ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ติดกับดัก

๓๑ ม.ค. ๒๕๕๘

ติดกับดัก

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๘

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องอาการเช่นนี้เรียกว่าจิตรวมใช่ไหมเจ้าคะ

กราบนมัสการค่ะ มีอยู่วันหนึ่งหนูไม่แน่ใจว่ากำลังทำอะไรอยู่ แต่อยู่ในท่านั่ง เห็นดวงใสอยู่ระหว่างกลางอกค่ะ เคลื่อนที่ และอีกดวงหนึ่งอยู่ข้างหลังค่ะ เคลื่อนมารวมกับข้างหน้าค่ะ เป็นดวงเดียวกันและมีความรู้สึกว่ามันทะลุไปข้างหลังของหนูค่ะ และมีแสงพุ่งออกไปข้างหลังค่ะ จากนั้นรู้สึกตัวว่าตัวเบาสบายโล่งค่ะ อาการเช่นนี้เรียกว่าจิตรวมใช่ไหมเจ้าคะ แต่อาการที่เกิด หนูไม่ได้นั่งสมาธินะคะ

ปกติหนูจะฟังธรรมหลวงพ่อ ไม่กำหนดคำบริกรรมค่ะ แต่ถ้านั่งสมาธิจะกำหนดพุทโธ และเวลาถ้าหนูเดินไปไหนหรือนึกได้ หนูจะบริกรรมพุทโธในใจค่ะ

อาการแบบนี้เรียกว่าจิตรวมหรือเปล่าคะ และอย่างนี้เรียกว่าจิตมีการพัฒนาขึ้นหรือเปล่าคะ

และเวลานั่งไม่มีอาการอะไรค่ะ รู้สึกเฉย แต่เวลานอนช่วงนี้เหมือนไม่ได้นอน เหมือนจิตมันทำงานตลอดค่ะ และที่หนูทำอยู่ถูกใช่ไหมเจ้าคะ กราบขอบพระคุณค่ะ

ตอบ : ถูก เพราะว่าเวลาเขาบอกเวลานั่งสมาธิ ปกติหนูจะฟังเทศน์หลวงพ่อ ไม่กำหนดบริกรรมค่ะ

ถูกต้อง เวลาเรากำหนดของเรา เรากำหนดพุทโธของเรา ถ้าเรากำหนดของเรา เวลาเรานั่งโดยส่วนตัว เราต้องกำหนดพุทโธ เราปล่อยไม่ได้ ปล่อย มันจะเลื่อนลอย เพราะความรู้สึกมันละเอียด ความรู้สึกนี้ ความรู้สึก พอเรานั่งแล้วเราจะเหม่อ เวลาเรานั่งแล้วเราจะง่วงนอน เวลาเรานั่งแล้วเราจะตกภวังค์ นี่พุทโธๆๆ ไว้ ถ้าจิตมันเป็นสมาธิ มันจะเป็นสมาธิชัดๆ ฉะนั้น เวลานั่งโดยปกติ เราต้องกำหนดพุทโธของเราไปด้วย

แต่เวลาฟังไง เวลาฟังเทศน์ปกติหนูฟังธรรมหลวงพ่อ ไม่ได้กำหนดบริกรรมค่ะ

ไม่ต้องกำหนด เพราะจิตใจเรา ความรู้สึกเราเกาะอยู่ที่เสียง เกาะอยู่ที่สิ่งนั้นแล้ว เกาะไว้ไง เพราะว่าเราฟังเทศน์นี่มันเกาะไว้ สิ่งนั้นพอ แต่ถ้าเรานั่งโดยส่วนตัว เราต้องบริกรรมพุทโธๆ ของเราไปด้วย เขาบอกว่าทำอย่างนี้ถูกต้องหรือเปล่าคะ

ถูก ทำอย่างนี้ถูกต้อง

ทีนี้เวลาทำไปๆ เราทำ เราคุ้นเคย เราคุ้นเคย ถ้ามันเป็น อาการของโยมอาการเช่นนี้จิตรวมใช่ไหมเจ้าคะ

ไม่ใช่ค่ะ ไม่ใช่ อาการแบบนี้เป็นอาการส้มหล่น เป็นอาการ จิตเรากำหนดพุทโธ เราฟังเทศน์ เราฟังเสียงนั้นอยู่ เวลาเรากำหนดพุทโธของเรา เราทำ นี่เหตุ เราสร้างเหตุของเรา เราพยายามทำเหตุของเรา

เวลาเราตั้งใจใช่ไหม เรามีสติกำหนดพุทโธๆๆ หรือฟังเทศน์ ถ้าจิตมันลงมันก็ดีไง มันดี

แต่ขณะที่เรานั่งอยู่เฉยๆ ใช่ไหม เกิดแสงอยู่ข้างหน้า เกิดดวงแก้วอยู่ข้างหน้า แล้วเกิดดวงแก้วอยู่ข้างหลัง แล้วมันวิ่งไปชนกันที่ตัวเรา ทะลุเข้าไปในตัวเราเลย อู๋ย! แล้วมันเบา มันสบายไปหมดเลย...อันนี้ส้มหล่น

ส้มหล่นเพราะอะไร เพราะว่ามันเป็นเองไง มันเป็นของมันใช่ไหม เพราะเรากำหนดพุทโธ เราฟังเทศน์อยู่ เวลาเราฟังนี่เหตุ นี่คือเหตุที่เราทำมาต่อเนื่อง แต่เวลาทำมาต่อเนื่อง ขณะที่ต่อเนื่อง เราวางไง เราก็วาง

ขณะที่นั่งอยู่ หนูนั่งอยู่ อยู่ในท่านั่ง แต่ไม่รู้ว่าทำอะไร อยู่ในท่านั่ง แต่เหตุที่เราบ่มเพาะ เราบริกรรมมา มันได้บ่มเพาะมา จิตใจมันได้ทำมา แต่มันยังไม่เป็นสมาธิ มันยังลงไม่ได้ เพราะอะไร เพราะความอยาก ความรู้สึกของเรา ความอยากมันขวางอยู่ เห็นไหม มันขวางอยู่ ทิฏฐิหรือว่าจิตใต้สำนึกมันรับรู้อยู่ มันไม่ลงสมาธิ

แต่เวลามันปล่อย มันปล่อย แต่เราไม่รู้ไง เพราะเรานั่งอยู่ เพราะมันปล่อย มันส้มหล่น มันฟลุก เกิดเห็นแสงอยู่ข้างหน้า มันพุ่งมา แล้วแสงอยู่ข้างหลังมันชนกัน มันชนเข้ามาในร่างกาย มันทะลุเข้ามาในร่างกายเราเลย แล้วพอเข้ามาในร่างกาย ตัวมันเบามันสบายไปหมดเลย พอตัวมันเบามันสบายไปหมด อาการอย่างนี้ เห็นไหม

เวลาถ้าจิตมันสงบ เวลาถ้าจิตเราสงบมันจะละเอียดเข้ามา อาการอย่างที่ว่าตัวเบานี่มันจะรู้ ที่ตัวเบา ที่มันสบาย มันจะรู้ของมันเลยนะ มันรู้แล้วละเอียดเข้าไปๆ

แต่ถ้ามันว่าอย่างนี้ใช่จิตรวมไหม

ใช่ มันเป็นสมาธิ แต่เวลาถ้าจิตรวมนะ ถ้าจิตรวม จิตรวมใหญ่ จิตรวมที่ว่ามันสนิทเลย มันสักแต่ว่ารู้ คำว่าจิตรวมคือมันเป็นเอกัคคตา หนึ่งเดียว เอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่น มันมีหนึ่งเดียว

แต่นี่เราเห็นแสง เราเห็นแสง เรากับแสง เรากับแสง เราเห็น แล้วมันเลื่อนมา มันเคลื่อนเข้ามาๆ

แสงมันมา นี่แสง แต่ใครเป็นคนเห็นแสงนี้ เพราะจิตเป็นผู้เห็น ถ้าไม่มีจิต ไม่มีสิ่งมีชีวิต มันจะรับรู้อะไรไหม ถ้าไม่รับรู้ แสงมันก็คือแสง มันสักแต่ว่า มันไม่มีใครไปรับรู้มัน แต่เพราะมีจิตรับรู้ มีเรากับจิตไง มันไม่ใช่หนึ่ง มันไม่ใช่หนึ่ง

แต่ถ้าจิตมันจะรวมใช่ไหม พุทโธๆๆ มันละเอียดเข้ามาๆ พอละเอียดเข้ามา มันจะเกิดอาการแล้ว อาการที่ว่าพอเราพุทโธๆ มันละเอียดจนมันจะพุทโธไม่ได้ไง มันจะพุทโธไม่ได้ ถ้ากำหนดลมหายใจ ลมหายใจมันจะละเอียดขึ้น เบาขึ้น จนจะไม่มีลมหายใจ

จะไม่มีลมหายใจตรงนี้สำคัญมาก

จะไม่มีลมหายใจ มันก็คิดแล้ว โดยสัญชาตญาณของเราใช่ไหม ถ้าไม่มีลมหายใจก็ต้องตาย ถ้ามันขาดตกบกพร่อง มันกลัวตาย กลัวพิการ กลัวไม่มีออกซิเจนเลี้ยงสมอง มันกลัวไปหมดแหละ เพราะอะไร เพราะมันมีความรู้เยอะ เราเรียนมาก เรารู้มาก แล้วพอมีอะไรเกิดขึ้นเป็นข้อเท็จจริง เรากลับแปลกใจ เรากลับแปลกใจ ภาษาเรานะ เรากลับต่อต้าน จิตใต้สำนึก กิเลสมันกลับต่อต้าน กิเลสมันจะไม่ให้เป็นไปไง เราบอกนี่มันติดกับดักตัวเอง ติดกับดักความรู้ของเรา

แต่ถ้าโดยปกติ ที่คำถามเขาแปลกใจ เขาแปลกใจว่าเวลามันเป็น เขาไม่ได้ตั้งใจ เวลาเขาตั้งใจแล้วมันไม่เป็นไง เขาบอกหนูไม่แน่ใจว่ากำลังทำอะไรอยู่ แต่อยู่ในท่านั่ง แล้วเห็นดวงใสๆ

นี่เวลาไม่ตั้งใจมันเป็น เวลาตั้งใจมันไม่ได้ คำถามมันอยู่ตรงนี้ แล้วเวลาตั้งใจแล้วไม่ได้ เพราะตั้งใจ เราตั้งใจ เราตั้งใจนี่มันตัณหาซ้อนตัณหา แต่คำถามว่า เราตั้งใจแล้วเรากำหนดพุทโธของเรา เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเรา เวลามันเป็น เป็นอย่างนี้ นี่ขึ้นเป็น มันเริ่มเป็นสมาธิ

แต่ถ้ารวมใหญ่นะ มันจะลึกลับ มันจะมีคุณค่ามากกว่าที่โยมเป็นอีก ไอ้ที่เป็นนี่เปอร์เซ็นต์เดียวไง มันจะดีกว่านี้อีก ๙๙ เปอร์เซ็นต์ เวลามันเป็นจริงมันจะแปลกประหลาดกว่านี้อีก ๙๙ เปอร์เซ็นต์ นี่เวลาคนเป็น เป็นอย่างนี้ เห็นไหม ถ้าใครทำสมาธิได้ ใครทำความสงบของใจได้ จะเคารพบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก

ถ้าใครทำความสงบของใจได้ ใครมีหลักมีเกณฑ์นะ จะซาบซึ้งบุญคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะซาบซึ้งมาก จะเคารพมาก เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้เป็นสัจจะ มันเป็นความจริงที่มันมีอยู่ แล้วเราทุกคนว่าเก่งหมด แต่ไม่เคยได้สัมผัสสิ่งนี้เลย พอไปสัมผัสนะ มันจะตะลึงเลย แล้วเข้าใจ

แต่พอจิตมันเสื่อม ถ้ามันเข้าใจ เพราะในวงการกรรมฐานเรา เวลาพระปฏิบัติ จิตสงบได้ จิตมีหลักมีเกณฑ์ได้ แล้วพอเวลาจิตเสื่อมเข้าไปแล้ว มันทนแรงสิ่งเร้าในใจไม่ไหว สึกไป ทนความอยากในใจไม่ไหว

เวลาจิตมันเสื่อม จิตมันเสื่อมแล้วมันร้อน จิตมันเสื่อมแล้วมันไม่มีที่พึ่ง พอไม่มีที่พึ่ง กิเลสมันเป่าหูทุกวันน่ะ อย่างนั้นดีกว่า สึกไปดีกว่า ไปทำมาหากินดีกว่า เลิกปฏิบัติดีกว่า มันจะเป่าตลอดไป

แต่สิ่งที่ว่าเคยเป็นสมาธิมันก็ฝังใจอยู่ มันเชื่อ ศรัทธามันตั้งมั่น มันเชื่อว่าสัจธรรมมีจริง ฉะนั้น สิ่งที่เวลาจิตมันเสื่อม จิตมันเสื่อม จิตมันเป็นไปนะ เวลากิเลสมันแข็งแรงขึ้นมา มันทำให้พระสึกไป ทำให้ผู้ปฏิบัติล้มเลิกไป

ฉะนั้นบอกว่า ถ้ามันได้เข้าไปสัมผัสแล้วเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ด้วยความเป็นจริง ทำไมเขาสึกไปล่ะ สึกไป

เวลาเป็นความจริง ความจริงขณะที่เป็น แต่เวลามันเสื่อมไปแล้วมันไปคลุกเคล้าอยู่กับกิเลสทั้งหมด เหมือนกับเวลาเราเจริญขึ้นมา เราไปอยู่กับความร่มเย็นเป็นสุข เวลามันเสื่อมไป เราไปคลุกอยู่กับไฟ มันทนไม่ไหว มันคลุกอยู่กับไฟ มันทนไม่ไหว มันก็ต้องสึกไป ต้องเป็นอย่างนั้นไป

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าอาการที่เกิดขึ้นมันเป็นจิตรวมหรือเปล่าคะ

มันเป็นสมาธิ เป็นส้มหล่น มันเป็นความสุขความสงบ ใช่ แต่บอกถ้ามันจิตรวมใหญ่ มันยังไม่ถึงขนาดนั้น แต่ให้ทำไป ให้ขยันหมั่นเพียรไป ทำคุณงามความดีของเราเนาะ ทำคุณงามความดีของเรา

ความดีทางโลก ความดีที่เขาทำกันนี่เป็นความดี ที่เขาทำกัน กตัญญูกตเวที ทำคุณงามความดี เป็นความดีไหม เป็น เป็นความดีแน่นอน แต่ความดีอย่างนี้ ดูสิ เวลาสัตว์ เวลาสัตว์มันเลี้ยงลูกมัน มันไปหาเหยื่อ มันล่ามานะ ดูสิ หมามันไปกินมานะ แล้วพอกลับไปที่รังของมัน มันไปขย้อนออกมาจากท้องของมันให้ลูกมันกิน มันก็เป็นความดี ความหาอยู่หากิน ความรับผิดชอบดูแลกัน สัตว์มันก็ทำ ถ้าสัตว์มันดีนะ

นี่ก็เหมือนกัน เราเป็นคน เราทำเป็นความดีไหม เป็น ก็เป็นความดีของมนุษย์นั่นน่ะ แต่ถ้าความดีที่มันดีกว่านี้ ความดีที่มีโอกาส ความดีที่เรากระทำได้ แล้วพอมันดีขึ้นมา พอมันมีสติ มีสมาธิ มีปัญญาขึ้นมา เราจะเห็นเลยว่าสมบัติของใจอันนี้มันสำคัญ สำคัญมากๆ สำคัญมากๆ แล้วสำคัญอยู่ไหนล่ะ

เราไปค้นคว้าในตำรา เราไปฟังครูบาอาจารย์ ท่านก็บอกวิธีการทั้งนั้นน่ะ แต่เวลามันเป็นจริงขึ้นมา มันเป็นจริงในหัวใจของเราไง มันเป็นจริง มันเป็นจริงอย่างนี้ ถ้ามันเป็นจริงอย่างนี้ขึ้นมา

เขาถามว่าแล้วอย่างนี้จิตหนูมันพัฒนาขึ้นหรือเปล่า

มันพัฒนาขึ้นสิ มันต้องดีขึ้น จิตมันพัฒนาขึ้น

ฉะนั้นอันนี้เป็นอาการที่จิตรวมหรือไม่

เป็นสมาธิ

คำว่าจิตรวมมันสักแต่ว่ารู้ จิตรวมใหญ่ หลวงตาท่านเคยพูดอย่างนี้นะ บอกพระบางองค์ไม่เคยเจอเลย พระบางองค์ทำไม่ได้เลย พระบางองค์ทำไม่ได้เลย แล้วคนทำได้น้อยมาก เพราะเวลาเราประพฤติปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา มันไม่ต้องใช้ถึงกับจิตรวม จิตรวมถึงจะพิจารณา เพราะจิตรวมมันพิจารณาไม่ได้ จิตรวมนี่มันสักแต่ว่ารู้ มันเป็นหนึ่งเดียว

เวลาพิจารณา จิตเห็นอาการของจิต มันเป็นอารมณ์สองนี่แหละ แต่อารมณ์สองที่เป็นสมาธิมาแล้วมันปล่อยวาง ปล่อยวางจากการยุแหย่ของกิเลสมาแล้ว ปล่อยวางจากการยึดครองของกิเลสมาพักหนึ่ง

พอจิตมันสงบได้ เป็นอิสระได้ เวลามันออกมาพิจารณา มันถึงเป็นวิปัสสนา เพราะมันไม่มีกิเลสบวกเข้ามา มันไม่มีตัณหาความทะยานอยากคอยชักนำว่าจะเป็นอย่างนั้นๆ ปฏิบัติไปแล้วต้องเป็นอย่างนั้น เพราะอะไร เพราะเรารู้มาแล้ว เราศึกษามาแล้ว เราอ่านมาแล้ว เราฟังครูบาอาจารย์มามากแล้ว มันพยายามจะชักนำไปทางนั้นน่ะ มันก็เลยไม่เป็นความจริง

แต่ถ้าจิตมันสงบแล้วมันเป็นอิสระ จิตสงบ อิสระจากกิเลสชั่วคราว แล้วออกฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้ามันพิจารณาของมันไป พอมันพิจารณาของมันไปนะ พอจิตมันเริ่มพิจารณาไป มันเริ่มคลายออกมา สมุทัยก็เจือปนเข้ามา คือความคาดหมายเจือปนเข้ามา เห็นไหม ติดกับดักตัวเอง มันก็กับดัก กับดักของกิเลส มันเป็นของมัน

ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา พ้นจากกับดัก เป็นอิสระชั่วคราว แล้วเราก็พิจารณาของเรา ถ้ามันพิจารณาได้ พิจารณาของเรา ทำอย่างนี้ขึ้นไป เจริญขึ้นไป สิ่งที่ขึ้นไป มันจะพ้นจากกับดักของตัวเอง ฝึกหัดอย่างนี้ แล้วมันพัฒนา มันต้องพัฒนา

ไม่พัฒนา มันจะเป็นดวงข้างหน้ากับดวงข้างหลังเข้ามา พอดวงอย่างนี้ปั๊บก็บอกเลย บอกว่าเอ๊ะ! อย่างนี้ติดนิมิตสิ พุทโธๆ มันติดนิมิต ไอ้พวกภาวนาไม่มีปัญญา

ไอ้คำว่านิมิตจิตสงบแล้วมันรู้มันเห็น จิตมันรู้มันเห็น เราก็วาง พอมันเห็นนิมิต มันเห็นแสง แสงมันพุ่งเข้ามาชนกัน มันทะลุเข้ามาตัว นี่มันไม่ส่งออกนะ

เห็นแสง แสงวิ่งออกไป แล้วความรู้ก็ตามออกไป ส่งออกไปเลยนะ

นี่เห็นแสง แสงมันยังวิ่งกลับเข้ามาหาเราใช่ไหม แล้วจากดวงข้างหลังมาชนกัน ชนกันในร่างเรา คือชนกันแล้วมันหายไปไง พอชนเข้ามาในร่างนี้ มันไม่มีนิมิตให้ตามไป นิมิตมันย้อนกลับมาที่เรา

เราเห็นนิมิต แล้วนิมิต เรากลืนนิมิตเข้ามาในใจของเรา ใจเรามันดึงนิมิตเข้ามาแล้วกลืนมันเลย กลืนนิมิตไปเลย กลืนมัน ทำลายมัน ไม่มีเลย จิตว่าง สบายโล่ง

ถ้าเราไม่ส่งออก เราไม่ตามไป นิมิตก็คือนิมิต ถ้าคนรู้คนเห็นมันก็เป็นอย่างนั้น

ถ้าคนไม่มีนิมิต จิตสงบธรรมดาก็เป็นสมาธิ ถ้าสมาธิ เราก็ยกขึ้นเลย ยกขึ้นสู่วิปัสสนา เราทำของเรา เราฝึกหัดของเรา ฝึกหัด วิปัสสนาอ่อนๆ ฝึกหัดให้จิตมันก้าวเดิน ฝึกหัดให้มันมีประโยชน์ของมันขึ้นมา ถ้ามีประโยชน์ มันก็เป็นประโยชน์

คำถามว่า สิ่งที่เขาทำนี่ถูกไหม เขาพัฒนาขึ้นไหม เวลาที่ว่าจิตของเขาทำงาน เวลาเขาปฏิบัติแล้ว จิตเขาทำงานตลอดเวลา

โดยธรรมชาติของมันทำงานตลอดเวลาอยู่แล้ว เพียงแต่เราจะพักมันไง เวลาเราจะพัก เราทำความสงบของใจเข้ามา แล้วฝึกหัดภาวนาไป

ทีนี้เพียงแต่ว่า เวลาจิตเขาเห็นอย่างนั้นแล้วมันกลืนเข้ามาในใจ แล้วมันสบาย มันโล่ง

ฉะนั้น เวลาคนที่เขาติด พอจิตเขาว่าง เขาบอกนิพพานคือความว่าง นี่คือนิพพานแล้วนี่ก็เหมือนกัน เคยฟังว่ารวม รวมใหญ่ จิตมันลึกลับซับซ้อน พอเราเป็น เราก็ตั้งชื่อให้มันว่ารวมใหญ่หรือเปล่า

ยัง ไม่ใช่ ไม่ใช่เพราะรวมใหญ่มันละเอียดกว่านี้เยอะนัก แต่อันนี้เป็นสมาธิ จิตมันแบบว่าส้มหล่น

จิตมันรวม บอกว่ารวมใหญ่ใช่ไหม

ไม่ใช่จิตมันรวม จิตมันเป็นหนึ่ง มันปล่อยวางชั่วคราว แล้วมีความสุขมาก เป็นความเป็นจริงมาก อันนี้เป็นอัตตสมบัติ สมบัติของใจดวงนี้ที่ปฏิบัติได้เนาะ จบ

ถาม : เรื่องขอความเมตตาหลวงพ่อครับ ผมขอเล่าถวายการปฏิบัติครับ

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ ผมขอเล่าถวายการปฏิบัตินะครับ เมื่อจดหมายฉบับก่อน หลวงพ่อได้เมตตาตอบคำถามและให้คำแนะนำไว้ว่า กำลังยังไม่พอ ให้ฝึกกำลังของสติครับ

ผลการปฏิบัติที่ได้คือหลังจากสวดมนต์เสร็จก็เริ่มภาวนา พอได้สักระยะเป็นที่พอใจก็ออกไปเดิน ผมตั้งอกตั้งใจจะเดินไปจนเทียนมันหมดเล่มจึงจะได้พักผ่อน ขณะที่เดินไปสักระยะหนึ่ง เกิดอาการง่วงนิดๆ ถึงง่วงมาก แต่ยังตั้งสติไว้พุทโธอยู่ครับ ได้บ้างไม่ได้บ้าง ชัดบ้าง อ่อนบ้าง และพอถึงที่สุดเหมือนจะไม่ไหวจริงๆ แล้วครับ มันหลับทั้งเดิน แต่มันหลับเป็นช่วงสั้นๆ ภาพการมองเห็นขณะเดินหายแว็บเดียว หรือเรียกว่าหลับในนี้เองครับผม เป็นเช่นนี้ไปหลายครั้ง แต่ก็เพราะความตั้งอกตั้งใจจะเดินตามที่ตั้งใจ จึงไม่ยอมที่จะนอน ทั้งๆ ที่ความคิดบอกให้นอนเถอะๆ แต่ก็ไม่ทำตามความคิดนั้น กัดฟันสู้ สุดท้ายความง่วงดับไปเฉยๆ ความง่วงหายไป กลายเป็นสติตื่นตัวสว่างโพลงแทนครับ หรืออาจจะเป็นเพราะกาแฟที่ดื่มไปมันเริ่มจะออกฤทธิ์หรือเปล่าก็ไม่แน่ใจครับ

เดินต่อเรื่อยๆ สักพักจึงได้ออกคิดพิจารณาเหตุการณ์นี้ครับ ตั้งสติไว้ และวางพุทโธ และเริ่มพิจารณาว่าความง่วงที่เกิดและดับไปนั้นมีดังนี้ครับ

ความง่วงเกิดของมันเอง เป็นเหตุปัจจัยอะไรก็ไม่ทราบ แต่ส่วนใหญ่เราแก้ด้วยการนอนพักผ่อน แต่ครั้งนี้เราไม่นอนตามความคิดที่สั่ง สุดท้ายมันก็หายไปเอง เป็นเช่นดังที่ปรากฏ พอรู้เช่นนี้จึงเกิดความคิดว่าอย่างนั้นไม่ต้องนอนเลยก็ได้ ผมคิดเล่นๆ ครับ จากนั้นก็วางและพุทโธต่อนะครับ

พอสบาย ก็ออกมาพิจารณาอีกครั้งได้ความว่าอย่างนี้ ความคิด ความรู้สึกที่เกิดเป็นเช่นเดียวกันนี้เอง ไม่ว่าความสงสัยอยากจะหาคำตอบใดๆ ก็วางได้ ไม่ต้องเข้าไปวุ่นวายกับมัน แล้วตัวความคิดที่กำลังพิจารณาก็เช่นกัน เพราะความไม่ว่าง มันก็ยึดว่าเรารู้ๆ แต่ก็เอาไปเที่ยวสอนเขา ไม่ได้สอนใคร ใจมันก็ยังมีความมั่นอกมั่นใจในตัวมัน ทั้งที่รู้จริงหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ แต่ต้องวางไว้ พุทโธไป ความรู้สึกอันนั้นดับเอง

ผมทำตามที่หลวงพ่อสอน คือวางไว้ เราพุทโธของเราไป สุดท้ายมันเกิดเอง ก็ดับเอง ไม่มีใครบังคับบัญชาได้ดังที่ว่านี้ครับ และทุกสิ่ง ไม่ว่าร่างกายหรือจิตใจก็เป็นสภาพเดียวกัน เพียงแต่ตั้งสติรู้ไว้ พุทโธไว้ หมั่นฝึกซ้อมระลึกรู้พุทโธ และสติจะมีกำลังมากขึ้น รู้เท่าทันไปเป็นลำดับ ความสงบสบายและความสงสัยฟุ้งซ่านวุ่นวาย ความโกรธเคืองขุ่นใจ ความไม่พอใจก็เกิดบนจิตนี้เอง เสื่อมไปบนจิตนี้เอง ดับบนจิตนี้เอง มีเพียงสติแล้วไหลตามกระแสทุกสิ่งที่เกิดขึ้นบนจิตมันเป็นเครื่องดับ

ผมเขียนมาเพื่อเล่าถวายหลวงพ่อ ผมก็อาศัยความจำที่ได้มา ผ่านมา หรืออาจจะเป็นเพราะฟังมาเยอะ อ่านมาเยอะก็ได้นะครับ แต่เมื่อได้ลงมือทำแล้วก็ได้นำมาพิจารณาตามที่ว่านี้ หากสิ่งที่ผมพิจารณาอยู่นี้ถูกหรือผิดประการใด ขอเมตตาจากหลวงพ่อสั่งสอนแนะนำให้อุบาย เพื่อที่จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไขต่อไปครับ

ตอบ : ทีนี้สิ่งที่ว่าทำ เวลาเราประพฤติปฏิบัติ คราวนี้เราใช้คำว่าติดกับดักตัวเองติดกับดักตัวเองคือติดความรู้ของตัวเอง ไอ้นี่ก็เหมือนกัน บอกว่าอ่านมาเยอะๆ

ถ้าอ่านมาเยอะขนาดไหน เวลาง่วงนอนๆ โดยธรรมชาตินะ เวลาง่วงนอน เวลาคำว่าง่วงนอนเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนพระโมคคัลลานะไง พระโมคคัลลานะก็นั่งสัปหงกโงกง่วง พระโมคคัลลานะเป็นพระโสดาบันแล้ว แล้วเวลาไปบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอยู่ นั่งสัปหงกโงกง่วง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงไปสอนไง ให้ตรึกในธรรม ให้เอาน้ำลูบหน้า ให้แหงนมองดูดาว ถ้ามันทำเต็มที่แล้ว ถ้ามันยังง่วงอยู่ก็นอนซะ นอนเสร็จแล้ว ตื่นแล้วมาปฏิบัติใหม่ นี่สอนพระโมคคัลลานะ เพราะพระโมคคัลลานะมาบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๗ วันเป็นพระอรหันต์เลย

พระสารีบุตรมีปัญญามากกว่า เวลาพูดสิ่งใด พระสารีบุตรต้องใช้ปัญญามากกว่านะ พระสารีบุตร ๑๔ วัน มากกว่าพระโมคคัลลานะเท่าตัว แต่พระโมคคัลลานะไปฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฝึกอยู่ ๗ วัน ปฏิบัติอยู่ ๗ วัน

พระโมคคัลลานะได้โสดาบันมาจากพระสารีบุตรไปฟังธรรมะพระอัสสชิเป็นพระโสดาบัน ไปบอกพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะเป็นพระโสดาบันด้วย พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะเป็นพระโสดาบัน ก็ชวนบริษัทบริวารไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลาไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปบวช ไปบวชเสร็จแล้ว พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ ลูกศิษย์เป็นพระอรหันต์หมดเลยนะ ที่เขาชวนไปเป็นปุถุชนนี่เป็นพระอรหันต์หมดเลย แต่ผู้ที่พาไปเป็นพระโสดาบัน ๒ องค์ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะยังได้โสดาบันอย่างเดิม ลูกศิษย์ที่ไปฟังได้เป็นพระอรหันต์หมดเลย

พอเทศน์ไปอีก ๗ วัน พระโมคคัลลานะได้เป็นพระอรหันต์ แล้วพระสารีบุตร ๑๔ วัน เห็นไหม มันติดความรู้ตัวเอง ถ้ามีปัญญามาก มีความรู้มาก มันก็ต้องมีเหตุผล มีการอธิบายมาก

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเขาบอกว่า เขากำหนดพุทโธ เวลาเดินจงกรมมันง่วงมาก เวลาความคิดมันก็บอกให้นอนเถอะ นอนเถอะ พักก่อนก็ได้ แต่ก็พุทโธต่อเนื่องไปๆ ถึงที่สุดเวลามันลง ความง่วงหายหมด ความง่วง ความทุกข์ความยากมันหายหมด

อันนี้มันเป็นความจริง ถ้าความจริงมันเกิดขึ้นมาอย่างนี้ มันเป็นความจริง มันอยู่ที่อะไรล่ะ ความรู้จะมากจะน้อย เราวางไว้ เราจะเอาความจริง

ความจริง เวลาประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง เวลาถ้าจิตมันลง มันสมดุลของมัน มัชฌิมาปฏิปทา มันสมดุลของมัน เวลาสมดุลของมัน ความง่วงหายเลย แล้วความง่วงหายแล้วยังสงสัยนะ ไอ้ที่หายมันหายเพราะกาแฟหรือเปล่า หายเพราะกาแฟหรือหายเพราะปฏิบัติ

อ้าว! มันหายกับเราหรือเปล่าล่ะ มันหาย มันสงสัยมาก มันรู้มาก สงสัยมาก ติดกับดักตัวเองไง

ฉะนั้น เวลาที่หลวงตาท่านเป็นมหา ท่านศึกษาจบแล้ว นิพพงนิพพานนี่ศึกษาจบมาแล้ว แต่เวลาจะปฏิบัติแล้วมันมีจริงหรือเปล่า พอมีจริง ตัวเองมันสงสัย ติดกับดักตัวเอง เพราะตัวเราเองทิฏฐิมานะไง ความผิดคนอื่น เวลาคนผิดพลาดรู้หมดนะ ผิดควรแก้ไขอย่างไรๆ แต่เวลาเราผิด แก้ไม่เป็น แก้ไม่ได้ แล้วเราไม่รู้ว่าแก้อย่างไรด้วย

ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันติดกับดักตัวเอง มันติดความรู้ตัวเอง เวลาไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอกว่า มหา มหาเรียนมาจนเป็นมหา ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐนะ ประเสริฐมาก ให้เทิดใส่ศีรษะไว้ คือยกให้สูงไว้ พวกเรารู้ไม่จริงตามนั้นหรอก เราศึกษามาเป็นความจำ เทิดใส่ศีรษะไว้คือยกสูงไว้ก่อนแล้ววางไว้ แล้วเวลาปฏิบัติ เราปฏิบัติของเราไป ถ้ามันเป็นความจริงแล้วนะ ความรู้ที่สูงส่งนั้นกับความจริงในใจเราถ้ามันอันเดียวกัน มันอันเดียวกันเลย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราปฏิบัติ เราปฏิบัติของเราไป ความรู้เราเยอะ ความรู้เราศึกษามามาก แต่เรารู้ไปก่อน ทำของเราตามความเป็นจริง พอความจริง ความง่วงหาย ทุกอย่างหายหมด เพราะจิตมันปล่อย อาการของมันทั้งหมดน่ะ เวลาจิตของเรามันสว่างไสว จิตของเรามันแช่มชื่น เวลามันอยู่ของมันไป

เวลานิวรณธรรม เวลาง่วงเหงา ถีนมิทธะ มันเข้ามา มันครอบงำมา มันก็ง่วง เวลานอนตื่นขึ้นมา บางคนนอนไม่ตื่น นอนตื่นขึ้นมาก็อยากนอนต่ออยู่อย่างนั้นน่ะ มันแก้ไม่ได้หรอก

แต่ถ้าเวลาเรามากำหนดพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เวลามันหายนะ เราทำได้ เราถือเนสัชชิก ไม่นอนทั้งวันทั้งคืน ๒๔ ชั่วโมง ๗ วัน ๗ คืน เราไม่นอนเลย ง่วงมาก แต่เวลาปฏิบัติไปแล้วมันง่วงหายหมด คนปฏิบัติมามันจะเป็นมาอย่างนี้ มันเป็นไปได้ ถ้าเป็นไปได้ เห็นไหม ความรู้จากภาคปฏิบัติไง

ความรู้จากการศึกษา ความรู้จากการศึกษาทฤษฎี เขาให้ศึกษา ศึกษามาเพื่อปฏิบัติ การศึกษามันเป็นแนวทาง ศึกษามาแล้วปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติขึ้นมา เวลาเป็นความจริงขึ้นมามันจะเป็นความจริงอย่างนี้

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถวาย เขียนคำถามมาเพื่อให้หลวงพ่อพิจารณา ขอถวายการปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติ ถวายการปฏิบัติ ปฏิบัติ เวลาที่เขาเกิดปัญญา เวลาเราเดินจงกรมอยู่ ปัญญาอบรมสมาธิ อย่างที่เขียนมา

เวลาปฏิบัติด้วยเหตุด้วยผล ความคิดมันจะโต้แย้งกัน สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง นี่ถ้าเป็นฝ่ายลบ มันเป็นฝ่ายกิเลส มันก็คิดของมันไป แต่ถ้าเราตรึกในธรรมๆ เราพยายามตรึกในธรรม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สังขารฝ่ายบวก สังขารฝ่ายมรรค เวลามันสู้กัน นี่ปัญญาอบรมสมาธิ

ด้วยเหตุด้วยผลพิจารณาของมันไป ถ้ามันปล่อยวางๆ ปล่อยวางเสร็จแล้ว พอมันปล่อยวางแล้ว พอจิตสงบแล้วมันจะเกิดสังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่งต่อเนื่องไป เมื่อมันมีสมาธิรองรับขึ้นมา มันจะเกิดปัญญาขึ้น มันจะเกิดเป็นผลบวกมากขึ้น พอมากขึ้นไปมันจะดีขึ้น มันต้องปฏิบัติอย่างนี้ ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ปฏิบัติต่อไปเรื่อยๆ

ฉะนั้น สิ่งที่เขียนมาเพื่อให้หลวงพ่อพิจารณาเมตตา

ถ้าพิจารณา เพราะปัญญามันเกิดมากมายมหาศาลนะ เวลากำหนดทำสัมมาสมาธิ สมาธิคือน้ำล้นแก้ว ถ้าน้ำเต็มแก้วแล้ว แก้วนั้นรักษาน้ำได้แค่นั้น ถ้ามากขึ้นไปมันก็ล้นแก้วนั้นไป นี่คือสมาธิ สมาธิคือมันเต็มก็เต็มแค่นั้นแหละ

แต่เวลาเป็นปัญญา ปัญญามันไม่มีขอบเขตเลย ดูอากาศไม่มีขอบเขต ออกซิเจน บรรยากาศมันห่อหุ้มโลกนี้ไว้ ห่อหุ้มโลกนี้ไว้เลย นี่ก็เหมือนกัน เวลาขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขต ปัญญามันไปได้หมดเลย ถ้าปัญญาไปได้หมด ปัญญามีสัมมาสมาธิรองรับ มันก็เป็นวิปัสสนา ถ้าปัญญาเป็นกิเลสรองรับ กิเลสคือตัวตนของเรารองรับ มันก็เป็นเรื่องของกิเลส

ฉะนั้น ขยันหมั่นเพียรตรงนี้แล้วมันจะเห็นเอง เห็นเองหมายความว่า เวลาที่เราง่วงเหงาหาวนอนแล้วเราต่อสู้กับมัน เห็นเองคือเวลามันปล่อย นี่เห็นเอง นี่ผลของมัน ถ้าผลของมัน ถ้าปฏิบัติต้องเห็นอย่างนี้

เวลามันง่วงมาก เวลามันทุกข์มาก นี่เรื่องของกิเลสทั้งนั้นเลย เรื่องของอวิชชา แต่เวลาพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ เวลามันสว่างโพลงขึ้นมา เห็นไหม นั่นน่ะผลของธรรม พิจารณาไปมันจะเห็นอย่างนี้ ถ้าเห็นอย่างนี้ มันปฏิบัติไปอย่างนี้ ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ นี่ผลของการปฏิบัติ

ฉะนั้น ผลของการศึกษาส่วนของผลการศึกษา แนวทางเป็นแนวทาง แล้วปฏิบัติเป็นความจริงก็เป็นความจริงของเราขึ้นมา จบ

ทีนี้เอาอันนี้

ถาม : ผมขอกราบเรียนถามปัญหาธรรมะหลวงพ่อดังนี้ครับ

ผมมาปฏิบัติธรรมที่วัด ขณะเดินจงกรมเกิดธรรมะเป็นคำพูดว่า ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมีความดับไปเป็นธรรมดา

ผมพิจารณาตามธรรมนั้น แต่กำหนดให้แคบลง โดยสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ความหมายคือความทุกข์ แล้วก็พิจารณาว่าทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป คราวนี้จิตมันเลือกพิจารณาทุกข์ตัวที่ผมกำลังประสบอยู่ คือทุกข์เกิดจากการที่เรามีหนี้ เป็นเพราะเราต้องเลี้ยงธาตุขันธ์ของเราและครอบครัว เราต้องการปัจจัย ๔ ของธาตุขันธ์ พิจารณาทุกข์ที่เกิดขึ้น เรื่องเราต้องหาเงินซื้อบ้านให้ครอบครัว ทุกข์ที่ตั้งอยู่ เรื่องภาระในการผ่อนบ้าน และทุกข์ดับไปคือหมดภาระในการผ่อนบ้าน และผ่อนหมดหรือผ่อนไม่หมด บ้านถูกยึด

พิจารณาไป ผมเห็นภาพเป็นพระพุทธเจ้าปางประทานพรบอกว่า มีทุกข์เท่านั้นที่เกิด ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับ

เกิดปีติน้ำตาไหลออกจากภาวนา เห็นอะไรเป็นทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ดับไป เช่น เวลาขับถ่ายและอาบน้ำ

ตอบ : อันนี้เวลาเราแสวงหาทางโลกเต็มที่แล้ว แสวงหาทางโลกมันเป็นของประจำโลก ของประจำโลกคือของสาธารณะ ดูสิ เวลาบ้านของเรา เขาต้องซ่อมต้องแซม ต้องดูต้องแล ต้องรักษาตลอดไป นี่ของที่เป็นวัตถุไง

หลวงตาท่านพูดมาก เวลาพวกเราไปเที่ยวทางยุโรป บอกเขาเจริญๆ เขาเจริญทางวัตถุ เจริญทางวัตถุเพราะเขามีสติปัญญาของเขา เขาก็สร้างของเขาขึ้นมา เพราะวัตถุก็สร้างมาจากคนนั่นแหละ แล้วสร้างเป็นวัตถุ แต่ในทางศาสนาเขาสร้างหัวใจ

ถ้าเขาสร้างหัวใจ หัวใจที่เป็นนามธรรม ดูสิ วัดที่เขาสร้างขึ้นมา ดูสวยงามมาก ดูใหญ่โตมาก ทุกคนเห็นแล้วอลังการมาก แต่เวลาเราไปเจอพระปฏิบัติ เอ๊ะ! ไม่เห็นมีอะไรเลย

ครูบาอาจารย์ท่านพูดถึงหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่เจี๊ยะหรือหลวงตาท่านบอกว่าหลวงปู่มั่นเป็นบุคคลธรรมดาร่างเล็กๆ ดูสิ เวลาหลวงปู่พรหมท่านเสียสละสมบัตินะ สมบัตินี่แจกเหมือนกันเลย ทุกอย่างแจก แล้วท่านก็ออกบวช แล้วท่านก็ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น ไปพบหลวงปู่มั่นครั้งแรกนะ เพราะชื่อเสียงหลวงปู่มั่นโด่งดังมาก โอ้โฮ! ชื่อเสียงโด่งดังมาก แต่ตัวเล็กๆ

หลวงปู่มั่นรู้ว่าหลวงปู่พรหมคิดอะไรไงอย่ามองคนที่รูปร่างสัณฐาน อย่าเพิ่งมองคนที่รูปร่างสัณฐาน

เวลาไปเห็น เราเห็นร่างเล็กๆ แต่เวลาไปอยู่ด้วยนะ เวลาท่านให้ธรรมะ งงเลยล่ะ เวลาเข้าไป ท่านให้ธรรมะ เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน เวลาความประพฤติปฏิบัติมันเป็นนามธรรม พอเป็นนามธรรมมันเป็นเรื่องของหัวใจ ถ้าเป็นนามธรรมเป็นเรื่องของหัวใจ เราจะมองอย่างไรว่าอะไรที่มันเจริญมันเสื่อมล่ะ

เราไปเห็นแต่วัตถุมันเจริญ ไปเที่ยวมา อู๋ย! ที่นั่นเขาเจริญ ที่นี่เจริญ...มันเจริญด้วยวัตถุ สิ่งที่เป็นวัตถุมันต้องดูแลรักษา แต่ถ้าหัวใจล่ะ หัวใจยิ่งยากเข้าไปอีก เพราะอะไร เพราะเวลาใจมันดีขึ้น เวลาใจมันเลวลง เราจะดูแลอย่างไร

ถ้าเราฝึกหัดจนมันเป็นความจริงขึ้นมา ดูสิ อกุปปธรรม มันคงที่ตายตัว แต่กุปปธรรม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา มันแปรสภาพทั้งนั้นน่ะ มันดิ้นรนตลอดเวลา ถ้ามันเป็นจริง มันเป็นจริงอย่างไร ถ้าเป็นจริงขึ้นมา นี่พูดถึงว่า เวลาที่เราพิจารณา

เขาจะเห็นสภาวะแบบนั้น ฉะนั้น ถ้าเราเป็นทางโลก เขาคิดทางโลกว่า ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ดับไป

มันเป็นจริงอย่างนั้นอยู่แล้ว เพียงแต่เวลาเรามีปัญหาขึ้นมา เรามีปัญหาขึ้นมา เราใช้อย่างนี้พิจารณา ถ้าใช้อย่างนี้พิจารณาแล้วมันเป็นที่หล่อเลี้ยงใจเรา ที่หล่อเลี้ยงใจเราให้ใจเรามันพอมีที่พึ่งที่อาศัย แล้วถ้ามันทำสิ่งนี้ได้ มันแก้ไขเหตุการณ์ แก้ไขวิกฤติชีวิตเราได้ทั้งนั้นน่ะ ถ้าแก้ไขชีวิตเราได้ ถ้าเราแก้ไขได้ เราแก้ไขของเราให้จบ ถ้าแก้ไข วิกฤติเกิดอย่างนั้น สภาพแบบนั้น เราก็ยอมรับสภาพแบบนั้น แล้วเราแก้ไขคือหาทางออกของเรา

คนเรานะ ดูสิ เวลาพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลมันร่ำลือไปนะ พระสารีบุตรยังต้องไปดู เวลาไปบิณฑบาตอยู่ท้ายแถว เขาใส่บาตร เขาหมดก่อน ในวงการพระเขามีเมตตากันมาก วันนี้ไม่ได้อาหารใช่ไหม พรุ่งนี้ให้อยู่ข้างหน้า ไอ้โยมก็คิดเลยนะ เมื่อวานเราใส่ข้างหน้าก่อน ข้างหลังเลยไม่ได้ วันนี้ข้างหน้างดเว้น ไปใส่ข้างหลังก่อน นี่ช่วยแล้วมันก็ผิดพลาด มันมีความผิดพลาด

สุดท้ายร่ำลือไป จนพระสารีบุตรไปเยี่ยมนะ ถามว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ

เป็นอย่างนั้นจริงๆ

ฉะนั้น พระสารีบุตรจับไว้ ด้วยบุญของท่านนะ จับบาตรไว้ ฉันให้อิ่ม

ฉันข้าวไม่เคยอิ่ม คิดดูสิ คนที่กินข้าวไม่เคยอิ่มนี่มันทุกข์นะ ท่านจับบาตรเอาไว้เลย ด้วยบารมีของพระสารีบุตร วันนั้นท่านฉันอิ่มท้องเลย พอฉันวันนั้นอิ่ม วันนั้นก็นิพพาน ตายวันนั้น นี่พระอรหันต์นะ แล้วดูพระสีวลีสิ อู้ฮู! ร่ำรวยมหาศาล ไอ้ของอย่างนี้มันเป็นเรื่องที่ว่า สิ่งใดเกิดขึ้น เรามีสติปัญญาแล้วเราแก้ไข

เวลาเราพูด เราฟังเสียงของสังคมพอสมควร เขาจะบอกว่าพระเป็นลัทธิยอมจำนน ชาวพุทธเป็นลัทธิยอมจำนน ยอมรับๆ ทุกอย่าง อะไรก็ว่ากรรมๆ

มันไม่ใช่ลัทธิยอมจำนน มันเป็นลัทธิของนักปราชญ์ นักปราชญ์ราชบัณฑิต นักปราชญ์ราชบัณฑิตที่รู้เท่า รู้เท่าเหตุการณ์ รู้เท่าการกระทบกระทั่ง ถ้าบอกว่าเป็นลัทธิยอมจำนน เราจะไม่ยอมจำนน เราจะมีสติปัญญา

เราจะไม่ยอมรับความจริงอะไรเลยหรือ อย่างนั้นแสดงว่าขนาดศาลตัดสินแล้วศาลก็เข้าข้างคนอื่นใช่ไหม แต่ถ้าเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต อะไรผิดอะไรถูกก็ว่ากันตามเหตุผล แล้วถ้าเวลาผิดถูกว่ากันตามเหตุผล ว่ากันตามหลักฐาน ว่ากันตามข้อเท็จจริง ถ้ามันผิดมันถูกต้องว่าตามนั้น ว่าตามนั้นเสร็จแล้ว ทีนี้เหตุผล หลักการทุกอย่างเหมือนกัน แต่ทำไมเราเป็นอย่างนี้ล่ะ

มันเป็นอย่างนี้ มันก็บอกว่า มันก็ต้องชักเข้ามาว่าเบื้องหลัง ถ้าเบื้องหลังมันมีสิ่งใดมา ถ้าเบื้องหลัง เบื้องหลังหมายถึงว่าเราทำมา มันก็ต้องยอมรับความจริงอย่างนั้น ความจริงของเรามันความจริงในปัจจุบันด้วย ความจริงมีที่มาที่ไปด้วย กรรมเก่า กรรมใหม่

ถ้ากรรมเก่า สิ่งที่เป็นอดีตมา เราทำของเรามาแล้ว ดูสิ เวลาคนเกิดมารูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกัน ความคิดคนไม่เหมือนกัน ทุกสรรพสิ่งของคนไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกัน มันมาจากไหนล่ะ มันมาจากที่มา พอที่มานะ

เราเกิดมา ในปัจจุบันนี้เราเกิดมาแล้วเรามีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เหมือนกัน คนเราเกิดมามีปากมีท้องเหมือนกัน ถ้าเกิดมามีปากมีท้องเหมือนกัน เกิดในปัจจุบันนี้เท่ากัน เท่ากันนะ เบื้องหลังมันไม่เท่ากัน แต่เกิดเป็นคนเหมือนกันเท่ากัน สิทธิเสรีภาพเท่ากัน แต่ทำไปข้างหน้า อุปสรรคคนมันมีมากมีน้อยแตกต่างกัน เราก็ทำตรงนี้ นี่นักปราชญ์ไง นักปราชญ์ราชบัณฑิตรู้เหตุรู้ผล รู้เหตุรู้ผลในปัจจุบัน รู้เหตุรู้ผลในที่มา รู้เหตุรู้ผลจะไปข้างหน้า ไม่ใช่ว่าลัทธิยอมจำนน

คนเขาเสียดสีไง เขาเสียดสี เขาดูถูก ดูถูกนักปฏิบัติ เราฟังมาเยอะ แต่บอกว่า ต้องทันคน ต้องเข้มแข็ง

ต้องทันคน มันทันอย่างไร ดูสิ มันต่างกันโดยวัย โดยวัยวุฒิมันต่างกัน ความคิดก็ไม่เหมือนกันแล้ว คนดีๆ เหมือนกัน แต่โดยวัยไม่เหมือนกัน โดยวัยไม่เหมือนกัน มุมมองแตกต่างกัน แล้วโดยวัย โดยปัญญา มันแตกต่างกันทั้งนั้นน่ะ ฉะนั้น สิ่งนี้แบบว่าจะต้องเสมอกัน ไอ้นั่นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าทำของเรามันเป็นอย่างนี้ไง

ฉะนั้น คำถามเขียนมา มันธรรมเกิด พอมันธรรมเกิดขึ้นมา เราพิจารณาของเรา ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ แล้วทุกข์ดับไป แล้วเราพิจารณาให้มันแคบเข้า พอแคบเข้ามันก็ยิ่งเห็นมากขึ้น จนเห็นพระพุทธรูป

อันนี้แบบว่าข้างนอกมันเป็นความทุกข์ เราหลบมาหาธรรมะในหัวใจของเรา แล้วเวลามันเห็นจริงขึ้นมาแล้ว เขาบอกเขาเกิดปีติ น้ำหูน้ำตาไหล เกิดปีติ

ปีติมันเป็นที่พักใจ เป็นเครื่องอยู่ของใจ ใจมันมีธรรมเป็นที่พึ่ง ถ้าใจมีธรรมเป็นที่พึ่ง แต่เหตุการณ์ข้างนอก เห็นไหม ดูสิ เวลาพระ ครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียง เวลาไปดูชีวิตปกติท่านสิ ดูหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่น หลวงตาท่านบอกเลยนะ ท่านอยู่ในป่าในเขามาตลอด

เวลาเราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ เวลาวันไหนญาติโยมเขามาถวายอาหารนะ มีอาหารดีๆ เราเป็นคนจัดอาหารให้ท่าน ท่านร้องไห้น้ำตาไหล ไอ้เราก็งงนะ

สุดท้ายพอฉันแล้ว ตอนบ่ายๆ ไปคุยกับท่าน ถามว่าทำไมหลวงปู่น้ำตาไหลล่ะ

บอกว่า คิดถึงหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านไม่เคยเจออาหารแบบนี้ ไม่เคยเจออาหารแบบนี้ หลวงปู่มั่นอยู่ในป่าในเขาไม่เคยเจออาหารแบบนี้

เวลาท่านมีผู้ที่ถวายอาหารที่ประณีต ท่านน้ำตาไหลเลยล่ะ เราได้ประสบเห็นอย่างนี้ไง แต่ท่านไม่เคยประสบเลย แล้วมันมีสุขมีทุกข์ล่ะ แล้วถ้าเรามองว่าท่านมีทุกข์มาก แต่ถ้าบอกว่าพระอรหันต์มีความทุกข์หรือ พระอรหันต์มีความทุกข์ไหม ไม่มีหรอก เพราะพระอรหันต์ละทุกข์หมดแล้ว ท่านมีคุณธรรมในใจ ท่านสูงส่งในใจ

นี่พูดถึงว่าเราเทียบกันที่วัตถุไง เขาบอกว่าถ้าพระมีชื่อเสียงแล้วจะต้องแบบว่าเลอเลิศไปหมด...ไม่ใช่ ยิ่งมีคุณธรรมยิ่งประหยัดยิ่งมัธยัสถ์

หลวงปู่เจี๊ยะเวลาใช้สอย เราไปตรวจพระเณรใช้สอยฟุ่มเฟือย ท่านทันทีเลยนะ ท่านไม่มีหรือ เยอะแยะ คนที่เขามีชื่อเสียงเขาประหยัดเขามัธยัสถ์ เขาอยู่ด้วยความสันโดษ

ไอ้ที่ว่ามีชื่อเสียงแล้ว แหม! ไอ้นั่นมันดารานักร้อง ไอ้พวกนั้นพวกนักแสดง

ความจริงเป็นแบบนั้นไง ฉะนั้น ถ้าเราเปรียบเทียบบอกว่า ถ้าเรามีคุณธรรมในใจ ใจเรามีความสุขใจ มันก็เป็นแบบนี้ น้ำหูน้ำตาไหล แต่ถ้าเป็นวัตถุต้องตั้งงบไว้ดูแลรักษามันนะ อันนั้นมันเป็นเรื่องของโลกไง

ฉะนั้น ไอ้อย่างนี้ธรรมเกิด ธรรมเกิดแล้วมันก็มาผ่อนคลายในใจเราเพื่อให้เป็นประโยชน์กับเราในชีวิตของเรา เอวัง