ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

หน่อปัญญา

๑๔ เม.ย. ๒๕๕๘

หน่อปัญญา

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๕๘

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องเรื่องของความคิดและความรู้สึก

กราบเท้าหลวงพ่อ กระผมได้ปฏิบัติปัญญาอบรมสมาธิโดยการฟังธรรมจากหลวงพ่อเรื่อยมา แล้วก็ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ตามกำลังวันละ ๔๐ นาทีถึง ชั่วโมง เมื่อเสร็จจากการงานก็หาเวลาสงบนั่งสมาธิพิจารณาธรรม หากหมดแรงจากการทำงานก็นอน แล้วตื่นเช้ามาก็นั่งสมาธิ

ตอนนี้รู้สึกว่าการทำสมาธิเป็นเรื่องจำเป็นต้องทำทุกวัน หากวันไหนไม่ได้ทำ ใจมันจะรุ่มร้อนมาก เพราะได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้า แต่ละวันต้องแก้ปัญหาและมีเรื่องกระทบเข้ามามาก หากวันไหนไม่ได้ทำสมาธิมาก่อน งานของผมมักจะผิดพลาดและวินิจฉัยงานผิด สั่งงานผิด

เมื่อเช้านี้นั่งสมาธิและพิจารณาความคิดความรู้สึกที่เกิดขึ้นขณะนั่งสมาธิ สังเกตพบว่า สิ่งที่คอยจะมาเยี่ยมเยียนจิตเสมอจะมีหลักๆ อยู่ อย่าง

. ความคิดที่เป็นสัญญาเป็นตัวนำในอดีต เช่น เรื่องงานที่ค้าง คนที่เรามีอารมณ์ไปกระทบด้วยเป็นต้น ถ้าไม่ทัน มันก็จะปรุงไปเรื่อยๆ

. ความคิดที่มีสังขารเป็นตัวนำ พวกนี้จะเป็นความคิดที่มันลอยๆ ของมันขึ้นมาอย่างไร้เหตุผล แล้วก็ปรุงขึ้นไปเรื่อยๆ

. ความรู้สึกที่มีเวทนานำ อันนี้ได้แก่ตอนปวดขา ขาชา คันจุดนั้นจุดนี้เป็นต้น

ผมพยายามพิจารณาความคิดความรู้สึกเหล่านี้ว่าประกอบไปด้วยขันธ์ ว่ามันไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็จะแตกจะหายไป ถ้าสติแรง มันจะหายไปทันทีที่จับได้ ถ้าสติอ่อน ก็ต้องพิจารณายาวๆ บางทีไม่ทัน โดนมันลากไป คิดต่อจนหมดแรง แต่ถ้าทำถูก มันจะวางหมด แล้วสงบนิ่ง พอนิ่งแล้วคิดต่อ ก็ไล่พิจารณาต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งความนิ่งมันก็จะนิ่งลึกซึ้งขึ้นตามจำนวนครั้งที่ปล่อย ทำแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมา

คำถาม

. ขอถามหลวงพ่อว่า ผมเห็นอย่างนี้ถูกต้องไหมครับ

. เห็นหลายคนว่าถ้าเป็นสมาธิมันควรมีปีติหรือควรมีนิมิต แต่ผมไม่ค่อยมีปีติเลย ถ้ามีก็แค่เย็นเล็กๆ หรือเรื่องนิมิตยิ่งไม่มีเลย มีแต่ความนิ่งสงบ แต่มีกำลัง แบบนี้ถูกไหมครับ

. ตอนนี้เกือบ ปีกว่าแล้วที่หลวงพ่อตอบคำถามแรกที่ผมถามเรื่องการหยุดความคิดด้วยความคิด อันนี้ผมเข้าใจแล้ว แต่เรื่องจิตเห็นอาการของจิต ผมยังไม่เห็น ไม่เข้าใจ แต่พอมาเมื่อเช้านี้ ผมว่าผมเริ่มเห็นอาการแล้ว พอจับได้บ้างแล้ว ตามที่ผมเล่ามา อันนี้ผมให้คะแนนตัวเองเกินไปหรือเปล่าครับ ขอหลวงพ่อเมตตาชี้แนะด้วย

ตอบ : เห็นไหม อันนี้เขาถามว่าเรื่องจิตเห็นอาการของจิต แต่เดิมเวลาคนเห็นแล้วก็จะบอกว่าตัวเองรู้ตัวเองเห็นไง ไอ้กรณีนี้มันเหมือนกรณีที่ว่าปฏิบัติแนวทางสติปัฏฐาน ใครก็บอกว่าปฏิบัติแนวทางสติปัฏฐาน

แต่เราเคยพูดบ่อยมาก ไอ้พูดว่าแนวทางสติปัฏฐาน โดยที่จิตไม่สงบ อันนั้นเป็นสติปัฏฐาน ปลอม ปลอมคือมันเป็นสามัญสำนึก มันเป็นสัญญา มันเป็นการศึกษา มันเป็นการวิเคราะห์วิจัย มันไม่เป็นความจริงตามเนื้อหาสาระตามข้อเท็จจริง

ถ้าตามข้อเท็จจริง จิตมันต้องสงบ พอจิตสงบมีกำลัง เห็นไหม เขาบอกว่าตอนนี้เขาเริ่ม ที่เขาถามว่าวันนี้ที่เขาเห็นความคิดเกิดจากสัญญา ความคิดเกิดจากเวทนา ความคิดเกิดจากสังขาร เห็นไหม ความคิดเกิดจากอะไร ถ้าเขาเห็นความคิดเขา ถ้าเขาเห็นความคิด จิตมันสงบมันถึงจะเห็น ถ้าจิตมันสงบมันเห็น นี่จิตเห็นอาการของจิต

ไอ้นี่เขาบอกว่าจิตเห็นอาการของจิต อย่างที่ว่าความคิด อย่างที่เมื่อวานว่าจิตมันมีทุกข์ลึกๆ ความคิดลึกๆ มันมีของมันอยู่ ถ้าคนปฏิบัตินะ แล้วถ้ามีจิตใจที่มีสัตย์ มีสัตย์เพราะเราปฏิบัติ เราต้องการความจริง ถ้ามีสัตย์แล้วมันแตกต่าง มันแตกต่างไปเลย เพราะจิตมันต้องสงบก่อน

ถ้าจิตมันไม่สงบ มันเหมือนกับสัญชาตญาณ สัญชาตญาณของสัตว์ สัญชาตญาณของเรา พอเรามีภัย มันจะปกป้องตัวเองทันทีเลย มันเป็นสัญชาตญาณ บางคนบอกพอเกิดเหตุภัยขึ้นมา ตัวเองเอาตัวรอด เขาว่าตัวเองเก่ง...ไม่ใช่หรอก มันเป็นสัญชาตญาณเอาตัวรอด ถ้าสัญชาตญาณเอาตัวรอด มันเป็นของมันอย่างนั้น แต่สัญชาตญาณเอาตัวรอดมันเกิดต่อเมื่อมันมีผลกระทบ

แต่ถ้าไอ้นี่เราทำจิตเราสงบไง แล้วเราเข้าไปเห็น เราเข้าไปรื้อค้นน่ะ ถ้าเราเข้าไปเห็น เข้าไปรื้อค้น อันนั้นเป็นอันหนึ่ง แต่ถ้าเป็นคนที่ปฏิบัติที่ไม่มีผู้รู้จริงใช่ไหม มันเคลม มันตีความเหมือนกัน มันตีความเหมือนกัน บอกว่า เห็นกาย กายใครก็เห็น เวทนา ทุกคนไม่มีหรือ ทุกข์ใจอยู่นี่ทุกวัน มันทุกข์ร้อนอยู่ในใจ มันไม่ใช่เวทนา มันก็เวทนาทั้งนั้นน่ะ

ก็บอกว่าทำไมจะไม่เห็นเวทนา ก็เราอยู่กับมันน่ะ เราก็จับได้ ถ้าจับได้ เจ็บปวดทำไม จับได้ โอดโอยทำไม

แต่เวลาคนที่เขาเป็นจริงนะ เวลานั่งสมาธิ เวลาเวทนามันเกิด เจ็บปวดมาก แต่ถ้าจิตมันสงบแล้วนะ เวทนามันเกิดมันจับเวทนาได้ โทษนะ มันเหมือนกับเราร่มเย็นเป็นสุขแล้วจับเวทนาได้ มันแปลกนะ เวทนานี่จับได้เลยล่ะ จิตใจมันมีหลักแล้วจับเวทนาพิจารณาได้

แต่ถ้าเวทนาเป็นเรานะ โอ๋ย! ปวดมาก เพราะเวทนากับเราเป็นอันเดียวกัน แต่ถ้าจิตมันสงบแล้ว จิตเป็นจิต เวทนาเป็นเวทนา จิตมันไปจับเวทนาได้ เห็นไหม ถ้าสติปัฏฐาน จริงไง กาย เวทนา จิต ธรรม เวทนาเป็นเวทนา จิตเป็นจิต ถ้ามันจับได้ มันพิจารณาได้ จิตเห็นอาการของจิต ถ้าพูดถึงว่ามันจะเป็นจริง มันจะเป็นจริงอย่างนี้ ถ้ามันเป็นจริงอย่างนี้ ถ้าเป็นจริงอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ท่านพูดมาตั้งแต่ดั้งเดิม ไอ้คนที่ปฏิบัติมาก็ฟังมาทุกวัน แล้วก็เข้าใจว่าอย่างนี้

แต่ถ้าวันไหนเข้าไปเห็นจริงนะ โอ้โฮ! มันจะแยกชัดๆ มันจะแยกชัดๆ เลยว่าโลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญาแตกต่างกันอย่างไร กุปปธรรม อกุปปธรรม มันแตกต่างกันอย่างไร แล้วสิ่งที่ว่าเวลาปัญญามันเกิดๆ ปัญญาอย่างนั้น ปัญญาอย่างนั้นใครๆ ก็ทำได้ ใครๆ ก็คิดได้ ถ้ามันคิดได้แล้ว

เวลานักเรียน เวลามันจะสอบ มันท่องแม่นเลยล่ะ พอสอบเสร็จแล้วนะ มันทิ้งเลย แค่นั้นน่ะท่องเอาไว้สอบ ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาท่อง ท่องเอาไว้อวดกัน แล้วอวดกัน มันเป็นประโยชน์อะไรล่ะ

หลวงตาถึงบอกว่า ถ้าธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํนะ เราสนทนาธรรมกัน เป็นมงคลมาก แต่ถ้ามันจะเอาชนะคะคาน เวลาคุยกันเถียงกันเพื่อจะเอาชนะคะคาน แต่เราเวลาเราคุยกัน เราไม่ใช่เอาชนะคะคาน เราหาเหตุหาผลของใคร หาเหตุหาผล ถ้าจิตใจคนที่ละเอียดกว่า เขาจะพูดออกมาด้วยพื้นฐานของจิตใจเขาที่ลึกซึ้งกว่า ถ้าจิตใจของเรา เราพิจารณาแล้วเราไม่มีเหตุผลอย่างนี้ เราเข้าไม่ถึงความรู้สึกอย่างนี้ เราต้องแปลกใจแล้วว่าอย่างนี้มันมีอยู่ด้วยหรือ

มันมีอยู่สิ มีอยู่เพราะว่าจิตใจของเขาละเอียดลึกซึ้ง เขาถึงเข้าไปถึงตรงนั้นได้ แต่จิตใจของเราหยาบ เราก็คิดว่ามันจะไม่มีอย่างนั้นหรอก สิ่งที่เขาเอามาพูดมันคงจะเป็นจินตนาการของเขา มันคงจะเป็นสิ่งที่เขาเข้าใจไปเอง

แต่ถ้าเราพิจารณาไปๆ นะ ถ้าเราลงลึกซึ้งขนาดนั้นนะ อ๋อ! แล้วเวลาอ๋อ! เวลาคนที่ปฏิบัติไป ตั้งแต่ปุถุชน เวลาทำความสงบของใจเข้ามามันจะเป็นกัลยาณปุถุชน แล้วปุถุชนกับกัลยาณปุถุชนมันแตกต่างกันอย่างไร ถ้าคนที่ไม่ปฏิบัติมันจะไม่รู้หรอก

แต่ถ้าคนที่ปฏิบัติมันจะรู้เลยว่า ถ้าปุถุชน กำหนดพุทโธแทบเป็นแทบตาย เดินจงกรมมันเหมือนไม้ดิบๆ ไม้ดิบๆ มันจุดไฟไม่ติด ไม้เขาเอาไปตากไว้ให้มันแห้ง ดูฟืนสิ เขาจะกองไว้ เขาจะซ้อนมันไว้เพื่อให้อากาศมันผ่าน ให้มันแห้ง แห้งแล้วเวลามันใช้งานมันจะได้ประโยชน์

นี่ก็เหมือนกัน ปุถุชน ไม้มันดิบๆ เราก็พยายามทำให้ไม้เรามันแห้ง เห็นไหม ด้วยศีล ทำให้ไม้เราแห้ง ถ้าไม้เราแห้ง เวลามันจุดไฟมันก็จะจุดง่าย นี่ก็เหมือนกัน เวลาพิจารณาไป จิตดิบๆ ปุถุชน ปุถุชนคือคนหนา คือกิเลสหนา กิเลสหนา อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ ใครมาทำเสียงกระทบไม่ได้นะ เป็นฟืนเป็นไฟเลย จะกินจะกัดเขาเลยล่ะ ใครมาทำอะไรไม่ถูกใจไม่ได้ จะซัดเขาเลยล่ะ ไม่ได้ทำ มันก็จะคิด เขาทำมาตั้งกี่ปีแล้วยังคิดอยู่นี่เลยว่ามันเคยทำไว้ มันจะไปล่อเขานั่นน่ะ นี่คนหนา

แต่ถ้ามันมีสติปัญญานะ เรานั่งสมาธิ ตัวเราก็อยู่นี่ แต่ใจเราไปอยู่กับคนอื่น ตัวเราก็นั่งอยู่นี่ ใจของเราเที่ยวระรานเขาไปทั่ว ใจของเรามันไม่อยู่กับเรา เห็นไหม พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ แล้วที่มันไป มันไปเพราะอะไรล่ะ รูป อดีตรูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เสียงที่กระทบมันจำได้ มันก็ไป รูปที่ไม่พอใจ มันก็ไป

ทีนี้มันไป แล้วถ้ามันใช้ปัญญาไล่ไปหรือพุทโธๆ ไป เวลามันปล่อย เห็นไหม รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มันละมันวางได้เลย พอวางได้เลย รูป รส กลิ่น เสียงไม่มีอำนาจเหนือใจดวงนี้ นี่กัลยาณปุถุชน ทำสมาธิได้ง่าย เพราะกัลยาณปุถุชน เหมือนไม้แห้งแล้ว ถ้าไม้แห้งยกขึ้นสู่โสดาปัตติมรรค

คำว่าโสดาปัตติมรรคอย่างที่ว่า พระพุทธเจ้าบอกสุภัททะศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล

ผู้ที่ปฏิบัติคนใดปฏิบัติธรรมขึ้นมาไม่ได้ หัวใจว่างเปล่า ไม่มีทาง ไอน์สไตน์เขาพูดเลยว่า ถ้าเขาเลือกนับถือศาสนาได้ เขาเลือกนับถือศาสนาพุทธ เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งเหตุผล แต่ไอน์สไตน์ก็ตายเปล่าๆ ตายทิ้งเปล่าๆ เพราะเขาก็ยังไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ แล้วเขาก็ไม่ได้ปฏิบัติ เพราะเขาเป็นนักเหตุผล เป็นนักวิทยาศาสตร์ มีเหตุมีผล เหตุผลนั้นน่ะเขาเชื่อ แต่เขาไม่ได้ทำใจของเขาให้เป็น ถ้าเขาไม่ทำใจของเขาให้เป็น เขาก็ไม่รู้จริง เขารู้ด้วยทางหลักวิทยาศาสตร์ที่เอามาแยกแยะเอามาพิสูจน์ว่าอะไรมีเหตุมีผล แต่เขาไม่ได้ทำขึ้นมาในใจของเขา แต่ถ้ามันทำในใจของเขาขึ้นมา จิตมันต้องสงบเข้ามานี่ไง

เราบอกว่าเราเป็นนักปฏิบัติ เราทำ เราทำด้วยกิริยาไง แต่เราไม่ได้ทำด้วยใจไง แต่ถ้าใจเราสงบแล้ว ใจมันทำ

ครูบาอาจารย์เราเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาทั้งวันทั้งคืน เวลาหลวงตาท่านบอกว่า เวลาอนาคามิมรรคอยู่กับใครไม่ได้เลย คำว่าอยู่กับใครไม่ได้เลยมันทำงานอยู่ทุกวินาทีในหัวใจ เดินสักแต่ว่าเดิน เดินนี่ร่างกายเดินไป แต่จิตมันจะหมุนอยู่ภายใน มรรคมันจะเคลื่อนตลอด คนภาวนาเป็นมันจะรู้ กิริยามันเป็นแค่กิริยาภายนอก แต่ความคิดมันหยุดได้ไหม แล้วเวลาคนภาวนา ดูสิ คนหนามันก็หนาของมันอยู่อย่างนี้ แต่เวลาคนที่ละเอียดอ่อน จิตเขาไว้ข้างใน

เดินจงกรม คนมาถามบ่อย ผู้ภาวนาไม่เป็นเดินจงกรมไปถึงหัวทางจงกรมแล้วจะเลี้ยวกลับอย่างไร จะหันกลับอย่างไร นี่ไง คนหนาไม่เคยเป็นไง

แต่นักเดินจงกรมนะ เขาเดินไปมันเป็นอัตโนมัติ หมุนไปหมุนกลับเลย ฉะนั้น นี่พูดถึงว่าคนเป็น จิตที่มันเป็น มันไม่ออกมาข้างนอกเลย มันหมุนอยู่ข้างในจิต หมุนอยู่ข้างใน แล้วไอ้กิริยาเคลื่อนไปมันเรื่องปกติ

ฉะนั้น เขาอยู่ของเขาคนเดียว อยู่กับใครไม่ได้ เพราะอยู่กับใครก็แล้วแต่ เราต้องพูดต้องคุย ต้องรับผิดชอบ จิตมันส่งออก เวลาคนเป็นมันเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ถ้าเป็น มันจะเห็นของมันอย่างนี้ ถ้าเป็นแล้วมันจะเข้าใจ ที่ว่าเวลาหลวงปู่ดูลย์ท่านพูด จิตส่งออกทั้งหมด ผลของมันเป็นสมุทัย จิตส่งออกทั้งหมดเป็นสมุทัย ผลของมันคือทุกข์

ศึกษาเล่าเรียนนี่ส่งออก การคุย การรับมา นี่ส่งออก ออกไปรับรู้ จิตส่งออกทั้งหมดเป็นสมุทัย แล้วการรับรู้มันส่งออกไหม ไม่ส่งออกมันจะรับรู้ได้อย่างไร ผลของมัน ฟังถูกฟังผิด ศึกษาได้ ศึกษาไม่ได้ นี่ผลของมันเป็นทุกข์

ทำความสงบของใจเข้ามา ต้องหยุดคิด หยุดคิดก็ต้องใช้ความคิด หยุดคิดไง หยุดคิดจนจิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นอาการของจิตเป็นมรรค ผลของการที่จิตเห็นจิตเป็นนิโรธ

จิตเห็นจิตเป็นมรรค จิตเห็นจิตเป็นมรรค

นี่จะเข้าคำถามแล้ว เพราะเขาบอกว่าฟังหลวงพ่อมา ปี หลวงพ่อพูดว่าจิตเห็นอาการของจิต ผมไม่รู้เรื่องเลย แต่วันนี้ผมจะรู้แล้ว วันนี้ภาวนาตอนเช้า ผมเห็นว่าความคิด ความคิดเกิดจากสัญญาเป็นตัวนำในอดีต เช่น เรื่องงานต่างๆ ความคิดที่เกิดสัญญาเป็นตัวนำ ความคิดที่เกิดจากสังขารเป็นตัวนำ ความคิดที่เกิดจากเวทนาเป็นตัวนำ

เห็นไหม มันมีของมัน มันมีของมัน ถ้ามันมีของมัน สิ่งนี้มันจะบอกว่า เขาถามว่า. ขอถามคำถามหลวงพ่อว่าอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ครับ

มันถูก คำว่าถูกมันถูก มันถูกตั้งแต่ผู้ที่ฝึกหัดใหม่ ผู้ที่ฝึกหัดใหม่นะ นั่งสมาธิตรงๆ ถูกไหม ถูก แต่เอ็งกำหนดพุทโธไม่ได้เลย เดินจงกรมนี่ เดินจงกรม คนจะมาถามเดินจงกรม เดินไปเดินมา ที่บ้านผมมันมีอยู่ ก้าว ที่บ้านผมมีอยู่ ๑๐ ก้าว ผมอยู่คอนโด ผมเดินจงกรมไม่ได้ ไอ้เดินจงกรม นั่งสมาธิ คนมาเรียกร้อง มาอุทธรณ์กับเราเยอะมาก ใครจะปฏิบัติก็ต้องมาหลวงพ่อ มันทำไม่ได้ มันเป็นอย่างนี้ๆ

เอาน่า ค่อยๆ ทำไป เพราะมันเป็นประโยชน์ของเอ็ง

ถูกไหม ถูก แต่เป็นสมาธิหรือยัง ยัง

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เขาว่า ความคิดเกิดจากสัญญา ความคิดเกิดจากสังขาร ความคิดเกิดจากเวทนา สิ่งที่ผมเห็นวันนี้ถูกไหม

ถูก ไม่ถูก เพราะเห็นอย่างนี้ถึงได้ตื่นเต้น ถึงได้ดีใจ ถึงได้เขียนมาว่า ผมฟังหลวงพ่อมา ปี ผมไม่รู้เรื่องเลย แต่วันนี้ผมจะรู้แล้ว เพราะมันเกิดจากสัญญา มันเกิดจากสังขาร มันเกิดจากเวทนา

จิตสงบแล้วนะ เวลาจิตสงบแล้วอยู่กับความสงบนั้น เวลาจิตมันออกรับรู้ ใช้ปัญญาไล่ไปเรื่อยๆ มันก็กลับมาสงบนั้น จิตไล่ไปเรื่อยๆ ทำความชำนาญของเรานะ เวลามันออกรู้ จิตเห็นอาการของจิต จิตออกรู้ ออกรู้ในอะไร ออกรู้ สังขาร ออกรู้ในขันธ์

ขันธ์ โดยธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว ดูคัตเอาต์ คัตเอาต์เราเสียบปั๊บ เรากดคัตเอาต์ ไฟมันจะเดินทันที เราชักคัตเอาต์ปั๊บ ไฟจะเดินมาไม่ได้ เพราะมันชักคัตเอาต์ออก

โดยธรรมชาติจิตนี้เป็นพลังงาน เป็นพลังงานเฉยๆ แล้วมันคิดได้อย่างไรล่ะ มันดีใจเสียใจได้อย่างไรล่ะ จิต อ้าว! ถ้ามันจะดีใจเสียใจมันก็มีเวทนาไง ทุกขเวทนา สุขเวทนาไง แล้วถ้าเวทนา เวลาคัตเอาต์มันเสียบเข้าไปแล้ว มันมาแล้ว พอมันมาแล้ว เรื่องดีก็ชอบ เรื่องไม่ดีก็ไม่ชอบ อยู่อย่างนี้

ถ้าสติมันทัน ทีแรกที่เราบอกว่า รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ถ้ามันทันมันก็ปล่อย มันปล่อย มันปล่อยของมัน มันปล่อยเพราะโดยมันเป็นมาอย่างนี้ มันหยาบ มันละเอียด มันปล่อยก็เป็นสมาธิ มันปล่อยก็เป็นสมาธิ จนจิตมันสงบแล้ว มันตั้งมั่นแล้ว ถ้ามันจะเห็น มันเห็นอย่างนี้ เห็นความคิดเลย จิตเห็นความคิดของตัวเอง พูดชัดๆ อย่างนี้เลย ความคิดไม่ใช่จิต จิตเห็นความคิดของตัวเอง ถ้าจิตเห็นความคิดของตัวเอง ถ้าจิตดีๆ มันเห็นชัด ถ้าจิตมันไม่ดี มันเห็นไม่ชัด หรือเห็นแล้วชัด แต่จับไว้ไม่ได้ ถ้าจับไม่ได้ ก็กำลังของจิตมันไม่พอ

ถ้ากำลังของจิตไม่พอ ไม่ต้องไปตื่นเต้น ไม่ต้องไปดีใจเสียใจทั้งนั้นน่ะ กลับมาที่สงบ กลับมาที่สงบ นี่คืออริยสัจ นี่เป็นข้อเท็จจริง ถ้าปัญญามันเกิด เวลาหลวงตาท่านบอกว่าฝึกหัดวิปัสสนานี่เป็นวิปัสสนาอ่อนๆ เป็นปัญญาอ่อนๆ

นี่ปัญญาอ่อนๆ ของวิปัสสนานะ ปัญญาอ่อนๆ ของพุทธะ ปัญญาอ่อนๆ ของสัจธรรม แต่ถ้าเป็นโลก ปัญญาเราคมกล้า เราเป็นนักวิจัย เราเป็นนักวิทยาศาสตร์ ปัญญาเราเข้มแข็ง...อย่างนี้ปัญญาของกิเลสไง วิชาชีพ อาชีพของเอ็ง

อาชีพใครมีความชำนาญอย่างไร นั่นอาชีพของเขา แล้วอาชีพนี้มันเกิดจากการศึกษา เกิดจากค้นคว้า เกิดจากสัญชาตญาณ อันนี้โลกียปัญญา ปัญญาทางโลก เพราะอะไร เพราะเราจบแล้ว เราเรียนมาแขนงนี้ แต่เราทำงานอย่างอื่นก็ได้ เราไม่ใช่ว่าเราเรียนจบวิชาใดมา เราจะใช้ทำอาชีพวิชานั้น อันนี้เป็นเรื่องโลกๆ ทั้งนั้นน่ะ แต่เขาเอาเรื่องโลกๆ เอาปัญญาอย่างนี้ไปศึกษาธรรมะ ไปศึกษาธรรมะแล้วเขาบอกเขามีปัญญามากๆ มันก็เป็นวิชาชีพ มันก็เป็นปัญญาโลก มันไม่ใช่พุทธปัญญา มันไม่ใช่ปัญญาวิปัสสนา มันไม่ใช่โลกุตตรธรรม มันไม่ใช่ปัญญาแก้กิเลส

ถ้าปัญญาแก้กิเลส ต้องทำความสงบของใจเข้ามา พยายามทำความสงบของใจเข้ามา

แล้วทำไมต้องทำล่ะ ทำความสงบของใจมันยุ่งมาก

ใครเป็นคนเกิด ตำราเล่มไหนมันเกิดมันตาย จิตเท่านั้นที่มันเกิดมันตาย จิตที่เกิดเป็นเราเท่านั้นที่มันเกิดมันตาย ถ้ามันสงบก็สงบเข้าไปสู่จิตนั้น ที่ผู้เกิดผู้ตายมันเข้าไปรู้ตัวมันเอง แล้วตัวมันเองต้องยกขึ้นสู่วิปัสสนา ตัวมันเองจะลอกอวิชชาออกจากใจของเขา ฉะนั้น ถ้าไม่เข้าสู่จิตตรงนี้ มันเป็นตำรา มันเป็นสาธารณะ เป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เขาบอกธรรมะเป็นธรรมชาติๆ...ใช่ ก็เป็นธรรมชาติไง ธรรมชาติมันไม่มีเจ้าของไง ธรรมชาติก็เป็นสัจธรรมอันนี้ไง แต่ของเราล่ะ อากาศมันเป็นธรรมชาติ แต่เราอยู่ในห้องอับที่หายใจไม่ได้ ไม่มีออกซิเจน แต่ถ้าธรรมชาติมันเป็นธรรมชาติ มันมีออกซิเจนของมัน แล้วของเราล่ะ

ฉะนั้น ต้องพยายามทำความสงบของใจเข้ามาเพื่อเป็นอัตตสมบัติ เป็นสมบัติของใจดวงนั้น

ฉะนั้น เขาถามว่าที่เขาทำมานี่ถูกไหม

ถูก ถูกแล้วขยันหมั่นเพียร มันจะได้ดีขึ้น เราจะบอกว่า ถ้าพอจับได้ เขาเรียกมีแนวทางแล้ว พอมีแนวทางแล้ว เหมือนกับเราได้ตำแหน่งหน้าที่การงาน แต่เราจะทำงานนั้นชำนาญ เราต้องฝึกหัดงานนั้นจนชำนาญ

นี่ก็เหมือนกัน พอเราเห็นแล้วเรารู้ทัน แต่เราต้องมีปัญญา เพราะว่ามันเป็นนามธรรม มันเป็นความสมดุลนะ ต้องจิตละเอียด เราถึงจับ พอจับแล้วพิจารณาไป มันเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาในใจ มันไม่ใช่ปัญญาสมองนะ สมองออกมานี่มันเป็นอดีตไปแล้ว

ถ้ามันเป็นปัญญาในใจ ใจต้องสงบ พอใจมันฟุ้งซ่าน ใจมันมีสิ่งเจือปนคือสมุทัย คือความเห็น คือความคาดหมาย พอเข้ามาเจือปนนะ มันไปไม่ได้แล้ว ถ้ามันจะไปได้ มันก็ไปเป็นโลกียปัญญา ปัญญาทางโลก คือข้อเท็จจริงที่จำมา คือเคยเป็นเคยได้ก็เทียบเคียง มันยังไม่เป็นจริง จนทำอย่างนั้น จนรู้ตัว รู้ตัวแล้ว อ๋อ! เราผิดพลาดมาขนาดนี้เชียวหรือ พอเริ่มวาง กลับไปพุทโธใหม่หรือกลับไปปัญญาอบรมสมาธิใหม่ มันถึงจะเข้าใจ

คนเราถ้าไม่รู้ว่าตัวเองผิด ไม่รู้ว่าตัวเองหลง แล้วใครจะรู้เท่าล่ะ จิตมันต้องรู้เท่าตัวมันเองว่ามันหลง จิตมันต้องรู้เท่าตัวเองว่าที่เดินมานี่พลาดอีกแล้ว ที่เดินมานี่กิเลสมันหลอกอีกแล้ว มันก็ย้อนกลับไปสู่ความสงบ ไปเริ่มต้นใหม่ เริ่มต้นใหม่มันก็จะจับให้ชัดเจน เห็นไหม ชัดเจนมาก ถ้ามันเป็นแนวทางนี้ มันเป็นปัญญาวิมุตติ ถ้าปัญญาวิมุตติ เดี๋ยวจะเข้าที่คำถาม

เป็นปัญญาวิมุตติ มันใช้ปัญญา ใช้ปัญญาเป็นปัญญาอบรมสมาธิ พอเป็นปัญญาอบรมสมาธิแล้ว เวลาจับแล้วนะ จับนี่จะเห็นเลย เพราะเวลาปัญญาวิมุตติเป็นเหมือนพระสารีบุตรที่ฟังเทศน์ เวลาหลานพระสารีบุตรมาต่อว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรื่องเอาตระกูลของพระสารีบุตรมาบวชทั้งหมดเลย คือจะมาต่อว่าไม่พอใจ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนกลับ เพราะเราไม่พอใจเรื่องทุกๆ เรื่อง เราไม่พอใจ แต่ความคิดที่ไม่พอใจมันก็เป็นเรื่องเรื่องหนึ่ง ความคิดที่ไม่พอใจเขาโดยส่วนตัวแล้วก็เป็นเรื่องหนึ่งเหมือนกัน แต่เราไปคิดว่าเราไม่พอใจทุกๆ อย่างเลย แต่ไม่ได้คิดว่าสิ่งที่เราคิดว่าไม่พอใจมันก็เป็นเรื่องหนึ่ง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งต่างๆ เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ความรู้สึกที่เธอไม่พอใจเขาด้วย เพราะอารมณ์ความรู้สึกนั้นก็เป็นวัตถุ เห็นไหม ความคิดที่เกิดจากสัญญา ความคิดที่เกิดจากเวทนา ความคิดที่เกิดจากสังขาร มันก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง เห็นไหม ถ้าจิตละเอียด ความคิดเป็นวัตถุอันหนึ่ง มันจับได้ ความคิดนี้เป็นวัตถุอันหนึ่งเลย จับได้ชัดๆ เลย แล้วแยกได้เป็นขันธ์เลย ขันธ์ เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ก่อนหน้านั้นเวลาความคิดกับเรา ความคิดเกิดดับ เราไม่รู้จักมัน พอจิตมันสงบ มันทิ้งขันธ์ มา แล้วพอมันไปจับอาการ จับอาการ จิตเห็นอาการของจิต ถ้ามันจับได้ มันเป็นนามธรรมทั้งหมด มันพูดเหมือนกับเป็นสิ่งที่เลื่อนลอยไง มันพูดเหมือนกับเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่คนที่มีสติปัญญาเป็นไปได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำสำเร็จมาแล้ว แล้วผู้ที่ปฏิบัติกำลังฝึกหัดกันอยู่นี่

ฉะนั้น เราอยู่ทางโลก เราอยู่ทางวิชาการ เราอยู่ทางวัตถุไง เราถึงต้องพยายามพิสูจน์ เห็นไหม ดูแสงสิ ดูแสงยังพิสูจน์ได้ว่าแสงนี้มันเคลื่อนที่อย่างไร หรืออากาศก็ยังพิสูจน์ได้ แล้วจิตทำไมมันพิสูจน์ไม่ได้ แต่มันไม่มีเครื่องพิสูจน์ไง มันต้องใช้มรรคนี่ไง ใช้สติปัญญาของเราพิสูจน์ไง เวลาพิสูจน์ก็เป็นความจริงขึ้นมาไง แล้วถ้าพิสูจน์เป็นความจริงขึ้นมา นั่นคือภาวนาเป็นไง ภาวนาก็มีมรรคไง

ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผลไง จิตดวงใดไม่มีมรรค จิตดวงใดที่ประพฤติปฏิบัติไม่มีเหตุมีผล ว่างเปล่า ไม่มีเนื้อหาสาระ ไม่มีข้อเท็จจริง

ถ้าจิตดวงใดมีมรรค มีมรรคนี่ไงเช้าวันนี้ผมเห็น เช้าวันนี้ผมเห็นนี่มรรคเกิดแล้ว แต่มรรคนี้มันก็เสื่อมคลายได้ มรรคนี้มันก็ผิดพลาดได้ เราจะต้องทำให้มันเข้มแข็ง ทำให้มันชำนาญขึ้นมาไง นี่พูดถึงว่าถูกไหมไง

. หลายคนบอกว่า ถ้าเป็นสมาธิ ควรมีปีติหรือมีนิมิต แต่ผมไม่ค่อยมีปีติเลย ถ้ามีก็แค่เย็นเล็กๆ แล้วเรื่องนิมิตยิ่งไม่มีเลย มีแต่ความสงบนิ่ง (แต่มีกำลัง) แบบนี้ถูกไหม

ถูก ถูกแบบว่าคนทำความสงบของใจ ครูบาอาจารย์ของเราใช้คำว่าทำความสงบของใจถ้าทำสมาธินะ ความสงบบ่อยครั้งเข้าๆ มันถึงจะเป็นสมาธิ พอเป็นสมาธิ สมาธิที่ตั้งมั่น สมาธินี้เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ

ฉะนั้น คนที่เวลาทำสมาธิๆ ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ พุทโธๆ จะเป็นสมาธิ สมาธิ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ จิตจะละเอียดเข้าไป แล้วถ้ามันเกิดนิมิต เกิดความรู้ความเห็นนะ ถ้าจะแก้ ต้องกลับมาที่พุทโธ ถ้าเวลาจิตมันสงบแล้วมันไปเห็นนะ ถามเลยว่าเอ็งเห็นอะไร

เวลาเห็น มันหลงออกไปเห็นไง ถามว่าเห็นอะไร พอถามว่าเห็นอะไร ที่เห็นนั่นคืออะไร กลับมาพุทโธทันที กลับมาที่จิตทันทีเลย นี่ถ้าไปเห็นนิมิต

ถ้าปีติ ปีตินี่สำคัญมาก ปีติ ปีติมันมีตั้งแต่ของเล็กน้อย ปีติจนรู้วาระจิต ปีติมันไปได้หมดเลย ทีนี้คำว่ามีปีติเขาบอกว่าปีติที่สูงใหญ่เขาไม่มี แต่เขามีปีติค่อยๆ ปีติเล็กน้อย เขามีของเขาอยู่

ปีติคือความสุขไง ปีติมันมี วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ มันเป็นองค์ของฌาน วิตก วิจาร พุทโธ ระลึกพุท วิตกขึ้น พุทกับโธนี่วิจาร พุทโธๆ วิตก วิจาร พุทโธๆๆ ระลึกคือวิตกขึ้น เรานึกถึงไง เราระลึกได้คือวิตก วิจารก็คือแยกออก พุทโธๆๆ ถ้ามันละเอียด มันก็เกิดปีติ พุทโธๆ วันไหนมันสบายใจมันก็เกิดความสุข มันก็เกิดปีติ

ถ้าเกิดปีติ มันเกิดความสุข ความสุขก็เอกัคคตารมณ์ มันก็ปล่อยวาง พอปล่อยวาง สุขแล้วทำไมปล่อยวางล่ะ สุขแล้วทำไมมันเป็นเอกัคคตารมณ์ล่ะ ก็มันเป็นสุขแล้ว

อันนี้มันเป็นอารมณ์ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแยกแยะให้เห็น แต่เวลามันเป็นเนื้อเดียวกัน เราจะเด่นตรงไหนล่ะ

ฉะนั้น ถ้าเราบอกเราไม่มีปีติเลย เราไม่มีปีติเลย แต่เรามีความสงบ เราไม่มีนิมิตเลย แต่เรามีความสงบ เพราะความสงบเป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิเป็นพื้นฐานให้เกิดปัญญา แล้วถ้าปัญญาเราเกิดแล้ว เราจะไปเอาอะไรล่ะ

ปีติก็ไปชอบปีติอยู่นั่น ถ้าเห็นนิมิต นิมิตใครรู้เห็นอะไร คนนั้นเป็นคนเก่ง แล้วมันเก่งอะไรล่ะ เก่งไร้สาระไง เก่งไม่เป็นประโยชน์ไง ถ้าเก่งเป็นประโยชน์ สิ่งนี้ไม่สำคัญ มันเป็นในฌาน มันเป็นอำนาจวาสนา เป็นนิสัย

ฉะนั้นว่า ถ้าเราเป็นสมาธิไม่มีปีติ...ดีน่ะสิ

ปีติมันมี แต่ปีติที่ลุ่มลึก ปีติคือว่าความสงบเย็น มันก็เป็นปีติ แค่เราปล่อยวาง ความสุข มันก็เป็นปีติแล้ว ว่างๆ มันเป็นปีติ ทีนี้ปีติ ปีติจนระลึกได้ จนระลึกรู้วาระจิตเขาได้ต่างๆ อันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง

ถ้ามีนิมิต นิมิต ถ้ามันเป็นนิมิตนะ คนที่เรื่องเวรเรื่องกรรม หลวงปู่ชอบท่านมีบุญกุศลมาก เวลาจิตท่านลงสงบ ท่านบอกว่าคู่ครองของท่านเป็นเทวดา ท่านอดอาหารนะ ในประวัติปฏิปทาฯ เป็นเทวดานะ เป็นผู้หญิง แล้วท่านเป็นพระไง เขาจะเอาอาหารทิพย์มา เพราะอดอาหารมาก จะเอาอาหารทิพย์มาลูบไล้เข้าไปตามผิวหนัง

หลวงปู่ชอบบอกไม่ได้นะ พระอยู่กับผู้หญิงไม่ได้

เทวดาบอกมันไม่มีใครเห็นหรอก มีแต่ท่านเห็นคนเดียว เป็นทิพย์ใครจะเห็นได้

โอ้โฮ! เป็นพระมันมีศีล แล้วบอกว่าอย่ามาตอนนี้สิ

ไม่มาได้อย่างไร อดอาหารน่ะ อดอาหารแบบว่ามันทรมานใจเขา

แล้วที่มา มาทำไมล่ะ

ก็จะเอาอาหารทิพย์เข้ามาแทนที่ว่าอาหารที่ฉันเป็นคำข้าว

หลวงปู่ชอบนี่ นี่นิมิต แต่นิมิตส่วนตัว มันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างภพชาติเลย จิตของคนที่มีอำนาจวาสนาเขาสร้างของเขามาอย่างนั้น

แล้วไอ้ที่ว่าอ่อนด้อย ไปเห็นนิมิตไอ้นั่น ไปเห็นนิมิตไอ้นี่ ไร้สาระ ไอ้นิมิตอย่างนี้มันทรงเจ้า ไอ้พวกทรงเจ้า ไอ้พวกจะกินไก่กับเหล้าขาวพร้อมๆ กันน่ะ ไร้สาระ ไอ้อย่างนี้เราเป็นชาวพุทธ เราไม่เอาสิ่งนั้น นี่พูดถึงว่า เรื่องของว่าทำไมเขาเป็นสมาธิแล้วไม่มีปีติ ไม่มีนิมิตไง

. ตอนนี้เกือบ ปีกว่าแล้วที่หลวงพ่อตอบคำถามแรกที่ผมถามมาเรื่องความหยุดคิดด้วยความคิด อันนี้ผมเข้าใจดีแล้ว แต่เรื่องจิตเห็นอาการของจิต ผมยังไม่เห็น ไม่เข้าใจ แต่พอมาเมื่อเช้านี้ ผมว่าผมเริ่มเห็นอาการมันแล้ว พอจับได้บ้าง ตามที่ผมเล่ามา อันนี้ผมให้คะแนนตัวเองเกินไปหรือเปล่า ขอหลวงพ่อเมตตาชี้แนะด้วยครับ

อันนี้การปฏิบัติ การปฏิบัติมันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ถ้าครูบาอาจารย์ท่านจะให้เรากินลูกยอ ท่านจะยกย่องสรรเสริญเราขนาดไหน แต่เราไม่เป็น เรางงนะ เรางงมาก ถ้ามีครูบาอาจารย์มาให้สถานะเราเลยว่าเรามีคุณธรรมอย่างนั้นๆ ถ้าเราไม่มีนี่เราก็แปลกๆ ใจเนาะว่าอาจารย์กูพูดจริงหรือเปล่าวะ

แต่ถ้าเราปฏิบัติไปแล้ว เรามันพัฒนาขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอน เรารู้เราเองนะ ถ้าเรารู้ของเราเอง นี่มันต้องรู้ของเราเอง

ขนาดที่ว่า เมื่อก่อนเขาถามมา ปีแล้ว เขาบอกว่าเขาใช้ความคิดหยุดความคิด

ถ้าใช้ความคิดหยุดความคิด ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ ถ้าเอ็งมีสติปัญญาทัน เอ็งสามารถทำได้ แต่ถ้าทำได้นะ แล้วถ้าทำอย่างนี้ เราบอกพุทโธๆ ทำไม่ได้ ใช้ความคิดหยุดความคิดได้อย่างไร

ความคิดหยุดความคิดนี่เหนื่อยมาก มันต้องใช้ความคิดล้างความคิด เอาความคิดเรามาพิจารณาความคิดที่มันคิดขึ้นมาว่ามันมีเหตุมีผลไหม ความคิดที่เราคิดขึ้นมามันมีข้อเท็จจริงไหม มันหลอกลวงเราหรือเปล่า ถ้าปัญญาที่มันดีกว่า มันจะเห็นว่าความคิดที่เราคิดมาโดยสัญชาตญาณ โดยความหลง มันไม่มีเหตุมีผลเลย พอเราใช้ความคิดที่เป็นปัญญาเข้าไปพิจารณามันน่ะ เออ! มันปล่อยหมดๆ มันปล่อยมันก็หยุดความคิดไง หยุดคิด แต่จะหยุดคิดก็ต้องใช้ความคิด เห็นไหม เอาความคิดหยุดความคิด ถ้าทำได้จริง

แล้วทำได้มา ทำมา เขาทำมาเขาบอกว่า แต่เรื่องอาการของจิต เขาไม่เคยเข้าใจ แต่พอเขามาเห็น เขาเริ่มเข้าใจ

เราก็บอกว่า ถ้าเขาจับได้ ถ้าเขาจับความคิดได้ เขาเห็นตัวตนของมัน ถ้าจับได้แล้ว อารมณ์นะ มันจะสะเทือนหัวใจมาก มันสะเทือนมาก เพราะหลวงตาเวลาท่านหากิเลส ท่านบอกว่า กูหามึงมานาน กูค้นคว้ามึงมานานไม่เคยเจอเลย เพิ่งมาเจอวันนี้หรือ

หลวงตาเวลาท่านพูดกับตัวเองนะ เวลาจะหากิเลส ตามหามันมาตลอด กิเลสเราเรียนมาจนเป็นมหา รู้ว่ากิเลสเป็นของที่ไม่ดี แล้วก็พยายามจะตามหามันๆ มานี่ ตามหามันมานาน ไม่รู้จักตัวมัน รู้จักแต่ชื่อเพราะเราเรียนมา ไม่เคยรู้จักตัวมันเป็นอย่างไร แต่พอไปเจอมัน เจอมันในวันนี้นะ เจออย่างนี้หรือ เจออย่างนี้หรือ โอ้โฮ! มันสะเทือนใจมาก

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราจับอาการได้ จิตเห็นอาการของจิต ก็เห็นสติปัฏฐาน แค่นี้แหละ การเห็นสติปัฏฐาน จริง เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นี่เห็นสติปัฏฐาน แล้วจับสติปัฏฐาน ได้จริง นี่เริ่มต้นของวิปัสสนา

เวลาว่าแนวทางสติปัฏฐาน ปฏิบัติแนวทางสติปัฏฐาน

มันเลื่อนลอย มันเป็นการศึกษา เวลาไปปฏิบัติก็ไปกดทับไว้ รู้เท่าหมด รู้เท่าหมด จิตมันไม่มีการกระทำ จิตมันจะไปเห็นใครได้อย่างไร ตัวมันไม่เป็นอิสระ ก็เราไปกดทับไว้ เรารู้เท่ารู้ทัน รู้เท่าทันจิต จิตมันก็เลยไม่เป็นอิสระ เพราะมันโดนกดทับไว้ เหมือนสตัฟฟ์มันไว้ แต่พูดธรรมะนะ ธรรมะแจ้วๆๆ ไปเลย เพราะคิดว่าธรรมะอยู่แค่นี้ คิดว่าสิ่งที่ปล่อยวางมานั้นคือความว่าง นั้นคือนิพพาน คือผลของการปฏิบัติ แต่ถ้าในการปฏิบัติจริงเขาว่านี่มิจฉา เพราะมันกดทับ มันไม่ใช่เป็นความจริง แต่เขาบอกเรามาทำสมถะกัน เขาบอกว่าสมถะมันเป็นสมถะ ไม่มีประโยชน์

สมถะคือความอิสระของจิต จิตเป็นสมาธิ จิตเป็นสมาธิคือมันปล่อยอิสระ ปล่อยวางจากสมุทัย วางจากความเห็นแก่ตัว วางจากความเป็นตัวตนของตัว แล้วมันเป็นอิสระ พอเป็นอิสระ มันเป็นสัมมาสมาธิ

พอสัมมาสมาธิ แล้วเราหัดชำนาญเข้าๆ พอจิตมันสงบ จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นกาย จิตเห็นเวทนา จิตเห็นจิต จิตเห็นธรรม แล้วมันจะเห็นสิ่งใดก็ได้ เอาเป็นปัจจุบัน สิ่งที่เห็นไปแล้ววางไว้ ต้องให้เกิดปัจจุบันตลอด ปัจจุบันตลอด

ถ้าเราเคยเห็นแล้วบอกว่าเราเคยเห็นแนวทางนี้ มันจะต้องเป็นแนวทางนี้ตลอดไป...ไม่ใช่

เราเห็นแนวทางไหนก็แล้วแต่ เราก็ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ จิตสงบเข้ามา แล้วมันออกคว้าอะไร จิตมันออกคว้าอะไร จิตมันออกจับอะไร ก็จิตเห็นอาการอะไร จิตเห็นอาการของจิต เห็นอะไร จิตเห็นอะไรก็พิจารณาตรงนั้น จิตเห็นอะไรก็พิจารณาในเดี๋ยวนั้น

แล้วถ้าพิจารณาไปแล้ว ถ้าจิตมันมีกำลัง มันจะประหัตประหารกัน มันจะปล่อย ขาดๆๆ คำว่าขาดนี่ชั่วคราวนะ คือปล่อยๆๆ แล้วเดี๋ยวพอมันปล่อยแล้วก็สงบ สงบแล้ว เดี๋ยวพอมันคลายออกมาก็คิดอีก ก็พิจารณาต่อเนื่องไป ทำซ้ำทำซาก

ทำซ้ำทำซากเหมือนเขาบอกว่าที่เขาทำมาซ้ำๆ ซากๆสิ่งที่นิ่งนี้มันลึกซึ้งขึ้นมามันเป็นจำนวนครั้งที่ปล่อย

ทำแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมา เห็นไหม ทำซ้ำทำซาก ทำซ้ำๆ ซากๆ ทำซ้ำๆ ซากๆ คือประสบการณ์ ประสบการณ์ทำซ้ำๆๆ เพื่อประสบการณ์ของจิต จนจิตมีความชำนาญ จิตมีความชำนาญ กิเลสมันก็เบาบางลงๆ เพราะปัญญามันก้าวเดิน

ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา มันเป็นธรรมจักร มันเป็นมรรคที่มันก้าวเดิน พอมรรคก้าวเดิน มีกำลังขึ้นมา ธรรมะมีความเจริญงอกงามขึ้นมา กิเลสมันต้องโดนประหัตประหารยุบยอบตัวลง ยุบยอบตัวลงมันก็สู้มาตลอด แต่สู้มาด้วยกำลังของมัน แต่เราใช้มรรคของเรากล้าหาญขึ้น พัฒนามากขึ้น จนถึงที่สุด ทำถึงที่สุด ถ้าต่อเนื่องๆ ไป เวลามันถึงที่สุดนะ เวลาถ้ากิเลสมันขาด มันจะประกาศกลางหัวใจเลย เห็นไหม

แต่ให้ทำบ่อยครั้งเข้า ให้ทำบ่อยๆ แล้วอย่าคาดหมาย เวลาล้มลุกคลุกคลาน เขาเขียนมา เขาเคยเขียนมาน้อยใจนะ หลวงพ่อนี่ด่าเอาๆ แต่เวลามันภาวนาได้ มันก็เป็นได้นะ แล้วอย่าเพิ่งไว้ใจ อย่าไว้ใจสิ่งใดทั้งสิ้น กาลามสูตร ไม่เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น ไม่เชื่อแม้สิ่งที่อยู่ตรงหน้าเรา แล้วเราพยายามปฏิบัติบ่อยครั้งเข้าๆ เวลามันเป็นจริงนะ มันจะกังวานหัวใจเลย ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต เอวัง