ทันความคิด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “การปฏิบัติเบื้องต้น”
กราบนมัสการหลวงพ่อ เป้าหมายของลูกตอนนี้ขอแค่ทำความสงบของใจให้ได้ ลูกใช้คำบริกรรมพุทโธ ธัมโม สังโฆ ในการเดินจงกรมและนั่งสมาธิ แต่กิเลสและความฟุ้งซ่านในใจมันมีมากกว่า การปฏิบัติเลยไปไม่ถึงไหน (ลูกฟังเทศน์หลวงพ่อทุกวัน เหมือนหลวงพ่อคอยสั่งสอนทุกวันว่า พุทโธแต่ปาก พุทโธสักแต่ว่า ทำไม่จริงจัง มันก็เลยไปไม่ถึงไหน) แต่ลูกก็ไม่ท้อค่ะ
ลูกเคยมาถามเรื่องปัญญาอบรมสมาธิ หลวงพ่อบอกให้ตามความคิดไป แต่ลูกไม่เข้าใจเรื่องการตามความคิดค่ะ จนเมื่อเช้าลูกปฏิบัติ พอเกิดความคิดไร้สาระ ลูกก็ด่ามันในใจ ด่าจนพอใจก็กลับมาพุทโธต่อ แต่พอมีความคิดขึ้นมา ลูกก็ทำแบบเดิมอีก บางทีเป็นความคิดถึงยายที่เพิ่งตายไป คราวนี้ลูกไม่ด่าค่ะ ลูกก็จะคิดว่า เกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นของธรรมดา วันหนึ่งเราก็ต้องตายเหมือนกัน แล้วลูกก็ปิ๊งขึ้นมาในบัดนั้นว่า การใช้คำด่าความคิด และใช้ธรรมะสอนใจ เป็นปัญญาอบรมสมาธิแบบที่หลวงพ่อบอกให้ตามความคิด (ตามไปด่ามัน) กราบหลวงพ่อช่วยอธิบายด้วยค่ะ
ตอบ : อันนี้พูดถึงว่า เวลาเขาเคยมาถามปัญหา แล้วเราสอนเรื่องปัญญาอบรมสมาธิ แล้วเขาก็งงว่าปัญญาอบรมสมาธิคืออะไร แล้วความคิด จะไปด่าความคิด ไปด่ามันทำไม ความคิดต้องไปด่ามันทำไม
ไอ้คำนี้มันเป็นภาษาของเราเองไงว่าตามไปด่ามัน คือตามไปติเตียน ตามไปวิพากษ์ ตามไปวิพากษ์ความคิดเราเอง เวลาความคิดเราเกิดขึ้น ความคิดเราเกิดขึ้น ความคิดนี้มันมีกำลังเหนือกว่า มันใช้เราเป็นขี้ข้า ถ้าเรามีสติปัญญา เราจะตามไปทันมัน แล้ววิพากษ์มันได้ แต่ความจริงแล้วคนไม่มีสติปัญญาสามารถตามทัน เรื่องตามความคิดนี้เป็นเรื่องตามที่ยากมาก เราถึงสังเกตกรณีหลวงปู่ดูลย์ท่านสอนให้ดูจิตๆ ความจริงคำว่า “ดู” ของท่านคือตาม ตามให้ทัน คำว่า “ดู” ของท่านคือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ไม่ใช่ดูเฉยๆ แต่คนเวลาไปศึกษามาแล้วไม่เข้าใจไง ดูตามตัวอักษรไง ตามตัวอักษร ความหมาย ท่านมีความหมายมากกว่านั้น แต่เวลาเราไปเจอตัวอักษรว่าดูความคิด เราก็ใช้การเพ่ง การเพ่งคือการจ้องดู การจ้องดู เราจะมีสติปัญญาเท่าทันความคิดไหม
๑. เราไม่มีสติปัญญาเท่าทันความคิด
๒. เราก็จ้องดูไม่ได้ เพ่งดูไม่ได้ ไม่เห็น
เพียงแต่คำว่า “จ้องดู” เราสมมุติภาพขึ้นมาแล้วจ้องดู มันก็เลยกลายเป็นการหลงผิดกันไปไง แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เวลาเรามีสติปัญญา เราตามความคิดทัน เราตามความคิดเราทัน ตามความคิดทัน ทันความคิด เรื่องนี้เป็นเรื่องแสนยาก
ฉะนั้น เราอยู่ในวงการ มีพระผู้ใหญ่ลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์เล่าให้เราฟัง เวลาหลวงปู่ดูลย์สอนบอกให้ดูจิต เขาก็ดูจิต มันเหมือนเซน ในญี่ปุ่น เราอ่านหนังสือของเขา มันมีทันตแพทย์คนหนึ่งเป็นลูกศิษย์ของเซน อาจารย์เขาให้โศลกไว้ว่า ให้ปัญหาไว้ว่าเสียงตบมือข้างเดียว เสียงมันเป็นอย่างใด แล้วเขาก็มีอาชีพเป็นทันตแพทย์ใช่ไหม เขาก็ทำฟัน ทำฟันไปเรื่อย พอได้ยินเสียงอะไรปั๊บ มันก็จะวูบ อ๋อ! เสียงตบมือข้างเดียวคือเสียงนี้ เช่น ได้ยินเสียงจั๊กจั่นก็บอกว่าเสียงตบมือข้างเดียวก็เหมือนเสียงจั๊กจั่น ก็วิ่งไปหาอาจารย์ของตัวเลย จะไปเอาคะแนน จะไปตอบไง ไปถึงบอก “อาจารย์ๆ กระผมรู้ครับ กระผมรู้แล้วครับ เสียงตบมือข้างเดียวคือเสียงจั๊กจั่น”
อาจารย์บอกว่า “ไม่ใช่”
ก็กลับมาอีก มาถอนฟันไปเรื่อย ทำไปเรื่อย พอมันจินตนาการไปถึงเสียงอะไร ก็คิดว่าจะเสียงนั้น เพราะอะไร เพราะมันอุปาทาน มันเป็นอุปาทาน มันเป็นตัวเองต้องหาคำตอบให้ได้ มันจะมีเสียงอะไรมาสะกิดใจ มีเสียงอะไรสะเทือน เสียงเล็กๆ น้อยๆ มันก็ว่าคือเสียงนั้น ครุ่นคิดอยู่อย่างนี้ ๑๗ ปี ๑๗ ปี จนสุดท้ายไปถามอาจารย์ของตัว อาจารย์ของตัวจะเฉลยไง
เวลาไปหาอาจารย์ของตัวจะเฉลย อาจารย์ของตัวบอกว่าเสียงตบมือข้างเดียวมันไม่มีเสียง ไม่มีหรอก เสียงตบมือข้างเดียวมันไม่มีเสียง แต่ที่ตั้งปัญหาขึ้นมาว่าเสียงตบมือข้างเดียวคือเสียงอะไร คือให้ตัวเองใช้ตรรกะ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิเพื่อให้จิตมันหยุดคิด แต่ตัวเองไม่เข้าใจ พยายามจะหาเสียงนั้นให้ได้ไง
เสียงจั๊กจั่นก็บอกว่าเสียงตบมือข้างเดียวคือเสียงจั๊กจั่น เสียงลมพัดใบไม้ไหวก็เสียงตบมือ เสียงตบมือข้างเดียวคือเสียงใบไม้ไหว พอได้ยินเสียงอะไรขึ้นมาหน่อยก็ว่าเสียงตบมือคือเสียงนั้น พอคิดว่าเสียงอะไรก็วิ่งไปหาอาจารย์ของตัว จะไปตอบปัญหา อาจารย์ของตัวบอกว่าไม่ใช่ๆ
ย้อนกลับมาหลวงปู่ดูลย์ ลูกศิษย์ผู้ใหญ่ของหลวงปู่ดูลย์เล่าให้เราฟังเอง บอกว่าท่านปฏิบัติใหม่ๆ หลวงปู่ดูลย์บอกให้ดูจิต แล้วพอดูสิ่งใดไปแล้วไปเห็นภาพสิ่งใดก็ไปหาหลวงปู่ดูลย์ บอกว่า “ดูจิตคือภาพอย่างนี้ครับ”
หลวงปู่ดูลย์จะบอกว่า “ไม่ใช่”
ก็วิ่งกลับมาดูจิตๆๆ อยู่นี่ จนไปเห็นนิมิตอะไร เห็นภาพอะไรก็วิ่งไปหาหลวงปู่ดูลย์อีกแล้ว “หลวงปู่ครับๆ ภาพอย่างนี้ครับคือดูจิต”
“ไม่ใช่ๆ”
ไม่ใช่ทั้งนั้นน่ะ เพียงแต่ว่าตอนหลังพอหลวงปู่ดูลย์ท่านนิพพานไปแล้วมันถึงมาอุปโลกน์กัน ไอ้ดูจิตสำมะเลเทเมาว่าดูจิต ดูอะไรกันน่ะ
เราพูดปัญหานี้เพราะอะไร เราพูดปัญหานี้ขึ้นมายกเปรียบเทียบให้เหมือนว่าตามไปด่าความคิด ตามความคิดไม่ทัน มันไม่ใช่การประพฤติปฏิบัติตามข้อเท็จจริง ถ้ามันตามความคิดของตัวเองทัน ตามความคิดของตัวเองทันนะ เวลาเราคิด ถ้าตามทันมันก็หยุดแล้ว ถ้าตามทันมันก็หยุด หยุดนั่นแหละคือสมถะ หยุดนั่นแหละ เพราะถ้าตามทันคือรู้ตัว ถ้าตามทันคือมีสติ ถ้าขาดสติ มันคิดไปแล้ว มันคิดไปแล้วจะไปตามอะไร ก็กูคิดอยู่นี่ ก็กูกำลังคิด กูกำลังบ้าอยู่นี่ แล้วกูจะไปรู้อะไร แต่ได้สติปั๊บ หยุด เพราะสติมันมา แต่ถ้าขาดสติ คิดไปอีกแล้ว
ไอ้คิดอยู่นั่นน่ะมันบอกมันดูจิต มันรู้เท่าทันความคิด ก็มันคิดของมันอยู่
ทำมามันมีปัญหาอย่างนี้ทั้งนั้นน่ะ มันไม่ทันความคิด แล้วถ้าทันความคิด ปัญหา ปัญหาเพราะอะไร เพราะเมื่อก่อนเขาบอกว่า หนูเคยไปหาหลวงพ่อ หลวงพ่อบอกว่าให้ตามความคิดไปให้ทัน ตามความคิด หนูก็ไม่รู้ความคิดคืออะไร หนูก็ไม่รู้ แต่เพราะหนูใช้พุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิเป็นบางครั้ง เพราะมีพื้นฐาน มีเบสิก ทำบ่อยๆ ครั้งเข้า บ่อยๆ ครั้งเข้า ทำบ่อยๆ ครั้งเข้า ไปรู้เท่าทันความคิด ตามความคิดไป พอความคิดมันทัน มันจะบอกว่าเรื่องไร้สาระ ไอ้นี่เราตำหนิเรื่องไร้สาระ
ฉะนั้น เวลาเราพูด บอกว่าตามไปด่ามัน ตามไปด่ามันคือตามไปวิพากษ์ คือวิพากษ์เขา ไม่ให้เขามีกำลังเหนือกว่าเรา เราไปด่า เราไปติเตียน เราไปวิพากษ์ก็เพื่อเราจะไม่หลงความคิดเราไง
ถ้าเราวิพากษ์ ความคิดมันคืออะไร ความคิดมันมาจากไหน แล้วความคิดมันเกิดจากอะไร แล้วทำไมต้องเกิด แล้วมันเกิดมาทำไม เกิดมาแล้วได้ผลอะไร ถ้าสติทัน มันจะเป็นสเต็ปมาเลย แต่ถ้าไม่ทันนะ “รู้เท่าแล้วแหละ” รู้เท่าคือเผลอแล้ว เพราะคำว่า “รู้เท่า” มันจะคิดใหม่แล้ว พอรู้เท่า ความคิดรอบใหม่มันจะเกิดแล้ว มันหลอกอีกแล้ว นี่มันจะรู้เท่า ทีนี้พอรู้เท่า มันแบบว่ามันทำแล้วมันไม่สะใจไง แต่เราใช้คำว่า “ตามไปด่า” ตามไปด่าเลย เพราะว่าถ้าโดยสัทธาจริตนะ เราพยายามกำหนดพุทโธๆๆ เพื่อให้จิตสงบ ทำไมต้องจิตสงบ
เวลาขับรถนะ ถ้ารถ เราจอดรถแล้วเราเข้าเกียร์ไว้ เราจะติดเครื่องรถได้ไหม เราติดเครื่องรถได้ แต่รถจะพุ่งออกไปเลย จะติดเครื่องรถได้ ต้องปลดเกียร์ว่าง แล้วพอติดเครื่องเสร็จแล้ว แล้วค่อยใส่เกียร์ แล้วถึงจะออกรถได้
โดยสามัญสำนึกของเรา เราใส่เกียร์กันมาตลอด ความคิดที่เกิดดับๆ มันมีกับเรามาตลอดตั้งแต่แรกเกิด ไม่เกิดมันก็มี ตายไปแล้วก็มี เรามาพุทโธหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราจะปลดเกียร์ว่าง ถ้าเราปลดเกียร์ว่างได้ เราจะออกรถโดยโลกุตตรปัญญาได้ ถ้าเราปลดเกียร์ว่างไม่ได้ รถมันพุ่งออกไปโดยเกียร์สามัญสำนึก มันเป็นสมมุติทั้งหมด เป็นเรื่องโลกๆ ถ้าไม่ปลดเกียร์ว่าง แต่ถ้าปลดเกียร์ว่าง เราติดเครื่องได้นะ แล้วเราเข้าเกียร์ของเรา มันจะเป็นคนละกรณีกับที่ติดเครื่องในเกียร์
ติดเครื่องในเกียร์ อาจติดได้ๆ เราใช้คำว่า “อาจติดได้” แต่รถจะพุ่งออกไป เสียการควบคุม แล้วเสียทุกๆ อย่าง แต่ถ้าเราปลดเกียร์ว่างได้ รถติดเครื่อง รถจอดสนิท ไม่ขยับเลย เครื่องติดแล้วเราเหยียบคลัตช์ แล้วเราค่อยเข้าเกียร์ แล้วพารถนั้นออกไป
การที่ว่าปัญญาอบรมสมาธิหรือกำหนดพุทโธ เหตุผลมันอยู่ตรงนี้ เหตุผลมันต้องปลดเกียร์ว่างก่อน ถ้าปลดเกียร์ว่างคือสัมมาสมาธิ เพราะเกียร์ว่างมันไม่อยู่ในเกียร์ มันมีแรงส่งไหม ไม่มีหรอก ไม่มี
ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ มันจะมีกำลังของมัน มันมีกำลังของมัน แล้วมันไม่มีนิมิต มันไม่ไปเกาะเกี่ยวกับอะไรทั้งสิ้น แล้วพอไม่เกาะเกี่ยว สมาธิถึงแก้กิเลสไม่ได้ไง สมาธิแก้กิเลสไม่ได้หรอก แต่ถ้าไม่มีสมาธิ มันก็ไม่มีภาวนามยปัญญา
ไม่มีสมาธิ ติดเครื่องยนต์โดยอยู่ในเกียร์ รถอยู่ในเกียร์ อันตรายขนาดไหน ถ้าไปติดอยู่ในที่รถติด มันเป็นไปไม่ได้เลย มันต้องชนรถคันหน้า มันต้องทำให้สังคมนั้นปั่นป่วน ดูจิตๆ คิดกันไป เวลาอภิธรรมรู้ตัวทั่วพร้อมกันไป ไม่มีสมาธิเป็นพื้นฐาน สติปัฏฐาน ๔ ปลอมหมด สติปัฏฐาน ๔ ปลอมๆ ปลอมๆ คือจินตนาการ ปลอมๆ คือกิเลสสมุทัยมันเจือปนมา ปลอมๆ คือเรารู้โจทย์ ปลอมๆ คือเรารู้ข้อมูล มันไม่สะอาดบริสุทธิ์ แต่เวลาเข้าสมาธิ พอจิตสงบแล้วเขาบอก เออ! มันมีความสุข มันมีความสุขนะ มันมีกำลังนะ แต่บอกว่าไม่เห็นรู้อะไรเลย
ก็ไม่รู้ ก็สมาธิ มันไม่ใช่ปัญญา มันจะไปรู้อะไร ไม่รู้หรอก แต่นั่นเป็นพื้นฐาน นี่เกียร์ว่าง ความเวิ้งว้าง ความสะดวกสบายที่กำลังจะขึ้นสู่สติปัฏฐาน ๔ ถ้าสู่สติปัฏฐาน ๔ ตามนี้ ที่เขียนมาถาม เขาถาม ที่ว่า “ลูกไม่เข้าใจเรื่องตามความคิดค่ะ จนเมื่อเช้านี้พอปฏิบัติไป มันเกิดเรื่องไร้สาระ ลูกก็เลยด่ามันในใจ ด่าจนพอใจ กลับมาพุทโธต่อ”
ด่าจนพอใจ เราด่ามัน คำว่า “ด่า” มันก็เป็นธรรม กุศลอกุศล คำว่า “ด่า” ลูกเรา เราอบรมลูก เราอบรมลูกเราให้เป็นคนดี เราหาเหตุหาผล พูดกับลูกของเราด้วยเหตุด้วยผล สิ่งนี้มันถูกต้อง สิ่งนี้มันไม่ถูกไม่ควรทำ สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างไร เราสอนลูกเราได้ ไอ้เราตามไปด่าจิต เราก็เท่ากับไปสอนจิตเรา เรากลับไปสอนมัน
จิตของเราแท้ๆ เราใช้ธรรมะเข้าไปสอนมัน มีสติปัญญาเข้าไปสั่งสอนมันว่าอะไรควรอะไรไม่ควร เพราะเอ็งทำไม่ควรนะ กูถึงทุกข์อยู่นี่ไง เพราะเอ็งทำไม่ควร ชีวิตกูถึงได้ทุกข์อยู่นี่ แล้วเอ็งควรทำให้ถูกต้อง ควรทำสิ่งที่ควรทำ เอ็งทำไมไม่ทำ
ถามมันๆ สิ่งที่ควรทำ สิ่งที่เป็นประโยชน์ ศีล สมาธิ ปัญญา สิ่งที่คุณธรรมมันควรทำ เอ็งทำไมไม่ทำ แล้วสิ่งที่ไม่ควรทำ ไม่ควรมี เอ็งคิดทุกวันเลย เอ็งคิดทุกวันเลย นี่ตามไปวิพากษ์ ตามไป นี่ปัญญาอบรมสมาธิ แต่จะตามให้เห็นอย่างนี้ อย่างที่พูดเมื่อกี้เริ่มต้นมาไง เรายกให้เห็นว่าไม่ใช่ของง่ายๆ หรอก
ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์เราท่านถึงไม่สอนทางนี้ไง ส่วนใหญ่แล้วจะสอนพุทโธ เพราะพุทโธมันกำปั้นทุบดิน เพราะอะไร เพราะมันเกิดจากจิต จิตเราบริกรรม มันเป็นว่ามันไม่ผจญภัย ไม่อันตรายจนเกินไป พุทโธๆๆ แต่ถ้าปัญญาอบรมสมาธิมันอันตราย อันตรายที่ว่ามันจินตนาการ มันคาดหมาย มันส่งออกหมด แล้วมันต้องมีครูบาอาจารย์อย่างหลวงปู่ดูลย์ ครูบาอาจารย์อย่างมหายานเขาว่า ตบมือข้างเดียวคือเสียงอะไร ๑๗ ปีนะ
ได้ยินเสียงน้ำตก วิ่งไปหาอาจารย์แล้ว “เสียงตบมือข้างเดียวเหมือนเสียงน้ำตกครับ”
“ไม่ใช่”
เออ! กลับไปตรรกะ กลับไปค้นคว้าต่อ จนมันคิดได้เรื่องอะไรมันก็วิ่งไปหาอาจารย์เลย “อ๋อ! เสียงเหมือนจั๊กจั่นครับ”
“ไม่ใช่”
จั๊กจั่นมันใช้ปีกถูกันอยู่นั่น เกี่ยวอะไรกับเอ็ง แล้วพออาจารย์จะเฉลย เสียงตบมือข้างเดียวมันไม่มีหรอก แต่ท่านต้องการให้พยายามใช้ปัญญาควบคุมความคิดให้มันเป็นสมถะ นั้นคือเป้าหมาย
ปัญญาอบรมสมาธิไม่ใช่ของง่ายๆ หรอก แต่เพราะมันเป็นพุทธจริตไง เดี๋ยวนี้เป็นปัญญาชนไง ปัญญาชนเวลาจะพุทโธก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ ก็ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ พอใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ไบรต์ขึ้นมาอีก รู้ไปหมด “อ๋อ! สมาธิเป็นอย่างนั้น สมาธิเป็นอย่างนั้น”...ไม่ใช่ สมาธิเป็นสมาธิ แล้วเวลาเป็นสมาธิแล้วเดี๋ยวก็คิดอีก คิดอีกก็ใช้ปัญญาไล่ไปเรื่อยๆ ไล่ไปเรื่อยๆ อันนี้คือว่าเราตามไปวิพากษ์ไง จริงๆ นะ เราก็ใช้คำนี้ ตามไปด่ามัน แต่เขาเขียนกลับมาถามหลวงพ่อว่า ตามไปด่ามัน หนูทำไม่ได้ หนูไม่รู้จัก คุณสมบัติผู้ดีไง ไอ้เรามันลูกทุ่ง มันทำเพื่อประโยชน์ไง
ฉะนั้น เพียงแต่ว่าเขาเขียนมา การปฏิบัติเบื้องต้นถามว่า ที่เขาเกิด ที่เขาไปรู้เรื่องความคิดไร้สาระ แล้วกลับมาพุทโธ ถูกไหม เพราะเขาถามว่า หลวงพ่อช่วยอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดกับเขาด้วย ที่เขียนมานี่
เวลาคนถ้ามันไม่มีเบสิกเลยนะ มันทำไม่มีสิ่งใดเลย มันจะเคว้งคว้าง แล้วมันจะไถลไป คนทำงานไม่เป็นมันก็ทำไม่เป็นตลอดไป แต่เวลาเขาบอก เวลาตอนเช้าไง เวลาความคิดมันไร้สาระ เขาตามทัน พอเขาตามทัน เขาตามไปด่ามันจนพอใจเลย เห็นไหม ตามทัน พอด่ามัน มันก็จบไง
ด่าคือตำหนิ ตำหนิความคิดเรา ตำหนิความคิดเราว่ามันไม่ควรทำอย่างนี้ๆ พอมันอ่อนลง พอความคิดมันเริ่มเบาลง กิเลสมันเริ่มรู้ตัวแล้วว่าธรรมะตามมาทันแล้ว บางทีเขาคิดว่ายายเพิ่งตายไป คราวนี้ลูกไม่ด่า เพราะด่ามันจะกระเทือนยายตัวเองไง คราวนี้ลูกไม่ด่า พอลูกไม่ด่า ลูกกลับใช้ธรรม ดูเป็นธรรมไง ลูกก็คิดว่าการเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นเรื่องธรรมดา วันหนึ่งเราก็ต้องตาย มันก็เลยปิ๊งขึ้นมา มีความรู้สึกปิ๊ง มันปล่อย มันปล่อยขึ้นมา
เวลาจิตมันดีขึ้นมา จากเริ่มต้นมันคิดเรื่องไร้สาระก็รู้เท่า พอมันดีขึ้น มันคิดถึงว่ายายตายไป ความตาย เกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่มันบวกคำว่า “ยาย” เคารพยายไง ก็เลยไม่กล้าด่า ก็เลยพิจารณาเป็นธรรม พิจารณาเป็นธรรมมันก็เศร้า เพราะเวลาถ้ามันพิจารณา มันทันนะ มันจะเกิดธรรมสังเวช คำว่า “ธรรมสังเวช” มันสังเวชไง แต่สังเวชโดยธรรม แต่เวลาพวกเราโศกเศร้า มันโศกเศร้าโดยกิเลส เวลากิเลสมันครอบงำหัวใจแล้วมีการโศกเศร้า มีการคร่ำครวญ มีความทุกข์ มีความพิไรรำพัน อันนั้นเป็นความทุกข์จากกิเลส
แต่ถ้าสติเราทัน มันจะเกิดธรรมสังเวช มันสลดหดหู่ มันสังเวช แต่เป็นธรรม ไม่ใช่กิเลส ถ้ากิเลสมันทำให้เศร้า ทำให้เจ็บช้ำน้ำใจ แต่ถ้ามันเป็นธรรมสังเวชนะ มันสังเวช มันเศร้า แต่มันเกิดความแช่มชื่น ชื่นบาน อืม! ชีวิตเป็นอย่างนี้ สัจธรรมเป็นอย่างนี้ มันชุ่มชื่นนะ มันชื่นใจ นี่ธรรมสังเวช ปรากฏการณ์เป็นแบบนี้
ฉะนั้น สิ่งที่ทำๆ ถ้าคิดให้ทัน มันก็จะเป็นประโยชน์ สิ่งต่างๆ ที่เราทำอยู่นี่ เราคิดไม่ทัน เราพุทโธๆ เรามาอยู่กับพุทโธ เราตามหลังพุทโธ เวลาพุทโธแล้วเราแฉลบไปที่อื่น มันไม่ทันพุทโธ ไม่พอดีกับพุทโธ
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราคิดๆ ไอ้ที่ว่าดูจิตๆ มันไม่ใช่ของง่ายหรอก มันต้องมีสติปัญญา แต่ถ้าพุทโธๆ มันง่ายกว่าเยอะ เพียงแต่ว่ากิเลสมันก็ยืนยันบอกว่ามันเบื่อ มันซ้ำซาก มันไม่มีเหตุมีผล ถ้าไม่มีเหตุมีผล มันปัญญาชน ปัญญาชนต้องใช้ความคิด แต่ความคิดมันคิดไปๆ คิดเริ่มต้นก็เป็นโลกียะไง ความคิดกับเราเป็นอันเดียวกัน คือถ้ามีความคิดก็มีเราปนอยู่ด้วย คือเรากับความคิด เหมือนกับเราทำผิด เราทำผิด มันไม่มีใครมาจับผิดหรอก
แต่ถ้าเมื่อใดเราแยกได้ สติปัญญามันแยกได้ ความคิดไม่ใช่เรา มันจะทันแล้ว พอมันทัน จับความคิดได้ มันพิจารณาได้ พิจารณาได้ ความคิดมันทุกข์ยากเพราะใคร ก็เพราะเอ็งนี่แหละๆ แล้วทำไมเอ็งถึงเกิดล่ะ นี่มันพิจารณามันไป พอมันทัน มันก็ปล่อยๆ แค่ปล่อยเท่านั้นน่ะ พอปล่อย เดี๋ยวก็คิดอีก ปล่อย เดี๋ยวก็คิดอีก แต่ถ้ามันชำนาญมากขึ้นๆ การปล่อย ปล่อยจะมากขึ้นๆ แล้วไล่ไปเรื่อยๆ นะ เดี๋ยวมันจับได้เลย
รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ความรู้สึกนึกคิดเกิดจากบ่วง รูป รส กลิ่น เสียงมันรัดคอ แล้วก็รูป รส กลิ่น เสียง มันบูชา รูป รส กลิ่น เสียง สิ่งที่มันเป็นบ่วงที่พอใจ มันบูชา พวงดอกไม้มันล่อมันหลอก รูป รส กลิ่น เสียงที่มันเป็นความเจ็บช้ำน้ำใจ มันรัดคอ เห็นไหม รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้ เป็นบ่วงด้วย เป็นพวงดอกไม้ด้วย เวลามันหลอกมันล่อ พวงดอกไม้มันล่อมันหลอกให้คิดไป เจ็บช้ำน้ำใจมันก็รัดคอเอาๆ ไม่เห็นไม่รู้ ถ้ามันได้รู้ชัดๆ วางหมด กัลยาณปุถุชน ทำสมาธิได้ง่าย เพราะว่าเขามีปัญญารู้เท่า แต่ถ้ายังไม่มีปัญญารู้เท่า ปุถุชนคนหนา ฉะนั้น มันต้องไล่กันขนาดนี้นะ เวลาภาวนา นี้โดยข้อเท็จจริง
เพราะว่าเขาถามมาแล้วบอกว่าให้อธิบายปรากฏการณ์ในใจของเขา ที่เขาทำนี่มันคืออะไร
นี่ไง เมื่อก่อนบอกไม่เข้าใจเลย หลวงพ่อบอกว่าตามไปด่ามัน หนูก็ไม่รู้เรื่อง หลวงพ่อให้ทำอะไรหนูก็ไม่รู้เรื่อง แต่เวลามันทำเป็น นี่เขาเรียกว่าปัจจัตตัง เวลามันเกิดขึ้นกับเรา เราจะเข้าใจได้
แล้วย้อนกลับไปเลย ย้อนกลับไปที่ว่าหลวงปู่ดูลย์ให้ดูจิตๆ มีพระผู้ใหญ่ลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์คุยกับเรา บอกว่าปฏิบัติกับหลวงปู่ดูลย์ ก็เหมือนอย่างนี้ เหมือนกับหมอในมหายาน เวลาเห็นอะไรปั๊บ วิ่งไปหาหลวงปู่ดูลย์เลย คำตอบคือไม่ใช่ ไม่ใช่แล้วไปทำใหม่ หลวงปู่ดูลย์นะ ไม่ใช่ ใครไปหา ไม่ใช่ๆ ไม่ใช่คือมันไม่ใช่ คือไม่ใช่ข้อเท็จจริง เป็นอุปาทานทั้งหมด นี่หลวงปู่ดูลย์เวลาท่านมีชีวิตอยู่ แต่เพราะท่านนิพพานไปแล้วถึงเอาเกียรติศัพท์เกียรติคุณของท่านมาหากินกัน เวลาท่านอยู่ ไม่มีตัวไหนเก่งเลย เวลาเจ้าของทฤษฎี เจ้าของความรู้จริงนั้นไม่อยู่แล้วเก่งทั้งนั้น อันนี้พูดถึงปัญญาอบรมสมาธิ จบ
ถาม : เรื่อง “การหยั่งลงในพระรัตนตรัย”
ขอความกรุณาพระอาจารย์ได้อธิบายไขข้อข้องใจเรื่องใช้คำว่า “กล่าวแก้” คือกระผมและเพื่อนๆ ได้สนทนากันเรื่องของการยึดมั่นในพระรัตนตรัย มีบางคนกล่าวว่าเขายอมรับในพระรัตนตรัยอย่างที่สุด มีทาน ศีล และภาวนาตามแบบของชาวพุทธ แต่เขาขอเพิ่มคือบูชาเทพในศาสนาอื่น เจ้าแม่ที่ไม่กินเนื้อ นักรบที่มีความซื่อสัตย์พร้อมๆ ไปด้วย เผื่อเหลือเผื่อขาด เพราะก็ไม่ผิดศีล สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดี จะผิดตรงไหน ผมก็ได้แต่อธิบายถึงการหยั่งลงมั่นในพระศาสนา ผมเปรียบได้แค่ว่าจะเอาน้ำมันงา แต่ไปบดเม็ดทราย มันไม่ได้ มันก็ไม่ทำให้กระจ่าง จึงเรียนมาเพื่อขอคำอธิบาย นี่คือคำถามที่ ๑ ครับ
๒. ผมได้ปฏิบัติตามที่พระอาจารย์ได้กรุณาสอน คือทำความสงบก่อน แล้วเฝ้าสังเกตในกาย ยึดลมไม่ให้ขาด รู้เนื้อรู้ตัว อะไรจะเกิดก็กลับมารู้ลม (ทำให้นิมิตต่างๆ ของผมไม่มี) มีแต่เวทนา แต่ตอนนี้ผมได้เพิ่มอีกหนึ่งอย่างคือทำใจว่าการบำเพ็ญนี้มันสนุกเหมือนเล่นกีฬา ผมจะใช้แนวเดียวกับท่านอาจารย์ คือลุยสู้แบบหัวชนฝา พยายามหาอาการของจิต ได้แค่ไหนแค่นั้น อะไรจะเกิด มันจะเป็นปัจจัตตัง อธิบายลำบาก เพราะภาษาเขียนไม่มีขีดความสามารถที่จะอธิบายให้ (ผู้รู้บอก) เพราะถ้าอธิบายเป็นคุ้งเป็นแคว ท่านบอกว่าเป็นวิปัสสนึก จึงขอความเมตตาพระอาจารย์พิจารณาเพิ่มเติมแก้ไข
ตอบ : เขาว่าตบเข้าที่ให้ด้วย เขาให้ตบเข้าที่คนนี้เนาะ
เรื่องพระรัตนตรัย เพราะว่าเวลาเราชาวพุทธนะ เวลาชาวพุทธเมื่อก่อน เวลาพระจุลจอมเกล้าฯ ท่านจะส่งลูกไปเรียนเมืองนอก ท่านก็ห่วงลูกมาก ห่วงลูกว่าถ้าส่งไปเรียนแล้วมันไปเจอศาสนาอื่น อาจจะเสียไป ก็เลยขอ พยายามบอกให้ลูกๆ ถึงพุทธมามกะ อย่างเราชาวพุทธต้องถึงพุทธมามกะ คือถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้เราเป็นชาวพุทธ เราจะศึกษาศาสนาไหนก็แล้วแต่ แต่เราก็มีหลักยึดว่าเราเป็นชาวพุทธ ถ้าเราเป็นชาวพุทธ เรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง
ถ้าเรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ถ้าเราจะศึกษา เราศึกษา เราไม่ใช่ไปนับถือ ถ้าศึกษา ถ้าเขาดีกว่า เราก็ควรจะนับถือเขา แต่เวลาเราศึกษาไปแล้วมันจะมีอะไรที่ดีกว่าเรา มันไม่มีศาสนาไหนที่ดีกว่าเราหรอก เพราะอะไร เพราะว่าพระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ ลัทธิศาสนาอื่นไม่กล้าพูด
ลัทธิอื่นนะ เราไปดูในคัมภีร์ของเขา เขาไม่ได้บอกว่าเขาเป็นพระอรหันต์ เขาบอกเขาเป็นพระเจ้า เขายังส่งต่อไปพระเจ้าของเขา เป็นอาจารย์ของเขา เขาไม่ได้บอกว่าเขาเป็นคนที่รู้เท่ารู้จริง มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่บอกว่ารู้แจ้ง แล้วถ้ารู้แจ้งแล้ว ถ้าใครมีวุฒิภาวะ มีปัญญาขนาดไหน ถามท่านสิ อะไรเป็นจริงเป็นจัง ถามได้หมด
นี่พูดถึงว่า เวลาเราถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถึงรัตนตรัย แล้วพอถึงรัตนตรัย คนที่ถึงรัตนตรัย อย่างพวกเรา อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ ถ้าปุถุชนคนหนา คนหนามันยังเปลี่ยน เราใช้คำนี้นะ เมื่อก่อนเราไม่ค่อยพูด เราบอกว่า เวลาเราทุจริต เราทำสิ่งใด นั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่คนขายจิตวิญญาณ เราบอกว่าแย่มาก ขายจิตวิญญาณของตัว
นี่ก็เหมือนกัน เราคิดดูสิว่า เวลาเราเป็นคนหนา เรายังไม่มีหลักยึด เราไม่ถือว่าเราขายจิตวิญญาณ เพียงแต่ว่าเราเปลี่ยนความเชื่อ เราเปลี่ยนความเชื่อจากลัทธิหนึ่งไปอีกลัทธิหนึ่ง แต่ของเราชาวพุทธ เราไม่ใช่ลัทธิ ของเราเป็นศาสนา มีการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย เกิด เกิดมาจากไหน อยู่ อยู่ทำไม ตายไปแล้วจบสิ้นที่ไหน ถ้ายังไม่สิ้นกิเลส จะเวียนว่ายตายเกิดอย่างนี้ เวลาตายไปแล้ว ถ้าสิ้นกิเลสแล้วนิพพานจะจบสิ้นอย่างนี้ นี่ไง มันถึงเป็นศาสนา ศาสนามันตอบโจทย์ถึงชีวิตไง ตอบโจทย์ถึงที่มาที่ไปของเราไง ตอบโจทย์ถึงที่มาของชีวิต อยู่อย่างไร
ดูสิ พระสมัยพุทธกาล เวลาปฏิบัติเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ทำไมเป็นอย่างนี้”
พระพุทธเจ้าบอกเลย “เมื่อชาตินั้นๆ เขาทำอย่างนั้น”
“เทวทัตทำไมเป็นอย่างนี้”
“เทวทัตเมื่อชาตินั้นๆ...”
มันมีที่มาหมด มันตอบโจทย์ชีวิต ตอบโจทย์ทุกอย่างไปหมดเลย เพียงแต่พวกเรายังทำไม่ถึง เราก็ไม่เข้าใจ โจทย์นี้ไม่ทะลุปรุโปร่งกับเรา ถ้าไม่ทะลุปรุโปร่งกับเรา เราก็มีที่พึ่งที่อาศัย มีรัตนตรัยเป็นที่พึ่งไง ถ้ามีรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เรามั่นคง ถ้ามั่นคง เราก็มีโอกาส ถ้าไม่มั่นคงก็แบบคนหนา เพราะคนหนามันยังหนาด้วยกิเลส มันก็เชื่อสิ่งใดๆ ไปตามแต่ผลประโยชน์
แต่ถ้าเป็นกัลยาณปุถุชน รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร สิ่งที่มารมันเชิดชู สิ่งที่มารบูชา สิ่งที่มารมาเกลี้ยกล่อมอยู่นี่ เรารู้เท่าหมด ถ้ารู้เท่าหมดแล้ว ถ้าเราถึงรัตนตรัย แล้วถ้าเรายกขึ้นสู่วิปัสสนา เพราะอะไร เพราะเราทำสัมมาสมาธิได้ง่าย ยกขึ้นสู่วิปัสสนาก็เป็นโสดาปัตติมรรค
ถ้าเป็นโสดาปัตติมรรค พิจารณาไปแล้ว ถ้าเวลาสังโยชน์มันขาด พอสังโยชน์ขาด เป็นโสดาปัตติผล โสดาปัตติผลนี่ถึงรัตนตรัยโดยสมบูรณ์ เพราะพระโสดาบันเท่านั้นไม่ถือมงคลตื่นข่าว เป็นพระโสดาบันแล้วจะไม่วอกแวกวอแวเลย พระโสดาบันไม่สีลัพพตปรามาสไง ไม่ลูบคลำในศีลไง แต่ถ้าปุถุชนมันยังลูบยังคลำอยู่ใช่ไหม อย่างเรา ถ้าเราปุถุชน เราก็ยังงงๆ อยู่นะ เออ! จริงไม่จริงเนาะ เออ! เขามาเสนอผลงานใช่ไหม ทฤษฎีที่น่าเชื่อฟัง เออ! มันก็ฟังขึ้นเนาะ เออ! เขาก็น่าจะดีกว่าเรา เพราะอะไร เพราะเราไม่มีพื้นฐาน
แต่ถ้าเป็นพระโสดาบันแล้วนะ อะไรๆ ก็ไร้สาระ ทุกอย่างไร้สาระ มันนอกจากใจไง เป็นพระโสดาบันเป็นที่ไหน เป็นพระโสดาบันมันก็เป็นที่หัวใจ ถ้าหัวใจมันเป็นแล้วอะไรมันจะมีค่ามากไปกว่านั้น
นี่พูดถึงรัตนตรัย เราจะพูดถึงรัตนตรัย เราจะพูดถึงมุมมองและความคิดไง ถ้ามุมมองมันแตกต่างมันหลากหลาย แล้วเราบอกเราถึงรัตนตรัย เราเอาความมุ่งหมายตรงไหนว่าเราถึงรัตนตรัยแล้วเราไม่คาดเคลื่อน ไม่คาดเคลื่อนนะ
ไอ้อย่างที่เขาพูด อย่างที่ว่าเขาถกเถียงกับเพื่อน เอาคำนี้ก่อน เอาคำว่า “กล่าวแก้”
คำว่า “กล่าวแก้” พอเวลาทางโลกเขาบอกว่าเป็นพุทธพจน์ๆ แต่เราเจอในพระไตรปิฎก เวลามารดลใจองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้นิพพานๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโต้แย้งกับมารตลอด “เมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเรายังไม่เข้มแข็ง สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วง กล่าวแก้คำดูถูก คำติฉินคำนินทาจากลัทธิศาสนาอื่น เราจะไม่ยอมนิพพาน”
พระพุทธเจ้าก็เผยแผ่มาตลอด จนวันมาฆบูชาไง สุดท้ายแล้ววันมาฆบูชา บอกให้พระอานนท์นิมนต์ถึง ๑๖ ครั้ง พระอานนท์ก็ยังรู้ไม่ได้ มันก็ถึงว่าพระอานนท์รู้ไม่ได้ แต่สังคมมันมั่นคงแล้ว ก็พูดกับมารไง “มารเอย บัดนี้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเราเข้มแข็ง สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ อีก ๓ เดือนข้างหน้า เราจะนิพพาน”
ทีนี้พอสังคมพุทธเรา สังคมปฏิบัติเรามีปัญหา จะบอกว่าพระสงบเสือก เสือกทุกเรื่องเลย
ไม่ใช่ กล่าวแก้ มีประเด็น มีความเห็นที่แตกต่าง มีมุมมองที่ไม่ลงตัวกัน เราใช้คำว่า “กล่าวแก้” กล่าวแก้คือปกป้องพระพุทธศาสนาไง กล่าวแก้คือหลักการของเราไง รัตนตรัยของเรา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ของเรา แล้วให้คนอื่นมาเหยียบย่ำย่ำยี ทำไมเราจะกล่าวแก้ไม่ได้
ถ้าเขาเหยียบย่ำเขาย่ำยี เราไม่ได้ไปว่าเขา เราไม่ได้ติฉินนินทาเขา เพราะเขาเหยียบย่ำย่ำยี มันต้องมีประเด็นสิ เขามีประเด็นอะไรเขาถึงเหยียบย่ำ เขาถึงทำลาย เราก็แก้ตามประเด็นนั้นไง เราก็ปลดเปลื้องประเด็นที่เขาล็อกไว้ใช่ไหมว่าผิดอย่างไร ไม่ดีอย่างไร เราว่าเป็นการกล่าวแก้ กล่าวแก้ความเห็นของเขา
ฉะนั้น เขาบอกว่าเขาไม่เข้าใจคำว่ากล่าวแก้
นี่เขาจะกล่าวแก้เพื่อนไง แล้วกล่าวแก้ไม่ได้ก็เขียนมาถามว่ารัตนตรัย เขาจะถึงรัตนตรัยอย่างไร
ถ้าถึงรัตนตรัยนะ ง่ายนิดเดียวเลย ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วอย่างที่ว่าเขาบอกว่าเขาถึงรัตนตรัย ถ้าพระสงฆ์นะ สิ่งใด คำสอนนอกศาสนา ศาสนาพุทธไม่สนใจ คำสอนนอกศาสนานะ มงคลตื่นข่าว สิ่งที่เขาพูดกัน เขาว่ากัน โดยสามัญสำนึกเดี๋ยวนี้มันเป็นประชาธิปไตยไง มันเป็นสิทธิ์ของเขา ใครนับถือศาสนาใด เขาก็ควรพูดหรือควรเคารพนับถือศาสนาเขา เราไม่ได้ว่าใครนะ เรากลับส่งเสริมด้วย เพราะเขาซื่อสัตย์ ซื่อสัตย์กับศาสดาของเขา เราชื่นชมนะ ใครนับถือศาสนาใด ใครมีความคิดอย่างใด แล้วเขาทำตามความเชื่อของเขา เราเห็นชอบด้วย แต่ถ้าเขาจะมาบอกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเด็กรับใช้ของเขาอะไรอย่างนี้ อย่างนี้เรารับไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นผู้เปิดทางให้เขามา อย่างนี้รับไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าอย่างนี้เรารับไม่ได้ เราไม่ตื่นไง
ฉะนั้น เพียงแต่ว่า เราถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราเชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว แล้วไม่เชื่อ อย่างที่ว่าเขาบอกว่าเพื่อนของเขาก็ยอมนับถือรัตนตรัย แต่ขอเพิ่ม ขอเพิ่มบูชาเทพในศาสนาอื่น เจ้าแม่ที่ไม่กินเนื้อ เจ้าแม่กวนอิมไม่กินเนื้อ
เราจะบอกว่า ถ้าเราถึงรัตนตรัยกัน แต่พระภิกษุ พระสงฆ์ ทำไมสร้างรูปเคารพในวัดของท่าน ถ้าสร้างรูปเคารพของท่าน ท่านยังถึงรัตนตรัยอยู่หรือเปล่า วัดกันง่ายๆ ตรงนี้แหละ วัดกันง่ายๆ เพราะอะไร เพราะความเชื่อมันเป็นนามธรรมใช่ไหม แต่รูปเคารพมันเห็นใช่ไหม แล้วเอามาตั้งอยู่นี่ ถึงรัตนตรัย ขาดหมด พวกนี้ขาดจากไตรสรณคมน์ ขาดจากไตรสรณคมน์คือขาดจากเณร
คนที่จะไปบวชพระ ไปถึงเขาต้องถึงไตรสรณคมน์ คือขอศีล ๑๐ นั่นล่ะ บรรพชาเป็นสามเณร เชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อในรัตนตรัย ถ้ารัตนตรัย ความบวชเป็นเณรสมบูรณ์ แต่ถ้าทำไม่สมบูรณ์ ความเป็นเณรไม่สมบูรณ์ แต่ถ้ารูปเคารพอย่างอื่น ขาดจากสามเณร เป็นพระไม่ได้ แต่ในวัดทั่วไปทำไมเขาสร้าง
มันสร้างไม่ได้ นี้พูดนี้โดยข้อเท็จจริง กล่าวแก้ๆ พูดนี้เพราะว่าอยู่ในพระไตรปิฎก อยู่ในข้อเท็จจริง แต่ทำไมปล่อยให้พระทำกันอย่างนั้น พระที่ทำ ทำกันได้อย่างไร เป็นเจ้าหน้าที่ทำผิดกฎหมายได้ไหม เป็นพระแล้วสร้างรูปเคารพอย่างนั้นได้ไหม
สร้างได้ ทำไมจะสร้างไม่ได้ ถ้าสร้างไม่ได้ มันอยู่เต็มวัดเลย สร้างได้คือจ้างให้ช่างมาสร้าง จ่ายสตางค์ก็ได้ แต่หัวใจ ความเป็นรัตนตรัยอยู่หรือเปล่า
หลวงพ่อบอกสร้างไม่ได้ เขาสร้างเสร็จแล้ว คนไปเต็มวัดเลย ทุกคนชอบด้วย สร้างไม่ได้อย่างไร โอ๋ย! เรียกคนได้เยอะแยะเลย
แต่ความเชื่อล่ะ นี่ไง เวลาปฏิบัติมันลงที่นี่ไง
ฉะนั้นถึงบอกว่า ข้อที่ ๑. กล่าวแก้ เพราะถ้าเราเป็นชาวพุทธนะ เราถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จบแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังกราบธรรมๆ อยู่ สัจธรรมนี้ประเสริฐสูงสุด เจ้าพ่อเจ้าแม่อะไร อย่างที่ว่านักรบที่ซื่อสัตย์ เขาเป็นคนดี เขาเป็นนักรบที่ซื่อสัตย์ แต่เขาได้ตายไปแล้ว ความดีของเขา จิตนั้นมันก็ได้เสวยบนสวรรค์ เขาก็ตามแต่ผลของวัฏฏะ แล้วถ้าเราเคารพอย่างนั้น เราก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดจะไปเป็นบริวารเขาใช่ไหม
แต่เราถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว เราจะนิพพานตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป เราไม่ใช่จะตามไปเป็นบริวารของใครใช่ไหม ถ้าเราจะตามไปเป็นบริวารของใครล่ะ เราไม่ตามไปเป็นบริวารของใคร เราอยากสิ้นกิเลส เราอยากพ้นทุกข์ ถ้าอยากพ้นทุกข์ เราก็เดินตามพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วพระสงฆ์ก็ตั้งแต่พระอัญญาโกณฑัญญะนะ
สงฆ์อะไรก็ไม่รู้ นี่พูดถึงว่ารัตนตรัยไง มันไม่ได้หรอก ถ้าถือรูปเคารพต่างๆ คำว่า “ไม่ได้” มันเป็นข้อเท็จจริง ที่หลวงตาท่านบอกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยเป็นศาสดาๆ เราไม่อยากพูดมากไปกว่านี้ไง เพราะการตอบปัญหา เราพูดธรรมะกัน จะไม่กระทบกระเทียบคนอื่นไง แต่นี่เพียงแต่มันตำตากัน แล้วมันยกเป็นบุคลาธิษฐาน เป็นตัวอย่าง
การแสดงธรรม ไม่ให้แสดงธรรมเบียดเบียนคนอื่น ไม่แสดงธรรมเสียดสีเขา ไม่ใช่แสดงธรรมเหยียบย่ำเขา แต่ท้องตลาดมันมีใช่ไหม ข้อเท็จจริงมันมี เรายกขึ้นมาเฉยๆ ถ้าพูดมากไปกว่านี้ เดี๋ยวเขาจะไม่ให้อยู่ เขาจะไม่ให้อยู่เป็นพระนะ
อันนั้นเป็นปัญหาสังคมนะ แต่เราพูดถึงรัตนตรัย พูดถึงความเชื่อ เพราะความเชื่อเป็นสิทธิ์ เป็นสิทธิ์ในหัวใจของทุกๆ คน เราพูดถึงเรื่องธรรมะ คือเรื่องที่เป็นสิทธิ์ในใจ ความรู้สึกของพวกเราที่จะนับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ตามความเป็นจริง
สังคมเป็นแบบนั้น มันเป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครอง ฝ่ายปกครองควรจัดการให้พระพุทธศาสนาเราให้เป็นพระพุทธศาสนา แล้วถ้าเขาจะเป็นพวกศาสนาพราหมณ์ พวกฮินดูเขาก็มีวัดของเขา พวกฮินดูเขามีนะ ควรจะสร้างในวัดของเขา ไม่ควรเอามาสร้างอยู่ในวัดของศาสนาพุทธ แต่พระเราทำไมมีปัญญาอย่างนี้ ไปเอามาไว้ในวัดกัน เราเห็นแล้วก็แปลกนะ
เมื่อวานมีโยมมาหา เขามาเห็นเราเอาต้นไม้ออก เขาบอก หลวงพ่อได้ที่ใหม่อีกแล้วหรือ ซื้อที่อีกแล้วใช่ไหม
บอกไม่ใช่ เขาเอาต้นไม้ออก เขาจะทำรั้ว
เขาก็บอก ที่วัดอื่นเขามีการก่อสร้างมีอะไรกัน
เราก็บอกเขาเลย วัดกู กูจะปลูกต้นไม้ กูจะเอาต้นไม้แข่งกับสิ่งก่อสร้าง สิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุกับต้นไม้กู กูจะปลูกต้นไม้แข่งกับเขา ต้นไม้กูนี่นะ มันซับคาร์บอน แล้วมันยังให้ออกซิเจนกูด้วย วัตถุที่เอ็งสร้างขึ้นมา เอ็งต้องหาเงินไปซ่อมมัน มันไม่คายออกซิเจนให้เอ็งด้วย กูจะแข่งกับเอ็ง
นี่เราไม่ตื่นเต้นไปกับเขา เราถือสัจจะความจริงของเรา
ฉะนั้น เขาบอกว่าให้อธิบาย เขาบอกว่าเขาอธิบายไม่ได้ อธิบายเพื่อนเขา
ไม่ต้องอธิบายหรอก เพราะอะไร เป็นจริตเป็นนิสัยของเขา ถ้าอธิบายแล้วมันเป็นความเชื่อนะ เวลาเพื่อนฝูง หนึ่ง เขาห้ามคุยกันเรื่องการเมืองกับศาสนา อย่าคุย เดี๋ยวเสียเพื่อน เพื่อนกันนะ อย่าคุย ๒ เรื่อง ศาสนากับการเมือง อย่าคุย ไอ้นี่จะไปแก้ไง
เราพูดได้ด้วยความเชื่อที่มันเห็นตรงกัน ถ้าเห็นไม่ตรงกัน เราก็แขวนไว้เสีย คือเรายังเป็นเพื่อนกันอยู่ แต่เราไม่เถียงกันเรื่องรัตนตรัย เรื่องรัตนตรัยของเอ็งกับรัตนตรัยของข้าคนละอัน รัตนตรัยของข้า เขาก็เชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ของเรา แต่รัตนตรัยของเพื่อนเรา เขาจะมีเทพเจ้าด้วย มีเจ้าแม่ด้วย อันนั้นก็เป็นเรื่องของเขา เราก็เอารัตนตรัยในใจของเรา เรารักษาที่ใจของเรา เราเอาตรงนี้
นี่กล่าวแก้ ถ้าเราแก้เขาไม่ได้ เราก็แก้เราไง เพราะเขาใช้คำว่า “กล่าวแก้”
นี่ข้อที่ ๒. นี่เขาพูดไปเรื่อย ถ้าเขาจะปฏิบัติไปแล้ว เขาสังเกตลมหายใจ
ทำไป เอาความจริงอันนี้ ถ้าความจริงอันนี้เกิดขึ้นนะ ถ้าจิตมันสงบขึ้นมาแล้วนะ มันจะซาบซึ้ง ซาบซึ้งเพราะอะไร เพราะเห็นพุทธะไง เห็นผู้รู้ เห็นใจของเรา สัมมาสมาธิคือเห็นพุทธะ เห็นพุทธะแล้ว เห็นพุทธะ ยกพุทธะขึ้นสู่วิปัสสนา วิปัสสนาไปแล้ว เวลามันทำลายแล้วมันทำลายหมด
ถ้ามันทำลายหมดแล้วนะ สิ่งที่เราเถียงกับเขา เพราะอะไร เพราะเรามีปัญญาอยู่แล้ว แล้วเรามีข้อเท็จจริงคือปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก คือใจมันเป็น ใจมันดี ไอ้นี่มันดีที่สุดแล้ว ถ้ามันดีที่สุด อันนี้มันเป็นการยืนยันไงว่าจิตของเรามันมีคุณภาพ มันมีคุณภาพ มันมีเหตุมีผล มีมาตรฐาน
ถ้าจิตมันไม่มีมาตรฐาน มันไม่มีสิ่งใดเลยก็บอกว่าเป็นชาวพุทธต้องมีรัตนตรัย แต่ขอถือเทพเจ้าด้วย อันนี้มันความเห็นส่วนตัว
ฉะนั้น ถ้าเอาจริงๆ หลวงตาท่านบอกว่า ต้องเชิดชูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วแสดงธรรม อย่าเหยียบย่ำองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วแสดงธรรม
คำว่า “เหยียบย่ำ” คือเหยียบย่ำธรรมวินัย เหยียบย่ำคำสอน แต่เราชอบคำสั่งคำสอนเท่าใด เราพูดแค่นั้น ไอ้ที่ไม่ชอบก็เหยียบย่ำ
นี่ไง เราไม่เหยียบย่ำ ไม่ทำลาย เวลาพูดไม่อยากจะเสียดสี ไม่อยากกระทบใคร เพราะเสียดสีกระทบใคร ทางโลกเขาบอกว่าแมลงวันไม่ตอมแมลงวัน แต่เราไม่ใช่ เพราะเหยียบย่ำกระทบกระเทียบกัน มันเป็นเรื่องโลก เป็นเรื่องการเอาชนะคะคาน แต่ธรรมะไม่หวังชนะเอ็ง ว่าอย่างนั้นเถอะ กูไม่ต้องการชนะใคร กูอยากชนะใจกูคนเดียว ไม่หวังชนะคะคานใครทั้งสิ้น ไม่หวังใดๆ ทั้งสิ้น หวังพรหมจรรย์ หวังการอยู่จบ แล้วชนะใจตัวเอง เอวัง