ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

นอกกาย

๒๑ ก.พ. ๒๕๕๘

นอกกาย

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องการพิจารณากายนอก

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ กระผมได้อ่านและฟังเทศน์ของหลวงพ่ออยู่เป็นประจำ นับว่ามีประโยชน์มากมหาศาล ได้ทั้งความรู้และความเข้าใจในการปฏิบัติภาวนา อีกทั้งถามตอบมีเกร็ดความรู้เยอะมาก

วันนี้ผมได้ค้นเรื่องการพิจารณากายจากเว็บไซต์หลวงตา และเว็บหลวงพ่อในเทศน์สติปัฏฐาน ๔

หลวงตาเทศน์ไว้ว่าการพิจารณากายจะเป็นภายนอกหรือภายในก็ได้ตามแต่ถนัดใจ ในโอกาสอันควรจะพิจารณากายไหน คำว่ากายในคือกายของเราทุกส่วน กายนอก ได้แก่กายของคนและสัตว์อื่น กายในกาย ได้แก่ส่วนหนึ่งๆ แห่งอาการกายทุกส่วน

และเทศน์หลวงพ่อที่ว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมะจะต้องมีขั้นมีตอน เช่น การพิจารณากายนอก (เป็นพระโสดาบัน) กายใน (สกิทาคามี) กายในกาย/อสุภะ (เป็นอนาคามี)”

กระผมเห็นว่ามีความแตกต่างกัน และความสงสัยดังนี้

. ลำดับการพิจารณา

หลวงตาบอกว่าจะพิจารณาอะไรก็ได้ตามถนัด

แต่หลวงพ่อให้พิจารณาเป็นขั้นเป็นตอนคือกายนอกก่อน

. ความหมายกายนอก

ของหลวงตาคือกายของคนและสัตว์อื่น

ของหลวงพ่อคือกายของเราพิจารณาเพื่อให้จิตละสักกายทิฏฐิ

จึงขอโอกาสหลวงพ่อให้ความกระจ่างแก่ลูกศิษย์ผู้ด้อยปัญญาด้วยครับ

ตอบ : เอาอารัมภบทนี้ก่อนเนาะ ที่ว่า พิจารณากายนอก กายใน

ไอ้เรื่องกายนอก กายใน เวลาเราพูดนะ เวลาไปศึกษาจากพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกมีพระวินัยกับพระธรรม พระธรรมคือสุตตันตปิฎก สุตตันตปิฎก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ ถึงเวลาท่านเทศนาสอนใคร สอนใคร สอนอย่างใด ถ้าสอนใคร สอนอย่างใด มันก็อยู่ที่ผู้ที่รับคำสอน ผู้ที่รับคำสอนมันมีวุฒิภาวะแค่ไหน ถ้ามีวุฒิภาวะแค่ไหน ท่านจะสอนแบบนั้น

แล้วอนาคตังสญาณของท่าน ท่านจะเล็งญาณไงว่า คนคนนี้ ผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติเขาได้สร้างเวรสร้างกรรมขนาดไหนมา

อย่างเช่นจูฬปันถก มหาปันถกเป็นพี่ชาย เป็นพระอรหันต์ จูฬปันถกมีอำนาจวาสนามาบวชเหมือนกัน แล้วมหาปันถก น้องชายทุกข์จนเข็ญใจนะ แล้วมีปัญหาในครอบครัว แล้วพี่ชายมาบวชก่อน พอพี่ชายมาบวชแล้วเป็นพระอรหันต์แล้วก็อยากเอาน้องชายมาบวชด้วย เพราะเป็นพี่เป็นน้องกัน

เวลามาบวชแล้ว พี่ชายพยายามสอนน้อง สอนอย่างไรก็ไม่ได้ สุดท้ายให้น้องไปสึกไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นถึงจริตนิสัย ไปยืนดักอยู่หน้าประตูเลยจูฬปันถก เธอบวชเพื่อใคร

บวชเพื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แล้วจะไปไหน

จะไปสึก เพราะว่าพี่ชายให้ไปสึก

แล้วเธอบวชเพื่อใครล่ะ

บวชเพื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ไม่ต้องสึก มานี่

มาสอน เห็นไหม เอาผ้าขาวมาลูบ ผ้านี้ขาวหนอๆ พอลูบๆๆ ไป โดยมือของเรามันสกปรกโดยธรรมชาติ พอลูบไป ผ้าขาวมันก็เศร้าหมองไง ปัญญามันปิ๊ง! เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาอย่างนี้เลยนะ เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเลย เพราะอะไร เพราะปัญญามันเห็นไง สายตาลูบผ้าขาวอยู่ แล้วตัวเองเพ่งอยู่ ความคิดมันแยกแยะมันพิจารณาของมันอยู่ ปิ๊ง! เป็นพระอรหันต์เลย

นี่เทียบระหว่างว่า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเล็งอนาคตังสญาณ ท่านเห็นว่าจริตนิสัยมันมาอย่างไร แต่พี่ชายเป็นพระอรหันต์ แล้วพี่ชายก็รักน้องมาก พี่ชายไปเอาน้องมาบวชเอง แล้วพี่ชายก็มาปลุกปั้นเอง พี่ชายพยายามแบบว่าจะกดดันให้เป็นพระอรหันต์ให้ได้ น้องชายมันก็ดิ้นรน มันไปไม่ได้ สุดท้ายพี่ชายอายเขาไง เพราะพี่ชายเป็นพระอรหันต์น่ะ ให้ไปสึก สึกเลย สึกไป ไม่ให้อยู่ อายเขา

พระพุทธเจ้ามาโปรด เป็นพระอรหันต์เลย

นี่พูดถึงในสุตตันตปิฎกมันมีเรื่องอย่างนี้มาก ถ้ามีเรื่องอย่างนี้มาก

ฉะนั้น เวลาที่ว่าเวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติ แล้วพอประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเป็นความจริงขึ้นมาแล้ว ท่านก็สอนเรื่องสติปัฏฐาน ๔ ที่เราพูดประจำว่าสติปัฏฐาน ๔

เวลาสติปัฏฐาน ๔ ทางฝ่ายวิชาการ ทางการศึกษา เขาบอกว่า เขาพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม เป็นสติปัฏฐาน ๔ แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเรากำหนดพุทโธๆ มันเป็นสมถะ มันไม่ใช่วิปัสสนา ปฏิบัติแล้วมันไม่เกิดปัญญา มันจะเกิดนิมิต ภาวนาไปแล้วจะหลงทาง นี่เขาว่ากันไป

แล้วเราบอกว่าพิจารณากาย เวลาพิจารณากาย สติปัฏฐาน ๔ มีกายานุปัสสนาสติปัฏฐานที่ว่ากัน กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เขาว่าของเขา

แล้วเวลาบอกกายนอก กายใน เขาบอกว่าไม่มี ไม่มี เป็นโวหาร มันเป็นพระป่า พูดเป็นโวหาร พวกธรรมกถึกพูดไม่มีที่มาที่ไป

มันมีกายนอก กายใน กายในกาย เพราะอะไร เพราะคำพูดอย่างนี้ กายนอก กายใน กายในกาย เพราะมันมีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น พอหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านพิจารณาของท่าน หลวงปู่มั่นท่านพิจารณาของท่าน เห็นไหม

ดูสิ หลวงปู่เจี๊ยะท่านขึ้นจากวัดทรายงามขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น ท่านพิจารณาของท่าน ท่านเป็นของท่าน แล้วท่านไม่พูดให้ใครฟังเลย เพราะเวลาท่านคุยกับเราไง ท่านบอกในปัญญาของท่าน ท่านไม่เคยพูดให้ใครฟังเลย แม้แต่อยู่กับอาจารย์กงมา ท่านก็ไม่พูดให้อาจารย์กงมาฟัง เพราะอยู่ด้วยกัน

สุดท้ายแล้วนะ ท่านบอกว่า คนที่ได้ฟังต้องเป็นหลวงปู่มั่นองค์เดียวเท่านั้น ท่านขึ้นไปเชียงใหม่ ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น พอไปพบหลวงปู่มั่นแล้วนะ กว่าจะขึ้นไป มันก็มีตามลายทางไป กว่าจะขึ้นไปถึงวัดเจดีย์หลวง ท่านไปพักวัดเจดีย์หลวง จากวัดเจดีย์หลวง ท่านต้องเข้าป่าเข้าเขาไป ลุยขึ้นไป ไปหาหลวงปู่มั่น

มันกระหายนะ มันกระหาย มันอยากจะพบครูบาอาจารย์ พอท่านบอกไปพบหลวงปู่มั่น ท่านไปรายงานให้หลวงปู่มั่นฟังหมดเลย แล้วท่านก็ถามว่าแล้วให้ผมทำอย่างไรต่อ ให้ผมทำอย่างไรต่อ

นี่เวลาขึ้นไปนะ เพราะท่านพิจารณากายจนท่านละแล้ว แล้วท่านพิจารณาเป็นธาตุแล้ว เพราะท่านผ่านหมดแล้ว พอไปถึงแล้ว หลวงปู่มั่นก็บอกว่าก็พิจารณาอย่างเดิมคือพิจารณากายอีก

กายนอก กายใน กายในกาย เวลามันพูดเพราะอะไร เพราะพิจารณากายมาแล้ว วางมาแล้ว ได้ละมาแล้ว แล้วก็พิจารณาซ้ำเข้าไป มันก็สูงขึ้นไป แล้วพิจารณาอะไรต่อไปล่ะ ก็พิจารณากาย

แต่ของเราจะบอกว่า การพิจารณากายไปแล้วมันก็จบแล้ว มันก็ไม่มีกายให้พิจารณาแล้ว เพราะว่าเราได้ทำลายจบแล้ว แล้วเราจะไปพิจารณาอะไรต่อไปล่ะ

มันมีกายอย่างหยาบ กายอย่างละเอียด นี่พูดถึงเวลาผู้ที่พิจารณาสติปัฏฐาน ๔ พิจารณากายโดยวิปัสสนา

ทีนี้ผู้ที่หลวงปู่มั่นกับหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ขณะนั้น หลวงปู่เจี๊ยะท่านได้สกิทาคามีขณะนั้น นี่พระอริยบุคคลสูงกับพระอริยบุคคลต่ำท่านสนทนาธรรมกัน

อย่างพวกเรานะ พวกเราใคร แล้วก็บอกว่าเวลาพิจารณากายๆ ที่หลวงตาท่านพูด บอกว่าฟังเทศน์หลวงพ่อแล้วก็ฟังเทศน์หลวงตา ก็เลยงง หลวงพ่อพูดไปอย่างหนึ่ง หลวงตาพูดไปอย่างหนึ่ง

ถ้าหลวงตาพูดไปอย่างหนึ่งนะ เราก็อยู่กับท่าน ทำไมหลวงตาท่านไม่เรียกไอ้หงบมานี่ มาเขกหัวสักทีหนึ่ง เอ็งพูดไม่เหมือนข้าเลย นี่! มันก็ไม่เห็นหลวงตาเรียกไอ้หงบไปพูดสักที

ก่อนหน้านั้นการโต้แย้งเรื่องธรรมะ เรื่องความเห็น เราจะโต้แย้งกับพระเยอะ แล้วพระเขาบอกจะไปฟ้องหลวงตาๆ

บอกไปฟ้องเลย ไปฟ้องนะ ฟ้องเสร็จแล้วนะ หลวงตาท่านจะเรียกเราไปเขกหัวเลยนี่! บอกแล้วไม่ฟัง

เพราะท่านมาที่โพธาราม ท่านพูดบ่อย เวลามาโพธารามนะ ท่านจะสั่งญาติโยมไว้บอกว่าพระสงบนี่ลูกศิษย์เรา ถ้ามันทำไม่ดีนะ ให้เอาไม้ตีหน้าแข้งมัน

ท่านสั่งประจำที่มาที่โพธาราม ท่านสั่งเลยนะว่าให้ญาติโยม ถ้าไอ้หงบมันแผลงๆ ให้เอาไม้ซัดหน้าแข้งมันเลยหลวงตาสั่ง ท่านพูดเอง ท่านมาโพธารามท่านจะพูดอย่างนี้ประจำเลย

ขนาดท่านให้โยมซัดหน้าแข้งเรา ท่านยังทำได้ แล้วท่านทำไมจะซัดเราไม่ได้ ท่านเขกหัวเราได้ทั้งนั้นน่ะ แต่ทำไมท่านไม่เรียกเราไปเขกสักที

มันมีปัญหา คนนู้นเห็นอย่างนี้ คนนี้เห็นอย่างนี้ เราก็แย้งมาตลอด แล้วเราก็ท้าด้วย เราอยากให้หลวงตาเรียกเข้าไปด้วย มันจะได้จบไง เรื่องมันจะได้จบที่นั่น ไม่ต้องให้ใครมาอ้างหลวงตาพูดอย่างนั้น หลวงตาพูดอย่างนี้ไง

ใครๆ ก็อ้างว่าหลวงตาว่าอย่างนั้น หลวงตาว่าอย่างนี้

ว่าโดยอุปาทานของเขา ว่าโดยการอุปโลกน์ของเขา หลวงตาพูดอย่างไรก็แล้วแต่ เขาเข้าใจอย่างนั้น เขามีความเห็นอย่างนั้น เขาก็ว่าหลวงตาว่าอย่างนั้น แต่ในหัวใจของเขาว่างเปล่า ถ้าหัวใจของเขาว่างเปล่า มันก็เป็นปัญหาไง

เราถึงพูดว่า กายนอก กายใน

คำว่ากายนอก กายใน กายในกาย กายของจิตเวลาถึงจิต หลวงปู่เจี๊ยะพูดเองเลย เวลาเข้าไปถึงสุดขีดของมัน เพราะท่านพิจารณาของท่าน พิจารณาอสุภะ คายไปหมดแล้ว แล้วมันจะไปจับอย่างไร

คนไม่เคยปฏิบัติมันงงนะ มันจับไม่ได้หรอก จะจับเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปมันจะจับอย่างไร แล้วท่านจับของท่านได้ นี่ก็เป็นกายเหมือนกัน กายอันสุดท้าย มันมีหลักมีเกณฑ์

หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ในสมัยปัจจุบันนี้ หลวงปู่เจี๊ยะท่านขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นในปัจจุบันนั้น ในขณะนั้นท่านเป็นพระสกิทาคามี พระอริยบุคคลกับพระอริยบุคคลคุยกัน มันมีโกหกไหม มันมีอะไรบ้างที่มันจะทำให้มันผิดพลาด มันไม่มีหรอก

ทีนี้เพียงแต่ว่าเวลาหลวงตาท่านเทศนาว่าการ มันเป็นจริตนิสัย คำว่าจริตนิสัยหลวงตาท่านบารมียิ่งใหญ่ ดูสิ ลูกศิษย์หลวงปู่มั่นมหาศาลเลย ทำไมเวลาเทศนาว่าการที่แยกแยะธรรมะได้แจกแจงธรรมะได้ชัดเจน แจกแจงธรรมะให้พวกเราฟังแล้วชื่นใจ แจกแจงธรรมะแล้ว พวกเราฟังแล้วพวกเรามีกำลังใจ แจกแจงธรรมะแล้วพวกเรามีการขวนขวาย ได้ฟังเทศน์หลวงตา ได้ฟังเทศน์ครูบาอาจารย์แล้วมันมีความมุมานะ มีความขยันหมั่นเพียร มันอยากได้อยากดี เพราะอะไร เพราะท่านมีอำนาจวาสนาไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ เวลาท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วท่านเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วางธรรมและวินัยนี้ไว้ พระปัจเจกพุทธเจ้าก็สร้างสมบุญญาธิการมาเหมือนกัน แต่เวลาสำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ท่านก็สอนของท่านในชีวิตของท่าน แต่ท่านไม่ได้วางต่อไป อำนาจวาสนาบารมีคนไม่เหมือนกัน

ทีนี้หลวงตาท่านสร้างอำนาจวาสนาบารมีของท่านมาสูงส่ง พอท่านสร้างอำนาจวาสนาบารมีมาสูงส่ง ท่านถึงได้แสดงธรรม แสดงธรรมของท่าน ฟังแล้ว ฟังนะ คนฟังโดยธรรมะ คนฟังโดยธรรมะคือฟังหาเหตุหาผล ฟังหาช่องทาง ฟังแล้วมันชักจูงหัวใจ ไม่ใช่ฟังโดยแบบจับผิด

เราไม่มีความเห็นลงรอยกันมา เราไม่ชอบใจมาตั้งแต่ต้น พอเราไปฟัง เราฟังด้วยการจับผิด พอไปจับผิด จับผิดอย่างไร ถ้าจับผิดก็เป็นสุภาพบุรุษนะ ดูสิ ในสมัยพุทธกาล เทวทัตให้นายพรานธนูไปฆ่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปนั่งฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กลับใจ ขอบวช

เขาสั่งให้นายพรานไปฆ่าคนที่จะไปฆ่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาก็รอนานแล้ว ทำไมไม่เห็นมาสักที ก็เลยตามไปดู ไปถึง พระพุทธเจ้ายังเทศนาว่าการอยู่ ไปนั่งฟัง พอฟังเสร็จแล้วก็กลับใจขอบวช

ถ้าฟังโดยจับผิดๆ นะ ถ้ามีสติมีปัญญานะ ฟังด้วยความจับผิดนี่แหละ แต่ด้วยเหตุด้วยผล ฟังแล้วมันเศร้าใจ เหตุผลเราก็สู้ไม่ได้ ความคิดของเราก็เป็นพาลชน ท่านก็เป็นบัณฑิต ท่านพูดด้วยเหตุด้วยผล ทำไมใจเราไม่ลงล่ะ

ถ้าใจเราลง เราฟังแล้วมันเป็นประโยชน์กับเรา ไม่ใช่เป็นประโยชน์กับผู้เทศน์ เป็นประโยชน์กับเรา ถ้ามันเป็นบัณฑิต พอฟังแล้วมันกลับใจนะ มันจะเป็นอย่างนั้น

นี่พูดถึงว่าเวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการ เพราะท่านสร้างอำนาจวาสนาบารมีมามาก ในลูกศิษย์หลวงปู่มั่นด้วยกัน มีหลวงตา ธรรมะของท่านได้กว้างขวาง ได้ตีแผ่ออกมาให้พวกเรามีช่องทางไป

ฉะนั้น เวลาท่านเทศน์ถึงเรื่องพิจารณากายของท่าน กายนอกของหลวงตา หมายความว่า กายนอกหมายถึงกายคนอื่น กายนอก แล้วกายในกายก็หมายถึงอวัยวะเป็นส่วนๆ กายในกาย ในร่างกายของเรานะ มันก็มีอวัยวะ ๓๒ ใช่ไหม กายในกาย อย่างนี้ผิดไหม

ไม่ผิด ไม่ผิด ถูก หลวงตาพูดถูก แต่ท่านพูดถึงปุถุชนของเราทั่วๆ ไปไง คนเรา เราจะประพฤติปฏิบัติ เราจะประพฤติปฏิบัติใช่ไหม เราจะเริ่มต้นอย่างไร การประพฤติปฏิบัติ การปฏิบัติยากที่สุดคือตอนเริ่มต้นนี่ ตอนเริ่มต้นทำให้ใจสงบยากที่สุด แล้วพอใจสงบแล้วยกขึ้นวิปัสสนายิ่งยากเข้าไปใหญ่เลย แต่ถ้าผ่านขั้นแรกไปแล้วเขาเรียกภาวนาเป็น พอภาวนาเป็นแล้ว ทีนี้มันไปได้แล้ว มันไปได้เพราะเราเคยทำแล้วมันมีช่องทางไป

ฉะนั้น พอมันไปยากที่สุด ถึงบอกว่า อะไรก็ได้ จะกายนอก กายใน ไปเที่ยวป่าช้า ไปเที่ยวดูซากศพนะ กายนอก ดูกายคนอื่น คนเรานะ จะดีมากเลย ไปโรงพยาบาล ไปโรงพยาบาลนะ เห็นคนที่ว่ามีถุงน้ำเกลือนะ เห็นคน มันเศร้าใจนะ นั่นน่ะพิจารณากาย นี่กายนอก

เราไปโรงพยาบาลสิ ไปดูคนเจ็บคนป่วยสิ คนเจ็บคนป่วยมันน่าสังเวช นั่นน่ะพิจารณาอย่างนั้น นั่นน่ะกายนอก กายนอกนี่พิจารณากายโดยทั่วไป กายนอก ไปเที่ยวป่าช้า นี่กายนอก

กายนอก เห็นไหม เวลาหลวงปู่เจี๊ยะท่านพูดนะ แม้แต่กำหนดจิต หลวงปู่เจี๊ยะท่านสอนพิจารณากายนะ ให้เอาจิตอยู่ที่ข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วมือแต่ละข้อขึ้นไป ไปถึงข้อมือ ข้อมือ ให้เอาจิตอยู่นะ ให้เอาจิตอยู่ในร่างกาย จากข้อมือไปข้อศอก ไปข้อศอกแล้วขึ้นมาหัวไหล่ หัวไหล่แล้วขึ้นไปศีรษะ ไปกะโหลกศีรษะ ให้เวียนอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา ถ้าจิตมันสงบ ท่านบอกว่า นี่สมถะ

ไปฟังเทปหลวงปู่เจี๊ยะได้เลย ไปฟังเทศน์ในเทปหลวงปู่เจี๊ยะเยอะแยะ เวลาท่านพูดถึงการพิจารณากายอย่างนี้ อย่างนี้สมถะ

แล้วถ้าอย่างนี้แล้วหลวงปู่เจี๊ยะกับหลวงตาก็จะขัดแย้งกับหลวงพ่อกับหลวงตา

ตอนนี้หาพวกๆ หาคนที่ขัดแย้ง

เราจะบอกว่า ไม่มีใครขัดแย้งกับใครเลย หลวงปู่เจี๊ยะท่านถนัดของท่าน ประสบการณ์ของท่าน ท่านก็พูดของท่าน คนที่เวลาวิทยานิพนธ์มันไม่ต้องซ้อนกัน เราพูดบ่อยว่า ไม่ต้องห่วงว่าเราต้องให้เหมือน ถ้าให้เหมือนนะ ลิขสิทธิ์เขาฟ้องทันที ตอนนี้ตำรวจมันจะจับ ไก่ย่างเคเอฟซียังทอดไม่ได้เลย ทอดไก่ย่างมันยังจับ แล้วนี่พิจารณากายแบบหลวงตามันก็เป็นของหลวงตา มันเป็นของเอ็งหรือ

ทำความเข้าใจไว้ว่า เราไม่ต้องปฏิบัติให้เหมือนใคร แต่เราต้องการปฏิบัติให้หัวใจเราสงบ ให้เราเกิดปัญญา เกิดความสงบของเรา เกิดปัญญาของเรา เกิดมรรคของเรา

แต่ถ้าเราบอกจะให้เหมือนๆ ความจริงถ้ามันจะเป็น มันจะดีขึ้น แต่เราบอกว่ามันผิดแล้ว มันผิดจากของครูบาอาจารย์

ไม่จำเป็นว่าจะผิดจะถูกนะ เราจะไปทางไหนก็ได้ แต่ขอให้จิตสงบ เพราะจิตสงบมันรู้ว่ามันสงบ สงบแล้วนะ ถ้ามันเป็นมิจฉาทิฏฐินะ เดี๋ยวมันก็เสื่อม ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิแล้วเรามีสติปัญญานะ เดี๋ยวเราทำความสงบเข้ามาได้

ฉะนั้น จำไว้เลยว่า ไม่ต้องให้เหมือนใคร

ถ้าเหมือนนะ ในวงกรรมฐานเขาบอกว่าสัญญา คือจำมา ถ้าเราจะเหมือนใครก็แล้วแต่นะ แสดงว่าจำของคนคนนั้นมา

แต่ถ้าเราเป็นลูกศิษย์ เราฟัง เราจำ จำได้แม่นเลย จำให้แม่นๆ เลย แล้วเราปฏิบัติไป วางให้หมดแล้วปฏิบัติไป พอมันเกิดของเราขึ้นมา มันเหมือนกับเขาเรียกว่าได้รับอิทธิพล สาวก สาวกะ ผู้ที่ได้ยินได้ฟังขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา แล้วได้ยินได้ฟังมาแล้วก็จะท่องอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่ความจริงของเรา เราจะไม่ได้เกิดขึ้นเลย

เราได้ยินได้ฟังมา แล้วเราปฏิบัติขึ้นมาให้เป็นความจริงของเราขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงของเราขึ้นมา แล้วถ้าเป็นความจริงของเราขึ้นมา มันเป็นคนละแนวทาง มันแตกต่าง อย่างเช่นเราพูดบ่อย ย้ำแล้วย้ำอีกเลยนะ เพราะกรณีนี้ หลวงปู่คำดี หลวงปู่ชอบ หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่บัว พิจารณากายเหมือนกันทั้งนั้นน่ะ แต่ไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกัน มันวิทยานิพนธ์ของใครของมัน ความรู้เป็นของใครของมัน

เรากินน้ำพริกถ้วยเดียวกันยังอร่อยไม่เหมือนกันเลย น้ำพริกถ้วยเดียวกันนี่ บางคนบอกเผ็ดเกินไป ไอ้นั่นบอกว่าเค็มเกินไป น้ำพริกถ้วยเดียวกินด้วยกันมันยังไม่เหมือนกันเลย การภาวนาไม่เหมือนกัน

ไอ้นี่ไม่ใช่บอกว่าแหม! หลวงพ่อออกตัวใหญ่เลยนะ หลวงพ่อกลัวจะไม่ได้เป็นลูกศิษย์หลวงตา ห่วงนะ ออกตัวใหญ่เลย

ไม่เคยออกตัวเลย นี่พูดความจริง พูดข้อเท็จจริงแล้วเน้นย้ำอย่างนี้มาตลอด เพียงแต่ว่าคนฟังแล้วไม่เข้าใจ แต่วันนี้คนที่เห็นแล้วมันแปลกใจ จะบอกว่าไม่เข้าใจก็ไม่ได้ เขาแปลกใจ เขาถึงถามเรามา ถ้าถามเรามาก็ได้โอกาสได้พูด

ฉะนั้น ที่หลวงตาท่านบอก เราบอกว่าบารมีท่านยิ่งใหญ่ ท่านอธิบายเพื่อท่านหวังผลประโยชน์จากประชาชนทั้งหมด รื้อสัตว์ขนสัตว์ไง หวังกับคนที่เข้าใจ หวังคนที่ฟังแล้วเขาเข้าใจได้ เขาปฏิบัติได้

พระพุทธเจ้าบอกพระอานนท์อานนท์ เธอบอกบริษัท ๔ ให้ปฏิบัติบูชาเราเถิดหลวงตาท่านก็หวังตรงนั้นน่ะ ท่านพูดไปแล้วนะ แล้วใครจำคำพูดท่านนะ แล้วไปปฏิบัติ ท่านจะดีใจมาก

แล้วใครถ้าจำคำพูดท่านไปถามท่าน ท่านบอก เอ๊อะ! ยังเก็บธรรมะของท่านไปวิเคราะห์วิจัยต่อหรือ ท่านดีใจนะ ไปทำบุญกับท่านกับเอาธรรมะไปถามท่าน ท่านจะดีใจกว่าคนเอาไปถามท่านอีก

นี่ก็เหมือนกัน เวลาท่านพูดไป ถ้าเป็นเว็บของหลวงตา กายนอกที่ว่ามันสิ่งที่ว่าเป็นภายนอก แล้วให้พิจารณาตามถนัด

ไอ้คำว่าพิจารณาตามถนัดพิจารณาทำสิ่งใดก็ได้ ทำสิ่งใดก็ได้ให้มันเปิดกว้างไง มันเปิดกว้างสำหรับทุกๆ คน ทุกๆ คนใครทำอย่างไรถ้าถนัดแล้วเอาตรงนั้น ไม่ใช่ว่าต้องอย่างนั้นๆ เอาอย่างนั้น

กรรมฐาน ๔๐ ห้อง การทำความสงบ ๔๐ วิธีการ การทำความสงบ ๔๐ วิธีการ พยายามทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบแล้วนะ มันไม่มีสมุทัย สมุทัยคือการเห็นแก่ตัว สมุทัยคือเข้าข้างตัว สมุทัยคือวิปัสสนึก สมุทัยคือจินตนาการจะเอาให้ได้ ต้องวางตรงนี้ให้ได้ แล้วมันจะเกิดความจริงขึ้นมา

ฉะนั้น ต้องทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าทำความสงบของใจเข้ามา มันจะวางสมุทัย วางสมุทัยคือวางความเห็นแก่ตัว เข้าข้างตัว

ทำสิ่งใด เริ่มต้นก็เข้าข้างทุกคน ไม่เข้าข้าง จิตใต้สำนึกมันก็เข้าข้าง แต่ทำแล้วทำเล่าๆ จนกว่ามันจะปล่อยวางของมัน ถ้าปล่อยวางของมัน มันจะเข้าแล้ว

ที่เขาบอกว่าหลวงตาบอกว่ากายในกายหมายความว่าส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย

อันนี้เวลาพิจารณาอย่างนี้ เราจะบอกว่า เหมือนที่ว่าหลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกว่า แม้แต่เอาจิตเดินอยู่ในกายยังเป็นสมถะเลย เพราะจิตยังไม่เห็นอาการของจิต

จิตสงบคือจิตสงบนะ ถ้าจิตสงบแล้วจิตเห็นกายนั้นไปอีกเรื่องหนึ่งนะ ฉะนั้น การพิจารณาอย่างนี้ ที่ว่าหลวงตาท่านพูดอย่างนี้ ท่านพูดถึงพื้นฐานน่ะ พื้นฐานของคนให้ขยันหมั่นเพียร พื้นฐานของคนให้ทำ แล้วถ้าทำไปแล้วเดี๋ยวมันรู้เอง เหมือนพระไตรปิฎกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ที่เราศึกษากันในตู้พระไตรปิฎกนั้นคือวิธีการทั้งหมด วิธีการ ทีนี้เราคิดว่าวิธีการคือเป้าหมายไง เราพยายามจะทำให้เป็นวิธีการนั้น ถือว่าวิธีการเป็นเป้าหมาย มันก็เลยกลายเป็นก็อปปี้ กลายเป็นสัญญาว่าจะเป็นอย่างนั้นๆ ไง

แต่วิธีการทั้งหมด แล้วเราทำตามวิธีการนั้น เวลามันเป็นขึ้นมา มันเป็นธรรมขึ้นมา เราอึ้งน่ะ เราอึ้งเลยนะ ในพระไตรปิฎกทั้งหมดเป็นวิธีการทั้งหมด แล้วเราทำตามนั้นทั้งหมด

นี่ก็เหมือนกัน หลวงตาท่านวางไว้อย่างนั้น ฉะนั้น ทีนี้ของหลวงตาใช่ไหม หลวงตาบอกว่า กายนอก กายใน กายในกาย กายโดยทั่วไปมันก็เป็นการพิจารณากาย แต่ของหลวงพ่อบอกว่า การพิจารณาต้องเป็นขั้นตอน การพิจารณากายนอกเป็นโสดาบัน พิจารณากายเป็นสกิทาคามี

อันนี้เราเอามาอุปโลกน์ เราเอามาวางเป็นเป้าหมาย เป็นเป้าหมายว่า ถ้าการพิจารณากายโดยการวิปัสสนามันจะเป็นแบบนี้ ถ้าพิจารณากายโดยสมถะ พิจารณากาย ดูสิ เราพิจารณากายกันแล้วมันปล่อยวาง พิจารณากายแล้วมันว่างๆ นั่นคือสมถะ เพราะว่าถ้ามันเป็นจริง จิตเห็นอาการของจิต จิตมีการกระทำ

เราเทศน์ไว้กัณฑ์หนึ่งจิตจริง โสดาบันจริงนี่จิตมันจริง ถ้าจิตมันจริง โสดาบันก็จริง ถ้าจิตมันปลอม ปลอมตรงไหน ปลอมตรงมีสมุทัยไง ตอนมีสมุทัยก็มีความเห็นแก่ตัวไง ปลอมตรงที่ว่าเราเข้าข้างตัวไง

เราปฏิบัติ เราจะบอกว่าพระโดยทั่วไปมันยิ่งกว่าพระอรหันต์เข้าไปอีก เพราะว่ามันคิดเองได้ นี่มันมีความปลอม ปลอมคือเราคิดเอง เราให้ค่าเอง พิจารณาหนหนึ่งก็เป็นโสดาบัน พิจารณาสองหนเป็นสกิทาคามี

แล้วเวลาพิจารณา อย่างเราพูดบ่อย การพิจารณากาย เราพิจารณาเป็นร้อยหนพันหน ถ้าร้อยหนพันหน พันหนน่ะ คิดดูสิ มันจะได้ขั้นไหนล่ะ ถ้าบวกด้วยพันมันจะได้ขั้นไหน ขั้นทะลุฟ้าไปเลย แต่ความจริงแล้วไม่ได้อะไรเลย ได้ประสบการณ์ฝึกหัดเท่านั้นเอง

เป็นร้อยเป็นพันหนมันได้ประสบการณ์ฝึกหัด ที่เราบอกพิจารณาซ้ำๆ นี่คือการพิจารณาการฝึกหัดหาประสบการณ์ ฝึกหัดจนชำนาญการ พอชำนาญการขึ้นมาแล้วมันก็จะสมดุล

ความสมดุล เห็นไหม จากเวลาพิจารณาไปมันตกขอบไปข้างใดข้างหนึ่ง พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ จนมันสมดุลของมัน พอสมดุลของมัน นั่นล่ะมัชฌิมาปฏิปทา ถ้ามัชฌิมาปฏิปทา ขาด นี่ไง ถ้าพิจารณากายนอกก็โสดาบันไง

คำว่ากายนอกพอพิจารณากายไปแล้ว คนจะบอกว่าพิจารณากายไปแล้ว แล้วก็จบ แล้วกายในล่ะ เพราะอะไร เพราะหลวงปู่เจี๊ยะท่านพิจารณากาย พอมันสมดุลแล้วมันขาด ท่านพิจารณากายซ้ำ พอพิจารณากายซ้ำเสร็จแล้ว เวลามันขาด มันเป็นธาตุ ๔ ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ มันแยกออกจากกัน นี่กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส

หลวงตาท่านพิจารณาครั้งแรกท่านพิจารณาเวทนา นั่งตลอดรุ่ง พิจารณาเวทนา เวลาท่านขาด ท่านเป็นโสดาบัน แล้วท่านมาพิจารณากาย พอพิจารณากาย ท่านนั่งพิจารณากาย พอมันคืนสู่ธาตุของมัน เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ มันแยกออกไป กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส นี่มันรวมใหญ่ พอรวมใหญ่ขึ้นไปแล้วท่านก็ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นนะ เพราะมันอยากได้อีกไง

หลวงปู่มั่นบอกว่ามันก็เป็นหนเดียว สมุจเฉทปหานเวลาฆ่าคนตายมันฆ่าได้หนเดียว มันฆ่าคนตายครั้งที่สองไม่ได้หรอก มันฆ่ากิเลสตายแต่ละชั้นแต่ละตอนมันก็ฆ่าได้หนเดียวเท่านั้นน่ะ

คำว่าหนเดียวนั่นน่ะก็คิดว่าหนเดียวก็คือจบไง เข้าข้างตัวไง ก็ติดสมาธิ ติดตรงนี้ ๕ ปี จนหลวงปู่มั่นต้องดึงออกมา

แต่ของหลวงปู่เจี๊ยะ ตรงนี้ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น พอไปหาหลวงปู่มั่น เพราะมันว่าง มันกายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส มันจะหาอสุภะ กายนอก กายใน กายในกาย มันจะขึ้นสู่อสุภะ มันขึ้นไม่ได้ นี่พูดถึงขั้นตอนไง

ที่เราพูดขั้นตอนนี้ เราพูดขั้นตอนเพราะอะไร เพราะการปฏิบัติมันสัพเพเหระ คนที่ไปฟังเฉียดๆ หลวงตามาก็มาอ้างว่า พิจารณากายอย่างนั้น พิจารณากายอย่างนี้ ได้ผ่านกายแล้ว ได้วางกายแล้ว

วางอะไรวะ กูไม่เห็นมึงรู้จักกายเลย กูไม่รู้ว่ามึงรู้จักกายหรือเปล่า พวกมึงรู้จักกายหรือ แล้วมึงมาวางกายๆ มึงวางอะไร เพราะเราเห็นมันสัพเพเหระ เห็นกรรมฐานมันนอกเรื่องนอกราว เราถึงมาเรียงเป็นขั้นตอนไง

ไอ้เรียงเป็นขั้นตอน พอเรียงเป็นขั้นตอนปั๊บ คนที่มันอยากจะเห็นกายมันต้องรู้จักขั้นตอนไง พอมันเห็นขั้นตอนมันก็งงไง ก็มันไม่เคยเห็นน่ะ พอมันไปเห็นขั้นตอน อ้าว! เราไม่ใช่นักกฎหมาย ขึ้นศาล กูก็งงนะมึง ถ้าจับเราเข้าคอกในศาล เราก็งง

แต่ถ้านักกฎหมายไปเข้าคอกนะ ข้าแต่ศาลเลยแหละ เขาพูดได้แจ้วๆ เลยล่ะ เพราะเขาศึกษามา ความรู้เขาแน่น แต่อย่างเรานี่นะ ถ้าจับไปเข้าคอกนะ ข้าแต่ศาลขอกลับวัด ขอกลับวัดเถอะ เพราะมันไม่รู้ พอไม่รู้มันก็งงใช่ไหม

ที่เราพูดนี่นะ จริงๆ แล้วหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงตาท่านเตือนไว้บ่อย หลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกว่าเวลาพูด พูดนอกพระไตรปิฎก คำว่า นอกพระไตรปิฎกคือประสบการณ์จริงของเรา เขาเถียงเราไม่ได้หรอก แต่พูดในพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกก็ตีความ นี่หลวงปู่เจี๊ยะเวลาท่านสอนนะ

หลวงตาท่านก็บอกว่าพูดออกไปมันเป็นสัญญา เด็กก็พูดได้ คือใครรู้ก็พูดได้ แต่มันมีน้ำหนักไม่มีน้ำหนัก

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเมื่อก่อนไม่พูด แต่พอพวกนี้เขาเฉียดๆ หลวงตาเข้าไป คือเข้าไปอยู่ในสังคม ออกมานี่พิจารณากาย วางกาย ผ่านกายแล้ว”...เราก็งง

ถ้าวางกายนะ มันผ่านกาย สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส จะไม่ลูบคลำในศีลพรต ถ้าไม่ลูบคลำในศีลพรต คนดีนะ เขามีกตัญญูกตเวที หลวงตา หลวงปู่เจี๊ยะ พูดถึงหลวงปู่มั่นน้ำตาไหลทุกที

หลวงปู่เจี๊ยะ เราอยู่กับท่าน ท่านระลึกถึงหลวงปู่มั่นทีไรท่านน้ำตาไหลพรากทุกที ท่านรักของท่านขนาดนั้นนะ แต่หลวงตาของเราท่านออกมาโครงการช่วยชาติ ท่านออกมาช่วยสังคม พวกที่ว่าเป็นลูกศิษย์ๆ มันทิ้งๆ ขว้างๆ มันไม่เคยไปดูแลอาจารย์มันน่ะ อาจารย์ทำอะไรมันพยายามจะแซงหน้าแซงหลัง อย่างนั้นหรือละสีลัพพตปรามาส อย่างนี้หรือ อย่างนี้หรือที่ว่าวางกายได้ คนวางกายได้เขามีพฤติกรรมกันอย่างนี้หรือ คนที่เข้าใจเรื่องกายเขามีพฤติกรรมกันอย่างนี้หรือ

เรามันเศร้าใจอย่างนี้ไง เราถึงว่าใครจะอ้างว่าวางกาย รู้กาย ทะลุกาย ผ่านกาย เราบอกว่ากายจะเป็นขั้นตอนอย่างนี้ ที่เราพูดว่าเป็นขั้นตอนอย่างนี้เพราะเราให้เห็นว่ากว่ามันจะเป็นได้จริง มันมีความมุมานะ มันมีความบากบั่นขนาดไหนมันถึงจะเป็นได้จริง มันไม่ได้พูดพล่อยๆ อย่างนั้นหรอก เวลาพูดวางกาย รู้กาย ผ่านกาย ทะลุกาย

แต่คนที่มีคุณกับเรา คนที่เลี้ยงเรามา พ่อแม่ของเราเลี้ยงเรามา ท่านอาบเหงื่อต่างน้ำทำงาน เราเคยมองเห็นท่านไหม เหตุที่เราพูด เราพูดเพราะตรงนี้ไง เพราะมันสัพเพเหระ เอาแต่คุณธรรมของท่าน เอาแต่อำนาจวาสนาบารมีของท่านไปสวมใส่หัวของตัว พยายามจะอ้างว่าตัวมีคุณธรรมๆ

ไอ้หมามันจะห่มหนังเสือ มันเห่าออกมามันก็เป็นเสียงหมา เสือมันอยู่ที่ไหนมันคำรามมันก็เป็นเสียงเสือ คนมีคุณธรรมพูดที่ไหนมันก็เป็นธรรม คนไม่มีคุณธรรมพูดที่ไหนมันก็ไม่ใช่ธรรม จะจำมามากจำมาน้อยมันก็ไม่ใช่ธรรม

นี่พูดถึงว่าเทศน์หลวงพ่อไง นี่พูดถึงเทศน์หลวงพ่อ หลวงพ่อก็ออกใหญ่เลยวันนี้ เพราะมีคนมาเปิดทางให้ เปิดทางให้ได้พูดไง

ฉะนั้น นี่พูดถึงว่า เวลาของหลวงพ่อเป็นขั้นตอน

ไอ้ขั้นตอน เรามาเรียงลำดับไว้ เรียงลำดับไว้แบบว่าพูดไว้ให้เป็นแนวทางไง เราพูดไว้มันก็เหมือนพูดไว้เป็นหลักฐาน แล้วถ้าคนเป็นจริงต้องเป็นอย่างนี้ เหมือนระยะทาง ๑ กิโลเมตรวัดได้ ๑ กิโลเมตร ถ้าใครจะ ๑ กิโลเมตรก็ต้องวัดได้ ๑ กิโลเมตรนี้

ถ้าเขาบอกว่าเดิน ๒ ก้าวเป็น ๑ กิโลเมตร...เออ! เอ็งกลับบ้านเอ็งไป ๑ กิโลเมตรของเอ็ง แต่ถ้ามัน ๑ กิโลเมตร วิ่ง ๑๐๐ เมตร คนถ้าวิ่ง ๑๐๐ เมตรก็ต้องวิ่งเข้าเส้นชัย ถ้าวิ่งล้ม ล้มก็ต้องถือว่าฟาล์วไป

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพิจารณากายนอกเป็นโสดาบัน พิจารณาอย่างไร กายใน สกิทาคามี กายในกาย อนาคามี กายของจิต พระอรหันต์ ว่ามา ว่ามา ถ้าเป็นจริง

พูดไว้เพื่อเป็นสูตร เป็นระบบ เพื่อให้คนภาวนาจะได้มีที่อ้างอิง พูดกันได้ อย่าเลื่อนลอย อย่าพูดเลื่อนลอยพิจารณากาย ผ่านกาย รู้กาย ทะลุกาย วางกาย”...ทำอย่างไร กายอะไร

แม้แต่การผ่าตัดนะ เวลาหมอผ่าตัดโรคสำคัญ ผ่าหัวใจ หมอต้องประชุมกันนะ พิจารณากาย ถ่ายฟิล์มเอ็กซเรย์เลยนะ วางปั๊บ ล้อมวงเลย นี่จะผ่าตรงไหนก่อน ตรงไหนเป็นประเด็น นั่นเขาก็พิจารณาของเขา แต่พิจารณาเพื่ออะไร เพื่อผ่าตัด ไม่ใช่พิจารณาเพื่อโสดาบัน พิจารณาเพื่อการผ่าตัด

พิจารณาหรือเปล่า พิจารณาอะไร พิจารณาทางโลกหรือพิจารณาทางธรรม แล้วพิจารณาเป็นสมถะหรือพิจารณาเป็นวิปัสสนา

ทีนี้หลวงตาท่านว่า กายนอกของหลวงตาท่านบอกว่า กายนอกก็คือกายของคนอื่น กายของคนอื่น กายเรา ถ้ากายในกายก็เป็นกาย

อันนี้ถูกนะ หลวงตาพูดนี่ถูก คนเป็นกับคนเป็นเขาพูดไม่มีการขัดแย้งกันหรอก เพียงแต่ว่าเขาพูดที่ไหนไง พูดเรื่องสมถะ พูดเรื่องเบสิกใช่ไหม แล้วเวลาเราจะพัฒนาของเราขึ้นไป เรามีพื้นฐานแล้ว เราจะทำให้เป็นชิ้นเป็นอัน เป็นหน้าที่การงานแล้ว เหมือนเหล็ก เหล็ก ดูสิ คุณภาพเหล็กต่ำๆ เหล็กก็คือเหล็ก แต่เวลาเขาไปผสมนะ เขาผสม เขาหลอมใหม่ เขาผสมใส่พวกส่วนผสมให้เป็นเหล็กกล้า ให้เป็นเหล็ก มันก็อยู่ที่ส่วนผสมนั่นน่ะ

นี่ก็เหมือนกัน พิจารณากายสมถะก็ถูกต้อง

จริงๆ แล้วอย่างที่หลวงตาพูด ขอให้ทำเป็นก็สุดยอดแล้ว เพราะทำเป็นแล้วนะ มันจะก้าวหน้า เพราะทำเป็นนี่เป็นกัลยาณปุถุชน ถ้าทำอย่างนี้นะ พิจารณาแล้วมันปล่อยหมดนะ รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร

รูป รส กลิ่น เสียง รูปก็รูปกาย รสก็คือรสพอใจ เสียงก็เสียงที่มันโหยหา นี่รูป รส กลิ่น เสียง ถ้ามันรู้ทันมันก็ปล่อย พิจารณาจนมันขาด ขาดก็เป็นกัลยาณปุถุชน ถ้ายกขึ้นสู่กายใน จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นกาย ถ้าจิตจริง โสดาบันจริง จิตปลอม โสดาบันไม่มี มันปลอมตั้งแต่ต้น

ฉะนั้น ข้อที่ ๑. ยังไม่เข้าคำถามเลย

. ลำดับการพิจารณา หลวงตาท่านบอกว่าจะพิจารณาอะไรก็ได้ตามถนัด แต่หลวงพ่อบอกว่าต้องพิจารณาเป็นขั้นตอนคือกายนอกก่อน

คำว่ากายนอกก่อนเรายืนยันไง

เอาของหลวงตาก่อน หลวงตาบอกว่าการพิจารณาอะไรก็ได้ตามถนัด

ถูกต้อง ใช่ชัดๆ เลย เพราะคนภาวนาจะรู้ บางทีจิตเราสงบใช่ไหม เราเห็นกายใช่ไหม บางทีเราเห็นเป็นปอด เราคิดว่าเราจะเห็นปอดตลอดไปก็ไม่ใช่ บางทีไปเห็นหัวกะโหลก พิจารณาไปนะ พอจิตสงบแล้วอยู่ที่มันจะเห็นนะ ไม่ใช่เราสั่งให้เห็นนะ

ถ้าจิตสงบไปแล้วบางทีเห็นเป็นโครงสร้างร่างกายเลย บางทีเห็นกระดูกเป็นท่อนๆ เห็นกระดูกท่อนเดียวมานะ บางทีเห็นเป็นผิวหนัง บางทีเห็น บางที บางทีคือปัจจุบัน

ฉะนั้น หลวงตาบอกว่าจะพิจารณาแล้วแต่ความถนัด

ถูกต้องเลย ความถนัดคือปัจจุบัน อะไรที่มันเกิดขึ้นมา พิจารณาตรงนั้น อะไรที่เกิดขึ้นมา พิจารณาตรงนั้น อะไรก็ได้ เห็นอะไรก็ได้ เห็นปอด เห็นโครงกระดูก เห็นลำไส้ใหญ่ ลำไส้น้อย มันเห็น บางทีมันเห็นเฉพาะส่วนคืออวัยวะส่วนเดียว บางทีเห็นเป็นก้อนเนื้อ

ถ้ามันไม่เห็นใช่ไหม เรารำพึงถึงกายเลย ถ้าไม่เห็น รำพึง รำพึงคือเห็นเป็นมนุษย์ใช่ไหม เห็นผิวหนังใช่ไหม ให้ลอกผิวหนังเลย ถ้าลอกผิวหนัง ถ้ากำลังมันพอ มันจะลอกออกๆ ผิวหนังนี่ลอกออกเหลือแต่เนื้อ ผิวหนังลอกออก แล้วมันจะมีอะไร นี่มันจะเห็นของมัน ถ้ามันเห็นนะ มันเห็นเป็นความเน่าความเปื่อย ถ้ามันเห็น

นี่ถ้าพิจารณากายว่าเห็นตามถนัด...ถูกต้อง

แต่ถ้าจิตเราไม่สงบ เราจะไม่เห็น ถ้าเราจะเห็น เราจะเห็นด้วยความวิปัสสนึก เราจะนึกเอาเอง นึกเองคือสัญญา สร้างภาพ สร้างภาพมันก็ตกไปอัตตกิลมถานุโยค ถ้ามีความปล่อยวางมีความสุขก็กามสุขัลลิกานุโยค มันไม่สมดุลหรอก มันไม่เป็นจริง ถ้าเป็นจริงจะพิจารณาอย่างไร นี่คนภาวนาเป็นเขาจะรู้ นี่คนภาวนาเป็น

ทีนี้หลวงตาท่านพูดแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือบอกวิธีการไว้ทั้งหมด แล้วท่านไม่ได้หวังผล ท่านให้คนภาวนารู้เอง ท่านให้คนภาวนามันรู้เอง พอรู้เอง มันเป็นปัจจัตตัง

พอเป็นปัจจัตตัง คำว่าเป็นปัจจัตตังที่เราบอกว่าหลวงปู่ชอบ หลวงปู่คำดี หลวงปู่บัว ท่านพิจารณากายเหมือนกัน ทำไมท่านไม่เหมือนกันล่ะ ท่านไม่เหมือนกันเพราะอารมณ์ของสมาธิมันแตกต่างกัน คราวนี้สมาธิดี คราวนี้ปัญญาดี คราวนี้สติดี เพราะมันดีปั๊บ มันจะดึงไปส่วนนั้น แต่ก็ต้องพิจารณาให้มันสมดุล ให้มันมัชฌิมาปฏิปทา

เวลาคนทำมันมีที่ว่าอารมณ์ดี ไม่อารมณ์ดี คือสมาธิดี สมาธิไม่ดี แล้วยังมีจริตนิสัยของคน คนสร้างมาแตกต่างกัน คนสร้างมาไม่เหมือนกัน พระอรหันต์ไม่เหมือนกัน พระอรหันต์ล้านองค์ก็ล้านอย่าง พิจารณากายก็ไม่เหมือนกัน ไม่มีมาเหมือนกัน ไม่เหมือนกัน ไม่มีๆๆ แต่ท่านเป็นของท่าน เป็นวิทยานิพนธ์ของท่าน แล้ววิทยานิพนธ์พูดออกมา

นี่ไง ถึงว่าพิจารณากายแล้ว ถ้าพิจารณากายได้จริงนะ ไอ้ที่คำถามไม่เป็นคำถามเลย คำถามนี้มันเป็นเถรส่องบาตร เวลาเถรมันส่องบาตร เห็นเขาส่องก็ส่องตามไง นี่เขาพูดเรื่องกายก็กายตามไง เขาพูดอย่างไรก็ว่าอย่างนั้นน่ะ แต่ตัวเองไม่มีจริง

แต่ถ้าคนที่เขาส่องบาตรเพื่อดูรอยร้าว เขาส่องบาตรเพื่อดูว่ามันทะลุไม่ทะลุนะ เขาส่องเพื่อเหตุนั้น เราส่องไม่รู้ เราส่องอย่างไรก็ไม่รู้ เพราะเราไม่มีเป้าหมายว่าส่องเรื่องอะไร แต่คนส่องเขารู้ ฉะนั้น คนส่องเขารู้ เขาไม่ต้องส่อง เขาหยิบดูเขาก็รู้ ไอ้นี่ก็เหมือนกัน คนเป็นก็คือเป็น

นี่พูดถึงว่า หลวงตาท่านบอกว่าพิจารณาอะไรก็ได้ตามถนัด

ถูกต้องๆๆ ท่านพูดถึงวิธีการ แต่ท่านไม่ได้พูดถึงผล

หลวงพ่อบอกว่าพิจารณาต้องเป็นขั้นตอน ต้องมีกายนอกก่อน

เราจะบอกว่า เวลาคนพิจารณาไปแล้วมันทะลุไปไง พิจารณากายหนเดียวเป็นพระอรหันต์น่ะ บางคนเขาคิดอย่างนั้น มันบอกเป็นขิปปาภิญญา มันรู้เร็ว พิจารณา ตูม! เป็นพระอรหันต์เลย...บอกว่ามันไม่มีหรอก

จะพิจารณา มันจากกายนอกก่อน กายนอกคือว่าอย่างน้อยมันต้องเป็นโสดาบันก่อน กายนอกนะ กายนอกคือจิตมันเห็นกายอย่างหยาบที่สุดของวิปัสสนา

จิตเวลามันเห็นกายนี่นะ มันเห็นกาย ถ้าจิตเห็นกาย มันเห็นโดยชัดเจนนี่แหละ แต่มันเห็นสิ่งที่ว่าหยาบที่สุดของการวิปัสสนาคือมันเห็นกายนอก เห็นกายคือการพิจารณากาย

พอการพิจารณา พิจารณาแล้ว พิจารณาจนมันขาด สักกายทิฏฐิมันขาดตรงนี้ สักกายทิฏฐิ ทิฏฐิว่ากายนี้เป็นของเรา

กายนี้เป็นของเรา เห็นไหม เวลาสักกายทิฏฐิมันขาดไปนะ กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย กายไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่กาย มันขาด ถ้ามันขาด นี่กายนอก นี่พิจารณากาย เอ็งจะพิจารณาอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเอ็งเห็นต้องเห็นอย่างนี้

เราเปรียบเหมือนไง เวลาคนเขาปฏิบัติเข้าใจผิด เขาบอกเขาพิจารณานะ แล้วเขาปล่อยหมดเลย เขาพิจารณานะ เขาจะพิจารณาที่อวิชชาแล้วเขาจะเป็นพระอรหันต์ไปเลย

เราเปรียบเหมือนคนใส่สูท คนใส่สูทเขาจะเอาเสื้อชั้นในไปซัก เขาต้องถอดสูทก่อนไหม เราใส่สูทมานะ เราใส่สูทใช่ไหม ถ้าเราจะเอาเสื้อชั้นในออก เราต้องถอดสูทไหม เราต้องถอดสูทใช่ไหม ถอดสูทเสร็จแล้วเราต้องปลดเนกไทใช่ไหม เราต้องถอดเสื้อเชิ้ตใช่ไหม เราถอดเสื้อเชิ้ตเสร็จแล้วมันถึงจะเป็นเสื้อชั้นในใช่ไหม ถ้าเราไม่ถอดสูท เราไม่ถอดเสื้อเชิ้ต เราจะถอดเสื้อชั้นในได้ไหม

ทีนี้การพิจารณากายมันก็ต้องถอดที่สูทนั้นไง ก็กายนอกไง เราใส่สูท อะไรจะกระทบเรา โดนสูทหมด ไม่โดนตัวเราหรอก เพราะเราใส่สูทคลุมอยู่

กายนอก เอ็งจะพิจารณาอะไรก็แล้วแต่ มันคลุมหัวใจอยู่ สักกายทิฏฐิมันคลุมหัวใจอยู่ เอ็งทำอย่างไรมันก็ต้องโดนตรงนี้ก่อน เอ็งทำอะไรก็แล้วแต่ เอ็งต้องเห็นกายนอกนี่ จะพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม

พิจารณาเวทนา หลวงตาท่านผ่านโสดาบันด้วยการพิจารณาเวทนานะ ถ้าเวทนามันเกิดที่ไหน มันก็เกิดที่กายนี่ไง ถ้าพิจารณาเวทนาแล้วมันก็ปล่อยกายไง ปล่อยเหมือนกัน คนเป็นมันรู้

หลวงตากับไอ้หงบมันขัดแย้งกัน ถ้าหลวงตาอยู่ ถ้าเทศน์วันนี้จบนะ เขาต้องอัดเทปไปให้หลวงตาฟังเลยล่ะ บอกไอ้หงบมันพูดอีกแล้ว

มีคนเอาเทปไปให้หลวงตาฟังเยอะ เรารู้ เพราะพระเขาไม่มีความสามารถที่จะโต้แย้งเราได้ เขาอ้างหลวงตาทุกที แล้วหลวงตาท่านฟังแล้วนะ ท่านก็เก็บใส่ก้นท่านน่ะ ท่านไม่เคยพูดเลย

เขาเอาเทปเราไปให้หลวงตาฟัง ฟังเสร็จ ท่านยัดใส่ก้นท่านเลย เพราะอะไร เพราะเราเป็นเด็กปั้นท่านมา ท่านรู้ ท่านรู้ว่าเราดีหรือเหี้ย ท่านรู้ ฉะนั้น ท่านถึงไม่แยแสไอ้คนฟ้องไง

ไอ้คนฟ้อง ท่านรู้ว่าไอ้คนฟ้องมันอิจฉาไอ้หงบ ท่านเลยไม่พูดเลย เงียบเลย เพราะอะไร นี่ไง นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันพิจารณาไปขนาดไหนมันเป็นเรื่องสูท เราถึงว่ามันเป็นกายนอก

ที่เราพูดไว้ เราพูดไว้เป็นวิชาการนะ เพื่อให้คนที่ปฏิบัติมันได้ประโยชน์นะ แต่ใครจะเกลียดขี้หน้าไอ้หงบ ไม่เป็นไรหรอก แต่ที่กูพูดไว้ มึงไปศึกษาเถอะ มึงจะได้ประโยชน์ ใครจะเกลียดขี้หน้าขนาดไหนก็ช่างมัน แต่ที่กูพูดนี่มันเป็นประโยชน์นะมึง มันจะได้ประโยชน์กับนักปฏิบัติ

ฉะนั้น หลวงพ่อบอกว่าการพิจารณาขั้นตอนคือกายนอก

ขั้นตอนคือการพิจารณาโดยวิปัสสนา อย่างใดๆ มันก็เป็นโสดาบันน่ะ อย่างใดๆ มันก็เป็นกายนอก พิจารณาเวทนาก็ได้ พิจารณาจิตก็ได้ เหมือนกันทั้งนั้นน่ะ อย่างเช่นหลวงปู่ดูลย์ท่านก็พิจารณาอย่างนี้

ทำไมเราไม่ติติงหลวงปู่ดูลย์เลยล่ะ เพราะหลวงปู่ดูลย์ท่านถูก ท่านพูดถูก แต่ไอ้คนฟังไม่เป็นมันไปพลิกแพลงให้มันเป็นผิด ไอ้คนไม่เป็นมันฟังคนถูก มันว่าเขาผิด แล้วมันบอกไม่เป็น เพราะมันถูก

แต่ไอ้คนเป็นมันฟังนะ พูดอย่างไรก็ถูก พูดเรื่องขี้ๆๆ ยังถูกเลย พิจารณาขี้ คนเป็นพูดอะไรก็ถูก เพราะมันเป็นวิธีการ พิจารณากองขี้ก็ถูก ขี้มันเหม็น ขี้มันออกมาจากร่างกาย ขี้มันมาจากอาหาร ขี้มันมาจากกระเพาะ พิจารณาขี้ก็ถูก ถ้าคนเป็นน่ะ คนเป็นพูดอะไรก็ถูก ถ้าคนเป็น

ถ้าคนไม่เป็นนะ พูดเลย พิจารณาดอกไม้สวรรค์ มาจากดาวดึงส์...พิจารณาไปเถอะ พิจารณาอย่างไรก็ผิด

นี่ข้อที่ ๑. นะ ยังมีข้อที่ ๒.

. ความหมายกายนอก หลวงตาท่านว่าคือกายของคนและสัตว์อื่น ของหลวงพ่อคือกายของเรา พิจารณาเพื่อให้จิตละสักกายทิฏฐิ

คำว่ากายนอกคำว่าสัตว์อื่นสัตว์อื่น หลวงตาท่านพูด เราไม่ได้ค้านหลวงตาเลย เพราะหลวงตาท่านเวลาเทศน์นะ หลวงตาบอกหลวงปู่มั่นเวลาท่านเทศน์ที่หนองผือ เพราะว่าพระ เวลาทางวิชาการทางโลกเขาจะติพระป่าอยู่เรื่องหนึ่งว่าพระป่าไม่ให้ศีล พระป่าไม่เทศน์เรื่องศีล พระป่าเวลาเทศน์ เทศน์แต่ใช้ปัญญาไปเลย มันจะทำให้ประชาชนคลอนแคลน

นี่ความเห็นของทางวิชาการเขา เขาเคยเสนอมาว่าพระป่าเวลาเทศน์ พระควรจะเทศน์เรื่องศีลก่อน อ้าว! โยม อาราธนาศีล ให้ศีลก่อนแล้วก็เทศน์เรื่องศีล พอศีลเสร็จแล้วก็ใช้สมาธิเขาจะพูดอย่างนี้ นี่พูดถึงทางวิชาการ

แต่หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า เวลาท่านพูดถึง เวลาท่านจะเทศน์ที่หนองผือ พระเราบวชมาศีล ๒๒๗ แล้ว อย่างพวกเรานี่นะ เราเป็นพระ เรามีศีลสมบูรณ์แล้ว เราจะต้องไปอ้างไปแจงเรื่องศีลอีกไหม ศีลมันมีโดยปกติ ศีลมีโดยปกติ นักปฏิบัติต้องมีศีล

อย่างเรา เราเป็นชาวพุทธ เราต้องมีศีล ๕ อยู่แล้ว ถ้ามีศีล ๕ อยู่แล้ว ศีล ทุกคนมีอยู่แล้วไง อย่างนี้โยมมา เราจะบอกว่า โยมมาจากบ้านได้ปิดประตูหรือยัง ห้องที่บ้านได้ปิดประตูแล้วได้ใส่กุญแจหรือเปล่า มันเป็นเรื่องบ้านของโยมไง

นี่ก็เหมือนกัน เรื่องศีลนี่เรื่องประจำตัว เรื่องส่วนตัวของเราไง เรื่องตัวตนของเรา ทำไมหลวงพ่อต้องมายุ่งกับเรื่องตัวตนของเราล่ะ หลวงพ่อก็เทศน์มาสิว่าหลวงพ่อมีความรู้อะไร ศีลของฉันสมบูรณ์อยู่แล้วไง

หลวงปู่ฝั้นบอกศีรษะ ๑ แขน ๒ ขา ๒ คือศีล ๕ ไง ศีล ๕ คือมนุษย์มันมีพร้อมแล้วไง ครูบาอาจารย์ท่านก็เทศน์เลย หลวงปู่มั่นนะ เวลาหลวงตาท่านบอกว่าหลวงปู่มั่นเวลาท่านเทศน์ที่หนองผือนะ ท่านก็เทศน์ตั้งแต่เริ่มต้นของสมาธิ ใครทำสมาธิได้ทำสมาธิไม่ได้

ทีนี้พระในวัดมันก็มีวุฒิภาวะแตกต่างกันใช่ไหม คนที่พระบวชใหม่ก็ฟังเลย สมาธิทำอย่างไร จะเอาสมาธิ แล้วคนที่ประพฤติปฏิบัติไปแล้ว อย่างเช่นหลวงตา ถ้าอยู่กับท่าน ท่านเป็นสกิทาคามีแล้ว พอหลวงปู่มั่นป่วย หลวงปู่มั่นเอาออกมาพิจารณาอสุภะ ท่านถึงอนาคามิมรรค ท่านจะได้อนาคามี จะได้ขั้นที่ ๓ ตอนนั้นหลวงปู่มั่นป่วยหนัก

คนที่เวลาท่านเทศน์ ท่านเทศน์เป็นความจริงของท่านตั้งแต่พื้นฐานขึ้นไปถึงที่สุดแห่งทุกข์ การเทศน์แต่ละกัณฑ์ก็ตั้งแต่ปุถุชนถึงพระอรหันต์ ไอ้คนที่ฟังก็เป็นขั้นเป็นตอนใช่ไหม ใครอยู่ขั้นไหน พอถึงของเรา เอาแล้วนะ ถึงของเรา เราคอยจ่อเลย พอถึงของเรา ทำอย่างไร เพราะเราอยากทำได้ๆ ฉะนั้น เวลาเทศน์ ท่านเทศน์ถึงเหตุ

ฉะนั้น ย้อนกลับมาที่หลวงตา หลวงตาท่านบอกว่า กายนอกคือกายของคนอื่น สัตว์อื่น

มันก็ถูก มันก็ถูก กายนอกก็กายของสัตว์อื่น เพราะว่าเวลาหลวงตา ไปฟังนะ ผู้ถามไปฟังหลวงตาเวลาหลวงตาท่านเทศน์ ท่านเทศน์ถึงพื้นฐานก่อน ท่านไม่ได้เทศน์ถึงวิปัสสนาเลย เวลาท่านเทศน์ ท่านเทศน์ถึงพื้นฐานนะ เวลาพื้นฐานเขาเรียกว่าเทศน์ศรัทธา เทศน์ปลูกศรัทธา เทศน์ให้คนมั่นคง เทศน์ให้ทุกคนมั่นใจ เทศน์ขึ้นมาก่อนให้เป็นเอกภาพ แล้วพอเป็นสมาธิขึ้นมาแล้วท่านถึงจะยกขึ้นให้เห็นกายอย่างนั้น ให้เห็นกาย ให้พิจารณากาย ถ้าพิจารณากายไม่ได้ก็พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต เวลาท่านเทศน์ขึ้นไปอย่างนั้น

แต่เวลาท่านเทศน์โดยความมั่นคง ท่านจะเทศน์ถึงกายอื่น สัตว์อื่น ก็เหมือนที่ว่า ไปดูคนเจ็บคนป่วยมันสังเวชนะ เพราะว่ามีหลายคนมากที่แบบว่าดูแลพ่อแม่ตอนพ่อแม่ป่วย เสร็จแล้วพอมาหาเราบอกว่า อู้ฮู! จิตใจนี้มันทุกข์มาก มันจะหาทางออก

นี่พูดถึงว่า ถ้าหลวงตาท่านพูดถึงกายนอกคือกายของสัตว์อื่น

ถูก คำว่าถูกถูกในขั้นของสมถะ แต่เวลาพิจารณาไปแล้ว พิจารณากายนอกไหม แม้แต่จิตนะ เวลาเกิดนิมิต เขาเรียกว่าจิตส่งออก จิตส่งออกไปเห็นนิมิต แต่เวลาจิตสงบแล้วไม่มีสมุทัย ถ้ามันเห็นนิมิต เห็นเป็นกาย นี่จิตเห็นอาการของจิต

คือการจะพิจารณาอย่างไรก็แล้วแต่ การจะชำระล้างกิเลสได้มันต้องเกี่ยวเนื่องกับใจ เกี่ยวเนื่องกับจิต เพราะอะไร เพราะสังโยชน์มันอยู่ที่จิต จิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้มันเวียนว่ายตายเกิด สังโยชน์มันฝังอยู่ที่จิตนะ ทีนี้ฝังอยู่ที่จิต ถ้าจิตมันเห็น แสดงว่ามันมีกระแสถึงสังโยชน์

ถ้าจิตมันไม่เป็นผู้เห็น มันไม่มีสังโยชน์ไง มันเห็นเป็นสามัญสำนึกไง สามัญสำนึกมันครอบงำไว้แล้วมันเกี่ยวเนื่อง มันไม่ถึงกิเลสแน่นอน

ฉะนั้น ที่ว่ากายนอก กายของหลวงตาคือกายคน กายสัตว์อื่น

อันนี้มันเป็นขั้นของสมถะ เพราะเราจะบอกว่า ถ้าเราจะพูดอย่างนี้ โยมอย่าเสียใจนะ เราจะบอกว่า หลวงตาบอกว่าพวกนักปฏิบัติจิตใจมันห่างไกลมากไง พื้นเพมันเหลวไหลมากไง ท่านถึงจะให้มันเห็นอย่างนั้นเพื่อให้มันมั่นคงขึ้นมาไง

คือมันต่ำมาก ว่าอย่างนั้นเถอะ มันไม่เข้าสู่วิปัสสนาเลย มันไม่เข้าสู่มรรค ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล มันไม่เข้าสู่มรรค มันไม่เข้าสู่มรรคคือมันยกขึ้นสู่มรรคไม่ได้

ถ้ายกขึ้นสู่มรรคได้คือวิปัสสนาเป็น วิปัสสนาเป็นคือโสดาปัตติมรรค เพราะถ้ายกขึ้นสู่มรรคไม่ได้ก็กายอื่น สัตว์อื่นนี่แหละ ถ้ายกขึ้นสู่มรรคไม่มี

เพราะหลวงพ่อบอกว่าคือกายของเรา พิจารณาเพื่อให้ละสักกายทิฏฐิ

นี่แหละๆ เวลาว่าถ้าหลวงพ่อบอกนี่ใช่ ถ้ามันพิจารณากาย มันต้องกายของเรา เพราะเราเห็นน่ะ คือเราเห็น เราเห็นถึงความสะเทือนถึงสังโยชน์ เราเห็นความสะเทือนถึงกิเลสไง

ที่เราพูดบ่อยๆ ว่าเห็นกิเลสไหม เอ็งรู้จักกิเลสหรือเปล่า ไม่รู้จักกิเลส ละกิเลสไม่ได้ ไม่รู้กิเลส ไม่เห็นกิเลส ไม่รู้จักกิเลส ละกิเลสไม่ได้ คนจะละกิเลสต้องรู้จักกิเลส

ใครจะหาไอ้หงบที่บนก้อนเมฆ มึงไปหาเอา ถ้ามึงจะหากู มึงต้องมาที่วัดนี้ ถ้ามึงไม่รู้จักที่นี่ มึงมาหากูไม่เจอ ถ้ามึงไม่รู้จักกิเลส หากิเลสไม่เจอ

นี่ไง แต่ถ้ามันเห็นกาย จิตเห็นอาการของจิต มันสะเทือนถึงกิเลส มันสะเทือนมาก ถ้าสะเทือนมาก พิจารณาไปแล้วมันถึงจะเป็น นี่พิจารณา คำว่าพิจารณา

แต่ถ้าแบบที่ว่า หลวงตาท่านบอกว่ากายนอกก็หมายถึงกายของคนอื่น สัตว์อื่น

หลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกว่า ขนาดเอาจิตอยู่ในร่างกายนี้ อยู่ในร่างกาย เดินในกายนี้ ท่านบอกว่าถ้าเดินในกาย คำว่าเดินในกายมันไม่เห็นกายไง เดินในกายเป็นชั่วโมงๆ นะ ไปฟังเทปได้ มันเดินอยู่ในกาย จิตนี้เดินอยู่ในกายเป็นชั่วโมงๆ เลย นี่เป็นสมถะ ท่านพูดเอง เป็นสมถะ

แต่จิตเดินอยู่ในกายจนมันว่างหมด มันสงบหมด แล้วเอาความว่างค้นคว้ามัน ถ้าค้นคว้ามัน ถ้ามันเห็นกระดูก เห็นข้อต่างๆ นี่ถ้าจิตมันเห็นกาย อันนี้กายนี้มันถึงจะเป็นกายของเราที่เราว่า

แต่ขณะที่จิตมันอยู่ในกายนี้ยังไม่ใช่ของเราเลย เป็นสมถะเลย แล้วหลวงตาท่านบอกว่าให้พิจารณากาย กายอื่น สัตว์อื่น

หลวงตาท่านเน้นย้ำเลย สติ กับ ไม่ส่งออก

สติ กับ ผู้รู้ หลวงตาท่านเน้นประจำ แล้วหลวงตา ภาษาเรานะ หลวงตาท่านโดนหลวงปู่มั่นสับเขกมาขนาดไหน คนที่โดนหลวงปู่มั่นสับเขกมาขนาดนี้ แล้วจะบอกว่าให้ไปพิจารณากายนอก กายสัตว์อื่น

ท่านเองก็โดนหลวงปู่มั่นสับมาขนาดไหน คนที่โดนหลวงปู่มั่นสับมาขนาดนั้น แล้วจะบอกให้คนอื่นไปทำอย่างที่ท่านโดนหลวงปู่มั่นสับ มันจะเป็นไปได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ เพราะท่านโดนหลวงปู่มั่นสับมาขนาดนั้น

ถ้าเราอยู่ทุกวัน ได้ยินไหม พูดกับกระดาษ พูดกับกระดาษไง ให้กระดาษได้ยิน เอ็งได้ยินไหม เอ็งได้ยินไหม เวลาท่านพูดถึงหลวงปู่มั่นสับเขกท่านน่ะ เอ็งได้ยินไหม เวลาหลวงปู่มั่นสับเขกท่าน แล้วท่านจะให้คนอื่นทำอย่างที่ท่านโดนหลวงปู่มั่นสับเขกหรือ

แต่เวลาท่านบอกว่าให้เป็นกายนอกๆ ท่านเห็นถึงศักยภาพของพวกเรา ของพวกนักปฏิบัติมันอ่อนด้อย การปฏิบัตินี้มันแสนทุกข์แสนยาก การปฏิบัติลำบาก ท่านถึงบอกว่าให้จับอย่างนั้น

เหมือนกับลูกเรายกของหนักไม่ได้ ก็เอาไม้อันเล็กๆ เอานี้ไป แบกอันนี้ไปก็พอ เหมือนอย่างนั้นเลยนะ เหมือนพวกเราแบกของหนักไม่ได้ใช่ไหม เอาไม้จิ้มฟันให้อันหนึ่ง อ้าว! แบกไปนะ เอาไปวางไว้ตรงนู้น วางแล้ว เออ! เก่งๆ

กายนอกก็เป็นอย่างนี้ ท่านพยายามจะให้พวกเราปฏิบัติ เอ็งลองแบกไม้จิ้มฟันไปเก็บนะ เอ็งอยากแบกไม้ใหญ่กว่านี้ไหม เอ็งอยากได้ผลประโยชน์ไหม นี่กายนอกของหลวงตาเป็นแบบนี้ ท่านดูถูกพวกเอ็งว่าพวกเอ็งไม่มีวุฒิภาวะจะทำได้ ก็เอากายข้างนอกก่อน เอากายข้างนอก เอากายทั่วไป แล้วมันผิดไหม ไม่ผิดหรอก มันทำให้เรามีความหมั่นเพียร ทำให้เราเข้าสู่กระแสไง คืออย่างน้อยมันก็ไม่ปล่อยให้ใจเราไหลไปที่อื่น ให้ไหลอยู่ในนี้ มันก็เป็นประโยชน์กับเรา อันนี้พูดถึงหลวงตานะ

ฉะนั้นบอกว่า หลวงตาท่านพูดถูก แต่พวกเราเป็นเถรส่องบาตร

แล้วว่ากายนอก นอกกาย มันเป็นเรื่องกายนอก นอกกาย

นี่พูดซะยาวเลยล่ะ เพราะอะไรรู้ไหม มันเป็นโอกาสมาก เพราะเราเข้าใจ เราเคยคิดอยู่ตลอดเวลาว่าคนต้องถามปัญหานี้มาแน่นอน เราคิดมาตลอดว่าคนต้องถามปัญหานี้มาแน่นอน เพราะเวลาหลวงตาท่านเทศน์ ท่านเทศน์กายนอก

ในวิสุทธิมรรค ไปเที่ยวป่าช้าก็กายนอก กายนอก กายใน เพียงแต่ว่าสำคัญที่ว่าเป็นหรือไม่เป็น ถ้าเป็นนะ มันเข้าใจไปหมด ถ้าไม่เป็นนะ ก็คำพูดเดียวกันไง รับประทานๆ

ไอ้พวกนั้นบอกกิน ไม่รับประทานหรอก มันบอกกิน มันกินข้าวมา กูรับประทานนะมึง มึงกินหรือ เฮ้ย! คนละอันนะมึง คนหนึ่งรับประทาน คนหนึ่งกิน ศัพท์ทางราชาศัพท์ เสวย เสวยพระกระยาหาร ถ้าพระนี่ฉัน

ไอ้นี่รับประทาน ไอ้นู่นกิน ไอ้นี่มันกายนอก กายใน กายในกาย ถ้าเป็นแล้วนะ เข้าใจ กินก็คือกิน รับประทานก็คือรับประทาน เสวยก็คือเสวย กายนอกมันสำหรับผู้ที่หัดใหม่ ผู้ที่ไม่มีสาระแก่นสาร พยายามจะให้เขามีที่ยึดที่เกาะ แล้วถ้าเขายึดเขาเกาะได้ เดี๋ยวเขารู้เอง จะกิน จะรับประทาน เอ็งก็รู้เองถ้าเอ็งโตมา เอ็งเข้าใจเอง

นี่ก็เหมือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการบอกวิธีการทั้งนั้น เวลาเทศน์ธัมมจักฯ พอเทศน์ธัมมจักฯ พระอัญญาโกณฑัญญะรู้ขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารำพึง อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอก็อย่างนี้ เทศนาว่าการให้เอ็งปฏิบัติ พอเอ็งรู้จริงขึ้นมามันเป็นของเอ็ง นี่ทำของเราขึ้นไป

ฉะนั้นบอกว่า กายนอก กายใน มันนอกกาย มันเลยยุ่ง ถ้ามาในกายไม่ยุ่งหรอก มันนอกกาย นอกเรื่อง เป็นนอกเรื่อง เพียงแต่ว่า จริงๆ นะ เราคิดไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าสักวันหนึ่งต้องมีคนถามอย่างนี้ เพราะว่าหลวงตาท่านเทศน์อย่างไรเราก็เข้าใจ หลวงปู่เจี๊ยะเทศน์อย่างไรเราก็เข้าใจ

เวลาเราพูดไป เราพูดดักหน้าไอ้คนที่เอาคำเทศน์ของครูบาอาจารย์ไปเป็นสมบัติของตน แล้วเที่ยวไปพูดผ่านกาย รู้กาย โดยไร้สาระ

กตัญญูกตเวที รู้ถึงบุญคุณของหลวงตามันยังรู้ไม่ได้ รู้ถึงบุญถึงคุณที่ท่านได้กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงมา ท่านได้ดูแลปกป้องพวกเรามา ยังไม่คิดถึงคุณของท่าน คุณของท่าน ท่านให้ทำอย่างใด ท่านให้ออกไปการตลาดหรือท่านให้เข้าป่าเข้าเขา ท่านให้ประพฤติปฏิบัติ ท่านให้รักษาข้อวัตร ท่านให้รักษาประเพณีของเรา รู้หรือไม่รู้ล่ะ ถ้ารู้ มันเห็นคุณแล้วมันจะทำตัวอย่างไร ถ้าทำอย่างนั้นแล้ว ไอ้เรื่องที่ปัญหานี้มันจะไม่มีปัญหา เอวัง