ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ผู้เห็นภัย

๑๕ ก.พ. ๒๕๕๘

ผู้เห็นภัย

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องไม่สบายใจ ลูกทำผิดไปไหมคะ

กราบนมัสการหลวงพ่อ วันนี้ลูกมีปัญหาคาใจ ไม่แน่ใจว่าลูกทำผิดไปหรือเปล่า เกี่ยวกับการที่ลูกไปคอมเมนต์บนเฟซบุ๊กของพระรูปหนึ่ง

ลูกเห็นพระรูปหนึ่งโพสว่า วันนี้ไม่มีใครกดไลก์ สงสัยโพสต์อะไรที่ไม่มีแก่นสาร สงสัยคงต้องปิดเฟซบุ๊กไปชั่วคราวมั้ง

และข้อความสนทนากับโยม ถามประมาณว่าโยมอยากจะให้เพื่อเผยแผ่ต่อไป หรืออยากให้ปิดเฟซบุ๊ก

เวรกรรม หนูผิดเองค่ะ พอลูกเห็นข้อความนั้น ตอนแรกลูกก็นึกถึงเทศน์ที่หลวงพ่อเคยสอนไว้ว่า การทำดีไม่ให้ติด ติดความดีของตัวเอง ให้ได้ความดีก็พอ ทำแล้วก็ปล่อย คนทางโลกเขามีใบประกาศรับรองกัน แต่เราเป็นนักปฏิบัติ เรามีใจเรารับรองก็พอ

วันแรก ลูกก็ไม่ได้คอมเมนต์แสดงความคิดเห็นไปหรอกนะคะ ก็ผ่านไป พอมาวันใหม่ ลูกไปเห็นอีก ลูกก็นึกถึงคำสอนของหลวงพ่อ ลูกก็เลยคิดว่า บางทีการที่ลูกเอาคำสอนของหลวงพ่อบอกพระเขาไป คำสอนนั้นอาจจะเป็นประโยชน์กับพระรูปนั้นก็ได้นะคะ ลูกก็เลยคอมเมนต์ลงไปว่า ลูกเคยฟังเทศน์พระอาจารย์มาอย่างนี้ๆๆ

หลวงพ่อ : ไปว่าเขาล่ะสิ

ถาม : ก็ไม่แน่ใจว่าพระรูปนั้นจะพอใจหรือไม่พอใจหรือเปล่านะคะ ลูกก็แค่หวังดีกับพระนะคะ พอรู้ว่าพระเห็นแล้ว ความคิดเห็นที่ลูกแสดงออกไป ลูกก็ลบความคิดเห็นที่เขียนออกไป พอสำเร็จ ลูกเองก็ไม่สบายใจว่าลูกสมควรมีสิทธิ์ทำแบบนั้นหรือเปล่านะคะ อีกใจก็คิดว่าไม่เป็นไรน่า เพราะแค่หวังดีกับพระ ไม่อยากเห็นพระติดเฟซบุ๊ก

. คำถาม คือ การที่ลูกเป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่ง ลูกมีสิทธิ์ไหมคะที่จะแสดงความคิดเห็นกับพระนะคะ สมควรไหมคะ (โดยลึกๆ ในใจส่วนตัวลูกก็เกรงว่าไม่สมควร) เพราะว่าบ่อยมากเหมือนกันที่ลูกมักจะเห็นพระโพสต์ความคิดเห็นบนเฟซบุ๊กแบบที่สวนทางกับคำสอนหลวงพ่อ ซึ่งตอนแรกลูกก็พยายามอดทนไว้ได้ที่จะไม่กระทำ แต่พอมาเห็นอีก ลูกก็อดไม่ได้ แล้วก็แสดงความคิดเห็นออกไปบ้างนะคะ ซึ่งส่วนใหญ่ความคิดที่ลูกแสดงไปก็ไม่ได้ต่อว่าใครหรอกนะคะ แต่พูดแบบกลางๆ เคยได้ยินเคยได้ฟังมาแบบนี้ ประมาณนี้

ถ้าหากว่าหลวงพ่อเห็นว่าไม่สมควร ลูกก็จะหยุดโพสต์ความคิดเห็นของตนเอง และจะลบเพื่อนที่เป็นพระออกไปให้หมด

ตอนแรกก็คิดว่ามีเพื่อนเป็นพระบนเฟซบุ๊กจะดี เพราะเป็นกัลยาณมิตรทางธรรม แต่ตอนนี้ลูกไม่แน่ใจแล้วนะคะ เพราะลูกมักจะเห็นพระบางรูปที่ไม่ได้เน้นเรื่องการปฏิบัติกรรมฐาน แต่ไปเที่ยวเน้นเรื่องเศรษฐกิจแทน ถ่ายรูปขณะที่พระไปสถานที่ต่างๆ บ้าง บนเครื่องบินบ้าง ลงเรือบ้าง ทำให้ลูกคิดเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า พระท่านเอาเวลาที่ไหนไปปฏิบัติธรรมนะคะ ซึ่งลูกไม่อยากจะคิดเรื่องนี้เลยค่ะ ไม่ต้องการมีคำถามในใจเกี่ยวกับพระหรือพระพุทธศาสนานะคะ เพราะลูกเชื่อพระพุทธเจ้าเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ลูกอยากฟังธรรมเทศนาที่เป็นสัจจะ และเห็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่ไม่ติดวัตถุสิ่งของและเรื่องโลกๆ ค่ะ

ตอบ : เออ! นี่เป็นคำถามหรือเป็นคำระบายเนาะ

อันนี้มันก็เป็นว่ามันเป็นวุฒิภาวะ วุฒิภาวะ ถ้าเราโตขึ้นมาแล้ว เราจะพูดฟันธงไปเลยมันก็แบบว่ามันเหมือนโลกมันมีการเจริญเติบโต โลกมีการเจริญเติบโต มีการสร้างสมขึ้นมา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะสร้างสมบุญญาธิการมา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย นี่สร้างสมมานะ สร้างสมมาจนเป็นพระโพธิสัตว์ สร้างสมบุญญาธิการมา เวลามาตรัสรู้แล้วเผยแผ่ธรรมมาๆ ก็เพื่อประโยชน์ตรงนี้ พอประโยชน์ตรงนี้ปั๊บ เวลาพระที่จะเข้ามาประพฤติปฏิบัติหรือชาวพุทธเราเวลามันพัฒนาขึ้นมาไง

ถ้าไม่พัฒนา เราก็มองแบบนั้น เพราะตอนที่เราบวชใหม่ๆ เราก็มองโลกประสาความรู้ ความรู้มีเท่าไรก็มองโลกอย่างนั้น มีความซื่อ มีความศรัทธา แล้วมองโลกในแง่บวก

แง่บวก หมายความว่า คิดว่าถ้าพระที่น่านับถือท่านจะบอกเราแต่เรื่องความจริง ท่านจะบอกเราแต่เรื่องความดีงาม ท่านจะชี้ทางให้เราประพฤติปฏิบัติไปแนวทางที่ถูกต้อง เราก็เชื่อนะ เขาสอนอย่างไรก็ทำอย่างนั้นน่ะ พยายาม โอ๋ย! พยายามขวนขวายเต็มที่เลย

แต่มันไปแล้ว มันถึงเวลาอ่านประวัติหลวงปู่มั่นแล้วมันซาบซึ้งไง ประวัติหลวงปู่มั่นนะ เวลาท่านปฏิบัติไป ท่านบอกว่าท่านทำความสงบของใจได้เพราะท่านสร้างมาเป็นพระโพธิสัตว์ หลวงปู่มั่นท่านสร้างมาเป็นพระโพธิสัตว์ ท่านปรารถนาจะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปข้างหน้า

เวลาท่านปฏิบัติไปๆ ท่านพิจารณาของท่านไปนะ ท่านพูดเองว่า มันเหมือนกับทางตัน หรือไม่ก็เหมือนหน้าผาตัด มันไปแล้วมันไปไม่ได้ มันไปแล้วมันเหมือนไปตัน มันไปตัน ท่านถึงมาพิจารณาของท่านเอง

พอพิจารณาของท่านเอง ท่านพิจารณาของท่านเอง อ๋อ! ท่านปรารถนาพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์จะได้ฌานโลกีย์ พระโพธิสัตว์พยายามจะได้ฌานได้สมาบัติ จะได้เป็นฤทธิ์เป็นเดชเอาไว้สั่งสอนคน เอาไว้สร้างอำนาจวาสนาบารมี มันเข้าอริยสัจไม่ได้

ถ้ามันเข้าอริยสัจปั๊บ อย่างน้อยเป็นพระโสดาบัน ถ้าใช้ปัญญาเป็นพระโสดาบันไปแล้วมันจะสร้างอำนาจวาสนาต่อไปไม่ได้ เพราะพระโสดาบันเกิดอีก ๗ ชาติไง แต่พระโพธิสัตว์มันจะสร้างไป ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย คือไม่มีต้นไม่มีปลาย ต้องสร้างไปเต็มที่ไง มันก็ไปขัดแย้งกันใช่ไหม เลยเข้าอริยสัจไม่ได้

พระโพธิสัตว์เข้าอริยสัจไม่ได้ แต่เข้าฌานโลกีย์ได้ เข้าฌานโลกีย์มันจะมีอภิญญา มีหูทิพย์ ตาทิพย์ พวกนี้ได้ แต่ก็เป็นพระโพธิสัตว์ที่มีคุณธรรมสูงนะ แบบว่าพระโพธิสัตว์ที่สร้างบุญญาธิการมามาก ไอ้เรื่องหูทิพย์ ตาทิพย์ มันก็จะชัดเจน มันจะถูกต้อง ถ้าพระโพธิสัตว์เพิ่งสร้างบารมี สมาธิยังไม่เข้มข้น เวลาหูทิพย์ ตาทิพย์ มันก็ผิดบ้างถูกบ้าง มันไม่แน่นอนหรอก

ฉะนั้น เวลาท่านพิจารณาของท่านไป มันเหมือนกับเป็นทางตัด เป็นหน้าผาตัด เป็นทางตัน เป็นซอยตัน ท่านว่าอย่างนั้น สุดท้ายแล้วท่านก็พิจารณาของท่าน อ๋อ! เราเคยปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ ท่านถึงได้กำหนดสมาธิเข้าไป ท่านไปลาในสมาธินั้น

เพราะท่านเคยทำอย่างนั้น ท่านถึงได้มาแก้เจ้าคุณอุบาลีฯ ได้ ท่านถึงไปแก้หลวงปู่เสาร์ เพราะหลวงปู่เสาร์ เจ้าคุณอุบาลีฯ นี่พระโพธิสัตว์ แต่มาแก้เจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านไปแก้หลวงปู่เสาร์ แล้วท่านพยายามจะไปแก้ครูบาศรีวิชัย

ท่านพยายามจะไปแก้ครูบาศรีวิชัยเพราะว่าท่านร่วมสมัยกันอยู่ที่เชียงใหม่ วัดเจดีย์หลวง กับครูบาศรีวิชัย ท่านไปแก้ แต่ครูบาศรีวิชัยบอกว่ามันไม่เป็นอิสระกับตัวเองแล้ว ท่านไม่เป็นอิสระคือท่านไม่สามารถที่จะพลิกได้ ก็เลยต้องแล้วแต่อำนาจวาสนาของท่าน

คนที่จะทำได้มันต้องมีประสบการณ์ คนที่ทำได้คือทำเป็นแล้วถึงไปสอนคนอื่นได้ไง ถ้าคนที่ยังทำอะไรไม่เป็นไปสอนคนอื่น มันไม่มีทางหรอก

ฉะนั้น เวลาที่ว่าเวลาปฏิบัติไปแล้ว พอมันเป็นทางตัน ไปหน้าผาตัด มันมีความกดดันนะ มันมีความกดดันในตัวเรานะ

ฉะนั้น เวลาที่เราประพฤติปฏิบัติใหม่ๆ เราก็มองพระแบบนั้น มองพระในแง่บวกหมดแหละ ใครพูดอะไร ใครสอนอะไรก็เชื่อๆ แต่พอปฏิบัติไปแล้วมันเป็นอย่างนั้นน่ะ มันไปไม่ได้ มันไปว่างๆ ไปเคว้งคว้าง ไปไม่ได้หรอก มันก็แปลกใจนะ

พอไปเจอหลวงปู่จวนอวิชชาอย่างหยาบของท่านสงบตัวลง อวิชชาอย่างกลางในหัวใจท่านยังอีกมากมายเลย อวิชชาอย่างละเอียดในใจท่านอีกมหาศาลเลย

เออ! สะอึกเลยนะ เออ! ไม่มีใครพูดอย่างนี้

แต่ก่อนเวลาไปอยู่กับใคร ไปปฏิบัติกับใคร ไม่เคยมีใครพูดอย่างนี้ ก็เชื่อเขาไป ปฏิบัติกันไปอยู่อย่างนั้นน่ะ พอไปเจอหลวงปู่จวนท่านสับเอาทีเดียว ควาญช้างเอาตะขอสับไปที่หัวช้าง สะอึกเลย พอสะอึกแล้วได้คิด

พอได้คิด อ้าว! ต่อไปนี้จะไม่เชื่อใครง่ายๆ แล้ว ใครจะสอนอะไร วางไว้ก่อน ต้องพิสูจน์ แล้วเอาตรงนั้นเป็นที่ตั้ง เอาที่หลวงปู่จวนว่าเป็นที่ตั้ง แล้วก็เริ่มทำความสงบของใจเข้ามา ทำความสงบของใจเข้ามาให้มั่นคงเข้ามา ไอ้ที่ว่าจะได้มรรคได้ผล ไอ้คนที่บอกไว้อย่างนั้นๆ วางไว้หมดเลย แล้วทำแต่ความจริงของเราดีกว่า แล้วตอนนั้น ตั้งแต่นั้นมานะ อะไรจะเข้ามานี่ไม่สนใจ ไม่รับ ไม่สนใจ จะขวนขวายเอาตัวเองไปให้ได้ก่อน เอาความจริงของเราน่ะ

นี่พูดถึงเวลาที่ว่าเรามองพระ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ที่พัฒนาขึ้นมา แล้วพระเรา พระที่โดยทั่วไป เราจะพูดหน้าเดียวไป แล้วศาสนาจะฝากไว้กับใครล่ะ

ศาสนานี้จะฝากไว้ เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรม ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา อุบาสก อุบาสิกามีความเชื่อมั่นมีความเลื่อมใสก็มาบวชเป็นพระ พอบวชเป็นพระขึ้นมาก็เป็นปุถุชน เป็นพระบวชใหม่ พระบวชใหม่ทนคำสอนได้ยาก พระบวชใหม่ๆ เพราะพระบวชใหม่ๆ มาสิทธิเสรีภาพ สิทธิเสรีภาพนะ พระเท่ากันนะ ใครว่าไม่ได้นะ เสมอภาคนะ เสมอภาค

มันค้านไว้ในใจหรอก ข้างหน้าก็ไม่มีอะไรหรอก แต่ในใจ ยิ่งปัญญาชนนะ โอ้โฮ! “สิทธิเสรีภาพ มันเป็นสิทธิ์นะจะพูดอะไรเถียงไปหมดแหละ เพราะอะไร เพราะอวดว่าข้ารู้มาก่อนไง

ทีนี้พอปฏิบัตินานไปๆ เขาจะรู้เลยว่า อ๋อ! สุตมยปัญญา การศึกษามาทางโลก วิชาชีพมันเป็นเรื่องหนึ่ง จินตมยปัญญาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ภาวนามยปัญญา ถ้าไม่อ่อนน้อมถ่อมตน จิตใจมันไม่ลงธรรมะ ไม่ลงคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วมันจะเข้าไปสู่สัจธรรมอันนั้นได้อย่างไรล่ะ

เรามีความรู้ขนาดไหน เราไม่ใช่ว่าอ่อนน้อมถ่อมตนจะเป็นคนโง่คนเซ่อ ใครจะพูดอะไร ใครจะจูงจมูกอะไรก็ไปกับเขา...ไม่ใช่

อ่อนน้อมถ่อมตน อ่อนน้อมถ่อมตนมันเปิดโอกาสให้หัวใจเราได้ใคร่ครวญไง เราอ่อนน้อมถ่อมตนเพราะเรารับไง เหมือนคนชี้ขุมทรัพย์ให้ไง เราจะได้ขุมทรัพย์ จะได้มีคนบอกความผิดเรา จะได้มีคนชี้ถึงความบกพร่องของเรา เราอ่อนน้อมเพราะเหตุนั้นน่ะ

ถ้ามันแข็งกระด้าง มันก็ปิดหมด มันไม่รับฟังเลย อะไรมาก็ไม่รับฟังๆ ฉันแน่ ฉันดี ฉันเก่ง ฉันพิจารณาแล้วฉันค้นคว้าเองก็ได้ ฉันมีโอกาส...ไปค้นคว้ามา ค้นคว้ามาขนาดไหนก็ไม่รู้หรอก ไม่รู้ เพราะมันค้นคว้ามาโดยโลกียปัญญา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า ถ้าบอกฟันธงไปหน้าเดียวว่าพอเกิดมาเป็นคนก็ต้องดีไปเริ่มต้น ดีไปที่สุดเลย

เวลาปฏิบัติเป็นอย่างนั้นจริงๆ ต้นคด ปลายตรงไม่มี ต้นต้องตรง แต่คำว่าต้นต้องตรงมันตรงตั้งแต่สัมมาสมาธิ ถ้าต้นไม่ตรง สัมมาสมาธิไม่เกิดขึ้น ต้นไม่ตรงนะ เวลาพวกเราต้นไม่ตรง ภาวนาไม่ได้ ล้มลุกคลุกคลาน

เราคิดเอาเอง เราอนุมานเอาเอง เราอนุมานเอาน่ะ แล้วมันจะเข้าไปสู่สัจธรรมได้อย่างไร การอนุมานเอา การคิดเอา การเจตนาตั้งใจ แล้วมันจะเป็นจริงได้อย่างไร

แต่ต้นมันตรงนะ พอตรง จิตเราตรงแล้ว ใจเราตรงตั้งแต่สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิ ใจเราตรง ตรงเข้าสู่สัจธรรม ถ้ามันเป็นไปนะ มันก็จะเป็นไป

เห็นไหม ถ้าต้นคด ปลายตรงไม่มี ต้นต้องตรง แต่จะตรงตรงไหนล่ะ

ตรง ดูสิ พระเขาเล่นเฟซบุ๊ก พระเขาไม่สนใจ

เราบอกว่า ผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสารนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามพระอานนท์อานนท์ เธอระลึกถึงความตายวันละกี่หน ระลึกถึงความตายวันละกี่หน

ก็บอกว่า ๗ หน ๑๐ หน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกประมาทๆๆ ต้องระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก

พวกเรานะ หลวงปู่มั่น หลวงตา เราฟังท่านพูดมาหมดแหละ เพราะเราบวชใหม่ๆ เรายังไม่มีครูบาอาจารย์ เราก็อ่านหนังสือประวัติครูบาอาจารย์นี่ ท่านกำหนดพุทโธๆ ทั้งวันทั้งคืน

เราเองเราก็กำหนดทั้งวันทั้งคืน เพราะอะไร เพราะอยู่วัด วัดปฏิบัติมันไม่มีอะไรให้ข้องแวะ อยู่กับเรา พุทโธ จะทำอะไร เราพุทโธทั้งวันทั้งคืน พุทโธทั้งวันทั้งคืน เห็นไหม คนที่ประพฤติปฏิบัติเขาสงวนเวลาของเขาขนาดนั้น เขาไม่มีเวลาไปเล่นเฟซบุ๊กหรอก เขาไม่มีเวลา

ถ้าจะศึกษา เราก็ศึกษา ศึกษา ดูสิ ตำรับตำราเราก็เปิดได้ เราเปิดเสร็จแล้วเราจะปฏิบัติของเรา เราบอกว่า ถ้าพระที่จะเอาจริงเอาจังเขาต้องเอาจริงเอาจังอย่างนี้

แต่ถ้าไปเล่นเฟซบุ๊ก ถ้ายังอย่างนั้นอยู่ เขาเป็นที่ว่ายังศึกษาอยู่ ยังศึกษายังค้นคว้าอยู่ ยังเป็นโลกอยู่ ว่าอย่างนั้นเถอะ

แต่ที่บอกว่าถ้ามันจะผิดไปหมดเลย แล้วมันจะพัฒนาการขึ้นมาได้อย่างไร

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้เพื่อรื้อสัตว์ขนสัตว์ แล้วถ้าไม่มีพระ ไม่มีผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ไม่มีครูบาอาจารย์เรา ไม่มีคนชี้นำ ไม่มีคนบอก มันจะเป็นอย่างไร

ถ้าไม่มีคนชี้นำ ไม่มีคนบอก ก็เหมือนหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ไม่มีคนชี้นำ ไม่มีคนบอก เวลาท่านเล่าให้หลวงตาฟัง หลวงตาบอกว่าเบือนหน้าเข้าข้างฝาน้ำตาไหลทุกที มันทุกข์มันยาก ตำรับตำราก็มี แล้วดูสิ เวลาท่านอยู่ทางภาคอีสาน สงสัยหรือมีอะไรจนตรอกมา จะเข้ามากรุงเทพฯ แล้ว จะเข้ากรุงเทพฯ มาศึกษากับเจ้าคุณอุบาลีฯ เพราะอะไร เพราะพระไตรปิฎก อ่านแล้วมันก็ตีความตามแต่ความเห็นเรา แต่ถ้ามาถามเจ้าคุณอุบาลีฯ เจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านศอกกลับ

เวลาอ่านพระไตรปิฎกมันถอนกลับได้ไง เพราะเจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านมีปัญญา เรามีความเห็นอะไรที่มันแบบว่าเรามองอะไรหน้าเดียว เรามองอะไรสุดโต่ง เจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านกระทุ้งเลย สะอึก พอมันสะอึก มันได้ฉุกคิด พอได้ฉุกคิด พอเข้าไปในป่า ตรงนี้มันเป็นประเด็น ประเด็นที่ให้ค้นคว้า ให้แยกแยะ ให้ขวนขวาย ให้มีการกระทำ

ฉะนั้น เวลาศาสนาเจริญ เจริญในใจของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น กึ่งพระพุทธศาสนา ศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง มันเจริญในใจของครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าเจริญในใจของครูบาอาจารย์ของเรา

เวลาในพระไตรปิฎก เวลาเราอ่านไปนะ พระอรหันต์ต้องแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง นอนสีหไสยาสน์ พระอรหันต์ไม่ยิ้ม พระอรหันต์ไม่ยิ้มนะ ไม่หัวเราะ ถ้าหัวเราะนี่เหมือนกับเด็กร้องไห้ ในพระไตรปิฎกเขียนไว้อย่างนั้น แล้วพระพุทธเจ้าแค่แย้มพระโอษฐ์ แค่แย้มพระโอษฐ์มันก็เป็นเรื่องมหัศจรรย์แล้ว

ฉะนั้น เราก็มองเลยนะว่าพระอรหันต์ห้ามยิ้มห้ามหัวเราะเลย ถ้าใครหัวเราะไม่ใช่พระอรหันต์

อันนั้นมันกิริยาของพระพุทธเจ้า เวลาเขียนกิริยาของพระอรหันต์จะเขียนถึงพระพุทธเจ้าลงมา ฉะนั้น เวลาเขียนมาอย่างนั้นนะ เราไปศึกษากันแล้วเราก็ว่าอย่างนั้น พระอรหันต์ต้องเป็นอย่างนั้นๆ ก็กลายเป็นพระพุทธรูปนี่ กระดิกอะไรไม่ได้เลย นิ่งอย่างนั้นเลย

แต่เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เวลาท่านสอน เวลาร่ำลือกันมานะ เวลาหลวงตาขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น ท่านบอกหลวงปู่มั่นดุมาก ร่ำลือว่าดุมาก แล้วเวลามานี่เขาบอกหลวงปู่มั่นดุมาก ท่านบอกดุอย่างไรก็จะเข้าไปศึกษา ยิ่งดุยิ่งดี จะไปดูซิความจริงมันเป็นแบบใด

แล้วพอท่านเข้าไปแล้วไปศึกษา เวลาหลวงตาท่านพูดนะ กลัวไหม กลัว กลัวนะ กลัวมากๆ แต่ก็รักมากๆ เพราะอะไร เพราะท่านบอกแต่สิ่งดีๆ ทั้งนั้นน่ะ

กลัวสิ เพราะกิเลสเรามันคันน่ะ กิเลสเรามันทำผิดตลอดเวลา มันก็น่ากลัวสิ น่ากลัวเพราะเราทนใจเราไม่ได้ ไอ้เวลากลัวนี่มันกลัวใจเรา ใจเรามันคิดแฉลบ คิดร้อยแปด แล้วท่านคอยถองมาอย่างนี้มันก็กลัวสิ

แล้วคนอย่างนี้ หาคนคอยรู้ว่าเราขยับไปทางไหนมีคนรู้ทันเรา จะหาได้ที่ไหน ก็ต้องเข้าไป กลัวไหม กลัว แต่ก็อยากจะได้ดี อยากจะหลุดพ้น ก็ต้องเข้าไปหาท่าน ทั้งรัก ทั้งกลัว ถ้ากลัว ถ้าเรามีครูบาอาจารย์อย่างนี้ ท่านสิ้นกิเลสไปแล้ว มันก็น่าเคารพบูชา

แต่นี้ถ้าเราบอกว่าโยมมาถาม ไปเจอพระเขาเล่นเฟซบุ๊ก อยากมีกัลยาณมิตร อยากคบพระ อยากมีพระเป็นเพื่อน พอมีปัญหาขึ้นมาจะลบเลยว่าไม่อยากมีพระเป็นเพื่อน

มีพระ เห็นไหม ศีล เราก็เคารพบูชาไว้ ถ้าเราเคารพบูชาไว้ ถ้าเขาเห็นภัยในวัฏสงสาร เป็นผู้เห็นภัย ถ้าผู้เห็นภัย เราจะขวนขวาย เราจะขวนขวายนะ ในเมื่อเรายังมีลมหายใจเข้าและลมหายใจออกอยู่ เราจะรีบขวนขวายเพื่อประพฤติปฏิบัติ

แต่ถ้ามันประมาท เราประมาทกับชีวิต เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานนะ ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด ด้วยความไม่ประมาทเถิด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้ำๆๆ ตรงนี้มากเลย

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน ประชาชน ทั้งกษัตริย์ ดอกไม้ธูปเทียนมาเคารพบูชา แม้แต่เทวดายังมีดอกไม้สวรรค์มาเลย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลยอานนท์ เธอบอกเขาเถอะ ถ้าจะบูชานะ ให้ปฏิบัติบูชาเราเถิด ให้ปฏิบัติบูชาเราเถิด

นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเตือนมาตลอด แล้วเรา เรามาถึงจนป่านนี้ เรามาบวชเป็นพระ เราจะมีอะไรไปเฟซบุ๊กๆ อีก เราจะมีอะไรไปนั่งเขียนอยู่

แล้วเขาเขียนมา พอไปอ่านไม่มีใครตอบเข้ามาเลย จะให้อาตมาเลิกเฟซบุ๊กหรือเปล่า

เรียกร้องๆ เรียกร้องให้คนมาฟังธรรม เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายให้มาฟังธรรม เรียกร้องสัตว์

เวลาใครจะทำอะไรก็แล้วแต่นะ ถ้าวุฒิภาวะมันด้อยก็คิดว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยทำอย่างนั้น เราจะทำอย่างนั้นๆ เราคิดของเราไปเอง แต่เวลาจริงๆ แล้วหน้าที่ของเรา เราจะต้องทำความสงบของใจเราเข้ามา เราต้องประพฤติปฏิบัติขึ้นมาให้เป็นความจริงขึ้นมา

ฉะนั้น เขาเรียกร้องอย่างนั้นน่ะ ก็อย่างที่ว่า เขาพูดเองว่าพระเขาไม่ประพฤติปฏิบัติ เขาจะเอาเวลาที่ไหนปฏิบัติ

ฉะนั้น เราก็ถามกลับ แล้วโยมมีเวลาปฏิบัติไหม โยมไปเที่ยวตรวจเฟซบุ๊กเขา อ้าว! แล้วโยมมีเวลาปฏิบัติไหม สงสัยมันพอกัน เขาก็เขียนเฟซบุ๊กมา ไอ้นี่ก็เขียนตอบเขาไป แล้วเสร็จแล้วก็มาฟ้องหลวงพ่อ ไอ้นี่ล่อซื้อหรือเปล่า ล่อซื้อเฟซบุ๊กหรือเปล่า ล่อซื้อเขามาแล้วก็มาฟ้องหลวงพ่อ จะเอารางวัลนำจับ จะล่อซื้อเขามา

เราจะพูดอย่างนี้ เราพูดมาตั้งแต่ต้น หมายความว่า ในการเผยแผ่ศาสนา เวลาพระมันจะเจริญเติบโตมา พระก็มาจากเณร สามเณรน้อยบวชเป็นพระ จากบวชเป็นพระขึ้นมาแล้วก็จะประพฤติปฏิบัติ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาดี จิตดีขึ้นมาก็มีความสุข

เวลาจิตมันเสื่อมนะ ถ้ามีครูบาอาจารย์ดึงไว้ มีครูบาอาจารย์ชักนำไว้ เขาก็จะแก้ไข เขาก็พยายามจะขวนขวายของเขา ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยชักคอยนำ เวลาจิตมันเสื่อมมันก็เสื่อมไป พอเสื่อมไปก็เป็นอย่างนี้ เร่ๆ ร่อนๆ เห็นไหม เร่ๆ ร่อนๆ กลายเป็นพระธุรกิจ กลายเป็นพระธุรการ กลายเป็นพระกรรมฐานจรวดดาวเทียมไปเลย

แต่ถ้ามันจะเอาจริงเอาจังขึ้นมามันก็ต้องละทิ้งจากความเป็นกรรมฐานจรวด กรรมฐานดาวเทียม หลวงตาบอกกรรมฐานค้างคาว ไปไหนก็บินไปบินมานะเดี๋ยวนี้ กรรมฐานค้างคาว

นี่ไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าเราไม่เป็นอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะเราเอาหัวใจเรา ถ้าเอาหัวใจเรา เขาจะปฏิบัติ ฉะนั้น ถ้าเขาไม่ปฏิบัติ เขาออกไปขนาดนั้นแล้ว

นี่เขาเขียนมาจากเมืองนอก ถ้าเขียนมาจากเมืองนอก พระที่ออกไปเที่ยวเมืองนอกมันก็บอกอยู่แล้ว เพราะเขาต้องคิดว่าเขาจะไปเมืองนอก เขาต้องไปเผยแผ่ธรรม ถ้าเขาเผยแผ่ของเขา เขามีอะไรไปเผยแผ่ มีเฟซบุ๊กไปเผยแผ่ใช่ไหม ถ้ามีเฟซบุ๊กไปเผยแผ่ เราอยู่นี่ เราก็เขียนเฟซบุ๊กได้ เราก็เผยแผ่ที่นั่น เราไม่ต้องไปอยู่เมืองนอกหรอก

อยู่เมืองนอก พวกธรรมทูตไง ไปเผยแผ่ธรรม หลวงตาท่านพูด เอาอะไรไปเผยแผ่ เอากิเลสไปเผยแผ่หรือเอาธรรมไปเผยแผ่

ถ้าเผยแผ่ขึ้นมามันก็เป็นประโยชน์นะ ถ้าพูดไปอย่างนี้ พูดถึงมันก็กระเทือนกันไปหมด ฉะนั้น มันก็มี ทุกสังคมมีคนดีและคนเลว ถ้าเขาทำตัวไม่ดีมันก็ยกเขาไว้

ฉะนั้น เข้าคำถาม เดี๋ยวมันไปใหญ่ นี่คำถามการที่ลูกเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง มีสิทธิที่จะแสดงความเห็นกับพระไหมคะ สมควรไหม แต่ลึกๆ แล้วใจไม่สมควร

มันอยู่ที่อุบายไง อุบายนะ ธรรมดาส่วนใหญ่แล้วมันพูดไม่ค่อยได้หรอก มันพูดไม่ได้เพราะอะไร เพราะพระถือสิทธิ์ พระถือสิทธิ์ว่าพระมีศีล ดูสิ เวลาพระนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์เป็นธงชัยพระอรหันต์ ทุกคนก็กลัวบาปกลัวกรรม ก็ไม่กล้าจะพูดให้สะเทือนพระไปเลย เดี๋ยวกลัวว่าจะเป็นบาปเป็นกรรม ยกไว้ให้พระ นี่เป็นวัฒนธรรม

แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมา เวลาเราปฏิบัติอยู่กับครูบาอาจารย์ หลวงตาท่านพูดเอง เราต้องถืออาวุโส ภันเต ผู้ที่มีอาวุโสกว่า ภันเตต้องเคารพนับถือ ตามธรรมเนียม เวลาบวชมาในวินัย แม้แต่บวชอุปัชฌาย์เดียวกัน แต่นาคซ้ายนาคขวาก็ต้องเคารพเป็นพี่เป็นน้อง ต้องเคารพกันมาตลอด เรานับถือเรื่องอาสุโว

แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมาแล้ว อาวุโสมีคุณธรรมหรือเปล่า ถ้ามีคุณธรรม เราก็เคารพ ถ้าไม่มีคุณธรรม ให้ ๑๐๐ พรรษาด้วย ท่านบอกว่าให้ ๑๐๐ พรรษาด้วย ถ้าเขาไม่มีคุณธรรมเขาจะเอาอะไรสอนเราล่ะ ไม่มีคุณธรรม เราจะประพฤติปฏิบัติ เขายังกีดขวางเราอีกต่างหาก

นี่พูดถึงเวลาปฏิบัตินะ ถ้าปฏิบัติ เราเคารพบูชา เวลาเคารพบูชา เคารพบูชาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระทุกองค์ พระทุกองค์เขาต้องเชื่อฟังธรรมและวินัย

ทีนี้วินัยนี้บังคับไว้แล้ว อาวุโส ภันเต บังคับไว้แล้ว ถ้าบังคับไว้แล้ว เป็นประเพณีวัฒนธรรม เราก็เคารพ เราก็เชื่อตามนั้น เราเชื่อ เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไม่ได้เชื่อพระที่อาวุโสองค์นี้ ถ้าใจเราไม่ลง แต่เราก็ต้องเคารพบูชาธรรมวินัย เราก็ต้องเคารพนบนอบตามประเพณี แต่หัวใจเรามันดื้อ หัวใจมันไม่ยอมหรอก

แต่ถ้าครูบาอาจารย์ของเราท่านอาวุโสด้วย แล้วท่านมีคุณธรรมด้วย โอ้โฮ! ใจมันลงนะ เราเคารพบูชาทางธรรมวินัยด้วย แล้วหัวใจเรายังลงด้วย หัวใจเราลงหมายความว่าอย่างไร หมายความว่ามันรัก มันรักมันเคารพนะ มันอยากจะอุปัฏฐาก อยากได้บุญ

คนเราปฏิบัตินะ คนเราปฏิบัติทุกคนอยากนั่งปั๊บได้สมาธิเลย เวลาเกิดปัญญา ภาวนา ปัญญาจะเกิดเลย แล้วมันเกิดจากไหนล่ะ เกิดจากบุญกุศล เกิดจากคุณงามความดีของเรา

ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมนะ พวกเราอยากเคารพบูชา อยากจะอุปัฏฐากท่าน อุปัฏฐากเพราะอะไร เพราะขอเกาะๆ ขอเอาบุญน่ะ ขอเอาบุญกุศล ขอให้บุญกุศลนั้นส่งเสริมให้เราปฏิบัติได้ง่าย ขอให้เรารู้แจ้งเหมือนท่านบ้าง ขอให้เรามีดวงตาเห็นธรรมแบบท่าน ขอให้เรา ขอๆ แล้วเราอุปัฏฐากท่าน ถ้าท่านมีคุณธรรม

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราเคารพบูชากันไหม เราฟังธรรมไหม

เราฟังธรรม แต่เรื่องนี้เรื่องที่ว่าเราสมควรไม่สมควร มันเป็นอุบายไง ถ้าเป็นอุบาย ถ้าเรามีคุณธรรมนะ เรารู้ได้นะ เราทำได้ เราทำได้

ที่เขาบอกว่า เพราะความคิดมันสวนทางไง สวนทางกับคำพูดหลวงพ่อ

สวนทาง มันสวนทางอยู่แล้ว ถ้าสวนทางนะ เพราะอะไร เพราะคนเรามีเป้าหมายนะ คนเราถ้าจะประพฤติปฏิบัตินะ ถ้าจะพ้นจากทุกข์ ถ้าเชื่อธรรมแล้วอยากจะประพฤติปฏิบัติธรรม มันอยู่ในศีลในธรรม พออยู่ในศีลในธรรม มันจะเข้าป่าเข้าเขาไป

เวลาผู้ที่ปฏิบัติ เขาไม่เคยปฏิบัตินะ เวลาเราเข้าไปอยู่ในป่า ไปอยู่ในป่าเพราะอะไร ไปอยู่ในป่า ไปเที่ยวป่าช้า ไปทำไม ไปเที่ยวป่าช้านะ ป่าช้า โดยธรรมชาติเขาบอกป่าช้าเป็นที่อยู่ของซากศพ ถ้าเป็นที่อยู่ของซากศพปั๊บ จิตวิญญาณต้องอยู่ที่นั่น แล้วเราเข้าไปทำไมน่ะ เราเข้าไปทำไม เราเข้าไปวัดคุณธรรมเราไง เราเข้าไปวัดว่าศีลเราบริสุทธิ์ไหมไง

เวลาไปอยู่ในป่าช้านะ อยู่ในป่าในเขามันมีสัตว์ร้ายนะ เพราะเวลาเจอ ดูสิ ดูประวัติหลวงปู่มั่นไหม ดูประวัติครูบาอาจารย์ไหม เวลาไปเจอช้างพี่ชาย...น้องชายจะขอเดินผ่านไปได้ไหมพี่ชาย

เพราะเราไปเจอ ถ้ามันไสเข้ามาล่ะ ไปเจอกัน ถ้าเราไม่เห็นมันก่อน มันพุ่งเข้าใส่ มันเอางวงรัดนะ มันฟาดตายเลย มันเหยียบพระตายนะ แล้วเราไปอยู่กับเขา เราไปอยู่อย่างไร

หลวงปู่ขาวพอไปเจอ หลวงปู่มั่นให้พูดกับช้างพี่ชาย...น้องชายเห็นพี่ชายแล้วน้องชายกลัวมาก น้องชายจะขอเดินไปหน่อยได้ไหม

มันก็เวรกรรมเนาะ พอเดินไปนะ เดินไป ๓ องค์ องค์สุดท้าย กลดมันไปเกี่ยวกับกิ่งไม้ นึกว่า โอ้โฮ! โดนแล้ว นึกว่าโดนแล้วนะ หันมานี่นะ กลดไปเกี่ยวกับกิ่งไม้ ตกใจเกือบตาย

เราจะบอกว่า ถ้าเหตุการณ์อย่างนั้น มันจะเข้ามาดูศีลดูธรรมเราแล้ว เวลาเราไปทำบาปอกุศล เราไปทำความผิด ไปทำต่างๆ แล้วทำแล้วเราเป็นคนทำ กรรมมันก็ให้ผลกับเรา ให้ผลที่ไหน ให้ผลในใจของเรา แต่มันยังไม่แสดงออก แต่เวลาเราเข้าไปอยู่ในป่า สิ่งที่เราทำมา สิ่งที่เราทำมาน่ะ ใจมันรวนเรแล้ว พอไปเจอช้าง มันวิ่งหนีก่อนนะ มันไม่เรียกพี่ชายหรอก เจอช้างก็ขึ้นต้นไม้แล้ว เพราะรู้ว่าตัวเองมีความผิดอยู่เยอะ

นี่ไง ถ้าศีล เวลาเข้าป่าไป เขาไปวัดที่ศีล ศีลปกติไหม ศีลเราดีงามไหม ถ้าศีลเราดีงาม เราทำสมาธิได้ไหม เราทำของเราได้ไหม ถ้าทำของเราได้ เป้าหมายมันอยู่ที่นี่ ฉะนั้น เป้าหมายอยู่ที่นี่ มันถึงไม่เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างที่เขาคิดไง

แล้วบอกว่า เวลาที่เขาเขียนเฟซบุ๊กมาไม่เห็นเหมือนหลวงพ่อเลย

ก็อย่างนี้ อย่าว่าแต่เอ็งว่าไม่เหมือนหลวงพ่อเลย พระเขาเกลียดหลวงพ่อเกือบตาย พระในสังคมเขาบอกว่าอืม! ไอ้หงบมันชอบติดดาบให้โยมมีพระมาพูดกับเรานะ บอกว่า ถ้าเอ็งติดดาบให้เขาอย่างนี้ พระอยู่ยากนะ พระอยู่ยาก ก็ติดดาบให้เขาเรื่อย

ไม่ได้ติดดาบ ให้ปัญญาเขา เพราะการเผยแผ่ธรรมก็เรื่องปัญญาทั้งนั้นน่ะ ก็เรื่องอย่างนี้ เราไม่ต้องไปติดหรอก เพราะมันอยู่ในตำรา ในพระไตรปิฎก ในบุพพสิกขา ใครไปอ่านมันก็ค้นคว้าได้ มันมีอยู่ในตำราอยู่แล้ว แต่คนจะค้นคว้า คนจะศึกษาหรือไม่ ถ้าคนค้นคว้า คนศึกษา เขาก็รู้ ฉะนั้น เวลาพูด เพียงแต่เราพูด เรามีเทคนิคไง พูดให้เขาสนใจ ชวนให้เขาได้ศึกษา ชวนให้เขาซาบซึ้ง อันนี้มันฝังใจ พอฝังใจไปแล้วมันก็ไปดูพระไง

พระบอกเลยติดดาบให้โยมอย่างนี้พระอยู่ยากนะ

ติดดาบให้เขา เขามีปัญญา เขามีปัญญาเพื่อต่อสู้กับกิเลสของเขา ถ้าต่อสู้กับกิเลสของเขา กิเลสของโยมเขียนมานี่ ถ้าต่อสู้ของเรา เราก็ดูของเราใช่ไหม

ฉะนั้น ถ้าบอกว่า เขาพูดไม่เหมือนหลวงพ่อเลย

ก็นี่แหละ ถ้าพูดไม่เหมือนก็ดูที่ว่าเห็นภัยในวัฏสงสารหรือเปล่า เห็นภัยในวัฏสงสาร เห็นภัยไง

เรานั่งกันอยู่นี่ เรามีความสุขนะ เราย้อนระลึกสิ เวลาคลอดออกมาจากช่องคลอดของแม่เขาทุกข์ขนาดไหน เราต้องลอดคลอดออกมาจากช่องคลอด ถ้าตายในท้องก็มี เกิดมาตายตอนเป็นทารกก็มี เกิดมาโตขึ้นมาแล้วมาประสบอุบัติเหตุตายก็มี เห็นไหม นี่เห็นภัยในวัฏสงสารไง

แต่ตอนนี้นั่งอยู่สบาย เมื่อยก็ขยับ อยู่ในท้องขยับไม่ได้ อยู่ในท้อง ๙ เดือน ทำอะไรไม่ได้ ถ้าคิดอย่างนี้มันจะเห็นโทษไง เห็นโทษการเกิด การแก่ การเจ็บ การตายไง ถ้าเห็นของมัน เห็นภัยในวัฏสงสาร มันจะรีบขวนขวาย

ไอ้นี่ออกมาก็สบายไง เวลาคนใกล้ตายบอกว่าให้ทำอะไรก็ทำ เพราะอยากจะรอดตาย พอรอดตายมาแล้วไม่ทำ เลิก นี่ก็เหมือนกัน ไม่เห็นภัยในวัฏสงสารมันถึงได้เพลิดเพลินกับชีวิตไง มันถึงได้เขียนเฟซบุ๊กอยู่นี่ไง

ว่าแต่เขานะ ของเราไม่มี ของเรามีแต่เจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่เขาทำเพื่อประโยชน์ไง

นี่เพราะไม่เห็นภัยในวัฏสงสารถึงได้ใช้เวลาไปโดยฆ่าเวลาโดยเปล่าประโยชน์ไง แต่ถ้าเห็นภัยในวัฏสงสาร มันจะมีสติปัญญาแก้ไขเรามา

นี่พูดถึงว่าทำไมเขาไม่พูดเหมือนหลวงพ่อเลย

เพราะเป้าหมาย ถ้าเป้าหมายเขาดี เขาจะต้องขวนขวายในตัวเขา เขาจะต้องเอาเวลาที่ไปประพฤติปฏิบัติ อย่างที่โยมว่านี่ ตอนแรกนึกว่ามีพระเป็นเพื่อนบนเฟซบุ๊ก อยากมีพระเป็นเพื่อน เพื่อนที่ดี กัลยาณมิตรที่ดี

ถ้ากัลยาณมิตรที่ดีก็ดีมากๆ เลย ถ้าไม่ดี เราก็ต้องแยก เพราะว่ามันเป็นจริตนิสัยไง อยากมีกัลยาณมิตรทางธรรม ทีนี้พอมีแล้ว พอเขาไม่พูดเหมือนกัน เขาบอกพระรูปนี้เขาไม่ได้เน้นเรื่องกรรมฐาน แต่เขาเน้นเรื่องเศรษฐกิจ

อันนี้มันเริ่มต้นเฟซบุ๊ก มันก็บอกแล้ว พอเราเขียนเฟซบุ๊กเลย เฟซบุ๊กต้องมีค่าใช้จ่าย ถ้าเราทำประโยชน์เพื่อสังคม เรามีค่าใช้จ่าย จะมีใครช่วยบ้าง เราทำนี่มันมีค่าใช้จ่ายแล้ว ใครจะช่วยบ้าง...มันก็ออกอย่างนั้นแล้ว

แต่เวลาของเรา ตอนที่เรายังไม่มีกำลัง เราก็ไม่ได้ทำหรอก แต่ตอนนี้เราทำแล้วก็มีคนจะเข้ามาช่วยเหมือนกัน เราก็บอกว่า มันเป็นหน้าที่ของเรา ถ้าเราทำแล้ว หน้าที่ของเรา ดูหลวงตาสิ หลวงตาท่านบอกว่าท่านทำวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน ท่านทำวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชนมันต้องมีค่าใช้จ่าย

ทีนี้ค่าใช้จ่าย ท่านอยู่ มันไม่มีปัญหา ท่านพูดเอง เวลาท่านอยู่ ไม่มีปัญหาหรอก เพราะว่าท่านมีอำนาจวาสนาบารมี ทุกคนก็อยากจะช่วยเหลือ เพราะทุกคนเชื่อใจในตัวท่าน แต่ท่านบอกว่าเวลาท่านตายไปแล้วสิ ถ้าท่านตายไปแล้ว ไอ้วิทยุเสียงธรรม ใครจะดูแล ท่านถึงได้ตั้งเป็นมูลนิธิไว้ ท่านพูดเอง ท่านถึงได้ตั้งมูลนิธิไว้เพื่อเก็บดอกผลมัน เพื่อจะให้จรรโลงนี้ไป นี่คนที่มีสติปัญญาเขาคิดกันอย่างนี้ เขาทำเพื่อประโยชน์ ฉะนั้น ตั้งมูลนิธิไว้ แล้วตอนนี้เขาก็ดูแลกันอยู่ ดูแลนี้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำ เราก็รอจนกว่าเรามีกำลังของเรา ถ้าเราทำได้ เราก็พอทำได้ แล้วเราก็ดูกำลังว่าทำแค่นี้ เราก็ไม่ได้คิดขนาดที่ว่าถ้าตายไปแล้วจะต้องให้ใครมาดูแลต่อหรอก ก็คิดว่ามันจะดูแลกันได้แค่พอมันเป็นไปได้ เพราะว่ากำลังคนมันไม่เหมือนกัน ความคิดของคนไม่เหมือนกัน แล้วอำนาจวาสนาคนมันก็ไม่เหมือนกัน

ฉะนั้น สิ่งที่น้ำใจไง น้ำใจว่า ในเมื่อตัวเองยังทุกข์อยู่นี่ เราก็ต้องขวนขวายเพื่อจะเอาตัวเองพ้นจากทุกข์ แต่คนเราพอมันช่วยตัวเองได้แล้วมันควรจะช่วยเหลือคนอื่นบ้างไง

ฉะนั้น เวลาพอเรามีกำลังแล้วเราถึงมาช่วยสังคม เราถึงมาทำของเรา แล้วใครจะมาช่วย เราก็ให้ช่วย ให้ช่วยโดยที่ว่า โทษนะ ให้ช่วยแบบเป็นส่วนเกินน่ะ ส่วนตัวจริงของเราคือเราเป็นคนรักษาเอง เราเป็นคนออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด แล้วใครจะช่วยก็คือส่วนเกิน ช่วยก็ช่วย ไม่ช่วยก็ไม่เป็นไร

ถ้าอาศัยเขาจะช่วยนะ เดี๋ยวก็ตายไง ถ้าอาศัยคนนู้นช่วย ถ้าเดือนนี้ไม่ได้ช่วย เดือนนี้ก็ไม่ได้จ่ายไง

ของเราไม่ต้อง ของเราพร้อมอยู่แล้ว แล้วถ้าใครจะช่วย นั่นมันก็น้ำใจ ฉะนั้น เราถึงเอาตรงนี้เป็นส่วนเกิน เราบอกอย่างนั้นเลย เป็นส่วนเกิน แต่ของเราต้องยืนอยู่ได้ก่อน ต้องยืนอยู่ได้ก่อน

ฉะนั้นที่บอกว่า เขาเน้นเรื่องเศรษฐกิจ เขาไปถ่ายรูปกัน

อันนั้นมันเป็นการประชาสัมพันธ์น่ะ มันเป็นการประชาสัมพันธ์ มันเป็นการให้โยมเชื่อถือเขา อันนี้พูดถึงเน้นเรื่องธุรกิจนะ

ทีนี้เขามาถามว่าแล้วทำอย่างไร ท่านจะเอาเวลาที่ไหนไปปฏิบัติ

ที่ว่าเขาจะเอาเวลาที่ไหนปฏิบัติ ถ้าเขาจะปฏิบัติ เขาก็จะไม่มาเขียนเฟซบุ๊กอย่างที่โยมเห็น เพราะเขามาทำอย่างนั้นเขาถึงไม่ได้ปฏิบัติไง ถ้าเขาไม่ปฏิบัตินะ

คนปฏิบัติถ้าปฏิบัติแล้วดี มันก็จะดีมากๆ เลย แต่คนปฏิบัติไปแล้วมันปฏิบัติไปไม่ได้ บางคนกลัวนะ อย่างเรา ถ้าเรานั่ง ๑๒ ชั่วโมงแล้วเข็ดเลยนะ จะมานั่งรอบสองมันแหยง มันไม่กล้าเลย

คนเรานะ เวลาปฏิบัติมันมุมานะเต็มที่เลย แล้วมันไปไม่ไหว เขาเรียกว่ากรรมฐานม้วนเสื่อ พอมันม้วนเสื่อกลับมาแล้วนะ มันก็อยู่อย่างนั้นน่ะ วันๆ พออยู่อย่างนั้น พอเป็นอย่างนั้นไป มันไปไม่ได้หรอก

แต่ถ้ามันจริงจังขึ้นมา มันก็ต้องมุมานะเอาจริงให้ได้ ถ้าเอาจริงให้ได้ นั่นเวลาปฏิบัติ ถ้าเวลาปฏิบัติปั๊บ โยมไม่ต้องไปแก้ให้เขาหรอก เฟซบุ๊กจะหายไปเลย เพราะเขาจะเข้าทางจงกรม เขาจะเข้าทางจงกรม เขาจะนั่งสมาธิ เฟซบุ๊กนั้นหายไปเลย

แต่ถ้าเขาไม่ได้ปฏิบัติ มันก็จะไปอยู่ในเฟซบุ๊กนั่นน่ะ มันจะเกิดตรงนั้นน่ะ แล้วโยมก็จะเห็นอย่างนั้นน่ะ

เราจะบอกว่า พระมันก็มี ถ้าพระเริ่มต้น พระ สามเณรน้อย ถ้าสามเณรน้อยมีนิสัยที่ดี สามเณรน้อยที่เจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านเอามาชุบเลี้ยง พอชุบเลี้ยงขึ้นมาจนเป็นสมเด็จมหาวีรวงศ์ จากเณรน้อย เราดูแลส่งเสริมขึ้นมาจนได้เป็นถึงสมเด็จ

นี่ก็เหมือนกัน พระเราปฏิบัติ พระเล็กพระน้อย ถ้าเขาตั้งใจ เขาจริงจังของเขา ถ้าเราเห็นว่าส่งเสริมได้ เราก็ส่งเสริม แต่เวลาถ้ามันออกนอกลู่นอกทาง มันนอกลู่นอกทางก็อีกเรื่องหนึ่งนะ

ในสังคมทุกสังคมมีคนดีและคนเลว ในดวงใจดวงหนึ่งเดี๋ยวก็คิดดี เดี๋ยวก็คิดร้าย ในความคิดเราเดี๋ยวมันก็พลิกแพลง เราดูตรงนี้ไง เราจะฟันธงว่ามันจะผิดเลวร้ายไปทั้งหมด ถ้าเขาคิดได้ขึ้นมาล่ะ แต่ถ้าไอ้ว่าจะดีไปทั้งหมดเลย พระสายพระป่า สายหลวงปู่มั่นนี่สุดยอดๆ นะ เราเองเรายังปวดหัวอยู่นี่ สุดยอดๆ ไอ้ที่ว่าสุดยอดๆ มันเป็นแบรนด์ แบรนด์มันมีคุณค่า แต่เนื้อหาสาระจริงหรือเปล่า

ทุกสังคมมีคนดีและคนเลว ฉะนั้น มันต้องอยู่ที่สติปัญญาของเรา เราต้องคัดเลือกเอาเอง เราต้องมีสติปัญญา กุศลธรรม เราทำแต่คุณงามความดี ขอให้เจอคนดีๆ กับเราก็แล้วกัน

พวกเรา เราอยากคบเพื่อนดี อยากคบคนดี แล้วเวลาคบเพื่อนขึ้นมา เวลาไปโดนอะไรเจ็บๆ เจออีกแล้ว ก็อยากเจอของดีๆ ทำไมมันเจ็บทุกทีเลย

มันเป็นวาระ วาระที่มันจะเกิด เราต้องตั้งสติของเรา

ฉะนั้น เขาบอกว่า แล้วเขาจะเอาเวลาที่ไหนปฏิบัติธรรม แล้วทำให้จิตใจของเขาเลิกคบพระดีกว่า แต่เขาก็บอกนะเพราะลูกเชื่อพระพุทธเจ้า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ อยากจะฟังเทศน์เป็นสัจธรรม อยากจะเจอแต่ผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่ไม่ติดวัตถุเขาว่าอย่างนั้นเลยนะ อยากจะเจอผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

แต่ถ้าอยากจะเจอผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เราจะต้องปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก่อน ถ้าเราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เราจะมองออกได้เลยว่าใครปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจริงหรือไม่จริง

ถ้าเราไม่ได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก่อน เหมือนที่เราบอกตั้งแต่ทีแรก เราบวชทีแรก เรามีความเชื่อนะ ใครสอนอะไรก็เชื่อ พูดเรื่องนี้บ่อยมากเลย เพราะโดนหลอกมาเยอะ บวชใหม่ๆ โดนหลอกมาเยอะ โดนหลอกมาเยอะ เพราะบวชใหม่ๆ เรายังตั้งตัวเองไม่ได้ เราก็หวังพึ่งคนอื่นทั้งนั้นน่ะ แล้วเขาชี้นำไปๆ ชี้นำก็ทำขวนขวายไปกับเขานั่นน่ะ ผิดๆ ถูกๆ จนมาคิดเดี๋ยวนี้อายนะ

มีอยู่ทีหนึ่งไปเจอพระธุดงค์มาจากอุบลฯ เขาไม่ใส่รองเท้า เราก็ไม่ใส่รองเท้าตามเขา เข้าไปในตลาดไม่ใส่รองเท้า มาคิดถึงตอนนี้แล้วอายน่าดูเลย แต่ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ เห็นว่าไม่ใส่รองเท้าแล้วเคร่งครัด เราก็ไม่ใส่รองเท้ากับเขาเหมือนกันนะ เดินไปบนถนนปูน ร้อนก็ร้อน ไปกับเขา

มาคิดถึงตอนนี้ โทษนะ โง่ฉิบหายเลย เชื่อเข้าไปได้อย่างไร แต่ตอนนั้นเชื่อ เห็นแล้วมันน่าเชื่อถือไง ไม่ใส่รองเท้า เราใส่รองเท้าแสดงว่าเราด้อยกว่าใช่ไหม เขาไม่ใส่รองเท้า เราก็ไม่ใส่รองเท้ากับเขาพักหนึ่ง มาคิดถึงอดีตแล้วมันน่าขำตัวเองไง แต่ตอนนั้นเพราะไม่ได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ถึงไม่รู้ว่ามันถูกหรือผิด ถึงได้เชื่อตามเขาไป

แต่พอปฏิบัติไปๆ เดี๋ยวนี้มันรู้นะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้อนุญาตให้พระโสณะใส่รองเท้า พระพุทธเจ้าอนุญาตก่อน พระพุทธเจ้าเป็นผู้อนุญาต แต่ถ้าเรายังไม่ได้ศึกษา มันไม่รู้ พอไม่รู้ เห็นไหม

ถ้าเราจะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก่อน แล้วเราจะเข้าใจว่าคนอื่นปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหรือไม่ ถ้าเรายังปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตัวเราเองไม่ได้ เราจะตีความไม่เป็น แล้วเราก็จะเชื่อกระแสสังคม กระแสสังคมที่เขาสร้างกระแสกันขึ้นมา เราก็เชื่อถือเขาไปหมดเลย

แต่ถ้าเราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แล้วเรามีครูบาอาจารย์ในกลุ่มบัณฑิตของเรา ในกลุ่มปัญญาชนของเรา เราศึกษาของเรา เรามีหลักเกณฑ์ของเรา เราจะเข้าใจ เราจะมองออกว่าอะไรดี อะไรชอบและไม่ชอบ เราดูของเราได้

แล้วพอชอบหรือไม่ชอบ เราก็ต้องเก็บไว้ในใจของเรา เพราะความชอบของคนมันชอบ ตั้งแต่เด็กๆ เด็กๆ มันอยากกินแต่ขนม พ่อแม่ก็อยากให้กินแต่ข้าว ไอ้เด็กๆ มันก็อยากกินขนมของมัน เวลาโตขึ้นมานะ มันไม่กินขนมแล้ว มันอยากจะกินอาหารชีวจิต มันอยากจะรูปสวย มันอยากจะมีเชปดีๆ

แต่ตอนเด็กๆ มันกินของมัน มันชอบตอนไหนล่ะ ก็มันชอบตอนนั้น เด็กมันก็ชอบของเด็ก พอโตขึ้นมามันก็ชอบของเรา ถ้าเรารู้ว่าชอบทำแล้วเราก็จะไม่ทำ เราก็จะไม่ไปยุ่งตรงนั้น แต่ถ้าเรายังไม่รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบ มันก็เป็นอย่างนั้นไป

ฉะนั้น ถ้าเราเชื่อพระพุทธเจ้า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นี่สุดยอดนะ เราจะบอกว่า ถ้ามันเห็นภัยในวัฏสงสาร ถ้ามันเห็นเป็นประโยชน์กับเรานะ มันจะอยู่ในศีลในธรรม ศีลธรรมมันเป็นข้อวัตรปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัย หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นวางข้อวัตรปฏิบัติ

คำว่าข้อวัตรปฏิบัติเป็นข้อบังคับให้เราฝึกหัดใจของเรา เพราะศีลธรรมมันสำคัญตรงนี้ไง กรอบมันสำคัญ สำคัญที่ฝึกหัดใจ

กรอบก็คือกรอบ ศีลคือข้อห้าม แต่จริงๆ คือเจตนา จริงๆ คือหัวใจของเรา ถ้าหัวใจของเรามันสงบระงับ นี่ตัวศีลแท้ ศีลคือความปกติของใจ ถ้าใจมันปกติ มันไม่ผิดศีล ถ้าใจมันคิดออกไปนอกเรื่องนอกราวแล้วมันกระทำไป มันจะผิดศีลแล้ว ฉะนั้น พระพุทธเจ้าวางศีลธรรมไว้

แต่ครูบาอาจารย์ของเราวางข้อวัตรปฏิบัติไว้ ข้อวัตรปฏิบัติ เราพยายามฝึกหัดของเรา เราพยายามทำของเราขึ้นมาเพื่อประโยชน์กับเรา มันเป็นประโยชน์นะ ไม่มีครูบาอาจารย์วางไว้ เราก็ต้องไปค้นหาเอง เราจะทำอย่างไรเอง เราต้องทำทุกอย่างเอง

ครูบาอาจารย์วางไว้ เราทำตามนั้นเพื่อรักษาใจเรา ถ้าเรารักษาใจเรา มันอยู่ที่ว่า ถ้าผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสาร เห็นภัยแล้วมันจะไม่ออกนอกลู่นอกทาง

แต่เวลาสมณะแล้วไม่เห็นภัยไง ไปทำ ไปเขียน ไปเชื้อไปเชิญ ไปโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อต้องการให้โยมเดินตาม เห็นไหม เขาทำให้เนิ่นช้า เขาทำให้เสียเวลา เขาไม่เห็นภัยในวัฏสงสาร

ถ้าเห็นภัยในวัฏสงสาร เวล่ำเวลามีค่าทั้งนั้นน่ะ เวลา แล้วการกระทำของเรามันเป็นประโยชน์กับเรา เรากลับมาที่นี่

แล้วบอกว่า ลูกทำผิดหรือไม่ทำผิด

เอาประโยชน์ของเรา เอาประโยชน์ของเรา ให้ตัวเองทำดีก่อน แล้วสิ่งที่เราช่วยเหลือเจือจานได้เพื่อประโยชน์กับศาสนา เราก็ทำ ถ้าเราช่วยเหลือเจือจานไม่ได้ เราปฏิบัติบูชา เราปฏิบัติบูชาพุทโธของเราเพื่อประโยชน์กับใจเรา อันนี้เพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง