จะมีภูมิ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “ทางไปต่อ”
กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ วันนี้ผมขออนุญาตเล่าเรื่องการปฏิบัติถวายหลวงพ่อ และหากหลวงพ่อมีความเห็นหรือคำแนะนำอย่างใด ผมก็ขอความเมตตาจากหลวงพ่อตามสมควรครับ
การนั่งสมาธิล่าสุดของผม ผมใช้วิธีกำหนดพุทโธแบบรัวๆ โดยไม่สนใจลมหายใจเข้าออกครับ ผมนั่งมาได้พักหนึ่ง ในขณะนั้นรู้สึกว่าได้ยินคำว่า “พุทโธ” แบบรัวๆ มาอยู่ที่บริเวณหน้าผาก (ผมเริ่มสับสนว่า สรุปผมพูดหรือนึกได้ยินคำว่า “พุทโธ” กันแน่)
จนกระทั่งผมเห็นเหมือนมีแสงบางอย่างปรากฏขึ้นต่อหน้า แสงนั้นเคลื่อนไหวเป็นวงกลมในลักษณะของการควงสว่าน เหมือนมันวนๆ ขึ้นมาหาผม และผมก็รู้สึกเหมือนถูกดูดไปในหาแสงนั้นเช่นกันครับ แต่มันก็แปลกที่แสงหรือตัวผมก็ไม่ชนกันสักที (ผมไม่รู้ว่าจะอธิบายลักษณะอย่างไรดีครับ เพราะผมไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน แม้ตอนนี้ผมนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ไม่ชัดเจนนัก)
ผมมองแสงมันหมุนๆ มาหาผมขณะหนึ่ง แต่มันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผมเลยเปลี่ยนมาพิจารณากายบริเวณแขนผมแทน ผมนึกในใจว่าคืนนี้สู้ไม่ถอย ผมนึกยังไม่ทันขาดคำ ผมก็ลืมตาเฉยเลยครับ เหมือนกับว่ามีความคิดอื่นมาแทรกการนั่งสมาธิของผม ผมเศร้าใจมากครับ เพราะผมกำลังจะสู้กับมันแท้ๆ แล้วมันดีดทีเดียว ผมก็ล้มไม่เป็นท่าเลย จากเหตุการณ์นี้ ผมขออนุญาตถามหลวงพ่อดังนี้ครับ
๑. แสงที่วนๆ ที่ปรากฏต่อหน้าของผมนั้นคืออะไรครับ มีประโยชน์ต่อการทำความสงบไหมครับ และผมควรจะทำอย่างไรในกรณีนี้ครับ หรือมันคือสิ่งที่ผมเพ้อจากการขาดสติไปเองครับ
๒. ผมยังคงหาวิธีการทำความสงบที่เหมาะสมกับผมอยู่ครับ ซึ่งผมใช้หลายๆ วิธีสลับกัน บางครั้งผมก็กำหนดคำบริกรรมยาวๆ บ้าง กำหนดพุทโธรัวๆ บ้าง หรือจินตนาการสร้างภาพกายบ้าง ผมทำแบบนี้ถูกไหมครับ หรือผมควรใช้วิธีใดวิธีหนึ่งตลอดครับ
๓. การทำสมาธิโดยการกำหนดพุทโธรัวๆ ของผมนั้น บ่อยครั้งผมรู้สึกว่า เมื่อกำหนดไปนานๆ จะเปลี่ยนจากคำกำหนดเองมาเป็นการได้ยินคำว่า “พุทโธ” รัวๆ แทน และผมก็สามารถย้ายคำว่า “พุทโธ” ให้มันวิ่งไปตามร่างกายของผมได้ด้วยครับ เช่น ในการกำหนดที่ขาหรือแขน ผมไม่แน่ใจว่าการทำแบบนี้ถูกต้องไหมครับ และมีทางต่อไปอย่างไรบ้างครับ
ตอบ : นี่คำถามเนาะ แล้วเขาบอกว่า ตั้งแต่ปฏิบัติมามันก็มีปัญหา
คำว่า “มีปัญหา” มีปัญหาต่างๆ ถ้าปฏิบัติมีปัญหานะ มันมีปัญหาทุกคน ถ้ามีปัญหาทุกคน การปฏิบัติเริ่มต้นมันก็เป็นแบบนี้ ถ้าการปฏิบัติเริ่มต้น การปฏิบัติเริ่มต้นมันแบบว่าหญ้าปากคอก เรายังหาหนทางของเราไม่เจอ ถ้าเราหาหนทางของเราไม่เจอ เราพยายามขวนขวายของเรา เราตั้งใจปฏิบัติของเราเพื่ออริยทรัพย์ เพื่ออัตตสมบัติ เพื่อสมบัติของใจ เพื่อความเป็นจริงของเรา ให้ศาสนานี้มีมรรคมีผล ศาสนานี้มีสาระคุณ
โดยธรรมชาติ โดยปกติมันเป็นเรื่องโลกๆ คือว่างเปล่า แล้วก็ด้วยความเข้าใจผิด ด้วยความเข้าใจผิดว่า พระพุทธศาสนาสอนให้ปล่อยวาง มันจะเวิ้งว้างมันจะว่าง ว่างกายเลยไม่มีหลักเกณฑ์เลย
แต่ครูบาอาจารย์ท่านสอนให้มีหลักเกณฑ์นะ ให้มีหลักเกณฑ์ก่อน เราต้องมีสติมีปัญญา ถ้าเป็นทางโลก มีวัฒนธรรม เราก็ทำบุญกุศลกับเขา เรามีวัฒนธรรมประเพณี ถึงเวลาประเพณีก็ทำบุญกุศล อันนั้นเป็นวัฒนธรรมประเพณี เป็นเรื่องบุญกุศล
เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติ เราก็มีหลักมีเกณฑ์ ตั้งสติของเรา เราจะกำหนดพุทโธของเรา เราจะใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเรา เราทำสิ่งใดมันต้องมีหลักมีเกณฑ์ มีหลักมีเกณฑ์ ทำจนเรามีคุณสมบัติ คือเรารู้จริงเห็นจริงตามความเป็นจริงขึ้นมา แล้วทำเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา ถ้าทำเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา มันต้องมีความจริงไปทุกขั้นตอนไง ถ้าความจริงทุกขั้นตอน
เวลาโดยประเพณีวัฒนธรรม เวลาทำบุญขึ้นมา คนเต็มศาลา คนเต็มไปหมดเลย คนทำบุญ เพราะการเสียสละ ทางโลกเขาว่า การเสียสละมันแสนยากนะ เพราะว่าความตระหนี่ถี่เหนียวของเขา แต่เวลาใจของเราเป็นบุญกุศล เราทำได้ง่ายๆ เห็นไหม แค่การเสียสละ การเสียสละสิ่งที่เป็นอามิส สิ่งนี้การเสียสละมันทำได้ง่าย ทำได้ง่าย ทำได้ง่ายของคนที่ใจเป็นธรรมไง
แต่เวลายกขึ้นสู่วิปัสสนา ยกขึ้นสู่การภาวนา มันทำแล้วมันจะเข้าไปเผชิญกับความจริงแล้ว ถ้าเข้าไปเผชิญกับความจริง มันอยู่ที่จิตใจของคน จิตใจของคนถ้ามีอำนาจวาสนา ขิปปาภิญญานี่พร้อมแล้ว ฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีเดียวเป็นพระอรหันต์ไปเลย แต่ที่ยังไม่พร้อม ขนาดพระพุทธเจ้าไปทรมานยังไม่ฟังเลย มันเป็นว่าเขาสร้างบุญกุศลของใครมา
ฉะนั้น เวลาทำของเรา เราทำของเรานะ เราทำของเรา เราพยายามทำความจริงของเรา เราฝึกฝนของเรา แล้วมันเป็นการวัดบารมี เห็นไหม พละคือจิตใจที่มีกำลัง จิตใจที่มีศรัทธาความเชื่อมั่นคง จะทำอะไรทำต่อเนื่อง ทำต่อเนื่องมันก็จะได้ผลต่อเนื่องมา ผลต่อเนื่องมา มันจะดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าทำความเป็นจริง
เพราะว่าในการเราฝึกหัดภาวนามันเป็นเส้นทางเดินของใจ เส้นทางเดินของจิต จิตที่มีเส้นทางเดิน จิตเวลาเกิดมาในวัฏฏะ ดูเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ ภพชาติหนึ่งนะ ทำความดีทั้งชาติๆ เลย แล้วสะสมมาไม่มีต้นไม่มีปลาย แต่ละภพแต่ละชาติ สร้างสมบุญญาธิการมา
แต่ในปัจจุบันนี้มันมีธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่แล้วใช่ไหม เราเกิดมาเรามีความคิดบวก ความคิดบวกคือความคิดว่าเราอยากจะเข้าถึงสัจธรรม ความคิดบวกว่ามันมีโอกาสที่เราจะผ่านพ้น เราจะปราบพญามารในใจได้ เราจะชำระล้างได้ เรามีโอกาสไง นี่เราคิดบวก พอเราคิดบวก เราคิดบวก เรามีโอกาส มันก็เป็นบุญกุศลของเราแล้ว
ฉะนั้น สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเป็นพระโพธิสัตว์สร้างมาแต่ละภพแต่ละชาติมา สร้างสมบุญญาธิการมา เวลาชาติสุดท้ายเกิดที่สวนลุมพินีวัน นี่เพิ่งเกิด ตกฟากมา ยังเป็นเด็กอยู่เลย “เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย” มันยืนยันไง
อย่างเรา เรายังไม่มีอะไรเลย เราบอกเราจะร่ำจะรวย มันก็แปลกๆ เนาะ แต่นี้เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมบุญญาธิการมา มันบารมีเต็มมา เต็มมาแล้ว เวลาเกิดเป็นทารกเลย “เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย” แล้วก็มีครอบครัวไป สุดท้ายแล้วเวลาออกประพฤติปฏิบัติอยู่ ๖ ปี ยังต้องไปพิสูจน์กันอีก ๖ ปี
แต่เวลา “เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย” ตอนที่ไปวันเพ็ญเดือน ๖ นั่นน่ะ วันวิสาขะนั่นน่ะชาติสุดท้าย อันนั้นน่ะของจริง แต่เวลาเกิดมา อันนั้นด้วยอำนาจวาสนาบารมีไง อำนาจวาสนาบารมีส่งเสริมมาขนาดนั้นน่ะ
นั่นพูดถึงว่า เปรียบเทียบถึงว่าเวลาจะปฏิบัติ คนปฏิบัติแล้วมันจะมีถูกมีผิดอะไรต่างๆ ฉะนั้น ถ้าเรามีความสนใจอย่างนี้ เราทำของเราได้มันก็เป็นประโยชน์แล้ว
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเรากำหนดรัวๆ พุทโธไวๆ นี่ใช้ได้ เห็นไหม ลมหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าพุทโธอย่างใดอย่างหนึ่งชัดๆ เลย
แต่เวลามันทำไปแล้วมันก็เกิดปัญหาไง มันมาเกิดปัญหาขึ้นมา มันเห็น คำถามว่า มันเห็นแสง มันมีแสง มันเป็นแสงสว่างควงเข้ามาหาตัวเอง แล้วมันก็จะพิสูจน์ เราก็ลองว่ามันจะชนกันไหม มันไม่ชนกันเสียที
เหมือนหลวงตามาที่โพธารามเลยเนาะ กระทิงแดงมันทำท่าจะชนกัน แต่มันไม่ชนกันสักที กระทิงแดง เอ๊! พระปฏิบัติมันจะชนกันหรือเปล่า
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน มันทำท่าจะชนกัน มันไม่ชนกันสักทีเลย เหมือนหลวงตามาที่โพธาราม กระทิงมันทำท่าจะชนกัน มันไม่ชนกัน พระก็เหมือนกัน ย้อนมาพระเลย พระทำท่าว่าเป็นนักปฏิบัติ มันจะปฏิบัติจริงหรือเปล่า มันเอาจริงหรือเปล่า
นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันจะชนกัน มันไม่ชนหรอก เพราะอะไรรู้ไหม เพราะจิตมันส่งออกหมด เห็นแสง จิตก็ส่งออกไปแล้ว แล้วส่งออกไปแล้วมันเป็นนามธรรม มันจะไปชนอะไรล่ะ เว้นไว้แต่กำหนดให้มันชนกัน มันก็ชน ชนให้เราเห็น มันก็แตก แตกเป็นสิ่งที่มากขึ้นไปอีก
ฉะนั้น ถ้าพูดอย่างนี้ไปปั๊บ เขาบอกว่าติดนิมิต
โดยทั่วไปนะ ถ้าพูดถึงเขาบอกว่า เวลากำหนดพุทโธไปแล้วมันจะเกิดนิมิต มันจะรู้เห็นต่างๆ มันเป็นนิมิต ถ้าเป็นนิมิตมันจะติด สมถะติดแค่นิมิต ไปไหนไม่รอดหรอก นี่ความเห็นแนวทางปฏิบัติอันหนึ่ง
แต่ถ้าเป็นแนวทางของครูบาอาจารย์ของเรานะ ผู้ที่ปฏิบัติพุทโธมีนิมิตก็มี ไม่มีนิมิตก็มี ไม่มีนิมิตหรอก ถ้าจริตของเขาไม่มีก็คือไม่มี แล้วจริตของเขานะ ถ้าไม่มี เขาไปปฏิบัติไปแนวทางใดเขาก็ไม่มีนิมิต แต่ถ้าเขาปฏิบัติ จิตเขาสงบได้ เขาใช้ปัญญาได้ เขาถึงจะมีบาทฐาน บาทฐานการก้าวเดินไป แต่ถ้าจิตเขาไม่สงบนะ เขาปฏิบัติไม่ได้ เขาก็วัวพันหลักอยู่อย่างนั้นน่ะ จะไปปฏิบัติแนวทางไหนมันก็เป็นอย่างนั้นถ้าไม่มีนิมิตนะ
แล้วถ้ามีนิมิต คนมีนิมิตหมายถึงจริตนิสัย คือวาสนา คือพันธุกรรมของจิตมันสร้างมาอย่างนั้น ถ้าจะปฏิบัติพุทโธมันก็มีนิมิต ปฏิบัติแนวทางไหนมันก็มีนิมิต มีทุกอย่าง มีทั้งนั้น แต่มีนิมิตแล้ว พอเขากำหนดแนวทางอื่น เพราะเขาพยายามปฏิเสธ เขาพยายามหลบหลีก เขาถึงไม่มีนิมิต
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลากำหนดพุทโธๆ ถ้ามันเกิดนิมิต ถ้าเกิดนิมิตนะ เราก็กลับมาที่พุทโธ นิมิตมันก็หายหมด เพราะจิตมันออกไปรับรู้ นิมิตมันเกิดจากจิต ถ้าจิตไม่เข้ามาสู่ตัวมันเอง นิมิตมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร มันจะสูงส่งขนาดไหน ท่านก็ให้วาง ครูบาอาจารย์ท่านให้วางไว้ นิมิตท่านไม่ให้ส่งออก
เห็นไหม จิตส่งออกๆ มันเป็นหลักของการปฏิบัติเลยว่าไม่ให้ส่งจิตออกนอก ให้ส่งจิตสู่ภายใน ให้กำหนดพุทโธๆ ให้ปัญญาอบรมสมาธิ ให้กลับสู่ภายใน กลับสู่ภายในคือกลับสู่สัมมาสมาธิ ถ้าใครมีสัมมาสมาธิ นั่นน่ะบาทฐานของการปฏิบัติ สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน
ไม่มีบาทฐานให้ที่ทำงาน เป็นไปไม่ได้เรื่องการภาวนา เป็นไปไม่ได้ ภาวนาจะเป็นไปได้มันต้องมีบาทมีฐาน สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน สมถกรรมฐาน มันเกิดความสงบของใจเข้ามา มันยกขึ้นสู่วิปัสสนา มันถึงมีฐาน ฐานคืออะไร ฐานก็คือตัวจิตเราไง ฐานคือจิตที่เวียนว่ายตายเกิด ฐานคือตัวนี้ ฉะนั้น ฐานตัวนี้สำคัญ
ฉะนั้น ถ้ามันจะเห็นนิมิต เห็นแสงต่างๆ มันเป็นการบอกกล่าว การบอกกล่าวว่าจิตของเราเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงจากจิตที่เป็นสามัญสำนึกแล้ว มันจะเปลี่ยนแปลงมา ถ้ามันมีคุณสมบัติก็เป็นว่า เออ! เราผิดปกติ คนจะเป็นลม ลุกขึ้นมาจะล้ม ถ้าคนนั่งเฉยๆ มันไม่เป็นลม นี่ก็เหมือนกัน จิตมันมีปฏิกิริยามันจะรู้เลย อ๋อ! มันจะเปลี่ยนแปลง
แต่คนจะเป็นลมใช่ไหม เราก็ตั้งสติ ไม่เป็นลม ลุกขึ้นเดินได้ นี่ก็เหมือนกัน จิตมันเห็นนิมงนิมิต ดึงกลับมาหมดแหละ เพราะนิมิตนี้ยังไม่เป็นประโยชน์ เว้นไว้แต่การเห็นกาย ถ้าจิตสงบแล้วเราน้อมไปเห็นกายนั่นอีกเรื่องหนึ่ง
นี่พูดถึงว่า สิ่งที่ประสบการณ์ของใจไง ประสบการณ์ของใจ หนึ่ง
ที่เราพูดนี่เราพูดให้เป็นหลักไว้ ไม่ต้องไปฟังใคร เวลาคนที่ภาวนาไม่เป็นน่ะ เป็นอย่างนู้น เป็นอย่างนี้ๆ...มันภาวนาเป็นหรือ มันไม่รู้เรื่อง ถ้ามันไม่รู้เรื่อง มันมาบอกเรา คนหลงทางมันชวนกันไปหลงทาง
เราจะไปกรุงเทพฯ แล้วไปถามคนมันไม่รู้เรื่องมันก็ชี้ทั่วไปหมด เราก็เชื่อมันไป แล้วเมื่อไหร่จะเจอกรุงเทพฯ ล่ะ กางแผนที่ ธรรมและวินัย กางแผนที่ แล้วเราพยายามเข้าถึงให้ได้ กางแผนที่ แล้วแผนที่มันชี้ไปทางไหน เราพยายามไปให้ได้ ธรรมและวินัยชี้ไปทางไหน เราพยายามทำไปให้ได้
กรรมฐาน ๔๐ ห้อง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้แล้ว การทำความสงบ ๔๐ วิธีการ ถ้าไม่ทำความสงบ ๔๐ วิธีการ มันจะเกิดโลกียปัญญา มันจะไม่เข้าสู่จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา มันจะไม่เกิดปัญญาอย่างนี้เด็ดขาด เห็นไหม เราไม่มีภูมิ ไม่มีวุฒิภาวะ ทำสิ่งใดไม่ได้ทั้งนั้น
ฉะนั้น เริ่มต้นทำอย่างนี้ถูกแล้ว ถูกแล้ว ทำความสงบของใจเข้ามา ทำความสงบของใจเข้ามาให้เป็นมนุษย์สมบูรณ์ อันนั้นก็เป็นคน มันหมุนอยู่นั่นน่ะ คนๆๆ คนไม่ทั่ว แล้วคนไปคนมามันไม่เข้ากันด้วย แต่เราไม่ใช่คน เราเป็นมนุษย์ ถ้าเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ก่อน เป็นมนุษย์สมบูรณ์ก่อน เราก็พยายามทำความสงบของใจของเราเข้ามา ถ้าใจสงบแล้วมันจะปล่อยวางทุกๆ อย่างเข้ามา มันจะปล่อยวางเข้ามา
ฉะนั้น สิ่งที่ปล่อยวางเข้ามาแล้ว เข้าสู่คำถาม “๑. แสงที่วนๆ ที่ปรากฏต่อหน้าผมนั้นมันคืออะไรครับ มีประโยชน์ต่อการทำความสงบไหมครับ และผมควรจะทำอย่างไรในกรณีนี้ครับ หรือมันเป็นสิ่งที่ผมเพ้อจากการขาดสติไปเองครับ”
ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองเพ้อไปเลยนะ ถ้าตัวเองเพ้อ ถ้าขาดสติมันก็เป็นอย่างนั้นน่ะ ถ้าตัวเองเพ้อ สิ่งที่ว่าขาดสติ โดยปกติคนที่เป็นลมก็เห็นเดือนเห็นดาว เขาก็เห็นของเขาทั้งนั้นน่ะ แต่ทีนี้ว่า ถ้าเราพุทโธอยู่ ถ้ามันเห็นแสง เห็นแสง “แสงที่วนๆ ที่ปรากฏต่อหน้านั้นมันคืออะไรครับ”
จิตเวลามันเริ่มปล่อยวางสิ่งอะไรๆ เข้ามา ถ้าสติมันไม่สมบูรณ์มันจะเห็นอย่างนั้นน่ะ ถ้าสติมันสมบูรณ์ มันอยู่กับพุทโธ อยู่กับพุทโธ อยู่กับพุทโธชัดๆ แล้วพุทโธมันจะละเอียดขึ้นๆ อยู่กับพุทโธนั่นน่ะ แล้วถ้ามันสงบเข้ามาๆ ถ้ามันสงบเข้ามา แล้วถ้าสงบแล้ว ขณิกสมาธิ อุปจาระมันออกไปรู้ออกไปเห็น ก็พุทโธชัดๆ เข้าไปอีก พุทโธชัดๆ มันก็ย้อนกลับมาสู่คำบริกรรม สู่ตัวมันเอง มันจะเห็นแสงนั้นไม่ได้ แสงนี้ กำหนดพุทโธชัดๆ ด้วยสติปั๊บ หายหมด
เวลาส่งออกไปมันส่งออกไปรับรู้ ทีนี้เพียงแต่ว่าพวกเรา ภูมิ กำลังของจิตมันไม่เข้มแข็ง พอไม่เข้มแข็ง เวลาปฏิบัติมาแล้วเหมือนคนเหนื่อยอ่อน ดูสิ เวลาเขาฝึกทหารเขาจะฝึกให้เหนื่อยเต็มที่เลย แล้วเขายังสั่งอีกว่ามันยังอยู่ในวินัยหรือเปล่า
นี่ก็เหมือนกัน เราพุทโธๆ มา เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิมา มันล้า พอมันล้า มันไปเห็นแสง สติเราไม่สมบูรณ์แล้วล่ะ พอเห็นแสงเห็นอะไรมันก็คล้อยตามไง
แต่ถ้าเราพุทโธๆ ชัดๆ นะ เห็นแสง แสงก็คือแสง เราพุทโธชัดๆ เดี๋ยวแสงมันก็จางลง มันก็กลับมาสู่ที่พุทโธ กลับมาสู่ที่ตัวจิต จิตก็มีกำลังมากขึ้น ดูสิ ที่เขาฝึกทหาร มันล้าหมดแล้ว พอมันเห็นอะไรมันก็ไปหมดไง
แต่ถ้าเราไม่ล้านะ เราเห็นอะไร เห็นนั้นก็ส่วนตากระทบ แต่ตอนนี้เราฝึกอยู่ เราฝึกอยู่ เราต้องการเทคนิค เราต้องการยุทธวิธี เราต้องการเรื่องทฤษฎีทางทหารให้เราฝึกฝน ให้เราเป็นขึ้นมา
เห็นไหม เรากำลังฝึกอยู่ เรากำลังฝึกทหารอยู่ แต่เวลามันเหนื่อยมันล้าขึ้นไป การฝึกทหารมันก็เห็นสิ่งรอบข้าง เห็นสภาวะแวดล้อม มันก็คิดไปหมดแหละ ตอนนี้ถ้ามีใครให้น้ำสักขันหนึ่งก็ดีน่ะสิ ตอนนี้ถ้าใครมาเป่านกหวีดให้หยุดก่อนก็ดีน่ะสิ นี่มันคิดแฉลบไปหมด
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราพุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ เราฝึกอยู่ เราฝึกอยู่ เราต้องการให้ภาคปฏิบัตินี้จบเป็นขั้นตอน เราจะได้พัก พุทโธๆๆ จนมันสงบเข้าไป ไอ้แสงนั้นน่ะไม่เข้ามายุ่ง
แต่ไอ้นี่มันล้าไง พุทโธๆ ไปเลย หรือรัวๆ ไป มันล้า แล้วมันก็ไป
นี่พูดถึงว่า “สิ่งที่วนๆ อยู่ ที่ปรากฏต่อหน้านี้มันคืออะไรครับ จิตมันรู้มันเห็น มันคืออะไรครับ”
ถ้าบอกว่ามันรู้มันเห็นนี่ถูกต้องดีงามไปหมด เขาก็บอกว่า “เออ! ไอ้พวกพุทโธเป็นอย่างนี้ เวลาปฏิบัติไปเป็นอย่างนี้ ไปรู้ไปเห็นอะไรแล้วก็ตีความกันไปเอง มันไม่จริง” เขาว่าอย่างนั้นนะ
มันไม่จริงเพราะมันยังไม่ถึงเวลา ไม่ถึงเวลา คนฝึกหัดใหม่ คนทำใหม่มันก็เป็นแบบนี้ แต่ไปรู้ไปเห็น เราวางไว้ เรากลับมาพุทโธชัดๆ พุทโธรัวๆ สิ่งนี้ได้
“สิ่งที่ปรากฏต่อหน้านั้นมันคืออะไรครับ”
มันคือว่าเราออกรู้ออกเห็นแสง
“มันมีประโยชน์ต่อการทำความสงบไหมครับ”
มันจะกวนไง มันจะกวนให้ไม่สงบ ถ้าเราปล่อย มันก็จะสงบ แต่ถ้าเราไปหามัน มันไม่สงบ มันจะออก
“มันเป็นประโยชน์ไหมครับ”
มันไม่เป็นประโยชน์ มันยังไม่เป็นประโยชน์ ถ้ามันจะเป็นประโยชน์ จิตสงบแล้วรำพึงไปเห็นกาย รำพึงไปสู่ความหงุดหงิดของใจ เวทนา รำพึงไปสู่ความผ่องใสของจิต รำพึงไปสู่ธรรมารมณ์ อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ถ้าจิตสงบแล้วเรารำพึงไปที่สติปัฏฐาน ๔ ถ้าถึงตอนนั้นน่ะมันจะเป็นประโยชน์ แต่ตอนนี้ยังไม่เป็นประโยชน์ เวลายังไม่เป็นประโยชน์ ยังไม่เป็นประโยชน์ ต้องพักไว้ก่อน
หลวงปู่เสาร์ท่านจะสอนเลย ถ้ายังไม่เป็นประโยชน์ ยังไม่ถึงเวลา ไม่ควรทำ เราจะทำต่อเมื่อมันถึงเวลา
ยังไม่ถึงเวลานะ เราชิงสุกก่อนห่าม มันจะเสียกันไปหมดเลย จะเข้าสมาธิก็เข้าไม่ได้ หลวงตาท่านสอนนะ เวลาจิตสงบแล้วให้อยู่กับความสงบนั้น อย่าไปกวนมัน อย่าไปถอนมันออก เวลามันจะคลายตัวออกมา ให้ปล่อยมันคลายตัวออกมา เพราะถ้าไปถอนมันออก ไปรีบร้อน ไปกวนมัน วันหลังจะเข้าไม่ได้อีกเลย วันหลังจะเข้าได้ยาก เพราะอะไร เพราะมันเข็ด
แต่ถ้าพอมันเข้าไปพักแล้ว เวลามันพักนะ พุทโธๆๆ หรือเราพุทโธเร็วๆ พุทโธมันละเอียดเข้าไปๆ พอละเอียดเข้าไป สติมันพร้อมนะ ถ้าสติพร้อม ละเอียดเข้าไปจนมันนิ่ง เราอยู่กับมัน แล้วพอเดี๋ยวมันคลายตัวออกมาคือมันออกมารับรู้ มันแผ่ซ่านออกมา เวลามันคลายออกจากสมาธิคือมันแผ่ซ่านออกมา มันแผ่ซ่านออกมา อ๋อ! เราก็คิดตอนนั้น พิจารณาตอนนั้น แล้วถ้ามันเหนื่อยนัก เราก็กลับเข้ามาพักอีก
ฝึกหัดให้มันชำนาญ ฝึกหัดให้มันคล่องแคล่ว แล้วเวลามันได้แล้วหนหนึ่งนี่ติดใจมากเลย แล้วตอนหลังเข้าไม่ได้อีกเลย แล้วก็อยากได้อย่างนี้อีกเลย แล้วพอไม่ได้ก็เสียใจ นั่นน่ะตัณหาซ้อนตัณหา
ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ มันอยู่ที่เรา การกระทำสมควรเหมาะสม ถ้าเหมาะสม มันลง เหมาะสมดีงาม มันต้องลงอย่างนั้นแน่นอน เพียงแต่เหมาะสมดีงามของใคร เพราะเหมาะสมของคนกิเลสหนามันก็ต้องรุนแรงหน่อย เหมาะสมของคนปานกลาง ปานกลางมันก็ลง เหมาะสมของคนที่นุ่มนวล จิตของเขามีคุณงามความดีมานุ่มนวล เขาเหมาะสม เขาก็ลงของเขา เห็นไหม มัชฌิมาปฏิปทา ความเหมาะสม ความเหมาะสมของใคร ความเหมาะสมของคนที่สร้างบุญสร้างกรรมมามากน้อยแค่ไหน นี่ความเหมาะสม
“แล้วผมควรทำกรณีนี้อย่างใด”
กรณีนี้นะ เราก็ใช้พุทโธรัวๆ ของเราตั้งสติไว้ ตั้งสติของเราไว้แล้วพุทโธเข้าไป เพราะตอนนี้เราต้องการทำความสงบ ถ้าสงบแล้ว พอสงบแล้ว “แล้วเมื่อไหร่ผมจะใช้ปัญญาล่ะ”
พอสงบแล้วพอมันคลายตัวออกมา เราก็ฝึกหัดใช้ปัญญาก็ได้ ปัญญาก็ปัญญานี่ อันนี้มันคืออะไร ที่สงบนี่มันสงบจริงหรือเปล่า เราใคร่ครวญของเรา แล้วพอใคร่ครวญ พอเข้าใจแล้ว เราก็กลับมาพุทโธอีก ปัญญามันฝึกใช้ได้ มันฝึกหัดใช้ แต่มันใช้ในอะไร
ทีนี้ปัญญา สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาต้องฝึกหัด ถ้าจิตมันมีกำลังแล้วเราก็ฝึกหัดใช้ปัญญาได้ ปัญญาก็ไตร่ตรอง มาไตร่ตรองการปฏิบัติของเรา
ทีนี้เขาถามว่า “แล้วอย่างนี้ผมเพ้อไปหรือเปล่าครับ”
เออ! อาจจะเพ้อก็ได้ เพ้อคือว่า เพราะว่าของอย่างนี้มันไว ความคิดหรือความเห็นมันเร็วมาก ถ้าเราตั้งสติไว้ ความรู้ความเห็นเราพิสูจน์ได้
ว่าผมเพ้อไปหรือเปล่า
ถ้าไม่เพ้อ เราเห็นแล้ว เพราะเรารู้เราเห็นของเราเอง แล้วเราก็ปล่อยวาง เราวางไว้ แล้วเราทำของเราใหม่ นี่ข้อที่ ๑.
“๒. ผมยังคงหาวิธีการทำความสงบที่เหมาะสมกับผมอยู่ครับ ซึ่งผมใช้หลายๆ วิธีสลับกันครับ บางครั้งผมกำหนดคำบริกรรมยาวๆ บ้าง กำหนดพุทโธรัวๆ บ้าง หรือจินตนาการสร้างภาพกายบ้าง ผมทำแบบนี้ถูกไหมครับ หรือควรใช้วิธีใดวิธีหนึ่งตลอดไปครับ”
ใช้วิธีใดวิธีหนึ่งนี่ถูกต้อง ถูกต้องมากๆ เลย แต่เวลาใช้วิธีใดวิธีหนึ่งแล้วมันจืดชืด บางทีมันจืดชืด แล้วแบบว่ามันทำให้การปฏิบัติมันไม่ดูดดื่ม บางทีมันทำไปๆ แล้วมันเคยชิน พอเคยชินมันก็จืดชืด มันก็เบื่อหน่าย มันก็รำคาญ อย่างนี้เราก็ใช้อุบาย คือเปลี่ยนได้
แต่ถ้าพูดถึงว่าถ้ามันไม่จืดชืด ถ้าเราพุทโธ ถ้าเวลาภาวนาดีนะ ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ๒ วัน ๓ วัน มันชัดเจน แล้วมันทำดีมากเลย อย่างนี้ไม่ต้องเปลี่ยนเลย แน่วแน่แล้วทำให้เต็มที่เข้าไปเลย
แต่ถ้าเวลามันเบื่อไง เดินจงกรมก็เบื่อ นั่งสมาธิก็เบื่อ โอ๋ย! น่าเบื่อไปหมดเลย...อย่างนี้ใช้อุบายพลิกแพลงๆ
ที่ว่า “ผมใช้หลายๆ วิธีครับ ผมยังหาความเหมาะสมของผมไม่เจอครับ”
ความเหมาะสมนะ มีหยาบ มีกลาง มีละเอียด ตอนนี้เหมาะสม เวลาไปข้างหน้าไม่เหมาะสมแล้วล่ะ แล้วตอนนี้ไม่เหมาะสมเลย แต่ข้างหน้า ตรงนี้เหมาะสม ความเหมาะสมมันอยู่ที่อารมณ์กระทบไง
บางทีวันนี้ โอ้โฮ! โดนกระทบมารุนแรงเลยนะ มันก็ต้องรัวกันเต็มที่เลย แต่วันนี้นะ จิตใจเรานุ่มนวลมาก จิตใจเรา โอ้โฮ! มันชุ่มชื่นมาก อันนี้ไม่ต้องแรงๆ หรอก เบาๆ ก็ได้ เห็นไหม มันเหมาะสมที่ว่าอารมณ์ตอนนั้นน่ะ
สิ่งที่เราจะปฏิบัติ ถ้าวันนี้ โอ้โฮ! จิตใจมันดีมากเลย ยิ่งได้ฟังเทศน์หลวงตามาอย่างนี้ อู้ฮู! มันซาบซึ้งๆ เราก็ทำนุ่มนวลไปกับมัน ไม่ใช่มันซาบซึ้ง มันจะลงสมาธิอยู่แล้ว ก็ยังไปพุทโธไวๆ อยู่ มันก็ไม่ลงไง
ความเหมาะสมมันก็อยู่ที่มัชฌิมาปฏิปทา อยู่ที่ความเหมาะสมพอดีตอนนั้นๆ แล้วตอนนั้นกับตอนที่ปัจจุบัน ตอนนั้นๆ
เวลาตอนนี้ “หลวงพ่อครับ ผมเคยภาวนาสุดยอดเลย เป็นอย่างนั้นๆ ครับ”
แล้วยังเป็นได้อีกหรือเปล่า
“โอ๋ย! เดี๋ยวนี้ไม่เป็นแล้วครับ มันเป็นอดีตมา ๕ ปีที่แล้ว”...อย่างนี้ไม่เหมาะสมแล้ว อันนั้นมันเป็นอดีตมาไกลแล้ว
มันต้องปัจจุบัน เอาตรงปัจจุบันนี้ เอาเดี๋ยวนี้ แล้วทำของเราให้ดีตอนนี้
ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “กำลังหาอยู่ครับ กำลังหาวิธีการหลายๆ อย่าง แล้วบางทีก็ลองไปพิจารณาที่กาย”
ถูก อุบายวิธีการนี่นะ ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย เราทำแบบซื่อบื้อๆ นะ ถือเคร่ง เถรส่องบาตร หลวงตาเวลาท่านพูดนะ โง่ยิ่งกว่าหมาตาย ภาวนาก็ไม่รู้จักใช้อุบายเลย
หมา อย่างว่า คนมีอุบายถึงจะเลี้ยงหมาได้ หมามันนอนตายอยู่นี่ แล้วยังโง่กว่ามันอีกนี่ เวลาภาวนาทำตัวโง่ยิ่งกว่าหมาตาย เดินจงกรมสักแต่ว่าเดิน เห็นไหม ท่านก็เหน็บเอาบ่อยๆ หลวงตา
ภาวนาโง่ยิ่งกว่าหมาตาย
คือหมาตายมันไม่ทำอะไรแล้ว ก็มันตายแล้วมันกระดุกกระดิกไม่ได้ ไอ้นี่ภาวนาก็ซื่อบื้ออยู่อย่างนั้นน่ะ อย่างกับหมาตายเลย เดินไปเป็นกิริยาเฉยๆ
มันก็ต้องใช้อุบาย แล้วใช้อุบายปั๊บ
“ผมยังหาความเหมาะสมกับผมไม่ได้ในการปฏิบัติ”
ความเหมาะสมมันไม่ใช่สูตรสำเร็จ โลกนี้คิดกันแบบวิทยาศาสตร์ ทำสิ่งใดแล้วก็ทำอยู่อย่างนั้น กิเลสมันมีชีวิต มันปลิ้นปล้อน มันพลิกแพลง มันคอยล่อลวงตลอด แล้วเราจะเอาสูตรสำเร็จไป มันหัวเราะเยาะเลย กิเลสมันปลิ้นปล้อนมันหลอกลวงตลอด ฉะนั้น ความเหมาะสมของเรามันอยู่ที่เหตุปัจจุบันนั้น เราต้องมีอุบายสู้กับมันไปตลอด ไอ้นี่การปฏิบัตินะ
ฉะนั้น สิ่งที่ทำมา “ควรทำอย่างใด ทำแบบนี้ถูกไหมครับ”
ถูก ถูกในระยะนี้ไง ถูกในระยะปัจจุบัน ปัจจุบันนี้ถ้าเรากำหนดพุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิแล้วมันลงได้นี่ถูก แล้วคราวหน้าจะถูกอีกไหมล่ะ คราวหน้ากิเลสมันรู้ทันแล้วนะ คราวนี้พุทโธเกือบตาย ไม่ลงสักที
ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาก็สู้มันเต็มที่ ปัญญาอบรมสมาธิมันก็มีหยาบ มีกลาง มีละเอียด พุทโธ พุทโธอย่างไร พุทโธของมัน แล้วถ้าพุทโธไม่ได้ พระเราก็ย้อนกลับมาแล้ว ถ้าทำสิ่งใดไม่ได้นะ ย้อนกลับมาผ่อนอาหารแล้ว ถ้ามันไม่ลง อดครับ ไม่กิน ไม่ลง กูก็ไม่กินหรอก กี่วัน สู้กัน พอมันสู้กันแล้วนะ พอมันจะตาย มันจะตาย มันสู้ไม่ได้มันก็ลง
อดนอนผ่อนอาหารมันไปต่อสู้กับพญามารเลยล่ะ ไปต่อรองกันเลยล่ะ ไปต่อรองกับกิเลสเลยล่ะ ระหว่างกิเลสกับธรรมมันจะต่อรองกัน มันจะเข้าไปถึงนู่นน่ะ มันไม่ใช่ผิวๆ อย่างนี้หรอก เวลาปฏิบัติไป เดี๋ยวเข้าไปแล้วมันจะไปต่อรองกันข้างในอีก อ้าว! แพ้หรือชนะ ลงได้หรือลงไม่ได้ เราตั้งสัจจะว่ากัน มันต้องไปพิสูจน์กันนู่น
พูดอย่างนี้ไป บอกว่า “หลวงพ่อ โอ้โฮ! ขนาดนั้นเชียวหรือ”
ยัง ค่อยๆ ทำไป ถูก
“๓. การทำสมาธิโดยกำหนดพุทโธรัวๆ ของผมนั้น บ่อยครั้งผมรู้สึกว่าเมื่อกำหนดไปนานๆ จะเปลี่ยนจากการกำหนดเองมาเป็นการได้ยินคำว่า “พุทโธ” รัวๆ แทน แล้วผมก็สามารถย้ายคำว่า “พุทโธ” ให้วิ่งไปที่ตามกายของผมได้ครับ เช่น กำหนดที่แขนขา ผมไม่แน่ใจว่า การทำแบบนี้ถูกต้องไหมครับ”
การกำหนดไปที่แขนขามันคนละเรื่องกันนะ ถ้ากำหนดพุทโธไวๆ พุทโธไวๆ จนได้ยินเสียงเลย เรากำหนดพุทโธ เรามีสติไปพร้อมกับมัน คือควบคุม ถ้ามีสติ สติคือการควบคุม ถ้ามีสติอยู่ หลวงตาบอกว่า ถ้ามีสติอยู่ การปฏิบัตินั้นเป็นการประพฤติปฏิบัติโดยสัมมาทิฏฐิ แต่ถ้าขาดสตินี่เป็นสมุทัยหมดเลย ถ้าขาดสตินะ
ทีนี้เราพุทโธๆ ถ้ามีสติอยู่ มันจะรัวขนาดไหน ถ้ามีสติอยู่ มันจะรัวไป มันจะได้ยินเสียง หรือว่ามันจะเป็นคำพูดเอง ไม่เป็นไร ตั้งสติไว้ แล้วรักษามันดีๆ
แต่เวลาที่ว่าเราเคลื่อนพุทโธไปไว้ตามแขนตามขา เราเคลื่อนพุทโธไปไว้ตามแขนตามขา
ตามแขนตามขา มันพุทโธได้อย่างไร เพราะแขนขามันไม่ใช่สิ่งมีชีวิต ทีนี้คำที่ว่า “เราเคลื่อนไปที่แขนขา” จิตมันสร้างได้ จิตมันทำได้ พอจิตมันทำได้ มันก็เคลื่อนไป
ฉะนั้น ที่ว่าเวลาหลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกว่า เวลากำหนดตามข้อนิ้วมือ เวลากำหนดตามกระดูก อวัยวะ อันนั้นท่านกำหนดดู กำหนดดูกระดูก ดูหนัง ดูเนื้อ
แต่เราพุทโธๆ มันเป็นนามธรรมนะ กำหนดดูกระดูก ดูผิว ดูหนัง ดูเนื้อ มันเป็นรูปธรรม
ฉะนั้น สิ่งนี้ค่อยๆ หาความลงตัว ค่อยๆ หาจุดสมบูรณ์ของเรา หาจุดที่ว่าเราจะทำของเราได้ใช่ไหม
ทีนี้คำว่า “ย้าย” นั่นน่ะ ย้ายคำว่า “พุทโธ” ไปอยู่ที่นู่นที่นี่ เราไม่ต้องย้าย ถ้าเราจะลองกลับนะ เราไม่ต้องย้ายไปที่แขนที่ขา เพราะจิตมันส่งไปได้ จิตนี้มันเป็นไปได้ทั้งนั้นน่ะเวลาเราจะทำอะไรไง
ทีนี้เวลาเราจะปฏิบัติ สิ่งที่ย้าย
สิ่งที่ว่า คำถามคำแรกบอกว่า “ผมทำอย่างนี้ถูกไหม ผมใช้อุบายอย่างนี้ถูกไหม”
ถูก แต่ถ้าเวลาคำว่า “ถูก” ปั๊บ เวลาสมุทัยคือกิเลส คือตัณหาความทะยานอยากมันพลิกแพลง มันก็ถูกใช่ไหม ถูกก็พยายามจะทำให้เกินความจำเป็นน่ะ ถ้าเกินความจำเป็นไป มันออกไปในทางที่เราจะผิดพลาด ในทางที่เราจะควบคุมไม่ได้ ถ้าในทางที่ผิดพลาด ในทางที่ควบคุมไม่ได้ ผลสรุปของมันก็คือการไม่ได้ผลไง
แต่ถ้าเราไม่ย้ายตามมันไป ถ้ามันได้ยินรัวๆ มันก็ไม่เป็นไร ถ้าได้ยินพุทโธก็ไม่เป็นไร
แต่ถ้าย้ายไปตามแขนตามขา ถ้าย้ายตามแขนตามขา เราทิ้งเลย เราใช้ดูกระดูกดีกว่า ถ้าใช้กระดูก กระดูกก็คือกระดูก มันพิสูจน์กันได้ มันไม่ทำให้เราสับสนไง
แต่ถ้าเราพุทโธไว้ที่นั่น พุทโธไว้ที่นี่ เราย้ายไปย้ายมา เวลาคำที่ ๒ บอกว่าถูก ทำไมคำที่ ๓ บอกว่าไม่สมควรล่ะ
ไม่สมควรคือว่ามันจะเป็นทางเสียหายไง มันจะเป็นทางเสียหาย มันจะเป็นทางที่ว่าต่อไปจะจับต้นชนปลายอะไรไม่ได้เลย แล้วต่อไปเราจะควบคุมได้อย่างไร
ฉะนั้น จิตมันเป็นได้หลากหลาย เป็นได้หลายอย่างน่ะ ใช่ มันเป็นได้อย่างนั้นจริงๆ แต่ถ้าผลของมันที่เราทำมันเป็นได้หลายๆ อย่าง แต่เราก็ต้องการให้กลับสู่ตัวมันเอง คือกลับมาสู่ความสงบไง กลับมาสู่ตัวมันเอง
ถ้ากลับมาสู่ตัวมันเองแล้ว จิตสงบแล้ว ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญานั่นอีกเรื่องหนึ่ง เวลาใช้ปัญญานั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่ถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิสิ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิมันก็อีกเรื่องหนึ่ง มันใช้ปัญญาไป
แต่นี่มันเป็นพุทโธๆ ปัญญาอบรมสมาธิ พอมันใช้เหตุใช้ผลพิจารณากัน ต่อรองกับจิตจนจิตมันปล่อย แล้วทำอย่างไรต่อไป
ก็พุทโธไง พอจิตมันปล่อยแล้ว พุทโธมันเป็นคำบริกรรมที่จิตมันจะต่อเนื่องกันไปได้ คือมันส่งต่อไง จากปัญญาอบรมสมาธิ มันใช้ปัญญาจนมันหยุด หยุดแล้วมันยังไม่ละเอียดใช่ไหม มันนึกพุทโธได้ เราก็พุทโธต่อเนื่องกันไปไง แต่ถ้าพุทโธไปอยู่ตามแขนตามขามันจะทำให้ไขว้เขว เรากลับมาที่นี่ ถ้ากลับมาที่นี่ มันจะกลับมาทำของเรา
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเขาย้ายได้อะไรได้...ไม่เอา ไม่เอา
บางอย่างเราทำแล้วถ้ามันไม่เสียหาย ได้ บางอย่างมันไปแล้วมันเสี่ยง เราไม่ควรทำ
ฉะนั้น เขาถามว่า “ผมควรทำอย่างไรต่อไป ขอให้หลวงพ่อช่วยแนะนำด้วย”
เราก็บอกว่า ถ้าเราปฏิบัติตามความเป็นจริงนะ เราจะมีภูมิ เราจะมีภูมิความรู้ ถ้าเราจะมีความรู้ สิ่งที่กิเลสมันสร้างมา กิเลสมันมาต่อรองกับใจจะให้เราผิดพลาด ถ้าเรามีภูมิ เราจะมีภูมิ เราจะมีภูมิ เราแยกได้แล้ว อะไรควรไม่ควร เพราะเรามีภูมิ แต่ถ้าเราไม่มีภูมิ กิเลสมันมีภูมิเหนือกว่า ก็เลยทำให้เราสับสนไง
เราฝึกหัดของเรา ให้เรามีภูมิ ถ้ามีภูมิมันก็เป็นความจริงขึ้นมาได้ นี่ถ้าเป็นประโยชน์กับเรานะ
ฉะนั้น มันข้อต่อไป
ถาม : เรื่อง “ปัญญาอบรมสมาธิ”
กราบเรียนหลวงพ่อ ลูกอาศัยอยู่ต่างประเทศ ไม่มีครูอาจารย์สั่งสอน ได้แต่ฟังหลวงพ่อเทศน์ทุกวัน ระหว่างที่ฟังก็จะเดินจงกรมไปด้วย ปัญหาของลูกคือเดินไปคิดไปอยู่ตลอดเวลา จิตมันฟุ้งตลอด ถ้าเป็นความคิดเล็กๆ น้อยๆ เช่น วันนี้จะกินอะไรดี ลูกก็จะดึงกลับมาที่พุทโธ ถูกต้องไหมคะ
แต่ถ้าเป็นความคิดที่แรงกว่านั้น เช่น เกลียดคนคนหนึ่งก็นึกแต่ความเลวของเขา เมื่อดึงกลับมาที่พุทโธ มันเอาไม่อยู่ค่ะ ต้องใช้ธรรมะเข้าเตือนตัวเอง เช่น กรรมของใครก็เป็นของคนนั้น ถ้าไม่หยุดคิดอีกก็หาธรรมะมาเตือนตัวเองอีก ถูกต้องหรือเปล่าคะ
หลวงพ่อบอกให้ตามความคิดไป ลูกไม่เข้าใจค่ะ ลูกเข้าใจว่า ถ้าจิตคิดก็ปล่อยให้มันคิดไป แต่ก็ให้รู้ว่า “อ๋อ! คิดอีกแล้ว” หรือคะ
สรุปมี ๓ คำถาม
๑. ถ้าจิตคิดเล็กๆ น้อยๆ ให้ดึงมาที่พุทโธ ถูกไหมคะ
๒. ถ้าคิดแรงกว่านั้น ใช้ธรรมะช่วยเข้าเตือน ถูกต้องไหม เป็นปัญญาอบรมสมาธิไหม
๓. หลวงพ่อช่วยอธิบายการตามความคิด ยกตัวอย่างให้ลูกเข้าใจง่ายๆ ด้วยค่ะ เพราะลูกโง่เขลา
ตอบ : นี่พูดถึงคำถามนะ “๑. ถ้าจิตคิดเล็กๆ น้อยๆ ดึงมาที่พุทโธ ถูกไหมคะ”
ก็ตัวเองก็บอกว่าตัวเองทำได้แล้วไง ตัวเองคิดเล็กๆ น้อยๆ ก็ดึงกลับมาพุทโธ ก็ตัวเองทำจบแล้วยังมาถามหลวงพ่ออีก กินข้าวอิ่มแล้วก็มาถามว่า “หลวงพ่อ ข้าวอร่อยไหม”
ก็เอ็งกินแล้ว ก็อร่อยไม่อร่อย เอ็งก็รู้แล้วไง
ฉะนั้น คำว่า “คิดเล็กๆ น้อยๆ” กิเลสมันแค่ตัวเล็กๆ เป็นหลานมัน เป็นทารก เราก็ชนะมัน แต่พอมันคิดแรง มันเป็นวัยรุ่น สู้มันไม่ไหวแล้ว
ถ้ามันเป็นทารก มันไม่มีกำลังนะ เราก็ควบคุมมันได้ แต่พอมันเป็นวัยรุ่นขึ้นมามันควบคุมไม่ได้แล้ว เดี๋ยวไปเจอพ่อมัน มันยิ่งยุ่งใหญ่เลย ยิ่งไปเจอปู่มัน ไปไหนไม่รอดเลยล่ะ
ฉะนั้น ถ้ามันคิดเล็กๆ น้อยๆ ใช่ เราควบคุมใจได้ก็ดีแล้วล่ะ เราคิดเล็กๆ น้อยๆ เราก็ใช้พุทโธ ถ้าพุทโธหยุดได้ก็คือหยุด
แล้วเราจะบอกว่าอย่างนี้นะ เวลาถ้าสติมันดี สมาธิดี มันก็หยุดได้ แต่ถ้าสติไม่ดีนะ คิดเล็กๆ น้อยๆ มันก็ไปนะ ถ้าเราอ่อนแอ ความคิดมันฉุดกระชากลากไป แต่ถ้าเรามีสติปัญญา ความคิดเล็กๆ น้อยๆ พุทโธมันก็หยุด
แต่ถ้าไม่ได้หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามันคิดแรงๆ ก็ใช้ธรรมะ ธรรมะนั่นน่ะคือปัญญาอบรมสมาธิ ที่เราคิดธรรมะนั่นน่ะคือปัญญา ปัญญาก็คือตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ปัญญาอบรมสมาธิ
“ถ้าเราคิดแรงๆ ก็ใช้ธรรมะช่วยเตือน ถูกต้องไหมคะ เป็นปัญญาอบรมสมาธิไหมคะ”
ใช่ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นปัญญาพิจารณาความถูกผิดไง พิจารณาของเราว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรควรไม่ควร เพราะเราเป็นคนเลือกเอง เราเป็นคนเลือกเอง เราเป็นคนจัดการของเราเอง ชีวิตของเรา เราก็ต้องดูแลเอง ถูกต้อง ฉะนั้น เราก็ฝึกหัดภาวนาของเราไป ฝึกหัดภาวนาเพื่อให้จิตใจเราเข้มแข็ง ให้จิตใจเรามีวุฒิภาวะ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา เราควรจะได้ศีลได้ธรรม
เวลาพระเขาบอก สมบัติของพระคืออัตตสมบัติ คือศีล สมาธิ ปัญญา
เราเป็นฆราวาส เราประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา เราก็ควรได้มีทรัพย์สมบัติติดตัวติดใจของเราไป ถ้าเรามีทรัพย์ติดใจของเราไป เราก็ฝึกหัด เรามีสติ สติมันจะติดใจของเราไป มีสมาธิ มีปัญญา มันก็จะติดหัวใจของเราไป เราแสวงหาทรัพย์สมบัติของเรา แล้วเราฝึกหัดเป็นของเราเอง
คนอื่นเขาศึกษาธรรมะแล้วเขาไม่ได้ฝึกหัด เขาก็ได้แต่สุตมยปัญญาคือการศึกษาใคร่ครวญ แต่เราปฏิบัติของเรา เราได้หลักได้เกณฑ์ เราได้ประสบการณ์ เห็นไหม คิดเล็กๆ น้อยๆ พุทโธมันก็หยุด เวลาคิดแรงๆ เราใช้ธรรมะมาเยียวยามันก็หยุด นี่เราได้เนื้อหาสาระไง เราได้อัตตสมบัติ สมบัติคือประสบการณ์ของใจ ใจมันมีประสบการณ์ตามความเป็นจริง มันเป็นสมบัติของเรา มันเป็นว่าเราจะมีภูมิๆ เรามีภูมิปัญญาของเรา
ฉะนั้น “๓. หลวงพ่อช่วยอธิบายการตามความคิด ยกตัวอย่างให้ลูกเข้าใจด้วยค่ะ”
การตามความคิด เวลามีความคิด ความคิด คนเราส่วนใหญ่แล้วมันขาดสติ เวลาคิด เราก็คิดเลย โกรธเขามาก คิดร้อยแปดพันเก้า คิดแล้วก็ไม่รู้จะทำอย่างไร
ถ้าคนมีสติ เอ๊! เราคิดมันไม่ดี เราคิดนี่ไม่ดี ถ้าคนมีสตินะ
บางคนวุฒิภาวะไม่เหมือนกันไง บางคนคิดแล้ว คิดแล้วมีแต่ความทุกข์ ไปหาพระดีกว่า ต้องให้พระจัดการ ความคิดมันทุกข์มากเลย ไปหาพระ “หนูคิดมากเลย ทำอย่างไรคะ หนูคิดมาก” นี่เขาก็ไปหาพระ เพราะว่าวุฒิภาวะของเขา
แต่ถ้าเรามีวุฒิภาวะของเรา เราฝึกหัด เรามีความคิด เรายังมีคิดธรรมะ คิดเหตุคิดผลมาต่อสู้กับมันได้ นี่ความคิด
ฉะนั้น “หลวงพ่อช่วยอธิบายถึงว่าตามความคิด”
ตามความคิด เวลามันคิดแรงๆ เวลาเรามีสติมันก็ทำได้ คนเราเวลาแข็งแรงทำอะไรก็ได้ แต่เวลามันชราภาพ มันต่างๆ แล้วมันทำอะไรยากขึ้นเรื่อยๆ
นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตใจที่เวลาเราคิดแรงๆ เราใช้ธรรมะมายับยั้งได้ใช่ไหม แต่เวลามันคิดแรงกว่านี้ ไปเจอพ่อเจอแม่มัน เดี๋ยวมันคิดจนหอบเลยนะ คิดจนว่าเราจะไปกับมันน่ะ ตอนนั้นน่ะความคิดบางทีมันรุนแรงกว่า เราตามมันไปด้วยสติ เหมือนวัวเหมือนควาย วัวควายที่มันมีกำลังมากมันจะวิ่ง เราจับเชือกไว้ ตามมันไป ให้มันวิ่งจนมันหมดแรงเลย แล้วเราค่อยดึงมันกลับ
นี่ก็เหมือนกัน ตามความคิดไป เวลาความคิดที่มันรุนแรง ความคิด ความคิดที่มันรุนแรง แต่เราตามไปนะ ตามความคิด มันไม่มีพฤติกรรมการกระทำของร่างกายนะ เวลาตามความคิดไป เพราะความคิดมันร้อยแปดเลย เราตามความคิดไปด้วยสติ เดี๋ยวมันก็ต้องหยุด เหมือนวัวเหมือนควาย วัวควายนะ ดูช้างสิ ช้างมีกำลังขนาดไหนนะ ให้มันไปเถอะ ถึงที่สุดแล้วมันต้องหยุด มันไม่มีอาหารกิน มันต้องหยุด
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราตามความคิดไป ความคิด ความคิดถ้ามันแรงๆ ความคิด ถ้าเราเอาไม่อยู่ไง ถ้าความคิดแรงๆ เราใช้ธรรมะ มันยังหยุดใช่ไหม แต่ถ้าความคิดที่มันแรงๆ เราเอาไม่อยู่ใช่ไหม เรามีสติ เรามีสติตามมันไป ตามมันไป ตามรู้ตามเห็น ตามมันไป รู้เท่ารู้ทัน รู้แจ้งแทงตลอด
ตามรู้ตามเห็น ตามรู้ตามเห็นคือว่ารักษาไว้ไง ไม่ให้มันไปทำ ถ้าไม่ตามรู้ตามเห็นมันจะไปทำ ไปทำสร้างเวรสร้างกรรม
ตามรู้ตามเห็นมัน ถ้าตามรู้ตามเห็น มันไม่ทำ ถ้าถึงเวลามันหยุดมันพัก เรายังไม่ชนะมัน แต่ถ้าเราตามบ่อยๆ เข้า มันรู้เท่ารู้ทัน รู้เท่าทันมันรู้เท่าแล้ว รู้เท่ารู้ทันคือมีกำลังยับยั้งได้แล้ว รู้แจ้งแทงตลอดคือจบไง มันก็คือปัญญาอบรมสมาธินี่แหละ มันก็คือปัญญาอบรมสมาธิ
แต่ว่าตามความคิดไป คำว่า “ตามความคิดไป” เพราะถ้าความคิดที่มันแรงๆ นะ เราจะมีสติปัญญาตามไป คือรักษาใจเราไว้ได้ คือยังรักษาความเป็นมนุษย์ของเราอยู่ ไม่เป็นมนุสสติรัจฉาโน ไม่เป็นมนุษย์เดรัจฉานไง คือตัวเป็นมนุษย์ ใจเป็นสัตว์
แต่ถ้าเราตามไปๆ ดึงจากความเป็นเดรัจฉานให้เป็นมนุสสเทโว ให้กายนี้เป็นมนุษย์ แต่จิตใจเป็นเทวดา เป็นเทวดาด้วยสติด้วยปัญญา ตามมันไปๆ แล้วเปลี่ยนแปลงมันด้วยสติด้วยปัญญาอบรม ตามมันไปแล้วเปลี่ยนแปลงอบรมให้มันพัฒนาให้มันดีขึ้น จากมนุสสติรัจฉาโนเป็นมนุสสเทโว เห็นไหม เปลี่ยนแปลงมัน เปลี่ยนแปลงมันด้วยสติปัญญาของเรา เปลี่ยนแปลงมันได้
นี่ก็เหมือนกัน เปลี่ยนแปลงนี่ปัญญาอบรมสมาธินะ ยังไม่เข้าอริยสัจอะไรเลย
ถ้าเข้าอริยสัจ จิตมันสงบแล้วมันจะไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์
ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ มันจะเห็นเหตุ แล้วใช้มรรคดับ นี่วิธีการดับทุกข์ มรรคคือวิธีการดับทุกข์ นิโรธคือดับทุกข์
ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์
วิธีการดับทุกข์ นิโรธคือดับทุกข์ เวลามันใช้มรรคของมัน เวลาวิธีการดับทุกข์ มรรคมันจะใคร่ครวญ มรรคมันจะใคร่ครวญได้ต่อเมื่อทำความสงบของใจก่อน จิตสงบ
ถ้าจิตไม่สงบไม่มีมรรค เพราะจิตไม่สงบไม่มีภวาสวะ ไม่มีสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน มันจะเกิดที่ไหนล่ะ
ถ้าจิตมันสงบมันมีภวาสวะ เพราะว่า มโนวิญญาณ ภวาสวะมันเป็นที่ภพ แล้วมันเกิดปัญญา เกิดมรรค เกิดมรรคที่ไหน เกิดมรรคบนภวาสวะ เกิดบนภพ บนสถานที่ บนสิ่งที่กิเลสมันอยู่ เห็นไหม แล้วมันมีสมาธิ มันเป็นสัมมาสมาธิ มีมรรค ๘ นี่วิธีการดับทุกข์ วิธีการดับทุกข์คือมรรค
ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล
แต่ถ้าเรามีมรรคมีผลของเรา สร้างความเป็นจริงขึ้นมา เราจะมีภูมิ มีภูมิ มีภูมิคือมีกำลัง มีพละกำลังของจิต จิตจะมีภูมิ จิตจะมีกำลัง จิตจะสามารถควบคุมดูแลตัวเองได้ จิตจะพัฒนาการขึ้นมาได้ แล้วถ้ามีมรรคมีผลขึ้นมา มันจะสร้างคุณธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต เอวัง