ข่มไว้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “ดูอารมณ์”
กราบนมัสการหลวงพ่อ กระผมปฏิบัติภาวนาทุกวัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จทุกวัน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาใช่ไหมครับ
ที่ผ่านมาในขณะปฏิบัติงาน (ผมทำงานไปรษณีย์ครับ) ต้องพบเจอกับผู้คนหลากหลาย สามารถจับอารมณ์ได้แค่ผิวเผิน ไม่ชัดเจน ต่อมาเวลาจับอารมณ์ได้ทั้งดีและไม่ดี มีความรู้สึกถึงการเกิดของอารมณ์นั้นๆ ชัดเจนขึ้น แต่ไม่แจ่มแจ้ง (จะบอกว่ามองเห็นด้วยตัวรู้ก็ได้ครับ) ว่าอารมณ์เกิดจากจิต อาการของจิตแสดงออกมาทางอารมณ์ เมื่ออารมณ์ถูกจับได้โดยตัวรู้ อารมณ์นั้นก็ดับลง เป็นอย่างนี้เรื่อยไป ดูบ่อยๆ เข้าก็เริ่มชัดเจนขึ้น เร็วขึ้นตามลำดับ
แต่ก็มีอารมณ์อย่างหนึ่งที่ไม่สามารถดับได้โดยง่ายคือกามอารมณ์ (กระผมมีครอบครัวแล้วครับ) กับผู้หญิงอื่นไม่ใช่ภรรยานั้น สามารถดับอารมณ์ที่เกิดจากการมองเห็นไม่ให้เข้าไปสู่ความคิดได้ครับ แต่กับภรรยา บางครั้งเหมือนเป็นการทำหน้าที่
หลวงพ่อ : ขออนุญาตเล่าที่เขาหลับนอนกัน ยกเว้น ยกไว้
ถาม : อารมณ์แบบนี้คืออะไรครับ รบกวนพระอาจารย์กรุณาตอบด้วย
ตอบ : นี่ตอบปัญหานักปฏิบัตินะ เวลาเราตอบปัญหา ตอบปัญหากันเพื่อการประพฤติปฏิบัติ เพื่อแนวทางในการปฏิบัติ ถ้าแนวทางปฏิบัตินะ เพราะเราอยู่ในสังคม สังคมของนักปฏิบัติ ในสังคมของนักปฏิบัติเขาจะบอกว่า การปฏิบัติอย่างนั้นจะได้ผลและไม่ได้ผล การปฏิบัตินั้นจะได้ประโยชน์ไม่ได้ประโยชน์ ก็เอามาวิจัยกัน ทำวิจัยว่าสิ่งนั้นถูกสิ่งนั้นผิด ก็ว่ากันไปตามแต่สังคมปฏิบัติเขาคุยกัน
แล้วเวลาสังคมปฏิบัติเขาคุยกัน แล้วหลวงพ่อล่ะ หลวงพ่อก็เที่ยวแจงเหมือนกันว่าอันนั้นไม่ใช่ อันนั้นไม่ใช่ เราก็เที่ยวแจงเหมือนกัน คำว่า “ไม่ใช่ๆ” ไม่ใช่เพราะเขายึดไง
คำว่า “ไม่ใช่” ในการปฏิบัตินะ เริ่มต้นจากคนที่ปฏิบัติล้มลุกคลุกคลาน คือเริ่มต้นหญ้าปากคอก คำว่า “หญ้าปากคอก” เราต้องปล่อยให้เขาปฏิบัติตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงคือให้เขาถูกเขาผิด เหมือนเด็ก เด็กให้มันหัดเดิน ให้มันเดินให้ได้ ถ้ามันเดินได้นะ มันเดินได้ เดี๋ยวมันวิ่งได้ เดี๋ยวมันแข็งแรงได้ เดี๋ยวมันทำสัมมาอาชีวะ เดี๋ยวมันเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา
ในแนวทางปฏิบัติ ถ้าแนวทางปฏิบัติ ถ้าเขาปฏิบัติโดยหญ้าปากคอกคือเริ่มต้น เริ่มต้นเราจะทำเหมือนนายช่างใหญ่ นายช่างใหญ่เขามองด้วยประสบการณ์ของเขา เขาจะมองเลยว่าการก่อสร้างมันควรทำอย่างใด เพราะด้วยประสบการณ์ของเขา แต่ถ้าคนมันไม่เป็นล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนั้นน่ะ
นี่ก็เหมือนกัน เวลาแนวทางปฏิบัติ ถ้าเราปฏิบัติแล้วถ้ามีครูบาอาจารย์ ท่านมองออก ท่านจะวางแนวทางให้หรือพยายามจะชี้นำมา แต่เราเป็นผู้ฝึกหัดๆ เราคิดว่าเราเก่ง เราทำได้ เราทำได้เพราะเราไม่มีประสบการณ์ไง
ฉะนั้น ในแนวทางปฏิบัติที่บอกว่า อันนั้นใช้ได้ อันนั้นใช้ไม่ได้ อันนั้นถูก อันนั้นผิด
อันนั้นเพราะเขาบอกเรื่องผลไง เวลาเราพูดไป เรื่องผล ถ้าบอกว่า นี้เป็นแนวทางปฏิบัติ ถ้าใครฝึกหัดปฏิบัติมา แล้วถ้าเป็นจริงขึ้นมา เดี๋ยวจะรู้ แล้วถ้าเป็นครูบาอาจารย์ เวลาครูบาอาจารย์พูด มันต้องเป็นจริงตามนั้น
แต่นี่ไม่อย่างนั้นน่ะ ปฏิบัติก็ล้มลุกคลุกคลานแล้วบอกโสดาบัน ไปไหนมา สามวาสองศอก บอกโสดาบัน ไม่ได้ทำอะไรเลยบอกว่าโสดาบัน
คำว่า “โสดาบัน” คือผลใช่ไหม คือเป้าหมายใช่ไหม ถ้าเป้าหมาย ถ้าเอ็งพูดถึงเป้าหมาย เอ็งต้องบอกสิ อย่างเช่นเราศึกษากันในพื้นบ้าน เราศึกษาจากปากชาวบ้าน เราไปฝึกเขา ไปฝึกกับปากชาวบ้าน ทำอีเอ็ม มีการเพาะปลูกใช่ไหม ในการพันธุ์พืช เราไปทำฝึกหัดกับใครก็ได้ เขาไม่มีใบประกาศนียบัตร เขาฝึกอาชีพ เขาให้อาชีพไง
แต่นี่เวลาถ้ามันเป็นการศึกษา เวลาจบแล้วเขาต้องมีวุฒิ วุฒินั้นน่ะเขาสอบได้ จบ ป.๔ อ่านหนังสือไม่ออก อย่างนี้ใช้ไม่ได้ จบ ป.๔ จบมัธยม จะเข้าเรียนอุดมศึกษา พอเข้าไปแล้วสอบได้ สอบแล้วเรียนไม่จบ นี่มันมีวุฒิไง วุฒิมันยืนยันไง
นี่บอกว่าเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี...เป็นอะไรกัน ถ้าเป็นอย่างนั้นปั๊บ มันก็ต้องเทียบวุฒิแล้ว อ้าว! เทียบวุฒิเลย ก.พ. รับรองหรือเปล่า เขารับรองการศึกษาอันนี้หรือเปล่า การศึกษานี้ถูกต้องหรือเปล่า นี่ไง นี่พูดถึงเวลาบอกถึงผลไง ถ้าบอกถึงผล ถ้าบอกถึงผลนะ วัดผลได้เลย
ฉะนั้น เวลาที่ว่าหลวงตาท่านหาครูบาอาจารย์ ท่านไปฟังเทศน์ ท่านไปสนทนาธรรมกับหลวงปู่ขาว ไปสนทนาธรรมกับหลวงปู่ชอบ เวลาท่านปรึกษา เวลาสนทนาธรรมกับหลวงปู่คำดี นี่มันบอกถึงวุฒิ วุฒิภาวะเลย บอกถึงเลยว่ามีหรือไม่มี นี่พูดถึงว่าถ้าผิดถูกอยู่ตรงนี้
แต่เวลาปฏิบัติ บอกสังคมปฏิบัติเขาบอกว่า ทางนู้นว่าทางนู้นใช้ได้ นี้ใช้ไม่ได้
ใช้ได้ใช้ไม่ได้อยู่ที่สติ ถ้าสติมันดี เรามีสติ เรากำหนดพุทโธๆ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ พอเรารู้ขึ้นมา มันสงบหรือไม่สงบ เรารู้เอง เรารู้เลย จิตใจฟุ้งซ่าน จิตใจมีแต่ความทุกข์ แบกรับภาระไว้เต็มหัวใจเลย แล้วเวลามันปล่อยวาง โอ้โฮ! มันบอกเลย แล้วมันบอกเลย พอบอกเลย เราวุฒิภาวะอ่อนด้อยใช่ไหม พอมันปล่อยวาง ใช่แล้ว แนวทางนี้ถูกต้อง อันนี้ถูกแน่นอนเลย แล้วมันปล่อยวางแค่นั้นก็นอนอยู่นั่นน่ะ แล้วมันไม่ลุกขึ้นยืนเลย แล้วมันบอกว่าถูกต้อง
ถูกต้อง นอนอยู่นั่นน่ะ ถ้าถูกต้อง พอมันปล่อยวางก็ถูกต้อง ก็ถูก ก็มันสบาย เราทุกข์เรายาก เราปฏิบัติก็เพื่อดับความทุกข์ยาก แล้วทำอย่างไรต่อล่ะ มรรคผลมันมีแค่นั้นเองหรือ แนวทางในการปฏิบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีแค่นั้นใช่ไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาสอน สอนเรื่องอะไร เวลาสอน สอนเรื่องใช้ปัญญา ปัญญาขั้นไหน ปัญญาระดับไหน
เวลาบอกถึงสมาธิๆ บอกถึงสติ สติมันมีสติ มหาสติ สติอัตโนมัติ ถ้าบอกถึงปัญญา มันมีสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา แล้วปัญญาอย่างหยาบ ปัญญาอย่างกลาง ปัญญาอย่างละเอียด มรรค ๔ ผล ๔
มรรคทำไมต้องมี ๔ ล่ะ ทำไมมรรคไม่มี ๑ ล่ะ
อ้าว! มรรคมี ๑ มีมรรคเดียวก็ใช้ได้แล้ว เวลามีรถคันเดียวจะไปไหนก็ได้ ถ้ามีรถคันเดียวนะ เวลาลงน้ำ เขาใช้เรือแล้ว เวลาขึ้นอากาศ เขาใช้เครื่องบิน เวลาไปอวกาศ เขาใช้ยานอวกาศออกนอกโลกนู่นน่ะ เขาใช้รถคันเดียวที่ไหนล่ะ
รถมันก็คือรถ รถเขาเอาไว้เดินทางโดยที่มีถนนไง อยู่บนโลกนี้ไง แต่ถ้าพอมันไปลงน้ำ เขาก็ใช้เรือ แล้วขึ้นไปบนอากาศ เขาก็ใช้เครื่องบิน ถ้าจะไปดวงจันทร์ เขาใช้ยานอวกาศ มันมรรค ๔ ผล ๔ ไง นี่พูดถึงแนวทางปฏิบัติ ถ้ามีแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องดีงามมันปฏิบัติไป
เขาปฏิบัติไว้ฝึกคน ถ้าคนมันปฏิบัติได้แล้วโดยที่ไม่ยึดติด ไม่ยึดติดกับความรู้ของตัวนะ มันจะพัฒนาไปเรื่อยๆ แล้วมันพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ เราจะรู้เลยว่าอาจารย์เราโกหกหรืออาจารย์เราจริง
ถ้าอาจารย์เราจริงนะ เพราะอาจารย์เราจริงแบบหลวงตา หลวงตานี่อาจารย์จริง เวลาท่านเทศน์ที่บนศาลา เวลาท่านพูดกับพระนะ หมู่คณะให้จำคำพูดของผมไว้นะ ให้จำคำสอนของท่าน ให้จำคำสอนของท่านไว้นะ แล้วให้ปฏิบัติไป ถ้าวันไหนรู้จริงนะ ถ้าท่านตายไปแล้วจะมากราบศพ ท่านท้าอย่างนี้ ท่านท้าอย่างนี้ทุกวันนะเวลาท่านเทศน์
หมู่คณะ หมู่คณะคือเราปัญญาชน เวลาคนที่บวชไปอยู่ที่บ้านตาด มีปริญญา ปริญญาโท ปริญญาเอกเยอะแยะไปหมด ปัญญาชนทั้งนั้นน่ะ “จำคำพูดของผมไว้นะ จำคำพูดของผมไว้นะ แล้วถ้าปฏิบัติได้นะ ถ้าปฏิบัติได้ถึงจะมากราบศพ” นี่ไง ยืนยันอย่างนี้ ยืนยันเลย นี่ถ้ามันเป็นจริงมันยืนยันอย่างนั้น
แต่เวลาถ้าเราพัฒนาขึ้นไป ถ้ามันเป็นความจริง ไปถึงตรงนั้นมันจะไปกราบศพเลย ถ้ามันไปกราบศพเพราะมันยืนยันกัน ยืนยันกันเวลาท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมา กราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบแล้วกราบเล่า มันยืนยันกัน มันยืนยันกันในหัวใจ ถ้ามันยืนยันกันอย่างนั้นนั่นเป็นความจริง ถ้าความจริง แต่กว่าจะจริงขึ้นมามันจะพัฒนาขึ้นมา
ฉะนั้น เวลาว่าแนวทางปฏิบัติของใคร แนวทางปฏิบัติของใครนะ ถ้าเราทำโดยบริสุทธิ์ใจ แล้วพิสูจน์กันโดยสันทิฏฐิโกความเป็นจริง ความเป็นจริงในหัวใจ ถ้าเป็นจริงขึ้นมา เพียงแต่ว่า บารมี อินทรีย์แก่กล้าไม่แก่กล้า
ถ้าอินทรีย์อ่อน ใครพูดอะไรก็เชื่อไปหมด หลงไปกับเขา คล้อยตามเขาไปเรื่อย คล้อยตามเขาไปเรื่อย ถ้าคนไม่สนใจในศาสนาเลย มันก็อยู่ทางโลก หาแต่เงิน หาแต่ทอง หาแต่ลาภสักการะ ไม่เคยคิดถึงว่าหัวใจมันมีค่ามากกว่าวัตถุอย่างนั้น หัวใจมันมีค่ากับกระแสสังคมที่เขายกย่องสรรเสริญ
หัวใจมันมีค่ามากกว่านั้นเยอะนัก ถ้าหัวใจมีค่ามากกว่านั้น ถ้าย้อนกลับมา ย้อนกลับมาก็เข้ามาหาหัวใจของตัว ถ้ามาฝึกหัดภาวนา คนที่ไม่เชื่อมันก็อยู่กับทางโลกเลย เวลาไอ้คนที่เชื่อ เชื่อแล้ว เชื่อแล้วก็ให้เขาครอบงำไป
มันจะครอบงำไปอย่างไร เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้กาลามสูตรไง ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น ให้เชื่อในการประพฤติปฏิบัติ ไม่ศรัทธามันก็ไม่เชื่อ ไม่ศรัทธามันก็ไม่ค้นคว้า ไม่ศรัทธามันก็ไม่ทดสอบ มันก็ไม่สนใจ เวลาศรัทธาขึ้นมาก็ให้เขาครอบงำซะ ทำอย่างนั้นจะได้อย่างนั้น ทำอย่างนั้นจะได้อย่างนั้น...เขาได้ แต่เราไม่ได้ เอ็งบอกว่าได้อย่างนั้นๆๆ แต่กูไม่ได้ กูทุกข์อยู่นี่
มันเอาตรงนี้ต่างหากล่ะ ถ้าเอาที่นี่ปั๊บ ก็ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาว่า ในแนวทางปฏิบัติต่างๆ มันก็ปฏิบัติไป แต่ถ้าปฏิบัติแล้วมันต้องได้เนื้อหาสาระ ถ้าเนื้อหาสาระอย่างนี้
“กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมภาวนาทุกวันเลย แต่ไม่ประสบความสำเร็จทุกวัน เป็นเรื่องธรรมดาใช่หรือไม่ครับ”
อืม! ใช่ เห็นไหม คำถามนี้มันสุดยอดเลย “ผมภาวนาทุกวันเลย แต่มันก็ไม่เห็นได้อะไรเลย มันเป็นเรื่องธรรมดาใช่ไหม”
ใช่ มันเป็นเรื่องธรรมดา กินข้าวเสร็จแล้วนะ เวลาจะกินข้าว โอ้โฮ! คนที่เขามีเงินมีทองนะ เขาไปกินซีฟู้ด โอ้โฮ! เวลาเขายกมาแต่ละจานนี่แหม! สุดยอดทั้งนั้นเลยนะ เวลากินจบแล้วมันเหลือแต่จานเปล่าๆ เรากินจบแล้ว หมดแล้ว นี่ก็เหมือนกัน เวลาเขายกมา โอ้โฮ! เข้าไปในร้านอาหารเขายกมาแต่ละเมนูนี่ อื้อหืม! สุดยอดเลย พอกินเสร็จแล้วเหลืออะไร เหลือแต่จาน
นี่ไง ภาวนาแล้ว อาหารกินทุกวันไง กินทุกวัน กินทุกมื้อ กินแล้วก็กินเล่า กินแล้วดำรงชีวิตไง นี่ก็เหมือนกัน “กระผมภาวนาทุกวันเลย แต่ไม่ประสบความสำเร็จทุกวันเลย เป็นเรื่องธรรมดาใช่ไหม”
ใช่ กินแล้วไง ก็เอ็งภาวนาแล้วไง ภาวนาไง เราภาวนา เราพุทโธ เราภาวนา ถ้าเราไม่ภาวนาล่ะ ถ้าเราไม่มีอาหารกินล่ะ คนไม่มีอาหารกินมันทุกข์นะ ดูสิ เขามีอาหารกินกัน เขามีความสุข เขากินแล้วเขาก็อิ่มหนำสำราญ ไอ้เราหิวกระหายนั่งมองเขากิน แล้วนั่งมองเขานะ เราไม่มีอาหาร นั่งมองเขาน่ะ โอ้โฮ! อร่อยไม่อร่อยไม่รู้ เห็นเขากินก็นึกรสตามเขาไป
นี่ก็เหมือนกัน ก็เขาไม่ทำ เขาไม่ทำ แต่เราทำ เรื่องธรรมดาใช่ไหม
ใช่
“ภาวนาทุกวันเลย แล้วไม่ประสบความสำเร็จทุกวันเลย เป็นเรื่องธรรมดาใช่ไหม”
ใช่ ใช่ แต่เราทุกข์ไหมล่ะ ถ้าทุกข์แบบทางโลกนะ ทุกข์โดยกิเลสตัณหาความทะยานอยากนี่ทุกข์ยากมากนะ เวลาเราทุกข์นะ คนเราทุกข์ไม่มีทางออก มันไม่มีทางออกเลย
แต่ถ้าคนมันมีทางออก เราทำหน้าที่การงาน จะเหนื่อยยากในการทำหน้าที่การงาน นี้เป็นหน้าที่ของมนุษย์ เป็นหน้าที่ของคน คนต้องมีหน้าที่การงานเพื่อหาปัจจัยเครื่องอาศัยดำรงชีวิต ถึงจะเหนื่อยยากขนาดไหน มันเป็นหน้าที่ ก็ทำหน้าที่ของเรา นี่พูดถึงทางโลกนะ ทำหน้าที่เพื่อสัมมาอาชีวะเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเท่านั้นน่ะ แล้วเวลามันทุกข์มันยาก มันทุกข์ยากที่ไหนล่ะ ก็มันทุกข์ยากที่ใจ
ใจมันต้องการอะไรล่ะ มีเงินล้นฟ้าแล้วมันมีความสุขไหม มีหน้าที่เป็นถึงนายกรัฐมนตรี คนด่าทั้งประเทศเลย มีความสุขไหมล่ะ มึงจะเป็นอะไรล่ะ เป็นอะไรมันก็โดนด่าทั้งนั้นน่ะ โลกธรรม ๘
แต่ถ้ามันรักษาหัวใจของเราล่ะ สัจธรรมมันอยู่ที่นี่ไง ถ้าหามาที่นี่ได้ มันก็มีความสุขไง ถ้ามีความสุขขึ้นมา เห็นไหม
เราปฏิบัติทุกวันเลย แล้วมันเรื่องธรรมดาใช่ไหม
ใช่ ไม่ประสบผลสำเร็จเป็นเรื่องธรรมดา แต่ทุกข์ไหมล่ะ มันแส่ส่ายเหมือนเก่าไหม มันไม่แส่ส่ายเหมือนเก่าแล้ว แต่เดิมไม่มีทางไปไหนเลย ทุกข์อยู่คนเดียว ไฟสุมขอนมันเผาลนอยู่ในใจ ไปปรึกษาใครมันก็ชวนไปเที่ยวยุโรปไง โอ๋ย! ถ้าทุกข์ ทุกข์ไปตุรกี มีแต่โบราณวัตถุ ทุกข์ก็ไปเที่ยวไง ไปปรึกษาคนอื่นเขามันก็พาไปเที่ยว ตอนนี้เขาจะซื้อตั๋วไปเที่ยวอวกาศกันแล้ว ถ้าไปปรึกษาเขาน่ะ
แต่ถ้ามาปรึกษาศาสนานะ มาปรึกษาครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงนะ ท่านบอกว่าให้นั่งลงในห้องพระ ให้นั่งลงในที่ประพฤติปฏิบัติของเรา แล้วกำหนดพุทโธให้ใจมันสงบเข้ามา “สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี”
เราจะไปตุรกี เราจะไปยุโรปที่ไหน คนที่นั่นมันก็บ่นทุกข์อยู่นะ คนที่ตุรกี คนที่ร่ำรวยก็มี คนที่ทุกข์ยากก็เยอะ ไม่มีจะกินก็มาก คนจรจัดเยอะแยะ ที่ไหนที่ว่าสูงส่ง ที่ไหนที่ว่าสวยงาม นั่นน่ะ คนจรจัดมีทั้งนั้นน่ะ คนไม่มีจะกินที่นั่นก็มี เราไปเห็นนะ เราว่าเขามีความสุข เขาไม่มีจะกินอยู่ที่นั่นน่ะ มีความสุขไหม เราไปแสวงหาอย่างนั้นน่ะ เราไม่แสวงหาหัวใจของเรา ถ้าเราแสวงหาหัวใจของเรา เราดับทุกข์ที่นี่
ฉะนั้น เวลาปฏิบัติ ปฏิบัติทุกวันเลย แล้วไม่ประสบความสำเร็จทุกวันเลย เป็นเรื่องธรรมดาใช่ไหม
ใช่ ใช่เลยล่ะ คนจะพูดอย่างนี้ได้มันพูดโดยที่ว่าเราทำแล้วถึงพูดไง แต่ถ้าคนพูดอย่างนี้ไม่ได้นะ มันไม่พูดอย่างนี้ มันจะมาเรียกร้องเลย “นี่ทำแล้วๆๆ” มันจะมาเรียกร้อง มันจะมาปรับเลยล่ะ จะต้องเสียค่าป่วยการนะ “ปฏิบัติมา ๒ ปีแล้ว ถ้าไม่ปฏิบัติ หาเงินได้อีกกี่ล้านไม่รู้ หลวงพ่อจ่ายมา” มันจะมาเรียกค่าเสียหายเลย “แหม! บอกให้ปฏิบัติๆ เสียเวลามา ๒ ปี เห็นไหม ไม่ได้อะไรเลย” นั่นล่ะมันกลับทุกข์อีกอย่างหนึ่ง ทุกข์เพราะปฏิบัติคาดหมายแล้วไม่ได้สมความปรารถนา
ถ้าเราปฏิบัติแล้วเราคาดหมายว่าเราจะได้มรรคได้ผล แล้วเราไม่สมความปรารถนา ไม่สมความปรารถนามันเป็นตัณหาความทะยานอยาก ถ้าตัณหาความทะยานอยากอย่างนี้มันเป็นกิเลส
แต่ถ้าเราปฏิบัติของเราด้วยมรรค ความอยากที่เป็นมรรค ความอยากที่ขวนขวาย ความอยากที่ทำคุณงามความดี คุณงามความดี ความดีก็คือความดีในตัวมันเอง ถ้าความดีในตัวมันเอง เราสร้างบารมีของเรา เราพยายามประพฤติปฏิบัติของเรา
เราปฏิบัติของเรา หนึ่ง กลิ่นของศีลหอมทวนลม เรามีศีลมีธรรมในใจ เราไม่ทำความชั่วอยู่แล้ว คนที่ไม่ทำความชั่วเพราะอะไร คนปฏิบัติมันจะรู้ เพราะคนปฏิบัติมันมีเป้าหมายอยากได้มรรคได้ผล ฉะนั้น เรื่องผิดศีลมันไม่กล้าทำเลยล่ะ เพราะถ้าผิดศีล พอมันทำแล้วมันจะปฏิบัติไม่ได้ พอเวลาจะปฏิบัตินะ ไอ้ความที่เราทำผิดนั่นน่ะมันจะย้อนรอยกลับมา พอย้อนรอยกลับมา มันจะเป็นนิวรณธรรม มันจะมาหลอกมาหลอน
ฉะนั้น คนที่ปฏิบัติจริงๆ นะ เขาพยายามจะรักษาเพื่อไม่ให้มีความผิดของตัว ถ้าไม่มีความผิดของตัว คนที่รักษาศีล คนรักษาศีลแล้วคนปฏิบัติเขาจะมีคุณธรรมไหม เขามีคุณธรรมในความเป็นปกติสามัญสำนึกของปุถุชน มันไม่ทำความผิดไง มันมีคุณค่าตรงนี้ไง
ที่บอกว่า ปฏิบัติทุกวันแล้วมันไม่ประสบความสำเร็จเลย เป็นเรื่องธรรมดาใช่ไหม
ใช่ ก็ปฏิบัติเพื่อความสงบไง ปฏิบัติเพื่อเราไง ฉะนั้น สิ่งนี้ใช่
ฉะนั้น คำถามต่อไปนะ นี่อารัมภบทมา ทีนี้ที่ผ่านมาเขาทำงานไปรษณีย์ เขาต้องมีการพบเจอกับคนมากมาย ถ้าพบเจอคนมากมาย สิ่งที่มันเกิดขึ้น สิ่งที่มันเกิดขึ้นมันจะมีอารมณ์ความรู้สึก เขาใช้ปัญญาไล่ของเขาไป ถ้าปัญญาไล่ของเขาไป อารมณ์อย่างนี้เขารู้ทันได้ รู้ทันได้ เขาบอกว่า ถ้าพุทโธก็เป็นคำบริกรรม พุทโธเป็นสมาธิอบรมปัญญา แล้วถ้าใช้ปัญญาใคร่ครวญเป็นปัญญาอบรมสมาธิ
เราทำ คำว่า “ทำ” เหมือนอาหาร เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับพราหมณ์ พราหมณ์เขามาต่อว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพราหมณ์หนุ่ม เขาเป็นผู้เฒ่า ทำไมไม่เคารพเขาตามธรรมเนียม ตามธรรมเนียม ผู้ที่ด้อยกว่า ผู้ที่อายุน้อยกว่าต้องเคารพผู้ใหญ่
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดา แต่เขาไม่รู้ เขาเป็นพราหมณ์ เขาถือประเพณีของพราหมณ์ แต่เขาไม่รู้ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพุทธะ เป็นผู้ที่ประเสริฐ เขาก็จะบังคับให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคารพเขา แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคารพเขา ก็มาต่อว่าไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็นั่งฟังเฉย
พอเขาพูดจบ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามว่า “พราหมณ์ ถ้าพราหมณ์คนหนึ่งเอาอาหารไปเลี้ยงพราหมณ์คนหนึ่ง ถ้าพราหมณ์เขาไม่กิน อาหารจะเป็นของใคร”
“ก็เป็นของคนที่ยกมาต้องยกกลับไปสิ”
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพราหมณ์มาติเตียนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่รับ เอ็งเอากลับไป เอากลับไป
นี่ไง นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราใช้ปัญญาไง ถ้าเรามีปัญญาแล้ว เขานั่งต่อว่าทั้งวันเลย เออ! นั่งเฉย พอเขาพูดจบ อาหารที่เอ็งยกมา สัญญาอารมณ์ที่พรั่งพรูออกมาจากปาก ออกมาจากใคร ก็เอามาจากพราหมณ์นั้นน่ะ แล้วถ้าคนที่เขาฟังเขาไม่รับล่ะ มันจะเป็นของใคร ก็ของพราหมณ์นั้นเอากลับไป เพราะเราไม่รับ เพราะเราไม่รับ เราวางได้
แต่ถ้าเรารับ เราทุกข์นะ ถ้าเรารับนะ เราก็สั่นไหวไปกับสังคม สังคมจะมีสิ่งใด เราก็ต้องสั่นไหวไปกับเขาใช่ไหม ในนวโกวาท ที่ไหนมีมหรสพสมโภช ที่ไหนมีการฟ้อนรำ ที่ไหนมีการละเล่น เราไปที่นั่นหมดเลย ที่ไหนมีอะไร เราไปหมดเลย เราเป็นเหยื่อเขาใช่ไหม เราไม่มีหลักเลยใช่ไหม
ถ้าเรามีหลัก เรามีศีลมีธรรม เราถือศีล ๘ เราไม่ดูการละเล่น ไม่ดูการฟ้อนรำ ที่ไหนเป็นที่อโคจร เราไม่ไป พระเรา ที่อโคจรไม่ควรไป ไป ปรับอาบัติทุกกฏ ที่อโคจร แม้แต่ตลาด ตลาดสดนี่พระไปไม่ได้แล้ว เพราะตลาดสดมันเป็นที่อโคจรของพระ แต่มันเป็นที่แสวงหาผลกำไรของโยม
โยมเราต้องมีตลาดใช่ไหม เพื่อจะค้าขาย เพื่อจะผลประโยชน์ใช่ไหม เราต้องส่งสินค้าของเราไปที่ตลาดนั้น อันนั้นมันเป็นการประกอบธุรกิจของโยมเขา แต่พระเรา ตลาดสดเป็นที่อโคจรของพระนะ พระถ้าไปนี่ปรับอาบัติเลย เว้นไว้แต่พระจะซื้อของ พระต้องการสิ่งใด แต่ธรรมดาพระเราใช้ไวยาวัจกร
นี่พูดถึงว่า ถ้าเขาต้องพบเจอคน แล้วเขามีอารมณ์ เขาจับสิ่งที่อารมณ์ของเขาได้
เราทำของเราเข้ามา ทีนี้ทำเข้ามาปั๊บ เราต่อเนื่องขึ้นมา “เวลาจับอารมณ์ได้ทั้งดีและไม่ดี จะมีความรู้สึกว่าเกิดอารมณ์นั้นๆ อย่างชัดเจนแต่ไม่แจ่มแจ้ง จะบอกว่ามองเห็นจากตัวรู้ก็ได้ว่าอารมณ์เกิดจากจิต อาการของจิตแสดงออกมาทางอารมณ์เหมือนอารมณ์ถูกจับได้โดยตัวรู้ อารมณ์นั้นก็ดับลงอย่างนี้เรื่อยไป ดูบ่อยๆ เข้าจะชัดเจนขึ้น เร็วขึ้นตามลำดับ”
เห็นไหม เริ่มต้นตั้งแต่ว่า “ผมปฏิบัติทุกวันเลย แล้วสิ่งที่ไม่ประสบความสำเร็จเป็นเรื่องธรรมดาใช่ไหม”
ใช่ เห็นไหม ใช่ๆๆ
ทีนี้พอเราดูต่อเนื่องไป เราจับอารมณ์ได้แล้วเราใช้ปัญญาของเรา จนวงเล็บว่า “จะบอกว่ามองเห็นจากตัวรู้ก็ได้”
“จะมองเห็นจากตัวรู้ก็ได้” นี่มันชัดเจนขึ้น
ถ้าคนฝึกหัดแล้วถ้ามันชอบธรรม ความชอบธรรมคือสัมมาทิฏฐิ ความไม่ชอบธรรมคือมิจฉาทิฏฐิ การปฏิบัตินี่การปฏิบัติเหมือนกัน แต่การปฏิบัติโดยมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิด ความหลงใหลได้ปลื้มไปกับอารมณ์ความรู้สึกโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยากเป็นมิจฉาทิฏฐิ
การปฏิบัติธรรมโดยสัจธรรม โดยข้อเท็จจริง โดยข้อเท็จจริงโดยความเป็นจริงขึ้นมา นี่โดยความชอบเป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้าสัมมาทิฏฐิมันจะละเอียดขึ้น มันจะพัฒนาขึ้น มันจะดีของมันขึ้น ถ้ามันดีของมันขึ้น จนมองเห็นว่าเราเห็นจากตัวรู้เลย เพราะตัวรู้มันจะชัดเจนขึ้น
อารมณ์ความคิดมันเกิดดับๆ เราไม่ทันมันหรอก เวลาจะทันมันเพราะอะไร เพราะอวิชชาคือความพร่ามัวของจิต ความพร่ามัวของจิต ความคิดมันก็เกิดแล้ว เราก็ไปรู้ว่ามีความคิดขึ้นมา มีอารมณ์แล้ว เราก็ว่าอารมณ์เป็นความคิด เขาบอกว่าดูความคิดๆ ดูจิตๆ นั่นน่ะ เขาดูอารมณ์ ดูอารมณ์เพราะอะไร เพราะว่าคนเราส่วนใหญ่ก็รู้จักอารมณ์ของตัวเอง แต่มันไม่รู้จักตัวจิตหรอก
ทีนี้ไม่รู้จักตัวจิต เราดูของเราด้วย เราพัฒนาของเราด้วย เราภาวนาของเราเรื่อยๆ ภาวนาว่า เราภาวนาทุกวันเลย แต่ไม่ประสบความสำเร็จทุกวันเลยนี่ใช่ไหม
ใช่ พอมันใช่ขึ้นมา มันใช่ขึ้นมามันเป็นสัมมาทิฏฐิ มันถูกต้องชอบธรรมของมันขึ้นมา เพราะคนเราปฏิบัติ เราต้องยอมรับความเป็นอนุบาลของเรา เด็กเล็กเด็กน้อย จิตอ่อนแอ จิตที่ฝึกหัดปฏิบัติมันยังเล็กน้อยก็ต้องฝึกหัดมัน การฝึกหัดของเราโดยความชอบธรรมมันจะเป็นจริงอย่างนี้ หน่อของพุทธะมันจะงอกงามของมันขึ้นมา ถ้างอกงามขึ้นมา มันจะรู้มันจะเห็น รู้จากตัวรู้เลย ชัดเจนขึ้นมา มันชัดเจน
แล้วทำอย่างนี้ถูกต้องไหม
ถูก ก็ทำของเราไป ถูกต้อง มันชัดเจนเพราะพอเราทำด้วยสัมมาทิฏฐิ ด้วยความเห็นถูกต้องดีงาม มันก็จะชัดเจนขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา
นี้ว่าภาวนาถูกไหม
ถูก
“แต่มีอารมณ์อย่างหนึ่งที่ไม่สามารถดับได้โดยง่ายคือกามอารมณ์ กระผมควรจะทำอย่างไรครับ”
โอ้โฮ! โดยธรรมชาติของนักปฏิบัติเรา ทุกคนก็มีปัญหา ธรรมดาของสัตว์โลก กามคุณ ๕ เรื่องของกามคุณ ๕ สัตว์ ดูสัตว์เดรัจฉาน สัตว์ต่างๆ ดูมันผสมพันธุ์กันสิ โดยธรรมชาติของมัน ดูสิ่งมีชีวิต เกสรดอกไม้ต่างๆ มันผสมพันธุ์ของมัน นี่มันเป็นเรื่องของวัฏฏะ เป็นเรื่องของวัฏฏะ ทีนี้มนุษย์เกิดขึ้นมา มนุษย์เกิดมาจากโลก มนุษย์เกิดมาจากกาม สรรพสิ่งลงไปมันลงไปสู่กามทั้งนั้นน่ะ กามคุณ ๕ เพราะถือว่าเป็นคุณ เป็นการจรรโลงต่อไป แต่เวลามันเป็นจริงล่ะ
เวลาความเป็นจริงของมัน นั่นน่ะคือการเกิด การเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย มันจะทำให้มีการเกิด แล้วพอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเห็นการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย มันต้องมีฝ่ายตรงข้ามว่าไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย แล้วถ้าไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ใครเป็นคนไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย
ถ้าไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย สิ่งที่พิจารณามามันจะละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉาขึ้นมา แล้วมันจะไปละกามราคะให้อ่อนลง แล้วมันจะเข้าสู่การไปละกามราคะปฏิฆะอันนั้น ถ้าละกามราคะปฏิฆะ มันถึงจะไปดับกามได้ตามความเป็นจริง
แล้วไอ้นี่เราเพิ่งปฏิบัติเลย แล้วทางโลกปฏิบัติทุกคนก็ว่าพิจารณาอสุภะ ทุกคนการปฏิบัติ เพราะเรื่องกามราคะมันเป็นเรื่องที่เข้าไปกวนหัวใจเยอะมาก เห็นไหม กามวัตถุ แม้แต่ของสวยของชอบ นี่ก็เป็นวัตถุกาม วัตถุกาม เราก็ชอบมัน
แล้วชอบมัน ถ้าเราพิจารณาไปด้วยศีลด้วยธรรมมันก็สงบระงับเข้ามาได้ เพราะว่าเราเห็นว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก เราก็จะไม่ไปยุ่งกับสิ่งนั้น มันก็เป็นวัตถุกาม
แต่ถ้ามันเป็นกามราคะจากภายใน สิ่งที่ว่าเวลาคนปฏิบัติจะมีปัญหาเรื่องนี้มาก ถ้ามีปัญหาเรื่องนี้มาก จะเข้าไปคลุกคลีกับมันอย่างไร จะไปแสวงหาอย่างไร จะดับมันอย่างไร ก็บอกว่าเป็นการพิจารณาอสุภะ พิจารณาอสุภะ ทุกคนพิจารณาอสุภะ
แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ มันเป็นความจริงนั้นมันเป็นเรื่องการพิจารณาโดยสามัญสำนึก ถ้าสามัญสำนึก สิ่งที่ว่าบางคนบอกว่า “เมื่อก่อนนั้นฉันเป็นคนที่มีความโกรธมาก เป็นที่หลงใหลในกามมาก เดี๋ยวนี้ฉันดับได้หมดแล้ว”...ไม่ใช่
คือข่มไว้ พวกนี้เขาข่มไว้เฉยๆ เขาข่มไว้ด้วยอะไร เขาข่มไว้ด้วยศีลไง ถ้ามีศีล มีศีลมีธรรมมันก็ข่มของมันไว้ คือกดไว้ ถ้าข่มไว้น่ะมันได้
แต่ถ้าบอกว่า จะดับมันอย่างไร จะฆ่ามันอย่างไร จะฆ่ามันอย่างไร
ถ้าจะฆ่ามันอย่างไรต้องกลับมาว่ากันตั้งแต่พื้นฐาน การจะภาวนามันจะภาวนาจากพื้นฐานไง ปุถุชน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกกับพระโมคคัลลานะ “โมคคัลลานะ เราเกิดมาจากกามนะ” การเกิดของโลกนี้เกิดมาจากกามทั้งนั้นน่ะ ทีนี้การเกิดมาจากกาม แล้วเราจะดับมันน่ะ เราจะดับมัน เราดับที่ไหนล่ะ
ดูสิ พ่อแม่เสพกาม พ่อแม่สมสู่ ปฏิสนธิจิตมันถึงเกิดในไข่ ถ้ามันเกิดในไข่ เราเกิดมาจากกาม เราเกิดมาจากกาม เวลาขึ้นมาแล้วสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่มันมีโดยสัญชาตญาณ มีโดยสามัญสำนึกของมนุษย์ ถ้ามนุษย์มีสามัญสำนึกอย่างนี้มันเข้าไปกระตุ้นในหัวใจ มันทำให้หัวใจสั่นไหว
ทีนี้นักปฏิบัติ พรหมจรรย์ๆ ผู้ที่ปฏิบัติเรื่องพรหมจรรย์มันถึงจะต้องมีพื้นฐานขึ้นมา มีพื้นฐานขึ้นมาให้เป็นความจริงขึ้นมา
ถ้าไม่มีพื้นฐานขึ้นมานะ การข่มไว้โดยความเห็นผิดนะ ทุกคนพอทำจิตสงบขึ้นมา ทุกคนพอทำความสงบระงับขึ้นมา “โอ้โฮ! ฉันนี่ดับกามได้หมดแล้วนะ โอ๋ย! ฉันนี่ควบคุมได้หมดเลย” มันควบคุมโดยชั่วคราว นี่ข่มไว้
เวลามันพรั่งพรูออกมานะ ผู้ที่ปฏิบัติที่เสียหายกันไปในทำนองนี้มีเยอะมากเลย เวลาข่มไว้ได้ก็คิดว่าตัวเองเอาชนะมันได้แล้ว นี่เวลาจิตมันมีกำลังไง แต่เวลามันเสื่อมนะ เวลามันพรั่งพรูออกมานะ มันเหมือนน้ำป่า หลุดไปเลย เสียไปเลย อย่างนี้เยอะ
ฉะนั้น สิ่งที่โลกเขาบอกว่าเขาพิจารณาอสุภะ
เพราะเวลานักปฏิบัติเรา โดยพื้นฐานถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยชี้แนะ ไม่มีครูบาอาจารย์บอกเรื่องความจริง เราก็เข้าใจเอาอย่างนี้ เพราะสิ่งนี้มันเกิดขึ้นเพราะมันกวนหัวใจ มันกวนความรู้สึกนึกคิดเรานะ เราต้องการพรหมจรรย์ ต้องการความสงบระงับ เราต้องการ แล้วทำไมมันเกิดความรู้สึกอย่างนี้ ก็เราหวังดี เราปรารถนาดี เราทำดี เฮ้ย! แล้วทำไมมันกระตุ้นหัวใจล่ะ ทำไมมันกระตุ้นล่ะ
แล้วพอกระตุ้นขึ้นมา เราก็เป็นชาวพุทธใช่ไหม กำปั้นทุบดินไง เราเป็นชาวพุทธ เราจะปฏิบัติใช่ไหม การปฏิบัติ ศึกษาธรรมะมาใช่ไหม กามราคะเขาแก้ด้วยอสุภะ ก็เพ่งอสุภะเลย พิจารณาอสุภะๆ นู่นก็เป็นอสุภะ
การพิจารณาเป็นอสุภะมันเป็นการแก้กัน เห็นไหม ความแก้กัน สิ่งที่ว่าเรารักสวยรักงาม คำว่า “รักสวยรักงาม” ปฏิฆะถึงการเกิดกามราคะ ถ้าเราไปเจอพวกเงาะป่าซาไกอย่างนี้ เราไปเจอคนอย่างนั้นน่ะ เราไม่มีกามราคะหรอก มันจะวิ่งหนีเลยล่ะ เพราะมันไม่ถูกสเปกไง ถ้าเราไปเจอสิ่งที่เรามองแล้วมัน นี่ไง เขาถึงให้ไปเที่ยวไปดูซากศพ ไปดูป่าช้า ไปดูสิ่งที่มันเน่าเปื่อย ทีนี้เรารู้ได้ เราก็ว่าเราพิจารณาอสุภะ นี่มันเป็นกำปั้นทุบดิน
แต่เขาถามว่า อารมณ์อย่างหนึ่งที่ไม่สามารถดับได้โดยง่ายคือกามอารมณ์ เวลาผู้หญิงที่ไม่ใช่ภรรยาก็สามารถจะดับได้ แต่ถ้าเป็นภรรยาของเรา เป็นภรรยาของเรามันก็มีสิทธิ เขาใช้คำว่า “ทำตามหน้าที่” แต่อารมณ์ความรู้สึกของเขาก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง
อันนั้นเพราะมันมีความละอาย มีหิริมีโอตตัปปะมันก็คิดอย่างหนึ่ง เวลาไอ้พวกคนป่าเถื่อน คนป่าเถื่อนเขาทำของเขา เขาทำด้วยสันดานดิบ อันนั้นเขาไม่มีความละอาย เขาทำของเขาด้วยความดิบของเขา ความดิบความเถื่อนของเขา นั้นเพราะคนไม่มีศาสนา คนไม่มีความละอาย คนไม่มีหลักใจ ไม่มีหลักใจ มันเหมือนสัตว์ เหมือนสัตว์เดรัจฉาน นั่นเรื่องของเขา
แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เขาจะเปรียบเทียบไงว่า “เวลาถ้าผู้หญิงที่ไม่ใช่ภรรยา ผมก็ระงับใจได้ แต่ถ้าเป็นหน้าที่ของผม ผมก็ทำของผมโดยหน้าที่”
โดยหน้าที่ อันนั้นมันเป็นเรื่องความเห็น นี่คำถาม คำถามเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าเราอุตริพูด คำถามเป็นอย่างนี้ ฉะนั้น เราวางตรงนั้นไว้ เพราะมันเป็นหน้าที่ อย่างเช่นศีล ศีล ๕ กาเมสุมิจฉาจารฯ ถ้าไม่ใช่คู่ของตัว ผิดศีล ถ้าคู่ของตัวไม่ผิดศีลเพราะเราถือศีล ๕
แต่ถ้าศีล ๘ ศีล ๘ งดเว้น ศีล ๑๐ ศีล ๑๐ ก็งดเว้น ศีล ๒๒๗ ไม่ได้เลย แล้วไม่ได้ ถ้าเป็นพระ ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ พูดจาเกี้ยวหญิง เป็นอาบัติสังฆาทิเสส เพราะมันมีความกำหนัดอยู่แล้ว แล้วความกำหนัดพูดไป
พูดอย่างนี้ เวลาเราอยู่กับหลวงปู่จวนท่านก็พูดเรื่องอสุภะๆ มีพวกพระบอกครูบาอาจารย์พยายามเทศน์ให้มันแบบว่าไม่ให้มันตรงตัวนัก เพราะตรงตัวแล้วมันไปกระตุ้นคนฟัง
เห็นไหม นี่ขนาดพูด พูดเพื่อให้เห็นโทษมันนะ ไอ้คนฟังมันฟังแล้วมันกลับไปกระตุ้นมันอีก มันถึงต้องมี หลวงปู่เจี๊ยะท่านสอนเรา ท่านบอกว่า เวลาเทศน์นะ เวลาจะเชือดไก่ เขาต้องใช้มีดเล็กๆ เวลาจะเชือดโคก็ต้องมีดใหญ่ ตั้งแต่เราตั้งสติไว้ ก็ปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน เวลายกขึ้นสู่พิจารณากาย พิจารณากายพิจารณาให้เป็นไตรลักษณ์ มีดเชือดไก่ โสดาปัตติมรรคก็โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรคก็สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล เวลากิเลสตัวมันใหญ่ขึ้น ตัวมันเข้มแข็งขึ้น เวลาเราจะไปเชือด มีดก็ต้องคมกล้าขึ้น ต้องชัดเจนขึ้นเพื่อจะไปฆ่ากิเลสตัวที่ใหญ่ขึ้น มันก็ต้องมีชัดเจนของมันขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา
สิ่งที่เราทำมันต้องมีพื้นฐานขึ้นมา มันถึงจะเห็นว่าอารมณ์ เขาถามว่า ในเรื่องกามอารมณ์มันดับยากมาก
มันก็ยากน่ะสิ นางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน นางวิสาขาเป็นพระโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ขวบนะ เขายังมีครอบครัว ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บ พวกเราจะเป็นโสดาบันหมดเลย แล้วก็มีครอบครัวทั้งประเทศเลย
อันนี้เราพูดถึงข้อเท็จจริง เพราะนางวิสาขาเขาปรารถนามาอย่างนั้น แต่ถ้าสมมุติว่าเราได้โสดาบัน เราจะไม่มีครอบครัว เพราะเราอยากได้สกิทาคามี เราอยากได้อนาคามี เราไม่อยากได้ครอบครัว
เออ! เป็นพระโสดาบันแล้วจะมีครอบครัว ว่านางวิสาขาก็เป็นพระโสดาบันมีครอบครัว เราก็เป็นพระโสดาบันมีครอบครัว เออ! เป็นพระโสดาบันหมดเลย
โสดาบันปรารถนาครอบครัว หรือโสดาบันปรารถนาสกิทาคามี อนาคามี อรหันต์ โสดาบันจะปรารถนาอะไร
ถ้าเป็นโสดาบันเขาปรารถนาสกิทาคามี ปรารถนาอนาคามี เขาปรารถนาพระอรหันต์นู่น ถ้าเขาปรารถนาอย่างนั้นเขายิ่งขวนขวายขึ้น ปฏิบัติขึ้น ขวนขวายขึ้นให้มันชัดเจนขึ้น ให้มันดีงามขึ้น เขายิ่งทำของเขาเพื่อประโยชน์ของเขา
เขาไม่ใช่เป็นโสดาบันแล้วปรารถนาครอบครัวจะตามแบบนางวิสาขา เขาจะตามแบบพระอานนท์ต่างหาก พระอานนท์ก็เป็นพระโสดาบัน พระพุทธเจ้าทำนายไว้เลย
พระโสดาบันร้องไห้ ถ้าบอกพระโสดาบันไม่มีค่าเลยหรือ
พระโสดาบันนี่สุดยอดนะ แต่พระโสดาบันต้องการคนชี้นำ เวลาอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ เป็นหน้าที่ เป็นหน้าที่ที่เราต้องทำให้สมบูรณ์ อุปัฏฐากดูแลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เลยภาวนาได้น้อย
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะนิพพาน โอ้โฮ! ตัวเองยังเป็นพระโสดาบันอยู่เลย เสียใจมาก อยากให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ตลอดไป จะได้สอนให้เป็นพระอรหันต์
เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา แม้แต่ตถาคตเกิดขึ้นก็ต้องตายเป็นธรรมดา เธอไม่ต้องเสียใจไปเลย เธอได้ทำคุณงามความดีไว้มาก ในอนาคตกาล แม้จะมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีผู้อุปัฏฐาก ก็จะไม่มีใครอุปัฏฐากได้เกินหน้าพระอานนท์ไปได้ พระอานนท์เป็นผู้ที่เลิศในการอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เธอได้ทำกุศลของเธอไว้มาก ในอนาคตกาล ๓ เดือนข้างหน้าที่เราปรินิพพานแล้ว เขาจะทำสังคายนากัน เธอจะได้เป็นพระอรหันต์ในวันนั้น”
นี่ไง พระโสดาบันปรารถนาเป็นพระอรหันต์ ปรารถนาก้าวหน้าไป ไม่ใช่ว่าเป็นพระโสดาบันแล้วปรารถนามีครอบครัว ไม่ใช่ ไม่ใช่ นี่พูดถึงว่าการปรารถนาของเขา
ฉะนั้นว่า การดับ เขาว่ามันดับยากไง
เราจะบอกว่า ไอ้ที่ทางโลกเขาพูดๆ กันไว้ เขาข่มไว้เฉยๆ เขาข่มไว้ด้วยศีลธรรม เวลานักปฏิบัติมันข่มไว้ มันยังไม่ได้ไปเห็นหน้ากามราคะ หน้ากิเลส นางตัณหา นางอรดีไง ความโลภ ความโกรธ ความหลง นั่นล่ะตัวกาม นั่นน่ะยังไม่ได้เห็นหน้ามัน แล้วยังไม่มีมีด ยังไม่มีอาวุธจะไปเชือดมันหรอก ยังไม่มี
แต่เราปฏิบัติ เห็นไหม ปฏิบัติ คำถาม “กระผมภาวนาทุกวันเลย ไม่ประสบความสำเร็จทุกวันเลย เป็นเรื่องธรรมดาใช่หรือไม่”
ใช่ ใช่ ถ้าใช่อย่างนี้ปั๊บ เราปฏิบัติมาเราก็เจริญงอกงามขึ้นมา ฉะนั้น สิ่งที่เรายังทำไม่ได้ เรายังทำไม่ได้ ยังดับไม่ได้เรื่องกามราคะ เราดับวัตถุกาม ดับสิ่งที่ผลกระทบกับชีวิตเรา แค่นี้ เราดับแค่นี้เราก็เป็นพุทธมามกะที่ดี เราเป็นชาวพุทธที่ดี แล้วเราประพฤติปฏิบัติขึ้นไปตามความเป็นจริงของเรา สิ่งใดที่เรายังทำไม่ได้ เราก็ไม่ต้องไปน้อยเนื้อต่ำใจ เราทำได้ขนาดนี้ เห็นไหม
คำว่า “ทำได้ขนาดนี้” หมายความว่า เราเกิดเป็นคน แล้วเราก็มีสัมมาอาชีวะ เราก็เลี้ยงชีพได้ เราก็มีอาชีพแล้ว เรามีที่ยืนในสังคมแล้ว แล้วเราเป็นชาวพุทธ เกิดมาไม่เหยียบแผ่นดินผิดไง เรายังประพฤติปฏิบัติให้หัวใจของเราได้สัมผัสธรรม
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดนะ “เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย”
เราจะพึ่งอะไรล่ะ พึ่งพ่อพึ่งแม่ พึ่งตำแหน่งหน้าที่การงาน พึ่งเงินพึ่งทอง มันพลัดพรากทั้งนั้นน่ะ เราไม่พลัดพรากจากเขา เขาก็ต้องพลัดพรากจากเรา
แต่ถ้าเรามีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด เรามีสติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม เรามีมรรคมีผลในใจ เรามีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด เพราะธรรมกับหัวใจมันจะเป็นเนื้อเดียวกัน มันจะอยู่ด้วยกัน มันจะอาศัยเจือจานกัน เราจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด เราไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย แต่ในปัจจุบันนี้เราอยู่กับสังคมโลก เราก็มีหน้าที่การงานของเราไป แต่ในการปฏิบัติขึ้นมามันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป
ที่พูดนี่พูดให้เห็นไง ให้เห็นว่า แนวคิดถูกต้องดีงามหมดแหละ ทีนี้พอแนวคิดตั้งแต่ปฏิบัติแล้วมันเป็นเรื่องธรรมดา ปฏิบัติแล้วเราเริ่มเห็นว่าไอ้ที่ความรู้อารมณ์มันรู้จากจิต รู้จากตัวรู้ แต่ไอ้กามราคะมันดับได้ยาก มันดับไม่ได้
มันไปดับที่ความรู้อย่างนี้ไม่ได้หรอก มันจะดับได้ตั้งแต่พิจารณากาย เห็นกายตามความเป็นจริง ละสักกายทิฏฐิตามความเป็นจริง เป็นพระโสดาบัน แล้วก็เห็นธาตุ เห็นกาย เห็นจิต เราละมันได้ โลกนี้ราบหมด เป็นสกิทาคามี แล้วเมื่อยกขึ้นสู่กาย สู่จิต มันจะเห็นอสุภะอสุภังที่นั่น แล้วถ้าไปรู้ไปเห็นที่นั่น พอพิจารณาไปถึงที่สุดแล้ว เวลามันสมุจเฉทปหาน มันขาด มันขาดเป็นสมดุลของมัน มรรคสามัคคี นั่นล่ะมันจะไปละได้ที่นั่น
มันยังจะต้องบุกป่าฝ่าดงขึ้นไป ยังต้องบุกป่าฝ่าดงกิเลส ดงหนามของกิเลส บุกป่าฝ่าดงกิเลสเข้าไปสู่ใจของเรา ไปชำระล้างเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป แล้วถึงตอนนั้นมันถึงจะชำระได้
มันไม่ใช่มานึกเอาเองแล้วคาดเอาเอง แล้วให้คนหนึ่งสั่งสอนไปแล้วก็ชำระ...ไอ้นั่นเขาข่มไว้ ข่มไว้ ข่มไว้เฉยๆ แล้วข่มได้จริงหรือไม่จริงนั่นอีกเรื่องหนึ่ง
ข่มทุกข์ก็ได้ ข่มแล้วมีความสุขก็ได้ แต่ข่มแล้วทุกข์ ข่มแล้ว อื้อหืม! ทุกข์ยากมากเลย นั่นเขาข่มไว้ แต่การประพฤติปฏิบัติมันไม่ใช่ข่มไว้ ต้องรื้อค้นออกมา รื้อค้นออกมาแล้วประหัตประหารมันเป็นชั้นเป็นตอนๆ จนถึงที่สุดแล้วนะ กามราคะขาดจากจิต จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส ผ่องใส อรหัตตมรรค จะขึ้นไปสู่อรหัตตมรรค แล้วถ้าอรหัตตมรรคสมดุลขึ้นมาแล้วนะ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้จะเป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส เอวัง