บุญบวช
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๘
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “อาบัติติดตัว”
กราบพระอาจารย์ที่เคารพอย่างสูง ผมมีข้อสงสัยในเรื่องการบวชเรียนครับ คนที่บวชครั้งที่ ๒ ควรปฏิบัติอย่างไร ถ้าตอนบวชครั้งแรก แล้วถ้าการบวชครั้งแรกเคยมีอาบัติ แล้วไม่ได้ปลงอาบัติขณะที่บวชอยู่ครั้งแรกครับ กราบขอพระอาจารย์เมตตาให้ความกระจ่างด้วยครับ
๑. ถ้าบวชครั้งแรกทำอาบัติปาราชิก ซึ่งความผิดนี้มีแค่ ๔ ข้อเอง มันไม่ซับซ้อนเท่าไร ถ้าพระทำผิดใน ๔ ข้อนั้นแล้วปาราชิก ก็ไม่สามารถกลับมาบวชใหม่ได้ หมายถึงไม่มีวัดไหนรับบวชให้ แต่ถ้าคนนั้นสำนึกผิดจริงๆ แล้วอยากบวชใหม่จริงๆ จะทำได้ไหมครับ มีทางออกให้ผู้สำนึกผิดเหล่านั้นไหมครับ
๒. สำหรับสังฆาทิเสส มีหลายข้อมากมาย จำไม่หวาดไม่ไหว บางทีเล็กๆ น้อยๆ ก็อาบัติสังฆาทิเสสแล้ว พระบวชใหม่ในปัจจุบันบวชตามประเพณี ๗ วันบ้าง ๑๕ วันบ้าง แน่นอน ไม่รู้ศีลครบ ๒๒๗ ข้อแน่ๆ ครับ ถ้าบวชครั้งแรกแล้วเกิดพลาดไปทำอาบัติสังฆาทิเสส สึกแล้วก็ยังมีอาบัติติดตัวโดยไม่ได้ตั้งใจ นั้นเพราะตอนบวชนั้นไม่รู้จริงๆ ว่าเป็นอาบัติสังฆาทิเสส
แต่เมื่อต้องการมาบวชใหม่ครั้งที่ ๒ จึงได้ศึกษาอย่างจริงจังมากขึ้น เพราะกลัวความผิดพลาด กลัวความไม่บริสุทธิ์ ถ้าบวชใหม่แล้วอาบัติจะยังคงอาบัติเช่นเดิมอยู่ไหมครับ ถ้าเป็นเช่นนั้น พระบวชครั้งที่ ๒ แล้วจะมีอาบัติสังฆาทิเสสเก่าค้างอยู่ที่จะต้องปลงอาบัติใช่ไหมครับ ดังนั้นในการบวชครั้งที่ ๒ ควรจะต้องมีพิธีกรรมในการปลงอาบัติเก่าๆ ในครั้งที่บวชครั้งแรกเลยใช่ไหมครับ สำหรับอาบัติเล็กน้อยอื่นๆ ที่ต่ำกว่าสังฆาทิเสส ไม่ขอกล่าวถึงครับ
๓. บ้างก็ว่าอาบัตินี้จะมีกรรมนั้นกรรมนี้ติดตัว มีผลต่อมรรคผลนิพพาน มีผลต่อการภาวนา แต่ผมเชื่อว่า ถ้าอาบัติไม่ถึงปาราชิกแล้วยังพอปล่อยวางความยึดผิดในใจได้ครับ แต่จะปล่อยวางความยึด คลายความกลัวความกังวลใจได้ ต้องกราบขอเมตตาพระอาจารย์ครับ ช่วยชี้ทางให้คลายความยึดด้วยครับ
ป.ล. ตามที่เคยฟังเทศน์พระอาจารย์มา พระที่ธุดงค์ตามป่าต้องมีศีลบริสุทธิ์ ไม่อย่างนั้นสัตว์ป่าหรือผีสางอาจทำร้ายถึงตายได้ จึงเป็นเหตุให้ต้องถาม เพราะวันข้างหน้าถ้าหมดภาระทางสังคม ก็จะบวชอีกเป็นครั้งที่ ๒ เพื่อภาวนาหามรรคผลนิพพานให้ได้ภายในชาตินี้ครับ กราบนมัสการ
ตอบ : นี่พูดถึงว่าคำถาม พูดถึงว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัว เรื่องสังคมไทย เรื่องการบวชการเรียน
เรื่องการบวชการเรียน เวลาบวชเรียนได้บุญมากนะ ได้บุญมากจริงๆ เพราะการบวชการเรียนมันเริ่มต้นตั้งแต่พระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าอโศกมหาราช พระพุทธเจ้านิพพานไป ๒๐๐ กว่าปี พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นผู้ที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก สร้างวัด ๘๐,๐๐๐ กว่าวัด ศรัทธามากนะ ตามไปถึงที่พระพุทธเจ้าเกิด พระพุทธเจ้าตรัสรู้ พระพุทธเจ้าปฐมเทศนา พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ไปสร้างเสาอโศกไว้
ไอ้ที่เขาไปกราบๆ กัน ที่ว่าพระเจ้าอโศกไปทำอนุสาวรีย์ไว้ให้ตั้งแต่สมัยที่ว่าท่านยังดำรงชีพอยู่ ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว ท่านศรัทธามาก แล้วสร้างวัด สร้างวัดฟื้นฟูศาสนา ดูแลพระสงฆ์มหาศาลเลย รับผิดชอบหมด เพราะว่าท่านมีอำนาจมาก
เพราะก่อนที่ท่านจะมานับถือพระพุทธศาสนา ท่านนับถือศาสนาอื่นมาก่อน แล้วท่านพยายามเผยแผ่อิทธิพลของท่าน รบทัพจับศึกขยายอาณาเขตไปมหาศาล แล้วพอไปเห็นการรบทัพจับศึกแล้วมันเห็นคนตายมาก มันสะท้อนใจไง พอสะท้อนใจปั๊บ ก็เลยมาศึกษาค้นคว้า ก็มาศึกษา เชื่อในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่นั้นมาท่านเผยแผ่โดยธรรม นี่เผยแผ่ ไปสร้างคุณงามความดี ไปสร้างวัดสร้างวา ไปให้เขาให้บวชให้เรียน เผยแผ่ธรรมน่ะ
แต่ก่อนรบด้วยอาวุธ รบโดยสงคราม แต่พอท่านมาคิดได้ปั๊บ ท่านมาเผยแผ่ทางศาสนา เผยแผ่ไป มันมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุขไปหมด แล้วก็ทำมาจน อู้ฮู! ดีใจมาก ก็ไปถามอาจารย์ของตัว พระติสสะ บอกว่า “เป็นญาติศาสนาหรือยัง”
ท่านบอก “ยัง”
“แล้วถ้าเป็นญาติศาสนา ทำอย่างไร”
“ต้องเอาสายเลือดมาบวช”
ก็เลยไปขอร้องลูกสาวลูกชาย พระมหินท์กับนางสังฆมิตตาที่เผยแผ่มา ขอให้ลูกมาบวช ๒ คน ลูกก็มาบวชให้จริงๆ แล้วพอบวชเสร็จแล้วลูกสำเร็จเป็นพระอรหันต์ด้วย
นี่ไง การบวช ถ้าเอาลูกมาบวช เอาลูกมาบวชมาสืบทอด เอาสายเลือดไง เวลาบอกว่าบวชนี่นะ พ่อแม่ได้บุญ ๑๖ กัป ทำไมมันจะไม่ได้ เอาเลือดเนื้อเชื้อไข ดูสิ สมัยโบราณนะ กว่าจะอุ้มท้องมา ๙ เดือน พออุ้มท้องมา ๙ เดือน เสร็จแล้วพอคลอดออกมาแล้วยังกินนม กินนมกินเลือด กินเลือดในอก นี่ก็เลือดเนื้อเชื้อไขเราทั้งนั้นน่ะไปค้ำจุนศาสนา ค้ำจุนศาสนาตรงไหน ค้ำจุนศาสนาตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานมาตั้งแต่ ๒,๐๐๐ กว่าปี ศาสนาไม่เคยขาดพระสงฆ์เลย
ถ้าการขาดพระสงฆ์คือบวชเรียนกันต่อมาไม่ได้ คือการบวชต้องมีพระครบ ๑๐ องค์บวชมา แล้วพระต้องบวชต่อเนื่องกันมา ถ้าขาด ไม่มีพระบวช ไม่ได้
ทีนี้การค้ำจุนศาสนา คือพระบวชมาแล้วมาศึกษาธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วถ้ามีอำนาจวาสนาก็ได้เป็นอุปัชฌาย์ เป็นอาจารย์ ได้บวชกุลบุตรสุดท้ายภายหลัง แล้วก็มีการศึกษา มีการสั่งสอน ก็มีวิชาการ ก็ต่อเนื่องกันมา นี่สืบทอดศาสนามา ค้ำจุนศาสนา
ฉะนั้น ลูกมาบวช พ่อแม่ได้ ๑๖ กัป จะรู้หรือไม่รู้ พ่อแม่ได้แน่นอน เพราะว่ามันเป็นไปโดยเวรโดยกรรม โดยข้อเท็จจริง เพราะลูกมาบวช สายเลือดมาบวช สายเลือด เลือดเนื้อเชื้อไขเข้ามาค้ำจุนศาสนา นี่พ่อแม่ได้ ๑๖ กัป ได้บุญแน่นอน ฉะนั้น นี่เลยเป็นประเพณีของชาวพุทธไง
ถ้าเป็นมหายาน ถ้ามีลูกชาย ลูกคนโตต้องไปบวช แถวทิเบต แถวมหายาน ในครอบครัวหนึ่งต้องมาบวชคนหนึ่งตามประเพณีของเขา ในฝ่ายมหายานนะ ในบ้านถ้ามีผู้ชายหลายคน ก็ตกลงกันมาคนหนึ่ง ต้องมาบวช
ฉะนั้น ดูพระสิ พระทิเบตเยอะไปหมดเลย เพราะทุกบ้านต้องส่งมาหนึ่งคนมาบวชเป็นประเพณี ถ้าไม่บวช เหมือนเราเข้าอยู่ประเพณีนั้นไม่ได้ แต่พอมาเถรวาทเรา มาบวช บวชแล้วสึก บวชเป็นประเพณี
ถ้าบวชเป็นประเพณี นี่บุญบวช บุญบวช เราบวชประเพณี พ่อแม่อยากให้ลูกบวชมาก เพราะขอให้ได้พึ่งชายผ้าเหลืองจากลูกชาย ถ้าลูกชายไปบวช พ่อแม่จะได้บุญกุศล แบบว่าเป็นสิ่งที่เชิดชู เป็นสิ่งที่ทำให้พ่อแม่มีความอบอุ่นใจ เกิดมาแล้วก็ยังได้บุญได้กุศลจากพระพุทธศาสนา ฉะนั้น บุญบวชนี่ได้มากๆ เลย ๑๖ กัป พ่อแม่ได้ ๑๖ กัปแน่นอน ฉะนั้น พอบวชเสร็จแล้ว พ่อแม่ได้จนบวชเสร็จจบ จบเลย เพราะเอาลูกเข้าไปอยู่ในศาสนาแล้ว ต่อไปนี้อยู่ที่ลูกแล้ว ถ้าลูกปฏิบัติดี ปฏิบัติดี เห็นไหม “โอ๋ย! นี่ลูกใครเนี่ย”
ดูสิ ดูเวลาครูบาอาจารย์เราท่านเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา เขาไปหาพ่อหาแม่ ลูกมาบวชจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ลูกมาบวชแล้วได้มีคุณธรรม พ่อแม่เป็นที่เชิดชูขึ้นมาอีก นี่ถ้าบวชแล้ว แล้วศึกษาเล่าเรียนแล้วทำความดี
แต่ถ้าบวชแล้วเราโดนกิเลสครอบงำหัวใจ แล้วทำแต่บาปแต่กรรม สร้างแต่บาปแต่กรรมนะ มันก็เป็นบาปกรรมของผู้บวชนั้น เป็นบาปเป็นกรรมของผู้บวชนั้น เพราะเจ้าหน้าที่ เวลาเราทำความผิดพลาด เวลาทำผิด เราก็มีผลตามกฎหมายใช่ไหม แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ทำผิด เขาต้องมีสองเท่า นี้พระสั่งสอนศีลธรรมเขา แล้วพระมาผิดเสียเอง พระมาทำผิดเสียเอง มันก็มีเวรมีกรรมมากขึ้น
ฉะนั้น มีเวรมีกรรมมากขึ้น มันจะเข้าสู่คำถามนี้ไง คำถามว่า มันเป็นอาบัติๆ เขาบอกเลย คำถาม ผู้ที่มาบวชประเพณี ๗ วัน ๑๕ วัน เขาไม่รู้หรอก ถ้าเขาไม่รู้นะ
แต่ถ้าคนมีอำนาจวาสนานะ ในเมื่อเราไม่รู้ มาบวช ๕ วัน ๑๐ วัน ถ้าไม่รู้ก็ถาม ถามเสียดีกว่า แล้วก็ดูพระผู้ใหญ่เขาทำ ดูพระพี่เลี้ยงเขาทำว่าเขาทำอย่างไร ถ้าเราไม่รู้ อย่าไปฝืนทำ เพราะอาบัตินี้ ผิดเพราะไม่รู้ ผิดเพราะทำผิด ผิดเพราะสงสัย
ไม่รู้ก็ผิด ผิดแน่นอน มีกรรมอยู่แล้ว ไม่รู้ก็ผิด เพราะไม่รู้ มันจะไปยกเว้นวินัยได้อย่างไรล่ะ ยกเว้นข้อห้ามได้อย่างไร ไม่รู้ อ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ ไม่รู้ก็ผิด สงสัยก็ผิด ทำผิดก็ผิด ฉะนั้น เวลาบวช เขาต้องศึกษาไง
ทีนี้กรรมฐานเราเวลาจะบวชขึ้นมา เขาต้องไปเป็นปะขาวก่อนเพื่อมาศึกษา เพื่อทำความเข้าใจ ถ้าความเข้าใจ ถ้าความเข้าใจแล้วมันจะเป็นโอกาสไง ฉะนั้น ความเข้าใจ เวลาบวช พิธีกรรมบวช ญัตติจตุตถกรรมมันเป็นภาษาบาลี แล้วบวชแล้วเขาก็บวช แล้วยิ่งคนรุ่นใหม่ด้วย นรกสวรรค์ก็ไม่เชื่อ อะไรก็ไม่เชื่อ มันเป็นวิทยาศาสตร์หมด ฉะนั้น เวลาจิตใจของคนมันหยาบ มันก็ทำตามแต่ความพอใจของตัว แล้วก็ไม่เชื่อ แล้วพอสึกออกไป แล้วไปทำสิ่งใดแล้ว เวลาเราทำสิ่งใดก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทำสิ่งใดก็มีความผิดพลาด มันก็คิดหาเหตุผลแล้ว
ในสมัยปัจจุบันนี้ไปหาหมอดูกัน ไปให้คนทาย พยากรณ์กันตลอด แต่ในพระพุทธศาสนาไม่ได้สอนอย่างนั้นน่ะ ในพระพุทธศาสนาสอนนะ สอนให้เชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เท่านั้น พระธรรม สัจธรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำไมจะต้องไปให้คนนู้นทาย คนนี้ทาย
ทีนี้พอเวลาเราผิดพลาดขึ้นมา เราเองเราก็หวั่นไหวอยู่แล้ว พอหวั่นไหวอยู่แล้ว พอคิด เราก็ทบทวนจะหาความผิดแล้ว พอมารู้ว่าตัวเองผิด เคยทำผิดไว้ที่ไหน คอตกไง เพราะมันเป็นอดีตไปแล้ว มันเป็นอดีตไปแล้วจะแก้อย่างไร
ฉะนั้น มันต้องศึกษามาตั้งแต่ตอนนี้ เวลาศึกษามา มีครูบาอาจารย์ที่ดี ท่านจะพาไปสิ่งที่ดี ถ้าพาไปสิ่งที่ดี นี่บุญบวช เวลาบวชได้บุญจริงๆ แต่บวชแล้ว บุญบวช บุญบวชก็ประเพณี แต่เวลาเราบวชแล้วเราประพฤติปฏิบัติ เราจะเอาอริยสัจ เราจะเกิดสัจจะความจริง เราจะชำระล้างกิเลส มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย
นี่พูดถึงว่าบุญบวชนะ ฉะนั้น เวลาบวชมันได้บุญ แต่บวชให้ถูกต้อง บวชให้ดีงาม บวชแล้วเราประพฤติปฏิบัติตามความจริงขึ้นไป ถ้าความจริงขึ้นไป มันจะเป็นความดีของเราไง แต่ถ้ามันไม่เป็นความจริง เราเป็นวิทยาศาสตร์ เราก็คิดของเราไปอย่างนั้นน่ะ
ฉะนั้น เข้าคำถาม “๑. การบวชครั้งแรกทำอาบัติปาราชิกที่มีความผิดมีเพียงแค่ ๔ ข้อเอง แต่ไม่ได้ซับซ้อนเลย ถ้าพระทำผิดใน ๔ ข้อนั้นแล้วปาราชิก ไม่สามารถกลับมาบวชใหม่ได้ หมายถึงไม่มีวัดไหนให้บวช แต่ถ้าคนคนนั้นสำนึกผิดแล้วอยากบวชใหม่ จะทำได้ไหมครับ และมีทางออกอย่างใด”
ถ้าทำปาราชิก ปาราชิก ๔ ฆ่าคนตาย ลักทรัพย์เกิน ๑ บาท อวดอุตตริมนุสสธรรม แล้วก็เสพเมถุน นี่ปาราชิก ๔ ถ้าปาราชิก ๔ มันตาลยอดด้วน บวชอีกก็ไม่ใช่เป็นพระ เวลาไปบวช บวชชาตินี้บวชแล้วมันไม่เป็นพระหรอก เพราะมันขาดไปโดยธรรมวินัย ขาดไปโดยอัตโนมัติไง มันไม่ต้องมีใครตัดสิน มันขาดโดยการกระทำนั้นน่ะ การกระทำนั้นจบสิ้น จบแล้ว อาบัติอยู่ในตัวเขาแล้ว ทีนี้พอเขาสึกไปหรือเขาไม่ได้สึก แล้วเขาจะไปบวชใหม่ ไปบวชที่ไหน ถ้าเขาไม่บอก วัดอื่นจะรู้ไหม
เราจะบอกว่า พิธีกรรมบวช เขาบวชให้ ไปบวชที่อื่น ไปบวชที่วัดที่เขาไม่รู้ เขาบวชกันอยู่ ใครไปปาราชิกแล้ว เวลาขาดจากพระไปแล้ว โดนจับได้ก็สึกไป แล้วถ้าไม่มีชื่อเสียงใช่ไหม ก็ไปบวชที่อื่น ไปบวชแต่ละภาค อุปัชฌาย์ที่ไม่รู้เขาก็บวชให้ บวชให้แล้วเป็นพระหรือเปล่าล่ะ มันเป็นพระหรือเปล่า
ทีนี้มันเป็นพระหรือเปล่า เป็น เพราะอะไร เพราะบวชแล้วมันต้องเข้าอุโบสถ มันต้องทำสามีจิกรรม มันก็เป็นพระ แต่เขาไม่สมบูรณ์หรอก มันบวชไม่ได้ คำว่า “บวชไม่ได้” คือว่ามันบวชให้เป็นอริยบุคคลขึ้นมาไม่ได้ มันบวชขึ้นมาให้เป็นพระจริงๆ ไม่ได้
แต่ไอ้พระปลอมๆ พระสมมุติ ไอ้พระที่ว่าคนนู้นบวชให้ คนนี้บวชให้ ไอ้อย่างนี้มันทำมันเหมือนเป็นสมมุติไง สมมุติก็เหมือนกับการแสดง การแสดงเป็นสมมุตินะ ดูสิ การแสดงเขาเล่นได้ดี การแสดงยังเป็นอาชีพเขาเลย
ทีนี้มาบวชเป็นพระ พระโดยสมมุติ สมมุติ แต่เขาห้ามบวชอยู่แล้ว เพราะว่ามันบวชไม่ได้ แต่คำว่า “ห้ามบวช” ทีนี้ทางโลกคำว่า “สมมุติ” มันมีพรรคมีพวก มีการช่วยเหลือเจือจาน อันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง
เขาบอกว่า “แล้วถ้ามีคนสำนึกผิด อยากบวชจริงๆ จะทำได้ไหมครับ มีทางออกอย่างใด”
อยากบวชจริงๆ เราไม่ต้องบวช ถ้าพูดถึงคนที่เคยทำผิดมาแล้ว เพราะว่าผู้ที่ทำเป็นอาบัติปาราชิก ห้ามมรรคห้ามผล นี่ตามธรรมวินัยนะ แต่ไม่ได้ห้ามสวรรค์ ไม่ได้ห้ามสวรรค์ ไม่ได้ห้ามคุณงามความดี เราก็ทำคุณงามความดีไปสิ ไม่ใช่ว่าเราเป็นปาราชิกแล้วเราจะน้อยใจ...
ไม่ใช่เรา เราไม่ได้เป็น
คนที่เป็นปาราชิกแล้ว ขณะที่เป็นมันขาดสติ มันทำไปแล้ว แต่คนที่สำนึกได้ คนที่สำนึกได้ สำนึกความผิดจริงๆ แล้วอยากบวชใหม่ อยากทำ ทำได้ไหม
บวชมันก็บวชเป็นพิธีกรรมนั่นน่ะ แต่มันเป็นความจริงไหมล่ะ เพราะว่ามันขาดตั้งแต่ความจริง มันรู้อยู่แก่ใจ เวลาเขาสำนึกผิดแล้วเขาจะทำได้อย่างไร เขาจะบวชใหม่ได้ไหม
ไอ้บวชใหม่มันอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่เวลามันเป็นเวรเป็นกรรม คำว่า “เวรกรรม” เวรกรรมมันมีไง ดูสิ เวลาพระเราเป็นอาบัติ เวลาปลงอาบัติ กรรมมันมีไหม ผิดศีลแล้วปลงอาบัติ
คำว่า “ปลงอาบัติ” คือสำนึกผิด สำนึกผิดแล้วเราจะระมัดระวัง เราจะทำคุณงามความดีของเรา เราจะตั้งสติของเรา เราจะทำคุณงามความดี นี่เขาสำนึกผิด แล้วเขาประจานตนเอง แล้วเขาก็ปลงอาบัติ ปลงอาบัติ สิ่งที่ผ่านไปแล้ว เหมือนกับสารภาพ สุภาพชนสารภาพต่างๆ แล้วสำนึกผิด แล้วตั้งใจว่าจะทำคุณงามความดี แล้วทำต่อเนื่องไป มันก็ทำให้ตัดนิวรณธรรม นิวรณธรรมคือกางกั้นมรรคผลใช่ไหม นี่มันตัดนิวรณ์แล้ว เราเคยผิด แล้วเราสารภาพแล้ว เราตั้งใจแล้ว นี่เริ่มต้นใหม่ เริ่มต้นใหม่ทำดีต่อไป
แต่ถ้ามันไม่ได้ปลงอาบัติมันเกิดนิวรณ์ มันลังเลสงสัย มันขุ่นข้องหมองใจ มันทำสมาธิไม่ได้ มันเจริญก้าวหน้าได้ยาก ฉะนั้น เวลาปลงอาบัติแล้ว นี่ปลงอาบัติ แต่เวรกรรมมันก็ยังมีอยู่
นี่ก็เหมือนกัน นี่ปาราชิก ถ้าปาราชิกแล้ว เวรกรรมอันนี้มันฝังอยู่กับใจ
ฉะนั้น เวลาที่ว่าสำนึกผิด สำนึกผิดก็สำนึก ก็ดีแล้วแหละ แล้วจะบวชใหม่ ไปบวชใหม่ที่ไม่รู้ เขาก็บวชให้ ถ้าบวชแล้ว เราก็ภาวนาของเราไป มันก็เป็นโอกาสของคน ว่าอย่างนั้นเถอะ มันแบบว่าเป็นสิทธิ์ เป็นสิทธิ์ของคน แต่เวลาจะเชื่อไม่เชื่อนั่นมันอีกเรื่องหนึ่งนะ
ทีนี้พูดถึงว่าเรื่องอาบัติเรื่องหนึ่ง เรื่องเวรเรื่องกรรมเรื่องหนึ่ง นี่เรื่องเวรเรื่องกรรมนะ ฉะนั้น สิ่งที่ว่าภาวนา เดี๋ยวมันมีคำถามต่อไปข้างหน้า
“๒. สำหรับสังฆาทิเสสมีหลายข้อมากมาย จำไม่หวาดไม่ไหว บางทีเล็กๆ น้อยๆ ก็อาบัติสังฆาทิเสสแล้ว พระบวชใหม่ในปัจจุบันนี้บวชตามประเพณี ๗ วัน ๑๕ วัน แน่นอน ไม่รู้ศีลครบ ๒๒๗ แน่นอน” ฉะนั้น นี่เขาว่าอย่างนั้นนะ
ทีนี้คำว่า “สังฆาทิเสสต่างๆ” มันยังแก้ไขได้ อย่างเช่นทุกกฏ ปาจิตตีย์ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ อนิยต ๒ แล้วสังฆาทิเสส เพราะคนเวลาประพฤติปฏิบัติ ไอ้เรื่องไม่ทำความผิดมันไม่มีอยู่แล้ว ฉะนั้น เพียงแต่ว่าในเมื่อพระทำผิดแล้วเป็นอาบัติ โลกเขาติเตียน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็บัญญัติเป็นวินัยห้ามๆๆ ไว้
ถ้าห้ามไว้ เวลาเราเป็นพระใหม่แล้วเราจะไม่ทำความผิดพลาด ให้รักษาศีลข้อหนึ่งคือข้อที่ว่ารักษาใจของเรา เราจะไม่ทำสิ่งใด เราศึกษาค้นคว้า เวลาบวชแล้วเราศึกษาธรรมวินัย ถ้ามีเวลาปฏิบัติ เราปฏิบัติของเรา ถ้าเราปฏิบัติได้ใช่ไหม เราไม่ไปทำความผิดพลาดอย่างนั้น เราพยายามทำความดีของเรา มันก็จะว่าศีลที่มันมากมายนักมันก็รักษาใจของตัว ศีลเขาขีดไว้เพื่อจะรักษาใจของตัว ถ้ารักษาใจแล้วมันก็เข้ามาที่ว่าจะ ๗ วัน ๑๕ วัน
เรามาเอาบุญน่ะ หนึ่ง มาเอาบุญ แล้วเรามาบวช จริงๆ แล้วบวชเพื่อตัวเรานะ ทิด บัณฑิต คนที่มาบวชแล้วเป็นบัณฑิต เป็นผู้ที่ศึกษาธรรมวินัยเพื่อจะเอานี้เป็นเครื่องดำรงชีวิต แต่ในปัจจุบันนี้บวชเพื่อพ่อแม่ บวชให้พ่อให้แม่ นี่เวลามันคิดกันไปอย่างนั้นไง
ใช่ เราบวชแล้วพ่อแม่ได้แน่นอน แต่บวชก็บวชมาเพื่อให้เราศึกษาไง ค้ำจุนศาสนา เห็นไหม บวชแล้วเราก็ศึกษา ศึกษาธรรมวินัย ศึกษาต่างๆ แล้วเราเข้าใจ ใครพูดผิดพูดถูก เราสามารถแก้ไขได้
บวชมาเพื่อเป็นบัณฑิต บวชมาเพื่อศึกษา บวชมาเพื่อชีวิตเรา ชีวิตเราเข้าใจเรื่องชีวิต เข้าใจเรื่องบาปเรื่องบุญ ชีวิตเราจะไม่หลงไปในทางต่ำ บวชเพื่อเรา ไม่ใช่บวชเพื่อพ่อแม่ ทีนี้พ่อแม่ได้โดยอัตโนมัติ
ทีนี้ว่าถ้าบวชให้พ่อแม่ บวชแล้วก็เป็นของพ่อของแม่ ไอ้เราก็ไม่ทำอะไรเลย ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย
บวชเพื่อเรา บวชเพื่อเป็นบัณฑิต แต่พ่อแม่ได้บุญกุศลแน่นอน นี่พูดถึงธรรมวินัยนะ
ฉะนั้นบอกว่า “ถ้าบวชครั้งแรกเกิดผิดพลาดเป็นอาบัติสังฆาทิเสสแล้วสึกไป อาบัติได้ติดตัวไปโดยไม่ตั้งใจ นั่นเพราะตอนบวชนั้นไม่รู้จริงๆ ว่าเป็นอาบัติสังฆาทิเสส แต่เมื่อการบวชครั้งที่ ๒ จึงได้ศึกษาอย่างจริงจัง กลัวความผิดพลาดนั้น กลัวความไม่บริสุทธิ์ ถ้าบวชใหม่แล้วอาบัติยังคงเดิมอยู่ใช่หรือไม่ครับ”
ใช่ ถ้าใครเป็นอาบัติ เป็นอาบัติอะไรก็แล้วแต่ แล้วเราคิดว่าเราจะหนี เราสึกไปโดยไม่ปลงอาบัติ นี่เป็นอาบัติสังฆาทิเสส ยังไม่ได้อยู่กรรม อาบัตินี้มันจะติดตัวไป พอติดตัวไปแล้ว ไปทำอะไร ถ้ามันมีบุญกุศลมากๆ มันก็เป็นไปได้
ถ้ามีสิ่งใดแล้ว คำว่า “กรรม” คนเรานะ เราทำโดยตัวเราอิสระ เรายังทำงานได้ เราทำแล้วยังมีตัวถ่วงอย่างนี้ เราเสียเปรียบเขานะ เหมือนนักกีฬาที่เขาฝึกซ้อม เขาเอายางผูกไว้แล้วเขาวิ่ง วิ่งด้วยตัวคนเดียวมันก็เหนื่อยอยู่แล้ว ยังเอายางผูกไว้อีก แล้วก็วิ่งลากล้อยางไปอีก นั่นน่ะมันตัวถ่วง
นี่ก็เหมือนกัน เวรกรรมมันเป็นตัวถ่วง ถ้าเราตัดซะ ตัดยางนั้นออก เราไม่ลากอันนั้นไป เราก็สะดวกขึ้น
นี่ก็เหมือนกัน อาบัติที่ติดตัวๆ ไป มันเป็นเวรเป็นกรรม ทีนี้ถ้าเราหนีไป มันก็มีบ่วงนั้นน่ะผูกติดตัวเราไป
ถ้าเราบวชใหม่ อาบัติยังอยู่ไหม
อยู่
แล้วทำอย่างไรล่ะ
ก็ปลงอาบัติไง ทีนี้การปลงอาบัตินะ อาบัติสังฆาทิเสส ปิดไว้เท่าไรก็ต้องอยู่กรรมเท่านั้น ฉะนั้น ถ้าอยู่กรรม เคยบวชเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว เคยบวชเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว ต้องอยู่กรรมถึง ๒๐ ปีเชียวหรือ
มันก็อยู่ที่ว่าสังฆาทิเสสที่สงฆ์เป็นใหญ่ เราเคยได้ฟังเทศน์ของหลวงปู่หล้า หลวงปู่หล้าท่านบอกว่า เวลาปลงอาบัตินี่นะ ถ้ามันอยู่กรรมอย่างนี้ สงฆ์สามารถกำหนดให้ได้ แต่ไม่ใช่ผู้อยู่ต้องการนะ เพราะสังฆาทิเสส สงฆ์เป็นใหญ่ สังฆะ ความผิดจากสงฆ์ คือทำลายสงฆ์ ทำลายองค์กร คณะสงฆ์นั้นสามารถ ถ้า ๒๐ ปี บวชเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้วเป็นสังฆาทิเสส แล้วตอนนี้มาบวชใหม่ ก็ต้องนับ ๒๐ ปี ก็ปิดมา ๒๐ ปีไง
คำว่า “ปิด” คือว่าเป็นอาบัติสังฆาทิเสสแล้วไม่ได้บอก บอกคือการประจาน ถ้าบอกประจานปั๊บ เวลาหยุดทันที สมมุติใครเป็นสังฆาทิเสส ถ้ายังไม่แน่ใจ ยังเก็บไว้ ๒ วัน ๕ วัน ๑๐ วัน ถ้าแน่ใจ วันที่ ๑๐ แน่ใจ แน่ใจก็บอกพระเลย บอกว่าผมเป็นอาบัติสังฆาทิเสส ถ้าเป็นอาบัติสังฆาทิเสสปั๊บ ต้องอยู่กรรม ๑๐ วัน ๑๐ วันที่ปิดไว้ แต่ถ้าไม่บอก เวลามันจะทบไปเรื่อยๆ ตั้งแต่วันที่ปิด
ฉะนั้น เวลาพอบอกปั๊บ ถ้ามันนับวันได้ หรือสามารถที่จะอยู่กรรมได้ เขาต้องให้อยู่กรรม ต้องอยู่กรรมก่อน อยู่ปริวาสก่อน พออยู่ปริวาสจบแล้ว ชดใช้จบแล้วถึงไปอยู่มานัต มานัตคือต้องอยู่กับสงฆ์ ต้องให้ควบคุมโดยสงฆ์ว่าเขามีพฤติกรรมดีขึ้นไหม เพราะอยู่มานัตอีก ๗ วัน เสร็จแล้วถึงอัพภาน
อัพภานคือยกจากสงฆ์ที่ไม่ปกติ ถ้าเป็นอาบัติสังฆาทิเสสเขาเรียกว่าไม่ปกติภิกษุ ยกขึ้นมาสู่ปกตัตตะภิกษุ ยกขึ้นมาสู่สงฆ์เสมอกัน ถ้ายกขึ้นมาสู่สงฆ์เสมอกัน พร้อมกัน
ฉะนั้น ที่ปิดไว้มันก็จะมีปัญหาอย่างนี้ แต่ส่วนใหญ่แล้วคนที่ไม่รู้แล้วทำไป เราจะบอกว่า เวลาอาบัติเป็นสังฆาทิเสส เวลาครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติท่านว่า ปิดมรรคปิดผล กั้นมรรคกั้นผล คนปฏิบัติมันเลยปฏิบัติยาก
ฉะนั้น เราเคยเจอ ธรรมดาเรื่องของพระมันก็อยู่ในวงการพระ มันเป็นตำนานเล่าๆ กันมา เห็นว่าคนที่เป็นอาบัติแล้วออกไปประกอบสัมมาอาชีวะมันจะขัดสน มันจะอะไร เขามาบวชเพื่อมาอยู่กรรม แล้วมาปลงอาบัติ แล้วออกไปทำมาหากินใหม่ เขาก็ดีขึ้น
กรณีนี้เพราะว่าอะไร เพราะพระพุทธศาสนาในเมืองไทย ๗๐๐ กว่าปี ตั้งแต่สมัยสุโขทัยมา ๗๐๐ กว่าปี แล้วศาสนามัน ๒,๐๐๐ กว่าปีใช่ไหม จากสุโขทัย จากสุโขทัยเอามานครศรีธรรมราช นครศรีธรรมราชมาจากลังกา ลังกามาจากอินเดีย มันส่งต่อกันมา ฉะนั้น เรื่องวัฒนธรรมมันยาวไกล มันถึงมีตำนานเรื่องนี้เยอะมาก
ทีนี้เวลาพูดไปมันก็เหมือนกับว่าหลวงพ่อจะเขียนเสือให้วัวกลัวอีกแล้ว
นี้เราพูดแต่เรื่องจริง
ฉะนั้น สิ่งที่เราผิดพลาดไปแล้ว คนผิดใช่ไหม แล้วมาบวชใหม่ มันมีโอกาส เราก็ปลงอาบัติซะ คืออยู่กรรม อยู่กรรมโดยให้สงฆ์ท่านวินิจฉัยให้ว่าเราควรอยู่กรรมเท่าไร แล้วอยู่กรรมเท่าไรเสร็จแล้ว สงฆ์เป็นผู้วินิจฉัยให้ สังฆาทิเสส คือเรามีความผิดพลาดกับสงฆ์ แล้วสงฆ์นี้เป็นผู้วินิจฉัยให้มันจบที่นั่นไง มันไม่ใช่เราวินิจฉัย เพราะเราทำผิดกับคณะสงฆ์ คณะสงฆ์เป็นผู้วินิจฉัย วินิจฉัยให้อยู่กรรมเท่าไร เราอยู่กรรมเสร็จแล้วเราก็ขึ้นมานัต อยู่มานัตเสร็จแล้วเราก็อัพภาน ก็จบเรื่องสังฆาทิเสส
แต่เรื่องกรรมเก่า เราควรทำไหม
ยิ่งกว่าควรอีก
กรณีนี้มันมีกรณีที่ว่าปิดมรรคปิดผลนะ แต่ครูบาอาจารย์ที่ท่านมีกำลังใจที่เข้มแข็ง ท่านพูดถึงพระฉันนะ พระฉันนะ ตอนที่พระพุทธเจ้าออกบวช เป็นคนที่ขี่ม้ากัณฐกะออกมาบวช แล้วเขาถือตัวถือตนว่ามีพระพุทธเจ้าเพราะมีเขา เขาจะมีทิฏฐิมานะมาก แล้วเขาก็จะมาคอยกีดกันเวลาใครเข้าไปหาพระพุทธเจ้า ตอนหลังเขามาบวชตามพระพุทธเจ้า แล้วมันก็มีปัญหามาก
พระอานนท์ถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานว่า ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว พระฉันนะนี่จะทำอย่างไร
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้ลงพรหมทัณฑ์ ลงพรหมทัณฑ์คือปรับเหมือนสังฆาทิเสส พอลงพรหมทัณฑ์ปั๊บ ไม่ให้ใครคบ เพราะสังฆาทิเสส ไม่ให้พระเข้าไปยุ่งนะ ถ้าเป็นสังฆาทิเสสแล้วพระจะอยู่ด้วยไม่ได้ เขาต้องอยู่ด้วยตัวเขาเอง เพราะเหมือนกับเขาไม่ใช่พระ เขาต่ำกว่าพระ พระจะกินกับเขาไม่ได้ จะอยู่กับเขาไม่ได้
พอพระอานนท์ลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ พระฉันนะเสียใจมาก เข้าป่าไปเลย ไปภาวนาอย่างจริงจังเลย
เพราะว่าพอพระอานนท์ลงพรหมทัณฑ์ ลงพรหมทัณฑ์เสร็จ ถ้าเขาสำนึกได้ เขาต้องสำนึกตัว แล้วเขาต้องมาขอขมาคณะสงฆ์ไง
พระฉันนะรับไม่ได้ เข้าป่าไปเลย เสียใจมาก แล้วก็ไปมุมานะในการปฏิบัติจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ย้อนกลับมา เพราะพระอรหันต์ไม่มีทิฏฐิแล้วใช่ไหม พอเป็นพระอรหันต์ ย้อนกลับมาหาพระอานนท์ บอกว่าจะมาปลงอาบัติ อาบัติสังฆาทิเสส
พระอานนท์บอกว่าปลงอะไร เป็นพระอรหันต์ อาบัติก็จบแล้ว เพราะเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว พระอรหันต์นี้เป็นสติวินัย พ้นจากการเป็นอาบัติทั้งหมด เพราะเป็นพระอรหันต์
ครูบาอาจารย์ที่ท่านเข้มแข็งท่านอ้างข้อนี้ไงว่าสังฆาทิเสสว่าปิดมรรคปิดผล ทำไมพระฉันนะไปได้ นี่พูดถึงนะ
แต่ถ้ามีเวรมีกรรม ในพระพุทธศาสนา ตำนานเรื่องอย่างนี้มันมี แต่ถ้าเราจะบวชครั้งที่ ๒ ต้องทำเลยล่ะ ไม่ใช่ว่าควรทำ ต้องทำเลย เพราะเรามีบาดแผล เรามีโทษอยู่ แล้วเราบวชครั้งที่ ๒ แล้วไม่ทำ โอ๋ย! แย่มาก
เรามีความบกพร่องใช่ไหม แล้วเราบวชครั้งที่ ๒ เราควรจะทำให้มันดีขึ้นไหม
ต้องทำ ทำเลย ถ้าทำก็จบ
ฉะนั้นบอกว่า ถ้าบวชครั้งที่ ๒ แล้วเขาจะปลงอาบัติ เพราะว่าบวชครั้งที่ ๒ ควรจะต้องมีพิธีกรรมปลงอาบัติเก่าๆ ในครั้งที่บวชครั้งแรกใช่ไหมครับ สำหรับอาบัติเล็กน้อยไม่ต้องพูดถึง เพราะอาบัติเล็กน้อยมันปลงได้
เราเป็นพระอยู่ ต้องปลงอาบัติ เห็นไหม เวลาพระเขาจะสึก เขาปลงอาบัติก่อน เขาขอขมาลาโทษ แล้วเขาก็สึกไป เพราะอะไร คนที่ไม่ศรัทธาไม่มีความเชื่อ เขาก็ว่ามันไม่มีผล แต่ถ้าคนเขามีศรัทธา เขาเชื่อมากนะ
ถ้าเขาเชื่อ เขาพยายามเอาแต่ความเป็นมงคลชีวิตเขาไป เพราะเขาเชื่อเขาศรัทธาของเขา เขาจะสึก เขาปลงอาบัติก่อน แล้วเขาก็ขอขมาลาโทษ แล้วเขาสึกไปแล้ว สิ่งใดที่เขาใช้สอยในวัด เขาก็มาบำรุงรักษาใช้คืน นี่ก็เพื่อมงคลชีวิตของเขา นี่ถ้าคนเชื่อคนศรัทธาเขาคิดอย่างนั้น
ไอ้คนไม่เชื่อ ดูสิ ของในวัดทั่วไป ขโมยมันยังเข้าไปลักเลย จีวรตากไว้ มันเอาไม้เกี่ยวไปเลย นั่นเขาคิดไปอีกอย่างหนึ่ง นานาจิตตัง ถ้าเชื่อไปอย่างหนึ่ง ไม่เชื่อไปอีกอย่างหนึ่ง
“๓. บ้างก็ว่าอาบัติแบบนี้จะมีกรรมนั้นกรรมนี้ติดตัว มีผลต่อมรรคผลนิพพาน มีผลต่อการภาวนา แต่ผมเชื่อว่าอาบัติไม่ถึงปาราชิกแล้ว ถ้าพอปล่อยวางได้ ไม่ยึดติดในใจ”
มันได้ ข้อนี้ว่าได้ มันก็เหมือนที่ว่าไปแล้ว พระฉันนะนั่นน่ะ นั่นเขาทำได้
แต่ถ้ามันเป็นความจริง ทุกคนปฏิบัติก็อยากจะสะดวกใช่ไหม ทุกคนปฏิบัติ ดูสิ เราปฏิบัติล้มลุกคลุกคลาน ถ้าปฏิบัติแล้วมันได้มรรคได้ผล เราก็ต้องการตรงนั้น ใครปฏิบัติก็อยากทางสะดวกทั้งนั้นน่ะ ฉะนั้น ถ้ามันเป็นขวากหนาม เป็นการปิดกั้นการปฏิบัติ เราก็จะหลีกเลี่ยงอยู่แล้ว
แล้วบอกว่าถ้ามันมีมรรค มันมีของมัน ถ้ามันมีอาบัติ มันมีผลต่อการภาวนา
มี มีแน่นอน มีแน่นอนในชาติปัจจุบันนี้ไง อย่างเช่นปาราชิก ปาราชิกมันก็ชาตินี้ ชาติต่อไป ไอ้ที่ว่าตาลยอดด้วนจบแล้วนะ เพราะเวลามันหมดอายุขัย มันหมดชีวิตนี้ไป มันไปเกิดใหม่ พอการเกิดใหม่ อย่างที่เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ แต่ละภพแต่ละชาติเราทำมามากน้อยขนาดไหน ถ้าทำมามากน้อยขนาดไหน ดูสิ พระในสมัยพุทธกาลฟังพระพุทธเจ้าปั๊บ เป็นพระอรหันต์เลย
พระก็งง เราอยู่กับพระพุทธเจ้าตั้งนาน ไม่เห็นได้อะไรเลย คนอื่นมาฟังพระพุทธเจ้าทีเดียวเป็นพระอรหันต์เลย ก็ถามพระพุทธเจ้า ทำไมเป็นแบบนั้น
พระพุทธเจ้าจะบอกเลยว่า เมื่อชาตินั้นๆ เขาเคยบำเพ็ญเพียรมากับพระพุทธเจ้า ชาตินั้นพระพุทธเจ้าบอกว่า เราเป็นกษัตริย์ พวกนี้เขาเป็นผู้ที่มาด้วยกัน เมื่อชาตินั้นเราเป็นไอ้นั่น เมื่อชาตินี้เราเป็นไอ้นี่ แล้วพวกนี้เขาปฏิบัติของเขามา เขาทำของเขามา
ทีนี้เวลามาชาติปัจจุบันนี้ พอฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีเดียวเขาสำเร็จเป็นพระอรหันต์เลย บางคนไปอยู่กับพระพุทธเจ้า อย่างเทวทัตไปอยู่กับพระพุทธเจ้ายังจะขอปกครองสงฆ์ ยังพยายามจะชิงการนำจากพระพุทธเจ้า เขาเป็นชูชก เขาก็เป็นคู่แข่งพระพุทธเจ้ามาตลอด
นี่ก็เหมือนกัน เวลาภพชาตินี้เป็นภพชาตินี้ แล้วเวลาที่ว่าถ้าทำความผิด ตาลยอดด้วนมันปิด แต่ชาติต่อไป ได้
ฉะนั้น เพียงแต่ว่าในชาติปัจจุบันนี้ ในชาติปัจจุบันถ้าเรามีความผิด เขาบอกว่ากรรมนี้มีผลต่อการภาวนา มันมีกรรมติดตัวไป ปิดกั้นมรรคปิดกั้นผล ถ้าเรายังมีโอกาสแก้ไข เราแก้ไข แต่ถ้าเราไม่มีโอกาสแก้ไข เราวางไว้
แล้วอย่างที่คำถามถามมานี่ ในเมื่อเราสำนึกผิด เราอยากทำคุณงามความดี ทุกคนเวลาทำผิดพลาดไป มันทำผิดไปแล้ว แต่ขณะที่เรามีสติมีปัญญาแล้วเรารู้สำนึกถูกสำนึกผิด เราก็พยายามทำคุณงามความดีของเรา แล้วเราก็พยายามภาวนาของเรา
คำว่า “ที่มันมีผลๆ” เพราะเรารู้ไง พอเรารู้ มันเกิดนิวรณ์ เกิดนิวรณ์มันก็กางกั้นอยู่แล้ว แล้วเวลาปฏิบัติไป เวลาคนที่ปฏิบัติไป เราอยู่ในวงการนะ เวลาพระเราปฏิบัติไป จิตมันจะลง มันจะดีดออกเลย ปื๊ด ปื๊ดเลยนะ บางคนไม่เคยลงนะ
เราเคยมีหมู่คณะ มีเพื่อน เขาสงสัยมาก เวลาจิตเขาจะลง มันเด้งออกเลยนะ เขาอดอาหาร เขาพยายามเต็มที่เลย เขาทำของเขาเต็มที่เลย แล้วทำไมมันเป็นอย่างนั้นน่ะ
สุดท้ายแล้วเขาสงสัยในตัวอุปัชฌาย์ของเขา มันน่าจะมีผลต่อการบวช ตอนบวชอุปัชฌาย์ เราไม่แน่ใจว่าอุปัชฌาย์เป็นพระหรือเปล่า สุดท้ายเขาเลยทำทัฬหีกรรม คือไปบวชซ้ำ ไปบวชซ้ำ ไม่สึก บวชซ้ำอีกทีหนึ่งเพื่อว่า ถ้าบวชครั้งแรกมันผิด ก็มีอุปัชฌาย์องค์เดียว มาบวชซ้ำ เขาเรียกว่าทำทัฬหีกรรม บวชซ้ำครั้งที่สอง เวลาในการปฏิบัติมันมีปัญหาขึ้นมา เขาจะแก้ไขของเขา ถ้าแก้ไขของเขานะ
ไอ้อย่างที่ว่ามันจะมีผลต่อการปฏิบัติไหม
มันมี มันมีเพราะเรารู้ หนึ่ง ขณะว่าอารมณ์เรากระทบรุนแรง เรายังภาวนายากเลย แต่ถ้าอารมณ์มันไม่กระทบนะ เห็นไหม เวลาบอกว่าบุญบวช เวลาบวชนี่ได้บุญมาก แต่เวลาคนที่มีโอกาสแล้ว มาเป็นพระแล้วทำผิด มันก็ทำผิดมาก เวลาผิด มันมีผลมากนะ เวลาทำดีได้ดีมาก เวลาทำผิดก็มีผิดมาก
นี่พูดถึงว่าถ้ามันมีผลในการปฏิบัติ มีผลในการปฏิบัติ เพราะในความเชื่อของกรรมฐานบอกว่า ถ้าสังฆาทิเสสปิดกั้นมรรคผลเลยล่ะ เพราะว่าสังฆาทิเสส เวลาใครเป็นสังฆาทิเสส ถ้ามีสำนึกนะ ถ้าปิดไว้ การอยู่กรรม เวลาก็เดินไป แต่ถ้าสารภาพ จบ
ถ้าสารภาพปั๊บ เข้าร่วมสามีจิกรรมไม่ได้ คือเข้าร่วมอุโบสถไม่ได้ เข้าร่วมทำสังฆกรรมไม่ได้ ร่วมฉันกับพระปกติไม่ได้ ต้องแยกไปเลย นี่ถ้ามันสำนึกปั๊บ มันจะเป็นอย่างนั้นเลย พอเป็นอย่างนั้นปั๊บ เราก็ต้องปรับปรุงแก้ไขขึ้นมาให้เป็นปกตัตตะภิกษุ ถ้าไม่เป็นปกตัตตะภิกษุเข้าร่วมสามีจิกรรมไม่ได้
ขณะถ้าร่วมสามีจิกรรมไม่ได้ ก็เลยมีความเชื่อ มีความเชื่อกันว่า ถ้าปฏิบัติแล้วมันจะกั้น เพราะมันไม่เสมอ มันเหมือนเราถ้าเป็นบุคคลธรรมดา ไอ้นี่มันลดลงไป มันต่ำกว่าบุคคลธรรมดา แล้วมันจะทำได้ไหม นี่ความเชื่อของกรรมฐาน
แต่ถ้าเรามีความมั่นใจว่า ถ้าไม่ถึงปาราชิก เราทำได้
อันนี้เราชมน้ำใจ เอาเลย ถ้าทำได้ เอาเลย
อันนี้พูดถึงว่ามันมีผลทางการปฏิบัติหรือไม่มีผลกับการปฏิบัตินะ
ทีนี้ “ป.ล. เคยฟังเทศน์ท่านอาจารย์ว่า พระธุดงค์ตามป่าต้องมีศีลบริสุทธิ์ ไม่อย่างนั้นสัตว์ป่า หรือผีป่า หรือสิ่งชั่วร้าย จะทำอันตรายได้”
มันมีข้อเท็จจริงไง มันมีข้อเท็จจริงที่หลวงปู่มั่นท่านจะขึ้นไปถ้ำสาริกาครั้งแรก พอไปถึงหมู่บ้านนั้น สมัยก่อนแถวนั้นมันยังเป็นป่ารกชัฏอยู่นะ หลวงปู่มั่นไปครั้งแรก ชาวบ้านบอกว่า ท่านอย่าขึ้นไปเลย พระขึ้นไปตายมาแล้ว ๓ องค์ ๔ องค์ ท่านจะขึ้นไปทำไม
หลวงปู่มั่นบอกว่า “โอ๋ย! ถ้ามีคนตายอยู่มันก็น่ากลัว แต่อาตมาก็มาแล้ว ขอขึ้นไปดูนิดหนึ่ง” ก็ขอร้องให้ชาวบ้านเขาไปส่ง
ชาวบ้านไปส่ง พอไปส่ง ขึ้นไปบนถ้ำแล้วก็บอกชาวบ้านว่าให้ชาวบ้านกลับไปเถอะ จะขออยู่ แล้วขออยู่ พอหลวงปู่มั่นขึ้นไปพักบนถ้ำสาริกา นี้อยู่ในประวัติหลวงปู่มั่น ท่านก็กำหนดจิตภาวนา เพราะหลวงปู่มั่นท่านมีญาณของท่าน ท่านมีปรมัตถ์วิชาของท่าน กำหนดจิตดูว่าพระที่มาอยู่ที่ถ้ำทำไมถึงตาย ตายเพราะเหตุใด
ในประวัติหรือในปฏิปทาฯ ไปดูได้ หลวงปู่มั่นก็กำหนดดู ย้อนไปดูว่าเขาเป็นอะไรถึงตาย ถึงได้ไปเห็นว่าพระที่ไปอยู่นั่นน่ะเขาออกไปบิณฑบาต หมู่บ้านมันห่างไกล พอบิณฑบาตกลับมาแล้ว ธรรมดาพระเราบิณฑบาตกลับมาต้องฉัน เขาเรียกกาล ฉันในกาล ยาวชีวิก สัตตาหกาลิก มันอยู่ในกาลไง อาหารนี้ฉันได้ถึงก่อนเพล ถ้าเป็นน้ำตาล น้ำอ้อย ได้ ๗ วัน สิ่งที่เป็นยาได้ตลอดชีวิต
ฉะนั้น พอเขาบิณฑบาตมาฉัน ฉันมื้อนี้ มันฉันวันนี้ใช่ไหม แล้วสิ่งของแห้งๆ เขาเก็บ ของแห้งนี่แหละเก็บไว้ เก็บไว้ไปฉันรุ่งขึ้น วันรุ่งขึ้นเขาฉันซ้ำไง ถ้าฉันซ้ำเขาเรียกนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ภิกษุได้สิ่งนี้มาแล้วเก็บไว้แรมคืน เก็บไว้ สะสมไว้ แล้วรุ่งขึ้นไปฉัน เป็นอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ แค่นี้
พวกเจ้าที่ที่นั่นน่ะทำจนตาย ตายเพราะอาบัติข้อนี้ ตายเพราะบิณฑบาตมา แล้วอาหารมันมีมาก มีของแห้ง วันนี้ฉันเฉพาะอาหารสด อาหารแห้งเก็บไว้ฉันวันรุ่งขึ้น อาบัติอย่างนี้ทำให้ถึงกับเสียชีวิต พระไปตายที่นั่น ๓ องค์ ชาวบ้านที่นั่นเขาเห็นกันหมด แต่ตายด้วยอะไรไม่รู้ แต่หลวงปู่มั่นบอกตายเพราะว่าผิดศีล
ฉะนั้นถึงบอกว่า ฟังที่หลวงพ่อบอกว่าพระที่ธุดงค์ในป่า ศีลต้องบริสุทธิ์ ถ้าไม่อย่างนั้นผีจะทำ
เวลาเขาทำ เราไม่รู้ตัวหรอก แล้วเขาทำนี่เขาทำอะไร ถ้าเราไปทำคุณงามความดีล่ะ หลวงปู่มั่นไปอยู่ในป่านะ เวลาไปอยู่ในป่า เจ้าที่แรง หลวงปู่มั่นรู้ว่าเจ้าที่นี่แรง เดินจงกรมก็ระวังไง เดินแบบสำรวมระวัง ผีมันคิดในใจ หลวงปู่มั่นรู้นะ ผีมันติไง เวลาเริ่มต้น หลวงปู่มั่นท่านเดินปกติก่อน
ผีมันติในใจนะ “พระอะไรเดินจงกรมวิ่งอย่างกับม้าแข่ง” เหมือนกับม้าแข่ง ไม่สำรวมน่ะ
หลวงปู่มั่นก็รู้ในใจว่าเขาคิดไม่ดีแล้ว ก็เลยสำรวมระวัง เดินจงกรมเรียบร้อยนะ
“พระอะไรมาเดินจงกรมย่องๆ เหมือนคนป่วย”
เวลาคนพาลมันคิดอย่างนั้นน่ะ เวลาเดินปกติมันก็บอกว่าวิ่ง เดินจงกรมอย่างกับม้าแข่งเลย เดินกระฉับกระเฉงไง เดินเร็ว เขาเดินจงกรม เขาไม่ใช่มาแข่งม้า นี่เขาติในใจ
หลวงปู่มั่นรู้แล้วก็สำรวมระวังนิดหนึ่ง เขาก็ติอีกแล้ว “พระอะไรมาเดินจงกรมอย่างกับคนป่วย เดินย่องๆ อย่างกับคนป่วย”
หลวงปู่มั่นก็ทำดี ก็ทำต่อไปเรื่อยๆ พอทำถึง ทำอะไรเขาก็ติหมดเลย
หลวงปู่มั่นทำสมาธิ พอจิตลงสมาธิแล้วเทศน์ให้เขาฟัง เทศน์เลยนะ บอกว่า “ผมนะ ก็เป็นคน ผมจะทำอะไรมันก็สุดวิสัย เพราะคนทำได้แค่นี้ ผมก็ระวังทุกอย่างทำให้อยู่ในศีลในธรรม ท่านต่างหากคอยจับผิดเขา ท่านต่างหากคอยจับผิดสมณะ สมณะนี้เป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ สมณะเป็นผู้มีศีลนะ สมณะเป็นผู้ที่ละแล้ววางแล้วนะ ท่านเองจะมีบาปมีกรรมนะ” เทศน์จนเขาลง เทศน์จนเข้าใจ
นี่ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาว่า หลวงพ่อบอกว่าพระธุดงค์ต้องมีศีลบริสุทธิ์ ต้องมีต่างๆ
ไอ้นี่มันคุ้มครองตัวเรานะ เพราะเรามั่นใจไง เราธุดงค์มาอยู่ในป่าในเขา เราไปเจอมาอย่างนี้เหมือนกัน เราไปเจอพวกสัตว์ร้ายเหมือนกัน เราไปเจอเหมือนกัน แล้วเราไม่ใช่ไปเจอคนเดียวนะ เวลาไป พระมีไปหลายองค์ ถ้าเราไปคนเดียว เราจะพูดอย่างไรก็ได้ เราจะไปเจออะไรก็ได้ แต่เราธุดงค์ไป เรามีพระไปด้วย แล้วพระไปด้วย ไปเจอมาด้วยกัน มันยืนยันได้ ถ้ายืนยันได้แล้ว พอยืนยันได้ เราอยู่ได้อย่างไรล่ะ
เรามีศีลไง เรามีศีลด้วยความอบอุ่นของเราไง ถ้าคนที่ไม่มีศีลหรือศีลเขาไม่แน่ใจของเขา เขาต้องปลงอาบัติ เย็นๆ มาปลงอาบัติแล้ว
นี่พูดถึงว่าสิ่งที่เรามองไม่เห็นไง
แล้วเรื่องสัตว์ร้าย
สัตว์ร้าย เราไปเจอช้าง เราไปเจอเสือ เราเจอนะ เจอช้าง เจอเสือในป่า ไม่ใช่เจอช้างในกรง ไม่ใช่เจอเสือในกรง ไม่ใช่ เจอเสือมันมีแม่ลูกอ่อนด้วย เราไปเจออยู่ในป่า ถ้าเจออยู่ในป่า มันคำรามใส่อย่างนี้ คิดดูสิว่าจะทำอย่างไร แต่ถ้าคนมีศีล นี่พูดถึงเวลาคนปฏิบัติ
แต่ในปัจจุบันนี้ป่าเขามันเริ่มลดน้อยลง แล้วสัตว์ป่า ในอุทยานแห่งชาติ เสือยังมี สัตว์ป่ายังมี แล้วพระเราไปเสียชีวิตกับสัตว์ป่าก็มี พระเราไปเสียชีวิต ไปเสียสติกับพวกสิ่งที่มองไม่เห็นก็มี เพียงแต่ว่าเราจะเห็นหรือเปล่า
แล้วทำไมเราต้องไปทรมานตัวอย่างนั้นน่ะ
เราจะปราบปรามกิเลสไง เราอยากชนะกิเลส เราไปธุดงค์เพื่อจิตใจไง เพื่อทำสมาธิของเราไง เพื่อเกิดปัญญาของเราไง ฉะนั้น อยู่ในปกติ อยู่ในสังคม มันนอนใจ มันไม่จริงจัง เวลาออกไปอยู่สภาพแบบนั้นมันเป็นสภาพที่เราจะเอาชนะตนเอง มันไปอยู่ในสภาพที่เราจะรื้อค้นกิเลส จะเห็นหน้ากิเลส จะต่อสู้กับกิเลส
ฉะนั้น จะต่อสู้กับกิเลส เห็นไหม ในวัฏฏะการเวียนว่ายตายเกิดมันก็มีสิ่งที่เกิดซ้อนกันมา ทีนี้มันไปปฏิบัติ คนที่ส่งเสริมก็มี คนที่มาทำลายก็มี ทีนี้เพียงแต่เราจะปฏิบัติแล้วเราก็เอาจริงเอาจังของเรา แล้วทำเพื่อประโยชน์กับเรา
ในการปฏิบัติ เราปฏิบัติเพื่อชำระกิเลส เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อจะให้ใครยอมรับ เราไม่ใช่อยากปฏิบัติไว้โฆษณาเป็นประวัติไง เข้าป่า ๒ วัน ออกมาจะเขียนประวัติเที่ยวป่า ๒ วันนั้นเพื่อจะเอาชื่อเสียงของตัว ถ้าคนคิดอย่างนั้นมันก็คิดส่งเสริมกิเลส แต่ถ้าเราเข้าป่าไปเพื่อจะชนะตนเอง เข้าป่าไปเพื่อจะกำราบปราบปรามกิเลส เพื่อประโยชน์กับเรา อันนั้นจะเป็นประโยชน์กับเรา
นี่พูดถึงว่าพระธุดงค์ไง เพราะธุดงค์มันธุดงค์จริงๆ แต่ในปัจจุบันนี้มันธุดงค์กันด้วย เดี๋ยวนี้ธุดงค์รอบโลก มันมีตั๋วเครื่องบินไปทั่วเลย จะไปธุดงค์เยอรมัน จะไปธุดงค์เมืองจีน โอ้โฮ! ธุดงค์กันเต็มที่เลย ถ้าเขาธุดงค์กันอย่างนั้นมันเป็นเรื่องของว่าศาสนาเจริญรุ่งเรือง แล้วพระลืมตัว พระลืมตัว โยมก็ส่งเสริมแล้วพระลืมตัว
แต่ถ้าพระไม่ลืมตัวนะ เรามีเท้า เราเดินเข้าป่าเข้าเขาไป เราไปค้นหาหัวใจของเรา มันเป็นประโยชน์กับเราไง กิเลสเกิดกับเรา เราจะแก้ไขหัวใจของเราเพื่อชำระกิเลสของเรา เราต้องทำของเรา
คนที่เขาจะส่งเสริม เขาส่งเสริมให้ส่งเสริมอยู่ในศีลในธรรม ส่งเสริมเพื่อไม่ทำให้พระเสียนิสัย ส่งเสริมไม่ทำให้พระนี้ถึงกับว่าหลุดออกไปจากความเป็นสมณะ เอวัง