ระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “สงสัยในอาการขณะภาวนา”
กราบนมัสการหลวงพ่อ กระผมปฏิบัติภาวนาเป็นประจำ แม้ในเวลาทำงานก็ภาวนาพุทโธๆ อยู่เสมอ เคยส่งคำถามมาถามหลวงพ่อหลายครั้ง หลวงพ่อกรุณาตอบคำถาม เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ในกรณีที่ไม่เข้าใจก็ฟังหลายๆ ครั้ง พิจารณาไปด้วยจนเข้าใจความหมายของคำตอบนั้น แล้วนำเอาคำตอบที่ได้มาปฏิบัติทุกครั้ง ก็เป็นจริงทุกครั้ง
เมื่ออาทิตย์ก่อน มีความรู้สึกว่า ร่างกาย จิต และความคิด มันแยกกันทำงานอยู่ แต่ไม่ชัดนัก จนเกิดความอยาก อยากจะเห็นให้มันชัด จึงอดทนนั่งภาวนาไปเรื่อยๆ แม้รู้สึกอยากจะหยุดภาวนาก็ตาม
สักพักเกิดความปวดที่บริเวณข้อเท้าก็ภาวนาต่อ ไม่สนใจความปวดนั้น ในขณะที่ภาวนาก็ย้อนถามดูว่าอะไรมันบอกว่าปวด มันก็เกิดความสุขอย่างบอกไม่ถูกบริเวณกึ่งกลางหน้าอก แล้วมองเห็นด้วยตัวรู้อยู่ ๓ อย่าง คือความคิดปรุง จิต และความปวด ก็ดูมันอยู่อย่างนั้น สักพักความปวดก็หายไป ไม่มีวิตกวิจาร (ในขณะนั้น) เหลือแต่ความปีติ สุข แต่รู้สึกได้ว่ามันยังไม่ถึงที่สุด ดูมันอยู่สักพักก็หายไป หลังจากออกจากการภาวนาแล้วมีความอิ่มอย่างบอกไม่ถูก แต่ก็ยังมีข้อสงสัยที่ว่าความรู้สึกมันยังไม่ถึงที่สุดนั้นควรจะแก้อย่างไร ควรจะปฏิบัติอย่างไรต่อไปครับ
ตอบ : เมื่อวานตอบปัญหาไป เขาบอกว่า เวลาเขาภาวนาเหมือนกัน ถ้าคนภาวนาแล้วมันอยากจะหาทางออก อย่างเมื่อวานนะ เขาบอกเขาภาวนาอยู่ แล้วเขาพยายามหาทางออกเหมือนกัน เขาฟังเทศน์หลวงตา แล้วเขาฟังเทศน์เรา ทีนี้ฟังเทศน์หลวงตาและฟังเทศน์เรามันขัดแย้งกัน
ขัดแย้งกันที่หลวงตาบอกว่า กายนอก พิจารณากายใครก็ได้ กายนอกหมายถึงกายข้างนอก กายนอกคือกายสัตว์อื่นกับกายของเรา แล้วกายในกายคือกายเป็นส่วนๆ แยกเป็นส่วนๆ
แต่ของหลวงพ่อ หลวงพ่อบอกว่า ถ้ากายนอก กายนอกต้องเป็นโสดาบัน กายนอกเป็นสกิทาคามี กายในกายเป็นพระอนาคามี กายของจิตเป็นพระอรหันต์ อันนั้นมันเป็นถึงขั้นของวิปัสสนา
แต่ถ้าขั้นของสมถะ คำว่า “ขั้นของสมถะ” เราจะเน้นขั้นของสมถะ ขั้นของสมถะคือการทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบเข้ามาแล้ว การภาวนาต่อเนื่องไปมันก็จะเป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์คือว่า การภาวนาเป็นแก่นสาร คนที่จะภาวนาเป็นแก่นสาร เขาต้องเอา ใจของเขาภาวนา เขาต้องมีตัวตนของเขา เอาตัวตนนั้นเพื่อทำประโยชน์กับตัวตนนั้น
แต่ถ้าเราภาวนาของเราในสามัญสำนึกของเรา คำว่า “ตัวตนของเรา” มันอยู่จิตใต้สำนึก แต่ความรู้สึกของเรามันเป็นสถานะของมนุษย์ ความเป็นสถานะของมนุษย์เขาเรียกโลกียะ คือสถานะที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ มันเป็นเรื่องของสามัญสำนึก พอเรื่องของสามัญสำนึก พิจารณาไปก็เท่านั้นน่ะ
อย่างที่เขาบอกว่า เวลาพุทโธๆ มันเป็นสมถะ ทุกคนจะพูดว่าพุทโธเป็นสมถะ ต้องใช้วิปัสสนาสติปัฏฐาน ๔ ของเขา
สติปัฏฐาน ๔ ปลอมๆ ทั้งนั้นน่ะ คือรู้ตัวทั่วพร้อมใช้สติปัญญาไป มันสามัญสำนึก มันสามัญสำนึก มันไม่เข้าถึงจิตหรอก ไม่เข้าถึงจิตเพราะอะไร ไม่เข้าถึงจิตเพราะมันมีคนที่ภาวนาถูกต้อง
คนภาวนาถูกต้องคือหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านภาวนาของท่าน ท่านทำความสงบของใจของท่าน แล้วท่านเอาจิตของท่าน คือเอาปฏิสนธิวิญญาณของท่านออกวิปัสสนา ออกใช้ปัญญาของท่าน แล้วท่านรู้แจ้งของท่านไป
คนเรามันต้องมีผิดมาก่อน คือมันผิดคือมันทำแล้วไม่ได้ผล ผิดแล้วมันทำแล้วไม่ได้ประโยชน์ แล้วเวลาท่านมาทำถูก ความถูกอันนี้มันเป็นวิปัสสนา มันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นโลกุตตรปัญญา
ทางโลกเขา เขาเป็นโลกียปัญญา โลกียปัญญาก็ปัญญาของโลก ปัญญาของโลก ปัญญาสามัญสำนึกเรานี่ไง ปัญญาที่เกิดจากความคิดเรานี่ ปัญญาที่สามัญสำนึกนี่เขาเรียกว่าโลกียปัญญา ปัญญาของโลกไง แต่เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเคยเป็นอย่างนี้มาก่อน เพราะคนที่ปฏิบัติก็เป็นอย่างนี้ทุกๆ คน เพราะคนเกิดมาก็เป็นมนุษย์เท่ากัน
คนเกิดมาก็เป็นมนุษย์เท่ากัน มีความรู้สึกเท่ากัน มีความเห็นเหมือนกัน แล้วภาวนาก็ภาวนาในความรู้สึกความเห็นอย่างนี้ แต่ภาวนาไปแล้วมันไปไม่ได้ ไปไม่ได้ เขาก็ยังตะบี้ตะบันทำอยู่อย่างนี้ แล้วก็ยังพยายามจะเคลมว่ามันเป็นวิปัสสนาๆ เพราะมันเป็นปัญญา มันเป็นวิปัสสนา มันยืนกระต่ายขาเดียวไง มันยืนกระต่ายขาเดียวว่า การใช้ปัญญานี้เป็นวิปัสสนา เป็นสติปัฏฐาน ๔ มันยืนกระต่ายขาเดียวโดยทิฏฐิมานะ ยืนกระต่ายขาเดียว ยืนยันอยู่ว่าอันนั้นเป็นวิปัสสนา
แต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านฉลาด ท่านทำของท่านไปไม่ได้แล้วท่านยืนยันอย่างไร จิตใต้สำนึกมันบอก จิตใต้สำนึกมันรู้
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อุทกดาบส อาฬารดาบสบอกว่า “ได้สมาบัติ ๘ มีความรู้เหมือนเรา” คือเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้สมาบัติ ๘ ก็เป็นพระอรหันต์แล้ว เจ้าชายสิทธัตถะก็มีความอย่างนี้ มีความสงสัยในใจ มีความสงสัย มีความกังวล มันไม่ใช่ๆ มันไม่ใช่แล้วใครจะยกย่องเยินยออย่างไรมันก็เรื่องของเขา แต่เรื่องของเรามันรู้จริงของเรา ถ้ารู้จริงของเรา ท่านถึงไม่ยอมรับการยกย่องสรรเสริญของอุทกดาบส อาฬารดาบสที่ยกย่องเจ้าชายสิทธัตถะว่าเป็นพระอรหันต์ ไม่เอาๆ แล้วมาค้นคว้าเอง
นี่ก็เหมือนกัน พอหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านมาพิจารณาของท่าน มันสงสัยอย่างนี้ ที่ว่าไม่ถึงที่สุดมันก็สงสัยอย่างนี้ มันสงสัย แล้วมันสงสัยแล้วมันเป็นอย่างไรล่ะ อ้าว! ก็เรามาทำความรู้แจ้ง ถ้าความรู้แจ้งมันก็ต้องรู้ผ่านทะลุไปสิ มันต้องสำรอกมันต้องคาย มันต้องเป็นจริงสิ มันถึงจะเป็นจริง นี่ไง ท่านถึงหาทางออกของท่าน ทีนี้พอหาทางออกของท่าน ท่านก็ทำความสงบของใจให้ลึกซึ้งเข้ามา นี่เป็นสัมมาสมาธิ ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ใช่ศีล ฌาน ปัญญา
ศีล สมาธิ ปัญญา สมาธิเป็นสัมมาสมาธิ ศีล มิจฉาสมาธิออกข้างนอก ศีล มิจฉาสมาธิมันส่งออก ส่งออกนี่ไง “วิปัสสนาๆ” ยืนกระต่ายขาเดียว พยายามจะคิดว่าตัวเองวิปัสสนา แล้วมันเคลิบเคลิ้มไป มันบอกมันนอกใจ มันนอกใจคือนอกสัมมาสมาธิ มันเป็นมิจฉา มิจฉาสมาธิมันอยู่นอกใจ
ถ้ามันเข้ามาสู่ดวงใจ เข้ามาสู่สัมมาสมาธิ นั่นมันถึงเข้ามาสู่ใจของตัว ถ้าในใจ เห็นไหม จิตจริง สมาธิจริง วิปัสสนาก็วิปัสสนาจริง โสดาบันจริง สติปัฏฐาน ๔ จริง ทุกอย่างจริงไปหมดเลย แล้วจริงที่ไหนล่ะ
ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก จริงเฉพาะใจดวงนั้นน่ะ ใจดวงที่ทำถูกต้องดีงาม จริงตรงนั้นน่ะ มันจะไปจริงที่ไหนล่ะ พอพูดออกมาก็เป็นสมมุติแล้ว พอพูดออกไปเป็นทฤษฎีแล้ว แต่คนจริงกับคนจริงเขารู้กัน ถ้าคนจริงกับคนจริงเขารู้กัน อันนั้นต่างหากถึงเป็นสติปัฏฐาน ๔ จริง
นี่ไง นี่พูดถึงว่า เราจะยกเมื่อวานไง เมื่อวานเรื่อง “นอกกาย” นอกกายนั้นมันส่งออก แต่ทำไมหลวงตาท่านสอนอย่างนั้นน่ะ
สอนอย่างนั้นก็บอกว่า โดยสามัญสำนึก คนที่ไม่เป็นสิ่งใดเลยเขาก็สอนให้มันเป็น คือท่านยื่นให้ทำน่ะ เหมือนกับหลวงปู่มั่น เวลาหลวงตาท่านเล่าให้ฟัง เวลาท่านจะทดสอบพระนะ ท่านตัดสบง ๕ ขัณฑ์ ให้เย็บคนละขัณฑ์
เย็บคนเดียวก็ได้ แต่ท่านไม่ให้ ท่านให้เย็บคนละขัณฑ์ เย็บคนละขัณฑ์นะ เย็บเสร็จแล้วมาต่อกัน หลวงตาบอกว่า พอหลวงปู่มั่นท่านยื่นให้ขัณฑ์หนึ่งนะ คือยื่นผ้าให้ชิ้นหนึ่ง ต้องไปเย็บกระดูก ล้มกระดูก แล้วค่อยมาเข้ากุสิเข้าเป็นสบง ท่านบอกว่าท่านตั้งสติล้านเปอร์เซ็นต์เลย เย็บสุดยอดเลย ทั้งชีวิตทุ่มเทให้หมดเลย พอเย็บออกมาแล้วเป็นสบง ท่านบอกว่าขัณฑ์ที่ท่านเย็บสุดยอด สวยที่สุด
หลวงปู่มั่นท่านจะดูสติของคน หลวงปู่มั่นท่านจะดูสติของลูกศิษย์ว่าลูกศิษย์มันมีสติมีปัญญาพอไหมที่มันจะรักษาตัวมันเอง ท่านสร้างคนขึ้นมา สร้างมาให้เป็นผู้นำ หลวงปู่มั่นท่านสร้างอย่างนั้น
หลวงตาท่านก็เป็นอย่างนั้น ท่านบอกว่า ใครคิดได้เอง ใครมีปัญญา แล้วมาเสนอโครงการ มาทำงาน ท่านชื่นชม แต่ถ้าให้เราสั่ง ให้เราคอยจี้คอยไชนะ นี่ใช้ไม่ได้ คือมันไม่ใช่ปัญญาเกิดจากเราไง เกิดจากครูบาอาจารย์จับยัด จับยัดแล้วขันมันยังแถเลย ท่านเทศน์อยู่อย่างนี้มันยังแถกันอยู่เลย ปัญญาที่ท่านจับยัดเข้าไปในหัวนะ มันยังสำรอกออก มันดิ้น มันไม่เอา
นี่มันแตกต่างกันไง ถึงบอกว่า เพราะว่าครูบาอาจารย์ท่านสอนมาเยอะ ท่านเห็นถึงวุฒิภาวะ ถึงความสนใจของคน ท่านถึงบอกว่ากายนอกก็ได้ ไอ้คำว่า “กายนอกก็ได้” คือพื้นๆ เบสิกทำให้ได้ก่อน มึงทำมา ถ้าทำได้แล้วมันถึงจะทำได้
เหมือนเราจะยกมรดกให้ใครสักคนหนึ่ง มึงมีความสามารถรักษามรดกกูได้หรือ มึงทำมาสิ มึงแสดงความสามารถเสียหน่อยหนึ่ง ถ้ามีความสามารถแล้วเดี๋ยวจะยกมรดกให้หมดเลย ถ้ามีความสามารถ เดี๋ยวยกให้
แต่มันไม่มีความสามารถเลย ไม่มีความสามารถจะรับรู้อะไรเลย กายนอกก็ได้ กายนอก กายใครก็ได้ ในวิสุทธิมรรคก็กายนอก ไปเที่ยวป่าช้าก็กายนอก ไปเที่ยวป่าช้า ไปทำไมล่ะ ก็ไปไม่ให้มันคิดมากไง อยู่คนเดียว โอ้โฮ! มันเก่งหมดเลย พอไปป่าช้า ขาสั่นเลย มันคิดไปไม่ได้แล้ว กายนอกมันมีประโยชน์ไง มันมีประโยชน์ของการควบคุมตัวเอง ควบคุมหัวใจไง
ฉะนั้น เรื่องกายนอกก็ถูก ถูกเพราะอะไร ถูกเพราะสังคมมันอ่อนแอ สังคมปฏิบัติมันเหลวไหล แม้แต่กายนอกมันยังไม่รู้จัก มันจะไปเอาโลกธรรม ๘ เอาเขาสรรเสริญ เอาเขายกย่อง มันจะไปเอานู่นน่ะ มันไม่เอาความจริงไง
นี่พูดถึงว่าทำไมหลวงตาท่านพูดอย่างนั้น
เพราะว่าพอคนไปคิดอย่างนั้นแล้วมันก็สวมรอยไง “ผ่านกายมาแล้ว พิจารณากายมาแล้ว” เพราะกายนอกใครก็รู้ได้ เด็กมันก็พูดได้
ดูเด็กๆ สิ เวลาครู “นักเรียน อย่าดูดบุหรี่นะ” เวลาครูดูด นักเรียนมันบอกว่าครูบอกไม่ให้ดูด มันยังดูด เด็กมันยังรู้ เด็กมันรู้หมด เดี๋ยวพอโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่มันก็ดูดบุหรี่
นี่ไง นี่พูดถึงว่ากายนอก เวลาท่านเห็นว่าสังคมมันอ่อนแอ ในวงการปฏิบัติมันเหลวไหล ท่านถึงเปิดกว้าง เปิดให้แบบว่าโน้มลงต่ำสุด โน้มลงไปเพื่อจะดึงเขาขึ้นมา โน้มลงไปทอดสะพานน่ะ หย่อนลงไปเต็มที่ แล้วพยายามให้มันเกาะ แล้วจะดึงมันขึ้นมา
แต่เราบอกว่า พอพิจารณาอย่างนั้นแล้วเป็นพระโสดาบัน
เพราะที่เราพูดเพราะตรงนั้นไง พอคนพิจารณาหน่อย “โอ๋ย! ผ่านกายมาแล้วเป็นพระอรหันต์”...ไร้สาระ
นี่พูดถึงกายนอกไง มันยังไม่จบเมื่อวานนะ มันยังตามไปเมื่อวานนี้ต่อ จะมาเอาวันนี้ไง วันนี้ “นอกใจ” นอกใจคือนอกจากจิตที่มันสงบ นอกใจ นี่เวลาจิตส่งออก หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกเลยว่าจิตส่งออก ผลของจิตส่งออก จิตส่งออกเป็นสมุทัย ความที่มันส่งออกเป็นสมุทัย
“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้า เจ้าจะเกิดบนหัวใจเราไม่ได้อีกเลย”
“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา” แล้วมันส่งออก มันคิดออกไป ความคิดกับดำริมันต่างกันไหม
ทีนี้พอมันส่งออก พอส่งออกไปแล้วมันส่งออกไปคิดข้างนอก คิดข้างนอกไป นี่นอกใจ นอกใจ เราถึงพุทโธกัน ใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามาให้มันสงบเข้ามา จะให้มันอยู่ในใจไง เข้าไปอยู่ข้างใน
เวลาพระเขาสอนนะ เขาบอกถ้าอยู่ข้างในก็ในผิวหนังนี้ ในร่างกาย ดื่มน้ำเข้าไป กลางหัวอกข้างใน ถ้านอกผิวหนังก็ข้างนอก
โอ้โฮ! ปวดหัวเลย วุฒิภาวะของอาจารย์สอนเป็นอย่างนี้ เราฟังแล้วงงเลยนะ บอกถ้าปัญญาข้างในคือความคิด คิดข้างใน ถ้าคิดเรื่องวัตถุนี่ข้างนอก ถ้าคิดเรื่องสมอง คิดเรื่องเป็นข้างใน
อ้าว! เออ! มันมีข้างนอกข้างในอย่างนี้เหมือนกัน
เวลาพูดปั๊บมันจะแสดงถึงกึ๋นเลยว่าคนนั้นมีกึ๋นหรือเปล่า จริงหรือไม่จริงไง นี่นอกใจ นอกใจคือมันส่งออก
แต่ถ้ามันในใจ ในใจคือกำหนดพุทโธ ทีนี้พอในใจกำหนดพุทโธ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านถึงสอนให้ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ครูบาอาจารย์ของเราพยายามจะสอนให้ทำความสงบของใจเข้ามา ทำความสงบของใจก็เข้ามาสู่ในใจไง ทำความสงบของใจก็เข้ามาวัดวุฒิภาวะของหัวใจของเราไง เข้ามาวัดวุฒิภาวะหัวใจของเราว่าจิตใจของเราเข้มแข็งพอไหม จิตใจเราอ่อนแอไหม มันเหมือนกับกีฬา
กีฬา ดูสิ นักมวยมันมีรุ่นของมันใช่ไหม มันมีรุ่นของมัน มีน้ำหนักของมัน เรานักกีฬารุ่นใด แข่งขันในประเภทใด นี่ก็เหมือนกัน พุทโธๆ เข้ามาให้จิตสงบเข้ามาเพื่อดูกำลังของเรา ดูความเป็นจริงของเราว่าเรามีกำลังจริงหรือเปล่า
แล้วส่วนใหญ่แล้วเราเป็นคนเชียร์มวย คือได้แต่เป็นคนดู เฮ้ย! มันเฮ้ย! แต่ไม่ขึ้นชก เพราะมันวัดใจไม่ได้ไง เราไม่ได้เป็นนักมวยสักที อ้าว! ไม่ได้เป็นนักมวยก็ได้ ก็เราไปดูเขา เราไม่เจ็บตัว
เอ็งไปดูเขา เอ็งก็ต้องเสียบัตร นักมวยเขาได้รางวัล เขาได้เงิน ใจของเอ็ง ถ้าเอ็งไม่ได้ขึ้นชก เอ็งไม่ได้ขึ้นชก เอ็งไม่ได้ลงไปแข่งขัน เอ็งจะไม่ได้อะไรเลย
ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล เราจะไปเป็นแค่คนดูมวยตลอดไปใช่ไหม เราจะเป็นชาวพุทธอย่างนี้ เราจะเป็นชาวพุทธ เราจะเริ่มระดับของทานอย่างนี้ตลอดไป หรือเราอยากจะมีมรรคมีผล
ถ้าเราอยากจะมีมรรคมีผล เราก็ต้องพยายามทำหัวใจของเราขึ้นเวทีให้ได้ ขึ้นเวทีกันนี่สมถะไง สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ถ้าใครมีฐานที่ตั้งแห่งการงาน นั้นคือการพันตูกันระหว่างกิเลสกับธรรม ชัยภูมิของการวิปัสสนา ชัยภูมิของการต่อสู้
ไอ้นี่กายนอก กายนอกมันก็ส่งไปนอก จิตนอกมันก็คิดของมันไป แล้วชัยภูมิมันอยู่ที่ไหน
อ้าว! ชัยภูมิก็อยู่ในป่าไง กรรมฐานก็นี่ชัยภูมิ
ไอ้นั่นมันชัยภูมิข้างนอกที่เราไปหาสัปปายะ ๔ ไปหาก็ไปหาใจนี้ ไปหาก็ไปหาความสงบของใจนี้เพื่อจะขึ้นสู่เวที เพื่อจะไปสู้กับมันให้กิเลสกับธรรมมันต่อสู้กันกลางหัวใจเรานี่ เราได้เห็นไง นี่เป็นสันทิฏฐิโกไง เวลาปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก มันเห็นอย่างนี้ไง มันเห็นอย่างนี้มันจะเข้าใจอย่างนี้ไง
แล้วมันจะบอกว่ากายนอก
โอ้โฮ! กายนอกเป็นโสดาบัน พอจิตสงบแล้วมันก็เห็นกายเหมือนกัน กายแรกก็เหมือนกับที่ว่าเราพูดเมื่อวาน สูทนั่นน่ะ อย่างไรๆ มันก็เจอ ถ้าเราจะจับตัวเราได้ เราใส่สูทอยู่ จับอย่างไรเราก็โดนสูทเราแน่นอน แล้วก็ต้องปลดสูทนั้นให้ได้ คือต้องถอดสูทนั้นให้ได้ ถอดสูทนั้นคือสังโยชน์ ๓ ถ้าถอดสูทได้ เห็นไหม
เวลาเราอ้างถึงจิตนี้เหมือนมะพร้าว มะพร้าวนะ ปอกเปลือกมะพร้าวนี่โสดาบัน ปอกกะลาคือสกิทาคามี ถ้าเนื้อมะพร้าวเอ็งขยำมันทิ้ง นั่นอนาคามี แล้วน้ำมะพร้าวหรือใจมะพร้าว นั่นแหละอรหันต์
จิตเวลามันส้ม เปลือกส้ม เราเปรียบเทียบประจำ ส้ม เปลือกส้ม คนโง่ๆ มันซื้อส้มมา มันกินทั้งเปลือก แต่คนฉลาดเขาปอกเปลือกทิ้ง เขากินเนื้อ เขาไม่กินเปลือก แต่ส้มมันต้องมีเปลือก คนต้องมีความคิด สามัญสำนึกของคนต้องมี แต่ถ้าจะปอกเปลือกส้มก็เข้าสู่สมาธินี่ไง ถ้าเข้าสู่สมาธิจะเข้าสู่ในใจ ถ้าเปลือกส้มมันสวย มันรักเปลือกส้ม นั่นนอกใจ ถ้านอกใจมันก็เป็นข้างนอก
ฉะนั้น เขาบอกว่าเขาฟังเทศน์หลวงพ่อ ฟังเทศน์บางอย่างก็ไม่เข้าใจ บางอย่างก็เข้าใจ แต่ถ้าฟังไม่เข้าใจจะฟังหลายๆ ครั้ง แล้วก็พยายามจะปฏิบัติตามไปๆ พอปฏิบัติไปแล้ว ทุกครั้ง เห็นไหม ทุกครั้งที่ฟังแล้ว ฟังเทศน์ไม่เข้าใจ แล้วพอเข้าใจ ปฏิบัติตามแล้วก็รู้แจ้ง รู้แจ้งคือว่าเป็นอย่างนั้นทุกที เป็นจริงๆ ทุกที
คำนี้นะ มันเหมือนหลวงตาพูด ตอนเราอยู่บ้านตาด หลวงตาท่านเทศน์บนศาลา “หมู่คณะ...” ท่านชี้หน้าพระเลย “หมู่คณะ จำคำพูดของผมไว้นะ แล้วปฏิบัติไป แล้วถ้าปฏิบัติไปถึง ถ้าผมตายไปแล้วนะ ถ้าปฏิบัติไม่ถึง เราก็ยังไม่เข้าใจใช่ไหม แต่ถ้าวันไหนเราปฏิบัติถึงนะ ตายไปแล้วจะมากราบศพผมนะ”
ท่านพูดอย่างนี้นะ บนศาลา หลวงตา “ให้จำคำพูดของผมไว้นะ แล้วปฏิบัติไป ถ้ารู้วันไหนนะ ถ้าผมตายไปแล้วจะมากราบศพ”
ท่านคงจะคิดถึงตัวท่าน ตัวท่านที่ท่านไปกราบศพหลวงปู่มั่น ท่านเผาศพหลวงปู่มั่นไปแล้ว เวลาท่านปฏิบัติไปแล้วไปรู้แจ้งก็มากราบขอขมาศพของหลวงปู่มั่น เพราะอะไร เพราะเราปฏิบัติเอง เราก็มีมุมมองของเรา
ไอ้นี่เราไม่โทษใครนะ เราไม่โทษใครหรอก เพราะทุกคนมีจริตนิสัย ทุกคนมีมุมมองของตัวเอง เราถึงว่าใครจะมาพูดกับเรานะ ใครจะมาคุยกับเรา “หลวงพ่อต้องอย่างนั้นๆ”
เราบอกว่า มันเป็นสิทธิ์ของเรา คือมุมมองของเรามันเป็นสิทธิ์ของเรา แล้วที่เอ็งพูด เอ็งมีความเห็นก็เป็นสิทธิ์ของเอ็ง เป็นสิทธิ์ของพวกโยมนะ โยมจะคิดอย่างไร โยมมีความเห็นอย่างไร เราเคารพในสิทธิ์ของโยม ถ้าเรามีความรู้สึกนึกคิดอย่างไรมันก็เป็นสิทธิ์ของเรา
ความคิดความเห็นมันจะไม่เหมือนกัน แล้ววุฒิภาวะของจิตมันสูงมันต่ำ มันยิ่งอีกเรื่องหนึ่งเลย ฉะนั้น วุฒิภาวะที่มันไม่มีเลย แล้วมันพยายามจะมาพูด พยายามจะมาค้ำคอ พยายามจะมากดให้เราเห็นด้วย เออด้วย มันเป็นไปไม่ได้ แต่เราพยายามจะบอกให้เขาเข้าใจ มันก็เป็นไปไม่ได้ นกกับปลาคุยกันไม่รู้เรื่องหรอก ถ้าคุยกันไม่รู้เรื่องแล้วมันก็สงวนสิทธิ์ของเราไว้ เป็นสิทธิ์ของเรา
บางคนมาแล้วมันไม่อย่างนั้นน่ะ มาถึงก็จะมาข่มเขาโคกินหญ้า จะข่มให้เรามีความเห็นอย่างนั้นน่ะ “หลวงพ่อต้องอย่างนั้นๆ”
มันเป็นสิทธิ์เว้ย มันเป็นสิทธิ์ เราไม่พูด เราไม่พูด แล้วแต่เขา มันเป็นสิทธิ์ มันเป็นสิทธิของเรา ทำไม เอ็งจะเชื่อไม่เชื่อก็เรื่องของเอ็ง ข้าก็ไม่ล่วงก้าวสิทธิ์เอ็งเหมือนกัน แต่ข้าพูดอยู่นี่ทุกวันเลย กูตำมึงทุกวัน กูทิ่มตำมึงทุกวัน แต่กูไม่ให้มึงก้าวล่วงสิทธิ์กูแล้วกัน แต่ถ้าวันไหนมึงรู้แล้วนะ เออ! มึงจะมากราบศพ
นี่พูดถึงถ้ารู้จริง ครูบาอาจารย์ที่รู้จริงท่านเป็นความจริง ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงนะ พูดอะไรก็เป็นจริงหมด อย่างที่หลวงตาท่านพูดเรื่องกายนอกๆ เราก็ว่ามันก็จริง แต่จริงในทางที่ว่าท่านหย่อนลงไป ท่านทอดสะพานลงไปนู่น ลงไปนรก ในบาดาลเลย จะให้ดึงพวกมึงขึ้นมาน่ะ พวกมึงยังไม่รู้เรื่องเลย
ความเห็นของเรา นี่นอกกาย คำว่า “นอกใจ” ถ้านอกใจ เขาบอกเลย เวลาฟังหลวงพ่อแล้วไม่รู้เรื่อง แต่พิจารณาซ้ำๆ พอปฏิบัติแล้วมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ
มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ มันก็จะเป็นนอกกาย นอกกายเพราะจริงๆ ถ้าความจริง ถ้าความจริงของเรา เพราะจิตเรายังไม่สงบ ถ้าเราพิจารณาขนาดไหนเขาเรียกว่าตรึกในธรรม ตรึกในธรรม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พุทธพจน์เป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรามาตรึก ตรึกในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ของเรา แต่เราเอามาตรึกไง เราเอามาตรึก เราเอามาเป็นโจทย์ไง ถ้าเราตรึกจบแล้วเราปล่อยวาง นี่สมถะ
เพราะเราตรึกในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรายังไม่เห็นจิตเห็นอาการของจิต คือเรายังไม่เห็นตัวตนของเรา เรายังไม่เห็นเปลือกส้มของเราที่มันพอกพูนใจของเรา ถ้าเราไม่ได้เห็นของเราคือเราไม่เห็นกิเลส ถ้าเห็นปั๊บ มันจะสะเทือนหัวใจ สะเทือนหัวใจก็นั่นคือกิเลส
อ้าว! เห็นกิเลส เห็นอย่างไร ก็บอกกิเลสก็ ก-ไก่ สระอิไง สระเอ ล-ลิง ส-เสือไง กิเลสไง เราก็ไปเขียนกันในจิตรกรรมฝาผนังนะ เขียนยักษ์ตัวใหญ่ๆ ไง อวิชชามันเป็นอย่างนี้ ยักษ์เขี้ยวยาวเลย อวิชชานี่...ไม่ใช่
หลวงตาบอกว่า อวิชชามันสวยยิ่งกว่านางสาวจักรวาล จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส มันผ่องใส มันใสมันสว่างอยู่กลางหัวใจ มันถึงหลอกสัตว์โลกได้ไง
ถ้าเป็นยักษ์ เราไปเจอมัน เราก็วิ่งหนีสิ เราไปเจอยักษ์ เราก็รู้ว่านี่ยักษ์ ยักษ์เป็นศัตรูกับคน ถ้าเราไปเจอ เราก็เข้าใจ โอ๋ย! นี่อวิชชา มันก็เจอน่ะสิ
มันไม่เจอหรอก อวิชชามันผ่องใส แต่เวลามันเป็นบุคลาธิษฐาน เพราะอวิชชามันให้โทษ มันทำให้คนเวียนว่ายตายเกิด มันทำให้คนมีความทุกข์ มันเลยเป็นบุคลาธิษฐานเขียนออกมาให้เห็นว่ามันเป็นยักษ์เป็นมาร
เขียนว่ามันเป็นยักษ์เป็นมาร แต่ตัวจริงๆ ของมัน อู้ฮู! หลวงตาบอกว่ามันสวยกว่านางสาวจักรวาล นางสาวจักรวาลยังผ่องใสสวยสู้อวิชชาไม่ได้ มันประภัสสร ไม่มีใครรู้จักมันหรอก คนเห็นเท่านั้นถึงจะรู้ คนไม่เคยรู้เคยเห็นน่ะขี้โม้
หลวงพ่อก็โม้ด้วยคนหนึ่ง กำลังโม้สนุกเลย กำลังจะโม้กันอยู่นี่
ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันไม่เคยรู้เคยเห็นมันเป็นไปไม่ได้ นี่นอกจิต แต่ถ้าในจิตเข้ามามันจะเข้ามาสู่จิต นี้ถ้าเข้ามาสู่จิต
ทีนี้บอกว่า อ้าว! ก็ฟังหลวงพ่อแล้ว ปฏิบัติไปแล้วมันก็จริงทุกครั้งเลย
จริงก็สมถะไง นี่นอกจิต นอกใจๆ นอกใจคือมันนอกจากใจของเราไง แต่เป็นโจทย์ของครูบาอาจารย์ไง อย่างที่เราตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เขาทำกันอยู่นี่ อภิธรรมที่ทำกันอยู่นี่ ตรึกธรรมะพระพุทธเจ้าทั้งนั้นน่ะ แล้วมันบอกว่าเป็นของมัน เคลม พยายามจะให้ได้ ไม่มีได้สักคนหนึ่ง ไม่มีใครได้เลย เพราะมันไม่ปัจจัตตัง มันไม่รู้จำเพาะตน ไม่เป็นเวทีของคนคนนั้น
ถ้ามันเป็น เห็นไหม กรรมฐานเรานี่เป็น
เขาบอกว่า “พุทโธๆ เป็นสมถะๆ มันไม่มีปัญญา”
คนที่มีปัญญาเขาเอาตัวรอดได้แล้ว แล้วเขาสอนจริง สอนจริงคือทำให้ได้ผลตามความเป็นจริง ไม่ใช่ไปเดินตามอย่างนั้น ไอ้นั่นเป็นสัญญา นี่ทำเหมือนพระพุทธเจ้าเลย พระพุทธเจ้าทำอย่างไร ศึกษาตามพระพุทธเจ้าเลย ก็มีพระบวชใหม่เขาจะถือธุดงควัตร เขาถือผ้า ๓ ผืน เขาก็เอาผ้า ๓ ผืนนะ ถือผ้า ๓ ผืนทั้งชีวิตเลย จะไม่ยอมเปลี่ยน ผ้ามันจะอยู่ได้อีกกี่ปี มันอยู่ได้ไหม
แต่ในธุดงควัตรถือผ้า ๓ ผืน เวลาผ้ามันเก่า ผ้ามันชำรุดทรุดโทรม เวลากฐิน เวลาพระถือธุดงค์เขาก็เก็บเอาเศษผ้า เอาผ้าที่เขาทิ้ง ผ้าห่อศพ เอามาซัก ซักเสร็จแล้วเขาก็เอามาเย็บมาย้อม เย็บย้อมเสร็จแล้วเขาก็ปัจจุทฯ (ปัจจุทธรณ์) คือว่าถือปัจจุทฯ จากจีวรตัวนี้ให้ไปสู่จีวรตัวใหม่ แล้วอธิษฐานจีวรตัวใหม่ให้เป็นผ้า ๓ ผืนต่อไป เขาไม่ใช่ว่าใช้ผ้า ๓ ผืนตลอดชีวิต
คนเรามันเข้าใจว่าใช้ผ้า ๓ ผืนตลอดชีวิตนะ พระใหม่ๆ อย่างนั้นหลายองค์ เราเจออยู่ ปะชุนอยู่อย่างนั้นน่ะ หนาตึ้บเลย
แล้วบอกทำไมไม่เปลี่ยนล่ะ
ก็ใช้ผ้า ๓ ผืนไง ตั้งแต่บวชมาจะอยู่กับมันตลอดชีวิตไง ก็ทำเหมือนไง ก็ตีความธรรมะพระพุทธเจ้าไง
แต่ครูบาอาจารย์เรามา ท่านเป็น ถ้าคนเป็นทำอะไรมันถูกหมด ถ้าคนไม่เป็นทำอะไรผิดหมด แล้วหลวงตา ครูบาอาจารย์เราของจริง ของจริง แต่ท่านหย่อนลงมา ท่านทอดสะพานลงไป
หลวงตาท่านพูดถึง ท่านให้ถามสามเณรที่บอกว่าหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ไง ท่านเทศน์เลยบอกว่า ร่างกายนี้มันเป็นของสกปรก ถ้าไม่เชื่อให้เอานิ้วล้วงเข้าไปในทวารหนักสิ แล้วเอามาดม มันจะสกปรกไหม
หลวงตาท่านฟัง คำนี้ฝังใจท่านมาก ท่านบอกว่า เราพิสูจน์ได้ด้วยวิปัสสนาไม่ได้ หลวงปู่มั่นว่าให้พิสูจน์กันด้วยวิทยาศาสตร์เลย ให้เอานิ้วแหย่เข้าไปในทวารหนัก แล้วดมซิว่ามันสะอาดไหม
นี่ไง ท่านทอดลงขนาดนั้น หลวงตาท่านพูดเรื่องนี้ทีไรท่านบอกว่าหลวงปู่มั่นท่านทอดลงไป คือว่าท่านผ่อนลงไปจนเอาเรื่องร่างกาย เอาเรื่องวิทยาศาสตร์ เอาเรื่องปัจจุบันมาทำให้เราดูเลย ไอ้อย่างนี้ถ้ามันรู้มันก็รู้แค่สลดสังเวชไง แต่ถ้ามันเป็นวิปัสสนา เป็นอย่างนี้ไม่ได้
เป็นวิปัสสนา จิตมันจะสงบเข้ามา แล้วจิตมันต้องเห็นอาการของจิตคือเห็นสติปัฏฐาน ๔ ถ้าจิตมันจริง เห็นจริง เห็นจริงก็เห็นกิเลสไง มันต้องเห็นกิเลส มันถึงได้แยกแยะกิเลสแล้วชำระล้างกิเลส มันถึงจะเป็นการวิปัสสนา วิปัสสนาคือการรู้แจ้ง รู้แจ้งในอะไรล่ะ รู้แจ้งในสมุทัย รู้แจ้งในสิ่งที่มันปิดบังอยู่ นี่ถ้ารู้แจ้ง
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลาเขาปฏิบัติไปแล้วมันก็เป็นจริงแบบหลวงพ่อทุกทีเลย แล้วหลวงพ่อทำไมบอกว่ามันไม่เป็นจริงล่ะ
เห็นไหม ยังนอกใจอยู่นี่ไง
ถ้ามาถามโดยส่วนตัวบอกอย่างนี้ถูกไหม เราบอกถูก ถูกคืออะไร ถูกคือเอ็งทำถูกโดยพื้นฐานไง คำว่า “ถูก” คือทำถูกตรงนี้ แต่ถูกนี้ไม่ใช่เอ็งมีมรรคมีผลนะเว้ย ถ้ามีมรรคมีผล เอ็งต้องทำความสงบอย่างนี้บ่อยๆ พิจารณาแล้วมันบ่อยๆ ถ้าบ่อยๆ คือว่าจิตมันสงบ ถ้าจิตสงบ จิตมันตั้งมั่น ถ้าจิตมันไปเห็นกาย เห็นสติปัฏฐาน ๔ นี่จิตจริงๆ จิตคือไม่มีสมุทัย จิตเป็นสัมมาสมาธิ แล้วจิตเป็นวิปัสสนา นั้นน่ะมันถึงของจริง จิตจริง โสดาบันถึงจะจริง
ถ้าจิตยังไม่จริง จิตมันยังมีสมุทัยอยู่ มันก็เป็นนอกใจ นอกใจคืออารมณ์ เราพยายามจะพิจารณา พยายามจะใช้ปัญญาขึ้นมาให้มันวางอารมณ์ อารมณ์น่ะ วางอารมณ์แล้วเหลืออะไร วางอารมณ์แล้วเหลืออะไร ที่มันทุกข์อยู่นี่มันทุกข์อารมณ์เราหรือเปล่า ที่มันทุกข์อยู่นี่มันความคิดไหม อารมณ์เราหรือเปล่า แล้วถ้ามันวางอารมณ์มันคืออะไร นั่นน่ะทำไป เดี๋ยวจะรู้ ครูบาอาจารย์ท่านทำอย่างนี้ไง
“เมื่ออาทิตย์ก่อนนี้มีความรู้สึกว่าร่างกาย จิตใจ กับงานมันแยกออกจากกัน”
มันแยกออกจากกัน มันวางชั่วคราว การวางมันวางได้หลากหลาย การวางโดยชั่วคราวมันแยกออกไป แล้วมันมีความสุขมาก เขาว่ามันมีความสุขมากนะ มีความสุขมาก เขาพิจารณาว่ามันเป็นความปวด เวลาความปวดพิจารณาไปแล้วมันจะหายของมันไป ทีแรกมันปวดมาก พิจารณามันปวด
ความปวดอันหนึ่ง ความกลัวอันหนึ่ง บางคนกลัว กลัวมากๆ กลัวไปหมด วิตกวิจารณ์ไปหมด เวลาความปวด คนอยู่ที่จริตนิสัย ความปวด เวลามันปวด มันเกิดขึ้น ทีนี้เวลามันปวด มันเกิดขึ้น มันอยู่ที่นิสัย นิสัยถ้ามันปวดเกิดขึ้นนะ เราเดินจงกรมก็ได้ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้
เพราะการพิจารณา ครูบาอาจารย์ที่พิจารณากาย ก็ท่านจะสอนลูกศิษย์ให้พิจารณากาย แต่เวลาหลวงตาท่านผ่านขั้นต้นมาด้วยเวทนา ท่านพยายามจะสอนให้พิจารณาเวทนาก็ได้ แต่ถ้าครูบาอาจารย์ที่ท่านผ่านมาทางจิต จิตคือธรรมารมณ์ คือความคิด มันผ่านได้ทุกอย่าง แต่ผ่านไปแล้วนะ มันไปละ ถ้ามันละได้มันก็ละสักกายทิฏฐิเหมือนกัน
เวลาผ่านเวทนา เวทนาก็เกิดจากกาย เวทนาเพราะจิตมันยึดมันถึงมีเวทนา เวลาพิจารณากายๆ เพราะจิตมันข้องเกี่ยวมันข้องแวะ มันหวงแหน มันถึงมีสังโยชน์ผูกกับกาย พิจารณากายๆ เวลามันปล่อย มันปล่อยที่จิต มันไม่ได้ปล่อยที่กายหรอก ถ้ามันปล่อยที่กาย เวลาคนตายเอาร่างกายไปเผามันก็จบ
อ้าว! อยากเป็นพระอรหันต์ไหม อยากเป็นพระอรหันต์ สุมไฟเลย แล้วขึ้นไปนอนบนนั้น เดี๋ยวได้เป็นพระอรหันต์ มันเป็นไหมล่ะ มันไม่เป็นหรอก มันแสบร้อนน่ะสิ เพราะมันไม่ใช่เป็นในหัวใจ เห็นไหม นี่มันนอกใจไง ถ้ามันในใจ ในใจมันต้องทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบแล้วมันจะเป็นของมัน
ฉะนั้น เวลาที่ว่ามันแยก มันปล่อยอารมณ์ได้ รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ถ้ามันรู้เท่ามันก็สงบ แต่ถ้ามันพิจารณาบ่อยๆ เข้า มันขาด มันขาดมันก็ปล่อย นี่กัลยาณปุถุชน
ปุถุชน กัลยาณปุถุชน ถ้าเป็นกัลยาณปุถุชนคือรักษาจิตได้ บางคนไม่รู้มันก็อยู่อย่างนั้นน่ะ แต่ถ้าใครยกขึ้นสู่วิปัสสนา คือยกขึ้นเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นั่นน่ะโสดาปัตติมรรค บุคคล ๔ คู่ มันจะเดินขึ้นไปเลย ถ้ามันเดินขึ้นไป มันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป คนภาวนาเป็นมันชัดเจนมาก มันชัดเจนมาก แล้วทำได้ง่ายทำได้ยากนั่นอีกเรื่องหนึ่ง
เวลามันพิจารณาของมันไป ถ้าเป็นเรื่องของจิต เป็นเรื่องของความคิด นอกใจหมดแหละ มันนอกใจ พุทโธ ปัญญาอบรมสมาธิ มันปล่อยเข้ามา มันจะเป็นใน แต่ยังไม่ในไง
ถ้าเป็นในใจ สัมมาสมาธิ ในใจ ถ้าในใจ ใจมันเห็น จิตเห็นอาการของจิต หลวงปู่ดูลย์ท่านเน้น หลวงตาท่านก็เน้น ครูบาอาจารย์ท่านก็เน้น ถ้าจิตเห็นอาการของจิตนั้นคือการยกขึ้นสู่วิปัสสนา
แต่เวลาใช้ความคิด หลวงตาท่านใช้คำว่า “วิปัสสนาอ่อนๆ ปัญญาอ่อนๆ” ท่านลงไปขนาดนั้นนะ เวลาหลวงตาท่านเทศน์คำไหนนะ เราจะฝังใจมาก ท่านบอกว่า ถ้าการฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้ามีสมาธิเขาเรียกว่าวิปัสสนาอ่อนๆ
หลวงตาใช้คำนี้ “วิปัสสนาอ่อนๆ ปัญญาอ่อนๆ” มันต้องมีฝึกหัดอ่อนๆ มันถึงจะเข้มแข็งขึ้นมาไง
ไอ้นี่พอมันจะอ่อนๆ มันทำให้เสียหายหมดเลย อ่อนๆ เพราะอ่อนๆ ใช่ไหม มันอ่อนๆ มันก็ฝึกหัดทีเดียว แล้วบอกมันเป็นแล้ว จบเลย นี่วิปัสสนาอ่อนๆ ใช้ปัญญาอ่อนๆ
แล้วเวลาคนไปติด ที่ว่าหลวงตาติดสมาธิๆ มันเป็นที่ว่าท่านพูดเพื่ออ่อนน้อมถ่อมตนไง ความจริงท่านผ่านสกิทาคามีมาแล้วมันจะติดสมาธิได้อย่างไร แต่ท่านหลง
ท่านพูดจริงๆ นะ สาธุ ไม่ใช่ขายหลวงตา ท่านหลงว่าเป็นนิพพาน แต่เวลาท่านพูด ท่านมาบังไว้ว่าท่านติดสมาธิ จริงๆ ท่านหลงว่าท่านได้นิพพานแล้ว ๕ ปี
แล้วเวลาหลวงปู่มั่นท่านบอกว่า จิตเป็นอย่างไรล่ะ
ก็ว่าเป็นนิพพานๆ ไง ท่านหลงว่านิพพานนะ ไม่ใช่ติดสมาธิ ทีนี้ท่านไม่ใช้คำว่า “หลง” ท่านใช้คำว่า “ติดสมาธิ” แล้วพวกเราก็คิดว่าติดสมาธิๆ ก็ต้องติดสมาธิตั้งแต่ปุถุชนนี่ไง แต่ความจริงท่านพิจารณาผ่านขึ้นไปแล้ว ก็มันเรื่องของวิบากกรรม
เพราะไปถามหลวงปู่มั่นไง ก็อยากจะเป็นอย่างนั้นอีก
“ก็มันเป็นหนเดียวเท่านั้นแหละ มันจะมีสองที่ไหน หนเดียว หนเดียวเป็นแล้ว เป็นแล้วก็จบแล้ว” คำตอบหลวงปู่มั่นตอบมาเพื่อเป็นประโยชน์ แต่เวลาคนไปคิด คนไปจับ มันจับแล้วมันตีความผิด
ฉะนั้น ที่ว่าติดสมาธิ ๕ ปี ท่านติดว่าท่านสำเร็จแล้ว แต่ไม่ได้ติดสมาธิ แต่เวลาออกแล้วมันเป็นไป นี่พูดถึงในใจ ถ้าในใจมันก็ตั้งแต่โสดาบันขึ้นมา มันเป็นในใจแล้ว ถ้านอกใจ นอกใจมันเป็นปุถุชนเลย นอกใจ
ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่า ที่เวลาเขาพิจารณาของเขามันปวดมาก เวลามันปวดมากก็ทนนั่งต่อไป ถึงที่สุดแล้วความปวดมันหายหมดเลย พอความปวดมันหายไป มันมีความสุขมาก มันมีความรู้อยู่กลางหัวอก มันมีความมหัศจรรย์
มหัศจรรย์ เวลาจิตของเราตอนนี้มหัศจรรย์ เวลามันละเอียดขึ้นไปๆ มันยิ่งมหัศจรรย์กว่านี้ มหัศจรรย์กว่านี้เยอะมาก เพราะมันมหัศจรรย์กว่านี้ไง เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการ เห็นไหม สติ สติมันได้ถึงแค่สกิทาคามี พอจะยกขึ้นสู่อนาคามีมันจะเป็นมหาสติ แล้วพอขึ้นไปสู่อรหัตตมรรคมันจะเป็นสติอัตโนมัติเลย
สติ มหาสติ แล้วปัญญาที่เราเกิดขึ้น แค่นี้เราก็มหัศจรรย์พอแล้ว มันเป็นปัญญา โอ๋ย! มันมหัศจรรย์ มันว่าง
แล้วถ้าเกิดมหาปัญญาขึ้นมามันเป็นอย่างไรล่ะ
มหาปัญญา ปัญญาที่มันลึกซึ้งกว่านี้ ที่มันทัน ที่มันเร็วกว่านี้ ที่มันยอดเยี่ยมกว่านี้ แล้วถ้าเกิดปัญญาญาณข้างบนที่มันไปเห็นอวิชชา ที่ว่าอวิชชามันยิ่งกว่านางสาวจักรวาล มันจะไปจับได้ มันจะเป็นอย่างไร ครูบาอาจารย์ที่ท่านผ่านมา ท่านผ่านมาอย่างนี้ ท่านผ่านไปแล้ว ถึงว่ามันสู่ในจิตไง
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลาเขาบอกว่าเขาพิจารณาผ่านปวดมาแล้ว พิจารณาซ้ำไปแล้ว เห็นมันแยกออกเป็น ๓ ตัว สิ่งที่ว่ามีตัวปรุง ตัวจิต ตัวปวด เวลามันพิจารณาจนหายไปแล้วมันไม่วิตกวิจาร ในขณะนั้นมีปีติ มีความสุขมาก แต่รู้สึกว่ามันไม่ถึงที่สุด
แต่รู้สึกว่ามันไม่ถึงที่สุด เห็นไหม นี่คือการปล่อยวาง การปล่อยวางมันไม่สำรอก ไม่ได้คายออกไป มันมีความสงสัย มันไม่เห็นกิเลสไง ถ้ามันเห็นกิเลสนะ มันจะไม่มีความสงสัย เห็นกิเลส สำรอกกิเลส อื้อหืม! ปัญญาที่มันไปต่อสู้กับกิเลสมันชัดเจนกว่านี้อีก
ไอ้ที่ว่า มันปล่อย มันว่างหมด นี่สมถะ สมถะคือปัญญาอบรมสมาธิ ไอ้ที่เขาใช้ปัญญาๆ กัน ที่เขาตรึกธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อภิธรรม ถ้าเขามีสติพร้อมนะ นั่นน่ะถ้าเขามีสตินะ มันจะเป็นสัมมาสมาธิ
แต่เพราะขาดสติเขาถึงว่า “ว่างๆ เกิดญาณ ญาณ ๑๖ ญาณที่ ๗ ญาณที่ ๘ โคตรภูมิ เกิดภูญาณ”...มันนึกเอาทั้งนั้นน่ะ มันไปท่องมาจากหนังสือ แล้วมันก็ทำอารมณ์มันน่ะ “โคตรภูญาณ ตอนนี้เกิดญาณ”
เอายูเอฟโอมา มันจะมียาน เราจะได้ขึ้นยานกัน
นี่ญาณของเขา มันจินตนาการ นี่มันนอกใจ ถ้านอกใจเป็นแบบนั้น เพราะนอกใจมันคิดได้หมด เห็นไหม อย่างพวกเรา เราประชุมกัน เราจะทำธุรกิจกัน ทุกคนเสนอโครงการมา โอ้โฮ! โครงการคนนี้ก็รวยๆๆ ทุกโครงการรวยหมดเลย แต่ยังไม่ได้ทำ ไม่รู้ว่าโครงการไหนจะรวย
อ้าว! นี่ก็เหมือนกัน ก็จินตนาการไง “นี่ปัญญามันเกิดไง ธรรมะพระพุทธเจ้าไง อันนั้นก็พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ อันนี้ก็พระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้น พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ พระพุทธเจ้าบอกกูอย่างนี้นะเว้ย เมื่อคืนฝันเห็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ามาสอนในสมาธิอย่างนี้เลย”...นี่นอกใจ
นี่ก็เหมือนกัน เราประชุมกันเลย เสนอโครงการมาคนละโครงการ แล้วดูซิโครงการใครจะสำเร็จ ทุกคนจะบอกโครงการของตัวเองดี ยังไม่ได้ทำ ยังไม่รู้ว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ
พุทธพจน์ พุทธพจน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเอามาจินตนาการ ผิดไหม ไม่ผิดหรอก แต่ต้องรู้ว่ามันนอกใจ มันเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นสิ่งที่ว่าสังคมมันเป็นสาธารณะ ทุกคนก็มีสิทธิใช้ มันเป็นสาธารณะ มันเป็นสาธารณะ มันไม่ใช่เป็นของเรา
แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามา นี่ในใจของเรา ในใจ เห็นไหม เพราะว่าเลือดเนื้อเชื้อไข เลือดเนื้อเชื้อไขของเรา ดีเอ็นเอของเรา จิตใจของเรา ภวาสวะของเรา กิเลสของเรา แล้วถ้าพิจารณาแล้วมันจะเกิดธรรมะของเรา
ถ้าเกิดธรรมะของเรานะ เวลาพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะสำเร็จแล้วจะไปลาพระพุทธเจ้านิพพาน นี่ไง “เธอจงเห็นสมควรแก่เวลาของเธอเถิด” เพราะธรรมะของพระสารีบุตร พระสารีบุตรนิพพานก็นิพพานของพระสารีบุตรไปไง พระโมคคัลลานะนิพพานก็นิพพานของพระโมคคัลลานะไปไง
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระอานนท์คร่ำครวญ “อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา แม้แต่ตถาคตก็ต้องนิพพานไป”
แล้วอยากให้พระพุทธเจ้าสอนอยู่ เพราะยังเป็นพระโสดาบันอยากให้พระพุทธเจ้าสอนอยู่
“อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ ธรรมและวินัยที่เราสอนไว้แล้วมันจะเป็นศาสดาของเธอ เราจะสอนอะไรได้อีก เราก็สอนได้เต็มที่แล้ว ถ้าเธอปฏิบัติก็จะเป็นของเธอ”
นี่ของเธอ แต่พระพุทธเจ้านิพพาน เอาของพระพุทธเจ้าไป ธรรมะในใจของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเอานิพพานของพระพุทธเจ้าไป แล้วพระพุทธเจ้าวางธรรมวินัยนี้ไว้ ทำไมพระพุทธเจ้าไม่เอาไปด้วยล่ะ พระพุทธเจ้าวางธรรมวินัยนี้ไว้มันไม่สูญสิ้นไปล่ะ ทำไมเราปฏิบัติทำไมเรายังได้อยู่ล่ะ
นี่มันเป็นสาธารณะไง มันนอกใจไง มันนอกหัวใจมันถึงกองไว้นี่ไง เป็นสาธารณะไง แต่ถ้าเป็นจริง มันเป็นจริงของเรา ถ้าเป็นจริงมันเป็นแบบนี้ นี่พูดถึงถ้าในใจ
ในใจ พิจารณาไปทั้งหมด อารมณ์ส่งออกนอกหมด ทวนกระแสกลับ ภาวนามยปัญญามันจะเป็นภายใน เป็นภายใน เห็นไหม
ทีนี้เขาบอกว่า “หลังจากออกจากภาวนาแล้วมีความอิ่มอย่างบอกไม่ถูก แต่ก็มีข้อสงสัยอยู่ว่าความรู้สึกนั้นมันไม่ถึงที่สุด ควรแก้อย่างไร”
ความรู้สึกนั้นไม่ถึงที่สุด พูดจนจะจบอยู่แล้ว คนถามบอกหลวงพ่อไม่ได้ตอบปัญหาผมเลย หลวงพ่อใส่อารมณ์อยู่คนเดียว ผมถามปัญหาไป ผมยังไม่รู้ว่าหลวงพ่อจะตอบผมหรือเปล่า
ไม่ได้ใส่อารมณ์ แจกแจงให้เห็นไงว่าถ้านอกกายมันเป็นแบบนี้ แล้วปฏิบัติ เวลามันใช้ปัญญาไปแล้ว ในใจ นอกใจ นั่นนอกกายเป็นแบบนี้ นอกใจมันเป็นแบบนี้ ถ้าในใจ มันจะไปสำรอกไอ้สิ่งที่ว่าไม่ถึงที่สุดๆ ไอ้ความสงสัย ถ้ามันเป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิ จิตมันตั้งมั่น จิตมันจริง มันเห็นกายจริงๆ มันวิปัสสนาจริงๆ มันสำรอกมันคาย ไอ้ที่ว่าไม่ถึงที่สุดน่ะไม่มีหรอก
ไม่ถึงที่สุด เวลามันปล่อย มันปล่อยอย่างนี้ แต่เวลามันขาด ถ้ามันยังไม่ถึงที่สุด มันจะขาดได้อย่างไร ไม่ถึงที่สุดก็เหมือนพระพุทธเจ้าที่อาฬารดาบสยกย่อง ที่เหมือนกับหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านพิจารณาไปแล้วมันไปไม่ได้ ไม่ถึงที่สุด
แต่เวลาท่านลาพระโพธิสัตว์ของท่าน จิตของท่านจริงแล้ว แล้วเวลาท่านวิปัสสนาไป พอวิปัสสนา “เออ! มันต้องเป็นอย่างนี้สิ” เพราะมันสุดสิ้น มันจุดจบ มันจบเลย มันไม่มีคา ไม่มีมาค้างคากลางใจ
แต่ของเราถ้ามันข้างนอก เราทำอยู่ข้างนอก แต่ข้างในมันคา เห็นไหม เราไปกวาดบ้านคนอื่นหมดเลย แต่บ้านตัวเองไม่ได้ดู
บ้านพวกมึง กูดูแลให้หมดเลย กูเก่งนะ กูเช็ดให้หมดทุกบ้านเลย บ้านใครมาก็ให้รางวัล โอ๋ย! บ้านสะอาด ให้รางวัล แต่บ้านกู กูไม่เคยดูเลย ปล่อยให้มันเหม็นเน่าอยู่นั่นน่ะ แต่บ้านคนอื่น กูเช็ดให้หมดเลย กูอยากได้หน้า กูอยากให้คนเขาชมว่ากูดี กูรักษาบ้านพวกมึงให้หมดเลย ค่าส่วนกลางต้องจ่ายนะเว้ย กูรักษาบ้านให้พวกเอ็งหมดเลย แต่บ้านกู กูไม่ได้ดูเลย
แต่ถ้าวันไหนกูไปดูบ้านกูจบนะ ความสงสัยในบ้านกูไม่มี นี่ในจิต
นี่นอกจิตไง ทีนี้คำว่า “นอกจิต” ทีนี้จะทำอย่างไรล่ะ
พุทโธ พุทโธหรือปัญญาอบรมสมาธิให้มันสงบเข้ามา พอสงบเข้ามาแล้วเราจับสิ่งใดได้เราก็พิจารณา สำคัญที่สุดคือจิตสงบ สำคัญที่สุดคือจิตจริง คือผู้ที่ออกวิปัสสนามันต้องมีกำลัง ต้องมีความจริงของมัน แล้วเราออกไปวิปัสสนา เราจับต้องตามนั้น
แล้ววิปัสสนา พอวิปัสสนามันก็แบ่งออกไปแล้ว สุกขวิปัสสโก เตวิชโช มันอยู่ที่ประเภท อยู่ที่จริตนิสัย ถ้าเราวิปัสสนาจริง ทำจริง เวลาจริตนิสัยเป็นอย่างไรมันจะเป็นพระอรหันต์ประเภทนั้นๆ แต่จริงๆ แล้วมันก็มาจากอริยสัจเหมือนกันหมดแหละ มันอยู่ที่จริตนิสัยไง อย่างเช่นถ้าคนทางภาคใต้ น้ำบูดูก็อร่อย คนภาคกลาง อะไรอร่อยไม่รู้ แต่คนอีสานต้องส้มตำอร่อย คนทางเหนือ แคปหมูอร่อย จริตของเขา ถ้าเขาได้กินแคปหมูนะ เขาชอบเลย
คนภาคกลางกินอะไร คนภาคกลางกินทุกอย่าง คนใต้นะ ถ้าเขากินน้ำบูดูของเขา วันไหนถ้าเจออาหารใต้นะ โอ้โฮ! วันนี้ปลื้ม อีสานมานี่ ส้มตำมาได้เลย จริตนิสัยของคนไง แต่เวลากินแล้วอิ่มเหมือนกัน อริยสัจอันเดียวกัน แต่ประเภทแยกออกไปจากจริตนิสัย จากอำนาจวาสนา จากพื้นเพไง
พื้นถิ่น เราเป็นคนภาคไหน พื้นถิ่นนั้น จิตมันสร้างเวรสร้างกรรมมาก็พื้นถิ่นของมัน จริตนิสัยของมัน ทำแล้วมันได้อย่างนั้น มันจะเป็นประเภท ที่ว่าพระอรหันต์ประเภทนั้นๆ จากจริตนิสัย อย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวิชชา ๓ พระสารีบุตรนี่ปัญญา เวลาพระโมคคัลลานะนี่ฤทธิ์ มันเป็นประเภทๆ เพราะเขาทำของเขามาอย่างนั้น ถ้ามันจบมันก็จบอย่างนั้น นี่พูดถึงถ้าในใจเป็นแบบนี้
ฉะนั้นว่าถ้ามันยังไม่ถึงที่สุด พุทโธๆ กลับมาให้มันสงบแล้ววิปัสสนา แล้วถ้ามันบ่อยครั้งเข้า พอมันเข้าสู่ในใจ มันสำรอกมันคายถึงที่สุด เดี๋ยวจะถึงที่สุดถ้าเราค่อยๆ ทำ อย่าใจร้อน อย่าใจร้อน
หลวงพ่อพูดปั๊บ คืนนี้เป็นพระอรหันต์เลย เพราะหลวงพ่อบอกแล้ว จะเอาให้ได้เลย...อด เพราะตัณหามันไปซ้อนไว้
อย่าใจร้อน ค่อยๆ ทำ แล้วยึดหลักไว้ กาลามสูตร อย่าเชื่อใครทั้งสิ้น ยึดไว้แล้วพยายามทดสอบ ปฏิบัติ แล้วถ้าทำไปแล้วถ้ามันจริงนะ “หลวงพ่อสอนผิด ผมทำแล้วทำอย่างนี้มันถูก ของหลวงพ่อผิด”
มาพูดกัน ถ้าทำไปแล้วมันถูก แล้วมาบอกเลยว่าหลวงพ่อพูดทุกวันๆ นี่ผิดหมด ของผมทำแล้วถูก
มา
ฉะนั้น ค่อยๆ ทำไป ทำให้มันเป็นความจริงของเรามาในหัวใจของเรา
หลวงตาถึงบอกว่า หลวงปู่มั่นสั่งหลวงตาไว้ ห้ามทิ้งผู้รู้ ห้ามทิ้งพุทโธ พุทโธคือใจ พุทโธคือพุทธะ
ในใจ ในใจของเรา ปฏิสนธิวิญญาณ ถ้ามันสำเร็จมันสำเร็จที่นี่ ที่อื่นไม่มี เอวัง