ให้ธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “การเผยแผ่สื่อธรรมะ”
กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ ขอสอบถามเกี่ยวกับการเผยแผ่สื่อธรรมะในปัจจุบันนี้ครับ กรณีที่ทำงานเกี่ยวกับรายการโทรทัศน์ ซึ่งรายการเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมะ ทั้งจากพระไตรปิฎกและของครูบาอาจารย์ แล้วเราทำการขอสปอนเซอร์โฆษณา รายได้ส่วนหนึ่งก็เอาไว้จ่ายเงินเดือนพนักงานและค่าใช้จ่ายต่างๆ ของทีมงาน ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้รายการได้ดำเนินการต่อไปได้ ส่วนที่เป็นกำไรก็เก็บสะสมไว้ทำบุญบ้าง ใช้จ่ายบ้าง
ไม่ทราบว่าในทางธรรมจะถือว่าผิดหรือไม่ครับ เพราะว่ากำไรที่เกิดขึ้นนั้นก็ไม่ได้มอบให้กับพระพุทธศาสนา ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ครับ แล้วเราควรเผยแผ่อย่างไรให้เกิดความสมดุลทั้งทางโลกทางธรรมครับ กราบขอบพระคุณอย่างสูง
ตอบ : นี่ขอคำตอบ การเผยแผ่ธรรมะ เห็นไหม การเผยแผ่ธรรมะโดยสัจธรรม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยนี้ไว้ เพราะอะไร เพราะว่าเวลาคนที่ปฏิบัติ ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่ตามความเป็นจริง
เพราะโดยปกติคนเกิดมามีอวิชชา คนเกิดมามีความทุกข์โดยสัจจะโดยความจริง นี่โดยสัจจะโดยความจริง ความทุกข์มันเผาลนในหัวใจอยู่แล้ว ทั้งๆ ที่เราคิดดี เราปรารถนาดี
พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์พยายามจะสร้างคุณงามความดี สร้างคุณงามความดีไป การสร้างคุณงามความดีนั้น พระโพธิสัตว์สร้างคุณงามความดีมันก็มีมาร มีมารคือฝ่ายตรงข้าม มีฝ่ายโต้แย้ง มีต่างๆ มันมีความทุกข์ทั้งนั้นน่ะ จะทำคุณงามความดีมันมีความทุกข์ มีความทุกข์เกี่ยวเนื่องกันไปตลอด
ฉะนั้น เวลาความทุกข์อยู่ในหัวใจอย่างนั้น แล้วเวลามาประพฤติปฏิบัติ เวลาทำความจริงขึ้นมา ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา จากทุกข์สุดๆ นะ เวลานางพิมพานอนอยู่ เวลาจะออกบวช ไม่กล้าเข้าไปลา เพราะตัดใจจากลูกไม่ได้ กลัวติด มันทุกข์อยู่เต็มหัวใจนั่นน่ะ ทุกข์สุดๆ เลย แล้วไปทำทุกรกิริยา ๖ ปี เวลามันเผชิญกับทุกรกิริยา ความทุกข์อันนั้นมันฝังใจ
แต่พอเรามาปฏิบัติ เวลาปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์ ถึงที่สุดแห่งทุกข์ มันเห็นความต่าง ระหว่างจิตที่มันมีความทุกข์ครอบงำในหัวใจ กับจิตที่พ้นจากกิเลสไป จิตที่พ้นจากกิเลสเป็นธรรมธาตุ เป็นพระอรหันต์
ถ้าเป็นพระอรหันต์ ความปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์ ความปรารถนาอยากให้สาวกสาวกะ อยากให้ผู้ที่ได้ยินได้ฟังให้รู้ธรรมๆ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วทอดธุระเลยล่ะ มันจะสอนได้อย่างไร เขาจะเข้าใจได้อย่างไร
คำว่า “เขาเข้าใจได้อย่างไร” เพราะว่าตัวเองเข้าไปเผชิญ รู้ถึงความหยาบความละเอียด เพราะเวลามันหยาบ เวลามันครอบงำ เรารู้ได้เต็มหัวใจใช่ไหม เวลามันสำรอกมันคายของมัน มันละเอียดขนาดไหนล่ะ แล้วเราจะไปบอกเขา ใครจะมีวุฒิภาวะรู้ได้อย่างไร จนทอดธุระนะ
เราจะให้เห็นความต่างว่าระหว่างโลกกับธรรมมันแตกต่างกันอย่างไรไง เราให้เห็นความต่างว่าเวลาธรรมะจริงๆ แล้วมันเป็นอย่างไร แล้วเวลาความเป็นทางโลกมันเป็นอย่างไร
ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วถึงได้ประทานเอาไว้เอง เห็นไหม การทำทานที่สูงที่สุดคือการให้ธรรมเป็นทาน
ให้ธรรมเป็นทานก็เหมือนในหลวง ในหลวง โครงการราชดำริ ทีแรกยังเริ่มต้นอยู่ก็ไปแจกอาหาร ไปให้เขามีอยู่มีกิน แต่สุดท้ายแล้วนะ ฝึกวิชาชีพเขา การให้ธรรมเป็นทานคือให้อาชีพ ธรรมก็คือปัญญาไง การให้ธรรมเป็นทานๆ คือให้เขารู้ให้เขาเห็น พยายามทำให้เขาหูตาสว่าง นี่การให้ธรรมเป็นทานใช่ไหม
ทีนี้เราบอกการให้ธรรมเป็นทาน เราก็ตีความกัน ให้ธรรมเป็นทานก็ให้ธรรมะ ให้ธรรมะคือให้พระไตรปิฎก พระไตรปิฎกก็พิมพ์เลย พิมพ์พระไตรปิฎกแจก ให้ธรรมเป็นทานหรือเปล่า...เป็น
แต่ในความปรารถนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การให้ธรรมเป็นทาน ต้องการให้เขาบรรลุธรรม ต้องการให้เขารู้ธรรม ถ้าต้องการให้เขารู้ธรรม ทำวิธีการอย่างไรถึงให้เขารู้ธรรม ให้ธรรมเป็นทาน
เวลาเราได้รับแจกหนังสือ เราบวชใหม่ๆ เราได้รับแจกหนังสือต่างๆ เราก็ดีใจทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาเราปฏิบัติไปแล้วเราติดขัด เวลาขึ้นไปหาหลวงตานี่หงายท้อง ตกกุฏิเลยล่ะ ท่านอัดทีเดียวหงายท้องเลย แต่ตัวไม่ได้หงาย นั่งอยู่นั่นแหละ แต่ความรู้สึกเรามันเหมือนหงายท้องเลย โดนเข้าไปคำเดียวหงายหลังเลย เพราะมันไม่มีการโต้แย้งไง เออ! อย่างนี้แบบว่ามันเป็นการได้เสียกันเลย เป็นการเผชิญหน้ากัน ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ กำลังสนทนาธรรมกัน สิ่งนั้นนั่นน่ะให้ธรรมเป็นทาน
ทีนี้คำว่า “ให้ธรรมเป็นทาน” ให้ธรรมเป็นทานประเสริฐที่สุด เพราะอะไร เพราะมันจะทำให้คนที่ติดข้อง คนที่มีความทุกข์มันหลุดพ้นเลยนะ เวลามันกระเทือนในหัวใจ ถ้ามันสว่างโพลง เราปฏิบัติกันแทบเป็นแทบตายนะ ปฏิบัติ อู้ฮู! นั่งสมาธิกันนะ ดูสิ หลวงปู่ตื้อ ๗ วัน ๗ คืน หลวงปู่มั่นท่านทรมานขนาดไหน แต่เวลามันจะรู้นะ ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น แพล็บ! แพล็บ! จบเลยนะ แต่กว่าจะจบนะ อู้ฮู! สร้างกันมานะ สร้างฐานกันมา
ฉะนั้นบอกว่า “ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น ปฏิบัติง่ายๆ แค่ช้างกระดิกหูแป๊บเดียวก็จบ”...จริงหรือ
เวลามรรคสามัคคี เวลามันลงมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้นนะ แต่เราจะได้สถานะอย่างนั้น กว่าเราจะสร้างความพร้อมของใจขึ้นมาได้ขนาดนั้น แสนทุกข์แสนยาก ธรรมะอยู่ฟากตาย ฟากตายคือเราปรับ เหมือนกับทางธุรกิจ เราทำสินค้ามาเกือบตายเลย แต่เวลามันสำเร็จ สำเร็จตรงเก็บสตางค์นั่นน่ะ ก็จ่ายสตางค์มาก็จบ แต่เขาไม่มีสินค้า เขาจะจ่ายสตางค์ไหม
ไม่มีศีล สมาธิ ปัญญา ไม่มีมรรคไม่มีผล ไม่มีการประพฤติปฏิบัติขึ้นไป มันจะเป็นช้างกระดิกหูไหม ช้างกระดิกหูมันก็ช้างในสวนสัตว์ไง มันกระดิกทั้งวันนั่นน่ะ แต่มันก็ยังเป็นช้างอยู่นั่น มันยังไม่เป็นคน มันเป็นคนยังเป็นไม่ได้เลย มันกระดิกหูทุกวันน่ะ
มันเป็นบุคลาธิษฐาน มันเป็นการเปรียบเทียบ มันเป็นการบอกให้เราเห็นภาพ ให้เป็นรูปธรรมให้เรารู้เราเห็น แต่ความจริงมันทุกข์ยากขนาดนั้นน่ะ
นี่พูดถึงว่าให้ธรรมเป็นทานๆ ไง ฉะนั้น ให้ธรรมเป็นทาน สิ่งที่ว่าให้ธรรมเป็นทาน มันให้ธรรมเป็นทานแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ธรรมเป็นทานแบบหลวงตา ครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ให้ธรรมเป็นทาน ท่านพยายามสั่งสอน พยายามทำเป็นตัวอย่าง ท่านพยายามจะคอยบอกคอยเตือนนะ แล้วถ้าใครจิตใจที่เป็นธรรมนะ มันรับได้ไง
หลวงตาท่านพูดนะ อยู่กับหลวงปู่มั่นน่ะ กลัวก็กลัวนะ รักก็รัก ทั้งรัก ทั้งกลัว กลัวมาก เพราะท่านคอยบอกคอยชี้ แล้วความผิดของเรา โอ้โฮ! เหมือนกับเราเป็นนักโทษ ผู้คุมมาคุมนี่กลัวไหม ทำอะไรผิด ท่านรู้หมด
บอกกลัวก็กลัว แต่รัก รักมาก รักมากเพราะอะไร เพราะมันไม่มีใครบอกอย่างนี้ได้ มันไม่มีใครรู้จริง หลวงตาท่านพูดว่า ทั้งรัก ทั้งกลัว รักมาก แต่ก็กลัวมาก นี่เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์เป็นอย่างนั้น
แต่ถ้ามันรับไม่ได้มันก็บอกว่า “โอ้โฮ! ดุ อะไรก็คอยจับผิด อู๋ย! ผิดอะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ได้”
ก็เล็กๆ น้อยๆ มันทำให้เสียคน แล้วเวลาท่านคอยบอก เพียงแต่ว่าเรารับได้ไหม แล้วครูบาอาจารย์ท่านคอยว่าเด็กมันโตขึ้นมาหรือยัง มันจะรับน้ำหนักได้มากน้อยแค่ไหน ท่านก็ค่อยๆ บอกมานั่นแหละ นี่พูดถึงว่าให้ธรรมเป็นทานนะ
ฉะนั้น ย้อนกลับมาที่ปัญหา ปัญหาเขาบอกว่า เขาทำงานเกี่ยวกับรายการโทรทัศน์ ซึ่งเป็นรายการเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมะ ทั้งจากพระไตรปิฎกและจากครูบาอาจารย์ แล้วเราก็ขอสปอนเซอร์โฆษณา
ไอ้นี่เราจะบอกว่า ถ้าเป็นรายการโทรทัศน์ รายการโทรทัศน์เป็นบริษัท ทีนี้บริษัท บริษัทที่เขาทำธุรกิจเขาเป็นเรื่องโลกเลย เขาหาแต่ผลประโยชน์ของเขา
แต่ถ้าบริษัทใดมีธรรมาภิบาล เขาทำสิ่งใดแล้วเพื่อประโยชน์สังคม เพราะเขาได้จากการตลาด ตลาดก็คือมนุษย์ มนุษย์ก็เป็นสังคมขึ้นมา ในเมื่อธุรกิจของเขาอยู่ในตลาด ตลาดนั้นเพื่อประโยชน์กับเขา เขายังมีน้ำใจของเขาตอบแทนสังคม เขามีน้ำใจของเขาตอบแทนสังคม มีธรรมาภิบาล แล้วบริษัทนั้นนะ ดูสิ ผู้ที่ใช้บริการนั้นเขาก็เห็นว่าบริษัทนี้ไม่เอารัดเอาเปรียบ บริษัทนั้นก็ยั่งยืน นี่พูดถึงว่าถ้าบริษัทนั้นที่มีธรรม นี่พูดถึงเขาทำธุรกิจทางโลกนะ
แต่ถ้าเป็นรายการโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับสื่อ ดูสิ รายการโทรทัศน์ รายการที่เขาออกเป็นละครน้ำเน่า เขาทำให้คนน้ำตาไหล ทำให้คนมีความทุกข์ความยาก อันนั้นก็เป็นเรื่องโลกใช่ไหม แต่รายการโทรทัศน์ของเรา เราเกี่ยวกับเรื่องธรรมะ เกี่ยวกับเรื่องพระไตรปิฎก เกี่ยวกับเรื่องให้ประชาชนมีสติมีปัญญาเกี่ยวกับเรื่องความรู้ชีวิต อันนี้ให้ธรรมเป็นทานหรือเปล่า
เราจะบอกว่า ให้ธรรมเป็นทานในทางโลกไง เพราะรายการโทรทัศน์ รายการที่ดีๆ รายการสารคดีสอนให้คนมีสติ สอนให้คนมีปัญญา รายการอย่างนั้นมันก็เพื่อประโยชน์กับสังคม อย่างนั้นถ้าไม่ใช่รายการธรรมะมันก็เหมือนเป็นธรรมะ เพราะเขาให้ปัญญาคน เขาให้ปัญญาคน
แต่รายการไหนเขาให้แต่ความบันเทิง รายการบางรายการ ดูสิ สินค้าพวกแชร์ลูกโซ่ เขาหลอกลวงด้วย หลอกลวงให้คนตื่นไปกับเขา อันนั้นเป็นเรื่องโลกเลย
เวลาประพฤติปฏิบัติ เรานี่นะ เวลาปฏิบัติแล้วเราหลง เราก็เสียเวลาเราแล้ว เราหลง เราหลงด้วย แล้วเราเห็นผิดด้วย แต่เวลาเราหลง เราเห็นผิดแล้ว เราไปสอนให้คนอื่นหลงเห็นผิด โทษมันมากกว่าอีก เพราะตัวของเรา ผิดถูกก็เป็นตัวของเราใช่ไหม แต่เราไปชักนำให้คนอื่นเสียหาย นั่นน่ะบาปกรรม
นี่ก็เหมือนกัน รายการที่เขาไปให้ทางโลกเสียหายใช่ไหม แต่ถ้าเราเป็นรายการโทรทัศน์ แล้วรายการของเราเกี่ยวกับเรื่องธรรมะ เกี่ยวกับเรื่องธรรมะแล้วเกี่ยวกับเรื่องพระไตรปิฎก แต่เวลาเราทำแล้วเราก็ไปหาสปอนเซอร์ เราก็ไปหานะ
อันนั้นเราจะบอกว่า ต้องดูที่มาไง โยมเป็นฆราวาส เป็นทางคฤหัสถ์ ถ้าโยมมีความคิดอย่างนี้ มีความคิดถึง แบบว่ามีสามัญสำนึกว่าถูกผิด อันนี้เราก็ชมเชยแล้วนะ แต่ถ้าทางโลก เราก็ว่าอย่างนี้ให้ธรรมเป็นทานไหม มันก็เป็นเรื่องธุรกิจของโลก เราจะบอกว่า เผยแผ่ธรรมทางโลก
แต่ถ้าเป็นหลวงตา เป็นครูบาอาจารย์ของเราท่านเผยแผ่ทางธรรม ท่านจะไม่ให้มีธุรกิจเข้ามาแอบแฝงเลย มีมากมีน้อย เราหามา หามานี่ เราจะทำเพื่อประโยชน์ เราทำประโยชน์ให้หมดไปเลย ไม่มีการแลกเปลี่ยน ให้คือให้ ให้ด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ ให้คือให้ ไม่มีก็ไม่ต้องให้ เพราะมันไม่มี มีก็ให้ ให้แล้วจบ นี่ให้ธรรมเป็นทานแบบพระ แบบครูบาอาจารย์ของเรา
แต่ตอนนี้มันไปหมดแล้ว ดูสิ เวลาโยมพูด พูดอย่างนี้ ขนาดเขาเป็นโยมนะ เขาบอกเขาทำรายการโทรทัศน์ เวลาเขาไปหาสปอนเซอร์ เขามีการโฆษณาแล้วเขามีรายได้ เขาก็จ่ายลูกน้องต่างๆ เขายังมีความละอายใจ แล้วเวลาพระทำธุรกิจนี่อายเขาไหม เวลาพระที่ทำๆ กันในโลกนี้อายเขาไหม นี่ไง มันอยู่ที่น้ำใจไง ใจของคนมันสูงมันต่ำมันอยู่ตรงนี้ เวลาพระทำธุรกิจนี่อายเขาไหม
เราเคยไปเห็นทีหนึ่งนะ โอ้โฮ! เราช็อกเลยนะ มันโฆษณาไปทางหนังสือพิมพ์ เขาบอกว่าเป็นรายการทำบุญ ทำบุญเสร็จแล้วเขาก็แจกใบอนุโมทนา มันมีต้นขั้วไง ต้นขั้วใบอนุโมทนา เขาเอาไปจับฉลากได้โตโยต้าคันหนึ่ง ทำบุญมันเหมือนกับเล่นหวยเลย เวลาโยมมาทำบุญมันก็มีใบอนุโมทนาใช่ไหม มันก็มีขั้วไง แล้วเขาก็ไปจับที่ขั้ว จับเบอร์ จับเบอร์แล้วแจกโตโยต้า ไอ้อย่างนี้มันก็เท่ากับซื้อบัตรแล้ว นี่พูดถึงพระทำไง
นี่เรายกมาเปรียบเทียบว่าโยมคิดอย่างนี้ เรายังคิดว่าโยมคิดดี โยมคิดดี แม้แต่ว่าเราเป็นบริษัท เพราะเขาบอกว่ารายการโทรทัศน์มันก็เป็นบริษัททางโลกอยู่แล้ว รายการโทรทัศน์เขาทำรายการอะไรก็ได้ รายการเด็กก็ได้ รายการบันเทิงก็ได้ รายการอะไรเขาก็ทำได้ แต่เขามาทำรายการธรรมะ
เออ! เราก็เออ! คิดอย่างนี้เราก็ว่าถ้าโยมคิดได้อย่างนี้ โยมก็ดีแล้วล่ะ ดีประสาโยม แต่ถ้าพูดถึงว่าให้ธรรมเป็นทานๆ จะให้บริสุทธิ์
เพราะเวลาเขาศึกษาไง รายการส่วนหนึ่งมีรายจ่ายให้พนักงาน เสร็จแล้วค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นทีม ตรงนี้มันสำคัญ ตรงที่ว่าเก็บไว้ดำเนินการต่อไป แล้วในทางธรรมล่ะ อย่างนี้ถือว่าผิดหรือไม่ครับ
เพราะรายการโทรทัศน์มันเป็นรายการโลกอยู่แล้ว รายการโลกอยู่แล้ว เราบอกว่าเผยแผ่ทางโลก เพราะเผยแผ่ทางโลก เขาคิดแบบทุนนิยม ทุนนิยมมันต้องมีต้นทุน มีต่างๆ แต่ถ้าเป็นทางพระ ทางพระที่ว่าไม่มีจุดยืน ทางพระที่ว่าอยากจะต่อเนื่อง เขาก็คิดของเขาอย่างนั้น
แต่ถ้าเป็นหลวงตา ท่านไม่คิดอย่างนั้น ท่านมีเท่าไรท่านให้หมด ถ้าให้แล้ว เท่าที่มี จบแล้วคือจบ แล้วถ้ามีอีกก็ให้อีก ถ้าไม่มีก็จบ แต่ทีนี้เพียงแต่คนทำดีอย่างนั้นมันมีประโยชน์นะ
เวลาเราอยู่กับหลวงตาสมัยนั้น สมัยที่หลวงตาท่านพิมพ์หนังสือใหม่ๆ นะ แล้วเวลามีคนที่เขาเห็นดีเห็นงามด้วย เอ่ยชื่อเลยก็ได้ ดอกเตอร์เชาวน์กับคุณหญิงนงเยาว์ เขาบอกว่าให้หลวงตาสั่งพิมพ์ได้ตามสบายใจ สั่งพิมพ์ได้ตามแต่ต้องการปรารถนา แล้วสองคนนั้นเขาเป็นคนจ่ายสตางค์ ฉะนั้น หนังสือที่แจกๆ มา เงินทุนก็เงินทุนของดอกเตอร์เชาวน์กับคุณหญิงนงเยาว์ สุดท้ายแล้วพอหนังสือมันอิ่มเต็มแล้ว ท่านก็สั่งหยุดเอง
แล้วมาตอนหลัง มาตอนโครงการช่วยชาติฯ มันพิมพ์กันด้วยพวกเราเตี้ยอุ้มค่อม คือใครจะพิมพ์ทีก็เรี่ยไรกันทีหนึ่ง กลุ่มใครกลุ่มมัน แล้วเวลากลุ่มใครกลุ่มมันแล้ว แล้วก็ยังเสนอความเห็นของตัว เพราะตัวเองเป็นคนหาทุน ตัวเองก็เอามุมมอง เอาทัศนคติบวกธรรมะเข้าไป ก็เลยไปกันใหญ่ เลยไปกันใหญ่เพราะมันเป็นโลกไปหมดแล้วไง เพราะหลวงตาออกมาช่วยโลก มันก็เลยแจกธรรมะไปในทางโลก
แต่ถ้าเป็นทางธรรมๆ เพราะเขาถามว่า “ไม่ทราบว่าในทางธรรม สิ่งนี้ผิดหรือไม่ครับ”
ในทางธรรม มันอยู่ที่ใจสูงใจต่ำ ถ้าใจมันสูงนะ เรามีการแลกเปลี่ยน เรามีอย่างนี้มันก็เหมือนกับถือศีล ๕ หรือศีล ๘ ถือศีล ๘ ถือพรหมจรรย์ ถือพรหมจรรย์ เขาไม่นอนในที่สูง เขาไม่ใช้เครื่องหอมใช่ไหม เราถือศีล ๘ ถ้าบริสุทธิ์ เขาก็ไม่ใช้กัน ทีนี้พอไม่ใช้กัน มันอยู่ที่นี่ เขาโดนแดด แดดมันเผา โอ้โฮ! เกรียมหมดเลยนะ
เราบอกว่า ยากันแดด เราถือว่าเป็นยาเว้ย ทาได้ ครีมกันแดดทาได้ ไม่ใช่ครีมบำรุงผิว มันเป็นยาป้องกัน ทาได้
เพราะเขาไม่ทาไง เขามานะ ดูสิ อยู่บ้าน อู้ฮู! ประทินผิวกันเต็มที่เลย พอมาที่นี่ อู้ฮู! แดดเปรี้ยงๆ เลย เพราะเดี๋ยวผิดศีล ไม่กล้าทา โอ๋ย! ลอกเป็นแผ่นๆ เลย หน้านี้ลอกเป็นแผ่นๆ เลย
เราเห็นเข้า เราบอกว่า ถ้าเรามีเจตนาที่บริสุทธิ์ กันแดด ครีมกันแดดมันเป็นการประทินผิวหรือมันเป็นกันแดด เห็นไหม จิตใจที่สูง จิตใจที่ต่ำ ถ้าจิตใจที่สูง แม้แต่ศีล ๕ ศีล ๘ คนถือเคร่ง คนถือเคร่งก็ว่า โอ้โฮ! นั่นเคร่งเกินไป ฉะนั้น สิ่งนี้มันเป็นจริตเป็นนิสัยของคน
ฉะนั้นบอกว่า “ถ้าในทางธรรมถือว่าผิดไหม”
ถ้าในทางธรรมแบบโลกที่เราพูดถึงโยม ไม่ผิด
แต่ถ้าในทางธรรมแบบครูบาอาจารย์ที่ใจใสสะอาด ใจที่เป็นธรรม ผิด
ผิดเพราะว่าอะไร ผิดเพราะว่าต้องแลกเปลี่ยนไง ถ้าแลกเปลี่ยน เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแลกเปลี่ยน เราให้อย่างเดียว แล้วแต่เขาจะทำบุญ เพราะอะไร เพราะใจของคนเขาอยาก คนที่เขาใจเป็นธรรมนะ เขาเอาไปเขาไม่สบายใจ เขาก็อยากจะตอบแทน ถ้าอย่างนั้น กรณีนี้มันสุดวิสัย มันต้องให้เขา
เพราะว่าหลวงตาเวลาท่านไปไหนท่านพูดอย่างนี้นะ ที่ท่านพยายามไปไหนมา ท่านไม่ไปเอาอะไรเลย ท่านไปเอาหัวใจคน ฉะนั้น คนที่เขาได้สิ่งของที่เขาพอใจไปแล้ว เขาจะแสดงออกน้ำใจของเขา เราจะไปปิดกั้นเขาได้อย่างไร
เวลาเรา เรายังแสดงน้ำใจเลย แล้วเวลาเขาได้ของเราไป เขาจะแสดงน้ำใจบ้างไม่ได้หรือ ถ้าเขาแสดงน้ำใจ มันก็เป็นเรื่องการแสดงน้ำใจของเขา ถ้าใจเราสะอาดนะ เพราะเราไม่ได้ปรารถนาว่าฉันแสดงน้ำใจ ๒ บาท เธอต้องแสดงน้ำใจกลับมา ๔ บาท แสดงน้ำใจอย่างนี้มันแสดงน้ำใจด้วยเจตนา มันเจตนาเริ่มต้นแสดงน้ำใจไป มันเริ่มต้นแล้ว
แต่ถ้าแสดงน้ำใจทิ้งเหว ทำบุญทิ้งเหวตั้งแต่ต้น แล้วเขาแสดงน้ำใจ มันเป็นเรื่องคุณงามความดีทั้งนั้น เป็นเรื่องความดี ความดีกับความดีมันเข้ากัน อันนี้พูดถึงว่าให้ธรรมเป็นทาน
ให้ธรรมนะ ถ้าว่าทางศาสนาผิดไหม มันก็อยู่ที่ใจสูงใจต่ำ ใจสูงขึ้นมามันทำด้วยหัวใจที่เป็นธรรม มันจะไม่มีสิ่งใดเข้ามาขัดแย้ง แต่ถ้าใจมันไม่เสมอกัน มันเถียงกันไม่จบนะ มันเถียงกันไม่จบ เพียงแต่เป็นวุฒิภาวะคนมาจากต่ำ ถ้าเขาพัฒนาขึ้นมาแล้วเขาเป็นของเขาเอง
เมื่อก่อนเราทำอย่างนี้ พอโตขึ้นมาแล้วเราจะทำดีขึ้น สิ่งที่เราเคยทำมาผิดพลาดไปแล้ว ผิดพลาดไปแล้วก็โอเค ผิดพลาดไปแล้วก็ไม่เอาอดีตมาเหยียบย่ำหัวใจของเรา ผิดพลาดไปแล้วก็วาง
ตอนนั้นยังโง่อยู่ ยังไม่เข้าใจ ก็ได้ทำไปแล้ว แต่ตอนนี้หัวใจเราดีขึ้นมา เราเข้าใจแล้ว เราทำดีขึ้น แล้วถ้ามันดีขึ้นไปอีก ดีขึ้นไปอีก ดีขึ้นไปจนถึงครูบาอาจารย์ของเรานะ
เราจะสรุปตรงนี้เลยล่ะ เวลาครูบาอาจารย์ของเรา ท่านเสียสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม เวลาจะภาวนากัน เวลากิเลสมันหลอก มันหลอกเอาตายนะ หลวงตาท่านเล่าอยู่ มีพระองค์หนึ่งเวลานั่งภาวนาไปแล้วมันเห็นเป็นดวงแก้วเลย ดวงแก้วลอยขึ้นไป ลอยไป ท่านก็เดินตามไป ขนาดลุกเดินแล้วยังไม่ออกจากสมาธิเลย
เดินตามไปนะ ดวงนี้มันลอยสูงขึ้น พระองค์นั้นปีนต้นไม้ขึ้นไปเลยนะ ปีนขึ้นไป ออกกำลังมาก พอไปถึงที่สุดแล้วดวงแก้วนั้นหายแว็บไปเลยล่ะ พอหายแว็บไป ร้องไห้ ลงไม่ได้ คนต้องไปช่วยเอาลงมานะ
ท่านบอกว่าดวงนี้นะ ถ้ามันไปหน้าผา แล้วมันเดินไป มันจะตกไหม
นี่ไง เวลาภาวนาไป เวลาที่ว่าเสียสละชีวิตเพื่อรักษาธรรมๆ เวลามันหลอก เวลามันหลอกให้พระปฏิบัตินี่ถึงตายได้เลยล่ะ เวลามันหลอกนะ เวลามันสร้างภาพขึ้นมา ในวงปฏิบัติจะมีมาก เราเจอพระองค์หนึ่งเขาบอกว่ามันภาวนาไปแล้วนะ เขาบอกว่าถ้าวันไหนเขาเผาตัวตาย วันนั้นเขาจะได้เป็นพระอรหันต์ แล้วเขาก็พยายามจะเผาตัวตายนะ
นี่เรื่องจริงนะ ไม่ได้พูดเล่น มีพระองค์หนึ่ง กิเลสมันหลอกขึ้นมาอย่างไรไม่รู้ มันบอกว่า ถ้าวันไหนมันได้เผา เหมือนเราเอาน้ำมันราดตัวแล้วเผา ถ้าวันไหนเผาตัวตาย จะได้เป็นพระอรหันต์ไปพร้อมกับการตายนั้น แล้วมันก็ทำอย่างนั้นอยู่ ๒ หน ๓ หน แล้วพระเขาก็พยายามจะคอยระวังกัน สุดท้ายเผลอ ก็เผาจนได้จริงๆ ตาย
เสียสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม เวลาภาวนาไป ไอ้คนที่ไม่เคยภาวนาก็ยังไม่รู้อย่างนี้หรอก อยู่ในวงกรรมฐานมันจะรู้ เพราะว่าเรานักปฏิบัติทั้งหมด ทุกคนจะมีอุปสรรคทั้งหมด ทุกคนจะมีกิเลสมันหลอกทั้งหมด แล้วเวลามาคุยกัน มาปรึกษากัน ใครมีสิ่งใดก็จะมาคุยกัน นี่ธมฺมสากจฺฉา ในวงกรรมฐานจะมีเรื่องอย่างนี้มาคุยกัน มาคุยกัน เอ็งมีประสบการณ์อย่างไร มีปัญหาอย่างไรก็จะมาคุยกัน
ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไป เวลาอดอาหาร เวลาต่างๆ มันหลอกให้ถึงกับตายได้เลยล่ะ แล้วถ้าเรามีสติปัญญา หาทางพลิกแพลง มันหลุดพ้นไปได้ แล้วหลุดพ้นไปได้ แล้วพ้นกิเลสไปได้ เห็นไหม
ธรรมะอยู่ฟากตายๆ แม้แต่เสียสละชีวิต พระกรรมฐานที่เขาว่าให้ธรรมเป็นทานๆ แม้แต่ชีวิตเขายังสละกันเลย สละเพื่ออยากได้มรรคได้ผล แล้วนับประสาอะไรกับสิ่งที่ว่าเป็นธุรกิจ ฉะนั้น เป็นธุรกิจแล้ว เห็นแล้วก็ใช้ปัญญาเอา คิดเอาเนาะ
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้าให้ธรรมเป็นทานในทางพระที่เราพูดนี่ แต่ให้ธรรมเป็นโยม เราพูดเองเลยว่า ถ้าเป็นบริษัททางธุรกิจมาตั้งแต่ต้น แล้วเป็นคฤหัสถ์ ถ้ามีอาชีพ เราว่าไม่ผิด เพราะเขาไม่ใช่พระ เขาเป็นโยม แล้วเขาต้องมีอาชีพเลี้ยงชีพเขา นั่นเรื่องของเขา นั่นเรื่องของโลก เพียงแต่เขามาทำรายการทางธรรมะ อันนี้เป็นอย่างนั้นไป
นี่พูดถึงว่าให้ธรรมเป็นทานเนาะ ให้ธรรมเป็นทาน อย่างไรถูก อย่างไรผิด แล้วเราเองเราก็พิจารณาเอา จิตใจใครสูงใครต่ำขนาดไหน มันก็เป็นมุมมอง มุมมองของจิตใจที่สูงส่งก็มุมมองว่า “อืม! หลวงพ่อพูดดี”
ไอ้จิตใจที่มันต่ำ “โอ้โฮ! หลวงพ่อ พูดอย่างนี้แล้วมันอยู่กันได้อย่างไรล่ะ แสดงว่าต้องบวชเป็นพระกันหมดเลยใช่ไหม แล้วเช้าก็มีบาตรใบหนึ่งเที่ยวบิณฑบาต”
นั่นมันอยู่ที่มุมมองของคน มุมมองใครสูงใครต่ำ อันนี้พูดถึงว่าให้ธรรมเป็นทานนะ
ถาม : เรื่อง “ฟังเทศน์หลวงพ่อแล้วซาบซึ้งกินใจและฮึกเหิม”
กราบนมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพยิ่ง กราบขอโอกาสเรียกแทนตัวเองว่าลูกค่ะ ลูกเป็นผู้สนใจใฝ่ปฏิบัติธรรมอยู่ที่ขอนแก่น มีโอกาสได้ทำบุญกับหลวงพ่ออยู่หลายครั้ง ตอนนี้ลูกฟังเทศน์ของหลวงตาพระมหาบัว และฟังเทศน์ของหลวงพ่อเป็นประจำ ควบคู่กับการฝึกปฏิบัติค่ะ แต่ยังปฏิบัติได้ไม่ค่อยต่อเนื่องนัก และยังล้มลุกคลุกคลานอยู่ แต่จะสู้ไม่ถอยค่ะ จะพยายามทำเหตุให้เต็มที่ตามกำลังมีค่ะ (ทางของฆราวาสนั้นคับแคบดังเช่นที่พระพุทธองค์และหลวงพ่อได้กล่าวไว้จริงๆ ค่ะ)
การฟังเทศน์และฟังการตอบปัญหาของหลวงพ่อในระยะหลัง ลูกฟังแล้วมีความเข้าใจมากขึ้น ฟังแล้วซาบซึ้งกินใจ ฟังแล้วฮึกเหิม ฟังแล้วอยากจะปฏิบัติให้ยิ่งขึ้น ฟังแล้วมีความเพียรมากขึ้นค่ะ จึงอยากจะเขียนมาเพื่อกราบขอบพระคุณหลวงพ่อเป็นที่สุด ที่เมตตาสั่งสอนชี้นำทางดำเนินอันถูกต้อง เมตตาต่อลูกหลานผู้สนใจต่ออรรถธรรมและสรรพสัตว์ทั้งหลายอย่างไม่มีประมาณ ลูกขอกราบขอบพระคุณหลวงพ่ออย่างสูงค่ะ และขอนอบน้อมถวายปัจจัยเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชาแก่หลวงพ่อ
ตอบ : เขาบอกว่าเขาได้โอนเงินมาเข้ามูลนิธิ เป็นวันเกิดของพ่อเขา เขาโอนปัจจัยมาให้ แล้วก็กราบขอบพระคุณอย่างสูง
ไอ้นี่เพียงแต่ว่ารายงานผลไง รายงานผลว่าได้ทำบุญกับหลวงพ่อหลายหน ได้ฟังเทศน์บ่อยๆ เข้า ถ้าฟังเทศน์บ่อยๆ เข้า พอฟังแล้วมันมีความเข้าใจมากขึ้น มันก็ดีขึ้น
แต่ถ้าฟังไม่เข้าใจ เห็นไหม เพราะมีผู้ที่มาหาเราเยอะมากนะ ที่มาหานี่แสดงว่าเขาลงใจแล้ว ถ้ายังไม่ลงใจ เขาไม่มาหรอก
เวลาเขาลงใจแล้วเขาจะบอกเลย เขาบอกว่า เมื่อก่อนนะ เขาเป็นพระ เขาบอกว่าเขาอยู่ทางเหนือ ทางวัดนั้นเขาเอาซีดีเราไปเปิดไง เขาคิดในใจเลย “เอ๊! เอามาเปิดได้อย่างไรวะ มันพูดเร็วขนาดนี้ ไม่รู้เรื่อง เอามาเปิดได้อย่างไร” เขาติน่าดูเลย แต่เพราะว่าเขาเป็นพระลูกวัดในวัดนั้น เขาหลีกหนีไม่ได้ เขาก็ต้องทนฟัง เขาต้องทนฟัง แต่เขาตินะ “เฮ้ย! ไปเอาอะไรมาเปิดวะ โอ๋ย! พูดเร็วมาก ไม่รู้เรื่องเลย” นี่เขาพูดเอง แล้วเขาเป็นลูกวัด เขาหนีไม่ได้ เขาต้องทนฟังไป
ฟังไปๆ มันดีขึ้น เอ๊อะ! พูดแปลก ชักดีขึ้น เพราะมันจับประเด็นได้ พูดแปลก ฟังไปๆ ติด พอติด วันที่มา เขาเอามาให้เห็นด้วย เขาก็ไปซื้อของเขา แล้วเขาไปโหลดเอาจากเว็บไซต์ เขาบอกว่าฟังทั้งวันทั้งคืนเลย เขามา เขาก็ทำให้ดู เขาเสียบหูมาด้วย เขาบอกว่าเขาไปเอามาจากเว็บไซต์แล้วเสียบหูไว้เลย แต่เริ่มต้นเวลาฟังทีแรก “มันเอาอะไรมาเปิด”
เราจะบอกว่ากรณีนี้เจอบ่อยมาก เวลาใครมานะ เพราะเราก็เข้าใจ มันเป็นนิสัยของเราไง ถ้าให้พูดช้าๆ เนิบๆ มันไม่ออก พูดช้าๆ เนิบๆ มันเหมือนน้ำไม่ไหล มันขาดๆ ช่วงๆ แต่ถ้าเป็นอย่างนี้พูดได้ ให้ไหลพรืดๆ อย่างนี้พูดได้ แต่ถ้าให้พูดช้าๆ เนิบๆ นะ เสร็จเลย คนพูดก็พูดไม่ได้ มันไม่ต่อเนื่อง ฉะนั้น พอมันต่อเนื่องไป เพราะครูบาอาจารย์ท่านบอกมันเป็นจริตนิสัยของคน ถ้าจริตนิสัยอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ มันก็เป็นอย่างนี้
ฉะนั้น เวลาเขาฟังไปๆ มันได้ประโยชน์แล้วมันฮึกเหิม ถ้ามันฮึกเหิมนะ
ไอ้กรณีนี้มันเป็นกรณีในพระไตรปิฎกนะ ในพระไตรปิฎก หลวงตาท่านพูดบ่อย เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเดินธุดงค์ไป แล้วไปเจอชาวบ้านเขาหาบผลไม้มาไง เขาเดินผ่านพระพุทธเจ้าไปเฉยเลย
พระอนุรุทธะถามว่า ทำไมเขาไม่เคารพพระพุทธเจ้าเลยหรือ
ก็บอกว่า ไม่ใช่ลูกศิษย์เรา
เรานั่งรอกันอยู่นี่ ท่านให้พระอานนท์ปูผ้าไว้เลย รอนี่ รอกิน เดี๋ยวมันมาเอง
แล้วแม่ค้าเขาก็หาบไปนะ หาบไปเจอพระกัสสปะหรือไปเจอพระอะไรจำไม่ได้ เป็นลูกศิษย์ ไปถวายพระกัสสปะ พระกัสสปะต้องเรียกเขากลับมาถวายพระพุทธเจ้า นี่ไง นี่อยู่ในพระไตรปิฎก ในพระไตรปิฎกก็มีอย่างนี้
เราจะบอกว่า คน จริตนิสัยมันชอบ นิสัยมันเข้ากันได้มันก็เข้ากัน ถ้านิสัยเข้ากันไม่ได้ เราพูดขนาดไหนเขาก็ไม่เข้าใจ พูดดีขนาดไหนนะ เขาก็ไม่เข้าใจ แล้วเขาฟังแล้วมันไม่เข้าใจเขา แต่ถ้าเขาถูกจริตนะ เขาเข้าใจของเขา
ฉะนั้น หลวงตาถึงบอกว่าสายบุญสายกรรม
คำว่า “สายบุญสายกรรม” เราทำบุญๆ กัน เราถึงบอกว่าทำบุญกับใคร ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรม เราทำกับครูบาอาจารย์ นี่สายบุญสายกรรม ต่อไปเราจะมีเวรมีกรรมผูกพันกันไป ถ้าเราไปทำบุญกับที่เราพอใจๆ เขาจะอีลุ่ยฉุยแฉกอย่างไร เราก็ไปกับเขา ต่อไปสายบุญสายกรรมมันก็พาเราไปทางนั้นน่ะ พาเราไปทางนั้น ฉะนั้น เวลาทำบุญ เราต้องมีปัญญา เราทำบุญของเรา เราจะทำบุญที่ไหน เราจะทำอย่างไร
มันเป็นสายบุญสายกรรม ถ้าเป็นสายบุญสายกรรมมันจะเป็นอย่างนั้น
ไอ้นี่พูดถึงธรรมะ ธรรมะเวลาฟังแล้ว ถ้าฟังใหม่ๆ มันไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจ แล้วเวลาฟังธรรมๆ นะ เราฟังธรรมหลวงตาตลอด ถ้าอยู่คนเดียว เปิดวิทยุหลวงตาเลย เพราะวิทยุเราอยู่ข้างบน เปิดเลย แล้วฟังเป็นคำๆ บางคำพอฟัง เออ!
ทั้งหมด เอาคำเดียว แล้วพอครั้งต่อไปนะ ฟังม้วนเก่านี่แหละ ฟังเทศน์เก่านี่แหละ มันไปได้ตรงอื่น
แล้วคนก็จะมาถามบ่อยเลย เอาเทศน์หลวงพ่อไปฟัง คราวนี้มันได้ยินตรงนี้ มันกินใจมากเลย แล้วพอมาเปิดซ้ำ ทำไมตรงนั้นมันดีกว่าตรงนี้ ตรงนี้มันดีกว่าตรงนั้นล่ะ
มันเป็นที่ว่าบางคราว กัณฑ์เดียวนั่นแหละ บางทีมันปิ๊งคำนี้ ถ้าได้คำเดียว มันเหมือนกับเราได้ชุ่มชื่นแล้ว มันได้สิ่งที่กระทบแล้ว เอาแค่นี้ ฟังธรรมๆ แค่นี้
เราฟังธรรมๆ ก็ฟังธรรม เหมือนรดน้ำพรวนดินนั่นแหละ ถ้ารดน้ำ ต้นไม้มันได้น้ำได้ปุ๋ยมันจะงอกงาม จิตใจของเรา เวลาคำเทศน์ คุณธรรม ถ้ามันสะเทือนหัวใจนะ อู้ฮู! มันพองหมดเลย เห็นไหม เอาคำเดียว น้ำขันเดียวรดต้นไม้นั่นน่ะ เอาวันละขันพอ แล้วพอต้นไม้มันเติบโตขึ้นมา เดี๋ยวมันขึ้นมา ฟังธรรมๆ ฟังธรรมเพื่อเหตุนี้
เวลาฟังธรรม กำหนดไว้เฉยๆ สิ่งนั้นจะเข้ามากระทบเราเอง แล้วเวลากระทบ มันอยู่ที่ว่าอะไรมันโดนใจ คำนี้มันฝังใจ คำนี้มันสะเทือนใจ มันเป็นประโยชน์ตรงนี้ นี่การฟังธรรม
การฟังนี้สำคัญมาก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ เทวดา อินทร์ พรหมสำเร็จเป็นแสนๆ เวลาเทศนาว่าการทีหนึ่ง ชฎิล ๓ พี่น้อง ๑,๐๐๓ คน เทศน์ทีหนึ่งพระอรหันต์เป็นพันเลย เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ นี่เวลาเทศน์
นี่ก็เหมือนกัน หลวงตาท่านบอกท่านฟังเทศน์หลวงปู่มั่น เวลาเทศน์ไป นิพพานหยิบเอาได้เลย นิพพาน เพราะหลวงปู่มั่นท่านอธิบายเรื่องนิพพาน เราไม่รู้จักนิพพาน แต่หลวงปู่มั่นอธิบาย เพราะใจท่านเป็น ทีนี้ใจท่านเป็น เราก็จินตนาการ หยิบเอาได้เลยนะ
หลวงตาพูดอย่างนี้ เวลาหลวงปู่มั่นเทศน์ โอ้โฮ! นิพพานนี่หยิบจับเอาได้เลย พอหลวงปู่มั่นเทศน์จบ นิพพานก็ปิด ปิดหมดเลย เพราะมันไม่มีคนบอกไม่มีคนชี้นำ เอ็งนึกไม่ออก เอ็งนึกไม่ได้หรอก
แต่เวลาคนเป็นเขาพูด หลวงปู่มั่นท่านพูดถึงมรรคถึงผล พูดถึงวิธีการ โอ้โฮ! หยิบเอาได้เลย แหม! กูก็รู้ สุดยอดๆ พอคนเทศน์จบ ฟ้าปิด ฟ้าปิด มืดเลย
ฟังธรรมๆ ถ้ากรรมฐานฟังธรรม เพราะจิตใจครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมท่านอธิบาย หลวงตาท่านบอกเวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์เหมือนเครื่องบิน มันแท็กซี่แล้วมันขึ้นเลยนะ ตั้งแต่ทำสมาธิ พอทำสมาธิ ปุถุชน กัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เหินขึ้นไปเลยนะ แต่ท่านไม่บอกชื่อ แต่ท่านบอกวิธีการ คนปฏิบัติรู้ คนไม่ปฏิบัติไม่รู้เรื่องหรอก คนไม่ปฏิบัติไม่รู้เรื่องนะ
แต่คนที่ปฏิบัติรู้เลย เทศน์ทีหนึ่งมันก็เหมือนกับเครื่องบินขึ้นหนหนึ่ง ขึ้นเลย จากสนามบินนี่ขึ้นเลย ขึ้นสู่นิพพานเลย แล้วก็จบ แล้วเทศน์ต่อไปก็เป็นอย่างนี้ เพียงแต่ว่าเครื่องบินอะไร คือว่าอุบายวิธีการมันเปลี่ยนแปลงไปตลอด อริยสัจมีหนึ่งเดียว
แต่อุบายวิธีการ อุบายของคน จริตของคน ท่านจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะคนจริตมันไม่เหมือนกัน ความรู้สึกคนไม่เหมือนกัน ไปดูหนังสิ เริ่มต้นตั้งแต่เด็ก โตขึ้นมาแล้ว พระเอก นางเอกก็ได้กัน จบ ทุกเรื่อง
ดูหนัง เริ่มต้นมาแล้ว ตั้งแต่เด็กมาเลย พระเอกนะ กว่าจะโตนะ เสร็จแล้วพอพระเอกกับนางเอกรักกัน แต่งงานกัน จบ ทุกเรื่อง แต่ก็ดูกันมาตั้งแต่กี่สิบปีแล้ว ก็ดูกันอยู่อย่างนี้
อริยสัจ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล เหมือนกัน จบเหมือนกัน แต่คนฟังเป็น คนเป็นด้วยกันนี่จบ แต่คนไม่เป็นฟังแล้วก็ อืม! คราวนี้ดี คราวนี้ไม่ดี คราวนั้นเป็นอย่างนั้น คราวนี้เป็นอย่างนี้
ฉะนั้น เวลาเราอยู่บ้านตาด เวลาหลวงตาท่านเทศน์จบ หลวงตาท่านเป็นพระอรหันต์ หลวงปู่ลีก็เป็นพระอรหันต์ เวลาอยู่ที่บ้านตาด เรานั่งฟังอยู่ด้วย เวลาท่านเทศน์จบนะ เพราะถ้ามีพระที่มีคุณธรรม เราพยายามแอบเก็บหมดแหละ เก็บคุณงามความดีของท่าน
หลวงตาท่านเทศน์จบแล้วท่านจะหันไปหาหลวงปู่ลี “ลีเนาะ ลีเนาะ”
คือที่เราพูดมาคือพระอรหันต์พูด แล้วก็พระอรหันต์ฟัง ถ้ามันผิด มันมีการบกพร่อง หลวงปู่ลีต้องรู้ เพราะหลวงปู่ลีก็เป็นพระอรหันต์ ทั้งๆ ที่หลวงปู่ลีเป็นลูกศิษย์ของหลวงตา
หลวงตาเป็นพระอรหันต์ ฝึกหัดหลวงปู่ลีขึ้นมาจนเป็นพระอรหันต์ แล้วพระอรหันต์เวลาเทศน์ธรรมะ พระอรหันต์ก็ต้องรู้มรรค ๔ ผล ๔ เหมือนกันหมด
เวลาท่านเทศน์จบ ท่านพูดคำนี้ เรานั่งฟังอยู่ แล้วเราเห็นกับตาเลยล่ะ “ลีเนาะ” เทศน์จบนะ “ลีเนาะ ถูกไหม ถูกต้องหรือเปล่า มีอะไรขัดแย้งหรือเปล่า”
แต่คนอื่นฟังจะคิดอย่างไรก็แล้วแต่ แต่เราคิดของเราอย่างนี้ เรานั่งอยู่บนศาลา เวลาท่านเทศน์จบ ท่านถามหลวงปู่ลีเลยนะ “ลีเนาะ ที่ธรรมะนี่เนาะ”
หลวงปู่ลี นิสัยท่าน ท่านก็เงียบเฉยอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่นี่เป็นการยืนยันไง เราก็นั่งฟังอยู่ มันอยู่ที่ว่าคนมีวุฒิภาวะมากน้อยแค่ไหน อยู่ในเหตุการณ์รู้เลยว่าอะไรเกิดขึ้น อะไรไม่เกิดขึ้น คนไม่รู้มันก็ภาชนะคว่ำ ภาชนะมันคว่ำไว้ ไม่รู้เรื่องอะไรหรอก แต่ถ้าภาชนะมันหงายขึ้นมา มันจะรับมันจะรู้ มันจะได้ประโยชน์ทั้งนั้นน่ะ
นี่พูดถึงว่าเวลาฟังธรรมแล้วมันฮึกเหิม ถ้ามันฮึกเหิมนะ มันจับประเด็นได้ ค่อยๆ ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาให้มันเป็นประโยชน์กับเรา
การฟังธรรมๆ เวลาที่เราปฏิบัติอยู่ เวลามันเฉา เวลามันเหงามันหงอย จะเข้าไปหาหลวงตา ไปทำไมรู้ไหม ไปชาร์จไฟ ถ้าภาษาโลกก็ไปให้โดนด่า เข้าไปนี่โดนอยู่แล้ว เข้าไป ทั้งหมัดซ้ายหมัดขวา โอ้โฮ! กลิ้งเลยล่ะ แต่ไปชาร์จไฟ มันตื่นตัว ไม่อย่างนั้นมันเสียหายหมด
เวลาเราอยู่กับท่าน มีปัญหาขึ้นมาต้องให้ท่านคอยให้ธรรม นี่พูดถึงว่าจิตใจคนที่เป็นธรรม สิ่งใดที่ท่านพูดมาเป็นธรรมหมด แต่ถ้าจิตใจไม่เป็นธรรมนะ “จับผิดอีกแล้ว โดนอีกแล้ว ทำไมว่าแต่ฉันคนเดียว ทำไมคนอื่นไม่ว่า”
ก็คนอื่นมันไม่เอาไหน คนอื่นมันทองก้นเบ้า มันไม่มีประโยชน์ พูดไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร แต่ถ้าคนมีประโยชน์ ท่านจะส่งเสริม ท่านจะคอยส่งเสริม ท่านจะคอยบอกคอยแนะ ถ้าพระที่ดีนะ แล้วพระที่ดีได้รับสิ่งนั้นแล้วชี้ขุมทรัพย์ ชี้อริยสัจสัจจะความจริง ท่านจะพอใจมาก แต่ถ้าเราไม่มี เราก็คิดของเราไปอย่างนั้น
นี่พูดถึงให้ธรรม การให้ธรรมเป็นทานเนาะ การให้ธรรมแบบโลกก็อย่างหนึ่ง การให้ธรรมแบบธรรม ทีนี้เวลาพระบวชมาแล้ว ถ้าใจเขายังเป็นโลกอยู่ มันก็แค่สมมุติสงฆ์ แค่ว่าได้สถานะของความเป็นพระ แต่จิตใจเป็นโลกก็ให้ธรรมในประสาโลกๆ
แต่พระหรือครูบาอาจารย์ของเราถ้าจิตใจเป็นธรรม ท่านให้โดยความเป็นธรรมนะ แล้วพอให้โดยความเป็นธรรมๆ เราก็คิดของเราเองไงว่าเราผิดหรือเปล่าๆ
มันอยู่ที่เหตุและปัจจัย ถ้าเหตุและปัจจัย สถานะเราต้องมีการดำรงชีพอย่างนี้ เราก็ทำของเราไป เราถึงบอกว่าเป็นทางโลก
แต่ถ้าเป็นทางธรรม ถ้าทางธรรม เราเสียสละหมด เสียสละแม้แต่อาชีพ เสียสละแม้แต่ครอบครัวมาบวชเป็นพระ แล้วประพฤติปฏิบัติจบเลย ถ้าอย่างนั้นมันถึงจะเป็นธรรม นี่ธรรมแท้ๆ เอวัง