เล่ห์กลกิเลส
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรมวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๘
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “คำบริกรรมยาวๆ และอาการของขณิกสมาธิ”
กราบนมัสการหลวงพ่อ กระผมได้ภาวนามาเรื่อยๆ โดยตลอด แต่ก็ยังไม่ได้ผลแต่อย่างใด ที่ได้มาในตอนนี้คือนิสัยที่ต้องนั่งสมาธิทุกวัน เช้าหลังตื่นนอนทุกวันไม่เว้นวันหยุดใดๆ จะต้องฟังเทศน์พ่อแม่ครูจารย์ผ่านทางเว็บไซต์ทุกครั้งที่มีโอกาส เช่น ขับรถคนเดียว ทำงานบ้านคนเดียว
กระผมขอความกรุณาจากพ่อแม่ครูจารย์ช่วยพิจารณาการภาวนาของผมว่าถูกต้องหรือไม่ และต้องแก้ไขปรับปรุงอย่างใดดังต่อไปนี้ครับ
๑. กระผมมักจะมีอาการง่วงนอนในตอนนั่งสมาธิตอนเช้าหลังตื่นนอน (ประมาณตี ๔ ตี ๕) กระผมพยายามใช้การสลับกันไปมาระหว่างบริกรรมพุทโธ กำหนดลมหายใจ และปัญญาอบรมสมาธิ ซึ่งหลายครั้งก็เอาไม่อยู่ วูบหลับไปทั้งสั้นๆ และยาวเป็นชั่วโมง กระผมเคยได้ฟังพ่อแม่ครูจารย์เทศน์เรื่องของหลวงปู่อ่อนว่า หลวงปู่มั่นท่านให้หลวงปู่อ่อนบริกรรมยาวๆ แทนพุทโธ เพื่อแก้อาการง่วงนอนในขณะนั่งสมาธิของหลวงปู่อ่อน ผมจึงได้ใช้คาถาที่ผมท่องว่า พุทธะ มะ อะ อุ นะโมพุทธายะ มาแทนคำบริกรรมพุทโธ ซึ่งก็ได้ผลดีพอสมควรครับ ผมอยากทราบว่าที่ผมนำคาถามาท่องแทนบริกรรมพุทโธ สามารถใช้แทนได้หรือไม่ครับ
๒. มีอยู่ครั้งหนึ่งผมกำลังบริกรรมพุทโธๆ อยู่ จู่ๆ ก็มีความรู้สึกว่าคำบริกรรมพุทโธนั้นเด่นชัดขึ้นเพียงหนึ่งเดียว ในความรับรู้ของผม ไม่มีความคิดอะไรเกิดขึ้นได้เลย มีแต่ความรู้สึกว่าโลกนี้มีแต่ตัวผมที่กำลังนั่งอยู่ในห้องพระกับคำบริกรรมพุทโธเท่านั้น แต่ว่าความรู้สึกนี้อยู่ได้แค่ประมาณ ๕ วินาทีเท่านั้น แล้วทุกอย่างก็กลับไปเหมือนเดิมที่มีความคิดต่างๆ มากมายแทรกซ้อนขึ้นมากับคำบริกรรมพุทโธ จนต้องสลับใช้ปัญญาอบรมสมาธิกับกำหนดลมหายใจแทน ผมอยากทราบว่า ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะชั่วขณะนั้นคือขณิกสมาธิใช่หรือไม่ครับ
ตอบ : “สุดท้ายนี้ขอให้พ่อแม่ครูจารย์...” เขาว่า
อันนี้เราพูดถึงการภาวนาก่อนเนาะ การภาวนา ทุกคนคิดว่าทำดี ทำดีคือดี ไอ้ดีอย่างนี้มันดีแบบวัตถุไง วัตถุ ไม้ก็คือไม้ เหล็กก็คือเหล็ก มันเป็นคุณสมบัติของตัวมันเอง ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เราบอกความดี ความดีก็คือความดี คุณสมบัติของตัวมันเอง ในการภาวนาก็เหมือนกัน ถ้าในการภาวนา แล้วเราทำภาวนาคือเราทำคุณงามความดี คุณงามความดีก็ต้องส่งเสริมให้เป็นความดีขึ้นมาสิ แต่เวลาเราภาวนาไปแล้วทำไมเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย
เวลาดีนะ คนเวลาทุกข์เวลายากมา เวลามาศึกษาพระพุทธศาสนา มันเหมือนคนใหม่ คนเรานะ เวลาตกทุกข์ได้ยาก เวลาจิตใจมันตรอมใจ ตรอมใจอยู่ในความทุกข์นั้น เวลาศึกษาธรรมะแล้ว มันศึกษาธรรมะ ธรรมโอสถเข้ามาชโลมในหัวใจ มันบอกนี่เป็นสัจธรรม นี่เป็นความจริง ไอ้ที่เราทุกข์ระทมอยู่นั้นมันไม่ใช่เป็นความจริง มันเป็นความคิด มันเป็นสมมุติที่เราไปยึดมั่นถือมั่นต่างหาก เวลาศึกษาธรรมะขึ้นมาแล้ว พอมันเข้าใจมันก็ปล่อย พอปล่อย มันเข้าใจขึ้นมาก็มีความสุข พอมีความสุข ความสุขอย่างนี้มันเกิดจากที่ว่าเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเราซาบซึ้ง เราทำคุณงามความดีแล้วมันจะได้ดี นี่ถ้าเราศึกษาอย่างนี้ เวลามันปล่อยแล้วเราก็มีความสุขของเรา เราว่าเราทำคุณงามความดี
ทีนี้เวลาภาวนา เรามาภาวนา เวลาภาวนาขึ้นมา สัตว์ หลวงตาท่านเปรียบเทียบเหมือนสัตว์ สัตว์เลี้ยงเวลาเราเลี้ยงมันอยู่ มันก็อยู่กินของมันตามสะดวกสบาย แต่ถ้าสัตว์เลี้ยง เราจะเอามันไปเชือด เราจะเอามันไปฆ่า มันดิ้นรนเต็มที่เลย
แล้วเราเหมือนกัน เวลาเราชีวิตประจำวันเหมือนสัตว์เลี้ยง เราอยู่กันไปวันๆ หนึ่ง เราอยู่กันไปวันๆ หนึ่งเพราะเรายังไม่เผชิญกับความทุกข์ไง เวลาเราถึงความทุกข์ เวลาเราจะหมดชีวิต อันนั้นน่ะมันจะตื่นตัว แล้วมันจะมีความทุกข์ทรมาน ความทุกข์ตรอมใจ แต่มันหมดโอกาสแก้ไขไง
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติ เวลาเราจะปฏิบัติมันเหมือนกับเราจะเข้าไปต่อกรกับกิเลส ถ้าเราต่อกรกับกิเลส เราคิดว่ากิเลสมันเป็นนามธรรม กิเลสมันอยู่กับหัวใจของเรา มันเป็นความรู้สึก นี่มันพลิกแพลง มันพลิกแพลง เวลาทำคุณงามความดี เราจะประพฤติปฏิบัตินะ เล่ห์กลของกิเลส เราจะรู้จักเล่ห์กลของมัน
ฉะนั้น เวลาปฏิบัติขึ้นไปแล้ว เวลาปฏิบัติมันถึงทำความจริงนะ เวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติแล้วมันยังมีขั้นตอนของมัน เห็นไหม สติ มหาสติ
ไอ้เราแค่สติอย่างเดียวเรายังตั้งไม่เป็นเลย ถ้ามีสติ เพราะมีสติคำเดียวนะ หลวงตาใช้คำว่า “สติเหมือนฝ่ามือ ฝ่ามือสามารถกั้นคลื่นทะเลได้” สึนามิมานี่สามารถกั้นได้ ฝ่ามือนี่กั้นได้ เราก็มหัศจรรย์ เห็นไหม
สติ เราสามารถ ถ้าเราฝึกฝนของเรา สติของเราเหมือนฝ่ามือ มันสามารถกั้นอารมณ์ที่รุนแรงที่ทับถมเราได้ถ้าเราฝึกหัด
อารมณ์ เวลาเราฉุนเฉียว อารมณ์ที่มันรุนแรงขึ้นมา อารมณ์ที่มันกระทบเรามันมาจากไหน มาจากเราเผลอไง เราปล่อยมันเคยตัวไง คลื่นสึนามิมันพัดมา พัดไปแล้วนะ พัดกวาดไปหมดเลย อารมณ์เราเวลาเกิดขึ้นมา เรามีแต่ความทุกข์ แล้วเราแสดงออกไป มันกวาดไปหมด คนรอบข้างหมดเลย แล้วยังสะใจ ฉันมีความสามารถ ฉันเป็นคนเก่ง ทั้งๆ ที่มันทำลายเขาไปหมดแล้ว
แต่ถ้าเราฝึกหัดสติ เรากั้นได้เลย อารมณ์นั้นน่ะ อารมณ์นั้นจะเกิดในใจเราไม่ได้ แล้วเราจะมีความสุข แล้วเราจะไม่ทำลายคนรอบข้างด้วย เราจะไม่ทำลายใครเลย นี่ด้วยสติตัวเดียว ฝ่ามือมันสามารถกั้นคลื่นในทะเลได้ นี่ถ้าเราฝึกหัด ถ้าเราฝึกหัดตามความเป็นจริง ถ้าความเป็นจริงมันเกิดขึ้นมาที่นี่
ทีนี้เราฝึกหัดขึ้นมา ถ้ามีสติ มหาสติขึ้นมา มันจะต่อกรกับกิเลสของเรา กิเลสก็คือความเคยใจ ความเคยใจก็คือนิสัย นิสัยใจคอของคน นิสัยใจคอของคนเคยคิดอย่างไร เคยทำอย่างไร มันก็ทำอย่างนั้นตลอดไป แต่ถ้าเราฝืน ฝึกหัดคนให้เป็นคนดี ถ้าฝึกหัดให้เป็นคนดี แต่เราฝึกหัดใจให้มันปล่อยวางเลย ถ้าฝึกหัดให้ปล่อยวาง เราจะฝึกสมาธิ เราจะทำสมาธิ
พอทำสมาธิก็เข้ามาตรงนี้แล้ว เข้ามาตรงคำถาม เวลาเขาทำมาแล้ว เขาทำสมาธิ เขาพยายามปฏิบัติมาแล้ว มันถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง
เราจะบอกว่า เล่ห์กลของมันนะ เล่ห์กลของกิเลส ถ้ามันยังไม่ตื่นนอน เราทำอะไรเราก็มีโอกาสทำทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้ามันตื่นนอนขึ้นมานะ ล้มลุกคลุกคลานหมดเลย เราล้มหมดน่ะ เราล้มลุกคลุกคลานหมดน่ะ ฉะนั้น เวลาปฏิบัติมันเป็นแบบนี้
เวลาปฏิบัตินะ เวลาใจของคน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบเหมือนช้างสารที่ตกมัน เวลาช้างที่มันตกมัน มันตกมันเพราะอะไรล่ะ เพราะกามราคะครอบงำหัวใจของเขา เขาฟาดงวงฟาดงา เขาจะเอาแต่ใจของเขา
จิตใจของเรามันเหมือนช้างสารที่ตกมัน เราเอาไว้ในอำนาจของเราไม่ได้หรอก เราคิดดีๆ กับมันไม่รู้เรื่องหรอก เพราะอะไร เพราะขาดการฝึกฝน เห็นไหม ถ้ามันขาดการฝึกฝน เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราจะฝึกฝนใจของเรา
ทำไมต้องฝึกฝนล่ะ ทำไมต้องฝึกฝน เป็นคนก็คนดีอยู่แล้ว เรามีการศึกษาอยู่แล้ว เรามีปัญญาอยู่แล้ว
ปัญญาอย่างนี้มันเป็นวิชาชีพ ปัญญาทางโลก ปัญญาทางโลกศึกษาไว้เพื่อประกอบสัมมาอาชีวะ ประกอบสัมมาอาชีวะ จิตใจสูงส่ง วิชานั้นจะเป็นประโยชน์ ประโยชน์ทั้งตัวเราด้วย ประโยชน์กับสังคมด้วย ประโยชน์กับทุกๆ อย่างด้วย ถ้าปัญญาอันนั้น เราเป็นคนพาล กิเลสมันเป็นพาลชน กิเลสมันอยู่ในหัวใจของเรา มันเป็นพาลชน เวลาไปทำสิ่งใดที่มันทำไปมันทำลายตัวเองทั้งนั้นน่ะ เพราะอะไร เพราะตัวเองเป็นคนกระทำ ถ้าตัวเองเป็นคนกระทำ เราทำไป ผลตอบเราไง กุศลมันจะสร้างสมให้เรามีอำนาจวาสนาบารมี อกุศลมันจะตัดทอนเรา
ถ้าพาลชน ปัญญาที่เราศึกษาว่าเรามีปัญญาๆ ปัญญานี้เป็นวิชาชีพ ปัญญานี้เป็นโลกียปัญญา ปัญญาของโลก โลกคืออะไร คือเกิดจากสมอง จากธาตุรู้ของเรา ธาตุรู้ของเรามันมีอวิชชาอยู่ไง
แต่เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติ เราจะฝึกหัดศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเราฝึกหัดศีล สมาธิ ปัญญา มันถึงจะต้องปฏิบัติตามความเป็นจริง ถ้าตามความเป็นจริง
ปฏิบัติทางโลก อย่างที่เขาปฏิบัติกัน ทางโลกที่เขาปฏิบัติกัน ปฏิบัติพอเป็นพิธี ปฏิบัติพอเป็นพิธี ถ้าคนเรามีศีลมีธรรม คนนั้นเป็นคนที่น่าเชื่อถือ เราก็พยายามจะบอกว่าเรามีศีลมีธรรม เราเป็นนักปฏิบัติ ถ้านักปฏิบัติ เขาไม่ดูที่รูปลักษณ์ภายนอก เขาจะดูที่การเคลื่อนไหว ดูที่สติปัญญา ถ้าดูที่สติปัญญา ฉะนั้น ถ้าเราปฏิบัติพอเป็นพิธี กิเลสมันยิ้มเลย ทำอะไรก็ได้ สะดวกสบายไปหมด
แต่ถ้าเราจะเอาความจริง เราเอาความจริงนะ มันจะต้อง ถ้าพูดถึงศีล สมาธิ ปัญญา ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ถ้าจิตมันสงบมันต้องสงบจริงๆ ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา เพราะจิตมันสงบมันมีพลังงาน ดูสิ ที่ว่าเขามีอภิญญาๆ จิตสงบแล้ว ถ้าจิตมันสงบ มันรู้ถึงความคิดเราได้ รู้ถึงความคิดคนอื่นได้ รู้ถึงความรู้สึกนึกคิดของคนอื่นได้ อภิญญามันจะเกิดไง ถ้าจิตสงบนี่อภิญญาเกิด
อภิญญาเกิดนี่เป็นเรื่องโลกๆ มันเหมือนกับวิชาชีพเรานี่แหละ วิชาชีพถ้าเราศึกษามามันมีวิชาชีพใช่ไหม เรามีปัญญา ปัญญาเพื่อสัมมาอาชีวะ จิตมันสงบแล้ว พลังงานของจิต พลังงานก็คือพลังงาน
พลังงานก็คือพลังงาน แต่ถ้าเราจะฝึกหัดแล้ว เราจะยกขึ้นสู่วิปัสสนา พลังงานนั้นจะเกิดภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดที่ว่าเป็นโลกุตตรธรรม โลกุตตรปัญญา
โลกียปัญญาคือปัญญาทางโลก ปัญญาเกิดจากอวิชชา ปัญญาเกิดจากความไม่รู้ ความไม่รู้มันเกิดปัญญาได้อย่างไร ก็ปัญญาที่เอ็งศึกษามา เอ็งเล่าเรียนมา เอ็งสัญญามา เอ็งจำของเขามา เอ็งวิเคราะห์วิจัยตามเรื่องของเอ็งไง นั่นน่ะโลกียปัญญา
ถ้าโลกุตตรปัญญาล่ะ โลกุตตรปัญญา ถ้าจิตสงบแล้ว ถ้ามันยกขึ้นสู่วิปัสสนา วิปัสสนารู้แจ้งแทงตลอด รู้แจ้งในหัวใจของตัว รู้แจ้งมันที่เกิดที่ตายไง รู้แจ้งที่เกิด อารมณ์เกิดอย่างไร ตั้งอยู่อย่างไร แล้วดับไปอย่างไร มันรู้มันเห็นของมัน แล้วมันเห็นโทษของมัน เวลามันปล่อยวาง ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ความคิดไม่ใช่เราไง สัญญา สังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่ง ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา
เออ! ไม่ใช่เรา มันเกิดจากไหนล่ะ มันเกิดอย่างไรล่ะ
ถ้ามันเกิดโลกุตตรธรรมมันก็จะเห็น เห็นไหม ถ้าเห็นธรรมอย่างนั้น นี่พูดถึงว่าถ้าปฏิบัติ เราจะปฏิบัติตามความเป็นจริง มันต้องรู้เท่าทันเล่ห์กลของมันไง
แต่ถ้าเราปฏิบัติตามมัน เดินตามเล่ห์กลของมัน ปฏิบัติไปแล้วล้มลุกคลุกคลานอย่างนี้ ถ้าล้มลุกคลุกคลาน มันถึงต้องตั้งใจ
เล่ห์กลของกิเลสนะ ไม่ใช่ว่าเราทำดีแล้วนะ กิเลสมันจะหมอบราบคาบแก้วให้เราทำความดี ไม่มีทาง กิเลสมันร้ายนัก เวลาปฏิบัติ คนที่ทุกข์ที่ยากกันอยู่นี่เพราะกิเลสมันเข้ามาสอด กิเลสของเราน่ะ แล้วกิเลสของคน จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน คนเราเคยย้ำคิดย้ำทำอย่างไรจะคิดแบบนั้น คนเราเกิดตายในวัฏฏะอย่างไร ทำความดีความชั่วมา มันจะส่งผลให้เป็นบารมีธรรมในใจ
ถ้าคนมีบารมีธรรมในใจขึ้นมา คิดแต่เรื่องดีๆ ทำแต่เรื่องดีๆ ดีๆ เพราะอะไร ดีเพราะว่าเขามีเป้าหมายที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ แต่ถ้าเป็นพาลชน มันก็ทำมาอย่างนั้นมาตลอดไง ถ้าทำมาอย่างนั้นมันเป็นจริต พอมันเป็นจริตขึ้นมา ใครจะมาภาวนาก็ต้องเข้าเผชิญกับจริตของตัว เข้าไปเผชิญกับการกระทำของตัวที่ทำมา ใครทำสิ่งใดมา เราต้องชนะตัวเราเอง เราชนะตัวเราเอง ถึงควบคุมใจของเราได้ ถ้าควบคุมใจของเราได้ นี่เราทำสมาธิ สมาธิจะเป็นแบบนี้
ฉะนั้น จะเข้ามาคำถามแล้ว อารัมภบทมาตั้งเยอะเลย เราจะอารัมภบทให้เห็นว่า การปฏิบัติแล้ว ไม่ใช่กิเลสมันจะยอมจำนน ไม่ใช่ว่าเราแค่มีรูปแบบ ทำแล้วเราจะประสบความสำเร็จ เราแค่มีรูปแบบเฉยๆ เรายังไม่มีอะไรเป็นข้อเท็จจริงเลย
ทีนี้พอข้อเท็จจริง พอเรามีรูปแบบแล้ว วิธีการ รูปแบบที่ให้ทำ ท่านั่ง นั่งสมาธิ ท่าเดินจงกรม นี่รูปแบบ แต่เวลาเขาภาวนา เขาภาวนาเอาหัวใจ เพราะหัวใจมันสำคัญ
ปฏิสนธิจิตเกิดในไข่ เกิดในน้ำครำ เกิดในโอปปาติกะ เกิดในครรภ์ กำเนิด ๔ จิตนี้มันกำเนิด ๔ มันต้องเวียนว่ายตายเกิดของมันอยู่อย่างนั้นเพราะมันมีแรงกรรม มันมีบาปกรรม มันถึงมีแรงขับไป แล้วเวลามันเกิดมาแล้ว มันเกิดมา เกิดมาเป็นเรา แล้วเรามีการศึกษา เรามีความเข้าใจ เรามีอำนาจวาสนาบารมี เราถึงจะทวนกระแสกลับเข้าไปดูใจของเรา
เกิดที่ไหนต้องดับที่นั่น ปฏิสนธิจิต ในครรภ์ ในไข่ ในน้ำครำ ในโอปปาติกะ มันเกิดที่ไหน ต้องดับที่นั่น ถ้าดับที่นั่นแล้วมันถึงเป็นประโยชน์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงสอนให้ทำสมาธิ คือเข้าไปสู่จิตเดิมแท้ของตัว เข้าไปสู่สัมมาสมาธิ
ทีนี้ถ้ามันเข้าสมาธิ นี้เข้าคำถามว่า “กระผมปฏิบัติมามีการง่วงเหงาหาวนอน ปฏิบัติมาแล้วมันได้อย่างเดียวคือได้นิสัย ได้นิสัยว่าต้องนั่งภาวนาทุกวัน เวลาตี ๔ ตี ๕ ก็ขึ้นมานั่งสมาธิเป็นปกติของเรา”
เวลาทำงาน เราทำงานขึ้นมาเพื่อประสบความสำเร็จในชีวิต ถ้าประสบความสำเร็จในชีวิต เรามีทรัพย์สินเงินทอง เวลาถ้าเราเป็นคน เวลานั่งสมาธิขึ้นมา จิตใจมันมีประสบการณ์ มันเป็นประสบการณ์ของใจดวงนั้น อัตตสมบัติของใจ ถ้าใครปฏิบัติได้มากได้น้อย มันจะมีประสบการณ์ของมัน
ถ้าปฏิบัติพอเป็นพิธี นั่นคือเอาพิธีการปฏิบัติมาวิเคราะห์วิจัยกัน นั่งสมาธิทำอย่างนั้น เดินจงกรมทำอย่างนั้น แต่ไม่พูดถึงหัวใจเลยนะ ไม่พูดถึงว่าผลของสมาธิเป็นอย่างไรเลย ไม่ได้พูดถึงเลยว่าใจนี้มันได้รับผลอะไรเลย ไม่พูดถึงตรงนี้เลย พูดถึงแต่วิธีการ แต่ถ้าพูดถึงผลของมันล่ะ เพราะปฏิบัติไม่เป็น มันถึงไม่มีผลไง ถ้าไม่มีผล เห็นไหม
นี่ไง เวลาปฏิบัติ ผมปฏิบัติแล้ว นั่งปฏิบัติแล้วมันมีวูบสั้นและวูบยาวๆ ถ้าวูบยาวๆ เป็นชั่วโมงๆ
ยังดีนะ ยังดีที่ว่าเราเป็นสุภาพบุรุษ ถ้ามันวูบ วูบสั้นๆ วูบยาวๆ เราก็รู้ว่าใจมันลงภวังค์ แต่ถ้าเราเอาสีข้างเข้าถูนะ เราเป็นคนที่คิดว่าความลับมีในโลกไง เราก็จะบอกว่าเราเป็นสมาธิ แล้วสมาธิคืออะไร สมาธิเป็นอย่างไรล่ะ สมาธิคือมันวูบหายไปไง ใครรู้อย่างไรมันก็พูดอย่างนั้นน่ะ พูดจากความรู้ของตัว ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บ ถ้าคนที่มีวุฒิภาวะอ่อนแอเขาฟังแล้วเขาก็เชื่อ
แต่ครูบาอาจารย์ของเรา วูบนั่นคือการตกภวังค์ วูบนี่คือสมาธิหัวตอ แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ มันจะเด่นชัดตลอด ชัดเจนตลอดนะ จากหยาบ จากละเอียด ละเอียดสุด ชัดเจนมาก แล้วละเอียดสุด คิดดูสิ พอมันปล่อยหมด มันจะว่างหมด มันจะเวิ้งว้างหมด
ที่โยม ถ้าเราอยู่ทางโลกกัน เราหาความสุข ความสุขเพื่ออะไรล่ะ ความสุขให้เราพอใจคือมีความสุข เสพสิ่งใดแล้วพอใจนั่นคือความสุข แล้วเวลาจิตมันวางหมดทุกอย่างเลย แล้วมันเป็นอิสรภาพเลย มันมีความสุขในตัวมันเองที่ไม่ต้องกระทบสิ่งใดเลย นี่อัตตสมบัติ แล้วถ้ามันเป็นอย่างนี้มันเป็นอย่างไร ถ้าเป็นอย่างนี้ นี่แค่สัมมาสมาธินะ ถ้าแค่สัมมาสมาธิ มันเป็นประโยชน์
เราบอกว่า สิ่งที่ปฏิบัติที่เราล้มลุกคลุกคลานกันอยู่ เราจะบอกว่ามันเป็นเล่ห์กลของกิเลสของเรา ไม่ใช่มีใครทำร้ายเรา ไม่มีใครกลั่นแกล้งเรา อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนเท่านั้นเป็นคนที่ตั้งสติ ตนเท่านั้นเป็นผู้กำหนดลมหายใจ ตนเท่านั้นเป็นผู้กำหนดพุทโธ ตนเท่านั้นเป็นผู้กระทำ เห็นไหม ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
ฉะนั้น เวลาปฏิบัติ เราต่อสู้กับตัวตนของเรา ทวนกระแสกลับเข้าไปสู่ในใจของเราเพื่อเข้าไปสู่สัมมาสมาธิ ฉะนั้น ไม่มีใครกลั่นแกล้งเราหรอก ไม่มีใครเขามาทำให้เราผิดพลาดหรอก เราเองเท่านั้น เราเองเท่านั้น
เว้นไว้แต่ไปอยู่ในสังคมไหนแล้วมันกระทบกระเทือน รูป รส กลิ่น เสียงภายนอกนั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเราอยู่ของเราคนเดียว เราปฏิบัติของเราคนเดียว สิ่งที่จะมีปัญหาก็เล่ห์กลของกิเลสของเรา ฉะนั้น พอเล่ห์กลของกิเลสของเรา เราศึกษาเรื่องกิเลสแล้ววางไว้ อย่างเช่นกิเลส หลานของมัน ลูกของมัน พ่อแม่ของมัน กิเลสยังไม่เกิดเลย ไปศึกษากิเลสก็อยากจะเจอหน้ากิเลส ให้กิเลสให้มันมาเผชิญหน้าเรา
ทำไมต้องให้มันมา เราทำความสงบของใจให้เราเข้มแข็งขึ้นมาก่อน ให้จิตเรามีกำลังขึ้นมาก่อน พอจิตมีกำลังแล้วเราค่อยไปค้นคว้าหามัน ถ้าค้นคว้าหามัน ไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง นั่นน่ะวิปัสสนาจะเกิดตรงนั้น สติปัฏฐาน ๔ ไง
ในการฝึกฝน ในการปฏิบัติในแนวทางสติปัฏฐาน ๔ แล้วเขาบอกว่า “กาย เวทนา จิต ธรรม ก็ไปคิดเอา นึกภาพกายขึ้นมา ไปคิดเอา เวทนาก็รับรู้เอา” นี่มันเป็นสมมุติ เรานึกภาพ มันเป็นเป้าลวง มันเป็นการสร้างภาพ มันไม่เป็นความจริง
แต่ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา ใจมันสงบรำพึงไปเห็นกาย ถ้าเห็นจริงๆ เห็นจริงๆ ก็เหมือนกับเราประสบเอง เรารู้เอง เรากระทบกระเทือนเอง เราเจ็บช้ำเอง มันสะเทือนใจมาก กับฟังเขาเล่าว่า ศึกษาธรรมะแล้วเป็นอย่างนั้นๆ แล้วคิดเอง นี่สร้างภาพ
ฉะนั้น คนสร้างภาพ ถ้าคนไม่รู้ทัน คนสร้างภาพนั้นน่าเชื่อถือนะ คนสร้างภาพ เพราะการสร้างภาพ ทุกคนเข้าใจได้ แต่ถ้าเป็นความจริง กลับเข้าใจไม่ได้นะ เป็นความจริง เออ! มันเป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็นความจริง ครูบาอาจารย์ที่เป็นความจริงด้วยกันเขารู้
ฉะนั้น เวลาปฏิบัติ ปฏิบัติตามความเป็นจริง ถ้าปฏิบัติตามความเป็นจริงนะ ต้องให้เป็นปัจจัตตัง ให้มันสำรอกให้มันคายในใจของเราให้ได้ มันจะเป็นประโยชน์กับใจของเราดวงนี้
ฉะนั้น เขาบอกว่าถ้าเขาวูบสั้นวูบยาว
นั่นมันจะตกภวังค์ ก็ต้องแก้ไขไป แก้ไขของเราไปนะ
ฉะนั้นบอกว่า ที่เขาทำ แก้ไขก็ตั้งสติดีๆ ตั้งสติกำหนด หาอุบายเพื่อจะเอาชนะให้ได้ เขาบอกว่า เขาก็เลยมาใช้คำบริกรรมยาวๆ
ใช้คำบริกรรมยาวๆ ก็ได้ ลุกเดินจงกรมก็ได้ แล้วถ้าเราเปลี่ยน เราเปลี่ยนเป็นระลึกถึงความตาย ระลึกถึงความตาย
ระลึกถึงความตายนี้ไม่ใช่ว่าแช่งตัวเองนะ ระลึกถึงความตาย เราระลึกถึงความตายว่าชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด มันจะไม่เห่อเหิม ที่มันเห่อเหิมอยู่นี่เพราะมันไม่มีวันตายไง มันเห่อเหิม มันคิดว่ามันจะได้สมความปรารถนาทุกเรื่องไง พอมันบอกว่าคิดถึงความตาย เราต้องตาย พอต้องตาย เราก็จะใช้เท่าที่จำเป็น เราก็จะหาเท่าที่จำเป็น
ฉะนั้น สิ่งที่จำเป็นนี้มันเป็นหน้าที่ สิ่งที่จำเป็นมันเป็นสัจจะมันเป็นความจริงที่คนเกิดมาต้องมีสัมมาอาชีวะ คนเกิดมาต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัยตามความเป็นจริง แต่ถ้ามันกว้านมา กว้านมาสะสม กว้านมาจนขัดแย้งกับข้อเท็จจริง นั่นน่ะคือกิเลส
ระลึกถึงความตาย ระลึกต่างๆ แก้ไขไป นี่พูดถึงข้อที่ ๑.
“๒. มีครั้งหนึ่งกระผมนั่งบริกรรมพุทโธๆ อยู่ จู่ๆ ก็มีความรู้สึกว่าคำบริกรรมนั้นเด่นชัดขึ้นมาหนึ่งเดียว ในความรับรู้ของผมไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นมาเลย มีแต่ความรู้สึกว่าโลกนี้มีแต่ตัวผม”
เวลาถ้ามันเป็น มันเป็นอย่างนั้น แต่มันเป็นได้แค่ ๕ วินาทีเท่านั้น อย่างนี้มันใช่ขณิกสมาธิหรือไม่ ถ้าบอกว่าใช่ก็ได้ ถ้าบอกว่าใช่ ขณิกสมาธิคือเข้าเป็นสมาธิชั่วแว็บ ทีนี้คำว่า “ขณิกสมาธิ” คือว่ามันเป็นสมาธิ คือว่ามันตั้งมั่นแล้วมันไม่คิดแส่ส่ายก็เป็นสมาธิแล้ว ถ้าว่าเป็นสมาธิแล้วนะ พอเป็นสมาธิแล้ว จิตใจพอมันสงบเป็นสมาธิ เราฝึกหัดใช้ปัญญาได้แล้วแหละ
คำว่า “ใช้ปัญญาๆ” เมื่อก่อนเราโต้แย้งไว้ บอกว่า ถ้าไม่มีสมาธิ มันใช้ปัญญาไม่ได้ ถ้าใช้ปัญญาแล้วมันเป็นโลกียปัญญา
แต่คำถามเขาก็บอกเองว่า บางทีเขาก็ใช้บริกรรมพุทโธ บางทีเขาใช้ปัญญาอบรมสมาธิ
ปัญญาคือปัญญาอบรมสมาธิ เราทำสมาธิ เราทำความสงบของใจ นี่เราทำสมาธิ แต่เราบอกว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนสมาธิ พระพุทธเจ้าไม่สอนสมาธิหรอก แต่เป็นพื้นฐาน
พระอัญญาโกณฑัญญะอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ๕ ปี เขาทำสมาธิของเขา จิตใจเขามั่นคง สมาธิคือความมั่นคงของใจ สมาธิคือไม่แส่ส่าย สมาธิคือจิตใจของเราไม่วอกแวกวอแว นี่เป็นสมาธิ แต่สมาธิสั้น สมาธิยาว มันมีพื้นฐาน เพราะฆราวาสเราศีล ๕ ศีล ๕ เราประพฤติปฏิบัติขึ้นไปแล้วเราเป็นพระโสดาบันได้ เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามีได้ ถึงที่สุดแห่งทุกข์เป็นพระอรหันต์ก็ได้ ถ้าเรามีศีล ๕ เพราะศีล ศีล ๕ เป็นพื้นฐาน ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗
ฉะนั้น เราทำเพื่อความสงบของใจให้มีกำลังไง พระพุทธเจ้าสอนเรื่องอริยสัจ เรื่องสัจจะ เรื่องความจริง แต่ต้องมีหัวใจที่เป็นความจริง หัวใจที่ไม่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยากครอบงำไง
ไอ้นี่เราบอกว่าเรามีสมบูรณ์ทุกอย่าง เราเข้าข้างตัวเองหมดน่ะ แต่มันไม่เป็นข้อเท็จจริงไง
แต่ถ้าจิตเป็นสมาธิ จิตมีกำลัง จิตสงบแล้ว พอสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญาได้ ปัญญาอย่างนี้คือปัญญามาแยกแยะ ปัญญามาแยกแยะคิดพิจารณาดูของเราไง ถ้าพิจารณาไปแล้ว ถ้ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิก็มั่นคงขึ้น ถ้ามันมั่นคงขึ้น พอทำบ่อยครั้งเข้า เพราะกายนอก กายใน พอพิจารณาจับกายบ่อยๆ ครั้งเข้ามันไปสู่กายใน พอกายใน มันจะสะเทือนหัวใจมาก ถ้ามันสะเทือนหัวใจ พอสะเทือนหัวใจ ถ้าเราพิจารณาไป มันวางสักกายทิฏฐิ ทิฏฐิยึดมั่นว่าสิ่งนั้นเป็นตัวเป็นตนของเรา เราถึงไม่พัฒนา เราถึงไม่สูงขึ้นไง
แต่ถ้าเรามีปัญญาเห็นตามความเป็นจริง มันก็เป็นเราอยู่นี่แหละ เราเกิดมามันเป็นผลของวัฏฏะ มันเป็นผลของเรานี่แหละ เราเกิดเป็นมนุษย์นี่แหละ มันเป็นของเราแน่ๆ อยู่แล้วแหละ แต่มันเป็นของเราแค่ชีวิตนี้ แล้วชีวิตนี้เราต้องเดินหน้าต่อไป คือถ้าจิตมันหมดโอกาส หมดวาระ จิตนี้มันออกไป จิตมันมีอะไรเป็นสมบัติไปต่อหน้า แต่ถ้ามันเข้าใจตรงนี้แล้ว มันวางตั้งแต่ตรงนี้ไง ถ้าเป็นโสดาบัน มันก็ไม่ยึดว่ากายเป็นของเราแล้ว แต่อาศัยกันอยู่ แล้วดูแลรักษาด้วย แต่ไม่ใช่ว่าไม่ใช่ของเราแล้วเราก็จะทำลายเลย...ไม่ใช่ มันทำลายกันด้วยนามธรรม ทำลายด้วยความทิฏฐิ ความยึดมั่น ทำลายสังโยชน์ ทำลายที่ว่าเราเป็นทุกข์ๆ ทำลายที่เป็นปมในใจ พอมันทำลายแล้ว ในใจมันยิ่งสว่างไสว มันยิ่งพอใจ
นี่พูดถึงว่ามันใช้ปัญญาได้ พูดถึงว่าถ้ามันจะฝึกหัดใช้ปัญญาไง
ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันเป็นแค่ ๕ วินาที แล้วสิ่งนี้มันเป็นขณิกสมาธิใช่หรือไม่
ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ คนถ้าปฏิบัติไปแล้วมันจะมีความชำนาญนะ เวลาเข้าขณิกสมาธินี่สงบชั่วคราว แล้วก็ออกมา แล้วก็กำหนดพุทโธต่อเนื่องไป มันก็เข้าสู่ขณิกสมาธิ แล้วถ้ามีสมาธิต่อเนื่องไปมันก็เป็นอุปจารสมาธิ แล้วถ้าเราต่อเนื่องไปมันเป็นอัปปนา
สมาธิก็เป็นสมาธิ สมาธิเป็นที่พัก ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ถ้าใครทำสมาธิได้ เหมือนคนไร้บ้านเขาจะต้องอาศัยอยู่อาศัยกินตามชายคาบ้านคนอื่น ตามที่พักแรม ถ้าคนไม่มีบ้าน แต่ถ้าใครมีบ้าน เราเวลาเดินทาง เราก็ไปพักที่ไหนก็ได้ แต่เรากลับบ้านเราก็มีความร่มเย็นเป็นสุขของเรา จิตที่มีสมาธิคือมันฝึกหัดจนเป็นสมาธิขึ้นมา มันมีที่พัก จิตมันมีที่พักนะ
เวลาที่อื่นเดือดร้อนนัก เรากลับบ้านเรา เวลาที่ไหนมันมีความเดือดร้อนนัก เราก็กลับบ้านเรา ที่ไหนมันมีความตึงเครียด เราก็กลับมาสมาธิไง กลับมาบ้านเรามีความสุข กลับมาบ้านเรานี่สบาย ถ้าออกไปข้างนอกแล้วมันมีแต่ความเร่าร้อน
ถ้าใครฝึกหัดสมาธิได้ มันอยู่ที่ไหนล่ะ มันอยู่ที่กลางหัวใจ เพราะใจมันทำเอง ใจมันมีเหตุมีผล มันก็มีที่พักไง แต่ถ้าคนยังทำไม่ได้ เหมือนคนไร้บ้าน คนยังทำไม่ได้มันก็ไม่มีใช่ไหม มันก็เร่ร่อน สมาธิเป็นอย่างไร แล้วตรงไหนเป็นสมาธิ แล้วตรงไหนเป็นที่เข้าเป็นที่ออก เห็นไหม ถ้าคนทำสมาธิเป็น ถ้าเขาชำนาญในวสี ชำนาญในการเข้าและการออก
การเข้าคืออะไร การเข้าคือตั้งสติไว้แล้วพุทโธๆ มันจะละเอียดเข้ามา มันทางเข้า เข้ามาแล้ว เรารู้ตลอดเวลาเลย แต่ถ้าเวลามันฟุ้งซ่าน เวลาพุทโธๆ มันต่อต้าน มันมีอะไรมันต่อต้าน มันยิ่งเครียด ตึงเครียดไปหมดเลย อันนั้นไม่ใช่ทางเข้าบ้าน อันนั้นทางแห่งไฟ ถ้าทางแห่งไฟ เราจะสงบระงับได้อย่างไรล่ะ
ถ้ามันชำนาญในวสีมันรู้จักฝึกหัดอย่างนี้ มันหลบหลีกได้ มันทำของมันได้ ถ้ามันทำของมันได้ มันก็เข้าพักของเราได้ นี่แค่สมาธินะ แล้วถ้าเกิดปัญญาขึ้นมาล่ะ
ฉะนั้น สิ่งที่เขาถามว่า อันนี้เป็นขณิกสมาธิหรือไม่ การทำของเขาถูกต้องหรือไม่
เพียงแต่ว่าถามปัญหามาไง ให้เราตอบปัญหา ตอบปัญหาถึงฝ่ายการปฏิบัตินะ เราถึงตอบปัญหา แล้วเราจะบอกว่า ปัญหานี้ถ้าเราไปยึดว่าเป็นปัญหา มันก็จะเป็นปัญหาตลอดไป แต่ถ้าเราวาง ไม่ใช่ปัญหา มันไม่ใช่ปัญหาหรอก
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก เราหายใจอยู่นี่เป็นปัญหาไหม ไม่เป็นหรอก มันเป็นธรรมชาติ คนเราต้องหายใจเข้าและหายใจออก แต่ถ้าคนเราไม่มีสติปัญญา ไม่มีสติปัญญานะ มันก็หายใจเข้าหายใจออกเพื่อฟอกเข้าปอด ฟอกเลือดไง เพื่อออกซิเจนเลี้ยงสมองไง มันก็เรื่องธรรมดา มันได้ประโยชน์กับร่างกายนี้ ถ้าร่างกายได้อากาศที่สะอาดบริสุทธิ์ ร่างกายก็สดชื่น
แต่ถ้าคนมีสติปัญญานะ เรามีความรู้สึกใช่ไหม เรามีจิตใช่ไหม จิตกำหนด กำหนดลมหายใจ มันก็เป็นอานาปานสติ ถ้าจิตกำหนดพุทโธ มันก็เป็นพุทธานุสติ ทั้งๆ ที่มันใช้อยู่ ของนี้มันใช้อยู่ ของนี้มันเป็นพื้นฐาน มันเป็นสิ่งที่มีชีวิต เขาก็เป็นอยู่อย่างนี้ เพียงแต่ว่าเรา จิตใจของเรา เราไม่เห็นความสำคัญของมันไง เราไม่รู้จักว่าสิ่งที่มีคุณค่า สิ่งที่มีความสำคัญอยู่กับตัวเรา เรามองไม่เห็น แต่เราไปรู้อะไรก็ไม่รู้ เราไปหาที่พึ่งที่อื่น
แต่ลมหายใจ ลมหายใจทางการแพทย์ก็บอกแล้ว ลมหายใจ ออกซิเจนมีประโยชน์กับร่างกาย แล้วต้องมีด้วย ไม่มี ชีวิตนี้อยู่ไม่ได้ นี่มันเป็นเรื่องธรรมดา มันเป็นเรื่องผลของวัฏฏะไง เรื่องสามัญสำนึกของมนุษย์ เรื่องสถานะของมนุษย์ต้องเป็นอย่างนี้ แต่เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นภัยในวัฏสงสาร เห็นภัยว่าชีวิตนี้มันจะมีคุณค่าขึ้นมา เพราะในการค้นคว้า ค้นคว้าตัวเอง ค้นคว้าแยกแยะเพื่อประโยชน์กับหัวใจ
งานทางโลกงานเพื่อดำรงชีวิต งานเพื่อชาติ เพื่อตระกูล แต่ถ้างานของหัวใจเป็นงานทางธรรม ทางธรรม ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก เป็นดวงใจดวงนั้น ถ้าดวงใจดวงนั้นเห็นแล้วนะ ดวงใจดวงนั้นผ่องแผ้ว เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมานี่สุดยอดๆๆ สุดยอดเพราะอะไร เพราะบอกได้หมด แนะนำได้หมด ทุกคนได้หมด ธรรมโอสถ คนเจ็บไข้ได้ป่วยต้องการยา ธรรมโอสถมันสามารถเพื่อประโยชน์กับสังคมได้หมดเลย
แล้วพอเราศึกษาแล้ว อันนั้นมันเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะเป็นธรรมชาติ มันเป็นสาธารณะ เป็นสาธารณะ มันเป็นสมบัติสาธารณะ ชาวพุทธทุกคนมีสิทธิได้ใช้ได้สอย แต่ไม่ใช่สมบัติของตน เราถึงต้องมาปฏิบัติกันอยู่นี่ไง ถ้าเรามาปฏิบัติอยู่นี่ เราจะเอาเป็นสมบัติของเรา
สาธุ! ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว สาธุ! สุดยอด ครูบาอาจารย์ที่ท่านนิพพานไปแล้ว สุดยอดก็เป็นของท่าน แต่ของเรายังทุกข์ยังยากอยู่นี่ ของเรากำลังเริ่มต้นอยู่นี่
เราจะหาให้ได้ เราจะทำให้ได้ ถ้าทำให้ได้ขึ้นมา เราทำความเป็นจริง พอทำให้ได้ปั๊บ ถ้าไม่ทำนะ “นี่เป็นสาธารณะ เรารู้หมด เราจะช่วยเหลือเจือจานคนอื่นได้หมดเลย แหม! จิตใจนี้มีคุณธรรมมาก” กิเลสมันยังไม่ได้เข้าไปต่อสู้กับมัน กิเลสมันก็เลยหลบซ่อนให้เราได้ชื่นชมกับธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แต่ถ้าวันไหนเราระลึกได้ เราจะต้องกวาดบ้านเราให้สะอาดก่อน เราจะต้องเข้ามาดูใจเราก่อน วันนั้นเรามาปฏิบัติ เล่ห์กลของมันจะออกทันทีเลยล่ะ “เราเป็นคนอำนาจวาสนาน้อย เราเกิดมาแต่ทำบุญกุศลช่วยเหลือประชาชนนั่นก็สุดยอดแล้ว เราจะเอาอะไรอีก” เห็นไหม มันผลักไว้ไกลๆ มันไม่ให้เข้าไปหาตัวมันหรอก มันผลักไว้หมดล่ะ แล้วถ้าเข้าไปภาวนาก็เจออุปสรรคอย่างที่เป็นอยู่นี่
ถ้าเข้าไปภาวนาแล้ว ถ้าเราไม่ละเอียดรอบคอบพอ มันก็ตกภวังค์ไปซะ ทั้งๆ ที่มีคำบริกรรมเหมือนกัน ทั้งๆ ที่ตั้งใจปฏิบัติเหมือนกัน ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติท่านก็เจออุปสรรคอย่างนี้มาเหมือนกัน แล้วต้องแก้ไขมาเหมือนกัน
คนเรานะ จะสร้างบ้านสร้างเรือนมันต้องปรับพื้นที่ มันต้องมีที่มีทางของเราเองก่อน เราต้องปรับพื้นที่เพื่อประโยชน์ในการสร้างบ้านสร้างเรือน แล้วการก่อสร้างขึ้นมา สิ่งใดบ้างที่มันไม่มีอุปสรรคกีดขวางในการกระทำ...มีทั้งนั้น แล้วนี่เราสร้างหัวใจ อัตตสมบัติในใจ ทำแล้วไม่มีอุปสรรค ไม่มีหรอก
ขิปปาภิญญาที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย อันนั้นเขาสร้างมาเยอะ เขาทำของเขามามหาศาลเขาถึงได้เป็นอย่างนั้น ไปศึกษาประวัติพระสีวลีสิ ตั้งแต่ภพชาติใดก็แล้วแต่ เกิดมา ที่ไหนเขามีทำบุญกุศลนะ จะไปเชิญพระสีวลีเป็นหัวหน้า คำว่า “เป็นหัวหน้า” ก็ต้องออกมากที่สุดใช่ไหม คำว่า “เป็นหัวหน้า” ก็ต้องจัดการทั้งหมดใช่ไหม ทำมาอย่างนั้นตลอด พอสุดท้ายแล้วนะ เวลามาเป็นเอตทัคคะ เป็นผู้มีลาภมาก พระที่ว่าไม่เคยเป็นโรคภัยไข้เจ็บเลย เขาดูแลคนเจ็บคนป่วยมามหาศาล ไอ้นี่เขาทำมา
ทีนี้ประเพณีของคนจีน ชาวพุทธเหมือนกัน เก็บศพไร้ญาติ เก็บศพไร้ญาติก็ยสะ ยสะฟังพระพุทธเจ้า ๒ หนเป็นพระอรหันต์ ก็ถามว่าทำไมเป็นอย่างนั้นน่ะ
อดีตชาติเขาพาเพื่อนเขาคอยเก็บศพๆ เก็บศพไร้ญาติ
ใครทำบุญกุศลอย่างไรมันมีที่มาที่ไปทั้งหมดน่ะ ไอ้ที่ทำๆ กันอยู่นี่มันมาจากพระไตรปิฎกทั้งนั้นน่ะ นี่ก็เหมือนกัน คนที่เขาขิปปาภิญญา เขาทำของเขามา ไอ้เราทำมาแค่นี้ ทำมาแค่ที่มีสมอง แค่คิดได้ แค่คิดได้ว่าอยากจะทำดี แล้วแค่คิดได้ว่าจะประพฤติปฏิบัติ ฉะนั้น ตั้งสติ
สิ่งที่เราทำมา มันเหมือนนักกีฬา เราได้ขึ้นเวทีแล้วล่ะ ถ้าขึ้นเวที เราได้ฝึกมามากน้อยแค่ไหน ก็ทักษะเรามีแค่นี้ เราก็จะเผชิญกับกิเลสเต็มที่เลย เราเป็นนักมวยรุ่นนี้ น้ำหนักเท่านี้ มีทักษะเท่านี้
นี่ก็เหมือนกัน เกิดมาเป็นคนไง แล้วตอนนี้เราต้องเป็นนักสู้ สู้กับกิเลสเราแล้ว เรามีทักษะเท่านี้ น้ำหนักเท่านี้ มีโอกาสได้ชกเท่านี้ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราจะต้องไม่มองว่า โอ้โฮ! ทำไมเขาชกเขาได้รางวัลมากกว่า เขาชกเขาได้อะไร อันนั้นเขาชกผ่านเวทีมาเยอะกว่าเรา เขาได้ชนะคู่ต่อสู้มาเยอะแล้วเขาถึงได้ผ่านไปอย่างนั้น ไอ้เรายังไม่ได้ทำสิ่งใด เราต้องตั้งใจของเรา
นี้พูดถึงว่า ไม่ให้น้อยเนื้อต่ำใจ ไม่ให้ไปคิดเปรียบเทียบกับใคร วาสนาของคนเทียบกันไม่ได้ เพราะเขาทำของเขามา เราทำของเราแล้วเราประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าเป็นประโยชน์กับเรานะ
นี่เขาถามเรื่องการภาวนาว่า เริ่มต้นคำบริกรรมยาวๆ ถูกไหม การแก้การวูบหลับสั้นๆ ยาวๆ แล้วเวลาพุทโธจนเป็นเอกเทศ พุทโธจนไม่มีสิ่งใด มีเรากับพุทโธเท่านั้น มันเบา มันมีความรู้สึก
อันนี้มันเป็นรางวัล เป็นรางวัลว่าปฏิบัติไง ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ เวลามันสุขล่ะ เวลาทำสมาธิไป จิตมันลงมันก็มีความสุขอย่างนี้ สุขอย่างนี้หาได้ในหัวใจของเราเอง ไม่ต้องไปหาจากที่อื่น
ครูบาอาจารย์ของเราอยู่โคนต้นไม้ อยู่ที่ไหน ทำไมท่านอยู่มีความสุขล่ะ บวชตั้งแต่เณรนะ บวชตั้งแต่เด็กๆ จนท่านนิพพานไป ท่านต้องมีความสุขของท่าน นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิบัติของเรานะ เราหาความสุขได้ในหัวใจของเรา
สิ่งที่ทางโลกนี้เราอยู่กันโดยทางโลก โดยทางครอบครัว แต่ถ้าในบ้านเรา สิ่งใดก็แล้วแต่ เราพูดกันได้ เราคุยกันได้ ยิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน ความสุขไง ความสุขในบ้านนี้สำคัญมากนะ ถ้าสิ่งใดที่มันกระทบกระเทือนในใจเรา เราเก็บไว้ในใจ ถ้ามันคุยกันได้ก็คุยกันได้ ถ้าคุยกันไม่ได้ กลับบ้าน เราอยากเข้าบ้าน ถ้าบ้านเรามีความสุขมีความสงบ ทุกคนอยากเข้าบ้าน แต่ถ้ามันมีความขัดแย้ง ทุกคนไม่อยากไปบ้าน ไม่อยากกลับบ้าน แล้วไปไหนล่ะ
ฉะนั้น เราดูแลหัวใจของเรา อย่าให้กระทบกระเทือนคนอื่น เรารักษาของเราเพื่อประโยชน์กับเราเนาะ เอวัง