จิตตั้งมั่น
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๘
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “ภพและภวังค์”
กราบนมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพ ช่วงที่ผมมาภาวนาที่วัด ๗ วัน ได้มีโอกาสนั่งฟังพระอาจารย์เทศน์ วันสุดท้ายพระอาจารย์ได้เทศน์ถึงความรู้สึกสงบที่กลางหัวอกว่านั้นคือภพ ผมได้ยินแค่นั้น ตามันพองโต มันเป็นคำตอบที่ผมอยากรู้อยู่พอดี สิ่งเหล่านี้ผมได้สัมผัสบ้าง แต่ก็ยังไม่ถึงตัวจิตจริงๆ เมื่อพูดถึงภพ ผมเลยงงสงสัยเรื่องหนึ่งครับ ภพกับภวังค์เกี่ยวข้องกันอย่างไร เพราะภวังค์คือองค์ของภพ ผมเองก็สัมผัสภวังค์มาแล้วเช่นกัน
ขอเล่าย้อนหลังสักหน่อยครับ ผมเคยนั่งสมาธิจนว่าง และสงสัยว่าตัวเราอยู่ไหนกัน ทำอะไรอยู่ สักพัก สติก็กลับมา อ๋อ! ก็เรานั่งสมาธิอยู่ที่บ้านนี่แหละ ซึ่งผมเองก็เคยกราบเรียนถามพระอาจารย์ และก็ได้คำตอบว่า สิ่งสงสัยงงๆ ไม่แจ่มชัด นั่นแหละตกภวังค์ไปแล้ว
ผมจึงว่าภวังค์กับภพน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกัน เพราะตอนที่ผมกลับมีสติหลังจากตกภวังค์นั้น สติมันชัดเจนอยู่ในความสงบ แต่มันก็แค่สักพักเดียวเอง หลายๆ คนรวมทั้งผมเองตอนแรกก็ดีใจและเข้าใจว่ามันคือสมาธิ
แต่หลังจากที่ได้สัมผัสความสงบแบบนี้ สติชัดเจน มันคนละแบบกันจริงๆ แล้วค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป แล้วไปสงบที่กลางหัวอก ไม่ใช่หายวูบขาดสติ แล้วกลับมาสงบแบบครั้งตกภวังค์นั้น
กราบเรียนพระอาจารย์เมตตาชี้แนะด้วยครับว่า ภพ ปฏิสนธิจิต และภวังค์ มันเกี่ยวดองกันอย่างไรครับ กราบนมัสการหลวงพ่อ
ตอบ : ภพกับภวังค์ ไอ้นี่บอกว่าเขาเคยสัมผัสภวังค์มาก่อน ภวังค์เป็นองค์แห่งภพ ถ้าภพแล้ว ถ้าพูดถึงนักปฏิบัติ ถ้าครูบาอาจารย์ท่านพูดนะ ภพนี่ท่านบอกตอของจิต เวลาไปคร่อมตอๆ อยู่ เราพิจารณาไป เราละสิ่งต่างๆ เข้ามาๆ มาถึงตัวตนของมัน เห็นไหม แล้วตัวตนมันละเข้ามา แต่มันละตัวมันเองไม่ได้ไง
จะว่าตอของจิตๆ ถ้าคนภาวนาไม่เป็นไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้จักว่าอะไรเป็นจิต อะไรเป็นตอ ไม่รู้หรอก แต่ถ้าคนภาวนามาแล้ว ถ้ามันได้ละได้วางเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามาตามความเป็นจริงนะ ตามความเป็นจริงนะ แต่ส่วนใหญ่แล้วมันละไม่ใช่ตามความจริง พอไม่ได้ละด้วยความเป็นจริง มันก็เลยสับสนไง อะไรเป็นภพ อะไรเป็นภวังค์
เพราะบอกว่า ภวังค์เป็นองค์แห่งภพ ภวังค์เกิดจากภพ
ไม่มีภพ ไม่มีภวาสวะ ไม่มีสถานที่ ทุกอย่างไม่เกิด จิตเดิมแท้คือตัวภพ ภวาสวะ กิเลสสวะ อวิชชาสวะ ภวาสวะ เวลาภวาสวะมันเป็นสวะได้อย่างไร มันเป็นกิเลสได้อย่างไร ภพเป็นกิเลสได้อย่างไร ก็ตัวตนนี่แหละเป็นกิเลส ตัวตนเป็นกิเลส แต่มันกิเลสอย่างละเอียดไง แต่ถ้าเวลาคนที่ปฏิบัติ เขาเรียกว่ามันโลกียะ มันเป็นโลกทั้งหมด ถ้าโลกทั้งหมด มันเป็นเรื่องหยาบมาก ถ้าหยาบมาก เวลามันตกภวังค์นั่นน่ะ เวลาเราจะกำหนดพุทโธ เราจะใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันจะหายแว็บไป นั่นน่ะมันตกภวังค์ พอมันตกภวังค์
ภวังค์เป็นองค์แห่งภพ มันจะไปเกิดภพชาติใหม่หรือ
ภวังค์เกิดจากภพ ตัวภพตัวจริงๆ มันปฏิสนธิจิต มันมีของมันอยู่แล้ว พอมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าทุกคนมันส่งออกหมด มันไม่รู้จักตัวมันเองหรอก มันส่งออกไปข้างนอกหมด ถ้าส่งออกไปข้างนอกหมด เราก็ไปเอาสิ่งที่มันไปยึดไปเหนี่ยว มันไปยึดเป็นสัญญาอารมณ์ว่าสิ่งนั้นเป็นภวังค์ สิ่งนั้นเป็นภพ เราจินตนาการไปทั้งนั้นน่ะ ไอ้นั่นมันเป็นการจินตนาการ แต่เวลาภาวนาจริงๆ แล้ว เราปล่อยวางเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา มันจะรู้ไปเรื่อยๆ ไง ถ้ามันจะรู้ไปเรื่อยๆ
เขาถามเรื่องภพ เรื่องภวังค์ ถ้าเรื่องภพ เรื่องภวังค์ เขาว่า เวลาบอกเรื่องภวังค์ ฉะนั้น พอพูดถึงว่า ความรู้กลางหัวอก สิ่งที่ว่าเป็นภพๆ
เป็นภพคือสถานที่ เพราะวันนั้นมันมีคนมาถามว่า เวลาเขารู้สึกว่ามันมีสิ่งใดเป็นก้อนแน่นหน้าอกนั่นมันคืออะไร
เราบอกว่านั่นคือตัวภพ ถ้าตัวภพนะ ตัวภพมีอยู่โดยข้อเท็จจริง แต่เราไม่รู้หรอก คนเป็นไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าเราเป็น เราจะบอกว่า ถ้ามันย้อนเข้าไปได้จริง มันจะเข้าไปสู่ตัวตนของมัน ถ้าเข้าไปสัมมาสมาธินะ นั่นน่ะถ้าเป็นว่าตัวภพ ตัวภพหยาบๆ เพราะอะไร เพราะเวลามันละเข้าไป ถ้าเป็นโสดาบัน ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส
ถ้าเป็นสกิทาคามี ปฏิฆะกามราคะอ่อนลง ถ้าเป็นอนาคามี กามราคะปฏิฆะขาดลง คำว่า “ขาดลง” สิ่งนี้มันจะเข้าไปสู่ตัวภพแล้ว แล้วเวลาตัวภพ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มันเป็นสังโยชน์อันละเอียดไง ถ้าสังโยชน์อันละเอียด มันไม่มีใครเห็น มันจับต้องมันไม่ได้
เวลาเข้าไป ดูสิ เวลาหลวงตาท่านบอกว่าเวลาท่านพิจารณาไปถึงตรงนี้ ท่านพิจารณาอสุภะ พิจารณาต่างๆ หมดไปแล้ว แล้วก็เข้าใจว่าตัวเองจบสิ้น พอเข้าใจว่าตัวเองจบสิ้น มันรักษาใจตัวเองไว้ พอคำว่า “จบสิ้น” เราต้องรักษาไว้ ไม่รักษาไว้ มันจะส่งออกมา
ทีนี้พอรักษาไว้ จิตมันสำคัญ เวลามองผ่าน ท่านบอกว่าภูเขาเลากาทะลุปรุโปร่งไปหมดเลย บอกจิตเราทำไมมหัศจรรย์ขนาดนี้ จิตเราทำไมมหัศจรรย์ขนาดนี้ ท่านบอกว่า ธรรมกลัวว่าจะหลง สิ่งที่มหัศจรรย์ สิ่งที่มันออกไปรู้ไปเห็นมันมาจากจุดและต่อม จุดและต่อมคือตัวภพ แต่กว่าจะมาเป็นขนาดนี้ มันภพอันละเอียด ภพ ตัวตนของมัน ตัวตนที่แท้จริง
แต่เวลาเราปฏิบัติ เราก็ว่าพอเรากำหนดพุทโธเข้าไป พอเราไปรู้อะไรเป็นก้อนๆ ว่าเป็นตัวภพ
มันก็เป็นได้จริงนั่นแหละ แต่มันมีสิ่งห่อหุ้มมาเป็นอีกหลายชั้นเลย สิ่งห่อหุ้มคือสังโยชน์ สิ่งห่อหุ้มคือกิเลสอย่างละเอียด กิเลสอย่างกลาง กิเลสอย่างหยาบ กิเลสมันห่อหุ้มมันอยู่ เรารู้พร้อมกิเลสไง
จะบอกว่าไม่ใช่ภพ ก็ใช่ มันเหมือนโลก โลกมันมีแกนของโลก แม่เหล็กโลก มีแกนของโลก แกนของโลก แกนของใจ ตัวภพ แกนของหัวใจ ตัวละเอียด ถ้าอย่างนี้ต้องพูดกับผู้ภาวนาด้วยกัน
ถ้าผู้ไม่ภาวนา คนหนึ่งพูดเรื่องภาวนา อีกคนหนึ่งพูดเรื่องวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์คือมันจะเปรียบเทียบทางทฤษฎี เปรียบเทียบทางวิชาการ เปรียบเทียบเป็นจักรวาล ส่งออกหมดไง แต่ถ้าครูบาอาจารย์ท่านไม่ได้พูดส่งออก ท่านพูดทวนกระแสกลับเข้าไปข้างใน แต่เวลาพูด พูดเป็นวิทยาศาสตร์นี่ไง
เขาบอกว่าให้อธิบายเรื่องภพ ภพกับภวังค์มันแตกต่างกันอย่างใด
เวลาภพ ตัวจิตนี่สำคัญ มันมหัศจรรย์ ตัวจิต ปฏิสนธิจิต เวลามันเกิดเป็นสถานะของมนุษย์ มันเป็นสถานะไง สถานะของมนุษย์ สถานะของสัตว์ สถานะของเทวดา อินทร์ พรหม มันก็มีจิตหมด มีปฏิสนธิจิตหมด แล้วมันมีสถานะ สถานะก็ภพชาตินั่นน่ะ ภพชาติอย่างนี้เป็นภพชาติในวัฏฏะ
แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่องอภิธรรม เรื่องต่างๆ เรื่องอภิธรรมคือเรื่องวิทยาศาสตร์ทางจิต ท่านจะย้อนกลับเข้าไปที่อารมณ์ ท่านไม่พูดถึงสถานะเลย ท่านพูดถึงประสบการณ์ของจิตเลย ถ้าประสบการณ์ของจิตมันเป็นอย่างนั้น แล้วเราก็ไปท่องจำกัน แล้วเราก็สร้างภาพสร้างอารมณ์ขึ้น พอสร้างอารมณ์ว่าจะเป็นอย่างนั้นๆ
แต่เวลาครูบาอาจารย์เราไม่ได้สร้างอารมณ์ ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบแล้ว ถ้าใจสงบนะ ใครเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง
เพราะมันจะเห็นกายเหมือนกันหมดไม่ได้ เห็นจิตเหมือนกันหมดไม่ได้ เห็นเวทนาเหมือนกันหมดไม่ได้ มันเป็นจริตนิสัย มันเป็นอำนาจวาสนา คนเราจะให้มีนิสัยเหมือนกัน มีความทุกข์เหมือนกัน มีบาปมีกรรมเหมือนกัน เป็นไปไม่ได้ เพราะคนเรามันสร้างเวรสร้างกรรมมาแตกต่างกัน ถ้าคนสร้างเวรสร้างกรรมแตกต่างกัน ความรู้ความเห็นมันจะแตกต่างกัน
ถ้ามันแตกต่างกัน ทำความสงบของใจเข้ามา แล้วพอเป็นอย่างนั้นขึ้นมา ครูบาอาจารย์ของเรา เรื่องอภิธรรมเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตนั้นยกไว้ แต่เวลาความเป็นจริงเป็นความจริงจากเรา จากคนปฏิบัติ นี่ครูบาอาจารย์ท่านสอนอย่างนี้ ท่านสอนอย่างนี้ ท่านต้องการให้จิตดวงนั้นเป็นผู้รู้ ตัวจิตตัวที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะให้เป็นผู้รู้ ให้เป็นผู้แก้ไข ให้เป็นผู้ปลดเปลื้อง ถ้าผู้ปลดเปลื้องแล้ว
ถ้าอย่างเรา เด็กขึ้นมาทุกคนอยากให้เรียนหมอ แล้วมันจะเรียนหมอได้ทุกคนไหม ทุกคนก็อยากให้ลูกเราฉลาด อยากให้ลูกเราเรียนหมอ แต่ลูกบางคนมันไม่เรียนมหาวิทยาลัยด้วย มันเรียนวิชาชีพ มันเรียนวิชาชีพของมันไปเลย มันไม่เรียนทางนี้ พอมันไม่เรียน เพราะว่ามันเรียนไม่ไหวไง
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าอภิธรรมเป็นอย่างนั้นๆ มันตายตัวไง มันสูตรสำเร็จไง แล้วจิตที่เป็นแบบนั้นมันเป็นไปได้ยากไง แต่ที่มันวางไว้อย่างนั้นเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วิทยาศาสตร์ทางจิต องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคลียร์ปัญหา เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้แจ้ง
แต่พวกเราปฏิบัติ เราก็ไปท่องจำอย่างนั้น แล้วก็พยายามจะทำให้เหมือนแบบนั้น มันก็เลยเป็นจินตนาการ พอเป็นจินตนาการ ถ้าจินตนาการแล้วมันก็สร้างภาพ พอสร้างภาพให้จิตเป็นแบบนั้น พอจิตเป็นแบบนั้น มันก็พยายามจะจัดรูปแบบให้จิตเป็นแบบนั้น มันก็เลยกลายเป็นรูปแบบ มันเลยไม่เป็นความจริงขึ้นมา
แต่ถ้าเป็นการปฏิบัติของเรา เรากำหนดพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิให้จิตมันสงบเข้ามา ถ้าสงบแล้วให้รู้ตามความเป็นจริง ถ้ารู้ตามความเป็นจริง
อย่างที่เขาว่า เมื่อก่อนเขาก็เคยตกภวังค์มา ภวังค์เป็นองค์แห่งภพ
องค์แห่งภพก็เหมือนหลวงตาว่าไง ตอของจิตไง เวลาเข้าไปเจอตอ แต่ขอให้เจอเถอะ มันไม่เจอหรอก เพราะส่วนใหญ่แล้วไม่รู้จักตัวตนของตัว แล้วจับตัวเองไม่ได้
แม้แต่เราทำความสงบของใจ ในอภิธรรมเขากลัวสมถะมาก กลัวว่าจิตมันลงสมถะแล้วมันจะเกิดนิมิต มันจะทำให้เราเนิ่นช้า มันไม่ใช่ทางแห่งสติปัฏฐาน ๔ มันไม่ได้ใช้ปัญญา นี่ความเห็นของเขา แต่เขาเข้าใจผิดหมดเลย
ถ้าจิตสงบ ทำสมถะ จิตมันสงบแล้ว ถ้าจิตดวงใดเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง นั้นจะเป็นหนทางแห่งสติปัฏฐาน ๔ หนทางแห่งสติปัฏฐาน ๔ เพราะมันจะเกิดภาวนามยปัญญา
การเกิดภาวนามยปัญญา ปัญญาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาจะเกิดตรงนี้ เราจะบอกว่าจุดเริ่มต้นของวิปัสสนามันเกิดตรงนี้
แต่ถ้าจิตของเรามันไม่เคยสงบมา เพราะมันมีแต่การสร้างอารมณ์ให้ว่าง เราพยายามจะคิดถึงความว่างไว้ เราคิดถึงความเวิ้งว้างไว้เพื่อไม่ให้จิตมันคิดเรื่องอื่น มันเป็นสัญญาความว่าง มันเป็นสัญญา สัญญาว่าเป็นสมาธิ แต่ไม่มีสมาธิ
แต่เวลาพุทโธๆ พุทโธพอจิตสงบเข้ามา อย่างผู้ถามว่า เมื่อก่อนเขาก็เป็นอย่างนี้ มันตกภวังค์ มันเวิ้งว้างไป มันก็ว่าเป็นสมาธิ แต่พอมาพิจารณาซ้ำๆ เข้าไปแล้ว ค่อยเป็นค่อยไป เขาบอกว่าไม่ใช่ ไม่เหมือนกันเลย ไม่เหมือนกันเลย
สัมมาสมาธิจะแจ่มแจ้งมาก แจ่มแจ้งมาก พุทโธๆ ละเอียดก็รู้ว่าละเอียด เวลาหยาบขึ้นมา มันขัดแย้งไปหมดเลย เวลาละเอียดขึ้นมา รู้ว่าละเอียดเลย แล้วเวลามันเริ่มปล่อยวาง เริ่มปล่อย ปล่อยอะไร ปล่อยความคิด เพราะเราคิด มันถึงมีอารมณ์ พอเราปล่อยอารมณ์ ปล่อยความคิด แล้วตัวมันอยู่ได้อย่างไรล่ะ ตัวมันอยู่ได้อย่างไร
ที่เราคิดกันอยู่นี่มันคืออารมณ์ ที่เราว่าว่างๆๆ นี่คืออารมณ์ แล้วเวลามันปล่อยอารมณ์ มันปล่อยขันธ์ ๕ มันพุทโธๆ พุทโธให้ปล่อย
เขาบอกว่า พุทโธจนพุทโธไม่ได้
ความจริง พุทโธไปเถอะ แล้วเวลามันปล่อยมันจะปล่อยโดยตัวมันเอง พอมันปล่อยอารมณ์แล้ว ตัวมันจะชัดเจนมากเลย พอตัวชัดเจนมาก พอชัดเจนปั๊บ เดี๋ยวมันก็เสวยอีก มันก็คิดอีก เพราะว่ามันทรงตัวเองไม่ได้
หลวงตาบอกว่า จิตจะอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องอาศัยอารมณ์ อาศัยเกาะเขาไปตลอด ถ้าอาศัยเกาะเขาไป เพราะมันอาศัยเกาะเขาโดยข้อเท็จจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงฉลาด ให้เราบริกรรมพุทโธ ให้มันเกาะพุทโธไว้ พุทโธๆๆ มันเกาะพุทโธเพราะพุทโธเป็นพุทธานุสติ เกาะจนมันไม่ต้องอาศัยเกาะใคร เพราะมันเข้มแข็งขึ้นมา ไม่ต้องอาศัยเกาะใคร มันปล่อยพุทโธ พุทโธก็หายไป แต่ตัวมันชัด
แต่ของเรา ก่อนหาย หลับก่อน หลับไปแล้วค่อยมารู้ว่าหายทีหลังไง
แต่ถ้าเป็นข้อเท็จจริงมันหายต่อหน้าต่อตา แล้วเวลาหายต่อหน้าต่อตา ครูบาอาจารย์ท่านยืนยันตรงนี้
ผู้ปฏิบัติใหม่ก็บอกว่า ต้องภาวนาจนพุทโธหาย แล้วมันพยายามจะท่องให้หาย นึกให้หาย พยายามปฏิเสธให้มันหาย มันก็เลยไม่เป็นความจริงเลย
แต่ถ้าเป็นความจริง ความจริงพอมันพุทโธๆ มันละเอียดจนพุทโธไม่ได้ นี่อัปปนาสมาธิ เวลาคลายตัวออกมา มันเสวย เสวยก็ให้เสวยที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม ตรงนี้ยกขึ้นสู่วิปัสสนา ถ้ายกขึ้นสู่วิปัสสนา มันก็จะมีปัญญาของมัน ถ้าปัญญาของมัน มันจะไปแล้ว สติปัฏฐาน ๔ โดยข้อเท็จจริง
นี่พูดถึงว่าภพกับภวังค์ ถ้าภวังค์คือขาดสติ ลงภวังค์
ถ้าภพ ถ้ามีสติปัญญา มันจะชัดเจนของมัน
ฉะนั้น คำถามที่ว่า “ขอให้ท่านอาจารย์ชี้แนะด้วยครับว่า ภพ ปฏิสนธิจิต ภวังค์ มันแตกต่างกันอย่างไร มันเกี่ยวดองกันอย่างไร”
มันเกี่ยวดอง มันก็ต้องมีปฏิสนธิจิต มันมีชีวิต ชีวะคือชีวิต ชีวิตเริ่มต้น ถ้ามีชีวิตเริ่มต้นนั่นน่ะตัวภพ ปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตมันก็เหมือนกับไม้ท่อนหนึ่ง ไม้ท่อนหนึ่งมันมีเปลือกนอก มีนอกมีใน ถ้าตัวในก็ตัวภพ ปฏิสนธิจิต
แล้วตัวภวังค์ ภวังค์มันก็เหมือนเรายกขึ้นสู่ภวังค์ ยกขึ้นสู่ความคิด ในอภิธรรมมี เรื่องของจิตกี่ดวงๆ กี่ดวงๆ เขาพูดถึงตรงนี้
ครูบาอาจารย์เราบอกหนึ่งเดียว จิตมีหนึ่งเดียว แต่มันคิดเรื่องอะไร มันเสวยเรื่องอะไร มันต่อเนื่องด้วยเรื่องอะไร แค่นั้นเอง แล้วถ้าเราทันเข้ามา มันก็ปล่อยวางเข้ามาๆ ปล่อยวางจนถ้ามันสันตติ มันอยู่ตัวมันเอง นี่สัมมาสมาธิ แล้วถ้ามันออกไปมันก็เป็นนั่น
ฉะนั้น คำว่า “ภพ” เราจะบอกว่า มันอยู่ที่ความถนัดของคนว่าเวลาคนถนัดแล้ว เวลาพระที่ภาวนากัน แล้วเวลาธมฺมสากจฺฉา เวลาพูดไม่ตรงกัน เขาเรียกว่าสมมุติต่างกัน มันจะออกตรงนี้ไง ออกตรงว่าสมมุติต่างกัน แต่ความหมายอันเดียวกัน สมมุติต่างกัน เขาพยายามจะออกตรงนี้นะว่า ความหมายเหมือนกันแหละ บรรลุธรรมเหมือนกันแหละ แต่สมมุติมันต่างกัน
แต่ถ้าความจริง ความจริงคนรู้เวลาถ้ามันพูดนะ คนเราปฏิบัติ นักปฏิบัติจะรู้ว่าเวลาปฏิบัติไป จิตมันเสื่อม เวลาทำสมาธิไป จิตมันเสื่อม เราพยายามจะทำให้มันชำนาญ ชำนาญในวสี ให้สมาธิมันมั่นคง ถ้ายกขึ้นวิปัสสนา เวลามันใช้สติไปเยอะ ใช้ปัญญาไปมากแล้วมันจะฟุ้งซ่าน ก็ต้องกลับมาทำความสงบ แล้วก็พิจารณาต่อ
แต่ถ้าคนไม่เคยทำ พอมันจิตสงบแล้วมันก็พยายามคิดถึงปัญญา พอปัญญามันเกิดขึ้น มันไปรู้สิ่งใดปั๊บ มันบอกจบแล้ว อย่างนี้เวลาพูดธรรมะมันจะคลาดเคลื่อน เพราะอะไร เพราะเราได้สัมผัสทีเดียว แล้วความสัมผัสหนเดียวนั้นน่ะมันเพิ่งเป็นการฝึกงาน
แต่คนที่มีความชำนาญทำแล้วทำเล่าๆ มันจะเข้าใจตลอดว่าคุณค่าของมันมากน้อยแค่ไหนมันถึงยกขึ้นสู่ปัญญาได้ ใช้ปัญญามากน้อยแค่ไหน สมาธิมันถึงจะก้าวเดินไปไม่ได้ สมาธิมันมีกำลังพอหนุนให้ปัญญามันก้าวเดินไป มันก็พยายามจะกลับมาทำความสงบของใจ มันต้องพร้อม มันต้องสมดุล พอสมดุล มัชฌิมาปฏิปทา มันมรรคสามัคคี เวลามันขาด เวลามันขาดปั๊บ เขาจะรู้เลยว่าทำอย่างไร จำนวนอย่างไร พิจารณาอย่างไร แล้วถ้าอย่างนี้ปั๊บ เวลาตัวเองจะเอาประสบการณ์ของตัวเองเพื่อมาสื่อความหมายเป็นธมฺมสากจฺฉา มันจะคลาดเคลื่อนไหม
ทีนี้มันคลาดเคลื่อน ทีนี้ว่าภาษาสมมุติๆ สมมุติของใครก็แล้วแต่ มันพูดแล้วมันเหมือนกันถ้ามีความชำนาญเหมือนกัน แต่พอมันไม่มีความชำนาญ เวลามีปัญหาขัดแย้งก็บอกว่ามันเป็นสมมุติต่างกันๆ แต่มันเป็นอันเดียวกัน...อันเดียวกันอย่างไร นี่พูดถึงว่าเวลาคนจะหาทางออกไง
ฉะนั้นจะบอกว่า ภพ ปฏิสนธิจิต ภวังค์
ภวังค์แทนกันไม่ได้ แต่ภพ ปฏิสนธิจิต แทนกันได้ แบบว่าจะเรียกว่าภพก็ได้ จะเรียกปฏิสนธิจิตก็ได้ แล้วคำว่า “ภพ” อย่างภพหยาบภพละเอียด อารมณ์ เวลาอารมณ์ฉุนเฉียว อารมณ์โกรธนี่ก็อารมณ์หนึ่ง อารมณ์ความหลง ไม่รู้ตัวเอง ก็เป็นอารมณ์หนึ่ง มันเป็นอารมณ์ เวลาอารมณ์มันก็ชื่อต่างๆ กันไป แต่มันมาจากไหนล่ะ มันก็มาจากปฏิสนธิจิต มันมาจากชีวะ มันมาจากชีวิตนั่นแหละ มันต้องมีที่มาที่ไป
เวลาปฏิบัติไปแล้ว ถ้ามันตัดทอนเป็นชั้นๆ เข้าไป สิ่งที่ว่ากิเลสหยาบ กิเลสอย่างละเอียดที่มันครอบงำหัวใจ มันจะโดนเปลื้องออกเป็นชั้นๆๆ เข้าไปเลย มรรค ๔ ผล ๔ มันจะเปลื้องเป็นชั้นๆ เข้าไปถึงจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส นั่นน่ะตัวภพ นั่นน่ะตัวตอ ตัวภพใหญ่ๆ นั่นน่ะเจ้าวัฏจักร
ทีนี้ในเจ้าวัฏจักรมันก็มีแม่ทัพนายกอง มันก็มีเสนาอำมาตย์ มันก็มีคนรับใช้ ถ้าเป็นครอบครัว มันก็มีปู่มีย่ามีตามียาย ถ้าปฏิบัติไปนะ ไอ้นี่เป็นบุคลาธิษฐาน บุคลาธิษฐานสำหรับคนที่ภาวนาแล้วถ้ามีปัญญาเอามาสื่อ
แต่ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเป็นเจโตวิมุตติ ท่านเห็นของท่าน ท่านทำลายของท่าน แล้วท่านบอกว่ามันเป็นอันเดียวกัน มันมีพ่อมีแม่ที่ไหน ไม่เคยเห็นมีพ่อมีแม่เลย ไหนว่ามีครอบครัว ไม่เห็นมันมี ทำไมมันเป็นชั้นเดียวล่ะ อันนั้นก็เป็นความชำนาญ มันเป็นหนทาง เป็นเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ มันอยู่ที่ครูบาอาจารย์ที่มีความชำนาญมากน้อยแค่ไหน จะเอาประสบการณ์ เอาความจริงในหัวใจมาสั่งสอน เอามาเป็นตัวอย่างอย่างไร แต่เวลาปฏิบัติเข้าไปมันจะรู้
ถ้าคนเป็นอ้าปากรู้หมด ถ้าคนไม่เป็นก็บอกว่าสมมุติต่างกัน สมมุติต่างกัน ไอ้นี่เป็นสมมุติ
เขาให้อธิบายถึงภพ ถึงปฏิสนธิจิต ถึงภวังค์
แล้วเราอธิบายแล้ว ถ้าคนไปปฏิบัตินะ จริตของเขา เขาเห็นสิ่งใดชัดเจน เขาบอก “เออ! เหมือนกันเลย” ถ้าเขาไปเห็นไม่ชัดเจน “อืม! ของเราทำไมเป็นแบบนี้ ทำไมหลวงพ่อพูดอย่างนั้น แสดงว่าหลวงพ่อผิด” เขาเทียบในพระไตรปิฎก เทียบไปในอภิธรรม ไอ้นี่มันอยู่ที่จริตนิสัย จริตนิสัยของเขา แต่เราเอาความจริง เอาความจริงนะ
คำว่า “ภพ ปฏิสนธิจิต ภวังค์” ให้อธิบาย อธิบายได้แค่นี้ ถ้าอธิบายมากเกินไป ไม่รู้ว่าหลวงพ่อพูดผิดหรือคนฟังฟังไม่เข้าใจ ถ้ามากเกินไปนะ เพราะมันอยู่ที่ว่าเรารู้จริงมากน้อยแค่ไหน อันนี้พูดถึงว่าเรื่องภพ เรื่องภวังค์ แต่นี่เขาพูดต่ออีกสิ
ถาม : เรื่อง “อานิสงส์ของการภาวนา”
หลวงพ่อ : ฟังอันนี้แล้วมันซึ้งใจนะ ดูสิ คนที่ปฏิบัติจะเป็นอย่างนี้
ถาม : กราบนมัสการพระอาจารย์ที่เคารพ ครั้งแรกหลายปีก่อนมีโอกาสมาภาวนาที่วัด ๓ วัน และได้ตั้งใจไม่กินอะไร ยกเว้นดื่มน้ำ ในตอนนั้นต้นไม้ยังไม่สูงเลย กลางวันแดดแรงมาก ร้อนมากๆ ร้อนมากๆ ครับ เดินจงกรมก็ไม่ไหวครับ เดินแป๊บเดียว คอไหม้เลย ที่สำคัญ เดินจงกรมก็ไม่เป็นอีกด้วย นั่งสมาธิก็นั่งไม่ค่อยสงบ และมาครั้งแรกก็ไม่รู้จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เงอะๆ งะๆ แต่ต้องการมาสัมผัสสถานที่ที่ไม่คุ้นชิน เผื่อว่าจะช่วยให้ผลการภาวนาดีขึ้น แต่ผลก็ยังไม่ดีเท่าไร ถึงกระนั้นผมก็ยังอยากหาโอกาสมาอีกให้ได้
จนกระทั่งผ่านมาหลายปี ไม่นานมานี้ก็ได้มีโอกาสมาภาวนาที่วัด ๗ วัน และได้ตั้งจิตว่าจะอดอาหาร ๗ วัน และจะทำข้อวัตรให้ครบถ้วน จะตั้งใจเดินจงกรมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
วันแรกหลังจากทำข้อวัตรเสร็จก็ลงเดินจงกรม ตั้งสัจจะว่าจะอยู่ในทางจงกรมจนมืด บอกตรงๆ ครับว่าเดินไม่เป็นเลย แต่ก็ถามครูบาบ้าง ถามเพื่อนมาก่อนบ้างว่าเดินอย่างไร จับมือกันอย่างไร ที่สำคัญก็คือต้องภาวนาพุทโธ ๒ ชั่วโมงแรก
ที่เดินจงกรมในวันแรกมันทรมานมาก เพราะเกร็งแขน เนื่องจากเดินไม่เป็น ปวดไหล่มาก แต่ก็กลัวจะเสียสัจจะ ปวดจนทนเกือบไม่ไหว เลยหยุดคำบริกรรม แล้วเอาสติปัญญาไล่ความเจ็บปวดแทน สุดท้ายก็เอาตัวรอดมาได้โดยไม่เสียสัจจะ และผมก็ตั้งสัจจะจะสู้กับกิเลสต่อไป
ใน ๒-๓ วันแรก ปวดหลังและปวดขามากจนเดินขากะเผลก ก็อดทนเดินเช้า เดินบ่าย เดินเย็น จนในวันที่ ๗ วันสุดท้ายผมตั้งสัจจะว่าจะไม่ออกจากทางจงกรมตั้งแต่เช้าจรดเย็น ตั้งใจว่าจะเอาชนะมันให้ได้โดยเดินภาวนาพุทโธ ธัมโม สังโฆซ้ำๆ แทนพุทโธคำเดียว เพราะเอาไม่อยู่ จิตมันแฉลบอยู่เรื่อย
ผมเดินไป ๕ ชั่วโมงแรก มีความหิวความกระหาย ทั้งความง่วง ทั้งความเมื่อยล้า ทั้งความฟุ้งมารบกวนจิตใจ ผมก็หยุดภาวนา แต่ใช้สติปัญญาต่อสู้กับกิเลสไปเรื่อยๆ บอกตรงๆ พล่ามคนเดียว สู้กับกิเลสในใจเหมือนคนบ้าอย่างไรอย่างนั้นเลยครับ กิเลสตัวไหนโผล่มา สติก็รีบใช้ปัญญาต่อสู้ทันที จนในที่สุดผมก็ผ่าน และเอาชนะกิเลสมันมาได้
จนกระทั่งเย็น ผมเดินจงกรมไปประมาณ ๘ ชั่วโมง ผมไม่เคยคิดเลยว่าจะทำได้ ทั้งๆ ที่ปกติขาและหลังก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว แต่ก็ทำได้ ซึ่งการมาภาวนาครั้งนี้ ผมมีแต่ได้กับได้ ผมได้สัจจะบารมีตามที่ตั้งใจครบ และได้คำตอบกับตัวเองว่าเดินจงกรมนั้นเพื่ออะไร ก็เพื่อความสงบร่มเย็นหนึ่ง และค้นหาความจริงอีกหนึ่ง นั่นแสดงว่าผมเดินจงกรมเป็นแล้ว
มีเรื่องแปลกเกิดขึ้น ๒ เหตุการณ์ ครั้งแรกช่วงที่มา ช่วงที่เข้ากุฏิได้กลิ่นหอมติดจมูก เฉพาะคืนแรกคืนเดียว และที่แปลกสุดคือวันสุดท้ายที่ตั้งสัจจะเดินจงกรมตั้งแต่เช้าจรดเย็น ระหว่างเดินนั้นมันเหมือนมีน้ำฝอยละอองเล็กๆ เล็กมากๆ พรมมาที่หัว ๔-๕ ครั้ง แหงนหน้าขึ้นไปดูก็ไม่เห็นมีอะไร แต่มีละอองน้ำสัมผัสโดนแขน ผมก็ยกแขนขึ้นดู กลับไม่เห็นมีละอองน้ำอะไรเลย
กราบเรียนถามท่านอาจารย์ด้วยครับ ทำไมไม่มีละอองน้ำครับ ทั้งๆ ที่สัมผัสได้ มันคือนิมิตหรือเปล่าครับ เพียงแต่ผมทนสู้เดินจงกรมไป ตั้งใจจะทำข้อวัตร ไม่น่าเชื่อว่าทำไมผลมันถึงดีอย่างนี้ครับ
ผมกลับมาใช้ชีวิตปกติ สติสตังมันดีขึ้นครับ พุทโธ ธัมโม สังโฆ มันก็ผุดขึ้นมาง่ายๆ ครับ และการที่ผมอดข้าวจนเข้าใจว่าหิวสุดๆ เป็นอย่างไร แล้วทำให้ผมมีสติดีขึ้น ช่วยให้เข้าใจดีขึ้นในเรื่องความหิวกับความอยาก รวมทั้งพิจารณาแยกแยะและปล่อยวางรสชาติอาหารได้ดีขึ้น
ประสบการณ์อีกวันหนึ่งที่ผมเดินจงกรมโดยใช้ความคิดไล่ไปเรื่อยๆ จนพอมาถึงประโยคที่พูดเรื่องจิตมันหลงกายเอง มันสะเทือนใจมากจนน้ำตาไหลออกมา หัวใจมันพองโต มันมีความคิดแล่นเข้ามาว่า นี่ไง ร่องรอยความจริง ดูเหมือนเงาไกลๆ ให้เราได้มีกำลังใจสะกดรอยตาม
ที่เขียนมาทั้งหมดนี้คือประสบการณ์จริงที่ประทับอยู่ในใจที่ผมจะนำมาเล่าก็เพื่อกราบระลึกถึงบุญคุณครูบาอาจารย์ กัลยาณมิตรทั้งหลาย รวมถึงวัด กุฏิ และต้นไม้ที่ให้ร่มเงาแก่ผม และเพื่อยังประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติต่อๆ ไป กราบนมัสการหลวงพ่อครับ
ตอบ : อันนี้เขาเขียนมา ประสบการณ์ ไม่ได้ถามอะไรเลย แต่ที่เอามาอ่าน อ่านเพราะมันเป็นคำถามต่อเนื่องมา คำถามต่อเนื่องมาตั้งแต่เรื่องไตรสรณคมน์ แล้วก็เรื่องพุทโธกับภวังค์คืออะไร แล้วก็เรื่องอานิสงส์ของการภาวนา คนเขียนคนเดียวกัน
เพราะถ้าพูดถึงนะ ถ้าพูดถึงครั้งก่อน เขาบอกเขามา ๓ วัน ตอนนั้นต้นไม้ยังไม่โตเลย แล้วพอมาครั้งแรกแดดแรงมาก พอเข้าทางจงกรม คอไหม้เกรียมเลย แล้วก็เลิกไปเลยนะ ถ้าเป็นอย่างนั้นนะ ป่านนี้เขาก็ยังบอกว่า เออ! หลวงพ่อโกหก ภาวนาแล้วคงจะไม่มีอยู่จริงหรอก พวกที่ไปวัดก็ไปทรมานตนทั้งนั้นน่ะ ไม่มีประโยชน์หรอก
แต่เขายังฝืนทนกลับมา เห็นไหม ครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ พอมันได้ประโยชน์ขึ้นมา เขาถึงบอกว่าเวลาเขามาภาวนาจริงๆ เขามีแต่ได้กับได้ เขามีแต่ได้กับได้ เพราะคนถ้าหัวใจมันมีคุณค่าขึ้นมาแล้ว เขาบอกว่าที่เขาเขียนขึ้นมานี้ก็เขียนมาเพื่อขอบคุณ ขอบคุณวัด ขอบคุณกุฏิ ขอบคุณต้นไม้
ถ้าหัวใจคนปฏิบัตินะ ขอบคุณที่เราเคยอยู่เราเคยอาศัย เราเคยอยู่เราเคยอาศัยแล้วมันได้ประโยชน์อะไร เราขอบคุณต้นไม้ เราขอบคุณกุฏิ เราขอบคุณวัดที่ให้เราได้ฝึกหัด นี่ถ้าจิตใจมันปฏิบัติแล้วได้ผลจะเป็นแบบนี้
ถ้าจิตใจปฏิบัติไม่ได้ผลนะ “มรรคผลไม่มีหรอก โอ้โฮ! ปฏิบัติคงทุกข์น่าดูเลยล่ะ โอ้โฮ! ปฏิบัติแล้วคงไม่ได้อะไร ปฏิบัติคงลำบากมาก”
แต่ถ้ามันดีขึ้นมันจะดีขึ้นอย่างนี้ แสดงว่าเขายังมีอำนาจวาสนานะ เพราะสิ่งแบบนี้มันเป็นประสบการณ์ชีวิต ดูสิ เวลาพ่อแม่สอนลูกก็มีแต่คำสั่งคำสอน ลูกจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แต่นี่เวลาเรามาภาวนา จิตใจของเราได้ประสบเอง ถ้ามันล้มเหลว เราก็ล้มเหลวด้วยตัวเราเอง แต่เวลาจิตใจมันจะได้ผลขึ้นมา มันก็ได้ผลกลางหัวใจเราเอง แล้วเวลาจะได้ผลกลางหัวใจเราเอง
ที่คำเขาเขียนมา มันทรมานมากๆ อดอาหาร เขาบอกเขาตั้งสัจจะอดอาหาร กินแต่น้ำ แล้วภาวนาทั้งวันทั้งคืน ภาวนาทั้งวันทั้งคืน ๗ วัน ๓ วัน เขาต้องทำของเขาให้ได้
แต่เวลาเขาทำได้แล้ว นี่เวลาทำ เราทำลงทุนลงแรงมากเลย ลงทุนลงแรงนะ แต่เวลาพอผ่านไปแล้วนะ ความหิวนั้นเป็นประโยชน์กับผม มันหิวสุดๆ มันเป็นอย่างไร แล้วในปัจจุบัน เวลาเรื่องอาหาร รู้เท่าทันรสอาหาร รู้เท่าทันหมด
รู้เท่าทัน คนเราประหยัดมัธยัสถ์ ด้วยความไม่ฟุ่มเฟือย ด้วยความไม่ฟุ้งเฟ้อ สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์หมดแหละ เพราะอะไร เพราะเรามีสติสัมปชัญญะอยู่แล้ว เราจะใช้จ่ายแค่ไหนก็ได้ เราหามามหาศาล เราจะใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน ที่เหลือมันก็เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเราใช้เป็นประโยชน์กับคนอื่น มันก็ได้เป็นประโยชน์คนอื่น มันมาจากไหนล่ะ
ก็มันมาจากประสบการณ์ของเรา ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ธรรมะมันสอน ไม่ใช่พ่อแม่สอน ไม่ใช่ใครสอน ธรรมะภายในมันสอน มันเกิดขึ้นมาจากหัวใจ สัจธรรมมันสอน ถ้ามันสอน มันสอนหัวใจของเรา คนที่คิดอย่างนี้ทำอย่างนี้แล้วมันก็เป็นคนดีไปได้ เพราะอะไร เพราะมันปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะมันเกิดขึ้นกลางหัวใจ ถ้ามันเป็นประโยชน์อย่างนี้ มันเป็นประโยชน์อย่างนี้
เขาบอกว่า อานิสงส์ของการปฏิบัติ เวลามาปฏิบัติเขาบอกว่าเขามีแต่ได้กับได้
ถ้ามีแต่ได้กับได้ เพราะทำแล้วเพื่อประโยชน์กับเราไง แต่ถ้ามันล้มเหลว ถ้ามันล้มเหลว ถ้าไม่ได้ ล้มเหลว เราก็ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเชื่อมั่นนะ เราเชื่อของเรา เราเชื่อมั่นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แล้วเรามาทรมานกิเลส เราเดินจงกรมนะ ถ้าจิตมันสงบนะ เราได้สัมผัส เป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกกลางหัวใจ แต่ถ้าเราเดินจงกรม นั่งสมาธิ มันไม่ลง ไม่เป็นสมาธิ จิตใจมันไม่สงบนะ นี่เราทรมานกิเลส เพราะกิเลสมันอยู่บนหัวใจของเรา
เวลาเราตั้งใจ เราตั้งใจ หัวใจเราคิด เราก็พาให้เท้าเราเดิน หัวใจเราคิด เราก็พาให้เรานั่งลงสมาธิ กิเลสมันไม่พอใจหรอก กิเลสมันจะนอน กิเลสมันจะไปเที่ยว กิเลสมันจะฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม แล้วเราจำกัดขีดมันเข้าทางจงกรม เราจำกัดให้สภาวะนั่ง เราบังคับมันน่ะ พอเราบังคับมัน มันก็ต่อต้าน มันก็ดิ้นรนอยู่แล้ว นี่ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงจิตมันไม่สงบ เราก็มีขอบเขตไง เขาเรียกว่าบุญกิริยาวัตถุ กิริยาท่าทาง กิริยาของเรา บุญกิริยาวัตถุ เราเสียสละหมดเลย เราจะนั่งสะดวกสบายอย่างไร เราเสียสละแล้วนั่งพุทโธๆ นี่บูชา สภาวะนั่งนี่เราบูชาแล้ว เราบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์แล้ว มันขีดวงกิเลสไง
ถ้ามันไม่สงบ ถ้ามันปฏิบัติไม่ได้ ถ้าบอกมีขอบมีเขต กิเลสมึงจะแสดงตัวมากกว่านี้ไม่ได้ เวลาเอ็งมีกำลังมาก เอ็งก็คิดของเอ็งไป แต่ถึงเวลาจะภาวนา เอ็งต้องอยู่ในขอบข่ายแค่นี้ ให้เอ็งได้แค่นี้ ให้เอ็งได้แค่นี้ ไม่ให้เอ็งคิดมากไปกว่านี้ เห็นไหม ถ้าภาวนาไม่ได้ มันได้ประโยชน์ตรงนี้ แต่คนมองไม่เห็นไง คนมองไม่เห็นว่าเรามาภาวนาแล้วเราจะได้ประโยชน์อะไร
มาภาวนา หนึ่ง ถือศีล ถือศีลมันก็ได้ประโยชน์แล้ว ถือศีลเพราะอะไร เพราะว่าเรามีศีล ดูสิ เวลาคนสุขภาพเขาดี ถ้าสุขภาพเขาดี เขาออกกำลังกาย สุขภาพเขาดี นี่เราถือศีล ศีลธรรมไง จิตใจของเราจะมีคุณภาพจิตที่ดี ถ้าคุณภาพจิตที่ดีก็คุณภาพจิตที่ดี ภาวนาแล้วทำไมมันท้อแท้อย่างนี้ล่ะ ทำไมภาวนาแล้วมันมีแต่ความเครียดล่ะ ทำไมมีความทุกข์ยากล่ะ นั่นน่ะกิเลสมันงอม เวลามันโดนบีบคั้นขึ้นมามันก็มีปฏิกิริยาอย่างนั้นน่ะ
แต่ถ้ามันภาวนาต่อเนื่องไป พอมันผ่านจุดนี้ไป เพราะคนภาวนาถามมาเยอะมาก พอผ่านจุดหิวที่สุด พอผ่านจุดที่มันวิตกกังวลที่สุด พอมันปล่อยวางที่สุด โอ้โฮ! กราบขอบพระคุณวัดเลยล่ะ
มาทีแรกบอกว่า โอ้โฮ! คอไหม้เลย เดินจงกรมทีแรกนี่คอไหม้ ตัวไหม้เกรียมเลย แต่พอถึงที่สุดแล้ว ขอบคุณมันน่ะ ขอบคุณกุฏิ ขอบคุณวัด ขอบคุณร่มเงาของต้นไม้ แต่ ๓ วันแรกนี่ไหม้เกรียมหมดเลย เห็นไหม ถ้าจิตมันดีมันเป็นประโยชน์อย่างนี้
แล้วเขาถามว่า มันมีมหัศจรรย์อยู่ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งที่ละอองน้ำมาโดนผม มันเป็นอะไร มันเป็นนิมิตหรือเปล่า
ไม่ใช่หรอก ต้นไม้กลางคืนมันมีเกสรกระจาย ต้นไม้บางทีน้ำ มันมี มันมีน้ำของมัน นี่เราพูดเป็นวิทยาศาสตร์เลย เราอยู่ใต้ต้นไม้ เวลามันคลายตัว มันจะมีพวกนี้ออกมา ไอ้นี่ก็เรื่องหนึ่ง
แต่ถ้ามันเป็นอำนาจวาสนาของคนคนนั้น ถ้ามันจะว่ามันมีเทวดามาพรมน้ำให้ อันนั้นก็เป็นวาสนาของคนคนนั้น แต่โดยวิทยาศาสตร์ อยู่ใต้ต้นไม้มันจะมีความชื้น มันจะมีอะไรของมัน อันนี้เราเข้าใจได้ ฉะนั้น เป็นเรื่องปกติ ของมันมีของมันอยู่อย่างนั้น
แต่มันเป็นอำนาจวาสนาของใคร ใครจะได้ผลตอบแทน ใครจะได้สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ อันนั้นเป็นวาสนา วาสนาเทียบกันไม่ได้ เพราะอย่างพระนาคิตะที่ว่าไปเดินจงกรมอยู่ ลาพระพุทธเจ้ามาเดินจงกรม แล้วเขาไปเที่ยวเล่น โอ้โฮ! คนนั้นมีแต่วาสนา คนนี้มีวาสนา เขามีความสุข
เพราะโลกเขาคิด ใครไปงานสโมสรสันนิบาต ใครไปเที่ยว มีแต่ความสุข ไอ้เรามีแต่ความทุกข์ เดินจงกรม นั่งสมาธิ มีแต่ความทุกข์ เทวดามายับยั้งกลางอากาศเลย “ไอ้พวกนั้นมันพวกอยู่ในวัฏฏะ ไอ้พวกนั้นมันเวียนว่ายตายเกิด ท่านต่างหากๆ”
พระนาคิตะคืนนั้นสำเร็จเป็นพระอรหันต์เลย เพราะอะไร เพราะได้รับการเตือนจากเทวดา เทวดามายับยั้งกลางอากาศ แล้วเตือนเลย นี้อยู่ในพระไตรปิฎก
แล้วครูบาอาจารย์เรา หลวงตาก็เป็นอย่างนี้ หลวงตาท่านอยู่ในป่านะ บางที่เขามีการละเล่น เวลานักขัตฤกษ์เขาไปเล่นกัน แล้วทางอีสานเขาชอบฟ้อน เวลาไปไหนเขาจะลำกลอนไป เขาก็ลำกลอนไป ไอ้เราก็เดินจงกรมอยู่ โอ้โฮ! เขามีแต่ความสุข เรามีแต่ความทุกข์
หลวงตาก็เคยเจอประสบการณ์อย่างนี้ หลวงปู่เจี๊ยะก็เจอประสบการณ์อย่างนี้ อยู่ในป่า เราเดินจงกรมอยู่ชายป่า แต่ชาวบ้านเขาไปเที่ยวกัน เขาก็ร้องรำทำเพลงกันไปตลอด มันคิดน้อยใจขึ้นมานะ ทำไมเขามีความสุข ไอ้เรากดดันตัวเอง ทุกข์ขนาดนี้ แต่พอปัญญามันเกิดก็เกิดอย่างนี้ พอมีความคิดอย่างนี้ปั๊บ มันจะมีสติปัญญาไล่ตามความคิดเลย
พอความคิดมันไล่ตามไปนะ หลวงตาเวลาความคิดท่านเกิดไง เราไม่เคยเที่ยวใช่ไหม หลวงตาท่านบอกว่าท่านก็เป็นหมอลำเก่า ท่านก็ร้องได้ ท่านเคยมาทุกอย่างแล้ว เราก็เคยทำมา แต่ตอนที่เราเดินจงกรม เรามาบวชแล้ว เราเดินจงกรมอยู่นี่ เวลามันมีความตึงเครียด แล้วเวลามันได้ยินเสียงอย่างนั้นมันก็เปรียบเทียบ คือกิเลสมันหาทางออกไง เวลาปัญญามันทัน มันไล่เข้ามาทัน มันปล่อยหมดเลย
หลวงปู่เจี๊ยะก็เป็นอย่างนี้ เพราะหลวงปู่เจี๊ยะเล่าให้เราฟังเลย เวลาท่านก็เจออย่างนี้ เขาไปเที่ยวไปเล่นกัน อู๋ย! เขาร้องรำทำเพลงกันไป ไอ้เราเดินจงกรมอยู่ในป่าแสนทุกข์แสนยาก
กรณีอย่างนี้มันอยู่ที่วาสนาของคน ถ้าคนมีสติปัญญาทันนะ เดี๋ยวนั้นคือมันสดๆ ร้อนๆ ไง มันคิดอะไรขึ้นมาสดๆ ร้อนๆ แล้วมันเสียใจอยู่สดๆ ร้อนๆ เวลาปัญญามันไล่ทัน มันปล่อยพับ! มันมหัศจรรย์นะ
แต่ถ้าใครไม่เคยได้ มาพูดกันอย่างนี้มันก็แบบว่าเลียนแบบไง คิดตามเขา เวลามีเหตุการณ์ก็คิดแบบนี้ เออ! เขาเป็นอย่างนี้ เขาเคยคิดอย่างนี้ เราจะคิดแบบนี้บ้าง มันไม่เป็นหรอก
แต่ถ้ามันเป็นปัจจุบัน มันปล่อยพับ! โอ้โฮ! น้ำหูน้ำตาไหล มันซาบซึ้งนะ มันซาบซึ้ง ก็ดูสิ เราดูถูกตัวเราเองว่าเราเป็นคนขี้ทุกข์ขี้ยาก เราดูถูกตัวเราเอง พอจิตมันปล่อยพับ! มันสงบ มันมีความสุข มันเวิ้งว้างไปหมด เมื่อกี้นี้เรายังติเตียนเราอยู่เลย แล้วทำไมมันพลิกกลับมาเป็นอย่างนี้ล่ะ โอ้โฮ! มันตื่นเต้น นี่เวลาภาวนาจะเป็นแบบนั้น
ฉะนั้น เวลาเขาบอกว่าเขาภาวนาไป เวลาจิตมันดี มันมีธรรมผุดขึ้นมาเป็นประโยค จิตนี้มันหลงกายเอง จิตนี้มันหลงกายเอง มันหลงเอง มันหลงของมันเอง เวลาปัญญามันมา จิตใจมันสะเทือน น้ำตาไหลพราก ก็น้ำตาไหลพรากเหมือนกัน กรณีนี้กรณีธรรมเกิด
แต่พอจิตมันสงบแล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตตามความเป็นจริงนั้นถึงจะเป็นมรรค ถ้าเป็นมรรคขึ้นมาแล้ว เพราะอะไร เพราะมันมีสติมีปัญญา มันมีผู้บริหาร มีผู้ควบคุม มีผู้ดูแล ถ้าเจริญก็รู้ว่าเจริญขึ้น ถ้ารักษาไม่เป็น เดี๋ยวก็เสื่อม นี่คือมรรค
แต่ถ้ามันผุดขึ้น หรือสิ่งที่ว่าพระนาคิตะน้อยใจเสียใจ แล้วชี้บอก ชี้บอกมันก็ได้สติฟื้นมา ได้สติฟื้นมาปั๊บ พอจิตมันสงบแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา นั้นเป็นมรรคต่อเนื่องกันไป
แต่ขณะที่บอกที่เตือน บอกเตือนให้ได้สติ ให้ได้สติแล้วกลับมากระทำไง พอได้สติ จิตมันก็กลับมาหมด มันก็ทำงาน มันก็เป็นงานขึ้นมา แต่ถ้าไม่ได้สติ มันหลงไป มันคิดออกไปเป็นอารมณ์ เสวยอารมณ์ ทุกข์ยากไป
แต่พอมันได้สติ มันปล่อยหมดเลย กลับมาเป็นตัวมันเอง พอกลับมาตัวมันเองปั๊บ มันก็ยกขึ้นสู่สติปัฏฐาน ๔ แล้วมันมีปัญญาไป มันเป็นขั้นตอนอีกขั้นตอนหนึ่งถ้ามันจะเกิดมรรค ถ้ามรรคมันเกิดขึ้นมาแล้วมันบริหารจัดการไป เวลามรรคสามัคคี มันก็สมุจเฉท พอสมุจเฉทมันก็มีคุณธรรมขึ้นมาในใจ นี่มันเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป
ฉะนั้น เขาเขียนมาถามตั้งแต่เรื่องไตรสรณคมน์ เรื่องภพ เรื่องภวังค์ แล้วก็เรื่องประสบการณ์ของการภาวนา ถ้าประสบการณ์ภาวนา เราก็ได้บริษัท ๔ ขึ้นมา ๑ คน ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เขาเป็นอุบาสก ถ้าเป็นอุบาสกที่ได้ประพฤติปฏิบัติ แล้วมีความรู้สึกนึกคิดที่เป็นศีลเป็นธรรมในใจ เราก็ได้อุบาสกขึ้นมาอีก ๑ คน ทั้งๆ ที่เขาเป็นอุบาสกอยู่แล้ว
เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับบริษัท ๔ อุบาสก อุบาสิกา เขาเป็นอุบาสกแล้วเขามาปฏิบัติของเขา เขามีความตั้งมั่นในใจของเขา ใจเขามั่นคงของเขา ก็เป็นอำนาจวาสนาของใจดวงนั้น เพราะมันจะเป็นร่องเป็นรอยให้ใจดวงนั้นก้าวเดิน ให้ใจดวงนั้นเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก คือมีพยานในหัวใจ มีพยาน มีความเป็นไปในใจ จะทำสิ่งใดมันทำด้วยความเต็มไม้เต็มมือ
ไอ้พวกเราเวลาทำอะไรกันน่ะ ห่วง ห่วงว่าจะได้หรือไม่ได้ จะเป็นหรือไม่เป็น ครึ่งๆ กลางๆ ทำ ๕๐-๕๐ แต่เวลาจะเอาผล ๒๕๐ แต่เขาทำของเขาทำด้วยเต็มไม้เต็มมือ เวลามันได้ขึ้นมามันก็เป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นเรื่องความเป็นไปในหัวใจของเขา เขาจะมั่นคงในใจของเขานะ ถ้าเขามีคุณธรรมในใจ เขาจะมั่นคงของเขา นี้มันเป็นประสบการณ์การปฏิบัติของเขา
เราฟังการประสบการณ์ของเขาแล้วเราก็เอาเป็นคติธรรมเพื่อจะประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้หัวใจของเราได้สัมผัสศีล สมาธิ ปัญญา เป็นคุณสมบัติในใจของเรา เอวัง