ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ขัดแย้งภายใน

๑ ก.พ. ๒๕๕๘

ะหรือสื่อธรรมะที่เห็นไม่เหมาะสม

กราบนมัสการหลวงพ่อเจ้าค่ะ โยมมีคำถามดังนี้ค่ะ

. ถ้าหากเราได้หนังสือธรรมะหรือสื่อสิ่งพิมพ์ธรรมะต่างๆ มา พอมาอ่านดูแล้วมันไม่ใช่ เมื่อลองเทียบเคียงที่หลวงปู่องค์ต่างๆ ที่ท่านเป็นอริยบุคคลแล้ว โยมเลยไม่อยากเก็บหนังสือเหล่านี้ไว้ เพราะถ้าเก็บไว้ และมีคนอื่นมาอ่านเจอ เขาก็จะได้ข้อมูลผิดไปด้วย จะสามารถทำลายหนังสือได้หรือไม่คะ

คือเมื่อก่อนที่จะยังไม่ได้เจอหลวงตามหาบัวและเข้าวัดหลวงพ่อ โยมมีหนังสือธรรมะแบบที่ไม่ใช่แนวทางปฏิบัติ และยังไม่มีหลักยึด เห็นว่าเป็นหนังสือธรรมะ ก็รับมา แยกแยะไม่ออก แต่ตอนหลังมาพอจะเริ่มเข้าใจได้นิดหน่อยว่าธรรมะจากพระปฏิบัติกับพระไม่ปฏิบัติเป็นแบบไหน ทีนี้เลยไม่อยากเก็บเอกสารต่างๆ ที่รู้สึกว่าไม่ใช่ออกไป จะมีวิธีทำลายโดยที่ไม่เป็นบาปไหมเจ้าคะ เพราะหนังสือบางเล่มก็มีรูปพระพุทธรูป มีรูปพระสงฆ์ และก็เป็นหนังสือธรรมะด้วยค่ะ

. เมื่อเราเจอพระพุทธรูปและพระเครื่อง หรือพระสงฆ์ หรือรูปที่ควรสักการะในหนังสือพิมพ์ แต่ว่ามีรูปอย่างอื่นมาแทรกด้วย เช่น ในรูปมีพระพุทธรูป ก็มีโลงศพด้วย ใจหนึ่งก็เห็นว่าเป็นพระพุทธรูป ก็ไม่อยากทิ้งหรือทำลาย แต่สิ่งที่อยู่ข้างๆ พระพุทธรูปมันก็เป็นสิ่งที่ไม่กล้าที่จะตัดเอามาขึ้นหิ้งบูชาด้วย ถ้าจะทิ้งหนังสือพิมพ์ช่วงนี้ไปก็กลัวว่าทิ้งพระพุทธรูปอีก กลัวว่าไม่เคารพ แล้วเราจะมีวิธีทำลายรูปแบบนี้โดยที่ไม่เป็นบาปว่าไปทำลายพระพุทธรูปหรือไม่เจ้าคะ

ตอบ : นี่คำถามเนาะ โอ้โฮ! คำถามนี้เป็นคำถามโลกแตก เป็นคำถามโลกแตก เพราะศรัทธาของคนมันมีอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ศรัทธาของคน ถ้าศรัทธาเริ่มต้นก็เป็นแบบนั้น ถ้าศรัทธาเริ่มต้นก็มีความเชื่อ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรม เขาเชื่อผีเชื่อสาง เขาเชื่อรูปเคารพต่างๆ สมัยเขาถือผีเขาก็ต้องเชื่ออย่างนั้น แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เขาละทิ้งไง ให้เขาละทิ้งสิ่งนั้นมา ให้เชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ถ้าให้เชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธเจ้าคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมคือสัจธรรม พระสงฆ์คือสาวกที่ได้ประพฤติปฏิบัติรู้แจ้งเห็นจริงแล้วถึงเป็นที่พึ่งของเราได้

เผยแผ่ธรรมๆ ให้จิตใจของคนละทิ้ง ละทิ้งสิ่งความเชื่อเดิม ละทิ้งสิ่งความเชื่อเดิมให้มาเชื่อในรัตนตรัย เห็นไหม ดูสิ เวลากองทัพธรรม กองทัพธรรมหลวงปู่มั่น ทางภาคอีสานเขาถือผีๆ กัน การถือผีนี่มันทุกข์ยากมากนะ การถือผี ทำอะไรก็ได้ กลัวผิดผีไง ถ้าผิดผีต้องไปแก้ไปอะไร ลำบากนะ ชีวิตนี้ยุ่งยากมากเลย แล้วจะได้สิ่งใดมา ดูสิ เราทำอะไรมันผิดผี ผิดผี เราก็ต้องไปแก้ เพราะผิดผี เดี๋ยวมันจะเจ็บไข้ได้ป่วย ผิดผีแล้วเดี๋ยวครอบครัวจะมีปัญหา ผิดผีแล้วยุ่งไปหมดเลย ชีวิตเราต้องระวังเต็มที่เลย แล้วพอได้สิ่งใดมา จะกินจะใช้ก็ต้องเซ่นไหว้ผีก่อนถึงจะได้กินได้ใช้ แล้วไปทำสิ่งใดมันติดขัดไปหมด

กองทัพธรรมถึงได้พยายามเผยแผ่ให้คนมีที่พึ่ง ให้ถือศีล ให้มีศีล ๕ ถ้ามีศีล ๕ แล้ว แล้วเรารักษาศีล ๕ ของเรา เราไม่เบียดเบียนใคร เราไม่ลักของใคร เราไม่ผิดลูกเมียใคร เราไม่โกหก เราไม่เสพของเมา ให้ถือศีลแล้วทำมาหากิน มันก็พออยู่พอกิน ทำให้เป็นกิจจะลักษณะ ให้มีความขยันหมั่นเพียร ให้มีจุดยืน ให้มีความเข้มแข็ง ทำสิ่งนี้มา ให้คนละทิ้ง ละทิ้งสิ่งนั้นมาเพื่อเข้าเป็นพุทธมามกะ ให้ถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง แล้วพยายามประพฤติปฏิบัติของเราเองขึ้นมา ให้เป็นความจริงขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมานะ เรื่องหนังสือ เรื่องต่างๆ นี่จบเลย

ทีนี้ปัญหาโลกแตก ปัญหาโลกแตกเพราะอะไร เพราะคนศรัทธา คนศรัทธา ความเชื่อ พอคนไม่ศรัทธา ไม่ศรัทธาเขาก็ไม่สนใจเลย ดูคนสิ ดูทางตะวันตกเขาเอาพระพุทธรูปไปเป็นเครื่องประดับบ้านเขา เพราะเขาไม่นับถือพุทธ คนไม่นับถือเขาเอาไปทำอย่างนั้น เพราะเขาไม่ถือเลย เขาว่าเป็นศิลปะ เขาว่าเป็นโบราณวัตถุ เป็นของสวยงาม แต่เขาไม่ได้เคารพบูชาแบบชาวพุทธเรา

ชาวพุทธเราเป็นสัญลักษณ์ไง เป็นตัวแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วธรรมะล่ะ ธรรมะก็เป็นแนวทาง มัคโค ทางอันเอกที่เราจะเอามาประพฤติปฏิบัติให้ถึงจริงให้ได้ แล้วพระสงฆ์ล่ะ พระสงฆ์ก็เป็นครูบาอาจารย์ของเราคอยชี้แนะแนวทางของเรา ถ้าเราเป็นชาวพุทธแท้ เราเป็นชาวพุทธ ถ้าจิตใจมันสูงส่งขึ้นมา ถ้าจิตใจไม่สูงส่งมันก็มีปัญหาไปหมดแหละ ถ้ามีปัญหาไปหมด

นี่มันเป็นปัญหาโลกแตกเพราะว่าศรัทธาของคน เพราะอะไร เพราะเราเห็นอยู่บ่อย เวลาพวกจานกระเบื้อง พวกจานกระเบื้องเวลามันพิมพ์หนังสือนะ พิมพ์หนังสือแจก พอแจกไปแล้ว ใครได้รับหนังสือนี้ต้องพิมพ์ต่อ ต้องแจกต่อ ถ้าไม่แจกต่อจะเป็นกรรม ไอ้พวกจานกระเบื้องมันไม่ใช่ครูบาอาจารย์ใช่ไหม

ครูบาอาจารย์ เห็นไหม การสอนโดยไม่ต้องสอนประเสริฐที่สุด การสอนโดยตัวของท่านเอง ประพฤติปฏิบัติเป็นตัวอย่างนั่นน่ะประเสริฐที่สุด การสอนโดยไม่ต้องสอนเลย

เราไปเห็นครูบาอาจารย์ใช่ไหม เราเห็นแล้วเราศรัทธา เรามีความเชื่อ เห็นท่าน ชีวิตของท่าน ท่านดำรงชีวิตของท่าน นั่นน่ะท่านสอนเราแล้วล่ะ ท่านสอนเราโดยชีวิตของท่านนั่นแหละ นี่ท่านสอนเรา ท่านไม่ต้องไปเผยแผ่ ไม่ต้องพิมพ์แจกออกไป

พอพิมพ์แจกออกไป ใครได้รับหนังสือนี้แล้วต้องพิมพ์ต่อเนื่อง ถ้าไม่พิมพ์ต่อเนื่องจะเป็นเวรเป็นกรรม มันก็เลยกระจายไปทั่ว เป็นแชร์ลูกโซ่ นี่แจกหนังสือ แจกกันอย่างนั้นเยอะ

แจกหนังสือนะ ใครได้หนังสือเล่มนี้แล้วต้องพิมพ์อีก ๕๐๐ เล่มแจกไป ถ้าไม่พิมพ์แจกไปแล้วมันจะเป็นเวรเป็นกรรมอย่างนั้น ไอ้พวกนั้นก็เชื่อ พิมพ์แจกไปมันก็เลยเผยแผ่ไปทางโลก แล้วมันจริงหรือเปล่าล่ะ

เพราะเราก็ไม่มีกึ๋น เราก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นธรรมะไม่เป็นธรรมะ พอพิมพ์หนังสือมา พอพิมพ์เป็นหนังสือมา เราก็เชื่อแล้ว ศรัทธาของคนมันแตกต่างหลากหลายอย่างนี้ มันเลยทำให้เป็นปัญหาโลกแตก ปัญหาโลกแตกว่าคนที่เขาละเอียดกว่า เขาฉลาดกว่า เขาก็หาพวกนี้เป็นผลประโยชน์ของเขา แล้วเขาแจกหนังสือ

นี่คำถามเนาะถ้าหากได้หนังสือธรรมะ สิ่งพิมพ์ธรรมะต่างๆ มา พออ่านดูแล้วว่ามันไม่ใช่

ถ้ามันไม่ใช่ คำว่าไม่ใช่ๆเราทำลายทิ้งได้ เดี๋ยวนี้เขารีไซเคิล เขาทำลายทิ้ง ถ้าพูดถึงว่าเราทำลายทิ้งเพื่อประโยชน์กับเราไง มันเหมือนกับว่าในการปฏิบัตินะ เขาว่าเป็นครูบาอาจารย์มีชื่อเสียงด้วยนะ อยู่ทางภาคเหนือ เวลาท่านไปแสดงธรรมกับลูกศิษย์แล้วท่านลงจากเขามา พอท่านคิดได้ว่าท่านพูดผิดไง ท่านปีนเขาขึ้นไปนะ ไปบอกว่าคำพูดนั้นผมพูดผิดนะ

ลูกศิษย์บอกโอ้โฮ! อาจารย์ไม่ต้องมาก็ได้ บอกเมื่อไหร่ก็ได้

ไม่ได้ เดี๋ยวเธอไปบอกคนอื่น

ถ้าบอกคนอื่นไปแล้วถ้ามันเสียหาย มันเสียหายมาก เพราะว่าเราหลงผิดเองมันก็เป็นบาปเป็นกรรมนะ แต่เราไปชักจูงให้คนอื่นหลงผิดมันเป็นบาปเป็นกรรมมากกว่านั้นอีก ครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงท่านห่วงตรงนี้มาก ถ้าเรายังไม่รู้จริงยังไม่ควรจะบอกใคร ถ้าเรายังไม่รู้จริง เราไม่ควรชี้แนะใคร ถ้าเรายังไม่รู้จริงนะ

ถ้ารู้จริงแล้วนะ ดูสิ เวลาหลวงตาท่านพูดนะ ท่านพูดท่านท้าทายสังคมมากเลย บอกให้ใครก็ได้มาถามปัญหาท่าน ให้ท่านติดปัญหานั้น มันก็เหมือนหมอ หมอ ดูสิ ในการเจ็บไข้ได้ป่วยในประเทศนี้เราจะรักษาได้หมด รักษาได้หมด ถ้ารักษาได้หมด รักษาตามอาการนั้น เพราะอะไร เพราะเขาเป็นหมอ

นี่ก็เหมือนกัน หลวงตาท่านพูดบ่อยให้ถามมาๆ ปัญหานี้ให้ถามมา ดูซิว่าหลวงตาติดไหม

นี่ไง ถ้ารู้จริงแล้วมันสอนมันเป็นประโยชน์ไง ถ้ายังไม่รู้จริง ยังไม่ควรสอนเขา สอนตัวเองให้ได้ก่อน หลวงตาจะเน้นย้ำ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์เราจะเน้นย้ำเลยว่า สอนตัวเองให้ได้ก่อนแล้วค่อยสอนคนอื่น สอนตัวเองให้ได้ก่อนแล้วค่อยสอนคนอื่น ถ้าสอนตัวเองได้แล้ว ถ้ามันได้จริงแล้ว มันทำสิ่งใดมันไม่ผิดพลาดเลย ทำสิ่งใดไม่ผิดพลาดเลย

หนังสือเรา มีคนเอาไปอ่านนะ หนังสือเรา แล้วก็เอาหนังสือเรากลับมาถามเราหลวงพ่อ นี่ผิด

พอเราอธิบายปั๊บนะ เงียบเลยครับกลับ เพราะอะไร เพราะความหยาบของเขาไง เวลาความหยาบของเขา เวลาคำพูดมันพูด มรรค ๔ ผล ๔ มันมีเป็นระดับของมันนะ ถ้าเป็นระดับของมัน ถ้าคนเขาเป็นเขาจะรู้ ถ้าคนไม่เป็นนี่มันขัดแย้งกัน มันขัดแย้ง ความจริงมันไม่ขัดแย้งหรอก กิเลสของเขาขัดแย้ง

พอกิเลสของเขาขัดแย้งปั๊บ เขาว่าหนังสือนี้ผิด แต่ความจริงหนังสือนี้มันไปขัดแย้งความเห็นเขา แล้วเขาเอาหนังสือมาเลย เอาหนังสือมาถามเรา ถ้าอย่างนี้ดี เพราะมันจะได้แก้ไขไง ถ้าไม่อย่างนั้นไป เขาก็เข้าใจผิดไปอย่างนั้นเรื่อยๆ

ฉะนั้นว่า ถ้าเราอ่านแล้วไง ถ้าเราอ่านแล้วมันไม่ใช่ เราจะทำลาย ทำลายได้เลย ทำลายได้เลย ทำลายได้เลย มันเป็นบุญหรือเป็นบาป

เป็นบุญ

เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานมารเอย เมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเรายังไม่เข้มแข็ง ไม่สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ เราจะไม่ยอมนิพพาน

จนถึงเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะนิพพานนะ บัดนี้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเราเข้มแข็ง เข้มแข็ง สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วง

นี่ก็เหมือนกัน เราสามารถรู้ถูกรู้ผิดได้ ถ้าเราสามารถรู้ว่าอันนั้นมันผิด เราแยกความผิดออกไป มันเป็นบาปตรงไหน มันเป็นบุญน่ะ

ถ้าเราเห็นว่ามันผิดนะ เราเอาออกเลย เราเอาออกเลย ถ้าเป็นความจริงนะ เราทำลายเลย เราทำลายทิ้ง มันไม่เป็นบาปหรอก มันจะเป็นบาปตรงไหนถ้าเราจะทำลายของเรานะ

เขาบอกว่า สิ่งที่เห็นว่ามันไม่ใช่ เราควรทำลายไหม โยมว่าเขาได้หนังสือนี้มา เพราะได้แล้วเขาไม่อยากจะเก็บไว้ เพราะว่าถ้าคนอื่นได้ไปแล้วมันได้ข้อมูลผิดๆ เราสามารถจะทำลายหนังสือนี้ได้ไหม

ได้ เราทำลายได้ ทำลายเลย ถ้ามันผิดชัดเจนนะ ทำลายได้เลย มันจะเป็นบาปเป็นกรรมตรงไหน มันเป็นบุญ เป็นบุญเพราะเราจะคัดเลือกว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด แล้วถ้าอย่างนั้นปั๊บนะ หนังสือในเมืองไทยต้องเผาทิ้งทั้งประเทศเลย หนังสือในเมืองไทยต้องเผาทิ้งทั้งประเทศเลย ถ้าหนังสือเกี่ยวกับธรรมะนะ มันมีตรงไหนบ้างถูก

ฉะนั้น ถ้าถูกนะ เขาบอกว่า มหามกุฏฯ นี่ถูก มหามกุฏฯ เป็นวิชาการที่คัดแยกออกมาจากพระไตรปิฎกเลย

เออ! ถูก ถูกตามคัดแยกมา

แต่เวลาครูบาอาจารย์อย่างหลวงตาท่านบอกว่า ในพระไตรปิฎก ท่านก็แน่ใจว่ามีบางส่วนที่จดจารึกกันมาผิด เราใช้คำว่าจดจารึกมาผิดไม่ใช่คำว่าพระไตรปิฎกผิด

จดจารึกมาผิดถ้าจดจารึกมาผิด คนมันพิมพ์มันไปคัดแยก มันจดจารึกมาผิด

หลวงตาท่านพูดถึงอาทิตตปริยายสูตร อนัตตลักขณสูตร ท่านบอกเลยว่า ถ้าอาทิตตปริยายสูตร มันเข้าไปถึงมโน คือเข้าไปถึงใจ ถ้าอนัตตลักขณสูตร มันแค่ขันธ์ ๕

ท่านบอกว่าถ้าปฏิบัติไปแล้ว ถ้าแนวทางปฏิบัติมันไม่ต่อเนื่องเข้าไปถึงใจ ไม่ต่อเนื่องเข้าไปถึงพุทธะ แต่ท่านก็ยกให้ ท่านบอกว่า สิ่งนี้คนจดจารึกมา คนจดจารึกมาอาจจะขาดตกบกพร่อง

แต่ถ้าเป็นอาทิตตปริยายสูตรนะ มนสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ เข้าไปถึงมโน เข้าไปถึงตัวใจ แต่ตัวขันธ์มันไม่ถึงใจ

แต่ตัวขันธ์มันไม่ถึงใจ ทำไมพระปัญจวัคคีย์เป็นพระอรหันต์

เป็นพระอรหันต์นั้นเป็นความจริง แต่นี้เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์มันเป็นความจริง ถ้าไม่เป็นความจริง ปัญจวัคคีย์เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาไม่ได้ อนัตตลักขณสูตร แต่ในพระไตรปิฎก ละขันธ์ ๕ นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ ละขันธ์ ๕ แล้วบรรลุธรรม เพราะขันธ์มันไม่ใช่จิต มันไม่ถึงตัวจิต

ท่านบอกว่า แม้แต่ในพระไตรปิฎกจดจารึกผิด มีคนจดจารึกกันมามันอาจจะขาดตกบกพร่อง มี แต่อันนี้ยกไว้เพราะมัน ,๐๐๐ กว่าปีใช่ไหม แต่คนปฏิบัติเวลาปฏิบัติแล้วเข้าไปตำรามันจะถูกเลย

ฉะนั้นบอกว่า สิ่งที่คัดมาจากพระไตรปิฎกนี่ถูก ถูกนั้นถูกเป็นทางวิชาการ ถูกนั้นเป็นทฤษฎีที่เราศึกษากัน แต่ยังไม่ได้ปฏิบัติ พอปฏิบัติเข้าไปแล้วมันจะรู้เลย เพราะคนปฏิบัติแล้วกับสัจจะมันเป็นเนื้อเดียวกัน

ถ้าเวลาปฏิบัติแล้ว ถึงแล้ว สิ่งที่ว่าเป็นทางวิชาการมันขาดตอน มันไม่สืบต่อไปจนถึงที่จบ มันมีวรรค มันเว้นวรรคไว้ เรายกให้ไง เพราะถ้าเราปฏิบัติได้จริง เรารู้ได้ เพราะในสูตรนี้มันขาด แต่เวลาไปเทียบกับสูตรอื่น สูตรอื่นมันเต็ม

ในพระไตรปิฎกมันมี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ มันมี อันไหนที่มันขาดตกบกพร่องแสดงว่าคนจดจารึกมา คนจดจารึกผิด

ถ้าบอกว่ามันเว้นวรรคอย่างนั้น แล้วถือว่าการเว้นวรรคอย่างนั้นเป็นความถูกต้อง สูตรอื่นมันก็ต้องเว้นวรรคเหมือนกันหมดสิ ทำไมสูตรอื่นมันเต็มล่ะ อาทิตตปริยายสูตรนี่เต็มเลย มนสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ เข้าไปถึงมโน เข้าไปถึงตัวจิต อันนั้นเข้าไปถึงขันธ์ เห็นไหม มันแตกต่างกัน

ฉะนั้นบอกว่า แม้แต่ของที่ว่าออกมาจากพระไตรปิฎก มหามกุฏฯ มหาจุฬาฯ เขาถูกทางวิชาการ ถูก ถูกตามทฤษฎี ถูกตามสิ่งที่เขาจดจารึกมา คือหลักฐานมีเท่านี้ก็ถูกตามหลักฐานนั้นน่ะ แต่มันยังมีหลักฐานที่ดีกว่านี้อีก หลักฐานที่ชัดเจนกว่านี้

ถ้าอย่างนั้นแสดงว่า...เราพูดไปมันจะแรงไป อ้าว! หันกลับมา เดี๋ยวแรงเกินไป

พูดถึงถ้ามันถูกก็คือถูก คนปฏิบัติแล้วมันถูก ถ้ามันผิด อะไรมันผิด ถ้าผิดต้องเผาทิ้งกันเยอะมาก

ฉะนั้น เมื่อวานที่บอกว่าหนังสือหลวงตาถูกไหม

ถ้าหนังสือหลวงตาเล่มเก่าๆ ที่หลวงตายังตรวจสอบอยู่นี่ถูก แต่เล่มใหม่ๆ เราเองเรายังคัดค้านในใจเยอะมากเลย ที่หนังสือหลวงตาที่ทำกันเล่มท้ายๆ ที่หลวงตาตอนออกมาช่วยชาติแล้ว ใครๆ ก็จะไปเคลมว่าหลวงตาตรวจแล้ว หลวงตาเช็กแล้ว หลวงตาได้ตรวจสอบแล้ว...เราไม่เชื่อ เราไม่เชื่อ ไม่เชื่อเลย

แต่ถ้าหนังสือประวัติหลวงตานี่ดูได้ไหม

ได้ แว่นส่องธรรม นิพพานเป็นนิพพาน อวกาศของจิต อวกาศของธรรม เล่มเก่าๆ ที่หลวงตาท่านยังตรวจทานอยู่ พวกนั้นใช้ได้หมด

แต่พอมาท้ายๆ เรายังไม่เชื่อเลย ไม่เชื่อ เพราะอะไร เพราะมันปฏิบัติแล้วมันขัดแย้ง มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าเป็นไปไม่ได้ แล้วเราจะพึ่งอะไรกัน พวกเราจะพึ่งอะไรกัน พวกเราจะหาพึ่งที่ไหน

ถ้าหาที่พึ่ง ช่วงนี้ครูบาอาจารย์ยังมีชีวิตอยู่ สิ่งนี้เพราะอะไร เพราะหนังสือนะ เวลาได้มา เราจะดูเลย ถ้าหนังสือเขาเอามาฝากเรา เราจะดูคำนำ ถ้าเป็นหนังสือหลวงตาที่ท่านจัดการ...เออ!

แต่ส่วนใหญ่แล้วพอหลวงตาท้ายๆ มันจะเป็นคณะบุคคลเรียบเรียงใหม่ ได้ขัดเกลาใหม่ โอ้โฮ! เราฟังคำนี้แล้วเศร้ามาก ใจนี่ห่อเหี่ยวเลยนะ เอ็งมีความรู้ความสามารถอะไรถึงไปเรียบเรียงใหม่ เรียบเรียงใหม่ก็เรียบเรียงของถูกให้เป็นของผิด เพราะอะไร เพราะเอ็งไม่เข้าใจว่าอะไรถูกอะไรผิด เอ็งไม่เข้าใจ

หลวงตาท่านใช้คำว่านิวเคลียร์นิวตรอนของเรามันตัดทิ้ง แล้วมันเอากล้วยหอมกล้วยไข่ใส่เข้าไป

หลวงตาท่านพูดตอนท้ายๆ ชีวิต ท่านพูดคำนี้เยอะมาก ตำรับตำรา หนังสือท่านเทศน์ไว้ มันไปตัดนิวเคลียร์นิวตรอนทิ้งกัน เพราะมันไม่เข้าใจเรื่องนิวเคลียร์นิวตรอน แล้วมันเอากล้วยหอมกล้วยไข่

กล้วยหอมกล้วยไข่ก็พวกลิงไง ลิงมันชอบกินกล้วย ไอ้พวกนี้ก็เหมือนกัน หัวใจมันยังเป็นลิงอยู่ หัวใจมันภาวนาไม่เป็น มันก็ชอบเอาที่มันพอใจ เวลานิวเคลียร์นิวตรอนเขาจะทำลายชีวิตลิง เขาจะทำลายชีวิตกิเลสไง เพราะกิเลสมันเป็นลิง มันจับจด นิวเคลียร์นิวตรอนมันก็ระเบิดทำลายชีวิตกิเลสทิ้งซะ ไอ้ลิงนั้นมันก็ปฏิเสธซะ มันจะไปเอากล้วยหอมกล้วยไข่

ฉะนั้น แม้แต่หนังสือ ถ้ามันคลาดเคลื่อนไปแล้วมันจะเป็นแบบนั้น แล้วอะไรล่ะที่ชัดเจน

ฉะนั้นบอกว่า ที่เขาได้มาทำลายได้ไหม

ได้

แต่หนังสือครูบาอาจารย์ของเรา เช่นเมื่อก่อนนี้เขายังไม่เจอหลวงตา ยังไม่เข้าไปหาหลวงพ่อ เขาก็ยังไม่มีหลักยึด เขาก็เข้าใจของเขาไป แต่ตอนนี้เขามีหลักยึดแล้ว เพราะเข้าไปแล้วมันแยกแยะเป็น แยกแยะออกได้ ทีนี้เลยไม่อยากเก็บเอกสารต่างๆ นี้ไว้ ไม่อยากเก็บไว้แล้ว แล้วถ้าไม่อยากเก็บไว้ เวลาจะไปทำลาย มันก็มีรูปด้วยมีอะไรด้วย ทำอย่างไร

มีรูปด้วยอะไรด้วย เพราะว่า จริงๆ แล้วนะ สิ่งที่เวลาหลวงตาท่านพูด เวลาหลวงปู่มั่นจิตใจท่านเป็นธรรม ท่านเห็นเอง หลวงตาท่านเห็นเองนะ ที่ว่ามาวัดป่าสาลวัน เขาจัดที่พักให้ แล้วพอเข้าไป มันมีหนังสืออยู่ ท่านไม่ยอมนอน ท่านบอกว่า แม้แต่ตัวอักษรมันยังสื่อธรรมะของพระพุทธเจ้าได้ หนังสือตัวอักษรมันยังสื่อได้ ฉะนั้น ท่านถึงยกไว้ๆ ไง นี่ด้วยความเคารพในหัวใจของท่าน

เราบอกว่า สิ่งที่มันขัดแย้งในใจเรา มันขัดแย้งเพราะว่าเราไม่รู้อะไรถูกอะไรผิด แต่เวลาหลวงปู่มั่นท่านรู้ถูกรู้ผิด ฉะนั้น ตัวอักษร ตัวอักษรยังไม่ได้ผสม ยังไม่ได้ผสมคือเป็นความเห็นของใคร ท่านบอกว่านี่มันสื่อธรรมะได้ ท่านเคารพตั้งแต่ตรงนั้นน่ะ ท่านเคารพตั้งแต่ตัวอักษรที่มันสื่อธรรมะได้ มันสื่อออกมาได้ใช่ไหม แต่เวลาสื่อออกมานี่ถูกหรือผิดล่ะ ฉะนั้น ท่านยังเคารพเลย ฉะนั้น สิ่งนี้ถ้าท่านเคารพนะ เราก็เคารพ

แต่ถ้าเวลามันสื่อออกไป มันสื่อออกไปผิดแล้ว ที่เราแยกเอกสารนี่มันผิด แล้วมันมีรูปด้วยมีอะไรด้วย เราก็แยก เราก็ทำลาย รูปก็คือรูป แต่ถ้าเราเคารพของเราก็คือเคารพของเรา เราเคารพของเรา แต่จิตใจมันสูงมันต่ำมันเป็นอย่างนี้ นี่ข้อที่ ๑. ใช่ไหม

. ถ้าเราเจอรูปพระพุทธรูปหรือพระเครื่อง พระสงฆ์ ในหนังสือพิมพ์มันมีรูป

ถ้าคำว่ามีรูปๆพอมีรูป ทำไม เราไม่ใช่คนฉลาดหรือ ถ้าเราเป็นคนฉลาดนะ รูปมันก็เป็นรูป เขาวาดเป็นรูปอะไรขึ้นมาก็ได้ ถ้าเรามองรูป เพราะอะไรรู้ไหม หลวงตาพูดคำนี้ เราจำจนตายเลยนะ มันสะเทือนใจมาก มีพวกพระด้วยกันเขาไปเอาพระพุทธรูป แล้วเมื่อก่อนที่หลวงตาท่านยังเข้มงวดอยู่ ใครๆ ก็อยากเอาพระพุทธรูปไปถวายหลวงตา ถ้าหลวงตารับ เขาจะเป็นคนพิเศษ เขาก็ไปทำพระพุทธรูปกัน แล้วก็ไปตั้งไว้ที่ศาลาใหญ่ ไม่กล้าไปถวายไง

เวลาพวกพระนี่นะ เขาจะไปรับหน้าโยมไงโยมอยากถวายพระพุทธรูปหลวงตาไหม อาตมาทำได้ อาตมาให้ได้ไปรับหน้าเขา เวลามาถึงวัดบ้านตาดจริงๆ ไม่กล้า เอาไปตั้งไว้ที่ศาลาใหญ่ ตั้งไว้อย่างนั้นน่ะ

แล้วหลวงตา รถท่านเข้าออกไง ท่านเห็นพระพุทธรูปองค์ใหม่มาตั้งอยู่ที่ศาลาใหญ่ ท่านถามพระว่าใครเอาวัตถุมาตั้งไว้นั่นน่ะ ให้เอาคืนไปซะ ใครเอาวัตถุมาตั้งไว้ที่นั่น ให้เอาคืนไปซะ

เห็นไหม หลวงตาท่านใช้คำว่าวัตถุวัตถุคือธาตุ ทองเหลือง ถ้าเป็นหยกก็เป็นหยก ถ้าเป็นไม้ เป็นอะไร ท่านใช้คำว่าวัตถุ

ท่านบอกว่าใครเอาวัตถุมาวางไว้ที่ศาลาใหญ่ ให้เอาวัตถุนั้นออกไป ให้เอาออกไป

ท่านไม่ได้บอกพระพุทธรูป ถ้าบอกพระพุทธรูปขึ้นมา หาว่าเราไม่เคารพแล้ว หาว่าหลวงตาไม่เคารพพระพุทธรูป แล้วไอ้คนที่เอามาเขาคิดว่าเป็นพระพุทธรูป ทุกคนจะปฏิเสธไม่ได้ไง เพราะของมันสูงส่งไง

แล้วเวลาเราไปถวายพระพุทธรูปท่าน ท่านบอกท่านรับแล้ว แล้วให้โยมเอากลับไปไหว้ต่อ ท่านรับแล้ว เพราะจิตใจท่านเป็นธรรม สิ่งนั้นมันเป็นรูปเคารพไง

เวลาเขาเอาไปไว้ที่ศาลาใหญ่ ท่านบอกว่าให้เอาวัตถุนั้นออกไป ท่านไม่ใช้คำว่าเอาพระพุทธรูปออกไปท่านไม่ใช้คำว่าเอาพระพุทธรูปออกไปท่านใช้คำว่าให้เอาวัตถุออกไป

พระพุทธรูปนี่เป็นของสูงส่ง พระพุทธรูปนะ มันเป็นสัญลักษณ์ เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า แต่จิตใจของคนมันต่ำ จิตใจของคนมันอ้างเอาพระพุทธรูปนั้นมาเป็นเครื่องแสดงออก มันอยากดังอยากใหญ่ อยากมีอำนาจ แล้วเอาพระพุทธรูปนั้นมาเป็นเครื่องแสดงออก ท่านบอกว่าเอาวัตถุนั้นออกไป เพราะท่านรังเกียจกิเลสของคน ท่านให้เอาออกไป

สุดท้ายแล้ว พระเคารพหลวงตา ก็ต้องเอาออกไป เพราะพระก็รู้ว่าใครเอามา ก็เอาไปคืนเขา เอาไปคืนเขา

ถ้าบอกว่า สิ่งที่ว่าเป็นรูปเคารพ เป็นพระพุทธรูป เป็นพระสงฆ์ เป็นพระเครื่องในหนังสือพิมพ์ ถ้าอย่างนั้นมันก็ต้องไปแบกโลกหมด เพราะถ้าอย่างนี้ปั๊บ ก็เหมือนคนเรา อย่างเราอวดเขาว่าถือศีล ๕ ไปตลาดก็บอกฉันถือศีล ๕ นะ ฉันไม่กินของมีชีวิต

ไอ้คนขายปลามันเห็นคนนี้เดินมา มันทุบหัวไว้เลย พอมา นี่ปลาตาย ตัวนี้ ๕๐๐ ต้องซื้อ มันทุบหัวแล้วมันคิดราคาแพง เพราะเราต้องซื้อไง ไปอวดเขา

นี่ก็เหมือนกัน ไปอวดเขาว่าเราเป็นชาวพุทธ เราเคารพพระพุทธรูปมาก

ไอ้พวกลัทธิอื่นนะ มันพิมพ์พระพุทธรูปมาวางไว้ที่เมืองไทยนะ มันจะตีเมืองไทย มันเอาพระพุทธรูปมาวางไว้นะ ทุกคนไม่กล้าสู้กับมันเลย กลัวจะโดนพระพุทธรูปก่อน มันยึดประเทศไทยได้เลย

ให้มองอย่างนี้ หลวงตาท่านทำเป็นตัวอย่างนะ หลวงตาหรือหลวงปู่มั่นท่านทำอะไร ถ้าคนคิด ไอ้คำที่ท่านบอกว่า ใครเอาวัตถุมาวางไว้ ให้เอาออกไป

ถ้าคนคิด เราคิดนะ อ๋อ! ท่านตีความอย่างนี้เนาะ ท่านตีความอย่างนี้แล้วท่านไม่ให้ไอ้พวกกิเลส ไอ้คนที่มันเอารัดเอาเปรียบมากดขี่ท่าน มันมากดขี่นะ มันเอารูปพระพุทธรูปมา พวกเราก็แบนแต๊ดแต๋เลย นอนราบให้มันทับเลย เออ! ยอมแพ้ เอาพระพุทธรูปมานะ

ท่านตีกลับบอกว่าใครเอาวัตถุมา ให้เอาวัตถุนั้นออกไป

เราก็ย้อนกลับมา หนังสือพิมพ์มันสิ่งที่ว่าเขาโฆษณาของเขา มันอาชีพของเขา อายุของมันก็แค่วันเดียว พอวันใหม่ หนังสือพิมพ์นั้นก็หมดอายุแล้ว ขายไม่มีราคาแล้ว แต่เขาพิมพ์ภาพพระพุทธรูปไว้ เราจะต้องแบกรับสิ่งนี้ไปทั้งชีวิตเชียวหรือ

หนังสือพิมพ์มันก็เป็นการขายหนังสือพิมพ์เก่า ขายกระดาษไป สิ่งนั้นมันเป็นที่ต้นเหตุไง ต้นเหตุอยู่ที่สำนักพิมพ์ ต้นเหตุอยู่ที่การโฆษณา ไอ้พวกพระพุทธรูปส่วนใหญ่แล้ว งานไง เวลาเขาจะมีงานกัน เขาจะมีบุญกุศลอะไรกัน เขาก็เป็นการประชาสัมพันธ์ เขามีรูปพระพุทธรูป เขาก็เพื่อจะสื่อความหมายเพื่อให้รู้ในแค่ช่วงงานของเขา แต่มันติดกระดาษนั้นไปตลอดนะ เราเองต่างหากไปเป็นทาสเขา ไปแบกรับว่ามีรูปพระพุทธรูป ไม่กล้าทำลาย โอ๋ย! ยุ่งไปหมดเลย

กระดาษ มองไปว่าเป็นกระดาษ เป็นวัตถุ แล้วก็ใช้ตามนั้นไป คือยกใจเราให้สูงขึ้น ฉะนั้น ทิ้งได้ ทำลายได้ แล้วมันจะเป็นบาปไหม เขาว่าเป็นบาปไหม

เราว่าเป็นบุญ เราเป็นบุญ เราพยายามเก็บ พยายามทำความสะอาดพระพุทธศาสนา เราเก็บที่ไหน เราเก็บที่ความรู้สึกเราไง คนเรานะ ดีชั่วมันอยู่ที่ใจ

เดี๋ยวนี้ทางโลกเขากำลังจะโฆษณากันว่า งามออกจากภายใน งามจากหัวใจ ตอนนี้เขาพยายามประชาสัมพันธ์กันนะ ให้งามจากภายใน เห็นไหม มันเจริญ มันงามจากหัวใจ มันงามจากความรู้สึกของเรา มันงามจากการที่เราพิจารณาของเรา แล้วเราทำของเรา บุญมันเกิดตรงนี้

ฉะนั้น เขาบอกว่า ถ้าทิ้งหนังสือพิมพ์ก็กลัวว่าทิ้งพระพุทธรูปนั้นอีก กลัวว่าไม่เคารพ แล้วเราจะมีวิธีทำลายรูปอย่างนั้นอย่างไร

ทำลาย ขายเป็นของเก่าไป กรณีนี้มันเป็นกรณีของโลกนะ ถ้าเป็นกรณีส่วนตัวของเรา ตั้งแต่เราปฏิบัติเป็นมา สิ่งใดที่ไม่ถูก เราไม่เคยรับไว้เลย ถ้าเป็นโยมเอาหนังสือมาฝากให้แจก เราจะให้เอาคืน

เมื่อตอนกฐินมันมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเขาบอกว่าเขาจะเอาประวัติหลวงตามาให้เราแจก ประวัตินี้เป็นพระผู้ใหญ่ทำด้วย เอามาให้เราแจก

เราบอกว่า เขาทำกัน ทำไมเขาไม่แจกของเขาล่ะ ทำไมต้องให้เราแจกล่ะ ทำไมต้องมาให้เราแจก

เขาอ้างว่าเป็นประวัติหลวงตานะ เขาทำกันน่ะ

เราบอกว่าไม่ ไม่รับ หนังสือนี่ไม่รับเลย ยิ่งหนังสืออื่นนะ เราไม่รับเลย เพราะเราไม่แน่ใจเรื่องคนพิมพ์เขามีเจตนาอย่างใด แล้วเขารู้จริงหรือเปล่า แล้วถ้าเอามาให้เราดู พอเราดูแล้วเราก็รู้ว่าถูกหรือผิด ก็จะมีการกระทบกระเทือนกัน

เวลาหนังสือมานี่ เราบอกเล่มนั้นผิดเล่มนี้ผิด มันจะกระทบกระเทือนกันไง แต่ผิดถูกมันต้องคุยกันด้วยเหตุผลสิ ถ้าเขามีความสามารถพิมพ์ได้ เขาก็แจกของเขาได้ ทำไมต้องมาบังคับให้เราแจก

หนังสือเราที่เราพิมพ์ เรานั่งอยู่นี่ไง ถ้าใครอ่านว่าผิด มาได้เลย แล้วมันผิดตรงไหน ว่ามา แต่มีคนถือหนังสือมาหลายคนแล้วบอกมันผิด มันผิดอย่างไร

หลวงพ่อผิดอย่างนี้

มรรค ๔ ผล ๔ ไง โสดาปัตติมรรค ถ้ามันจบแล้วมันมีสกิทาคามิมรรค มันมีอนาคามิมรรค มันมีอรหัตตมรรค มรรคมันมีหยาบละเอียด ถ้ามันหยาบเป็นโสดาปัตติมรรค อันนั้นเป็นสกิทาคามิมรรค อันนั้นเป็นอนาคามิมรรค อันนั้นอรหัตตมรรค แล้วเอ็งได้ขั้นไหนล่ะ ไม่ได้อะไรเลย ไม่ได้อะไรเลยแล้วเอ็งรู้ได้อย่างไร

อธิบายแล้วกลับหมด ไม่มีใครอยู่หรอก

มีคนถือหนังสือมาหาหลายคนแล้ว เพราะหนังสือทางโลกเป็นแบบนั้น หนังสือทางโลกเคลมกันเลยนะ นอนหลับไป ตื่นมาเป็นพระอรหันต์ แล้วไม่มีเหตุมีผล เวลาอธิบายไปแล้วมันขัดแย้งกัน มันก็วิ่งมาหาเราหมด พอวิ่งมาหาเรา ชี้ มันก็จบกลับไป

อันนี้เขาว่ามันขัดแย้งกันภายใน

มันขัดแย้งกันภายในหัวใจของเรา ถ้าหัวใจของเรา เราเป็นคนดี เราปรารถนาดี แต่โลกเขาทำอย่างนั้นน่ะ แล้วเราจะไปแบกโลกอย่างไร โยมต้องแบ่งออกไงว่ามันเป็นปัญหาทางโลก

ถ้าปัญหาทางโลก หมายถึงว่า ทางโลกที่ว่าเขาเป็นสุจริตนะ แล้วทางโลกมันมีทุจริตด้วย มีทุจริตคือเขาพยายามจะเอาสิ่งนี้มาเพื่อหาผลประโยชน์ แต่เรา จิตใจเราเป็นธรรม เราไม่ต้องการหาผลประโยชน์ แล้วเราทำอย่างไรล่ะ

มันก็ต้องแบบว่าศึกษา ศึกษาแล้วทำความเข้าใจแล้ว เข้าใจแล้วก็ดูครูบาอาจารย์ทำ

หลวงตาท่านใช้คำนี้นะ เวลาคนจะเอาหนังสือมาให้ท่านแจก ท่านบอกว่า ให้แจกกันเอง แต่ท่านมั่นใจว่าหนังสือที่ท่านพิมพ์ของท่าน ท่านสอนถูก ท่านสอนของท่านถูก ท่านมั่นใจหนังสือของท่าน

แต่ตอนออกมาโครงการช่วยชาติฯ แล้วมันมีเจ้าภาพเยอะ เจ้าภาพที่เขาจะมาช่วยหลวงตาเยอะมาก แล้วก็มีมุมมองแตกต่างหลากหลาย แล้วก็ไปเอาหัวข้อ ไปเอาธรรมะของหลวงตามา แล้วก็ขยายความตีความ พิมพ์มาเลอะเทอะ เลอะเทอะ วุ่นวายไปหมด แต่มันจะมีค่าว่าหลวงตาตรวจแล้ว หลวงตาตรวจแล้ว หลวงตารับแล้ว หลวงตารับประกัน แต่พอถามจริงๆ เข้า ไม่ได้ตรวจหรอก

เวลาไปโต้แย้ง มันผิดขึ้นมา เขาสารภาพกับเราเองว่าไม่ได้ตรวจ ไม่มีเวลาตรวจหรอก แต่ตอนพิมพ์นั้นว่ากำลังชุลมุน เขาว่าตรวจกันไป หลายคน เวลาจี้เข้าไปแล้วบอกว่าไม่ได้ตรวจหรอก เพราะว่าถ้าตรวจมันรู้ว่ามันผิดอย่างนั้น หลวงตาปล่อยมาไม่ได้ เพราะคนอ่านเป็นมันมี คนรู้จริงมันมี แล้วหลวงตาปล่อยออกมาได้อย่างไร พอหลวงตาปล่อยออกมาได้ เขาก็สารภาพว่าไม่ได้ตรวจ ไม่ได้ตรวจหรอก

แสดงว่าเขาโกหกมาตั้งแต่ต้น เขาโกหกมาตั้งแต่ตอนพิมพ์ เขาโกหก อันนี้พูดถึงหนังสือนะ จบ ฉะนั้น ต้องให้มันจบเรื่องไป

ถาม : เรื่องการละอยู่ที่ใจ

กราบเรียนหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง การทำสมาธิให้ได้อริยมรรคอย่างสม่ำเสมอก็พอที่เห็นอาการไหวของจิตไปเกาะติดราคะอยู่บ้าง เบาบางบ้าง ที่เป็นอย่างนี้เพราะอาศัยการพิจารณาว่า เพราะอาศัยกายนี้ซึ่งประกอบไปด้วยหนัง กระดูก เอ็น เป็นต้น จึงเกิดราคะ เพราะไม่รู้จริงในราคะ ก็เลยละราคะไม่ได้

พิจารณาซ้ำๆๆ เข้าไปอย่างสม่ำเสมอ ก็ดูเหมือนว่าจิตใจจะรู้และยอมรับว่าใช่ เพราะเราไม่รู้ว่าราคะ จึงเกิดราคะ แต่ราคะก็ยุบตัวลง แล้วด้วยพิจารณาโครงกระดูกของตัวเองอย่างเสมอๆ และก็มีความเบาสบายตัวมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังไว้ใจไม่ได้ เพราะมันยังเกิดยุบยับอยู่ภายในนี้ หรือเรียกว่าสนามรบ ตรงนี้หรือที่จะแพ้หรือชนะบ่วงมารได้ แต่ก็ไม่ประมาณในลมหายใจเข้าออก

แต่ผมก็คิดอยู่เสมอว่า ถ้าได้บวชคงจะสงบได้มากกว่านี้หรือ แต่ก็กลัวมันตลบหลังให้สึกในภายหน้าอีก ก็เลยนึกได้ว่า ถ้าอยู่ในเพศคฤหัสถ์ ถ้าไม่ชนะใจตนเองตรงนี้แล้ว จะไปชนะที่ไหนอีก แต่ด้วยถ้ามีบุญ กระผมคงได้บวชในพระพุทธศาสนาครับ ขอให้หลวงพ่อเป็นแสงเทียนแห่งธรรมด้วยครับ

ตอบ : นี่พูดถึง อันนี้ก็คือการบอกการปฏิบัติอีกแหละ นี่เขาเคยถามปัญหามาพอสมควร ก็ได้อธิบายกันไปเยอะแล้ว แต่ทีนี้พอเยอะแล้ว เขาถามมาอีกว่า สิ่งที่ทำแล้ว ที่ว่าพิจารณาซ้ำๆๆ เพราะว่าเราไม่รู้จักราคะ มันถึงได้เกิดราคะ แต่ถ้ารู้เท่าราคะแล้วมันก็เบาบางลง

สิ่งที่รู้ราคะแล้วเบาบางลง แล้วเขาพิจารณาซ้ำในโครงกระดูกของเขา ตรงนี้สำคัญมาก ถ้าผู้ปฏิบัติเป็น เห็นไหม เพราะอะไร เพราะเวลาคนปฏิบัติแล้วส้มหล่นก็มี คือพอปฏิบัติไปแล้วมันสมดุล มันเป็นไป มันเป็นการส้มหล่น เป็นของชั่วคราว

เวลาผู้ปฏิบัติไปนะ ถ้าจิตมันสงบแล้วนะ มันเป็นกายนอก กายนอกหมายถึงพิจารณาแล้วมันปล่อยวางเข้ามา นี่เขาเรียกว่ากายนอก

กายนอก ผลของมันคือสมาธิ กายนอกของมันคือสมถะไง พอจิตเป็นสมถะแล้ว จิตเป็นอิสระแล้ว มันถึงเป็นสัมมา สัมมาคือสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิยกขึ้นสู่วิปัสสนา ในสติปัฏฐาน ๔ มันจะเห็นกายตามความเป็นจริง เห็นกายตามความเป็นจริง เราพิจารณาไปแล้วมันปล่อยวางๆ เขาเรียกตทังคปหาน มันปล่อยวางชั่วคราว

การปล่อยวางชั่วคราวโดยการพลั้งเผลอ พอปล่อยวาง มันมีความสุข ถ้าปล่อยวางมันจะดีมาก พอดีมาก พอมันปล่อยวาง มันคิดว่าเป็นธรรมๆ ไง ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ท่านถึงบอกว่าให้ซ้ำ

ทีนี้ให้ซ้ำ มันซ้ำอย่างไรล่ะ

เหมือนกับให้ซื้อของซ้ำ ให้ซื้อของซ้ำมันก็ต้องมีเงินไปซื้อ จริงไหม ให้ซ้ำ มันต้องมีสมาธิ ถ้าให้ซ้ำ คนให้ซ้ำ ถ้ามันจะซ้ำได้มันต้องมีสมาธิมันถึงจะซ้ำได้ เพราะสิ่งที่มันทำมา คำว่าส้มหล่นๆมันก็มีสมาธิ มีสติ มีปัญญา มันถึงพิจารณาอย่างนั้นได้

พิจารณาได้ มันปล่อยวางๆ มันปล่อยวางชั่วคราว ปล่อยวางชั่วคราวแล้ว ปล่อยวางชั่วคราว กิเลสมันไม่ได้ขาด คือมันไม่จบสิ้น ไม่จบสิ้น กิเลสมันแค่เข้าไปทักทายมัน พอกิเลสมันทักทายแล้ว พอมันรู้ตัว ถ้ามันตีกลับขึ้นมา พอจิตใจเราผ่อนคลาย มันเสื่อมขึ้นมา มันตีกลับขึ้นมา พระเวลาปฏิบัติดีๆ เยอะแยะไปหมดเลย พระที่ตั้งใจมีเยอะแยะไปหมดเลย แล้วพระก็สึกไปมหาศาลเลย ทำไมพระอยู่ไม่ได้ ทำไมพระปฏิบัติไม่ได้ พระปฏิบัติไม่ได้เพราะมันไม่เป็นความจริงไง

ฉะนั้น เวลาคนถามปัญหาขึ้นมา เวลาถ้าถามปัญหาว่า พิจารณาถูกไหม

ถูก

ถูกแล้วทำอย่างไรต่อ

ถูก ต้องซ้ำ

ถ้าซ้ำ มันก็เหมือนซื้อของซ้ำ ซื้อของซ้ำก็ต้องมีเงินเท่ากับเคยซื้อของครั้งแรก เห็นไหม เราจะซื้อของครั้งแรกราคาร้อยบาท จะซื้อซ้ำก็ต้องร้อยที่สอง ซื้อซ้ำก็ต้องร้อยที่สาม ซื้อซ้ำต้องร้อยที่สี่ ซื้อซ้ำต้องร้อยที่ห้า

เงินร้อยแรกมันซื้อของไปแล้ว เงินนั้นได้จ่ายไปแล้ว สมาธิได้พิจารณาไปแล้ว สมาธิมันใช้ปัญญาพิจารณาไปแล้ว มันพิจารณาไปแล้วก็จบไปแล้ว กระบวนการมันจบไปแล้วมันก็ได้ผลมา ผลมาคือเบาไง ผลมาคือสบายไง ผลมาคือผลตอบสนองไง แต่มันยังไม่ขาด ก็ต้องซ้ำๆๆ การซ้ำๆๆ จนซื้อของนั้นเป็นสิทธิของเราเลย

เราซื้อรถ ซื้อรถโตโยต้า จนบริษัทโตโยต้าเป็นของเราเลย ซื้อมันทั้งบริษัทเลย ซื้อมันทั้งประเทศญี่ปุ่นเลย เวลามันขาด มันเป็นของเรา แต่ถ้าเราไปซื้อโตโยต้า เวลาบริษัทมันผิดพลาดนะ มันเรียกคืน เรียกรถคืน เรียกรถคืนไปเปลี่ยนหม้อน้ำใหม่ เรียกรถคืนไปเปลี่ยนสายน้ำมันใหม่ เรียกรถคืน มันไม่ใช่ของเรา เราซื้อเขามาเขายังเรียกรถคืนเลย เวลาเรียกรถคืน รีบไปคืนเขาเลย ทำไมล่ะ เดี๋ยวมันเกิดอุบัติเหตุกับเรา เห็นไหม เขาเรียกรถคืนนะ

แต่ถ้าเราซื้อๆๆ ซื้อซ้ำๆๆ เราซื้อจนซื้อบริษัทมันเลย นี่ก็เหมือนกัน พิจารณาซ้ำๆๆ จนมันขาดเลย พอมันขาดก็เป็นสิทธิของเรา เป็นของเรา ของเรามันเป็นความจริงไง

ที่บอกให้ซ้ำ ให้ซ้ำแบบนี้ ให้ซ้ำมันต้องมีสัมมาสมาธิ มันไม่ใช่ส้มหล่น ส้มหล่นมีสมาธิแล้วพิจารณาไม่เป็น พิจารณาไม่ได้ แต่พิจารณาบ่อยๆ ครั้งเข้ามันก็ส้มหล่น มันก็สมดุลอยู่หนหนึ่ง แต่มันยังไม่เต็มที่ของมัน มันก็ขัดแย้งกันแล้ว นี่ขัดแย้งภายใน

ขัดแย้งภายในคือไม่รู้จริง รู้ครึ่งๆ กลางๆ นี่ขัดแย้ง ไอ้ว่าไม่รู้ก็จะรู้ ไอ้ว่ารู้ก็ไม่รู้ ไอ้ว่าไม่รู้ก็รู้นะ เพราะมันรู้ครึ่งๆ กลางๆ ไอ้ว่ารู้ก็ไม่รู้ เออ! ไม่รู้ มันขัดแย้งภายใน ทำอะไรก็เลยผิดพลาดไง

แล้วเราก็ปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันเป็นการทำเพื่อความมั่นใจ มันทำเพื่อความชำนาญของเรา ซ้ำๆๆ ไอ้ที่ว่าผิดพลาดๆ มันจะทำบ่อยครั้งเข้าจนถึงที่สุดเกิดญาณทัสสนะ ถ้ามันทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนมันเห็นชัดเจน มันเกิดญาณทัสสนะ มันสลดสังเวชนะ กิเลสมันตายต่อหน้า

เวลาพิจารณาไป เวลาขาด พิจารณากาย กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ หลวงตาท่านใช้คำว่ามันแยกเป็น ๓ ทวีปคือมหาทวีป โลกนี้เดิมเป็นมหาทวีป แล้วมันแยกออกไป มันเคลื่อนย้ายออกไปกลายเป็นทวีปต่างๆ นี่มันเป็นมหาทวีปแล้วมันแยกออกไป

พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันแยกออกเป็น ๓ ทวีป หลวงตาใช้คำว่ามันแยกออกเป็น ๓ ทวีป แล้วจิตมันรวมลง จิตรวมลง จิตนั้นมันสำรอก จิตนั้นคายออกเห็นไหม ซ้ำๆ จนเกิดผลอย่างนี้ พอเกิดผลอย่างนี้ปั๊บ มันถึงเป็นจริง

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์มา เหมือนคำถามก็เหมือนกัน เวลาถามเรามา ถ้าถูกไหม

ถูก ถ้าถูกแล้วอย่าเพิ่งดีใจนะ พอบอกว่าถูก เขาก็ติดปีกเลย หลวงพ่อบอกว่าถูก ฉันปฏิบัติเป็นพระอรหันต์แล้วแล้วพอมันเสื่อมนะ กลับมาหาหลวงพ่อเลยไหนหลวงพ่อบอกว่าถูกไง หนูก็นึกว่าหลวงพ่อว่าถูก หนูก็ไปเต็มที่เลย ตอนนี้หนูหมดตัวแล้ว เสื่อมหมดเลย

ถูกคือวิธีการทำถูก วิธีการที่ทำมานี่ถูก คำว่าถูกมันปฏิบัติถูกต้องตามวิธีการ แต่ถ้าผลของมันนะ เวลามันเป็นจริงมันไม่เป็นอย่างนั้น

ถูกหรือผิด วิธีการที่ผิดกับวิธีการที่ถูก วิธีการที่ถูก ผลตอบแทนมันถึงรวมลง ผลมันถึงเกิดขึ้น นั้นคือวิธีการที่ถูก วิธีการที่ผิด มันก็รวมลง แต่มันเป็นมิจฉา มันรวมลงเป็นมิจฉา คือมันว่างๆ ว่างโดยที่มันตั้งชื่อมันเอง ว่างโดยที่มันพยายามเคลมของมันเอง นั้นเป็นทางปฏิบัติที่ผิด

ถูกคือวิธีการที่ถูก แต่เวลาผลของมัน อกุปปธรรม อันนั้นมันเป็นผลของมัน เราไม่เคยใช้คำว่าถูกถ้ามันเป็นตรงนั้น เราใช้คำว่ามันขาดถ้ามันขาดแล้ว ผ่านแล้ว จบแล้ว นั่นถ้ามันถูก ถ้ามันเป็นผล เราจะบอกว่าจบแล้ว สิ้นแล้ว ใช้ได้แล้ว แต่ว่าถูก คำว่าถูกคือวิธีการที่ถูก

มีคนต่อว่ามาเยอะเลย บอกว่าก็หลวงพ่อว่าถูกไง แล้วทำไมหลวงพ่อไม่ยอมรับผมล่ะ ก็หลวงพ่อบอกว่าผมถูก แล้วทำไมหลวงพ่อไม่ยอมรับผม

ก็เอ็งมาถามปัญหาวิธีการทำ เอ็งทำอยู่ก็ถูกไง พอบอกว่าถูกปั๊บ เขาจะหักคอเลยนะ บอกว่าถ้าถูกแล้วต้องรับเขาว่าเขาเป็นพระอรหันต์ด้วย...โอ๋ย! ตาย

วิธีการตอบปัญหานี่มันหลากหลาย ในวิธีการทางปฏิบัตินี่ถูกไหม ถูก แต่ผลของมัน มันยังไม่ได้ผลสมบูรณ์ ถ้าได้ผลสมบูรณ์นะ ถ้าจริงๆ แล้วผลมันสมบูรณ์ เขาจะรู้ก่อน คือมันเป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก คือเขากินข้าวก่อน เขาได้ลิ้มรสก่อน แล้วรสอาหารนั้นเขาถึงมาถามเราว่า หลวงพ่อ มันกลมกล่อมอย่างนี้ถูกไหมแต่ถ้าเขายังไม่รู้เขาบอกว่าเป็นอย่างนี้ๆ เขายังไม่ได้กิน เราจะบอกอะไรเขา

นี่ไง เวลาพระพุทธเจ้าพยากรณ์ พยากรณ์อย่างนี้ เวลาเขาไปหาพระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้ารู้แล้วว่าเขาจริงหรือปลอม เพราะพระพุทธเจ้ามีอนาคตังสญาณ เวลาของจริงมา ท่านจะบอกว่าถูกต้องดีงาม ถ้าของไม่จริงมา ดูพระที่หลงตัวว่าเป็นพระอรหันต์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พระไปดักหน้า บอกไม่ต้องเข้าไปหาพระพุทธเจ้านะ ให้เข้าไปเที่ยวป่าช้าก่อน พอเข้าไปป่าช้า จิตใจเขาหวั่นไหว เขารู้แล้ว

เวลาคนไปหาพระพุทธเจ้าให้พระพุทธเจ้าพยากรณ์ พระพุทธเจ้าพยากรณ์ตามข้อเท็จจริงที่ใจเขาเป็น ใจเขาเป็น นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเขาปฏิบัติถูก ใจเขาจะถูกก่อน แต่ถ้าเขายังไม่ถูก เขาว่างๆ เขาเป็นอย่างนั้นน่ะ ว่างๆ อย่างนั้น สัมมาและมิจฉา ความว่างเป็นมิจฉาเยอะแยะไป อุปกิเลส ๑๐ โอภาส สว่างไสว ความว่าง อุปกิเลสทั้งนั้นน่ะ กิเลสอย่างละเอียด

กิเลสหยาบๆ นะ กิเลสที่เราเป็น เวลากิเลสอย่างละเอียดคืออุปกิเลส คือความว่าง ความผ่องใส นั่นน่ะกิเลสอย่างละเอียด กิเลสทั้งนั้นน่ะ เพราะเวลามันเป็นจริง มันข้ามพ้นจากความว่าง มันข้ามพ้นจากความผ่องใส ข้ามพ้นไปหมดเลย แล้วคืออะไรล่ะ นี่คนเป็นเขารู้ คนเป็นเขาตอบได้

ถ้าบอกว่า ถ้ามันเป็นมรรคเป็นผลจะเป็นอย่างที่เราว่านี่ แต่คำว่าถูกของเราคือปฏิบัติถูก

เราก็เข้าใจของเราเองคนเดียว เพราะมีคนมาต่อว่าอย่างนี้เยอะ ก็บอกว่าถูกไง พอถูกปั๊บ เขาก็ให้ค่าตัวเขาเลย โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี เพราะมันถามทีไรก็ถูกทุกที เพราะเขาถามมาบ่อย ถามมา ๔ ครั้ง เราก็บอกถูกทั้ง ๔ ครั้ง เขาว่าเป็นพระอรหันต์เลย

ไอ้เราบอกว่าถูกเฉยๆ วิธีการทำถูก วิธีการ มันมีวิธีการที่ถูกและผิด ถ้าวิธีการที่ถูกก็คือวิธีการที่ถูกไง แต่ผลของมันถูกแล้วต้องทำให้มันมีผลออกมาด้วย วิธีการที่ถูก แต่ผลมันยังไม่ออกมา ผลมันออกมามันยังไม่เป็นความจริง ถ้าผลออกมา บอกมาสิ ผลมันเป็นอย่างไร ถ้าผลเป็นอย่างไร

ฉะนั้น คำว่าปฏิบัติซ้ำๆคำถามก็เหมือนกัน เขาก็พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ถ้าซ้ำแล้วซ้ำเล่ามันจะได้ผลอย่างนี้ แล้วถ้าตั้งจิตให้ดี ให้มันเจริญขึ้น พัฒนาดีขึ้น ถ้าเราตั้งใจ มันไม่พัฒนาขึ้นก็ทำเพื่อทรงตัวไว้ สร้างอำนาจวาสนาบารมีไป ทำเพื่อประโยชน์กับเรา การประพฤติปฏิบัติมันจะเป็นความจริงนะ เป็นความจริง มันเป็นความจริงกับเรา

ทีนี้ผลของมัน กิเลสกับธรรมมันขัดแย้งจากภายใน ถ้าความขัดแย้งจากภายในทำให้เราสงสัย ถ้าเราปฏิบัติจริงรู้จริงมันจะไม่สงสัย มันจะเป็นความจริง แล้วพอเป็นความจริงแล้วฟังออกด้วย ฟังออกหมด

เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ รู้เลยว่าองค์ไหนจริง องค์ไหนไม่จริง องค์ไหนมากน้อยแค่ไหน ถ้าเรายังมีวุฒิภาวะแค่นี้ เราจะฟังได้แค่นี้ ถ้าคนจบสิ้นแล้วนะ ฟังได้หมดเลย เช่น เวลาหลวงตาท่านบอกว่า สมัยก่อนนั้นท่านเรียนมากับมหาเขียน เรียนมาด้วยกัน แล้วเวลามหาเขียนท่านลาจากการเป็นเจ้าคณะจังหวัดโคราช เจ้าคณะจังหวัดนะ ลาออก แล้วท่านไปปฏิบัติ แล้วทีนี้มีคนไปทอดผ้าป่า ลูกศิษย์ไปทอดผ้าป่า ฉะนั้น หลวงตากับมหาเขียนท่านเป็นเพื่อนกัน ท่านเรียนมาด้วยกัน ก็นิมนต์หลวงตาไปด้วย หลวงตาก็ไปนั่งฟังมหาเขียนเทศน์

ท่านบอกเลย ตอนนั้นเทศน์มันปริยัติหมด เพราะตอนนั้นท่านออกปฏิบัติใหม่ๆ ไง แต่ตอนหลังท่านฟังเทศน์หลวงตา ฟังเทศน์หลวงตาบ่อยครั้งเข้าๆ เพราะท่านปฏิบัติ ปฏิบัติจนถึงที่สุด ถึงที่สุดเพราะอะไร ถึงที่สุดเพราะเวลาท่านอยู่กับลูกศิษย์ ลูกศิษย์ท่านอยู่ใกล้ชิด แล้วเวลาเผาศพท่านแล้วกลายเป็นพระธาตุหมดเลย

นี่เวลาท่านฟัง ท่านฟังออกนะ เทศน์เป็นปริยัติ เทศน์จากความจำเป็นอย่างนั้น เทศน์จากความจำก็พูดอย่างนั้นน่ะ แล้วเทศน์จากการศึกษา เทศน์จากพระไตรปิฎกก็ธรรมะพระพุทธเจ้าทั้งนั้นน่ะ เห็นไหม ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นของพระพุทธเจ้าทั้งนั้นน่ะ

แต่เวลาเป็นความจริง ดูอย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ ที่ว่าหลวงปู่มั่น เวลาหลวงปู่ตื้อท่านบอกว่าอ้าว! ตื้อทำไมฉันล่ะ

ก็ผมหิว

คำว่าหิวของหลวงปู่ตื้อหิวโดยข้อเท็จจริง ไม่ได้หิวโดยกิเลสไง

แต่ของเราหิวเพราะอยากกินไง เราหิวด้วย เราอยากกินด้วย อยากกินอาหารดีๆ อยากกินที่พอใจ เพราะกิเลสมันหิวด้วยไง

แต่เวลาหลวงปู่ตื้อท่านหิว ท่านหิวโดยความสะอาดบริสุทธิ์ หิวโดยธาตุขันธ์ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ที่ไม่มีกิเลสไง

ของเราขันธมาร หิวด้วย อยากกินอันนี้ด้วย อันนี้ต้องกินก่อน เวลาพิจารณาในบาตร เห็นไหม เดี๋ยวจะกินอันนี้ก่อน

เขาพิจารณาให้มันเป็นของเน่าบูด ไอ้เราพิจารณาไปแล้วนะ จะกินอันนี้ก่อน เดี๋ยวเสร็จจะกินอันนี้ก่อน อันนี้อร่อยกว่าอันนี้ อันนี้อร่อยกว่าอันนี้

เขาปฏิสังขาโยฯ เพื่อให้เห็น ไอ้เราปฏิสังขาโยฯ ๑ ๒ ๓ ๔ เรียงตามคิวเลย เห็นไหม คนที่ไม่มีกิเลสเขาพิจารณาเป็นของปฏิสังขาโยฯ เพื่อให้มีสติ แต่ไอ้คนที่ไม่มีกิเลสมันก็พิจารณาไปอีกอย่างหนึ่ง

นี่ก็เหมือนกันก็ผมหิว ผมกินเพราะผมหิว

หลวงปู่มั่นบอกใครอย่าทำอย่างหลวงปู่ตื้อนะ เพราะหลวงปู่ตื้อท่านเป็นอย่างนั้นคำว่าเป็นอย่างนั้นเพราะว่าท่านไม่มีกิเลส

แต่ของเราบอกผมหิว ผมอยาก ผมหิวด้วย ผมอยากด้วย ท่านไล่ออกจากวัดเลย ท่านไม่เอาไว้หรอก หลวงปู่มั่นน่ะ นี่พูดถึงว่าถ้าธรรมจริงเป็นแบบนี้

ถูก ถูกโดยอะไร ถ้าถูก ถ้าถูกเป็นวิธีการ แต่ถ้าผลของมันเป็นอีกอย่างหนึ่ง ถ้าไม่ขัดแย้งภายในมันจะรู้ได้ ถ้าขัดแย้งภายใน เราจะต้องประพฤติปฏิบัติของเราเพื่อประโยชน์กับเรานะ ให้เป็นความจริงของเรา แล้วเราจะไม่เป็นเหยื่อ

เราปฏิบัติเพื่อความฉลาด ปฏิบัติเพื่อความมั่นคง ปฏิบัติเพื่อมรรคผลของเรา เราไม่ได้ปฏิบัติเป็นเหยื่อกับใคร สังคม เป็นเหยื่อสังคม เพราะสังคม ประชาชนคนเรามันรวมกันแล้วมันหลากหลายมาก แล้วชุมชนใด ความเห็นของใคร แล้วก็เสนอสิ่งใดมา แล้วเราก็เป็นส่วนประกอบของสังคมนั้น เป็นเหยื่อไปหมดนะ

แต่ถ้าเราฉลาดแล้วนะ หนึ่ง ไม่เป็นเหยื่อด้วย แล้วเราจะชักนำให้เขาไม่เป็นเหยื่อด้วยกัน ชักนำให้ทุกคนเป็นอิสระ ชักนำให้หัวใจของเราพ้นออกไปจากความไม่รู้ จากความครอบงำของกิเลส เอวัง