เทศน์บนศาลา

ศาสนาเสื่อม

๒๖ ธ.ค. ๒๕๔๗

 

ศาสนาเสื่อม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ภาวนานะ ตั้งใจ ตั้งใจฟังธรรม ธรรมกล่อมใจไง ธรรมนี่เป็นเสียง เสียงเทศน์ เสียงเทศนาว่าการมันเป็นธรรมได้อย่างไรล่ะ เวลาเสียงโยมเขาพูดคุยกันมันเป็นธรรมไหม เสียงที่เขาพูดคุยกันนั้นมันเป็นเสียงโลก เพราะออกมาจากหัวใจของคนที่เป็นโลก แต่ที่เป็นธรรมนี้เพราะเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าผู้แสดงธรรมนั้นเป็นโลก แต่ถ้าผู้แสดงธรรมนั้นเป็นธรรมไง นี่ถึงว่าฟังธรรม กิริยาของธรรม คือออกมาจากใจดวงนั้นไง ใจดวงนั้นเป็นธรรมนะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมโคนต้นโพธิ์นะ ขณะที่องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม สังคมสังฆะยังไม่มี แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเป็นองค์แรกของโลก แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธัมมจักฯ แสดงธัมมจักฯ กับปัญจวัคคีย์ เทวดาส่งข่าวต่อๆ กันขึ้นไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประกาศธรรมนะ ธรรมจักร ธรรมจักรนี้ได้เคลื่อนไปแล้ว ไม่มีใครสามารถ ใครจะต่อต้านได้ นี่เวลาว่าไม่มีใครสามารถจะต่อต้านได้คือไม่มีการขัดแย้งกับธรรมจักรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ นี้คือกิริยาของธรรมนะ แล้วธรรมในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ฆ่าพญามารมาแล้ว

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราเห็นตัวเจ้าแล้ว ได้ทำลายเรือนยอดของเจ้าแล้ว เจ้าจะเกิดจากดวงใจของเราอีกไม่ได้เลย”

สิ่งที่เป็นธรรมในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายิ่งไม่มีใครจะเข้าไปโต้แย้งได้ แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมออกมาแล้วใครจะไปโต้แย้งสิ่งนั้นได้ สิ่งนี้โต้แย้งไม่ได้ นั่นคือสภาวธรรม ธรรมไม่เคยเสื่อม ธรรมไม่เคยแปรปรวน สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ธรรมนี้มีอยู่แล้ว” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าไปตรัสรู้ธรรมนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ที่ตรัสรู้มาก่อนหน้านั้น พระศรีอริยเมตไตรย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากอนาคตที่จะมาตรัสรู้ก็จะมาตรัสรู้ธรรมอันนี้ สภาวธรรมอันนี้มีอยู่แล้ว

ถึงว่าเวลาเทศนาว่าการเป็นการฟังธรรม ฟังธรรมอย่างนี้มันไม่มีพิษ มันไม่มีภัย มันเข้าไปกล่อมใจให้เรามีความสุข ใจของเรามันดื้อด้าน ใจของเรา ทุกคนรักนวลสงวนตัวว่าสิ่งที่เป็นของเรานี้ จะต้องเป็นสิ่งที่ดีงาม เราว่าเรานี่ถูกต้องไปทั้งหมดเลย แต่กิเลสมันดื้อด้านอยู่ในหัวใจของเรา สิ่งที่เข้าไปสะเทือนมัน สิ่งที่เข้าไปปลุกเร้ามัน เรื่องของโลก เรื่องของสังคม สิ่งที่สังคมเข้าไปปลุกเร้าสิ่งนี้ให้มันมีพิษมีภัยไง

ในสังคมเขาต้องการสิ่งที่เป็นลาภ เป็นสักการะ เป็นความสรรเสริญ เป็นการเยินยอ สิ่งนี้เป็นความสุข เป็นสิ่งที่เป็นเหยื่อของกิเลส กิเลสมันต้องการสิ่งนี้เข้าไปปรนเปรอมันนะ สิ่งนี้เข้าไปปรนเปรอมัน ทำให้กิเลสมันฟูในหัวใจของสัตว์โลกไง แล้วเราว่าเราเป็นคนรักนวลสงวนตัว เรารักหัวใจของเรา เรารักเราทั้งหมด แต่เราเอาความเป็นพิษเป็นภัยเข้าไปทับถมให้กิเลสนี้มันพองตัวในหัวใจของเรา แล้วมันเป็นนามธรรมที่ไม่มีใครเห็น

สิ่งที่ไม่มีใครเห็น มันก็คิด มันก็จินตนาการของมันด้วยความพอใจของมัน มันคิดว่าไม่มีใครรู้นะ สิ่งที่ไม่มีใครรู้ เพราะมันเป็นนามธรรมในหัวใจของเรา เป็นความลับของเราไง ความลับไม่มีในโลกหรอก เราคิดของเรา เราก็รู้ของเรา สิ่งที่มันเกิดขึ้นมาในหัวใจ กิเลสมันพองตัวขึ้นมา เราคิดจินตนาการของเราไป ทั้งๆ ที่ว่าเราอยู่ในคราบของนักบวชนะ เราเป็นพระ เราเป็นสงฆ์ เราเป็นอยู่ในสังคมของสงฆ์

นี่สังคมที่มันเสื่อม มันเสื่อมเพราะเหตุจากภายนอกนะ สังคมมันเสื่อมเพราะสิ่งที่สังคมรวมตัวขึ้นมา เป็นสังฆะ เป็นสังคมนั้น แล้วมันเสื่อมไป สังคมเสื่อม แล้วโลก กิเลสตัณหาความทะยานอยากนั้น มันต้องการสิ่งเป็นผลประโยชน์ของมัน มันก็เข้าอาศัยสิ่งนั้นแสวงหาผลประโยชน์จากความเสื่อมของสังคมนั้น สังคมนั้นจะเสื่อมสภาวะไปเพราะสิ่งที่เป็นธุรกิจ สิ่งที่เขาต้องการหาผลประโยชน์ของเขา นี่เขาหาผลประโยชน์

อบายมุขเป็นสิ่งที่เป็นความเศร้าหมอง อบายมุขนี้เป็นสิ่งที่ว่าให้โทษกับหัวใจทุกดวงใจ เพราะมันเป็นสิ่งที่ให้เป็นโทษ แต่กิเลสมันชอบ นี่ตั้งบริษัท ตั้งห้างร้านขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ของตัว แล้วก็เรียกร้องกันว่าสังคมเสื่อมๆ เสื่อมแล้วทำไมกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันไปตักตวงเอาผลประโยชน์จากความเสื่อมนั้นล่ะ สิ่งที่สังคมเสื่อมสภาวะแบบนั้นเพราะเราเข้าไปทำธุรกิจเพื่อผลประโยชน์ของเรา เราเอาแต่ผลประโยชน์ของเราเพื่อให้สังคมนั้นเสื่อมทรามไป สิ่งที่เสื่อมทรามไปนั้นเป็นสังคมนะ แล้วเราก็เรียกร้องกัน

เวลาเราเรียกร้องกัน เราสัมมนากันว่าเราต้องการส่งเสริม เราต้องการให้สังคมนั้นมั่นคง ทำให้ลูกหลานของเรามีความสุขความเจริญให้ลูกหลานของเรา นี่เวลาเรียกร้องกัน เรียกร้องสิ่งนั้น ปรารถนาสิ่งที่คุณงามความดี แต่เวลากิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันเห็นแก่ตัว มันอยากได้ผลประโยชน์ เห็นไหม อาศัยความเสื่อม สิ่งที่สังคมเสื่อม มันเก็บตวงผลประโยชน์จากความเสื่อมนั้น ตักตวงผลประโยชน์จากความเสื่อมนั้น แล้วสิ่งที่การกระทำของเขามันก็ให้ผลกับสังคม ให้มันเสื่อมทรามไป เสื่อมทรามไป สิ่งที่เสื่อมทรามไปนั้นเป็นเรื่องของสังคมนะ

แล้วเรื่องของใจล่ะ ถ้าเรื่องของใจ มันมีความเป็นอย่างนั้น คนเราถ้าเราฝึกฝนของเราขึ้นมา คนๆ นั้นเป็นคนดีได้นะ คนๆ นั้นจะยับยั้งชั่งใจของเราได้ จะไม่ไปตามกระแสของโลก สิ่งที่กระแสของโลก ใจมันต้องการสภาวะแบบนั้นอยู่แล้ว เพราะรูป รส กลิ่น เสียงมันเป็นเหยื่อ มันเป็นพวงดอกไม้แห่งมาร สิ่งที่พวงดอกไม้แห่งมารมันเข้ากับกิเลสตัณหาความทะยานอยากของใจ สิ่งที่กิเลสตัณหาความทะยานอยากของใจมันดิ้นอยู่ในหัวใจ แล้วมันก็จะหาเหยื่อของมัน มันก็ต้องการรูป รส กลิ่น เสียง ต้องการความสัมผัสของมัน นี้ต้องการความสัมผัสนี้เป็นความต้องการ สิ่งที่ยังไม่สัมผัสมันก็ดิ้นรนอยู่ในใจก่อนไง

ในหัวใจเร่าร้อน ในหัวใจมันดิ้นรน ในหัวใจต้องการแสวงหาสิ่งนั้น ในเมื่อต้องการแสวงหาสิ่งนั้นมันก็เบียดเบียนใจของตัวเองก่อน แล้วมันก็ต้องแสวงหาสิ่งข้างนอกที่ไปปรนเปรอมันไง จะเบียดเบียน จะเอารัดเอาเปรียบใคร มันก็ไม่ได้คิดว่ามันเอารัดเอาเปรียบใครนะ เพราะมันต้องการเพื่อน...ความพอใจของตัณหาความทะยานอยาก สิ่งที่ตัณหาความทะยานอยาก มันเกิดมาจากไหน มันเกิดจากภายใน นี่ไง มันจะเสื่อมไปเรื่อยๆ เพราะมันเสพสุข เสพสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยในหัวใจนั้น แล้วทำให้เสียหายไป

เรามีลูกมีหลานแล้วลูกหลานของเรามันเป็นคนใจแตก เป็นคนที่ว่าควบคุมไม่ได้ เราเป็นพ่อเป็นแม่ เราจะมีความทุกข์ร้อนขนาดไหน แล้วหัวใจของเรา มันไม่มีสติ ไม่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าควบคุม มันก็เป็นใจที่แตก เป็นสิ่งที่มันแสวงหาตามโลกของเขา นี่ธรรมไม่มีในหัวใจไง ถ้ามีธรรมยับยั้ง พ่อแม่เกิด เห็นไหม พ่อแม่รักษาลูก นี่ก็เหมือนกัน “สติ” ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรักษาเรา

“ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะย่อมคุ้มครอง”

เรามีศีล ถ้าเรามีศีล ๕ เราจะไม่ทำผิดกฎหมาย เราจะไม่สร้างศัตรู จะเป็นคนดี ผู้มีศีล “กลิ่นของศีลหอมทวนลม”

เราเป็นพระเป็นเจ้า ถ้าเรามีศีลของเรา เรามีความละอายของเรา มีสติสัมปชัญญะ การเคลื่อนไหว การดำรงชีวิต การเคลื่อนไหวไปมีสติ มันดูงามตานะ มันดูงามตาเพราะมีสติสัมปชัญญะ การเคลื่อนไปจะไม่มีความผิดพลาด แต่ในเมื่อขาดสติเห็นไหม ในเมื่อขาดสติมันเป็นไป การเคลื่อนไหวมันก็ไม่สวยงามอยู่แล้ว ๑ แล้วความคิดตัณหาความทะยานอยากมันจะแทรกออกมาเพราะขาดสติ ถ้ามีสติสิ่งนี้เกิดไม่ได้นะ สิ่งที่ตัณหาความทะยานอยากที่มันจะคิดออกมา คิดไม่ได้หรอก เพราะสติกดมันไว้ ถ้ามีสติมันจะกดสิ่งนี้ไว้

ถ้ากดสิ่งนี้ ความที่มันจะเคยจินตนาการ เคยกินเหยื่อ เคยคิดด้วยตามความพอใจ มันจะโดนยับยั้งด้วยสติ นี่มีพ่อแม่ “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะย่อมคุ้มครอง” ถ้าเรามีศีลโดยปกติ แล้วเรามีสติ เรามีความคิดของเรา เรามีความละอายเกรงกลัวต่อบาป เราเป็นสุภาพบุรุษ เรามีความซื่อตรงต่อธรรม ถ้าเรามีความซื่อตรงต่อธรรม ธรรมะจะคุ้มครองเรา

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วนะ เราเป็นสาวก-สาวกะผู้ที่สุดท้ายภายหลัง เรามีความน้อยเนื้อต่ำใจนะว่า “เราเป็นลูกกำพร้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพ่อ ศากยบุตร เราเป็นบุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ปรินิพพานไปแล้ว เราเป็นลูกกำพร้า เราเป็นคนที่ว่าว้าเหว่ เราเป็นคนที่ไม่มีความอบอุ่นของใจ”...ก็เราไม่จริงเองน่ะ

ธรรม “อานนท์ ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม โลกนี้จะไม่ว่างจากผู้ทรงธรรมนะ” ผู้มีธรรมในหัวใจจะมีธรรมอยู่ในหัวใจตลอดไป “ผู้ใดปฏิบัติสมควรแก่ธรรม” นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราปฏิบัติของเรา เราต้องหัดสร้างสติของเราสิ เราต้องมีสติ เราต้องไม่มีความประมาท อันนี้อยู่ไปวันๆ หนึ่งน่ะ ดิ้นรนไปวันๆ หนึ่ง กิเลสมันก็ขี่หัว ขี่หัวใจนะ กดถ่วงให้ใจนี้เป็นทุกข์ไปวันๆ หนึ่ง สิ่งที่เป็นวันๆ หนึ่ง

“ใจเสื่อม เสื่อมสภาวะจากธรรม”

ถ้าใจมันเสื่อมสภาวะจากธรรมไปมันมีความทุกข์นะ

ชีวิตนี้คืออะไร?...มันไม่มีหรอก ความสุขในโลกนี้ โลกนี้เร่าร้อนไปด้วยไฟ ทุกคนต้องการอำนาจ ต้องการสิ่งที่มีอำนาจ ทุกคนวิ่งเข้าไปหากองไฟ ไปกอดกองไฟนะ เพราะสิ่งนั้นเป็นสมบัติของโลก สมบัติของโลก แก้วแหวนเงินทอง สิ่งต่างๆ นี้เป็นสมบัติของโลก จะมีมากมีน้อยขนาดไหน เราก็กินแค่ท้องเดียวอิ่มเดียวเท่านั้น เราจะปลูกบ้านปลูกเรือนเราใหญ่โตขนาดไหน เราก็แค่เตียงนอนของเราเตียงเดียวเท่านั้น มันมีเท่านั้นจริงๆ นะ แต่โลกมันต้องการกัน มันแสวงหากัน แล้วก็สิ่งนี้เอามาเผาใจตัวเองก่อน มันเร่าร้อนไง

ถ้าตั้งเป้าแล้วทำไม่สมประโยชน์ของตัว มันก็มีความทุกข์ร้อนนะ

แต่ถ้าผู้มีบุญไง ดูพระเวสสันดรสิ ปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระโพธิสัตว์ สละทั้งหมดนะ แม้แต่สิ่งที่เป็นแก้วแหวนเงินทองก็สละ สละออกแม้แต่ลูก แม้แต่บุตรนะ นี่โลกเราเห็นไหม มันเครื่องความผูกพันระหว่างฝ่ายตรงข้าม จะมีความผูกพันมาก ลูกนี่ใครไม่รัก คู่ครองใครไม่รัก แต่เขาขอไง เขาขอ ต้องสละออก

สละเพื่ออะไร?...สละเพื่อให้มันสะเทือนกิเลส สะเทือนความยึดมั่นถือมั่น “สะเทือน” สิ่งนี้คือการปูทาง ปูทางมาให้เกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ปูทางมาเพื่อจะเข้าถึงโพธิญาณ นี่สละออกทั้งหมดเลย นี่ผู้มีธรรม ผู้มีบุญเกิด สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สละออก แม้แต่เขาสงวนรักษานะ แก้วแหวนเงินทองก็สละได้ สละบ้านสละเมืองก็สละได้ สละแม้แต่ลูกแต่เมียก็สละได้ แล้วทำไมไม่สละตัวเองล่ะ สละตัวเองไม่ได้ เพราะตัวเองมีความมุ่งความดีอยู่ แต่เขาไม่ต้องการตัวเองไง นี้สิ่งคือบุญกุศลไง

บุญกุศลคือการกระทำ เห็นไหม โอกาสในการกระทำ เราเรียกร้องขอโอกาสกันมาก เราอยากขอให้ได้พิสูจน์ว่าความสามารถเรามี เราขอโอกาส สิ่งที่เราขอโอกาส นี้เราขอโอกาสจากสังคม สังคมมีที่ยืนในสังคม ในการหน้าที่การงานต้องมี เรามีตำแหน่งหน้าที่การงาน นั้นเป็นเรื่องของโลก แต่ในเรื่องการปฏิบัติธรรม นี่เรานั่งสิ เรานั่งสมาธิไปนี่โอกาสมันเกิดแล้ว เราเดินจงกรมสิ เราอยู่ในทางจงกรม เรานั่งสมาธิภาวนา โอกาสของเราเกิดตลอดเวลา ทำไมเราปล่อยให้สิ่งที่เป็นความละเอียดอ่อนอย่างนี้พลัดพรากจากโอกาสของเราไป ทำไมไม่มีความขยันหมั่นเพียร ทำไม่มีควบคุมสติ ทำไมเราไม่สร้างพ่อของเราขึ้นมาล่ะ

ธรรมและวินัยไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้แล้ว ท่านปรินิพพานไปแล้ว “ธรรมและวินัยจะเป็นศาสดาของเธอ” ธรรมและวินัย ถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรม แล้วธรรมเกิดขึ้นมาในหัวใจนี่มันอบอุ่นนะ เวลาเกิดสมาธิขึ้นมามันจะมีความสุข มีความอิ่มเอิบอิ่มเอมของใจนะ

เวลาเรากินอาหาร คนหิวกระหายเหลือเกิน แล้วหิวมาก กินข้าวเข้าไปอิ่มท้องจะมีความสุขมาก เดี๋ยวมันก็หิวอีก มันก็ต้องกินของมันตลอดไป แล้วหัวใจมันหิวมาตั้งแต่เกิดนะ เวลาเกิดขึ้นมามันติดเครื่องมา สิ่งที่ติดเครื่องมันคิดมาตลอด ไม่เคยพักเลย นี่เครื่องมันร้อนตลอด แล้วมันพักไม่เป็นไง

ถ้าเราตั้งสติ เรากำหนดพุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราทำสิ่งนี้เข้ามามันจะหยุดได้ไง สิ่งที่หยุดได้ นี่อิ่ม ถ้าใจอิ่ม ความสุขของใจเกิดจากความอิ่มพอของใจ ถ้าอิ่มพอของใจ นี่สัมมาสมาธิ สิ่งที่เป็นสัมมาสมาธินี่เห็นแค่เงานะ สิ่งนี้เป็นเงาไง ถ้าเราไม่ทำให้มันเสื่อมสภาวะไป

เขาว่า “ศาสนาเสื่อมๆ” ศาสนาเสื่อม สังคมเขาเสื่อม เพราะคนเข้าไปตักตวงผลประโยชน์จากสังคมนั้น เอาแต่ผลประโยชน์ของตัว ทำให้สังคมนั้นกระทบกระเทือนไป เพราะการตักตวงผลประโยชน์ การกระทำของตัวเองเข้าไปทำลายสังคมนั้นไง

นี่ก็เหมือนกัน ศาสนาเสื่อม เสื่อมไปจากไหน?...ศาสนาไม่มีวันเสื่อม

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ตั้งแต่โคนต้นโพธิ์นั้น ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสื่อมไปไหน...เสื่อมไปไม่ได้ มันเป็นอกาลิโก มันเป็นอฐานะ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะเสื่อม

แต่ศาสนาเห็นไหม ว่าศาสนาเสื่อม เพราะเราเข้าใจไง นี่พิธีกรรม ศาสนพิธี สิ่งที่ศาสนาเขาทำพิธีกรรมกันเดี๋ยวก็เจือจางไป เดี๋ยวก็ฟื้นฟูกัน นี่ประเพณีวัฒนธรรม ฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรม ส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมเพื่อจะให้คนเข้าถึงธรรม เข้าถึงธรรม...เอาคนผมดำๆ นะ มาเป็นคนส่งเสริมวัฒนธรรม แล้วให้พระทำตาม สิ่งที่พระทำตาม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพุทธวิสัย เป็นผู้ที่มีปัญญามหาศาล มีปัญญามาก แล้ววางธรรมและวินัยไว้ให้เราก้าวเดินตาม ถ้าเราทำ เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะเราเป็นสาวก-สาวกะ เราได้บวชได้เรียนเป็นพระสงฆ์เป็นภิกษุผู้ที่ว่าเป็นนักรบ แล้วทำไมจะไปเชื่อสิ่งที่ว่าเขาเป็นคฤหัสถ์ เขามาบัญชาการในพิธีกรรม ในการประพฤติปฏิบัติ...มันเป็นสิ่งที่น่าคิดนะ เอาคนตาบอดมาจูงคนตาดีได้อย่างไร เอาคนตาบอด เพราะเขาไม่รู้ เขาไม่เคยประพฤติปฏิบัติ แล้วเขาเอามาออกกฎออกระเบียบ นี่ศาสนาเสื่อม

เสื่อมอย่างไรล่ะ?...เสื่อมเพราะสิ่งที่การประพฤติปฏิบัติมันต้องเข้าถึงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยต่างหาก เราจะเข้าถึงธรรมของเรา ถ้าให้มันไปออกกฎออกระเบียบ...นี่ว่าศาสนาเสื่อม แล้วก็ออกกฎออกระเบียบมา สิ่งนี้ทำให้มันเสื่อมออกไป เสื่อมออกจากธรรมไง เคลื่อนออกมาจากธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง

สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้แล้วนี้มันจะเคลื่อนไปไหน ในเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสหนึ่งแล้วไม่มีสอง พูดคำไหนเป็นคำนั้น สิ่งนั้นพระพุทธเจ้ารู้แจ้งโลกนอกและโลกใน คือเหมือนกับแผนที่ไง ถ้าแผนที่เครื่องดำเนินชี้ถูกทาง เราดำเนินตามแผนที่นั้น เราจะเข้าถึงเป้าหมายนั้นได้ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้นี้เป็นแผนที่ไง

แต่เราเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เราก็ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ทำให้มันเสื่อมไง เสื่อมเพราะเรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจ เรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจ เราก็ตีความธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผิดพลาดไป สิ่งที่ผิดพลาดไปเห็นไหม นี่ศาสนาเสื่อม เสื่อมจากมรรค เสื่อมจากวิธีการ

วิธีการประพฤติปฏิบัติ ถ้ามันถูกต้องตามธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันจะเข้ามรรค มรรค ๘ เห็นไหม “สัมมาสมาธิ” สิ่งที่ว่าเป็นสัมมาสมาธินี้มันเป็นพื้นฐานก่อน ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิขึ้นมา ความคิดของเรามันเป็นโลกียะ มันเป็นความเห็นของกิเลส กิเลสพาใช้นะ เราจะร่ำเรียนมาสูงส่งขนาดไหนในโลกนี้ที่สุดวิชาการที่มีทั้งหมด เรียนให้หมดเลย แล้วมาออกมาประพฤติปฏิบัติ วิเคราะห์วิจัยว่ามันจะเป็นธรรมขึ้นมาได้ไหม

มันจะเป็นธรรมขึ้นมาไม่ได้เลย เพราะมันเป็นเรื่องสิ่งที่เป็นความเห็นจากปรัชญา ความเห็นจากตรรกะ ความเห็นจากวิชาการ สิ่งที่เป็นวิชาการนี้ เป็นเรื่องของโลก เกิดจากภวาสวะ เกิดจากฐานของใจนี้รับรู้ออกมา สิ่งที่รับรู้ออกมา เพราะมันมีฐานอันนี้ไปรับรู้สิ่งนอกไป มันไม่เห็นตัวมันไง เหมือนกับเราอยู่ในบ้านเรือนของเรา เราอยู่ในสถานที่ลึกลับแห่งหนึ่ง แล้วเราออกไปค้นคว้า ไปหาของจากภายนอก สิ่งที่ไปหาของจากภายนอก เราจะเห็นตัวตนจากสิ่งที่มันอยู่ในที่ลึกลับนั้นได้ไหม

จิตมันอยู่ในร่างกาย จิตนี้อยู่ในร่างกายของเรา จิตนี้อยู่ในความเห็นของเรา จิตนี้อยู่ในร่างกาย จิตนี้เศร้าหมองอยู่ในภายในนี้ แต่เราไปศึกษาเรื่องจากภายนอกไง สิ่งที่ศึกษาจากเรื่องภายนอกมันเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าไปชำระกิเลสได้ สิ่งที่ชำระกิเลสไม่ได้มันถึงเป็นโลกียะ ปัญญาโลกียะ ปัญญาของโลก สิ่งที่ปัญญาของโลกนี้สืบต่อกันมาเป็นสถิติ เป็นสิ่งที่เจือจานกันมา สิ่งที่ค้นคว้ากันมา นี้เป็นโลกียปัญญา

ถ้าไม่ทำสัมมาสมาธิ ถ้าไม่ย้อนกลับมา แล้วเวลาไปประพฤติปฏิบัติ นี่ศาสนาเสื่อม พิธีการเสื่อม นี่ว่าใช้ปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นมานี้เป็นวิปัสสนา นี่เสื่อมจากธรรมนะ ศาสนาเสื่อม เสื่อมจากวิธีการ เสื่อมจากความเห็นผิด เสื่อมจากกิเลส มันทำให้การประพฤติปฏิบัติมันไขว้เขวออกไปไง เห็นไหม “ใช้ปัญญา นี้คือวิปัสสนา มันจะปล่อยวาง มันจะกว้างมาก”

สิ่งที่เป็นความว่างอย่างนี้ ฤๅษีชีไพรเขาก็ว่างนะ สิ่งที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปประพฤติปฏิบัติกับอาฬารดาบสก็ว่าง เข้าสมาบัติมันก็ว่าง สิ่งที่เป็นความว่างเห็นไหม แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิเสธไง สิ่งที่ปฏิเสธ นี้ก็เหมือนกัน “ใช้ปัญญา ใช้ใคร่ครวญ มันปล่อยวาง มันว่าง”

เป็นว่างอย่างนี้ ว่างแบบไม่มีสติ ว่างแบบไม่มีพื้นฐาน ไม่มีสมถกรรมฐาน “สมถกรรมฐาน” ถึงจะเป็นความว่างขนาดไหน สติควบคุมอยู่นี้ มันจะเป็นสัมมาสมาธิ มันจะมีสิ่งที่จับต้องได้ สิ่งที่จับต้องได้ นี่จิตเป็นอย่างนี้ ความว่างเป็นอย่างนี้ สติพร้อมอยู่กับมัน อย่างนี้ต่างหากถึงเป็นสัมมาสมาธิ

“ว่างๆ” แล้วคิดว่าเป็นผล สิ่งที่เป็นผลเพราะมันพอใจไง สิ่งที่พอใจ มันจับต้องไม่ได้ไง เหมือนกับเราปฏิเสธสิ่งต่างๆ หมด มันว่างหมด เห็นไหม

สัญชัย “สิ่งนั้นก็ไม่มี สิ่งนั้นก็ไม่มี”

“ไม่มีคืออะไร?”

“ไม่มีก็คือไม่มี”

นี่ไม่มีมันไปเรื่อยๆ มันว่างเรื่อยๆ ว่างจนไม่มีสิ่งใด จับต้องสิ่งใดไม่ได้ สิ่งนั้นเป็นธรรมหรือ...สิ่งนั้นเป็นธรรมถ้ามันดับขันธ์ตายเดี๋ยวนั้น มันจะไปไหนล่ะ

ว่างๆ นั้นล่ะคือตัวใจ

ว่างๆ นั้นล่ะคือมันตัวเกิด

สิ่งที่เกิด เพราะมันมีความรู้สึกไง มันมีความรู้สึก มันเป็นไป

นี่เสื่อมจากธรรม “ศาสนาเสื่อม”

ตัวศาสนาคือตัวความคิด ตัวพิธีกรรม คือศาสนธรรม ศาสนพิธี แต่ตัวธรรมไม่เคยเสื่อม แล้วเราเข้าไม่ถึงธรรมนะ ทั้งๆ ที่เรามีหัวใจ หัวใจของเรามันมีความรู้สึก ตัวใจสำคัญมากเพราะศาสนาเราเน้นย้ำลงที่ใจ เพราะใจนี้เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก

สมบัติแก้วแหวนเงินทองนะ วัตถุสิ่งต่างๆ เวลาเก็บ เรามีมากมีน้อย เราเก็บเราต้องมีสถานที่ลับเก็บนะ แต่ความรู้สึกของใจมหาศาลเลย การเกิดและการตายนี้ บุพเพนิวาสานุสติญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสาวไปไม่มีต้นไม่มีปลาย สิ่งที่ไม่มีต้นไม่มีปลาย การสะสมมาของใจเป็นจริตนิสัย สิ่งนี้สะสมมาในหัวใจ ข้อมูลในหัวใจนี่มีมหาศาลเลย

สิ่งที่มีมหาศาลเพราะมันซับมาอยู่ในหัวใจ สิ่งที่ซับมาในหัวใจ ความเกิดความตายซับสมมาขนาดที่ว่าข้อมูลในใจ เวลาถ้าจิตสงบเข้าไป มีอำนาจวาสนา จะย้อนอดีตชาติเข้าไป ข้อมูลมันจะเปิดออกมา เปิดออกมา มันมีสิ่งที่มหาศาลขนาดนี้เชียวหรือ นี่ความมหัศจรรย์ของใจ มันมหัศจรรย์ขนาดนั้นนะ

สิ่งนี้มันเป็นผลข้างเคียง มันไม่ใช่อริยสัจ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาย้อนกลับมา อดอาหารแล้วกลับมาฉันอาหาร แล้วเริ่มปฐมยาม บุพเพนิวาสานุสติญาณ สาวไปไม่มีที่สิ้นสุด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดึงกลับมา ดึงกลับมา จุตูปปาตญาณ เห็นสัตว์เกิดสัตว์ตาย นี่ก็เหมือนกัน สิ่งนี้ไม่ใช่อริยสัจไง สิ่งนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า...ถ้าเราติดตรงนี้ นี่ศาสนาเสื่อม เสื่อมเพราะมันออกไปรับรู้ เสื่อมเพราะมันเคลื่อนออกไปจากอริยสัจ เสื่อมเพราะมันไม่เข้าหลักของเป้าหมายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมาให้เป็นอาสวักขยญาณ เสื่อมออกไปจากหลักการความเป็นจริง นี่ความเสื่อม

เสื่อมเกิดจากเพราะเราโดนกิเลสบิดเบือน บิดเบือนให้การประพฤติปฏิบัติเราไขว้เขวออกไป แล้วเราไม่มีอำนาจวาสนา เราก็เชื่อกิเลส เชื่อความเห็นของเรา นี่เห็นสิ่งนี้เป็นความสำคัญ เห็นสิ่งนี้เป็นผลวิเศษจากหัวใจนั้น สิ่งที่เป็นความประเสริฐ เราเป็นผู้วิเศษ เรารู้ดีกว่าคนอื่น นี่กิเลสมันเกิด

เวลาประพฤติปฏิบัติ เวลาจิตสงบขึ้นมา นี่ธรรมเกิด เราจะว่า “ธรรมเกิด” ธรรม คือสิ่งที่ว่าไม่ได้เกิดโดยมนุษย์ปุถุชนที่เขารับสัมผัสได้ แล้วเราทำประพฤติปฏิบัติจิตสงบเข้าไป มันไปเห็นสิ่งต่างๆ นี่ “ธรรมเกิด” แล้วมันก็เกิดความยึดมั่น เกิดทิฏฐิมานะ เกิดความเห็นเข้าไป ที่ว่าเราเป็นผู้วิเศษ นี่กิเลสเกิด สภาวะที่เกิดนั้นเป็นธรรม แต่ในเมื่อกิเลสมันมีอยู่ มันอาศัยสิ่งนี้ เห็นไหม กิเลสพาใช้ไง ใช้สิ่งนี้ให้จิตมันยึดมั่นถือมั่นสิ่งนี้ ยึดมั่นความเห็นนั้นว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ มันไม่เข้าอริยสัจเลย มันไม่เข้าหลักความจริงเลย

ถ้ามันเข้าหลักความจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดึงกลับมา ดึงกลับมา นี่เข้าอริยสัจ ถ้าเข้าอริยสัจ มันต้องสัมมาสมาธิเกิดให้ได้ ทำความสงบของใจ แล้วต้องมีความชำนาญ ถ้ามีความชำนาญแล้วจิตมันตั้งมั่น ถ้าจิตตั้งมั่นนี่จะน้อมไปวิปัสสนา ถ้าน้อมวิปัสสนา สิ่งนี้เป็นธัมมจักฯ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาแสดงธัมมจักฯ ให้ปัญจวัคคีย์ได้ฟังธรรม พระอัญญาโกณฑัญญะท่านมีสัมมาสมาธิอยู่แล้ว เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธัมมจักฯ

“สัจจญาณ” สัจจะความจริง มันเป็นอย่างนี้

“กิจจญาณ” คือกิริยาของใจของพระอัญญาโกณฑัญญะที่มันเคลื่อนตาม สิ่งที่เวลาปัญญาของพระอัญญาโกณฑัญญะเคลื่อนตามสภาวะแบบนั้น กิจจญาณมันเกิด

“สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ”

ถ้าเห็นการเคลื่อนไป จักรมันเกิดอย่างนั้น ความเป็นไปอย่างนั้น นี่มรรคเป็นอย่างนั้น ความเป็นมรรคของใจของพระอัญญาโกณฑัญญะมันเคลื่อน มันเป็นไป มันเห็นสัจจะความเป็นจริงอย่างนั้น นี่ล่ะตัวธรรม ถ้าตัวธรรมอย่างนี้เกิดขึ้นมา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมจบไหม

“อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ”

รู้เพราะใจของพระอัญญาโกณฑัญญะเคลื่อนตาม แล้วกิจจญาณมันเกิด นี่คือมรรคญาณมันเกิด สิ่งที่มรรคญาณมันเกิดนี่มันหมุนเข้ามาจากภายใน อันนี้เป็นอริยสัจ แล้วอริยสัจนี้เกิดมาจากไหนล่ะ นี่สภาวธรรมที่เกิด เกิดอย่างนี้ ถ้าเกิดอย่างนี้ นี่คือเป็นสิ่งที่เป็นอริยสัจ เป็นความจริงไง นี่เป็นสภาวธรรม ไม่เสื่อมจากศาสนา ตัวธรรมไม่เคยเสื่อม ตัวธรรมมีโดยเป็นหลักการ หลักความจริง ตัวนี้เป็นสิ่งที่แน่นอน คงตัวตลอดไป

แต่เพราะกิเลสมันปกคลุม สิ่งที่กิเลสปกคลุมหัวใจ ทำให้หัวใจเร่าร้อน หัวใจมีความทุกข์ยาก สิ่งที่เป็นความทุกข์ยาก แล้วขณะที่เราทำ ขณะที่ทำ คือศาสนพิธี ศาสนพิธีคือพิธีเขาทำบุญกุศลกัน เป็นศาสนพิธีต้องทำตามพิธีกรรมนั้น เริ่มตั้งแต่ขอศีลก่อน รับศีลแล้วถวายทาน แล้วถวายทานเสร็จแล้วถึงรับพร นั้นเป็นศาสนพิธี

“นี้ศาสนธรรม เราว่าศาสนธรรม เราสร้างศาสนา ตัวศาสนาจะเจริญรุ่งเรือง การประพฤติปฏิบัติแล้ว ศาสนาจะมีหลักมีเกณฑ์ การประพฤติปฏิบัติเป็นหลักของศาสนา ต้องมีการพากันประพฤติปฏิบัติ”

“ประพฤติปฏิบัติ” ประพฤติปฏิบัติโดยกิเลส ถ้าเอากิเลสประพฤติปฏิบัติ มันก็เสื่อม เสื่อมจากหลักความจริงของธรรมอันนั้นไง เสื่อมจากความเป็นจริงที่จะเข้าถึงธรรม เพราะในเมื่อศาสนธรรม ศาสนะนี้มันเบี่ยงเบน มันเป็นความเสื่อม มันไม่เป็นหลักความจริง

ถ้ามันเป็นหลักความจริง มันต้องกรรมฐาน ๔๐ ห้อง ถ้ากรรมฐาน ๔๐ ห้องนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ตั้งแต่พุทโธ ธัมโม สังโฆ มรณานุสติต่างๆ เป็นกสิณก็เป็นกรรมฐาน ๔๐ ห้อง นี่เวลาออกประพฤติปฏิบัติ ถึงว่า “ต้องมีสมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน” ถ้าสมถกรรมฐานเกิดขึ้นก่อน มันจะเป็นวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นมาจากหลักความจริง

ถ้าไม่มีสมถกรรมฐาน การคิดการใคร่ครวญอันนั้น มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ แต่เพราะผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เขาไม่เข้าใจของเขา เขาก็ใช้ปัญญา คำว่า “ปัญญา” ปัญญาของเราคือความคิด ความคิดสังขารปรุงแต่งนี้เป็นปัญญาของเรา

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือปัญญาในมรรคญาณ ปัญญาในมรรคญาณกับปัญญาที่เกิดจากสังขารความคิด ความปรุง ความแต่งอันนี้มันคนละอันกัน แต่เพราะความไม่รู้ แต่เพราะความไม่เป็น เพราะความไม่รู้และความไม่เป็นของเรา เราถึงคิดว่าในเมื่อมันเป็นสังขารคิดเหมือนกัน มันก็คือปัญญาเหมือนกัน ถ้ามันเป็นปัญญาเหมือนกัน มันก็เป็นสิ่งที่เป็นสัจธรรม เป็นความจริงแล้ว นี่เสื่อมจากธรรม

“ศาสนาเสื่อม” เสื่อมจากโอกาสของเรา เราจะขึ้นถึง เราจะได้ประโยชน์จากการเกิดและการตายนี้ เพราะเรามีอำนาจวาสนา เราถึงได้เกิดเป็นมนุษย์ สิ่งที่เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์แล้วพบพระพุทธศาสนา พบพระพุทธศาสนาแล้วได้มีความศรัทธาความเชื่อ ออกประพฤติปฏิบัติ แต่กิเลสมันพาใช้ทั้งหมด กิเลสมันบิดเบือนให้เราก้าวทุกก้าวล่วงจากโอกาสของเรา ถ้าก้าวล่วง นี่ศาสนาเสื่อม “ศาสนาเสื่อม” เสื่อมจากใจของเรา เสื่อมจากความเห็นของเรา ทำให้เราหมุนออกมาเป็นเรื่องของโลกทั้งหมดเลย สิ่งนี้เป็นเรื่องของโลกๆ นะ

เวลาครูบาอาจารย์ท่านแสดงธรรม ท่านแสดงธรรม แสดง ธรรมกับโลกต่างกัน คำพูดเหมือนกัน เห็นไหม เราก็ใช้คำว่า “ปัญญา” ปัญญาเราก็ตีว่าความคิดนี้เป็นปัญญา แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สำหรับครูบาอาจารย์ท่านต้องการภาวนามยปัญญา ท่านต้องการเหมือนให้เห็นตามความเป็นจริงของพระอัญญาโกณฑัญญะที่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธัมมจักฯ

นี่คนมีอำนาจวาสนา คนมีความฉุกใจอย่างนั้นแล้ว มันใช้ปัญญานี้เคลื่อนตามไป เพราะมีพื้นฐานไง มีพื้นฐานของสัมมาสมาธิ มีพื้นฐานแล้วเคลื่อนปัญญาตามไป นี่จักรเคลื่อน ถ้าภาวนามยปัญญาเกิด ธรรมจักรมันจะเคลื่อน มันจะหมุนออกไป หมุนออกไปมันก็กลับมาทำลายกิเลส นี้คือปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัญญาในธรรมจักร ปัญญาในอริยสัจ นี่ธรรมจักร

มรรคในอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เวลามันเกิด มันเกิดพรึบ พร้อมกัน “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค”

“ทุกข์” ทุกข์ควรกำหนด ขณะที่ธรรมจักรมันเคลื่อนนี่มันกำหนด

“สมุทัย” ควรละ ละด้วยอะไร?

ละด้วย “มรรค” มรรคมันหมุนไป มันเกิดอะไร?

เกิด “นิโรธะ” ความรู้แจ้ง รู้แจ้งก็ปล่อย

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับไปเป็นธรรมดา”

แต่ต้องเห็นจากหลักความจริงของใจดวงนั้น

ไม่ใช่ว่า สิ่งใดเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เรารู้แล้วเราก็ปล่อยวาง แต่กิเลสเต็มหัวใจ สิ่งอื่นต่างๆ เกิดขึ้น แล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา แล้วกิเลสเรา เราก็รู้แล้วเป็นธรรมดา รู้นี่รู้สัญญา นี่ศาสนาเสื่อม เสื่อมนะ เสื่อมเพราะความเห็นของเรา เพราะความเห็นของเราคิดว่าเรารู้แบบวิทยาศาสตร์ รู้แบบที่ว่า “โลกนี้เจริญๆ นี่การบริหารจัดการของโลก โลกแข่งกันด้วยปัญญา เราก็มีปัญญาแล้ว เราจะเข้าใจเรื่องของสภาวะโลกทั้งหมด”...เข้าใจจนเป็นคนดื้อด้าน เข้าใจจนเป็นคนที่ว่าไม่สะเทือนใจไง

แต่ถ้าคนมีความรู้สึกของใจนะ มันไม่ดื้อด้านนะ สิ่งใดเกิดขึ้น มันสะเทือนหัวใจ ธรรม สภาวธรรมไง ถ้าสภาวธรรม เวลาธรรมแสดง ครูบาอาจารย์แสดงธรรมมามันสะเทือนหัวใจนะ สะเทือนหัวใจเพราะอะไร เพราะว่าเรามีอำนาจวาสนา มันสะเทือนหัวใจเพราะสิ่งที่มันมีกิเลสในหัวใจมันกีดมันขวาง มันไม่ต้องการสภาวะแบบนั้น มันขวาง มันต่อต้านไง แล้วธรรมของครูบาอาจารย์เข้าไปแทงใจดำ ความเห็นของกิเลสที่มันอยู่ในหัวใจ มันแทงใจดำ นี่สิ่งนี้ต่างหากเข้าไปสะเทือนกิเลส

ถ้าสะเทือนกิเลส ถ้ามันสะเทือนใจ สะเทือนกิเลส เราจะมีโอกาส มีโอกาสเพราะเราจะมีสติ เราจะเกิดจากความคิด เกิดจากความเห็นจากที่สิ่งที่มันลึกลับซับซ้อนที่มันซ่อนตัวอยู่ภายใน เห็นไหม สิ่งที่หัวใจมันซ่อนอยู่ในร่างกายมันไม่มีใครเคยสะกิดมัน เหมือนกับการรักษาโรค “การวิเคราะห์โรค” ถ้าเราวิเคราะห์โรคผิด เรารักษาโรคไม่ได้ เราจะรักษาโรคนั้นหายไม่ได้ ถ้าเราต้องวิเคราะห์โรคนั้นถูก แล้วเราให้ยาถูก เราจะรักษาโรคนั้นได้

นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อใจมันอยู่ในร่างกายของเรา แล้วสติ เวลาความสงบเข้ามา ย้อนกลับเข้าจับภายใน ถ้าย้อนเข้าไปภายใน มันจะเข้าไปเห็นเชื้อไข เห็นเชื้อของโลกอยู่ในหัวใจนั้น นี่ย้อนกลับมาตรงนี้ มันถึงจะเป็นปัญญา มันถึงจะเป็นการชำระกิเลส มันถึงจะเป็นความเห็นจากภายใน ถ้าความเห็นจากภายใน นี่ไง ถึงว่า สิ่งที่เป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรม ที่ว่าเวลาครูบาอาจารย์แสดงธรรม ธรรมคืออะไรล่ะ

“วัดวาอาราม” นี่ศาสนา คือวัดวาอาราม ศาสนา คือโบสถ์วิหาร ศาสนา คือพระที่บิณฑบาต นี่เป็นศาสนา...นี้เป็นศาสนบุคคล ศาสนวัตถุ ศาสนพิธี ศาสนะ คือส่วนประกอบ ส่วนประกอบสิ่งที่แสดงตัวออกจากศีลธรรม-จริยธรรม สิ่งที่เป็นชาวพุทธไง

แต่หัวใจของศาสนา หัวใจของหลักความจริง คือหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสรู้โคนต้นโพธิ์นั้น ความรู้สึกอันนั้นต่างหากคือตัวธรรม สิ่งนี้เป็นศาสนพิธี มันเป็นสมมุติบัญญัติ ถ้าจิตรู้สิ่งนี้แล้วปล่อยวางสิ่งนี้ นี่ปล่อยสมมุติบัญญัติเข้าไป ต้องปล่อยสมมุติ

“สมมุติ” นี้เป็นความเห็นของเรา

“บัญญัติ” บัญญัติคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติธรรมไว้

ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ใจของเรามันจะเป็นสิ่งที่ว่าเป็นภาวนามยปัญญา มันเป็นธรรมจักรขึ้นมา นี่มันเกิดขึ้นมาจากเรา สิ่งที่เกิดขึ้นจากเรานี้เพราะสิ่งที่ครูบาอาจารย์แสดงธรรม แล้วมันสะเทือนกิเลส มันสะเทือนกิเลส มันทำให้กิเลสนี้มันโดนธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าไปชำแรก เข้าไปทำลาย เข้าไปทำลายสิ่งนี้ มันก็ทำให้เรามีความองอาจกล้าหาญ ทำให้เรามีกำลังใจไง

เราจะประพฤติปฏิบัติ เราก็ห่วง “เราจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร มันเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม มันเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน มันเป็นสิ่งที่เราจับต้องได้อย่างไร”

นี่กิเลสมันคิดนะ มันจะให้แต่เราล้มลุกคลุกคลาน มันจะให้แต่เราไม่มีกำลังใจนะ เวลาไม่มีกำลังใจ การสำคัญที่สำคัญอยู่กับครูบาอาจารย์ไง มันสำคัญตรงนี้ไง ตรงที่ขณะที่เราท้อแท้ เราน้อยเนื้อต่ำใจ ครูบาอาจารย์จะคอยปลุกเร้า ปลุกเร้าให้เรามีกำลังใจนะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกตรวจกุฏิในสมัยพุทธกาลนะ ไปดูพระนะ ไปเห็นพระโสนะเดินจงกรมอยู่ สิ่งนี้มันเป็นอัตตกิลมถานุโยค ถ้าเป็นกามสุขาลิกานุโยค มันก็อ่อนแอไป ให้เป็นมัชฌิมาปฏิปทา

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติอยู่ เทวดามาดีดพิณ ๓ สาย สายที่อ่อนไป สายที่หย่อนก็ไม่มีเสียง สายที่ตึงไปก็ขาด สายที่ปกติ สายที่เป็นกลาง นี่เสียงจะดี นี่สิ่งนี้จะเตือนไง ถ้าเราเตือนเรา เราเตือน

“สิ่งใดที่เราอ่อนแอไป เราก็ต้องมีความเข้มแข็ง สิ่งใดที่เรามันตึงเกินไป”

ตึงเกินไป คำว่า “ตึงเกินไป” แต่ครูบาอาจารย์ก็บอก “ถ้าตึงไว้ก่อน เพื่อจะไม่ให้เป็นช่องของกิเลสมันออก สิ่งนั้นดีอยู่” เดินธุดงควัตรเพื่อขัดเกลากิเลส เวลาเราถือธุดงค์เพื่อเหตุใดล่ะ เพื่อขัดเกลากิเลส สิ่งนี้ไม่ถือก็ได้ เพราะเวลาพระบวชมาแล้วไม่ถือธุดงควัตร ไม่ปรับอาบัติ ถ้าเราทำผิดพระปาฏิโมกข์สิ จะปรับอาบัติ แต่ถ้าไม่ถือธุดงควัตร ไม่ปรับอาบัตินะ แต่ทำไมเราถือธุดงค์เพราะอะไรล่ะ

เพราะเราบวชมา เราเห็นภัยในวัฏฏะ เราเห็นภัยในวัฏฏะเราถึงออกบวช ถ้าเราออกบวชขึ้นมา บวชแต่ร่างกายแล้วเราจะบวชจิตใจด้วย ถ้าเราบวชจิตใจด้วยนี่เราจะชำระกิเลส

ถ้าเราไม่บวชจิตใจของเรานะ จิตใจมันจะทำให้เราเร่าร้อน เห็นไหม เวลาเขาใส่ทองกันน่ะ เขาใส่ทอง เขาใส่เครื่องประดับ นี่เครื่องประดับมันสวยไหม?...สวย แล้วร่างกายเราล่ะ เครื่องประดับขนาดไหนก็แล้วแต่ ถ้าเหงื่อไคลเราออก เครื่องประดับนั้นสกปรกไหม นี่ก็เหมือนกัน เราบวชแต่ร่างกายนะ เราได้ห่มผ้ากาสาวพัสตร์ แต่ร่างกายเราสกปรก ถ้าเราห่มผ้าขนาดไหน ผ้านั้นก็เศร้าหมอง ผ้านั้นก็ต้องสกปรกโสมมไป เราต้องซัก

ถ้าเราบวชใจของเรา ร่างกายขับออกมามีความสกปรกไหม?...มีความสกปรก แต่หัวใจล่ะ ถ้าหัวใจมันสะอาดนะ “หัวใจสะอาด” สิ่งนี้มันเป็นเครื่องอาศัย ถ้าเป็นเครื่องอาศัย นี่ย้อนกลับเข้ามา ถ้ามันตัวย้อนกลับเข้ามา “ศีล สมาธิ ปัญญา” ถ้าเกิดศีล อธิศีลเกิดที่ใจนะ เกิดที่ใจ มโนกรรมไง

การกระทำอาบัติ การสิ่งที่เป็นอาบัติ เพราะเราต้องทำสิ่งนั้นให้ครบองค์ของอาบัติ ถึงจะเป็นอาบัตินะ “พรากของเขียว” เราต้องทำสิ่งที่ของเขียวนั้นหลุดออกจากต้น หรือขั้วจากขั้วมันเป็นอาบัตินั้นเป็นอาบัตินะ แต่หัวใจเวลามันคิดน่ะ มันคิดสิ่งจินตนาการไป มันเป็นอาบัติไหมล่ะ ถ้ามันพรากของเขียว เราพรากใบไม้เขียวใบหนึ่งหลุดจากขั้วนี่เป็นอาบัติปาจิตตีย์ แต่เวลาจิตมันคิดออกไปร้อยแปดพันเก้ามันเป็นอาบัติไหมล่ะ?...มันไม่เป็นอาบัติ เพราะมันเป็นนามธรรม มันเป็นเรื่องของกิเลสตัณหาความทะยานอยากที่มันแกว่งไกวหัวใจให้สั่นไหวไปไง

สิ่งนี้สั่นไหวไป จนเวลาคนโกรธ คนหลง เวลาหัวใจคิด ร่างกายจะขับฉีดเลือดให้รุนแรงออกมา นี่ก็เหมือนกัน มันเกิดมโนกรรม ไม่เป็นอาบัติแต่เกิดมโนกรรม แล้วถ้าคิดบ่อยๆ คิดอย่างนั้นเข้า สิ่งที่คิดเดี๋ยวมันก็กระทำ

แต่ถ้าเรามีสติ เราย้อนกลับเข้ามา “อธิศีล” ไม่ให้มโนกรรมอันนี้เกิด สิ่งที่มโนกรรมอันนี้เกิด เกิดแล้วมันทำให้หัวใจนี้แกว่งไกว ให้มันเคลื่อน มันหวั่นไหวไป สิ่งที่หวั่นไหวไป แล้วบอกว่าจิตนี้ตั้งมั่น ตั้งมั่นตรงไหนล่ะ ถ้ามันตั้งมั่น มันแกว่งไกวไปทำไม ทำไมมันเคลื่อนไปกับอารมณ์ความรู้สึกที่มันขับเคลื่อนไปล่ะ

นี่ทำใจให้มันมั่นคง ตั้งสติเข้ามาให้มั่นคงจากภายใน ย้อนกลับเข้ามาดูหัวใจอันนี้ให้ได้ ถ้าย้อนกลับเข้ามาดูหัวใจอันนี้ให้ได้ “หัวใจ” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมที่ “ใจ” “ใจ” ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ใจของเรา มีใจเหมือนกัน แต่มันโดนกิเลสปกคลุมอยู่ แต่มันมีเพราะมีศรัทธา มีความเชื่อ มีโอกาสไง ถ้ามีโอกาสทำได้ นี่ธรรมจะเกิดขึ้นมาจากใจ

ภาชนะที่ใส่ของนะ เวลาเราไปห้างสรรพสินค้า เราซื้อของ เราจะหยิบของออกมาเฉยๆ จากห้างสรรพสินค้า เขาไม่ยอมหรอก เพราะอะไร เพราะเขาถือว่าลักของเขา เขาไม่ตกลงกับเรา เราต้องไปที่เคาน์เตอร์นะ ให้เขาใส่ถุง ให้เขาใส่สิ่งต่างๆ แล้วเราถึงจะเอาออกมาได้ นี้ก็เหมือนกัน ถ้าหัวใจของเรามันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากอยู่ มันปกคลุมอยู่ มันเป็นไปอย่างนั้นไม่ได้ แต่ถ้าเราทำความสงบของเราเข้ามา เราจะต้องทำใจของเราให้มันสะอาด ให้มันบริสุทธิ์ ให้มันครบองค์ประกอบ สิ่งนี้ต่างหากมันถึงเป็นสภาวธรรมที่มันปกคลุมมาโดยร่างกายที่สกปรกนี่ล่ะ

สิ่งที่ร่างกายสกปรก เหมือนกับถุงที่ใส่ของนั้น แต่หัวใจนั้นมันสะอาดนะ ถ้าหัวใจสะอาดคือสิ่งที่เราซื้อ เราหามา เราต้องมีเงินมีทองของเรา เราจะไปซื้อหามา เราเข้าไปในห้างสรรพสินค้า ในห้างสรรพสินค้านั้นมีสินค้ามากมายมหาศาลเลย ตั้งแต่ของที่ถูกๆ จนของที่มีคุณค่ามหาศาล เพราะห้างสรรพสินค้านี้เป็นห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่โตมาก นี้คือในศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง แล้วเราได้อะไร เราจะมีถุง ถุงที่จะใส่ของ เราจะใส่อะไร ทุกคนต้องการเพชรนิลจินดา ต้องการสิ่งที่มีคุณค่ามาก แต่การประพฤติปฏิบัติของเราสมควรกับอันนั้นไหม ถ้าไม่สมควร...ไม่ได้หรอก ถ้าสมควร เราถึงจะได้สิ่งนั้นมา นี่ห้างสรรพสินค้า

“ธรรม” ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้เป็นกลาง แล้วเราประพฤติปฏิบัติ ใครจะไขว่คว้าเอาได้มากได้น้อยมันอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติของเรา มันอยู่ที่ความตั้งใจของเรา ถ้าเราตั้งใจแล้วทำคุณงามความดีจริง เราทำคุณงามความดีจริง ผลเกิดขึ้นมาจากจริง ใครจะปฏิเสธหรือไม่ปฏิเสธ นั่นเป็นเรื่องของคนที่อยู่นอกห้างสรรพสินค้าเขาไม่รู้อะไรกับเราหรอก เราเข้าไปในห้างสรรพสินค้าคือเข้าไปในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งที่เป็นรูปธรรมที่พิสูจน์ได้ คือพระไตรปิฎก คือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เราศึกษานี้ นี้เป็นพระไตรปิฎกนะ เป็นแผนที่เครื่องดำเนิน แต่ถ้าเราจะเข้าไปหลักตามความเป็นจริงของที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนา ครูบาอาจารย์ของเราปรารถนา คือเข้าถึงใจของเราไง

ถ้าเราเข้าถึงใจของเรา เราจะเป็นคนดี เพราะสิ่งที่มันเป็นความสกปรก มันจะเข้าถึงหลักของใจอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าเป็นความสกปรก คือมันเป็นทุศีล สิ่งที่เป็นความทุศีล สิ่งที่ทำให้ความเสื่อม เสื่อมสภาพจากกิเลสที่มันมีตัณหาความทะยานอยากที่มันคิด มันจินตนาการวิธีการของมัน

แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติของเรา “ขิปปาภิญญา” ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ รู้เร็วเห็นเร็ว สิ่งนั้นเขามีอำนาจวาสนาของเขา เขาทำของเขาได้ แต่เราเวไนยสัตว์ เราพยายามก้าวเดินของเราเข้าไป ถ้าเราก้าวเดินเข้าไปในหัวใจของเรา ถ้าเราก้าวเดินนะ ถ้าเราไม่ก้าวเดิน เราจะไม่มีการขับเคลื่อน ไม่มีการกระทำต่างๆ นี่กิจจญาณอยู่ที่ไหนล่ะ?...มันไม่อยู่หรอก

เรานอนจมกับความรู้สึกนะ เรานอนจมกับความเห็นของตัวนะ ดูสิ ดูเวลาสัตว์ มันนอนแช่น้ำครำต่างๆ มันอยู่ของมัน มันคิดว่าสิ่งนั้นเป็นอาหารนะ เวลาดูหนอนสิ หนอนอยู่ในโถส้วม มันมีอาหารกินของมันตลอด นี้ก็เหมือนกัน เรานอนจมอยู่ในสิ่งที่เป็นรูป รส กลิ่น เสียง เป็นสิ่งที่ว่าเป็นอารมณ์ เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลงในหัวใจ เราก็ยังไม่รู้ตัวนะ เรายังคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพราะเรามีเป้าหมาย เรามีการคิดใคร่ครวญ

เราก็คิดว่า “อันนี้เป็นอธิษฐานบารมี เพราะเรามีความคิด เรามีเป้าหมายของเรา แล้วเราจะเข้าถึงเป้าหมายของเรานั้น”

นี่ความคิดอย่างนี้เป็นความฟุ้งซ่าน เป็นการให้ใจนี้เร่าร้อนออกไป สิ่งที่เร่าร้อนออกไป นี่ศาสนาเสื่อมนี้ไง แล้วเข้าใจนะ เข้าใจว่ามันเป็นการประพฤติปฏิบัติ พอมันปล่อยวางอย่างนี้เพราะมันมีสติสัมปชัญญะ มันปล่อยวางว่าง มันว่างๆ นี่เข้าใจว่าเป็นธรรม เข้าใจว่าเป็นธรรม ธรรมแบบนี้เจริญแล้วเสื่อมเหมือนกับหินทับหญ้าไง นี่ปัญญาอบรมสมาธิจะเป็นอย่างนี้ แล้วเรื่องของจิต เรื่องของความสุขของใจนี้เป็นความลึกลับมหัศจรรย์มาก มันจะลึกลับและมหัศจรรย์ ถ้ามันมีความสุข มันมีความพอใจของมัน มันจะปล่อยวางได้ ปล่อยวางได้อย่างนั้นจริงๆ ปล่อยวางหมด

ตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เวลาจิตสงบแล้วให้วิปัสสนากาย นี้ถ้ามันเป็นหลักความจริง “จิตนี้ต้องสงบก่อน ” ถ้ามีหลักมีเกณฑ์แล้ว พอน้อมไปที่กายมันจะเห็นกายโดยสัจจะความจริง แต่ถ้าเรา...ศาสนาเสื่อม คือวิธีการของเราเสื่อม เราก็จิตมันว่างๆ เราก็สร้างภาพ มันจะเป็นกายขึ้นมา สร้างขึ้นมาแล้วก็ทำลายมัน สิ่งที่ทำลาย นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ แต่เพราะเราสร้างภาพ มันเป็นสัญญาขึ้นมา แล้วใจทำได้ด้วย ใจทำได้สภาวะแบบนั้น แล้วมันก็ทำลายจริงๆ ทำลายสิ่งที่เห็นจริง

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นนิมิต เป็นความเห็น เป็นสัญญาอารมณ์ เห็นจริงหมดแล้วก็ปล่อยวางจริงๆ ปล่อยวางเพราะจิตมันสร้างสภาวะแบบนั้น แล้วก็ว่างจริงๆ ว่างอย่างนี้ ว่างโดยความเสื่อม เสื่อมโอกาสเสื่อมไป เพราะมันไม่เป็นอริยสัจ มันไม่เป็นตามความเป็นจริง ถ้ามันเป็นความจริงของอริยสัจ มันไม่เป็นสภาวะแบบนั้น

ถ้าเป็นสภาวะอริยสัจ เราเห็นไหม เวลาคลื่นวิทยุมา ถ้าวิทยุหรือว่ามือถือเรามันจะรับคลื่นนั้นได้ มันต้องสมบูรณ์ จริงไหม แล้วคลื่นมันมามันเป็นความเร็ว คลื่นมามันจะไปตามคลื่นมันตลอดไป นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตสงบนะ แล้วเวลายกไปที่กาย มันเหมือนคลื่นวิทยุอย่างนั้นน่ะ มันจะทรงตัวของมันได้ไหม นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันสงบ แล้วมันยกไปเห็นกาย เห็นสภาวะแบบนั้น มันจะต้องมีฐานของมัน เหมือนกับโทรศัพท์มันต้องสมบูรณ์ของมัน ถ้ามันชำรุดขึ้นมานี่มันรับคลื่นนั้นไม่ได้

ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา มันฐานตั้งมั่นของมัน มันเวลาฐานตั้งมั่นของมัน น้อมไปที่กาย น้อมไปที่กายมันจะหลุดไม้หลุดมือไป เพราะขณะที่เห็นกายมันสะเทือนหัวใจ เพราะสะเทือนหัวใจ “หัวใจ” เวลาเห็นกาย เพราะเห็นกายคือเห็นหน้าของกิเลส มันจะสะเทือนหวั่นไหวมาก ถ้ามันสะเทือนหวั่นไหวมันจะหลุดมือไป เราจะทำอย่างไร ประคองอย่างไร ประคองอย่างไรให้จิตมันสงบไป แล้วขึ้นมาให้เห็นกายนั้น นี่ถ้าเห็นสัจจะตามความเป็นจริง มันจะเห็นว่า การเห็นกายนี้ มันไม่ใช่เรื่องของเห็นกันง่ายๆ หรอก

แต่ถ้าพวกเรา เวลาส้มหล่นหมายถึงพวกที่มีอำนาจวาสนา พอจิตสงบขึ้นมาเห็นเป็นครั้งเป็นคราวนี้ เห็นเป็นครั้งเป็นคราวเพราะคำว่า “ส้มหล่น” คือมันควบคุมสิ่งนี้ไม่ได้ไง ถ้าควบคุมสิ่งนี้ไม่ได้ เราจะเดินอริยสัจอย่างไร เราจะวิปัสสนาอย่างไร เราจะให้ปัญญาญาณใคร่ครวญเห็นกายนั้นตามสัจจะความจริงอย่างไร เห็นไหม นี่ศาสนา ศาสนธรรมอย่างนี้ เป็นศาสนธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ไม่ใช่ศาสนาเสื่อมโดยที่ให้กิเลสตัณหาความทะยานอยากโดยสร้างภาพขึ้นมา โดยเอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเป้าหมาย แล้วสร้างขึ้นมาให้มันเสื่อมโอกาสไป เห็นไหม “สร้างภาพขึ้นมา ให้เห็นกาย แล้วก็ทำลายกาย มันก็ปล่อย ก็ว่าง ว่าง ว่างอย่างนี้” แล้วทำอย่างนี้บ่อยครั้งเข้า...นี่เวลาจิตมันดื้อด้าน

เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เวลาจิตเป็นสัมมาสมาธิ จิตมันเจริญจะมีความสุขมาก เวลามันเสื่อม มันท้อถอยนะ จิตเสื่อมนี่ทุกข์มาก เพราะสิ่งที่เป็นสมบัติของเรา เราเคยมีความอบอุ่นในหัวใจ เรามีความสุขของเราในหัวใจแล้วมันหายไปหมดเลย มันเป็นแต่ความเร่าร้อน มันมีแต่ความทุกข์ใจ “ทุกข์มาก ทำไมทุกข์ขนาดนี้ เราประพฤติปฏิบัติทำไมมันร้อนหัวใจ ทำไมสิ่งที่อยู่นี้มันก็ร้อนไปหมด ทำไมเราอยู่ของเราไม่ได้” เห็นไหม เวลาจิตเสื่อม

นี้ก็เหมือนกัน เวลาเราสร้างภาพขึ้นมา เรามีอำนาจวาสนา มันส้มหล่นไง ส้มหล่น สภาวะแบบส้มหล่น ส้มหล่นนี้ยังเป็นความจริงนะ ส้มหล่นหมายถึงว่าเรามันเห็นน่ะเห็นจริง เห็นจริงมันสะเทือนกิเลส เพราะมันจะขนพองสยองเกล้า มันจะเห็นสภาวะแบบนั้นจริง แต่เราไม่สามารถประกอบให้มันเป็นการเป็นงานขึ้นมาได้ เพราะเราไม่สามารถตั้งขึ้นมา เราไม่สามารถตั้งสัมมาสมาธิ เราไม่สามารถตั้งจิตของเราให้ตั้งมั่น

“จิตตั้งมั่น” ทำความสงบบ่อยๆ จนตั้งมั่นเป็นเอกัคคตารมณ์ สิ่งที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ แล้วน้อมไปดูที่กาย ดูกายครั้งแรกจะสะเทือนหัวใจมาก เพราะการเห็นกายครั้งแรก การเห็นกายครั้งแรกจะสะเทือนหัวใจมาก สะเทือนหัวใจนี้พอสะเทือนหัวใจนี่มันก็พลัดพรากไป แล้วเราก็ต้องกลับมาทำความสงบใหม่ ทำตั้งมั่นใหม่ เห็นไหม เหมือนเข้าไปห้างสรรพสินค้าที่เรามีเงินไง เราจะซื้อสินค้าชนิดนี้ ราคาเท่าไร สินค้าชนิดนี้ราคา ๑๐๐ บาท เรามีเงินอยู่ไม่กี่บาท เราก็กลับมาพยายามสะสมเงินให้ได้ ๑๐๐ บาท

นี้ก็เหมือนกัน จิต ถ้ามันไม่มีกำลังพอ มันจะเห็นภาพอันนั้นไม่ได้ เราถึงกลับมาพุทโธ กลับมาทำสมถกรรมฐานขึ้นมาให้มันมีเงินครบ ๑๐๐ บาทไง ให้ตามราคาสินค้านั้น ที่เราจะไปซื้อสินค้านั้นในราคา ๑๐๐ บาท ถ้าจิตมันสงบเข้ามาในราคา ๑๐๐ บาทนี้ มันมีฐานอย่างนี้ เราก็น้อมไปที่กาย มันก็จะเห็นกายขึ้นมาอีก

สิ่งที่ว่าคลื่นที่มันเคลื่อนไหวตลอด ที่เราจับไม่ได้ แต่ในเมื่อเรามีเงินพอที่จะซื้อสินค้านั้น ในเมื่อเรามีหลักฐาน มีจิตที่สงบพอที่จะเข้าย้อนขึ้นไป น้อมไปพิจารณากายนั้น เห็นไหม มันก็เป็นไปโดยสัจธรรม นี้ไม่ใช่ส้มหล่น นี้คือสัจจะ คือกิจจญาณที่เราทำเป็น กิจจญาณที่พระอัญญาโกณฑัญญะ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธัมมจักฯ แล้วพระอัญญาโกณฑัญญะใช้จิตใคร่ครวญตามไป นี่กตญาณ กิจจญาณ เกิดขึ้นมาจากใจของพระอัญญาโกณฑัญญะไง

แล้วเราประพฤติปฏิบัติ เวลากิจมันเกิดขึ้นมาจากหัวใจของเรา แล้วเราเป็นคนวิปัสสนา นี่อริยสัจ นี่คือภาวนามยปัญญา นี้คือสิ่งที่ว่าปัญญาที่เกิดขึ้น เห็นตามความเป็นจริงว่า “สิ่งนี้เป็นไตรลักษณะ” ถ้าจิตเราตั้งมั่นขึ้นมา แล้วเราวิปัสสนาไปให้สิ่งนี้มันใคร่ครวญไป ให้มันวิภาคะ ให้มันทำลายกันออกไป สิ่งที่ทำลายออกไป “เป็นอย่างหรือ เป็นอย่างนี้หรือ”

“อ๋อ! อ๋อ!” ตลอด “อ๋อ!” ตลอด ปัญญามันก็เกิด ปัญญาที่เกิดคือปัญญารู้แจ้ง รู้แจ้งว่ากายกับใจ มันยึดมั่นถือมั่นกันอย่างไร ตัวตนของกาย สักกายทิฏฐิในความเห็นว่าตัวตนคือกายของเรา กายเป็นเรา เราเป็นกาย สิ่งนี้เป็นของเราทั้งหมด...สิ่งที่เกิดมาเป็นเรา เราเกิดมาทั้งที ทำไมไม่ใช่ว่าเป็นเรา นี้คืออุปาทานยึดมั่นถือมั่นของใจที่มันยึดมั่นกายอันนี้

จะศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขนาดไหน จะอ่านพระไตรปิฎกมากี่ร้อยรอบก็แล้วแต่ แต่ถ้ามันไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ มันรู้โดยสัญญา มันปล่อยวางไม่ได้หรอก ปล่อยวางไม่ได้ แล้วมันจะเสื่อมโอกาสด้วย นี่ศาสนาเสื่อม เสื่อมเพราะว่าความเข้าใจผิดไง ความที่กิเลสมันเอาปัญญาที่ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาหลอกตัวเองไง

“เรารู้แล้ว เราปล่อยวางแล้ว เราว่างๆ เราสบายๆ เรามี”

ความว่างอย่างนั้นเป็นความว่างของกิเลสมันขับไสให้เราไปในอดีตอนาคตไม่เป็นปัจจุบันนะ ถ้าในปัจจุบันนี้คือมีโอกาสที่จะชำระกิเลส เรามาอยู่ปัจจุบันนี้เราจะทำลายกิเลสได้ เราใช้ปัจจุบันนี้เข้าไปทำลายสิ่งใจที่มันซ่อนอยู่ในหัวใจที่มันอยู่ในที่ลับนั้น แล้วถ้าเราอยู่ในปัจจุบันนี้มันจะย้อนกลับเข้าไปทำลายกันตรงหัวใจนั้น แต่ถ้าเราเป็นความว่างๆ เราเป็นผลของเรา มันเคลื่อนจากอดีตอนาคตออกไป ไปรับรู้ว่าผล รับรู้ว่าผลแล้วมันก็เคลื่อนออกไป นี่เสื่อม

ถ้าศาสนาเสื่อม เราจะไม่ได้ธรรม ถ้าศาสนานั้นเป็นสัจจะความจริงตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิบัติมา แล้ววางธรรมให้สาวกะ-สาวกที่ได้ประพฤติปฏิบัติก้าวเดินตามไป ถ้าเราก้าวเดินตามไป เราจะไม่เป็นคนจับจด เราจะไม่เป็นคนลุกลี้ลุกลน เราจะต้องพิสูจน์ เราจะต้องใคร่ครวญ

สิ่งที่ใคร่ครวญเห็นไหม ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ตทังคปหาน” การที่เกิดการตทังคปหานนี้คือการประหารชั่วคราว ถ้าจิตเราสมดุลเป็นมัชฌิมาปฏิปทา มันจะเกิดการประหารชั่วคราว สิ่งที่ประหารชั่วคราวมันเป็นทางเดิน ระหว่างที่เราจะเข้าเป้าหมาย มันเป็นระยะทางที่เราต้องก้าวเดินไป ปัญหาที่เราจะก้าวเดินไปในเป้าหมายนั้น เราต้องก้าวเดินไปโดยที่เราไม่หยุด เราก้าวเดินไปเรื่อยๆ แล้วมันถึงจะถึงเป้าหมายนั้น

การวิปัสสนาเห็นกายแล้วกายมันทำลายกัน มันเปื่อย มันเน่า มันทำลายกันขนาดไหนก็แล้วแต่ สิ่งนี้คือระยะทางที่เราจะเดิน มันเป็นการตทังคปหานไปชั่วครั้งชั่วคราว ถ้าศาสนาจะเสื่อมจากตรงนี้ มันก็บอกว่านี้คือธรรม แล้วมันก็จะไม่ทำอีก เพราะการวิปัสสนานี้ต้องใช้พลังงานมาก ต้องทำให้จิตนี้สงบให้ได้ก่อน ถ้าจิตนี้สงบขึ้นมา มันเป็น ๑ ในมรรค ๘ “สัมมาสมาธิ” ต้องมีสติชอบ ปัญญาชอบ เพียรชอบ งานชอบ...งานชอบ คืองานชอบในการใคร่ครวญกายนี้ งานชอบโดยการให้เป็นวิภาคะนี้ นี่คืองานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ นี่จิตมันได้ดื่มกินรสชาติอย่างนี้มันก็อิ่มเอมมัน มันก็ปล่อยวาง นี่เลี้ยงชีวิตชอบ

เลี้ยงชีวิตด้วยมรรคนะ มรรคนี่เลี้ยงชีวิตชอบ เลี้ยงจิตนี้ให้ได้ชอบ งานชอบ เพียรชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ ปัญญาชอบ สิ่งที่ชอบ นี่ตทังคปหานไปเรื่อยๆ บ่อยครั้งเข้าๆ โดยที่เราไม่ให้กิเลส ไม่ให้ความเสื่อมเข้ามาทำลาย ไม่ให้เสื่อมโอกาส เราจะตทังคปหานขนาดไหนก็ต้องวิปัสสนาซ้ำแล้วซ้ำเล่า สิ่งที่ว่าซ้ำแล้วซ้ำเล่านี้เป็นสาระ เป็นแก่นสารในการประพฤติปฏิบัติเลย สาระแก่นสารในประพฤติปฏิบัติ เพราะคนเรามันมักง่าย อยากชิงสุกก่อนห่าม อยากได้ผลไวๆ ในการที่ประพฤติปฏิบัตินี้คือเห็นสัจจะตามความเป็นจริงแล้ว พอว่างก็เข้าว่าใจว่าสิ่งนี้เป็นธรรม

ตทังคปหาน คือชั่วคราว สิ่งที่ชั่วคราว กิเลสมันไม่ตาย

เราวางยาสลบเห็นไหม เวลาเราเข้าผ่าตัด เราเข้าห้องผ่าตัดกัน หมอจะวางยาสลบ แล้วพอผ่าตัดเสร็จแล้วเราก็ฟื้นขึ้นมา นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อตทังคปหานนี่มันสลบชั่วคราวนะ ถ้ามันฟื้นขึ้นมา คนเราฟื้นขึ้นมา แผลผ่าตัดมันเจ็บนะ เข็ด ไม่อยากทำ นี้ก็เหมือนกัน ถ้ามันฟื้นขึ้นมา กิเลสมันฟื้นขึ้นมา มันแสดงตัวมันขึ้นมา ในการที่เราจะเข้าไปวิปัสสนา มันจะเป็นสิ่งที่ว่าสุดกำลังเราพอสมควรทีเดียว ถ้าเราไม่เจอครูบาอาจารย์ที่ให้กำลังใจนะ

แต่ถ้าเราเจอครูบาอาจารย์ที่ให้กำลังใจ “สิ่งนี้มันเป็นอดีตนะ” เวลาถ้าตทังคปหานไม่ถึงที่สุด มันเสื่อม มันเสื่อมได้เพราะมันเป็นกุปปธรรม ธรรมที่เจริญแล้วเสื่อม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นอนัตตา นี่อนัตตาจริงๆ ในตัวของมันก็เป็นอนัตตา ในการสร้างสมของเราก็เป็นอนัตตา เพราะมันเป็นของชั่วคราว นี่เราทำสมาธิ เดี๋ยวถ้าเรามีสติ เราควบคุมได้มันก็เป็นสมาธิ เดี๋ยวก็คลายออกมา โดยธรรมดา ใช้ปัญญาก็ธรรมดา ธรรมดาทั้งนั้น แต่เราไม่ได้ผลน่ะ

แต่ถ้าเราวิปัสสนาซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนถึงที่สุดนะ ถึงที่สุด ผลของมันคือเป้าหมายของมัน มันจะเป็นสมุจเฉทปหาน สมุจเฉทปหานคือขาด สังโยชน์จะขาดออกไป กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์โดยสัจจะความจริงของมัน นี่ธรรมเกิดอย่างนี้ไง

มันไม่เสื่อมเพราะเราเดินตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง เราไม่เชื่อกิเลสตัณหาความทะยานอยากที่มันปลิ้นปล้อนหลอกลวงเรามาตลอด เราไม่ยอมฟังสิ่งที่ว่าให้เรื่องของโลกเขา ที่ว่าเขาแสวงหาผลประโยชน์จากศาสนา นี่ถ้าพูดถึงในหลักของศาสนาคือธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราต้องยึดธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วซื่อสัตย์กับธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วประพฤติปฏิบัติเข้าไปตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะเข้าถึงธรรม

ธรรมไม่เคยเสื่อม ธรรมไม่เคยเสื่อม หัวใจนี้มีตลอดไป จะทุกข์ยาก จะมีความสุขขนาดไหน หัวใจนี้ไม่เคยตาย สิ่งที่หัวใจนี้จะมีอยู่ตลอดไป เพียงแต่ถ้าเราวิปัสสนาเข้าไปถึงจุดของมัน นี่อกุปปธรรมอย่างนี้แล้ว สมุจเฉทปหานขาดอย่างนี้แล้ว อันนี้เสื่อมไปอีกไม่ได้ เป็นอฐานะที่เป็นไปไม่ได้ที่มันจะเสื่อมไป สิ่งนี้มันเป็นหลักความจริงที่เป็นการพิสูจน์กันว่า “ศาสนาเสื่อมหรือไม่เสื่อม”

ถ้าศาสนาเสื่อมเห็นไหม เขาไม่เชื่อหลักธรรมวินัย ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีจริง สิ่งนี้มันเป็นอาชีพต่างหาก บวชศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเอาสิ่งนี้เป็นวิชาชีพตักตวงผลประโยชน์ เวลาสังคมเสื่อม นี่โลกเขาสร้างขึ้นมา เขาสร้างบริษัทต่างๆ สร้างสิ่งที่ว่าเป็นอบายมุขขึ้นมา นี่มันก็ยิ่งเสื่อมไปๆ นี้ก็เหมือนกัน บวชเข้ามาแล้ว ตั้งแต่เป็นเรื่องของกฎหมาย เรื่องของสิ่งต่างๆ จะเข้ามาในศาสนา นี่ตักตวงผลประโยชน์จากศาสนา

ตัวของศาสนา คือตัวหัวใจนะ แก่นของศาสนา คือผู้ที่ทรงธรรมทรงวินัยไว้เป็นหลัก เป็นสิ่งที่ศรัทธาเชิดชูให้บริษัท ๔ เราส่งเสริมกัน นี่ผู้ที่ชี้นำไง ถ้ามีผู้ที่ชี้นำดี นักรบ ผู้ที่ชี้นำ ภิกษุ-ภิกษุณี อุบาสก-อุบาสิกา นี่อุบาสก-อุบาสิกาก็อาศัยสิ่งที่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติให้ทรงธรรมทรงวินัย ถ้าทรงธรรมทรงวินัยมันก็จะชี้เข้ามา นี่ตัวศาสนามันก็ชัดเจนขึ้นมา

ตัวศาสนาเป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรมเพราะความรู้สึกอันนั้นไง เราจะศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาขนาดไหน มันเป็นสัญญา เป็นความจริง มันเป็นความสงสัยไปทั้งหมดล่ะ มันเป็นความสงสัย มันเป็นการที่ไม่แน่ใจ เป็นการที่ว่าเป็นความระแวง เป็นความระวัง จนบางคนไม่เชื่อว่ามรรคผลมีนะ นี่ขนาดศึกษาขนาดไหน ไม่เชื่อมรรคไม่เชื่อผล ไม่เชื่อนรกสวรรค์ ไม่เชื่อ ไม่เชื่อเพราะสิ่งนี้มันพิสูจน์ไม่ได้ ถ้าเชื่อ ทำไมหัวใจของเขาต้องทำอย่างนั้นล่ะ เพราะเขาไม่เชื่อ เขาถึงได้ทำตัวของเขาให้ห่างไกลกับธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่เราเป็นนักรบนะ นักรบเห็นไหม ถ้านักรบนะ เวลาฝึกทหาร ถ้าออกรบนะ ให้วางปืนห่างจากตัวนี่เขาทำโทษทันทีเลย เพราะอะไร เพราะปืนต้องอยู่ใกล้ตัวตลอด เวลาศัตรูมา เราจะทัน เราจะสามารถป้องกันตัวได้ สามารถทำลายศัตรูได้เพราะเรามีปืน นี่ก็เหมือนกัน ธรรมและวินัยมันเป็นสิ่งที่ว่ามันจะชำระกิเลสของเรา แล้วเราไปห่างไกลกับธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนนักรบไม่มีปืนไง เหมือนทหารที่ออกรบด้วยมือเปล่า แล้วว่าจะไปจะออกรบกับกิเลส จะทำลายกิเลส มันเป็นไปไม่ได้หรอก สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถึงศาสนาเสื่อม

เพราะตัวเองทำอย่างนั้น เพราะตัวเองเชื่ออย่างนั้น แล้วตัวเองก็ออกกฎกติกามาเพื่อจะให้คนอื่นทำอย่างนั้นไง แต่ครูบาอาจารย์เราไม่เชื่ออย่างนั้นน่ะ ไม่เชื่ออย่างนั้น ไม่ทำอย่างนั้น เพราะอะไร เพราะสิ่งที่ครูบาอาจารย์เราพิสูจน์แล้ว ครูบาอาจารย์เราพิสูจน์แล้วนะ พิสูจน์คือมาจากใจดวงนั้นไง ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ มันเป็นเรื่องของกรรมของสัตว์ สัตว์โลกเป็นอย่างนั้นนะ เขาไม่เชื่อก็เรื่องของเขา เพราะจริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน

การเกิดและการตายในวัฏฏะนี้เวียนมาสูงส่ง เวียนมายาวไกลมาก สิ่งที่ว่ายาวไกลมากน่ะ เพราะมีอำนาจวาสนา เพราะได้มาบวชมาเรียนในศาสนานี้ สิ่งนี้ก็เป็นการสร้างบารมีกันไป

แต่ถ้าผู้ที่เชื่อนะ การทำสิ่งใดๆ มันทำด้วยกำลังใจนะ ถ้ากำลังใจทำ ทำอะไร มันทำมาด้วยความจริงจัง มันทำมาด้วยสติสัมปชัญญะ ทำด้วยสิ่งที่ว่าเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น เพื่อให้ใจดวงนั้นพัฒนาขึ้นมา พัฒนาขึ้นมาแล้วมันก็ได้รับผลขึ้นไปตลอด สิ่งที่พัฒนา เห็นไหม ฝนตกรุนแรง จะได้น้ำมาก ฝนตกเบาๆ มันจะได้น้ำน้อย ฟ้าร้อง ฝนไม่ตกเลย นี่เหมือนกัน ถ้าเราทำจริงจังของเรา มันจะได้ความชุ่มชื่นเพราะฝนมันตกแรง ฝนมันตกมากมันชุ่มชื่นในหัวใจมาก ถ้าเราจริงจังมาก โลกเขามองนะ

“จริงจังมาก ทำอะไรรุนแรงมาก สิ่งนี้ทำแล้วมันจะไม่ได้ประโยชน์ นี้มันไม่มัชฌิมา มันไม่เป็นกลาง”

นี่กิเลสมันติเตียนไปหมดล่ะ ทำดีเขาก็ไม่ชอบ ทำสิ่งที่ผิดเขาก็ไม่ชอบนะ

พระที่ประพฤติปฏิบัติไม่ดี เขาก็ตินะ

“พระองค์นั้นไม่ดี ทำสิ่งที่ว่าไม่ตรงธรรมตรงวินัย เวลาประพฤติปฏิบัติก็พระองค์นี้ทำเกินกว่าเหตุ ตีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผิด”

นี่สิ่งที่โลกเขาไม่เหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรอก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ เราประพฤติปฏิบัติ เราก็กางตำราได้ “ธุดงควัตร” ธุดงควัตร ๑๓ นี่ขัดเกลากิเลส มันขัดเกลากิเลส มันเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส แต่ตัวของเขาเองคือเครื่องมือ แต่ขณะที่เราประพฤติปฏิบัติ การขัดเกลากิเลสก็เราสร้างขึ้นมา ความรู้สึกที่เราสร้างขึ้นมา เราตั้งกติกาเราขึ้นมา “เราจะทำธุดงค์ข้อไหน ถือผ้า ๓ ผืน ถือผ้าบังสุกุล ถืออยู่ในที่โล่ง อัพโภกาสิกังคะ อยู่ในที่โล่งแจ้ง”

แล้วเราสัมผัส ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะซึ้งมาก เพราะในการที่เรานั่งในที่โล่งแจ้ง อากาศมันถ่ายเท เราจะประพฤติปฏิบัติ มันมีความสมดุล เราไปอยู่ในที่ๆ ห้องอับ ในปัจจุบันนี้ เขามีแอร์ เขาติดได้นี่ ถ้าไม่มีแอร์นะ ไปอยู่ในที่อากาศไม่ถ่ายเท เราจะภาวนาอย่างไร นี่โลกเจริญ คำว่าเจริญของเขา แต่มันเป็นสภาวะแบบนั้น

นี่เราออก เราประพฤติปฏิบัติอยู่ในธรรมชาติในหลักความจริงของเราไง ถ้าอยู่ในหลักความจริง มันเป็นการขัดเกลากิเลส สิ่งที่ขัดเกลากิเลสนี่เป็นอาวุธ เป็นปืน เป็นสิ่งที่ธรรมวินัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ภิกษุนักรบติดแนบไปกับตัว มันจะได้ทันกับที่เราจะชำระกิเลสตลอดไป กิเลสมันเกิดตลอด ธรรมต้องสร้างสมขึ้นมา

ปืนกว่าจะบรรจุกระสุน กว่าจะเตรียมยิงนะ กิเลสมันปัดปืนตกมือไปแล้ว มันปัดปืนจนเราไม่สามารถจะต่อสู้กับกิเลสได้เลย นี่เราจะต้องธรรมวินัย ถึงต้องตั้งสติ แล้วพยายามฝึกฝน เวลาเดินสมาธิ เวลาเดินจงกรมนั่งสมาธิ กว่ามันจะเกิดขึ้นมา กว่าเราจะได้ปืนขึ้นมา กว่าจะได้กระสุน ฝ่าฝืนกิเลสนะ กิเลสมันกระทืบจนปืนนี่ยุบ จนปืนหัก เราล้ม เราแพ้ทุกที

นี่เราถึงต้องหาทาง ตั้งสติ แล้วมีความจงใจ ถ้าเรามีความจงใจ นี่อยู่ใกล้ครูใกล้อาจารย์จะมีสิ่งนี้ไง ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเขาถึงหาครูหาอาจารย์ แต่เวลาประพฤติปฏิบัตินะ ถ้าครูบาอาจารย์เราเป็นที่พึ่งของหมู่คณะ เขาก็บอกว่า

“เห็นแก่ตัว สิ่งนั้น เราต้องเชื่อธรรม ต้องไม่เชื่อบุคคล”

ก็ธรรมมันไปอยู่ในหัวใจของบุคคลนั้นน่ะ ในเมื่อหัวใจของครูบาอาจารย์เราเป็นธรรมทั้งหมด สิ่งที่เป็นธรรมนะ มันไม่เบียดเบียนใจดวงนั้น ไม่มีเล่ห์ ไม่มีช่องเอารัดเอาเปรียบใคร เป็นสิ่งที่เราเคารพบูชาที่เป็นพึ่งเป็นพึ่งตายได้ ทำไมเราจะพึ่งไม่ได้ล่ะ

มันเป็นสิ่งที่แสวงหานะ แสวงหาครูบาอาจารย์ที่มีหลักมีเกณฑ์ ที่จะเป็นที่พึ่งของเรานะ สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ว่า เหมือนพระไตรปิฎกเลย พระไตรปิฎกนี่เราต้องค้นคว้า เราต้องเปิดออกมา แล้วต้องตีความนะ แต่ใจของครูบาอาจารย์เราที่มีธรรม นี่เป็นสิ่งที่มีชีวิต เป็นสิ่งที่โต้ตอบกับกิเลสของเราได้ ว่ากิเลสของเรามันมีเล่ห์เหลี่ยม มันมีกลวิธีการจะหลอกเราอย่างไร ทั้งๆ ที่เกิดในหัวใจของเรา เราไม่รู้หรอก แต่ในใจของครูบาอาจารย์เรานี่ท่านรู้ รู้เพราะอะไร

เพราะท่านได้ประหัตประหารกับมัน ท่านได้ต่อสู้กับมัน ท่านได้ชำแรกกับมัน ท่านได้ทำลายมัน ท่านได้ต่อสู้ นี่ใจดวงหนึ่ง มันก็เหมือนทุกดวงล่ะ ถ้ามันกิเลสในหัวใจของเรา เราชำระกิเลสในใจของเราแล้ว ใจของคนอื่นมันก็เป็นเหมือนกับใจของเรานี่ ถ้าเรามีการบริหารจัดการ เราเคยทำของเรา ว่า

“โลกนี้เขาต้องบริหารจัดการ สิ่งใดๆ ขาดจากการบริหารจัดการทั้งนั้น”

ก็เขาไม่เห็น เขาไม่เคย เขาไม่สามารถบริหารจัดการมันได้ การบริหารจัดการของเขานี่มันเป็นสิ่งที่ว่ามันเป็นอำนาจ มันเป็นสิ่งที่ว่าเขาตั้งบริษัทขึ้นมาบริหารจัดการได้ มันมีองค์กรของมัน มันถึงบริหารจัดการใช่ไหม แล้วหัวใจไปหาองค์กรของใจอยู่ที่ไหน ไปหาสิ่งที่ว่าความคิดที่มันเกิดดับตรงไหน แล้วจะไปบริหารมันอย่างไร

นี่บริหารจัดการๆ บริหารจัดการนี่มันเป็นวิทยาศาสตร์ มันเป็นวิชาการ แต่ขณะที่จิตมันกิเลสมันเกิด มันไม่ให้บริหารหรอก มันจะต่อสู้ มันจะทำลายผู้ที่บริหารของมัน มันจะใช้ผู้บริหารของมันเป็นขี้ข้าของมัน ว่าจะไปบริหารมัน แต่เวลาเข้าไปหามันแล้วมันให้ผู้ที่บริหารมันไปแสวงหา ไปทำลาย ไปคดโกง ไปทำทุกอย่างเพื่อมันทั้งนั้นเลย ทั้งๆ ที่ว่าเราจะบริหารมันนะ

กิเลสมันร้ายกาจนัก มันอยู่ในหัวใจของสัตว์โลก แล้วมันทำให้สัตว์โลกเป็นขี้ข้าของมัน เป็นสิ่งที่ทำลายกัน สังคมถึงได้เร่าร้อน สังคมถึงเสื่อมไง สังคมเสื่อมเพราะคนไม่ทันกิเลส เพราะศีลธรรม-จริยธรรมมันเสื่อม ถ้าศีลธรรม-จริยธรรมมันเจริญขึ้นมา สังคมนั้นจะไม่เสื่อม เพราะต่างคนต่างมีคุณความดี ต่างคนต่างคนไม่เอาเปรียบสังคม

ถ้าคนไม่เอาเปรียบสังคม สังคมนั้นจะเสื่อมไปได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีคนทำลายมัน ถ้าไม่มีคนทำลายมัน สิ่งนั้นมันจะเป็นสิ่งที่คุณงามความดีทั้งหมด แต่เพราะมีคนทำลายมัน เพราะมันสิ่งมีกิเลสในหัวใจของเรานั้นก่อน หัวใจมันเห็นแก่ตัวแล้วมันทำลายใจของตัวนั้นก่อน นี่มันถึงออกไปทำลายคนอื่น แล้วสังคมเขาก็เสื่อมไป

มาบวช มาเป็นพระเป็นสงฆ์มันก็ทำลายศาสนา ศาสนาก็เสื่อม เสื่อมจากโอกาส จากใจดวงนั้นน่ะ ใจดวงนั้นเสื่อมก่อน ใจดวงนั้นโดนกิเลสมันบังคับบัญชาก่อน จะเข้าไปบริหารมัน จะจัดการทั้งหมด สิ่งที่เป็นองค์กรต่างๆ นี้จัดการได้ทั้งหมด สิ่งที่บริหารบริหารได้ทั้งหมด บริหารตามกิเลสไง ทำให้สิ่งโอกาสของสิ่งที่จะเข้าถึงธรรมวินัยนี้ มันพลาดโอกาสไปไง ถ้าเราไม่พลาดโอกาส เราพยายามเข้าถึงธรรมวินัยนี้

“โลก” โลกนะ กฎหมายเป็นสมมุติ สิ่งที่สมมุตินะออกได้ ยกเลิกได้ ทำอะไรก็ได้ เพราะสิ่งที่ว่าสังคมเขาเห็นสภาวะแบบนั้น แต่ธรรมวินัยยกเลิกไม่ได้ ทำไม่ได้เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้แล้ว

“ผู้ใดกล่าวตู่พุทธพจน์...กล่าวตู่” เห็นไหม ก็ไม่ได้ จะไปยกเลิกก็ไม่ได้ ไม่ได้ทั้งหมดเพราะอะไร เพราะไม่มีใครมีปัญญาเท่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรม วางถนนนะ วางปฏิปทา วางธุงควัตรให้เราก้าวเดินนะ

นี่ถนนหนทางเห็นไหม ดูสิ เวลาเขาทำถนนกัน รถวิ่งสะดวกสบาย แต่วิ่งขนาดไหนถนนก็ชำรุด ต้องซ่อมต้องบำรุงตลอดไปเพื่อให้รถได้วิ่ง นี้ก็เหมือนกัน ปฏิปทาเครื่องดำเนินเหมือนถนน เหมือนที่ให้เราก้าวเดินไป ให้จิตนี้ก้าวเดินไป ก้าวเดินเข้าไปหากิเลส ก้าวเดินเข้าไปทำลายกิเลสนะ แต่เขาก็จะทำลาย ทำลาย ชำรุดทรุดโทรม นี่ศาสนาเสื่อม เสื่อมออกไปจนชำรุดทรุดโทรม จนใช้การไม่ได้ ใช้การไม่ได้เพราะมันไม่เป็นความจริง มันไม่เป็นอริยสัจ มันไม่เป็นภาวนามยปัญญา มันห่างไกลจากหลักความจริงตลอดไป นี้คือมันก็เสื่อมไปๆ

นี่กึ่งพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ในพระไตรปิฎก “กึ่งพุทธกาล ศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง” แล้วเราเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เราก็ย้อนกลับมาดูสิว่ามันเจริญจริงไหม ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เราจะจริงจังได้ไหม

เวลาหมอนะ เวลาเราคนไข้ไปหาหมอ ถ้าไม่มียานี่หมดโอกาสนะ นี่เหมือนกัน อ่านพระไตรปิฎก ศึกษาของเราขึ้นมาเราก็มีแต่ความลังเล เราประพฤติปฏิบัติ เราก็มีแต่ความลังเลสงสัย แล้วใครหนอที่จะคอยกำจัดความลังเลสงสัย นี่มันแสวงหานะ แล้วในปัจจุบันนี้ถ้าเรามีความลังเล เรามีความสงสัยในหัวใจ นี่ครูบาอาจารย์สามารถนะ รอนะ รอ เหมือนหมอรอคนไข้เลย มันไม่มีคนไข้ ไม่มีคนไข้ให้รักษาต่างหากล่ะ ถ้ามีคนไข้ให้รักษา หมอพร้อมที่จะรักษานะ

นี่กึ่งพุทธกาลศาสนาเจริญ เจริญตรงนี้ไง เจริญตรงที่ว่า “มีครู มีอาจารย์ มีโคนำฝูงที่มีความอาชาไนย ที่สามารถจะนำฝูงโคนั้นข้ามโอฆะไง ข้ามโอฆะ ข้ามถึงฝั่ง ขึ้นถึงฝั่ง ขึ้นถึงฝั่ง พ้นจากวัฏฏะ”

นี่มันต้องภูมิใจ ถ้าเรามีสิ่งนี้เราภูมิใจ ศาสนาไม่เสื่อม

เราก็มีโอกาส ครูบาอาจารย์ของเราก็เป็นสิ่งที่ยืนยัน ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาจากโคนต้นโพธิ์นั้น ธรรมอันนั้นไม่มีการบุบสลาย ไม่มีการเคลื่อนไหวอยู่แล้ว แต่สังคมสงฆ์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมไป สังฆะ สงฆ์บวชมา ธรรมวินัยยังไม่ตรัสวินัย ทำไมพระอรหันต์มหาศาลเลย เวลาพระบวชเข้ามามาก ธรรมวินัยเกิดขึ้นมหาศาลเลย แล้วทำไมผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ

พระจุนทะถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะว่า

“เมื่อก่อนนี้ ธรรมวินัยก็มีน้อย ทำไมพระอรหันต์ในศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีมาก แต่ในปัจจุบันนี้ธรรมวินัยมีมาก ทำไมพระอรหันต์ในสมัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีน้อยล่ะ”

นี่สังคม สังคมมันจะเสื่อมทราม เสื่อมทรามเพราะคนเข้ามาตักตวงผลประโยชน์เข้ามา เพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันเข้ามาเอารัดเอาเปรียบสังคมนั้น นี้ก็เหมือนกัน ในกึ่งพุทธกาล ครูบาอาจารย์ของเราขึ้นมา เป็นผู้ที่พึ่ง เป็นเหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา แล้วมีสิ่งที่ตอบสนองเราได้ แก้ไขความลังเลสงสัยของเราได้ แล้วเรามีความลังเลสงสัยจริงไหม ถ้าเรามีความลังเลสงสัยจริง เราประพฤติปฏิบัติจริง เราต้องทำของเราขึ้นมา เราสร้างโอกาสของเราขึ้นมา

เพราะเราต้องหาโอกาสนี้เพื่อให้ครูบาอาจารย์ชี้เข้ามา เพื่อให้ถึงใจของเรา ให้หาตัวสิ่งที่ลึกลับในใจนี้ แล้วเอามันออกมาตีแผ่ ตีแผ่มาแล้วชำระให้สะอาด สิ่งที่ชำระให้สะอาด เห็นไหม นี่หัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พ้นจากกิเลสคือสะอาดบริสุทธิ์ หัวใจของเราสกปรกโสมมไปด้วยพญามาร สกปรกโสมมด้วยอวิชชา สิ่งนี้มันปกคลุมใจ นี่ใจเหมือนกัน สิ่งที่เป็นภาชนะเหมือนกัน เข้าไปห้างสรรพสินค้าเหมือนกัน แต่ว่าคนหนึ่งได้สินค้าออกมา คนหนึ่งได้แต่ความเร่าร้อน ได้แต่ความทุกข์โศก เพราะมันจะต้องเวียนเกิดเวียนตายไปในวัฏฏะไง

นี่เราเกิดมาท่ามกลางพระพุทธศาสนา เหมือนเราเข้าห้างสรรพสินค้า แล้วเราออกมาเรามีแต่ความเร่าร้อน เพราะเราต้องตายนะ เกิดมาต้องตายทั้งหมด เรามาในพบพระพุทธศาสนา เราเข้ามาในห้างสรรพสินค้าแล้ว แล้วถ้าเราไม่สามารถที่จะหาต้นทุน หาทุนของเราซื้อสิ่งใดติดตัวเราให้เป็นบุญกุศล ให้ไปเกิดในที่บุญกุศล

แต่ถ้าเราถึงที่สุดเห็นไหม จะไม่มีการเกิด และจะไม่มีการตาย เพราะเราเข้าไปในห้างสรรพสินค้านั้น แล้วเราเหมาทั้งหมด เราเข้าใจในห้างสรรพสินค้า คือเข้าใจในธรรมทั้งหมด ไม่สงสัยในธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่จะไม่มีการเกิดอีกเลย ไม่มีการเกิด แต่ต้องตายในชาติปัจจุบันนี้ แต่จะไม่มีการเกิดอีก เพราะทำความลังเลสงสัย

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เดี๋ยวนี้ เราทำลายเธอหมดแล้ว”

จบสิ้นกระบวนการของการประพฤติปฏิบัติ นี้คือศาสนาเจริญในใจของเรา เอวัง