ถาม : เรื่อง “ไฟกับฟืน”
กราบหลวงพ่อ กราบขอบพระคุณหลวงพ่อที่เมตตาเสมอมา ผมขอเรียนถามวิธีการจับและพิจารณาความโกรธด้วยครับ ชีวิตทางโลก แม้จะพยายามหลบหลีกเพียงใดก็ไม่อาจหลบหลีกการกระทบกระทั่งกับคนอื่นได้
เมื่อก่อนนี้หลายครั้งที่ใจผมถูกกระทบจนโกรธ และเกิดเพลิงความโกรธเผาผลาญจิตใจ แม้รู้ว่าจิตใจตอนนั้นมันจะลงไปต่ำกว่าภพของมนุษย์ แต่ก็หยุดยั้งไม่ค่อยได้ ปล่อยให้ไฟโกรธเผาลนจิตใจ แต่ก็ยังมีสติพอข่มใจไว้ไม่แสดงออกทั้งทางกายและวาจาให้ใครเห็น แต่ใจเรารู้ดีที่สุดคือความร้อนนี้ ถ้ากลับบ้านแล้วความโกรธยังอยู่กับผม จะเอาความโกรธตัวนี้มาพิจารณาก่อนนอนจนมันวาง หรือหากมันไม่วาง ก็ตามพิจารณาซ้ำวันต่อๆ ไป
ระยะหลังขณะที่ผมโกรธ เวลาผมเริ่มสัมผัสได้ถึงก้อนร้อนๆ ที่อยู่บริเวณหน้าอก มันจะรู้สึกกรุ่นๆ อยู่ภายใน และเริ่มจับได้ว่า ในช่วงที่ไฟมันกรุ่นๆ ในอกนี้หากเผลอไปคิด ไฟตัวนี้จะลามเข้าไปเหมือนไฟได้เชื้อ เผาไหม้ให้ใจเราร้อนรนทวีคูณ และความคิดที่ติดไฟนี้จะเป็นความคิดที่จูงไปสู่ทุคติภพทั้งหมด ถ้าไปตามมันคงไปลงนรกแน่ๆ แต่เวลานี้ผมยังได้แค่เฝ้าดูไม่ให้มันคิดโดยใช้สติหรือปัญญาอบรมสมาธิ แต่ยังไม่รู้วิธีดับไฟกรุ่นๆ อันนี้ ผมคิดว่า ถ้าเราดับไฟตัวนี้ได้จะดีกว่าไปตามเฝ้าไม่ให้เชื้อความคิดติดไฟ
ด้วยเหตุนี้จึงขอถามอุบายหลวงพ่อในการดับไฟความโกรธในทันทีที่เราจะจับได้ หรือหากหลวงพ่อมีอุบายอื่นในการสู้โทสัคคินานี้ ขอให้หลวงพ่อเมตตาสั่งสอนอบรมด้วย
ตอบ : นี่พูดถึงความโกรธ ความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นกิเลส เป็นแม่ทัพ มันมีจักรพรรดิคือพญามาร ลูกของมันคือนางตัณหา นางอรดี คือความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นแม่ทัพใหญ่ ความเป็นแม่ทัพใหญ่มันควบคุมหัวใจของสัตว์โลกอยู่ในอำนาจของมัน
ทีนี้อยู่ในอำนาจของมันนะ แล้วมันก็ไปมีลูก มีหลาน มีเหลนอีก มีลูก มีหลาน มีเหลนคือว่ามันออกมาเป็นสามัญสำนึก ออกมาเป็นความคิด ถ้าออกมาเป็นความคิด เราก็บอกเราเป็นคนคิดดี เราเป็นคนที่ปรารถนาดี เราเป็นคนหวังดี
ทุกคนก็คิดว่าปรารถนาดีหวังดี แต่หวังดี ดีในอะไรล่ะ ดีในกิเลสตัณหาความทะยานอยากที่มันปรารถนาดีไง
แต่ถ้าเรามีสติมีปัญญา ถ้ามีสติปัญญาคอยฝึกหัด มันจะเริ่มเข้าไปเห็นไง เริ่มเข้าไปถากไปถาง ไปถากไปถางคือว่าไปปรับปรุงทัศนคติของลูกหลานมันก่อน จากหลานมัน ปรับปรุงทัศนคติจากหลาน แล้วปรับปรุงทัศนคติจากลูกมัน แล้วถ้าปรับปรุงเราขึ้นไปจนกว่าจะไปเห็นแม่ทัพใหญ่คือความโลภ ความโกรธ ความหลงไง
เราจะบอกว่าความโกรธ ความโกรธมันมาจากรากฐานของจริตนิสัย รากฐานของจริตนิสัยของคน โทสจริต โมหจริต ราคจริต จริตของคนมันแตกต่างหลากหลายไง ถ้าจริตของคนมันแตกต่างหลากหลาย มันไปกระทบกับตัวตนของตน ถ้าการไปกระทบตัวตนของตนมันจะแสดงออกมาโดยความพรั่งพรูออกมาโดยธรรมชาติของมันเลย
ฉะนั้น เวลาเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราบอกสิ่งนี้มันเป็นเรื่องของกิเลส ครอบครัวของมาร มันมีปู่ ปู่คือพญามาร คือเจ้าวัฏจักร มันมีพ่อ พ่อคือคนควบคุมในครอบครัวทั้งหมด แม่ทัพใหญ่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง แล้วก็มีลูก ลูกก็กำลังวัยรุ่น นั่นน่ะความเห็นผิดในธาตุ ถ้ามีหลาน หลานก็ความคิดสามัญสำนึกนี่ไง ความคิดสามัญสำนึกเป็นหลานมัน
ลูกหลานของกิเลส ครอบครัวของมัน มันยึดครองหัวใจของสัตว์โลก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ มาเห็นพฤติกรรมของมันอย่างนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงมาตีแผ่มันไง พอตีแผ่ ตีแผ่ออกมาเป็นทางวิชาการใช่ไหม เราก็ไปศึกษาทางวิชาการมา เราก็ว่าเราเข้าใจหมดแหละ กิเลสมันเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ พอกิเลสเป็นอย่างนั้นปั๊บ เราก็เทียบอารมณ์ของเรา เทียบอารมณ์นี้เข้าไปสู่ทฤษฎีนั้นว่ากิเลสเป็นอย่างนี้ๆ...ไม่ใช่เลย อันนั้นไม่ใช่เลย อันนั้นชื่อมัน
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาศึกษา ศึกษาชื่อของกิเลสไง แต่เวลาผลกระทบจากความคิดไง ถ้าผลกระทบจากความคิดมันก็เป็นแค่สามัญสำนึก เป็นสัญชาตญาณของมนุษย์เท่านั้นเอง ยังไม่ได้ทำอะไรกันเลย ยังไม่ได้ทำอะไรกันเลย
ฉะนั้น เรื่องความโกรธๆ มันว่าจะดับความโกรธ จะดับความโกรธ มันก็เป็นจริตนิสัยนะ นิสัยของโทสจริต โทสจริตนะ ส่วนใหญ่โทสจริตนี่ธาตุไฟ คนธาตุไฟ คนนี้คนที่มีเชาวน์ปัญญา แต่มันเผาลนตัวเองด้วย
ไฟ ไฟให้ประโยชน์นะ ให้ประโยชน์กับการประกอบอาหาร เป็นพลังงาน เป็นความร้อน มันให้เป็นต้นทุนในการทำธุรกิจ ทำอุตสาหกรรม พลังงาน ไฟเป็นพลังงาน ถ้าไฟ ตัวไฟ ถ้าคนมีตัวไฟมันจะคิดเร็ว คิดเร็ว คิดดี ความคิดนี่ธาตุไฟ
ธาตุดิน ธาตุดินพื้นฐานเป็นคนหนักแน่น เป็นคนหนักแน่น ถ้าพ่อแม่มีลูกอย่างนี้ก็บอก เข็นมันไม่เดิน ยุให้คิดมันก็ไม่คิด โอ๋ย! มันซื่อบื้อๆ อยู่อย่างนั้นน่ะธาตุดิน
ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เขาเรียกว่าธาตุ นี่มันเป็นวิชาการของหมอแผนไทย ธาตุ ๔ เขาดูธาตุ รักษาธาตุ ธาตุ ๔ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ถ้าดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คือความรู้สึกนึกคิด มันเกี่ยวเนื่องไป เกี่ยวเนื่องไปถึงความคิด เกี่ยวเนื่องไปถึงจิตวิญญาณ เกี่ยวเนื่องไปถึงจิต เกี่ยวเนื่องไปถึงพญามาร นี่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ไป แต่เวลาเทียบไง เทียบมาเป็นหมอแผนไทย ธาตุ ๔ รักษาตามธาตุ
ถ้าเราเป็นโทสจริตมันมีประโยชน์ มันมีประโยชน์ที่ว่าเป็นคนความคิดไว เป็นคนที่มีความคิด เป็นคนที่มีปัญญา ว่าอย่างนั้นเถอะ แต่ปัญญาถ้ากิเลสมันเอาไปใช้มันก็เป็นอย่างนี้ มันมีผลกระทบ มีผลกระทบถึงตัวเราเลย ว่าเป็นคนที่ขี้โกรธ แต่เป็นคนขี้โกรธ ถ้าขี้โกรธ ขี้โกรธเพราะอะไร
อย่างเช่นเรา เสื้อผ้าเรา เด็กๆ มันนุ่งเสื้อผ้า มันเล่น อู้ฮู! ออกไปคลุกฝุ่นขนาดนั้นเลย พ่อแม่ปวดหัวเลย ต้องไปซัก แต่เด็กมันสนุกมันนะ เด็กมันครึกครื้น มันมีความสนุก กลับมามันยังให้พ่อแม่ชมนะ หนูเก่งๆ หนูไปคลุกฝุ่นมา หนูเก่งๆ แต่พ่อแม่ปวดหัวเลย โอ้โฮ! ซักผ้าน่าดูเลย
เด็กๆ หมายถึงว่า คนโดยทั่วไปเขาไม่รู้หรอกว่าเขามีแรงขับของกิเลส แรงขับของพญามารในหัวใจ เขาก็เพลิดเพลินเหมือนเด็กๆ ถ้าเพลิดเพลินเหมือนเด็กๆ เวลาเขาคิด เวลาเขามีผลกระทบกับชีวิตของเขา เหมือนเด็กๆ มันอิ่มเอม มันพอใจ มันได้ไปคลุกฝุ่น มันได้ไปทำความสกปรกกับเนื้อตัวของตัวเองมา มันยังมีความสนุกเพลิดเพลิน นี้คือคนที่เขาไม่สนใจในหลักธรรม คนที่ไม่ได้สนใจควบคุมใจตัวเอง คนที่ไม่ได้ภาวนา ว่าอย่างนั้นเลย
แต่นี้พอคนเรามาภาวนา มันก็พัฒนาใจขึ้นมา มันก็เป็นผู้ใหญ่ขึ้น เราไม่อยากไปคลุกฝุ่นอย่างนั้นอีกแล้ว เราไม่อยากลงไปคลุกกับความโลภ ความโกรธ เวลามีผลกระทบแล้วมันจะเกิดผลกระทบกับเรา เราจะเปรียบเทียบว่า ถ้าเป็นผู้ใหญ่เขาเห็นไง พอเขาเห็นปั๊บ ทีนี้พอเขาเห็นใช่ไหม พอเขาเห็นว่ามันเป็นความสกปรก แต่ในชีวิตประจำวันเรา คำถามบอกว่า ในเมื่อชีวิตในทางโลกพยายามหลบหลีกอย่างไร
มันหลบหลีกผลกระทบกับคนอื่นไม่ได้หรอก ทีนี้เราต้องประกอบสัมมาอาชีวะ เราต้องอยู่กับสังคม มันต้องมีการกระทบกระทั่งเป็นเรื่องธรรมดา ถ้ามีการกระทบกระทั่งเป็นเรื่องธรรมดา
แต่เวลาคนมันโทสจริต ถ้าเราไม่มีสติปัญญามันก็เหมือนเด็กๆ กระทบกระทั่งกัน เขากระทบกระเทือนเรามา เราก็เอาคืน เราก็ต้องรักษาศักดิ์ศรี รักษากิตติศัพท์กิตติคุณของเรา มันก็ต้องมีการกระทบกระเทือนกัน โลกก็มีกันอยู่อย่างนั้นน่ะ
แต่พอเรามาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เขามีเวรมีกรรม เขามีผลกระทบต่อเรา แต่เรามีสติปัญญารักษาหัวใจของเรา รักษาฟืนรักษาไฟนี้ไม่ให้มันเผาลนออกไป ไม่ให้มันลุกลามออกไป เราก็ระงับของเราไว้ พอระงับของเราไว้ เราก็เห็นเลย โอ้โฮ! มันโกรธ มันทุกข์มันยาก นี่มันโกรธ
ถ้ามันโกรธ มันมีผล มีผลกับว่า เราศึกษาธรรมะแล้วเรามาเปรียบเทียบ ธรรมโอสถ เราเอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาใช้ประโยชน์ เราใช้ประโยชน์ เราเปิดขวดยา แล้วเรากินยาด้วย แล้วเราพยายามจะรักษาเราด้วย มันถึงได้เห็นได้รู้ว่าโกรธนี่มันเผาลนเราไง ถ้าโกรธมันเผาลนเรา เวลาไข้ขึ้นเขาต้องเอาผ้าชุบน้ำเย็นแล้วลูบ ลดอาการไข้ เวลาไข้ขึ้นเขาจะลดอาการไข้
นี่ก็เหมือนกัน พอมันโกรธขึ้นมา เรารู้เลย นี่อาการโกรธ อาการไข้ขึ้นแล้ว เราต้องลดอุณหภูมิลงแล้ว เราต้องลดอุณหภูมิลง มันก็เลยเป็นความทุกข์อย่างนี้ไง เห็นไหม เวลาปฏิบัติไปมันเข้าไปเผชิญกับความเจ็บไข้ได้ป่วย เผชิญกับกิเลส มันก็มีปัญหาทั้งนั้นน่ะ ถ้ามีปัญหา
ทีนี้คำว่า “มีปัญหา” การแก้ เวลาในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างหนึ่งนะ แต่เวลาอุบายของเรา เราก็ผลกระทบมันก็รุนแรง ยิ่งเราเป็นพระบวชใหม่ๆ มันมีผลกระทบไปหมดแหละ เพราะเป็นพระบวชใหม่มันก็อยู่ปลายแถว มันก็ต่ำสุด ต่ำสุดในสังคม เราก็ต้องอุปัฏฐาก เราก็ต้องดูแลหมด มันมีผลกระทบ มันมีผลกระทบ ใจเราสอนตัวเราเอง เราจะสอนตัวเราเองให้แผ่เมตตา เพราะไปอ่านในบุพพสิกขา อ่านในตำรา เขาบอกว่าต้องแผ่เมตตา แผ่เมตตาไว้ แผ่เมตตาไว้เพื่อให้เห็น ไม่ให้กิเลสมันหยิบฉวยไปเป็นประโยชน์กับมันไง
แต่ถ้าเราไม่แผ่เมตตาไว้นะ ผลกระทบแล้วมันรุนแรง เขากระทบเรานี่ อื้อหืม! แต่ถ้าบอกว่า เราแผ่เมตตา เป็นญาติ เป็นเพื่อน เป็นผู้ที่เขารู้เท่าไม่ถึงการณ์ เราแผ่เมตตาของเราไว้ แล้วเวลาแผ่เมตตา เราแผ่เมตตาเพื่ออะไร เราเมตตาตนก่อน
เราแผ่เมตตา เราบอกว่าเราแผ่เมตตา เราเป็นคนต่ำต้อย ให้คนอื่นเขาเหยียบย่ำแล้วเราทนได้ นี่วิทยาศาสตร์คิดอย่างนั้น
แต่ถ้าในทางธรรมนะ เราเมตตาตนเองต่างหาก เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เขามีเวรมีกรรม เขามีผลกระทบ
เวลาเขาบอกว่า “พระพุทธศาสนามีปัญหามากเลย อะไรก็กรรม อะไรก็กรรมไปหมดเลย ไม่เชื่อก็กรรม”...ไม่ใช่
ความจริงในพระพุทธศาสนามีอิสรภาพมาก ไม่ใช่บังคับให้ใครเชื่อ ไม่ได้บังคับ แต่เวลาเราไม่เชื่อแล้ว เวลาเราไม่เชื่อ อย่างเช่นบอกว่าติเตียนพระอริยเจ้า องค์นี้เป็นพระอริยเจ้า เราก็ว่าชาวบ้านเขาเชื่อกัน เราไปเห็นแล้ว โอ้โฮ! พระอริยเจ้าเป็นอย่างนี้หรือ เวลาหาเหตุผลน่ะ ติเตียนไง
คำว่า “ติเตียน” กับ “ความไม่เชื่อ” มันคนละเรื่องนะ ถ้าไม่เชื่อก็คือไม่เชื่อใช่ไหม แต่ไม่เชื่อ คนต้องหาเหตุผล ถ้าเหตุผลมันติเตียน พอติเตียน ติเตียนคือหาเหตุผล หาเหตุผลก็หาเหตุผลทางลบ นั่นน่ะมันจะเป็นเวรเป็นกรรม ฉะนั้น มันจะเป็นเวรเป็นกรรม
“ในพระพุทธศาสนามีปัญหามากเลย มีปัญหามาก”
ไม่มีปัญหาเลย พระพุทธศาสนาไม่มีปัญหาเลย เอ็งไม่เชื่อก็ได้ เอ็งทำตามอิสรภาพก็ได้ เอ็งทำอย่างไรก็ได้ แต่เวลาเอ็งเชื่อในพระพุทธศาสนานี่เป็นพุทธมามกะ ยอมตนเชื่อในพระพุทธศาสนา พุทธมามกะคือเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ทีนี้พระธรรม พระธรรมคือข้อห้ามไง ถ้าเราเชื่อแล้วเราก็ต้องปฏิบัติตัวตามนั้นไง ปฏิบัติตัวตามศีลตามธรรม เพื่อใครล่ะ ก็เพื่อความเจริญงอกงามของเราไง ทีนี้เวลาเราเชื่อแล้วเราปฏิบัติ เราก็ต้องบังคับตัวเราเอง
นี่บอกว่า “มีปัญหามากเลย มีปัญหามากเลย”
มีปัญหามากเพราะกิเลส มีปัญหามากเพราะว่าจับกิเลสมันผูกไว้ พอกิเลสไม่ผูกมันก็สบายใจของมัน มันทำอะไรก็ได้ไง เห็นไหม ไม่นั่งภาวนา ทุกคนบอกว่า “อย่างฉันนี่นะ ถ้าภาวนาเป็นพระอรหันต์แน่ๆ เลยล่ะ ฉันทำได้” ใครก็คิด “อย่างฉันนี่นะ ถ้าจะภาวนาเป็นพระอรหันต์แน่ๆ เลย” ทำได้หมดแหละ แล้วไปนั่งแล้วทำได้ไหม พอไปนั่งจริงๆ ก็ทำไม่ได้หรอก
นี่ก็เหมือนกัน มันคิดว่ามันทำได้หมด กิเลสถ้าปล่อยมันสบายใจ มันว่ามันทำได้หมด อะไรมันก็ทำได้ มันนั่งขึ้นมา เดี๋ยวมันจะเป็นพระอรหันต์เลย ถ้ามันนั่งขึ้นมาแล้วเดี๋ยวมันมีปัญญาเลยล่ะ มันจะเกิดวิปัสสนาเลย มันจะแทงทะลุเลย มันจะเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาพรุ่งนี้เลย นี่เวลามันคิดนะ
แต่เวลาพอไปนั่งเข้า พอนั่งสมาธิ มันไม่ได้ดั่งใจมันแล้ว มันเริ่มต่อต้านแล้ว นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ เราต้องมีธุระ ว่านั่งแล้วจะเป็นพระอรหันต์เลย เอาไว้ก่อน เดี๋ยวไว้พรุ่งนี้ค่อยนั่งก็ได้ ไอ้ที่ว่าจะเป็นพระอรหันต์ๆ ขอผัดวันประกันพรุ่งไปแล้ว พอมันจะโดนผูกโดนมัดขึ้นมา มันดีดดิ้นเลย
เวลาปล่อยให้มันอิสระขึ้นมานี่ โอ๋ย! มันเหยียบย่ำเลย แล้วมันดูถูกด้วย พอนั่งสมาธิไป พรุ่งนี้กูเป็นพระอรหันต์ ทำไมจะทำไม่ได้ โธ่! ใครทำได้ กูก็ทำได้ กูเก่งไปหมดล่ะ เอาเข้าจริงๆ พอเอาเข้าจริงๆ มันโดนผูกมัด มันแสดงออกแล้ว
นี่พูดถึงว่า เวลาถ้ามันไม่ทำสิ่งใดเลย มันก็สะดวกสบายของมัน กิเลสไม่ได้โดนผูกโดนมัดมันก็อยู่สุขสบาย แต่ถ้าเราเป็นพุทธมามกะ แล้วเราเป็นชาวพุทธ เราอยากจะปฏิบัติขึ้นมา พอจะเอาจริงขึ้นมา กิเลสมันดิ้นแล้ว
เราจะบอกว่า ที่เราทุกข์เรายากอยู่นี่ ลำบากอยู่นี่ ไม่ใช่ธรรมะ เรื่องกิเลสทั้งนั้น เวลากิเลสมันดีดมันดิ้น เราไม่บอกว่ากิเลสมันดีดมันดิ้นเลย เราบอกว่า “ปฏิบัติธรรมมันยุ่ง อู๋ย! คนปฏิบัติธรรมวุ่นวายมาก ยิ่งหลวงพ่อนี่ตัวร้ายเลย อะไรๆ ก็ไม่ได้ เสียงดังก็ไม่ได้ คลุกคลีก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ หลวงพ่อนี่ตัวร้ายเลย”
อ้าว! นี่แหละเว้ยชาวสวน ชาวสวนเขาขุดร่อง เขาพรวนดิน เขาเตรียมดินของเขา เขาลงเมล็ดพันธุ์พืชแล้วเขาต้องดูแมลง เขาดูโรคของพืช เขาป้องกัน เขากันแมลงมันมากัดกินเมล็ดพันธุ์ ถ้ามันงอกขึ้นมาแล้วเขาก็มองสังเกตว่ามันมีเชื้อราไหม นี่ไง เขาดูสวนแปลงของเขา เขาผิดตรงไหน
หลวงพ่อเป็นเจ้าของสวน วัดนี้เป็นเจ้าของสวน ดูแลสวน แล้วคอยดู คอยดูแมลงมันจะมากัดมากินของมันน่ะ แล้วเอ็งยังไม่รู้ตัวเลยนะ เอ็งเป็นเมล็ดพันธุ์ ปลูกลงไปแล้วมึงจะให้แมลงมันมากัดกินใช่ไหม แล้วเวลาเขาไปคอยดู คอยดูแลก็บอกว่า “หลวงพ่อนี่ยุ่งน่าดูเลย หลวงพ่อนี่”
เออ! ยังไม่รู้ตัวหรอก ถ้าวันไหนรู้ตัวแล้วเอ็งจะรู้ เห็นไหม
นี่พูดถึงว่า ถ้าเราไม่ได้ประพฤติปฏิบัติก็อย่างหนึ่ง เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติก็ผูกโกรธ ความโกรธมันเผาลนเรามาก ความโกรธมันเผาลนเรามาก
คำว่า “ความโกรธมันเผาลนเรามาก” ระยะการปฏิบัตินะ เขาให้เมตตาตน เมตตาเรา ถ้าเราเมตตาตัวเราแล้วนะ เราเมตตาเราได้นะ จบเลย แต่ส่วนใหญ่คนเราเมตตาเราไม่ค่อยได้ มันไปมองออกไง เพราะเมตตาเรา เราคืออะไรล่ะ เราไม่เห็นเราไง แต่ไปเห็นตัณหาความทะยานอยาก อยากไปกว้านเอาทุกๆ สิ่งข้างนอก แต่ไม่เห็นตนเองเลยว่าเอ็งมีความจำเป็นต้องใช้อย่างนั้นจริงหรือ เอ็งมีความจำเป็นต้องไปกว้านโลกทั้งโลกนี้เป็นของเอ็งคนเดียวนี่จริงหรือ เวลามันไม่เห็นตัวมันหรอก
แต่ถ้าเมตตาตนนะ มันมีปัญญาขึ้นมานะ เฮ้ย! เอ็งคนคนเดียวเนี่ยนะ เอ็งจะเอาโลกทั้งโลกเป็นของเอ็งคนเดียวเชียวหรือ มันสลดเลยนะ ให้เมตตาตนนะ
ความโกรธก็เหมือนกัน ความโกรธมันเกิดมาจากไหนล่ะ เกิดมาเพราะขาดสติ คำว่า “ขาดสติ” ก็คือลืมตน เราจะบอกว่าลืมตัวเลยล่ะ คนลืมตัวมันเดินออกไปมันก็ลื่นล้ม เพราะมันไม่มีสติของมัน
นี่ก็เหมือนกัน เวลาความโกรธเกิดขึ้น มันเกิดเพราะอะไรล่ะ เกิดเพราะเราได้ยินเสียงกระทบ แต่เราขาดสติมันถึงเกิดเป็นฟืนไฟขึ้นทันที แต่ถ้าเรามีสติ เราเมตตาตน เรารู้จักตน
ไอ้คำพูดมันอยู่ข้างนอก เห็นไหม มันจะพูดก็พูดอยู่ข้างนอก เพราะกูไม่เอา กูไม่ฟัง กูฟังก็สักแต่ว่าตกตรงนั้น เสียงสักแต่ว่าเสียง ไม่เกี่ยว มันจะว่าอะไรก็ว่าไป ว่าไปเถอะ ถ้าเราเมตตาตน เราเห็นตนนะ
แต่นี่ไม่เห็นตนไง เราเห็นแต่ในตำรา บอกว่าเมตตาตน เราก็คิดเอานึกเอาว่ากูนี่เมตตา ใครๆ ก็ว่ารักตัวเองหมดแหละ แต่พฤติกรรมมันไม่ใช่
ถ้าพฤติกรรมจะใช่นะ ความโกรธก็คือความโกรธไง ความโกรธก็คือความโกรธ แต่ความโกรธมันเกิดขึ้นจากอะไรล่ะ เกิดขึ้นมาจากเสียงกระทบใช่ไหม เกิดขึ้นมาจากเสียงกระทบ เกิดขึ้นจากความไม่พอใจของเราใช่ไหม ไม่มีอะไรกระทบเลย นั่งอยู่นี่ไม่พอใจ ไม่พอใจ นั่งอยู่นี่ไม่พอใจ แล้วไม่พอใจมันเกิดบนอะไรล่ะ เพราะเราลืมตนไง เพราะไม่รู้จักตน มันก็เกิดไง
แต่ถ้าเราเมตตาตน เรามีสติอยู่นะ อ้าว! ไม่พอใจอะไรล่ะ ไม่พอใจอะไร จะบ้าแล้วใช่ไหม อะไรก็ไม่พอใจ ไม่พอใจแม้แต่นั่งอยู่นี่ ไม่พอใจแม้แต่ความไม่พอใจ จะบ้าแล้วหรือ ถ้ามันทันตัวเราไง
เมตตาคนอื่นมาทั่วแล้ว เมตตาเขาหมดเลย แล้วเมตตาตนบ้างไหม เมตตาหัวใจเราบ้างหรือเปล่า ตัวเรานี่ เมตตามันบ้างหรือเปล่า
นี่โยมศรัทธาโยมก็เมตตา เพราะโยมเมตตา โยมถึงมาประพฤติปฏิบัติกันไง เพราะเราใฝ่ดี หวังดี อยากได้ดี นี่ก็เป็นพิธีกรรมไง หลวงตาท่านบอกว่าปฏิบัติพอเป็นพิธีกัน เดี๋ยวนี้กำลังเห่อมาก ปฏิบัติ ปฏิบัติพอเป็นพิธี มันไม่เอาจริงไง มันไม่เข้าสู่ความจริงไง ถ้าเข้าสู่ความจริงมันจะเห็นอย่างที่เราพูดนี่
ให้เมตตาตน ให้เมตตาตน บอกตัวเองเลย ฟืนไฟทั้งนั้นน่ะ ไปหยิบฉวยมาทำไม เราโกรธ มันโกรธมาจากไหนล่ะ
นี่พูดถึงเขาพูดเองไงว่า หลวงพ่อมีอะไรให้ช่วยบอกด้วย
เราจะบอกว่า สัจจะมันเป็นอย่างนี้ แต่เวลาคนที่อ่อนด้อย การอ่อนด้อยทางปัญญา การอ่อนด้อย พละคือกำลังของใจ ใจยังอ่อนด้อยอยู่นี่มันหาตัวตนไม่เจอหรอก ถ้ามันหาได้มันก็หาได้สภาวะแวดล้อมคือความคิด ความคิดเป็นเงานะ ความคิดเกิดจากจิต ไม่ใช่จิต ถ้าความคิดเป็นจิต จิตเป็นความคิดนะ เวลาเราหยุดคิดหรือเราไม่ได้คิดเรื่องอะไรเลย ทำไมจิตมันยังอยู่ล่ะ
ความคิดไม่ใช่จิตนะ แต่ความคิดเกิดจากจิต แล้วความคิดนี้เกิดจากจิตเท่านั้น เกิดจากพลังงานที่มีชีวิตนี้เท่านั้น ความคิดไม่ได้เกิดจากขอนไม้ ความคิดไม่ได้เกิดจากแร่ธาตุ แร่ธาตุคิดไม่ได้ แม้แต่สิ่งมีชีวิต ต้นไม้ไม่มีวิญญาณครอง มันยังมีความรู้สึก แต่มันไม่มีความคิด
ความคิดเกิดจากจิต ถ้าความคิดเกิดจากจิต ถ้าเราเห็นแค่ความคิดเรา เรารับรู้ได้แค่ความคิดเราไง เพราะอะไร เพราะเรายังไม่เคยทำสมาธิไง เรายังไม่เคยสงบเข้ามาถึงตัวเราไง ถ้าสงบเข้ามาถึงตัวเรา เราจะเห็นตัวเรา ถ้าเห็นตัวเรา พอเราเห็นตัวเรา เราเข้าใจแล้ว เข้าใจว่า อ๋อ! ตัวตนมันอยู่ตรงนี้เนาะ ถ้าสติมันทันตรงนี้
เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์ สติเป็นอัตโนมัติ เพราะเวลาจะขยับ สติมันพร้อมไง ถ้าไม่ขยับมันก็อยู่ธรรมธาตุ นี่วิมุตติ มนสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ เวลามันจะแสดงตนขึ้นมาไง จะแสดงตนต้องมีมโน ถ้าไม่มีมโน มันจะแสดงตนขึ้นมาไหม มโนสัญเจตนาหารไง อาหารที่ว่ามันจะเสวยไง ผู้ที่มีสติพร้อม เขาพร้อมอยู่นู่นน่ะ มันไม่ใช่สติเซ่อๆ อย่างเรานี่หรอก ตาแป๋วๆ บอกว่ามีสติพร้อม สติอะไรของมึง สตินู่น ถ้าเห็นอย่างนั้นนะ นี่พูดถึงถ้าผู้ที่ปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์
แต่ของเรา เราเห็นใจมากนะ เราเห็นใจมากว่า ชีวิตทั้งชีวิตนี้เราจะต้องเดินหน้าไปทั้งชีวิต แล้วมันจะมีผลกระทบกับชีวิตเราทั้งชีวิต ถ้ามีผลกระทบเราทั้งชีวิต ให้เมตตาตนให้มากๆ ถ้าเมตตาตน เมตตาตนแล้วตั้งสติไว้ ระลึกพุทโธไว้ พอมันเข้ามาสู่ความสงบ มันเหมือนเราเข้าไปพักในบ้านของเรา แล้วเราต้องออกมาเผชิญกับโลก เราต้องอยู่กับโลก ฝึกหัดอย่างนี้
แล้วเวลาสติมันดีนะ ถ้าวันไหนมีสติมีปัญญา อะไรมันก็คิดเป็นผลบวก สวยงามไปหมด แต่วันไหนจิตมันเสื่อม เขาพูดดีๆ ก็โกรธเขานะ เขาพูดชักชวนไปดีก็โกรธเขานะ เวลากำลังใจเราไม่ดี
เราจะบอกว่า มันมีดีมีเสื่อมไง มีดีมีเลว จิตใจเราเดี๋ยวมันก็ดีขึ้น เดี๋ยวมันก็เลวลง ถ้าจิตใจเลวลง ความโกรธมันก็เข้าง่าย จิตใจเราดีขึ้น ความโกรธมันก็เข้ามาไม่ถึงเรา แล้วเราก็หัดภาวนาของเราไป นี่พูดถึงความโกรธนะ
เวลามันมีความโกรธ เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ในชีวิตประจำวัน แต่ปัจจุบันนี้เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เวลามันคิด มันเผาผลาญหัวใจของเรา เรารู้เลยว่ามันจะตกต่ำ ตกต่ำกว่าภพของมนุษย์อีก
ตกต่ำ เพราะอะไร เพราะจิตใจมันหนัก ความโกรธมันเหมือนก้อนหิน แต่ถ้าเวลาเป็นบุญกุศล บุญกุศลมันเบา ความสุขมันเป็นความเบา มันจะลอยขึ้น แล้วถ้าเราใช้ปัญญาบ่อยๆ เข้า มันถึงเห็น
“ระยะหลังนี้เวลาความโกรธเกิดขึ้น มันรู้อยู่ที่บริเวณหน้าอก มันกรุ่นๆ”
ไอ้นี่มันพยายามหาเหตุผล วางเลย มันจะเป็นอะไรสิ่งใดก็แล้วแต่นะ มันเป็นนามธรรม เราวางได้ ถ้ามันแบบว่ากรุ่นๆ เราก็จะไปจับตรงกรุ่นๆ นั้นบอกว่าเพราะมันโกรธจากตรงนี้ เพราะมันโกรธจากตรงนี้ ก็พยายามจะทำตรงนี้ไม่ให้มี มันจะได้ไม่โกรธไง มันจะไม่โกรธ เห็นไหม เวลาเข้ามาพัก มันว่าง มันก็จะไม่โกรธ เดี๋ยวพอมันเสื่อม มันก็ไปโกรธอีก มันยังแก้ไม่จบหรอก ถ้ามันแก้จบ พระอนาคามีนู่น นี่แก้ไม่จบ
ทีนี้เพียงแต่ว่า เรามีสติปัญญารักษาของเราไว้ รักษาของเราไว้แล้วเดินหน้าปฏิบัติต่อเนื่องไปเรื่อยๆ แล้วมันจะเบาลง มันจะเบาบางลง เบาบางลงเพราะมันมีธรรมเป็นที่พึ่งอาศัยไง มันมีความสงบระงับเป็นที่พึ่งอาศัย มันมี เห็นไหม เวลาทำสมาธิขึ้นมามันมีบ้านมีเรือน มีที่พัก เวลาจิตเข้าไปพักไปผ่อนขึ้นมามีกำลังแล้ว เวลามันจะกระทบกับความโกรธมันก็วางได้ อืม! เอาไว้ก่อนๆ เอาไว้เวลาจิตใจเราเข้มแข็งแล้วนะ เดี๋ยวได้เผชิญหน้ากัน ถ้าเวลาจิตใจเข้มแข็งแล้วนะ เดี๋ยวจะปราบปรามกัน
เวลาจะปราบปรามกัน เวลาจะถอดถอนกัน มันต้องไปถอดถอนที่กามราคะปฏิฆะ ปฏิฆะคือข้อมูล คือความชอบและไม่ชอบ สเปกของใจ รูปแบบของใจ โครงสร้างของใจแต่ละคนไม่เหมือนกัน โครงสร้างของใคร โครงสร้างของมัน
จิตสงบแล้วเข้าไปถึงโครงสร้าง แล้วจะไปทำลายโครงสร้างอันนั้น ถ้าไปทำลายโครงสร้างอันนั้น นั่นแหละความโกรธจะจบลงตรงนั้น แล้วพอมันละเอียดเข้าไป มันก็จะเป็นผ่องใส เป็นผ่องใสเศร้าหมองมันก็เป็นไฟสุมขอน
จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้ผ่องใส จิตเดิมแท้ข้ามพ้นกิเลส มันจะไปเศร้าหมองไปผ่องใสกันอยู่นั่น ความโกรธมันก็จะเบาบางลง มันก็จะเป็นเรื่องความผ่องใสเศร้าหมองอยู่นั่น อันนี้ความทุกข์อันละเอียด
ฉะนั้น อันนี้ถ้ามันกรุ่นๆ อันนั้น วางไว้ พิจารณาของเราต่อเนื่องไป มันอยู่ที่ความถนัดใช่ไหม
“ฉะนั้น ในเวลานี้ผมเฝ้าดูอยู่ ไม่ให้มันคิดโดยใช้สติหรือปัญญาอบรมสมาธิ แต่ยังไม่รู้วิธีดับกรุ่นๆ อันนี้ ผมคิดว่าถ้าดับไฟตัวนี้ได้จะดีกว่าไปเฝ้ามองมัน”
การไปเฝ้ามองคือการใช้ปัญญานะ แล้วถ้าการดับ ดับอย่างไร เขาว่าเกิดดับๆ อะไรเกิด เวลาเกิดนี่ทุกข์ร้อนนัก เวลาดับ งง เงียบหายไปเลย อะไรเกิด อะไรดับ เราใช้ปัญญาใคร่ครวญของเราไป เอาตามความเป็นจริงไง เอาตามความเป็นจริง เอาความรู้จริง เอาความเห็นจริง เราพิจารณาของเราให้เห็นชัดเจนของเรา
เรื่องของความโกรธ เวลาเราไม่โกรธนะ มันก็เอาเครื่องมาล่อ เวลาเราตั้งท่าจะโกรธมัน มันก็หลบหลีก เห็นไหม มันยังไม่เผชิญกับความจริง ไม่ใช่เป็นอริยสัจ
ถ้าเป็นอริยสัจ การพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมนั่นแหละ พิจารณาเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา โสดาบันพิจารณาแล้วทิ้งกายนอกเข้ามา พอทิ้งกาย มันสมุจเฉทปหาน ทิ้งกายนอกเข้ามา พิจารณากายซ้ำเข้าไปมันก็จะเป็นธาตุ ๔ เป็นธาตุเข้าสู่ธรรมชาติ เข้าสู่สภาวะเดิมของเขา เวลามันขาดเข้าไปแล้วเข้าไปถึงตัวจิต มันจะไปเกิดอสุภะที่นั่น ถ้าเกิดอสุภะที่นั่น นั่นน่ะสุภะ อสุภะ
สุภะคือความลุ่มหลง อสุภะ อสุภะคือคุณธรรม คุณธรรมเพราะอะไร คุณธรรมเพราะจิตมันสงบ จิตมันสงบแล้วมันมีคุณธรรม มันไปเห็นกายมันถึงไปเห็นอสุภะ เพราะอสุภะมันเป็นสัจจะ สัจจะเพราะอะไร
เพราะสรรพสิ่งในโลกนี้มันจะสวยสดงดงามขนาดไหนมันต้องเสื่อมสภาพ มันต้องแปรปรวน พอแปรปรวนก็เป็นอสุภะ อสุภะคือมันทำลายตัวมันเอง ถ้าเห็นอย่างนั้นได้เพราะอะไร เพราะมีคุณธรรม
ถ้าไม่มีคุณธรรมมันเห็นเป็นสุภะ เพราะสุภะนี่มันชอบอยู่แล้ว มันเป็นทางไหลลื่นของกามอยู่แล้ว มันว่าสุภะดีงามไปหมด ชอบไปหมด รื่นเริงไปหมด แล้วไม่มีอะไรจริงเลย นี่เป็นสุภะๆ ไปแก้กันที่นั่น ถ้าจบที่นั่น เห็นไหม นั่นน่ะมันถึงดับได้
ถ้ามันเกิดดับๆ มันเกิดดับอย่างไร
ฉะนั้น เขาบอกว่า ขออุบายวิธีการดับความโกรธ
ดับความโกรธก็เมตตาตน เมตตาไว้มากๆ เนาะ จะดับความโกรธ ดับชั่วคราว ดับอารมณ์น่ะ ดับอารมณ์ชั่วคราว มันไม่ได้ถอดถอนต้นเหตุ ต้นเหตุคือภวาสวะ คือภพ คือสถานที่เกิด ความคิดเกิดจากจิต แล้วถ้ามันไปทำลายมัน ไปทำลายที่จิต พอทำลายที่จิต มันทำลายโครงสร้างของมันหมดเลย ทำลายโครงสร้าง กิเลสมันออกหากินไม่ได้ เพราะกิเลสมันออกทางธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ไปเพื่อหาผลประโยชน์ของมันใช่ไหม พอมันทำลายโครงสร้างแล้ว จิตมันก็เก้อๆ เขินๆ มันไปไม่ได้
เราตัดถนนหนทางหมด เราตัดหมดเลย มันไปอยู่ในคูหาของใจ มันจะหดสั้นเข้าไปอยู่ที่ตัวมันเอง มันไปไม่ได้แล้ว เพราะเราตัดถนนหนทาง เราทำลายโครงสร้างหมดแล้ว แล้วเราก็ตะล่อมเข้าไปสู่ตัวมันไง แล้วพิจารณาถึงที่สุด ตรงนั้น ไปแก้กันที่นั่น นี่แก้กันโดยการปฏิบัติโดยแท้จริงนะ
แต่สำหรับผู้ที่ปฏิบัติ เราแก้ด้วยสติ ด้วยสติด้วยปัญญาของเรา เราดูแลรักษาของเราเพื่อประโยชน์กับเรา ดูแลรักษาก็คือการภาวนาไปนี่แหละ ระยะทางไง ระยะระหว่าง ระหว่างที่เราจะปฏิบัติ ระหว่างที่เราต่อสู้กับกิเลส มันมีระยะทาง เราต้องสู้กับมันนะ ใครสู้มากสู้น้อยได้ขนาดไหนจะเป็นสมบัติของคนคนนั้น
เราทำบุญกุศล เราสละไปเท่าไร มันเป็นทิพย์ เป็นทิพย์เพราะอะไร เพราะเราเป็นคนให้ เราเป็นคนสละออกไป เรารู้หมดเลย เราสละไปเท่าไร เราสละที่ไหน สละอย่างไร นี่มันเป็นทิพย์ เป็นทิพย์เพราะอะไร เพราะมันฝังอยู่ที่ใจเรา คนอื่นไม่รู้อะไรกับเราหรอก นี่เราสละ
ปฏิบัติก็เหมือนกัน ปฏิบัติ ถ้าเราถากเราถางได้มากน้อยขนาดไหน ปฏิบัติที่เราต่อสู้มามากน้อยขนาดไหน นั่นน่ะเป็นสมบัติของเราๆ ระหว่างที่เราต่อสู้ ระหว่างที่เราปฏิบัติ ระหว่างที่เรากำลังพิจารณาอยู่นี่ นี่สมบัติของเราๆ
สมบัติ ถ้าเป็นอกุปปธรรม เป็นโสดาบันก็เป็นสมบัติของเรา คนอื่นไม่รู้เรื่องกับเราหรอก เรารู้ของเราคนเดียว ถ้าปฏิบัติขึ้นไปเป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี เรารู้ของเรา เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เว้นไว้แต่ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติมาแล้ว ท่านเคยผ่านมาแล้วท่านรู้
เราเคยผ่านมาแล้ว เราเคยผ่านอำเภอนี้ตำบลนี้มาแล้ว เวลาเขาผ่านมาก็ผ่านอำเภอตำบลเดียวกับเรา ทำไมเราจะไม่รู้ เป็นเส้นทางเดียวกัน ถ้าเราปฏิบัติ
นี่พูดถึงว่า ผลการปฏิบัติเป็นผลของเรา เป็นประโยชน์กับเราไง ถ้าเป็นประโยชน์กับเรา อันนี้เป็นประโยชน์กับเรา
นี่พูดถึงว่าการดับฟืนดับไฟ เขาถามมาเลยล่ะ “หลวงพ่อ มันเป็นฟืนเป็นไฟ แล้วจะดับมันอย่างไรล่ะ ทุกข์มากเลย”
ทุกข์มากก็แก้ไขอย่างนี้ ให้เมตตาตน ให้หาตัวเราเองได้ เราเมตตาเรานะ คุมที่ใจเรานะ จบหมดเลย ข้างนอกมันเก้อๆ เขินๆ มันอยู่ข้างนอก มันอยู่นอกบ้าน เราอยู่ในบ้าน เปิดแอร์ด้วย เย็นสบาย
มันอยู่ข้างนอกให้มันตากแดด ใครมาด่ามาว่า ใครจะมาเสียดสี ให้มันตากแดดอยู่ข้างนอกนู่น เราเข้าบ้านเปิดแอร์เย็นฉ่ำ รักษาอย่างนี้ เย็นฉ่ำมันเย็นฉ่ำจนจิตมันดีนะ ถ้าจิตไม่ดีมันก็ร้อน ไอ้นี่พูดถึงว่าเราทำอย่างไรไง
ทีนี้คำถามสด
ถาม : ลูกของหนูอยากมีเงินไว้ทำบุญ แต่ไม่มีโอกาสได้เงินใดๆ เลย หนูจึงแนะนำลูกให้นั่งภาวนา และจะให้เงินเพื่อเอาไปทำบุญ จำนวนมากน้อยขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่อดทนนั่งและสละเวลาอันมีค่าของลูก
ลูกหนูชอบนั่งภาวนาอยู่แล้ว แต่ไม่เป็นกิจจะลักษณะ และไม่สม่ำเสมอทุกวัน เลยหวังจะได้บุญจากลูกภาวนาบ้าง แต่ลูกไม่ยอม เพราะคิดว่ามันไม่ดีค่ะ
ถ้าทำบุญช่วยเหลือญาติให้เขาหลุดจากการยึดติดและทุกข์ในใจในทรัพย์ แต่เป็นเงินเยอะมากสำหรับหนู ถ้าถือการทำบุญนี้ถวายพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะถือว่าเป็นบุญเท่ากับทำบุญศาสนาหรือไม่คะ
ตอบ : โอ้โฮ! ๒ ประเด็นเนาะ ประเด็นหนึ่ง เรื่องลูกก่อน
เรื่องลูก เด็กนะ โดยธรรมชาติของมัน เวลาถ้าจิตมันใสสะอาด เขาเรียกว่าไร้เดียงสา ถ้ามันมีบุญวาสนามา ถ้ามันนั่งของมันนะ มันลงสมาธิง่ายๆ เลยล่ะ เพราะมันไร้เดียงสาไง มันคิดโดยตรงๆ ถ้าทำได้จริงมันก็ได้จริงของมัน
แต่พอมันโตขึ้นมาปั๊บ มันอยู่กับเพื่อน เข้าสังคมแล้ว มันต้องเท่าทันสังคม มันก็เริ่มดินพอกหางหมูจิตแล้ว แล้วพอภาวนาไปมันจะยากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่เวลาดี ดีตอนเด็กๆ เพราะเราเคยเห็นเด็กภาวนาดีมากเลย แต่โตขึ้นมาแล้วนะ เขาก็ยังคบเพื่อนคบฝูงของเขาเป็นธรรมดา
เด็กๆ มาหาเรา เราจะแจกทอฟฟี่ แจกทุกๆ อย่างเลย เพื่อให้มันฝังใจมันไป เพราะระยะเวลามันโตขึ้นมามันต้องคบเพื่อนมัน มันต้องโตขึ้นมา มันจะอยู่กับเราไม่ได้ ถ้ามันอยู่กับเรานะ มันจะไม่มีปัญญา มันจะไม่ทันสังคม
เด็กทุกคน มนุษย์ทุกคนต้องมีการศึกษา ต้องมีปัญญาเพื่อไว้ประกอบสัมมาอาชีวะ ถ้าเขามีสัมมาอาชีวะเพื่อเลี้ยงชีพของเขา ชีพในปัจจุบันนี้สำคัญ แล้วถ้าเขาเลี้ยงชีพในปัจจุบันนี้ได้ แล้วถ้าเขาฝักใฝ่ในการประพฤติปฏิบัติ เขาฝักใฝ่โดยทรัพย์ของเขาโดยอีกชั้นหนึ่ง นั้นเป็นสมบัติ เป็นคุณประโยชน์กับเขามาก
เริ่มต้นต้องให้เขามีการศึกษา ต้องให้มีการเล่าเรียน ต้องให้เขาเอาตัวรอดของเขาได้ แล้วถ้าเราจะปลูกฝัง ปลูกฝัง ดูสิ ตอนนี้เขายังปลูกฝัง เขาพยายามจะดึงศีลธรรมจริยธรรมกลับมาสู่เด็ก เด็กสมัยปัจจุบันนี้ เขาพยายามจะปลูกฝังให้เด็กเป็นเด็กดี
แล้วเด็กมันร้องกันอยู่นี่ มันร้องอะไรนะ ไอ้คืนความสุข หนูอยากเห็นผู้ใหญ่ไม่ทะเลาะกัน หนูอยากเห็นน่ะ ผู้ใหญ่มันเป็นตัวอย่างไง เขาพยายามฝึกฝน เขาพยายามปลูกฝังศีลธรรมให้มันเข้าไปสู่ในใจ ถ้าเข้าสู่ในใจ สังคมจะร่มเย็นเป็นสุข ถ้าร่มเย็นเป็นสุข อันนั้นเพราะความปลูกฝังของผู้ใหญ่เรา
แต่เด็ก ถ้าเด็กของมันนะ มันก็ต้องทำของมันตามประสามัน ตามประสา ต้องตามประสา เพราะเด็กมันโตขึ้น เด็กมันโตขึ้นมันต้องมีเพื่อน แล้วพอมันมีเพื่อน อยู่กับพ่อกับแม่มันก็ด้วยสายเลือด มันก็อยู่ในโอวาท
ไปอยู่กับเพื่อน เพื่อนจะบอกเลย “มึงโง่ ไปฟังพ่อแม่อยู่ได้ พวกเราสิเว้ยฉลาด” เวลามันคุยกันนะ “พวกเราสิเว้ยฉลาด เฮ้ย! ไปเที่ยวด้วยกันดีกว่า อย่าไปเชื่อแม่มึง แม่มึงให้กลับบ้าน ไม่ดีหรอก” มันไปแล้ว
แต่เราก็ฝังใจของเราไว้ไง เขาบอกว่า เขาเลี้ยงลูกเป็นเพื่อน เพราะเพื่อนพูดอย่างนั้น แม่ก็พูดได้ แม่ก็พูดได้ มีเหตุผล แม่ก็พูดได้ ถ้าเราเป็นเพื่อนกับเขา เราสนิทคุ้นเคยกับเขา ให้ทุกอย่าง
อันนี้พูดถึงความหวังไง เราจะคาดหวังว่า อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ “โอ๋ย! ภาวนาหรือ ใครๆ ก็ทำได้ นั่งคืนนี้ พรุ่งนี้เป็นพระอรหันต์เลย” นี่ก็เหมือนกัน ก็คาดหวัง เรายังภาวนาไม่ได้เลย แต่จะให้ลูกเป็นพระอรหันต์ จะให้มันภาวนาให้ดี
มันก็วาสนาของคน ชีวิตของเขา เขาต้องเป็นอิสระของเขา ชีวิตของเรา เราก็อยากจะพ้นจากทุกข์ ชีวิตของเขา เราก็ดูแล เราเป็นแม่ ใครไม่อยากให้ลูกเป็นคนดี ทุกคนอยากให้เป็นคนดีหมดแหละ เราทุ่มเทเต็มที่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าขีดเส้นให้เดิน เราไม่ใช่ขีดเส้นอย่างนี้ให้เดิน
เราก็หวัง ถ้าเขาโตขึ้นมา เขาปฏิบัติได้ เขามีความสุขได้ สาธุ แต่เราขีดเส้น พอขีดเส้นนะ พอมีเส้นปั๊บนะ มี ๒ ฝ่ายแล้ว เขากับเราแล้ว เดี๋ยวทะเลาะกันเรื่องเส้น
แต่เราไม่ขีดเส้น ยกเส้นทิ้งเลย ขอให้เป็นคนดีเนาะ ขอให้มีความสุข นี่ฝัง ปลูกฝังเขาให้เป็นคนดี แล้วถ้าเขาปฏิบัติได้ เรื่องของเขา นี่พูดถึงเรื่องการปฏิบัติ
เขาก็อยากปฏิบัติอยู่แล้ว เขาก็ปฏิบัติตามกำลังของเขา เราก็ส่งเสริมเขา แล้วถ้าเขาไปเจอของดีเอง โอ้โฮ! เขาขวนขวาย นี่พูดถึงการปฏิบัติ
พูดถึงเงิน เขาไม่มีรายได้ทางอื่นเลย
โอ้โฮ! เวลาให้สตางค์ไปกินขนม เด็กมันยังหยอดใส่กระปุกนะ แล้วมันก็แคะกระปุกมาถวายหลวงพ่อ ดีน่ามันให้เป็นกระปุกเลย นี่เงินส่วนตัวของมันเลยนะ เด็กๆ หลายคนมันแคะกระปุกมาถวายหลวงพ่อ เพราะอะไรรู้ไหม เวลาทำบุญ เด็กมันพูดนะ “เงินของหนู ไม่ใช่เงินของแม่”
เวลาทำบุญ ทำบุญแทนแม่ไง แม่ให้ทำบุญนะ มันก็ทำบุญ นี่เงินของแม่ อันนี้เงินของหนู เพราะแม่ให้หนูมาแล้ว หนูใส่ออมสิน แล้วหนูก็แคะของหนูมา เห็นไหม นี่บุญของเขา หลายคน
ถ้ามันโตขึ้นมา เขาบอกว่า เขาไม่มีเงินจะทำบุญเลย เขาอยากทำบุญ
คนทำบุญนะ ทำทานร้อยหนพันหนไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง ถือศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหนไม่เท่ากับทำสมาธิขึ้นมาได้หนหนึ่ง ทำสมาธิร้อยหนพันหนไม่เท่ากับเกิดปัญญาญาณขึ้นมาหนหนึ่ง นี่ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วการทำบุญต้องวัดกันด้วยเม็ดเงินหรือ ไม่ได้วัดกันด้วยการปฏิบัติบูชานี่บ้างหรือ
เราปฏิบัติบูชาของเราสิ เราปฏิบัติของเรา แล้วบุญหรือบาป ใจเรารู้อยู่แล้ว ทำไมต้องไปวัดบุญกันด้วยตัวเลขอันนั้นเชียวหรือ เพราะวัดบุญกันด้วยตัวเลข เอาสายสะพายกันไง ทางโลกเขาถึงได้มีการประชาสัมพันธ์ “ทำบุญแล้วเดี๋ยวเราจะทำเรื่องขอความดีความชอบให้”
ความดีความชอบอันนั้นกับบุญ เอ็งเอาอะไรวะ
ว่าทำบุญทิ้งเหวๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ทำบุญทิ้งเหว ทำแล้วจบ ทำแล้ว ทำบุญเพื่อสร้างบารมี สร้างความเข้มแข็งของใจ ถ้าใจเข้มแข็งนะ มานั่งภาวนา มันนั่งภาวนาได้
ถ้าเราไม่มีทานเป็นตัวหนุนนะ ทาน ศีล ภาวนา เวลามีสามเส้า เราตั้งหม้อไว้บนสามเส้านั้น เวลาหุงข้าวนะ มันจะสุก ถ้ามีสองเส้า บางคนขาดบารมี อยากภาวนานะ พอภาวนาไป มีลูกศิษย์มาหา เขาบอกว่า ทานไม่สำคัญ เพราะเขาศึกษาทางฝ่ายมหายานบอกทานนี่เรื่องเล็กๆ มาก เราปฏิบัติบูชาสุดยอดๆ
แล้วเขานั่งสมาธิไป พอนั่งสมาธิไปนะ เขาไปเห็นกามราคะ เขาบอกเขาสู้ไม่ได้ เขาเข้าไปให้กามราคะเหยียบย่ำ แล้วเขาก็มาหาเรา “หลวงพ่อ นั่งไปเจอกามนะ เหมือนกับเอาหน้าให้มันชก ยื่นหน้าไปให้มันชก สู้มันไม่ไหว”
เราก็ถามว่า แล้วไหนมึงบอกว่าทานไม่สำคัญไง ถ้าทาน มันเป็นสามเส้า ทาน ศีล ภาวนา
มันมีผู้ปฏิบัติคนหนึ่งเขาบอกว่า เขาหล่อพระพุทธรูป ๒ องค์ องค์หนึ่งเขาเอาไว้ทางภาคเหนือ องค์หนึ่งเขาเอาไว้ทางภาคใต้ แล้วเวลาเขาภาวนาไปนะ ปัญญาเขาเกิด เห็นพระพุทธรูปองค์นั้นมาช่วย มันมีนะ
ฉะนั้น พูดอย่างนี้ก็ไม่ใช่พูดให้ตั้งใจทำทานจนต้องควักกระเป๋า ฉีกกระเป๋า คว่ำกระเป๋าถวายก็ไม่ใช่ เราต้องมีปัญญาสิ ไม่ใช่ว่าต้องควักกระเป๋า คว่ำกระเป๋า ฉีกกระเป๋าเลย อู๋ย! จะสร้างบารมี พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สอน
พระพุทธเจ้าบอกว่า หาเงินได้แล้วเก็บไว้ทำทุนสลึงหนึ่ง เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่สลึงหนึ่ง เอาไว้ใช้จ่ายสลึงหนึ่ง ที่เหลือค่อยฝังดิน ที่เหลือๆ เขาให้ดำรงชีวิตนี้ให้มันสมฐานะให้ดำรงชีวิตนี้ได้ ดำรงชีวิตนี้ได้ คนมีปัญญาขึ้นมาเขาก็ภาวนาของเขา
คนที่ไม่เห็นการทำทานเลย พอปฏิบัติไปแล้ว อุปสรรค เขาก็มีอุปสรรค ไอ้คนที่ทำทานๆ เลย ทำทานจนไม่ภาวนาเลย ทำทานจนทานจะท่วมหัวอยู่แล้ว มันยังภาวนาไม่เป็นอยู่เลย อันนั้นก็เป็นอุปสรรค มัชฌิมาปฏิปทา เห็นไหม อะไรสมควรไม่สมควร
นี่พูดถึงการว่า ลูกหนูเขาอยากภาวนา แต่เขาไม่มีเงินทำบุญ
โอ้โฮ! ศาสดาองค์ใหม่ คิดเองเออเองหมดเลย ศาสดาคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่ในตู้พระไตรปิฎก ไอ้นี่กูคิดเองหมดเลย แล้วขีดเส้นเดินให้เป็นอย่างนี้เลย มันไม่ใช่ ไม่ใช่
ทำด้วยความสมดุลเนาะ ลูกมันยังมีความคิดดีๆ เลย
อ้าว! ทีนี้ “ถ้าเราจะช่วยเหลือญาติให้เขาหลุดจากการยึดติดในทุกข์ในเรื่องทรัพย์ แต่เป็นเงินเยอะมากสำหรับหนู ถ้าถือว่าการทำบุญนี้ทำถวายพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถือว่าได้บุญเท่ากับทำบุญกับศาสนาหรือไม่คะ”
เวลาเราพูดถึงพ่อแม่นะ พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก ถ้าเป็นพ่อแม่นะ เราทำได้ เป็นพระอรหันต์ของลูก
ทำบุญกับศาสนา ศาสนาที่ไหนล่ะ ทำบุญจะได้บุญเท่าศาสนาไหม
ถ้าเป็นญาติเป็นโหติกา การช่วยเหลือเจือจานมันก็เป็นบุญ การช่วยเหลือเจือจานกัน
แล้วทำบุญกับศาสนาล่ะ
ทำบุญกับศาสนาก็ศาสนา ทำบุญกับศาสนา ดูสิ เวลาหลวงตาท่านปฏิบัติ พุทธ ธรรม สงฆ์ รวมลงที่ใจ ศาสนาก็คือพุทธะ คือกลางหัวใจ ถ้าเราทำที่นี่ เราภาวนาที่นี่ มันก็ได้ที่นี่
ไอ้นี่มันอยู่ที่ความสมดุล อยู่ที่สายบุญสายกรรม ถ้ามันมีบุญมีกรรมต่อกัน มันมีความปรารถนาดีต่อกัน มันช่วยเหลือกัน มันก็จบ ถ้ามันมีความปรารถนาดีต่อกัน แต่ก็ยังลังเลอยู่ ยังคิดร้อยแปดอยู่ นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง
อย่างที่ว่า เงินเราจะช่วยเหลือใคร มันก็อยู่ที่สายบุญสายกรรม สายบุญสายกรรมนะ อดีตชาติใครทำสิ่งใดมา ใครมีเวรมีกรรมต่อกันมา ในชาติปัจจุบันนี้เกิดมาเป็นลูกเป็นหลาน เป็นอะไร เราก็ต้องชดใช้เขา ชดใช้เขา ในทางกรรมนะ แต่ในวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ หน้าที่ อ้าว! ก็เราทำมันเกิดมา เราก็ต้องดูแล
มันซับซ้อนกัน ปัญหานี้ซับซ้อนหลายซับซ้อน เราจะมองในแง่มุมใดล่ะ แง่มุมทางวิทยาศาสตร์ แง่มุมศาสนา ถ้าศาสนามันก็มองอีกว่า ศาสนานี้ศรัทธาเข้มแข็งศรัทธาอ่อนแอมากน้อยขนาดไหน
ฉะนั้น จะพูดถึงประเด็นอะไรก็แล้วแต่ ลองพูดออกไปถึงสังคมแล้วต้องมีการถกเถียงกันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะวุฒิภาวะของใจสูงต่ำแตกต่างกัน คนหยาบคนละเอียดนี้มันแตกต่างกัน อยู่ที่คนจะเข้าถึงได้มากได้น้อยขนาดไหน แต่ถ้าเข้าได้สูงสุดแล้วมันจบ จบเลยนะ อย่างหลวงตาท่านสูงสุดแล้วก็จบ
ฉะนั้น อันนี้เราจะต้องเอามาพิจารณาโดยจริตของเรา จริตคือความชอบ ความชอบเกี่ยวกับสายบุญสายกรรม ความชอบ ความผูกพันกัน มันเกี่ยวเนื่องกันหมด แต่ถ้าพอเราปฏิบัติ มันก็ตัดตรงนี้หมดเหมือนกัน ตัดจนหมดเลย ตัดจนหมดจนเป็นอิสระ
พอเป็นอิสระ เหนือโลก เหนือโลก เหนือโลก
ถ้าอยู่ในโลกคือในวัฏฏะ ในการวนเวียน ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติก็เปลี่ยนแปลง แต่ถ้าอกุปปธรรมนี่เหนือโลก สุดไปเลย แต่กลับมาเมตตาค้ำจุนโลก นี่พูดถึงถ้าเป็นความจริงนะ
อันนี้มันเป็นแบบว่าบุญกรรมของคน คนเกิดมาในภพ ในสถานะใด พบอุปสรรคสิ่งใด นั้นคือการกระทำมาแต่ภพชาติใดก็แล้วแต่ แล้วในปัจจุบันนี้จะให้เป็นสุคโต คือว่าถ้ามันเป็นกรรมเก่ากรรมใหม่ก็แล้วแต่ ในปัจจุบันนี้ต้องพิจารณาด้วยปัญญาให้สมดุลด้วยเหตุด้วยผล เพราะมันจะจบลงที่ปัจจุบันนี้ไง มันจะจบลงที่สุคโตนี่ไง ถ้าปัจจุบันสุคโตคือทำถูกต้อง สุคโตคือถูกต้องดีงาม ถ้าตรงนี้สุคโต พรุ่งนี้สุคโต มะรืนสุคโต ต่อไปข้างหน้าสุคโตหมดเลย
แต่ถ้ามันไม่สุคโต คือว่าอยากสุคติ มีความสุข มันต้องสุขปัจจุบัน ต้องแก้กันตรงนี้ แก้ที่อดีตอนาคตไม่ได้ แก้กันปัจจุบันนี้ แล้วใช้สติปัญญาของเรา ด้วยอำนาจวาสนาบารมีของเรา ได้มากได้น้อยแค่ไหน แก้ตรงนี้ แล้วจบลงตรงนี้ เอวัง