เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑ มี.ค. ๒๕๕๘

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๘
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ เวลาบอกธรรมะเป็นนามธรรมๆ แล้วเราต้องไปหาลาภสักการะกัน ลาภสักการะเป็นวัตถุข้าวของ มันเป็นวัตถุ แล้วถ้านามธรรมแล้วมันก็ต้องอยู่เย็นเป็นสุข นามธรรม คำว่า “นามธรรม” เวลาเราดูหลวงตาสิ หลวงตาท่านหาโครงการช่วยชาติ ท่านหามาเพื่อสาธารณะ ท่านหามาเพื่อประโยชน์ เวลาท่านหามา เวลาท่านพูดท่านบอกว่าท่านทำให้ลูกศิษย์บอบช้ำ

คนมีปัญญานะ เวลาท่านหาเงินหาทอง ท่านบอกว่าที่ท่านมาท่านมาเอาใจคน ไม่ใช่มาหาเงินหาทอง แต่ถึงคราวที่ชาติมันมีปัญหามันก็ต้องช่วยเหลือเจือจานกันถ้าคนมีน้ำใจ ถ้าคนมีน้ำใจ สิ่งที่แสวงหานั้นมันก็ต้องเป็นปัจจัย มันก็ต้องเอาสิ่งนั้นมาเพื่อชาติ

ท่านบอกว่าท่านทำให้ลูกศิษย์บอบช้ำ เวลาท่านพูดนะ ท่านทำให้ลูกศิษย์บอบช้ำ แต่ท่านทำด้วยน้ำใจ แล้วไปเอาใจคน ใจคนหมายความว่าเราเสียสละสิ่งนั้นไป เราได้บุญกุศล

เราภูมิใจนะ เวลาเราบอกว่าทางที่ว่าเขาขัดขืนกับกฎกติกาสังคมโลกอย่างมาเลเซีย เขาบอกว่าเวลาต้มยำกุ้งชาติ เขาไม่เสียหายอะไรเลย เพราะเขาปิดประเทศของเขา อัตราแลกเปลี่ยนของเขา เขาคงที่ของเขา แต่ของเรานะ เราอยู่ในสังคมโลก แล้วที่ว่าผู้นำๆ ไปทำสัญญาไว้กับเขา ไปทำสัญญาไว้กับเขา เวลาถึงที่สุดแล้วเราก็ต้องช่วยเหลือเจือจานกันไง พอช่วยเหลือเจือจานนะ เขาเห็นน้ำใจไง ว่าเวลาถึงคราววิกฤติทำไมประชาชนช่วยเหลือกันขนาดนั้น นี่พูดถึงว่าน้ำใจ

ถ้าศาสนานี้เป็นเรื่องของนามธรรมๆ เป็นเรื่องของนามธรรมจริงๆ เป็นเรื่องของนามธรรม แต่นามธรรมมันต้องมีหลักเกณฑ์ คำว่า “มีหลักเกณฑ์” คือต้องมีสติ ต้องมีสมาธิ ต้องมีปัญญา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนนะ อนุปุพพิกถา หงายภาชนะที่คว่ำอยู่ให้มันหงายขึ้นมา คนที่มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนเด็กๆ มันทิฏฐิมานะว่ามันเก่ง มันยอดมันเยี่ยม มันคว่ำไว้ มันคว่ำภาชนะหัวใจมันไว้ มันไม่รับรู้สิ่งใด มันคิดแต่ความเห็นของตัวว่าตัวเองถูกต้องดีงามไปทั้งหมดแหละ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการให้หงายภาชนะเขาขึ้นมา ให้หงายภาชนะขึ้นมา หงายภาชนะขึ้นมาเพื่อฟังธรรมๆ พอหงายขึ้นมาฟังธรรม ฟังธรรมเพื่อเหตุใดล่ะ ว่าเวลาเราปฏิบัติธรรมต้องมีหลักมีเกณฑ์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเทศนาว่าการให้มีศรัทธามีความเชื่อ แต่เวลาคนที่เขาประพฤติปฏิบัติไปถามธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านบอก กาลามสูตร กาลามสูตรนะ ถ้าเชื่อต้องเชื่อด้วยเหตุด้วยผล ต้องเชื่อด้วยสติปัญญา ไม่ได้เชื่อด้วยความงมงาย เห็นไหม

เวลาปลูกฝังเขา หงายภาชนะที่คว่ำอยู่นะ คือว่าถ้าเรายังยึดมั่นตัวเราเองอยู่ว่าเราถูกต้องดีงามไปทั้งหมด ถูกต้องดีงามขนาดไหน เราก็มีความบกพร่องในตัวของเรา ไม่มีใครดีไปทั้งหมดและเลวทั้งหมด แต่ความดีของเรา เพราะเรามีศรัทธาความเชื่อ แต่ศรัทธาความเชื่อ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่ามีความเชื่อเข้าไปศึกษาแล้ว กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อแม้แต่ครูบาอาจารย์ของเรา ไม่ให้เชื่อแม้แต่อนุมานเข้ากันได้ ไม่ให้เชื่อว่ามันเป็นความพอใจของเรา ไม่ให้เชื่อเพราะว่ามันถูกใจ ถ้าถูกใจเราไม่ให้เชื่อ แต่ถ้าเวลาปฏิบัติไปมันไม่ใช่ถูกใจ

เวลาธรรมะนะ รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง ทำไมมันถึงชนะรสทั้งปวงล่ะ ถ้ามันชนะซึ่งรสทั้งปวง รสสิ่งใดในโลกนี้เราไม่มีสิทธิเสรีภาพที่แสวงหาใช่ไหม เราก็มีสิทธิเสรีภาพแสวงหาทั้งนั้นแหละ แล้วรสที่เราแสวงหา ทุกคนก็มีสิทธิเสรีภาพที่แสวงหามาได้ แล้วรสอะไรที่มันเหนือนั้นล่ะ รสอะไรที่มันเหนือนั้นล่ะ? รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง

แล้วเวลาเข้าไปสัมผัส พอจิตมันลงสมาธิ พอจิตมันเริ่มสงบเข้ามา นี่ไง ถ้าจิตคนสงบนะ เวลาครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราท่านเข้มงวดมาก ท่านเข้มงวดมาก ท่านให้เป็นสัปปายะ สถานที่ที่ประพฤติปฏิบัติไม่ให้คลุกคลีกัน ไม่ให้ส่งเสียงดัง ไม่ให้กระทบกระเทือนกัน ไม่ให้กระทบกระเทือนกัน เวลาเขาทำธุรกิจการค้าเขาต้องบากบั่น เขาต้องช่วยเหลือเจือจาน มันต้องมีเสียงกระทบทั้งนั้นแหละ แต่เวลาไปวัดครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านเป็นคุณธรรมนะ ท่านมีธรรมในหัวใจของท่านนะ

คำว่า “มีธรรมในหัวใจของท่าน” ท่านเห็นว่าสิ่งสภาวะแวดล้อมนั้นกว่าจะทำให้หัวใจของคนแต่ละคนเข้าสู่ความสงบได้ และหัวใจที่มันพัฒนา มันยกขึ้นวิปัสสนาได้ มันจะเป็นคุณมหาศาล คำว่า “คุณมหาศาล” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้พระองค์เดียว เป็นศาสดาของ ๓ โลกธาตุ แล้วสำนักปฏิบัติที่เขามีคุณธรรม เขาต้องการหัวใจที่ได้สัมผัสให้เป็นสันทิฏฐิโก ให้มีหัวใจในธรรมนั้น ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ท่านถึงรักษาสภาวะแวดล้อมอย่างนั้น

แต่ของเรา เราไปทางโลกใช่ไหม ทางโลกเราต้องมีมารยาท เราต้องมีปฏิสันถาร เราต้องมีการต้อนรับกัน แต่การต้อนรับแบบธรรม การต้อนรับแบบธรรม ความสงบสงัด ที่อยู่ของผู้ทรงศีลใช่ไหม เราเข้าไป เราเข้าไปด้วยความสงบระงับ นี่ที่อยู่ของผู้ทรงศีล ถ้าเราสงบระงับ เราเข้าไป ขนลุกนะ ถ้าขนลุกขึ้นมา รสของธรรมชนะรสทั้งปวง เพราะท่านมีคุณธรรมอย่างนั้น ท่านเห็นคุณค่าอย่างนั้น คนที่เห็นคุณค่าของคุณธรรมในใจนั้น ท่านถึงพยายามปรับสภาวะแวดล้อมอย่างนั้นเพื่อให้ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเขาได้ปฏิบัติของเขาให้เข้าสู่สัจธรรมอันนั้น มันมีคุณค่า มันมีเป้าหมาย เขาถึงมีวิธีการรักษา แล้วเขาถึงมีปัญญาที่สามารถทำให้เข้าใจได้ว่าอะไรหยาบ อะไรอย่างกลาง อะไรอย่างละเอียด แล้วอย่างละเอียด ละเอียดสุดขนาดไหน ถ้าเป็นนามธรรม นามธรรมเป็นแบบนี้ ไม่ใช่นามธรรมว่า สิ่งที่เป็นความรู้สึกนึกคิด ถ้าพอใจแล้วก็เป็นนามธรรมๆ

สิ่งที่เป็นนามธรรม ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากใจ เกิดจากจิตนะ ปัญญาที่เกิดจากจิตมันเป็นปัจจุบันที่เกิดเดี๋ยวนั้น แต่ในปัจจุบันทางวิทยาศาสตร์ เขากำลังค้นคว้ากันว่าชีวิตนี้มาจากไหน จิตวิญญาณมันเป็นแบบใด แต่เวลาสมองคิด สมองคิด พลังงานไฟฟ้า เวลาทำงานเขาจับได้ เพราะว่าเทคโนโลยีเขาจับได้เลยว่าพลังงานมันไปอย่างไร แต่พลังงานนี้มันมาจากปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิต เวลาพลังงานมันบังคับไปที่สมอง สมองเป็นประสาท ประสาทควบคุมร่างกาย สมองควบคุมความรู้สึกนึกคิดทั้งหมด นี่มันส่งออกไง เราจะบอกว่ามันไม่เป็นปัจจุบันไง มันไม่เกิดจากจิตไง ถ้ามันเกิดจากจิต เกิดจากพลังงานนั้น สัมมาสมาธิมันอยู่ที่พลังงานนั้น พลังงานนั้น ยกขึ้นวิปัสสนามันเป็นปัจจุบันเดี๋ยวนั้น ถ้าเป็นปัจจุบันเดี๋ยวนั้น เห็นไหม

ที่ครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ท่านรู้ท่านเห็นของท่านอย่างนั้น แล้วสิ่งที่รู้เห็นอย่างนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา จะเผยแผ่ธรรมๆ จะเอาใครก่อน

ไปเอาปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์เขาอุปัฏฐากอยู่ เขาทำสมาธิมา ๖ ปี คนที่ทำมาสมาธิมา ๖ ปี คนที่ทำสมถะ ทำความสงบระงับมา ๖ ปี เขาต้องมีพื้นฐานของเขา ถ้ามีพื้นฐานของเขา เวลาเทศนาว่าการไป เขาเข้าใจได้ไง แต่ของเรา ของเราเป็นวิทยาศาสตร์ๆ เราเป็นโลกไง พอเราเป็นโลก เราไปฟังไง เราก็พยายามจะเคลมให้ไปเป็นความเห็นของเราไง แล้วพอเป็นความเห็นของเรา เวลาไปปฏิบัติ ถ้าเป็นว่างๆ ว่างๆ ก็ว่าเป็นสมาธิๆ

สมาธิยังไม่รู้จัก สมาธิยังไม่รู้จักเพราะอะไร เพราะรสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง ถ้าใครได้สมาธิ ครูบาอาจารย์องค์ไหนได้สมาธิ เขาจะไม่ค่อยคุยกับใคร เขาพยายามจะหลีกเร้นของเขา เห็นไหม ถ้าพยายามหลีกเร้นของเขา เขาบอกว่าคนนี้คนมีปัญหา แต่ถ้าคนคลุกคลีกัน คนคลุกคลีกันก็เป็นเรื่องโลกไง ถ้าเรื่องโลกเป็นแบบนั้น

ถ้าจะเป็นนามธรรมมันก็มีหลักเกณฑ์ ไม่ใช่ว่านามธรรมแล้วมันเลื่อนลอยไง ศาสนาไหนสอนเรื่องนามธรรม เรื่องของหัวใจ เรื่องของอารมณ์ความรู้สึกมันเลื่อนลอย เลื่อนลอยจนไม่มีขอบเขต แต่ถ้าเป็นพระพุทธศาสนานี้มีขอบเขต ศีล สมาธิ ปัญญา มโนกรรม

เวลามโนกรรม ความรู้สึกนึกคิด มโนกรรม ย้ำคิดย้ำทำแล้วมันจะมีกายกรรม วจีกรรม กายกรรม วจีกรรม เวลาทำออกไปแล้วมันเป็นอาบัติ อาบัติเพราะมีการกระทำ ผลมันเกิดอาบัติ แต่ความรู้สึกนึกคิดมันมีอาบัติไหม ความรู้สึกนึกคิดมันมีอาบัติไหม มโนกรรมมีอาบัติไหม แต่มโนกรรมมันมีกรรม เพราะกรรม การย้ำคิดย้ำทำมันเป็นจริตเป็นนิสัย ถ้าเราคิดแต่เรื่องดีๆ เราคิดแต่เรื่องสิ่งดีๆ ดีเพื่อใคร ไม่ต้องดีเพื่อคนอื่นหรอก ดีเพื่อใจเรานี่แหละ สิ่งที่กิเลสมันคิด มันว่ามันดีของมันทุกเรื่อง กิเลสมันคิด มันดีทุกอย่างเลย แล้วมันดีจริงหรือเปล่า ถ้ามันดีจริง เราจะไม่ทุกข์ยากแบบนี้ เพราะเราคิดมาได้กี่ภพกี่ชาติแล้ว เราคิดมาได้ตลอดเลย แล้วความคิด เราก็ทำตามมันมาตลอด ถ้ามันดีมันดีไปแล้วล่ะ

แต่ถ้าเป็นธรรมล่ะ ความสงบ เวลาเป็นความสงบมันไม่เกิดปัญญา ความสงบแล้วเขาว่ามันไม่มีรสชาติ แต่เวลาจิตสงบเข้าไป รสชาตินะ หูตาพองเลยล่ะ เวลาเข้าไป หูตาพองเลย เวลาเข้าไปมันสะเทือนมาก พอมันสะเทือนหัวใจขึ้นมาเราก็อยากได้ ความอยากได้อย่างนั้นๆ แล้วพยายามแสวงหา เห็นไหม เหมือนคนเดิน พอคนเดินเงามันก็ไป คนเราอยู่กลางแดดมันมีแสง มันมีเงา เราขยับ เงามันก็หนีไปเรื่อย เงาก็หนีไปเรื่อย แต่ถ้าเราหยุด เงามันก็ไม่ไปไหน

พุทโธๆๆ เราหยุด หยุดเพื่อจะไม่ให้เงามันเคลื่อนไป ไม่ให้เงามันหนีเราไป เราแสวงหา ทางวิทยาศาสตร์ขยับไป เงาก็หนีไป เงาก็หนีไป เราก็ “ว่างๆ ว่างๆ สบาย” แต่ถ้าเรายืนอยู่ เราพุทโธๆๆ ถ้ามันเข้ามาๆ ละเอียดเข้ามา ถ้าเราเห็นสิ่งนี้ เราได้สัมผัสสิ่งนี้ เราสัมผัสสิ่งนี้แล้ว คนที่ภาวนาได้จะสงวนจะรักษาสิ่งนั้น แล้วสงวนรักษาสิ่งนั้นแล้วนะ ถ้ายกขึ้นสู่วิปัสสนา มันมีเป้าหมาย มันมีเป้าหมาย วิธีการและเป้าหมาย ถ้ามีเป้าหมายปั๊บ เราพยายามตะเกียกตะกายสู่เป้าหมายนั้น คืองานเราเยอะ ถ้าเราจะตะเกียกตะกายสู่เป้าหมายนั้นนะ เรายังไม่ถึงเป้าหมายนั้น งานเรามหาศาลเลย งานเรายังมีอีกเยอะมากนะ แต่ถ้าเราไม่มีเป้าหมาย ก็ว่างๆ ก็อยู่กันคงที่อย่างนั้นแหละ แล้วมันไปไหนต่อ พอไปไหนต่อ เดี๋ยวออกไปทางโลกแล้ว เดี๋ยวออกนอกเรื่อง

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งนามธรรม นามธรรมไม่ใช่นามธรรมแบบนั้น ถ้านามธรรมมันต้องมีมรรค มัคโคทางอันเอก ถ้ามัคโค ทางอันเอก มโนวิญฺญาเณปิ นิพฺพินฺทติ มโนสมฺผสฺเสปิ นิพฺพินฺทติ แม้แต่มโนก็เบื่อหน่าย ความสัมผัสก็เบื่อหน่าย ผลเกิดจากกความสัมผัสก็เบื่อหน่าย ความเบื่อหน่าย แล้วเราอยากละอยากวาง แต่มันละวางไม่ได้ ละวางไม่ได้ เราถึงทำบุญกุศลกัน ทำทานเพื่อให้จิตใจมันยอมรับเหตุรับผล รับเหตุรับผลแล้ว พอจิตใจเป็นสาธารณะ จิตใจของคนมันมีบารมีมันถึงภาวนาได้ พอภาวนาขึ้นมา มันจะมีหลักมีเกณฑ์แล้ว พอมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา มันยิ่งพยายามจะรักษา ยิ่งพยายามจะรักษา แล้วเวลาปฏิบัติไปแล้วกิเลสมันยุแหย่ ใครทำสมาธิได้ก็จะคุยโม้กันเรื่องสมาธิ ใครมีปัญญาขึ้นมาแว็บหนึ่งก็ส้มหล่น มันไม่ใช่ปัญญาแท้หรอก

ปัญญาแท้มันเป็นมรรค มรรคมันคืออะไรล่ะ

สติชอบ งานชอบ เพียรชอบ ความระลึกชอบ ความชอบธรรมอันนั้นมันเป็นปัญญา ความชอบธรรม คนที่ชอบธรรม คนที่กำลังทำหน้าที่การงานอยู่ เห็นไหม นักวิทยาศาสตร์เขาทำวิจัยของเขาอยู่ งานของเขากำลังพัฒนา เขาไม่ออกนอกเรื่องหรอก นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นภาวนามยปัญญา ทางอันเอก งานของเรายังมีอยู่ เราต้องเดินทางต่อไป เราจะสงวนรักษาของเราเพื่อจะก้าวหน้าไป มันไม่มีเวลามาคุยมาโม้อย่างนั้นหรอก ไอ้ที่มาคุยมาโม้ กิเลสทั้งนั้นแหละ กิเลสมันทำให้คุยโม้ ถ้าคำว่า “คุยโม้” มันทำให้คุยไปแล้วจะทำให้จิตมันเสื่อม ทำให้เกิดความวิตกกังวล มันจะเกิดนิวรณธรรม นิวรณธรรมมันเป็นเครื่องกางกั้น

แต่ถ้าเราไม่ไปคุยไม่โม้ ไม่เกิดนิวรณธรรม ทางเราโล่งโถง เราทำของเราต่อเนื่องไปๆ เพื่อผลประโยชน์กับเราไง ถ้าใครเข้าไปสัมผัสแล้ว สิ่งที่สัมผัสแล้วมันจะเข้าใจ คนที่สัมผัสแล้ว มันเกิดจากภายใน

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านแสวงหาวัตถุนั้น แสวงหาวัตถุนั้นเพื่อประโยชน์กับสังคม ประโยชน์กับโลก แต่ท่านบอกว่าท่านไปเอาใจคนๆ เอาใจคน เอาหัวใจของคน แต่ถ้ามันเป็นทางโลก เอาหัวใจของคนเพื่อ เพราะถ้าคนเชื่อแล้วมันให้ทุกอย่าง ถ้ามันเชื่อแล้วมันให้ทุกอย่าง สิ่งที่เชื่อแล้ว เชื่อโดยศรัทธา ไม่ได้ใช้ปัญญาไง แต่เวลาทำ เวลาโลกเขาทำเขาทำอย่างนั้นเขาว่าเป็นโลก ทำไมครูบาอาจารย์ของเราทำเราว่าเป็นธรรมล่ะ

ครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นธรรมเพราะจิตใจท่านเป็นธรรมแล้ว สิ่งที่สมบัตินะ คุณธรรมในใจ สมบัติ ธรรมะ สัจธรรม สมบัตินั้นมันมีค่า อัตตสมบัติในใจมันมีค่ากว่าโลกธรรม กว่าสิ่งที่เป็นวัตถุทางโลกไง แต่ถ้าคนหัวใจที่มันไม่มีคุณธรรมมันอ้างว่าเป็นนามธรรมๆ แต่มันจะแสวงหาสิ่งที่เป็นวัตถุ สิ่งที่เป็นเรื่องโลก เรื่องโลกนี้เป็นสมบัติสาธารณะ ใครทำดีคนนั้นได้บุญกุศล ใครทำชั่ว ใครทำสิ่งที่เป็นบาปเป็นกรรม เขาต้องไปใช้ผลกรรมของเขา

พูดเรื่องถึงกรรม เราจะบอกว่า เวลาใครทำกรรมเก่าๆ กรรมคือสิ่งที่มันให้ผลวิบากกรรมทั้งนั้น แต่ว่าเวลากรรม สัมมาทิฏฐิ สิ่งที่กรรมดี กรรมดีมันสร้างคุณธรรมในหัวใจนะ กรรมดีมันสร้างเราให้เป็นคนดีนะ ฉะนั้น ถ้าเราได้กรรมดี เห็นไหม กรรมดี มโนกรรม ความคิดของใจ มโนกรรมคือวิปัสสนาญาณ มโนกรรมคืออาสวักขยญาณ มโนกรรมอย่างนี้ สิ่งนี้เราแสวงหาสิ่งนี้ เราถึงได้มาภาวนากัน เราภาวนากันนะ ทาน ศีล ภาวนา ทานเราก็ได้ทำแล้ว ศีลคือความปกติของใจ ถ้าเรามาภาวนากันเพื่อคุณธรรมในหัวใจของเรา

ศาสนาพุทธเป็นเรื่องของนามธรรม แต่นามธรรมนั้น เราจะทำให้เป็นมัคโค ทางอันเอก มันเป็นรูปธรรม เป็นรูปธรรมที่จับต้องแล้ววิปัสสนา แล้วใช้ปัญญาของเราทำให้เป็นผลงานของเรา เวลามันผ่านพ้นไปแล้ว เห็นไหม เรามีรถ มีเรือจะไปสู่ที่เป้าหมาย เราต้องจอดเรือไว้ที่ท่า แล้วเราจะขึ้นฝั่ง มีรถ เราไปจอดรถไว้สถานที่จอดรถ เราจะขึ้นฝั่ง เราจะเห็นเลยว่ามัคโคที่เราแสวงหากันนี้ ที่เราพยายามทำกันนี้ สิ่งนี้ที่เราขวนขวาย เห็นไหม มันเป็นมรรค มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ มันต้องผ่านพ้นไป มันต้องข้ามพ้นไป

แต่การข้ามพ้นไป เวลาครูบาอาจารย์เทศน์อย่างนั้น ทุกคนก็บอกว่าเราต้องข้ามพ้นไป เลยไม่เอาเลย เลยวางเลย เลยไม่ทำอะไรเลย...มันต้องอาศัย การอาศัยต้องสงวนรักษาอย่างเต็มที่ แต่เวลามันถึงที่แล้วนะ เขาทิ้งไว้ที่ท่ารถ เขาทิ้งไว้ที่ท่าเรือ เขาจะเอาหัวใจของเขา นี่ฟังธรรมๆ เพื่อเหตุนี้ เราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง