ญหาธรรม วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “ศีล ๕”
๑. ศีลข้อที่ ๑ ด้วยความเป็นแม่ เวลาเจอมด ยุง ปลวก แมลงสาบอยู่ในบ้าน แล้วท่านกำจัด เช็ด ปัดทิ้ง จับปล่อย บางครั้งอาจพลาดพลั้งทำให้ตาย ด้วยความห่วงลูกและหลาน แบบนี้ถือว่าผิดศีลไหม ด้วยความที่อยากรักษาศีล ๕ ให้ครบ ผู้ใหญ่ที่บ้านท่านคิดว่าท่านรักษาศีลไม่ได้ เพราะข้อนี้ท่านไม่สามารถทำได้
๒. ศีลข้อที่ ๔ ห้ามพูดโกหก รวมทั้งห้ามยุยงส่อเสียด พูดแบบต่อเติมความคิดตนเอง พูดจริงครึ่งโม้ครึ่งด้วยหรือไม่ และถ้าเป็นการพูดไม่จริงแบบเล่นๆ เพื่อความสนุกสนานให้เกิดความขบขันในบ้านหรือหมู่เพื่อนๆ ถือว่าผิดศีลด้วยหรือไม่
๓. ศีล ๕ กินอาหาร ขนม หรือไอศกรีมที่ผสมเหล้ารัม ถือว่าผิดศีลหรือไม่ (ปกติไม่ดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์)
ตอบ : ให้ตอบคำถามไง ทีนี้คำถามข้อที่ ๑. ให้ตอบคำถาม คำถามข้อที่ ๑. เรื่องศีล ข้อที่ ๑. นะ นี้เอาเรื่องพื้นฐานการถือศีลก่อน ถ้าการถือศีล ในพระพุทธศาสนาเรามีศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ แต่ครูบาอาจารย์ของเราถือศีลด้วยอธิศีล นี่พูดถึงศีลในพระพุทธศาสนา
เวลาเขาถือศีลกันนะ ศีลในลัทธิศาสนาอื่นเขาก็มีศีลเหมือนกัน แต่คำว่า “ศีลของเขา” เวลาศีลธรรมๆ เราพูดเพื่อศีลธรรม เราคิดกันเอาเองนะ บอกคนนั้นเขามีศีล คนนั้นก็มีศีล แต่เขาเป็นลัทธิศาสนาอื่น เขาก็เป็นศีลของเขา เขาไม่ใช่ศีล ๕ เหมือนเรา
ฉะนั้น คำว่า “ศีล ๕” พอศีล ๕ ปั๊บ เพราะเราอ่านพระไตรปิฎกใช่ไหมว่าฤๅษีชีไพรเขาก็มีศีลเหมือนกัน ฤๅษีชีไพรนั่นก็เป็นพวกฤๅษีชีไพรเขาก็มีศีล ๘ คำว่า “ศีล ๘ ของเรา” ศีลเขาถือตามนี้ แต่ศีลลัทธิอื่น ลัทธิศาสนาอื่นเขาถืออีกอย่างหนึ่ง
ฉะนั้น คำว่า “รักษาศีลๆ” เราจะรักษาศีลโดยที่ว่าเรามีศรัทธามีความเชื่อ ถ้ารักษาศีลมันก็รักษาด้วยความตั้งใจของเรา พอตั้งใจของเรา เราก็ไปขอศีล เห็นไหม เวลาทั่วไปประเพณีของชาวพุทธเราอาราธนาศีล
ฉะนั้น เวลาศีล ศีล เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติ อาราธนาศีลคือว่าเหมือนกับโดยทั่วไปเราก็ฝึกหัดเด็ก เด็กมาใหม่ๆ เข้าวัดเข้าวา เราก็ต้องบอกวิธีการกับเขา เราก็บอกแนวทางกับเขา นี่ก็เหมือนกัน อาราธนาศีลๆ เราก็อาราธนาศีลอยู่เรื่อยไปอยู่ร่ำไป
แต่ถ้าเป็นกรรมฐานเรา เขาเรียกว่าวิรัติเอา วิรัติคือเจตนา เจตนาถือศีล เจตนาถือศีลนี่สมบูรณ์แล้ว ไม่ต้องขอจากใคร ไม่ต้องขอจากใครเลย วิรัติเอา แล้วศีลอีกศีลหนึ่งคืออธิศีล คือศีลมันเป็นปกติของใจ มันเกิดจากหัวใจเลย ศีลมันมีหยาบมีละเอียดไง
ฉะนั้น อาราธนาศีล ไปถึงเราก็อาราธนาศีลพระ พระเป็นผู้ค้ำประกัน พระเป็นผู้รับรู้ เราก็ต้องไปอาราธนาศีล ขอศีลจากพระ ให้พระเป็นพยานเพื่อจะให้เราได้มั่นคงในศีล
แต่กรรมฐานเรา เราวิรัติกันเลย เราวิรัติเอาเอง พอวิรัติเอาเอง เพราะว่าเวลาพูดถึงศีล เราก็ว่าศีลคืออะไรๆ
ถ้าหลวงปู่ฝั้นท่านบอกศีล ๕ ศีล ๕ ก็มนุษย์ ตัวมนุษย์นี่ ศีรษะ ๑ แขน ๒ ข้าง เท้า ๒ ข้าง ศีล ๕ ศีล ๕ มันมีปกติ ถ้าศีล ๕ เรามีศีล ๕ อยู่ในศีล ๕ นะ หนึ่ง ปาณาติปาตา ไม่ลักทรัพย์ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ผิดลูกเมียเขา ไม่โกหกมดเท็จ ไม่ดื่มสุราเมรัย นี่ศีล ๕ ฉะนั้น คำว่า “ศีล ๕” เราไปอาราธนาขอศีลจากพระให้พระเป็นพยาน
แต่ถ้าเป็นกรรมฐานล่ะ กรรมฐานวิรัติ ตั้งใจ ตั้งใจถือศีลแล้วถือศีลเลย ในพระไตรปิฎกมีนะ ชาวประมงเขาไปทำประมงก็ไปหาปลา พอหาปลา เวลากลับจากทะเลของเขา กลับจากทะเลมันเกิดพายุลมแรง พอพายุลมแรง คิดว่าเขาต้องตายแล้ว เขาวิรัติเอาเดี๋ยวนั้นเลยนะ เขาวิรัติเอาเดี๋ยวนั้นเลย แล้วเขาก็ตายเพราะเรือคว่ำ เพราะเกิดพายุใหญ่เรือล่ม เรือล่ม เขาก็ตาย
พอเขาตาย ถ้าเขาไปทำประมงมา เขาฆ่าสัตว์ ถ้าศีลเราเศร้าหมอง ศีลเราต่างๆ เวลาเราตายไปมันก็จะตกนรกอเวจี เพราะเราทำแต่ความชั่วมา คือไปฆ่าสัตว์มา ว่าอย่างนั้นเถอะ เราไปลากอวนมา ทำเต็มที่เลย แล้วเรือมันคว่ำ แต่เขาวิรัติเดี๋ยวนั้น เขาทำใจเขาเด็ดขาด เดี๋ยวนั้น ศีลเขาบริสุทธิ์ เขาไปเกิดเป็นเทวดานะ นี่อยู่ในพระไตรปิฎก นี่มันเป็นวาระ เป็นต่างๆ
ทีนี้พอบอกว่าเราจะถือศีล เราอาราธนาศีล ถ้าเราถือศีลไม่ได้ เราถือศีลแล้วศีล ๕ ขัดกับอาชีพของเรา ศีล ๕ ขัดแย้งกับความเป็นอยู่ของเรา นี่มันเป็นความคิดของกิเลสไง เป็นความคิดของเรา เพราะอะไร เพราะเวลาถือศีล เวลาเราจะถือศีล คนเราทำความดี มันก็เอากฎหมายมาอ้างแล้ว มันอึดอัดขัดข้องไปหมดเลย
ทีนี้เวลาเราถือศีล เราขยับอะไรไม่ได้เลย เพราะว่าเวลาในพระไตรปิฎก ประเพณีวัฒนธรรมเราจะบอกเลยว่าศีล ๕ ต้องสะอาดบริสุทธิ์ ไม่แตะสัตว์เลย ไม่ทำอะไรเลย ไม่ยุ่งอะไรเลย มันถึงจะสะอาดบริสุทธิ์ แต่ถ้าเราไปแตะถูกตัวสัตว์นี่ผิดแล้วนะ จะผิดแล้วนะ มันระแวง มันกลัวไปหมดเลย เพราะเราตั้งใจเกินไปไง
ถ้าเราถือศีล ศีลคือข้อห้าม ศีล ๕ คือข้อห้าม ๕ ข้อ ศีล ๘ ก็ข้อห้าม ๘ ข้อ ศีล ๑๐ ก็ข้อห้าม ๑๐ ข้อ ศีล ๒๒๗ ก็ข้อห้าม ๒๒๗ ข้อ ถ้าเราไม่ทำ มันก็ไม่ผิด เห็นไหม แล้วเราจำเป็นต้องทำล่ะ เวลาการดำรงชีวิตของเรา เราต้องทำ
ทีนี้คำว่า “ถือศีล ๕” ศีลนี้สำคัญมากนะ เพราะศีลเป็นตัวแบ่งแยกเลยล่ะ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามันมีศีล พอมีศีล ปาณาติปาตา คำว่า “ปาณาติปาตา” คือไม่ฆ่าสัตว์ เวลาผู้ที่ครูบาอาจารย์ที่ละเอียดท่านบอกว่า ไม่ฆ่าสัตว์เท่านั้นใช่ไหมถึงว่าไม่ผิดศีล แล้วทำให้มันบาดเจ็บล่ะ เวลาเราไปทำมันศีลขาดไหม
ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ที่ท่านละเอียดท่านก็บอกว่า แม้แต่เราเจตนามันก็ผิดแล้ว ท่านไม่ให้มีถึงเจตนาเลยนะ ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติ เพราะพระปฏิบัติเราเอาหัวใจเลย ถ้าหัวใจเรามันอกุศล หัวใจเราทำอะไร มันไม่ปกติแล้ว พอไม่ปกติมันเศร้าหมองไหม ครูบาอาจารย์บอกเศร้าหมอง
ฉะนั้น เวลาทางวิชาการ เราเรียนธรรมะวิชาการ มันมีองค์ประกอบของมันไง
๑. ตั้งใจฆ่าสัตว์ นี่ศีลขาดหรือยัง ยัง เศร้าหมองแล้วนะ เพราะจิตใจเราอาฆาตแล้ว จะฆ่าสัตว์
๒. ก้าวเดินไป มันศีลขาดหรือยัง ยัง ไปถึงแล้วเราจะทำ เราจะฆ่าสัตว์ เราได้ฆ่าหรือยัง นี่มันเศร้าหมอง มันด่างพร้อย
แต่ถ้าเราได้ตั้งใจ แล้วเราได้ฆ่าสัตว์ นี่เราได้ฆ่าสัตว์ สัตว์นั้นตายไป นี่ศีลขาด พอศีลขาด ศีลขาดแล้วกรรม มันมีกรรมแล้ว
ถ้าศีลขาดแล้ว พระเราเวลาผิดศีลทำอย่างไรต่อไป เวลาพระผิดศีลแล้วใช่ไหม พระเป็นอาบัติ เวลาผิดศีลเป็นอาบัติ แล้วทำอย่างไรต่อ ก็ปลงอาบัติไง ปลงอาบัติแล้วตั้งใจถือต่อไปไง
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราผิดพลาดไปแล้ว พอศีลขาดแล้วเราก็วิรัติใหม่ เพราะอะไร เพราะชีวิตเราต้องดำเนินต่อไปใช่ไหม เรามีชีวิตอยู่
ฉะนั้น คำว่า “รักษาศีลๆ” ศีลสำคัญตรงไหน
ศีลสำคัญที่ว่า ถ้ามีศีล เวลาทำสมาธิขึ้นมาแล้วมันจะเป็นสัมมาสมาธิ เห็นไหม เวลามิจฉาสมาธิเกิดจากว่าเราไม่มีศีลหรือศีลของเราบกพร่อง พอศีลของเราบกพร่อง เกิดสมาธินะ เวลาทำสมาธิขึ้นมา จิตพอมันเป็นสมาธิแล้วจิตมันมีพลัง
พลังถ้าเป็นสัมมาสมาธิ ดูสิ เรามีเงินมีทอง เราจะเอาเงินทองสร้างประโยชน์กับเรา แต่ถ้าของเรา เราเป็นคนทุจริต เรามีเงินมีทอง เราจะเอาเงินทองไปจ้างให้คนไปทำร้ายกัน เอาเงินทองไปทำทุจริต
นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันสัมมาสมาธิ ถ้ามีศีล ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามีศีลมันเป็นสัมมาสมาธิ เพราะอะไร เพราะมันไม่ทำร้ายใครไง ไม่ทำร้ายใครแล้วไม่เบียดเบียนตนเอง แล้วถ้ามีสมาธิแล้วพยายามยกขึ้นฝึกหัดใช้ปัญญา มันจะออกวิปัสสนา ถ้าศีล สมาธิ ปัญญา มันก็เข้าสู่อริยมรรค มันก็เข้าสู่เส้นทาง เข้าสู่มรรค เข้าสู่เส้นทางแห่งธรรม
ถ้ามันทุศีลล่ะ มันเป็นสมาธิ พอเป็นสมาธิแล้ว เราไม่ชอบหน้าคนนี้ คนนี้ทำให้เราเดือดร้อน มันจะทำสิ่งใด เพราะศีลมันไม่บริสุทธิ์มาตั้งแต่ต้น พอศีลไม่บริสุทธิ์มาตั้งแต่ต้น พอจะทำอะไรมันสะดวกใช่ไหม
แต่ถ้าศีล ปาณาติปาตา เราไม่รังแกใคร เราไม่เบียดเบียนใคร เราไม่ทำร้ายใคร พอใครเขาทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจ ใครทำให้เราสะเทือนหัวใจ เราขอบคุณเขา เราขอบคุณเขาว่า เขาแสดงธรรมให้เราฟัง เขาเตือนเรา เขาเขี่ยคุ้ยหัวใจของเราขึ้นมาให้มันแสดงขึ้นมาให้เราได้มีสติปัญญาดูแลหัวใจของเรา
เห็นไหม เวลาถ้าจิตมันสงบแล้วมันยังขอบคุณเขา มันยังเห็นเขาเป็นสพฺเพ สตฺตา สัตว์ร่วมโลก เราไม่คิดเบียดเบียนเขา เพราะมีศีล เพราะเราไม่ทำลายเขาอยู่แล้ว เพราะมีศีล ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลสำคัญแบบนี้ ศีลทำให้จิตใจของเราเวลาจิตสงบแล้วมันจะเป็นประโยชน์
แต่ถ้ามันทุศีล พอจิตเราสงบแล้วนะ แหม! คนคนนี้มันเคยทำร้ายเรา มันเคยทำเราไม่ดี เราจะเพ่ง เราทำสิ่งที่ไม่ดีกับเขา มันถึงเป็นมิจฉา มันถึงไม่เป็นศีล สมาธิ ปัญญา
นี้พูดถึงว่าศีลสำคัญอย่างใดไง ศีลสำคัญกับการดำรงชีวิต เวลาผู้ที่มีศีล ธรรมะย่อมคุ้มครองเรา พอเราถือปฏิบัติรักษาศีล เราทำสมาธิ เราประพฤติปฏิบัติธรรม เราจะไม่ตกไปในที่ต่ำต้อย เราจะไม่ตกไปในที่อกุศล ศีลมันเป็นประโยชน์แบบนั้น นี่พื้นฐานของศีลนะ ถ้าพื้นฐานของศีลมันเป็นแบบนี้ ว่ามันสำคัญอย่างนั้น
ฉะนั้น “๑. ด้วยความเป็นแม่ เวลาเจอมด เจอยุง เจอปลวก แมลงสาบอยู่ในบ้าน ท่านจะกำจัด เช็ด ปัดทิ้ง จับปล่อย บางครั้งอาจพลาดพลั้งทำให้ตาย ด้วยความเป็นห่วงลูกหลาน แบบนี้ถือว่าผิดศีลไหม ด้วยความที่อยากจะรักษาศีลให้ครบ ผู้ใหญ่ที่บ้านท่านคิดว่าท่านรักษาศีลไม่ได้ เพราะข้อนี้ท่านไม่สามารถทำได้”
รักษาได้ รักษาศีล ศีลเราตั้งใจวิรัติเอาเลย เราอยากมีศีลมีธรรม เพราะเราอยากจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีศีรษะ ๑ แขน ๒ ข้าง เท้า ๒ ข้าง ศีล ๕
ถ้ารักษาไม่ได้ก็เหมือนกับคนพิการ เรามีแขนข้างเดียว มีเท้าข้างเดียว เห็นไหม แต่ถ้าเรามีศีรษะ ๑ แขน ๒ เท้า ๒ เรามีศีล ๕ รักษาได้ รักษาได้ ฉะนั้น ถ้าเรามีศีล ๕ รักษาได้
อย่างเช่นเวลาถ้าเรามีลูกมีหลาน เราห่วงลูกหลาน เวลามียุง มีมด มีต่างๆ เข้ามาจะกัด เรารักษาศีลใช่ไหม เราก็ป้องกันได้ เราป้องกัน เรานอนในมุ้งก็ได้ เราใช้ยากันยุง เราป้องกันก็ได้ แล้วถ้ายุงมันจะมากัด ถ้ายุงมากัด เราพยายามปัดก็ได้
คำว่า “ปัด” เราไม่มีเจตนาจะไปทำร้ายเขา ศีลมันอยู่ที่เรื่องเจตนาด้วย เราไม่มีเจตนาจะไปฆ่ายุง แต่เรามีเจตนาจะดูแลลูกหลานน่ะ เรามีเจตนาไง เราก็ปัด เราก็ทำอะไร เราปัด เราพยายามป้องกัน
ทีนี้บางทีพลาดพลั้งทำให้ตายได้ มันพลาดพลั้งทำให้ตายได้
สิ่งที่ตายมันก็สุดวิสัย เพราะเราไม่มีเจตนา มันสุดวิสัย คำว่า “สุดวิสัย” คนถ้าจิตใจเขามั่นคง อย่างเช่นกรณีหลวงปู่ลีวัดอโศการาม เราอ่านประวัติของท่าน ท่านบอกว่าท่านจะชดใช้กรรมนะ เวลาท่านไปนั่งอยู่ที่ชายทะเล วัดอโศฯ มันอยู่ติดทะเล ท่านไปนั่งอยู่ที่กลางทะเลเลย แล้วยุงทะเลเวลามันมาเป็นลูกๆ เลยนะ ท่านนั่งหลับตาเลยนะ แล้วยุงมันรุม รุมกัดเลยล่ะ
ยุงทะเลมาเป็นกลุ่มๆ เหมือนควันเลย เวลามันมาเป็นกลุ่มๆ แล้วท่านหลับตานะ แล้วมันก็กัด ท่านก็พุทโธๆ ของท่านไป ท่านทำของท่านได้ แล้วเวลาท่านบอกว่าพอท่านภาวนาลงเป็นสมาธิ เวลาลืมตามานะ โอ้โฮ! เลือดนี่แดงหมดเลย มันกัด เลือดนี่แดงหมดเลย เห็นไหม นี่ผู้เสียสละ เวลาผู้เสียสละท่านทำอย่างนั้นก็เพื่อเป็นประโยชน์กับท่าน
ในประวัติหลวงปู่ลีท่านบอกว่าท่านนั่งอยู่ริมทะเลเลย แล้วยุงทะเลมันมา ท่านหลับตาให้มันกัด
แต่ถ้าเราพระกรรมฐานใช่ไหม ถ้าเราไปอยู่อย่างนั้นนะ เราก็ตั้ง ๓ ขา แล้วก็กางมุ้ง เอามุ้งลง แล้วก็นั่งในมุ้ง อ้าว! มันมามันก็อยู่นอกมุ้ง ถ้ามันลอดเข้ามาได้ เออ! เสียสละให้มัน ถ้ามันลอดมาไม่ได้ เราก็ทนเอา
นี้คือผู้ที่มีจิตมุ่งมั่น เขาเสียสละ แล้วผู้ที่มีจิตใจมุ่งมั่นบางคนนะ เขายอมให้ยุงกัด เพราะเขาถือว่าเขาเมตตาสัตว์
แต่เรามีลูกศิษย์คนหนึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากวัดด้วย ท่านบอกว่าถือศีล ๕ แต่เวลายุงมาท่านตบผัวะเลย
แล้วบอกทำไมโยมตบยุงล่ะ
“อ้าว! ผมถือว่าผมถือศีล แล้วผมตบยุงผมว่าผมไม่ผิด เพราะมันเอาเชื้อโรคมา ผมไม่ต้องการให้เชื้อโรคเข้าตัวผม ผมถือว่าผมถูก”
นี้เราจะยกให้เห็นว่า มุมมองของคน เจตนาของคนมันมีหลากหลาย ผู้ที่เสียสละอย่างเช่นหลวงปู่ลีวัดอโศการามท่านนั่งอยู่ให้ยุงทะเลมันเข้ามากัด กัดเต็มที่เลย ท่านเสียสละของท่าน ท่านว่าท่านชดใช้ ท่านอยากเสียสละให้มันได้อาหาร นี่เวลาครูบาอาจารย์ของเราหรือผู้ที่เขาทนได้ เขาก็ให้มันกัด
บางคนเขาก็ปัดของเขา เขาก็ดูแล เพราะเขาเสียสละได้แค่นั้น แต่บางคนเขาตบแป๊ะเลย เขาบอกว่า ผมถือศีล ๕ แต่ผมถือว่านี่ไม่ผิดศีล ไม่ผิดศีลเพราะมันเอาเชื้อโรคมาให้เรา เราต้องป้องกันเชื้อโรค ตบแป๊ะเลย แล้วเขาบอกว่าไม่ผิดศีลด้วย
แต่ถ้าให้เราวินิจฉัย เราว่าผิด ก็เขาตั้งใจตบดังแป๊ะเลย แล้วเขาก็บอกว่าเขาไม่ผิด...มันก็ผิดสิ
แต่เราพูดถึงมุมมอง เพราะเรานี่ คนมาคุยธรรมะด้วยเยอะมาก มุมมองของคนคุยเขาคุยของเขา คือว่าคุยโดยความเห็นของเขา เราจะบอกว่า ความเห็นของเขาคือเจตนาของเขา คนเจตนามันสูงมันต่ำ มันไม่เหมือนกันใช่ไหม ฉะนั้น เวลาเราศึกษาธรรมวินัย เราต้องเอาธรรมวินัยเป็นตัวตั้ง ตัวตั้งธรรมวินัยเขาจะบอกเลยว่าอะไรถูกอะไรผิด มีเจตนาหรือไม่มีเจตนา
ถ้ามีเจตนา ถ้าไม่มีเจตนาผิดไหม ก็ผิดนั่นแหละ แต่กรรมมันไม่เหมือนกับมีเจตนา มีเจตนา มีความจงใจ กรรมนี่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย แต่เราไม่มีเจตนา เราอยากรักษา เช่น ของของสงฆ์ เราไปใช้ไปสอย เราต้องรักษา ถ้าไม่รักษานะ พวกมุ้ง พวกหมอน ในสมัยพุทธกาลมันจะมีพวกกุฏิ พวกร้านอยู่ตามป่า เขาจะเอามุ้ง เอาหมอน เอาเสื่อผูกไว้ เชือกผูกไว้แล้วกันไม่ให้ปลวกมันขึ้น แล้วเราเอามาใช้เสร็จแล้ว เราไปถึง เราไปพักใช่ไหม เราก็ไปแก้มา ของของสงฆ์เราก็เอามาใช้สอย เวลากลับแล้วเราต้องผูกต้องเก็บ ถ้าไม่ผูกไม่เก็บ เป็นอาบัติปาจิตตีย์เลย
ของของสงฆ์เอามาใช้ ไม่เก็บเองก็ดี ไม่ฝากให้ผู้อื่นเก็บ ไม่ฝากภาระให้คนอื่นเก็บ ทิ้งไปโดยที่ไม่ดูแลนะ อย่างแคร่เขาวางไว้ เขาเอามาใช้ เวลาไปแล้วเราต้องยกขึ้นป้องกันปลวก ต้องทำหมดนะ ของของสงฆ์เอาไปใช้
ถ้าไม่ดูแลรักษา ทีนี้คำว่า “ดูแลรักษา” ถ้ามันมีปลวก มีอะไรอยู่ เราดูแลรักษา เราก็เคาะมันออกไง เราก็เคาะ ไม่มีเจตนาหรอก แต่ถ้าปลวกมันเยอะมาก มันเคาะ มันกระทบ ตายไหม ตาย มีอยู่ เห็นอยู่ แต่เราก็ต้องรักษาของของสงฆ์ เห็นไหม พระก็อยู่ดำรงชีวิตเหมือนโยมนี่แหละ
ทีนี้โยมบอกว่า ผู้ใหญ่ที่บ้านท่านบอกว่าท่านรักษาศีลข้อนี้ไม่ได้ ท่านไม่สามารถทำได้
เราตั้งใจสิ แล้วเวลาเราตั้งใจแล้ว สิ่งที่ว่ามันมีปลวก มียุง มีแมลงสาบ เราพยายามจับ พยายามรักษา เพราะว่าแมลงสาบนำเชื้อโรคมาให้ เราจับแล้วเราไปปล่อย ปล่อยไปตามทางของเขา แล้วเราก็ดำรงชีวิตของเรา นี่เราแก้ไขอย่างนี้นะ
นี่พูดถึงว่าศีล ๕ เรารักษาศีลได้ไหม
รักษาศีลได้ เราดูแล เราป้องกันได้ เรามีสิทธิไง เรามีสิทธิในชีวิตของเรา แล้วเราก็ไม่เบียดเบียนคนอื่น แต่ผู้ที่มีสิทธิในตัวของเราแล้ว ถ้ามีความเมตตาจะอุทิศให้ยุง นั้นก็ว่ามีใจเมตตา ถ้าไม่อุทิศให้ เราก็ป้องกัน เราป้องกันของเรา
มันน่าคิดนะ มันน่าคิด เพราะว่าทำไมมันเกิดเป็นยุง ยุงมันต้องกินเลือดของสัตว์ มันต้องกินเลือดเป็นอาหาร ทำไมมันไม่เกิดเป็นสัตว์ที่กินพืช เวลาบอกถือศีลๆ สัตว์ที่มันกินพืช มันมีศีลของมัน มันรักษาศีลของมันได้ใช่ไหม แล้วทำไมต้องเกิดเป็นเสือ เกิดเป็นเสือต้องล่าเหยื่อ ถ้าล่าเหยื่อ มันไปทำร้ายเขา แล้วมันไม่ต่อเนื่องหรือ
เขาบอกว่า ถ้าถือศีล ๕ มันขัดแย้งกับโลก มันอยู่ไม่ได้หรอก มันเป็นไปไม่ได้
มันเป็นไปได้ มันเป็นไปได้นะ ในเมื่อสัตว์ที่มันเกิดมากินเนื้อเป็นอาหาร มันต้องล่าเนื้อของมัน ถ้าเป็นสัตว์ป่า สัตว์บ้านไม่ต้องพูดถึงมัน นี่เราพูดถึงธรรมชาติ
ทีนี้ทำไมมันมีกรรมอย่างนั้น ทำไมมาเกิดอย่างนั้นล่ะ ทำไมมันไม่เกิดเป็นสัตว์ที่กินพืชล่ะ สัตว์ที่กินพืชมันก็กินพืชเป็นอาหารนะ
เราจะบอกว่ามันมีกรรมไง กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดแตกต่างกัน เวลาเกิดขึ้นมาแล้ว เกิดในสถานะอะไร เกิดในสถานะของสัตว์ที่กินพืช เกิดในสถานะของสัตว์ที่กินเนื้อ
แต่เราเกิดเป็นมนุษย์ เรากินทั้งพืชก็ได้ กินทั้งเนื้อก็ได้ เราจะกินมังสวิรัติก็ได้ เราจะกินเนื้อก็ได้ แล้วเนื้อมันก็ยังมีเนื้อสะอาดบริสุทธิ์ เนื้อที่เราไม่ได้จงใจ เราไม่ได้ตั้งใจ
เนื้อที่ถวาย ถ้าเนื้อเขาจงใจ เนื้อนั้นทำเพื่อเรา อย่างนี้เนื้อที่จงใจ เนื้อนี้ไม่บริสุทธิ์
เนื้อที่ไม่จงใจ ดูสิ ตลาดเขาไม่จงใจ เพราะอะไร เพราะคนที่เขาทำอาชีพนั้นเขาต้องยอมรับความที่เขาทำอาชีพนั้น เราไปซื้อเนื้ออย่างนั้นมาทำอาหาร มันไม่ได้เจาะจง เขาไม่ได้เจาะจงบอกว่าสัตว์ตัวนี้ทำมาเพื่อนาย ก คนเดียวนะ สัตว์ตัวนี้ทำมา
ไอ้อย่างนี้มันถึงเป็นไง ฉะนั้น สิ่งที่ว่า เรารักษาได้ ถ้าเราทำความเข้าใจอย่างนี้ แต่ถ้าเราไม่ทำความเข้าใจอย่างนี้ไง พอรักษาศีลแล้วก็เป็นไม้บรรทัดเลย ต้องอย่างนี้ๆ แล้วพอทำอย่างนี้ปั๊บ เราดำรงชีพได้ยาก
คนที่ฉลาดนะ เวลาเขาไม่กินเนื้อสัตว์ เวลาเขายังอยู่ชีวิตปกติ เรายกย่อง หลวงปู่ผาง หลวงปู่ผางที่ขอนแก่น เขาบอกว่าท่านไม่ฉันเนื้อสัตว์นะ ทั้งชีวิตไม่มีใครรู้ว่าท่านไม่ฉันเนื้อสัตว์ ท่านบิณฑบาตปกติ ท่านเอาเนื้อสัตว์ไว้ข้างๆ บาตร ท่านฉันเฉพาะในบาตร แล้วไม่ให้บอกใคร ไม่ให้ใครเดือดร้อน ไม่ให้ใครยุ่งวุ่นวาย
ท่านไม่ฉันเนื้อสัตว์ แต่ก็ไม่มีใครรู้เลยว่าท่านไม่ฉัน คนก็ใส่อาหารปกติ ท่านไม่ฉันเพราะอะไร เพราะว่าเป็นนิสัยของท่าน
แต่ไอ้พวกเราบอก อย่างเรานี่นะ ถ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์นะ เราจะเขียนไว้ที่กลดเราเลย “พระองค์นี้ไม่ฉันเนื้อสัตว์” แล้วเราแบกไปไหนเขาจะได้รู้ไง เขาจะได้ไม่เอาเนื้อสัตว์มาใส่ กลัวจะไม่ได้กินไง
ถ้าเป็นเรานะ เราจะเขียนไว้ที่กลดเลย “พระองค์นี้ไม่ฉันเนื้อสัตว์” แล้วก็แบกไป ธุดงค์ก็ต้องแบกไปด้วย แล้วเอากลดให้เขาเห็นก่อนเลย พระองค์นี้ไม่ฉันเนื้อสัตว์ แล้วอย่าเอาเนื้อสัตว์มาใส่ฉันนะ เดี๋ยวฉันไม่มีฉัน นิสัยคนมันไม่เหมือนกัน
ฉะนั้น อย่างที่ว่า ทำได้ เราป้องกันได้ เราคุ้มครองลูกหลานเราได้ แต่เราไม่เจตนาจะทำร้าย เจตนาจะเข้าไปทำร้ายเขาตลอด เราไม่ได้เจตนาทำร้ายเขา อย่างเช่นเราปลูกบ้าน ปลูกบ้าน ใครเป็นคนปลูก เราหาเงินมาใช่ไหม เราปลูกบ้าน แล้วตุ๊กแกเอย ปลวกเอย จิ้งจกเอย มันไม่ได้เสียสตางค์เลย มันมาอยู่บ้านเราได้อย่างไร ญาติก็ไม่ได้เป็น เงินก็ไม่เสีย แล้วมันเข้ามาแล้วมันยังบอกบ้านของมันด้วยนะ อ้าว! จิ้งจกมันก็ว่าบ้านมันน่ะ ไอ้เรานี่ปลูกบ้านมาเลย แล้วเราไม่มีสิทธิรักษาบ้านเราหรือ
เราก็มีสิทธิรักษานะ แต่เรารักษาด้วยเหตุผลสมควรแก่เรา เราป้องกันได้ เรามีปัญญา คนมีปัญญา เราป้องกันได้ เราป้องกันได้ เดี๋ยวนี้มันมียาแก้กันปลวก มันมีทุกอย่างพร้อม ไอ้นี่ก็เหมือนกัน กางมุ้งซะ ถ้าเรากางมุ้งของเรา ถ้ามันกัด เราก็ไล่มันไป ไล่มันไปนะ วีๆ มันไปแล้ว
แล้วนี่พูดถึงว่าถือศีล ๕ นี่ข้อที่ ๑. นะ
“๒. ศีลข้อที่ ๔ ห้ามโกหก รวมทั้งห้ามยุยง ส่อเสียด พูดแบบต่อเติมความคิดของตน พูดจริงครึ่งหนึ่ง โม้ครึ่งหนึ่ง”...เขาเขียนอย่างนี้จริงๆ “แล้วถ้าเป็นการพูดไม่จริง พูดเล่นๆ แล้วพูดสนุกสนานให้เป็นการขบขันในบ้าน ในหมู่เพื่อน มันจะผิดศีลหรือไม่”
ฉะนั้น ผิดศีลหรือไม่ผิดศีลนะ การพูด พูดล้อพูดเล่น โยมพูดกันได้ แต่ถ้านักปฏิบัติเรา ครูบาอาจารย์ของเราท่านจะไม่ให้พูดเพ้อเจ้อ แม้แต่เวลาปฏิบัติธรรมไปแล้วนะ เวลาปฏิบัติธรรม ใครได้สัมผัสแล้ว ท่านยังไม่อยากให้พูดกันเลย เพราะพูดไปแล้วมันเป็นการวิตกกังวลนะ นิวรณธรรมกางกั้นสมาธิ เพราะเราพูดไปแล้ว เราพูดถึงผลการปฏิบัติของเรา
พอพูดจบแล้วมันจะคิดทันทีว่าเขาจะเชื่อเราหรือไม่เชื่อเรา เขาจะหาว่าเราพูดปดหรือเปล่า เขาจะหาว่าเราพูดเกินหรือเปล่า มันจะเป็นความกังวลแล้ว แต่ถ้าเราไม่พูด เราเก็บไว้ในใจ พอเก็บไว้ในใจนะ มันก็อยากจะบอก อยากจะพูดนะ เราปฏิบัติ เรามีประสบการณ์ของเรา
ฉะนั้น เวลาว่า ห้ามยุยง ห้ามพูดส่อเสียด นี้มันเป็นปัญหาสังคม ปัญหาสังคมที่เขามีจิตใจ เห็นไหม พูดยุยง พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ
เพราะถ้านักปฏิบัติจริงๆ แล้ว นักปฏิบัติจริงๆ เขาจะไม่พูดกัน ไม่พูดเพราะอะไร ไม่ได้พูดเพราะว่าไม่ได้เห็นว่ามันผิด มันน่ารังเกียจอะไร ไม่ให้พูดเพราะรักษาใจของตัวไง ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้าปฏิบัติจริงๆ ขึ้นไป นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันก็เหมือนข้อแรกว่ามาตรฐานของผู้รักษาศีลมันสูงต่ำแค่ไหน
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ศีลข้อ ๔ ห้ามพูดโกหก ห้ามโกหกจริงๆ เพราะคำว่า “โกหก” เวลาพูดโกหกไปแล้วมันทำให้บ้านเมืองปั่นป่วนนะ คำพูดโกหก คำพูดส่อเสียด ความยุยงส่งเสริม ยุให้รำ ตำให้รั่ว มันทำให้เกิดความระส่ำในสังคมเลยล่ะ แล้วยิ่งคนที่น่าเชื่อถือพูด โอ้โฮ! คนฟังมันไปหมดเลย
ทีนี้เราไม่พูดยุยงให้เขาส่อเสียด นักปราชญ์เวลาเขาพูด เขาพูดให้สมานสามัคคี เขาพูดกัน เขาพูดเพื่อให้อภัยต่อกัน เขาพูดแต่สิ่งดีๆ เขาไม่พูดส่อเสียด เขาไม่พูดยุยงส่งเสริม เขาไม่พูดสิ่งใดทั้งสิ้น ฉะนั้น เวลาถ้ามีศีล เวลาคนจะให้ศีลเขามันต้องมีศีล
ฉะนั้นบอกว่า เวลาพูด พูดจริงครึ่งหนึ่ง โม้ครึ่งหนึ่ง
เวลาพูดโดยอย่างเช่นเราเจรจาทางธุรกิจ เราเจรจาทางการค้า เราพูดตรงหมด ฉะนั้น สิ่งที่เวลาเขาบอกว่าพูดเล่นพูดหัว อันนี้อีกเรื่องหนึ่งแล้ว คำว่า “พูดเล่นพูดหัว” ตีได้ ๒ ประเด็น
ประเด็นหนึ่ง เวลาหลวงตาท่านพูดว่า เวลาไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ๘ ปี หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านพูดมีแต่สิ่งที่ดีงามทั้งนั้น ฉะนั้น โดยธรรมชาติพ่อกับลูกอยู่ด้วยกัน ท่านบอกอยู่กับหลวงปู่มั่นมา ๘ ปี ด้วยความสนิท ด้วยความใกล้ชิดกัน ท่านก็พูดเล่น พูดคุ้นเคย พูดหยอก พูดอะไรเหมือนกัน
แต่คำว่า “หลวงปู่มั่น” ท่านจะพูดเล่นพูดจริง แต่เราฟังจริงๆ เราฟังจริงๆ เราไม่เคยฟังเล่น ท่านจะพูดเล่นพูดจริง ท่านจะพูดเพื่อให้เรามีกำลังใจ ท่านจะพูดให้เป็นอุบาย ท่านจะพูดอย่างไร ท่านพูดเล่นพูดหัว พูดเพื่อให้เราได้ใช้ปัญญา
ท่านบอกว่า เราจะฟังจริง เราไม่เคยฟังเล่น ท่านจะพูดเล่นพูดจริง เราจะฟังจริงๆ
อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาที่บอกว่าพูดเล่นพูดหัว ถ้าครูบาอาจารย์ท่านให้อุบายนะ เวลาท่านให้อุบาย ท่านพยายามจะบอกแนวทางให้เราได้เลือกหลายๆ แนวทาง การพูดเล่นอย่างนี้ การพูดเล่นของครูบาอาจารย์ การพูดเล่น เราใช้คำว่า “พูดเล่น” แต่ความจริงแล้วท่านเปิดช่องทางให้เรา อันนี้เป็นนักปฏิบัตินะ
แต่ในสังคมล่ะ สังคมว่าเราพูดเพื่อความสนุกสนาน เราพูดสนุกสนาน พูดเล่นมันพูดเล่นเพื่อความสนุก ฉะนั้น เวลาไอ้คนฟัง คนฟังถ้าเขายึดว่าเป็นความจริงไป เห็นไหม ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด อันนั้นเสียหาย แต่ถ้ามันอยู่ในบ้านเราพูดเล่นพูดหัวกันมันไม่เสียหายหรอก ยิ่งถ้าเพื่อนบอกคำว่า “พูดเล่น”
ถ้าเวลาหลวงตาท่านไปไหนท่านบอกท่านพูดเล่นนะ เวลาท่านหยอกล้อลูกศิษย์ท่านน่ะ แล้วเวลาท่านบอกว่าคราวนี้พูดจริงแล้วนะ ฟังจริงๆ คราวนี้พูดจริง แล้วพูดจริงท่านพูดจริงๆ เลย
แต่ท่านก็ชอบพูดเล่นเหมือนกัน พูดเล่นบ่อย แต่ท่านจะบอกว่าอันนี้เป็นการพูดเล่นนะ เพราะกลัวคนยึดไปว่าเป็นความจริงไง ท่านพูดเล่น แต่กลัวคนอื่นจะยึดเป็นความจริง บอกอันนี้พูดเล่นนะ พูดเล่นแล้วต้องบอกว่าพูดเล่นด้วย เดี๋ยวคนไม่รู้มันจะเอาจริง แต่เวลาพูดจริงๆ อันนี้จริงนะ อันนี้จริงนะ
ฉะนั้น คำว่า “ศีล” มันพูดอย่างนั้น ศีลห้ามยุยง พูดส่อเสียด เป็นอย่างนั้นจริงๆ นี้คำว่า “พูดปด” แต่ถ้าคำว่า “พูดปด คำโกหก” มันโกหกเพื่อประโยชน์ไง แต่ถ้าเป็นอุบายนะ เรายังใช้คำว่า “อุบาย” อยู่
คำอุบาย เวลาอุบาย เราไปรู้เห็นสิ่งใดแล้วเรายึดมั่น เรายึดมั่นของเรา พอเรารู้เราเห็น เรายึดมั่นของเรา แล้วคนจะทำให้เราปล่อย ปล่อยความคิดอันนี้ ปล่อยความยึดมั่นของเรา มันต้องมีอุบายนะ มีอุบายเปรียบเทียบ
มีอุบาย อย่างเช่นที่หลวงตาท่านเล่าให้ฟังนะ ท่านไปที่เมืองจันท์ แล้วชาวเมืองจันท์เขามาหาหลวงตาเลยนะ “หลวงตาๆ หนูรู้แล้ว นิพพาน นิพพานหนูเข้าใจแล้ว” เขาว่านิพพาน ท่านพูดถึงหนองอะไรที่ท่านพูดถึง
หลวงตาท่านฟังแล้ว โอ้โฮ! ผิด ไม่ใช่ พอไม่ใช่ ท่านบอก “ไม่เป็นไรนะ ฉะนั้น ให้ไปปฏิบัติอย่างนี้ๆๆ ต่อไปนะ”
แล้วพอท่านไปใหม่นะ “อ๋อ! หลวงตา รู้แล้วแหละ ไอ้นิพพานที่หนูพูดมันไม่ใช่ มันผิด ของหลวงตาถูก” เห็นไหม มันพัฒนาให้ใจคนมันขึ้นมา อย่างนี้ถือว่าโกหกไหม
เขาเข้าใจของเขาอย่างนั้นเพราะเขาเข้าใจผิด พอเข้าใจผิด หลวงตาท่านก็ให้อุบายเลย ให้อุบายว่าให้กำหนดพุทโธต่อไปนะ พอจิตมันสงบขึ้นมา มันละเอียดเข้ามาไง มันผ่านเข้ามา อ๋อ! ไอ้ที่เราเข้าใจว่านิพพานมันไม่ใช่แล้ว
มันมีไง มันมีอุบาย มีต่างๆ ที่ว่าจิตที่สูงกว่าจะดึงจิตที่ต่ำกว่า อันนี้ไม่ใช่โกหก อันนี้เป็นอุบาย
แต่พระที่โกหกมี ไอ้พูดจริงครึ่งหนึ่ง พูดโม้ครึ่งหนึ่ง ไอ้พวกโม้มันเยอะ ไอ้พวกโม้มันไปฟังเอามาจากครูบาอาจารย์แล้วมันก็บวกเอาความเห็น แล้วมันก็โม้ไป พอโม้ไปแล้ว โม้นี่มันรู้ได้อย่างไร
โม้มันรู้ได้ว่าไอ้คนพูดมันพูดไม่มีเหตุมีผลรองรับ ไม่มีเหตุมีผลเพราะเราไม่เคยทำไง ดูสิ สังเกตว่าเราเคยทำสิ่งใดมา ใครมาถามสิ่งใด เราจะอธิบายได้หมด เราอธิบายได้หมดเลย แล้วเขาไม่ต้องถามหรอก เพียงแต่เขาพูด เรารู้แล้วว่ามันถูกหรือผิด เพราะว่าเราเคยผ่านเหตุการณ์อย่างนั้นมา แต่คนที่ไม่เคยผ่านเหตุการณ์อย่างนั้นมา มันพูดนี่มันโม้ไหม คนไม่มีแล้วพูดว่ามีนี่โม้ไหม คนทำไม่เป็นบอกว่าตัวเองทำได้ แล้วพอทำได้ เขาให้อธิบาย อธิบายไม่ถูก อย่างนี้ ไอ้นี่มันโกหกทั้งนั้นน่ะ
ฉะนั้น พูดจริงครึ่งหนึ่ง โม้ครึ่งหนึ่ง ถ้าพูดเล่นพูดหัวในบ้านนั่นเรื่องหนึ่งนะ มันเป็นนิสัยด้วย นิสัยคนเป็นอย่างนั้นจะเป็นอย่างนั้น นิสัยถ้าคนไม่เป็นอย่างนั้นก็จบเลย
ทีนี้ไอ้คำว่า “โกหก” มันเป็นเรื่องเครดิตนะ ถ้าคนเคยพูดโกหกครั้งสองครั้ง เครดิตจะไม่มีใครเชื่อเลย แต่ถ้าใครพูดคำสัตย์คำจริงตลอด คนคนนั้นมีคนเชื่อถือศรัทธา
นี่คำว่า “โกหก” แล้วสำคัญมาก คำว่า “โกหก” เพราะความเห็นผิดมันทำให้จิตใจนี้โลเลเลยล่ะ จิตใจของเราไม่มั่นคง
ฉะนั้น เราถึงบอกว่า ถ้าเราไม่ตั้งใจ ถ้าพูดเล่นในบ้าน พูดเพื่อความสนุกสนาน เพื่อความขบขันนะ เราว่าไม่ผิด ฉะนั้น คำว่า “ศีล” ไม่ผิดหมายถึงว่า เป็นปัญหาสังคม เป็นปุถุชนนะ แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์นะ เวลาเป็นอธิศีลแล้วไม่มีเลยล่ะ
ถ้าพูดเล่นพูดหัวนั่นเป็นเรื่องหนึ่ง นี่เป็นปัญหาสังคม แต่ถ้าศีลก็คือศีล เวลาตัดสินต้องตัดสินกันด้วยบาลี บาลีว่าอะไรผิดๆ ต้องเป็นอย่างนั้นเลย แต่ขณะที่ว่าการดำรงชีวิตของเรามันทำอย่างนั้นไม่ได้ นี่ศีลข้อที่ ๔
ฉะนั้น “๓. ศีล ๕ คำว่า “ศีล ๕” กินเหล้า อาหารที่มีขนมหรือไอศกรีมที่ผสมเหล้ารัมถือว่าผิดศีลหรือไม่”
ปกติไม่ดื่มเหล้าอยู่แล้ว คือไม่ผิดศีลอยู่แล้ว เขาว่าเขาไม่ดื่มเหล้าไม่ดื่มเบียร์อยู่แล้ว แต่เวลากินอาหารมันมีส่วนผสมของเหล้า ของเหล้ารัม ไอศกรีม มันจะผิดศีลหรือไม่
ถ้าโดยเถรตรง โดยเถรส่องบาตรมันก็ว่าผิดๆๆ เลย
แต่ถ้าเราบอกว่าไม่ผิด
“โอ้โฮ! หลวงพ่อชอบล่ะสิ หลวงพ่อฉันแล้วอร่อยใช่ไหม”
ก็ใช่ ใช่ แกงเขาใส่เหล้าอะไรมา เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันเป็นประเพณี มันเป็นข้อเท็จจริงของสังคมเขา ถ้าเป็นข้อเท็จจริงของสังคมเขา ในวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ สิ่งใดเขาใส่เพื่อเป็นประโยชน์กับการทำอาหารนั้นถือว่าไม่ผิด มีเลย อย่างเช่นสิ่งที่ว่าเป็นพวกน้ำตาล เขาใส่สิ่งอะไรเพื่อผสมเพื่อความปั้นให้มันเป็นก้อนได้ ปั้นติดได้ ถือว่าไม่ผิด
ทีนี้ขนม อาหารที่เขาใส่เหล้า อาหารเขาใส่ส่วนผสมนะ อาหารฝรั่งเขาใส่เหล้าทั้งนั้นน่ะ ทีนี้เขาใส่เหล้าเขาใส่เพื่อเป็นอาหาร กินแล้วไม่เมาหรอก กินอาหารอย่างไรก็กินแล้วไม่เมา
แต่ถ้าไปกินเหล้าน่ะเมา เหล้านี่ห้าม ทีนี้คำว่า “ห้าม” ก็ห้ามขาดไง ห้ามก็ห้ามมีส่วนผสมเลย ถ้าห้ามมีส่วนผสมเลย ถ้าเป็นพระนะ พวกกาลิก สัตตาหกาลิก มันมีส่วนผสมของอายุสั้นอายุยาว ถ้าอายุที่ยาวกว่า ถ้ามีส่วนผสมอะไร ให้นับสิ่งที่อายุสั้น
อย่างเช่นถ้ามีน้ำตาลผสม ให้เป็นสัตตาหกาลิกอยู่ได้ ๗ วัน อย่างเช่นกาแฟเพียวๆ กาแฟอย่างเดียว กาแฟมันเป็นตัวยา มันไม่มีส่วนผสมอะไร นี่ตลอดชีวิต ยาบางอย่างเป็นตลอดชีวิต เว้นไว้แต่ผสม ผสมอะไรให้นับสิ่งนั้น
ถ้าผสมนม ให้เป็นอาหารตอนเช้าได้ กินเป็นอย่างอื่นไม่ได้ อันนี้เขาให้ไว้เพราะอะไร เพราะพระเราเป็นคนทำ พระเป็นคนผสม เพราะเมื่อก่อนนั้นมันยังไม่มีโรงงาน สมัยพุทธกาลใช่ไหม แต่เดี๋ยวนี้มันมีโรงงานแล้วใช่ไหม มีโรงงานไปทำ สิ่งที่ทำมาแล้วจบที่นั่น แต่ถ้าพระทำเองต้องนับตามนั้นเลย
สิ่งใดถ้ามันมีส่วนผสมของน้ำผึ้งให้นับ ๗ วัน เพราะน้ำผึ้งอายุสั้นที่สุด เราทำยาทำอะไร ลูกกลอนเราทำเอง แต่ในปัจจุบันนี้เขาเอายาลูกกลอนมาถวาย เขามาแล้ว เขาเสร็จมาตั้งแต่โรงงานใช่ไหม เราถือว่าเป็นยาตลอดชีวิต
วินัยทั้งหมดเขาไม่ต้องการให้พระมีเรื่องมาก ไม่ให้พระมีงาน ให้ทุกอย่างมันเรียบง่าย ถ้ามีความจำเป็น พระมีความจำเป็นว่าเจ็บไข้ได้ป่วย จะทำยา ก็ทำยาเฉพาะที่ใช้นั้น
แต่ในปัจจุบันนี้ อู๋ย! มีแต่คนส่งเสริม มีแต่คนกลัวว่าพระจะอยู่ไม่ได้ ซื้อยามาถวายเต็มไปหมดเลย ไอ้นั่นมาแล้วมันก็จบตรงนั้นน่ะ นี่พูดถึงส่วนผสมไง
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน อาหาร อาหารที่เขาผสมเหล้า ขนมที่ผสมเหล้า เราถือว่าผิดศีลไหม
เวลาเราไปกินอาหาร ไปกินไอศกรีม เราไม่ได้ไปกินเหล้า เรากินไอศกรีม สั่งไอศกรีมมา อ้าว! บอกเลย ไอศกรีม ไม่ผิดศีล ถ้าสั่งเหล้าผสมไอศกรีมผิดศีล ก็ตั้งใจกินเหล้าไง
ข้อนี้มันมีนะ เดี๋ยวนี้ยาดองไง พวกยาดองถือว่าเป็นยา กินยาดอง กินยาดองเมาแป้เลย กินยาดอง อ้าว! ก็กินยา พระจะกินยา เอายาดองมาเลย แหม!...อย่างนี้ผิด เพราะมันเลี่ยงบาลีไง
มี เราเคยเห็น เราเป็นเด็กๆ หน้าบ้านเขามีร้านกาแฟ มีหลวงตาองค์หนึ่งแกจะมากินยาทุกวัน เหล้าขาวกับน้ำตาลทราย แกสั่งนะ เหล้าขาว น้ำตาลทราย แล้วที่ร้านค้านั้นเขาเคย เขาก็ทำให้ มาทุกวันเลย มากินยา เหล้าขาวกับน้ำตาลทราย สั่งเหล้าขาวมาเป็นพิธี แล้วใส่น้ำตาลทรายไปหน่อยหนึ่ง เพราะคนจีน เหล้าขาวกับน้ำตาลทรายเขาถือว่าเป็นยานะ เขาก็อ้างว่าเป็นยา
ไอ้นี่อยู่ที่เจตนา เห็นไหม ตั้งแต่ข้อแรกเลย ถ้าเจตนาเราไม่มี เจตนาเราไม่ตั้งใจ มันไม่มีหรอก แต่เราตั้งใจ เรารักษาศีล ดีกว่าเราไม่รักษา ดีกว่าเราไม่ได้อะไรเป็นประโยชน์กับเราเลย เราพยายามรักษา มันจะผิดพลาด ผิดพลาดเพราะเรารักหลานรักลูก เรารักของเรา เราไม่ต้องการให้เจ็บไข้ได้ป่วย เราก็ป้องกันดูแล ไม่ผิดหรอก ไม่ผิด เพราะเรายังทำคุณงามความดีมาบ้าง
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ไปกินอาหารแล้วเขาใส่เหล้ารัมมันผิดศีลหรือไม่
โอ้โฮ! ไม่ผิด ฉะนั้น ไม่ผิด ทีนี้เพียงแต่ว่าพวกเราพวกที่ปฏิบัติใหม่ อวดรู้ไง กลิ่นเหล้าหน่อยไม่ได้ กินไม่ได้ นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้
อันนี้ไม่ได้ๆ นะ แต่ถ้าอย่างเนื้อดิบ อย่างที่พระเขาทำกัน เนื้อมันดิบ มันเห็นชัดๆ สิ่งที่มันเห็นชัดๆ แล้วมันเห็นแล้วเขาเรียกว่าโลกวัชชะ โลกเขาติเตียน เราทำไม่ได้หรอก แม้แต่รู้ เพราะเวลาธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ถือมหาปเทส ๔ สิ่งใดที่เป็นยา แต่ในพื้นที่เขากินเป็นอาหาร ภิกษุก็ไม่ควรฉันแล้ว
สิ่งใดที่เป็นยานะ แล้วพื้นที่เขากินเป็นอาหารกันน่ะ เราถือว่าเป็นยา แต่ชาวบ้านเขาว่าเป็นอาหาร แล้วพระมากินบอกเป็นยา เพราะวินัยตัดสินว่ายา แต่พื้นถิ่นนั้นเขากินเป็นอาหารกันอยู่ แล้วเราบอกเรากินยา แต่ชาวบ้านเขาบอกเขากินอาหาร มันก็เป็นความเห็นไม่ตรงกันใช่ไหม
มหาปเทส ๔ ถ้าที่ไหนเขากินเป็นอาหาร เราภิกษุไม่ควรกิน เว้นไว้ ๕ ชนิด พริก ข่า ตะไคร้ กระเทียม พริกเขาทำอาหารอยู่แล้ว มีอยู่ ๕ อย่าง เราจำไม่ได้อีกอย่างหนึ่ง พริก ข่า ตะไคร้ กระเทียม กระเทียมเป็นยา แต่กระเทียมกินโดดๆ ก็ไม่ได้ ต้องเอามาผสม อย่างเช่นดองสมอ
๕ ชนิดนี้เขาเรียกว่ามันเป็นรากเหง้าของยาสมุนไพร ๕ ชนิดนี้ที่ไหนเขากินเป็นอาหาร พระก็ฉันได้ อย่างข่า ตะไคร้ เราจะมาซอย ฉันกับยาถ่าย ยาบำรุง นี่ฉันได้
ฉะนั้น สิ่งที่เราไปสั่งไอศกรีม แล้วมันผสมเหล้ารัม เราก็กินไอศกรีมอร่อย เหล้ารัมมันติดมาด้วยไม่รู้ ไอ้นี่ไม่ผิดศีลหรอก ไม่ผิด ถ้าจะละเอียดอย่างนั้น ละเอียดที่ว่าเราเป็นคนทำไง ถ้าเราเป็นคนทำ ไม่ควร เพราะพระพุทธเจ้าสอนให้เรียบง่าย ศาสนาพุทธสอนให้ติดดิน เรียบง่าย ติดดิน แต่เพราะความวิตกกังวล คนไปพลิกแพลง ท่านถึงได้บัญญัติเป็นอนุบัญญัติ นี่ไม่ได้ๆๆ แล้วเราก็ไปเอาตรงนั้นเป็นตัวตั้ง
แต่ความจริงแล้ว ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลเป็นกรอบเป็นรั้ว แล้วทำให้รักษาศีลแล้วทำสมาธิ
แล้วสมาธิมันเกิดขึ้น เกิดภาวนามยปัญญาขึ้น ท่านต้องการอันนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการให้เราประพฤติปฏิบัติ ต้องการให้เราดัดแปลงจริตนิสัยจากคนพาลให้เป็นบัณฑิต จากบัณฑิตให้เป็นอริยภูมิ พยายามดัดแปลงให้หัวใจเราสูงขึ้น
ไอ้ของสิ่งนี้เป็นของเสริมทั้งนั้นน่ะ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าพูดอย่างนี้ไปมันจะเสียหายนะ เพราะหลวงตาท่านบอกว่าพวกนี้เป็นสมมุติทั้งนั้น ทุกอย่างเป็นสมมุติ มันเป็นสมมุติขึ้นมาให้เราเป็นหนทาง เป็นทางก้าวเดินไป แต่เวลาปฏิบัติ ความสมมุตินี้เราต้องถือให้จริงจัง ความจริงจังของเรา เราจะเข้าไปสู่สัจธรรม พอไปถึงสัจธรรม ไปถึงเป้าหมายแล้ว ไอ้พวกนี้เป็นวิธีการ เป็นพาหะ เป็นการส่งขึ้นมาไง ถึงสุดท้ายแล้วเราทิ้งหมดเลย ต้องทิ้งมันด้วย
เวลานั่งเรือไปจะขึ้นฝั่ง แล้วบอกว่า โอ๋ย! จะแบกเรือไปด้วย ก็เอาเรือมาตั้งไกล มันไม่ได้หรอก เรือของฉัน ฉันทิ้งไม่ได้ มันจะแบกเข้าบ้านไปด้วย
มันเข้าบ้านไม่ได้หรอก มันอาศัยเรือมา เสร็จแล้วก็จอดไว้ที่ท่านั่นแหละ แล้วเราก็ขึ้นฝั่ง ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นของเสริมขึ้นมาทั้งนั้นน่ะ เสริมขึ้นมาให้ใจหลุดพ้น แต่ถ้าของเสริมขึ้นมา เราก็ใช้ ไอ้นั่นเขามาเรือ ไอ้เรามาแพ อีกคนหนึ่งเขามาเรือที่ใหญ่กว่า เรือเล็กกว่า มันมีหมด เจตนามันถึงไม่เหมือนกันไง
ฉะนั้น สิ่งนี้สิ่งที่ว่าอาหารถ้ามันมีส่วนผสมอย่างนั้น เขาเป็นสูตรอาหารของเขา เราสั่งอาหารชนิดนั้น อาหารนะ ไม่ใช่สั่งซีฟู้ด ไปชี้กุ้งตัวนี้ตัวนั้น ไม่ใช่ ถ้าชี้อย่างนั้นน่ะผิดแน่ๆ เลย
แต่อาหารนี้มันไม่มีชีวิต อาหารอย่างนี้เขาเรียกว่าอะไรนะ วัสดุที่เขาผสมเป็นอาหาร มันไม่มีชีวิต มันไม่เสียหาย
แต่ถ้าไปชี้เลยนะ บอกอาหารอะไรก็ได้ทั้งหมด ก็ไปชี้เลย เอาปลาตัวนี้ เอากุ้งตัวนี้ นั่นน่ะปาณาติปาตา นั่นจงใจ จงใจเจาะจงเลย นั่นน่ะกรรมเต็มที่เลย
แต่ถ้าเราไม่รู้ เราไม่รู้ไม่เห็น มันเป็นเนื้อที่เขาสั่งมาแล้ว อะไรมาแล้ว มันเป็นอาหาร มันไม่ใช่สิ่งมีชีวิต
ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บ ไอ้คนที่ว่าจะกินยาดองบอก “โอ้โฮ! หลวงพ่อบอกเราเป็นเพื่อนกัน” ไอ้พวกจะกินยาดองบอก “เออ! หลวงพ่อพูดถูก” แล้วกินยาดองไม่ผิด มันจะไปชวนกันเลย
ยาดองนั่นแหละผิด เพราะมันรู้อยู่แล้วว่ากินแล้วมันเมา ไปกินยาอื่นก็ได้ ทำไมต้องกินยาดอง
แต่อาหารมันกินแล้วมันไม่เมา เขาใส่เพราะเป็นอาหาร ใส่เพื่อปรุงรส เขาไม่ได้ใส่ให้เมา ไอ้ยาดองมันเมาเลยล่ะ นั่นน่ะชื่อมันเลยว่ายา นั่นแหละผิด เพราะยานั้นไม่กินก็ได้ กินยาอื่นก็ได้ ทำไมต้องกินยาดองด้วย แต่อาหารเขาใส่มาเพื่อเล็กน้อย เพื่อปรุงรส กินจนท้องแตก มันก็ไม่เมา ใส่ในอาหารมา กินอย่างไรก็ไม่เมา เพราะมันไม่ใช่ยาดอง มันเป็นอาหาร ไอ้ยาดองนั่นแหละผิด พอยาดองไม่ต้องกิน ไปกินมะขามป้อมมันก็ระบายแล้ว ไม่ต้องกินยาดอง
นี่พูดถึงว่าคนที่ตั้งใจจะทำดี เราอยากพูดเพราะคนที่ตั้งใจจะทำดีแล้วทำไม่ถูกไง คนตั้งใจจะทำดีแล้วทำไม่ถูกเพราะพื้นฐานไง เริ่มต้น พระพุทธศาสนา สัญชัยถึงบอกไง เวลาพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะไปลาสัญชัย
“ในโลกนี้มีคนโง่มากหรือคนฉลาดมาก”
พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรบอกว่า “โลกนี้มีคนโง่มากกว่าคนฉลาด”
“อย่างนั้นเราจะอยู่กับคนโง่” เพราะคนโง่คุยกันง่าย คนโง่ชักนำได้ง่าย
ทีนี้คนฉลาด ถ้าจะไปอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันต้องคนฉลาด พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะทิ้งสัญชัยไป
เรียนกับสัญชัยมาจนหมดไส้หมดพุง ไม่ได้แก้กิเลสสักตัว ไปฟังพระอัสสชิหน่อยเดียวเป็นพระโสดาบันเลย พอไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สอนจนเป็นพระอรหันต์เลย นี่สังคมของนักปราชญ์ สังคมของบัณฑิตผู้มีปัญญา แต่มันมีนิดหนึ่ง น้อย แต่ไอ้พวกที่ชักนำไม่ต้องมีเหตุผลเลย เชื่อตามๆ กันมา ให้ทำอย่างไรทำหมดเลย นี่คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก
ฉะนั้น เราเป็นชาวพุทธ เราจะประพฤติปฏิบัติ เรื่องศีลมันก็ต้องใช้ปัญญา แค่เรื่องศีลก็ปวดหัวแล้ว ทำไม่ได้ นู่นก็ทำไม่ได้ นี่ก็ทำไม่ได้ แต่ถ้าเรามีเจตนาทำความดี สิ่งนี้มันเป็นการเสริมเราๆ เราทำได้มากทำได้น้อยขนาดไหนมันก็เป็นการสร้างอำนาจวาสนาบารมีของเรา เราพยายามทำของเรา เราอยากได้ประโยชน์กับเรา
การรักษาศีล เห็นไหม เริ่มต้นจากคนที่เข้ามาจะเป็นอย่างนี้ทั้งนั้นน่ะ เพราะว่าไม้ดิบๆ มันคุ้นเคยกับความเคยชินของกิเลส มันคุ้นชินกับความเคยตัวเคยกิเลส แล้วพอมันจะมาขีดเส้น พอมันจะมาเริ่มมีกรอบ นี่ถ้ามีศีลขึ้นมา ศีลเป็นพื้นฐาน แล้วถ้าทำสมาธิขึ้นมามันจะเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าสัมมาสมาธิมันก็เกิดภาวนามยปัญญา
แต่ถ้าเราจะทำจิตใจของเรามั่นคงขึ้นมา แต่ศีลของเราด่างพร้อย พอทำอะไรไปมันเป็นมิจฉาแล้ว พอมิจฉา พอเป็นสมาธิจะทำอะไรก็ได้ จะอีลุ่ยฉุยแฉกอย่างไรก็ได้ มันยิ่งไปใหญ่ไง มันไม่เข้ามาสู่มรรคไง ศีล สมาธิ ปัญญา
ศีลสำคัญ แต่สำคัญโดยที่ว่ามันเป็นบาทฐาน เราได้มากได้น้อยขนาดไหน เราก็พยายามฝึกของเรา ทำของเรา แต่ถ้าคนเขามีกำลังใจ มีหลักใจขึ้นมา เขาทำได้ดีกว่านี้ อย่างที่ว่า ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดยุยง ไม่พูดอะไรทั้งสิ้น ไม่พูดทั้งนั้น เว้นไว้แต่ให้อุบาย ครูบาอาจารย์ที่ท่านฉลาดท่านให้อุบาย
ไม่ใช่ไอ้พวกที่ไม่รู้ไม่ชี้ ทำอะไรมืดแปดด้าน แต่โม้เก่ง ไอ้พวกนั้นมันโกหกตั้งแต่ตัวมันเอง ตัวมันเองยังโกหกเลย แล้วทำไมมันจะไม่โกหกคนอื่น แล้วยังให้ศีลคนอื่นอีกนะ “โยมๆ รับศีลๆ โยมรับศีล”
มึงมีศีลสักตัวหนึ่งไหม จะให้คนอื่นรับศีล ศีลมึงยังไม่มีเลย มึงจะเอาศีลไปให้ใคร ก็มึงยังโกหกมดเท็จกันอยู่นั่น
เราคาดหวัง เห็นไหม แม้แต่โยม โยมยังปวดหัวเลย ถือศีลยังงงๆ ขนาดนี้เลย แล้วเวลาพระมันงงๆ มันโกหกเลย มันโม้ไปเลย แล้วมันให้ศีลเขาไปทั่วเลย ไม่รู้ศีลนั้นมันเป็นศูนย์อย่างที่หลวงตาว่าหรือเปล่า เขาให้ศีลกัน ไอ้นี่มันให้ศูนย์ เพราะตัวมันศูนย์มาตั้งแต่ภายใน แล้วมันจะให้คนอื่นถือศูนย์เหมือนมัน ไม่ได้ถือศีล ถ้าถือศีลต้องถือตั้งแต่เจตนา นี่พูดถึงว่าการรักษาศีล เอวัง