จิตเป็นได้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “จิตออกจากร่างบ่อยขณะหลับ”
บางคืนนอนหลับไปรู้สึกเหมือนมีพลังงานบางอย่างมากดทับหรือบังคับเรา เหมือนผีอำนะคะ บางทีก็บังคับให้ร่างเราหมุนตามเข็มนาฬิกา จนเราแยกออกจากร่าง แล้วก็รู้สึกว่าเราจะต้องไปแล้ว ต้องทิ้งร่างแล้ว แต่ก็มีเสียงบอกให้เราสวดมนต์ สวดคาถาหลวงปู่ทวดอยู่ตลอด พอสวดเสร็จแล้วอำนาจที่เขาบังคับเราก็คลายออก แล้วเราก็ตื่นนะคะ เป็นแบบนี้บ่อยๆ เหมือนกับว่าเราจะต้องไปๆ ประมาณนี้ค่ะ ปฏิบัติสวดมนต์แผ่เมตตาทุกวันๆ ภาวนาพุทโธๆ ค่ะ แต่ยังไม่ได้เรื่องอะไร ก็พยายามอยู่ค่ะ
ตอบ : นี่พูดถึงว่าถามมาแค่นี้ พอถามมาแค่นี้ใช่ไหม เวลาเราปฏิบัติ แนวทางปฏิบัติมันต้องมีหลายแนวทาง พระเราเวลาบวชแล้ว เวลาธุดงค์ไป พระต้องมีนิสัย ต้องขอนิสัย พระถ้าพ้น ๕ พรรษาคือบรรลุนิติภาวะ ต้องเป็นผู้ฉลาดคือท่องปาฏิโมกข์ได้ ถ้าท่องปาฏิโมกข์ได้เหมือนนักกฎหมาย จบนิติศาสตร์ต้องรู้กฎหมาย ท่องปาฏิโมกข์ได้ ปาฏิโมกข์คือรัฐธรรมนูญของพระ ถ้า ๕ พรรษาท่องปาฏิโมกข์ได้นี่พ้นจากนิสัย เป็นผู้ที่ฉลาด
แต่ผู้ที่ไม่ฉลาด ไม่รู้ถึงกฎหมาย คือไม่รู้ถึงธรรมวินัยก็ทำผิดพลาดได้ พอทำผิดพลาดได้ มันจะเป็นอาบัติได้ ฉะนั้น เวลาไปไหนต้องขอนิสัย ฉะนั้น เวลาไปขอนิสัย ไปที่ไหน ไปเจอพระที่เป็นครูบาอาจารย์ ให้ดูกัน ๗ วัน ถ้าดู ๗ วัน ยอมรับกันได้ ให้ขอนิสัย ถ้าไม่ขอนิสัยก็ต้องเก็บของออกจากนั้นไป ภิกษุไปอยู่ที่ไหน ถ้าดูกัน ๗ วัน ราตรีวันที่ ๘ นั้นเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ต้องขอนิสัยๆ
คำว่า “ขอนิสัย” การประพฤติปฏิบัติมันมีแตกต่างหลากหลาย ความแตกต่างหลากหลายแล้ว เวลาพระเราจะแสวงหาครูบาอาจารย์ ถ้ายังไม่ลงใจกัน ท่านให้เก็บของไป คืออย่าอยู่ด้วยกัน
เราเอาอย่างนี้มาเปรียบเทียบให้เห็นถึงจริตนิสัย ถ้าจริตนิสัยของคนมันมีเข้มข้น มันมีปานกลาง มันมีอ่อนแอ เวลาจิตอ่อนแอ แล้วสังคมเรามันอ่อนแอเพราะอะไร เพราะดูสิ รากหญ้า สังคมคนทุกข์คนจน ๘๐ เปอร์เซ็นต์ คนชั้นกลาง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ไอ้คนชั้นส่วนยอดมันมีไม่กี่เปอร์เซ็นต์หรอก
นี่ก็เหมือนกัน คนที่ประพฤติปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วได้จริง ผู้ที่ขิปปาภิญญาปฏิบัติง่ายรู้ง่ายมันจะมีสักกี่คน แต่ไอ้พวกเวไนยสัตว์ ชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางเราปฏิบัติยังต้องถูต้องไถ แล้วชนชั้นรากหญ้า รากหญ้ามีศรัทธาความเชื่อในศาสนาก็บุญแล้ว
มีบุญหมายความว่าอย่างไร
คำว่า “มีศรัทธา” จิตใจมันมีที่พึ่งนะ คนไม่มีศรัทธาเหมือนกับคนเร่ร่อน คนไม่มีบ้าน ดูคนไร้บ้านมันนอนอยู่ข้างทางเพราะอะไร เพราะมันไร้บ้าน มันไม่มีที่พึ่งอาศัย คนที่มีบ้านพัก มีที่ซุกหัวนอน ก็ยังเป็นคนดี
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีศรัทธาความเชื่อ จิตใจเราไม่เร่ร่อน เพราะเรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง แต่ถ้าเราไม่มีศรัทธาความเชื่อเลยนะ ตอนนี้วัยรุ่นเขากำลังเห่อเป็นผู้ที่ไม่นับถือศาสนาใดๆ เลย
ไม่นับถือศาสนาใดๆ เลย จิตใจก็เร่ร่อน นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดี แต่ศาสนาที่สอนให้พ้นทุกข์มันมีแต่ศาสนาพุทธนี้เท่านั้น ศาสนาพุทธไม่ให้เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ให้เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น ให้ประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงไง
ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม จะไม่มีใครมามอบให้ ไม่มีใครมามอบคุณงามความดีให้ ไม่มีใครจะมาคอยโอบอุ้ม ไม่มีใครจะยกขึ้นสู่ความดีงามอันนั้นได้ เว้นไว้แต่การประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงของเรา ถ้าเราประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงของเรา
พระพุทธศาสนาเท่านั้นสอนให้พ้นจากทุกข์ ถ้าพระพุทธศาสนาสอนให้พ้นจากทุกข์ ศาสนาอื่นๆ สอนทำคุณงามความดี คุณงามความดีก็ให้ผลเป็นความดีไง คุณงามความดีก็ไปเกิดบนสวรรค์ไง คุณงามความดีก็เป็นผลของวัฏฏะไง มันเป็นผลของวัฏฏะ มันไม่ใช่ผลของวิวัฏฏะ มันออกจากวัฏฏะนี้ไม่ได้
จิตนี้เวียนว่ายตายเกิด มันมีพลังงาน มันมีกิเลส มันมีความไม่รู้ในใจ มันต้องขับเคลื่อนไปแน่นอน แล้วความรู้สึกนี้มันทำลายไม่ได้ ความรู้สึกนี้ใครจะทำลายมันให้หมดสิ้นไปไม่ได้ มันจะหมดสิ้นไปได้ด้วยมรรคด้วยผล มรรคผลมันจะสำรอกมันคายของมันออก มันเป็นธรรมธาตุ พอมันพ้นจากแรงดึงดูด พ้นจากต่างๆ ไปมันก็เป็นธรรมธาตุ มันเป็นความจริงอันนั้น
ถ้าพูดถึงว่า เวลาประพฤติปฏิบัติ พระพุทธศาสนาเท่านั้นสอนให้พ้นจากทุกข์ ถ้าศาสนาอย่างอื่นสอนให้ทำคุณงามความดี ทุกศาสนาสอนให้คนดี ใช่ แต่ความดี ความดีก็เพื่อความดีไง ความดีก็เพื่อวัฏฏะไง ความดีก็เพื่อความหมุนเวียนไปไง แต่พระพุทธศาสนาสอนให้พ้นจากทุกข์ เห็นไหม
ฉะนั้น คนเราเวลาปฏิบัติมันจะเข้าถึงปัญหา เพราะปัญหาบอกว่า “เวลานอนหลับไปแล้วรู้สึกว่ามีพลังงานบางอย่างมากดทับ แล้วบังคับเราเหมือนผีอำ”
มันเป็นอย่างนั้นน่ะ มันเป็นอย่างนั้น เวลามันเป็นอย่างนั้น เวลาจิตใจอ่อนแอไง จิตใจอ่อนแอ จิตใจที่ไม่มีหลักมีเกณฑ์ยอมจำนนกับเขา ดูสิ เวลาเขาขอ เขาบอกว่า ไปขอขันธ์ ๕ ขอทรงเจ้าเข้าผี เวลาไปขอความช่วยเหลือจากผี
พระพุทธศาสนาไม่สอนอย่างนั้น พระพุทธศาสนาสอนถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระธรรม สัจธรรม
สัจธรรมทางโลก วิทยาศาสตร์นี่สัจธรรมทางโลก
สัจธรรมทางธรรมนี่พุทธศาสน์ พระพุทธศาสนาเข้ามาถึงในหัวใจ ถ้าไม่มีมรรคไม่มีผล ไม่มีการกระทำ ผลเกิดขึ้นมาไม่ได้ แล้วถ้ามีมรรคมีผล มีอย่างไร มันเป็นความจริงไง ถ้าเป็นความจริง
สิ่งที่ว่าถือผีถือสางเป็นแบบนั้น แล้วเวลาถือผีถือสางนะ ครูบาอาจารย์ของเรา ไอ้ผีตัวร้ายคือจิตวิญญาณของเรานี่แหละ เพราะอะไร เพราะถ้าจิตออกจากร่างไปมันก็เป็นแบบนั้นน่ะ ฉะนั้น มันเป็นแบบนั้นแล้ว ถ้าเราเข้าใจอย่างนั้นแล้ว ไอ้ผีเรือน ตัวเราเป็นผีเรือน
ไอ้นั่นมันผีป่า ผีป่า เพราะจิตวิญญาณมี เราไม่ปฏิเสธเรื่องจิตวิญญาณ ความรู้สึกนี้มี แต่ความรู้สึก ความรู้สึกใดก็เป็นความรู้สึกเขา
ความรู้สึกเรา เรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เรามีที่พึ่ง เราไม่ใช่คนเร่ร่อน เรามีบ้านมีเรือน แล้วมีบ้านมีเรือนแล้วทำไมต้องให้คนเข้ามากดทับล่ะ ถ้าเราตั้งใจของเรา เรามีสติ เราตั้งใจของเรา ไอ้สิ่งที่ว่าผีมากดทับ ผีอำนี่หมด
เพราะเราอยู่กับครูบาอาจารย์นะ เวลาไปอยู่ในป่าในเขา หลวงปู่เจี๊ยะท่านอยู่ที่วัดเขาแก้ว แล้วเขาจะสร้างราชภัฏรําไพพรรณี ตอนนั้นสมเด็จพระรำไพพรรณีอยู่ที่นั่น แล้วเขากำลังจะสร้างวิทยาลัย แล้วพอรถแทรกเตอร์เข้าไป มันมีหินก้อนใหญ่อยู่ เขาจะปรับพื้นที่ รถแทรกเตอร์เข้าไปนี่ดับหมด จะสิ่งใดก็ขนเอาก้อนหินนั้น ทำตรงนั้นไม่ได้
ฉะนั้น สมเด็จรำไพพรรณีท่านศรัทธาหลวงปู่เจี๊ยะ ท่านก็มาปรึกษาหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะท่านไปเลย ท่านไปนะ ท่านเอาค้อน เอาขวาน เอานั่นไป ไปถึงท่านก็ทุบของท่านเองเลย ทุบหินก้อนนั้นน่ะ ก่อนจะทุบบอกว่า “ไป เราไปอยู่วัดกันนะ” ตรงนั้นมันเป็น เขาเรียกรุกขเทพ “เราไปอยู่วัดกันนะ ที่นี่เขาจะสร้างความเจริญ เขาจะสร้างความเจริญ เขาจะสร้าง”
ตอนนั้นเป็นวิทยาลัยครู แต่ตอนนี้เป็นราชภัฏ ราชภัฏรําไพพรรณีที่จันทบุรีนั่นน่ะ แล้ววัดเขาแก้วมันอยู่ติดที่นั่นน่ะ ท่านก็ไปทุบ พอทุบเสร็จแล้ว ท่านทุบพอเป็นพิธี เสร็จแล้วก็ให้แทรกเตอร์เข้าไถ แทรกเตอร์มันก็เข้าไถปรับพื้นที่จนเป็นวิทยาลัยมาจนปัจจุบันนี้
ท่านบอกว่า เสร็จแล้วท่านก็กลับ ตอนนั้นท่านอยู่ที่วัดเขาแก้ว ท่านพักอยู่ในโบสถ์ พอท่านมาพักปั๊บ ท่านจะนอนพักไง เห็นเป็นรุกขเทพ เห็นเป็นเทวดาเข้ามากดทับท่านเลย เข้ามากดทับเลย เหมือนเรานอนอยู่นี่ เหมือนคนเข้ามากดทับเลย
ท่าน “พุทโธ!” ท่านบอกกระเด็นออกไปเลย นี่ไง พุทโธ กระเด็นออกไปเลย แล้วจนสำเร็จมาจนเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏรําไพพรรณีอยู่ที่เมืองจันท์
แต่ก่อนหน้านั้น ตอนก่อนสร้าง เพราะตอนนั้นสมเด็จรำไพพรรณีท่านอยู่ที่นั่น ท่านซื้อที่ตรงนั้น แล้วท่านสร้างตรงนั้นให้เป็นมหาวิทยาลัยขึ้นมา แต่พอทำขึ้นไป มันมี
เราถึงบอกว่าเราไม่ได้ปฏิเสธเรื่องจิตวิญญาณ เราไม่เคยปฏิเสธว่าสิ่งนั้นมี แต่สิ่งนั้นก็เป็นของเขา ในเมื่อคนเราสร้างเวรสร้างกรรมมา ของใครก็ของเขา แต่เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติ นี่มันเรื่องของเรา
เราจะบอกว่า จิตนี้มันเป็นได้หลากหลาย จิตนี้สำคัญมาก แต่จิตที่อ่อนแอ จิตที่ไม่มีกำลังมันจะเป็นสภาวะแบบนั้น แล้วในสังคมปัจจุบันนี้เข้าทรง ทรงผี เข้าเจ้าทรงผี นี่มันเรื่องการประทับทรง มันเรื่องของจิตวิญญาณมันทับซ้อน ถ้าทับซ้อน เพราะจิตคนอ่อนแอมันถึงได้ทับซ้อนได้ แล้วพอทับซ้อนได้ คนเราก็ไปยอมรับจำนน พวกนี้พวกขาดจากไตรสรณคมน์
ถ้าเป็นชาวพุทธ เรามีศรัทธาความเชื่อในพระพุทธศาสนา เรามั่นคงของเรา เห็นไหม ผีบ้านมันมั่นคง จิตวิญญาณเราเข้มแข็ง มันจะมีอะไรมากดทับ แต่มันไม่กดทับแล้วมันก็แบบว่ามันเจ็บไข้ได้ป่วย มันเป็นได้หลากหลาย มันเป็นทั้งนั้นน่ะ ถ้าจิตเราอ่อนแอ
ถ้าจิตเราเข้มแข็ง เราต่อสู้กับวิกฤติต่างๆ ในชีวิตของเรา ทุกคนเกิดมาต้องมีวิกฤติในชีวิตทั้งนั้นน่ะ มันมีสูงมีต่ำ เราอยู่ตรงนี้มันก็จบ
จิตวิญญาณมันมี ฉะนั้น เวลาเรื่องผีอำๆ เวลาผีอำมันผีอำเด็กๆ จิตอ่อนแอ พวกนี้พวกเด็กๆ มันก็เป็นไปตามโลกไง ดูสิ สมัยที่ว่ากองทัพธรรมๆ ภาคอีสานทั้งภาคเขาถือผี หลวงปู่สิงห์ หลวงปู่มั่นให้หลวงปู่สิงห์เป็นหัวหน้าปราบผีๆ ให้เขาละให้เขาละวางที่เขาเชื่อถือ แล้วให้เขามาถือไตรสรณคมน์ แล้วให้เขาขอศีล แล้วให้เขาทำมาหากินของเขาด้วยความสะดวกสบายของเขา นี่ฟื้นฟูมาทางภาคอีสานทั้งภาคเลย
ในปัจจุบันนี้ครูบาอาจารย์ไม่เข้มแข็งมันก็แถกันอีกแล้ว เพราะอะไร เพราะความรู้สึกนึกคิด สังคมไง ถ้าสังคมที่มันรักกันสามัคคี สังคมก็สูงส่ง สังคมไหนอ่อนแอ สังคมแตกแยก สังคมไม่ค่อยดูแลกัน มันก็เป็นอย่างนั้น มันเป็นคราวๆ นี่พูดถึงปัญหาสังคม
แล้วก็ย้อนกลับมา กลับมาถึงคำถามไง “เวลานอนกลางคืนมันเหมือนมีพลังงานบางอย่างมากดทับ แล้วบังคับเรา เหมือนผีอำ บางทีก็บังคับให้ร่างนี้หมุนตามเข็มนาฬิกา จนร่างเราแยกออกจากกายนี้ไป”
มันมี พระเวลาภาวนาแล้วเป็น มาหาเรา เราบอกว่าให้รั้งไว้ ให้กำหนดพุทโธไว้ไม่ให้จิตนี้ออกจากร่าง จิตนี้ให้อยู่ในร่าง
แม้แต่เวลาหลวงตาท่านสอนแม่ชีแก้ว ขณะส่งออก เขาเรียกส่งออก ส่งออกไปรู้ ส่งความรู้สึกเราออกไป ออกไปเห็นนู่นเห็นนี่ ท่านบอกว่า ให้ออกบ้าง ไม่ให้ออกบ้าง ได้ไหม
ไม่ได้
ไม่ได้ก็ไม่ให้ออกเลย ไม่ให้ออกคือให้จิตอยู่กับเราไง ให้จิตมันสงบ จิตมีพลังงานไง ถ้าจิตมีพลังงาน ถ้าจิตเป็นสัมมาสมาธิแล้วยกขึ้นวิปัสสนาไง ถ้าวิปัสสนาไปมันก็เป็นมรรคไง
ถ้าจิตส่งออกๆ ก็ฤๅษีชีไพรไง ฤๅษีชีไพรก็อภิญญาไง อภิญญามันแก้กิเลสไม่ได้ พลังงานมันแก้กิเลสไม่ได้ ปัญญาเท่านั้นแก้กิเลสได้ ปัญญานั้นต้องมีสัมมาสมาธิ นี่ไง ถ้ามันเข้มแข็งมันต้องเข้มแข็งอย่างนี้
แต่ถ้ามันเป็นอย่างที่เราเป็น ถ้าคนเป็น เป็นก็มีสติ คนเป็นนี่จริตนิสัย คืออำนาจวาสนา ถ้าอำนาจวาสนาเรามีเวรมีกรรมมาอย่างนั้น เวลาจิตมันจะเป็นอะไรไป เราตั้งสติไว้
เรายกหลวงปู่เจี๊ยะขึ้นมาให้เห็นชัดๆ เลย พุทโธนี่กระเด็นออกไปเลย ถ้าเรามั่นคงไง เรามั่นคง แล้วเวลาครูบาอาจารย์ท่านเที่ยวอยู่ในป่าในเขาท่านเจอเรื่องอย่างนี้เยอะแยะ ท่านเจอเรื่องอย่างนี้เยอะแยะเพราะอะไร เพราะในสังคมเราก็มีคนดีคนชั่วใช่ไหม ในสังคมของจิตวิญญาณเขาก็มีคนดีคนชั่วใช่ไหม
ถ้าจิตวิญญาณที่ดีเขาส่งเสริมนะ เห็นพระมา โอ้โฮ! เขาปลื้มใจ หลวงปู่ชอบไปอยู่ที่เพชรบูรณ์ เวลาสวดมนต์นะ นโม ตสฺส ภควโต ท่านก็สวดมนต์ปกติ ทำวัตรเย็น ทำวัตรเช้า ท่านทำวัตรของท่าน แล้วท่านภาวนา เวลาท่านจะย้ายจากที่นั่นไป เทวดามา เทวดามานิมนต์เลย บอกว่า “อยากให้ครูบาอาจารย์อยู่ที่นี่”
“ทำไมล่ะ”
“เพราะเวลาครูบาอาจารย์มาอยู่ที่นี่ เวลาครูบาอาจารย์สวดมนต์ อู้ฮู! มันชื่นบาน มันร่มเย็นไปหมด”
ท่านก็รับฟังไว้ แต่สุดท้ายแล้วท่านก็ต้องธุดงค์ไป ท่านบอกว่า เวลาท่านเล่าให้หลวงตาฟัง หลวงตาก็มาเขียนอยู่ในประวัติน่ะ บอกว่าเราอยู่ในป่าคนเดียวใช่ไหม ในป่ามันสงัดมากนะ เราท่องเบาๆ เราท่องเบาๆ นโม ตสฺส ภควโต ก็เราสวดมนต์คนเดียวไง อู๋ย! เขาได้ยินไปหมดเลย มันกังวานไปทั่ว
เห็นไหม สิ่งนี้มันมี มันมีอยู่ เราไม่ปฏิเสธเรื่องของวัฏฏะ กามภพ รูปภพ อรูปภพ เรื่องจิตวิญญาณไม่ปฏิเสธ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เวลาสัจธรรมๆ สัจจะคือความจริง
นั่นคือความจริงของเขา นี่คือความจริงของเรา แล้วความจริงของเรานี่ความจริงแบบสมมุติ ความจริงแบบวิมุตติ ความจริง ความจริงที่มันมีปัญญาขึ้นมา เราทำตรงนี้ไง ฉะนั้น เราทำตรงนี้
ถ้ามันเป็นอย่างที่ว่ามันจะออกจากร่าง รั้งไว้ได้ มีครูบาอาจารย์ท่านรั้งไว้ ตั้งสติไว้ ตั้งสติไว้ ถ้ามันเคยออก เราจะไม่ออก เราจะไม่ออก เราก็กระชับมากขึ้น เวลาสติเราพร้อม เราไม่ให้ออก ไม่ให้ออก มันทำได้
นี่ก็เหมือนกัน พุทโธ เราตั้งสติไว้ อย่างที่ว่ามันจะมีอะไรมาทำลาย มากดทับอะไร เดี๋ยวมันจะหายไป ถ้าเรามีสติปัญญาแก้พวกนี้ มันจะหายนะ
แต่ถ้าเราคิดว่าสิ่งนี้มันเป็นวิบากของเรา เราต้องยอมรับนะ มันก็จะทุกข์อยู่อย่างนี้ตลอดไป แล้วถ้าภาวนาไปนะ ถ้ามีสิ่งใดที่เข้ามาสอดแทรก เห็นไหม เวลาจิตออกจากร่างไป โอ๋ย! มันเป็นผู้วิเศษ มันจะอะไร
จิตออกจากร่างไปมันจะตายอยู่แล้ว มันจะวิเศษมาจากไหน เวลาเขาจะเอาออก เขาเอากิเลสออก เขาไม่ได้เอาจิตออก กิเลสของเรานี่ ไอ้ความหลงผิดของเรานี่ ไอ้ความเห็นผิด เขาจะเอาอันนี้ออก เขาเอากิเลสตัณหาความทะยานอยากออกจากใจ เขาไม่ได้เอาใจออกจากร่าง มันคนละเรื่อง แต่ความเข้าใจของคน วุฒิภาวะมันอ่อนแอ มันก็คิดของมันไปร้อยแปดนั่นน่ะ
นี้เราค่อยๆ ทำของเรา ทำของเรานะ เราตั้งสติของเรา กำหนดพุทโธของเรา ทำความสงบของใจเราเข้ามา จิตดวงใดก็แล้วแต่ ถ้ามีอุปสรรคนะ เรายังไม่ต้องวิปัสสนา เรายังไม่ต้องทำงาน เราต้องกลับมาฟื้นฟูให้จิตของเราเข้มแข็งก่อน คือทำสมาธิให้สงบก่อน ทำใจเราให้มั่นคงก่อน
ถ้ามันมีอุปสรรคปั๊บ การแก้ไขคือทำความปกติของใจ คือพยายามทำให้ใจของเรากลับมาเป็นปกติ พยายามทำใจของเราไม่ให้แฉลบออกไป การแก้ แก้ตรงนี้
ไม่ใช่ว่าพอเรามีปัญหาปั๊บ เราก็จะแก้เลย ให้เป็นพระอรหันต์ไปเลย มันก็เลยสวมรอยไง เออ! ถ้าไปทางนี้มันก็เป็นทางตกฟากไปฟากหนึ่งใช่ไหม ทางนี้ก็ตกฟากไปอีกฟากหนึ่ง
ฉะนั้น วิธีแก้ ถ้าใครมีอุปสรรค วิธีแก้ กลับมาที่สงบ กลับมาฟื้นฟูตัวเรา กลับมาที่พุทโธ กลับมาที่ใจ แก้ตรงนี้ให้จบ พอจบไปแล้ว ไอ้ที่ว่าหมุน ไอ้ที่บังคับตัวเอง มันจะไม่มี พอไม่มีแล้ว ถ้าจิตสงบแล้วเราค่อยรำพึงน้อมไปที่กาย น้อมไปที่เวทนา น้อมไปที่จิต น้อมไปที่ธรรม นั้นจะยกขึ้นสู่วิปัสสนา
จิตมันเป็นได้หลากหลายทั้งนั้นน่ะ แล้วมันเป็นที่วุฒิภาวะ มันเป็นที่อำนาจวาสนาของคน มันเป็นที่ว่า เรามีครูบาอาจารย์ที่ดีหรือเปล่า ถ้าครูบาอาจารย์ที่ดีท่านมีหลักเกณฑ์ของท่าน ท่านจะพาเราเข้าสู่สัจธรรม ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่ชอบอย่างนี้
ครูบาอาจารย์ที่ท่านก็ติดของท่านอยู่แล้วใช่ไหม ท่านสอนวิธีนี้ แล้วพอเราไปเชื่อฟัง เห็นไหม ดูสิ พระเราไปอยู่ที่ไหนต้องขอนิสัย เราไปเจอครูบาอาจารย์ที่ดีท่านจะกำราบ กำราบกิเลสของเรา เราไม่ชอบ ถ้าไปเจอครูบาอาจารย์ที่ท่านชอบอยู่แล้ว พอเรามาชอบตรงกัน ส่งเสริมกิเลสระหว่างกัน มันก็ชอบ
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราเจอครูบาอาจารย์ที่ดี ครูบาอาจารย์ที่ดีบอกว่า สิ่งที่เป็นมันมีไหม มี มีเฉพาะจิตที่เป็นนะ จิตที่อ่อนแอ จิตที่เขามีกำลังขึ้นมามันเข้ามาไม่ได้ แล้วจิตที่เขาภาวนารู้แล้วเขาเข้าใจหมด
มันแบบว่า จิตเป็นได้หลากหลายนัก เวลาผู้ปฏิบัติใหม่มันก็อย่างนี้ ล้มลุกคลุกคลานมาตั้งแต่ต้น แต่คนมันเป็นไปได้แล้วมันก็จบไป จะว่าจิตนี้มันเป็นไปได้ไหม เป็นไปได้ เป็นไปได้ต้องเป็นอย่างนี้ทุกคน...ไม่ใช่ มันเป็นแต่คนที่ติดหรือไม่ติด ถ้าติดมันก็เป็นแบบนั้นน่ะ ฉะนั้น เราทำของเราเพื่อประโยชน์ของเรา
จิตนี้เป็นได้หลากหลาย แต่เราทำให้มันดีขึ้น ทำให้พัฒนาขึ้น เพราะจิตของเรา จิตเป็นเรา นี่สมบัติของเรา จบ
ถาม : เรื่อง “ปัญหาของผม”
กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมมีปัญหาเรื่องจิตใจอยากจะถามหลวงพ่อ ผมเป็นคนต่างจังหวัดเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ ตั้งแต่ ๑๐ ขวบ เรียนจนจบ กลับบ้าน ค้าขายที่บ้าน มีรายได้มากมาย แต่ผมกลับไม่มีความสุข
ผมมักมีปัญหากระทบกระทั่งกับแม่มาตลอดเป็นระยะเวลา ๑๐ กว่าปี ไม่รู้ว่าเป็นเพราะผมจิตใจไม่ดีหรือเป็นเพราะความห่างเหินในวัยเด็ก ผมกล้ายอมรับว่าบางครั้งผมมีความรู้สึกเกลียดชังแม่มาก ผมได้รู้ได้ฟังธรรมะครูบาอาจารย์มามากมาย รู้มาก แต่ถึงเวลาจริงๆ กลับทำอะไรไม่ได้เลย เวลานั่งสมาธิ จิตฟุ้งเหมือนควันไฟ ทุกข์มาก ผมชอบสวดมนต์ ถ้าช่วงไหนไม่ค่อยได้สวดจะเครียด
ขอความกรุณาหลวงพ่อช่วยอธิบายคำสั่งสอนด้วยครับ
ตอบ : อันนี้พูดถึง “ผมเป็นคนต่างจังหวัดเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ ตั้งแต่ ๑๐ ขวบ เรียนจบ ผมกลับไปค้าขายมีรายได้มากมาย”
นี้แสดงว่าในทางโลกมองว่าประสบความสำเร็จ “แต่ผมมีความทุกข์มาก ผมมีความทุกข์มาก” นี่มันกระทบกระทั่งไง มีความทุกข์มาก มีความทุกข์มากระหว่างเรากับแม่
ถ้าเรื่องพ่อแม่นะ พ่อแม่นี่ผลของกรรม วิบากกรรม ถ้าผลของวิบากกรรมนะ ถ้าพ่อแม่ พ่อแม่นิสัยอย่างใดก็แล้วแต่ พ่อแม่ก็คือพ่อแม่ ทีนี้พ่อแม่อยากให้ลูกได้สมความปรารถนาของแม่ แม่ก็มีทุกข์มากเหมือนกัน เพราะแม่ต้องการอย่างหนึ่ง แต่ลูกไม่ได้อย่างแม่ แม่ก็ทุกข์
นี่เขาบอกว่าเขาทุกข์มากๆ แต่ในทางกลับกัน เราก็กล้าพูดได้ว่าแม่ก็ทุกข์มากเหมือนกัน ถ้าแม่ไม่ทุกข์มาก มันไม่มีการกระทบกันขนาดนี้ แม่ก็ทุกข์นะ เราก็ทุกข์ขนาดนี้ใช่ไหม เราทุกข์มากเพราะอะไร เพราะแม่ของเรา เพราะผมฟังเทศน์ครูบาอาจารย์มามากมาย
เรามั่นใจว่าครูบาอาจารย์องค์ไหนก็แล้วแต่ไม่บอกว่าให้มองแม่ในแง่ลบ ไม่มีครูบาอาจารย์องค์ไหนหรอกที่บอกให้ดูพ่อแม่เราเป็นแง่ลบ ไม่มี ฉะนั้น เวลาฟังเทศน์ขึ้นมา เราฟังเทศน์มามากมายเลยว่า สิ่งนี้พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก มีบุญคุณกับเรา ให้ชีวิตเรามา ชีวิตเรา เขาเป็นเจ้าของชีวิตเราเลยล่ะ เขาเป็นเจ้าของชีวิตเราเลยล่ะ ฉะนั้น แต่เวลาทำสิ่งใดไปแล้วมันมีความขัดแย้ง เราจะมีความทุกข์มาก แล้วมุมกลับกัน ไม่ได้ดั่งใจพ่อแม่ พ่อแม่ก็มีความทุกข์มาก
ฉะนั้น สิ่งที่เวลาหลวงตาท่านสอนนะ ท่านสอนไว้มากเลยบอกว่า แม้แต่พ่อแม่เราผิด คำว่า “พ่อแม่ผิด” คือไม่อยู่ในทำนองคลองธรรม เราก็ไม่ควรจะโต้แย้ง ถึงพ่อแม่เราผิด ผิดเพราะว่าจริตนิสัยเป็นแบบนั้น ถ้าจริตนิสัยเป็นแบบนั้น นั่นคือเวรคือกรรมของท่าน ถ้าเวรกรรมของท่านมันมีความเห็นอย่างนั้น มีความเห็นอย่างนั้นเพราะจริตนิสัยท่านสร้างมาอย่างนั้น ท่านมีทัศนคติแบบนั้น
แต่เราเกิดมาเป็นลูก เราเกิดเป็นลูก เป็นอภิชาตบุตร คำว่า “อภิชาตบุตร” บุตรอยู่ในศีลในธรรมไง บุตรอยู่ในศีลในธรรม บุตรอยู่ในกรอบของคุณงามความดี แต่มันไม่สมเจตนาของท่าน มันก็ขัดแย้ง
คำว่า “อภิชาตบุตร” บุตรดีกว่าพ่อแม่ บุตรดีกว่าพ่อแม่ แต่ดีกว่า ทำไมมันทุกข์ล่ะ ดีกว่า ทำไมมันทุกข์ แล้วพ่อแม่ไม่ได้ดั่งใจ พ่อแม่ก็ทุกข์ ถ้าพ่อแม่ก็ทุกข์นะ
ฉะนั้น เราต้องคิดตรงนี้ไง เราต้องคิดกลับว่า ท่านเป็นพระอรหันต์ของเรา ท่านให้ชีวิตเรามา ชีวิตที่ทุกข์ๆ อยู่นี่แหละ ชีวิตที่เจ็บช้ำอยู่นี่ ชีวิตนี้ก็ได้มาจากท่านนี่ ชีวิตที่เจ็บช้ำนี่ได้มาจากท่าน
ทีนี้ความเจ็บช้ำนี้ เราใช้ธรรมโอสถรักษา ให้ธรรมโอสถรักษา ถ้ารักษาแล้วนะ ถ้าคนมีสติปัญญานะ มันจะคิดได้เลย มันจะคิดได้ ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง ทุกข์ไหม ทุกข์ เป็นสัจจะไหม เป็น แล้วมันเกิดจากอะไรล่ะ เกิดจากอะไร
ในเมื่อพ่อแม่เป็นพระอรหันต์ เห็นไหม เราถึงบอกบ่อยมากว่า เวลาเราไปกราบไหว้ครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านเป็นพระอรหันต์โดยการชำระล้างกิเลส ถ้าการชำระล้างกิเลส ท่านไม่มีกิเลส คือไม่มีมารยา เราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ เราอยู่กับหลวงตามา เราอยู่กับพระอรหันต์มา เราชอบอยู่กับพระอรหันต์
แต่ถ้าไปอยู่กับคนที่มีกิเลสนะ มันมีมารยาสาไถย มีมารยาสาไถย มีเล่ห์มีเหลี่ยม มีชั้นมีเชิง เราไปอยู่กับพระอย่างนั้นนะ เราอยู่ไม่ได้ ถ้าจะอยู่นะ ถ้าเจออย่างนั้นขออยู่คนเดียว ไปอยู่ป่าอยู่เขาของเรา เอาหัวซุกป่าดีกว่า
แต่เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์นะ ท่านจะเอ็ด อยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ อยู่กับหลวงตานี่เอ็ดแน่นอน ท่านจะเอ็ด ท่านจะว่านะ ท่านเอ็ดเพื่อความดี ไม่ใช่เอ็ดเพราะว่าไม่ชอบหน้า ไม่ถูกใจ...ไม่ใช่
ท่านเอ็ดเพื่อประโยชน์ เพื่อคุณงามความดี ถึงท่านจะเอ็ด มันเหมือนกับที่ว่าชี้ขุมทรัพย์ เหมือนกับธรรมโอสถ ถึงท่านจะเอ็ด ท่านจะว่านะ ยิ่งเอ็ด ยิ้มแย้มแจ่มใส คือมันไม่มีมารยาน่ะ ถ้าจะว่าเอ็ดก็เอ็ดแบบบริสุทธิ์ แต่ถ้ามีมารยา เราไม่อยู่ด้วย
นี้คือพระอรหันต์โดยวินัย โดยธรรมวินัย ถ้าพระอรหันต์อย่างนั้นมันก็จะแบบว่าอย่างน้อยเราก็เห็นได้ เราก็พิสูจน์ได้ มันทำให้อบอุ่น
แต่ถ้าพ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก...ใช่ เป็นพระอรหันต์คือให้ชีวิตเรามา ท่านเปรียบเทียบไง ให้เรามา แต่พ่อแม่เป็นมิจฉาทิฏฐิก็เยอะแยะไป ถ้าพ่อแม่เป็นสัมมาทิฏฐิ เราทำคุณงามความดี มันก็เห็นดีเห็นงามตามกันไป ถ้าพ่อแม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ พ่อแม่มีความเห็นผิด
แล้วถ้าเป็นพ่อแม่ พ่อแม่ต้องการอย่างเดียว ต้องการให้ลูกยอมรับ ถ้าให้ลูกยอมรับนะ เราก็เข้าไปเอาน้ำเย็นเข้าลูบ เอาน้ำเย็นเข้าลูบ พูดดีๆ ท่านต้องการสิ่งใด ให้ทุกอย่างๆ พอให้ทุกอย่าง พูดกันดีๆ นะ
พอหันหน้ามาคุยกันนะ ต่างคนต่างร้องไห้ ต่างคนต่างร้องไห้ ไม่มีอะไรหรอก ทิฏฐิจะเอาชนะกัน ต้องการให้ลูกดูแล ไอ้ลูกก็รักแม่ อยากจะดูแล แต่แม่เอาแต่ใจ คือถ้าเราวินิจฉัยด้วยวิทยาศาสตร์ มันไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ไม่คุ้มค่า อยากให้แม่ทำอย่างนั้น แต่แม่ก็รู้ แต่แม่ต้องการให้หันมามองน่ะ
พ่อแม่ไม่ได้มองที่เงินทอง พ่อแม่ไม่ได้มองที่ยศถาบรรดาศักดิ์ พ่อแม่มองที่ว่าลูกรักเราหรือเปล่า นี่มันตรงข้ามเลย ไอ้ลูกก็เสียใจว่าพ่อแม่ไม่รัก ไอ้แม่ก็เสียใจว่าลูกไม่รัก พอคำว่า “ไม่รัก” ปั๊บนะ มันแถออกแล้ว เรื่องที่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นจากตรงนี้ หัวใจก็อยู่ตรงนี้ ตรงที่ต้องการให้ยอมรับ แล้วพอออกไปก็เป็นประเด็น พอเป็นประเด็น เราก็ไปดูที่ประเด็นนั้น
แต่ความจริงก็อยู่แค่นี้ อยู่ที่เราพูดดีๆ แล้วพูดดีๆ ด้วยเหตุด้วยผล บอกเลยว่ารักสุดหัวใจ แต่ทำเพราะเห็นว่ามันเป็นประโยชน์อย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้น แล้วถ้าคุยกันดีๆ ไม่กี่รอบนะ มันก็จะจบ
ถ้าไม่กี่รอบ คือคุยครั้งแรกไม่ยอมหรอก เพราะพอคุยครั้งแรก กูอาบน้ำร้อนก่อนมึง ไม่มีฟังหรอก ไปคุยครั้งแรก กูอาบน้ำร้อนก่อนมึง ทิฏฐิมันยังมีอยู่ไง ทิฏฐิยังตัวอ้วนๆ ไง ก็พูดบ่อยๆ ใช้น้ำเย็นเข้าลูบบ่อยๆ เดี๋ยวน้ำร้อนมันจะกลายเป็นน้ำอุ่น แล้วจะกลายเป็นน้ำเย็น
ค่อยๆ คุยกัน เพราะมันไม่มีพ่อแม่คนไหนไม่รักลูก แล้วก็ไม่มีลูกคนไหนไม่รักพ่อแม่ แต่ด้วยวิบากกรรมมันเป็นอย่างนี้ แล้วเราพยายามทำนะ
เพราะว่าเขาคิดเขาวินิจฉัยว่า หรือว่าเป็นเพราะว่าเขาห่างบ้านมาตั้งแต่อายุ ๑๐ ขวบ แล้วพอศึกษาจบแล้วกลับไปทำงานที่บ้าน นี่เขาวินิจฉัยด้วยจิตวิทยาไงว่า เราเคยห่างกันมาพักหนึ่งใช่ไหม แล้วเราค่อยกลับมาบ้าน นี่เป็นประเด็นหรือเปล่า
ไอ้นี่เราก็เห็นด้วย ถ้าเป็นประเด็นมันก็เป็นประเด็นได้ทั้งนั้นน่ะ แต่จริงๆ แล้วมันก็เป็นความยอมรับในใจทั้งนั้นน่ะ พ่อแม่ก็อยากรัก พ่อแม่ก็รักลูกทั้งนั้นน่ะ แล้วลูกก็รักพ่อแม่ทั้งนั้นน่ะ แต่ด้วยความไม่เข้าใจกัน ถ้าด้วยความไม่เข้าใจนี้อันหนึ่งนะ
แต่ถ้าเราบอกว่าถ้าเป็นวิบากกรรม ถ้าเป็นวิบากกรรม อันนี้เราต้องยกให้กรรม ถ้ายกให้กรรมเสร็จแล้วนะ เราก็ทำความดีของเราไป ถ้าเป็นวิบากกรรม พูดอย่างใดก็ไม่ค่อยเข้าใจ นี่ถ้าเป็นวิบากกรรมนะ วิบากกรรม วิบากกรรมทำให้เจ็บช้ำน้ำใจกัน
เวลาลูก พ่อแม่ปรารถนาดีมาก ลูกก็คิดไปตามประสาลูก แล้วผลที่ได้มามีแต่ความเจ็บช้ำน้ำใจ ความเจ็บช้ำน้ำใจนี่คือกรรม เพราะเราเคยทำสิ่งใดมา แต่ถ้าเราอโหสิกรรม เราอโหสิกรรมต่อกัน ถึงว่าพ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก ถ้าท่านทำสิ่งใดที่กระทบกระเทือน เราปล่อยวาง เรายกให้ ถือว่ายกให้ ยกให้พ่อแม่ พ่อแม่จะอย่างไร ยกให้ แล้วเราทำความดีของเราไป เพราะไอ้ความดีนี้มันจะเป็นกรรมต่อเนื่องไป กรรมต่อเนื่องไปคือกรรมต่อไปข้างหน้า
ข้างหน้า ถึงกรรมปัจจุบันนี้เราเกิดมาพบกันอย่างนี้ เราก็พยายามทำให้มันสิ้นสุดกันไป แล้วถ้าไปข้างหน้า ไปข้างหน้าต่อไป เราจะไปอีกนะ เราทำสิ่งใดจะได้อย่างนั้น ถ้าเราทำกับพ่อแม่สิ่งใด โทษนะ เราจะมีครอบครัวนะ เราจะมีลูกมีเต้านะ แล้วถ้าลูกเต้าทำกับเราแบบที่เราทำกับพ่อแม่ มันจะรู้เลยว่า เออ! กงกรรมกงเกวียนเนาะ เราเคยทำกับพ่อแม่ไว้อย่างไร เราก็จะได้อย่างนั้นน่ะเนาะ ฉะนั้น ถ้าเราเห็นอย่างนี้ปั๊บ เราทำความดีไป เราทำความดีไป เราทำแต่คุณงามความดี
กงกรรมกงเกวียน เรายกให้ เราทำให้ แล้วเวลาทำคุณงามความดีของเรา จิตมันเป็นได้หลากหลาย จิตนี้เปลี่ยนแปลงได้ เวลามันเลวทราม มนุสสติรัจฉาโน มนุษย์เป็นสัตว์เดรัจฉาน มันทำลายล้างไปทั้งนั้นน่ะ มนุสสเปโต มนุษย์ที่เป็นเปรต จิตมันเป็นได้หลากหลายนัก มนุษย์คนเดียวนี่แหละ มนุสสเทโว เป็นมนุษย์นี่ แต่จิตใจเป็นเทวดานี่ จิตใจนี้สุดยอด มนุษย์คนเดียวนี่แหละมันเป็นได้หลากหลายนัก ฉะนั้น กิเลสมันเป็นได้หลากหลายนัก จิตนี้เป็นได้หลากหลายนัก เราก็พิจารณาตรงนี้ไง
ฉะนั้น เราชอบใจตรงที่ว่า “ผมได้รู้ได้ฟังธรรมะจากครูบาอาจารย์มามาก รู้มาก ถึงเวลาจริงๆ กลับทำสิ่งใดไม่ได้เลย”
คำว่า “รู้มาก ฟังมามาก” มันมีวัคซีนไง มีภูมิคุ้มกันไง ถ้าไม่ได้รู้ไม่ได้ฟัง ไม่มีที่ยึดที่เหนี่ยวเลยนะ เวลากระทบจริงๆ มันแสดงออกไปนะ แต่นี้เรารู้มาก เราได้ฟังครูบาอาจารย์มามาก มันมีวัคซีน มันมีธรรมะ มันมีที่เกาะเกี่ยว ฉะนั้น พอธรรมะมันเหนี่ยวรั้งใจไว้ มันถึงบอก เราก็รู้อยู่แล้วว่าพ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก ต้องยกให้จริงๆ นะ พระพุทธศาสนาสอนอย่างนี้ พระพุทธศาสนาสอนถึงกตัญญูกตเวที เครื่องหมายของคนดี
คนที่มีบุญมีคุณกับเรา เราต้องระลึกถึงคุณของท่าน เราระลึกถึงคุณของท่าน เพียงแต่เวรกรรมของเราถ้ามาเกิด จะบอกว่าเป็นเวรเป็นกรรมของเรามาเกิดอยู่ท่ามกลางกองนรกอยู่นี่ ถึงมันจะเป็นนรกก็ต้องแก้ไข ถึงมันจะเป็นนรกก็ต้องพยายามแก้ไขของเราไป มันเป็นนรก
ดูประวัติครูบาอาจารย์ในสมัยพุทธกาล เกิดมาโดยที่ว่าพ่อแม่ไม่ให้บวช เกิดเป็นลูกเศรษฐีก็มี เกิดมาเป็นลูกทุคตะเข็ญใจก็มี เวลาเกิดมานี่หลากหลายนัก แต่อยู่ที่เวรที่กรรม แต่เวลาถ้ามีศรัทธามีความเชื่อนะ เวลาไปบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระอรหันต์ทั้งนั้นเลย พระอรหันต์มีการเกิดที่หลากหลายนัก พระอรหันต์มีที่มาหลากหลายนัก
นี่ก็เหมือนกัน จิตใจของเรามันมาแล้ว เราอยู่ในท่ามกลางอย่างนี้ นี่เพราะเป็นวิบากกรรม เป็นผลแล้ว คือการเกิดถึงได้เห็น นี่มันเป็นผลแล้ว
แต่นี้ที่ว่า เด็กจากบ้านไปตั้งแต่ ๑๐ ขวบ นั่นน่ะมันก็เป็นเหตุเป็นผลทางวิทยาศาสตร์ เป็นเหตุเป็นผลทางสังคมให้เราเห็นว่ามันมีที่มาที่ไปไง แต่มันก็มีความเห็นความเป็นไปทางเวรทางกรรมเหมือนกัน มันเป็นวิบากกรรมเหมือนกัน เราแก้ไขตรงนั้น
ทีนี้สิ่งที่ทางวิทยาศาสตร์ จิตวิทยาเขาจะแก้ไขอย่างไร แก้ไขได้ก็แก้ไข แก้ไขไง แล้วแก้ไขไม่ได้ เราก็ต้องแก้ไขที่ใจเรา ยอมรับสภาพแบบนี้
ทางสังคมเขาบอกเลย แม่มีคนเดียว พ่อแม่มีคนเดียว เรามีพ่อมีแม่คนเดียวนะ แต่ถ้าเพื่อน เรายังหาได้ คู่ครองยังหาที่อื่นก็ได้ แต่พ่อแม่มีคนเดียว อันนี้เขาเตือนสติกันไง
แต่ถ้าทางธรรมๆ พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก อย่างไรก็แล้วแต่ เราต้องทำคุณงามความดีกับท่าน ว่าอย่างนั้นเลย ถึงจะอย่างไร ถึงจะเกลียดชัง ก็ต้องทำคุณงามความดี
เขาบอกว่า “ผมกล้ายอมรับว่าบางครั้งผมมีความรู้สึกเกลียดชังแม่มาก”
มีความรู้สึกอย่างนั้น เราเก็บไว้ในใจ มันเป็นเวรเป็นกรรม คำนี้สะเทือนใจเรามากนะ คำว่า “บางครั้งผมยอมรับว่าผมเกลียดชังแม่มาก” คำนี้สะเทือนใจมาก สะเทือนใจเรามาก
ถึงจะเกลียดชังก็เก็บไว้ในใจ มันเป็นวิบากกรรม แต่เราจะทำคุณงามความดีไป เราจะทำคุณงามความดีนะ หลวงตาท่านว่า ใครจะทำสิ่งใดก็แล้วแต่ ท่านจะชวนลูกศิษย์ลูกหาทำความดีกันว่ะ ใครจะติฉินนินทา ใครจะทำเราขนาดไหน เราก็จะทำคุณงามความดีกัน เราจะทำคุณงามความดี ทำคุณงามความดีเพื่อเรา ทำคุณงามความดีเพื่อหัวใจดวงนี้
อันนั้นเราวางไว้ มันเป็นเวรเป็นกรรม เป็นเวรเป็นกรรมไม่ใช่การยอมรับ เป็นเวรเป็นกรรมเพราะมันเป็นอดีต มันต้องมีที่มา พระพุทธศาสนามีเหตุมีผล มีที่มาและที่ไป มีเหตุมีปัจจัย คนจะรักกัน คนจะชอบกัน คนจะเกลียดชังกัน มันมาแต่วิบาก บางคนเห็นหน้าทีแรก ไม่เคยรู้จักกันมาเลย เห็นหน้า มันรู้สึกจิตใจมันต่อต้าน ไม่เคยเห็นหน้ากันมาเลย เห็นหน้าคนนี้ทำไมมันรู้สึกว่าสนิทคุ้นเคย
มันมี ของสิ่งนี้มันมีอยู่ ถ้าสิ่งนี้มีอยู่ เราเป็นนักปฏิบัติ เราเป็นนักเหตุผล เราต้องหาเหตุผล แล้วเราพยายามทำของเรา ยกหัวใจเรา อย่าให้มันต่ำไปกว่านี้
เราบอกตั้งแต่ตอนเช้า ชีวิตนี้ยิ่งใหญ่นัก ความรู้สึกนี้ยิ่งใหญ่นัก หัวใจนี้ยิ่งใหญ่นัก เราจะทำคุณงามความดีของเรา เรารักษาสิ่งนี้เพื่อประโยชน์กับเรา เอาตรงนี้เป็นประโยชน์กับเราเนาะ
เป็นวิบากกรรม นี่พูดถึงธรรมะ ธรรมโอสถ ธรรมโอสถจะรักษาหัวใจ ธรรมโอสถจะมาคลี่คลายปมในใจของเราไง แต่เราเกิดมาสภาพนี้มันเป็นวิบาก มันเป็นผล ต้องยอมรับผลอันนี้ ต้องยอมรับผลอันนี้แล้วแก้ไข ถ้าเราไม่ยอมรับผลอันนี้คือเราไม่รู้จักเหตุ เราแก้ไขอะไรไม่ได้หรอก ถ้าเรายอมรับอันนี้ว่ามันเป็นเหตุ แล้วเรารักษาตรงนี้ รักษาหัวใจของเรา
แต่สภาวะสภาพแบบนี้ต้องยอมรับ นี่มันเป็นเหตุ แล้วเราแก้ไขที่เหตุนี้ แก้ไขที่เหตุนี้ ถ้าแก้ไขได้นะ พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของเรา เราจะเป็นพระอรหันต์ในใจของเรา เราจะรู้เข้าใจเรื่องอย่างนี้หมดเลย แล้ววางได้ เพราะพระอรหันต์วางได้หมด พระอรหันต์ไม่มีความลังเลสงสัย พระอรหันต์รู้แจ้ง รู้แจ้งที่มาที่ไประหว่างเรากับแม่ ที่มาที่ไปทั้งหมด แล้ววางได้หมด อันนั้นจะเป็นประโยชน์กับเราเนาะ
ฉะนั้น ดูแลใจเรา ใจนี้เป็นได้หลากหลาย ดูแลให้มันดีขึ้น อย่าให้มันเลวลง เอวัง