ดูใจเรา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “ความเชื่อกับการนั่งสมาธิ”
๑. ผู้ใหญ่รุ่นเก่ากลัวว่านั่งสมาธิแล้วจะเตลิดเป็นบ้า จะแก้ไขทำให้เข้าใจถูกได้อย่างไรเพื่อให้กล้าปฏิบัติธรรม
๒. แก้อาการกลัวว่านั่งสมาธิแล้วจะสามารถเห็นวิญญาณได้อย่างไร ถ้าเห็นวิญญาณได้จริงแล้วกลัว ควรแก้ไขอย่างไร แล้วพวกที่เห็นผีโดยไม่ได้ปฏิบัติธรรม เป็นไปได้ไหม มีประโยชน์อะไร
ตอบ : คำถามกระชับนะ เขียนมาแค่นี้ ทีนี้เขียนมาแค่นี้นะ เพียงแต่ “๑. ผู้ใหญ่รุ่นเก่ากลัวว่านั่งสมาธิแล้วจะเตลิดเป็นบ้า จะแก้ไขให้เข้าใจถูกได้อย่างไรเพื่อให้กล้าปฏิบัติธรรม”
นี่โดยสามัญสำนึก โดยธรรมชาติ โดยธรรมชาติ โดยทั่วๆ ไป โดยสามัญสำนึกของคน คนเกิดมาแล้วอยากเป็นคนดี ยิ่งเราเป็นชาวพุทธ พอมาศึกษาพระพุทธศาสนาแล้วเราอยากจะพ้นจากทุกข์เลยล่ะ ทุกคนอยากพ้นจากทุกข์ทั้งนั้นน่ะ ทุกคนมีเป้าหมายอยากพ้นจากทุกข์
ทีนี้พออยากพ้นจากทุกข์ปั๊บ นี่คือเวลาเราศึกษาไง แต่เราอยู่ในสังคม มันเป็นประเพณีวัฒนธรรม ถ้าประเพณีวัฒนธรรม คนรุ่นเก่าๆ เขาก็เห็นว่าคนที่ประพฤติปฏิบัติไป ใช่ บางคนเสียสติไป บางคนอะไรไป มันก็เลยเป็นการฝังใจว่าการประพฤติปฏิบัติแล้วมันจะเตลิดเปิดเปิงแล้วเป็นบ้า
ทีนี้คำว่า “เป็นบ้าๆ” ที่เขาปฏิบัติแล้วที่เขาเป็นใบ้เป็นบ้ากัน เขาทำอย่างไร แล้วเขาทำอย่างไร หนึ่งนะ
สอง ในสังคมวัฒนธรรมของเรา ที่เราเห็นเขาปฏิบัติกันอยู่นี่ เราคิดว่านั่นเป็นการปฏิบัติหรือ เราคิดว่านั่นเป็นการปฏิบัติไหม อย่างเช่นเราเชื่อมั่นกัน แล้วเราไปวัดไปวากัน เวลาไปวัดไปวา เขาก็มีกิจกรรม เขามีกิจกรรมนะ ดูสิ เขาทำของขลัง เขาทำนะ เวลาเขาสวดภาณยักษ์ อู้ฮู! มีคนแสดงออกเคลื่อนไหวเป็นสัตว์เป็นอะไรไป เราก็ไปตื่นเต้น ว่านั่นเป็นหรือ อย่างนั้นเป็นการปฏิบัติธรรมหรือ เวลาเขาทำคุณไสยกัน เกจิอาจารย์เขาทำเครื่องรางของขลังกัน เครื่องรางของขลังนั่นเป็นที่พึ่งหรือ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยบอกไว้ที่ไหนว่านั่นเป็นที่พึ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้บอกเลยว่าสิ่งใดที่เป็นวัตถุมงคล เป็นต่างๆ เป็นที่พึ่ง พระพุทธเจ้าไม่เคยบอกเลย ในพระไตรปิฎกไม่เคยบอก
พระพุทธเจ้าก็บอกว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่รัตนตรัย ถ้าเราเป็นชาวพุทธ เราเป็นพุทธมามกะ เราต้องถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นพุทธคุณ เห็นปัญญาคุณ เห็นเมตตาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม สัจธรรม พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สงฆ์ตั้งแต่พระอัญญาโกณฑัญญะขึ้นไป สงฆ์องค์แรกของโลก
ไอ้อย่างพวกเรานี่สมมุติสงฆ์ โยมงงๆ พระก็งงๆ อ้าว! โยมยังงงๆ พระก็ยังงง พระยังไม่กล้าปฏิบัติ พระก็คิดอย่างนี้เหมือนกัน พระก็กลัวบ้าเหมือนกัน พระก็กลัวหลุดเหมือนกัน แล้วพระกลัวหลุด แล้วมันจะแก้อย่างไรล่ะ
เพราะเราอยู่ในสังคมอย่างนี้กันไง เพราะเราอยู่ในสังคมอย่างนี้ แล้วตัวอย่างแบบอย่างของเรามันเป็นแบบนี้ เพราะตัวอย่างแบบอย่างเป็นแบบนี้ แล้วเราก็เอาสิ่งที่เห็นนั้นเป็นตัวอย่างเป็นแบบอย่าง
เราเอาสิ่งที่เห็น สิ่งที่รู้ที่เห็นมันจริงหรือเปล่าล่ะ ที่เห็นๆ อยู่นี่มันจริงไหม ที่เราดูๆ กันอยู่นี่ ที่เราเห็นๆ กันอยู่นี่มันจริงหรือเปล่า มันไม่จริง ถ้ามันไม่จริงมันก็ยิ่งทำให้โลเลกันไปหมดเลย ไอ้คนที่ทำอยู่นี่เขาก็ยังไม่แน่ใจนะ ที่เขาทำนี่ “เอ๊! รุ่นนี้ออกมาแล้วเขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อ เอ๊! รุ่นนี้จะดังหรือไม่ดัง” อ้าว! ก็ว่ากันไป
แล้วปฏิบัติแล้ว ปฏิบัติถ้ามีปัญหานะ บางที่สำนักเวลาปฏิบัติไปแล้วถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาคือว่าเสียสติไป อะไรไป เขาบอกว่า “มันเป็นเช่นนี้เอง มันมีอยู่ ๕ เปอร์เซ็นต์ที่ต้องเป็นเช่นนี้”
โอ้โฮ! เราฟังเขาพูด เรางงเลยนะ “มันเป็นเช่นนี้เอง”...คือเขาโยนให้กรรมไง
เขาบอก เขาเขียนเลยว่าเป็นบัญญัติของเขาเลยว่าคนปฏิบัติจะมีอยู่ ๕ เปอร์เซ็นต์ที่จะหลุด จะเสียสติไป แล้วถ้าใครปฏิบัติแล้วหลุดหรือเสียสติไป เขาบอกว่ามันอยู่ใน ๕ เปอร์เซ็นต์นั้น ถ้ามันอยู่ใน ๕ เปอร์เซ็นต์นั้น คำพูดนี้เขาพูดมาเพื่อให้เอาตัวรอด แต่เราฟังแล้วมันเศร้าใจไง มันเศร้าใจว่า นี่หรือคือครูบาอาจารย์ของคน
ครูบาอาจารย์มันก็เหมือนหมอ หมอนี้เขาไว้แก้คนเจ็บไข้ได้ป่วย คนเจ็บไข้ได้ป่วยไปหาหมอก็หวังจะหายจากโรคจากภัย คนที่ประพฤติปฏิบัติก็หวังมีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเขา แล้วเขามีปัญหาขึ้นมา ทำไมไม่แก้ไขเขา
เขาบอกว่า มันอยู่ใน ๕ เปอร์เซ็นต์นั้น
แล้ว ๕ เปอร์เซ็นต์นั้นมันเป็นอย่างไรล่ะ
นี่เวลาเขาพูดนะ เราเห็นอยู่ นั่นมันเป็นการปฏิบัติจริงหรือ มันไม่เป็นการปฏิบัติจริง ทีนี้พอไม่เป็นการปฏิบัติจริง คนรุ่นเก่าเขาถึงบอกว่านั่งสมาธิไปแล้วมันจะเป็นบ้า
เวลามันจะเป็นบ้า มันอยู่ที่จริตนิสัยนะ ใจของคน เวลาใจของคนมันมีสูงมีต่ำ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกถึงบัว ๔ เหล่า นักปฏิบัติมนุษย์เราแบ่งเป็น ๔ จำพวก จำพวกหนึ่งไม่เชื่ออะไรเลย จำพวกหนึ่งเกิดมาเป็นอาหารของสัตว์ อาหารของเต่า อีกพวกหนึ่งปริ่มน้ำ อีกพวกหนึ่งพ้นจากน้ำ อีกพวกหนึ่งชูช่อขึ้นไปเลย อีกพวกหนึ่งๆ มันอยู่ที่ไหนล่ะ
อีกพวกหนึ่งๆ หมายความว่า อำนาจวาสนาบารมี จริตนิสัยของคนที่มันสร้างมาอย่างนั้น ถ้าจริตของคนสร้างมาอย่างนั้นนะ ถึงเวลามันสะกิดเลย ถึงเวลา ธรรมะบันดาลให้เป็นอย่างนั้นๆ ให้มันคิดออกแสวงหา ให้มันคิดอยากออกบวช ให้มันคิดว่าจะต้องไป จะต้องไป จะต้องเป็นอย่างนั้นเลย ถ้าเวลาบารมีมันเต็ม มันมีเหตุมีปัจจัย มันทำให้เราจะเป็นไปทางนั้นเลย นี่ถ้าคนมีบารมีนะ
แต่ถ้าคนไม่มีบารมีนะ พ่อแม่ไสให้ไปบวชนะ มึงอย่าอยู่บ้านเลย ลำบากฉิบหายเลย ยุ่งมาก ไปบวชซะ มันไม่ไปหรอก พ่อแม่ทั้งผลักทั้งไส มึงไปบวชซะ จะได้พ้นภาระกูเสียที มันไม่ไปหรอก ไอ้ที่พ่อแม่หวงนักหวงหนาน่ะ อยากไปมาก แต่พ่อแม่ไม่ให้ไป เห็นไหม นี่มันผลของวัฏฏะไง
นี่พูดถึงว่าใจของคน ถ้ามันเป็นเรื่องใจของคน ระดับความเชื่อของคน ถ้าใจของคน ความเชื่อของคน สิ่งที่ว่าความคิดมันถึงควบคุมกันไม่ได้ ความคิดของคนควบคุมไม่ได้ ถ้าความคิดของคนควบคุมไม่ได้แล้ว สิ่งที่ว่าความเชื่อของเขาไง ความเชื่อของเขาถ้ามันต่ำกว่า จิตใจสูงกว่าจะดึงจิตใจที่ต่ำกว่าขึ้นมา
ฉะนั้น สิ่งที่เป็นความเชื่อ แล้วสังคมมันก็เป็นแบบนั้น สังคมที่เราพูดอยู่นี่ ที่เราพูดตั้งแต่เริ่มต้นว่า ที่เขาปฏิบัติกันอยู่นั่นน่ะ ที่เขาทำกันอยู่นั่นมันเป็นการปฏิบัติจริงหรือ แล้วถ้ามันไม่จริงขึ้นมา มันเป็นอย่างนั้น มันเป็นขึ้นมาทำไม มันเป็นอย่างนั้นแล้วเราไปเห็น เราจะแก้ไขอย่างไร แล้วจิตใจของคนล่ะ
แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์เรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราท่านสอนเลย พุทโธๆ ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบ ร่างกายนี้มันก็สงบระงับอยู่แล้ว มันจะแสดงกิริยาอะไร
เรานั่งภาวนากันสัปหงกโงกง่วงมันก็แสดงออกทางร่างกาย ร่างกายสัปหงกโงกง่วงไปหมดเลย เพราะอะไรล่ะ เพราะมันขาดสติ จิตมันไม่ตั้งมั่น จิตมันคลอนแคลน มันก็เป็นไปของมันอยู่แล้ว
แต่ถ้าเราพุทโธๆ จิตตั้งมั่น จิตมันตั้งมั่น ร่างกายนี้ตรงแน่วเลย จิตมันสงบ มันมีความสุข มีความปลอดโปร่ง ถ้ามีความสุข มีความปลอดโปร่ง นี่สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน เราแค่เจอออฟฟิศ เราแค่เจอสนามแข่งขัน เราแค่เจอสนามที่จะลงไปฝึกซ้อม เรายังทำอะไรไม่ได้เลย แต่นี่พวกเราหากันไม่เจอ
เกิดมาเป็นคน เกิดมาเป็นคนที่ไหน วันเกิด ใครเป็นคนบอก พ่อแม่บอก แล้วคนอยู่ที่ไหน อยู่ที่กรมทะเบียน แล้วคนมันอยู่ไหนล่ะ ชี้มาสิ อ้าว! เราชื่อนาย ก เขาบอกว่าชื่อนาย ก มันไม่ดี เราไปเปลี่ยนเลย เราเปลี่ยนชื่อเป็นนาย ข จากนาย ก เป็นนาย ข ไปแล้ว คนคนนั้นเปลี่ยนชื่อไปแล้ว แล้วคนมันอยู่ไหนล่ะ
พุทโธๆๆ จิตสงบเข้ามา นั่นน่ะปฏิสนธิจิต นั่นน่ะเรา เราคือจิตมันสงบ ที่มันสงบระงับนี่ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านสอนอย่างนี้ ท่านสอนถึงว่า สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน เพราะมีฐานที่ตั้งแห่งการงาน การงานถึงจะเกิดขึ้น
ถ้าไม่มีฐานที่ตั้งแห่งการงาน การงานมันเกิดขึ้นเป็นการงานของใครล่ะ งานของใคร ก็งานของมารไง งานของคนอื่นน่ะ งานของคนอื่น เราจะเอามาเป็นประโยชน์ของเราได้ไหม
ความคิดมันเกิดจากจิต แล้วความคิดมันเกิด ความคิดมันมีพญามาร มันมีมาร มีอวิชชา มันก็เที่ยวออกไปกว้านทุกอย่างมาเป็นของตัว มันไปกว้านมาหมดแหละ ถ้าเราพุทโธๆ เราทิ้งหมด ทิ้งความคิด ทิ้งทุกอย่างเข้ามาสงบระงับ มันทิ้งความคิด
ถ้ามีความคิดอยู่ มันฟุ้งซ่านใช่ไหม แล้วพุทโธๆ ก็เป็นความคิดเหมือนกัน พุทโธๆ จนจิตมันสงบเข้ามา ถ้าจิตสงบเข้ามา เห็นไหม จิตตั้งมั่น ฐานที่ตั้งแห่งการงาน สมถกรรมฐาน แล้วถ้ามันออกวิปัสสนา นั่นล่ะมันจะได้ประโยชน์แล้ว
วิปัสสนาคือปัญญาการรู้แจ้ง รู้แจ้ง รู้แจ้งในอะไร รู้แจ้งในการเกิด การแก่ การเจ็บ การตายไง รู้แจ้ง จิตนี้มาจากไหนไง รู้แจ้ง นี่มันจะเห็นแล้ว
เวลาเขาทำงานกัน ดูสิ ทางการศึกษาเขาเรียนกันได้ ๙ ประโยค ๑๐ ประโยค เขามีวิชาการ เขาทำอะไรเป็นไปหมด เขามีเอกสารหลักฐานหมดเลย เขาทำวิทยานิพนธ์กัน อู้ฮู! เป็นผลงานของเขาเลย
เวลาภาวนาพุทโธๆ ไป จิตสงบเข้าไป ผลงานอะไร ใครเห็น ใครเป็นคนรู้ ปัจจัตตัง เพราะมันรู้มันเห็น มันรู้มันเห็นมันถึงถอดมันถึงถอน เพราะมันถอดมันถอนมันถึงมีองค์ความรู้ไง
ครูบาอาจารย์ที่เป็นความจริง มึงถามมาเถอะ มึงถามมา มันมีขั้นตอนไหน มึงถามมา เพราะถามมามันถึงตอบไป กลองไม่จัญไรไง คนไม่ตีเขาก็ไม่ออกไง ถ้ามึงถามมา มึงถามมาสิ มึงจะตีเร็วขนาดไหน กลองต้องดังอยู่แล้ว เว้นไว้แต่มึงตีไม่ถูกกลอง
นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามึงถามมา นี่ไง ถ้ามีความรู้จริง ถ้าความรู้จริงอย่างนี้ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านบอกว่าให้กำหนดพุทโธๆ ให้จิตมันสงบเข้ามา
ทีนี้ไอ้คนที่ประเพณีวัฒนธรรม สิ่งที่เป็นการปฏิบัติเขาบอกว่า “ไม่ได้ ไม่ต้อง ใช้ปัญญาไปเลย เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ใช้ปัญญา ไอ้สมถกรรมฐาน สมถะมันไม่มีปัญญา มันจะเกิดนิมิต มันจะเกิดนิมิต มันไม่เป็นปัญญา มันไม่เป็นพระพุทธศาสนา” อู๋ย! ว่าไปนู่นเลยนะ
แล้วเวลาเอ็งทำกัน เอ็งทำโดยใช้ความคิด ใช้ความคิดแล้วไม่มีสมถกรรมฐาน ไม่มีฐานที่ตั้งแห่งการงาน คือไม่มีเจ้าของ ไม่มีผู้บริหารจัดการ ไม่มีใครคอยทำผิดทำถูก แต่ที่ความคิดนั้นมันเป็นสถานะของความเป็นมนุษย์ มนุษย์เกิดมามีหัวใจ ร่างกายกับใจ ใจมันทำงานอย่างนั้น ธรรมชาติของใจมันทำงานอยู่อย่างนั้น ธรรมชาติของใจ คนที่ไม่ได้ปฏิบัติเขาก็คิดได้ เขาก็ทำได้ มันก็เป็นความคิดของโลกๆ เขา แล้วตัวเองเคลมเอง เคลมเองว่านี่คือปัญญา ความคิดนี้คือปัญญา การวิเคราะห์วิจัยนี้คือปัญญา
แต่ถ้าในพระพุทธศาสนา ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในฝ่ายปฏิบัติเขาบอกว่านั่นเป็นสุตมยปัญญา เป็นปัญญาจากการศึกษา ไม่ใช่ปัญญาเกิดจากการปฏิบัติ เพราะมันเป็นสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา
การปฏิบัติมันภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนา เกิดจากการที่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ถ้าใจสงบแล้วมันเกิดสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน มีผู้เป็นเจ้าของ มีผู้บริหาร มีผู้จัดการ มีการกระทำ ผู้ ผู้นั้นคือปฏิสนธิจิต ผู้นั้นคือจิตดวงนั้น จิตที่เวียนว่ายตายเกิดดวงนั้น เขาเป็นคนจัดการในใจของเขาดวงนั้น เขาถึงปัจจัตตัง เขาถึงถอดถอนกิเลสในใจของเขาอย่างนั้น
ฉะนั้น เวลาจิตมันสงบแล้วถึงออกฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาอย่างนี้คือวิปัสสนา ที่ว่าวิปัสสนา วิปัสสนาคือปัญญาการรู้แจ้ง ปัญญาวิปัสสนาคือปัญญาการรู้แจ้งในอวิชชาคือความไม่รู้ในใจของเรา ปัญญาในการรู้แจ้ง ถ้ารู้แจ้งแล้วจะถามใคร รู้แจ้งแล้วมันแจ้ง มันแจ่มแจ้งในหัวใจ แล้วแก้ไขเหตุการณ์ทุกๆ อย่างได้ นี่พูดถึงว่าเวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติ
นี่มันเป็นเรื่อง เราจะบอกว่า เขาถามว่า “ผู้ใหญ่รุ่นเก่ากลัวการนั่งสมาธิ เพราะคิดว่าจะเตลิดเปิดเปิง จะแก้ไขทำให้เขาเข้าใจถูกได้อย่างไรเพื่อให้เขากล้าปฏิบัติ”
นี่พูดถึงคงจะเป็นญาติผู้ใหญ่ ทีนี้มันก็มาวัดกันที่ใจ เห็นไหม ใจคน ใจคนมีสูงมีต่ำ ใจคนมันเป็นวาระนะ เป็นวาระ เวลาใจของคน ใจของคนเดี๋ยวสูงเดี๋ยวต่ำ เดี๋ยวคิดดีเดี๋ยวคิดร้าย ถ้ามีอำนาจวาสนา เขาคิดได้ แต่ใจลึกๆ ทุกคนอยากจะมีที่พึ่ง
เวลาถ้าเป็นญาติผู้ใหญ่ เป็นญาติผู้ใหญ่ของเราก็อยากจะมีที่พึ่ง อยากจะอบอุ่น อยากจะมีลูกมีหลานล้อมหน้าล้อมหลัง แต่เวลาจะตายก็ตายคนเดียว เวลาจะตายเขาก็ว้าเหว่ทั้งนั้นน่ะ
เวลาไปหาคนแก่นะ เด็กๆ มันไม่อยากไปหาคนแก่ คนแก่ชอบพูดเรื่องเก่าๆ วัยรุ่นมันชอบพูดเรื่องวัยรุ่น ยิ่งไปหาคนแก่ตอนนี้พูดกันไม่รู้เรื่องเลยล่ะ แล้วคนแก่ก็ว้าเหว่ คนแก่ก็อยากให้คนล้อมหน้าล้อมหลัง ทีนี้วัยรุ่นก็อยากจะให้เขาปฏิบัติ ให้เขาปฏิบัติ
จริงๆ จิตใต้สำนึกทุกคนอยากมีที่พึ่ง แต่ด้วยความหยาบความละเอียดของใจของกิเลสใครมีมากมีน้อย ถ้ามีมาก จริงๆ จิตใต้สำนึกมันอยากได้อยากเป็นนั่นแหละ แต่กลัว พอกลัวขึ้นไปก็จะพูดอย่างนี้ “ประเพณีเขาห้ามปฏิบัตินะ ปฏิบัติแล้วจะเป็นบ้านะ”
คนปฏิบัติ ถ้าจิตปกติ จิตเป็นสามัญสำนึก จิตปกติที่ไม่มีปัญหา ปฏิบัติไม่มีเป็นบ้าหรอก แต่คนที่จะมีปัญหาคือจิตไม่เป็นปกติ จิตของเรามันเป็นจิตเภท จิตเภทหมายถึงว่าป่วยทางจิต ว่าอย่างนั้นเถอะ มีความเจ็บไข้ได้ป่วยทางจิตเล็กๆ น้อยๆ แล้วพอไปปฏิบัติมันจะถลำไปเรื่อยๆ ถลำไปเรื่อยๆ เพราะอะไร เพราะเวลาจิตมันจะเกิดจินตนาการ มันจะเกิดการสร้างภาพ แล้วพอสร้างภาพ จิตมันไม่ปกติอยู่แล้ว มันจะสร้างภาพต่อเนื่องกันไป
ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ท่านรู้ว่าจิตมันไม่ปกติ อย่าเพิ่งให้ภาวนา ให้พยายามฝึกฝนให้มันกลับมาเป็นปกติก่อน ถ้าเป็นปกติแล้ว เวลาจิตสงบมันก็สงบตามธรรมดา แล้วถ้ามันไปรู้ไปเห็น มีสติ มันก็แก้ไขของมันได้
แต่ถ้าจิตของเรามันเข้าข้างตัวเองอยู่แล้วใช่ไหม เพราะมันไม่ปกติ พอไม่ปกติ พอภาวนาไป ไปรู้ไปเห็นอะไรก็มีความเชื่อ ถลำตัวเองไปเรื่อย มันก็ลงลึกไปเรื่อย ลงลึกไปเรื่อย เดี๋ยวก็ขาดไปเลย ฉะนั้น ถ้ามีปัญหาแล้วต้องหยุด หยุดแล้วกลับมา กลับมาเพื่อความปกติไง
ฉะนั้น เขาบอกว่า “จะแก้ไขอย่างไรเพื่อให้เขาเข้าใจถูกต้องว่าปฏิบัติแล้วมันดี ให้เขากล้าปฏิบัติธรรม”
จริงๆ เขาก็กล้า เขาก็ทำได้ แต่ที่เขาไม่ทำเพราะเขานั่งแล้วเขาเจ็บเขาปวดของเขา เขาก็อ้างเล่ห์ไปเรื่อย
ใจคน เวลาใจคน ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประหลาด คิดอย่างหนึ่ง พูดอย่างหนึ่ง แล้วทำอีกอย่างหนึ่ง
มันไม่กล้าพูด คิดอย่างหนึ่ง ความคิดของเราเรื่องหนึ่ง แต่เวลาพูดออกมาก็มารยาทสังคม พูดเพราะๆ เวลาทำ ทำไม่ได้อย่างที่ว่า มันเลยเป็นสัตว์ประหลาดไง คิดอย่างหนึ่ง พูดอย่างหนึ่ง แล้วก็ทำอีกอย่างหนึ่ง ไม่รู้ว่าไอ้ทั้งพูด ทั้งคิด ทั้งทำ มันเป็นคนเดียวกันหรือเปล่า มันเป็นคนเดียวกันหรือเปล่า มนุษย์ถึงเป็นสัตว์ประหลาด
พระพุทธเจ้าพูดอย่างนี้จริงๆ นะ อยู่ในธรรมะไง มนุษย์คิดอย่างหนึ่ง พูดอย่างหนึ่ง
สัตว์ประหลาดนี่เราพูดเอง มนุษย์เป็นสัตว์ประหลาด คิดอย่างหนึ่ง พูดอย่างหนึ่ง แล้วทำอีกอย่างหนึ่ง
นี่ก็เหมือนกัน จิตใต้สำนึกทุกคนก็อยากได้อยากดีทั้งนั้นน่ะ แต่มันเป็นว่าสิ่งที่จะทำมันเป็นเรื่องที่ใหญ่โตมากจนที่เราทำไม่ไหว มันก็เลยอ้าง อ้างว่า เดี๋ยวจะเป็นบ้านะ เดี๋ยวจะเป็นนู่นนะ เดี๋ยวจะเป็นนี่นะ
แล้วครูบาอาจารย์ที่ท่านการันตีว่าท่านจะแก้ให้ ท่านนั่งเฝ้าเลย อ้าว! ทำมาสิ
ก็ไม่กล้า มันไม่ลงใจไง นี่พูดถึงว่าใจของคน มันเป็นเรื่องใจของคนนะ ถ้าใจของคนแล้ว ถ้ามันเป็นญาติผู้ใหญ่หรือมันเป็นคนของเรา เราก็ชักนำน้อมนำ จะได้มากได้น้อยมันอยู่ที่ใจของเขา มันเป็นกรรมของสัตว์
เวลาหลวงตาท่านพูด มันเป็นกรรมของสัตว์ เราก็ปรารถนาดีกับทุกๆ คน แต่บางคนก็คิดดีกับท่าน บางคนก็คิดอ้างว่าท่านอวดอ้าง เห็นไหม ท่านก็ปรารถนาดีกับคนนี่แหละ แต่ใจของคนมีสูงมีต่ำ ใจของคนยอมรับไม่ยอมรับ เป็นเรื่องใจของคน ฉะนั้น เรื่องธรรมะอีกเรื่องหนึ่ง
ไอ้ที่ว่า ปฏิบัติธรรมแล้วจะเป็นบ้า
ไม่ ไม่หรอก ทำดีจะเป็นบ้าได้อย่างไร คนจะทำคุณงามความดี ทำคุณงามความดีต้องได้ดีสิ มันจะเสียหายที่ไหน นี่ข้อที่ ๑.
“๒. แก้อาการกลัวว่านั่งสมาธิแล้วจะสามารถเห็นวิญญาณได้อย่างไร ถ้าเห็นวิญญาณได้จริงแล้วกลัว ควรแก้ไขอย่างไร แล้วพวกที่เห็นผีโดยที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมมันเป็นไปได้ไหม”
ที่ว่านั่งสมาธิแล้วสามารถเห็นวิญญาณ คำว่า “สามารถเห็นวิญญาณ” ใครเป็นคนเห็น แล้วใครเป็นคนการันตีว่าเขาเห็นจริง ใครเป็นคนบอกว่าเห็น
แต่ถ้าสมมุติว่าเรานั่งสมาธิไป เราทำความสงบของใจเข้าไป แล้วใจ ถ้าเราเห็น ถ้าเราเห็น เห็นไหม ครูบาอาจารย์ที่กำปั้นทุบดินเลย ถ้าเราเห็นสิ่งใดแล้วย้อนถามจิตตัวเองเลย ที่เห็นนั้นคืออะไร ดับพับ!
ถ้าจิตของคนมีอำนาจวาสนานะ ดูสิ อย่างเช่นหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นเวลาท่านเข้าสมาธิปั๊บ เทวดา อินทร์ พรหมจะมาฟังเทศน์เลย เป็นจิตวิญญาณหรือเปล่า
หลวงปู่มั่นท่านพูดเอง เวลาท่านอยู่ที่เชียงใหม่ท่านจะไม่มีเวลาพักเลย ๔ ทุ่ม มาแล้ว มาเป็นชั้นๆ เลย เทวดาทั้งนั้น ถ้าถึงเวลาพรหม ๔ หน้านี่มาเลย มาถึงมาฟังเทศน์หลวงปู่มั่น อันนั้นคืออะไร
เราจะบอกว่า การเห็นจิตวิญญาณ ผู้ที่มีคุณธรรมท่านเห็นจริงของท่าน นั่นท่านเป็นประโยชน์ของท่าน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สตฺถา เทวมนุสฺสานํ ท่านสอนตั้งแต่มนุษย์ขึ้นไป สอนหมดเลย สอนเทวดา สอนอินทร์ สอนพรหม เวลาท่านเทศน์ธัมมจักฯ ดูเทวดาส่งข่าวเป็นชั้นๆๆ ขึ้นไป จักรมันเคลื่อนแล้ว ธรรมะมีแล้ว คนป่วยมียาแล้ว ธรรมโอสถมาแล้ว พร้อม นี่เขาดีใจ
ฉะนั้น เวลานั่งสมาธิไปแล้วสามารถเห็นวิญญาณได้อย่างไร
คำว่า “เห็นวิญญาณ” มันเห็นโดยนิมิต เห็นโดยกิเลสหลอกก็เยอะ เวลาเห็นนิมิต เห็นจริงไหม เห็นจริงๆ เราเห็นจริงๆ แต่ความเห็นนั้นจริงไหม ไม่จริงเลย เพราะอะไร เพราะมันเป็นอุปาทานของเรา เราอ่านตำรับตำรามามากว่าจิตสงบแล้วจะรู้จะเห็น พอเราสงบไปแล้วมันก็สร้างภาพ มันก็เห็น เห็นไหม มันเห็นโดยอุปาทานของเรา
ไอ้ที่เห็นโดยอุปาทานก็เยอะ ถ้าเห็นโดยอุปาทานก็ถามสิ พอเรานั่งไป อุปาทานเห็นวิญญาณ เรามีสติพร้อมเลยนะ ถามเลย “หงบ อันนั้นวิญญาณจริงหรือเปล่า” ถามเลย ถามมัน “หงบ ที่เห็นนั่นวิญญาณจริงหรือ” มันหยุดเลย
แต่มันไม่เป็นอย่างนั้นน่ะสิ พอนั่งไปแล้ว พอมีอุปาทานขึ้น “โอ้โฮ! เห็นวิญญาณ อู้ฮู! เราเก่งเนาะ เฮ้ย! วิญญาณต้องมาสืบต่อกับเรานะ วิญญาณนั้นคงจะอดีตชาติ เราต้องสร้างบารมีมาด้วยกัน อู๋ย! เขามาอนุโมทนาเรานะ โอ้โฮ!”...เห็นโดยอุปาทานก็เยอะ
แต่เห็นโดยความจริงล่ะ ความจริงมันมี ของจริงมันมีไง ของจริงมันมี มันก็ต้องมีผู้ที่มีสติปัญญา มีอำนาจวาสนาบารมีจริง ถ้ามีบารมีจริงนะ เขามาขอส่วนบุญต่างๆ เขาทำของเขาได้
แต่ของเรา พวกเรา ใครรักตัวเองไหม ทุกคนรักตัวเองหมดใช่ไหม ถ้าทุกคนรักตัวเองหมด ทุกคนที่มาปฏิบัติอยากได้อะไร อยากได้มรรคได้ผลใช่ไหม การเห็นจิตวิญญาณมันเป็นมรรคไหม มันไม่เป็นมรรคเลย
ถ้าเป็นมรรคเป็นอะไร สมาธิชอบ ปัญญาชอบ ความเพียรชอบ ระลึกชอบ สติชอบ งานชอบ เราปฏิบัติธรรมเราก็ต้องพยายามค้นหาธรรมจักร ค้นหามรรคผลของเรา ถ้าเราปฏิบัติ เราอยากหามรรคผลของเรา เราไม่อยากหาวิญญาณใคร ไม่ต้องการ ไม่อยากเห็นวิญญาณใครเลย เราอยากได้มรรคได้ผล
ในการปฏิบัติของเรา หลักของมัน เราปฏิบัติ เราปฏิบัติเพื่อมรรคเพื่อผล เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อไปเห็นวิญญาณของใคร เราไม่ได้ปฏิบัติต้องการไปช่วยเหลือใคร ในพรหมจรรย์ ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อสิ่งใด
แต่ถ้ามันเป็นจริตนิสัย เวลาจิตสงบแล้วไปรู้ไปเห็นตามความเป็นจริงก็วางไว้ วิญญาณก็วางไว้ก่อน วิญญาณ พักไว้ก่อนนะ ขอฉันปฏิบัติก่อน ถ้าปฏิบัติได้มรรคได้ผลแล้วจะกลับมาเกื้อกูลนะ เห็นไหม ถ้าคนมีสติปัญญานะ ถ้ารู้เห็นก็วางไว้ วางไว้ก่อน แล้วเราพยายามสร้างมรรคสร้างผลของเรา ถ้าสร้างมรรคสร้างผลของเรา เดี๋ยวจะมาฝากเนาะ เดี๋ยวจะเอาบุญมาฝาก
แต่นี่ไม่อย่างนั้นน่ะ พอเห็นจิตวิญญาณ “โอ๋ย! ฉันเก่ง ฉันแน่ ฉันมีความรู้จริง ฉันมีความรู้พิเศษ”...หลงแล้ว นั่นล่ะกิเลสพาไปแล้ว
นี่บอกว่า นั่งสมาธิแล้วสามารถเห็นวิญญาณได้อย่างไร
ได้เพราะว่าจริตนิสัยของเขา จริตนิสัยของเขา เขาสร้างของเขามา แล้วเขานั่งสมาธิไปแล้วจิตเขาสงบลงได้ เขาเห็นของเขาได้ เห็นแล้วก็คือเห็น เห็นจิตวิญญาณก็เหมือนเรามองเห็นหน้ากัน เรามองเห็นกันแล้วได้อะไร เรามองเห็นด้วยกันก็ อ๋อ! มาที่นี่เรามีคนรู้จัก เห็นจิตวิญญาณก็วิญญาณของเขา แล้วเห็นวิญญาณของเราไหม
เวลาไปเห็นคนอื่น “เห็นได้อย่างไร”
เห็นได้ แต่เห็นได้จริงก็มี เห็นได้โดยอุปาทานก็มี เห็นโดยนิมิต เห็นโดยเพ้อเจ้อก็เยอะ
“ถ้าเห็นวิญญาณได้จริงควรแก้ไขอย่างไร”
ถ้าเห็นวิญญาณได้จริง การปฏิบัติมันเป็น ๒ ประเด็น
มีคนเข้าใจผิดเยอะมากบอกว่านั่งสมาธิแล้วไม่อยากเห็นกายเพราะกลัวเห็นจิตวิญญาณ ไม่อยากเห็นกาย
การเห็นกายไม่ใช่เห็นจิตวิญญาณ การเห็นจิตวิญญาณคือเห็นบุคคลอื่น เห็นร่างอื่น เห็นวิญญาณดวงอื่น นั้นคือเราเห็นจิตวิญญาณ
แต่ถ้าจิตเราสงบแล้วเราเห็นกาย เห็นเป็นรูปร่างกายขึ้นมา เขาเรียกว่าเห็นกาย ไม่ใช่จิตวิญญาณ มันไม่มีชีวิต มันเป็นภาพนิมิต เป็นภาพนิมิต การเห็นกายคือการเห็นร่างกายของเรา
การเห็นร่างกายของเรา ดูสิ เวลาคนจิตสงบเข้าไปแล้ว จิตนี้ออกไปยืนอยู่ข้างนอก แล้วมองกลับมาเห็นตัวเราเอง แต่เวลาจิตเราสงบแล้ว จิตเราสงบแล้วเรารำพึงยกขึ้นเห็นกาย เห็นกายคือเห็นสติปัฏฐาน ๔ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เพราะจิตมันสงบ
หลวงปู่มั่นสอนให้ทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบแล้ว สมถกรรมฐาน จิตวิญญาณของเราสงบระงับเข้ามาสู่ฐีติจิต เข้ามาสู่จิตเดิมแท้ จิตวิญญาณคือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มันเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่มันเสวยกัน มันกระทบกันอยู่ โดยพลังงานคือตัวจิต
พลังงานตัวจิต ธาตุรู้ ตัวจิตพลังงาน มันกระทบกันอยู่กับวิญญาณขันธ์ ๕ วิญญาณขันธ์ ๕ มันก็เป็นอารมณ์ มันก็หมุนเวียนของมันไป ก็เป็นความรู้สึกนึกคิดกันอยู่อย่างนี้ เรากำหนดพุทโธๆ พอจิตมันสงบ มันทิ้ง มันปล่อยขันธ์ ๕ ปล่อยวิญญาณ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ วิญญาณคือวิญญาณอายตนะ วิญญาณคือวิญญาณในอารมณ์ วิญญาณในความคิด ความรู้สึกนึกคิดมันก็มีวิญญาณรับรู้ กระบวนการหนึ่ง ความคิดหนึ่งมันถึงจะเป็นอารมณ์ความรู้สึกหนึ่ง
แล้วเวลาจิตสงบแล้วมันปล่อยเข้ามา ปล่อยเข้ามา นี่เป็นสมถกรรมฐานคือสัมมาสมาธิ พอสัมมาสมาธิ จิตมันสงบแล้ว รำพึงไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง
เห็นกายๆ เห็นกายไม่ใช่เห็นวิญญาณ คนเข้าใจผิดไง คนเข้าใจผิดว่า “จะปฏิบัตินะ หนูปฏิบัติแล้วหนูไม่อยากเห็นกายเพราะหนูกลัววิญญาณ” คือคิดว่าเห็นกายคือผี คือหนูปฏิบัติแล้วไม่อยากเห็นผี หนูปฏิบัติแล้วอยากเห็นมรรคเห็นผล
แต่ร่างกายเรา จิตสงบแล้วมันเป็นกระบวนการอย่างนั้น ถ้าจิตมันสงบแล้วมันวัดได้ง่ายๆ เลย ถ้าจิตสงบเห็นกายนะ มันตั้งกายได้ รำพึงให้ขยายได้ ขยายให้ใหญ่ขึ้น เขาเรียกว่าอุคคหนิมิต เวลาขยายขึ้น เขาเรียกว่าวิภาคะ คือการแยกส่วนขยายส่วน
การแยกส่วนขยายส่วน ทางการแพทย์วิเคราะห์โรค เพาะเชื้อ นี่เห็นกายแล้วเพาะเชื้อ ขยายส่วนแยกส่วน กายนี้มันคืออะไร เราไปทำแล้วทำไมต้องไปยึดถือมัน ทำไมเรามีความเห็นผิดในกายนี้ กายนี้เป็นเราหรือไม่เป็นเรา นี่มันเพาะเชื้อ เพาะเชื้อ ไม่ใช่วิญญาณ มันเห็นกาย แต่คนไม่รู้ คนไม่เคยเห็น คนไม่มีความเข้าใจ ก็คิดว่าเห็นกายคือเห็นวิญญาณไง
ฉะนั้น ถ้าเห็นวิญญาณ “ถ้าเห็นวิญญาณได้จริง เราจะแก้ไขได้อย่างไร”
เห็นวิญญาณได้จริง วิญญาณอะไร ถ้าเห็นนะ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม จิตเป็นวิญญาณไหม
คำว่า “วิญญาณ” กรณีนี้เขาเขียนว่าวิญญาณ อาจจะว่า เดี๋ยวตอบเสร็จแล้ว ๒ วันคงเขียนมาใหม่ “หลวงพ่อ ผมเขียนผิด เพราะว่าเห็นกายมั้ง”
“ถ้าเห็นวิญญาณได้จริงจะแก้ไขอย่างไร”
ถ้าเห็นวิญญาณได้จริงก็จบ เห็นวิญญาณจริงก็วางไว้ ถ้าเห็นจิตวิญญาณนะ เห็นจิตวิญญาณคือเห็นวิญญาณผู้อื่น เห็นจิตวิญญาณคือเห็นการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ
ถ้าเห็นกายของเราคือเห็นอริยสัจ เห็นกายของเราคือเห็นอริยสัจ นี่สติปัฏฐาน ๔
ที่เขาบอกว่าเขาทำปฏิบัติแนวทางสติปัฏฐาน ๔
เราบอกนั่นของปลอมหมดเลย นั้นคือสัญญาอารมณ์ นั้นคือโลกียปัญญา นั้นคืออุปาทาน
แต่ถ้าเรากำหนดพุทโธๆ จนจิตสงบ จิตสงบ ถ้าจิตไม่สงบไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ ถ้าจิตสงบ เพราะจิตเป็นผู้รู้ผู้เห็น อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจึสูติ จิตเป็นผู้รู้ผู้เห็น จิตเป็นผู้กระทำ จิตเป็นผู้ทำลายจิต อาสวะสิ้นไป จิตฺตานิ วิมุจฺจึสูติ จิตนี้ทำลายจิต ตัวจิตนี้เป็นนิพพาน
ฉะนั้น “ถ้าเห็นวิญญาณได้จริง ควรแก้ไขอย่างไร”
ถ้าเห็นวิญญาณได้จริง ถ้าเป็นวิญญาณนะ ไม่เกี่ยว วางไว้ แต่ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ถ้าจิตสงบแล้วมันจะเห็นจริงของมัน เห็นจริง เห็นจริงรู้ได้อย่างไร
เห็นจริงรู้ได้ว่า เวลาอย่างที่ว่าเห็นกาย เราแยกส่วนขยายส่วนได้ ถ้าเห็นกายด้วยปัญญา เราใช้ปัญญาเทียบเคียง คิดว่าร่างกายนั้นมันคือสิ่งใด เขาเรียกว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิหรือสมาธิอบรมปัญญา คือว่าเจโตวิมุตติกับปัญญาวิมุตติ
ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติมันจะไม่เห็นกายเป็นภาพ มันจะเห็นกายโดยใช้ปัญญา ปัญญาเราจะเหนี่ยวนำความรู้สึกได้ เหนี่ยวนำถึงจิตได้ ถ้าเหนี่ยวนำถึงจิต เวลาสำรอก มันสำรอกคายออกที่จิต สักกายทิฏฐิมันอยู่ที่จิต ฉะนั้น เวลาถ้าเป็นปัญญาวิมุตติมันจะใช้พิจารณาในทางปัญญาของมัน แต่ถ้าเป็นเจโตวิมุตติมันจะเห็นกายโดยสมาธินำ มันจะเห็นภาพ นั้นเวลาเห็นกายนะ
เขาบอกว่า “ถ้าเห็นวิญญาณได้จริงแล้วควรแก้ไขอย่างใด”
ถ้าเห็นวิญญาณได้จริง วางไว้ แต่ถ้าเห็นกายต้องใช้วิปัสสนา ถ้าเห็นกายต้องใช้ปัญญารู้แจ้งแยกแยะมัน
“แล้วพวกที่เห็นผีโดยที่ไม่ปฏิบัติธรรม เป็นไปได้ไหม”
ไอ้พวกที่เห็นผีโดยที่ไม่ปฏิบัติธรรม ไอ้พวกกินเหล้าเมา ไอ้พวกกินเหล้า ไอ้พวกเสพยาเสพติด ไอ้พวกเสพยาบ้ามันจะกลัวคนฆ่ามัน
พวกที่เห็นผีโดยที่ไม่ปฏิบัติธรรม
เห็น เพราะมันต้องยืนยันกันก่อนว่าจิตวิญญาณมีจริงหรือเปล่า ถ้าจิตวิญญาณมีจริง ผลของวัฏฏะมันมีจริง จิตวิญญาณนี้มีจริง แต่มันเป็นคนละภพคนละภูมิกับเรา จิตวิญญาณ เวลาสัมภเวสีที่เขาตายไปแล้ว ถ้าเขาไม่ได้สร้างบุญกุศลของเขาไว้ จิตวิญญาณเขาไม่ได้เสวยภพเป็นสัมภเวสี เขาทุกข์เขายาก เขาอยากขอส่วนบุญกับเรา
อย่างเรา ดูสิ เรานั่งกันอยู่นี่ ทุกคนนั่งอยู่นี่ ห้ามลุก ๒ วัน โยมอยู่กันได้ไหม หิวตายห่า เทวดาพวกจิตวิญญาณเขาอยู่ตรงนั้นน่ะ แล้วเขาไม่มีอาหารเลย ไม่ใช่อยู่ ๒ วันนะ เขาอยู่ตลอดไป เขาทุกข์ไหม เขาอยู่โดยที่เขาไม่มีอะไร เขาทุกข์ไหม
ถ้าเขาทุกข์ เขาก็ขอส่วนบุญจากพวกเรานี่ไง เขาขอจากคนที่ทำบุญแล้วอุทิศส่วนกุศลให้เขา เพราะเขาทำไม่ได้ เราเป็นคน เราทำกันได้ เรายังขี้เกียจ ลองถ้าไปประสบอุบัติเหตุต่างๆ แล้วเป็นสัมภเวสีไปอยู่ตามข้างถนน ไปอยู่ตามต้นไม้ แล้วจะรู้ว่ามันมีจริงหรือไม่มีจริง แล้วจะรู้
แล้วทีนี้ก็นั่งมองสิ อู้ฮู! ของเต็มเลยนะ แต่กินไม่ได้ ของนู่นก็มี นี่ของก็มี ไปจับมันก็จับไม่ได้ มันหายหมด มันไม่ใช่ของเรา อ้าว! ไม่มี เพราะเราไม่ได้ทำ พวกนี้เขาขอส่วนบุญกับเราไง
นี่พูดถึงว่า ถ้าพวกที่เห็นผีโดยที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรม แล้วพวกนี้เขาทุกข์เขายาก พอเขาทุกข์เขายาก เจ็บไข้ได้ป่วยมันก็ทับแล้ว มาถึงก็ “ฉันเป็นเจ้านู่น ฉันเป็นเจ้านี่ ฉันจะขอไอ้นู่น ฉันจะขอไอ้นี่” ทุกข์ทั้งนั้นน่ะ นี่ผลของวัฏฏะ
ฉะนั้นว่า พวกที่เห็นผีโดยที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรม
แสดงว่าพูดอย่างนี้ผู้ที่มีการศึกษานะ ผู้ที่มีการศึกษา เราจะพูดอะไรพูดเป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์แล้วมันต้องคงที่ตายตัว พอคงที่ตายตัว ถ้าเห็นผีก็ต้องเห็นกันแบบว่าวัตถุที่จับต้องกันเลยล่ะ ต้องถ่ายภาพได้เลย แล้วถ้าไม่เห็น ไม่เห็นก็คือไม่มี
วิทยาศาสตร์มันจะว่าอย่างนี้ ถ้าเห็น เห็นก็ต้อง “นี่ไง ตัวนี้ไง ผีๆ” ถ้าจับไม่ได้บอก “ไม่มี ไม่มี พวกพระโกหก พระพุทธเจ้าเขียนเสือให้วัวกลัว” มันว่าไปนู่น
ฉะนั้น อย่าเชื่อใครทั้งสิ้น กาลามสูตร พระพุทธเจ้าสอนให้ประพฤติปฏิบัติของเรา พระพุทธเจ้าสอนให้เราเปิดตา เปิดตาขึ้นมา เราก็รู้เราก็เห็นเอง ถ้าเรารู้เราเห็นแล้ว พระพุทธเจ้าไม่ต้องบอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ต้องบอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ต้องบอก ถ้าตามันเห็นนะ
แต่ถ้าตามันไม่เห็น “พระไตรปิฎกไม่จริง พระไตรปิฎกโกหก เขียนเสือให้วัวกลัว”
อ้าว! มึงลองทำดูสิ กลัวไม่กลัว เดี๋ยวมึงจะรู้ กลัวไม่กลัว
นี่พูดถึงมันเป็นปัญหาโลกแตก แล้วก็ตอบเรื่องนี้ตอบมาทั้งปีทั้งชาติ แล้วก็ยังตอบต่อไปเรื่อยๆ เพราะไอ้คนมาใหม่มันก็ถามอีก ไอ้คนเก่าว่า “หลวงพ่อไม่เบื่อหรือ ตอบปัญหานี้มาตลอด”
ทีนี้เราตอบปัญหานี้เพราะว่าเขาเขียนกระชับ เขาเขียนมาแค่นี้ ๒ ข้อ แล้วทุกวรรคมันเป็นคำถามหมดเลย
“๒. แก้อาการกลัวว่านั่งสมาธิแล้วจะสามารถเห็นวิญญาณได้อย่างไร ถ้าเห็นวิญญาณได้จริงแล้วควรแก้ไขอย่างไร แล้วพวกที่เห็นผีโดยไม่ปฏิบัติธรรมมันเป็นไปได้อย่างไร” นี่เขาถาม
ไอ้เราปฏิบัติธรรมเกือบเป็นเกือบตาย ไอ้พวกเสพยาบ้ามันก็เห็นทุกวันเลย
พวกเสพยาบ้ามันกลัวนะ มันวี้ดว้าดๆ เลย มันกลัวคนฆ่ามันน่ะ มันเห็นคนจะฆ่ามันตลอดไอ้พวกเสพยาบ้า ไอ้พวกเราปฏิบัติธรรมเกือบตายไม่เห็นอะไรเลย นั่ง ๗ วัน ๘ วัน โอ้โฮ! ไม่เคยเห็นอะไรเลย ไอ้พวกเสพยาบ้ามันเห็นตลอดนะ แล้วอะไรจริงอะไรปลอมล่ะ
มันก็อยู่ที่การฝึกของเราไง หนึ่ง อยู่ที่การฝึก เราถึงบอกว่ามันอยู่ที่ครูบาอาจารย์นะ ถ้าครูบาอาจารย์ท่านฝึกเป็น ท่านทำเป็น ของอย่างนี้มันของเบสิกพื้นๆ พื้นฐานของการปฏิบัติ พื้นฐานของมนุษย์
ฉะนั้น ย้อนมาที่เรา เราถึงบอกว่าใจคน ใจคน วุฒิภาวะของคน วุฒิภาวะของจิต จิตสูง จิตต่ำ แล้วจิตเราดวงเดียว เดี๋ยวก็สูง เดี๋ยวก็ต่ำ เวลาสูงมันพัฒนาดีเลย ทำอะไรก็เอา พอจิตมันต่ำนะ ไม่เอา แล้วเสียดายเวลาด้วย แหม! เราไม่น่าโง่มาตั้งนาน เวลาจิตมันตก จิตเราคนเดียวนะ อันนี้พูดถึงว่าจะแก้อย่างไรไง เราแก้ใจเรา แล้วสิ่งนั้นเราดูแลไว้
อันนี้คำถามต่อไปเนาะ
ถาม : ได้ภาวนาพุทโธมาตลอด ปัจจุบันเริ่มกำหนดลมหายใจ แล้วใช้ให้ผ่านเข้าออกไปตามร่างกาย ให้ไปตามร่างกาย ตามแขน ตามขา ตามท้อง กำหนดไปเรื่อยๆ ทำไป หนูพอจะมาถูกทางไหมคะ แล้วรู้สึกเหมือนสบายใจเลยค่ะ
ตอบ : ถูกทาง เพราะว่าเวลาการปฏิบัตินะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นถึงจริตนิสัย ใจคนๆ เห็นถึงจริตของคนมันไม่เหมือนกัน ถึงวางกรรมฐาน ๔๐ ห้อง คือวิธีการทำความสงบของใจ วิธีการเข้าไปหาออฟฟิศ วิธีการเข้าไปหาสนามฝึกซ้อม วิธีการเข้าไปหาฐีติจิตของตัวเอง ต้องเข้าไปสู่ฐีติจิต คือเข้าไปถึงจิตตัวเอง เข้าไปถึงต้นขั้ว เข้าไปถึงต้นเหตุ ต้นเหตุคือใจของเรา เพราะใจของเราเวียนว่ายตายเกิดใช่ไหม ฉะนั้น วิธีการทำความสงบของใจ ๔๐ วิธีการ
คำว่า “๔๐ วิธีการ” เพราะคนมันหลากหลาย เวรกรรมมันมหาศาล แต่ละคนทำเวรทำกรรมมาไม่เหมือนกัน จะเอาวิธีการใดวิธีการหนึ่งไปทำ เขาจะทำไม่ได้ ฉะนั้น วิธีการใดวิธีการหนึ่งทำไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าถึงบอกว่ากรรมฐาน ๔๐ ห้อง คือการทำความสงบ ๔๐ วิธีการ
ฉะนั้น เวลาทำความสงบ ๔๐ วิธีการ แต่เวลากรรมฐานเรา เราระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือพุทธะ พุทธะคือพุทโธ พุทโธคือชื่อขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาพวกเราสอน พวกเราสอนพุทโธไง พุทโธก็ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง ส่วนใหญ่ก็ระลึกพุทโธๆ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงศาสดาของเรา เราระลึกถึงพ่อแม่ของเรา มันเป็นกุศลทั้งนั้นน่ะ เราระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันเป็นกุศล มันเป็นที่เหนี่ยวรั้งที่เกาะของใจ
แต่คำว่า “พุทโธๆ” เป็นคำบริกรรม ถ้าใจมันไม่บริกรรม ใจมันวอกแวก เราต้องการความเข้มแข็งของใจ ฉะนั้น ครูบาอาจารย์เวลาท่านสอน ท่านสอนพุทโธ ทีนี้พุทโธ เพราะว่ามันเป็นพุทธะ มันทำให้เราเจริญศรัทธาได้ดีด้วย แล้วถ้าไม่ได้ก็ธัมโม สังโฆ เทวตานุสติ มรณานุสติ ฉะนั้น แล้วเวลาถ้าทำไปแล้ว เราทำสิ่งนั้นมันไม่ถนัด เรามาทำอานาปานสติ เรามากำหนดลมหายใจก็ถูก ก็ถูก
บางที่เขาบอกอย่างนี้นะ เขาบอกพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนพุทโธ
เราบอก อ้าว! พระพุทธเจ้าจะสอนได้อย่างไร ก็ตอนพระพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้มันยังไม่มีพุทโธ พระพุทธเจ้ายังไม่รู้จักพุทโธเป็นอย่างไรเลย แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงมาสอนพุทโธ ธัมโม สังโฆ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่จะสำเร็จ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำหนดอานาปานสติ ก็กำหนดลมหายใจนี่
ลมหายใจ เขาจะยึดเลย บอกว่า “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำหนดอานาปานสติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้กำหนดพุทโธ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้สอนพุทโธ” บางคนเขาค้านอย่างนั้นนะ
อ้าว! ก็องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ได้ตรัสรู้ คนที่ยังไม่รู้จะเอาอะไรมาสอน เขาต้องรู้ก่อนเขาถึงมาสอนใช่ไหม เพราะรู้แล้ว เพราะรู้แล้ว โทษนะ ก็เราลำบากมาก่อนใช่ไหม เราหัวปักมาก่อน เราขวนขวายมาก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขวนขวายมาก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ ก็จะบอกให้พวกเราสบายหน่อยหนึ่ง บอกเลย ให้ทางเลือกๆ เยอะแยะไปหมดเลย แล้วก็ ๔๐ วิธีการ แล้วก็พร้อมกับลมหายใจเข้าออกด้วย
ฉะนั้น ถ้าเรากำหนดลมหายใจเข้าออกแล้ว แล้วให้ไปตามแขนตามขาต่างๆ
ที่ว่ามันจะถูก ถูกตรงไหน ถูกที่ว่าหนูทำแล้วหนูสบายใจ
“ทำแล้วหนูสบายใจค่ะ ใจมันสงบเร็วขึ้น”
มันก็ถูกอยู่แล้ว แต่ถูกแล้วนะ ต้องกำหนดลมชัดๆ ต่อไปกำหนดลมชัดๆ เกาะลมแล้วอย่าทิ้ง เวลาปฏิบัติอย่าทิ้งนะ หลวงปู่มั่นสั่งหลวงตาไว้นะ เพราะหลวงตาเวลาท่านปฏิบัติแล้ว ตอนหลวงปู่มั่นอยู่ ท่านจะเกาะหลวงปู่มั่นตลอด มีอะไรก็มาถามหลวงปู่มั่น เพราะใจมันไม่ลงใคร เพราะไปถามคนอื่น ไปไหนมา มันตอบสามวาสองศอก แต่ไปถามหลวงปู่มั่น พอถามปั๊บ ผัวะ! เลย ถามก็ผัวะ! เลย
ท่านก็ยึดหลวงปู่มั่นเป็นหลัก แต่พอหลวงปู่มั่นจะนิพพาน โอ้โฮ! ท่านร้องไห้ แล้วท่านก็มาระลึกได้ไง ระลึกได้ว่าหลวงปู่มั่นสั่งไว้ว่า อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ
เราปฏิบัติกัน พอจิตมันดีๆ ก็ทิ้งพุทโธแล้ว “โอ๋ย! มันละเอียดแล้ว” นี่กิเลสมันหลอกไง “โอ๋ย! มันละเอียดแล้ว ถ้าไปกำหนดพุทโธมันหยาบ”
มันละเอียดตรงไหน มันละเอียดจนเป็นทรายเลยสิ มันเอาอะไรมาละเอียดล่ะ พุทโธไปเรื่อยๆ อย่าทิ้ง ไอ้ทิ้งนั่นน่ะคือความประมาท พุทโธๆๆ พุทโธจนพยายามพุทโธไม่ได้นะ ไปถึงฐีติจิตนะ โอ้โฮ! จะมหัศจรรย์มากเลย
ไอ้นี่มันแค่สบายๆ สบายๆ เราไปสปาก็ได้ สปาเขานวดให้สบาย ไม่ต้องภาวนาด้วย นวดให้ที แล้วสบายด้วย ไม่เหนื่อยด้วย แต่นี่พุทโธๆ เหนื่อยเกือบตาย พอสบายๆ ทิ้งแล้ว
เรามาได้ครึ่งทางไง ไปถึงกลางแม่น้ำแล้วทิ้งเรือซะ เราจะข้ามฝั่ง โคนำฝูง โคที่ฉลาดจะพาฝูงโคนั้นขึ้นสู่ฝั่ง โคนำฝูง หัวหน้าโคโง่ ไปถึงกลางแม่น้ำ ไปสู่วังน้ำวน วังน้ำวนนั้นจะพาฝูงโคนั้นไปตายกันหมด
เราจะขึ้นสู่ฝั่ง ฉะนั้น ถ้ายังไม่ขึ้นสู่ฝั่ง พุทโธทิ้งไม่ได้ อย่าทิ้ง ถ้ากำหนดลมหายใจ ลมหายใจทิ้งไม่ได้ กำหนดอะไรก็ได้ ไม่ใช่พุทโธอย่างเดียวนะ ๔๐ วิธีการ อย่างใดอย่างหนึ่ง ห้ามทิ้งทั้งนั้น จะต้องไปถึงฝั่ง จะต้องขึ้นฝั่ง จะต้องพุทโธๆ จนถึงที่สุด ลมหายใจก็ลมหายใจถึงที่สุด มันจะละเอียดแค่ไหน มันจะระงับแค่ไหน มันจะสุดยอดแค่ไหน เรื่องของมึง เรื่องของกู กูกำหนดไปเรื่อยๆ
เราพูดอย่างนี้จริง เพราะเราเคยปฏิบัติมา เราเคยโดนหลอกมาเยอะ มันจะมาบอก “นู่นดีแล้ว สุดยอดแล้ว ถึงที่แล้ว”...เรื่องของมึงๆ กูทำของกูไปเรื่อย เพราะโดนหลอกมาเข็ด แล้วเวลาโดนหลอก ไม่ใช่ใครหลอก กิเลสเราเองหลอกเรา
ทำดี ทำดีจนมันเกือบจะได้ผลดีอยู่แล้ว มันบอกว่าใช่แล้วแหละๆ เชื่อมันนะ เดี๋ยวก็ถอยกรูดเลย เสื่อมหมด อย่างนี้เราเจอประจำ เราเจอมาจนเข็ด จนพูดกับตัวเอง เวลาปฏิบัติ หลวงตาก็บอก เวลาท่านเข้มงวดกับตัวเอง ท่านเข้มงวดมาก ท่านเข้มงวดกับตัวเองสุดๆ เลย
เราก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติไปนะ คอยแต่จับผิดตัวเอง คอยแต่ตีโพยนะ ตีมัน เฆี่ยนมัน ทำลายมันตลอด ตอนเราปฏิบัติ จะปฏิบัตินะ เพ่งโทษ จับผิดใจเรานี้ตลอด เผลอไม่ได้ เผลอ แฉลบ เผลอ แฉลบ
คนปฏิบัติ เราก็สงสัยตัวเราเองว่า แหม! เรามันรุนแรงไปหรือเปล่า เราก็ไปเล่าให้หลวงปู่เจี๊ยะฟังว่า “ผมทำอย่างนี้ๆ ครับ”
ท่านก็บอกว่า “เออ! กูก็ทำอย่างนี้”
ค่อยยังชั่วหน่อย มีพวก
แล้วมาฟังหลวงตาเทศน์สิ “เราเข้มงวดกับตัวเราเองมากกว่าคนอื่นมากมายนัก” ท่านเข้มงวดกับใจของท่านมากมายนัก
อันนี้ก็เหมือนกัน ไอ้ว่าถูกแล้วๆ ที่เราพูดเพราะถูกแล้วก็สบายใจแล้ว พอถูกแล้วเดี๋ยวก็ตีแปลง “ก็หลวงพ่อว่าถูกแล้วไง ทำไมไม่เห็นมีอะไรเลย”
อ้าว! ก็มึงไม่กำหนดต่อไป ถูกแล้วก็ต้องทำต่อไป ไม่ใช่ถูกแล้ว เออ! ถูกแล้ว จบแล้ว ถูกแล้ว เอาหมอนมา จะนอน...ไม่ใช่
ถูกแล้วต้องทำต่อไป ถูกแล้วต้องทำต่อไปเรื่อยๆ ทำต่อไปเรื่อยๆ จะถึงฝั่ง จะขึ้นฝั่ง ไม่ใช่มาแค่นี้จะขึ้นฝั่ง
ถูกแล้ว แล้วทำต่อเนื่องไป ทำของเราไป ปฏิบัติต่อเนื่องไป อย่าทิ้งผู้รู้คือใจของเรา อย่าทิ้งพุทโธ อย่าทิ้งพุทโธก็คือคำบริกรรม อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งลมหายใจ อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งมรณานุสติ
ผู้รู้ เพราะผู้รู้ทิ้งไม่ได้ แล้วพยายามเอาผู้รู้กำหนด กำหนดอะไรก็ได้ เพราะกำหนดมันถึงอยู่ ถ้าทิ้งคือมันไปแล้ว เพราะจิตนี้เป็นนามธรรม อากาศธาตุ แล้วอยู่ตรงไหนล่ะ
แต่ถ้าเรากำหนด กูอยู่นี่ ถ้าทิ้งก็หมด กำหนดก็อยู่ ระลึกก็มี ปล่อยก็ไป ทิ้งก็จบ
ห้ามทิ้งเด็ดขาด แล้วถ้ามันไปถึงตรงไหน จิตเราจะรู้อย่างนั้น แล้วเราจะเห็นอย่างนั้น เห็นไหม เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกในการประพฤติปฏิบัติ เอวัง