามว่า “พระอรหันต์มีความเห็นอย่างไร”
นั้นต้องถามพระอรหันต์ นี่พวกเรากำลังดำน้ำกัน ตอนนี้เรากำลังดำน้ำกัน ทายดูว่าพระอรหันต์เขามีความคิดอย่างไร ก็ถามมาใช่ไหม ให้ตอบก็ตอบ ตอนนี้ถ้าเอาจริงๆ ต้องไปถามพระอรหันต์ ตอนนี้เราดำน้ำกันอยู่ ดำน้ำเพื่อจะเอาความจริง ถ้าเอาความจริงได้มันก็จะเป็นความจริงขึ้นมาได้ นี่พูดถึงความคาดหมายกับความจริง
ฉะนั้น เราไม่ต้องทุกข์ต้องยาก เราไม่ต้องคาดหมาย เห็นไหม เริ่มต้นตั้งแต่ปฏิบัติเขาก็ล้มลุกคลุกคลาน นี่ที่ว่าสภาวธรรม ไอ้ที่เวลาปฏิบัติเข้าทางมันก็จะมีเหตุมีผล มันยังต้องมีอุปสรรคที่เราจะปฏิบัติของเราไป ถ้าเราปฏิบัติได้มันถึงเป็นความจริง
กิเลสนี้เป็นโลก กิเลสมันลวง โลกถึงลวงเราไง แต่ถ้าเป็นโลกๆ เลยนะ ลวงโลก เราออกไปเรื่องโลกๆ เลย แล้วมันหลอกลวงไม่มีสิ่งใดเลย เวลาเราปฏิบัตินะ กิเลสคือโลก กิเลสมันหลอกลวงเรา มันเลยโลกลวง เอวัง