ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

พระธรรม

๒๘ ก.พ. ๒๕๕๘

พระธรรม

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องสัมมาสมาธิ

กราบเท้าหลวงพ่อ ผมมีคำถามขอรบกวนเมตตาหลวงพ่อดังนี้ครับ

. รบกวนช่วยชี้ทางวิธีการปฏิบัติสัมมาสมาธิที่ถูกต้องสำหรับคนทำงานทั่วไปซึ่งมีเวลาปฏิบัติธรรมได้ในช่วงเวลากลางคืน (ผมมีครอบครัว ต้องรอให้ลูกเข้านอนก่อนจึงจะสามารถสวดมนต์และนั่งสมาธิได้ครับ)

. เวลาที่ขับรถไปกลับจากที่ทำงาน การฟังธรรมะของหลวงพ่อในรถถือเป็นการปฏิบัติธรรมใช่ไหมครับ และบางครั้งเมื่อฟังธรรมะของหลวงพ่อเสร็จ ขับรถไปก็สวดมนต์ไป ท่องอิติปิโสฯ ไปเรื่อยๆ ครับ อย่างนี้ควรทำหรือไม่ครับ เนื่องจากไม่มีเวลาครับ เลยคิดว่าเวลาที่ขับรถควรทำอะไรที่ดีบ้างเพื่อไม่ให้วันเวลาผ่านไปสูญเปล่าครับ

. เวลานั่งสมาธิบางครั้งก็ท่องพุทโธ แต่ถ้าจิตไม่นิ่งก็จะสวดมนต์อิติปิโสฯ ไปเรื่อยๆ อย่างนี้ถูกต้องไหมครับ

. ได้ฟังถามตอบปัญหาธรรม ถ้านั่งสมาธิและฟังธรรมะที่หลวงพ่อเทศน์ไปด้วย นั่งหลับตาฟังเสียงธรรมไป พิจารณาตามเสียงธรรมไป สามารถทำให้เกิดสมาธิได้ใช่ไหมครับ

กราบเรียนถามหลวงพ่อเพียงเท่านี้ครับ

ตอบ : นี่เขาถามถึงสัมมาสมาธิ การทำความถูกต้องดีงาม ถ้าเป็นสมาธิก็ให้มันถูกต้องดีงาม สัมมาสมาธิ คำว่าทำสัมมาสมาธิเวลาเราประพฤติปฏิบัติ ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ เราก็อยากได้สิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาท่านตรัสรู้ท่านใช้คำว่าตรัสรู้เองโดยชอบ

เวลาครูบาอาจารย์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเรา ท่านบรรลุธรรมโดยชอบ ท่านบรรลุธรรมโดยชอบ ถ้ามันชอบธรรม ความชอบ ความชอบธรรมกับความไม่ชอบธรรม

ถ้าความไม่ชอบธรรมคือของปลอม ความไม่ชอบธรรมมันอยู่ชั่วคราว ความไม่ชอบธรรมมันสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่ามันต้องเหลวไหลไป มันต้องจางไป เพราะมันไม่ชอบธรรม เพราะมันไม่ชอบธรรมมันถึงมีลับลมคมในไง แต่ถ้าเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราตรัสรู้เองโดยชอบโดยชอบนะ ความชอบธรรม

ฉะนั้น เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เราก็บอกว่าเราอยากทำสัมมาสมาธิ แต่เราก็ต้องการความชอบธรรม ความถูกต้องดีงาม แล้วทำอย่างไรถึงจะทำสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิถูกต้องล่ะ

เราต้องมาทำความเข้าใจของสังคมไทยก่อน ถ้าสังคมไทยนะ ดูสิ ดูสังคมชาวพุทธเถรวาทด้วยกัน ดูในพม่า ในลังกา เวลาเขาอยู่บ้านอยู่เรือนนะ ถ้าถือเป็นโบราณ เขาไม่เอาพระเข้าบ้านไง เวลาออกจากบ้านไป ไปทำงาน เขาก็แวะวัด แล้วแวะวัดเสร็จแล้วเขาก็เข้าไปในวัดไปกราบพระประธาน กราบพระเสร็จแล้วเขาก็ออกไปทำงาน พอทำงาน เขาทำงานจบแล้วนะ เวลาเขาจะกลับบ้าน เขาก็แวะวัด เขากราบพระ กราบพระเสร็จแล้วเขาก็กลับบ้านเขา เห็นไหม เขาใกล้ชิดกับศาสนา เขาใกล้ชิดด้วยหัวใจไง

แต่ของเรา เราไปวัดไปทำไม ตอนนี้ไปวัดนะ ต้องมีเครื่องสังฆทาน ต้องมีอะไรร้อยแปดเลย ในพม่า เศรษฐกิจเขาไม่ดี เขาไม่ต้องแสวงหาขนาดนั้น นี่เวลาเขาผูกพันกับศาสนาเขาผูกพันด้วยหัวใจของเขา เวลาเขาไปกราบพระ คำว่าไปกราบพระเข้าไปด้วยความสงบเสงี่ยม เข้าไปกราบเสร็จ กราบเสร็จถ้าคนมีเวลาเขานั่งสมาธิ ถ้าเขาไม่นั่งสมาธิ เขาก็กลับบ้านเขา ดูสิ เขาไปผูกพันโดยหัวใจไง นี่พูดถึงนะ

แต่เวลาในเมืองไทยเราไปวัดไปทำไม ไปวัด เข้าไป มหรสพสมโภชกระจายเสียงเลย ตู้นั้นๆ โอ้โฮ! หาเงินกันเต็มที่เลย คนก็เลยไม่เข้าวัดเลย เพราะเขาเข้าวัดแล้วเขาไม่รู้ว่าไปบ้านแล้วเขาจะเอาอะไรไปกิน ถวายวัดหมด แล้วที่บ้านไม่มีจะกินน่ะ

แต่ถ้าเป็นพม่า เป็นลังกา เขาไปวัดนะ เขากราบแล้วก็กลับ พอเขากราบนะ เขากราบนั่นน่ะหัวใจของเขา เขากราบด้วยใจนะ ถ้าเขากราบหัวใจของเขา เขาเข้าวัดขึ้นมาด้วยความชื่นใจ ด้วยความอบอุ่นใจของเขา เขามีที่พึ่งในใจของเขา แล้วเขาก็กลับบ้านเขาไป นี่เขาทำสัมมาอาชีวะของเขา

แต่ไอ้ของเราไปวัด ไปวัดมันเหมือนกับไปแบบธุรกิจ ไปแบบเข้าผับ เขาต้องมีคนเชียร์แขก พอมีคนเชียร์แขกเสร็จแล้วต้องมีคนแบบว่าหน้าม้าจะให้เปิดขวดเหล้า เปิดเยอะๆ ยิ่งเปิดเขายิ่งได้เปอร์เซ็นต์ มันไปหมดน่ะ

นี่เราเปรียบเทียบให้เห็นนะ เพราะเราก็เป็นพระไทยนะ เราก็สังคมไทยนะ เราก็เป็นพระไทย เพราะอยู่ในใต้กฎของสงฆ์

ฉะนั้น เพียงแต่ว่า เราจะบอกว่า ถ้าการปฏิบัติสมาธิให้ถูกต้อง การปฏิบัติสมาธิถูกต้อง

ทำสมาธิ เขายังทำสมาธิกันไม่ได้ ถ้าทำสมาธิกันไม่ได้

นี่ออกตัวก่อนนะ ที่พูดนี้ไม่ได้เสียดสี ไม่ได้พูดกระทบผู้ถามนะ เพราะว่าผู้ถามเป็นชาวพุทธเหมือนกัน เป็นบริษัท ๔ อุบาสก อุบาสิกาเป็นเจ้าของศาสนา แต่เรามาพูดกันถึงปัญหาของสังคม ปัญหาความเข้าใจในเรื่องศาสนา เพราะในเรื่องศาสนาแล้วเราจะได้มีเป้าหมายเดินไปได้ถูกต้อง

ฉะนั้น เวลาบอกว่า เราปฏิบัติสมาธิเป็นสัมมาสมาธิ

เราเป็นคนพูดเอง ที่เขาบอกว่าเขาทำสมาธิกันๆ เราบอกว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้สอนเรื่องการทำสมาธิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้บรรลุธรรม สอนเรื่องสัจธรรม สอนเรื่องอริยสัจ ใช้สติ ใช้สมาธิ ใช้ปัญญา พยายามชำระล้างกิเลส พยายามชำระล้างจนสำรอกคายกิเลสออกไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านให้ปฏิบัติธรรม ให้ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเราบรรลุธรรม เราบรรลุธรรมในหัวใจของเรา เห็นไหม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนทำสมาธิ แต่ท่านสอนความสุข สอนให้ชาวพุทธมีที่พึ่ง สอนให้ชาวพุทธมีที่เกาะ สอนให้ชาวพุทธมีหลักใจ

ทีนี้มีหลักใจ การประพฤติปฏิบัติในครูบาอาจารย์ท่านถึงสอนว่ามีศีล มีสมาธิ มีปัญญา สมาธิเป็นทางผ่าน สมาธิเป็นเครื่องอาศัย สมาธิเป็นที่พักใจ แล้วสมาธิจะเกิดปัญญาต่อหน้าไป ภาวนามยปัญญาเกิดจากข้างหน้าไป

แต่พวกเราชาวพุทธสมัยปัจจุบันนี้เราสุกก่อนห่ามไง เราบอกว่าเราเป็นชาวพุทธ เรามีปัญญา เราเรียนปริยัติมา เราศึกษาธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา แล้วบอกใช้ปัญญาๆ ของเราไปเลย แล้วไม่ต้องทำสมาธิ สมาธิทำไปทำไม เป็นสมถะ สมาธิทำไปมันไม่เกิดปัญญา

แต่เวลาคนที่มีความเชื่อ อย่างกรรมฐานเรามีความเชื่อ ต้องทำความสงบของใจ ทำความสงบของใจคือทำสมาธิ ทำสมาธิเป็นที่พักใจ ทำสมาธิให้จิตใจมันเข้มแข็ง ทำสมาธิแล้วเราจะยกใจของเรา เห็นไหม ยกใจของเราขึ้นสู่วิปัสสนา สู่วิปัสสนาอันนั้นมันเป็นทางถูกต้องชอบธรรม

ฉะนั้น พอบอกว่า เราทำสัมมาสมาธิ แล้วเขาบอกว่าพระพุทธศาสนาสอนเรื่องสมาธิ แล้วพอคนทำสมาธิ พอเราเริ่มทำสมาธิ ไอ้คนที่มีการศึกษามาบอกว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนสมาธิ เราไม่ต้องทำสัมมาสมาธิ เราจะใช้ปัญญาของเราไปเลย นี่พูดถึงความเข้าใจของสังคม ถ้าสังคมเข้าใจอย่างนั้น แม้แต่สมาธิเขายังไม่รู้จัก ถ้าเขาไม่รู้จักสมาธิ

เพราะสมาธิมันเป็นที่พักใจ สมาธิ สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี ถ้าจิตสงบนะ มันมีความสุข ความสงบ ความระงับในหัวใจ ตัณหาความทะยานอยากมันแสดงออกไม่ได้ ตัณหาความทะยานอยากมันพยายามจะแซงหน้าแซงหลังหัวใจ ในเมื่อมันแสดงตัวไม่ได้ ของเราก็มีความสุข

ความสุข ทุกข์ควรกำหนด แล้วสุขล่ะ สุขนี้เป็นที่พึ่งอาศัยให้ใจมันพัฒนาขึ้นไป ฉะนั้น สมาธินี้เป็นทางผ่าน แต่เวลาสมาธิเป็นทางผ่าน เวลาเราปฏิบัติกัน คนที่ปฏิบัติทำสมาธิเขายังไม่รู้จักสมาธิ เวลาเขาบอกสมาธิ สมาธิว่างๆ สมาธิแบบว่ามันปล่อยวาง

มันปล่อยวางมันก็ไม่มีสติ ปล่อยวาง ไม่มีใครควบคุมมัน เพราะสมาธิ เห็นไหม ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเรา เวลาทำความสงบของใจเข้ามา แม้แต่จิตมันส่งออก จิตเห็นนิมิต ท่านจะบอกว่าไม่ให้จิตส่งออกเลย แล้วเวลาเป็นมิจฉาขึ้นไป มันตกภวังค์ไป

ทำสมาธิมันมีมิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิ แล้วเวลาทำสมาธิที่เป็นพวกไสยศาสตร์ เป็นพวกเดียรถีย์ เวลาจิตมันออกไป มันไปคลุกเคล้า มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้น เวลาหลวงปู่มั่นท่านพูดนี่ชัดเจนมากจิตนี้เป็นได้หลายหลากนัก

เวลาคนคิดดี คนที่ปรารถนาดี เขาปรารถนาดี เขาอยากจะช่วยสังคม เขาแบกโลก เขาทุ่มเททั้งชีวิตของเขาเลยนะ คนคิดดี เวลาคิดดีขึ้นไป ทำไปแล้วโดนสังคมเขาเสียดสี โดนสังคมเขาติฉินนินทา เวลามันคิดร้ายมันก็ทำของมันไป

แล้วเวลาจิตนี้ในปัจจุบัน ในความคิดปกติมันก็ยังมีความคิดดีคิดร้ายของมัน แล้วเวลามันภาวนามันเป็นได้หลายหลาก มันเป็นมหัศจรรย์ มันเป็นได้ทั้งนั้นน่ะ ฉะนั้น พอมันเป็นได้ทั้งนั้น เวลามันคิดมันจินตนาการมันก็เป็นไปทั้งนั้นน่ะ มันเป็นอย่างที่เขาว่านั่นน่ะ แต่เวลาพูด พูดธรรมะนะ นี่เวลาพูด พูดธรรมะ

นี่เราพูดถึงว่าพื้นฐานของสังคมก่อน พื้นฐานของสังคมว่า สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิที่ถูกต้องมันเป็นแบบใด แล้วเวลาเขาปฏิบัติกัน หนึ่ง มันเป็นสมาธิไหม ถ้ามันเป็นสมาธินะ แล้วถ้ามีครูบาอาจารย์นะ ถ้าเป็นสมาธิแล้วจิตมันสงบ จิตมันตั้งมั่น เขาเรียกว่ามีทุน ถ้ามีทุนแล้ว พอจิตสงบแล้วจิตยกขึ้นวิปัสสนา เวลามันออกใช้ปัญญา เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง น้ำตาไหล น้ำตานี้ไหลพราก มันเวิ้งว้าง

เวลาจิตมันภาวนาไปนะ เวลาใช้ปัญญาไป เหมือนมันลอยไป คนเดินจงกรมเหมือนไม่ได้เดิน เหมือนมันลอยไป มันเบา มันว่างไปหมด มันเป็นความมหัศจรรย์อย่างนั้นมันเกิดขึ้น แต่ความมหัศจรรย์เกิดขึ้นมันก็ยังไม่ใช่ มันก็เป็นแค่โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค มันยังไปอีกไกลเลย แต่มันต้องมีครูบาอาจารย์ไง

นี่เราพูดถึงพื้นฐานของสังคม แล้วพอสังคม ในป่าทุกป่ามันจะมีต้นไม้เนื้อแข็ง ต้นไม้เบญจพรรณ มันจะมีพวกหญ้าพวกวัชพืช นี่ก็เหมือนกัน ในสังคมไทยเวลาเราประพฤติปฏิบัติ เราจะมองใคร แล้วใครจะบอกว่าความถูกต้องดีงาม

ฉะนั้น ถ้าความถูกต้องดีงามแล้ว เราเอาสิ่งนี้ เราศึกษาไว้ ศึกษาแล้วก็เก็บไว้ในใจ แล้วเราจะเอาใจของเราประพฤติปฏิบัติ เราจะเอาใจเราพิสูจน์ ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต

ในการศึกษานะ ถ้าคนมีสติมีปัญญาพอสมควรแล้วขวนขวาย มันศึกษาทันกันได้ ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเรามีเวล่ำเวลาของเรา แล้วเรามีอำนาจวาสนาของเรา เราปฏิบัติ เราทันได้ เวลาทันได้จะรู้เลยว่าอาจารย์ที่สอนนี่ถูกหรือผิด เราเองมันเป็นปัจจัตตัง สัจจะมันท้าให้พิสูจน์ สัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารอให้พวกเราพิสูจน์ มันรอให้เราเข้าไปพิสูจน์เลย ถ้าเราทำได้จริง เดี๋ยวมันทำได้

นี่พูดถึงพื้นฐานของสังคม เวลาคำพูดมันก็ดูถูกกัน เหยียดหยามกัน แล้วทำให้เราก็ระแวง แต่ถ้าเราทำความเป็นจริงนะ เราวางไว้ให้หมด แล้วเราจะทำความจริงของเรา จะเข้าถึงคำถามไง

. รบกวนช่วยชี้ทางวิธีการปฏิบัติสัมมาสมาธิที่ถูกต้องสำหรับคนทำงานทั่วไป ซึ่งมีเวลาปฏิบัติธรรมช่วงในเวลากลางคืน

ถ้าเวลากลางคืน เวลาคนเรา เวลาทำงานมาแล้วมันก็ต้องพักผ่อน เวลาเราก็แบ่งเวลาของเรา ไอ้เรื่องแบ่งเวลา หลวงตาท่านบอกบ่อย เวลาพวกเราชาวพุทธจะไปวัดไปวาหรือจะปฏิบัติ เราบอกว่ายังไม่มีเวลา

ท่านจะพูดใช้คำนี้นะ ท่านบอกเวลาจะตายทำไมมันมีเวลาล่ะ คนนอนเวลามันตาย มันตายไปเลย เวลาจะตาย เราต่อรองเขาไม่ได้ไง แต่เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติเราบอกว่าเราไม่มีเวลา ท่านบอกว่าอยู่ที่การแบ่งเวลาของเราเอง

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ไว้ในพระไตรปิฎก ให้ประพฤติปฏิบัติทั้งวัน ถ้าได้พักก็พัก เวลากลางคืนตั้งแต่หัวค่ำจน ๔ ทุ่ม นอน ๔ ทุ่มจนตี ๒ ช่วงระหว่างกลางนี้ให้นอน แล้วพอตี ๒ ต้องลุกขึ้นแล้วภาวนาต่อเนื่องไปจนสว่าง แล้วกลางวันเราก็ภาวนาต่อเนื่องไป ถ้าปฏิบัติอย่างนี้เป็นปฏิบัติมาแบบความถูกต้องดีงาม

ฉะนั้น เวลากลางคืน เราก็แบ่งเวลาของเรา ถ้าเราแบ่งเวลาของเรา ความรับผิดชอบ เราแบ่งเวลาของเรา เราก็ปฏิบัติของเรา เราแบ่งเวลา เสร็จแล้วก็ให้พัก นอนพัก เช้าขึ้นมาเราปฏิบัติได้ เราปฏิบัติของเรา แล้วกลางวันก็ไปทำงาน

ถ้าไปทำงานนะ เรามีศีลมีธรรมนะ หนึ่ง ครอบครัวของเรานะ ทั้งสามีภรรยาก็ไว้วางใจกัน คนมีศีลมีธรรมนะ ในบ้านก็อบอุ่น เราไว้ใจกัน ทำสิ่งใดต่างคนก็ต่างไว้ใจกัน ไว้ใจกันมันก็ไม่ระแวงต่อกัน

มันปฏิบัติ สิ่งที่ได้มาเลย สิ่งที่ได้มาคือครอบครัวมีความเชื่อถือไว้วางใจกัน สิ่งนี้ แล้วถ้าเรามีศีลใช่ไหม เรามีศีล การใช้จ่ายฟุ่มเฟือยมันก็ไม่ฟุ่มเฟือย การแสวงหาได้มามันก็พอใช้จ่าย พอใช้จ่ายในชีวิตนะ แล้วมีเหลือเก็บออมไว้ แล้วเราปฏิบัติของเราไป เพราะเราปฏิบัติ เราปฏิบัติเพื่อความมั่นคงของชีวิต

ฉะนั้น จะทำอย่างใดให้ปฏิบัติเป็นสัมมา

คำว่าสัมมาเราตั้งสติ เวลาบอกว่าอัปปนาสมาธิ คำบริกรรมพุทโธๆ พุทธานุสติ สิ่งนี้มันเป็นให้จิตเกาะทั้งนั้นน่ะ เราไม่ต้องไปเถียงว่าของใครผิดของใครถูกหรอก มันอยู่ที่สติของคนเข้มแข็ง สติของคนอ่อนไหว มันก็จับพุทโธ แล้วพุทโธๆ มันก็ไม่ชัดเจน แต่คนที่เข้มแข็งนะ พุทโธๆๆ พุทโธจนมันชัดของมัน สิ่งนี้มันอยู่ที่อำนาจวาสนาบารมีของจิตดวงนั้น

ฉะนั้น เราก็หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ เราเกาะไว้ แล้วถ้ามันพุทโธๆ ไปแล้วมันจางไป นี่สติอ่อน สติอ่อน เราก็กลับมาพุทโธ กลับมาสติชัดเจน มันก็เกาะนั้นไป แล้วมันเกาะไป ถ้ามันละเอียด คำว่าละเอียดพุทโธๆๆ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิหรือมรณานุสติ สิ่งใดก็ได้

เพราะถ้ามันพุทโธๆ แล้ว เวลามันปฏิบัติไปสักอาทิตย์สองอาทิตย์ พอมันไม่ได้นะ มันจะเกิดความสงสัยแล้ว เอ๊! ของเรากับพุทโธมันถูกกันหรือเปล่า มันจะพลิกแพลงแล้ว

แต่ถ้าเรามีอุบายไว้ก่อนเลย เราพุทโธๆๆ ชัดเจนมาก ถ้ามันหลายอาทิตย์ขึ้น มันไม่ดีขึ้น นึกถึงความตาย นึกถึงความตายก็มรณานุสติ เห็นไหม ธัมโม สังโฆ กำหนดลม อุบายเราเปลี่ยนแปลง เหมือนอาหารที่กินใหม่มันก็สดชื่น กินใหม่มันก็อร่อย เรากินคุ้นชินมันก็ไม่ชอบ

เราพุทโธๆๆ ไป ถ้ามันละเอียดเข้ามาๆ มีสติ มันรู้ มันชัดเจนตลอด สัมมาสมาธิเป็นแบบนี้ สัมมาสมาธิ คือขณิกสมาธิเราทำถูกต้องใช่ไหม มันสบายใจแล้วมันวางมา นี่ขณิกสมาธิ มันยังพุทโธได้ มันยังมีสติมีปัญญาทำได้

แต่ถ้ามันไม่เป็นสมาธิ มันเครียด มันฟุ้งซ่าน อันนั้นไม่เข้าสมาธิ มันเครียด มันฟุ้งซ่าน มันคิดน้อยเนื้อต่ำใจ ทำไปแล้วน้อยเนื้อต่ำใจ นี่ผู้ทำลายมันแสดงตัวแล้ว กิเลสมันแสดงตัวแล้ว

แต่ถ้ามันพุทโธๆๆ แล้ววูบหายไป นี่มิจฉาสมาธิ มิจฉาสมาธิคือว่ามันขาดสติ พุทโธๆๆ แล้วเงียบไปเลย ถ้ามิจฉาสมาธิ แล้วคนไม่เข้าใจก็คิดว่านี่เป็นสมาธิ แล้วมันจะหนัก มันจะตกมากขึ้น คือมันจะลึกขึ้น เพราะว่ามันเป็นทางที่ผิด พอทางที่ผิด กิเลสมันพาเราออกนอกทาง พอกิเลสมันพาออกนอกทาง ทางที่ผิด แต่มันทำแล้วมันไปลงทางผิดหมด เพราะมันเปิดโล่งไว้สำหรับทางที่ผิด

แต่ทางที่ถูก สัมมาสมาธิ มันไม่ค่อยเข้ามาทางสัมมาสมาธิ ถ้าไปทางที่ผิด มันไปง่ายเลย เพราะว่าความผิดมันเป็นทางของกิเลสอยู่แล้ว เป็นทางของมารอยู่แล้ว มันไปได้เรื่อยๆ แต่เราเข้าใจผิดไง เราเข้าใจว่าเป็นความถูกต้อง แต่ความจริงนั้นน่ะเป็นทางที่ผิด นี่มิจฉา แล้วเวลาเขาทำกัน พอรู้ตัวทั่วพร้อม เขาบอกว่านี่เป็นปัญญา นั่นก็มิจฉา

มิจฉาสมาธิคืออะไร มิจฉาสมาธิคือมันเข้าไปคาอยู่อย่างนั้น มันเข้าไปแล้วมันอั้นตู้อยู่อย่างนั้น มันเป็นทางตัน มันไปไหนไม่ได้ มันเหมือนจะว่าง ว่างๆๆ แต่มันไม่ก้าวหน้าหรอก อยู่แค่นั้นน่ะ แล้วพออยู่แค่นั้นแล้วมันไปต่อไม่ได้ พอไปต่อไม่ได้ มันก็ไปแค่นี้ ไปว่างๆๆ แล้วพวกที่ปฏิบัติอย่างนี้ ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๕๐๐ ปีก็อยู่อย่างนี้ ไม่ไปไหนหรอก แค่นี้ แล้วได้ใช้ปัญญาแล้วมันติดไง คำว่ามันไปไม่ได้คือมันติดแค่นี้

แต่ถ้าเป็นสัมมา สัมมาสมาธินะ พุทโธๆๆ มันลึกลับมหัศจรรย์ พุทโธๆๆ จนมันละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้นจนเรางง เราไม่เคยรู้เคยเห็นมันก็แปลกใจ แล้วถ้าพุทโธๆๆ ละเอียดขึ้นมาจนพุทโธจะไม่ได้ คำว่า พุทโธจะไม่ได้นี่สติชัดเจนมากนะ พุทโธจะไม่ได้เลย มันพุทโธจะไม่ได้

แล้วถ้าเราพยายามพุทโธของเรา ถ้าพุทโธจะไม่ได้ ถ้ากิเลสมันยุนะพุทโธจะไม่ได้แล้วนะ พุทโธมันจะหายไปแล้วนั่นน่ะมันจะลงภวังค์

พุทโธจนไม่ได้ เราก็ต้องมีสติพุทโธชัดๆๆ ไป มันจะพุทโธไม่ได้ของมันเอง พอไม่ได้ของมันเอง ลงสู่อัปปนาสมาธิ นี่เป็นสัมมาทั้งหมดไง แล้วพอลงสู่อัปปนาสมาธิ ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมงก็แล้วแต่ เป็นบางเที่ยว บางคราวก็ได้ชั่วโมงหนึ่ง บางคราวก็ ๒-๓ ชั่วโมง บางคราวก็หลายชั่วโมง แล้วมันจะมีความรู้สึก เวลาเข้าไปถึงอัปปนามันสักแต่ว่ารู้ สติสมบูรณ์มาก แต่เป็นสติที่มันตัดขาดจากอายตนะ มันไม่ออกมารับรู้ ถึงใช้คำว่าสักแต่ว่ารู้แต่รู้ชัดๆ ชัดกว่าปกตินี้อีก

แล้วมันคลายตัวออกมา เพราะว่ามันสักแต่ว่ารู้ มันไปรู้เฉพาะตัวมันเอง แล้วพอมันคลายตัวออกมา มันคลายตัวออกมารับรู้อายตนะ คือรับรู้ตา หู จมูก ลิ้น กาย เพื่อสัมผัสรับรู้ภายนอก พอออกมารับรู้ เขาเรียกว่าอุปจารสมาธิ

เพราะการรับรู้มันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมได้ตามความเป็นจริง พอออกมารับรู้ สังเกตว่ามันจะเสวย รับรู้คือเสวยอารมณ์ เสวยความรู้สึก ความรู้สึก จิตนี้มันเป็นพลังงาน แล้วพอออกรับรู้นี่ความจริง นี่สัมมาสมาธิ

แต่ไม่จำเป็นต้องเข้าอัปปนาทุกเที่ยวๆ ไป ไม่จำเป็นต้องเข้าอัปปนา หลวงตา หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า คนที่เข้าถึงอัปปนาสมาธิได้น้อยมาก น้อยมาก นักปฏิบัติที่เข้าถึงตรงนี้ได้น้อยมาก แล้วบางคนไม่เคยเข้าถึงตรงนี้เลย แค่อุปจารสมาธิมันก็เป็นเรื่องที่ว่ามหัศจรรย์แล้ว แต่ถ้าเข้าไปอัปปนานะ นี่พูดถึงสัมมาสมาธิไง

แต่มิจฉานี่ร้อยแปดพันเก้า มิจฉานี่พูดไม่จบเลย อย่างไรก็อธิบายได้หมด เพราะจิตเป็นได้หลายหลากนัก

ฉะนั้นบอกว่ารบกวนช่วยชี้วิธีการปฏิบัติเป็นสัมมาสมาธิที่ถูกต้องสำหรับคนทำงานทั่วไป

คนทำงานทั่วไป เราแบ่งเวลาแล้วทำงานไป ไม่ต้องไปกดดันตัวเองว่าเราปฏิบัติแล้วต้องได้อย่างนั้นๆ...ไม่ใช่ การปฏิบัติธรรมหมายถึงว่าเราเป็นคนดี เราเป็นมนุษย์ เรามีศีลมีธรรม เรามีพระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่ง เรามีศาสนาเป็นที่พึ่ง เวลาเรามีความคิดสิ่งใด เราก็มาเทียบเคียงกับคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าควรทำหรือไม่ควรทำ

ถ้ามันเป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นที่ถูกต้อง ควรทำ หลวงตาท่านใช้คำว่าเหยียบคันเร่งคือพอควรทำแล้วต้องรีบขวนขวายทำให้มากๆ

ถ้ามันใช้ปัญญาของเราเทียบเคียงในความคิดของเราว่าไม่ควรทำ เพราะมันผิดศีลผิดธรรม ให้เหยียบเบรกๆๆ เหยียบเบรกไว้

เราชาวพุทธ เราใช้ปัญญาอย่างนี้ เราปฏิบัติของเราไปอย่างนี้ อย่าไปกดดันตัวเองว่าเราจะต้องได้สัมมาสมาธิ เราจะต้องได้

มันได้ มันได้โดยข้อเท็จจริง มันไม่ใช่ได้ด้วยความอยากได้ ไม่ใช่ได้ว่าเราปฏิบัติแล้วต้องได้ ไม่ใช่ว่าเราปฏิบัติแล้วเดี๋ยวมันจะมาเอง

เราปฏิบัติไป มนุษย์เราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ เรามีหน้าที่ทำตรงนี้ เห็นไหม ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เราสามารถสร้างเหตุได้

ในพระไตรปิฎกคือวิธีการ คือเหตุทั้งหมด แล้วเราก็ไปเทียบเคียงกับเหตุนั้น ฉะนั้น เหตุนั้นเราศึกษามาแล้วเป็นวิธีการ เป็นเหตุ เราวางไว้ แล้วเราทำให้เป็นจริงขึ้นมาของเรา หน้าที่ของเราคือสร้างเหตุ

มีเวลา เราก็ประพฤติปฏิบัติของเรา แต่อย่ากดดันตัวเอง เพราะความกดดันตัวเอง อยากได้ แล้วพออยากได้แล้วตั้งเป้า พอตั้งเป้าแล้วไม่ได้ พอไม่ได้ขึ้นมาเลิกดีกว่ามันจะไปเสียผลประโยชน์ตรงนั้นไง ตอนถึงปฏิบัติแล้วเลิกดีกว่า ชีวิตเราปกติมันก็เวลาไม่มีอยู่แล้ว ชีวิตเราปกติมันก็พออยู่ได้อยู่แล้ว เราทำไมต้องมาบีบคั้นตัวเองมากขนาดนั้น

คำว่าบีบคั้นตัวเองคือเราคัด เราดึงหัวใจเรามาใกล้ชิดกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่ากัลยาณมิตร คบบัณฑิต กัลยาณมิตรที่ประเสริฐที่สุดคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วรองลงมา ครูบาอาจารย์ที่มีคุณธรรม แต่ประเสริฐที่สุดคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แล้วเราศึกษาธรรมะ เราคบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือจิตใจมันคิดอยู่ มันฝักใฝ่อยู่ มันศึกษาอยู่ มันค้นคว้าอยู่ มันก็ใกล้ชิด แล้วมันจะมีสิ่งใด เราก็แยกแยะ เราก็เปรียบเทียบ เราปฏิบัติไม่กดดันตัวเอง ปฏิบัติของเราไปอย่างนี้ เพราะเราเป็นชาวพุทธ

พอเป็นชาวพุทธแล้ว เราจะบอกว่าโลกียะกับโลกุตตระ โลกียะคือความเห็นของปุถุชน ปุถุชนคือความคิดอย่างเรา ความเห็นอย่างเรา มันก็มีความเห็นแบบนี้ แล้วเราไปศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่โลกุตตรธรรม ธรรมเหนือโลก เหนือกิเลส เหนือทุกอย่าง แล้วคนที่ประพฤติปฏิบัติไปถึงโลกุตตรธรรม ท่านจะเข้าใจของท่านได้ชัดเจน

แต่ของเรา เราปฏิบัติด้วยสามัญสำนึก คือโลกทัศน์ของเรา คือโลกียปัญญา ถ้าโลกียปัญญา ในหมู่ของโลกียะด้วยกันก็บอกว่า อย่างนั้นถูก อย่างนี้ผิด ก็แยกแยะกันไป

แต่เวลาบอกเขาว่าอย่าไปโต้แย้ง

คำว่า ไปโต้แย้งมันเสียเวลาเรา เวลาเราบอกอย่าโต้แย้ง แต่ถ้ามาหาเรานะ ถ้าเป็นพวกที่ว่าเขามีทิฏฐิของเขามา เราจะบอกว่า โยม เจ็บคอมากเลย พูดไม่ได้แล้วล่ะ โยมกลับไปเถอะนี่คือไล่ ไล่

ถ้ามาแบบมิจฉามานะ มาแบบสีข้างเข้าถูนะ พอมาบอกว่า โอ๋ย! พูดไม่ไหวแล้ว อู๋ย! จะตายแล้วล่ะ

ทำอย่างไรจะหายล่ะ

ถ้าโยมกลับก็หายเดี๋ยวนี้เลย

เสียเวลา

แล้วเวลาถ้าบางคนเขาแค่สงสัย เขาสงสัยแล้วเขาก็ยังแสวงหาทางออกอยู่ ถ้าอย่างนี้ โอ้โฮ! เราเต็มที่เลย เราอธิบายฉับๆๆ เต็มที่เลย เพราะว่าเขารับฟัง เขารับฟังด้วยเหตุด้วยผล เราจะอธิบายเต็มที่เลย

แต่ถ้าเขาบอกว่าเขาคิดว่าเขาถูกอยู่แล้ว เพียงแต่ให้เรายอมรับว่าเขาถูก

เจ็บคอ พูดไม่ได้ พูดไม่ได้

แล้วถ้าจะพูดจริงๆ นะ กับพวกที่เขาจะมาถามปัญหา

ความจริงเราไม่ต้องพูดกับพวกนี้หรอก เพราะเวลาเราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ อยู่กับหลวงตามา ท่านอยู่กับสังคมนักปฏิบัติมา ลูกศิษย์หลวงตานะ สัญญา ธรรมศักดิ์ ลูกศิษย์หลวงตานะ หมออวย เกตุสิงห์ พวกนี้เขานักปฏิบัติ เขาค้นคว้ามาทุกช่องทาง แล้วเขาไปหาหลวงตา แล้วเวลาเขาพากันไป พาพวกผู้นำผู้สอนไปหาหลวงตา เขาคุยกันหมดแล้ว เวลาเขาคุยกัน เขาคุยผู้สอน เขาคุยอาจารย์ เขาไม่คุยลูกศิษย์หรอก

ทีนี้พอคุยกันแล้ว จบแล้ว อาจารย์เวลาคุยกันแล้วมันก็จบ เพราะว่าเหตุผลเขาสู้ไม่ได้หรอก เหตุผลน่ะ เหตุและผลรวมลงเป็นธรรม บัณฑิตกับบัณฑิตเขาคุยกันมันจบแล้ว แต่เวลาเขาออกไปอยู่ในสังคมแล้ว เขาก็ยังไปถือทิฏฐิอย่างเดิมอยู่นั่นน่ะ

ฉะนั้น เวลานักปฏิบัติบอกว่า เขารู้ เขาถูก

เวลาคนที่เขามีปัญญา ปัญญาชนเขาไม่คุยกับเอ็งหรอก เขาคุยกับอาจารย์ของเอ็ง เขาคุยกับคนสอน

หลวงปู่มั่น ก่อนที่ท่านประพฤติปฏิบัติ ท่านหาครูบาอาจารย์ ท่านไปหมดแล้ว พม่านี่ ท่านไปศึกษามาหมดแล้ว ชาติไหนท่านก็ไปศึกษา คนเรานะ กำลังทุกข์ยาก คนป่วยมันอยากหาหมอ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านไปมาทั่ว ท่านค้นคว้ามาหมดแล้ว นักปราชญ์ของเราไปดูมาหมดแล้ว

แล้วเราปุถุชนคนหนาอยากจะมีวิชามาเพื่อจะไปโต้แย้งกับพวกพุทโธ ก็ไปค้นคว้ามา ใครไปเก็บเอาหญ้าแพรก ไปเก็บเอาเสี้ยนเอาหนามมา แล้วก็บอกว่านี่วิปัสสนา สติปัฏฐาน ๔ไปเก็บเอามาด้วยวุฒิภาวะที่อ่อนด้อย

ครูบาอาจารย์ของเราท่านไปดูแลมาหมดแล้ว เราอยู่กับครูบาอาจารย์มาอย่างนี้ แล้วเราทำไมต้องไปพูดกับไอ้พวกกระจอกงอกง่อย กูอยากคุยกับอาจารย์พวกมึงน่ะ อาจารย์พวกมึงน่ะกูปราบมาหมดแล้ว ไอ้พวกมึงไม่ต้องมาพูด เขาหลอกพวกมึงมา แล้วพวกมึงก็จะมากล่อมกู ไร้สาระ

นี่เราพูดถึงปัญหาของสังคมก่อนไง แล้วเวลาเราปฏิบัติ เราไม่ต้องไปแบกสังคมไง เราอยากมีความสุขใช่ไหม เราอยากจะเข้าใจธรรมะใช่ไหม เราไม่ต้องปฏิบัติเพื่อให้สังคมยอมรับเรา พรหมจรรย์นี้เพื่อเรา พรหมจรรย์นี้เพื่อหัวใจดวงนี้ หัวใจดวงนี้มันทุกข์มันยากนะ เวลามันทุกข์มันยากในใจ เราต้องการพรหมจรรย์ใจดวงนี้นะ เราไม่ต้องการให้คนอื่นมีพรหมจรรย์แล้วเราเที่ยวไปตบมือให้เขา ไม่ใช่

เราอยากได้ เราอยากได้พรหมจรรย์ในหัวใจของเรา ฉะนั้น ปฏิบัติอย่ากดดันตัวเอง อย่ากดดันตัวเอง แล้วกาลามสูตร อย่าเชื่อพวกนั้นทั้งสิ้น อย่าเชื่อใครทั้งสิ้น อย่าเชื่อแม้แต่พระสงบ

พระสงบพูดอะไรแล้วเอากลับไปคิด แล้วใคร่ครวญดู จริงหรือไม่จริง แล้วปฏิบัติ แล้วถ้ามันภาวนาแล้ว ปฏิบัติแล้วมันดีกว่าพระสงบ มาถามพระสงบได้เลยว่าพูดทุกวันๆ โกหกทุกวันเลย กาลามสูตร อย่าเชื่อ

นี่พูดถึงว่าทำอย่างใดไง ทำอย่างใด

เราบอกว่า เวลาเรากำหนดพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ทำของเรา

เขาบอกว่าเขามีครอบครัว ก่อนปฏิบัติต้องปฏิบัติกลางคืน

ก็แบ่งเวลาเอา ต้องแบ่งเวลาแล้วเราปฏิบัติ เพราะการปฏิบัติคือผลประโยชน์ของเรา เหมือนทานอาหาร ใครตักอาหารเข้าปากเข้าไปในกระเพาะ นั่นก็คืออาหารในกระเพาะเรา เรากำหนดพุทโธๆๆ ก็คือจิตเรากำหนด เรากำหนดอานาปานสติก็จิตเราเป็นคนกำหนด เราทำได้มากขนาดไหนก็จิตเราเป็นคนทำๆ เราเป็นคนได้ ใครจะพูดอย่างไร เรื่องของเขา แล้วถ้าจิตมันลงแล้วมันจะเข้าใจว่าสัมมาสมาธิอย่างที่เราอธิบายแล้ว

. เวลาขับรถกลับจากที่ทำงานก็ฟังธรรมะของหลวงพ่อในรถ ถือเป็นการปฏิบัติธรรมไหมครับ

เป็น เป็นการปฏิบัติธรรมนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามพระอานนท์ ระลึกถึงความตายกี่หน นี่เป็นการปฏิบัติธรรม เพราะมีสติ มีการกำหนด นั่นน่ะคือการปฏิบัติธรรม

แล้วเวลาฟังธรรมๆ ฟังธรรมนี่ชุบมือเปิบ เพราะฟังธรรมนะ หลวงตาท่านปฏิบัติมาเกือบเป็นเกือบตาย เดนตายมาแล้ว ท่านเอาประสบการณ์ท่านเทศน์ออกมา แล้วเราเปิดฟัง อู้ฮู! ชุบมือเปิบเลย

นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติมาแล้ว ถ้าท่านปฏิบัติมาแล้ว ท่านสมบุกสมบันมาแล้ว นั่นคือประสบการณ์ของท่าน เหมือนชีวิตของคน ดูสิ ผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตใช่ไหม พอเขามีจิตใจเป็นสาธารณะ เขาก็ไปสอนหนังสือมหาวิทยาลัย เขาจะเอาประสบการณ์ของเขาไปสอน สิ่งที่เขาทำมา เขาประสบความสำเร็จแล้วเขาจะมาสอน ประสบการณ์เขามาสอน นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี เขาจะเชิญไปสอนที่มหาวิทยาลัยเพื่อเอาประสบการณ์ของเขาไปสอน

ครูบาอาจารย์เราท่านปฏิบัติมา ท่านมีประสบการณ์ของท่าน แล้วท่านเทศน์คือประสบการณ์ของท่าน แล้วเราไปฟัง ผู้ที่ประสบความสำเร็จเขามาสอนเรา เราฟังไหม ถ้าเราฟังก็เป็นประโยชน์กับเราไง

นี่เขาบอกว่า แล้วมันเป็นการปฏิบัติธรรมไหม

หลวงตาท่านบอกว่า กรรมฐาน ฟังเทศน์นี่การปฏิบัติชั้นหนึ่งเลย แล้วถ้าไม่มีครูบาอาจารย์เทศน์ เรากำหนดพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ นี่การปฏิบัติชั้นสอง

ชั้นหนึ่ง หมายความว่า เพราะเราปฏิบัติด้วย มีเทศน์เทียบเคียงด้วย เทียบเคียงว่าถูกไม่ถูก เราทำแล้วจริงหรือไม่จริง มันเทียบเคียงไปด้วย แล้วพอถ้าจิตมันดีๆ นะ มันฟังบางคำสะเทือนใจมาก โอ้โฮ! บางทีจิตลงเลย อันนี้เป็นประโยชน์มาก

ฉะนั้นบอกว่า ฟังธรรมะของหลวงพ่อในรถเป็นการปฏิบัติธรรมหรือไม่

เป็น แล้วพอเป็นแล้ว เวลาถ้าจิตมันสงบ เขาบอกว่า เขาฟังธรรมะหลวงพ่อเสร็จแล้วขับรถไปด้วย สวดมนต์ไปด้วย อิติปิโสฯ ด้วย

ตอนนี้เวลาโดยทั่วไปพระจะบอกว่า ทำไมเราก็อยู่กับพุทโธหมดเลย

ใช่ เราอยู่กับพุทโธได้โดยงานที่มันเป็นงานเบสิกไง งานอะไรต้องใช้สติ ต้องใช้ความระมัดระวัง เราต้องอยู่กับงาน

ฉะนั้น เวลาอยู่ในรถ หลวงปู่ฝั้นท่านพูด ท่านมาเทศน์ที่กรุงเทพฯ ใหม่ๆ นะ ท่านบอกว่าพุทโธสว่างไสว พุทโธผ่องใสท่านพูดนะ โอ้โฮ! มันสะเทือนไปทั่วประเทศไทยเลย

แล้วคนก็ถามว่า แล้วเขาจะปฏิบัติอย่างไร

หลวงปู่ฝั้นท่านจะบอกว่าเวลานั่งรถเมล์อย่าหายใจทิ้งเปล่าๆ หายใจเข้าให้นึกพุท หายใจออกให้นึกโธเพราะนั่งรถเมล์มีคนขับ แต่ถ้าเราขับเอง เราขับเองมันต้องมีสตินะ ไม่ใช่กำหนดพุทโธๆ แล้วจิตมันลง เป็นสมาธิขณะขับรถ แล้วรถมันจะไปเสยท้ายรถใครล่ะ

เราพุทโธ เรารู้ได้ไง อยู่ในรถนะ ท่านบอกว่า หายใจเข้าให้นึกพุท หายใจออกให้นึกโธ อย่าหายใจทิ้งเปล่าๆ ชีวิตแต่ละวินาทีมันมีค่า เรากำหนดพุทโธไป

ฉะนั้นบอกว่า เราสวดมนต์ เราสวดมนต์ก็ได้ อะไรก็ได้ แต่เวลาสวดมนต์โดยปกติมันมีสตินะ เพราะการขับรถ การขับรถถ้าขาดสติหรือพลั้งเผลอมันเกิดอุบัติเหตุได้ ถ้าเกิดอุบัติเหตุได้ เขาบอกว่าปฏิบัติธรรมแล้วขับรถชนตูดเขา

ปฏิบัติธรรมเพื่อสงบ ไม่ใช่ปฏิบัติธรรมเพื่อขับรถไปชนคนอื่น ฉะนั้น มันก็ดูตรงนี้ไง มันต้องแบ่งเวลาๆ ถ้ามันขับรถแล้วรถติด รถแน่น เราก็ตั้งสติไว้ อยู่กับงานของเรา งานของเราขับรถ แล้วถ้ามันพุทโธได้ เราก็พุทโธของเราไปเรื่อยๆ

แต่ถ้าเวลารถจะขยับ เออ! เราก็ดูถนน ดูเลน พอรถติด เราก็พุทโธไปเรื่อยๆ เพื่อรักษาใจ อย่าให้หงุดหงิด อย่าให้หงุดหงิด อย่าให้ท้อแท้ ถ้ามันหงุดหงิด ท้อแท้ พอมันคิดครั้งแรก ครั้งสอง ครั้งสาม มันก็จะมาแล้ว มันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้น มันต้องแบ่งให้ถูกไง มันต้องมีปัญญาแบ่งให้ถูก

ถ้าบอกว่า ฟังเทศน์หลวงพ่อในรถถูกไหม

ถูก ฟังเทศน์จนไฟแดงนะ พอไฟเขียวแล้วเขาบีบแตรอยู่ มันฟังเทศน์อยู่ มันยังไม่ไปอ้าว! ก็กำลังฟังเทศน์อยู่ ปฏิบัติธรรมนะ ปฏิบัติธรรมกลางไฟแดงเลยล่ะอย่างนี้มันก็ไม่ถูกต้อง เห็นไหม ความดีเป็นความดีเฉพาะเรา แต่สังคมเขาเดือดร้อน

เราปฏิบัติธรรม เราปฏิบัติธรรมนะ แล้วเราไปจอดรถอยู่กลางไฟแดง แล้วไฟเขียวแล้วรถเขาจะไป คนอื่นเขาเดือดร้อนกับเราไง ถ้าเราปฏิบัติธรรม หนึ่ง ปฏิบัติธรรมเพื่อผลประโยชน์กับเรา แล้วต้องให้ไม่กีดขวางใคร ไม่กระทบกระเทือนใคร

ถ้าไม่กระทบกระเทือนใคร เราปฏิบัติแล้วอย่าน้อยใจว่าเราปฏิบัติธรรมแล้วไม่มีใครส่งเสริม เราปฏิบัติเพื่อตัวของเรา เวลาจิตมันสงบ เดี๋ยวเทวดาจะอนุโมทนา เวลาเกิดปัญญาขึ้นมา เทวดา อินทร์ พรหมมาอนุโมทนาเลยล่ะ

หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านบอกว่าเวลาท่านบรรลุธรรม มีครูบาอาจารย์มาอนุโมทนากับท่านเยอะแยะเลย โลกธาตุนี้หวั่นไหวนะ เวลาภาวนาไปถึงที่สุดมันครืนๆ

แผ่นดินไหวส่วนแผ่นดินไหวนะ แต่เวลาปฏิบัติธรรม ถ้าโลกธาตุหวั่นไหว มันหวั่นไหวกลางหัวใจเลย ครืนๆ เลยล่ะ แต่ข้างนอกไม่มีอะไรนะ ปกตินี่แหละ แต่มันเป็นในหัวใจ นี่เวลาปฏิบัติธรรมมันมหัศจรรย์ขนาดนั้น ถ้าคนทำได้จริงนะ

ถ้าทำจริงมันรู้อะไรจริงไม่จริง แล้วจริงมันเป็นอย่างไร ผลมันจะขนาดไหน เราถึงบอกว่าธรรมะนี้มีค่ามาก พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีค่ามาก แต่มันไปสถิตในใจของใครล่ะ

ไปสถิตในใจของมิจฉาทิฏฐิ มันบิดเบือน ไปสถิตในหัวใจของปุถุชน มันก็อ่อนแอ ไปสถิตในใจของพระโสดาบัน มีคุณธรรมแล้ว ไปสถิตในใจของพระสกิทาคามี มีคุณธรรมมากขึ้น กิเลสน้อยลง ไปสถิตในใจของพระอนาคามี ธรรมะเกือบสมบูรณ์แล้ว ไปสถิตในใจของพระอรหันต์ ถ้าไปสถิตในใจของพระอรหันต์ ธรรมนี้เหนือโลก วิมุตติสุขนี้เหนือโลกเหนือวัฏฏะเลย นี่มันมีค่าขนาดนั้น ฉะนั้น เวลาเราทำแล้ว สิ่งนี้มันจะเป็นประโยชน์กับในใจของเรา

ฉะนั้น เราปฏิบัติเพื่อในใจของเรา แล้วอย่าให้ใครเขาเดือดร้อนไปกับเราด้วย แต่ถ้าเขาจะอนุโมทนา เขาเห็นเราทำดีนะ คนทำดี ทุกคนเขาชื่นชม แต่ทีแรกเขาก็ไม่เชื่อหรอกว่ามันจะดีจริง แต่เราทำต่อเนื่องๆ ไป บอก เออ! มันดีจริงๆ เว้ย

ถ้ามันดีจริงๆ นะ เราก็อนุโมทนากับเขา สิ่งที่เขาจะกีดขวางเรามันจะน้อยลงๆ แต่ต่อหน้าเขาไม่เชื่อหรอก เขาก็ยังขวางอยู่ ลองดูซิมันจะจริงหรือเปล่า ขับรถมาก็ขวางมันเลย ดูซิพุทโธมันจะอยู่ไหม มันจะโกรธกูหรือเปล่าวะ เออ! ถ้ามันเอาพุทโธอยู่ เออ! ใช้ได้ๆ

เขาลองก็ยังมี ลองจนเขาเห็นว่า เออ! เราไม่น่าทำเขา เขาเป็นบัณฑิต เราเป็นพาลชน เราไปลองเขาก็ขอขมานะ คนที่เขาเป็นธรรม ใจเขาเป็นธรรมอยู่ แต่เขายังไม่เชื่อเรา ฉะนั้น ในการปฏิบัติของเรา อย่าไปเรียกร้องให้ใครเขาเห็นใจเรา เราทำของเราไป แต่คุณงามความดีมันถึงเวลาแล้วความดีก็คือความดี มันต้องเป็นความดีแน่นอน ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ยังยืนยันอยู่

. เวลานั่งสมาธิบางครั้งก็ท่องพุทโธ และถ้าจิตไม่นิ่งก็จะสวดอิติปิโสฯ ไปเรื่อย อย่างนี้ถูกต้องไหมครับ

คำว่าถูกต้องหรือไม่มันอยู่ที่เราไง วาระ วาระที่จิตมันกระทบรุนแรง เราก็สวดมนต์ก็ได้ เวลาจิตที่มันอ่อนนุ่ม จิตที่มันจะลงสมาธิ พุทโธเบาๆ มันก็ลงแล้ว มันอยู่ที่เรา เราจะต้องบริหารจัดการหัวใจเราด้วย ถ้าเรานักปฏิบัติ เรามีสติแล้วเราก็บริหาร

ถ้ามันกระทบรุนแรง บางทีพุทโธยังไม่ได้เลย มันแบบว่ามันกระทบ มันฟุ้งมาก มันฟุ้งมาก พุทโธยังไม่อยู่เลย ถ้ามันอย่างนั้น เราต้องชัดๆ

แต่ถ้าจิตใจเรานุ่มนวล วันนี้อารมณ์ดีมาก วันนี้ไม่ต้องนั่งมันก็จะเป็นสมาธิอยู่แล้ว ค่อยๆ พุทโธ ไม่ใช่ว่า ไม่ต้องนั่งจะเป็นสมาธิอยู่แล้ว ก็ต้อง อู๋ย! รุนแรง แล้วไปขึ้นต้นใหม่ ไม่ใช่ มันแบ่งอย่างนี้ไง

ฉะนั้นบอกว่า ถูกต้องหรือไม่

คำว่าถูกต้องหรือไม่คือว่ามันเป็นปัจจุบัน ปัจจุบันถูกต้องดีงามหรือไม่ตรงนั้น ถ้าถูกต้องตอนนี้นะ แล้วบอกว่าอย่างนี้ถูกต้อง มันก็ทำอยู่อย่างนี้ แล้วอย่างอื่นไม่เอาเลย หรือว่ามันแบบว่ามันสับสน

แต่ถ้ามันปฏิบัติจริงๆ นะ มันอยู่ที่เราเคยเป็นน่ะ เวลามันเอาไม่ได้ เวลามันรุนแรง รุนแรงคือว่าความคิดรุนแรง อารมณ์รุนแรง สิ่งที่มันกระเทือนใจรุนแรง ทำอย่างไร

ต้องพุทโธให้ชัดๆ เดินให้ไวๆ ต้องแข็งแรงกับมัน มันแรงมาขนาดไหน เราต้องมีสติปัญญามากกว่าขณะนั้นถึงจะเอาอยู่ไง แล้วพอมันเริ่มเบาลงๆ ก็เบาลง นี่พูดถึงว่าให้เป็นปัจจุบัน

คำว่าถูกต้องไหมมันไม่ใช่สูตรสำเร็จ การปฏิบัติสูตรสำเร็จมันไม่มี การปฏิบัติมันอยู่ที่ปัจจุบัน วันนี้กระทบรุนแรงไหม วันนี้จิตใจเราพัฒนาขึ้นมามากไหม วันนี้ของเราดีขึ้นไหม สติ มหาสติ ปัญญา มหาปัญญา มันมีสูงมีต่ำไง แล้วมีสูงมีต่ำก็อยู่ที่วาระ แล้วเราทำให้ถูกต้อง

ถ้าทำให้ถูกต้อง คือเราบริหารจัดการเอง ใช้ปัญญาเอง ถ้าบริหารจัดการไม่เป็นมันก็เข้าสมาธิได้ยาก หรือเข้าไม่ได้เลย ถ้าบริหารถูกต้อง เข้าได้สมดุล ความสมดุล มัชฌิมาพอดีๆ อย่างนี้ถูกต้อง ถูกต้องมันต้องเราแบ่งแยกคัดเลือกด้วย ว่าอย่างนั้นเถอะ

. ได้ฟังถามตอบปัญหาธรรม ถ้านั่งสมาธิและฟังธรรมที่หลวงพ่อเทศน์ไปด้วย นั่งหลับตาฟังเสียงธรรมไป พิจารณาตามเสียงธรรมไป สามารถทำให้เกิดสมาธิได้หรือไม่ครับ

ได้ ได้ ได้แน่นอน ได้ล้านเปอร์เซ็นต์ เพราะเวลาฟังเทศน์ไปด้วย เวลาจะเป็นสมาธิมันเป็นที่ใจเราไง ไอ้วิทยุมันก็ดังอยู่นั่นน่ะ เปิดเทป เทปก็หมุนอยู่อย่างนั้นจนกว่ามันจะหมด แต่เป็นสมาธินะ เราฟัง เวลาจิตมันจะลง มันลงเลย นี่เป็นสมาธิเลย ได้ ไอ้อยู่ข้างนอกไม่เกี่ยว

แต่เวลาเราพุทโธ พุทโธระลึกขึ้นมามันก็เกาะพุทโธ ลมหายใจ จิตมันก็เกาะที่ลม เวลาฟังเทศน์ มันก็เกาะที่เสียงเทศน์ แล้วพอเสียงเทศน์ เสียงเทศน์มันละเอียดขึ้น เสียงเทศน์มันดีขึ้น นี่เป็นสมาธิไหม

ได้ล้านเปอร์เซ็นต์เลย แล้วถ้าได้นะ เวลาเป็นสมาธิ สมาธิก็เป็นสมาธิไง เทศน์ไม่เกี่ยว เทศน์อยู่ข้างนอก เทศน์ก็เทศน์ไปสิ ถ้าเป็นวิทยุก็เปิดไว้อย่างนั้นน่ะ ก็ดังจนกว่าถ่านจะหมด ถ้าเป็นเทป เทปก็หมดม้วน ถ้าเป็นซีดี ซีดีมันก็หมดรอบของมัน แต่จิตเราเป็นสมาธิ

เป็นได้ ฟังเทศน์นี่เป็นสมาธิได้ชัดเลย เป็นได้แน่นอนเลย แต่ไม่ได้เป็นที่เทศน์ ไม่ได้เป็นที่เทป ไม่ได้เป็นที่วิทยุ เป็นที่ใจเรา เวลาเป็นสมาธิเป็นที่ใจเรา แล้วใจมันเป็นไง เป็นได้

เป็นสมาธิได้ไหม

ได้ แล้วถ้ามันไม่ได้มันก็เป็นขณิกะ ขณิกะคือจิตมันสงบอยู่ มันก็ได้ยินเสียงอยู่ มันก็ยังบริหารกันอยู่ ยังมีการบริหารกันอยู่ แต่ถ้าจิตมันสงบแล้ว ถ้าเป็นอัปปนา สักแต่ว่า จบ

เป็นสมาธิได้ไหม

ได้ ค่อยๆ ทำเอา ทำให้เป็นปัจจุบันนี้

นี่พูดถึงว่าทำสัมมาสมาธิ คำว่าทำสัมมาสมาธิเราบอกว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนสมาธิ พระพุทธศาสนาสอนเรื่องอริยสัจ พระพุทธศาสนาสอนให้พ้นจากทุกข์ แต่ระหว่างทางเดินมันต้องอาศัยสมาธิ เพราะสมาธิคือจิตใจของคน เพราะสมาธิมันเกิดบนใจของคน

สมาธิมันเกิดที่ไหน เกิดบนอาสน์สงฆ์นี่หรือ เกิดบนอิฐหินทรายปูนหรือ...ไม่ใช่ มันเกิดสมาธิไม่ได้เพราะมันไม่มีจิต

สมาธิเกิดจากจิต แล้วจิตพอมันออกวิปัสสนา จิตมันจะพ้นจากทุกข์ จิตนี้เป็นผู้ค้นคว้า จิตนี้เป็นผู้พ้นทุกข์

ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนสมาธิหรือ

ไม่ใช่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเรื่องอริยสัจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเรื่องปัญญา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนศีล สมาธิ ปัญญา สอนเรื่องมรรค

ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล แต่สัมมาสมาธิเป็นวิธีการ เป็นฐานอันหนึ่ง ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ฉะนั้น สมาธิสำคัญ คำว่าสำคัญแต่เราจะบอกว่าเราฝึกสมาธิ เราทำสมาธิ...ไม่ใช่

เราทำความสงบของใจเพื่อเอาใจนี้ออกใช้วิปัสสนา เอาใจนี้ใช้ปัญญา เอาใจนี้ค้นคว้า เราจะสำรอกกิเลสออกจากใจของเรา

เราเป็นชาวพุทธ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเรื่องสมาธิ พระพุทธเจ้าสอนเรื่องอริยสัจ พระพุทธเจ้าสอนเรื่องมรรค แต่ก่อนที่มันจะเดินมรรค มันต้องมีผู้ที่ดำเนินการ ผู้ที่ดำเนินการคือจิตที่สงบแล้วดำเนินการ มันจิตจริงไง จิตจริง มรรคผลก็จริงไง

แต่ถ้ามันยังไม่สงบอยู่ ก็อย่างที่พูดตั้งแต่เริ่ม สังคมไทยอ่อนแอ สังคมไทยคิดเอาเองเออเอาเอง แล้วเวลาปฏิบัติก็สัพเพเหระ แล้วไม่มีครูบาอาจารย์ที่รู้จริง

ครูบาอาจารย์ที่รู้จริงท่านจะชี้เข้าไปสู่ต้นเหตุ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ท่านจะชี้ต้นเหตุ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ เพราะอวิชชาพาเกิด จี้เข้าไปที่อวิชชา ไอ้ที่มันไม่รู้น่ะ จี้เข้าไปที่กลางหัวใจนั่นน่ะ ต้นเหตุนั่นน่ะ ครูบาอาจารย์ท่านชี้เข้าไปที่ต้นเหตุ

แล้วสมาธิมันเข้าต้นเหตุได้ไหม

สมาธิเป็นตัวมัน แต่เวลาปัญญาเกิดขึ้นมา ปัญญาจะชี้เข้าไปที่ต้นเหตุ ชี้เข้าไปที่อวิชชา ชี้เข้าไปที่ไม่รู้นั่นน่ะ พอไม่รู้เป็นความรู้ขึ้นมาก็เป็นวิชชา เป็นวิชชามันก็สำรอกมันก็คาย แล้วมันก็จะเป็นความจริงขึ้นมา เป็นสมกับความที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยนี้ไว้ไง

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งมรรค ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งอริยสัจ แต่มันต้องอาศัยผู้ที่รู้จริง ผู้ที่เป็นสัมมาสมาธิขึ้นมาค้นคว้า ขึ้นมาจัดการ มันถึงจะเป็นตัวศาสนาจริง มันถึงจะเป็นมรรคจริง มันถึงจะเป็นพระพุทธศาสนาจริง เอวัง