ต้องศึกษา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๘
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “ปฏิบัติ ปริยัติ”
ขอความเมตตาหลวงพ่อสอนแนะนำลูกในการปฏิบัติธรรม ทำสมาธิ คำถามคือ เราจำเป็นต้องอ่านพระไตรปิฎกคู่ไปกับการปฏิบัติหรือไม่
ถ้าลูกไม่รู้เรื่องปริยัติ ไม่เคยอ่านพระไตรปิฎก ไม่ได้ศัพท์บาลี อาศัยอ่านจากหนังสือหลวงพ่อ ฟังเทศน์หลวงพ่อ หลวงตามหาบัว เพียงพอไหมคะ ขอบพระคุณค่ะ
ตอบ : “เพียงพอไหมคะ” นี่พูดถึงว่าโดยหลักการโดยทางโลก โดยทางโลก โลกจะเจริญต้องด้วยปัญญา ทุกอย่างเจริญด้วยปัญญาทั้งหมด ฉะนั้น เวลาการศึกษามีความจำเป็นไหม มีความจำเป็น
มีการศึกษา เพราะคนเรามีการศึกษา เพราะคนเรามีปัญญา มันถึงมีอาชีพ มีปัญญาเอาตัวรอดได้ คนเราจะเอาตัวรอดได้หรือไม่ได้มันอยู่ที่ปัญญาของคน ถ้าปัญญาของคน สิ่งสำคัญที่สุดคือปัญญา ทีนี้ปัญญาทางโลกเขาไม่ได้แบ่งออกเป็นโลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญา
โลกียปัญญา ปัญญาของโลก นี่คือโลกียปัญญา ปัญญาทางวิทยาศาสตร์ ปัญญาทางวิชาชีพ นี่โลกียปัญญา โลกียปัญญาเพราะอะไร เห็นไหม เราคิดว่าโลกก็คือโลกเรานี่
แต่ถ้าเป็นธรรมะนะ โลกคือโลกทัศน์ โลกคือภวาสวะ โลกคือภพ ภพคืออะไร ภพคือหัวใจ ความคิดเกิดจากโลกคือความคิดเกิดจากหัวใจ เกิดจากหัวใจที่มีอวิชชา เกิดจากหัวใจที่มีกิเลส ความคิดอย่างนี้เขาเรียกโลกียปัญญา โลกียปัญญามันเกิดดับ มันเกิดก็ได้ มันดับก็ได้ แล้วมันเกิดแล้วมันอนิจจังด้วย เกิดแล้วมันยังแปรปรวนด้วย ฉะนั้น การศึกษา ถ้าปัญญาทางโลก โลกียปัญญา เขาเรียกว่าปัญญาทางโลก
แล้วโลกุตตรปัญญา ปัญญาจะออกจากโลก ปัญญาจะพ้นจากโลก ปัญญาจะทำลายกิเลส เขาเรียกโลกุตตรปัญญา
ถ้าโลกุตตรปัญญา ปัญญาอย่างนี้มันเกิดจากการภาวนา ปัญญาอย่างนี้ไม่เกิดออกมาจากตำรับตำรา ไม่เกิดออกมาจากใดๆ ทั้งสิ้น ปัญญาอย่างนี้เกิดจากการประพฤติปฏิบัติ ปัญญาอย่างนี้เกิดจากประสบการณ์ ปัญญาอย่างนี้เกิดจากการฝึกหัด ปัญญาอย่างนี้เกิดขึ้นมาถึงเป็นสมบัติส่วนตน
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระอานนท์คร่ำครวญมาก พระอานนท์เป็นพระโสดาบัน อยากให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนตลอดไปไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับไปเป็นธรรมดา แม้แต่ตถาคตก็ต้องตายในคืนนี้”
เวลาเราตายไป เราเอาแต่สมบัติของเราไปเท่านั้น แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตายไปแล้ว เราจะมีครูบาอาจารย์ที่ไหน
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ธรรมและวินัยที่เราได้บัญญัติไว้ดีแล้ว ธรรมและวินัยคือวิชาการที่เราได้บอกไว้ นั่นคือธรรมและวินัยที่เราบอกไว้ๆ วิธีการเราบอกไว้ นั่นน่ะเป็นวิทยาศาสตร์ นั่นเป็นความจริง มันเป็นพุทธศาสน์ มันเป็นการปฏิบัติขึ้นมาให้มันรู้แจ้ง ถ้าธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเธอ ถ้าเธอปฏิบัติไป เห็นไหม
ฉะนั้น พอปฏิบัติไป พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ครูบาอาจารย์ต่างๆ ท่านเป็นพระอรหันต์ เวลาพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะมาลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ให้เห็นสมควรแก่เวลาของเธอเถิด” คือให้สมควร คือว่าให้เป็นเรื่องส่วนตัว
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานไป เวลาครูบาอาจารย์นิพพานไป เอาสมบัติของส่วนตัวไป ไม่ได้เอาของใครไปเลย นี่ภาวนามยปัญญามันเกิดอย่างนั้น
ฉะนั้น สิ่งที่เวลาว่าเราจะต้องศึกษาไหม ต้องอ่านพระไตรปิฎกไหม ต้องศึกษาไหม
ถ้าต้องศึกษาไหม ต้อง ต้องศึกษา เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเป็นศาสดาๆ ธรรมและวินัยจะเป็นศาสดาของเธอ ธรรมและวินัย เห็นไหม เวลาหลวงตาท่านพูด เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไปแล้วแสดงธรรม
คนก็ถามมาใหญ่เลย เออ! เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไป ทำอย่างไร อะไรถึงเรียกเหยียบหัวพระพุทธเจ้าไป
เหยียบหัวพระพุทธเจ้าก็อาบัติไง ลบหลู่ไง ไม่เชื่อฟังไง ไม่น้อมใจลงเชื่อไง ไม่น้อมใจลงเชื่อธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือทำตัวเองเน่าใน แล้วก็แสดงธรรม นี่ทำตัวเอง หลวงตาถึงใช้คำว่า “เหยียบหัวพระพุทธเจ้า” คือเหยียบธรรมและวินัย แล้วแสดงธรรม
นี่ไง คนถามบอกอะไรคือเหยียบหัวพระพุทธเจ้า อะไรคือเหยียบหัวพระพุทธเจ้า เหยียบหัวพระพุทธเจ้าได้อย่างไร พระพุทธเจ้านิพพานไปตั้ง ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว ไม่เจอกัน แล้วจะไปเหยียบหัวได้อย่างไร
ก็ธรรมและวินัยนี่ไง นี่คือตัวแทนศาสดาไง ถ้าเราทำตัวเน่าใน ทำตัวผิดพลาด แล้วก็แสดงธรรมๆ ถ้าแสดงธรรม
นี่ว่าเราต้องศึกษาพระไตรปิฎกไหม
ต้อง ต้องศึกษาพระไตรปิฎก เพราะการศึกษา การศึกษาเป็นภาคปริยัติ เวลาสังคมนะ ศาสนาจะมั่นคง มั่นคงเพราะการศึกษา ศึกษาเพราะอะไร ศึกษาแล้วมันทำให้คนรู้ทางวิชาการ ถ้าคนรู้ทางวิชาการ เวลามองหน้ากันมันก็รู้ว่า เอ็งก็รู้ ข้าก็รู้ ศึกษามาด้วยกันน่ะ อ้าว! พระไตรปิฎกก็เรียนมาด้วยกัน เรียนมาด้วยกัน เจอหน้ากันก็รู้ว่าเรียนมาด้วยกัน แล้วเอ็งทำผิดหรือเปล่า ทำผิดหรือเปล่าล่ะ
ทำผิดโดยที่เขาทำผิดโดยความพลั้งเผลอ ทำผิดโดยที่ว่าเขาทนกิเลสของเขาไม่ได้ หนึ่ง ทำผิดเพราะว่าเขาทำตัวเองเขาไม่ได้ หนึ่ง ฉะนั้น เวลาเขาทำผิด ศึกษามาเป็นความรู้เพื่อความมั่นคง
เขาบอกว่า เถรวาทเราที่การศึกษามา ศาสนาสืบต่อมาเพราะมีความรู้ มีการศึกษามา
มันก็ใช่ ฉะนั้น เวลาใช่ มันถูกต้องอยู่แล้วแหละ ฉะนั้น เวลาที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่งนะ กึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง
กึ่งพุทธกาล แล้วมันเจริญที่ไหนล่ะ
เราก็ว่าเจริญในภาคปริยัติใช่ไหม ถ้าเจริญ ภาคปริยัติ พอศึกษามาแล้วมันก็ยังสงสัยอยู่ใช่ไหม ศึกษามาขนาดไหนก็สงสัย
แต่เวลามาภาคปฏิบัติสิ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านแก้ความสงสัยของท่าน ท่านแก้ความสงสัยของท่านในใจของท่าน ท่านก็ใช้ เพราะอะไร เพราะหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น กึ่งพุทธกาลมันมีตำราอยู่แล้ว แต่ศึกษามามันก็ยังงงๆ อยู่ ยังไม่เข้าใจอยู่ ยังงงๆ อยู่ ถึงไปปรึกษากับเจ้าคุณอุบาลีฯ เจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านชำนาญในทางปริยัติมาก เพราะท่านเป็นคนวางรากฐานการศึกษาในเมืองไทยเลย
ฉะนั้น เวลาภาคปริยัติเริ่มต้น เริ่มต้นภาคปริยัติ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติท่านยังสงสัย ท่านยังไม่ลงใจ เวลาปฏิบัติไปแล้ว ความรู้ความเห็นของตัวมันยังมีกิเลสอยู่ มันมีกิเลสอยู่ มันมีความสงสัยอยู่ ปฏิบัติไปแล้วมันเห็นอะไร เห็นนิมิต เห็นความเป็นไป เห็นแล้วมันก็แก้กิเลสไม่ได้ เห็นแล้วมันก็ยังชำระล้างอะไรไม่ได้ ก็มาปรึกษาเจ้าคุณอุบาลีฯ เจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านทางวิชาการ ถ้าทางวิชาการ พยายามหาช่องทางให้ได้ๆ
เราปฏิบัติแล้ว ในประสบการณ์ แล้วก็มาเทียบทางธรรมวินัย เทียบทางทฤษฎี เทียบแล้วกลับไปปฏิบัติ เทียบแล้ว เห็นไหม คำว่า “เทียบ” คือกำลังแสวงหา กำลังค้นหา
แต่เวลาปฏิบัติคือการทดสอบ การทดสอบ ทดสอบๆ ทดสอบจนหลวงปู่มั่นท่านผ่านไปๆ สุดท้ายหลวงปู่มั่นท่านมาแก้เจ้าคุณอุบาลีฯ
เริ่มต้นปริยัติ ปริยัตินี่พื้นฐาน เราปฏิบัติไปแล้วเราไปไม่ได้ เราไปไม่ได้ เราก็มี จะไปเปิดตู้พระไตรปิฎก มันก็เข้าข้างตัวเอง “โอ๋ย! เหมือนกันเลย เหมือนกันๆ” มันจะเข้าข้างตัวเองตลอดไป
แต่ไปเจอเจ้าคุณอุบาลีฯ ใช่ไหม เจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านเป็นนักปราชญ์ เพราะนักปราชญ์มันมีแง่มุม เวลาสนทนาธรรมมันมีแง่มุม มันมีสิ่งใดที่พยายามกระตุก กระทุ้งให้ได้คิด แล้วได้คิด เอ๊อะ! ได้คิด แต่ไม่ใช่ธรรม
หลวงปู่มั่นท่านก็กลับเข้าป่าไป กลับเข้าป่าไปปฏิบัติของท่าน ไปค้นคว้าของท่าน จากที่เวลาตัวเองไปเจอ มันไปไม่ได้เลย ไปไม่ได้เลย ปัญญาของตัวเองขนาดไหน พยายามสร้างมาขนาดไหน พยายามปฏิบัติ แต่มันก็ยังทะลุไปไม่ได้ ทะลุไปไม่ได้ก็กลับมาปรึกษา กลับมาขอธรรมะจากเจ้าคุณอุบาลีฯ
เจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านก็ให้แง่มุม เพราะนักปราชญ์กับนักปราชญ์ด้วยกัน พอมันได้ช่อง ได้ช่องก็กลับไปปฏิบัติต่อ ไปปฏิบัติต่อ พอมันผ่านเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ผ่านเลยนะ พอผ่านขึ้นไป
นักปราชญ์ นักวิชาการก็ศึกษาอยู่ เขามีความรู้ไหม ลูกศิษย์มาถาม ถามนี่ตอบเขาได้ ตอบเขาได้ ตอบอะไร ตอบด้วยประสบการณ์ ด้วยการค้นคว้าในการศึกษาในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เราก็ยังงงอยู่
ทีนี้เวลาพองงอยู่ พอเรางงอยู่ เรายังสงสัยอยู่ สงสัยอยู่ แต่ตอบได้ ตอบได้เพราะอะไร เพราะแง่มุม เพราะเชาวน์ปัญญา เชาวน์ปัญญานี่ตอบไป พอตอบไป หลวงปู่มั่นท่านฟังแล้วท่านได้คิด ท่านเข้าป่าของท่านไป ท่านไปค้นคว้าของท่าน พอค้นคว้าของท่าน ท่านว่ามันทะลุไป ทะลุไป
เวลาทะลุไป กลับมา กลับมา เวลามาคุยธรรมะ มาคุยธรรมะ เราก็ศึกษามา เราก็สงสัย แต่เราตอบได้ด้วยเชาวน์ปัญญา แต่เวลาเจ้าคุณอุบาลีฯ แก้หลวงปู่มั่น เวลาแก้หลวงปู่มั่น เวลาแก้ แก้ด้วยเชาวน์ปัญญา เชาวน์ปัญญาจากการศึกษาจากพระไตรปิฎก
เวลาหลวงปู่มั่นท่านไปประพฤติปฏิบัติของท่าน ท่านได้ประสบความสำเร็จของท่าน ท่านกลับมาคุยธรรมะกัน เวลาท่านแสดงธรรมมา เจ้าคุณอุบาลีฯ ชักงงแล้วล่ะ อ้าว! กลับงงนะ “อ้าว! ทำไมมันมีแง่มุมอย่างนั้นออกไปได้อย่างไร” เพราะงงอย่างนั้นไงถึงได้ยอม
เวลาหลวงปู่มั่นท่านให้อุบายอะไร อุบาย เห็นไหม เราบอกว่า จิตใจที่สูงกว่า เชาวน์ปัญญาที่ดีกว่า มันจะชักนำขึ้นมาได้ พอชักนำขึ้นมาได้ ก็มาแก้เจ้าคุณอุบาลีฯ
นี่พูดถึงว่า ในพระไตรปิฎกนะ ต้องศึกษาไหม
ศึกษา ศึกษามันก็เป็นปริยัติ
ทีนี้ว่า “ต้องอ่านพระไตรปิฎกคู่กับการปฏิบัติไปหรือไม่”
เวลาปฏิบัติไป เวลาอ่านพระไตรปิฎกแล้วพร้อมกับค้นคว้าพระไตรปิฎก มันจะเป็นประเด็น มันจะเป็นประเด็นเพราะอะไร
ดูอย่างเช่นหลวงปู่มั่น เวลาหลวงตาท่านศึกษาจนจบมหา แล้วท่านจะไปปฏิบัติใช่ไหม ท่านก็ยังสงสัยว่ามันจะมีจริงหรือเปล่า ทั้งๆ ที่ว่าตั้งใจจริง สร้างอำนาจวาสนามามาก เพราะคนมีปัญญามาก มันก็ค้นคว้ามาก เพราะคนมีปัญญามาก มันก็ต้องให้ละเอียดรอบคอบ เพราะคนมีปัญญามาก มันก็เลยยิ่งระแวงมาก ก็เลยว่า ถ้ามีใครชี้ได้ว่ามรรคผลนิพพานมีอยู่จริง จะมอบชีวิตให้กับองค์นั้นเลย
พอไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นอธิบายเลย นิพพานมันคืออะไร นิพพานอยู่ที่ไหน นิพพานไม่ได้อยู่ในกระดาษ นิพพานไม่ได้อยู่ในพระไตรปิฎก นิพพานไม่ได้อยู่ที่ไหนทั้งสิ้น นิพพานอยู่ในหัวใจของคน
เพราะท่านค้นคว้ามาหมดแล้ว พอหลวงปู่มั่นแก้ปั๊บ ลงเลย พอลงก็เลยปฏิบัติ ทีนี้เวลาจะปฏิบัตินะ หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า “มหา การศึกษานะ เราศึกษาพระไตรปิฎกมาจนได้เป็นมหา ต้องศึกษาไหม ต้อง แต่ถ้าเวลาจะปฏิบัตินะ เวลาจะปฏิบัติไปพร้อมกัน มันจะเตะมันจะถีบกัน” คือมันจะขัดแย้งกัน ขัดแย้งกันคือเรารู้โจทย์ก่อน เราศึกษามาแล้วเราจะสร้างภาพ ทีนี้พอสร้างภาพไป เวลาปฏิบัติไปมันจวนเจียนเข้าด้ายเข้าเข็ม มันจะสร้างภาพให้เราไขว้เขว ตรงนี้สำคัญมาก
หลวงปู่มั่นท่านถึงบอกว่า การศึกษามา เราศึกษามาใช่ไหม ศึกษามา จบมาแล้ว เพราะได้ใบประกาศมาแล้ว สอบผ่านแล้ว ท่านบอกว่า การศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ใส่ลิ้นชักไว้ แล้วลั่นกุญแจไว้ด้วยนะ อย่าให้มันอออกมา คืออย่าเอาความคิดเดิมออกมา ที่เราศึกษามาแล้วอย่าเอาออกมา วางไว้ก่อน แล้วให้ประพฤติปฏิบัติไป แล้วถ้าปฏิบัติไป เพราะมันเป็นจริง มันจะเป็นอันเดียวกัน มันจะเป็นจริง
ดูสิ เวลาท่านสงสัย ท่านไปปรึกษาเจ้าคุณอุบาลีฯ แล้วท่านก็ไปปฏิบัติ ท่านไปปรึกษาเจ้าคุณอุบาลีฯ แล้วท่านก็เข้าไปปฏิบัติ สงสัย เข้ามากรุงเทพฯ เข้ามาค้นคว้ากับเจ้าคุณอุบาลีฯ ค้นคว้าเสร็จ เข้าป่าไป ไปอยู่ในป่า งง อั้นตู้ ตัน กลับมา เข้ากรุงเทพฯ มาหาเจ้าคุณอุบาลีฯ ค้นคว้า โต้เถียง โต้แย้ง สรุปให้ได้ สรุปเสร็จแล้ว ไม่จบหรอก สรุปเสร็จทางวิชาการ สรุปเสร็จคือเราตกลงโครงการกันได้ แต่เอ็งยังไม่ได้ทำอะไรเลย สรุปเสร็จ เข้าป่าไป ไปทำโครงการให้เกิดขึ้นให้ได้
เราจะบอกว่า ประสบการณ์ของท่านมี ท่านถึงเอาประสบการณ์ของท่านมาสอนหลวงตา บอกว่า ถ้าปฏิบัติไปพร้อมกันนะ นี่เพราะท่านไม่ได้เรียนมา ท่านปฏิบัติของท่าน แต่ท่านมาปรึกษาเจ้าคุณอุบาลีฯ
แต่ถ้าหลวงตา ถ้าเราศึกษามา ๙ ประโยค ๑๐ ประโยค แล้วเราปฏิบัตินะ จินตนาการทั้งนั้นน่ะ สร้างภาพทั้งนั้น นิพพานอยู่แค่เอื้อม...เอ็งนั่งไปเถอะ นิพพานมันลอยมาสวมให้เลย มงกุฎสวมมับ! เสร็จ เพราะมันรู้หมดแล้ว หลอกหมด กิเลสหลอกหมด
ท่านถึงบอกว่าให้วางไว้ แล้วใส่ลิ้นชักไว้ ลั่นกุญแจไว้ด้วยนะ แล้วปฏิบัติไป ถ้าไม่อย่างนั้นมันจะเตะมันจะถีบ คือมันจะสร้างภาพ มันจะสร้างจินตนาการ
แล้วอีกอย่างหนึ่ง มันสำคัญ ตรงนี้สำคัญมาก สำคัญที่ว่า เราสร้างจินตนาการ เราก็ไม่รู้ว่าเราสร้างจินตนาการ คนจะรู้ว่าสร้างจินตนาการต่อเมื่อคนเคยผ่านมันมา คนเคยประสบการณ์อันนั้นถึงจะรู้ แล้วคนจะรู้คือหลวงปู่มั่น
แล้วคนที่ไม่รู้นะ เราไปอยู่กับคนที่ไม่รู้ เรียบร้อย สังคมนั้นชักกันอยู่อย่างนั้นน่ะ เป็นนิพพานเฉพาะกลุ่ม กลุ่มนั้นก็มีนิพพานอยู่อย่างนั้นน่ะ เขาสร้างนิพพานของเขาขึ้นมา แล้วก็นิพพานของเขาอยู่อย่างนั้นน่ะ วนอยู่ในกลุ่มนั้นแหละ แล้วถ้ากลุ่มนั้นตายหมดแล้ว นิพพานนั้นก็จะหายไป ถ้ากลุ่มนี้ยังอยู่ ก็นิพพานยังอยู่อย่างนั้นน่ะ เพราะนิพพานสร้างขึ้น นิพพานกลุ่มของเขา ถ้าเข้าไปเจอกลุ่มนั้น
นี่พูดถึงว่า ต้องอ่านพระไตรปิฎกไหม หรืออ่านควบคู่ไปกับการปฏิบัติ
ต้องอ่านพระไตรปิฎก ต้องค้นคว้า ต้องศึกษาให้มีปัญญา แต่พออ่านเสร็จแล้ว เวลาจะปฏิบัติต้องลั่นกุญแจมันไว้นะ ลั่นไว้เลย แล้วปฏิบัติให้ขึ้นมาตามความเป็นจริง แล้วถ้ามันเป็นขึ้นมาตามความเป็นจริงนะ มันแตกต่าง ในภาคปฏิบัติในปัจจุบันนี้มาถึงก็ว่างๆ ว่างๆ นี่เพราะอะไร เพราะรู้แล้ว ความว่างเป็นความสุข ความว่างเป็นสิ่งที่เราปรารถนา เราก็พยายามจะสร้างภาพความว่างกันขึ้นมา แต่ไม่เป็นความจริง แต่ถ้าเราวางไว้ก่อน แล้วเราไปพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ แค่ปัญญาอบรมสมาธินี่งงแล้ว
ปัญญาอบรมสมาธินะ เราใช้ปัญญาไล่ความคิดเราไป เวลาความคิดเกิดขึ้น ตั้งสติตามความคิดไปเลย ความคิดคืออะไร ความคิดมาจากไหน ถ้าสติมันทันนะ มันหยุดเลย ถ้ายังไม่ทันนะ ความคิดมันแฉลบไป คือมันคิดเรื่องอื่นต่อ เรายังตามมันไป มันจะตามไปเลย เพราะความคิดมันเกิด นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ
ถ้ามันหยุดปั๊บ เอ๊อะ! ก็เหมือนเราไล่จับขโมย พอเราจับได้ เรากอดอยู่กับขโมย กับเราวิ่งตามขโมย มันต่างกันไหม ทีนี้พอมันหยุดปั๊บ เอ๊อะ! นี่คือสมาธิ
คือสมาธิมันไม่เหมือนในตำราหรอก ในตำราเขียนอย่างหนึ่ง ถ้าไปเจอความจริงอย่างหนึ่ง แล้วถ้าพุทโธๆๆ ละเอียดเข้ามาๆ ถ้ามันเป็นสมาธินะ โอ้โฮ!
ถ้าคนได้สมาธินะ คนคนนั้นจะมีสำนึกตัวดีขึ้นเยอะมาก เพราะอะไรรู้ไหม เพราะสิ่งที่มีค่าที่สุด เราไม่เคยเห็นสมบัติที่มีค่าขนาดนี้ แล้วพอเราไปเห็นสมบัติที่มีค่า คือเราไปเห็นใจของเราเองไง เห็นสมาธิคือเห็นจิตเดิมแท้ สมาธิคือตัวตนของเรา สมาธิคือตัวตน เขาเรียกสมาธิคือสารตั้งต้น สมาธิคือสารตั้งต้นของจิต เราจะไปเห็นสารตั้งต้นของจิตเลยล่ะ เอ๊อะ!
กับที่ว่าว่างๆ ว่างๆ เราไม่รู้ว่าสารตั้งต้นมาอย่างไร เราไม่รู้ว่ามันมาอย่างไร แต่กูว่าง กูว่างๆ ว่างๆ เดี๋ยวนี้นะ ทำสมาธิยังทำกันไม่เป็นเลย ถ้าทำสมาธิไม่เป็น มันจะมีศีล มีสมาธิ มีปัญญาได้อย่างไร
ถ้ามีสมาธิ ตัวสมาธิเป็นตัวพื้นฐานที่จะให้เกิดภาวนามยปัญญา ตัวสมาธิมันจะเกิดโลกุตตรปัญญา
ไม่มีสมาธิ มันจะเกิดปัญญาวิทยาศาสตร์ ปัญญาตัวตนไง อีโก้ ถ้าไม่มีสมาธิจะเป็นอีโก้หมด ตัวตนของเรา ตัวสมาธินี่แหละ แล้วถ้าเป็นสมาธิแล้วมันขึ้นปัญญาไม่เป็นหรอก ไม่เป็น
สารตั้งต้น คำว่า “สารตั้งต้น” มันยังไม่ได้ทำ สารตั้งต้นนี้เป็นตัวเหตุ แล้วเราจะทำอย่างไรให้เป็นสมาธิ นี่ครูบาอาจารย์สำคัญตรงนี้ นี่พูดถึงภาคปฏิบัตินะ
เขาบอกว่า จะต้องอ่านพระไตรปิฎกคู่กับการปฏิบัติไปหรือไม่ ต้องศึกษาไหม
ต้อง แล้วเวลามาปฏิบัติ นี่ก็คือการศึกษาในภาคปฏิบัติ การศึกษาในภาควิชาการนั้นเป็นเรื่องหนึ่งทางทฤษฎี การศึกษาต้องศึกษาไหม ต้อง ถ้าไม่ศึกษานะ เราจะเอาอะไรเป็นพื้นฐาน เวลาปฏิบัติไป ศีล สมาธิ คืออะไร ถ้าศีล สมาธิ เวลาปฏิบัติไปแล้ว นี่เป็นภาคทฤษฎี
ฉะนั้น เวลาเราไปตรวจงานใช่ไหม เวลาเขาทำงาน ทำงานขึ้นมาแล้ว ทำงานขึ้นมา ศีล สมาธิ เป็นอย่างไร เวลาถ้ามันเป็นตัวจริงปั๊บ คิดดูสิ งานนั้นเป็นเนื้องานเนื้อจริง ถ้าเราไปมองเนื้องานนั้นโดยทางทฤษฎี มันจะเห็นสมบูรณ์ไหม ทฤษฎีเรายังไม่เห็นเนื้องาน พอเรามีทฤษฎีแล้วไปเห็นเนื้องาน โอ้โฮ! มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ มันเข้ากันหมดเลย
แต่ถ้าเราศึกษาๆ ได้ทฤษฎีหมดเลย แล้วก็จะไปจี้เขา ต้องทำอย่างนี้ๆ ไอ้คนทำงานมันปวดหัวตายห่า ไอ้คนทำงาน หน้างาน การทำงาน คนทำงานเป็น เขาเรียกคนทำงานเป็นกับคนทำงานไม่เป็น
คนทำงานเป็น งานของเขา เทคนิค ถ้ามันมีเทคนิคทำให้งานมันจบ แต่มันก็เป็นงาน มันมีเทคนิคของมัน แต่ถ้าเราบอกว่าต้องอย่างนี้ๆ เหมือนคนทำงานไม่เป็น คนทำงานไม่เป็นนะ มันเอาสีข้างถูไปเรื่อย จะให้งานเสร็จ มันไม่เสร็จหรอก
ปริยัติ ปฏิบัติ ทีนี้เวลาปฏิบัติขึ้นมา เราปฏิบัติขึ้นมาให้เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริง เห็นไหม ต้องศึกษาไหม ต้อง ศึกษาแล้ววางไว้
เขาบอกว่า เขาต้องเรียนพระไตรปิฎกคู่กับการปฏิบัติไปด้วยหรือไม่ ต้องเรียนพระไตรปิฎกไหม
ต้อง แต่เวลาปฏิบัติ วางไว้ ตรงนี้สำคัญมาก สำคัญที่ว่า ถ้าปฏิบัติแล้วมันต้องมีครูบาอาจารย์ด้วย ถ้าครูบาอาจารย์เป็นนะ จะแก้เรื่องอย่างนี้ได้
“ถ้าลูกไม่รู้เรื่องปริยัติ ไม่เคยอ่านพระไตรปิฎก ไม่ได้ศัพท์บาลี แต่อ่านหนังสือหลวงพ่อ หนังสือหลวงตา เพียงพอไหมคะ”
มันเกินพอด้วย มันไม่ใช่เพียงพอหรอก มันล้น มันล้นไป
ภาคปฏิบัตินี่นะ ภาคปฏิบัติ เวลาปฏิบัตินั่นคือประสบการณ์ เราจะบอกว่า ส่วนใหญ่เราพูดถึงครูบาอาจารย์นะ เราจะบอกว่าคนปฏิบัติจริง ถ้าคนรู้จริงเหมือนคนจบปริญญาเอก คนจบปริญญาเอกต้องมีวิทยานิพนธ์ แล้วเขาจะดูวิทยานิพนธ์ของแต่ละคน คนที่จบปริญญาเอกนะ แล้วถ้าใครเขียนวิทยานิพนธ์ไว้ที่ว่ามีคุณค่ามาก วิทยานิพนธ์นั้น ทางรัฐบาล ทางโลก เขาจะเอาวิทยานิพนธ์มาขยายความเพื่อความเจริญของโลก
คนที่ปฏิบัติได้จริงมันจะมีวิทยานิพนธ์ทุกคนเหมือนคนจบปริญญาเอก แต่วิทยานิพนธ์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะวิทยานิพนธ์บางคนเขียนเพื่อแค่จบ บางคนเขียนแล้วเป็นประโยชน์ บางคนเขียนแล้วเป็นสิ่งที่โลกนี้ทึ่งมากเลยว่าทำไมเขียนวิทยานิพนธ์ได้ขนาดนี้ เอาความรู้มาจากไหน ทำไมเขียนออกมาได้ขนาดนี้ แล้วเขาจะเอาวิทยานิพนธ์นั้นมาขยายความเพื่อความเจริญของโลก
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าภาคปฏิบัติ อย่างเช่นประวัติหลวงปู่มั่น ประวัติของครูบาอาจารย์เรา นั่นน่ะวิทยานิพนธ์ของท่าน เวลาคนที่จะมาสอนก็สอนจากประสบการณ์อันนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ก็เทศน์มาจากใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะเทศน์ก็เทศน์ออกมาจากใจของพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านก็เทศน์ออกมาจากใจของท่าน ครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงท่านจะมีวิทยานิพนธ์ แล้ววิทยานิพนธ์นี้ซ้อนกันไม่ได้ เหมือนกันไม่ได้ ถ้าเหมือนกันคือผิด
แต่ของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ของท่านไม่เหมือนกัน เพราะหลวงตาท่านเป็นผู้ที่มีบารมีมาก ท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น แล้วเวลาลูกศิษย์แต่ละองค์ไปหาหลวงปู่มั่น หลวงตาท่านนั่งอยู่ด้วย วิทยานิพนธ์ของใคร หลวงตารู้หมด เพราะได้อยู่ร่วมตรวจวิทยานิพนธ์นั้นด้วย ได้ร่วมฟังด้วย ฉะนั้น ใครมาโกหก ใครมาทำอย่างไร จะรู้เลยว่าอันนั้นไปลักวิทยานิพนธ์ของใครมา
อันนี้มันก็เข้ากับว่า ต้องอ่านพระไตรปิฎกไหม ต้องอ่านพระไตรปิฎกคู่กับการปฏิบัติไปหรือไม่
นี่เหมือนกัน วิทยานิพนธ์ของครูบาอาจารย์ก็เป็นของครูบาอาจารย์ เราได้ยินมาเป็นคติธรรม ได้ยินมาเป็นแนวทาง แต่เวลาปฏิบัติต้องเป็นของเรา จะไปซ้อนไม่ได้ มันก็เหมือนกับทางวิชาการหรือทางศิลปะเขาบอกว่าได้อิทธิพลมาจากใคร เวลาไปดูภาพ ไปดูสิ่งที่เขาทำ แล้วเรามาสร้าง เราก็อปปี้เขามาไง แต่ถ้าเราไม่ก็อปปี้ เราพยายามทำเอง แต่มันก็ได้อิทธิพลมา
คำว่า “ได้อิทธิพลมา” ก็คือการฟังไง การฟัง การรู้ การศึกษา เราได้อิทธิพลมา ถ้าได้อิทธิพลมา มันยังมีของเขา มันยังไม่จริงของเรา ต้องซ้ำๆๆ จนกว่าเราจะทำของเราขึ้นมาโดยผลงานของเรา
มันได้อิทธิพลมา ใช่ เราได้อิทธิพลมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษาพระไตรปิฎก อิทธิพลพระพุทธเจ้าทั้งนั้นน่ะ แล้วเราพยายามทำของเราขึ้นมาให้เป็นของเราให้ได้ แต่ถ้าเราไปศึกษาแล้วเราปฏิบัติคู่ไปด้วยนะ มันก็อปปี้ไปจนตาย ปั้นได้แต่พระพุทธรูป ปั้นได้แต่พระพุทธเจ้า ปั้นรูปตัวเองไม่ได้ แต่ถ้ามันทำได้มันจะเป็นของมันได้
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลาวิทยานิพนธ์ของใครมันจะเป็นประโยชน์กับใคร ฉะนั้น เวลาคนเรียนจบปริญญาเอกจะต้องมีวิทยานิพนธ์ ใครปฏิบัติได้จริงจะมีวิทยานิพนธ์ แล้ววิทยานิพนธ์มันต้องจบด้วย มันต้องมีกรรมการสอบวิทยานิพนธ์เขาเห็นว่ามีคุณค่า เขาถึงให้ผ่าน แต่ถ้าเขาไม่เห็นคุณค่า เขาไม่ให้ผ่านหรอก นี้กรรมการสอบนะ
แต่เวลาปฏิบัตินะ จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จิตนี้กลั่นมาจากอริยสัจ จิตนี้กลั่นออกมาจากธรรม ไม่มีกรรมการคนไหนลำเอียง ไม่มีศีลสมาธิอันไหนลำเอียงเข้าข้าง ปิดกั้น ไม่มี ศีล สมาธิ ปัญญา มัคโค ทางอันเอก เราพยายามทำให้มันสะอาดบริสุทธิ์ ทำให้มันเป็นจริงขึ้นมา ถ้าเป็นจริงขึ้นมา จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ พระอรหันต์ทุกองค์ต้องผ่าน
พระอรหันต์ทุกองค์ ถ้าไม่ผ่าน หรือพระอรหันต์ทุกองค์พูดตรงนี้ไม่ถูก ไม่มี ไม่มีพระอรหันต์อยู่จริง พระอรหันต์ต้องมีตรงนี้
ฉะนั้นที่ว่า อ่านหนังสือหลวงพ่อ อ่านหนังสือหลวงตาเพียงพอไหม
เราพูดถึงอ่านหนังสือหลวงตาแล้วกัน หนังสือหลวงพ่อเอาไว้ก่อน เดี๋ยวอย่างว่า เขาเรียกว่าเขียนเอง ตรวจสอบเอง รับประกันเอง มันไม่มีค่า
อ้าว! เราเขียนเอง แล้วเราให้คะแนนเอง แล้วเราก็ให้ผ่านเอง โอ๋ย! หนังสือจะมีค่าได้อย่างไร มันไม่มีค่าหรอก หนังสือมันจะมีค่าต่อเมื่อมีคนเขาให้คะแนน มันถึงจะมีค่า ของเราให้ราคาเอง ไม่มีค่าหรอก
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าอ่านหนังสือหลวงพ่อ
เออ! อันนี้แขวนไว้
แต่ถ้าอ่านหนังสือหลวงตาด้วย เหลือพอ เหลือ เกินพอด้วย แต่ทำไมต้องอ่านหนังสือพระไตรปิฎกด้วย
เพราะหนังสือพระไตรปิฎกมันเป็นสากล มันเป็นศาสดา เป็นกลาง แล้วถ้าเราสื่อสารโดยผ่านพระไตรปิฎก แม้แต่ไปลังกา ชาวพุทธด้วยกันสื่อสารผ่านพระไตรปิฎก สื่อสาร ศัพท์บาลี แล้วบาลีเราไม่ได้ ทำอย่างไร เราก็ไม่ได้ แล้วถ้าพูดถึงบาลีได้นะ เราบอกเลยนะ คนที่ศึกษามาแล้ว แล้วปฏิบัติ ที่ศึกษาแล้วปฏิบัติได้ผล ที่เรายอมรับนะ มีหลวงตา เจ้าคุณเขียน มหาปิ่น
แล้วคนที่ศึกษามา ๙ ประโยค ๑๐ ประโยค เต็มประเทศไทย แล้วเขาปฏิบัติ ทำไมปฏิบัติแล้วในความเห็นสังคมเชื่อ ใครเชื่อก็แล้วแต่ แต่เราไม่เชื่อ เราไม่เชื่อเลย นั่นเขาได้บาลีทั้งนั้นเลยนะ
ได้บาลี เรายอมรับที่ว่าปฏิบัติแล้วเราเห็นด้วย หลวงตาเป็นพระมหา เจ้าคุณเขียน ๙ ประโยค แล้วก็มหาปิ่น น้องหลวงปู่สิงห์นั้น ๕ ประโยค
แต่ที่ไม่ได้เรียน ไม่ได้บาลี หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่คำดี หลวงปู่ฝั้น อาจารย์สิงห์ทอง หลวงปู่ลี หลวงปู่จวน หลวงปู่ผาง หลวงปู่เยอะแยะเลย หลวงปู่ตื้อไม่ได้บาลี ไม่ได้บาลี ผ่านหมดเลย
แล้วได้บาลีนะ ที่ได้บาลีนะ เรายอมรับหลวงตา ๓ ประโยค หลวงปู่เขียน ๙ ประโยค หลวงปู่มหาปิ่น น้องหลวงปู่สิงห์นะ ต้องย้ำๆ เพราะมันมีชื่อซ้ำๆ กันเยอะ
ได้บาลี ได้บาลีมันก็อันเดียวกับที่ว่าปฏิบัติแล้วต้องอ่านพระไตรปิฎกไหม
ได้บาลี ปัญญามันเยอะ ยากนะ การแก้ไขนี่แก้ไขยากมาก
ฉะนั้น เราไม่ได้บาลี แต่คำว่า “ไม่ได้บาลี” เขาเรียกว่าได้อรรถกับได้พยัญชนะ ได้พยัญชนะกับได้อรรถมันต่างกันไหม อรรถคือเนื้อความ หลวงปู่มั่นไม่ได้บาลี แต่เวลาหลวงตาท่านได้บาลี
หลวงปู่มั่นเวลาแปลบาลีนะ เพราะของอย่างนี้มันอยู่ที่ผู้ปฏิบัติ เวลาปฏิบัติ เวลาธรรมเกิด ธรรมเกิดคืออำนาจวาสนาบารมี คือสัจจะเวลาเกิดจากใจ หลวงตาท่านบอกท่านเกิดเป็นภาษาไทย หลวงปู่มั่นท่านเกิดเป็นภาษาบาลี เวลาหลวงปู่จวนเกิดเป็นบาลี พระที่เกิดเป็นบาลี มันเกิดเป็นภาษาบาลี เวลาแปลขยายความมันจะกว้างมาก แต่หลวงตาเวลาท่านผุดขึ้นมาเป็นภาษาไทย หลายองค์มากเวลาขึ้น เวลาขึ้นมา
ทีนี้เวลาขึ้นมา หลวงปู่มั่นท่านขึ้นมาเป็นบาลีเลย แล้วบาลีเวลาแปลออกมา หลวงตาบอกว่าไม่เคยได้ยินเลยในภาคปริยัติที่จะแปลแล้วมันกินใจความ แล้วมันกินใจมากเท่ากับหลวงปู่มั่นแปล เวลาแปลมันแปลจากประสบการณ์ แปลจากของแท้ไง
แต่ว่าได้ภาษาบาลีมาก็ได้อิทัปปัจจยตา มันได้ศัพท์ แล้วพอได้ศัพท์ พอเวลาจะแปลมันกลัวผิด มันกลัวผิดศัพท์ผิดแสง แต่มันไม่กลัวผิดเนื้อความ นี่พูดถึงว่าได้บาลีไง
ได้บาลีดีไหม ดี ดีสิ ได้ภาษาทำไมจะไม่ดี ตอนนี้เราได้ ๓ ภาษา ๔ ภาษา เก่ง เห็นไหม เด็กคนไหนได้ ๓ ภาษานี่โอ้โฮ! เขาให้เหรียญทอง ได้ภาษาบาลีก็ได้อีกภาษาหนึ่ง ก็ได้ภาษาอังกฤษ
ทีนี้ได้ภาษาบาลีมันก็ไปขยายความ เขาบอกว่า ภาษาบาลีจะเป็นกุญแจไขตู้พระไตรปิฎก
ใช่ ไขตู้พระไตรปิฎกก็ไขภาษา แต่ศีล สมาธิ ปัญญา มันจะไขหัวใจ มันจะไขกิเลส มันจะเอากิเลสออกจากใจ ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไปแล้ว ตรงนี้ไม่มีปัญหา ไม่มีปัญหา
นี่เพียงแต่ว่าเขาเขียนมา อ่านเต็มๆ เลยนะ “คำถามคือเราจำเป็นต้องอ่านพระไตรปิฎกคู่ไปกับการปฏิบัติหรือไม่ ถ้าลูกไม่รู้เรื่องปริยัติ ไม่เคยอ่านพระไตรปิฎก ไม่ได้ศัพท์บาลี อ่านหนังสือหลวงพ่อกับหลวงตาเพียงพอไหมคะ” เห็นไหม ไม่รู้ปริยัติ ไม่เคยอ่านพระไตรปิฎก
พระไตรปิฎกฉบับประชาชน ใครก็อ่านได้ ฉบับประชาชนเล่มเดียว หลวงปู่มั่นท่านค้นคว้าพระไตรปิฎกหลายรอบ แล้วเวลานิมิตท่านเห็นตู้พระไตรปิฎกด้วย หลวงตาท่านค้นคว้า เป็นมหา
เราได้ยินว่าครูบาอาจารย์ท่านค้นคว้า เราก็ค้นคว้า พระไตรปิฎกเราดู ๒ รอบ ทั้งตู้นี่เราดู ๒ รอบ แต่มาดูตอนหลังนะ มาดูตอนปฏิบัติแล้ว แล้วค่อยไปดู เพราะว่าตอนปฏิบัติใหม่ๆ ไปอ่านอย่างนี้ อ่านประวัติครูบาอาจารย์ อ่านแล้วเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ แล้วพอมาปฏิบัติจนได้หลักแล้วไปอ่านพระไตรปิฎก โอ้โฮ! มันซาบซึ้งนะ มันซาบซึ้งกับตัวเอง ถ้าเอ็งไม่ปฏิบัติมาก่อน อ่านอย่างไรก็ไม่รู้ ไม่รู้หรอก ยิ่งอ่านยิ่งงง แต่พอปฏิบัติมีพื้นฐาน พอไปอ่านนะ โอ้โฮ! ตาพองเลยนะ
แต่ตาพองคนเดียว เพราะอ่านคนเดียว ไม่มีใครเห็น ตานี้พองเลยนะ เพราะมันสะเทือนใจ เพราะไปอ่านเจอไง สอุปาทิเสสนิพพาน อนุปาทิเสสนิพพาน ท่านอธิบายมันจะเป็นหัวข้อเฉยๆ
แล้ว “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส”
แล้วตอนนั้นเขาก็เถียงกันว่า จิตเดิมแท้นี้เป็นพระอรหันต์ จิตเดิมแท้นี้เป็นนิพพาน
พอเราอ่านเจอนะ เอ๊! ไอ้คนเถียงทำไมมันไม่ใช่สุภาพบุรุษ ทำไมมันไม่อ่านให้เต็มเนื้อความ “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส” นี่ท่านพูดถึงจิตแท้ๆ ในพระไตรปิฎก
แล้วมันก็อีกตอนหนึ่ง “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส”
ถ้าเป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส แสดงว่ามันยังมีกิเลสอยู่ใช่ไหม จิตเดิมแท้ยังมีกิเลสอยู่ เพราะมันเป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส อยู่ในพระไตรปิฎกนี่ เราไปอ่านดู มันไม่มีอะไรผิดเลย มันไม่มีอะไรโต้แย้งเลย ทำไมพระมันแบ่งเป็น ๒ ก๊กแล้วเถียงกัน มันอะไรของมันวะ แล้วพอไปอ่านแล้วเจออย่างนี้เยอะ เจอประเด็นสังคมที่พระเราโต้แย้งกันเรื่องธรรมะเยอะแยะไปหมดเลย แล้วเราก็ไปอ่านพระไตรปิฎก เอ๊! มันไม่น่าให้โต้แย้งเลย พระพุทธเจ้าพูดไว้จบหมดแล้ว
มโนมยิทธิในพระไตรปิฎกก็มี เราก็ไปเจออยู่ในพระไตรปิฎก ในมโนมยิทธิ มโนมยิทธิมันก็เป็นวิธีการปฏิบัติอันหนึ่ง แล้วทำไมเอามโนมยิทธิมาโต้แย้งกัน มาเชิดชู มโนมยิทธิมันก็เหมือนฌานสมาบัติ มันก็อันเดียวกัน
เราไปเปิดพระไตรปิฎกอ่านนะ อ่านเพราะมันมีหลักแล้วไง นี่ถึงบอก พอไปอ่านเจอเข้า ตาพองเลย ประเด็นสังคมที่เกิดๆ มันไม่มีประเด็นอะไรเลย เพียงแต่พระที่ไปอ่านแล้วถือทิฏฐิของตัว ตีความเข้าข้างตัว ใครมีทิฏฐิอันใดก็ตีความอย่างนั้น แล้วก็เอาทิฏฐินั้นมาโต้แย้งกัน ต่างคนต่างอ้างพระไตรปิฎก มันก็พระไตรปิฎกจริงๆ นั่นแหละ แต่มันบวกด้วยทิฏฐิของพวกเอ็งไง
ฉะนั้น เวลาเถียงพวกนี้เราจะบอกว่า ยกพระไตรปิฎกไว้ก่อนนะ แล้วเอ็งกับข้าเจอกัน ยกพระไตรปิฎกวางไว้ แล้วเอาความเห็นมึงออกมา
นี่ความเห็นของตัว เอาพระไตรปิฎกบังไว้ แล้วก็ว่าพระไตรปิฎกว่าอย่างนั้น พระไตรปิฎกว่าอย่างนั้น
พระไตรปิฎกมีชีวิตหรือ พระไตรปิฎกร้องทุกข์ได้หรือเปล่า มึงอ้าง แต่ถ้าเอาจริง เราเคารพนะ จบเลย
นี่พูดถึงว่า ได้ศัพท์บาลีแล้วมันจะเป็นจริงไม่จริง
มีครูบาอาจารย์แก้ตรงนี้ได้ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ ประสาเรานะ ในสังคมทุกสังคมมีคนดีและคนเลวปนกัน เราจะหวังให้คนคิดดีทุกคนไม่ได้ แล้วจะคิดว่าไม่มีคนคิดดีเลยก็ไม่มี จะหวังว่าทุกคนจะคิดดีหมด มันก็ไม่มี แล้วว่าคนจะเลวหมดที่ไม่มีคนดีเลย มันก็ไม่มีเหมือนกัน มันก็มีคนดีเหมือนกัน มันก็อยู่ที่วาสนาพวกเรานี่แหละ เอ็งเกิดมาแล้วเจอใคร
อย่างเราภูมิใจมากนะ เราพูดกับพวกโยมตลอด ตอนมาอยู่โพธารามใหม่ๆ ตอนเราออกมาจากป่าใหม่ๆ บอกว่า เราภูมิใจมากที่เกิดมาเจอหลวงตา เกิดมาเจอหลวงปู่เจี๊ยะ ถ้าไม่เจอหลวงตา ไม่เจอหลวงปู่เจี๊ยะนะ กูก็บ้าคนหนึ่งเหมือนกันน่ะ มันก็ต้องมีทิฏฐิเหมือนกัน
ทีนี้หลวงตากับหลวงปู่เจี๊ยะท่านกระทืบหัว เหยียบจนลง หลวงตานี่ ขึ้นไป ไม้หน้าสามผัวะเดียว ไม้หน้าสามคือคำพูดนะ ไม่ใช่มีไม้หน้าสามจริง ไม้หน้าสามคือคำพูดของท่าน โอ้โฮ! มันแรง เวลาพูด ขึ้นไปนะ ผัวะเดียวหงายท้องลงมาเลย เจออย่างนี้ตลอด
หลวงปู่เจี๊ยะ คำพูดของท่านมันคม คำพูดของท่านคม ลึก แล้วไม่มีสิทธิ์โต้แย้ง
กรรมฐานเขาสอนกันอย่างนี้ เขาสอนคำเดียว คือเชือดเลย เชือดปึ๊ด! ตายแล้ว มันยังไม่รู้ตัวว่าตาย ยังเถียงอยู่นะ มันไม่รู้ว่ามันตายแล้วนะ นี่ครูบาอาจารย์ของเรา นี่วงกรรมฐาน ขึ้นไปทีไรนะ ไม้หน้าสามฟาดทีเดียวหงายท้องทุกทีเลย แล้วมันก็ได้มาอย่างนี้
พอฟาดมาทีหนึ่ง โอ้โฮ! งงเลยนะ เหมือนไก่โดนหักคอ มันไปไม่เป็น แต่นี่พอโดนผัวะ! กลับไปทางจงกรม กลับไปทางจงกรมเลยนะ ที่ท่านพูดนั่นคืออะไรวะ ที่ท่านว่านั่นคืออะไร ไปเรียบเรียงมานะ พอเรียบเรียงได้นะ โอ้โฮ! อยากจะกราบร้อยหน อยากจะกราบพันหน มันอยากจะกราบ อยากจะกราบๆ
แต่ตอนขึ้นไป งงเลยนะ ลงมานี่ไปไม่ถูกเลย เข้าทางจงกรม ไปเรียบเรียง ไล่ให้ทัน เรียบเรียงๆ นี่คือประสบการณ์ ได้มาจากครูบาอาจารย์ ถึงมาพูดกับพวกโยมเรา
ตอนมาใหม่ๆ นะ บอกว่าภูมิใจฉิบหายเลย เกิดมาเจอหลวงตา ไม่เกิดมาเจอหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น แต่ได้อิทธิพล ฟังจากหลวงตากับหลวงปู่เจี๊ยะท่านพูดถึงหลวงปู่มั่น พูดทีไร ท่านน้ำตาไหล เราก็น้ำตาไหล มันซาบซึ้ง ถึงว่าชีวิตเรามีค่าไง
ถ้าเราเกิดมาไม่เจอล่ะ ไปเรียนกับพระองค์อื่นสิ มันก็ชักเข้าป่าไปหมดแหละ มันก็อ้างพระไตรปิฎก เราก็เชื่อนะ เราบวชใหม่มา เราเจอปัญหานี้ เขาอ้างตำรับตำรา เชื่อหมดแหละ แต่พอมาศึกษา มาปฏิบัติ เฮ้ย! มันไม่ใช่ มันไม่ใช่ มันไม่ใช่ก็คือโกหกน่ะสิ
เขาก็โกหกอยู่แล้ว เราไม่รู้เอง แต่พอรู้แล้ว เฮ้ย! มันโกหก แล้วพอมาปฏิบัติกับครูบาอาจารย์เราแล้วนะ คนรู้จริงมันมีกี่คน หลวงตาใช้คำว่า “ขนโคกับเขาโค” ขนโคมันมีเต็มไปหมด แต่เขาโคมีอยู่ ๒ เขา พระปฏิบัติเต็มไปหมด แต่ผู้รู้จริงมีกี่คน
แล้วมันเสียหายตรงไหนรู้ไหม เสียหายตรงที่ว่าพวกเรามันไม่รู้ไง พวกเรามันไม่รู้ เวลาคนรู้จริงพูด เราเลยฟังไม่ออก เวลาคนรู้ไม่จริงพูด เราฟังออก
ไอ้คนรู้ไม่จริงพูด ฟังออกหมดเลย เพราะอะไร เพราะมันเป็นภาษาสมมุติ ภาษาสมมุติคือตรรกะ คือปรัชญา ปรัชญาที่เราสามารถตีความได้ สังเกตได้ เวลาอ่านหนังสือสิ โอ้โฮ! มันซาบซึ้ง ปรัชญาทั้งนั้นน่ะ อ่านแล้วซาบซึ้งมาก
แต่พอไปเจอธรรมะของจริงนะ เฮ้ย! ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ ไม่รู้
ไม่รู้แล้วอย่าทิ้ง อย่าสลัดทิ้ง เก็บไว้ก่อน แล้วพยายามค้นคว้า พอรู้ขึ้นมาอย่างที่ว่า อยากกราบร้อยหน อยากกราบพันหน เพราะอะไร เพราะมันเสียเวลานะ ค้นคว้าเองทั้งชีวิตยังไม่รู้ แล้วนี่มีคนชี้ทางบอกให้ เข็มทิศเนาะ มีคนชี้ทางบอกให้
มึงไปค้นคว้าเอง มึงไปเถอะ กว่ามึงจะได้ แล้วนี่มีคนชี้มีคนบอก โอ้โฮ! อยากจะกราบร้อยหน อยากจะกราบพันหน โอ้โฮ! นี่พูดถึงความจริงนะ
ฉะนั้น เวลาเขาถามมา ถึงบอกว่าต้องอ่านไหม
ต้อง แต่เขาอ่านไว้เป็นทฤษฎี อ่านไว้เป็นปัญญา แล้วเวลาปฏิบัติต้องวางไว้ก่อน แล้วทำให้ได้จริง
แต่ถ้าไปทำรวมกันนะ เละนะ ถ้าภาษาจะให้พูดเต็มๆ ปากนะ ถ้าอ่านพระไตรปิฎกคู่กับปฏิบัติไปนะ ถ้าให้พูดเต็มๆ ปากก็ “ฉิบหายน่ะสิ” ฉิบหายเลยนะ หมดโอกาส ว่าอย่างนั้นเลย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะกิเลสมันร้าย เพราะกิเลสเรามันร้าย มันจะเอาพระไตรปิฎกมาสร้างภาพเป็นสมบัติของเรา มันจะเอาธรรมะอันนั้นน่ะมาทำให้เป็นของเรา แล้วเราก็จะไม่ได้อะไรเลย มันร้ายขนาดนั้นน่ะ
ไม่ใช่พระไตรปิฎกร้ายนะ กิเลสเราร้าย กิเลสคนปฏิบัติน่ะร้าย ร้ายนัก แล้วคนจะรู้เท่ามันคือคนที่เคยผ่านแล้ว หลวงตา หลวงปู่มั่นผ่านแล้วท่านบอกไว้
ต้องศึกษาไหม
ต้อง
แล้วคู่กับปฏิบัติไหม
ไม่ ศึกษาอย่างเดียว แล้วปฏิบัติไม่เกี่ยวกับการศึกษา ปฏิบัติมันต้องเกี่ยวกับประสบการณ์ ประสบการณ์ทำให้ได้จริง
แล้วที่ว่าไม่รู้ปริยัติเลย
ไม่รู้ปริยัติเลย เวลาเป็นมันจะรู้ขึ้นมากลางหัวใจ ถ้ามันของจริงนะ ของจริง หลวงตาบอกว่าน้ำอมตธรรม น้ำอมฤตอยู่กลางหัวใจ ตักไม่มีวันหมด ถ้ารู้จริงแล้วนะ ดูสิ อกุปปธรรม เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี เป็นพระอรหันต์ อกุปปธรรม
มันมีกุปปธรรมกับอกุปปธรรม
กุปปธรรมคือ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา
อกุปปธรรมไม่ใช่อนัตตา แล้วมันคงที่ตายตัว ฝังอยู่กลางหัวใจนั่นน่ะ คนที่มีสมบัติอย่างนั้นมันจะไปเผลอไหม มันจะหลงไหม มันจะไม่เข้าใจไหม
แล้วทำไมถึงบอกว่าหนูไม่รู้เรื่อง
มันจะรู้ขึ้นมาถ้าเป็นความจริง
ไม่รู้ปริยัติเลย ไม่เคยอ่านพระไตรปิฎกเลย ไม่รู้ศัพท์บาลีเลย
ถ้าคนไม่ได้ภาษาอังกฤษ แสดงว่าคนนั้นไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตใช่ไหม คนไม่รู้ภาษาอังกฤษเขาก็ประสบความสำเร็จในชีวิตเหมือนกันใช่ไหม คนไม่ได้บาลีเลย รู้ธรรมก็มีเยอะแยะไป
คนไม่ได้บาลี ครูบาอาจารย์เราส่วนใหญ่ท่านไม่ได้เรียน ประสบความสำเร็จเยอะมาก แล้วในสังคมไทยมันเรียนอยู่เท่าไร ปีๆ หนึ่งเขาจบกันเท่าไร
มันยังงงๆ กันอยู่นะ มันกำลังจะสร้างสำนักปฏิบัติกันอยู่ เพราะอะไรรู้ไหม เรียนปริยัติมาแล้วมันต้องปฏิบัติไง เขากำลังจะสร้างสำนักปฏิบัติกันอยู่ แล้วดูซิมันจะได้ไหม อันนี้พูดถึงปริยัติ ปฏิบัติเนาะ
เอาคำถามนี้
ถาม : ทำอย่างไรให้พ่อแม่ฟังและคิดสิ่งที่เรารู้เราเห็น และเชื่ออย่างที่เราเชื่อบ้างครับ (ในทางที่ดีนะครับ ในการถือศีล ในการคบมิตร รวมถึงการทำธุรกิจ) และถ้าท่านด่าเรากลับมา เราควรทำใจอย่างไร ประพฤติตัวอย่างไรให้ครอบครัวเดินหน้าต่อไปอย่างมีความสุขครับ
ตอบ : อยากมีความสุขนะ เรานี่ ธรรมดาพ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูกนะ เราต้องตั้งประเด็นนี้ไว้ก่อน พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก ถ้าเป็นพ่อแม่ที่ดี เป็นสัมมาทิฏฐิ เราจะภูมิใจมาก เพราะเราเกิดในประเทศอันสมควร เกิดจากพ่อแม่ที่ดี
ถ้าพ่อแม่ของเราเป็นมิจฉาทิฏฐิ อย่างเช่นนับถือศาสนาอื่น เราเกิดมา เราเกิดในครอบครัวนั้น พ่อแม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ เราจะมาวัดนี่ลำบากมากเลย มีมานั่งอยู่ที่นี่เป็นคริสต์ เป็นอิสลาม มานั่งอยู่ที่นี่เยอะ แม้แต่เขาเป็นคริสต์ด้วยนะ เขามาคนเดียว แล้วเขาไปเอาแม่เขามา เอาพ่อแม่เขามา แม่เขาก็พยายามดึงลูกเขากลับ ไอ้เขาก็พยายามดึงแม่มาเป็นพุทธ กรณีนี้มี นี่พูดถึงว่าถ้าเราเกิดในครอบครัวอย่างนั้น เราจะมีความทุกข์มากกว่านี้
ฉะนั้น เวลาต้องตั้งประเด็นไว้ก่อนว่าพ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก คือเราได้ชีวิตนี้มาจากพ่อแม่นะ เราตรวจดีเอ็นเอ พันธุกรรมของพ่อแม่หมด แต่เวรกรรมของเรา จิตนี้ของเรา แต่ร่างกายมาจากพ่อแม่หมด ต้องมีเวรมีกรรมต่อกันถึงมาเกิดร่วมกัน ถ้ามาเกิดร่วมกัน ทีนี้พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูกคือเขาเป็นเจ้าของชีวิตเรา ว่าอย่างนั้นเลย
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าพ่อแม่มีความเห็นอย่างใด ถ้าเราเป็นคนดี เรามีหลักเกณฑ์ไว้ เราก็ยืนของเราไว้ การที่จะชักนำพ่อแม่นี่แสนยาก แสนยาก เพราะพ่อแม่เขาบอกว่ากูเลี้ยงมึงมา จะไปบอกอะไร ก็ว่ากูเลี้ยงมึงมา กูอาบน้ำร้อนก่อนมึง ไม่ฟังหรอก
ถ้าจะได้ผลนะ ท่านพูดอะไร เราก็รับฟังไว้เฉยๆ แต่เราต้องมีจุดยืนของเรา แล้วทำตัวเราให้ดี พ่อแม่จะสงสัยมาก เมื่อเช้าไม่ได้พูดเนาะ เมื่อก่อนนะ เรามีลูกศิษย์ไอ้เด็กๆ อย่างนี้ เขามาวัด แล้วเราก็แจกขนม แล้วมันก็ฟัง เพราะเด็กมันสอนง่ายนะ เวลากลับไปบ้านนะ พอทำอะไรผิด
“ไม่ได้นะ หลวงพ่อว่า”
พอทำอะไรผิด ใครทำผิด
“ไม่ได้นะ หลวงพ่อว่า”
จนพ่อแม่พี่น้องต้องมาดูว่าหลวงพ่อคนไหนวะ ปู่ย่าตายายมากันนะ ไอ้พี พอไปทำผิดที่บ้าน “ไม่ได้นะ” พ่อแม่สอนยังไม่ฟัง พ่อแม่ว่าลูกผิดๆ ไม่ฟังหรอก แต่เวลามันทำอะไรผิดนะ “ไม่ได้ เดี๋ยวหลวงพ่อว่า”
ถ้าพ่อแม่เห็นอย่างนี้ เห็นความเปลี่ยนแปลงของลูก พ่อแม่ทึ่งนะ ฉะนั้น เราจะสอนพ่อแม่ ทำตัวเราให้ดี ให้อยู่ในหลักเกณฑ์ พ่อแม่จะพูดอย่างไรอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเราทำความดี เขาเห็นความดี
พ่อแม่อาบน้ำร้อนมาก่อนเราแน่นอนอยู่แล้ว ถ้าเราทำตัวเราดี เขาจะเอ๊ะ! ทำไมลูกเราเดี๋ยวนี้มันดีขึ้นตั้งเยอะ มันดีเพราะอะไร เขาต้องหา สงสัยมันคบเพื่อน เพื่อนมันคงพาไปทำอะไรไม่รู้ สืบหาซิ เพื่อนคนไหนวะ นี่เขาต้องรู้
นี่พูดถึงเขาบอกจะแก้พ่อแม่อย่างไร
ยาก จะแก้พ่อแม่ เราต้องวัดด้วยคุณภาพของเราว่าเราดีขึ้น เราดีขึ้นๆ แต่ถ้าบอกว่าอย่างนี้ดีกว่า มันไม่มีสิ่งใดพิสูจน์ไง
ฉะนั้น อยากดึงมาให้ถือศีล
เรานี่แหละดีที่สุด เราทำของเรา ทำเป็นตัวอย่างก่อน ถ้าทำเป็นตัวอย่าง แล้วถ้ามันดีขึ้น แต่ถ้าอย่างนี้ แล้วถ้าท่านด่าล่ะ
อ้าว! ด่า ก็ถ้าจะไปบังคับให้เขาทำดีตามเราไง “นี่ดีกว่านะ นี่ดีกว่า” เถียงอย่างไรก็โดนด่าอยู่แล้ว
ถ้าพ่อแม่ด่าล่ะ
ถ้าพ่อแม่ด่าก็ให้พรไง ตั้งสติให้ดีนะ นี่พูดต่อเมื่อบวชพระแล้ว ไม่บวชก็เถียงพ่อแม่เหมือนกัน เพราะยังโง่อยู่ไง ตอนนั้นยังโง่อยู่ มันก็เถียง เพราะสติปัญญาเราไม่พอหรอก แต่ที่พูดนี้เพราะว่าประสบการณ์อย่างนี้ก่อนบวชเรามีมา แล้วเราหักมานะ พ่อช็อกเลย เข้าโรงพยาบาลเลยตอนบวช เพราะพ่อแม่ก็ไม่อยากให้บวช
พ่อแม่ ลูกคนไหนพ่อแม่เลี้ยงมา ลูกคนไหนมีแวว เขารู้ แล้วพ่อแม่เขาก็หวังเรามากว่าจะให้อยู่ทางโลกช่วยสืบต่อ แต่เราจะมาทางนี้ แล้วหักกัน
ทีนี้เวลาไปบวช พ่อแม่ไม่อนุญาต บวชไม่ได้ใช่ไหม เราก็หัก คือเราก็ประชด คือว่าทำงาน แต่ไม่ใช้สอยในบ้าน จนเขาทนไม่ไหวไง “มึงจะไปไหนก็ไปซะ” เราเอาคำนี้บอกว่าอนุญาตแล้ว
เวลาท่านโกรธมากไง “มึงจะไปไหนก็ไปซะ”
ไปวัดเลย พ่ออนุญาตแล้ว
บวชมาช็อกเลย คือว่าหัวใจมันหลุดไปเลยนะ เราปฏิบัติแล้วเราถึงมาเข้าใจ เราปฏิบัติแล้วเรามาถึงหัวใจ เราถึงย้อนกลับได้ว่าของรักของหวง ของสิ่งที่จะให้สืบทอด แล้วมันพรากจากไป ช็อกเลย เข้าโรงพยาบาลซานคามิลโล แล้วเขาพยายามจะให้เรามาเยี่ยม เราก็จะไม่ยอมมาเหมือนกัน
ระหว่างพ่อแม่กับลูกรักกันโดยสายเลือด แต่จะเถียงกันด้วยความใกล้ชิด รักกันโดยสายเลือด พ่อแม่ลูกรักกันแน่นอน ความรักของพ่อแม่สะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งใดเจือปน ความรัก รักโดยสายเลือด แต่จะเถียงกันมากเพราะความใกล้ชิด
เพราะความใกล้ชิด เพราะความคิดว่าเป็นสมบัติของตัว อยากให้สมความปรารถนาของตัว ตัวเองคิดอย่างใดก็อยากให้คนอื่นเป็นอย่างที่เราคิด มันถึงมีการกระทบกระเทือนกัน นี่บวชแล้ว ปฏิบัติแล้วย้อนกลับ
แต่ที่มาได้ พ่อแม่เจ็บปวดมาก เจ็บปวดสุดๆ เพราะเราอยู่ในบ้าน เรารู้ว่าพี่น้องเราเป็นอย่างไร ถ้าจะยกหางก็ว่าทั้งบ้านเก่งและดีอยู่คนเดียว ว่าอย่างนั้นเลย แล้วคนที่ดีที่สุดมันหนีไป มันตัดช่องน้อยแต่พอตัว นี่ความคิดทางโลก ตอนนั้นเขาคิดกันอย่างนั้นไง
แต่ของเรา เราบวชแล้ว เราปฏิบัติแล้ว ไม่ใช่ เราสร้างมาอย่างนี้ มันเป็นเวรกรรมที่เราทำมาอย่างนี้ มันเป็นไปโดยตามกรรม โดยสัจจะ เวรกรรมที่มันทำมาอย่างนี้มันจะให้ผลไปตามอย่างนั้น เพียงแต่เราจะส่งเสริมมันขึ้นไปหรือเปล่า
เราสร้างบารมีมา เราสร้างคุณงามความดีมา แต่เรางอมืองอเท้า เราจะไม่ได้อะไรเหมือนกัน
เราได้สร้างบารมีมา แต่เราต้องเข้มแข็ง เราต้องมีความเข้มแข็ง เราต้องมีการกระทำต่อเนื่องขึ้นไปให้สมกับที่เราได้ทำมา
นี่พูดถึงเรื่องพ่อแม่ไง จะบอกว่า “โอ๋ย! หลวงพ่อก็พูดดีน่ะสิ หลวงพ่อบวชไปแล้ว ผมยังทุกข์อยู่น่ะ”
เจอมาก่อนแล้ว คนเจอมาทั้งนั้น เพราะคนเกิดจากพ่อจากแม่ เราพูดบ่อยนะ มีคนบางคนเห็นแก่ตัว เราบอกว่า เฮ้ย! เอ็งไม่ใช่เกิดมาจากกระบอกไม้ไผ่นะมึง ทุกคนเกิดจากพ่อจากแม่ ใครบ้างเกิดจากกระบอกไม้ไผ่ที่ไม่คิดถึงพ่อคิดถึงแม่
วัยรุ่นไม่เคยคิดถึงหรอก มันยังเป็นวัยรุ่นอยู่ แต่วันไหนมันมีลูก วันไหนมันมีลูก ความผูกพันเกิดขึ้น มันจะรู้ทันที แต่ถ้ามันยังไม่มี มันนึกไม่ถึงหรอก บอกกันไม่ได้ แต่วันไหนถ้ามันไปมีลูกนะ อ๋อ! พ่อแม่รักกูอย่างนี้เอง แต่ถ้ามันยังไม่มี มันยังไม่มีหรอก
ทีนี้เพียงแต่ว่า เวลาท่านด่ามาล่ะ จะแก้อย่างไร
ของอย่างนี้นะ มันแบบว่าเป็นเวรเป็นกรรม ถ้ามันเวรกรรมที่ดี ทำที่ดี มันจะประสบความสำเร็จได้ ถ้ามันเป็นเวรเป็นกรรม คำว่า “กรรม” อภิชาตบุตร บุตรที่ดีกว่าพ่อแม่ไง แต่ถ้ามันมีเวรมีกรรมต่อกันมันจะมาไฟต์กันนะ พ่อแม่กับลูกมันจะมีปัญหากระทบกระเทือนกันมาก ถ้าลูกที่ดีๆ จะไปดีมากเลย
แต่ลูกที่บางทีมันมาเกเร เกเรเพราะอะไรล่ะ ก็ทำให้พ่อแม่เจ็บปวดไง ก็ทำให้พ่อแม่น้ำตาไหล มาเพื่อทำให้น้ำตาไหล กับมาเพื่อส่งเสริม แล้วเราก็โดนเหมือนกัน เราก็น้ำตาไหล
ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว มันเป็นการที่เราทำมา แล้วเราจะปฏิเสธว่าไม่มีหรือปฏิเสธไม่ยอมรับไม่ได้ เพียงแต่ว่าถ้ามันเป็นอย่างนั้น เราศึกษาธรรมะนี่ไง ศึกษาธรรมะ แล้วเอาหลักธรรมะชโลมหัวใจไว้ น้ำตาไหลก็ไม่เป็นไร น้ำตาไหลก็เพราะเราทำมา เราโง่มาก่อน ตอนนี้ฉลาดแล้ว ฉลาดแล้วก็พยายามยับยั้ง ยับยั้งความคิดตัว อย่าให้ไปทำสะเทือนใคร เพราะทำสะเทือนใคร มันก็จะกลับมาสะเทือนเราอย่างนี้
นี่พูดถึงว่าวิธีแก้นะ วิธีแก้ วิธีแก้คือเราทำตัวเราดี แล้วถ้าทำดีแล้วท่านจะสนใจ ท่านจะศึกษา
แต่ถ้าเราจะไปเถียงกันด้วยเหตุผลปลีกย่อยอย่างนั้นน่ะ เหตุผลก็เพื่อแค่กลับบ้านไม่กลับบ้าน ทำงานไม่ทำงาน มันเป็นเรื่องอาชีพ
เราหวังธรรมะกันน่ะ เราหวังที่พึ่งทางใจ เราหวังมากกว่านั้น ถ้าหวังมากกว่านั้น เราทำตัวเราดีๆ อย่าไปห่วงว่ามันจะประสบความสำเร็จ อันนั้นปัญหาดำรงชีพ โทษนะ สัตว์มันก็มี วัวควายมันก็กินหญ้า วัวควายมันก็ต้องดำรงชีวิตมัน เราเป็นคน เราก็ดำรงชีวิตของเรา แต่เราหวังมากกว่านั้นไง เราหวังเรื่องความดีของเรา
นี่พูดถึงว่า ถ้าโดนด่ามา เราจะทำใจอย่างไร ประพฤติตัวอย่างไรให้เดินหน้าต่อไป
พูดตั้งยาวแล้วเนาะ ถ้าอ่านแล้วเดี๋ยวมันจะตอบอีกรอบหนึ่ง เอวัง