ความว่าง ๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๔๑
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
การเกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยาก เกิดเป็นมนุษย์แล้วดำรงชีวิตให้เป็นมนุษย์ที่ดี ให้เข้าถึงหลักธรรมยิ่งยากกว่า เพราะว่าการเกิดเป็นมนุษย์นี้ กรรมดีเราสะสมมาได้มนุษย์สมบัติ ถึงได้เกิดมาเป็นมนุษย์ไง มันเป็นจังหวะที่เราเกิด เป็นภาวะ เป็นภพที่เกิดขึ้น แปรสภาพมาแล้ว เห็นไหม การเกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยาก เพราะกว่าจะได้อัตภาพของมนุษย์นี้ยากมาก เพราะว่าจิตที่ไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ตกนรกเอย เป็นเดรัจฉาน อบายนี่มากมายมหาศาลเลย แต่เราได้เกิดเป็นมนุษย์ ที่ว่าเป็นพันๆ ล้าน มากๆ นี่ล่ะ จิต ดวงวิญญาณนี้ อาจารย์บอกเต็มทุกอณูของอากาศ ดวงจิตเต็มไปหมดเลย เราแปรสภาพมา เปลี่ยนจากภาวะของจิตนั้นมาเสวยภพของมนุษย์ไง
มนุษย์สมบัตินี้เป็นของที่ได้มาด้วยความยาก ต้องมีบุญกุศลถึงได้เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์แล้วจะรักษาให้เป็นมนุษย์ที่ดี เป็นมนุษย์แบบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์องค์แรกที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วถึงได้มาสอน นี่เป็นมนุษย์อย่างนั้น ไม่ใช่มนุษย์ทั่วๆ ไป ที่ว่าเป็นมนุษย์แล้วเป็นมนุษย์ที่ดีนั้นแสนยากก็ตรงนี้ เพราะอะไร
เพราะเรามีหูมีตา แรงเสียดสีของสังคม ใครมีศีลมีธรรมในใจ เขาว่าคนนั้นเป็นคนโง่ เป็นคนครึ เป็นคนล้าสมัย ถ้าใครเป็นคนที่มักมาก ใครเป็นคนที่เอาเปรียบคนอื่นได้ คนนั้นเป็นคนทันโลก การอยู่ในโลก ที่ว่าเป็นมนุษย์แสนยาก เพราะแรงเสียดสีอันนี้ทำให้เราคงที่ไว้ไม่ได้ ฉะนั้น มันถึงเป็นส่วนน้อยที่จะหลีกเร้นตรงนี้ได้ หาช่องออกไง เป็นสังคมส่วนน้อย เป็นชนส่วนน้อย เป็นคนที่โลกเขาเห็นว่าเป็นคนไม่ทันสมัย แต่คนที่ทันสมัยนั้นแบกความทุกข์ มีแต่ความทุกข์ มีแต่ใส่หน้ากากเข้าหากัน ว่าข้านี้มีความสุข แต่หลังฉากนั้นทุกข์ล้วนๆ นี่ความจริงของโลกเป็นอย่างนั้น
เห็นไหมว่าเกิดเป็นมนุษย์แสนยาก แล้วเกิดมาเป็นมนุษย์ทำไมมันทุกข์ล่ะ? เพราะทุกข์นี้มันเป็นความจริง ไฟเกิดที่ไหนมันก็ร้อนที่นั่น ให้แสงสว่างพร้อมกับความร้อน เกิดเป็นมนุษย์ พ้นจากภพของอบายภูมิ พ้นจากแรงเบียดบี้สีไฟจากภาวะทุกข์ๆ อันหนึ่ง มาเกิดเป็นมนุษย์ที่ได้จังหวะโอกาสเป็นอิสระชั่วคราว เป็นมนุษย์แล้วมีโอกาสทำดีทำชั่วตามแต่ชั่วชีวิตของมนุษย์ นี่พ้นจากกฎระเบียบ กฎที่บังคับไว้จากนรก จากภพหนึ่งมาเป็นมนุษย์ มาอยู่ในอีกสภาวะหนึ่ง มันก็อยู่ในทุกข์มาทั้งหมด
เรามาเห็นสภาวะปัจจุบันนี้ว่าทุกข์ แต่กิเลสมันทำให้หลงระเริงไป ความหลงระเริง ความไม่เข้าใจ การผัดวันประกันพรุ่งว่า ชีวิตนี้ยังไม่ตาย ยังมีเวลาอีกมาก เมื่อไหร่ก็ได้ เห็นไหม ทั้งๆ ที่ก็รู้อยู่ว่าตาย ต้องตาย! ต้องตาย! เห็นไหม ๑. ต้องตาย ๒. ตายแล้วก็ว่าตายสูญ ตายแล้วก็แล้วกัน แต่เพราะเป็นมนุษย์แล้วยังพบพระพุทธศาสนาอีก เกิดในประเทศอันสมควร เป็นชาวพุทธในศาสนาพุทธ ในประเทศอันสมควรที่มีพระพุทธศาสนาวางไว้แล้ว
การเกิดเป็นมนุษย์แสนยาก การฟังธรรมนี้ก็แสนยาก การเกิดพบพระพุทธศาสนาก็แสนยาก เพราะพระพุทธเจ้าเกิด พระพุทธเจ้าเป็นเอก พระพุทธเจ้ามีองค์เดียว แล้ววางศาสนาไว้เป็นชั่วกาลๆ นี่ชั่วกาลหนึ่ง ๕,๐๐๐ ปี ๘๐,๐๐๐ ปี แล้วแต่พระพุทธเจ้าแต่ละองค์ เห็นไหม เราเกิดในท่ามกลาง พระพุทธศาสนาสอนอย่างนั้น สอนในอะไร? สอนในศีล สมาธิ ปัญญา
ก่อนที่จะเกิดพระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้าเกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะก็ได้ศึกษา ก่อนจะออกบวช ธรรมกังวานอยู่ตลอดเวลา แต่พระเจ้าสุทโธทนะไม่อยากให้ออกบวช พยายามจะปรนเปรอด้วยกามคุณต่างๆ แต่ในเมื่อบุญกุศลสร้างมา ดอกบัวกำลังจะเบ่งบานอยู่แล้ว ยมทูตทั้ง ๔ ต้องมาแสดงตนให้ดู เกิด แก่ เจ็บ ตาย เห็นไหม แค่นี้! เกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่ผู้มีบุญ ผู้มีปัญญาเห็นสภาพแบบนั้นแล้วสะเทือนใจมาก สะเทือนใจอย่างไร สะเทือนใจว่า เอ๊ะ! เกิด แก่ เจ็บ ตายนี้มีหรือ เราก็ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตายแบบนั้นเหมือนกัน แล้วเราจะหลงระเริงในสภาวะการอยู่เป็นมนุษย์โดยที่ปล่อยให้เวลามันล่วงไปได้อย่างไร มีจิตคิดว่า มีการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย ก็ต้องมีการไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย สิ่งนี้เป็นของคู่ นี่ผู้มีปัญญา ทั้งๆ ที่ไม่มีศาสนา ทั้งๆ ที่ยังไม่มีคนสอน แต่พระพุทธเจ้าก็มีปัญญาคิดจะแหวกออกจากวัฏฏะแล้ว
แต่นี่เรามาพบพระพุทธศาสนาเลย แล้วพบพระพุทธศาสนาแล้วเราเดินถูกทางหรือเปล่า แม้แต่พระพุทธเจ้าเริ่มออกบวช ไปศึกษากับใครล่ะ? อาฬารดาบส อุทกดาบส พระพุทธเจ้าศึกษาจนได้สมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ แต่ก็ยังทุกข์ นั่นเพราะว่าสภาวะของความสงบ อย่างเช่นเราพยายามทำความสงบกัน เป็นความว่าง ความสงบของใจ ใจนี้กินอารมณ์ต่างๆ เป็นอาหาร สัตว์หรือคนกินอาหารเข้าไป ถ้าอาหารเป็นพิษจะทำให้ร่างกายนี้ปั่นป่วนมากเลย แต่ถ้าอาหารนี้เป็นประโยชน์ ร่างกายนั้นก็เจริญเติบโตขึ้นมา
แม้แต่การทำความสงบก็เหมือนกัน เพราะจิตนี้เคยกินแต่ความเร่าร้อน พอคิดอะไร มีความฟุ้งซ่านอย่างไร มันก็กินอารมณ์แบบนั้น พระพุทธเจ้าถึงสอนให้กำหนดพุทโธๆ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้จิตนี้หัดกินอาหารใหม่ จากเดิมเป็นอิสระ จะกินอะไรก็ได้ จะทำอะไรก็ได้ เป็นการบังคับให้กินเฉพาะอย่างที่เราบังคับ เช่น พุทโธๆๆ ให้จิตนี้มากินที่พุทโธๆ
การย่ำเท้า เห็นไหม เราย่ำดิน เราจะเหยียบดิน ปั้นดินให้ควรแก่การงาน ควรจะปั้นขึ้นรูป เราจะเอาดินมาปั้นโอ่งปั้นไห เราต้องมาย่ำก่อน เราต้องมาขยำดินจนกว่าดินนั้นจะควรแก่การงาน จิตนี้ก็เหมือนกัน พุทโธๆๆ เป็นการย่ำเหมือนกัน เป็นการย้ำจิตๆ ให้จิตนี้อยู่กับพุทโธ เพื่อต้องการให้จิตนี้ควรแก่การงาน ให้จิตนี้นิ่ม จิตนี้ควรแก่การงาน ไม่แข็ง ไม่กระด้าง
คนโกรธ คนหลงไปในอารมณ์โลก คนกำลังตื่นไปในโลก แล้วให้กำหนดพุทโธ เขาจะกำหนดได้ไหม เขาจะว่าเป็นสิ่งที่ไร้สาระ เขาไม่เห็นคุณค่า คนไม่เห็นสาระของความเป็นสาระ คนเห็นการฟุ้งซ่าน เห็นการเป็นไปตามโลกเป็นสาระ เห็นไหม จิตกระด้าง จิตไม่ยอมรับ จิตแข็งเกินไป กำหนดพุทโธก็ไม่เป็นสมาธิ ทั้งๆ ที่จะกำหนดนะ ถึงจะให้เขากำหนดเขาก็ไม่กำหนด เพราะเขาไม่เห็นว่าเป็นสาระ
เราเห็นว่าเป็นสาระ เรานึกถึงพุทโธสิ
อาจารย์บอกว่า นึกถึงพุทโธ สะเทือนถึงพระพุทธเจ้าเลย
เรานึกพุทโธ พุทโธนั้นเกิดที่ใจ ผู้ใดนึก ผู้นั้นเกิด
เราดื่มน้ำ เราเป็นผู้ชุ่มเย็น คนอื่นเขาเห็นน้ำ แต่เขาไม่เคยดื่มน้ำเลย เห็นแต่ภาพวาดของน้ำ เขาไม่รู้จักรสของความชุ่มเย็น เรากำหนดพุทโธๆ นั่นน่ะ คนจะกำหนดได้ จิตนั้นต้องเริ่มนึก เห็นไหม จิตนั้นสัมผัส แม้แต่นึกถึงพุทโธ สะเทือนพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ นี่สิ่งที่เป็นสาระ แต่โลกเห็นว่าไม่เป็นสาระ
การย่ำจิต การย่ำดิน การเดินอยู่ เขาย่ำอยู่บนของแข็ง เขาย่ำอยู่บนดินที่แตกแห้ง ดินที่แตกระแหง ดินที่ไม่มีน้ำ เขาย่ำอย่างไรมันก็ไม่ควรแก่การงาน เขาย่ำอย่างไรดินนั้นมันก็ไม่เป็นดินที่จะนิ่มได้ เพราะเขาไม่ได้ใส่น้ำ เห็นไหม เราต้องเตรียมดิน แล้วเราต้องมีน้ำพร้อม เราถึงจะย่ำดินนั้นควรแก่การงาน นี่การจะเข้าถึงสมาธิ การจะเข้าถึงให้ใจเราเป็นประโยชน์ เห็นคุณค่าของความเป็นประโยชน์
จิตที่แข็งกระด้างจะให้นุ่มนวลลงมาไม่ได้ มันไม่ควรแก่การงาน เพราะว่าสมาธิ ความเป็นไป ทุกคนอยากจะแสวงหาทางออก แม้แต่ก่อนที่จะเกิดปัญญาในศาสนานี้ก็เหมือนกัน มีบุคคลต่างๆ พยายามแสวงหาทางออกทำจิตให้เป็นสมาธิมากมายเลย เขาก็ออกได้ เปรียบเหมือนกับวัตถุหรือจรวด เราพยายามจะขับดันออกไปจากโลกเรา ขับดันไปอย่างใดก็แล้วแต่ ไปได้ แต่แล้วก็ต้องตกกลับมาที่โลกนี้เพราะแรงดึงดูดของโลก
จิตนี้ทำสมาธิก็เหมือนกัน เราทำสมาธินะ เราทำความว่าง ความว่างระดับหนึ่งของสมาธิ ความว่างของสมาธิ เราทำจิตให้ว่าง เหมือนกับเราขับเคลื่อนจรวดนั้นออกไปจากโลก เราทำอย่างไรก็แล้วแต่ มันต้องกลับมาตกที่โลกนี้ วัตถุนี้ต้องเจอแรงดึงดูดของโลกกลับมา ความว่างที่เราสะสมขึ้นมา เราทำขึ้นมาก่อนครั้งพุทธกาล ความว่างแบบนั้นก็เหมือนกัน ขับออกไปจากแรงดึงดูดของกิเลส ขับออกไปจากความเป็นตัวตนที่มันขวางความว่างไว้ พอจิตนั้นกำหนดพุทโธหรือกำหนดอะไรก็แล้วแต่ ในสมัยก่อนพุทธกาลเขาก็กำหนดกัน จิตนั้นก็เป็นความว่างได้ แต่ความว่างนี้ก็ว่างชั่วคราว ว่างออกไป แล้วพอความว่างนั้นคลายตัวออกก็โดนดึงกลับมาอยู่ในโลกอย่างเก่า สมบัตินั้นก็ตกกลับมา วัตถุสิ่งนั้นก็ต้องตกกลับมายังพื้นโลกนี้เพราะแรงดึงดูดของโลกไง ความว่างที่ว่าขับออกไปก็ต้องตกมา
ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าศีลดี พื้นฐานดี จิตนั้นก็เข้าได้ง่าย จิตที่ควรแก่การงาน คนมีศีลมีธรรม ใจนั้นไม่แข็งกระด้าง การเข้าออกก็ง่าย แต่ง่ายก็ต้องเสื่อมสภาพ แม้จะเข้ายากก็ต้องเสื่อมสภาพ ความเสื่อมสภาพนี้มันเป็นไปโดยความเป็นจริง มันเป็นความจริงของมัน เป็นความจริงอันหนึ่งที่ใครก็ค้านไม่ได้ จะไม่ให้เสื่อมก็ไม่ได้ จะให้คงที่ก็ไม่ได้ มันเป็นในตัวของมันเอง แล้วแต่อำนาจและวาสนา
จิตเวลารวมลงแล้ว อุปจารสมาธิ อุปจาระคือการวนออก จิตนี้สงบตัวลง แล้ววนออกไปรับรู้สิ่งต่างๆ จิตคึกคะนองนี่ออกไปข้างนอกเลย การรวมลงของจิต จิตนี้ได้อบรมดีแล้ว ควบคุมดีแล้ว เห็นไหม สัตว์ที่ควรแก่การงาน สัตว์ที่พยศขนาดไหนก็แล้วแต่ เราฝึกฝนขึ้นมาแล้ว สัตว์นั้นจะเป็นสัตว์ที่เป็นการเป็นงาน ทำประโยชน์ให้กับเจ้าของมหาศาลเลย
จิตจะคึกจิตจะคะนองขนาดไหน ถ้าเราควบคุมของเราได้ เราทำของเราได้ มันจะรวมลง มันจะรวมลง รวมลงอันนี้มีความสุขมาก มีความสุขอย่างไร? มีความสุขเพราะว่า สิ่งที่ไม่เคยพบไม่เคยเห็น จิตนี้รวมลง มันจะเวิ้งว้างไปหมด เวิ้งว้างเลย เวิ้งว้างไปหมดเลย ถ้าอำนาจวาสนาของบุคคลนี้ได้ระดับเวิ้งว้างก็จะเวิ้งว้างอยู่ในความเป็นสุขของตัว จะอิ่มจะพอใจอยู่ในความเวิ้งว้างนี้
ถ้าอำนาจวาสนาของจิตดวงนี้ได้เคยสะสมบุญญาธิการมาก็จะออกรู้ โดดขึ้นไปเลย จะไปเห็นสิ่งต่างๆ จะไปเห็นภพนู้นภพนี้ นี่เห็น อันนั้นเป็นวาสนา หรือรู้วาระจิตของบุคคลอื่น รู้วาระจิต เห็นภาวะจิตใจของผู้อื่น การส่งออกอันนี้ เห็นไหม ตัวนี้มันเป็นเครื่องเคียงของอำนาจวาสนาของจิตแต่ละดวง ความเป็นสมาธิก็ไม่เท่ากัน ความเห็นก็ไม่เท่ากัน ความเห็นแบบนี้ไง ความว่างและความเห็น ความที่ออกไปรับรู้มันก็เหมือนเราขับจรวดออกไป ขับวัตถุออกไปจากโลก ไปชนกับสวะ ชนกับขยะในอวกาศ เราขับเคลื่อนเอาจรวดออกไป เราจะไปกระทบกับสิ่งที่เวิ้งว้างอยู่ในอากาศ มันจะมีจิตกี่เปอร์เซ็นต์ที่จะไปโดนล่ะ
เหมือนกัน จิตของพวกนักปฏิบัติก็เป็นอย่างนั้น น้อยดวงมากที่จะออกรับรู้อย่างนั้น ออกรับรู้ หมายถึงว่า ไปสัมผัส ไปกระทบกับขยะอวกาศ สิ่งที่เวิ้งว้างอยู่ในอวกาศ จิตที่ไปกระทบคือจิตที่ออกไปรับรู้ รับรู้แล้วมันก็ต้องตกกลับมาอยู่ที่โลกอย่างเก่า เห็นไหม สรรพสิ่งนี้ก็โดนดึงดูดกลับมาตกที่โลกอย่างเก่า คือว่าตกมาที่ในปัจจุบันของภพ ฐีติจิต คือภพของจิต
จิตดวงนี้มันเกิดมันตายอยู่แล้วใน ๓ โลกธาตุ ตกมาที่โลกนี้ยังดี ถ้ามันตายแล้วมันตกนรกลงไปเลยล่ะ ความเป็นไปของ ๓ โลกธาตุที่จิตมันเวียนตายเวียนเกิดมา อันนี้คือความว่างของสมาธิ ถึงจะได้ผลประโยชน์ขนาดไหนก็แล้วแต่ มันก็ยังเวียนตายเวียนเกิด มันเป็นความว่างขั้นหนึ่งของความว่างก่อนสมัยที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ก็มีอยู่แล้ว แม้แต่พระพุทธเจ้ายังไปเรียน ได้สมาบัติ ๘ เหาะเหินเดินฟ้าได้ด้วย นั่นก็เป็นความว่างอันหนึ่ง แต่มันไม่ได้ก้าวเดินปัญญา
ตอนพระเจ้าสุทโธทนะออกแรกนาขวัญ เอาพระพุทธเจ้าไปไว้ที่โคนต้นหว้า พระพุทธเจ้านั่งทำความสงบอยู่ที่โคนต้นหว้า แม้ถึงเที่ยงแล้วเงาของต้นหว้าก็ยังไม่เคลื่อนไป นั่นเป็นความสุขที่ฝังใจ พอออกประพฤติปฏิบัติ ไปศึกษากับอาฬารดาบส อุทกดาบส ได้ถึงสมาบัติ ครูบาอาจารย์ก็ว่า เป็นผู้ที่ศึกษามาจนได้ระดับเดียวกับอาจารย์ ควรจะออกสั่งสอนได้เหมือนเรา อาฬารดาบสประกันพระพุทธเจ้าเลยว่าได้สมาบัติ ๘
แต่พระพุทธเจ้าบอก ถึงจะได้สมาบัติ ๘ ความสุข-ความทุกข์ในใจมันก็กระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา มันรู้ๆ อยู่ว่าอันนี้มันคร่อมอยู่ เหมือนกับเรา เรามีสมาธิ ธาตุ ๔ เป็นเรา แล้วความทุกข์อยู่ภายใน มันทุกข์อยู่ มันครอบอยู่ชั่วคราว ถึงได้ออกไปแสวงหาโมกขธรรม แล้วในคืนสุดท้ายก็มาคิดถึงตอนที่อยู่โคนต้นหว้า ต้องทำสมาธิอย่างนี้ กิเลสมันอยู่ที่ใจ กิเลสไม่ได้อยู่ที่กาย พยายามอดอาหาร พยายามทรมานตนทุกอย่าง นี่ผู้ที่แสวงหาทางออก
เราเจอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ประเสริฐที่สุด เพราะสิ่งที่อยู่ในหัวใจ กว้างแสนกว้าง ลึกแสนลึกขนาดไหน ไม่มีใครเห็น แต่พระพุทธเจ้าเอาออกมาเห็น เพราะได้รำพึงรำพันอันนี้ก่อน ก่อนจะเห็น ก่อนจะเป็นผู้ดำเนินองค์แรก ย้อนกลับไปตรงโคนต้นหว้า คืนนั้นถึงได้สำเร็จ เพราะท่านย้อนกลับมาดูกิเลสที่ใจด้วยปัญญา
ก้าวเดินตามปัญญาของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าถึงได้วางมัคคาให้พวกเราดำเนินตาม การก้าวเดินด้วยปัญญา พระพุทธเจ้าก้าวเดินนะ บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ เห็นไหม นี่การก้าวเดินด้วยปัญญา การก้าวเดินด้วยปัญญาลงไปในปัญญา เดินในอะไร? เดินในกาย เวทนา จิต ธรรม ธาตุทั้ง ๔ ของเรา ในร่างกายที่เราเกิดเป็นมนุษย์นี้
เราทำสมาธิอย่างที่เขาว่ากัน เราก็ทำ เราทำสมาธิ ความว่างขึ้นมา เพื่อให้เป็นเครื่องดำเนิน สมาธินี้เป็นมรรคในองค์ที่ ๘ เห็นไหม พระพุทธเจ้าขนาดศึกษามาจาก อาฬารดาบสอยู่แล้วบอกว่าสมาบัติเป็นอย่างนั้น ก็รับรู้ แต่เวลาพระพุทธเจ้าวางมัคคา สัมมาทิฏฐิเป็นองค์แรก ความเห็นถูกต้อง สัมมาสมาธิเป็นมรรคองค์ที่ ๘ การงานชอบ ความเพียรชอบ ความวิริยะชอบนั้นรวมลงลงในการขุดค้นลงที่ใจ ต้องเดินปัญญา ใจนี้อยู่ในร่างกายของเรา ร่างกายที่นั่งสมาธินี้ จิตที่สงบแล้วเห็นร่างกายไหม เห็นความเป็นไปไหม การก้าวเดินของปัญญาต้องขุดคุ้ยจิตที่มันติดอยู่ในร่างกายนี้
เราเป็นสมาธิ เราขึ้นไปบนฟ้า ขึ้นไปเหาะเหินเดินอากาศ เห็นภพ เห็นชาติ เห็นอะไรก็แล้วแต่ ความเห็นออกไป ความเห็นอันนั้นเป็นความเห็นออกไปข้างนอก ความติดที่ใจ ก่อนที่จะออกไปข้างนอก ใจมันติดที่ร่างกายนี้ ภวาสวะ ภพอยู่ที่ใจ จรวดขับเคลื่อนออกจากฐานยิง ความคิดที่ออกไปเห็นภพ เห็นชาติ เห็นเทวดา เห็นเปรต เห็นผี ออกไปจากภวาสวะตรงนี้ ออกจากฐานที่ใจ ออกจากฐานของภพ ออกจากฐานกลางหัวใจของเรา ฉะนั้น การไปเห็นก็ไปเห็นแต่สิ่งที่อยู่นอกวงโคจร แต่จริงๆ มันติดอยู่ที่ภพนี่! จริงๆ มันติดอยู่ที่กลางหัวใจนี่! มันมีฐานของจรวด มันถึงขับเคลื่อนดันจรวดออกไป
ถ้าเราจะไม่ให้มันขับเคลื่อนออกไป เห็นไหม เพราะความขับเคลื่อนออกไปเห็น ไปรับรู้สิ่งใดๆ มา มีความสุขหรือมีความทุกข์ มีความพอใจหรือไม่มีความพอใจ มีสิ่งใดก็ติดไปหมด แม้แต่ตัวเองก็ติด แล้วก็ไปติดข้างนอก ไปเห็นสิ่งต่างๆ ข้างนอก ก็ไปติดข้างนอก ไปฟุ้งซ่านอยู่ข้างนอก ไม่ได้ชำระสะสางบ้านตัวเองเลย ไม่ได้ทำลายฐานของจรวดนั้นเลย
ถ้าทำลายฐานของจรวดที่ขับเคลื่อนออกไป เห็นไหม จิตนี้อยู่ที่กาย แม้แต่กายก็ติด ความเห็นก็ติด พุ่งออกไปถึงอวกาศก็ติด ที่เป็นความว่างที่เขาส่งเสริม เขายกย่องสรรเสริญกัน พระพุทธเจ้าถึงย้อนกลับมาเป็นมรรคองค์ที่ ๘ เป็นสัมมาสมาธิ แล้วเดินปัญญาเข้ามาตัดความติด ทำลายฐานของจรวดที่เป็นภพตัวนี้ ด้วยกาย ด้วยเวทนา ด้วยจิต ด้วยธรรม
พิจารณากาย สักแต่ว่ากาย เกิดมาต้องตายทุกคน การตายนั้นตายในสภาวะตามความเป็นจริง แต่จิตนี้มันก็ต้องตายไปพร้อมกับร่างกายนั้น มันเป็นการตายไปพร้อมกันที่ไม่ได้ประโยชน์ เป็นการเสวยภพด้วยบุญวาสนาเท่านั้น แต่การเห็นความแปรปรวนโดยขณะจิตปัจจุบันนั้น จิตนี้พิจารณาธาตุ ๔ จิตนี้พิจารณากาย เพราะความที่จิตนี้เป็นสมาธิ จิตนี้ไม่มีกาลเวลา จิตนี้หยุดทั้งหมด จิตนี้เป็นหนึ่ง จิตนี้เป็นเรา แล้วหมุนเข้าไปออกมาเป็นปัญญา ต้องหมุนเข้ามาที่กายนี้ นี่การก้าวเดินของปัญญา ปัญญาได้ก้าวเดิน
การก้าวเดินออกไปด้วยฐานของสมาธิ ด้วยฐานของปัญญาในมรรคองค์ ๘ นี้ ในฐานของใจนี้ รวมตัวกันทั้งหมด มันจะเห็นตามความเป็นจริงขณะนั้น จะแปรสภาพให้เห็นในขณะที่เห็นเลย เพราะจิตนี้ได้จับต้อง มีโจทก์ มีจำเลย มีผู้พิพากษา ทุกอย่างพร้อม พร้อมพิจารณาออก แล้วแตกออกจากกัน นี่ปัญญาเห็นตามความเป็นจริง
ถ้าปัญญาเห็นตามความเป็นจริงของการก้าวเดินทางปัญญา การก้าวเดินของปัญญาจะเกิดความว่างอีกอันหนึ่ง ความว่างอันนี้ไม่ใช่ว่างแบบสมาธิที่ว่างแล้วไปกระทบกับอวกาศนู้น แต่เป็นการขับเคลื่อนออกไปจากภวาสวะนั่นแหละ ออกจากภพของใจนี้ ขับเคลื่อนออกไป ปัจจุบันนี้ได้ระเบิดแล้ว ฐานจรวดได้ระเบิดออกฐานหนึ่ง พอจรวดระเบิดออกไปแล้ว จรวดก็ขับเคลื่อนออกไป ขับเคลื่อนออกไปเป็นความว่างไปในอวกาศแล้วไม่กลับมาตกในพื้นโลก เพราะสมาธิหรือความว่าง การรวมตัวกันขณะที่มันเป็นปัจจุบันธรรมนั้นมันได้สร้างสถานีอวกาศไว้บนอวกาศ จรวดเราจะไปพักอยู่ที่สถานีอวกาศ ไม่กลับมาตกบนพื้นโลก เห็นไหม
ความว่างขณะการก้าวเดินไม่ใช่ความว่างของสมาธิ ความว่างของสมาธิจะต้องโดนแรงดึงดูดกลับมาตกยังพื้นโลก แต่ความว่างของการก้าวเดินนั้นเป็นความว่างที่มีสถานีอวกาศรองรับ มีอกุปปธรรมของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ในธัมมจักฯ รองรับ
กุปปธรรม กับ อกุปปธรรม กุปปธรรมคือธรรมที่แปรปรวนตลอด แต่ธรรมที่ไม่แปรปรวนอีกแล้วเพราะมีสถานีอวกาศรองรับอยู่ มีภพ ถึงจะเกิดก็เกิดอีก ๗ ชาติ เห็นไหม กับถ้าไม่มีสถานีอวกาศรองรับก็เกิดตายไม่มีที่สิ้นสุด เกิดสูงๆ ต่ำๆ เกิดไม่มีวันจบสิ้น ไม่มีต้นและไม่มีปลาย แต่สถานีอวกาศมารองรับแล้ว อย่างมากเกิดอีก ๗ ชาติเท่านั้น ไม่โดนแรงดึงดูดกลืนไปทั้งหมด ภพชาติจะสั้นเข้า ความว่างอันนั้นมันว่างออกไปจากกิเลสส่วนหนึ่ง
เหมือนกับคน ๔ คนเข้าไปในรถยนต์ อยู่ในรถยนต์คันหนึ่ง รถยนต์คันนั้นขับเคลื่อนออกไป บัดนี้ใน ๔ คนนั้นช่วยกันทำลาย เอาคนคนหนึ่งออกจากรถนั้นไป จะเหลือคนในรถอีก ๓ คนเท่านั้น พิจารณาต่อไป การก้าวเดินมันจะเป็นความว่างที่เวิ้งว้าง ว่างที่แปลกประหลาดกว่าในความว่างของสมาธิมาก ว่างสมาธิ ว่างในแรงดึงดูด มันยังแปรปรวน ไม่มีความคงที่ แต่ความว่างอันนี้มันว่างเพราะว่ามันว่างหนึ่ง แล้วมันทำลาย หมายถึงว่า ตัดส่วนที่เป็นหนี้ หนี้สินส่วนใดส่วนหนึ่งของเรา เราได้ชำระไปแล้วส่วนหนึ่ง มันลดค่าออกไป มันหลุดออกไป นี่ก้าวเดินออกไป ความว่างอันนี้ถึงไม่เหมือนกับความว่างอันแรก ความว่างอันแรกเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แต่ความว่างการก้าวเดินมันก็ว่างออกไปอีกชนิดหนึ่ง ว่างไปแบบมีสถานีอวกาศรองรับ
ทีนี้การก้าวเดินนี้มันต้องก้าวเดินไปเรื่อยๆ เพราะอะไร เพราะคนในรถนั้นยังมีอยู่ใช่ไหม มนุษย์ในยานอวกาศยังขับเคลื่อนอยู่ ต้องขับเคลื่อนยานอวกาศต่อไป ก้าวเดินต่อไป การก้าวเดินต่อไปในอุปาทาน อุปาทานในกาย อุปาทานในจิต อุปาทานฝังอยู่ในเรานี่
จิตนี้มีอุปาทานอยู่ หมุนกลับมาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ในอริยสัจ การกำหนดดูในอริยสัจมันต้องมีคนขับเคลื่อนใช่ไหม อริยสัจเป็นความจริงอันหนึ่ง ธรรมะเป็นความจริงอันหนึ่ง ธรรมชาติต่างๆ มันก็เป็นความจริงอันหนึ่ง ความจริงที่รออยู่เป็นความจริงปกตินั้นก็คือความจริงอันหนึ่ง แต่ความจริงที่ใจเราล่ะ ความจริงที่เกิดขึ้นจากใจของเราอยู่ที่ไหน ความจริงที่เกิดขึ้นจากใจของเราต้องอาศัยผู้ขับเคลื่อน สมาธิช่วงนี้มันยังมีเรา มีตัวตนการขับเคลื่อนต่อไปตลอด
การขับเคลื่อนของโลก หรือการทำงานของโลก ทำงานไป แต่การงานของธรรม การขับเคลื่อนของธรรม การขับเคลื่อนที่ทำลายตัวเอง ต้องขับเคลื่อนทำลายตัวเองเพราะตัวเองมีความยึดมั่นถือมั่น การขับเคลื่อนออกไปแล้วยังขับเคลื่อนออกมาชำระกิเลส เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจ กิเลสมันอยู่ที่ภวาสวะที่ภพของใจทั้งหมด เพราะเราเป็นผู้ที่จะเอาตัวพ้นออกไปจากอำนาจการยึดครองของกิเลสที่ครองใจ นี่ก็ต้องก้าวเดิน การก้าวเดินต่อไป ระยะของการก้าวเดิน นี่ความว่างที่ ๑
ความว่างที่ ๒ นี้เป็นความว่างของการก้าวเดินตลอด มันต้องก้าวเดินไปๆ เพราะก้าวเดินเท่าไร ความว่างนี้จะละเอียดเข้าไป เป็นขั้นตอนเข้าไปเรื่อยๆ เป็นขั้นตอนเข้าไป เพราะว่าความว่างมันจะละเอียดไปๆ กิเลสชำระออกจากใจมากเท่าไร ความว่างนั้นจะละเอียด จะเบาบาง เหมือนอวกาศที่เบาบางที่เวิ้งว้างออกไปเรื่อยๆ กับความว่างที่สะสมไว้ด้วยความหนาแน่น อย่างความหนาแน่นด้วยสสารทั้งหมด กับความว่างอันนี้มันจะเริ่มจางออกๆๆ การขับเคลื่อนออกไปจากผู้ที่อยากจะพ้นจากทุกข์
การขับเคลื่อนให้พ้นจากทุกข์ วกกลับมาๆ ต้องดู ต้องหา ถ้าเราเข้าใจว่าความว่างเป็นอย่างนั้น ความเข้าใจว่าความหันออก ความเข้าใจว่าไง ความเข้าใจว่าการมุ่งออกไปจะไม่พบอะไรเลย มันก็เหมือนกับวัตถุทั้งหมด สรรพสิ่งทั้งหมด พลังงานต้องผลักออกไปหมด แต่ธรรมะพระพุทธเจ้าบอกว่า พลังงานตัวนี้ให้พยายามดึงกลับมากลืนกินตัวเอง ต้องดึงกลับเข้ามากลืนกินตัวเอง ความดึงนี้ดึงได้ พลังงานทั้งหมดไม่มีชีวิต แต่หัวใจมีชีวิต หัวใจมีความรู้สึก หัวใจบังคับได้ หัวใจโน้มน้าวได้ รำพึงได้ หักหวนกลับมาได้ นั่นคือปัญญา การก้าวเดินของปัญญา พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้
พลังงานไม่มีชีวิต มนุษย์มีชีวิต จิตนี้มีชีวิต จิตนี้มีความรู้สึก มันต่างกันตรงนี้ ถึงว่ามนุษย์ประเสริฐ หัวใจถึงประเสริฐ แต่ถึงประเสริฐมันก็ประเสริฐพร้อมกับกิเลส กิเลสอยู่ในความประเสริฐๆ นั้นล่ะ ถ้าเราเห็นเป็นความว่าง เราส่งออกไป เราพอใจ ความพอใจ ความเคลิบเคลิ้ม ความชินชา ความชินชานั้นมันจะไม่ยอมย้อนกลับมาชำระตัวมันเอง
การเกิด การกระทำ การประพฤติ การปฏิบัติ พระพุทธเจ้าสอน ครูบาอาจารย์สอนแล้วว่า ไม่ให้ชินชา ไม่ให้นอนใจ ไม่ให้คร่อมความว่างที่อยู่ในหัวใจของเราทั้งนั้น ต้องตรวจสอบ ต้องขุดคุ้ย ต้องทำลาย จะทำลายขนาดไหนก็แล้วแต่ ยิ่งมีการทำลาย ยิ่งมีการตรวจสอบ ความว่างนั้นจะประเสริฐขึ้นตลอด
เราไม่ยอมตรวจสอบ เราไม่ยอมทำลาย เราไม่ยอมทุบ เราไม่กล้าทำลายหัวใจของเรา เราไม่กล้าตรวจสอบเข้ามาภายในของเรา เพราะเราคิดว่าเราเคยให้ค่า การให้ค่าของเรา กิเลสมันอยู่ข้างหลัง เราให้ค่าใจเราประเสริฐ ให้ค่าใจเราสูง พอให้ค่าใจเราสูง กิเลสมันหัวเราะเยาะ ก็เหมือนกับที่เราทำปกติ เราว่าในบ้านเรามีเงินมหาศาลเลย ในบ้านเรามีของใช้เหลือเฟือเลย เราจะขวนขวายไปทำไม เราก็ต้องรอใช้สมบัติเดิม แต่ถ้าเราบอกว่าจะมีจะจนอย่างไรก็แล้วแต่ อันนั้นเป็นส่วนหนึ่ง แต่การประพฤติ การปฏิบัติ การตรวจสอบนี้ เป็นหน้าที่ของเรา อันนี้เป็นทางของนักปราชญ์ พระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างนั้น ไม่ให้นอนใจ
มันเป็นความว่าง เสื่อมจากฐานอันนั้น แต่มันต้องแปรสภาพขึ้นไปสิ ความว่างเริ่มต้น สมาธิมันว่างอยู่แค่นั้นล่ะ มันว่างไปแล้วก็หมุนเวียนไป แต่ความว่างขั้นปัญญาไม่เสื่อมลงมาเด็ดขาด มีสถานีอวกาศรองรับ แต่ความว่างนี้ก็แปรปรวนได้ แปรปรวนสูงขึ้น ไม่มีต่ำลง ถ้าความว่างอันนี้คงที่ พระโสดาบันต้องเป็นพระโสดาบันตลอดไปอย่างนั้นหรือ
พระโสดาบันยกหัวใจขึ้นเป็นพระสกิทาคามีได้ เป็นพระอนาคามีได้ แล้วก็ขึ้นเป็นพระอรหันต์ได้ ถ้าตรวจสอบใจตัวนี้ ถ้ามีการกระทบกลับมาแล้วตรวจสอบตัวนี้ มันไม่ตกต่ำแน่นอน สูงขึ้นได้ ความว่างช่วงกลางนี้ ช่วงปัญญานี้ถึงแปรสภาพสูงขึ้นอย่างเดียว ไม่แปรสภาพต่ำ
แต่ถ้าเป็นความว่างเดิม มันหมุนเคว้งคว้างอยู่ เป็นขยะอวกาศ มันไปไหนไม่ได้ ต้องตกลงมาสู่พื้นโลกสักวันหนึ่ง ถึงไม่ตกมาถึงพื้นโลกมันก็โดนแรงเสียดสีเผาไหม้ไปหมด มันต้องเป็นอย่างนั้น แต่อันนี้ไม่มีแรงเสียดสีอีกแล้ว มันเป็นอจลศรัทธา ศรัทธาที่มั่นคง ไม่ทำความผิด มันมีฐานรองรับ มันขึ้นไปอย่างเดียวๆ ความว่างตัวก้าวเดินนี้ถึงเป็นความว่างที่แปรสภาพ ยังแปรสภาพอยู่ แต่แปรสภาพสูงขึ้น นี่การแปรสภาพสูงขึ้น แต่ถ้าหัวใจมันไม่ยอมเข้ามาตรวจสอบ มันจะสูงไปไหนล่ะ
ถ้าหัวใจมันตรวจสอบ หันกลับมาดูกาย เวทนา จิต ธรรม การพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม มันยังพิจารณาได้อยู่ เพราะสามารถจับความว่างที่ละเอียดเข้าไปได้ กายในกาย จิตในจิต ธรรมในธรรม แม้แต่จิตที่ละเอียดยังพิจารณาจิตในจิตได้ ขันธ์ในจิตก็พิจารณาได้ ขันธ์ ๕ นอก ขันธ์ ๕ ใน ในเมื่อยังเป็นความว่างอย่างนี้อยู่ มันยังจับต้อง มีอารมณ์ความรู้สึก ในเมื่อยังมีอารมณ์ความรู้สึก นั่นคือตัวเรา
ความเฉา แม้แต่สูงๆ ไป ไม่มีอารมณ์ความรู้สึกเลย ขันธ์นี้ตัดออกไปทั้งหมด ก้าวเดินเปลี่ยนแปรสภาพจนขันธ์นี้ไม่มีเลย แม้แต่จิตเฉยๆ นะ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส ความผ่องใสนั้นคู่กับความเศร้าหมอง เพราะมีเรา มีมานะ ๙ ความเป็นมานะ มานะยึดถือ การยึดถือมันเมื่อย การยึดถือแบกไว้ การคอนไว้ ของที่คอนไว้หนักหรือไม่หนัก
เพราะการขับเคลื่อน การก้าวเดินในช่วงปัญญา ความว่างในปัญญา เพราะมีตัวตนตัวนี้ตัวขับเคลื่อนไง มันมีตัวมีตน มีความรู้สึก มีการเก็บข้อมูล มีการฝังอกฝังใจมาตลอด ถ้าเอะใจ เห็นไหม ความเอะใจ ความดูใจของตัวที่มันเศร้าหมองมันผ่องใสนั่นน่ะ มันเป็นเพราะอะไร ถ้ามีความเศร้าหมอง มีความผ่องใส ใครเป็นคนเก็บข้อมูล ใครเป็นคนรับทราบข้อมูลสิ่งนั้น
ข้อมูลสิ่งนั้นคือตัวตน ความว่าง การก้าวเดินยังมีตัวมีตน มีเราในความว่างนั้น เพราะมีเรา-มีเขา มันถึงมีความว่าง เพราะเรารู้ว่าว่าง เห็นไหม เรารู้ว่าว่าง เราเข้าใจว่าว่าง แต่มันว่างหรือ ในเมื่อมีผู้เก็บข้อมูลอยู่ ทำไมไม่ทำลายตัวเก็บข้อมูลนั้น เพราะว่าเราไม่ยอมทำลาย เราไปเคลิบเคลิ้มกับความว่างนั้นไง คนเก็บข้อมูลนั้นว่าข้อมูลนี้เป็นเรา มันก็ออกมาพูดว่า ว่าง ว่าง ว่าง นี่ความว่างในปัญญา ความว่างอันนี้มันละเอียดลึกซึ้ง ถึงว่าเป็นความว่างที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์ ไม่ใช่ความว่างข้างล่าง เห็นไหม ความว่างหนึ่งก็ยังเคลิบเคลิ้มได้ว่าอันนี้เป็นความว่างแท้ แม้แต่ความว่างการก้าวเดินนี้ก็ยังว่าเป็นความว่างแท้
ความว่างการก้าวเดินมันแปรสภาพสูงขึ้น แต่การแปรสภาพสูงขึ้นนี้มันต้องมีตัวฉุกคิดนี่ไง ตัวฉุกคิด ตัวตั้งโจทย์ ถามตัวเอง ตัวการศึกษาตัวเอง เพราะการทำลายในหัวใจต้องเป็นตนที่เป็นผู้ทำลายตน จิตต้องทำลายจิต มรรคอริยสัจจัง อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจึสูติ อาสวะอยู่ที่จิต จิตต้องทำลายอาสวะ
อาสวะสิ้นแล้ว จิตนี้เป็นผู้วิมุตติ
ฉะนั้น จิตต้องแก้จิต เพราะตัวจิตมันมีกิเลสอยู่ที่ตัวมัน กิเลสชุ่มไปในหัวใจนั้น กิเลสชุ่มไปที่จิต ที่ตัวจิตนั้นล่ะ แล้วใครจะมาแก้ไขให้ล่ะ เห็นไหม การแก้ไข ใครจะแก้ไขให้ ถ้าตัวจิตนั้นไม่เอะใจ
ในเรือน ในวัตถุทุกอย่าง เปลือกภายนอกใครก็ชำระล้างได้ ถึงไม่ต้องชำระล้าง อยู่เฉยๆ ฝนก็ตกชำระล้างมัน แต่ความสกปรกภายในหัวใจ ความสกปรกของกลางวัตถุนั้น วัตถุนั้นเป็นสิ่งที่สูง สิ่งที่กว้างใหญ่ แล้วอยู่จุดตรงกลางของวัตถุนั้น อะไรจะชำระเข้าไปในนั้นได้ ถ้าไม่ระเบิดเข้ามา ออกจากภายในของมัน แกนของโลก แกนของวัตถุอยู่ตรงกลางนั่นน่ะ มันต้องระเบิดตรงนั้นออกมา ระเบิดจากตรงหัวใจนั้นออกมา ตรงตัวเก็บข้อมูล ตัวตนตัวนั้น
การทำลายความว่างอันนี้ ความว่างหยาบๆ เห็นไหม การก้าวเดิน มรรคอริยสัจจังหมุนไป มันยังฟาดฟันกันมาตลอดนะ แต่ถึงที่สุด ความเศร้าหมองความผ่องใสนี้มันไม่มีอะไรไปฟาดฟันมัน เพราะมันเป็นตัวมันเอง เป็นตัวจิต เพราะตัวฟาดฟันมันเป็นระหว่างขันธ์ เห็นไหม สังขารขันธ์ มันเป็นปัญญา มันเป็นขันธ์ กับไอ้ตัวกิเลสมันยังฟาดฟันกัน มันเป็นการฟาดฟันกันมาตลอด แต่ถึงจุดของมันแล้ว ไม่ต้องเป็นการเผาไหม้ ต้องเป็นการกลืนตัวเอง การกลืนตัวเองตัวนั้น การกลืนตัวตน พอตัวตนนี้คว่ำสลายลง มันเป็นการสมุจเฉทปหานอย่างเต็มที่ มันจะเกิดความว่างใหม่ เพราะความว่างทำลายความว่างอีกทีหนึ่ง
ความว่างระหว่างก้าวเดินเป็นความว่างแท้ เป็นความว่างที่ไม่มีตัวตน ความว่างไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ความว่าง ความว่างไม่ต้องพูดกัน ความว่างนั้นพูดถึงไม่ได้เลย พูดถึงไม่ได้เพราะอะไร เพราะไม่มีคนเก็บข้อมูล ข้อมูลนั้นไม่มีแล้ว ทำลายข้อมูลทั้งหมด ทำลายทุกอย่างทั้งหมด ความว่างอันนั้นเป็นความว่างที่พระพุทธเจ้าแสวงหามาตลอด แล้วพระพุทธเจ้าตรัสรู้ก่อนถึงได้บัญญัติไว้ เพียงแต่ปูนหมายป้ายทางไว้ เป็นการบอกไว้เพื่อจะเป็นการสื่อกันในสังคมของสมัยพุทธกาล
สมัยพระพุทธเจ้าสื่อกับลูกศิษย์ของพระองค์ท่านว่า เป็นอย่างนี้ แล้วจะรู้กันด้วยความเป็นภายใน ถึงว่าเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นเพื่อสื่อกันออกมา เพียงแต่ว่าไม่ใช่อันนั้นเด็ดขาด ไม่ใช่เลย เป็นสมมุติไม่ได้ทั้งหมด เป็นคำพูดออกมาไม่ได้ เพราะไม่มีข้อมูลใดๆ แต่รู้
เปรียบเหมือนน้ำมันใต้ดิน การแสวงหาน้ำมัน เรารู้ว่ามีน้ำมัน เห็นไหม นี่มีข้อมูล แต่น้ำมันที่อยู่ใต้ดิน เราจะวัดค่ามันได้ใช่ไหม? ได้ แล้วถ้าเราเอาน้ำมันขึ้นมาใช้ อันนั้นน่ะโลก ถ้าน้ำมันอยู่ใต้ดิน แล้วก็รู้ว่าน้ำมันอยู่ที่นั่น นั่นล่ะจบ จบ อันนั้นเป็นความว่างอันนั้น เป็นความว่างอันนั้น เป็นความว่างที่ไม่มีผู้เก็บข้อมูล แต่มีอยู่ ถ้ามีอยู่ เป็นวัตถุทันที
ความว่างอันนั้นถึงเป็นความว่างแท้ ความว่างแท้ๆ เลย ไม่มีผู้เก็บข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะความว่างนั้นไม่ใช่เรา ความว่างนี้ไม่มีตัวตน เราไม่มีในความว่าง ความว่างไม่มีในเรา จะว่าว่าง จะอะไรไม่ได้ ถ้าว่า ที่นี่ว่างหนอ บ้านนี้ว่าง ใครอยู่ในบ้านนั้น...นี่มีคนเก็บข้อมูล คนเก็บข้อมูลคือคนที่บอกว่า ความว่าง บอกทุกสิ่งทุกอย่าง นั่นมีคนเก็บข้อมูลทั้งหมด ความว่างนี้เป็นความว่างการก้าวเดิน
แต่ความว่างสุดท้ายสิ เป็นความว่าง ๓ ระดับ เป็นความว่างของข้างสมาธิธรรม ความว่างของปัญญาก้าวเดิน กับความว่างตามความเป็นจริงแท้ เกิดขึ้นจากมนุษย์ทุกๆ คน จากหัวใจทุกๆ ดวง ถ้าเราเป็นชาวพุทธ เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่ก้าวเดินพ้นเป็นองค์แรก แล้วตรัสวางไว้ตามความเป็นจริง ให้พระอัญญาโกณฑัญญะเดินตาม ปัญจวัคคีย์เดินตาม พระยสะเดินตาม เดินตามกันไป แล้วไม่มีปัญหาเลย เพราะเป็นความว่าง เป็นความจริงทั้งหมด เป็นความว่างแท้ทั้งหมด เพราะพระพุทธเจ้าเป็นประธานอยู่ที่นั่น เป็นพยานที่ยืนยันกัน นั่นเป็นความว่างแท้อย่างนั้น
ฉะนั้น ถึงว่าดวงใจทุกดวงไปถึงได้ เพราะดวงใจทุกดวงถ้าไม่ไปถึงความว่างนั้นก็ต้องเกิดตายๆ ไปตลอด จิตนี้ไม่มีวันแตกดับ ความว่างแท้นั้นก็ไม่มีวันแตกดับ ความว่างแท้นั้นเป็นความว่างแท้ ฉะนั้น จิตที่ไม่มีวันแตกดับกับความว่างที่ไม่มีวันแตกดับหมุนมาเป็นอันเดียวกันเมื่อไหร่ จิตดวงนั้นพ้นไป ถ้าจิตดวงนั้นหมุนเข้ามาไม่ถึงความว่างอันนี้ มันไม่มีวันแตกดับ มันต้องเกิดต้องตาย ต้องเกิดต้องตายไปตลอด เปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติไปไม่มีวันสิ้นสุด เพราะมันเป็นวัตถุอันหนึ่ง จิตเป็นสสารตัวหนึ่ง ธาตุรู้เป็นธาตุหนึ่ง ธาตุตัวนี้มันไม่มีวันบุบสลาย สสารบางอย่างย่อยสลายแล้วยังแทบมองไม่เห็น แต่มันต้องแปรสภาพไปตลอด เห็นไหม จิตนี้ไม่มีวันบุบสลาย ต้องเกิดตายไปตลอด
การเกิดตายมาชาติหนึ่ง เรานี้ก็เกิดตาย เราก็ทุกข์พอแรงแล้ว ในเมื่อมาเกิดแล้วมียาแก้ มีธรรมะพระพุทธเจ้าที่วางไว้เป็นยาแก้การเกิดการตายอันนี้ นี่ไม่มีการตายไง พอกิเลสหลุดออกจากใจแล้ว ไม่มีการตาย ไม่มีการเกิด เพราะการเกิดการตายมีค่าเท่ากันตลอด เกิดและตายมีค่าเท่ากันเลย
แต่ถ้าจิตนี้ยังเป็นจิตอยู่ มันเกิดตายไม่มีค่าเท่ากันหรอก มันเกิดสูง-เกิดต่ำ เกิดต่ำก็เกิดลงนรกไปเลย เกิดสูงก็เกิดเป็นเทวดาไปเลย เกิดเป็นมนุษย์ก็มีโอกาสประพฤติปฏิบัตินี่ไง เห็นไหม ค่ามันไม่เท่ากัน แต่จิตที่เข้าถึงความว่างแล้วค่ามันเท่ากัน เพราะมันไม่แปรสภาพอีกแล้ว
การเกิดการตายคือการให้ค่า การเกิด สิ่งที่เกิดมามีความสุข มีความอบอุ่น การตายคือการจาก คือการพลัดพราก คือความทุกข์ใจ คือการอ้างว้าง แต่พอไม่มีตัวเข้ามาให้ค่า ไม่มีตัวเก็บข้อมูล ไม่มีผู้มาให้ความสูง-ความต่ำ การเกิดการตายนี้ไม่มีค่า เพราะได้เป็นความว่างที่ไม่มีผู้เก็บข้อมูล ข้อมูลโดนทำลายหมดแล้ว ไม่มีตัวตน ว่างนี้ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ความว่าง มันถึงไม่มีค่า ไม่มีอะไรเกิดและไม่มีอะไรตาย ตั้งแต่ที่เป็นความว่างแท้
จิตทุกดวงมีโอกาสเข้าถึงความว่างอันนั้นได้หมดเลย แต่เราจะขับเคลื่อนจิตเราไปตรงไหน เห็นไหม จากความว่างที่เป็นพื้นฐานเลย ตัวตนเต็มๆ ตัวตนเต็มๆ เพราะอะไร เพราะไม่ได้ชำระสะสางใดๆ ทั้งสิ้น ถึงว่าเป็นยานอวกาศขับเคลื่อนขึ้นไปขนาดไหนก็ต้องตกมายังโลก ความว่างขนาดไหนมันก็กลับมาเสื่อมหมด กลับมาเป็นจิตปกติหมด จะว่าง จะรู้ พฤติกรรมขนาดไหนก็แล้วแต่ จะต้องกลับมาตรงนี้เลย เห็นไหม ความว่างอันนี้มีตัวตนเต็มๆ กิเลสล้วนๆ ด้วย กิเลสพร้อมกับตัวตนนะ ตัวตนที่สกปรกโสโครก เพราะกิเลสเป็นคนขับไส
แต่ความว่างระหว่างการก้าวเดินด้วยปัญญานี้มีตัวตน แต่ตัวตนด้วยมรรคอริยสัจจัง มรรคเครื่องดำเนิน เห็นไหม ถ้าไม่มีตัวตนขับเคลื่อน ยานอวกาศไม่มีผู้บังคับ มันจะไปไหน การบังคับยานอวกาศให้เข้าไปถึงความว่างแท้ มันมีตัวตน แต่ตัวตนนี้เป็นบวก ตัวตนนี้เป็นมรรคอริยสัจจัง นี่ขับเคลื่อนขึ้นไปสู่ความสูงขึ้น เป็นความว่างที่ละเอียดขึ้น ตัวตนนี้เป็นตัวตนบวก
กับตัวตนลบ ลบด้วย ปัด ตัดแข้งตัดขาตัวเองด้วย เห็นไหม ลบก็ตัวตนหนึ่ง กิเลสทำสิ่งที่พอใจ กิเลสให้ค่าตัวเอง เป็นการด้นเดา เป็นการเพิ่มค่า ให้ค่าตัวเองโดยที่มันไม่มีค่าในความเป็นจริง นี่มันให้ค่าตัวมันเองแน่นอน แต่มันไม่มีค่าตามความเป็นจริง แล้วมันต้องเสื่อมสภาพ ถึงว่ามันมีตัวตนด้วย มีกิเลสด้วย แล้วมันทำลายตัวมันเองด้วย ทำลายโอกาสในการประพฤติปฏิบัติไง โอกาสนั้นควรจะเป็นแง่บวก แต่มันมีโอกาสแล้วมันก็ทำลายให้เป็นแง่ลบ แล้วถ้ายกขึ้น เชื่อฟังตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มันจะให้เป็นแง่บวก เป็นมรรคอริยสัจจัง มีตัวตน ตัวตนนี้เป็นตัวตนที่ทำลายกิเลส ไม่ได้ทำลายธรรม
ธรรมเท่านั้นเป็นเครื่องชำระล้างกิเลส ธรรมเท่านั้น! กิเลสมันกลัวธรรมเท่านั้น ธรรมนี้ขับเคลื่อนขึ้นด้วยปัญญา มีแรงหนุนจากสมาธิ แต่ก็ต้องขับเคลื่อนด้วยปัญญา ปัญญาตัวนั้นเป็นผู้ชำระกิเลส ตัวตนตัวขับเคลื่อนนี้ ถึงมีตัวตนอยู่ก็ขับเคลื่อนในแง่บวก
เห็นไหม ตัวตนตัวหนึ่งขับเคลื่อนในแง่ลบ ตัวตนตัวหนึ่งขับเคลื่อนในแง่บวก ขับเคลื่อนขึ้นไปๆ จนหมดตัวตน ตัวตนนั้นก็ต้องทำลายตัวมันเอง จิตนี้ต้องทำลายซะ ถ้าไม่ยอมทำลายจิต กลัวจิตจะเจ็บ ตัวจิตนี้เป็นเรา เรานี้เป็นกิเลส เห็นไหม ถึงจะขับเคลื่อน เพราะมันมีกิเลสตัวที่ลึกเข้าไป เราเห็นด้วยว่าเราว่าง เรามีสมบัติ เราทำลายสมบัติของเราแล้วเราจะไม่ได้สมบัติที่สูงขึ้น
เรามีเช็ค เช็คนี้เป็นกระดาษ เราไปธนาคาร เราเบิก เราก็ได้เงินสด แต่ถ้าเรามีเช็ค เราไม่กล้าเอาเช็คนี้ไปแลกเงินสด แล้วเราจะเอาเงินสดมาจากไหน เรามีตัวตน เราไม่กล้าทำลายตัวตน ตัวตนนั้นมันหยาบ ตัวตนนั้นไม่ละเอียดเข้าไป เราไม่ยอมทำลายตัวตน เราก็ไม่ได้ตัวตนที่ละเอียดขึ้น นี่มรรคหยาบกับมรรคที่ละเอียดขึ้น
ถ้าเรากล้า เราฮึกเหิม เราต้องทำลายตัวตนตัวนี้ ต้องทำลายความหยาบนี้! ความหยาบนั้นโดนทำลายไป มันจะเกิดปฏิกิริยาใหม่เป็นความละเอียดขึ้นๆ ความว่างจะละเอียดขึ้นไปๆ ละเอียดจนไปถึงความว่างที่เป็นตัวตนตัวสุดท้าย ตัวนั้นมันเป็นตัวตนจริงๆ แล้วมันก็อยู่ในตัวมันเอง ความว่างสุดท้ายนั้นก็ต้องทำลาย ต้องทำลาย
ถ้าไม่ทำลาย ไอ้ตัวตนตัวนั้นมันจะออกมาบอกว่า ว่าง ว่าง ว่าง มันจะเที่ยวโพนทะนาว่ามันเป็นความว่าง ถ้ามันเที่ยวโพนทะนาอยู่ มันเที่ยว ฟังสิ! มันเที่ยวโพนทะนาตัวมันเองอยู่ โพนทะนาที่ไหน? มันโพนทะนากลางหัวใจเรานั่นล่ะ เพราะเวลาปฏิบัติ เรานั่งสมาธิเข้าไป เราทำ เราประพฤติปฏิบัติเข้าไป มันจะพูดออกมา มันจะออกมา เป็นธรรม ระเบิดออกมา มันจะออกมา มันบอกในหัวใจนั่นล่ะ ต้องถามที่ใจเรา ไม่ต้องถามที่ใครนะ
ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนรู้สึก ตนต้องรู้ตัวตน ตนหลอกตัวเองไม่ได้ ตนจะสุขจะทุกข์อยู่ที่ข้างใน ตนเท่านั้น! ฉะนั้น ความเป็นจริงข้างในก็ตนเท่านั้น การประกาศก็ประกาศตนเท่านั้น ถ้าตนประกาศได้ก่อน ตนขลังก่อน ตนรู้จริงก่อน เห็นไหม ตนรู้จริงแล้ว ตนเห็นจริงตามความเป็นจริง แล้วใครจะมีประโยชน์ ใครจะได้ประโยชน์
ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนก่อนแล้วถึงเป็นประโยชน์ทั่วๆ ไป ถึงเป็นประโยชน์ทั้ง ๓ โลกธาตุ
ถ้าทำใจเรานี้เป็นสาระ เห็นไหม จากสิ่งที่เขาเห็นว่าไม่เป็นสาระ เรากลับมาเห็นเป็นของเป็นสาระ แล้วเราทำใจของเราเป็นสาระ สาระจนประเสริฐสุด
ไม่ต้องมาบอก ไม่ต้องประกาศ เพราะใจถึงใจ ใจรู้ใจ
ผู้เห็น ผู้รู้ ต้องบอก ผู้เห็น ผู้รู้ สะเทือนนะ สะเทือนโลกธาตุ สะเทือนไปหมด เพราะใจหลอกใจไม่ได้ ความเห็นภายในเป็นเหมือนกัน พระพุทธเจ้าถึงไม่พูดก่อน ถ้าลูกศิษย์มาพูดปั๊บ พระพุทธเจ้าจะประกันว่า นี่! เหมือนกับเราเคยเห็น เราเคยเป็น เราเคย แต่ไม่พูด เพราะยังไม่เข้ามาประสานกัน ไม่เข้ามาเป็นพยานกัน นี่ความเป็นพยานกัน
ความเป็นสากล ความเป็นจริง ความว่างแท้ที่ไม่มีตัวตน ไม่ต้องเอาตัวตนมาเป็นเครื่องยืนยัน ถึงว่าเป็นความว่างแท้ ความว่างแท้ไม่ใช่เรา ความว่างแท้ไม่ใช่ตน ตนไม่มีในความว่างนั้น อันนั้นถึงที่สุด เป็นความว่างที่เป็นที่ปรารถนา เป็นยอดปรารถนาของผู้ปฏิบัติทั้งหมด แต่ต้องให้เป็นตามความเป็นจริงของความว่างนั้น อย่าไปให้ค่า การให้ค่าต้องทำใจไว้เลยว่านั่นคือมีเราแล้ว
ต้องกลับมาตรวจสอบ ต้องตรวจสอบ ต้องทำลาย เพราะว่าการตรวจสอบ การทำลายนั้นจะเป็นประโยชน์ในการประพฤติปฏิบัติทั้งหมดเลย เพราะมันเป็นการก้าวเดินทางปัญญา นี่การก้าวเดินทางปัญญา
ทางนี้อีกไกลแสนไกล แต่มีวันสิ้นสุดได้ ถึงไกลแสนไกลขนาดไหน พระพุทธเจ้าประกันเอาไว้เลย ผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติธรรมตามความเป็นจริง ปฏิบัติธรรมถูกต้องตามความเป็นธรรม ไม่เกิน ๗ ปี ไม่เกิน ๗ เดือน ไม่เกิน ๗ วัน เห็นไหม ถ้า ๗ วันไม่ได้ ๗ เดือนต้องได้ ถ้า ๗ เดือนไม่ได้ ๗ ปีต้องได้ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี พระพุทธเจ้าประกันไว้เลย
เหมือนกับทางโลก ทางโลกเขายังมีการประกัน มีการค้ำประกันกัน นี่พระพุทธเจ้าค้ำประกันไว้กับหลักของศาสนา หลักของศาสนาวางไว้ ศาสนธรรมวางไว้ตามความเป็นจริงอยู่แล้ว แล้วค้ำประกันอีกชั้นหนึ่งด้วย ในเนื้อหาของธรรมนั้นค้ำประกันธรรมนั้นเลยว่า ประพฤติปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แล้วเราผู้ปฏิบัติทำไมไม่มุมานะ ผู้ปฏิบัติถึงไม่เข้าถึงความเป็นจริง
ถ้าเข้าถึงความเป็นจริงถึงจะรู้ว่า เออ! ว่าง ๑ ว่าง ๒ ว่าง ๓ มันเป็นตามความเป็นจริงขนาดไหน ปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน ปัจจัตตังในหัวใจเลย หัวใจนี้เป็นปัจจัตตัง หัวใจนี้เป็นธรรมทั้งแท่ง เอโก ธมฺโม เอวัง
เพิ่มเติมท้ายกัณฑ์
ถ้าเราจะเห็นประโยชน์กับเขา คือว่าไม่ให้แหยงไง ถ้าเขานั่ง สมมุติว่าเราจะเอาประโยชน์เราเลย จริงอยู่นะ ถ้าไปขนาดนั้นแล้ว เขาพลิกแย่อยู่แล้ว เขาพลิกนะ คนนั้นพลิกอยู่ แย่อยู่แล้ว ถ้าเราไปบังคับแล้วเราเฉย เขาก็ทนได้ แต่ความเข็ดของใจ มันเข็ด เข็ดเขี้ยว พอเข็ดเขี้ยวนี่มันจะแหยง แล้วมันจะไม่ได้ประโยชน์ ถ้าเห็นเป็นอย่างนั้นแล้วเราปล่อยเลย อ้าว! เอาแค่นั้นก่อน เห็นไหม คนนั้นก็ เฮ้อ! ค่อยยังชั่วหน่อย แล้วจะกลับมาทำอีก ยังพอจะทำได้ จะทำได้ต่อไป นี่ระดับนั้นนะ
แต่ระดับกลางขึ้นมาอย่างนี้ ถ้าประเภทนั่งไป ปวดก็ต้องทน การปวด สมมุติเวทนาเกิด แล้วเราทนอยู่ เราทนนะ คนนี้มีปัญญาทนเอา อันนี้ไม่ใช่มรรค อันนี้เป็นขันติ ถ้าเวทนาเกิดขึ้น เราพุทโธๆๆ กำหนดใจออกไป กำหนดใจออกจากเวทนานั้นมา เราไม่ต่อสู้ในเวทนานั้น อันนี้เป็นขันติ เป็นความอดทนไว้เฉยๆ นี่ระดับกลางขึ้นมา
จากระดับเริ่มต้น เวทนามาแล้วเราจะพลิกหนี พลิกหนีบ้าง เห็นไหม อย่างพลิกขยับให้เวทนาคลายตัวลง นี่ผู้เริ่มทำ เพราะผู้เริ่มทำหรือผู้ทำมานานก็แล้วแต่ เวทนาก็คือเวทนา แล้วแต่ว่ามันจะประสบทุกคน แต่ถ้าผู้ที่เริ่มต้นมามีเวทนา เราขยับเลย เพื่อจะให้มีกำลังใจ หรือว่า อ้อ! มีทางออก เพื่อไม่ให้เข็ดเขี้ยวจนเกินไป แล้วพอมันพัฒนาขึ้นมา จิตมันสูงขึ้นมา พอเวทนามาต้องต่อสู้ การต่อสู้กับเวทนานั้นมันจะเริ่มเป็นประโยชน์สูงขึ้น การพัฒนาใจ หัวใจสูงขึ้นมา
เด็กทำงานแบบเด็ก ผู้ใหญ่ทำงานแบบผู้ใหญ่ ปัญญาชนที่เป็นผู้บริหารทำงานแบบผู้บริหาร สมมุติว่าเวทนามา เริ่มต้นจะให้สูงขึ้นมา ถ้ามันยังเด็กอยู่ มันก็จะหลบตลอดไปใช่ไหม พอเวทนามา ขยับเลย ใหม่ๆ มา เวทนานี่หลบได้ไหม? ได้ เริ่มต้น เพื่อให้ผ่อนคลาย
แต่พอระดับสูงขึ้นไป เวทนาหลบได้ไหม? ไม่ควรหลบ ควรสู้ ถ้าหลบตลอดไป มันก็จะเป็นนักหลบตลอดไป ไม่ใช่นักรบ แต่ถ้าจะเป็นนักรบเลย กำลังไม่พอ รบก็รบไม่ไหว กองทัพนั้นจะไม่สู้เลย ถึงจุดหนึ่งยังรบไม่ได้ หลบ
ถึงจุดหนึ่งต้องเป็นนักรบ ต้องรบ พอต้องรบ ยังรบไม่เป็น รบไม่เป็นก็เวทนาสักแต่ว่า ไม่ได้พิจารณานะ พุทโธๆๆ พอเวทนาเกิดปุ๊บ พุทโธเลย กำหนดพุทโธให้ออกมาจากการรับรู้เวทนานั้นมาอยู่ที่พุทโธ อันนี้ไม่ใช่การต่อสู้
การต่อสู้ การทำสงคราม ไหนเวทนา เวทนาเป็นแบบไหน ไหนเจ็บ เจ็บอยู่ที่ไหน...เจ็บเป็นสองเท่าเลย เพราะ ไหนเจ็บ ไปคุ้ยหามัน ไฟนี่เติมเชื้อเข้าไป ไฟมันจะลุกทันทีเลย ลุกขึ้นมาเลย ต้องสู้ เจ็บ อะไรเจ็บ มันต้องคิด ถ้าคิดถึงจุดหนึ่งนะ การคิดการใคร่ครวญ ถ้ากำลังพอนะ ถึงจุดหนึ่งใคร่ครวญ มันจะ โอ้โฮ! แรงขึ้นๆ กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว แยกออกเลย
เพราะว่าความยึด ใจมันเหมือนกับอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น เสื้อนี้เป็นเรา โอ้โฮ! ตัวนี้ ๕ แสน เสื้อนี้แพงมาก โอ้โฮ! รักมาก พอเสื้อนี้ให้คนอื่นไป ไปไหน...นี่จะให้ดูความยึดของใจไง ถ้าเรารักเสื้อตัวนี้ เรารักตัวนี้ โอ้โฮ! ใครมาแตะไม่ได้นะ มันหวงมันแหนตลอดเลย แต่เราสละออกไป เราให้คนอื่นไป ก็เสื้อตัวเก่า ทำไมเราไม่ตามไปหวงอีกล่ะ
เวทนาเหมือนกัน ถ้าเวทนาเป็นเรา คือมันกำลังหวงแหน เวทนานี้มันกำลังเกาะเกี่ยวกันอยู่ มันลุกเป็นไฟเลย แต่ถ้ามันเข้าใจตามความเป็นจริง มันปล่อยผลัวะ! นี่ที่ว่าขาด มันจะปล่อยผลัวะ! เหมือนกับเสื้อที่เราให้คนอื่นไป เวทนาสักแต่ว่าเวทนา หายผลัวะ! จิตรวมลง เวทนาไม่มี
เวทนาเกิดเพราะยึด เวทนาเกิดเพราะเราไปยึดมัน เราไปรับรู้มัน มันเป็นนามธรรมทั้งหมด จิตนี้เป็นจิต เวทนาเป็นเวทนา กายเป็นกาย แยกออกหมดเลย ถ้ามันแยกได้นะ จิตมีเพราะยึด เวลาเวทนามาเต็มที่เลย เวลามันรวมปั๊บ! รวมเดี๋ยวนั้นนะ เวทนาหายเดี๋ยวนั้นนะ มันไปไหน อ้าว! ว่ามาสิ เวลารวมปั๊บ ถึงว่าเราฝึกอยู่เต็มที่เลย มีการพิจารณาอย่างเต็มที่เลย พอจิตมันรวมลง มันต่อสู้เวทนา ชนะเวทนา เวทนาหลุด จิตรวมลง สุขด้วยนะ รวมลงด้วย ๒ ชั้น แล้วเวทนาไปไหน
ถึงบอกว่ามันยึด แต่มันต้องเป็นตามความเป็นจริง ไม่ใช่เป็นไปตามความคาด แต่ที่พูดนี้พูดเพราะว่า ที่ว่าเวทนา เข้าใจเวทนา มันเข้าใจอย่างนี้ไง ถึงบอก ถ้าเวทนานะ เวลาต่อสู้อย่างนี้ ต่อสู้อย่างที่ว่า บางทีต่อสู้นะ จิตมันกำลังไม่พอ ที่ว่าเวทนามีเพราะยึด ถ้ามันรวมแล้วมันหาย มันหายไปไหน
พอรวมปั๊บ เหมือนกับเสื้อตัวนี้แพงมากใช่ไหม ของเรานี่ โอ้โฮ! รักมากเลย ให้คนอื่นไป มันขาดไปแล้ว แต่บางทีให้คนอื่นไปแล้วก็คิดเสียดาย เอ! ก็เสื้อเรา ก็น่าจะเก็บเอาไว้ก่อน ก็ยังใช้ได้อยู่ เวทนาเป็นอย่างนี้เหมือนกัน เวลาพิจารณาไปๆ ถ้ามันขาดมันก็ขาด ถ้ามันไม่ขาดเดี๋ยวก็ว่า เอ! เสื้อ... ยังกังวลอยู่ไง
พิจารณาไป มันมีแรง กำลังมีอยู่ ธรรมหมุนไปอยู่ ปัญญาก้าวเดินอยู่ แต่ไม่ขาด มันไม่ขาด มันชาหมดเลยนะ นี่เวทนาสักแต่ว่าเวทนา เราสักว่าเรา สักว่า แต่ไม่รวมลง มันก็เหมือนอารมณ์ข้างนอกนี่ล่ะ แต่ข้างนอกนี้เป็นข้างนอกที่ทำไป โอ้โลมข้างนอกที่เราเป็นไปในเรื่องเวทนามันเป็นสัญชาตญาณ แต่อย่างที่เราพูดหรือว่าปฏิบัติไปมันไม่ใช่อารมณ์สัญชาตญาณ มันเป็นอารมณ์ที่เราเดินอริยมรรคเข้าไปเชือดเฉือน อารมณ์สัญชาตญาณคืออารมณ์ที่เราไปห่วงกังวลใช่ไหม มันเป็นสัญชาตญาณตามความเป็นจริง ตามความกิเลส ว่าอย่างนั้นเลย อย่างที่ว่าเราหวงเสื้อๆ อันนี้เวทนาก็เหมือนกัน
แต่ถ้าเป็นความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่สัญชาตญาณ มันเป็นปัญญาที่เกิดขึ้น เป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากอริยมรรค หันเข้าไปตัดกิเลสที่ว่า ภพของใจที่ว่าออกมาติดกับความว่างนั่นล่ะ มันต้องเชือดกันที่นี่ นี่เวทนาไง
ทีนี้เห็นว่าเขาเป็นผู้มาใหม่ถึงไม่อยากจะแรง กลัวเขาจะแหยง อันนี้ถ้าบอกว่าผู้นั้นทำอย่างนั้น ไอ้คนกลางก็จะเอาอย่างนั้น...ไม่ได้ คนกลางต้องสู้ระดับกลางขึ้นมา ถ้าระดับสู้ต้องสู้เต็มๆ มันถึงจะได้พัฒนาใจสูงขึ้นไปเรื่อยๆ
ฉะนั้น ถึงบอกจะขออย่างนั้น...เออ! รู้กัน รู้กันว่าถ้าออกแล้วก็จะให้นั่งต่อไป ก็จะบอกว่า เออ! พักนะ เลิก แล้วใครจะออกก็ส่วนคนออก ไอ้คนที่จะไม่ออกก็ไม่ออก ก็นั่งอีกสักพักหนึ่งอย่างนั้นก็ได้ จะบอกว่าให้นั่งกันหมดเลย ไอ้คนที่เขาแหยงอยู่มันก็จะเจ็บ นี่พูดภาษาเรา เหตุผลอันนั้นมาก็พูด ฟัง อันนี้ก็พูดกลับไปให้ฟังเท่านั้นเอง บางทีเวลาอย่างนั้นถึงได้คิดมากๆ
ตอนมาใหม่ๆ พวกนี้ยังไม่รู้ ตอนมาใหม่ๆ เห็นไหม ๓-๔ ชั่วโมง อยู่ข้างนอกน่ะ มาใหม่ๆ นี่ ๓-๔ ชั่วโมง เพราะเดิมเราปฏิบัติ เรื่องนี้ปกติ มาใหม่ๆ นั่งที ๓-๔ ชั่วโมงนะ แล้วก็ลดลงเรื่อยๆ ใหม่ๆ มานี่ไฟแรง เอากันที ๓-๔ ชั่วโมง แล้วอาจารย์สั่งมาด้วย อาจารย์สั่งมาเลย อาจารย์เจี๊ยะสั่งมาว่า ศาลานี้สร้างมาเพื่อประโยชน์ทั่วๆ ไป เพราะเห็นว่าหวง ไม่ให้ใครเข้าไง สั่งมาเลย ยิ่งสั่งมาด้วย แล้วเรา ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมงนะ ตอนนั้นอยู่ข้างนอก แล้วมาลดลงๆ เราเองยังสะท้อนใจ เวลาทำไปๆ อยู่ข้างนอกนะ ภาวนาน้อยลงๆ
ธรรมดาเพราะเราเป็นคนดูเอง เอา ๓ ชั่วโมง เพราะปกติก่อนที่จะมาภาวนากันนี่ ๓ ชั่วโมงนี้เป็นของปกตินะ ๔-๕ ชั่วโมง
(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)