ตัวตน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “จิตมันหนัก”
กราบนมัสการหลวงพ่อ ในการภาวนาไปแล้วมักมีโทสะเกิด โกรธโมโหไปหมด มันปรุงไม่หยุด ผมสังเกตดูมัน ตัวมันดี คนอื่นเลวหมด ยิ่งภาวนายิ่งเห็นชัด ผมใช้แนวสติปัฏฐานในการกำหนดรู้อารมณ์ขณะทำงานภารกิจต่างๆ ต้องแก้ไขอย่างไรครับ
ตอบ : นี่พูดถึงภาวนานะ เวลาภาวนา เราภาวนา เวลาจิตมันหนักๆ แล้วเวลาภาวนาไปแล้วมันมีโทสะ มีโมหะ มันปรุงแต่งไปหมดเลย แล้วคิดไง เราคิดเราเห็นของเรานะ ตัวเราดี ตัวมันดี คนอื่นเลวหมด ยิ่งภาวนายิ่งเห็นชัดไง ถ้าตัวเองดี
เวลาภาวนา ถ้าตัวเองดีนะ เวลามันเกิดมานะ เกิดทิฏฐิมานะขึ้นมา เราเสมอเขา สำคัญว่าเสมอเขา เราต่ำกว่าเขา สำคัญว่าต่ำกว่าเขา เราสูงกว่าเขา สำคัญว่าสูงกว่าเขา แม้แต่เราเสมอเขา เราสำคัญตน ความสำคัญตนเกิดทิฏฐิมานะ ถ้าเกิดทิฏฐิมานะขึ้นมามันก็ไปติดอยู่ตรงนั้นน่ะ
ฉะนั้น เวลาถ้ามันเกิดปัญญาขึ้นมา เราภาวนา ถ้าเราภาวนาของเรา เวลามันเกิดเห็นว่าตัวเองดีๆ ถ้าตัวเองดี เราก็ต้องทำสมาธิได้สิ ถ้าตัวเองดี เราก็ตั้งใจ เราต้องมีสติ เราต้องมีสมาธิ เราต้องมีปัญญา ถ้าเรามีปัญญาจริงขึ้นมา สิ่งที่ตัวเองดี ดีอย่างไร ถ้าตัวเองดี มีเหตุผลอะไรถึงว่าตัวเองดี
ถ้าตัวเองดี นั่งหลายๆ ชั่วโมงเลย เวลามันเกิดเวทนาขึ้นมา เวทนากับเรา ใครดีกว่ากัน คนนั่งภาวนาไปนะ เวลานั่งภาวนาไปแล้วมันสัปหงกโงกง่วง คนปฏิบัติใหม่ๆ เวลานั่งไปสัปหงกโงกง่วงทั้งนั้นน่ะ ถ้าสัปหงกโงกง่วง เราจะผ่านความง่วงนั้นไปอย่างไร
ถ้าเรานั่งไปแล้ว ถ้าตัวเองดี เพราะคนทุกคนภาวนามันจับต้นชนปลายไม่ได้ คือเริ่มต้นไม่ได้ พอเริ่มต้นไม่ได้ เราจะเริ่มต้นที่ไหน บางคนภาวนาบอกว่ามันจับอะไรไม่ได้เลย นี่ไง ก็ติดอีก มันไม่รู้ไม่เห็นอะไรเลย
ถ้าไม่รู้ไม่เห็นอะไรเลย พยายามนั่งต่อสู้เลย พอนั่งไปด้วยเวลา พอคนนั่งไปปั๊บ เวทนามันต้องเกิดแน่นอน ถ้าเวทนาต้องเกิด เพราะคนเวทนาเกิดนะ พอคนเวทนาเกิด ถ้ามันภาวนาไปแล้วก็เจอเวทนาอีก เจอเวทนาซ้ำแล้วซ้ำเล่ามันก็แหยง ถ้ามันแหยง เราจะหลบเวทนาอย่างไร
เวลาภาวนาไป ถ้ามันเกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้า เราพิจารณาไปแล้วมันจะแก้ไขอย่างไร ถ้ามันแก้ไขไป พอมันผ่านตรงนี้ไปมันก็เข้าสู่สมาธิ ถ้านิวรณธรรมเป็นเครื่องกางกั้น มันกั้นไม่ให้เราลงสู่สมาธิ
ถ้าลงสู่สมาธิ ทั้งๆ ที่เวลาร่างกายเราสกปรก เราอาบน้ำก็เพื่อความสะอาดของร่างกาย จิตมันเสวยอารมณ์อยู่ตลอด มันเป็นสิ่งที่มันคลุกเคล้าอยู่กับความโลภ ความโกรธ ความหลงตลอด ถ้ามันลงสู่สมาธิก็คือความสะอาดของมันไง ถ้ามันลงสู่สมาธิก็เหมือนกับเราอาบน้ำชำระร่างกายให้มันสะอาดหนหนึ่ง จิตถ้าเป็นสมาธิมันก็ปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกหนหนึ่ง
แล้วมันปล่อยวางไม่ได้ มันปล่อยวางไม่ได้มันก็ไปเกาะ เห็นไหม ตัวเองดีกว่าเขา ตัวเองสำคัญตนว่าดีกว่าเขา สำคัญตน มีความโลภ ความโกรธ ความหลง มันก็คลุกคลีอยู่อย่างนั้นน่ะ มันก็คลุกกับความโลภ ความโกรธ ความหลงอย่างนั้น มันทำความสะอาดไม่ได้ ถ้ามันทำความสะอาดได้ มันก็ปล่อยมา ปล่อยมา ตัวมันเองก็สะอาด ตัวมันเองก็เป็นสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิ ทำอย่างไรต่อ
ถ้าทำสมาธิ พอสู่สมาธิ ถ้าพุทโธได้ เราพุทโธต่อเนื่อง ถ้าพุทโธไม่ได้ เราตั้งสติไว้ พุทโธไม่ได้ ตั้งสติไว้ เดี๋ยวมันก็คลายตัวออกมา พุทโธต่อไป พุทโธต่อไป พอเข้าสู่สมาธิ เราก็อยู่ในสมาธิ พอเข้าสมาธิ มันคลายตัวออกมาแล้ว พอคลายตัวออกมาแล้วมันรับรู้ได้ คลายตัวออกมาแล้วมีความรู้สึก มันคิดได้ พอมันคิดได้ เราก็คิดฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้ามันคิดฝึกหัดใช้ปัญญา มันต่อเนื่องไม่ได้ กลับมาพุทโธ ก็กลับมาพุทโธอีก ทำความสงบของใจให้มากขึ้น ทำความมั่นคงให้มากขึ้น
ตัวตนสำคัญมาก เพราะมีตัวตนมันถึงวางไม่ได้ มันวางไม่ได้ มันก็เข้าสู่สมาธิไม่ได้ ถ้าวางไม่ได้ เห็นไหม นี่เขาบอกว่าเขาสังเกตดู สังเกตดูว่า เวลาเรานั่งดู ตัวเองจะว่าเราดีไปหมดเลย
ถ้าเราดีไปหมด ใช่ ถ้าเราไม่เป็นคนดี เราจะไม่มาภาวนา การภาวนาคือการทรมานตนนะ การทรมานตนคือทรมานกิเลส ถ้าเราไม่ทรมานกิเลสเลย มันก็คลุกเคล้าอยู่กับโลก เกิดมานี่เกิดมาชาติหนึ่ง เราก็ใช้ชีวิตให้หมดไปกับชีวิตหนึ่ง ที่ไหนมีการเกิด ที่นั่นต้องมีการดับเป็นธรรมดา ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด
แต่ถ้าเราเป็นคนดี เรายังใฝ่ดีอยู่ เราฝึกหัดภาวนา ฝึกหัดภาวนา ฝึกหัดค้นคว้าตัวตนของเรา ฝึกหัดให้เห็นตัวตนของเรา แต่พอเข้าไปเห็นตัวตนของเรา มันก็ถือตัวถือตน ถือตัวถือตน เราก็ต้องใช้สติปัญญา นี่สติปัญญา
การถือตัวถือตนมันดีอย่างหนึ่ง มันดีอย่างหนึ่ง ถ้าเราไม่ถือตัวถือตนนะ เราเป็นเหยื่อ เชื่อเขาไปหมด ไหลตามเขาไปหมด เพราะเราไม่มีหลัก พอเรามีหลักขึ้นมา อีโก้มันก็บอกว่าตัวตนเข้มแข็งขึ้นมา เข้มแข็งขึ้นมา เราก็ต้องพัฒนามากขึ้น สติปัญญาให้ดีขึ้น
สติปัญญาคือว่า ถ้าเราดีกว่าเขา ดีตรงไหน เออ! เราดีกว่าคนอื่น คนอื่นเขาเลวไปหมด ใช่ เขาเลวไปหมดเพราะเขาไม่ปฏิบัติ เขาเลวไปหมดเพราะเขาไม่สนใจ สิ่งที่เป็นอริยทรัพย์เขาไม่เอา เขาก็ต้องต่ำต้อยกว่าอยู่แล้วเป็นเรื่องธรรมดา เราสูงกว่าเขา สำคัญว่าสูงกว่าเขา มันก็เกิดมานะ เกิดตัวตนเราขึ้นมา ถ้าเราสูงกว่าเขา เราได้อะไรล่ะ เราสูงกว่าเขาแล้วเรามีประโยชน์อะไรขึ้นมาล่ะ
ถ้าเรามีประโยชน์ขึ้นมา พุทโธให้ชัดๆ เดี๋ยวจะรู้ว่ามีประโยชน์กับตัวเราขึ้นมาไหม ถ้ามันเอาชนะตัวเราได้ มันสลัดความรู้สึกนึกคิดทั้งหมด มันเป็นอิสระ เราชำระล้างจิตใจเราให้สะอาด จิตเราสะอาดคือสมาธินั่นแหละ
สมาธิคือจิตสะอาด ถ้าจิตสะอาดแล้ว ถ้าสมาธิแก้กิเลสไม่ได้แล้วมันสะอาดเพื่ออะไรล่ะ ถ้าเป็นฤๅษีชีไพรเขาเข้าสู่สมาธิเหมือนกัน จิตเขาสะอาดไหม จิตเขาสะอาด แต่สะอาดขึ้นมาจากศีล
ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามาจากศีล ถ้าศีลคือความปกติของใจ ถ้าไม่มาจากศีล พอจิตมันสงบ มันเป็นสมาธิ เขาทำไสยศาสตร์ เขาทำต่างๆ เขาก็ใช้สมาธิเหมือนกัน แล้วถ้าทำไสยศาสตร์ ทำคุณไสย เขาทำขึ้นมาเพื่ออะไรล่ะ เขาทำขึ้นมามันผิดศีลไง เราไปทำลายเขา เราไปทำให้เขามีความแตกแยก มันผิดศีลไหม มันผิด นี่ไง มันถึงเป็นมิจฉาไง
แต่ถ้าเป็นสัมมาล่ะ สัมมา เรามีศีลของเราอยู่แล้ว ถ้าจิตสงบเข้ามามันสำคัญตนไหม ถ้าสำคัญตน เดี๋ยวมันก็เสื่อม สำคัญตน เดี๋ยวมันก็หนักหน่วงขึ้นมา มันก็คลายออก
แต่ถ้ามันเป็นสัมมาสมาธิ ถ้ามันมีศีล มันก็เป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิ ฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญา ต้องฝึกหัด แล้วพอปัญญามันเกิดขึ้นมา เราจะเห็นความสำคัญของจิตเลย
ที่หลวงปู่มั่นบอกไว้ จิตนี้มหัศจรรย์นัก มันเป็นได้หลากหลายนัก มันเป็นได้ร้อยแปด เป็นได้ทุกๆ อย่าง ถ้าดี มนุสสเทโว มันเป็นได้อย่างเทวดาเลย มนุสสติรัจฉาโน เวลามันคิดร้ายมันยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน มนุสสเปโต มันทำลายเขามากไปกว่านั้นอีก จิตนี้มันเป็นได้หมดแหละ มันเป็นไปได้หมด
ถ้าจิตมันเป็นได้หมด ถ้าจิตเราสงบแล้วใช้ปัญญา ความที่มันเป็นปัญญา มนุสสเทโว มนุษย์เทวดา แล้วเวลามนุษย์เทวดามันพลิกแพลงเข้าไป พิจารณาเข้าไป นี่ฝึกหัดใช้ปัญญาแบบนี้ ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญาแบบนี้มันจะใช้ปัญญาแบบนี้ ฉะนั้น ถ้าใช้ปัญญาแบบนี้มันก็จะแก้ปัญหาของเราไง
เขาถามว่า “ผมก็ใช้แนวทางสติปัฏฐาน ๔ โดยกำหนดรู้อารมณ์ขณะที่ทำงานภารกิจต่างๆ เราต้องแก้ไขอย่างไร”
อยู่กับงาน ทำงานอยู่ที่หน้าที่การงาน เพราะทำงานก็ทำงานให้มันจบซะ จบซะแล้วค่อยมาภาวนา แล้วทำงานแล้ว งานมันเสร็จแล้ว แล้วเราว่าง นั่นก็ฝึกหัดภาวนาของเราไป เราไม่ให้เวลามันล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์
หลวงปู่ฝั้นท่านบอกว่าหายใจทิ้งเปล่าๆ ไง หายใจเข้า หายใจออก ไม่ตั้งสติไว้ ไม่กำหนดตั้งสติไว้ ถ้ากำหนดสติรู้เท่าทันลมก็เป็นอานาปานสติ ถ้ากำหนดพุทโธก็เป็นพุทโธขึ้นมา เพราะการหายใจเป็นการหายใจเพื่อชีวิต ถ้าขาดอากาศหายใจ คนเราก็ตาย มันต้องหายใจของมันอยู่แล้วเพื่อดำรงชีวิต
แต่หลวงปู่ฝั้น โดยที่พระที่ท่านปฏิบัติมาท่านจะเห็นคุณค่าว่าไม่หายใจทิ้งเปล่าๆ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ เป็นประโยชน์ ถ้าเราว่างต่อการทำงาน แล้วถ้าพ้นจากงานไปแล้วเราภาวนาจริงจังเลย ถ้าภาวนาจริงจัง
เพราะการภาวนา ภาระหน้าที่การงาน ภาวนาโดยชีวิตประจำวันมันก็เลยอยู่อย่างนั้นน่ะ ภาวนาชีวิตประจำวันก็หน้าที่การงานของเรา เราไม่วางมันก็ไม่จบ
นี่ก็เหมือนกัน หน้าที่ของใจ ใจมันคิดของมันตลอดเวลา ใจมันทำงานตลอดเวลา เราไม่วาง มันก็เข้าสมาธิไม่ได้ ถ้ามันอยู่อย่างนั้นมันก็เป็นความสบายใจเฉยๆ บรรเทาทุกข์ๆ ปฏิบัติแบบบรรเทาทุกข์ไง
แต่ถ้าปฏิบัติให้มากขึ้น ปฏิบัติให้มากขึ้นให้จิตมันสงบจริงๆ จิตสงบจริงๆ คำว่า “จิตสงบจริงๆ” มันต้องสงบของมัน สงบจากภายใน ถ้าภายในสงบปั๊บ โอ้โฮ! มันจะรู้เห็นคุณค่าของหัวใจ เห็นคุณค่ามาก แล้วจะฝังใจมาก แล้วจะทำต่อไป
เดี๋ยวปัญหาต่อไปจะตอบปัญหานี้ เขาภาวนาแล้วเขาเคยได้ไง แล้วเขาไม่ได้ เขาก็ถามมา
นี่พูดถึงบอกว่า ถ้ามันเห็นว่าเราดีกว่าเขา สำคัญตน เห็นคนอื่นเลวไปหมด
คนอื่นเลวไปหมด อันนี้เป็นความเห็นของกิเลสของตัวตนนะ แต่ถ้าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นครูบาอาจารย์ที่เป็นพระอรหันต์ ท่านไม่สำคัญตนว่าท่านดีกว่าใครหรอก ท่านเห็นว่าตัวท่านเองได้ชำระล้างเป็นชั้นเป็นตอน แล้วเห็นคนอื่นที่เขาประพฤติปฏิบัติอยู่หรือคนที่ไม่ปฏิบัติมันมีกิเลสพอกพูนมันอยู่ ท่านธรรมสังเวช ท่านสังเวช ท่านสงสาร ท่านไม่ใช่ว่าเราดีกว่าเขาๆ
เราก็มาจากมนุษย์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโมคคัลลานะที่ว่าขอไปดู ขอไปดูโลกนี้ว่าคนที่มีกรรมหนักๆ มันขนาดไหน ไปเห็นว่าโทษของกามๆ ไง
“โมคคัลลานะ เธอพูดอย่างนั้นไม่ได้ เราก็เกิดจากกามนะ” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เกิดจากกาม เกิดจากพ่อจากแม่เหมือนกัน เกิดจากโลกนี่แหละ ถ้าเกิดจากโลกแล้ว แต่มาประพฤติปฏิบัติจนเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมา
นี่ก็เหมือนกัน คนก็เกิดมาจากโลกนี่แหละ เกิดมาจากกาม เกิดมาด้วยกันนี่แหละ แล้วใครมันจะไปดูถูกเหยียดหยามใครว่าเราจะดีกว่าเขา เราจะสำคัญตนดีกว่าเขา ยิ่งเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ท่านมีสติปัญญาขึ้นมา ท่านเห็นการชำระล้างกิเลสขึ้นมา แต่ท่านสังเวช สังเวชคนที่มืดบอดที่ไม่ทำ ท่านสังเวช สังเวชแล้วท่านพยายามจะให้โอกาส พยายามชี้นำ พยายามบอก ถ้าอย่างนี้ไม่ใช่สำคัญตน ไอ้นี่ไม่ใช่ว่าดีกว่าเขา เพียงแต่สังเวชอยากจะชักจูง อยากจะเสนอแนะ ให้ทางออก
เห็นไหม ถ้าเป็นกิเลส มันคิดข่มขี่ คิดเห็นแล้วมันดูถูกเหยียดหยามเขา ถ้าเป็นธรรม มันคิดแล้วสงสารเขา คิดแล้วอยากพัฒนาเขา แต่ไม่ใช่สำคัญตน ไม่ใช่เหยียบย่ำใคร นี่ถ้าความคิดของคนเป็นธรรมนะ
จะบอกว่า เวลาคนมีกิเลสก็เที่ยวว่าเรามีตัวมีตน เราสำคัญตน
เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูด ไอ้ที่ว่าท่านพูด ท่านพูดด้วยสตินะ เวลาท่านเทศน์ ครูบาอาจารย์เทศน์ เทศน์เต็มที่ “ซากศพเดินได้” เวลาพูด ท่านพูดให้ได้คิดไง ท่านพูดให้ได้คิดนะ พูดให้ได้ฉุกคิด อันนั้นน่ะสำคัญมาก นั่นน่ะอุบาย แล้วคน ใครจะมีอุบายได้ขนาดนั้น มันจะรู้ว่า
๑. อุบาย
๒. จังหวะที่จะใช้
ใช้ตอนไหน ใช้ตอนที่เขาต้องการไหม เขากำลังคิดได้ไหม ไปใช้ตอนที่เขามีทิฏฐิมากๆ ไปพูดประโยชน์อะไร พูดก็เกิดเวรเกิดกรรม เพราะพูดไปแล้วเขาจะเกิดการต่อต้าน ไม่มีประโยชน์อะไรเลย คนที่เป็นครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมท่านจะรู้ว่าควรพูดเมื่อไหร่ ควรพูดอย่างใด ถ้าไม่ควรก็อีกอย่างหนึ่ง
จะบอกว่า “โอ้โฮ! ถ้าสำคัญตนแล้ว เวลาพระกรรมฐาน เวลาเทศน์นี่ถากถางเขาไปทั่ว แล้วอย่างนี้มันจะ...”
อันนั้นเป็นอุบายนะ เป็นอุบาย ท่านเมตตานะ ท่านพูดเพื่อประโยชน์นะ ถ้าคิดได้ ถ้าคิดไม่ได้ก็คิดไปอีกอย่างหนึ่ง
นี่พูดถึงว่า ถ้าจิตมันหนักๆ เนาะ เวลาภาวนาไปแล้ว ถ้าไม่เคยภาวนาก็ไม่ภาวนาเลย พอภาวนาไปแล้ว โอ้โฮ! มันเกิดความโกรธ เกิดความโลภ เกิดโทสะหมดเลย แล้วถ้าสังเกตดูให้ดีมันจะถือว่าตัวมันดีกว่าเขา เห็นคนอื่นเลวไปหมดเลย ตัวเองประเสริฐไปหมด
ประเสริฐมันก็ประเสริฐจริงๆ นั่นแหละ แต่ประเสริฐจริงๆ ประเสริฐคือว่าเราเข้าสู่มรรคสู่ผล เราก็ประเสริฐอยู่ แต่เวลาประเสริฐแล้วกิเลสมันยังครอบหัวอยู่ ถ้ากิเลสครอบหัวอยู่ เราต้องใช้ปัญญาที่สูงขึ้น ปัญญาที่พัฒนาขึ้น เราต้องปลดให้ได้ เขาเรียกว่าติด มันจะติดไปหมด
ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกสวะ ถ้ามันติดที่ไหนมันก็ติดแค่นั้นน่ะ ถ้ามันปลดออกมาได้ แล้วมันต่อเนื่องไป มันต้องออกสู่ปากอ่าวแน่นอน มันจะเข้าสู่สัจธรรม เราเอาตรงนั้น หมั่นเพียรตรงนั้น
ถาม : เรื่อง “ขอคำชี้แนะค่ะ”
กราบนมัสการหลวงพ่อ ลูกยังภาวนา ลูกยังพยายามนั่งสมาธิอยู่เหมือนเดิมนะคะ (หลวงพ่อเคยบอกว่า ลูกยังขับรถไม่เป็น แต่ลูกก็พยายามตั้งสติใหม่ ทำมาอยู่ค่ะ) ลูกขอให้หลวงพ่อเป็นครูอาจารย์ของลูก
ลูกกลับไปฟังเทปคำตอบหลวงพ่อที่ตอบคำถามลูกอีกหลายๆ รอบ คำแรกที่หลวงพ่อบอกและสะดุดใจคือหลวงพ่อพูดว่า “ความตาย” และหลวงพ่อบอกว่า “สามารถใช้คำว่า ‘ตายๆๆ’ บริกรรมได้” ขณะดำเนินชีวิตประจำวันนั้นลูกก็ใช้สิ่งนี้เป็นแนวทางนะคะ
แต่ได้ผลว่า เมื่อนึกถึงความตายบ่อยๆ ทำให้ลูกไม่อยากปล่อยจิตใจให้คิดเรื่อยเปื่อยเหมือนแต่ก่อนค่ะ แต่ลูกว่าไม่มีประโยชน์อะไรเมื่อรู้ว่าคิดไปแล้วก็กลับมาที่ลมหายใจค่ะ บางครั้งลูกบริกรรมตายๆๆ ก็พบว่ามันเป็นเหมือนกับใช้คำว่าพุทโธนะคะ
ลูกมีคำถาม ลูกต้องการคำชี้แนะจากหลวงพ่อค่ะ
๑. ตอนนี้เวลาลูกนั่งสมาธิ ลูกพบว่า ลูกจะมาตรงที่สภาวะสว่างโพลง โล่งๆ กว้างๆ สดใส ว่างๆ นะคะ เมื่อก่อนก็เป็น แต่ไม่บ่อยเหมือนตอนนี้ จนทำให้ลูกคิดว่าลูกอาจจะติดนะคะ มันเป็นช่วงที่รู้สึกเหมือนตื่นตัว บวกสงบ บวกปลอดโปร่งรวมกันนะคะ ไม่มีความคิดต่างๆ อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่ความคิดต่างๆ จะเริ่มเกิดขึ้นอีกรอบหนึ่งนะคะ
เมื่อก่อนมันมีสภาวะที่เหมือนจิตมีกำลัง มันหมุนติ้วๆ อยู่ตรงกลางเฉพาะมัน จิตไม่เกาะแสง ไม่เกาะความคิดต่างๆ และความคิดต่างๆ ก็แทรกไม่ได้นะคะ ลูกคิดว่านั้นคงเป็นสภาวะจิตตั้งมั่นนะคะ แต่ลูกก็ไม่รู้จริงๆ ว่าใช่ไหม แต่ตอนนี้ไม่เป็นแบบนั้นแล้ว
แต่มันมักจะเป็นแบบนี้แทน ลูกก็ไปต่อไม่เป็นค่ะ ในความรู้สึกมันสุขสงบระงับ เพราะมันผ่านช่วงที่ปล่อยความคิดต่างๆ มา ลูกก็ใช้ช่วงนี้แผ่เมตตาแทน เมื่อหมดวาระนี้ ลูกก็พยายามเข้าสมาธิใหม่อีกรอบ มันก็มักเป็นแบบนี้ ลูกก็จะแผ่เมตตาอีก มันก็รู้เหมือนเป็นแพตเทิร์น อยู่อย่างนี้เรื่อยๆ ซึ่งไม่รู้ว่าทำถูกหรือทำผิดค่ะ (ดูลมหายใจ ลมหายใจละเอียด ปล่อยความคิดที่ผ่านเข้ามา สว่าง ว่าง สดใส ไม่มีความคิดใดๆ ความคิดเริ่มอีกรอบ)
๒. เมื่อ ๒ ปีก่อน ลูกรู้สึกมีความสุขมากๆ เมื่อจิตสงบครั้งแรก มันเป็นความสุขสงบที่นิ่มนวลอ่อนละมุนละไม หาสิ่งอื่นใดเปรียบเทียบไม่ได้นะคะ แต่ตั้งแต่นั้นมา ลูกไม่เคยมีสภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นอีกเลยนะคะ ทั้งๆ ที่นั่งสมาธิคราวใด ลูกก็คิดว่าจิตใจก็สงบได้ดีในระดับหนึ่ง หรือว่ายังสงบไม่พอหรือคะหลวงพ่อ กราบขอบพระคุณด้วย
ตอบ : อันนี้พูดถึงประสบการณ์ ถ้าประสบการณ์ของคนเวลาภาวนาไปแล้วนี่นะ มันภาวนาไป เราภาวนาเพื่อภาวนา ทำความดีเพื่อความดี ไม่ใช่ทำความดีเพื่อเป็นสถิติ ทำความดีเพื่อจะมาจดจำ ทำความดีขึ้นมาสิ่งใดๆ ไอ้ความดีอันนั้นมันทำให้เราต้องคิดตลอดเวลา แต่ถ้าเป็นความดีของเรา เราปฏิบัติของเรามาตลอด
ฉะนั้น คำถามถามบอกว่า เมื่อก่อนที่ถามปัญหามาว่า เรายังขับรถไม่เป็น ลูกขับรถไม่เป็น ตอนนี้ก็พยายามจะตั้งสติใหม่ จะขับรถให้เป็น
คำว่า “ขับรถไม่เป็น” เพราะว่าสภาวะที่ถามมามันร้อยแปดเลย แล้วถ้าพูดถึงว่า เขาว่าส่งอารมณ์ๆ เวลาเขาส่งอารมณ์กันในการปฏิบัติแนวของเขา เราส่งอารมณ์อะไร
คำพูด กรรมฐานเขาพูดคำเดียวเท่านั้นน่ะ แต่เวลาคนที่ปฏิบัติขึ้นมามันปฏิบัติมาเป็นสิบๆ ปีจะได้อย่างนั้นหรือเปล่า อย่างเช่นทำความสงบของใจ ทำสมาธิให้ได้ ถ้าทำสมาธิได้ สมาธิก็คือสมาธิ ถ้าทำสมาธิไม่ได้ เราก็ขวนขวายใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ใช้ปัญญานำก็ได้ เราทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราทำขึ้นมาเพื่อพัฒนาใจของเราไง ถ้าใจของเรา เราฝึกหัดภาวนาเพื่อประโยชน์กับเรา ถ้าประโยชน์กับเรา เห็นไหม
คนเกิดมาต้องมีหน้าที่การงาน เวลาคนไม่มีงานทำก็ขวนขวายหางานทำ ถ้าคนทำงานแล้วก็อยากจะร่ำอยากจะรวย พออยากจะรวยขึ้นมาแล้ว รวยขึ้นมาทำไม รวยขึ้นมาแล้ว มีสมบัติขึ้นมาแล้ว ลูกมันก็ไม่เอาไหน จะให้ใครก็ไม่ได้ ไปติดสมบัติของตัวอีก
เห็นไหม เราเกิดมาเราก็อยากมีงานมีการทำ ทำแล้วเพื่อเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยดำรงชีวิต ถ้าดำรงชีวิตแล้ว ชีวิตนี้คืออะไรต่อไป ถ้าจะปฏิบัติ จะหาหลักการของตัว นั้นเราก็มาปฏิบัติ
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราจะมาปฏิบัติ ถ้าเราปฏิบัติ เราทำความดีเพื่อความดีไง คนเราเกิดมาต้องมีหน้าที่การงานเพื่อมีปัจจัยเครื่องอาศัยเพื่อดำรงชีวิต เราปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน เรามีสมาธิ เรามีปัญญาขึ้นมาเพื่อให้จิตมันมีกำลัง เพื่อให้จิตมันได้ฝึกหัด ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไปแล้ว เราก็ปฏิบัติตามความจริงของเรา
ถ้าความจริงของเรานะ เวลาถ้าเราขับรถไม่เป็น ขับรถไม่เป็นแบบว่า คนขับรถ คนฝึกหัดขับรถ เขาขับรถเขาเจออุบัติเหตุ ขับรถแล้วเขาเอารถของเขาไปถึงปลายทางไม่ได้ แต่คนมีความชำนาญนะ เขาเอานิ้วหมุนได้เลย เขาทำได้ตลอด นี้คนชำนาญ เห็นไหม
ชำนาญ เขาเรียกภาวนาเป็น เวลาครูบาอาจารย์ท่านฝึกหัดลูกศิษย์นะ ถ้าภาวนาเป็นแล้วครูบาอาจารย์ก็สบายใจ คือปล่อยได้แล้ว คือว่าไม่ต้องจ้ำจี้จ้ำไชเขาจนเกินไป เขาก็พัฒนาของเขาไป นี่ถ้าเขาภาวนาเป็น
คนภาวนาเป็นเหมือนคนขับรถเป็น คนขับรถเป็นแล้วเขาต้องประกอบอาชีวะ เขาต้องต่างๆ เขาต้องขับรถของเขาไป ไปจนกว่าจะถึงที่หมายของเขา นี่ก็เหมือนกัน นักปฏิบัติของเรา เราก็ปฏิบัติให้เราเป็นสิ
ขับรถไม่เป็น เราก็ขับรถไม่เป็นมาก่อน ครูบาอาจารย์ก็ขับรถไม่เป็นมาก่อนทั้งนั้นน่ะ เขาก็มาฝึกหัดเอา หลวงปู่เจี๊ยะท่านพูด อยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอกว่า “เจี๊ยะเอ้ย! ให้หัดจักตอก”
ไอ้เราบวชมาจะภาวนานะ ไม่ใช่บวชมาฝึกหัดจักตอก จักตอกไปทำไม จักตอกก็พวกจักสานเขาทำมาเป็นอาชีพ
หลวงปู่มั่นบอกว่า “ไม่มีใครเป็นมาจากท้องพ่อท้องแม่หรอก เขาก็มาฝึกหัดเอาทั้งนั้นน่ะ” ก็ฝึกฝนให้จนหลวงปู่เจี๊ยะท่านก็จักตอกได้ จักตอกได้ก็มาทำไม้เจียได้ จักตอกได้ ของในวัดเสียหาย ท่านก็ซ่อมแซมบำรุงได้
เพราะสมัยก่อนเขาใช้ตะกร้าสานนะ สานเป็นตะกร้าแล้วก็ใช้รัก ใช้อะไรทาเพื่อเป็นกระป๋องโพรงน้ำ เป็นต่างๆ เราอยู่กันอย่างนั้นสมัยโบราณน่ะ สมัยกรรมฐานของครูบาอาจารย์นะ ท่านใช้พวกนี้สาน สานแล้วทา ทาด้วยรัก ทาด้วยต่างๆ แล้วเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วเขาฝึกหัดขึ้นมา เห็นไหม
แต่เวลาเราจะบอกว่า “อ้าว! ก็บวชมาปฏิบัตินะ เราจะปฏิบัติ เราจะเอามรรคเอาผลนะ”
แล้วมรรคผลมันอยู่ไหนล่ะ มรรคผลมันอยู่ที่ข้อวัตร เพราะจิตมันไม่มีเครื่องอาศัย ไม่มีที่อยู่อาศัย มันเกาะ ต้องให้เกาะ อย่างเช่นพุทโธๆ เราก็เกาะไว้
นี่ก็เหมือนกัน ไม่มีใครเป็นมาจากท้องพ่อท้องแม่ ไม่มีใครขับรถเป็นมาจากท้องพ่อท้องแม่ เพราะออกจากท้องแม่มามันไม่ได้เอารถมาด้วย เวลาเกิดจากท้องแม่มันก็มาแต่ตัว แล้วก็มาหาซื้อรถเอา แล้วก็มาฝึกหัดขับเอา
นี่ก็เหมือนกัน ไอ้ที่บอกว่า “หลวงพ่อบอกว่าโยมยังขับรถไม่เป็น ตอนนี้หนูจะหัดขับรถ”
ไอ้นี่มันเป็นอุบายไง เป็นบุคลาธิษฐานให้เห็นการประพฤติปฏิบัติมันต้องทำกันอย่างไร แล้วเราก็มาฝึกหัดขับรถ ขับสติ ขับสมาธิ ขับปัญญาของเราให้เป็น ถ้าเป็นขึ้นไป ปฏิบัติทำดีเพื่อดี ถ้าทำดีเพื่อดี
ไอ้ที่อธิบายมานี่ อู้ฮู! ร้อยแปดเลย อธิบายมามหาศาลเลย อธิบายมา ถ้าอธิบายมาที่ว่า คำถามว่า “๑. สิ่งที่ตอนนี้ที่ว่าลูกทำอยู่อย่างนี้ เวลาคิดถึงความตายๆๆ มันก็เหมือนกับพุทโธ”
ก็คำบริกรรม ระลึกถึงความตายมันเป็นคนที่ทำอะไร ปฏิบัติทางอื่นไปไม่รอด ให้คิดถึงความตายซะ มรณานุสติ เทวตานุสติ มรณานุสติ ระลึกถึงความตาย ถ้าคนเราระลึกถึงความตายนะ ถ้ามันทำได้มันจะสลดมันจะสังเวช ไอ้ที่คิดฟุ้งซ่านไป ไอ้ที่คิดที่ร้อยแปดไปมันจะหดเข้ามา เหมือนเรากำหนดพุทโธๆ
ถ้าใครทำอย่างอื่น ทำอย่างไรไม่ได้ ก็ให้ระลึกถึงความตาย ให้ระลึกถึงมรณานุสติ ถ้ามันยังไม่ได้ ให้เข้าไปเที่ยวป่าช้าเลย ให้ไปเห็นซากศพเลย เห็นไหม คนตายนอนอยู่นั่น คนเป็นยืนดูอยู่นี่ คนเป็นที่ยืนดูอยู่นี่ เดี๋ยวก็จะไปนอนตายอยู่นั่น มันคิดแล้วมันก็ไม่คิดฟุ้งซ่านออกไปไง ไอ้นี่มันเป็นอุบาย
แต่ถ้าเราบอกว่า เราระลึกถึงความตายแล้วมันก็เหมือนกับพุทโธ
อ้าว! ก็พุทโธไปก็จบ เพราะมันอยู่ที่รสชาติ รสชาติไง ถ้าระลึกถึงความตาย โอ้โฮ! รสชาติมันดูดดื่ม อื้อหืม! มันไม่ส่งออก แต่ถ้ามันจืดชืด รสชาติมันจืดชืด เพราะทำเคยชิน เขาก็ให้เปลี่ยนอุบาย เอารสชาติ อ้าว! วันนี้กินแกงส้ม พรุ่งนี้กินแกงเผ็ด วันนี้จะกินผัดกะเพรา ผัดกะเพราอร่อยนะ กินทุกวันๆ ไม่อร่อยหรอก นี่เขาอุบายของเขา อุบายให้เปลี่ยนแปลงไง
แต่ถ้ามันกำหนดมรณานุสติแล้วเหมือนพุทโธ
ก็กลับมาพุทโธก็จบ เพราะมันเป็นอุบาย เป็นอุบายให้เข้าไปสู่ความสงบ เป็นอุบายการภาวนา เห็นไหม เป็นอุบาย
เวลาในพระไตรปิฎกที่ว่าโปฐิละๆ จะไปฝึกหัด ไปฝึกหัดกับครูบาอาจารย์ ท่านเวลาลงใจแล้วบอกว่า ให้เปรียบร่างกายนี้เหมือนจอมปลวก มีรูอยู่ ๖ รู ปิดเสีย ๕ รู เปิดไว้รูหนึ่งคอยจับเหี้ยตัวนั้น ถ้าเหี้ยตัวนั้นออกมาแล้วจับให้ได้เลย นี่ไง ปิดตา หู จมูก ลิ้น กาย เปิดใจไว้ แล้วตั้งใจไว้ดูแลมัน จับมัน จับเหี้ยตัวนั้นให้ได้ จับหัวใจของตัวเองให้ได้
เรากำหนดพุทโธ ปัญญาอบรมสมาธิก็เพื่อเหตุนี้เท่านั้นน่ะ เพื่อเหตุนี้แหละ จับหัวใจตัวนี้ให้ได้ ถ้าจับหัวใจตัวนี้ได้ จิตมันสงบเข้ามาได้ มันจะเป็นประโยชน์ได้ ถ้าเป็นประโยชน์ได้ เห็นไหม มีคนขับรถแต่ยังไม่มีรถ
มีคนขับแล้ว เกิดจากท้องพ่อท้องแม่ไม่ได้เอารถมาด้วย ก็ต้องไปหาซื้อรถ ไม่ได้ซื้อรถก็ยืมคนอื่นขับก่อน นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันสงบแล้วออกฝึกหัดใช้ปัญญา มันจะได้รถขับ
ที่ว่า กาย เวทนา จิต ธรรม แนวทางสติปัฏฐาน ๔
แนวทางสติปัฏฐาน ๔ ถ้ามีคนขับรถ มันก็เป็นแนวทางสติปัฏฐาน ๔ จริง ถ้าไม่มีคนขับรถ...อ้าว! แล้วใครจะขับล่ะ
“อ้าว! ก็นี่สติปัฏฐาน ๔ ไง ปฏิบัติแนวทางสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม”...พวกเราไม่มีรถขับ แต่นั่งรถสาธารณะได้นะ ขึ้นรถเมล์ ขึ้นรถเมล์ก็รถเหมือนกัน ขึ้นรถเมล์ นี่ก็เหมือนกัน “สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔”
สติปัฏฐาน ๔ มันมีจริง มีปลอม มันมีคนขับรถได้ คนขับรถไม่ได้ ถ้าจิตไม่สงบ ไม่มีผู้ขับรถก็ไปนั่งรถเมล์ นั่งรถเมล์ให้คนอื่นเขาขับให้ โชเฟอร์เขาขับ แล้วเวลากดออด เขาไม่ให้ลงด้วย เขาเลย แถมให้เดินกลับ
ก็ไปนั่งรถเขา สติปัฏฐาน ๔ ไง สติปัฏฐาน ๔ คิดเอาเองไง คิดเลยเถิดไป คิดไม่ถึง ก็คิดร้อยแปดไง ก็แล้วแต่โชเฟอร์มันจะจอดให้ลงไม่จอดให้ลง ถ้ามันไม่จอดให้ลง มันพาไปเลย พาไปเลย เตลิดเปิดเปิงไปเลย ถ้ามันไปไม่ถึง มันจอดก่อน ให้ลง บอกมันยังไม่ถึง มันบอกว่าน้ำมันหมด รถก็วิ่งแค่นี้ ไม่ไปอีกแล้ว ไปไม่ได้ นี่พูดถึงว่า แนวทางสติปัฏฐาน ๔ รถสาธารณะ
แต่ถ้าเป็นรถของเรา ถ้าเราขับดีมันก็ไปถึงเป้าหมาย ถ้าขับไม่ดีมันก็ไม่ถึงเป้าหมายเหมือนกัน ฉะนั้น ขับรถเป็นขับอย่างนี้
แล้วถ้าในการภาวนา ถ้าเรากำหนดไอ้ที่ว่าความตายๆ ถ้ามันเป็นเหมือนพุทโธก็เอารสชาติ เอารสชาติ เอาความดูดดื่ม เอาความเป็นจริง คำถามข้อที่ ๑. ถ้ามันเป็นอย่างนี้นะ ถ้ามันเป็นโล่งๆ ลูกนั่งสมาธิมาตรงสภาวะ
ไอ้สภาวะต่างๆ ต่างๆ ไอ้ที่พูดนี่มันเป็นอารมณ์ เป็นความรู้สึก ที่ส่งอารมณ์ๆ กันน่ะ แล้วเอาอารมณ์อะไรมาส่ง อารมณ์ก็เป็นอดีต เพราะเราเคยได้อารมณ์สิ่งนั้นมา แล้วก็จำอดีตมาพูด แล้วถ้าพูดก็พยายามจะทำให้เหมือนอดีตนั้นอีก
แต่ถ้าเป็นสมาธิ สมาธิในปัจจุบัน สมาธิในปัจจุบันใช้ได้ประโยชน์ในปัจจุบันนั้น
ในปัจจุบันนี้เรามีธุระ มีความจำเป็น เราต้องเดินทาง เราก็ขึ้นรถ ขับรถออกไป ถ้าเราไม่มีธุระความจำเป็น เราจะขับรถออกไปให้เสียค่าน้ำมันเปล่าๆ หรือ เราจะขับรถไปทำไมให้รถมันสึกหรอ แล้วต้องมีค่าใช้จ่ายค่าน้ำมันอีก แต่ถ้ามีความจำเป็นนะ เราขึ้นรถ เราก็ขับออกไป นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันสงบ ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญาตามความเป็นจริง
ไอ้นี่สภาวะอย่างนั้น สภาวะอย่างนี้ มันเป็นอดีต มันเป็นอดีตมาแล้ว วางไว้ เพราะเราปฏิบัติเพื่อการปฏิบัติ ทำดีเพื่อความดี อดีตถ้าเป็นความดี ความดีก็ดีในตัวมันเอง
แต่นี่เราทำความดี โลกที่มีปัญหากัน ทำความดีแล้ว “ทำบุญก็ไม่ได้บุญ ทำดีก็ไม่มีใครเห็นความดีเราเลย”
อ้าว! ต้องให้ใครเห็นล่ะ ก็เราเป็นคนทำ เราก็รู้อยู่แล้ว เราทำเสร็จก็เสร็จแล้ว เราทำเสร็จ มีอำนาจวาสนาบารมี แล้วถ้าจิตใจมันเข้มแข็งแก่กล้าขึ้นมา ต่อไปมันจะพัฒนาของมันไป นี่ทำอย่างนี้
ที่ว่า จะเป็นสภาวะอย่างนั้น จะเป็นสภาวะอย่างนี้
จบ ถ้าให้มันรู้จริงขึ้นมา เราเอาความจริงของเราขึ้นมา ถ้าเอาความจริง เราปฏิบัติเพื่อความจริง ถ้าเป็นสภาวะ ถ้าพูดออกไป ประเดี๋ยวมันจะมีสิ่งที่ว่ารูปแบบ แล้วให้คนคิดตามไปเรื่อย ต่อไปนะ มันจะออกไปเลย
นี่หลวงปู่มั่นเวลาท่านเทศนาว่าการท่านไม่บอกถึงผลเลย หลวงตาพูดบ่อยว่าหลวงปู่มั่นท่านไม่เคยว่าผลเป็นอย่างไรเลย แต่ท่านเทศน์ออกไป เวลาพระที่ปฏิบัติไปเชื่อมั่นมากว่าหลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์ แต่สภาวะอย่างนู้นอย่างนี้ไม่มีหรอก เฉย เงียบ
ให้มันรู้จริงขึ้นมา ให้มันเป็นปัจจัตตัง
ทีนี้ว่ารู้จริง ที่บอกว่า มันเป็นสภาวะอย่างนั้น สภาวะอย่างนั้น ก็อยากให้หลวงพ่อรู้ไง ถ้าอยากให้หลวงพ่อรู้ หลวงพ่อก็เข้าใจ มันต้องความสว่างบวกด้วยความสงบ บวกด้วยความรู้สึก
ถ้าบอกคำเดียว ถ้าสว่าง สว่างก็พระอาทิตย์ไง ถ้าความว่าง ความว่างก็อวกาศไง ถ้าสงบก็ชื่อเราเองไง ก็เลยบวกมาพร้อมเลย ความสว่าง ความสงบ ความว่าง บวกมาพร้อมเลย อารมณ์มันเป็นแบบนี้
ถ้ามันเป็นก็จบ ใช้ได้ เพราะเราปฏิบัติเพื่อความสงบระงับ แล้วปฏิบัติของเราไป เราเอามรรคเอาผล
ฉะนั้น เพียงแต่ว่าที่เขียนมากลัวจะไม่จริง กลัวหลวงพ่อจะไม่เชื่อว่าเป็นความจริง
เงินของโยมนะ แล้วโยมหาเงินมาแล้ว ถ้าเป็นความจริง เงินของโยมก็ใช้ได้ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าโยมหาเงินมานะ ถ้าเงินนั้นได้รับเงินปลอมมา โยมเอาไปใช้ เขายึดเลย เราเป็นคนดูเฉยๆ เราไม่ได้ประโยชน์จากเงินของโยมหรอก
ฉะนั้น บอกให้เรารู้
ใช่ ลูกศิษย์กับอาจารย์ต้องสนทนาธรรมกัน บอกให้รู้ก็เข้าใจ แต่เข้าใจแล้วเราวางไว้ไง เพราะเราไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเงินทองที่โยมหาได้ แต่เราเป็นคนบอก เราเป็นคนชักนำกันให้โยมทำงานเพื่อเงินทองของโยม โยมหาเงินหาทองได้มากขนาดไหนมันก็เป็นของโยม แต่โยมมาปรึกษาครูบาอาจารย์ โยมมาขอคำแนะนำจากครูบาอาจารย์ อันนี้ครูบาอาจารย์ให้ผลประโยชน์ตรงนี้ แต่เงินที่โยมได้ ของโยมทั้งนั้น
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าต้องการ ก็ต้องให้หลวงพ่อเข้าใจไงหลวงพ่อ
เข้าใจ ถ้าจิตสงบก็คือสงบ ทำความสงบของใจเข้ามาแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา แล้วฝึกหัดใช้ปัญญาไป
“แล้วเมื่อไหร่มันจะได้ผลล่ะ เมื่อไหร่มันจะได้ผล”
ได้ผลต่อเมื่อผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ถ้าปฏิบัติสมควรแก่ธรรม ด้วยเหตุด้วยผลมันก็ลงสู่ความสงบ ด้วยเหตุผลการใช้ปัญญามันก็สู่วิปัสสนาการรู้แจ้ง ความรู้แจ้งมีมากน้อยขนาดไหน มันก็ทำให้ใจนี้รู้แจ้ง ถ้าใจรู้แจ้งมันก็เป็นปัจจัตตัง ถ้ามันพิจารณาไปถึงสมุจเฉทปหาน จิตใจมันก็ผ่องแผ้ว จิตใจมันก็สำรอกมันก็คายของมันออก มันก็เป็นความจริงขึ้นมา มันเป็นผลประโยชน์ของผู้ปฏิบัติไง นี่พูดถึงข้อที่ ๑.
“๒. เมื่อ ๒ ปีก่อน...” อู้ฮู! มันไปไกล ๒ ปีก่อนนู่นน่ะ “เมื่อ ๒ ปีก่อน ใจของหนูมีความสุขมากๆ จิตสงบครั้งแรก มันเป็นความสุขสงบที่นุ่มนวลอ่อนละมุนละไม หาสิ่งใดเปรียบเทียบไม่ได้เลยนะคะ ตั้งแต่นั้นมา ลูกไม่เคยได้สภาวะนั้นอีกเลย ทั้งๆ ที่นั่งสมาธิ คราวใดลูกคิดถึงจิตที่มันเคยสงบแล้ว”
เห็นไหม มันคิดถึง ๒ ปีที่แล้วไง ๒ ปีที่แล้วนะ มันต้องถอยเวลาไป ถ้าถอยเวลาไปตอนนั้นปั๊บ ร่างกายเราก็สดชื่นกว่านี้ นี่เลยมา ๒ ปีแล้ว ร่างกายเราก็เสื่อมสภาพไปแล้ว มันจะถอยเวลาไปไม่ได้ กาลเวลามันผ่านไปแล้ว เราเรียกคืนมาไม่ได้ เราต้องตั้งสติแล้วระลึกถึงปัจจุบันนี้ เอาปัจจุบันนี้เป็นประโยชน์
แล้วถ้าปัจจุบันนี้เป็นประโยชน์ สิ่งที่มันล่วงไปแล้ววางไว้ เมื่อ ๒ ปีที่แล้ว จิตมันเคยสุข เคยสงบ เคยระงับขนาดนั้น มันเป็นบุญ สาธุ มันเป็นบุญ เป็นบุญให้เราได้ฝังใจ ชักนำให้ชีวิตของเราได้ค้นคว้าได้ขวนขวายมาปฏิบัติอยู่นี้
ถ้า ๒ ปีที่แล้วไม่เคยสงบขึ้นมาเลย มันก็ยังสงสัย ก็ยังลังเลอยู่ ก็ยังใช้ชีวิตอีลุ่ยฉุยแฉกอยู่โดยปกติ แต่เพราะเคยทำได้มีความสงบอย่างนั้น มันเลยเป็นบุญกุศลทำให้เรามีความจงใจความตั้งใจพยายามปฏิบัติมาอีก ๒ ปีถึงป่านนี้
แต่ ๒ ปียังไม่ได้อย่างนั้นเลย ไม่ได้อย่างนั้นเพราะมันมีความอยาก มีความต้องการอย่างนั้น ในเมื่อเวลามันผ่านมาแล้ว ๒ ปีที่แล้วเราทำอะไรผิดทำอะไรถูก เราพิจารณาได้ว่าอะไรผิดอะไรถูกเพราะมันผ่านมาแล้ว แต่ ๒ ปีข้างหน้า เรายังไม่รู้เลย อะไรจะเกิดขึ้น ๒ ปีข้างหน้าเรายังไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แล้วเราจะแก้ไขอะไรที่จะเกิดขึ้นข้างหน้านั้น แต่ ๒ ปีที่ผ่านมา เรารู้แล้วว่าอะไรเกิดขึ้น แล้วเราคิดได้ไง
สิ่งที่คิดได้เอามาเปรียบเทียบ เอามาเปรียบเทียบว่าเราควรจะตัดสินใจอย่างไร เราควรทำอย่างใด แล้ว ๒ ปีที่ผ่านมา เสียดายเวลาไหมที่ภาวนา ๒ ปี เสียเวลาไป ๒ ปี เสียดายเวลาไหม
ถ้าไม่เสียดายเวลา ๒ ปี อีก ๒ ปีข้างหน้า ๖ ปีข้างหน้า ๑๐ ปีข้างหน้า เราจะทำอย่างไร แล้วชีวิตเราถึงขนาดนั้นไหม นี่พูดถึงเพราะอะไร เพราะว่ามันเคยสุขสงบอย่างนั้น เราก็ฝังใจ เราก็อยากได้ แล้วก็จะมารีดเอาจากหลวงพ่อนี่
หลวงพ่อไม่มีอะไรให้ใคร หลวงพ่อมีแต่ปาก จะมารีดเอาความสงบจากหลวงพ่อก็ไม่มี จะมารีดเอาปัญญาก็ไม่มี แต่ถ้ามาปรึกษาคุยกันได้ ฉะนั้น เราทำของเรา
สิ่งที่ว่า “๒. เมื่อ ๒ ปีก่อนลูกเคยมีความรู้สึกว่ามีความสุขมากๆ เมื่อจิตสงบครั้งแรก”
จบแล้ว จิตสงบครั้งแรก แล้วมันยังไม่สงบขนาดนั้น ไม่สงบขนาดนั้น เราก็ใช้ปัญญาของเราไป ใช้ปัญญาของเราไป ใช้สติปัญญา เราทำความสงบของใจของเราเข้ามา แล้วพิจารณาของเรา ฝึกหัดใช้ปัญญาของเราไป แล้วจะดูความสามารถของเราว่าเราจะปฏิบัติได้มากได้น้อยขนาดไหน
เราก็ยังปฏิบัติอยู่ไง เราปฏิบัติได้มากได้น้อยขนาดไหน สิ่งที่เป็นสภาวะต่างๆ สิ่งต่างๆ อยากจะให้มันชัดมันเจน เพราะเราพูดถึงคนเขาไปจินตนาการไง อย่างเช่นภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง มารจะเป็นอย่างนั้น อู๋ย! ภาพมารเป็นภาพยักษ์เลย ภาพของเทพเป็นอย่างไร แล้วภาพของนิพพานก็วงกลมไว้ มันเป็นสุญญากาศ มันเป็นความว่าง ถ้านิพพานก็วงกลมไว้เลย มันเป็นอย่างนั้น แล้วคนก็ไปติดไง ดูสิ มหายาน ถ้านิพพานแล้วยังไปสุขาวดี ไปอยู่ทางตะวันตกของนิพพาน ยิ่งใหญ่กว่า นี่จินตนาการกันไป
นิพพานมันมีชนชั้นหรือ นิพพานแล้วมันยังมีสุขาวดี มีใหญ่กว่านิพพานอีกหรือ นิพพานอย่างเล็ก นิพพานอย่างใหญ่ อย่างนั้นหรือ มันก็ไม่มี เห็นไหม แต่ในเมื่อมันเป็นบุคลาธิษฐาน พอเป็นบุคลาธิษฐานปั๊บ คนก็จินตนาการต่อเนื่องไป
ฉะนั้น ไอ้ที่ว่าเป็นสภาวะๆ เราไม่ค่อยพูดถึง
“แหม! หลวงพ่อไม่ค่อยพูดถึง แต่หลวงพ่อพูดบ่อยมากเลย”
เวลาพูดนะ พูดเป็นบุคลาธิษฐาน พูดเปรียบเทียบ พูดให้เห็นเป็นภาพ เป็นสิ่งที่เห็นจริงจัง เวลาเราพูด เราพูดเพื่อให้เห็นจริงเห็นจัง เห็นจริงจังก็กลายเป็นหนังใหญ่ กลายเป็นหนังตะลุงไปเลย แต่ความจริงพูดเปรียบเทียบให้เห็นภาพ
“หลวงพ่อว่าแต่คนอื่นหมดเลย แต่หลวงพ่อตัวดีเลย ชอบเปรียบเทียบ”
ก็เราเปรียบเทียบให้เห็นภาพไง ให้เห็นภาพ มันจะได้ทำให้ถูกไง แต่พอมันถูกก็ “อ๋อ! หลวงพ่อ ตรงนั้นไม่มีเลยเนาะ ว่างหมดเลย”
เออ! เป็นอย่างนั้น เวลาไปเห็นแล้วอ๋อ! เลยนะ แต่ยังไม่อ๋อ! ที่ว่าหลวงตาท่านบอกว่าเขาไปหาหนองอ้อของหลวงปู่มั่น ที่ว่าหนองอ้อของหลวงปู่มั่นที่เชียงใหม่ ไปหากันใหญ่เลย แต่ไม่รู้ว่าหลวงปู่มั่นท่านอ้อในหัวใจ อ๋อ! ไอ้คนเขาไปหาหนองอ้อกัน หนองอ้ออยู่นั่นๆ
นี่ก็เหมือนกัน สภาวะๆ เราไม่ให้คนอื่นพูด แต่เรานี่พูดเยอะที่สุดเลย แต่เราพูด เราพูดแล้วเราไม่ติดสภาวะของเราเองไง เพราะสภาวะ กูยกให้พวกมึงเห็น แต่ถ้ามึงเข้าไปรู้มันจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง
ฉะนั้น ไอ้คนที่ฟังไปแล้วมันไปสร้างภาพกันเลยนะ โอ้โฮ! เป็นอย่างนั้นๆ แล้วสร้างภาพเสร็จก็กลับมาถามไง ก็สภาวะแบบที่ถามนี่
ฉะนั้น ให้ปฏิบัติให้เป็นความจริงของเราขึ้นมา แล้วจะเป็นประโยชน์กับเรา เอวัง