สัญลักษณ์
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๘
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “พระพุทธบาทสี่รอย”
กราบนมัสการหลวงพ่อ วันที่ ๑๖-๑๘ บุญบารมีอันสูงส่งที่หนูมีบุญได้กราบไหว้บูชาพระพุทธบาทสี่รอย เปรียบเสมือนได้กราบพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์เลยค่ะ ตอนแรกคิดอยู่ก่อนแล้วว่าได้กราบพระพุทธบาทสี่รอยแล้วใจต้องโน้มน้าวถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ยิ่งขึ้น อีกอย่างเพื่อนที่ไปกราบไหว้บูชาแล้วเล่าให้ฟังว่า สถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์มากๆ พลังแรงมากๆ หนูก็ตั้งใจไว้ว่าจะไปรับพลังกลับมาเพื่อพัฒนาเจริญภาวนาของตน
แต่แปลกมากค่ะหลวงพ่อ ชั่วโมงตามอธิษฐานจิตก่อนเดินทาง แล้วหนูจำคำสอนของหลวงพ่อที่ว่าห้ามให้จิตออกนอกกาย ให้นึกแต่พุทโธ ก็พยายามนึกถึงพุทโธ อยู่กับพุทโธ แล้วถึงเวลากำหนดแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลเล็กน้อย ภาระทางโลกที่แบกไว้หายเลย และจิตเหมือนลำธารใสๆ เบากายเบาใจอย่างไรบอกไม่ถูก เนื่องจากไปเป็นคณะ ขึ้นรถแล้วอารมณ์และจิตใจก็กลับสู่ปกติ เพื่อนๆ คุยกันบนรถ
หนูคิดว่า ถ้าเราภาวนาตรงที่พระพุทธบาทสี่รอยแล้ว ถ้าเราปิดวาจา ภาวนาต่อไป ให้อยู่กับตัวเอง น่าจะดีมากค่ะ
หนูกราบพระพุทธบาทสี่รอยแล้วเห็นพระพุทธบาทสี่รอยใหญ่มาก (แต่บอกตามตรง หนูแยกไม่ค่อยออกว่า เนื่องจากไม่มีผู้รู้คอยอธิบาย ก็เลยดูไม่เป็นว่า รอยสอง รอยสาม ดูอย่างไร รอยหนึ่งใหญ่มาก ชัด ดูออกง่าย รอยที่สี่ขององค์ปัจจุบันเล็กสุด ก็ดูไม่ยากค่ะ)
คำถามหนูคือ รอยพระพุทธบาทใหญ่มาก นั้นหมายถึงพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ องค์มีรูปร่างใหญ่มากอย่างนั้นหรือคะ หรือว่าพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์มีรูปร่างเหมือนคนทั่วไปตามสมัยนั้นๆ แต่ใช้ฤทธิ์ทำให้พระพุทธบาทใหญ่ผิดปกติ
ผ่านไปอย่างน้อย ๒,๐๐๐ กว่าปี หนูไม่แน่ใจว่า ที่บอกว่าจารึกไว้คือคำพูดของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันมีการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรสมัยนั้น หรือแค่ตอนหลังๆ มีพระอรหันต์ใช้ตาในเห็น หนูสงสัย เลยกราบถามหลวงพ่อค่ะ
หลวงพ่อ : นี่ไปกราบพระพุทธบาทสี่รอย แล้วก็เอาโจทย์มาถามเราไง เขาไปกราบกันเนาะ เราไม่ได้ไป
ถาม : (ความสงสัยในศาสนา ตอนนี้ถามหลวงพ่อ)
ตอบ : เขาว่าอย่างนั้นนะ ความสงสัยในศาสนา
พระพุทธบาทสี่รอยเป็นที่เลื่องลือ ครูบาอาจารย์ของเราบางองค์ก็เคยไปกราบ บางองค์ก็ยังไม่เคยไป บางองค์ไปภาวนาที่นั่น การว่าไปภาวนาที่นั่น พระพุทธบาทสี่รอย เขาว่าเป็นที่เคารพบูชา
ถ้าเรามองเป็นเรื่องโบราณวัตถุ ถ้าเป็นเรื่องโบราณวัตถุนะ เราเห็นว่า สิ่งนี้ เราจะบอกว่าพระพุทธบาทสี่รอยเป็นสิ่งที่เคารพบูชา เป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ใช้ได้ นี่เป็นเรื่องจริง
แต่ถ้าจะมาวิเคราะห์กันว่าพระพุทธบาทสี่รอยเป็นรอยเท้าขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ ของเรา ๒,๐๐๐ กว่าปีนะ สมณโคดมเรา ๒,๐๐๐ กว่าปี แล้วนอกนั้นล่ะ มากไปกว่านั้นล่ะ
แล้วดูรอยพระพุทธบาท รอยพระพุทธบาททั่วๆ ไป รอยพระพุทธบาทที่เป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่เวลาเราเจอ เวลาไปแล้วเป็นรอยพระพุทธบาท แล้วอย่างนี้เขาทำเป็นเครื่องหมาย อย่างที่วัดโพธิ์ ดูสิ รอยพระพุทธบาท อย่างนี้มันเป็นสัญลักษณ์ เป็นสิ่งเคารพบูชา เป็นสิ่งเคารพบูชานี่ถูกต้อง อย่างนี้เราเห็นด้วย
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าพระพุทธบาทสี่รอย สิ่งนี้เป็นโบราณวัตถุ เป็นสิ่งมหัศจรรย์สิ่งต่างๆ ของโลกนี่ใช่ แต่ถ้าพูดภาษาเรานะ นี่เป็นสัญลักษณ์ไง เป็นสิ่งที่เคารพบูชาไง เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวไง ถ้าเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว เวลาเราเคารพบูชา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บ ทำไมเราเคารพพระพุทธรูปว่าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล่ะ
แล้วเด็กรุ่นใหม่ เวลาทางวิทยาศาสตร์ พ่อแม่ของหลายๆ คนมาบอกเลยว่า เวลากลับบ้านไป ระหว่างพ่อแม่ลูกคุยกันมันคุยกันด้วยเต็มปากเต็มคำ ก็ถามแม่ ลูกถามแม่นะ “แม่ แม่กราบทำไมน่ะ มันเป็นอิฐหินทรายปูน แม่กราบทำไมน่ะ มันเป็นทองเหลือง แม่กราบทำไมน่ะ”
อ้าว! เด็กมันคิดอย่างนั้นน่ะ เด็กมันคิดอย่างนั้น ถ้าเด็กมันคิดอย่างนั้นปั๊บ เขาก็คิดของเขาอย่างนั้น
แต่ของเราเรียกว่าเป็นรูปเคารพ คำว่า “รูปเคารพ” รูปเคารพ รูป เราสร้างรูปขึ้นมาเคารพ ทีนี้คำว่า “รูปเคารพ” เวลากราบพระ หลวงตาท่านถามว่า เวลากราบพระนี่กราบถึงพระไหม
เวลาเรากราบพระพุทธรูปเราไม่ได้กราบอิฐหินทรายปูน เราไม่ได้กราบทองเหลือง นี่เป็นรูปเคารพ เราระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบถึงพระไง กราบถึงปัญญาคุณ เมตตาคุณ พุทธคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว
ฉะนั้น เวลาสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ได้หล่อพระพุทธรูป ยังไม่ได้หล่อ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานไปแล้วหลายร้อยปีถึงได้มาหล่อกัน แล้วเวลาหล่อขึ้นมา ดูสิ มันก็แบบว่าเป็นปางต่างๆ
แต่ของเรา เวลากราบพระ เราบอกให้กราบถึงพระพุทธเจ้า กราบถึงพระพุทธเจ้า กราบถึงคุณงามความดี กราบถึงศาสนาพุทธเป็นศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นผู้รื้อค้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนเผยแผ่ธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าของศาสนา แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยนี้ไว้ เรากราบตรงนี้ เรากราบความสามารถ เรากราบปัญญา เรากราบความเมตตาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เราระลึกกัน เราก็มาสร้างเป็นพระพุทธรูปไว้ ที่วัดส่วนใหญ่จะมีพระพุทธรูปอยู่ในโบสถ์ อยู่ในศาลา เพื่อเป็นจุดยึดเหนี่ยวของชุมชนนั้นๆ
แล้วถ้าศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา ศักดิ์สิทธิ์ก็ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเราก็กราบ เทวดาก็กราบ พวกเทวดา อินทร์ พรหมเขาก็กราบ เขาก็รักษาของเขา เวลาเขาสร้างวัดของเขา เขาต้องสร้างสิ่งรูปเคารพ รุกขเทวดา เพื่อคุ้มครองดูแล นี่มันก็เป็นไป ไอ้นี่มันเป็นไป
ทีนี้พอออกไปแล้วมันจะออกจากนอกศาสนาพุทธแล้ว เพราะในศาสนาพุทธ พุทธมามกะเขาให้ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เท่านั้น เราจะไม่เชื่อสิ่งอื่นใด นี่เราจะออกไปแล้ว ออกไปรุกขเทวดา ออกไปผู้คุ้มครองรักษา เดี๋ยวมันจะออกไปเป็นศาสนาถือจิตวิญญาณแล้ว เพียงแต่ว่า ถ้ามันความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ มันศักดิ์สิทธิ์อย่างนั้น
แต่ของเราความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ เราจะศักดิ์สิทธิ์ในหัวใจของเราไง เราจะขลัง เราจะศักดิ์สิทธิ์ในหัวใจของเรา ถ้าเราขลัง เราศักดิ์สิทธิ์ในหัวใจของเรา เรามีศรัทธาความเชื่อ แล้วเราทำบุญกุศลกัน ทำบุญกุศลเสร็จแล้ว ถ้ามีอำนาจวาสนาบารมี เราจะภาวนากัน เราจะเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตัวเป็นๆ เราจะเห็นพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานกลางหัวใจ เราจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยปัจจัตตัง โดยสันทิฏฐิโกเลย โดยความเป็นจริงเลย นี่พูดถึงถ้าความมุ่งหมายของเรานะ
ฉะนั้น เขาบอกว่าเขาไปกราบพระพุทธบาทสี่รอย แล้วเวลาไปกราบ สิ่งที่ว่าเพื่อนๆ พากันไปไง ว่าสิ่งนั้นกราบแล้วจะภาวนาที่นั่น จะทำประโยชน์ที่นั่น ถ้าภาวนาที่นั่นจะดีอย่างนั้น
ครูบาอาจารย์เราเคยไปภาวนาแล้ว อย่างเช่นที่ว่าพระธาตุพนม แต่เดิมปล่อยไว้จนรกชัฏ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านธุดงค์ผ่านไป แล้วท่านไปฟื้นฟู ไปพัฒนา แล้วพัฒนาแล้วไปวางไว้อย่างนั้น ให้ผู้ที่มีอำนาจวาสนาบารมีเขาจะสร้างบารมีของเขา เขาก็มาอยู่บริหารจัดการ
แต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านพยายามจะพัฒนาของท่าน ท่านพยายามจะปฏิบัติของท่าน ท่านพยายามจะพ้นทุกข์ของท่าน ท่านจะรักษาหัวใจของท่าน เวลาพระที่จะไปกราบพระธาตุพนม ไปกราบหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอกว่า ธาตุ ๔ ในตัวไม่รู้จักรักษา ธาตุนะ ธาตุรู้ทำไมไม่ดูแล เราจะไปกราบแต่ธาตุข้างนอก ธาตุข้างในไม่ดูแล ธาตุรู้ เห็นไหม ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้าเราดูแลที่นี่ นี่เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านสอน สอนอย่างนั้น
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราจะไปภาวนาที่นั่น เราว่าถ้าภาวนาดี
มันเป็นรูปเคารพ มันเป็นสัญลักษณ์ มันเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวของชาวพุทธเรา ในเมื่อเป็นสิ่งทางโลก เราก็เห็นด้วยกับทางโลกเขา เราเห็นด้วยนะว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นรูปเคารพ เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวในหัวใจ
ฉะนั้นว่า ถ้าไปอย่างนั้นแล้ว เวลาภาวนาไปแล้วเขาบอกว่าเขาภาวนาแล้วใจเขาเบา มันเป็นประโยชน์
สิ่งนี้เป็นประโยชน์ เพราะอะไร เพราะสถานที่วิเวก กายวิเวก จิตวิเวก เราก็หาสถานที่อย่างนี้เพื่อภาวนากันอยู่แล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้นะ คำว่า “เป็นสัญลักษณ์” สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ แล้วพอบอกเป็นสัญลักษณ์แล้วเขาก็ถาม คำถามว่า รอยพระพุทธบาทหมายถึงพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ ฉะนั้น ถ้ารอยพระพุทธบาท แสดงว่ารูปร่างท่านต้องใหญ่โตมาก เพราะรอยใหญ่มาก แล้วรอยที่สอง รอยที่สาม รอยที่สี่เล็กลงมาตามๆ นั้น
อันนี้มันตีความได้หลายอย่างใช่ไหมถ้าเป็นการกระทำ เขาบอกว่ามันเป็นความจริง ความจริงอย่างนั้นแล้ว แต่เดิม เพราะว่าในโลกนี้มันจะเกิดแผ่นดินไหว มันจะเกิดทุพภิกขภัยไปตลอด มันจะเกิดภัยพิบัติมาตลอด ฉะนั้น เวลาแต่ละยุค ยุคโบราณ ดินมันกลบทับซ้อนกันมาอย่างนี้
นี่ก็เหมือนกัน คำว่า “พระพุทธบาทสี่รอย” เขาบอกว่ามันโผล่ขึ้นมา มันอะไรขึ้นมาตามตำนาน ตามตำนานที่นั่นเขาว่ากันอย่างนั้น แต่เราไปเห็นแล้ว เราเคยไปดูหนหนึ่ง เราไปเห็นแล้ว ใหญ่มาก แล้วคิดว่าเป็นรูปร่างของมนุษย์ นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง
แต่ถ้ามาคิดในปัจจุบันนี้ เราว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ใครจะทำขึ้นก็แล้วแต่ จะเป็นมนุษย์ทำขึ้นมา หรือจะเป็นเทวดาทำขึ้นมา หรือจะเป็นความจริง อันนั้นยกไว้ แต่ถ้าเราคิดว่ามันเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ มันเป็นสัญลักษณ์...จบ
ถ้าเราไปคิดว่ามนุษย์สมัยนั้น มนุษย์สมัยนี้ เพราะมนุษย์โบราณรูปร่างใหญ่โต มนุษย์โบราณ แล้วเป็นยุคเป็นคราว ถ้าเราเห็นเรื่องอย่างนี้แล้วเราเข้าใจไม่ได้ แล้วเราบอกว่าเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ล่วงมาแล้วอายุ ๘๐,๐๐๐ ปีอย่างนี้ แล้วเราอายุ ๘๐ ปี เราว่ามันเป็นไปได้ไหม สิ่งที่ว่านี่มันเป็นยุคเป็นคราว
ฉะนั้น เขาบอกว่า “คำถามคือรอยพระพุทธบาทใหญ่มาก นั่นหมายถึงว่าพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์รูปร่างใหญ่มากอย่างนั้นหรือคะ หรือว่าพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์นี้รูปร่างเหมือนคนทั่วไปสมัยนี้ แต่ใช้ฤทธิ์ทำให้พระพุทธบาทนี้ใหญ่ผิดปกติ”
อันนี้เป็นสัญลักษณ์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น นี่เป็นสัญลักษณ์ เป็นเครื่องหมาย แล้วเวลาเรามาดูรอยพระพุทธบาทตามสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเมืองหลวง ในสังคมไทย เราดูถึงว่าเวลาที่เกิดขึ้น ใครเป็นคนทำล่ะ เรารู้ เพราะมันมีที่มาที่ไป แล้วเราก็ย้อนกลับไปทางนั้น ย้อนกลับไปรอยพระพุทธบาทสี่รอยนั้น มันเป็นมาอย่างใด แล้วทำไมมีสี่รอย แล้วมันเป็นยุคเป็นคราวอย่างไร อันนี้อย่างหนึ่งนะ
ฉะนั้น พอถามมาว่า “ผ่านไป ๒,๐๐๐ กว่าปี หนูไม่แน่ใจว่า ที่เขาจารึกไว้”
นี่มันเป็นภาษาไง มันเป็นภาษา ถ้ามันเป็นภาษา เหมือนกับอักษรโบราณ แต่เราไม่ได้เห็นตรงนั้น อันนั้นก็ส่วนหนึ่ง
ฉะนั้น สิ่งที่ว่า เราดูแบบว่าพวกของโบราณวัตถุ เวลาเกิดสงครามโลกเขาทำลายไปหมดเลย แล้วเขาก็มาสร้างใหม่ สร้างใหม่ในพื้นที่เก่า ในพื้นที่เก่า เราอายุกี่พันปีล่ะ อายุเป็นพันๆ ปี มันต้องชำรุดไปแน่นอน แต่เขาก็ฟื้นฟูขึ้นมา เขาพยายามจะทำให้ได้เหมือนเก่า ถ้าทำให้ได้เหมือนเก่านะ แล้วเขาบอกว่าอายุเป็นพันๆ ปี อันนี้ก็อันหนึ่ง
ฉะนั้น สิ่งนี้มันเป็นสัญลักษณ์ใช่ไหม แต่จริงๆ แล้วเราย้อนกลับมา ย้อนกลับมาดูที่ว่า ถ้ากรณีนี้อย่างนี้ปั๊บ เราก็จะเริ่มสงสัย สงสัยสิ่งที่จารึกมา สิ่งที่พระไตรปิฎก พระไตรปิฎกเป็นสิ่งชี้เข้ามาภายในเลยนะ
ฉะนั้น คำว่า “สัญลักษณ์” นี้เป็นเรื่องหนึ่ง เรื่องที่เป็นพระไตรปิฎก ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาให้เรามีศรัทธามีความเชื่อ ถ้าเรามีศรัทธาความเชื่อแล้วเราจะค้นคว้าแล้ว อย่างที่หลวงปู่มั่นท่านพูด อย่าหลงธาตุข้างนอก เวลาไปไหว้พระธาตุๆ อย่าหลงธาตุข้างนอก ท่านจะให้ดูแลธาตุรู้ของเรา ให้ค้นคว้าหาธาตุรู้ของเรา ให้ค้นคว้าหาหัวใจของเรา ให้เห็นธรรมน่ะ
สิ่งนั้นมันเป็นศาสนวัตถุ ศาสนบุคคล เอาบุคคล คนเป็นใหญ่ หัวใจนี้เป็นใหญ่ ศาสนบุคคล ถ้าบุคคลทำได้จริงขึ้นมา สิ่งนั้นมันวางไว้เลย เพราะเวลาถ้าเข้ามาถึงหัวใจแล้วหัวใจจะมีคุณค่ามาก ถ้าหัวใจมีคุณค่ามาก สุขทุกข์มันอยู่ที่นี่
เวลามันทุกข์ เวลาทุกข์วิตกกังวล เรามีความทุกข์มาก ถ้ามีความทุกข์มาก ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง ถ้าเรากำหนดรู้เท่าทันทุกข์ ทุกข์ควรกำหนด ดับเลยนะ แต่สมุทัยละไม่ได้
เราทำสมาธิกันๆ เรากำหนดพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันสงบเข้ามา ทุกข์ควรกำหนด สิ่งที่มันผิดพลาดขึ้นมา เราควรกำหนด กำหนดแล้วถ้ามันไม่เกิดปัญญาขึ้นมา มันไปละสมุทัยไม่ได้หรอก
ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ
สมุทัยคือตัณหาความทะยานอยากไง ตัณหาความทะยานอยาก ตัณหาคือความอยากได้อยากดี ความผลักไสคือไม่ต้องการ ไม่อยากได้ ไม่อยากดี แต่ความไม่รู้เท่า ความไม่รู้เท่ามันก็เป็นตัณหา ตัณหา ความไม่รู้เท่าต่างๆ ก็เป็นตัณหา ตัณหาคือสมุทัย
สมุทัยควรละ ถ้าสมุทัยควรละ ศึกษาธรรมะแล้วเข้ามาที่นี่ ถ้าเข้ามาที่นี่
หลวงปู่มั่นบอกว่า ให้รักษาธาตุของเรา ให้ค้นคว้าธาตุของเรา ให้ดูแลธาตุของเรา ธาตุรู้ๆ ถ้าธาตุรู้ มันก็เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต นี่มันจะเห็นธรรม
ถ้าเห็นธรรม เอาเข้ามาข้างในนี้ พอเอามาข้างในของเรา ไอ้เรื่องข้างนอกมันจบ แต่ถ้าเราส่งออกไป เห็นไหม พระพุทธบาทสี่รอย แล้วถ้าเราวิจารณ์ไปมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งใช่ไหม แต่เราไม่วิจารณ์อยู่แล้ว เพราะสิ่งนี้เป็นโบราณวัตถุ
ถ้าเป็นโบราณวัตถุ สิ่งที่เป็นที่เคารพบูชาของชาวพุทธ ถ้าสิ่งเคารพบูชาของชาวพุทธ แต่เราจะพูด พูดให้เห็นว่า สิ่งที่เคารพบูชาจากภายนอก สิ่งที่เคารพบูชาจากภายใน ถ้าสิ่งที่เคารพบูชาจากภายใน สิ่งที่มีคุณค่า ถ้าสิ่งที่มีคุณค่า เรามีคุณค่าที่นี่ เหมือนดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอานนท์ถามเอง ถามว่า “เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ชาวพุทธเวลาระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปที่ไหน”
ก็บอกว่า “ให้ไปสังเวชนียสถานทั้ง ๔ ที่เราเคยเกิด ที่เราตรัสรู้ ที่เราปฐมเทศนา ที่เราปรินิพพาน”
แล้วเวลาคนเขาไป เวลาคนเขาไปเขาซาบซึ้งนะ บางคนไปใหม่ๆ อู้ฮู! เหมือนกับพระพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่เลยนะ ไปแล้วปลาบปลื้มมากเลย อันนี้มันก็เป็นบุญ แต่พอไปแล้วมันก็ไปอยู่ที่นั่นบ่อยๆๆ แล้วทำอย่างไรล่ะ ทำไมไม่ภาวนาต่อเนื่องล่ะ เราไม่ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ หรือ
ถ้าเวลาไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ ขึ้นมาแล้ว เวลาหลวงปู่มั่น เวลาท่านพยายามจะศึกษาธรรมวินัยนะ พระไตรปิฎกท่านก็ค้นคว้า แล้วท่านบอกว่าสีผ้าเขาห่มกันอย่างไร สมัยพุทธกาลห่มอย่างไร ท่านกำหนดจิตของท่านตามไปดู ย้อนไปดู แล้วเวลาจิตใจของท่านมีคุณธรรมขึ้นมา มีพระอรหันต์สมัยพุทธกาล มีพระอรหันต์ มีอะไรต่างๆ มาอนุโมทนา นี่มันสัมผัสจริงๆ นะ นี่เอาความจริงอย่างนี้ ถ้าความจริง ครูบาอาจารย์เรามีความจริงอย่างนี้
สิ่งที่เป็นถาวรวัตถุ มันก็รักษาไว้ ดูสิ เรามาบวชพระกัน บวชพระจรรโลงพระพุทธศาสนา บวชพระสืบต่อพระพุทธศาสนามาตลอด ฉะนั้น เรามาจรรโลงศาสนา สืบต่อพระพุทธศาสนา มันก็เหมือนมดแดงเฝ้ามะม่วง เรามาเฝ้ามะม่วงไว้ มะม่วงมันออก มดแดงมันไต่มะม่วง ใครเข้ามา กัดนะ ใครเข้ามา กัดนะ มดแดงมันไม่ได้กินมะม่วง เห็นไหม เจ้าของสวนเขามาสอยมะม่วงไปกิน
เราบวชมา เรามาสืบทอดพระพุทธศาสนา สืบทอดพระพุทธศาสนาเหมือนมดแดงเฝ้ามะม่วง มาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เป็นสัญญา ศึกษามาๆ ศึกษาธรรมมา มดแดงเฝ้ามะม่วง
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าของสวนมะม่วง มะม่วงมันออกดอกออกผล เราเป็นมดแดง เรามาเฝ้าพวงมะม่วง เรามาศึกษาไง ถ้าเราศึกษา เราศึกษาแล้ว ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะเป็นคน เราจะสอยมะม่วงมากิน เราจะได้รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง เราจะได้สัจจะความจริงอันนั้น ถ้าได้สัจจะความจริงอันนั้น
เวลาเราบวชขึ้นมา บวชเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาแล้วก็ศึกษา ศึกษาแล้วประพฤติปฏิบัติ ถ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ความจริงอันนี้เกิดขึ้น ความจริงอันนี้เกิดขึ้น
ฉะนั้น สิ่งที่รูปเคารพต่างๆ แต่ละพื้นถิ่นมันก็ไปอย่างหนึ่ง ดูศิลปะสิ ศิลปะต่างๆ ยิ่งโบราณวัตถุสวยงามมาก ดีมาก เป็นยุคเป็นสมัย อันนี้มันก็เป็นสิ่งที่ว่าจิตใจของคนเขามีคุณธรรมแล้วเขาเป็นแบบนั้น
แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ มันเป็นความจริงนะ มีความจริงเข้ามาในใจ ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ถ้าเราปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม สิ่งนี้ทำสิ่งนี้ อันนี้ยกนี้ไว้ก่อน ยกพระพุทธบาทสี่รอย เพราะว่ามันจะเอามาพัวพันกัน สิ่งนี้เป็นถาวรวัตถุ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ คำว่า “ยึดเหนี่ยวจิตใจ” แต่จิตใจมันยังไม่มีคุณธรรม ถ้าจิตใจมีคุณธรรม เอาเข้ามาที่นี่
สิ่งที่ปัญหาที่เกิดขึ้น เขาบอกมีปัญหาเกิดขึ้น เขาต้องรับผิดชอบปัญหาทางโลกเยอะมาก
แล้วปัญหาทางโลกนี้ก็วางไว้ ปัญหาทางโลก ถ้าเราพิจารณาของเราได้ เราวางไว้ได้ จิตใจเรามีความสะดวกสบายแล้ว เราทำหน้าที่การงานของเราเพื่อประสบความสำเร็จของเรา แล้วมีเวลา ภาวนาอย่างเดียว ถ้าภาวนาได้นะ อันนั้นวางไว้เลย
ฉะนั้น เวลาเรายังภาวนาไม่ได้ มันละล้าละลังไง จะต้องไปเห็นสิ่งใดที่ยืนยันว่ามรรคผลมีจริง ถ้ามีการยืนยันมรรคผลมีจริง เราก็จะทำด้วยความจริง แล้วเราจะไม่ลูบๆ คลำๆ เราจะไม่ลังเลสงสัย แต่ถ้าจิตใจเรายังลังเลสงสัยอยู่ มันก็ต้องเที่ยวแสวงหาอย่างนี้
เราบวชใหม่ๆ เราใช้ของเรา ถ้าบวชเสร็จแล้ว เวลาไปที่วัดป่าสุทธาวาส เราจะไปดูพระธาตุของหลวงปู่มั่น สมัยบวชใหม่ๆ นะ จะไปดูพระธาตุหลวงปู่มั่น แล้วก็พูดกับตัวเองว่า นี่กระดูกของพระอรหันต์ เพราะเป็นพระอรหันต์ถึงเป็นพระธาตุ
เราจะแวะไปที่วัดป่าสุทธาวาสตอนบวชใหม่ๆ ปีสองปีจะไปหนหนึ่ง ไปดูแล้วพิจารณา ให้ยืนยัน ยืนยันว่ามันมีอยู่จริง มันมีอยู่จริง แล้วเวลามาอยู่กับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านตอบปัญหาได้ ท่านชี้นำได้ มันก็มั่นใจ
เพราะเวลาเราสงสัยใช่ไหม เวลาเราสงสัย ดูสิ เหมือนกับเรานั่งภาวนาไป เรารู้เห็นสิ่งใด เราแก้ไขไม่ได้ แต่เวลาครูบาอาจารย์ท่านอธิบาย ท่านชี้ทางสว่างไปได้เลย มันเป็นไปได้ ถ้ามันเป็นไปได้ เอาตรงนี้ ถ้าตรงนี้มันเป็นไปได้ เห็นไหม
เราปฏิบัติ เวลาเรายังไม่แน่ใจ เราก็อาศัยสิ่งนั้นเพื่อความมั่นคง เพื่อให้จิตใจเรามีที่พึ่ง เพราะบอกว่า คำว่า “ยึดเหนี่ยวจิตใจ” แต่เวลาเราจะเอาจริงๆ เราจะต้องภาวนาของเรา เพื่อสิ่งที่ว่า ไม่อย่างนั้นมันอนิจจังไง เดี๋ยวดี เดี๋ยวเจริญ เดี๋ยวเสื่อม
เวลาจิตใจมันดีขึ้นมามันก็คิดแต่เรื่องดีๆ ขึ้นมานะ มันก็พอได้ เดี๋ยวเดียวมันก็เสื่อมลง พอเสื่อมลงก็ทุกข์อีกแล้ว ทีนี้พอเสื่อมลงก็ทุกข์อีกแล้ว ไอ้นี่เป็นความทุกข์ มันเป็นความจริงอยู่แล้ว มันเจริญแล้วเสื่อมๆ เราก็เอาจริงของเราสิ ถ้าเอาจริงของเรา
พระพุทธบาทสี่รอยก็ไปดูมาแล้ว รูปต่างๆ ก็ไปดูมาแล้ว ทีนี้มันเหลืออย่างเดียว เหลือแต่ทำจริงๆ ถ้าเหลือแต่ทำจริงๆ ของเรา เราทำจริงของเรา ถ้าทำจริงของเรา
๒,๐๐๐ กว่าปีนะ สดๆ ร้อนๆ สมาธิในสมัยพุทธกาลกับสมาธิสมัยนี้ก็เหมือนกัน เวลาเกิดปัญญาขึ้นมา มันจะสมัยไหน ทุกข์สมัยพุทธกาลกับทุกข์สมัยนี้เหมือนกัน แต่ทุกข์สมัยนี้ทุกข์มากกว่า ทุกข์มากกว่าเพราะอะไร ทุกข์มากกว่าเพราะสังคมมันซับซ้อนมากกว่า
สมัยพุทธกาล สังคมเขาไม่ซับซ้อนขนาดนี้ เพราะสังคมที่ไหนก็อยู่สังคมนั้น เพราะการคมนาคมต่างๆ การสื่อสารมันยังช้ากว่านี้มาก เดี๋ยวนี้ทุกอย่างมันรวดเร็วไปหมดเลย สังคมซับซ้อนไปหมดเลย
แล้วเดี๋ยวนี้เวลาเขาฉ้อฉลกัน เห็นไหม พระอรหันต์เต็มไปหมด ที่ไหนก็มีพระอรหันต์ เขาใช้เทคโนโลยีโปรโมตเขาเป็นพระอรหันต์ไง แล้วพอโปรโมตไป คนยังไม่ใช้ปัญญาแยกแยะ มันก็เชื่อไปก่อนไง มันเชื่อไปก่อน มันไม่ใช้ปัญญาไง
แต่ถ้าใช้ปัญญาไปแล้ว พระอรหันต์เขาไม่มาโปรโมตกันหรอก พระอรหันต์เขาเป็นพระอรหันต์ในหัวใจ เขาเป็นพระอรหันต์โดยความจริง เป็นพระอรหันต์แล้ว ครูบาอาจารย์หรือว่าผู้ที่แสวงหาเขาจะแสวงหาไปหาท่านเอง ไอ้โปรโมตๆ นั่นล่ะเรื่องโลกทั้งนั้นน่ะ เพราะเรื่องโลกคือเรื่องของกิเลส
ฉะนั้น สิ่งที่ว่า ทุกข์สมัยพุทธกาลกับทุกข์สมัยนี้อันเดียวกัน แต่ทุกข์สมัยนี้ทุกข์มากกว่า ทุกข์สมัยนี้เร็วกว่า กรรมสมัยนี้กรรมติดจรวด เห็นไหม กรรมสมัยพุทธกาล ต้องรอกรรมให้ผลๆ เดี๋ยวนี้กรรมมันติดจรวดเลย ใครทำสิ่งใดไว้ เพราะว่าเทคโนโลยีมันไว เดี๋ยวมันก็เปิดมาหมด
ฉะนั้น ถ้าเรามีสติปัญญาอย่างนี้ เราย้อนกลับมาตัวเราแล้ว ย้อนกลับมาตัวเรา สิ่งที่ไปกราบมาแล้ว สิ่งที่ไปเคารพบูชามาแล้วก็ได้เคารพบูชามาแล้ว สิ่งที่เคารพมา เคารพมาเพื่อความมั่นคงของใจ เคารพมาเพื่อบุญกุศล ไม่ใช่เคารพมาด้วยความสงสัย ไม่ได้เคารพมาแล้วก็มาถามหลวงพ่อ หลวงพ่อไม่ได้ไปไหนเลยนะ จะต้องมาเคลียร์ปัญหา
เราเคารพมาแล้ว เราเป็นที่เรามั่นใจแล้ว วางไว้ เคารพแล้ว เพราะว่าพระพุทธบาทสี่รอยก็อยู่ที่เชียงใหม่ ถ้าเรากลับบ้านแล้วเราก็อยู่บ้านเรา แต่ความผูกพันเนาะ ความผูกพัน เราเคยเห็นเคยรู้ มันก็จะอยู่ในใจเรา ถ้าเราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น มันก็ไม่อยู่ในใจเรา เราวางอันนั้นไว้
ที่ไหนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ไหนเป็นสิ่งที่น่าเคารพบูชา เราก็ได้ไปเคารพบูชามาแล้ว คราวนี้เราจะเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความจริงแล้ว
เขาไปสังเวชนียสถานทั้ง ๔ นั่นเขาก็ไปของเขา ถ้าเราไปของเรา เราจะกำหนดพุทโธของเรา กำหนดพุทโธของเรา เราจะเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความจริงของเรา แล้วถ้าเคารพได้ที่นี่ เรามีสติ เรามีคำบริกรรม เรามีปัญญาอบรมสมาธิ
ถ้าเราทำได้จริงขึ้นมา นี่สัมมาสมาธิ สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี มันปล่อยวางความทุกข์ความยากได้ชั่วคราวนะ สิ่งที่ทุกข์ที่ยากมันปล่อยวางได้
เวลาพระเราอดอาหาร อดอาหารเป็นกลอุบายวิธีการ เวลาธุดงควัตรเป็นการขัดเกลากิเลส การอดอาหาร การต่อสู้กับกิเลส ก็เป็นวิธีการ เป็นการขัดเกลา เวลากำหนดพุทโธๆ แล้วใช้ปัญญาไล่ไป เวลามันเข้าสู่ความสงบ ความหิวความกระหายมันดับหมดเลย
ความหิวความกระหายมันเป็นกลอุบายวิธีการที่เราจะภาวนา ทีนี้วิธีการ เราลงทุนลงแรงขึ้นไป มันก็กระหาย มันก็มีการขบการเมื่อย มันก็มีเวทนา มันมีความเจ็บปวดไปทั้งนั้นน่ะเวลามีการกระทำ
เวลาจิตมันปล่อยเริ่มละเอียดเข้ามา พุทโธๆ ละเอียดเข้ามา เวลามันเข้าสู่สมาธินะ มันดับหมดเลย เวทนาก็หายหมด ความทุกข์ความยากมันปล่อยวางหมดเลย เห็นไหม สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี แล้วถ้าจิตนี้มันยกขึ้นสู่วิปัสสนา มันฝึกหัดใช้ปัญญา
สิ่งที่เราค้นคว้ามา เราศึกษามาในพระไตรปิฎก ในพระไตรปิฎกนะ ธรรมและวินัยชี้เข้ามาที่ใจทั้งหมด มันเป็นวิธีการ ในธัมมจักฯ ในอาทิตตปริยายสูตร อนัตตลักขณสูตร บอกถึงวิธีการ
เวลาเทศน์ปัญจวัคคีย์ “ขันธ์ ๕ เป็นเราหรือไม่เป็นเรา”
“ไม่เป็นเราพระเจ้าค่ะ”
“ไม่เป็นแล้วยึดไว้ทำไม ไม่เป็น ทำไมไม่ปล่อยวาง”
ทีนี้เวลาคำว่า “ปล่อยวาง” นี่เป็นคำสวดใช่ไหม แต่ถ้าความจริงมันพูดไปด้วย แล้วมันปล่อยไปด้วยไง มันจี้เดี๋ยวนั้น มันเป็นปัจจุบันไง พอปล่อยมาๆ นี่เทศน์อนัตตลักขณสูตร ปัญจวัคคีย์เป็นพระอรหันต์เลย
สิ่งที่เราไปศึกษาๆ เวลาเราศึกษามาเป็นวิธีการทั้งนั้นน่ะ เป็นวิธีการ ในพระไตรปิฎกเป็นวิธีการ ศึกษามา ถ้าศึกษามา เรามาทำของเราให้เป็นจริงขึ้นมา
เวลาภาวนาไป ตรึกในธรรม เอาธรรมนั้นมาใคร่ครวญ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอย่างไร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนใคร แล้วเราเป็นใคร เราเป็นใคร เราเป็นนักปฏิบัติไง
เวลาจิตของเรา เห็นไหม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา จิตมันก็คือจิต ธรรมชาติกับความรู้สึกมันก็เป็นความรู้สึก ทุกดวงใจมีความรู้สึกเหมือนกัน แต่ความรู้สึกนี้มันอยู่ที่จริตนิสัยคือความชอบ
ความชอบส่วนความชอบสิ เพราะจิตสงบเข้าไปแล้วมันไปสู่จิตเดิมแท้ มันวางความชอบ มันวางความชอบเข้าไป มันไปสู่จิตเดิมแท้ พอสู่จิตเดิมแท้ นี่สัมมาสมาธิ
พอสัมมาสมาธิ ถ้ามันน้อมไปๆๆ ให้ไปเห็นสติปัฏฐาน ๔ แล้วมันพิจารณาไป ปัญญามันจะเกิด แล้วพอปัญญามันเกิด มันเกิดภาวนามยปัญญา
ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นมา ไอ้คำถามข้างนอกมันเป็นเรื่องข้างนอกหมดเลย ไอ้สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจมันเป็นเรื่องอยู่ภายนอกหมดเลย แต่มันสำคัญกับชาวพุทธ สำคัญกับคนที่ยังไม่มีหลักมีเกณฑ์ เอาสิ่งนี้เป็นที่ยึดเหนี่ยวไว้ไม่ให้เราหลุดออกไป ไม่ให้เราหลุดออกไปเป็นเดียรถีย์ ไม่ให้หลุดออกไปเข้ารีต ไม่ให้หลุดออกไปเชื่อถืออย่างอื่น ให้มั่นคงในรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
แต่เวลามันเกิดปัญญาขึ้นมา พอเกิดปัญญา พิจารณาเข้าไป แยกแยะเข้าไป ในสติปัฏฐาน ๔ ทั้งแยกทั้งแยะเกิดปัญญาขึ้นมา พอปัญญามันเกิดขึ้นมา สมุจเฉทปหาน นางวิสาขาไม่ได้บวช แต่นางวิสาขาเป็นพระโสดาบันน่ะ นี่เวลามันเป็นจริงขึ้นมามันเป็นกลางหัวใจไง หัวใจเป็นอริยบุคคลขึ้นมาไง ถ้าหัวใจเป็นอริยบุคคล มันสูงส่งกว่าวัตถุภายนอกมหาศาลเลย มันสูงส่งกว่ารูปเคารพทั้งหมดเลย
นี่เป็นรูปเคารพ เราไม่ได้ดูถูกไม่ได้เหยียดหยาม เป็นรูปเคารพ ในเมื่อ ดูสิ เวลาหลวงตาท่านบอกของท่าน เวลาท่านธุดงค์ไป ท่านไม่มีรูปเคารพ ท่านก็นึกขึ้นมา ระลึกขึ้นมาแล้วกราบ เพราะอะไร เพราะเราต้องการให้หัวใจกราบ เราระลึกถึง เราเห็นคุณไง เราก็กราบ
แต่ถ้าเรามีรูปเคารพขึ้นมา เราก็กราบ มันจะเสียหายอะไรล่ะ แต่มันเป็นวิทยาศาสตร์ มันเป็นวิทยาศาสตร์ที่เป็นให้พวกปัญญาชนบอกว่า “อ้าว! กราบทำไมน่ะ มันเป็นทองเหลืองน่ะ กราบทำไม มันเป็นอิฐหินปูนทราย”
อ้าว! เขาไม่ได้กราบตรงนั้น ใจเขามีคุณธรรม ใจเป็นธรรมขึ้นมามันซาบซึ้งนะ ซาบซึ้งว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบุกเบิกมาทุกข์ยากขนาดไหน เวลาเป็นพระโพธิสัตว์ ดูสิ เป็นเตมีย์ใบ้ เป็นพระเวสสันดร เวลาจะสร้างบารมีมา จะสร้างมาเพื่อเป็นคนดี ประชาชนขับไล่ ประชาชนขับไล่ไสส่งนะ คนทำดีน่ะ กว่าจะได้ดีมานี่ท่านทุ่มเทขนาดไหน แล้วพอท่านทำของท่านได้ขึ้นมา
เราเอง เราไม่ได้ทำขนาดนั้น เราไม่มีปัญญาได้ขนาดนั้น แต่เรายังมาเกิดร่วมสมัย เราเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส มาเกิดเป็นลูกศิษย์ เกิดมาเป็นผู้ที่ได้เกิดในพระพุทธศาสนา เราทำของเราให้เป็นความจริงของเรา ถ้าเป็นความจริงของเราขึ้นมามันจะเป็นความจริงที่นี่ ถ้าเป็นความจริงที่นี่
ไอ้นี่พอพูดถึงเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เราไม่ค่อยอยากจะพูดออกไป พอพูดออกไปแล้ว เพราะความเห็นของคนไง ความเห็นของคนมันแตกต่างใช่ไหม ถ้าความเห็นของคนเขาถือเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา เขาแตะไม่ได้เลยนะ
แต่ของเรา เราชาวพุทธด้วยกัน เราจะไม่นับถือหรือ เราก็นับถือนะ แต่การนับถือของเรานับถือไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจ แล้วจะภาวนาจิตใจเราให้สูงขึ้น คำว่า “สูงขึ้น” มันต้องมีปัญญาที่มากขึ้น ปัญญาที่มีคุณธรรมสูงขึ้น
พอสูงขึ้น ถ้าพูดถึงธรรมะปั๊บ มันก็บอกว่าคำว่า “สูงกับต่ำ” จริงไหม มันก็บอกว่าเราสูง เขาต่ำไง ก็หาว่าเป็นการเหยียบย่ำกัน เป็นการเหยียดหยามกัน
แต่ความจริงมันไม่ใช่นะ ความจริง จิตใจพื้นฐาน แล้วจิตใจยกสูงขึ้น มันต้องสูงขึ้นสิ ถ้ามันสูงขึ้น มันเป็นการเหยียดหยามไหม ไม่ได้เหยียดหยามเลย เพราะว่ามันเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่จิตใจที่มันพัฒนาแล้วมันสูงขึ้น แล้วมันพัฒนาขึ้น ยิ่งถ้าใช้ปัญญาไปแล้วนะ ถ้ามีคุณธรรมในใจ อย่างโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี มันยิ่งมีคุณธรรม เพราะเป็นพระโสดาบันไม่ลูบคลำ ไม่ลูบคลำในศีล ไม่สีลัพพตปรามาส มันเห็นอะไรมันเป็นประโยชน์ไปหมดแหละ
แต่เป็นประโยชน์กับโลกนะ แต่ถ้าเป็นกิเลส มันไปติด มันไปยึดไปเหนี่ยวไปติด ดูสิ ประชาชน เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ไปกราบไปไหว้ใช่ไหม ดูสัตว์สิ ตุ๊กแก จิ้งจก มันอยู่ที่นั่นน่ะ มันก็เกาะอยู่แถวนั้นน่ะ บริเวณนั้นน่ะ แล้วมันได้อะไรล่ะ มันหาอาหารของมันนะ มันอยู่ตรงนั้น มันหาอาหารของมัน มันเป็นสัตว์ มันไม่ได้ประโยชน์จากตรงนั้น มันได้แต่เป็นที่อยู่อาศัย แต่คนไปกราบไปไหว้ โอ้โฮ! จิตใจมีบุญ จิตใจมีความระลึก นี่มันต่างกันอย่างนี้จิตใจสูง จิตใจต่ำ
ฉะนั้น สิ่งที่รูปเคารพข้างนอกเป็นที่ยึดเหนี่ยว เราก็เห็นด้วย แต่ถ้าในการปฏิบัติ ในการปฏิบัติมันต้องวาง แม้แต่อารมณ์ของเรายังต้องวางเลย แม้แต่ทิฏฐิมานะ เราจะสำรอกจะคายมันออก ฉะนั้น สิ่งนี้เราจะสำรอกจะคายมันออก
เวลาคายมันออกไปแล้ว สิ่งที่เป็นรูปเคารพต่างๆ ยิ่งมีคุณค่า มีคุณค่ากับใจนั้น แต่เวลาจะพูดถึงธรรมะ เวลาจะดึงจิตใจที่ติดอยู่ให้ปล่อยวางตรงนั้นมา มันต้องพูดให้เห็นภาพชัดไง ถ้าเห็นภาพชัด
เขาก็บอกว่า “โอ้โฮ! ดูถูกเขาไปทั่วเลย”
ไม่ใช่ดูถูก ไม่ได้ดูถูกเหยียดหยามใคร เพียงแต่บอกว่า อะไรสูง อะไรต่ำ อะไรหยาบ อะไรละเอียด สิ่งที่หยาบและละเอียด แล้วเวลาจิตใจที่มันเป็นจริงขึ้นมามันข้ามพ้นทั้งดีและชั่ว
ความดีๆ ที่เราติดอยู่นี่ เรายังติดอยู่นี่ เราต้องละทิ้งหมด ละทิ้งทั้งดีและชั่ว ดีก็ต้องละ ชั่วก็ต้องละ
ถ้าฉันดีกว่า ฉันติดว่าฉันดีกว่า ถ้าชั่ว ชั่วก็กลุ่มของฉันน่ะ ฉันจะเอาประโยชน์ของฉันน่ะ
นี่ละทั้งดีและชั่ว ถ้าละทั้งดีและชั่ว มันละไปหมด เห็นไหม ฉะนั้น เอาตรงนี้
สิ่งนี้เป็นสัญลักษณ์ มันเป็นสัญลักษณ์นะ แล้วจะบอกว่า ตัวเจ้าของรอยพระบาทจะตัวใหญ่ตัวเล็กนั่นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วอย่างที่ว่าจริงไม่จริงนั่นอีกเรื่องหนึ่ง
แต่สิ่งที่ว่าเราทำกันไว้เพื่อเป็นการเคารพ เป็นการยึดเหนี่ยว เพราะมันมีนะ เดี๋ยวนี้ไปวัด ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราไม่บวช เราก็งงๆ นะ ไปบางวัดเขามีพระพุทธรูป ๕ องค์ เขาบอกนี่พระพุทธเจ้า ๕ องค์ ก็งงเหมือนกันนะ แต่มันมีอยู่ในตำราใช่ไหม พระศรีอริยเมตไตรยถ้าตรัสรู้มา เขามีพระพุทธเจ้า ๕ องค์ องค์ที่ ๕ ยังไม่ได้เกิด เขาสร้างไว้แล้ว พระพุทธเจ้า ๕ องค์ เขาสร้างไว้ก่อนแล้ว
นี่ก็เหมือนกัน การสร้างมา การทำมาเพื่อเป็นการยึดเหนี่ยวจิตใจ อันนี้มันเป็นเรื่องของสัญลักษณ์ ของวัตถุ เพื่อประโยชน์กับคนยึดเหนี่ยว ประโยชน์กับชาวพุทธ
แล้วเราก็เกิดมาเป็นชาวพุทธเหมือนกัน เราก็พยายามจะประพฤติปฏิบัติ เพราะของอย่างนี้ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านธุดงค์ไปทั่วประเทศไทย ท่านไปรู้ไปเห็นมาทั้งนั้นน่ะ แล้วท่านวางไว้ ท่านบอกหลวงปู่เสาร์บอกไว้ว่า ให้เจ้าของเขามา ให้ผู้ที่เขาจะมาบริหารจัดการเขามา แต่ครูบาอาจารย์ของเราท่านจะบริหารจิตใจ ท่านจะพาใจของท่านให้พ้นจากกิเลส ให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ฉะนั้น อันนี้คือเป้าหมายของครูบาอาจารย์ที่ท่านมีเป้าหมาย
อย่างของเรา ถ้าใครยังไม่ถึงเป้าหมายขนาดนั้น แล้วเราว่าทำแล้วเราจะไปไม่ไหว เราก็วางไว้ สร้างบารมีของเรา พยายามทำของเราให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะถึงที่สุดนะ ถ้าไม่ถึงที่สุด จะต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ แล้วถ้าเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะแต่ละภพแต่ละชาติจะมีทุกข์ยากขนาดไหน เราก็ได้สัมผัสกันมาแล้วล่ะ
แต่ถ้าเราพยายามปฏิบัติของเรา เห็นไหม เพราะอะไร เพราะธรรมโอสถ สัจธรรม ธรรมเหนือโลก ถ้าเราได้สิ่งนี้ประเสริฐแล้ว เราจะได้สิ่งนี้เป็นคุณสมบัติของเรา เป็นธรรมะของเรา เป็นความรู้แจ้งในใจของเรา เอวัง