คติโลก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรมวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๘
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “ทัศนคติในการภาวนา”
ผมมีปัญหา ขอความเมตตาหลวงพ่อช่วยชี้แนะการบำเพ็ญภาวนาครับ คือผมใฝ่หาความรู้ทางธรรมมาหลายปีแล้วครับ และมุ่งมั่นขึ้นเรื่อยๆ ใน ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ผมอายุ ๕๘ ปีแล้ว ผมมีแรงบันดาลใจเนื่องจากประมาณปี ๒๕๕๓ ผมคงจะส้มหล่น (สำนวนพระอาจารย์) จึงประหลาดใจ+ตื่นเต้นมาก เร่งอ่าน+เข้าหาแหล่งธรรมะ+มุ่งทำทาน จนปี ๒๕๕๗ ก็ตั้งใจถือศีล ๕ อย่างที่สุด (ไม่กล้าพูดเกิน กลัวผิด) จนตอนนี้ก็ทดลองถือศีล ๘ ในวาระสำคัญ พร้อมปฏิบัติให้มาก ในขณะเดียวกันผมก็จะชวน+คุยเรื่องธรรมะ (ฟุ้งธรรม) ตลอดจนเพื่อนฝูง+คนรอบข้างล้อ
ผมได้เข้าฝึกอานาปานสติ เน้นเวทนามาหลายรอบ ทำให้ได้ตามที่เขาสอนพอสมควร+อ่านพระไตรปิฎก (ไม่ทำงานแล้ว ว่างครับ)
ผมได้ไปค้างคืน ฟังท่านอาจารย์แสดงธรรมที่วัดเมื่อปลายปี ๒๕๕๗ ประทับใจในข้อวัตร+สถานที่ของวัดมากมาย และท่านอาจารย์ก็เมตตาสอน แถมบอกด้วยว่า “มึงทำมาแล้ว กูจะตบให้เข้าที่เอง”
หลวงพ่อ : นี่สำนวนใครไม่รู้
ถาม : ตอนนี้ผม+ภรรยาเร่งปฏิบัติด้วยกัน เวลาเริ่ม จะเปิดเสียงเทศน์ของพระอาจารย์ ไล่มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ทุกวัน พอฟังเทศน์จบก็จะทำความสงบต่ออีก ๑๐ หรือ ๑๕ นาที ผมไม่เดินจงกรม มีปัญหาข้อเท้าไม่ดี อยากจะบอกที่มาก่อนครับ
ขอถาม ผมคิดว่าการบำเพ็ญภาวนาต้องทำความสงบก่อน แล้วค่อยต่อด้วยมีสติรู้ปัจจุบัน เมื่อสงบแล้ว ผมไม่รู้ครับว่าใช้ปัญญาเป็นอย่างไร ผมจะทำกำหนดลม ลมผมไม่เคยขาด ไม่รู้ว่าละเอียดเป็นอย่างไร เรียวแหลมเป็นอย่างไร (ตอนแรกก็จินตนาการเอา ตอนหลังเลิก) รู้แต่ทำแบบที่พระอาจารย์สอนคือบุกอัดสู้กับลม พยายามหาอาการของจิต ผมรู้แต่ว่ามันอึดอัด เหนื่อย เหมือนทำงานขุดบ่อน้ำ ผมคิดเอาว่า สักวันต้องเจอน้ำ การภาวนาที่เป็นอย่างนี้ผิดหรือเปล่าครับ เพราะมีผู้รู้บอกว่า จิตต้องโปร่ง โล่ง สบาย คล่องแคล่ว ควรแก่การงาน
ผมสับสน แต่พอออกจากการทำความสงบ ผมก็รู้สึกดีทุกครั้ง เรื่องปีติผมมีตลอดครับ จนคิดว่าไม่อยากได้ กลัวกิเลสหลอกเอา ผมไม่คาดหวังจะเกิดอะไรขึ้น คิดอย่างเดียว จะเพิ่มศักยภาพให้ตัวเอง คิดถูกหรือคิดผิดครับ
ตอบ : นี่คำถามเนาะ คำถามเขาเก็บเอามาๆ คำถามของเขาคือปรับทัศนคติเพื่อความจริงๆ ปรับทัศนคติเข้าสู่ธรรมไง เห็นไหม เขาบอกว่า เดี๋ยวนี้เป็นคนว่าง ไม่ได้ทำงานแล้ว
ปล่อยจากการงานจะพยายามหาสมบัติส่วนตนนะ ถ้าหาสมบัติส่วนตน เพราะได้ศึกษาธรรมะ พอศึกษาธรรมะขึ้นมามันก็มีแรงบันดาลใจ ถ้ามีแรงบันดาลใจขึ้นมา เขาว่าปรับทัศนคติ ปรับทัศนคติทางโลก
กรณีอย่างนี้มันก็เหมือนกับกรณีหลวงตา เวลากรณีหลวงตานะ ท่านศึกษาธรรมะมาจนเป็นมหา เวลาท่านจะปรับทัศนคติในการปฏิบัติ ท่านบอกถ้ามีใครชี้หนทางให้ได้ จะยึดองค์นั้นเป็นครูบาอาจารย์
เวลาไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า การศึกษามา ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐมากๆ
คำว่า “ประเสริฐมาก” มันไม่มีใครหรอกที่จะไปดูถูกดูแคลน แล้วไม่มีใครหรอกจะไปติฉินนินทาใคร ใครจะไปเสียดสีธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
หลวงปู่มั่นจะบอกว่า “ที่ศึกษามานี่ประเสริฐมากๆ ให้เทิดใส่ศีรษะไว้ คือเคารพบูชาไง แล้วให้เก็บใส่ลิ้นชักในสมองไว้ แล้วให้ลั่นกุญแจไว้ แล้วให้ประพฤติปฏิบัติไป” คำนี้เราจะพูดบ่อยครั้งๆ จะปรับทัศนคตินี่
พอเราปรับทัศนคติ เราศึกษาธรรมะ เราศึกษาๆ เราศึกษาด้วยวิทยาศาสตร์ ศึกษาด้วยกิเลสไง ศึกษาด้วยความรู้ ศึกษาด้วยจินตนาการของเรา ศึกษาด้วยความเห็นของเราไง แล้วเวลามาปฏิบัติ ปฏิบัติมันก็สร้างภาพ
เราจะบอกว่า หลวงปู่มั่นท่านเคยปฏิบัติมา ท่านทุกข์ยากมาก่อน ท่านห่วง ห่วงพวกเรานี่แหละ เวลาพวกเราปฏิบัติหันรีหันขวางกันอยู่นี่ ไปไหนก็หันรีหันขวางๆ แล้วพอปฏิบัติขึ้นไปแล้วมันสร้างภาพ
คำว่า “สร้างภาพ” เราก็ไม่รู้ตัวว่าสร้างภาพนะ คำว่า “สร้างภาพ” ต้องครูบาอาจารย์ที่ท่านผ่านมาแล้ว ท่านถึงรู้ว่ากิเลสมันพาสร้างภาพ กิเลสนี้มันร้าย กิเลสนี้มันพาสร้างภาพ ท่านถึงบอกตัดปัญหาให้เราไง
คือท่านตัดปัญหาให้เรา บอกว่า สิ่งที่เราศึกษามานี่เป็นจินตนาการความรับรู้ ให้ใส่ลิ้นชักในสมองไว้ แล้วลั่นกุญแจมันไว้ คือพยายามอย่าไปคิดถึงมัน เวลามันจะแลบออกมาก็ไม่เอาๆ เราจะเอาความจริง เอาความจริงในการปฏิบัติ เวลาเราปฏิบัติ เวลาปฏิบัติเอาอย่างนี้ เวลาปฏิบัติเสร็จแล้วเราค่อยเปิดลิ้นชักออกมา
พอเวลาปฏิบัติเสร็จแล้วเราก็จะเทียบเคียงธรรมะของพระพุทธเจ้าไง เวลาเราปฏิบัติเสร็จแล้วเราจะเทียบเคียง นั่นน่ะเป็นประโยชน์ มันจะเป็นประโยชน์ตอนนั้น เวลาเป็นประโยชน์ตอนนั้น เราตรวจสอบ เราเทียบเคียง เราตรวจสอบว่าจริงหรือเท็จ ตอนนั้นเป็นประโยชน์
แต่ขณะที่ปฏิบัติอยู่นี่ ขณะที่ปฏิบัติอยู่นี่มันต้องให้เป็นข้อเท็จจริง เวลาข้อเท็จจริง ท่านถึงช่วยเหลือ เห็นไหม หลวงปู่มั่นท่านถึงบอกว่า ให้ใส่ลิ้นชักไว้ แล้วลั่นกุญแจมันไว้ด้วยนะ อย่าให้มันออกมา แล้วเราไม่สร้างภาพ ไม่ต้องการให้มันเป็นจินตนาการ ไม่ต้องการให้มันเป็นกิเลสหลอก แล้วเราทำตามความเป็นจริงของเรา
ถ้าทำตามความเป็นจริงของเรา ความจริงที่มันเกิดขึ้นมา เขาถึงบอกว่า เขาบอกว่าเขามีปีติตลอด ปีติเขามีตลอด ความสุขของเขามีตลอด ถ้าเขามีตลอด แสดงว่าเขามีวาสนา เขามีวาสนานะ เพราะเวลาคนประพฤติปฏิบัติมันจะมีข้อโต้แย้ง มันจะมีร้อยแปดนะ แล้วเวลาที่เขาพูด เวลาเขาบอกว่า คุยฟุ้งธรรมะกับคนรอบข้าง นี่เวลาไปคุย
เวลาเราคุยธรรมะกัน ธมฺมสากจฺฉา คุยด้วยเหตุด้วยผล แล้วเราใช้เหตุใช้ผลนั้น ใครที่มีเหตุผลเหนือกว่า เราก็รับฟัง เราไม่ต้องเอาสีข้างเข้าถู ไม่ต้องเอาชนะคะคานกัน ถ้าเอาชนะคะคานกันมันไม่มีประโยชน์ มันก็เป็นเหมือนกับโต้วาที ก็เท่านั้นเอง มันไม่ได้เป็นความจริงขึ้นมา มันเป็นการเราคุยธรรมะกันเพื่อแสวงหาหนทาง แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมามันก็ต้องเป็นความจริงของเรา มันจะเป็นความจริงของเรา ถ้าเป็นความจริงของเรา
ฉะนั้น สิ่งที่เขาพูดมันต้องเป็นแบบนั้น เพราะอะไร เพราะเขาบอกว่า เมื่อ ๒-๓ ปีที่แล้วมันมีแรงบันดาลใจ เหมือนกับคนจะเป็นส้มหล่น เป็นสำนวนของหลวงพ่อไง ไอ้นี่สำนวน ไอ้นี่อันหนึ่งนะ
แล้วก็สำนวนนี้ต้องออกตัวก่อน ที่เขาบอกว่า เคยสอบถามหลวงพ่อ หลวงพ่อบอกว่า “มึงทำแล้ว กูจะตบให้มึงเข้าที่เอง”
ไอ้คำว่า “ถ้าเป็นภาษาพ่อขุน” แสดงว่าคุ้นเคย ถ้าไม่คุ้นเคยมันไม่ออกอย่างนี้ ถ้าไม่คุ้นเคย เราก็จะพูดให้มันนุ่มนวลหน่อย แต่ถ้าคุ้นเคย ถ้าพูดอย่างนี้แล้วมันพูดแบบจริงใจ ถ้าออกภาษาพ่อขุนแสดงว่า เออ! คุ้นเคย ถ้าไม่ออกภาษาพ่อขุนแสดงว่ามีระยะห่าง ต้องคุณโยม ต้องพูดให้นุ่มนวล แต่ถ้าพอคุ้นเคย เออ! ต้องภาษาพ่อขุนเลย ออกจากหัวใจ
ฉะนั้น ถ้าพูดอย่างนี้แสดงว่า มึงทำไปแล้ว ทำไปแล้วก็มึงทำเลย ปฏิบัติเลย ให้เป็นความจริงเลย แล้วกูจะตบให้เข้าที่เอง
เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านพูดอย่างนี้ไง “แก้จิตแก้ยากนะ แก้จิตแก้ยากนะ” ตบเข้าที่ ดูสิ เวลาเขาแข่งรถกันน่ะ เวลาเขาควบคุมรถเขาไม่ได้ เขาแหกโค้ง รถเขาลงข้างทาง เวลาเขาขับรถแล้วมีคนคอยตบให้รถไม่แหกโค้งออกไป ไม่ตกข้างทาง ไม่พลิกคว่ำ ไม่ทำลายตัวเอง มันของง่ายอยู่หรือ นี่ไง ตบเข้าทางๆ เวลาเขาแข่งรถ เวลาเข้าโค้ง มันหลุดโค้งไป มันก็แหลกหมดน่ะ ไอ้นี่ปฏิบัติก็เหมือนกัน เอ็งปฏิบัติไปเถอะ
ทีนี้บอกว่า กลัวไปหมดเลย สนามแข่งรถมันน่ากลัวมาก ไม่กล้าออกรถเลย อยากปฏิบัติมาก แต่ไม่กล้าทำอะไรเลย
มึงทำไปเลย เดี๋ยวกูควบคุมเอง ให้ทำไปเลย ในการปฏิบัติเป็นอย่างนี้ไง ครูบาอาจารย์ของเรานะ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านพยายามให้ประพฤติปฏิบัติ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์เลย “อานนท์ เธอบอกเขานะ บริษัท ๔ ให้ปฏิบัติบูชาเราเถิด ให้ปฏิบัติเถิด”
ถ้าคนปฏิบัติแล้วมันมีถูกมีผิด มันได้สัมผัส มันได้เข้าไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้จับกายพระพุทธเจ้าเลย พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ได้จับได้ต้องกันเลย ให้ปฏิบัติเถิด พอปฏิบัติแล้วถูกผิดค่อยว่ากัน
ไอ้ที่ไม่ปฏิบัติอะไรเลย ไม่กล้าทำอะไรเลย กลัวผิดไปหมด กลัวจะลำบากลำบนไปหมดเลย...ให้ปฏิบัติเถอะ ถ้ามีครูบาอาจารย์อยู่ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะให้ปฏิบัติบูชาเลย แล้วหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านก็จะให้ปฏิบัติ แล้วเราปฏิบัติเพื่อเป็นความจริง เป็นข้อเท็จจริงในใจของเรา ถ้าเป็นข้อเท็จจริงแล้ว เอาอันนี้
ทีนี้พอโยมจะปฏิบัติ ปรับทัศนคติจะเริ่มประพฤติปฏิบัติ ฉะนั้น สิ่งที่ถามมา สิ่งที่เราพูดของเขามา สิ่งที่ประทับใจในสถานที่ ประทับใจสิ่งใด มันเป็นประโยชน์ทั้งนั้นน่ะ มันเป็นประโยชน์ เขาเรียกว่ามันเป็นสัปปายะ สถานที่เป็นสัปปายะ หมู่คณะเป็นสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ แล้วครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะ สัปปายะ ๔ สถานที่ควรแก่การประพฤติปฏิบัติ
ฉะนั้น ถ้ามันประทับใจ นี่เป็นสัปปายะ มันเป็นที่สงัดวิเวก สถานที่วิเวก กายวิเวก จิตยังไม่วิเวก ถ้าจะจิตวิเวก เราก็ต้องแสวงหาแล้ว เราต้องมีการกระทำ เห็นไหม ตั้งสติ สติมันไม่มีซื้อไม่มีขาย ครูบาอาจารย์ก็ให้ไม่ได้ ใครทำแทนเราไม่ได้ สติต้องฝึกเอง คำบริกรรม จิตก็ต้องกำหนดเอง จิตกำหนดเองเพราะมันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เป็นประสบการณ์จริง เป็นการกระทำจริง
ถ้ากระทำจริงขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา สิ่งที่เป็นจริงขึ้นมาแล้ว เวลาไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมัยพุทธกาล เวลาปฏิบัติแล้วไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะพยากรณ์ตามความเป็นจริงว่าเรามีความจริงแค่ไหน เรารู้จริงแค่ไหน ถ้ารู้จริง พยากรณ์ตามนั้น ถ้าพยากรณ์ตามนั้น นี่สัปปายะ สถานที่วิเวก หมู่คณะวิเวก หมู่คณะเป็นสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ
อาหารเป็นสัปปายะคือว่ากินแล้วไม่ง่วงเหงาหาวนอน กินแล้ว มันปฏิบัติแล้วมันมีช่องทางไป ไม่ใช่ว่ากินอร่อย กินอร่อย กินที่พอใจเป็นสัปปายะ สัปปายะเพราะชอบ ถ้าไม่ชอบไม่เป็นสัปปายะ แต่ถ้าชอบแล้ว เวลามันกดทับธาตุขันธ์ เวลาภาวนาไปแล้วมันไม่สะดวก มันไม่เป็นสัปปายะ อาหารที่ไม่ถูกปาก อาหารที่อะไร
อาหารในพระไตรปิฎก อาหารอย่างหยาบคือเนื้อสัตว์ อาหารอย่างกลางคือผสม อาหารอย่างเบาคือผัก นี่อาหารอย่างหยาบ อาหารอย่างกลาง อาหารอย่างละเอียด นี่อย่างหนึ่งนะ ยังความสะอาดบริสุทธิ์อีกนะ ไม่รู้ไม่เห็น ไม่รู้ไม่เห็น ไม่ได้ตั้งใจ มันได้มาด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ เห็นไหม มันเป็นชั้นเป็นตอน
เราสะอาดบริสุทธิ์เราก็ต้องบอกว่ามันไม่มีอะไรเลย แต่สะอาดบริสุทธิ์ในมาตรฐานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลักวินัยนี้เป็นบรรทัดฐาน ถ้าเราเอาตรงนั้นเป็นตัวตั้ง ทีนี้เป็นตัวตั้ง มันต้องเป็นผู้ถือศีล พระก็มีธรรมวินัยนี้เป็นผู้บังคับ เราเป็นฆราวาส ฆราวาสมันไม่ได้บังคับ แต่ถ้าเราจะบังคับตัวเราเอง มันได้ทั้งนั้นน่ะ
ทีนี้เพียงแต่ว่าบังคับแล้ว ถ้าเป็นพระแล้วปฏิเสธไม่ได้เลย มันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้นมันต้องทำอย่างนั้น แล้วผิดโดยไม่รู้ว่าเป็นอาบัติ ผิดโดยความผิดก็เป็นอาบัติ ผิดโดยความลังเลสงสัยเป็นอาบัติ เป็นอาบัติหมดน่ะ แล้วถ้าเป็นอาบัติแล้วทำไมมันยุ่งยากขนาดนั้นน่ะ
มันยุ่งยาก ยุ่งยาก รักษาใจตัวเองก็จบ ถ้ารักษาใจตัวเอง ไม่มีเจตนา เราไม่ทำสิ่งใดเลย ถ้ามันไม่รู้ ถ้ามีผู้รู้บอก ก็ปลงอาบัติ เพราะว่าถ้ารักษาจริงๆ แล้วเข้ามาสู่ที่ใจของตัวไง
ฉะนั้น พอเขาถามปรับทัศนคติว่าเวลาเขาจะปฏิบัติ ปฏิบัติอย่างไร
เราว่าตอนนี้เขาพร้อมแล้ว เขาพร้อมเวลาเขาปฏิบัติไปแล้ว ตอนนี้บอกว่าเวลาปฏิบัติแล้วเขาไม่ได้เดินจงกรมเพราะปัญหาที่ข้อเท้าไม่ดี
ฉะนั้น มันอยู่ที่คนที่เกิดมา เวลาคนพิการ คนพิการถ้าเขาเดินไม่ได้ ถ้าเขาไม่ได้ เขานอนภาวนาก็ได้ นั่งภาวนาก็ได้ แต่ถ้าคนสมบูรณ์ ยืน เดิน นั่ง นอน มันเป็นกิริยา มันเป็นโอกาสที่เราได้ผ่อนคลายได้ แต่ถ้าคนเขาทำสิ่งใดไม่ได้ สิ่งนั้นเขาขาดโอกาสนั้นไป
เราก็เหมือนกัน ถ้าข้อเท้าเราไม่ดี เรานั่งภาวนาไป เดี๋ยวนะ พอจิตใจมันดี จิตใจมันผ่อนคลาย จิตใจมันปล่อยวาง ร่างกายมันจะแก้ไขตัวมันเอง เพราะผู้ที่ปฏิบัติมีอย่างนี้ เวลาเดินจงกรม ใหม่ๆ เดินไม่ได้ เวลาพอนั่งสมาธิไป จิตใจมันดีขึ้นมา ตอนหลังเดินจงกรมแข็งแรง มันแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจเลย จิตใจที่เข้มแข็ง จิตใจที่ปล่อยวาง มันจะไปปรับสภาวะของร่างกายให้กลับมาสมดุลได้ ถ้ากลับมาสมดุลได้ มันจะเป็นจริงไปได้
ทีนี้เราภาวนาอย่างนี้ เราปฏิบัติเพื่อต้องการธรรมะ เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย อันนี้มันผลพลอยได้ๆ เวลาผลพลอยได้มันเกิดขึ้นมา เราจะบอกว่า โอ๋ย! ปฏิบัติขึ้นมาก็ปฏิบัติมาเพื่อจะสุขภาพกายไง แล้วสุขภาพจิตล่ะ
แต่ถ้าสุขภาพจิตมันดี มันปรับดีไปหมดน่ะ แต่ที่มันไม่ดี ไม่ดีเพราะอะไรล่ะ ไม่ดีเพราะกิเลสมันยุแหย่ไง “ไม่ได้นะ เจ็บเท้า ไม่ได้นะ ถ้านั่งเดี๋ยวก้นพอง ไม่ได้นะ นอนภาวนานี้เดี๋ยวมันจะพุพอง”...อะไรไม่ได้สักอย่างเลย ทำอะไรก็ไม่ได้ นี่ถ้ามันไม่ได้นะ
แต่ถ้าพอมันภาวนาไป พอมันดีขึ้นมานะ มันหายหมดเลย พอมันหายหมดเลย เดินจงกรมก็ดี นั่งสมาธิก็ดี นอนภาวนาก็ดี มันดีไปหมดเลย ไอ้ตอนนั้น ไปถึงตอนนั้น นี่เวลาคนภาวนาไปมันจะรู้จะเห็นอย่างนั้น
แต่ตอนนี้มันมีอุปสรรคขวางหน้าก็ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร เพราะยังดีไง ยังดีที่เราจะมีการใฝ่ใจอยากประพฤติปฏิบัติ ถ้าเรามีการใฝ่ใจประพฤติปฏิบัติ เป็นคนดีมาก เป็นคนดีไง เป็นคนดีคือในวัฒนธรรมของชาวพุทธนะ เกิดมาเป็นผู้ชายไม่ได้บวชไม่ได้เรียน เขาว่าเหยียบแผ่นดินผิด
นี่ไง ถ้าเราเกิดมา เกิดมาพบพระพุทธศาสนา การบวชการเรียน ทางของฆราวาสเป็นทางคับแคบ เช้าขึ้นมาทำหน้าที่การงานนะ ต้องดูแลทุกอย่างพร้อมเสร็จแล้วค่อยเข้าห้องพระนะ ได้ภาวนาก่อนนอนหน่อยหนึ่ง ตี ๕ ตื่นขึ้นมาได้นั่งภาวนาอีกนิดหนึ่ง รีบแล้ว ต้องรีบไปทำงาน ทำงานเสร็จแล้ว เห็นไหม ทางฆราวาสเป็นทางคับแคบ
ทางของภิกษุเป็นทางกว้างขวาง พระฉันเสร็จไปแล้ว ๒๔ ชั่วโมง ถ้าวัดใด ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่เป็นกรรมฐานนะ พระในวัดนั้นจะภาวนาได้ ๒๔ ชั่วโมง
เราอยู่บ้านตาดนะ เวลาอดอาหาร ไม่ต้องทำอะไรเลย ยกเว้นข้อวัตร ๒๔ ชั่วโมง เว้นไว้แต่ถ้าฉันอาหาร ฉันอาหารก็ต้องมีข้อวัตร ฉันอาหารก็ต้องบิณฑบาต บิณฑบาตเสร็จแล้วต้องเก็บต้องล้าง ต้องเข้าเวร ต้องอยู่เวร แต่ถ้าอดอาหารปั๊บ ยกเว้นเลย ไม่ต้องเข็นน้ำ ไม่ต้องล้างส้วม เพราะมันมีผู้ที่ทำอยู่แล้ว
๒๔ ชั่วโมง เวลาเราอดอาหารนะ ใส่เลย ๒๔ ชั่วโมง ๗ วัน ๗ คืน ซัดเข้าไปเต็มที่เลย ออกมาโรงน้ำร้อนมาฉันแต่โกโก้เวลามันหิว เวลาบ่ายโมง รีบเลย เมื่อไหร่จะบ่ายโมงสักที จะได้ไปโรงน้ำร้อนนะ มันจะมีใบสะเดา ใบอะไรลวกไว้ เพราะว่ามันเป็นยา
นี่อดอาหาร ทางของภิกษุกว้างขวาง กว้างขวาง ๒๔ ชั่วโมงไง ๒๔ ชั่วโมงคือเราขวนขวายในการกระทำ ถ้าจิตใจดีนะ ทำได้เต็มที่เลย
แต่ถ้าจิตใจ เวลาจิตมันเสื่อมนะ ๒๔ ชั่วโมงนี้มันแสนนาน ๒๔ ชั่วโมงนี้มันมีแต่ความทุกข์ ๒๔ ชั่วโมงนี้มันอึดอัดมาก เวลาจิตเสื่อมนะ จิตเสื่อมมีความรู้สึกไปอีกอย่างหนึ่ง จิตที่ภาวนาแล้วรุ่งเรือง มันมีความรู้สึกไปอีกอย่างหนึ่ง เห็นไหม จิตคนมันเปลี่ยนแปลงหลากหลายนัก
ฉะนั้น ถ้าเกิดมาได้บวช ได้บวชได้เรียน ไม่เหยียบแผ่นดินผิด แต่ของเรา เราจะบวชหัวใจ จะบวชหัวใจเลยนะ เราจะประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติ เราทำความจริงของเรา
ฉะนั้น เขาบอกว่า ผมมีคำถามนะ ว่าผมต้องการบำเพ็ญ ต้องทำความสงบของใจเข้ามาก่อน แล้วต่อด้วยมีสติปัจจุบัน เมื่อสงบแล้ว ผมไม่รู้ครับว่าใช้ปัญญาเป็นอย่างไร
ถ้าคำว่า “ใช้ปัญญาเป็นอย่างไร” สิ่งที่คำถามที่ถามมานี้ก็คือการใช้ปัญญา การใช้ปัญญา ปัญญาเริ่มต้น ใครจะคิดมากขนาดไหนก็แล้วแต่ เรียกว่าโลกียปัญญา เพราะการคิดไง ขันธ์ ๕ สัญญา สังขาร
สัญญาคือความจำได้หมายรู้ สังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่ง ความคิด ความปรุง ความแต่ง มันมีของมันอยู่แล้วไง แต่มันโดนกิเลสครอบงำ พอกิเลสครอบงำ คิดโดยตัณหาความทะยานอยาก คิดโดยความพอใจของตัว
เราพยายามทำความสงบของใจๆ เวลาจิตมันสงบแล้ว สมุทัยคือกิเลสมันไม่ครอบงำนะ มันก็เป็นสังขาร สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง แต่มันมีสัมมาสมาธิรองรับ ถ้ามีสัมมาสมาธิรองรับ ความคิดแตกต่างกัน ความคิดที่บางทีคิดแล้ว โอ้โฮ! ทำไมมันคิดแล้วมันสะอาดบริสุทธิ์ ทำไมมันคิดแล้วมันเวิ้งว้าง ทำไมความคิดอย่างนี้มันถอดถอนได้หมดเลย อันนั้นเพราะจิตสงบ จิตมีสมาธิ ถ้าจิตสงบเป็นสมาธิ นี่ปัญญาเกิดอย่างนี้
ฉะนั้น เราจะบอกว่า เขาบอกว่า ใช้ปัญญาอย่างไร ผมไม่รู้ ทำอย่างไร ผมทำไม่เป็น
ถ้าพูดถึงว่า ถ้าทำเป็นเดี๋ยวยุ่งเลย พอทำเป็นแล้วมันจะเอาแต่ปัญญาไง พอปัญญาปั๊บ อะไรก็จะสวมให้ปัญญาหมดเลยไง แต่เวลาถ้าไม่เป็นนะ มันเป็นปัญญาอยู่ก็ไม่รู้ว่ามันเป็นปัญญานะ
“ผมทำปัญญาไม่เป็น” เห็นไหม “ทำไม่เป็น ฟุ้งธรรม +เพื่อนฝูง+คนรอบข้าง+อานาปานสติ” นี่มันคืออะไร นี่ปัญญาทั้งนั้นน่ะ แต่เราจะบอกว่ามันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาโดยสามัญสำนึก
สัตว์มันยังมีความคิด สัตว์มันมีความคิดนะ เราก็มีความคิด ความคิดมันเป็นปัญญาไหม ความคิดมันเป็นปัญญา แต่มันเป็นปัญญาการเอาตัวรอด สัตว์มันมีปัญญาเอาตัวรอดนะ นั่นก็เป็นปัญญาของมัน สัญชาตญาณของมัน
นี่ก็เหมือนกัน เราก็มีปัญญาของเรา ปัญญาของเรานี่ปัญญาทางโลก เขาเรียกโลกียปัญญา แต่เราต้องการโลกุตตรปัญญา ปัญญาเหนือโลก ปัญญาเอาจิตนี้พ้นจากโลก ถ้าปัญญาพ้นจากโลก ต้องทำความสงบของใจ
อย่างที่โยมถามนี่แหละ “ผมเข้าใจว่าต้องทำความสงบก่อน พอทำความสงบก่อนแล้วผมต้องใช้ปัญญา แต่ผมใช้ปัญญาไม่เป็น”
ฝึกหัดไป ฝึกหัดไป ปัญญามันเกิด ปัญญามันเกิดแล้ว แต่เราไม่ได้ใส่ชื่อว่าปัญญาเท่านั้นเอง ปัญญามันเกิดคือว่า คำถามที่เขียนๆ มามันเกิดจากอะไรล่ะ ก็เกิดจากปัญญาของเรา นี่เกิดจากปัญญาของเรา แต่เวลาปฏิบัติไปแล้ว ตอนนี้ยังแยกไม่ออก ยังแยกไม่ชัดว่าโลกียปัญญา ปัญญาของโลก ปัญญาของโลกคือปัญญาจากสามัญสำนึก ปัญญาของเรานี่แหละปัญญาของโลก
ถ้าปัญญาของธรรม ภาวนามยปัญญา เวลามันเกิดสัมมาสมาธิ มันเป็นอิสรภาพ เวลามันเกิดปัญญาขึ้นมา โอ้โฮ! มันมหัศจรรย์ มหัศจรรย์ ภาวนามยปัญญา เห็นไหม ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาอย่างนี้ ปัญญาที่เกิดจากภาวนามยปัญญา
แต่ภาวนามยปัญญาจะเกิดขึ้น เกิดขึ้นจากพื้นฐาน เกิดขึ้นจากโลก เกิดขึ้นจากสมมุติ เกิดขึ้นจากภวาสวะ เกิดขึ้นจากตัวตนของเรานี่แหละ เพราะตัวตนของเรามันเกิดมาอย่างนี้ เกิดมาโดยอำนาจวาสนา เกิดมาเป็นอย่างนี้ใช่ไหม เกิดมาอย่างนี้ เราก็มีความคิดอย่างนี้ คนที่มีความคิดดี คนที่มีจิตใจดี เขานำพาชีวิตเขาไปร่มรื่นราบรื่น คนที่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยากมีความคิดแบบนี้ เขาพาชีวิตของเขาตกระกำลำบาก เขาพาชีวิตของเขาทุกข์ยาก ก็ปัญญาของเขาพาเขาไป
ถ้าเรามีสติปัญญา สติปัญญามันจะมาแยกแยะ มันจะทำให้ชีวิตของเราราบรื่นร่มรื่นไป แต่ร่มรื่นไปแล้วมันก็เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ นี่ไง กุศล อกุศล ก็ทำให้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ แล้วเรามาฝึกหัดภาวนาๆ
เราเป็นชาวพุทธไง ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาจากอาสวักขยญาณ ญาณหยั่งรู้ด้วยปัญญาญาณ ปัญญาญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา
ทีนี้เราปฏิบัติกัน ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญานี้เกิดจากภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากภาวนา ปัญญาไม่ใช่เกิดจากการจำมา ปัญญาไม่ใช่เกิดจากการศึกษามา ปัญญาไม่ใช่เกิดจากการค้นคว้ามา พวกนี้เป็นโลกียปัญญาหมด สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา เห็นไหม
ปัญญาจากการภาวนาสำคัญมาก ปัญญาอย่างนี้ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านบรรลุธรรมขึ้นมาด้วยปัญญาของท่าน ปัญญาของท่านมันเกิดเป็นมรรค เกิดเป็นมรรค สัมมาสมาธิ สัมมาสติ สัมมากัมมันโต งานชอบ เพียรชอบ มันเกิดจากความชอบธรรม เกิดจากธรรมจักร นี่ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญาอยู่ตรงนี้
แต่พวกเราไปตีความกันเอง ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ก็เอาสัญญานั่นล่ะ ใครมันจะคิดเก่งกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาบอกนะ บอกจะทำสังคายนา
มึงจะไปปรับปรุงความรู้พระพุทธเจ้าหรือ พระไตรปิฎกนี่เป็นจดจารึกของพระพุทธเจ้ามา มันจะถูกมันจะผิด มันอยู่ที่คนจดจารึก แต่ใครจะมีปัญญาไปแก้ไขดัดแปลง ใครมันจะเก่งไปกว่าพระพุทธเจ้า ไม่มีหรอก
ถ้ามันจะเก่ง มันต้องเก่งในหัวใจของตัว พยายามภาวนา ถ้ามันภาวนาขึ้น มันเกิดภาวนามยปัญญาขึ้นมา มันจะเป็นมรรคเป็นผล ถ้าเป็นมรรคเป็นผลขึ้นมานะ เราจะรู้
แต่ตอนนี้บอกว่าผมไม่รู้
ไม่รู้ก็ไม่เป็นไร ถ้าบอกให้รู้แล้วเดี๋ยวยุ่ง เดี๋ยวบอกให้รู้แล้วหลวงพ่อกับผมต้องเถียงกัน
ฉะนั้น ฝึกหัดให้เป็นขึ้นมา มันเป็นความจริงขึ้นมากลางหัวใจนะ ถ้าเป็นความจริงขึ้นมากลางหัวใจ เวลาเป็นขึ้นมาแล้ว เราเองมันจะมีความภูมิใจมาก แต่ความภูมิใจอันนั้น ถ้ามันยังไม่ผ่องแผ้ว ไม่สมบูรณ์ เราต้องขยันหมั่นเพียร
ฉะนั้น เวลาใครประพฤติปฏิบัติแล้ว ถ้ามีปัญหาไปถามหลวงตา หลวงตาจะบอกว่าถูกต้อง แล้วคนจะถามทันทีว่า “แล้วให้หนูทำอย่างไรคะ” หลวงตาท่านจะตอบว่า “ก็ให้ทำซ้ำเข้าไปอีกไง ทำซ้ำ”
การทำซ้ำคือแบบฝึกหัดต่อไป แบบฝึกหัดต่อไป แบบฝึกหัดให้หัวใจมันฝึกหัดให้มันชำนาญขึ้น ให้มันคล่องแคล่วขึ้น ให้มันดีขึ้น แบบฝึกหัดมันจะละเอียดขึ้น ถ้าเห็นกายก็กายใสขึ้น กายละเอียดลึกซึ้งขึ้น ละเอียดลึกซึ้งขึ้นเพราะกิเลสมันละเอียดขึ้น ปัญญาเราก็ต้องรอบคอบมากขึ้น มันจะแยกแยะได้มากขึ้น แบบฝึกหัดซ้ำๆๆ ซ้ำจนมันสำรอกมันคายออกหมดเลย ถ้ามันคายอย่างไร มันต้องเป็นปัจจัตตังไง มันไม่มีซื้อขายไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทำให้ไม่ได้ไง ต้องผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินั้นขวนขวายพากเพียรทำขึ้นมาให้มันเป็นความจริง
มนุษย์เราจะล่วงพ้นด้วยความเพียร ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะของเรา มันจะทำของเราให้ปัญญาแจ่มแจ้ง แจ่มแจ้งขึ้นมาในการปฏิบัติ นี่พูดถึงผลของปัญญา
“ปัญญา ผมไม่รู้ว่าทำอย่างไร”
เราก็อธิบายว่าปัญญาเป็นแบบนี้ แต่ไม่ต้องไปค้นหา ไม่ต้องไปค้นคว้าอย่างไร ฝึกหัดนี่ กำหนดพุทโธ
เขาบอกว่า “ตอนนี้ผมกำหนดลมหายใจ ผมทำอานาปานสติ”
นี่ถูกต้องมากเลย เพราะเราไม่ทิ้งฐานของเรา หลวงปู่มั่นท่านสั่งหลวงตาไว้ ไม่ให้ทิ้งผู้รู้ ไม่ให้ทิ้งพุทโธ ใครจะไปไหนก็ไป เราอยู่กับพุทโธ เราอยู่กับผู้รู้ ผู้รู้มันแจ่มชัดขึ้น ผู้รู้มันผ่องแผ้วขึ้น ผู้รู้มันจะขวนขวาย ผู้รู้นี่จะสำรอก ผู้รู้จะคายออก แล้วผู้รู้นี่แหละมันจะรู้แจ้ง
ไอ้เขาจะไปรู้ที่ไหน ปล่อยเขาไป ให้เขาไปเลย เราอยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ ไม่เสีย แล้วถ้าพอผู้รู้มันชัดเจนขึ้นมา เดี๋ยวปัญญามันมา เราจะอ๋อ! ภาวนามยปัญญามันเป็นอย่างนี้เอง พอมันเป็นอย่างนี้เอง เป็นอย่างนี้เองยังไม่รู้แจ้งก็ต่อเนื่องๆ ขึ้นไป จนมันละเอียดขึ้น มันสมบูรณ์ขึ้น
นี่พูดถึงว่า ผมไม่เข้าใจว่ามันละเอียดอย่างไร มันหยาบอย่างไร ผมไม่เข้าใจ
จะเข้าใจได้ต่อเมื่อประพฤติปฏิบัติ จะไม่เข้าใจโดยการฟัง การต่างๆ แต่การฟัง ฟังจากวิธีการ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์เทวดา อินทร์ พรหมสำเร็จมหาศาลเลย เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ นั่นน่ะเราฟัง เราฟังขึ้นมาให้สะเทือนใจ เวลามันฟังมันทิ่มเข้าไปกลางหัวใจเลย พอกลางหัวใจ มันเกิดมรรคเลย เกิดมรรคคือเกิดปฏิกิริยา เกิดปฏิกิริยามันจะแสวงหาของมัน นั่นล่ะปัญญาของเรา เวลาปัญญาของเรามันเกิด มันเกิดอย่างนั้นน่ะ
แต่ถ้ามันไม่มีใครกระตุ้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าค้นคว้าเอง รื้อค้นเอง เราปฏิบัติ เราก็ต้องรื้อค้นเอง แต่เราฟังเทศน์ มันมีผู้ที่เคยผ่านมาแล้ว ท่านจะพูดถึงประสบการณ์ของท่าน
เวลาเราพูด ถ้าเราใกล้เคียงกัน จิตใจเราพยายามจะหาทางออก เดี๋ยวมันทิ่มเข้ามาเลย สะเทือนใจมาก พอสะเทือนใจมาก ปัญญามันฟุ้งเลย
สิ่งที่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาที่เขาคิชฌกูฏ หลานพระสารีบุตรไง “ไม่พอใจสิ่งนั้น ไม่พอใจ” พระสารีบุตรถวายการพัดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนากับหลานพระสารีบุตรนะ “ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งต่างๆ เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ความรู้สึกของเธอด้วย เพราะอารมณ์ความรู้สึกของเธอก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง”
ความคิดนี้เป็นวัตถุที่จิตละเอียดแล้วมันจับต้องได้เลยล่ะ “ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งต่างๆ เธอก็ต้องไม่พอใจอารมณ์ด้วย” ถ้าเธอเอาอารมณ์ไปไม่พอใจเขา แต่อารมณ์ของตัวนี่ชอบ “ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งต่างๆ เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ความรู้สึกของเธอด้วย เพราะอารมณ์ความรู้สึกก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง”
พระสารีบุตรถวายการพัดอยู่ ธรรมะข้อนี้มันแทงใจพระสารีบุตร พระสารีบุตรบรรลุเป็นพระอรหันต์เลย นี่ผลของฟังธรรม ฟังธรรมแล้วถ้ามันสะเทือนหัวใจ มันจะเกิดปัญญา เกิดปัญญาต่อเนื่อง ปัญญาอย่างนี้เราอาศัยครูบาอาจารย์ เห็นไหม จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่งไง นี่ฟังเทศน์ ฟังเทศน์สำคัญตรงนี้ แต่ถ้ามันเป็นความจริง ความจริงก็เกิดขึ้นมาจากใจ
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธัมมจักฯ พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรกของโลกก็จากการฟังธัมมจักฯ จิตใจนี้พร้อมอยู่แล้ว แต่ยังหาทางออกไม่ได้
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงถึงทางออก ปัญญามันหมุนตาม พอมันหมุนตาม มันแทงทะลุ “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับเป็นธรรมดา” มันไม่มีอะไรเป็นความจริงเลย ไม่มีอะไรเป็นความจริงเลย แล้วมันเห็นจริงด้วย มันถึงเป็นความจริง แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุโมทนาเลย “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” มันมีพยานไง มันมีพยานรู้เห็นไง
ฉะนั้น นี่เป็นเรื่องของโลก เรื่องของโลกเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นเรื่องของธรรม เรื่องคติธรรม คติโลก เราแสวงหาของเรา ถ้าเป็นคติธรรม เราจะประเสริฐ เราจะดีของเราขึ้นมา
ฉะนั้น เขาบอกว่า ถ้าเขาจะทำ เขาก็บอกว่า “ผมทำแบบที่ท่านอาจารย์สอน คือบุก อัด สู้กับลม พยายามหาอาการของจิต ผมรู้ว่ามันอึดอัด เหมือนทำงานการขุดบ่อน้ำ ผมคิดว่าสักวันหนึ่งต้องเจอน้ำ การภาวนานี้เป็นแบบนี้ผิดหรือเปล่า เพราะมีผู้รู้บอกว่าจิตต้องโล่ง สบาย คล่องแคล่ว ควรแก่การงาน”
โล่ง สบาย มันต้องโล่ง สบาย โดยสัจจะ โดยสัมมาสมาธิ โดยความเป็นจริง ถ้าโล่ง สบาย แบบมิจฉา แบบมิจฉานะ ถ้ากิเลสมันหลอกนะ มันจะไม่ทำอะไรเลย ไม่ทำอะไรเลยก็ว่างๆ ว่างๆ
ว่างๆ นี่มันไม่มีสตินะ แล้วถ้าเราไม่บุก ไม่อัด ไม่ดูแล ไม่อยู่กับผู้รู้ ไม่อยู่กับพุทโธ พอนานไปๆ ทุกดวงใจเลย มันจะตกสู่ภวังค์ หลวงตาท่านใช้คำว่า “สมาธิหัวตอ”
ว่างๆ ว่างๆ จนหายไปเลยนะ แล้วมันไม่รู้เหนือรู้ใต้ เวลามันจะมานี่เหมือนสะดุ้งตื่น เอ๊อะ! เออ! มาแล้ว ออกจากสมาธิแล้ว เวลาเข้าสมาธินี่หายไปเลย สมาธิหัวตอ นั่นน่ะอย่างนั้นโล่ง โปร่ง สบาย อย่างนั้นไม่ใช่
แต่ถ้าพุทโธๆ อึดอัดขัดข้องไปหมด ใหม่ๆ แต่ถ้ามันชำนาญแล้วนะ เวลามันอยู่ในสัมมาสมาธิ สมาธิคือจิตเป็นหนึ่ง ไม่พาดพิงถึงอารมณ์อะไรทั้งสิ้น เห็นนิมิตก็พาดพิงนิมิต ถ้าคิดเรื่องอะไรก็พาดพิงเรื่องนั้น มันพาดพิงมันถึงเกิดอารมณ์ ถ้าไม่พาดพิง มันเกิดเป็นหนึ่ง สมาธิคือจิตตั้งมั่น คือหนึ่งเดียว ไม่พาดพิงกับอะไรเลย เป็นเอกเทศ
แล้วเวลามันเป็นสัมมาสมาธิ เวลามันยกขึ้นสู่วิปัสสนา จิตเห็นอาการของจิต เห็นสิ่งใดแล้ววิปัสสนาไป นั่นคือเกิดปัญญา ปัญญาอย่างนั้นเกิดขึ้นมา ถ้าทำอย่างนี้มันเป็นสัมมาสมาธิ สัมมาคือมีเหตุมีผล มีที่มา ไม่ใช่มิจฉา มิจฉาคือโล่ง ว่าง โปร่ง สบาย ไม่ทำอะไรเลย เราเห็นโลกเขาทำกันแบบนั้น แล้วบอกสุขสบายมาก
เราจะบอกว่า เข้าข้างตัวเองนะ หลอกตัวเอง หลอกตัวเองว่าได้ปฏิบัติธรรม จริงๆ นะ ถ้าให้เราพูดจากหัวใจของเรานะ เราสงสารพวกนี้มาก
๑. เสียเวลาเปล่า
๒. ได้แต่ความเป็นพิษเป็นภัยเข้ามา
มิจฉาสมาธิมันเป็นผลบวกตรงไหน สมาธิหัวตอมันเป็นผลบวกตรงไหน นี่ไง พรหมลูกฟักไง เข้าไปนอนจมอยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วเวลาออกมานะ โล่ง สบาย
สบายสิ ก็มันไปช่องทางเดียวกับกิเลสไง กิเลสคือมันเอาสะดวกสบาย คือมันไม่ทำอะไรไง คือไม่ต้องทำอะไรเลย แต่มันได้ผลน่ะ กิเลสมันก็ชอบน่ะสิ แล้วมันเป็นจริงขึ้นมาไหมล่ะ มันเป็นสมาธิหัวตอ เป็นพรหมลูกฟัก แล้วเขาบอกอย่างนั้นน่ะ “นี่ใช้ปัญญามาแล้ว ทุกอย่างมาแล้ว”...ไม่ใช่
แต่เวลาบอก เวลาปฏิบัติแล้วต้องโล่ง สบาย ต้องคล่องแคล่ว ควรแก่การงาน ไม่ใช่ตึงเครียด
เราไม่ตึงเครียด แต่เราจะบีบคั้นกิเลส บีบคั้นที่ว่าสิ่งที่มันแสวงหา ที่มันหลอกลวงเรามาตลอดไง ฉะนั้น อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ จะทำให้ไม่เสีย
ฉะนั้น เขาบอกว่า “เรื่องปีติมีตลอด ถ้าเรื่องปีติ จนคิดว่าไม่อยากได้ กลัวกิเลสหลอกเอา ผมไม่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้น คิดอย่างเดียวว่าจะเพิ่มศักยภาพให้ตัวเอง ผมคิดถูกหรือเปล่าครับ”
ถูก ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ทุกคนอยากได้ผล แต่ไม่อยากได้เหตุ หลวงตาท่านสอนประจำ ให้มีสติ ให้มีคำบริกรรม เราอยู่กับเหตุ เหตุสมควรแล้ว ผลมันต้องเป็นจริงๆ
ไอ้นี่เหตุไม่ทำ นี่ไง มันต้องโล่ง ว่าง โปร่ง สบาย ไม่ทำอะไรเลย นี่มันไม่มีเหตุ แล้วจะเอาผลมาจากไหนล่ะ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เราสร้างเหตุของเรา ทำของเรา เพิ่มศักยภาพของตัวเราเอง เราทำของเราให้มันดีขึ้นไปเอง
สิ่งนี้เป็นคติธรรม คติธรรมมันต้องมีเหตุมีผล มีที่มาที่ไป ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาใครไปศึกษานะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบอกไว้เอง ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่มีขัดไม่มีแย้งกัน ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปในช่องทางเดียวกัน เว้นไว้แต่หยาบ กลาง ละเอียด มันจะพัฒนาของมันขึ้นไปเป็นชั้น แต่มันไม่มีขัดไม่มีแย้งกัน ถ้ามีขัดมีแย้งกัน ต้องมีความผิด ไม่ถูกต้อง
ฉะนั้น มันไม่มีการขัดการแย้งกัน เพียงแต่ว่าหยาบ กลาง ละเอียด มันจะพัฒนาของมันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป นี้คือธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ฉะนั้น เวลาเราศึกษาแล้ว เราศึกษาแล้วเราเทียบเคียงได้ กาลามสูตร อย่าเพิ่งเชื่อใครทั้งสิ้น ให้ประพฤติปฏิบัติ อย่าเชื่อใครทั้งสิ้น อย่าเชื่อแม้แต่เป็นอาจารย์ของเรา อย่าเชื่อ ฟังแล้วให้ไปไตร่ตรอง ให้ไปค้นคว้าให้มันเป็นความจริงขึ้นมา แล้วประพฤติปฏิบัติให้มันเป็นความจริง
เวลาความจริงแล้ว หลวงตาท่านบอกเลย ถ้าใครประพฤติปฏิบัติแล้วจะไปกราบศพท่าน กราบศพท่าน ถ้าปฏิบัติแล้วเป็นอันเดียวกันหมดน่ะ
ถ้าอันเดียวกัน อันเดียวกันเมื่อไหร่
กาลเวลามันต่างกัน ต่างกันคนที่บรรลุไปก่อน ท่านรู้ก่อน ไอ้เราตามหลังมา ขอให้เป็นความจริงขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าไปถึงอันนั้นแล้วนะ ไม่มีการโต้ไม่มีการแย้งกัน เป็นอันเดียวกัน
แต่ถ้ายังมีการโต้การแย้งกัน อย่าว่าท่านผิดเลย เราผิดก่อน เราน่ะผิด แล้วหาทางให้พยายามปรับปรุงให้ใช้ได้ แล้วเราจะทำของเราได้ ให้เป็นคติธรรม คติของผู้ที่แสวงหา เพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เอวัง