เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๒ ต.ค. ๒๕๕๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อ้าว! ตั้งใจฟังธรรมะ เห็นไหม ให้ธรรมเป็นทาน เขาว่าให้ธรรมเป็นทาน ทุกคนพยายามจะพิมพ์หนังสือ จะแจกกัน ให้ธรรมเป็นทาน แต่ทำสิ่งใดก็ไม่รู้ ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิมันก็ดีงามไป แต่สัมมาทิฏฐิมันเป็นสัมมาทิฏฐิกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเวลาคนมีจริตนิสัยฟังสิ่งนั้นมาแล้วจะยืนตามหลักความเป็นจริง มันบอกว่า ถ้ามีหลักเขาว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ

มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิด สัมมาทิฏฐิคือความเห็นที่ถูกต้องดีงาม แล้วความเห็นถูกต้องดีงาม เวลาให้ธรรมเป็นทานๆ จะพิมพ์หนังสือมาแจกๆ แล้ววุฒิภาวะของตัวไปจานกัน ไปเขียนกัน แล้วแจกไปแจกมากลายเป็นไสยศาสตร์ไปเลย ถ้าเป็นไสยศาสตร์ไป เป็นเรื่องความเชื่อ เป็นความเห็นของเขา ทำไมเขาเชื่อ เขามีความเห็น แล้วเขาทำแล้วเขาได้ดีล่ะ

เขาได้ดีเพราะเป็นกระแสโลกไง กระแสโลกถ้ามันมีการนับหน้าถือตากัน มีการเชิดชูกัน ไอ้นั่นล่ะเป็นกระแสโลก

แต่ถ้าเป็นกระแสธรรม หลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่าในเขานะ เวลาหลวงตาท่านเล่าทีไร ท่านบอกว่าเวลาหลวงปู่มั่นท่านเล่าถึงชีวิตของท่าน ท่านเล่าเฉยๆ ท่านเล่าเฉยๆ คือว่าท่านเผชิญความจริงของท่านมา ไปอยู่ป่าอยู่เขาที่ไหน เขาบอกว่าพระพระกรรมฐานกินถั่วกินงา ไม่กินเนื้อสัตว์ เขาไม่มีถั่วไม่มีงา เขาใส่ข้าวเปล่า นี่ความเห็นของเขา

เวลาท่านเล่ามาท่านเล่าให้เห็นไง ให้เห็นว่าถ้าเราทำความจริงของเรา โลกเขารู้กับเราไม่ได้ ถ้าโลกรู้กับเราไม่ได้ เขาคิดอย่างไร เขาทำสิ่งใด เขาปรารถนาดีของเขา เขาตั้งใจของเขา ท่านเล่าออกมา เล่าออกมาให้พระเห็นว่าถ้าเราจะทำความจริง มันจะให้เขาเห็นคล้อยตามเรามันเป็นไปไม่ได้

แต่เวลาท่านเล่ามา เล่าด้วยความเป็นสัจจะของท่าน ด้วยความเป็นจริงของท่าน ท่านไม่ได้เล่าด้วยความดีใจ เสียใจ ติฉินนินทา หรือว่ายกย่องสรรเสริญตัวท่านเอง ท่านไม่ได้คิดอย่างนั้น

แต่เวลาหลวงตาท่านบอกท่านเป็นคนฟังนะ ท่านฟังเสร็จท่านเบือนหน้าเข้าข้างฝาแล้วน้ำตาไหล สงสารถึงความทุกข์ความยากของท่าน เห็นถึงเจตนารมณ์ของท่านที่ท่านตั้งใจของท่าน นี่คนฟัง คนฟังน้ำตาไหล ไอ้คนเล่า เล่าไปเรื่อย สัจจะความจริงไง

แล้วเวลาท่านพูด เห็นไหม เวลาเราไปธุดงค์กัน หลวงปู่มั่นท่านบอกไง ถ้าที่ไหนมีปิ่นโตแถวยาวๆ โอ้โฮ! ที่นี่อากาศดี ปลอดโปร่ง สบายดีเนาะ น่าภาวนา ถ้าที่ไหนปิ่นโตไม่มีเลย โอ้โฮ! ที่นี่อากาศอับ ที่นี่อากาศไม่ดี ภาวนาไม่ได้ มันไม่มีปิ่นโต ไม่มีปิ่นโตส่งมาไง นี่ลาภสักการะไง มันไม่มีอะไรเข้าถึงลิ้นมันไง

แต่ถ้ามันเป็นความจริง ความจริง เขาอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ ดูหลวงปู่มั่น ท่านไม่ได้ติฉินนินทาใคร เพราะหลวงตาท่านพูดเอง เราหาเองนะ บ้านหลังใหญ่หลังโตเราก็ไม่เอา บ้านหลังใหญ่หมายความว่ามันมีหมู่บ้านใหญ่ เวลาไปแล้วเขาก็มากวนไง มาถามฤกษ์งามยามดีของเขาอยู่ตลอดไป มันเสียเวลาภาวนา เราไปหาบ้านน้อยๆ ๒ หลัง ๓ หลัง เพราะเป็นวัฒนธรรมของชาวอีสานเขานะ มีพระมาเขาจะใส่บาตรของเขา เขามีวัฒนธรรมของเขา พอมีบ้านหลังสองหลัง เราฝากชีวิตไว้กับเขาได้แล้ว เราฝากชีวิตกับเขาได้ มันมีของตกบาตรพอดำรงชีวิต เราหาอย่างนั้น เราเป็นคนแสวงหาเอง เราจะไปน้อยใจได้อย่างไร ก็เราแสวงหาเอง

ถ้าบ้านใหญ่บ้านโต เขาก็จะมีปิ่นโตที่แถวยาวๆ เขาก็จะมาดูอุปัฏฐากรักษาไง แล้วเขาก็จะมาถาม อากาศสบายดีไหม ตกบ่ายต้องการอะไรไหม...ไม่ต้องภาวนา แล้วเวลาไปธุดงค์ ไปธุดงค์ทำไม เวลาออกไปธุดงค์เขาไปทำไมกัน? เขาไปหาหัวใจของเขา แต่ในเมื่อคนเราเกิดมา คนเราเกิดมาต้องมีปากมีท้อง คนมีปากมีท้องมันก็ต้องมีเครื่องเยียวยาอาศัย ถ้าเยียวยาอาศัย ก็แค่เยียวยาอาศัย ไม่ได้ไปเอาเป็นเรื่องจริงเรื่องจัง

กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กันนะ ทุกคนที่เกิดมา เราเกิดมาจากพ่อจากแม่นะ เราก็เป็นทารกน้อยมาทั้งนั้นแหละ เราก็เติบโตมา แล้วเราก็ชราคร่ำคร่าไป มันเสมอกันนะ เรามีร่างกายกับจิตใจเท่ากัน เราจะเจ็บไข้ได้ป่วย เราจะทุกข์จนเข็ญใจ เราจะมั่งมีศรีสุขอย่างใดก็แล้วแต่ สิ่งนี้มันเป็นผลของวัฏฏะ คนทำบุญกุศลมา ทำสิ่งใดมา พระสมัยพุทธกาลไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วยเลย เพราะอะไร เพราะท่านเคยอุปัฏฐากดูแลรักษาพระมา เขาทำของเขามา ทั้งชีวิตของเขา เขาไม่เจ็บไข้ได้ป่วย

ดูสิ เวลาคนเจ็บไข้ได้ป่วย คนทุกข์คนยากเจ็บไข้ได้ป่วย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปตรวจวัด ไปเห็นพระเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่ ไม่มีใครดูแล ไม่มีใครอุปัฏฐากเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงได้เข้าไปทำเอง ไปอุปัฏฐาก พระเห็นเข้าพระก็ไปทำ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เทศน์ ถ้าเธอจะอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เธอจงอุปัฏฐากภิกษุไข้เถิด

พออุปัฏฐากภิกษุไข้ ตอนนี้ภิกษุไข้ก็เต็มเลย เพราะภิกษุไข้เอาแต่ใจตัวเองไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เลยอนุบัญญัติ ภิกษุไข้ต้องเป็นผู้ที่อุปัฏฐากง่าย ถ้าภิกษุไข้ เวลาเขาให้กินยา เขาให้รักษา ไม่ยอมรักษา ไม่ต้องให้ภิกษุ ผู้ที่อุปัฏฐากภิกษุไข้จะต้องมีขันติ มีความอดทน เพราะภิกษุไข้เจ็บไข้ได้ป่วย เอาแต่ใจ ผู้ที่อุปัฏฐากภิกษุไข้ก็ต้องมีปัญญาโน้มน้าวให้เขากินยา เห็นไหม มันมีองค์ประกอบไปอีก ไม่ใช่ว่า โอ๋ย! ฉันเป็นภิกษุไข้แล้วฉันก็จะเอาอย่างไรก็ได้

ภิกษุไข้ที่ว่ายากสอนยาก ที่ดื้อด้าน ไม่ต้องไปดูแลมัน นี่พระพุทธเจ้าบอกอย่างนั้น แต่เวลาบอกว่าเราต้องไปดูแลภิกษุไข้ ถ้าดูแลภิกษุไข้ก็เท่ากับดูแลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม ให้ธรรมเป็นทาน ให้ธรรมเป็นทานไง ก็เชื่อตามๆ กันมาไง แต่ถ้าเขาเป็นจริงนะ เขาเป็นจริง เรามีเมตตา เราเห็นแก่สังคม เราทำได้ทั้งนั้นแหละ ถ้าเราทำได้ มันมีค่าเท่ากันนะ

เราเกิดมามีร่างกายกับจิตใจเหมือนกัน เวลาทุกข์กายทุกข์ใจ เวลาทุกข์กายทุกคนก็รู้ได้ เวลาขาดตกบกพร่อง เราก็เห็นเขาทุกข์กาย เวลาทุกข์ใจ เราไม่เห็นนะ เวลาคนมั่งมีศรีสุขอย่างไร มันเผาลนในหัวใจ ทุกข์มากนะ ไฟสุมขอนนะ ทุกอย่างมันก็มีพร้อม ทำไมเราทุกข์ขนาดนี้ จะเอาสิ่งใดก็ได้ทั้งหมด ทำไมมันทุกข์ขนาดนี้ล่ะ มันทุกข์เพราะอะไรล่ะ? มันทุกข์เพราะกิเลสไง มันทุกข์เพราะเป็นความจริงไง มันทุกข์เพราะเป็นอริยสัจไง สัจจะความจริงมันมีอยู่ในหัวใจนี้ไง

เพราะไม่มีอวิชชามันก็ไม่เกิดไง เพราะความไม่รู้มันถึงได้ทุกข์ไง แล้วเราจะปลดเปลื้องไอ้ความไม่รู้อย่างนี้ เราจะเอาความรู้สิ่งใดไปปลดเปลื้องมันล่ะ จะเอาความรู้ของกิเลสไปปลดเปลื้องมันใช่ไหม จะเอาแต่ความพอใจใช่ไหม จะเอาแต่ความสุขสบายไปปลดเปลื้องมันใช่ไหม เอากิเลสไปแก้กิเลสได้ไหม

มันเอากิเลสแก้กิเลสไม่ได้ มันต้องเอาธรรมไปแก้ แล้วธรรมมันคืออะไรล่ะ

ศีล สมาธิ ปัญญา เราต้องมีศีล มีศีลคือความบังคับใจของเรา เราตั้งกติกาของเราขึ้นมา เวลาเข้าพรรษา หลวงตาท่านพูดนะ ท่านพูดด้วยความมักน้อย ถ้าเราเข้าพรรษา เราก็ตั้งสัจจะซะ อย่างน้อยเราก็ตักบาตรสัก ๑ องค์ องค์เดียวก็พอ ไม่ต้องมากหรอก เพราะเราคนทุกข์จนเข็ญใจ ใส่บาตรสักองค์หนึ่ง ตั้งใจให้มันตลอดพรรษา ทำให้มันตลอดพรรษาไป ถ้าตลอดพรรษา

การทำอย่างนั้นมันมีกติกากับตัวเองใช่ไหม เราจะต้องตื่นแต่เช้า เราต้องขวนขวายของเรา นี่มันพัฒนาตน มันพัฒนาตัวเรา ตัวเรา เพราะเราทุกข์เรายาก เพราะเราจนตรอก เราจนตรอกแล้วเราไม่เคยแก้ไขอะไรเลย แล้วก็จมปลักอยู่กับความทุกข์อย่างนั้นน่ะ ความทุกข์อันนั้นมันก็หมักหมมหัวใจนั้นน่ะ เราตักบาตรสักองค์หนึ่ง มันเห็นผ้ากาสาวพักตร์ เห็นสมณะนะ ให้มันรื่นเริงหัวใจนะ ถ้ามันรื่นเริงหัวใจ สิ่งที่มันหมักหมมหัวใจมันก็บางลงนะ มันจางลงเพราะอะไรล่ะ

โอ้! เราทุกข์เรายาก เราทุกข์ทนเข็ญใจ ทุกข์ใจไง ทุกข์ใจๆ เราทุกข์ใจ พอทุกข์ใจมันอยู่ในใจ มันทุกข์ใจ

แล้วพระท่านทุกข์ใจไหม พระมาบิณฑบาตท่านทุกข์ใจไหม ท่านบิณฑบาตไปแล้วท่านขบฉันอย่างใด ท่านอยู่ของท่านอย่างใด นี่ไง ที่มันทุกข์ใจมันจมปลักอยู่กับความทุกข์อันนั้นแหละ มันมีคติ ถ้าเห็นสมณะ สมณะท่านสงบเสงี่ยมของท่าน ท่านสัญจรของท่าน ท่านระวังตัวของท่าน ท่านดูแลหัวใจของท่านอย่างไรล่ะ ทำไมท่านทำได้ล่ะ เราขวนขวาย พยายามหาอยู่หากินมันก็ทุกข์ยากทั้งนั้นแหละ เวลามันหามาแล้วมันมีพออยู่พอกินมันก็ยังทุกข์อยู่น่ะ แล้วสมณะ ชีวิตเขาทำอย่างไร

ถ้าเธอจะอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เธอจงอุปัฏฐากภิกษุไข้เถิด แล้วสมณะเจ็บไข้ได้ป่วยบ้างไหม สมณะที่มาบิณฑบาตอยู่นี่ อยู่กับเรานี่ สมณะท่านอยู่ของท่านอย่างไร

เรามีลูกมีเต้าเรายังห่วงลูกเต้าของเรา ลูกเต้าของเรามันจะอยู่อย่างไร มีการศึกษา จบเมืองนอก เป็นห่วงมัน แล้วสมณะเขามีพ่อมีแม่หรือเปล่าล่ะ สมณะมีพ่อมีแม่ไหม แล้วเขาสละพ่อสละแม่มาบวชมาเรียน แล้วท่านสละชีวิตมา ใครดูแลท่านล่ะ นี่มันได้คิด มันเอาสิ่งนั้นย้อนกลับมา ย้อนกลับมาปลดเปลื้องความทุกข์ในใจไง

ไอ้ที่ว่ามันทุกข์ๆ เราทุกข์ทั้งนั้นแหละ ทุกข์เพราะอะไร เราทุกข์ในใจ พอเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของท่าน ดูชีวิตความเป็นอยู่ของท่านนะ ถ้าสมณะบวชมาแล้ว เราบวชมาด้วยศรัทธาความเชื่อของเรา เราบวชมาเป็นพระ บวชเป็นพระบวชขึ้นมาโดยอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์บวชขึ้นมาด้วยญัตติจตุตถกรรม เป็นพระขึ้นมา ยกเข้าสู่สงฆ์ คำว่า “สมมุติสงฆ์”

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เห็นไหม เราเป็นภิกษุแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นเราเป็นอุบาสก-อุบาสิกา เพราะเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราได้เสียสละทาน เราได้ทำบุญกุศลของเรา ถ้าจิตใจมันเห็นช่องทาง ช่องทางที่มันจะแก้ความทุกข์ในใจ มันก็อยากบวช อยากเรียน อยากประพฤติปฏิบัติ อยากจะมีธรรมโอสถ สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี อยากมีความสงบระงับ อยากจะมีความสุข อยากจะมีคุณธรรมในหัวใจ เราก็มาบวช

บวชเสร็จแล้ว เราบวชมา บวชมาได้สมมุติสงฆ์ เราได้มาเป็นสงฆ์โดยสมมุติ ดูสิ บวชมาแล้วได้ห่มผ้ากาสาวพักตร์ สิ่งที่ได้ห่มธงชัยพระอรหันต์ ห่มแล้วหัวใจมันเป็นพระอรหันต์ไหม หัวใจมีความสุขความสงบไหมล่ะ บิณฑบาตมาฉันแล้ว ฉันเสร็จแล้วทำข้อวัตรปฏิบัติ ล้างบาตร เช็ดบาตร ผึ่งผ้า เก็บเสร็จแล้วเราจะเข้าทางจงกรม พอเข้าทางจงกรม ตัวเดินอยู่ในทางจงกรม หัวใจมันคิดไปไหนล่ะ หัวใจมันอยู่ไหน เห็นไหม นี่เป็นสมมุติสงฆ์

พระบวชมาแล้วก็บวชมาฝึกหัด บวชมาเพื่อประพฤติปฏิบัติ บวชมาเพื่อพัฒนาหัวใจของเรา ถ้าพัฒนาหัวใจของเรา ภิกษุเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง บิณฑบาตได้อาหารของชาวบ้านมาขบฉัน ฉันเสร็จแล้วเข้าสู่โคนไม้ ผู้ที่ได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ได้อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ได้เข้าฌาน ได้เข้าสมาบัติ ได้เข้าไปพักผ่อน ได้มีความสุขในหัวใจ

ถ้าผู้ใดเข้าสู่สัมมาสมาธิ ได้สัมมาสมาธิแล้วเอาหัวใจนี้ออกใช้ปัญญาในสติปัฏฐาน ๔ ในสัจธรรม ได้แยกแยะ ได้ขุดคุ้ย ได้พิจารณา พิจารณาสัจธรรมในหัวใจของตัว มันเกิดภาวนามยปัญญา ปัญญามันเกิดขึ้น มันมีความสุข มีความรื่นเริง

พอมีความรื่นเริง ผู้ที่เขาใส่บาตรมา ผู้ที่เขาทำบุญกุศลมา เขาเป็นผู้สนับสนุน เราได้ขบ ได้ฉัน ได้อยู่อาศัย ได้สัปปายะ ๔ ได้กำลังมาจากคฤหัสถ์ของเขา เราทำบุญกุศลของเรา เราประพฤติปฏิบัติของเรา จิตใจของเราเป็นธรรมขึ้นมา มันมีความสุข มันมีความกระจ่างแจ้ง มันมีวิปัสสนาญาณ มันมียถาภูตัง มันเกิดญาณทัสสนะ มันเกิดต่างๆ อันนี้มันเกิดกับใคร? มันก็เกิดในหัวใจของเราใช่ไหม

ถ้าเกิดในหัวใจของเรา แล้วหัวใจเรามันอยู่ในอะไร ชีวิตเราอยู่ด้วยอะไรล่ะ? อยู่ด้วยปัจจัย ๔ ปัจจัย ๔ ได้มาจากไหนล่ะ? ก็ได้มาจากญาติโยม ญาติโยมเขาส่งเสริมขึ้นมา บุญกุศลมันต่อเป็นทอดๆๆ ไป เขาทำบุญกุศลเขาทำอย่างนั้น เห็นไหม มันไม่ติดอะไรเลย โยมเขาทำหน้าที่ของเขา ดูสิ เข้าพรรษาเขาก็ตั้งสัจจะจะใส่บาตรพระสักองค์หนึ่ง องค์ไหนก็ได้ ใส่สักองค์หนึ่ง ใส่ทุกวัน ไอ้พระที่บิณฑบาตเขามาแล้ว บิณฑบาตเขามา สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง มันสะอาดบริสุทธิ์ สัมมาอาชีวะมันสะอาดบริสุทธิ์ สะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมา เวลาฉันเข้าไปแล้วมันไม่เหมือนกับฉันถ่านก้อนแดงๆ

ผู้ที่ทุศีล ฉันอาหารของชาวบ้านเขา ก็เหมือนเอาถ่านแดงๆ กรอกใส่ปากไปนั่นน่ะ ถ้ามันสัมมาทิฏฐิ มันถูกต้องดีงามมันก็สะอาดบริสุทธิ์ไป ถ้ามันสะอาดบริสุทธิ์เข้าไปแล้ว เวลาทำข้อวัตรเสร็จแล้วก็เข้าทางจงกรม พอเข้าทางจงกรม มันไม่มีความลังเลสงสัยไง ไม่มีนิวรณธรรม ไม่มีอะไรมากางกั้นหัวใจ มันจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมาก็ทำได้แจ่มแจ้ง

แต่ถ้ามันมีความหมักหมมในหัวใจ เห็นไหม บิณฑบาตเขามา ทำด้วยความฉ้อฉล บิณฑบาตเสร็จแล้วไปเดินจงกรม “เอ๊ะ! เรากินของเขาไปมันเป็นอย่างไรเนาะ โอ้! เราบิณฑบาตมามันเป็นบาปหรือเปล่าวะ ปฏิบัติไปมันจะเป็นศีลไหมเนี่ย” นี่มันทุจริตมาแต่ต้น เวลามันภาวนามันก็ติดขัดไปหมดแหละ

แต่ถ้ามันเป็นสัมมาอาชีวะ ฆราวาสเขาก็ทำด้วยหน้าที่ของเขา ด้วยศรัทธาด้วยความเชื่อของเขา ด้วยความเป็นจริงของเขา ภิกษุ ภิกษุบวชมาด้วยเห็นโทษในวัฏสงสาร ทำด้วยความเป็นจริงของเราขึ้นมา บิณฑบาตมาเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง เลี้ยงชีพไว้ประพฤติปฏิบัติ มันเป็นสัมมาอาชีวะ มันถูกต้อง มันสะอาดบริสุทธิ์ เวลาเข้าทางจงกรมไปแล้ว มันจะเดินจงกรมเข้าไป มันไม่มีอะไรมาเป็นตะกอนในใจ มันทำอย่างนั้นมันทำด้วยความจริงจัง เรามีอำนาจวาสนาบารมีแค่ไหน เราใช้สติของเราแค่ไหน มันทำแล้วมันลงสมาธิไม่ลงสมาธิก็ด้วยความสามารถของเรา

ถ้าเราทำด้วยบุญกุศลของเรามา เราทำสิ่งใดมา เวลาจิตมันลงสมาธิขึ้นมา อยู่ในป่าในเขา เวลาทำขึ้นมาเทวดา อินทร์ พรหมมาอนุโมทนา อนุโมทนากับภิกษุนี้ ภิกษุนี้ได้เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง ด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ตั้งแต่ศีล ตั้งแต่สมาธิ แล้วภิกษุนี้เกิดญาณ เกิดญาณทัสสนะ เทวดาเขารู้ ถ้ามีสิ่งใดเข้ามากีดขวางก็จะปกป้องดูแล

มนุษย์เรา เราอยากได้บุญกุศล เราก็ทำบุญกุศลของเรา ตักบาตร ทำบุญกุศลของเรา แล้วพระท่านเลี้ยงชีพด้วยชีวิตของท่าน ท่านก็ปฏิบัติของท่าน เทวดา อินทร์ พรหมเห็นพระปฏิบัติขึ้นมา จิตมันจะลงสู่สมาธิ จิตมันจะเข้าสู่สัจจะความจริง มีสิ่งใดเข้ามาเป็นอุปสรรค ท่านจะปกป้องดูแล เขาก็แสวงบุญเป็นชั้นๆ ขึ้นไป เพราะอะไร กามภพ รูปภพ อรูปภพ วัฏฏะ ผลของวัฏฏะ จิตเวียนว่ายตายเกิด

พระนาคิตะเป็นผู้ที่อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเวลาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “นาคิตะ ถ้ายังไม่มีผู้อุปัฏฐาก เธอจะจากเราไป”

พระนาคิตะอยากจะไปวิเวก จะไปธุดงค์ ตอนนั้นพระอานนท์ยังไม่ได้อุปัฏฐาก ยังไม่มีใครอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นหน้าที่ มีแต่ผู้ที่สมัครใจ พระนาคิตะเป็นผู้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาด้วยกัน แล้วพระนาคิตะก็ขอปลีกตัวไปวิเวก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “นาคิตะ มันไม่มีใครอุปัฏฐากเรา เธอไปแล้วใครจะดูแล”

พระนาคิตะก็ดื้อไป พอพระนาคิตะดื้อไปก็ไปธุดงค์ ก็ไปเดินจงกรม มันร้อนใจ มันร้อนใจไปหมด ทุกอย่างมันร้อนใจไปหมด เห็นเขาไปร้องรำทำเพลงต่างๆ จิตใจมันคิดไปกับเขา เทวดามายับยั้งกลางอากาศ “นาคิตะ ไอ้พวกที่มันเที่ยวเล่นอยู่นั่นน่ะ มันอยู่ในมหรสพสมโภชนั่นน่ะ เขาเวียนว่ายตายเกิดมาอย่างนี้ มหรสพสมโภชใครๆ ก็ดูได้ ใครๆ เขาก็แสวงหาได้ เธอต่างหากๆ เธอต่างหากละทิ้งสิ่งนั้นมา เดินจงกรมภาวนาอยู่นี่” เทวดามายับยั้งกลางอากาศเลย

พระนาคิตะได้สติขึ้นมา สิ่งที่ล่วงมาแล้วมันก็เป็นอดีต ในปัจจุบันนี้เราลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก็ลามาเพื่อวิเวก ความวิเวกมันต้องมีศีล มีสมาธิ มีปัญญาขึ้นมา เราจะไปวิตก วิจารณ์แต่เรื่องที่เป็นอดีตมามันก็มีแต่ความทุกข์ร้อนใจ เทวดามาเตือน

นี่ไง เวลาธุดงค์ไปในป่าในเขา มีอุปสรรคขึ้นมา เราคิดว่าเราไม่เห็นไง นรกสวรรค์ไม่มีไง จิตไม่มีไง วิญญาณไม่มีไง ไอ้ไม่มี ทุกข์อยู่นั่นมันไม่พูด เวลากิเลสมันผลักไสมันผลักไสอย่างนั้นแหละ

แต่ถ้าเป็นจริงขึ้นมานะ เราทำของเรา บุญกุศลของโยม โยมทำแล้วด้วยสัจจะ ด้วยความถูกต้องดีงาม อันนั้นสะอาดบริสุทธิ์ พระภิกขาจาร เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง ต่างคนต่างทำหน้าที่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยนี้ไว้ให้กับบริษัท ๔ มรดกตกทอดของชาวพุทธ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

“มารเอย เมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเรายังไม่เข้มแข็ง ไม่สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วง คำติฉินนินทาของลัทธิต่างๆ ได้ เราจะไม่ยอมนิพพาน”

จนวันมาฆบูชา มารนิมนต์แล้วนิมนต์อีก

“มารเอย มารเอย บัดนี้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเราเข้มแข็ง เข้มแข็งคือมีวุฒิภาวะ สามารถแยกถูกแยะผิด สามารถแก้ไขได้ อีก ๓ เดือนข้างหน้าเราจะนิพพาน”

เราจะนิพพานเพราะศาสนามันเข้มแข็ง ศาสนามีคนเชิดชูดูแล ศาสนามันจะยั่งยืนต่อไปให้กับอนุชนรุ่นหลังเขาได้ประพฤติปฏิบัติ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับมาร แล้วเราเป็นชาวพุทธ แล้วพระพุทธเจ้าฝากมรดกตกทอดไว้กับเรา เราจะทำอย่างไรให้เป็นประโยชน์กับเรานะ ถ้าเป็นประโยชน์กับเราได้

วันนี้วันพระเราตั้งใจมาทำบุญกุศล ให้มันได้บุญกุศลจริงๆ บุญกุศลของเรา บุญคือความสุขใจ ไม่ต้องไปมองสิ่งปลีกย่อย สิ่งปลีกย่อยเราขวนขวายของเรา เราตั้งใจของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา สุข-ทุกข์ในใจของเรา ไม่มีใครรู้กับเราหรอก เราทำของเรา อย่าให้สิ่งนี้มาเป็นปมในใจ ละมันออกไป ละมันออกไป เราปรารถนาดี เราตั้งใจทำความดี เราแสวงหาความดี ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เอวัง