รู้เอง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “ถนัดแบบไหน”
กราบนมัสการหลวงพ่อ ขอบพระคุณการเทศน์ต่างๆ ตอบคำถามสอนชี้แนะเสมอมา ตอนนี้ไม่ได้ไปวัด ก็อาศัยฟังเทศน์จากเว็บไซต์ช่วยลูกได้มากตอนจิตเสื่อมและตอนเกิดทิฏฐิมานะ ทำให้ใจไม่ไหลลงต่ำหรือละทิ้งความเพียรไม่ปฏิบัติ นั่งสมาธิไม่ได้ อย่างน้อยก็เกาะการฟังเทศน์หลวงพ่อแทนค่ะ
ตอนนี้ลูกมีข้อสงสัยดังนี้
๑. มาช่วงหลังจิตเสื่อม บวกกับมิจฉาทิฏฐิจะข้ามไปวิปัสสนา ได้อุบายจากหลวงพ่อ ให้กลับไปพุทโธใหม่ เหมือนตอนเริ่มหัด เดิมใช้พุทโธ แต่ตอนนี้ฟุ้ง เอาไม่อยู่เลย ยากกว่าตอนหัดแรกๆ ตอนนี้ลองเปลี่ยนมาใช้พุทโธ ธัมโม สังโฆ บวกกับนับเลขไปด้วย เป็นพุทโธ ธัมโม สังโฆหนึ่ง พุทโธ ธัมโม สังโฆสองไปเรื่อยๆ ฟุ้งน้อยลง เวทนาปวดขามาเร็วขึ้น นั่งไปไม่ถึงชั่วโมง ปวด ชอบคันหรือเจ็บเหมือนโดนอะไรกัด พอลืมตาดูก็ไม่มีอะไร บางทีคอแห้ง บางทีก็สะดุ้งเป็นระยะ บางทีน้ำลายออกมา กลับมาถูกทางแล้วใช่ไหมเจ้าคะ และยังติดปัญหา คือสงบสักพัก มักวนกลับไปเช็กลมหายใจหาย แล้วก็เด้งออกมา ติดตรงนี้ค่ะ
๒. ในการปฏิบัติทำสมาธิ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราถนัดแบบเจโตวิมุตติหรือปัญญาวิมุตติ หรือต้องลองทำทั้ง ๒ แบบ แล้ววัดผลอย่างไรว่าเราถนัดแบบนั้น เป็นไปได้ไหมว่าตอนปฏิบัติจริงทำประสมกัน ๒ แบบ
๓. เนสัชชิกคืออะไร ต้องปฏิบัติติดต่อกันอย่างน้อยกี่ชั่วโมงเจ้าคะ
๔. คุณแม่ฝากถามว่า ตอนนั่งสมาธิในที่เงียบๆ จะฟุ้งออกไปคิดมากกว่าตอนที่ฟังเสียงเทศน์หลวงพ่อพร้อมนั่งพุทโธ จะไม่ค่อยหลุดไหลไปคิด แบบนี้ได้หรือไม่เจ้าคะ กราบขอบพระคุณมาก
ตอบ : นี่คำถามเนาะ “๑. ในช่วงหลังจิตเสื่อม บวกกับมิจฉาทิฏฐิจะข้ามไปวิปัสสนา”
นี่โดยธรรมชาติ โดยธรรมชาติของการประพฤติปฏิบัติมันต้องเป็นอย่างนี้ คำว่า “เป็นอย่างนี้” คือมันรู้จริงตามความเป็นจริง ถ้ามันรู้จริง เห็นไหม
คนเราเวลาภาวนาไม่ได้ก็ล้มลุกคลุกคลาน แล้วล้มลุกคลุกคลานแล้วก็ว่าภาวนาจะได้หรือไม่ได้ มรรคผลจะมีจริงหรือเปล่า ทั้งๆ ที่มีการศึกษา ยกหลวงตา เวลาหลวงตาท่านมีเป้าหมายเลย พอบวชมาแล้ว บวชมาแล้วก็ศึกษาแล้ว ศึกษาแล้วอยากไปสวรรค์ พอไปศึกษาแล้ว นิพพานมันดีกว่าสวรรค์ ก็อยากไปนิพพาน แล้วก็ไปศึกษาต่อ ตั้งปฏิภาณไว้ว่าถ้าจบมหาแล้วจะออกปฏิบัติ
การศึกษาจนมหา ศึกษาตามตำราก็ศึกษาตามสัจจะความจริงนั่นน่ะ แต่เวลาจะออกบวชมันก็สงสัยขึ้นมา สงสัยว่ามันจะจริงหรือเปล่า ชีวิตเราทำไปแล้วจะมีผลตอบสนองจริงหรือเปล่า ก็เลยตั้งอธิษฐานไง อธิษฐานจิตว่า ถ้ามีผู้ใดเป็นผู้ที่ชี้นำผู้แนะได้ว่ามรรคผลนิพพานมีจริง จะมอบชีวิตให้กับองค์นั้นเลย
ทั้งๆ ที่ว่าท่านก็ได้ยินชื่อหลวงปู่มั่นมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว ท่านก็ได้ยินชื่อเสียงหลวงปู่มั่นมาแล้ว แล้วชื่อเสียงหลวงปู่มั่นท่านดังคับประเทศไทย แต่เวลาออกปฏิบัติก็ตั้งเป้าว่าจะไปหาหลวงปู่มั่น ตั้งเป้าคือยังไม่ได้เข้าไปหาไง พอยังไม่ได้เข้าไปหาก็ยังสงสัยนะ ทั้งๆ ที่ก็เชื่อมั่น ฟังมา ศึกษามา เรียนมา ก็เรียนมา แต่ก็สงสัย ได้ยินกิตติศัพท์เกียรติคุณหลวงปู่มั่นมา ก็แน่ใจอยู่ แต่ก็สงสัย จึงต้องเข้าไปหาหลวงปู่มั่น
พอเข้าไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นก็บอกว่า “มหา มหามาทำไม จะมาหามรรคผลนิพพานใช่ไหม”
เวลากิตติศัพท์เกียรติคุณนั้นเราได้ยิน แต่พอเข้าไปมันได้สัมผัส มันได้สัมผัส มันได้พิสูจน์เอง หลวงปู่มั่นท่านก็เทศน์ให้ฟังเลย บอกนิพพานมันไม่ได้อยู่ที่ใดทั้งสิ้น นิพพานอยู่ในหัวใจของคน อธิบายจนผู้ที่ฟังยอมรับ
พอยอมรับขึ้นมา ไอ้ที่ว่านิพพานจะมีจริงหรือเปล่า ศึกษามาเข้าใจแล้ว นิพพานจะมีจริงหรือเปล่า มันจะมีมรรคมีผลจริงหรือเปล่า ก็ได้การแก้ไขจากหลวงปู่มั่น ก็เลยฝากชีวิตกับหลวงปู่มั่นไง พอฝากชีวิตไว้ เอาจริงไว้ ปฏิบัติไป เวลามันมีปัญหาก็แก้ไขกันมาตลอด
อันนี้เข้ามาที่คำถามก็เหมือนกัน เวลาเรายังไม่ได้ปฏิบัติ มันก็ยังลังเลสงสัย แต่พอปฏิบัติไปแล้วจิตมันลงสมาธิได้ พอมันเสื่อม เห็นไหม พอลงสมาธิได้ เหมือนเรา เราตั้งเป้าจะทำงาน พอทำงาน มันมีผลตอบสนอง นู่นก็ได้ นี่ก็ได้ โอ้โฮ! มันภูมิใจนะ มันอยากทำใหญ่เลย ทำจนเพลินน่ะ พอกลับมาอีกทีหนึ่งมันเสื่อมแล้ว พอกลับมาอีกทีหนึ่งหายไปหมดเลย แล้วทำอย่างไรล่ะ ทำอย่างไร ทีนี้พอทำอย่างไร เขาถึงบอกว่า “ช่วงหลังนี้จิตเสื่อม บวกกับมิจฉาทิฏฐิ”
คำว่า “มิจฉาทิฏฐิ” นี่ตอนมันดีไง ตอนมันดี พอมิจฉาทิฏฐิจะข้ามไปวิปัสสนา เวลาจิตสงบแล้วจะข้ามไปวิปัสสนา พอจิตสงบ เราก็รู้ว่าจิตสงบ แต่เวลาเราจะข้ามไปวิปัสสนาคือฝึกหัดใช้ปัญญา คือหาเงินแล้ว การหาเงินก็แสนยาก การหาเงินหาทองมาเป็นสมบัติของเราก็แสนยาก แต่เวลาใช้มันสนุกไง เวลาใช้นี่แหม! พอใช้เงินมันง่ายมากเลย แต่พอใช้แล้วมันหมด นี่ก็เหมือนกัน จะข้ามไปวิปัสสนา
วิปัสสนาคือการเอาจิตออกทำงาน จิตที่ไม่มีสมาธิมันทำงานไม่ได้ จิตไม่เป็นสมาธิมันก็เป็นวิปัสสนึก เป็นความรู้สึกนึกคิด เป็นจินตนาการทั้งนั้นน่ะ
พอจิตมันสงบแล้ว จิตสงบมันมีเงิน พอมีเงิน มันออกไปแลกเปลี่ยนสินค้าได้ พอออกไปแลกเปลี่ยนสินค้าได้ พอออกไปวิปัสสนา วิปัสสนาไปแล้วมันเพลิน พอเพลินไป มันก็เป็นอย่างนี้ โดยธรรมชาติเป็นอย่างนี้ทุกคน แล้วเป็นอย่างนี้เป็นส่วนใหญ่ พอเป็นอย่างนี้แล้วทำอย่างไรล่ะ
ทีนี้พอเป็นอย่างนี้แล้วทำอย่างไร พอจิตมันเสื่อมไปแล้ว เห็นไหม ได้อุบายจากหลวงพ่อ ให้กลับมาพุทโธใหม่ แล้วพุทโธทีนี้มันพุทโธไม่ได้แล้ว มันฟุ้งมากเลย ก็เลยต้องเป็นพุทโธ ธัมโม สังโฆหนึ่ง พุทโธ ธัมโม สังโฆสอง ถูกไหม
ถูก เพราะว่าเราเคยพุทโธๆ มันเคยทำได้ พอทำได้ กิเลสมันรู้ทัน พอกิเลสรู้ทัน ทำอะไรมันผลักให้ล้มหมด หน้าที่ของกิเลสคือการทำลาย หน้าที่ของกิเลสนี่ผู้ทำลาย สติปัญญาของเรา ธรรมะเป็นผู้สร้าง เป็นผู้สร้างหัวใจขึ้นมา เป็นผู้ปลุกปลอบหัวใจขึ้นมา เป็นผู้ที่พัฒนาใจของเราให้สูงขึ้น นี่คือธรรมะ
กิเลสเป็นผู้ทำลาย ผู้ทำลาย เอ็งจะทำดีขนาดไหน กูทำลาย หน้าที่ของกูคือทำลาย หน้าที่ของกูคือทำให้มึงเผลอ หน้าที่ของกูคือทำให้มึงผิดพลาด หน้าที่ของกู เอ็งเคยได้แล้ว กูบอกว่า “ที่ได้นั่นมันเป็นวิปัสสนึกมั้ง ที่ได้นั่นมันฟลุก มันคงไม่มีอยู่จริง” นี่ทั้งๆ ที่ได้นะ
กิเลสเป็นผู้ทำลาย ถ้ากิเลสเป็นผู้ทำลายมาแล้วมันเสื่อม พอเสื่อมไปแล้ว อันนี้พอพุทโธ สู้มันไม่ไหวแล้ว พอพุทโธหนึ่ง พุทโธสอง ถูกไหม
ถูก ทำไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ทำไปแต่ละหน้าที่ ขณะปรารถนาความสงบ เราก็พุทโธหนึ่ง พุทโธสอง พุทโธสามชัดๆ ไปเรื่อยๆ ถ้าจิตสงบแล้วเรารู้ได้
หาเงิน เขาไปฝากธนาคารจนธนาคารบอกว่าบัญชีนี้ไม่รับ ถ้าบัญชีนี้ถอนแล้วธนาคารจะเจ๊ง มันฝากเยอะเกินไปไง เห็นไหม ฝากจนธนาคารไม่รับ
เราพุทโธๆ จนจิตมันสงบ จนมันล้นเปี่ยมไปในหัวใจ สมาธิคือสมาธินั่นน่ะ แล้วออกฝึกหัดใช้ปัญญา ตอนนั้นน่ะเหลือเฟือเลย
มันมีอยู่ คนที่ฝากธนาคารจนธนาคารบอกว่าบัญชีนี้ไม่รับนะ เขากลัวบัญชีนี้เวลามันโยกไปแล้วธนาคารเจ๊ง เพราะมันฝากจนท่วมธนาคาร
นี่ก็เหมือนกัน พุทโธๆ จนจิตมันสงบจนท่วมหัวใจ แล้วทีนี้จะทำอะไรก็สะดวกไง พุทโธถูกต้อง ทำของเราไปอย่างนี้ นี่เป็นอุบาย ฉะนั้น ถ้าทำเป็นจริงก็เป็นจริง มันต้องให้รู้จริงเห็นจริงขึ้นมา มันจะเป็นของเรา
ฉะนั้น เขาบอกว่า “เวทนาปวดขามันเร็วขึ้น นั่งไม่ถึงชั่วโมง ปวด ชอบคัน เจ็บเหมือนโดนอะไรกัด ลืมตาก็ไม่มี บางทีคอแห้ง บางทีสะดุ้ง บางที...”
มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ตลอด มันเป็นอย่างนี้เพราะอะไร มันเป็น เวลาไม่นั่งภาวนาก็ดูปกติ พอไปนั่งภาวนา มันคันยุบคันยิบ มันร้อยแปดพันเก้า นี่แหละหน้าที่ของกิเลสผู้ทำลาย กิเลสมันทำลายทุกอย่าง หน้าที่ทำลาย
จิตมันสงบ พอจิตมันสงบขึ้นไป มันจะลง “มันจะลงจริงหรือเปล่า” พอลมหายใจมันละเอียดขึ้น “เดี๋ยวมันจะตายแล้วนะ” มันโต้แย้งไปหมด “นั่งสมาธิก็ไม่ได้ พรุ่งนี้ทำงานไม่ไหว นั่งสมาธิไม่ได้ เดี๋ยวมันพิการนะ นั่งสมาธิไม่ได้”
ไอ้คนมันเล่นไพ่มันนั่งทั้งวันทั้งคืนไม่เห็นเป็นอะไรเลย มันเพลิน มันจั่วไพ่ ๗ วัน ๗ คืน มันนั่งสบายเลย ไอ้คนจะนั่งสมาธิ “โอ๋ย! เดี๋ยวมันพิการนะ” นี่กิเลสเป็นผู้ทำลาย กิเลส หน้าที่ของมัน มันทำลายทั้งนั้นน่ะ มันทำลายทุกอย่าง เพียงแต่เราจะมีสติปัญญาเชื่อมันหรือไม่เชื่อมัน
ถ้าเรามีสติปัญญา สติปัญญามันแยกแยะได้ เราเองเราก็รู้ได้ว่าสภาพร่างกายเราทนได้แค่ไหน ถ้าเรารู้ว่าสภาพเราทนได้แค่ไหน มันก็ต้องสู้กันสุดฤทธิ์ สุดฤทธิ์ เห็นไหม ธรรมะอยู่ฟากตาย
ถ้าไม่สุดฤทธิ์นะ เราภาวนาถึง ๙๙ เปอร์เซ็นต์ กิเลสมันหลบอยู่ตรง ๑ เปอร์เซ็นต์นั้นน่ะ มันนอนหลับอยู่ เราว่า ๙๙ เปอร์เซ็นต์ เราทำได้สบายมาก แล้วเราก็ออกมา เวลาภาวนาต้อง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เต็มที่ไปเลย สู้กันสุดฤทธิ์
นี่ก็เหมือนกัน ภาวนาสุดฤทธิ์ ธรรมะอยู่ฟากตาย แล้วถ้าสุดฤทธิ์แล้วนะ มันเป็นไงเป็นกัน แล้วเดี๋ยวพอออกจากภาวนาแล้วนะ ออกจากภาวนา เดี๋ยวเราไปหาหมอกัน เดี๋ยวคนอื่นพาไปหาได้ ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะเป็นอย่างนั้นจะเป็นอย่างนี้ ไม่ต้องไปวิตกกังวล มันสอดไปทุกเรื่องน่ะ กิเลสมันสอดไปทุกเรื่อง
ฉะนั้น สิ่งที่ว่า แล้วตอนที่ว่าลมหายใจมันจะหาย เวลาบางทีมันจะเด้งออกมา
ตั้งสติดีๆ ตั้งสติดีๆ กำหนดของเราดีๆ หน้าที่ของเรา ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เวลาเราปฏิบัติ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกนี่วิธีการทั้งนั้นน่ะ เหตุทั้งนั้นน่ะ เวลาเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ท่านไม่ได้บอกถึงผลเลย เพราะคนที่มันเป็นมันรู้ทั้งนั้นน่ะ คนที่มันเป็นมันก็รู้
พอถามถึงวิมุตติหลุดพ้นไป พระพุทธเจ้าจะพยายามอธิบาย พออธิบายมา เขาบอกว่า “พระอรหันต์อยู่ได้อย่างไร”
อยู่โดยอายตนะ
เขาก็เลยบอก “อายตนะนิพพาน”
อายตนะนิพพานได้หรือ อายตนะคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันนิพพานได้ไหม
แต่ท่านพูดถึงนะ ในพระไตรปิฎกมีว่าอายตนะนิพพาน พระอรหันต์อยู่กันอย่างไรไง อายตนะนิพพานคือเป็นพระอรหันต์ เพราะใจนี้เป็นธรรมธาตุ แต่ใจนี้มันอยู่ในร่างกายนี้ ร่างกายนี้มีตา มีจมูก มีหู มีลิ้น มีกาย มีใจ มีไหม มี แต่ในเมื่อธรรมธาตุ จิตนั้นเป็นธรรมธาตุไปแล้ว จิตนั้นนิพพานไปแล้ว แต่ธรรมธาตุนั้นมันอาศัยอยู่ในร่างกายนี้ พอร่างกายนี้ ร่างกายนี้ก็เลยเป็นธรรมไปด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของพระอรหันต์น่ะ นี่อายตนะนิพพาน
เขาก็จับมับเลย อายตนะนิพพานก็บอกเลย “อายตนะเป็นนิพพาน”
อ้าว! ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นนิพพานได้ไหม ตานี้เป็นนิพพานได้หรือเปล่า เป็นไม่ได้หรอก แต่ทำไมพระไตรปิฎกว่าอายตนะนิพพานล่ะ นี่พระอรหันต์กับพระอรหันต์พูดอะไรเขาเข้าใจกัน ไอ้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์มันมีปัญหา นี่พูดถึงว่าในพระไตรปิฎกพูดไว้อย่างนั้น
อย่างธรรมกาย กายของพระอรหันต์ก็ธรรมไง กายที่เป็นธรรมก็กายของพระอรหันต์เป็นธรรม แต่กายของเรานี่กายของเปรต กายของผี กายของเราเวลาตายไม่มีใครเอา กายของเรา ลองตายสิ ซากศพมีใครเอา ไม่มีหรอก
แต่ถ้าเป็นของพระอรหันต์ล่ะ แย่งกันนะ แย่งกัน เห็นไหม นั่นถึงว่าธรรมกาย กายของพระอรหันต์ แต่ของเราไม่ใช่ นี่เวลาเขาไปศึกษาแล้วเขาก็ตีความกันอย่างนั้นน่ะ
นี่พูดถึงว่าในพระไตรปิฎกเป็นวิธีการทั้งนั้น แล้วเราไปศึกษาวิธีการแล้วก็ตีวิธีการนั้นเป็นธรรม แล้วก็ไปไม่ถูกไง
ฉะนั้น สิ่งที่ว่า เราประสบการณ์ เราเอาจริงของเรา ถ้าลมหายใจมันจะหาย มันจะขาด ถ้ามีสติปัญญานะ เพราะว่า เวลาพูดแล้วมันอาย เพราะว่าลมหายใจมันจะหาย เราเคยเป็นไง เดี๋ยวจะบอกว่าหลวงพ่อว่าแต่คนอื่น แต่หลวงพ่อยกหางน่าดูเลย
เวลาลมหายใจมันจะหายนะ เป็นเรานะ “ขอเชิญครับ” เราพูดกับลมหายใจนะ เวลามันจะสงบไง พอจิตมันเริ่มละเอียดขึ้น มันจะหาย “ขอเชิญเลยครับ ขอเชิญเลย” สติมันพร้อมตลอด มันละเอียดจนไม่มีลมหายใจก็ “ขอเชิญครับ” ขอเชิญครับเพราะอะไร เพราะมันทำเป็น
แต่ถ้าคนไม่เป็นนะ พอลมหายใจมันละเอียดนะ มันจะหายนะ มันจะกลัวตาย มันจะวูบวาบออก มันจะเป็น มันเป็นอย่างนั้น
แต่เวลาของเรา เราจะเป็นนะ ถ้าลมหายใจมันจะขาดนะ “ขอเชิญครับ ขอเชิญครับ ขอเชิญเลย ขอเชิญให้หายครับ” เพราะสติมันพร้อม สติมันพร้อม
แต่ก่อนที่ไม่พร้อมมันก็เคยเป็นอย่างนั้น มันก็เด้งเหมือนกัน มันก็เป็นอย่างนี้ แต่พอเวลามันเป็นแล้วนะ “ขอเชิญครับ” เพราะอะไร เพราะสติปัญญามันทัน สติปัญญามันทันกิเลส สติปัญญามันครอบงำไอ้ผู้ทำลายไว้
แต่ถ้าสติปัญญาไม่ทัน สติปัญญาไม่ทันกิเลส ไอ้ผู้ทำลายนั่นน่ะ กิเลสมันจะทำลายทุกอย่างเลย “ลมหายใจจะขาดแล้วนะ ตายแน่ๆ เลยถ้าคนไม่มีลมหายใจ ถ้าลมหายใจเป็นไป” ผู้ทำลายมันทำลายตลอด แต่ถ้ามีสติปัญญาแล้วมันทำลายไม่ได้ นี่พูดถึงข้อที่ ๑.
“๒. การปฏิบัติสมาธิ เราจะรู้ได้อย่างไร เราถนัดแบบเจโตวิมุตติหรือปัญญาวิมุตติ หรือต้องลองทั้ง ๒ แบบแล้ววัดผลอย่างไรว่าเราถนัดแบบไหน เป็นไปได้ไหมว่าเราจะต้องปฏิบัติจริงทำผสมกันไป ๒ แบบ”
คำว่า “๒ แบบ” เพียงแต่ว่าเวลาปฏิบัติไปมันเป็นปัจจุบัน สิ่งใดที่เกิดขึ้น เรามีสติปัญญาตอนนั้น เราจะได้ประโยชน์ตอนนั้น เอาปัจจุบัน
ฉะนั้น ไอ้ที่ว่าแบบที่เป็นเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ มันเกิดขึ้นเพราะมันมีหลักเกณฑ์อยู่ในพระไตรปิฎก อยู่ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเป็นเจโตวิมุตติคือผู้ที่มีฤทธิ์มีเดช นี่เป็นสายของพระโมคคัลลานะ
แต่ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติเป็นผู้ที่มีปัญญา นี่เป็นสายของพระสารีบุตร พระสารีบุตรเป็นเสนาบดีแห่งธรรม คือปัญญาพระสารีบุตรจะละเอียดมาก พระองค์ไหนไปฟังเทศน์พระพุทธเจ้าไม่เข้าใจ ไปถามพระสารีบุตร พระสารีบุตรก็จะอธิบายให้ฟัง พออธิบายให้ฟังก็จะกลับไปถามพระพุทธเจ้าว่า “พระสารีบุตรพูดอย่างนั้นถูกต้องหรือไม่”
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ถ้าเป็นเราอธิบาย เราก็อธิบายแบบนั้นน่ะ” แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอธิบายแล้วอธิบายเป็นหัวข้อ อธิบายด้วยความกระชับ แต่คนที่ฟังไม่เข้าใจก็ไปถามพระสารีบุตร
แต่เวลาคนที่มีฤทธิ์มีเดช เวลาเขารู้สิ่งใดเขาก็ไปถามพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะ เห็นไหม มันมีอยู่สมัยพุทธกาล คหบดีเขาเห็นพระทำตัวมันเหลวไหลมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระฉัพพัคคีย์ต่างๆ ทำตัวไม่ดี เขาก็ว่ามรรคผลคงไม่มี เขาอยากจะเห็นว่ามรรคผลมีจริงหรือเปล่า เขาก็เลยเอาไม้จันทน์มาทำบาตรอย่างดีเลย แล้วเอาไม้ไผ่ ๒ ลำต่อขึ้นไป แล้วก็เอาขึ้นไปบอกว่าถ้าใครมีฤทธิ์ให้เหาะขึ้นไปเอาไง
พระโมคคัลลานะไปบิณฑบาตทุกวัน เขาก็ประกาศนะ เขาเสียใจบอกว่า “ไม่มีพระอรหันต์แล้ว มรรคผลไม่มีแล้ว ไม่มีผู้ใดเหาะขึ้นไปเอาบาตรไม้จันทน์นี้ได้เลย”
พระโมคคัลลานะบิณฑบาตไป โยมเขาพูดอย่างนั้นก็สงสารเขา ก็บอกลูกศิษย์บอกว่า “คุณเหาะขึ้นไปเอาบาตรนั้นซะ” ลูกศิษย์ของพระโมคคัลลานะก็บอกว่า “อาจารย์เหาะขึ้นไปเอาซะ” เพราะฤทธิ์กับฤทธิ์ด้วยกัน นี่เจโตวิมุตติไง ผู้ที่มีฤทธิ์นี่มันเรื่องปกติ
นกมันบินได้เป็นธรรมดา ไม่ใช่นกกระจอกเทศ นกที่บินไม่ได้ นกกระจอกเทศมันบินไม่ได้นะ แต่นกทั่วไปมันบินได้โดยธรรมดา นี่ก็เหมือนกัน พวกเจโตวิมุตติเขาเหาะได้เป็นเรื่องปกติของเจโตวิมุตติ เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมดา
พระโมคคัลลานะบอกลูกศิษย์ “คุณขึ้นไปเอา เหาะไปเอาซะ ไปรักษาหัวใจของโยมให้โยมเขาชื่นใจ ไม่อย่างนั้นเขาจะเสียใจ” ลูกศิษย์ก็บอกว่า “ท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์ก็ต้องเหาะขึ้นไปเอาเอง” เกี่ยงกันไปเกี่ยงกันมานะ
ทีนี้ไอ้พวกเดียรถีย์มันจะมาหลอก มันบอกว่ามันเหาะได้ แล้วมันก็นัดกับลูกศิษย์ไว้นะ บอกว่าพอมันไปนะ มันแกล้งจะเหาะ ก็ให้ลูกศิษย์ดึงไว้ “โธ่! ท่านอาจารย์อย่าเหาะเลย ไอ้แค่บาตรใบเดียว ให้เขาเอาลงมาให้ก็ได้” เขาก็มาหลอกเอาโยม มาถึงก็ทำแกล้งทำเหาะ แล้วก็ไม่เหาะสักที
แต่เศรษฐีเขาฉลาด เขาไม่ยอมให้ มีคนมาทำอย่างนี้เขาก็ยิ่งเสียใจมากขึ้น พอเขาเสียใจมากขึ้นนะ สุดท้ายแล้วพระโมคคัลลานะบอกให้ลูกศิษย์เหาะขึ้นไป เหาะขึ้นไปนะ แล้วก็ไปหยิบเอาบาตรไม้จันทน์นั้น เหาะ ๓ รอบ
โอ้โฮ! เศรษฐีเขาเห็นนะ เขาปลื้มใจนะ “มรรคผลนิพพานยังมีอยู่ มรรคผลนิพพานยังมีอยู่ มรรคผลนิพพานไม่ใช่เรียวแหลม มรรคผลนิพพานไม่ใช่สูญสิ้นไปแล้ว” โอ๋ย! เขาดีใจมาก นี่เป็นประโยชน์ไหม เป็นประโยชน์มากเลย ตั้งแต่วันนั้นมา พระยุ่งเลย ก่อนจะบิณฑบาต ถ้าไม่เหาะ ไม่ใส่บาตร พระต้องเหาะ ไม่เหาะ ไม่ใส่บาตร
ข่าวนี้ร่ำลือไปถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเรียกพระโมคคัลลานะกับพระลูกศิษย์มา แล้วก็เทศนาว่าการเลย ให้เอาบาตรไม้จันทน์นั้นไปทำลายซะ ต่อไปนี้ห้ามแสดงฤทธิ์แสดงเดช
ถ้าการแสดงฤทธิ์แสดงเดช ถ้าทางบวกเขาบอกศาสนาจะมั่นคง ถ้าแสดงแล้วเศรษฐียังปลื้มใจเลยว่ามรรคผลนิพพานยังมีอยู่ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ถ้าอย่างนั้นแล้วก็มีแต่พวกที่เหาะได้เท่านั้นแหละที่จะได้กินข้าว ต่อไปพวกเหาะไม่ได้จะไม่ได้กินข้าว แล้วถ้าไม่ได้กินข้าว ไม่มีปัจจัยเครื่องอาศัย พระจะอยู่กันได้อย่างไร พระจะอยู่ไม่ได้ ศาสนาจะหดด้วนเข้ามา ศาสนาจะเรียวแหลมไป ต่อไปนี้ห้ามทำเด็ดขาด
พอห้ามทำเด็ดขาดแล้ว พอถึงเวลาแล้วพวกเดียรถีย์มันได้ยินมันก็ดีใจแล้ว มันไปท้าพระพุทธเจ้าเลย ให้มาแสดงฤทธิ์
พระพุทธเจ้ารับท้าทันทีเลย แล้วแสดงยมกปาฏิหาริย์
นี่พูดถึงเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ มันแบ่งกันที่ไหน
มันแบ่งกันมาในพระไตรปิฎก แต่สุดท้ายแล้วมันก็อยู่ที่ว่าครูบาอาจารย์ของเรา ใครถนัดทางใด ถ้าถนัดทางเจโตวิมุตติ พิจารณากายโดยสมาธิ สมาธิพิจารณากายนี่เป็นเจโตวิมุตติ ถ้ามีสมาธิแล้วพิจารณากายโดยปัญญา พิจารณากายโดยไม่เห็นกาย นี่เป็นปัญญาวิมุตติ ถ้าปัญญาวิมุตติ
ถ้าครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติเป็น ท่านปฏิบัติรู้ มันเป็นความชำนาญของใคร วิทยานิพนธ์ของใคร ครูบาอาจารย์องค์ไหนท่านปฏิบัติมา ท่านถนัดอย่างใด ท่านจะสอนไปตามนั้น ท่านจะสอน เวลาใครไปถามปัญหา ท่านจะเทียบเคียงถึงประวัติที่ท่านเคยทำมา แล้วก็เทียบเคียงว่าใครอยู่ขั้นไหน
ทีนี้ผู้ที่ภาวนาเป็น เวลาลูกศิษย์ถาม จะรู้เลยว่ามันเป็นปุถุชน ถ้ามันพิจารณาของมันได้จะเป็นกัลยาณปุถุชน ถ้ากัลยาณปุถุชนยกขึ้นเห็นกายได้เป็นโสดาปัตติมรรค ถ้าโสดาปัตติมรรคพิจารณาถึงที่สุดมันจะเป็นโสดาปัตติผล ถ้าโสดาปัตติผลแล้ว ถ้ายกขึ้นสู่เห็นกายโดยสกิทาคามิมรรค สกิทาคามิมรรคถ้าพิจารณาไปถึงที่สุดแล้วมันจะเป็นสกิทาคามิผล ถ้ายกขึ้นสู่อนาคามิมรรค ถ้ามันเห็นอสุภะ ถ้าเห็นอสุภะพิจารณาจนสิ้นสุดของมันแล้วจะเป็นอนาคามิผล ถ้ายกขึ้นสู่กายของจิต ตัวจิต มันจะเป็นอรหัตตมรรค ถ้าพิจารณาสิ้นสุดแล้วมันจะเป็นอรหัตตผล มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑
ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเป็นนะ ท่านฟังผู้ถาม รู้เลยว่าผู้ถามพูดอย่างไร รู้อย่างไร ท่านสอนตามนั้นไง
ฉะนั้นบอกว่า แล้วอย่างไรเป็นเจโตวิมุตติ เป็นปัญญาวิมุตติล่ะ
เราทำสมาธิไป เราทำความสงบของใจ ถ้าใจสงบแล้วเรารำพึงไปที่กาย รำพึงไปที่สติปัฏฐาน ๔ ถ้าจิตมันจริง สัมมาสมาธิเป็นความจริง ถ้ามันเห็นสติปัฏฐาน ๔ มันถึงจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง
แต่ถ้าเรานึกเอา เรานึกเอา เราจินตนาการเอา เราเห็นสติปัฏฐาน ๔ จริงได้ไหม
ได้ เราอุปาทานก็ได้ เราสร้างภาพก็ได้ เรารู้แล้วเราทำได้ นี้เป็นสติปัฏฐาน ๔ ปลอม ปลอมเพราะอะไร เพราะไม่มีสัมมาสมาธิ ปลอมเพราะใจไม่เป็นสมาธิ ปลอมเพราะใจไม่สะอาดบริสุทธิ์ ปลอมเพราะใจมีกิเลสเป็นผู้ทำลาย ผู้ทำลายมันทำลายไปทุกขั้นทุกตอนทั้งนั้นน่ะ
ฉะนั้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราจะทำอย่างไร
เราทำความสงบของใจเข้ามา เริ่มต้นโดยบาทฐานเลย ไม่ต้องไปสนใจว่าจะเป็นเจโตวิมุตติหรือปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ เป็นวิธีการ วิธีการที่ทำสัมมาสมาธิ
สัมมาสมาธิยกขึ้นเห็นกายโดยนิมิต เห็นกายโดยเห็นตามความเป็นจริง นั้นเป็นเจโตวิมุตติ
ถ้าทำใจสงบเข้ามา พิจารณากาย พิจารณากายโดยไม่เห็นกาย พิจารณากายโดยปัญญา ปัญญาการเทียบเคียง ปัญญา เห็นไหม ดูสิ คนใช้ปัญญาเขาทำงานของเขา เขาใช้ปัญญา ปัญญาวิเคราะห์วิจัย นี่ใช้ปัญญา แล้วปัญญาอย่างนี้ก็เป็นปัญญาทางโลกสิ แต่มันมีสมาธิไง มีสมาธิไง ถ้ามีสมาธิ จิตเห็นอาการของจิตไง
หลวงปู่ดูลย์บอกว่า จิตต้องเห็นอาการของจิต
อาการของจิตคือสติปัฏฐาน ๔ อาการของจิตคือกาย คือเวทนา คือจิต คือธรรม อาการของจิตคือสติปัฏฐาน ๔ อาการของจิตทั้งหมด จิตมันสงบมันถึงเห็นไง
ถ้าจิตมันไม่สงบนะ อาการของจิตกับจิตมันเป็นอันเดียวกัน อาการของจิต เพราะเราเป็นหมด อาการของเรามันเป็นอาการ แต่ไม่เห็นตัวจิตไง อาการคืออารมณ์ อาการคือความรู้สึกนึกคิด อยู่ที่อาการไง แต่จิตไม่สงบไง
แต่จิตสงบแล้วจิตเห็นอาการของจิต อาการของจิตคือสติปัฏฐาน ๔ ถ้าเห็นจริงตามความเป็นจริงมันก็เป็นวิปัสสนาไง ถ้าเป็นวิปัสสนา มันถึงเป็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง
ฉะนั้น “หรือต้องทำ ๒ แบบ”
ยิ่งลำบากเข้าไปใหญ่เลย ทำแบบเดียวก็ทำไม่รอดอยู่แล้ว ยังต้องมาทำ ๒ แบบ ๓ แบบ
จะ ๒ แบบ ๓ แบบ ๘ แบบ ๑๐ แบบ ถ้าเป็นปัจจุบัน เป็นหนึ่งเดียว ทำปัจจุบันเราน่ะ ทำปัจจุบันเรา ทำของเราให้เป็นจริงขึ้นมา จิตสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาต้องฝึกหัด
การฝึกหัด ฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาอบรมสมาธิก็เป็นปัญญาโลกๆ ปัญญาที่เรารู้เท่าทันอารมณ์ ปัญญาทางโลกคือปัญญารู้เท่าทันอารมณ์ รู้เท่าทันความคิด มันก็วาง วางก็เป็นสมาธิ พอเป็นสมาธิแล้ว จิตเห็นอาการ มันจับพิจารณา อันนั้นจะเป็นวิปัสสนา
วิปัสสนามันต้องมีเหตุมีผล มีการกระทำ มีเรา มีเขา มีผู้กระทำ มีผู้ถูกกระทำ มีจิตเห็นอาการของจิตจะเป็นวิปัสสนา
แต่ขณะที่รู้เท่าทันอารมณ์มันไม่มีผู้กระทำ มันไม่กระทำใคร มันยังไม่เห็นตัวตน ยังไม่มีผู้กระทำ เราถึงทำความสงบของใจ ไม่ต้องไปห่วงว่าจะทำ ๒ แบบ ๓ แบบ ๘ แบบอะไร ไม่ต้องไปสนใจ ทำความสงบของใจเข้ามา
อย่างทำเมื่อกี้ ถ้ามันถูกผิด เราก็เหตุผลของเราเข้ามา แล้วมันจะทำได้ มันจะเป็นปกติของเรานะ
นี่พูดถึงว่า จะเป็นเจโตวิมุตติหรือปัญญาวิมุตติ
เจโตวิมุตติหรือปัญญาวิมุตติ ใจเป็นผู้เป็น ใจเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ใจเป็นผู้ที่ทำการกระทำ เราทำความเป็นจริงของเราเพื่อประโยชน์กับเรา
“๓. เนสัชชิกคืออะไรคะ ต้องปฏิบัติอย่างไร อย่างน้อยกี่ชั่วโมงเจ้าคะ”
เนสัชชิกคือเป็นธุดงควัตรข้อหนึ่ง การถือเนสัชชิกคือไม่นอน ไม่นอน ส่วนใหญ่แล้วเขาไม่นอนตั้งแต่กลางคืน เวลาเรานอน ไม่นอน แต่ที่จะรู้ได้ว่าจะขาดเนสัชชิกหรือไม่ขาด เนสัชชิกคือหลังติดพื้น
ถ้าหลังไม่ติดพื้น มันนั่งอยู่ นั่งหลับ เพราะคนเราภาวนาไปแล้วมันสัปหงกโงกง่วง มันหลับได้ แต่ถ้าหลังไม่แตะถึงพื้นไม่ถือว่าขาดเนสัชชิก
อย่างนี้อยู่ที่เราตั้งไง เราตั้งตั้งแต่ ๖ โมงเย็นถึง ๖ โมงเช้า คือพระอาทิตย์ขึ้น ส่วนใหญ่พระอาทิตย์ขึ้นภายใน ๑ วัน แต่ถ้าเนสัชชิก ๗ วัน ก็ทั้ง ๗ วันเลย ไม่นอนเลย
บางทีถ้าเนสัชชิกไม่นอนกลางคืน เขาไปพักผ่อนตอนกลางวัน คือเขาไปพักผ่อนตอนไหน เขาพักผ่อนได้ไง
ถ้าตั้งอธิษฐานเนสัชชิกคืนหนึ่ง เริ่มต้นจาก ๑ คืน ตั้งแต่ ๖ โมงเย็นถึง ๖ โมงเช้า ว่าอย่างนั้นเลย ตั้งแต่ ๖ โมงเย็นถึง ๖ โมงเช้าถือเนสัชชิก นี่อย่างน้อย
เขาบอกว่า อย่างน้อยมันกี่ชั่วโมง
กี่ชั่วโมง ตั้งแต่ ๖ โมงเย็นถึง ๖ โมงเช้า นี่พูดถึงถือเนสัชชิกเขาไม่นอน ๑ คืน
แต่ผู้ที่เข้มข้นไม่นอน ๓ เดือน ไม่นอน ๑ ปี ไม่นอนตลอดไป แล้วไม่นอนตลอดไปอยู่ได้ไหม ยิ่งกว่าได้ เวลาเขาไม่นอนเลย จิตมันสงบ มันเข้าฌานได้ เข้าสมาบัติได้ ไปพักในนั้นสบายมาก เข้าไปถึงในนั้นแล้วไปพัก ออกมานี่สดชื่นมาก ถ้าเขาทำได้อย่างนั้นเป็นปกติของเขาเลยนะ มี ผู้ทำได้มี
ฉะนั้น เพียงแต่ว่า เนสัชชิกคืออะไรคะ
เนสัชชิกคือธุดงควัตรที่เวลามันเป็นเครื่องขัดเกลา ถ้าเนสัชชิก เราไม่นอนเลย เราอยู่อย่างนั้นไปเลย ไม่นอน มันก็เลยกลายเป็น ถ้าบอกทิฏฐิอันหนึ่ง กลายเป็นแบบว่าเป็นสมาธิอันหนึ่ง เป็นแบบผู้ที่เข้าฌานสมาบัติได้อยู่อย่างนั้น แต่มันไม่เกิดปัญญา
เนสัชชิกมันเป็นสมาธิ ธุดงควัตรเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส เนสัชชิกเป็นปัญญาหรือเปล่า ถ้ามันเป็นปัญญาต้องเขียน ป-ปลา ญ-หญิงสิ
ปัญญาเป็นปัญญา เนสัชชิกเป็นเนสัชชิก เนสัชชิกเป็นวิธีการต่อสู้กับกิเลสเพื่อทำความสงบของใจอย่างหนึ่ง เนสัชชิกนี่ ฉะนั้น เนสัชชิกมันเป็นวิธีการ เป็นเครื่องขัดเกลา เป็นอาวุธ อาวุธที่เข้าไปต่อสู้กับไอ้ผู้ทำลาย
ฉะนั้น เนสัชชิก พระป่าทำเป็นเรื่องปกติ ไอ้ของอย่างนี้เป็นเรื่องปกติ พระป่าเขาทำเยอะมาก
นี่ว่า “เนสัชชิกคืออะไรคะ”
“๔. คุณแม่ฝากถามว่า ตอนนั่งทำสมาธิเงียบๆ มันจะฟุ้งออกไปคิดมากกว่าตอนที่ฟังเทศน์หลวงพ่อพร้อมกับนั่งพุทโธไปด้วย จะไม่ค่อยหงุดหงิด ไม่ไหลไป แบบนี้ได้หรือไม่คะ”
ได้ เพราะว่าเวลาเราภาวนาโดยส่วนตัวนะ ถ้าเราไม่ได้เปิดวิทยุ เราไม่ได้ฟังเทศน์ เราต้องมีคำบริกรรม ต้องมีพุทโธ ต้องมีธัมโม ต้องมีสังโฆ ต้องมีมรณานุสติ อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราทำโดยปกติ
แต่เวลาเราจะฟังเทศน์ เทศน์นั้นมันแทนพุทโธ แทนคำบริกรรม ถ้ามีเทศน์ปั๊บ จิตเราไปเกาะ จิตเราอยู่ในร่างกายเรา ตั้งสติไว้ เทศน์นั้นจะเข้ามาทางหูเรา แล้วเราจะได้ยินเสียงนั้น เกาะเสียงนั้น นั่นน่ะสุดยอด
แล้วนั่งพุทโธไป ไม่ต้องพุทโธก็ได้ แต่ถ้าพุทโธได้ก็พุทโธได้ เราจะบอกว่า ถ้าไม่ได้ฟังเทศน์ต้องพุทโธชัดๆ ต้องมีปัญญาอบรมสมาธิ เพราะว่าเราไม่ปล่อยจิตใจให้เร่ร่อน เพราะไอ้ผู้ทำลายมันจะพากันหายไป ถ้าเราปล่อยเร่ร่อนนะ ถ้าดีที่สุดคือตกภวังค์ คือเงียบหายไปเลย คือนอนหลับ คือนั่งหลับไป
แต่ถ้ามีพุทโธๆ อยู่นี่ มันไปไหนไม่ได้ มันต้องแสดงตัวมันชัดๆ พอแสดงตัวชัดๆ นั่นน่ะคือตัวสมาธิ นั่นคือตัวใจ ตัวใจมันมีที่เกาะอยู่ ฉะนั้น ต้องมีคำบริกรรม ถ้าไม่มีบริกรรมนะ มันจะหายไป
แล้วพอหายไปบอก “มันไม่หายหรอก มันเป็นสมาธิ” เพราะผู้ที่อ่อนด้อย ผู้ที่วุฒิภาวะอ่อนด้อยมากจะบอกว่าความหลับนั้นเป็นสมาธิ เขาบอกว่าแม้แต่นั่งเผลอมันยังว่าเป็นสมาธิเลย นั่งเหม่อลอยมันว่าเป็นสมาธิเลย เพราะคนขาดสติ คนขาดปัญญา คนขาดครูบาอาจารย์ชี้นำ เขาเข้าใจว่าเขาเป็นอย่างนั้น
แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์ท่านรู้จักขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ท่านรู้จัก ท่านรู้จักปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ท่านรู้จัก ท่านรู้จัก ถ้าไม่อย่างนั้น ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน มันต่างกันอย่างไร อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ มันต่างกันอย่างไร มันต้องต่างกัน มันถึงมีชื่อต่างกัน สมาธิมันหลากหลาย เห็นไหม
ฉะนั้นบอกว่า ไอ้คนที่วุฒิภาวะอ่อนด้อย นั่งเผลอมันก็ว่าสมาธิ นอนหลับมันก็ว่านั่งสมาธิ มันนั่งหลับไปมันบอก อู้ฮู! วันนี้นั่งสมาธิดีมากเลย พอเป็นสมาธิมันบอกอันนี้ไม่ดี เพราะเป็นสมาธิ มันมีสติ มีเจ้าของ มีผู้ดูแล เป็นสมาธิมันบอกว่าไม่ถูก ถ้ามันนั่งหลับมันบอกอันนี้สุดยอด
เห็นไหม อันนั้นถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำจะเป็นแบบนั้น แต่เราไม่ต้องไปตกใจ นี่พูดถึงเฉยๆ ไง
แล้วที่ว่าคุณแม่บอกว่าฝากถามว่าอย่างนี้ถูกไหม
ถูก ถูก สุดยอดเลย ทำดีๆ อย่างนี้ทำเพื่อประโยชน์กับเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ ให้รู้เอง ปฏิบัติเองรู้เองมันจะเป็นประโยชน์มาก
ถาม : เรื่อง “เห็นกาย จิตไหว”
กราบเท้าหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง กระผมเคยเขียนมาถามปัญหาหลวงพ่อหลายครั้ง ครั้งล่าสุดโดนหลวงพ่อเอ็ดเอา สงสัยเขียนไม่ละเอียด ทำให้ผมนึกโกรธอยู่นาน คิดว่าไม่เขียนมาถามอีกแล้ว
แต่สุดท้ายติดปัญหาภาวนา คิดว่าคงไม่มีใครที่จะสามารถไขปัญหาผมให้ชัดเจนเท่าหลวงพ่อ เลยต้องเขียนมาถามอีก ด้วยความละอายตัวโกรธของตัวเองเสียเต็มที แต่ก็หวังว่าหลวงพ่อจะเมตตาและให้อภัยลูกหลานโง่ๆ ผู้อาภัพวาสนาด้วยเถิด
ปัญหามีอยู่ว่า (จะเขียนโดยละเอียดกันความเข้าใจคลาดเคลื่อน อาจยาวนิดหนึ่ง) โดยปกติจิตผมเมื่อกำลังสมาธิมันพอ เวลามันรวมลงมันจะวิ่งไปจับเวทนาก่อน จับได้แล้วมันจะพิจารณาแล้ววิ่งไปหากาย จะปรากฏกายส่วนนั้นๆ ขึ้นมา แล้วมันจะพังทลายลงไป แล้วมันจะย้อนมาที่จิต ทุกข์ที่จิตดับ เวทนาดับ ทุกสิ่งดับหมด จิตลงสู่ความว่าง
ถ้าจิตถอยออกมาและกำลังมันพอ มันจะทำแบบเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นอย่างนี้อยู่เป็นปีๆ จนสุดท้ายจิตเด่นเหมือนลอยอยู่กลางอวกาศ มีสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่รู้เรียกว่าอะไร เพราะตอนนั้นมันไม่มีคำพูด ไม่มีสมมุติบัญญัติว่าอะไร มันลอยวนอยู่รอบจิต สติปัญญามันจะเข้าไปจับพิจารณา เข้าใจแล้วปล่อย เข้าใจแล้วปล่อย ผมก็ติดอยู่ตรงนี้เป็นปีๆ จนเขียนมาถามหลวงพ่อ ทำอย่างไรต่อ
หลวงพ่อก็ให้คำชี้แจงจนไปต่อได้ คือปล่อยถึงที่สุดแล้วไม่ให้ปล่อย เมื่อไม่ให้ปล่อย สติปัญญามันก็เลยมาจับที่ตัวจิตเสียเอง สติปัญญามันหมุนรอบจิต เห็นมีวัตถุบางอย่างเหมือนสิ่งนั้นปักฝังอยู่ที่จิตอีกหลายอันด้วย
สติปัญญามันสามารถเห็นรอบดวงจิตขณะเดียวได้จริงๆ เมื่อสติปัญญาหยั่งลงที่ลิ่มอันไหน จิตมันจะเห็นโทษว่าลิ่มนี้ก็ไม่ใช่ จิตมันเป็นของแสลง จิตมันสำรอกลิ่มนี่ออกทุกอัน จิตมันถอนลิ่มนี้ออกทุกอัน มีสติปัญญาหยั่งถึง เหมือนคนที่อาเจียนของแสลงออกจากท้อง แต่จิตถอยออกมาเป็นปกติ พอจิตถอยออกมาเป็นปกติ ผมก็รู้สึกเหมือนคนตายแล้วเกิดใหม่
จน ณ ปัจจุบันนี้ จิตมันรวมลง มีกำลัง มันก็จับเวทนาแล้ววิ่งไปหากายอีก แต่ปัญหามันมีอยู่ว่ากายนี้มันปรากฏละเอียดขึ้น คือเมื่อก่อนมันจับกายแล้วมันจะพังทลายทันที แต่ตอนนี้มันค่อยๆ หลุดออกไป เห็นหนัง เนื้อ เอ็น เส้นเลือด เซลล์ กระดูกชัดอย่างกับใช้กล้องจุลทรรศน์ เจอแบบนี้ จิตผมมีอาการไหว หวาดกลัว ซึ่งเมื่อก่อนมันเจออย่างน่าเกลียด เจอแบบพังทลายทั้งตัว มันก็ไม่แสดงอาการอย่างนี้
ขอหลวงพ่อเมตตาชี้แนะด้วย ผมไม่รู้จะไปถามใครแล้วจริงๆ นึกว่าเมตตาลูกนกลูกกาเถอะครับ ผมเขียนมาด้วยความบริสุทธิ์ใจจริงๆ ไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝงเลย สำนวนที่ใช้นี้ตามนิสัยของข้าพเจ้าครับ
ตอบ : นี่เป็นพระเนาะ เมื่อก่อนเขียนมา เขียนมาเยอะ แล้วเราก็ตอบไปเรื่อย แต่สุดท้ายที่เอ็ด เอ็ด เวลาเราเอ็ดนะ เราเอ็ดกระดาษ เพราะมันเป็นตัวหนังสือ แล้วเขาเขียนมา ก็เอ็ดตัวกระดาษ เอ็ดกระดาษ ไม่เห็นคนหรอก เขาบอกว่าเขาโดนเอ็ดนี่โกรธมาก จะไม่เขียนมาหาหลวงพ่ออีกแล้ว โกรธมาก
อ้าว! ก็เขียนมา เขียนมาก็ตอบไป พอตอบไปแล้ว เราตอบผู้ที่เขียน แต่เวลาเขียนมามันมีอะไรทะแม่งๆ ไง พอทะแม่งๆ มันก็ต้องเผดียง เพราะว่าเวลาตอบปัญหาต่อหน้ามันซักไซ้ได้ มันซักไซ้ มันหาเหตุหาผลได้ แต่เวลาเขียนเป็นตัวกระดาษมา กระดาษ ผู้ที่เขียนกระดาษมาเขาบอกว่า ในเว็บไซต์เขามีกฎเลยนะ ในเว็บไซต์ ในอินเทอร์เน็ต กฎอันแรกคือว่า อ่านแล้วห้ามเชื่อ
กฎอันแรกเลยนะ อ่านเว็บไซต์ ดูในเว็บไซต์นะ อ่านแล้วห้ามเชื่อ ห้ามเชื่อ แล้วเราเทศน์ธรรมะออกเว็บไซต์ไป แล้วคนอ่านทั้งประเทศเลย เขาจะเชื่อเราหรือเปล่าไม่รู้
อันแรกเลย อ่านแล้วห้ามเชื่อ ฉะนั้น เวลาเขียนมา เขียนมามันเป็นกระดาษมาแผ่นหนึ่ง เราก็วินิจฉัยของเราว่าอะไรควรและไม่ควร แต่ถ้าเป็นปัญหาธรรมะ เราตอบอยู่แล้ว แต่ปัญหาธรรมะ เพราะอะไร เพราะว่าเราจะตอบปัญหาธรรมะเพราะว่า เราบวชใหม่ๆ เราโดนพระหลอกมาก
สมัยที่เราบวชใหม่ๆ ครูบาอาจารย์เยอะนะ ครูบาอาจารย์ หลวงปู่สิงห์ทอง หลวงปู่จวน ครูบาอาจารย์ยังมีชีวิตอยู่ทั้งนั้นน่ะ ครูบาอาจารย์มีชีวิตอยู่หมด เราอยู่กับครูบาอาจารย์ที่เป็นคุณธรรม มีคุณธรรม มีชีวิตหมดเลย
แล้วเราไปศึกษาพวกนี้ ศึกษาไม่ใช่ครูบาอาจารย์ที่เอ่ยชื่อมานะ เราไปศึกษาจากพระที่ว่าเริ่มต้นบวชใหม่ๆ ก็พระระดับเดียวกัน เราโดนหลอกมาเยอะ เราโดนหลอกมาเยอะมาก โดนหลอกครั้งแรกเลย
ที่จะไม่โดนหลอกก็เข้าไปหาอาจารย์จวน ที่ว่า ความสงบทั้งหมด อวิชชาดับมันต้องเป็นพระอรหันต์ เราก็รู้ ไม่ได้เป็นพระอรหันต์หรอก แต่พอเข้าสมาธิแล้วอวิชชามันดับ มันก็เรียกร้องพระอรหันต์น่ะ ก็อวิชชามันดับหมดแล้ว อวิชชาดับโดยการเข้าสมาธิไง กดไว้ไง แล้วไปหาใครก็ตอบไม่ได้หรอก ไปสู้กับใคร ใครก็ตอบไม่ได้ เพราะเราเถียงเก่ง
สุดท้ายพอไปถึงอาจารย์จวนนะ “อวิชชาอย่างหยาบท่านสงบตัวลง” จริงไหม จริง เพราะอวิชชามันสงบจริงๆ นี่คนเป็นไง
พอมันไม่เป็นมันก็แถไปเรื่อยแหละ แต่คนเป็น เห็นไหม “อวิชชาอย่างหยาบของท่านสงบตัวลง อวิชชาอย่างกลางๆ ในหัวใจท่านอีกเยอะแยะเลย แล้วอวิชชาอย่างละเอียดในหัวใจท่านอีกท่วมท้นเลย”
โอ๋ย! มันเถียงไม่ออกเลย
แต่ก่อนก็จะหาคนบอกอย่างนี้ แต่ไม่มีใครบอก บอกก็บอกไม่ได้ พอไปเจอหลวงปู่จวนพูดอย่างนี้ตูมเท่านั้นน่ะ จบเลยนะ ใช่ อวิชชาไม่ได้ดับหรอก ไอ้อารมณ์ฟุ้งซ่านมันดับ อวิชชายังเต็มหัวใจ ตั้งแต่นั้นมาก็เริ่มต้นใหม่ ทำความสงบใหม่ สู้ใหม่ ทำจนได้เหตุได้ผล เพราะอะไร เพราะว่าคนที่เป็นเขาถือปฏักอยู่ ถ้ากิเลสมึงปลิ้นปล้อนมา เอาปฏักสับหัวเลย กิเลสมันกลัวปฏักของอาจารย์ ไม่ได้กลัวเรานะ กลัวปฏักของหลวงปู่จวน มันก็เริ่มภาวนาขึ้นๆ มันก็ดีขึ้นๆๆ โอ้โฮ! มันก็ไปได้นะ
พอเครื่องบินตก โอ้โฮ! คอตกเลยล่ะ พอเครื่องบินตก ท่านก็เสียชีวิต พอเสียชีวิต คิดดูสิ คนที่คอยบอกเราเสียชีวิต เราจะไปไหน หมดที่พึ่งนะ จากโดนหลอกมานี่มันเจ็บช้ำ โดนหลอกมา โอ้โฮ! โดนหลอกเยอะมาก โดนหลอกมาเยอะ แล้วพอมาเจอของจริง ท่านก็มาตายซะ ตายจากไป เราถึงหักหัวเข้าบ้านตาดไง เพราะคนโดนหลอกจนเข็ด
ฉะนั้น เพราะเราเป็นอย่างนั้น เราอยู่สภาพอย่างนั้นมา เราถึงสงสารคนปฏิบัติ ไอ้ที่เราตอบปัญหาๆ อยู่นี่ อย่างที่หลวงตาท่านพูด เวลาคนเอาหนังสือไปแจกในวัดท่าน ตอนสมัยที่ยังไม่ออกมาช่วยชาติ ท่านบอก “ไม่ให้แจก เรามั่นใจว่าเราสอนไม่ผิด”
ท่านมั่นใจว่าท่านสอนไม่ผิด แล้วท่านจะบอกว่าหนังสือที่เข้ามาส่วนใหญ่มันผิด แล้วก็จะมาอ้างอิงท่าน แจกโดยผ่านมือท่านน่ะ ท่านจะพูดคำนี้ไง
หลวงตาเวลาท่านพูดอะไรท่านมีความหมายเยอะนะ แต่คนไม่เข้าใจเอง ท่านบอกว่า ตำรับตำราของท่าน ของวัดป่าบ้านตาดที่ท่านแจกอยู่นี่ ท่านแน่ใจว่ามันไม่ผิด มันถูกต้อง มันไม่ผิด ความหมายมันคือว่าหนังสือเล่มอื่นผิด แต่ท่านไม่พูดตรงๆ
ท่านบอกว่าหนังสือของท่าน สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ที่ท่านพิมพ์แจก หนังสือของท่านแน่นอน ถูกต้อง “เรามั่นใจว่าเราสอนไม่ผิด” แล้วคนก็จะเอาหนังสือมาให้ท่านแจก ท่านบอกว่าไม่รับแจก หนังสือไม่ให้เข้าบ้านตาด หนังสือนี้ท่านไม่ให้เข้ามาแจก
แล้วพอออกมาโครงการช่วยชาติฯ ท่านไม่มีเวลามาตรวจสอบหนังสือแล้ว ไอ้พวกที่ทำๆ มาก็อ้างว่าหลวงตาตรวจแล้วๆ
ไม่ได้ตรวจ มันอ้าง ไม่ได้ตรวจ มันเลยผิด ผิดตรงไหน ผิดตรงวิธีการ ใครชอบอะไรก็จับยัดเข้าไปว่าหลวงตารับประกัน ใครชอบอะไรก็จับยัดเข้าไปในหนังสือนั้น
นี่ไง มันโดนมาเยอะ มันโดนมาเยอะมันก็เลยเห็นใจ เลยพูดอยู่นี่ ถ้าอย่างนั้นไม่พูดนะ ถ้ามันมีใครพูดได้ เราไม่พูด ถ้ามีใครสอนได้นะ กูจะกลับไปนอน แต่มันไม่มี มันถึงพูดอยู่นี่ เพราะอะไร เพราะเราโดนหลอกมาเยอะ เราโดนหลอกมาเยอะ เราโดนหลอกมาเยอะ มันเลยฝังใจ เพราะคนมันเคยโดนหลอกมันถึงรู้ว่าใครหลอก
“หลวงพ่ออย่าว่าผมสิ ผมโกรธไปแล้วทีหนึ่งนะ หลวงพ่ออย่าทำให้ผมโกรธอีกสิ”
นี่พูดถึงก็เอ็งโกรธไง กูก็เลยพูดอย่างนี้ไง ทีนี้บอกว่ามันก็เลยเป็นอย่างนี้ ฉะนั้น ไอ้ปัญหานี้จบแล้ว จบ ถ้าเป็นปัญหาธรรมะมา เราตอบทั้งนั้นน่ะ แต่ที่ว่าที่มันผ่านไป มันผ่านไปแล้ว
ฉะนั้น ที่ว่าเริ่มต้นตั้งแต่เขียนให้ชัดๆ ครั้งแรกที่ว่าหลวงพ่อบอกเอง หลวงพ่อบอกว่ามันปล่อยแล้วไม่ให้มันปล่อย
เวลาพิจารณาแล้วมันปล่อยใช่ไหม คือมันปล่อย ทุกคนเวลาจิตสงบแล้วพิจารณากาย พิจารณากายจบแล้วก็คิดว่าจบไง มันไม่จบหรอก ดูสิ เวลาหลวงตาท่านปฏิบัติ ท่านพิจารณาอสุภะ อสุภะจนหายไปหมดเลย แต่ท่านบอกว่าไม่มีเหตุไม่มีผล ไม่เอา
ไม่มีเหตุไม่มีผล เพราะพิจารณาไป ไอ้ผู้ทำลาย เวลาสติปัญญาทันมันแล้ว มันหลบหลีก คือมันซุกตัวอยู่ มันไม่ให้เห็นตัวมันเลย พอไม่เห็นตัวมัน เราคิดว่ามันไม่มีไง
เวลาคนปฏิบัติไปบอกว่า พิจารณาแล้วมันไม่มี มันว่างหมด มันไม่มี
ผู้ทำลายมันฉลาด มันแฝงตัว กิเลสมันบังเงา มันหลบหลีกไง ถ้าหลบหลีกแล้ว ท่านถึงตั้งสุภะขึ้นมา ธรรมดาเราต้องพิจารณาอสุภะใช่ไหม หลวงตาเวลาท่านพิจารณาอสุภะ ท่านพิจารณาสุภะด้วย
พิจารณาอสุภะจนมันว่างหมดเลย พอมันว่างหมด ท่านบอกว่ารับไม่ได้ เพราะไม่มีขณะจิต
เวลาเราไปส่งของ เวลาเขาทำธุรกิจไปส่งของ ไม่มีผู้รับ เรากล้าให้เขาไหม เราวางไว้ เขาก็ลักหมด เขาก็ขโมยหมดน่ะสิ เราจะส่งของไปใช่ไหม ก็ต้องมีผู้เซ็นรับใช่ไหม เซ็นรับของฉัน ฉันได้ส่งแล้ว เอาใบรับสินค้านั้นมา
นี่ก็เหมือนกัน พิจารณาอสุภะ พิจารณาแล้วมันหายไปเลย ไม่มีผู้รับรู้ ไม่มีผู้รับของ แล้วของฉันอุตส่าห์สร้างมา อุตส่าห์พิจารณาอสุภะมาเต็มที่เลย แล้วก็มาทิ้งไว้อย่างนี้ แล้วฉันก็กลับ แล้วฉันจะได้อะไรล่ะ
ท่านบอกไม่มีขณะจิต ไม่มีใบรับของ ไม่มีคนเซ็นรับ ไม่มีคนเซ็นรับ ท่านก็เลยตั้งสุภะขึ้นมา ตั้งสุภะขึ้นมา
ธรรมดาเราต้องพิจารณาอสุภะ พิจารณาจนมันไม่มีแล้ว ท่านตั้งสุภะขึ้นมา พอตั้งสุภะ ท่านพิจารณาซ้ำๆๆ ซ้ำขึ้นมา ซ้ำจนไอ้ผู้รับมันแสดงตัว พอแสดงตัวขึ้นมา “ก็ไหนว่าไม่มีไง ไหนว่าไม่มี” ท่านพิจารณาซ้ำๆ ๓ วัน มันเริ่มแสดงตัว ยอมแล้วๆ...ไหน ไหน ยอมแล้ว
นี่ก็เหมือนกัน เราพิจารณาแล้วปล่อย พิจารณาแล้วปล่อย
แล้วมันปล่อยอะไรล่ะ ก็เลยไม่ให้ปล่อยบ้างไง
เวลาคนพิจารณา พิจารณาขันธ์ ๕ พิจารณารูป พิจารณาเวทนา พิจารณาสังขาร พิจารณาจบแล้ววางหมดเลย วางหมดเลย
เราบอกว่า จับมันพิจารณา ในรูปมีขันธ์ ๕ ในเวทนามีขันธ์ ๕ ในสัญญามีขันธ์ ๕ ขันธ์ในขันธ์ ถ้ามันพิจารณาถึงที่สุด มันเห็นโทษนะ มันขาด ถ้าขาด สังโยชน์ต้องขาด ถ้าไม่ขาด ไม่ขาดต้องมีอุบายพิจารณาแยกแยะ พิจารณาอนุโลมปฏิโลม พิจารณาย้อนกลับ พิจารณามันไป ถ้าไปไม่ได้ พิจารณาสวนกลับมา พิจารณาแยกแยะ นี่ขั้นของปัญญาไง
ขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขต แล้วถ้ามันจะจบ มันมีผู้รับของ มีผู้วางบิล มีผู้จ่ายตังค์ มันมียถาภูตัง กิเลสมันขาด มันเกิดญาณทัสสนะ รู้ว่ากิเลสขาด มันเห็นกิเลสตาย มันมีการพลิกศพกิเลส มันมีการชันสูตรพลิกศพ มีทุกอย่างพร้อม แล้วเป็นอย่างไรล่ะ
คนเป็นเขารู้กัน คนเป็นเขารู้ ไอ้พวกไม่เป็นก็โม้กันไป
เราโดนหลอกมาเยอะ โดนหลอกมาเยอะจริงๆ คนนู้นก็หลอกอย่างหนึ่ง คนนี้ก็หลอกอย่างหนึ่ง ตอนบวชใหม่ๆ โดนหลอกมาเยอะ พอโดนหลอกมาเยอะ เราไม่ใช่จะไปแก้แค้นใครนะ เราสอนทุกวัน เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เราไม่จองเวรจองกรรมใครหรอก แต่เรารู้ว่าที่สังคมมันหลอก มันหลอกกันอย่างไร
แล้วไอ้คนที่ไปปฏิบัติโดนหลอกทั้งนั้นน่ะ ไม่ต้องบอกให้คนปฏิบัติมาคุยให้เราฟังหรอก อาจารย์มึง กูก็รู้ว่ามันหลอกอยู่แล้ว กูจะล่อกับอาจารย์มึง ไม่ใช่ล่อกับพวกมึง ไอ้พวกที่ไปปฏิบัติมาน่ะ ดีอย่างนู้น ดีอย่างนี้
เอ็งไม่ต้องพูดหรอก เหยื่อ ไม่ต้องมาพูด ไอ้แพลงตอน มึงไปให้ปลากิน ไม่ต้องมาคุยกับกู ไร้สาระ ไอ้พวกแพลงตอนน่ะ กูจะคุยกับอาจารย์มึง กูจะคุยกับต้นขั้วนู่น ไอ้พวกแพลงตอนไม่ต้องมาพูด ไร้สาระ นี่ไง เวลาคุยกันน่ะ
นี่พูดถึงว่า ทำไมหลวงพ่อต้องโกรธ
ไม่ได้โกรธหรอก เพียงแต่ว่าในสังคมมันก็หลอกกันอยู่แล้ว เราก็ไม่ควรเป็นอย่างนั้น
ฉะนั้น ไอ้ที่ว่าปล่อยๆ มันดีขึ้น พอมันดีขึ้น มันพิจารณาแล้ว เขาว่าหลวงพ่อบอกว่าไม่ให้ปล่อย
ถ้าปล่อย เริ่มต้นพิจารณา คนที่มันแบกรับของหนักมามันต้องพิจารณาเพื่อให้ปลดวางลง ถ้าปลดปล่อยน่ะมันถูกแล้ว ถูกแล้ว พอพิจารณาไป กิเลสผู้ทำลายมันก็เอาอาการปล่อยนั้นมาเป็นที่อยู่อาศัยที่หลบเลี่ยง แล้วเราก็ต้องพลิกแพลงกลับมา ถ้าพลิกแพลงกลับมา ให้มันจริงจังขึ้นมา ให้มันเป็นวิปัสสนา ให้มันเป็นปัญญารู้แจ้ง รู้แจ้งที่ไหน รู้แจ้งในใจเรานี่ไง รู้แจ้งในความสงสัยนี่ไง รู้แจ้งในความมืดมนนี่ไง
มืดมนอนธการ มืดมนสงสัยอยู่นี่ ให้มันรู้แจ้ง รู้แจ้งด้วยการวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนา เดี๋ยวมันจะเห็นผู้รับ ผู้ทำลาย
ฉะนั้นเขาบอกว่า พอหลวงพ่อพูดอย่างนั้นแล้วมันก็ดีขึ้น พิจารณาจนผมเกิดใหม่
เกิดใหม่ แต่กิเลสมันยังไม่ขาด เกิดใหม่เกิดเก่าไม่สำคัญ สำคัญว่าสังโยชน์มันขาดไป รู้ขณะจิตนั้นน่ะสำคัญกว่า ถ้าเกิดใหม่แล้วก็ดีแล้ว เป็นคนดีขึ้นมา
เพราะเราปฏิบัติแล้ว แล้วตอนนี้ก็กลับมาถามต่อเนื่อง อันนี้ของเก่าใช่ไหม ในปัจจุบันนี้ พอเข้าไปที่เนื้อ ที่เอ็น ที่กระดูกแล้วมันเกิดอาการ มันเกิดอาการที่ว่าเมื่อก่อนไม่มีอาการแบบนี้เลย เดี๋ยวนี้เกิดอาการเครียด เกิดอาการต่างๆ
ถ้าผู้สร้าง ผู้ทำลาย มันยังไม่ได้จบไป กิเลสมันยังไม่จบไป ถ้ามันจบไปแล้วมันจะเกิดอาการอย่างนี้ได้อย่างไร เกิดอาการเครียดนี่
หนึ่ง ถ้ากายมันขาดไปแล้วมันก็คือจบ ถ้ากายมันไม่ขาด มันยังมีอยู่ ถ้ามีอยู่ พอกิเลสมันรู้ตัวแล้ว ทีนี้พอจะพิจารณา มันรังเกียจ มันเจอความน่ารังเกียจ เจออะไร
เจอความน่ารังเกียจ นี่อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค ต้องพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ จนกว่าหัวใจเรามันจะสมดุล สมดุลคือมัชฌิมาปฏิปทา
มันทางไปส่วนใดส่วนหนึ่ง เห็นไหม อัตตกิลมถานุโยคคือความลำบากเปล่า กามสุขัลลิกานุโยคคือความสุขความสงบ ทำทีไรดีทุกทีเลย ทำทีไรได้พวงมาลัยเต็มคอเลย เหมือนนักร้องเลย เขาให้พวงมาลัยเต็มคอทุกเที่ยว นี่กามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค ทำแล้วลำบากลำบน มันไม่สมดุลของมัน ถ้าพิจารณาจนสมดุล มัชฌิมาปฏิปทา นั่นล่ะมันจะสมดุล พอมัชฌิมาปฏิปทามันจะเกิดมรรคสามัคคี
ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล
เราจะบอกว่า ก่อนหน้านั้นเวลามันปล่อย ก็ถามหลวงพ่อ หลวงพ่อไม่ให้ปล่อย มันก็ดีขึ้น ตอนนี้พิจารณาไปแล้วมันเกิดความเครียด เกิดความน่ารังเกียจ เกิดความขยะแขยง
พิจารณาไป พิจารณาซ้ำไปอีก ก็พิจารณาซ้ำของเราไป พิจารณาซ้ำของเราไป วางใจให้สมดุล ถ้ามันจะรังเกียจ รังเกียจอะไร ถ้าปัญญามันแยกแยะไปแล้วมันจะรู้ ถ้ามันเครียด มันเครียดเพราะเราวางอารมณ์เราไม่ถูก เราวางของเราไม่สมดุล นี่ไง เวลาใช้ปัญญา ปัญญาไม่มีขอบเขต
ขั้นของสมาธิ ความสงบของใจ มันมีขอบเขตของมัน ขอบเขตคือหาทุน ทุนก็คือทุน ทุนนี้ก็เป็นผลประโยชน์อันหนึ่ง แต่เวลาเราใช้ปัญญาขึ้นไป มันต้องอาศัยทุนนี้เป็นพื้นฐาน ถ้าไม่มีสมาธิ พิจารณาอะไรไม่ได้
ถ้ามีสมาธิดีเกินไป พิจารณาไป มันก็ไม่ไปเหมือนกัน เราเคยเป็น หลวงปู่เจี๊ยะบอก “ไอ้หงบ สมาธิมึงดีเกินไป”
คำว่า “สมาธิดีเกินไป” เคยได้ยินไหม มีแต่สมาธิไม่พอ
สมาธิดีเกินไป มันใส กายนี้ใสหมด พิจารณาอย่างไรมันไม่เป็นไปเลย ใสอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่ถ้าสมาธิไม่ดี มึงเห็นกายไม่ได้ ถ้าสมาธิดีเกินไปนะ มันไม่สมดุล
เราเป็นมาหมดแล้ว เป็นมาที่ไหน เป็นมาเพราะอาจารย์เอาปฏักฟันหัวเอานี่ โดนปฏักมาเยอะ แล้วพอทำไปๆ มันถึงรู้ไง รู้ว่าถ้าไม่พอ มันเป็นอย่างไร สมาธิไม่พอ จิตมันเป็นอย่างไร สมาธิมากเกินไป จิตเป็นอย่างไร แล้วสมาธิสมดุล จิตมันเป็นอย่างไร แล้วพิจารณาโดยปัญญาไปแล้วมันเป็นอย่างไร
ซ้ำเข้าไป ทำไป มันจะเป็นประโยชน์กับเราไง ถ้าซ้ำอย่างนี้ ทำอย่างนี้ต่อเนื่องไป ทำต่อเนื่องไป ทำต่อเนื่องไป ไม่ต้องเสียใจ
แหม! โกรธจนไม่เขียนมาถามหลวงพ่ออีกแล้ว หลวงพ่อว่าเอาเต็มที่เลย
ว่ากระดาษ ไม่ได้ว่าคนหรอก เพราะเขียนมาเป็นกระดาษ เห็นไหม ก็ว่ากระดาษ กระดาษมันไม่เจ็บหรอก กระดาษมันไม่รู้ตัว กระดาษมันไม่มีชีวิต
แต่ธรรมะสิ คุณงามความดีของเราสิ ถ้าเป็นประโยชน์มันคือประโยชน์ น้ำเข้ากับน้ำ น้ำมันเข้ากับน้ำมัน บัณฑิตเข้ากับบัณฑิต คนพาลเข้ากับคนพาล ถ้ามันเป็นความจริง ความจริงมันจะเข้ากัน มันเพื่อประโยชน์ต่อกันไง ทำให้เป็นจริงขึ้นมา ให้มันเป็นจริงขึ้นมา เป็นจริงขึ้นมาจะเป็นสมบัติของเรา ถ้าเป็นสมบัติของเรานะ
ตอบอย่างนี้ สิ่งที่เขียนมาเขียนมานี่โดยละเอียดเลยนะ มีครั้งที่ ๑ ที่ถามครั้งก่อน ให้ปล่อย แล้วหลวงพ่อไม่ให้ปล่อย แล้วทำแล้วมันดีขึ้น แล้วตอนนี้มันเห็นกายแล้วมันเกิดความรังเกียจ มันเกิดการขยะแขยง มันเกิดอะไร
ตั้งใจให้ดี ตั้งสติให้ดี ทำของเราไปเรื่อยๆ แล้วพอมันสมดุล มันก็จะเป็นความดีของเรา ถ้าเป็นความดีของเรานะ มัชฌิมาปฏิปทา ความสมดุลของมันเกิดขึ้น มันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติของเรา
ฉะนั้น เวลาปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ท่านสละทั้งชีวิต ชีวิตก็มาทุกข์ยากอย่างนี้ มันลำบากอย่างนี้ แล้วกิเลสของคน กิเลสของคนหนา กิเลสของคนปานกลาง กิเลสของคนละเอียดอ่อน ก็กิเลสเหมือนกัน กิเลสของคนหยาบละเอียดแตกต่างกัน ความสมดุลของคนหยาบละเอียดแตกต่างกัน ไม่ต้องไปดูใคร เอาหัวใจเรา เอาหัวใจเรา เอาการปฏิบัติของเรา
มันเป็นสมาธิได้ มันปล่อยวางได้ เกิดปัญญาได้ มันชำระล้างได้ เราดูตรงนี้ เอาผลประโยชน์ตรงนี้ จะทุกข์จะยาก แต่ต้องสมดุลอย่างนี้ สมดุลคือมันสำรอกได้จริง คายได้จริง
อย่างที่ถามว่า มันเกิดเหมือนกับมีลิ่ม ถอนลิ่มทีละอันสองอัน
พิจารณาซ้ำๆๆ มันก็ใช้ได้ เรามีมาก บางคนมีลิ่มเดียว เรามี ๑๐ ลิ่ม เราต้องถอนถึง ๑๐ หน บางคนเขาถอนหนเดียว มันก็ต้องถอน เพราะกรรมของคนไม่เหมือนกัน จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน กรรมของคนไม่เหมือนกัน ทำเอาความจริงของเรา
ฟังคนอื่นไว้เป็นคติ เป็นคติธรรม เป็นแนวทาง แต่จริงๆ แล้วเราต้องทำของเรา เราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา ถ้าทำแล้วมันจะรู้แจ้งกลางหัวใจของเรา เอวัง