เห็นนิมิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๘
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “กายนิมิต”
กราบนมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพอย่างสูง หลังจากที่ปฏิบัติภาวนาที่วัดพระอาจารย์ ๗ วัน จนได้ผลน่าพอใจระดับหนึ่งแล้ว ผมเองยังนั่งสมาธิภาวนาที่บ้านตอนกลางคืน และตอนนอนก็จะภาวนาต่อจนหลับไปครับ
ในตอนกลางวันขณะขับรถ ถ้าไม่มีอะไรก็จะภาวนาพุทโธ ธัมโม สังโฆไปเรื่อยๆ เช่นกัน ซึ่งทั้งๆ ที่หลายคนเตือนอยู่ว่าจะอันตราย อาจเกิดอุบัติเหตุได้ แต่ผมก็ยังอยากลองอยู่ดี
๑. วันหนึ่งขณะขับรถ ใจก็ภาวนาอยู่ จิตมันก็สงบลงได้เหมือนกับตอนนั่งสมาธิภาวนาเช่นกัน ขณะนั้นสติชัดเจนดี ตายังเห็นทางชัดเจน หูก็ได้ยินชัดเจน แต่ใจมันสงบร่มเย็น ไม่ฟุ้ง เป็นอย่างนี้ไปนานเลยครับ ผมก็ประคองจิตให้อยู่ในอารมณ์แบบนี้พร้อมกับไม่ทิ้งบริกรรม มันก็สงบดีมากเลยครับ นั้นแสดงว่าเราสามารถประคับประคองระดับจิตได้ระดับหนึ่ง ซึ่งมันก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนคิดว่าอาจเกิดอุบัติเหตุได้ สิ่งนี้ผมคิดถูกไหมครับ กราบเรียนขอความเมตตาจากอาจารย์ด้วย
๒. ขณะนั่งสมาธิภาวนา พักหลังมีความสงบร่มเย็นเร็วขึ้นเกือบจะทุกครั้งที่นั่งก็ว่าได้ เมื่อสงบก็เห็นภาพนิมิตมากมายก่ายกอง แต่ก็ตั้งสติเอาไว้ว่าไม่เอาๆ และเมื่อคืนวานนี้เอง ระหว่างที่นั่งภาวนา จิตสงบแล้วก็ยังเห็นนิมิตเหมือนเช่นเคย พอเห็นก็ตั้งสติภาวนาพุทโธ ธัมโม สังโฆให้ชัดๆ ต่อไป
มีช่วงหนึ่งเห็นนิมิตเป็นภาพซากกะโหลกและฟัน มันผุเอง และแตกกระจายออกเอง ใจมันวาบสงบลง ภาพที่เกิดมันเป็นของมันเอง ไม่ได้ตั้งใจทำ ไม่ได้บังคับ ภาพมันเป็นมันเอง ใจมันสงบ ภาพนิมิตหายไป ผมก็ตั้งสติบริกรรมต่อ มันมีภาพกายนิมิตโผล่มาอีก เป็นซากแขนบ้าง อย่างอื่นบ้าง ทุกครั้งที่เห็นวาบและสงบตัวลงทุกครั้ง ผมก็ทำแบบเดียวกันคือพอภาพหายไปก็ตั้งสติบริกรรมต่อ ที่กล่าวมานี้ผมทำถูกไหมครับ และต้องทำอย่างไรต่อไปอีกครับ
ภาพนิมิตมันเกิดขึ้นเร็วมาก ไม่ทันได้คิดพิจารณาสรุปเป็นไตรลักษณ์ แต่มันก็สรุปแล้วในตัวมันเอง เพราะรู้ว่าใจมันปล่อยวางลง แปลกครับ แปลกตรงที่กายนิมิตที่เห็นนั้นเกิดและดับหลายครั้งในขณะภาวนาครั้งเดียว ภาพนิมิตที่เห็นนี้ จิตสามารถบังคับให้หยุดและขยายหรือย่อส่วนได้ไหมครับ
แต่ถึงแม้ว่าอาจารย์จะบอกว่าจิตสามารถบังคับได้ ผมเองก็ไม่มั่นใจหรอกครับว่าจะทำได้ เพราะมันเกิดเร็ว ขณะนั้นทำอะไรไม่ถูกจริงๆ ได้แต่ดูและปล่อยให้จิตมันเป็นมันเอง กราบขอความเมตตาจากพระอาจารย์ด้วย
ตอบ : นี่คำถามเนาะ คำถามเรื่องสิ่งที่เขาเห็น สิ่งที่เขาภาวนา คำถามคือเขาตั้งชื่อว่ากายนิมิต ถ้าเป็นกายนิมิต ไอ้นิมิตส่วนนิมิต แต่เริ่มต้นจากการปฏิบัติก่อน พอเริ่มต้นจากการปฏิบัติ เขาว่าเขามาปฏิบัติแล้วจิตใจมันดี ปฏิบัติแล้วดีขึ้น ฉะนั้น เวลากลับไปที่บ้านแล้วยังปฏิบัติต่อ ทีนี้เวลาปฏิบัติต่อ เขามีหน้าที่การงานใช่ไหม เขาไปทำงาน เขาต้องขับรถ เขาต้องขับรถขับรา เวลาขับรถขับรามีคนเตือนอยู่ตลอดเวลาว่าเวลาขับรถขับราไม่ควรภาวนาเพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้
เวลาเกิดอุบัติเหตุ เพราะเราคิดเราจินตนาการกันไปไงว่า ถ้าจิตมันลง จิตเป็นสมาธิแล้วมันจะสักแต่ว่ารู้ เราบังคับรถไม่ได้ รถอาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ อันนี้เป็นข้อเท็จจริง
แต่ในการประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง ในการประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง คนที่จะลงถึงอัปปนาสมาธิคือสักแต่ว่ารู้นี่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เราจะบอกว่าแทบจะไม่มีเลย ไอ้ที่มีนั้น ไอ้ที่มีถ้าเป็นอัปปนาสมาธิ ถ้าจิตมันดิ่งลงโดยที่ว่ามันสักแต่ว่ารู้ มันไม่รับรู้สิ่งใด สิ่งนั้นต้องเป็นคนที่มีบุญมาก
แต่ในปัจจุบันนี้ ในโลกปัจจุบันนี้ ในสังคมที่ปฏิบัติปัจจุบันนี้มันไม่มีหรอกที่จิตมันจะลงไปอัปปนาสมาธิ มันมีแต่จะช็อกตาย เวลาขับรถๆ มันวูบไป มันหลับใน อย่างนั้นน่ะมี มันจะหลับใน มันจะวูบไป มันเหมือนช็อก เหมือนร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่เกี่ยวกับจิต ไม่เกี่ยว
แต่ถ้ามันจะเกี่ยวกับจิต ที่ว่ามันจะลงขณะนั้นน่ะหาได้ยาก เพราะเวลาคนทำจริงๆ นะ เวลาอัปปนาสมาธิ หลวงตาท่านพูด แล้วเราก็ยืนยัน ท่านบอกเลยนะ พระน้อยองค์นักที่จะทำได้ น้อยองค์นัก เพราะมันน้อยองค์นัก เวลาหลวงตาท่านพูดถึง เวลาที่มาโพธาราม ท่านพูดถึงอาจารย์เนตรๆ ท่านพูดถึงคนที่ทำได้ แล้วท่านพูดทีไรท่านพูดแต่องค์นี้ ท่านไม่ได้พูดถึงองค์อื่นเลย องค์อื่น ใครทำได้บ้าง ใครทำไม่ได้
ฉะนั้นจะบอกว่า ถ้าเวลาเราจะปฏิบัติ เรากลัวจะประสบอุบัติเหตุ เรากลัวปฏิบัติแล้วเราจะควบคุมรถไม่ได้
ขอให้มันลงจริงๆ เถอะ เพราะอะไร เพราะคนปฏิบัตินะ สมมุติ ไม่สมมุติหรอก ความจริงเลย อย่างเช่นถ้าเราปฏิบัติ เรากำหนดพุทโธๆ เราขับรถ ถ้าจิตมันจะลงขณะนั้นนะ เพราะคำว่า “จิตจะลงขณะนั้น” มันมีสติไง ถ้ามีสติ เราสามารถเอารถเข้าข้างทางได้ เราสามารถจอดรถได้ แล้วเราจะภาวนาต่อไป แต่มันไม่เป็นอย่างนั้นน่ะสิ
แต่ถ้ามันวูบ เหมือนตอนปัจจุบันนี้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากเลย คนหลับใน หลับในเพราะอะไร พักผ่อนไม่เพียงพอ เราไปกับโชเฟอร์ขับรถนะ เขาบอกเลย หลวงพ่อ เวลาวันสงกรานต์ วันปีใหม่ วันแรกสองวันแรกไม่ค่อยมีอุบัติเหตุหรอก มันจะมีอุบัติเหตุวันที่ ๓ ที่ ๔ ไป เพราะวันแรกร่างกายของคนมันยังสดชื่น มันยังทำงานมันได้ แต่คนเราเวลากลับบ้านไปแล้ว ขับรถมาทั้งวันเลย ไปเจอเพื่อน กินเหล้า เที่ยว เสร็จแล้วก็มาขับรถ มันพักผ่อนไม่เพียงพอไง พอพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็ที่ว่าหลับในๆ เพราะร่างกายมันทนไม่ไหว แต่หัวใจเรายังอยากจะไปต่อ เราอยากจะสนุกต่อ เราจะเพลิดเพลิน แล้วร่างกายมันทนสภาพไม่ไหว มันก็หลับใน
นี่เขาพูดเองนะ บอกหลวงพ่อ เวลาปีใหม่หรือวันสงกรานต์ วันแรกกับวันที่สองไม่ค่อยมีอุบัติเหตุเท่าไร มันจะมีอุบัติเหตุวันที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ไป มันจะมีอุบัติเหตุตอนนั้น เพราะคนเรามันได้สมบุกสมบันร่างกายแล้ว ร่างกายมันพักผ่อนไม่เพียงพอ มันจะเกิดอุบัติเหตุตอนนั้นแหละ
อืม! เราฟังอยู่ จริงของเขา
อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราจะขับรถ เราจะขับรถ มันเจออุบัติเหตุ อุบัติเหตุเพราะร่างกายเราพักผ่อนไม่เพียงพอ แต่นี้เราทำความดี เราพักผ่อนมาเพียงพอแล้ว เรากำลังจะไปทำงานใช่ไหม เราก็กำหนดพุทโธๆ ของเรา เราจะภาวนาของเรา เราภาวนา มันภาวนาเพื่อบรรเทาทุกข์
หลวงปู่ฝั้นท่านพูดเอง เวลาหลวงปู่ฝั้นท่านมาเทศน์ที่กรุงเทพฯ เมื่อตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ “พุทโธสว่างไสว พุทโธผ่องใส” โอ้โฮ! ร่ำลือไปมาก แล้วท่านก็จะเตือน เวลาจะทำงานนั่งรถเมล์ เราก็กำหนดลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธๆ อย่าหายใจทิ้งเปล่าๆ อย่าปล่อยให้เวลามันผ่านไปโดยไม่มีประโยชน์ ให้หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ
นี่ก็เหมือนกัน เราขับรถก็หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ มันไม่ลงหรอก ลงยาก ว่าอย่างนั้นเลย เพราะอุบัติเหตุมันยาก
นี่พูดถึงว่า มีคนเขาเตือนอยู่ว่าถ้าขับรถแล้วไม่ควรภาวนา แต่เขาบอกว่าเขาก็อยากลอง แล้วพอภาวนาไปแล้วกลับดี เช่น “๑. วันหนึ่งขณะขับรถไป ใจก็ภาวนาอยู่ จิตมันลงสงบได้เหมือนกับนั่งสมาธิตอนภาวนาเช่นกัน ขณะนั้นจิตชัดเจนดีมาก ตายังเห็นความชัดเจนอยู่ หูก็ยังชัดเจนดีอยู่ แต่ใจมันสงบร่มเย็น”
ใจมันสงบร่มเย็น เราภาวนากันแค่นี้ เวลาเราภาวนา โดยโลกนะ เราบอกว่าแค่นี้เราถือว่าโยมเก่งแล้ว โยม เราภาวนากัน เราหาพุทโธ เราหาความสงบของใจ เราหาที่พึ่งอาศัย เราหาที่พักผ่อน เราหาที่พึ่งพิง
แต่ถ้ามันจิตสงบจนมั่นคงแล้วมันถึงจะยกขึ้นสู่วิปัสสนา ถ้ายกขึ้นวิปัสสนา ฐานมันต้องดีไง สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงานไง การงานที่มันจะดี คนต้องมีฐาน อย่างทำงานต้องมีตำแหน่งต้องมีหน้าที่ เราถึงทำ
ดูสิ เราเห็นคนทุจริตเยอะแยะไปเลย เราจะไปฟ้อง ฟ้องไม่ได้ เราไม่ใช่ผู้เสียหาย เราไม่มีสิทธิ์ แล้วผู้เสียหายคือใครล่ะ ผู้เสียหายคือรัฐ แล้วรัฐล่ะ รัฐยังไม่ฟ้องเพราะหลักฐานยังไม่พอ แต่ไอ้เราเห็น เราไปฟ้องเขาไม่ได้หรอก เพราะเราไม่ใช่ผู้เสียหาย
นี่ก็เหมือนกัน จิตยกขึ้นสู่วิปัสสนา เอ็งมีสิทธิ์อะไร
โอ๋ย! วิปัสสนา ก็ฉันเป็นมนุษย์ ฉันมีหัวใจ หัวใจฉันวิปัสสนา...นั้นโลกียปัญญา นั้นปัญญากิเลส เพราะยังไม่มีสมาธิ ทำจิตสงบไม่ได้ ถ้าทำจิตสงบไม่ได้นั้นคือสมุทัยล้วนๆ สมุทัยคือตัณหาความทะยานอยาก อยากได้ อยากดี อยากเป็น แล้วก็อยากจะทำ แล้วก็ทำไม่ได้ แต่ก็คิดว่าจะทำ ด้วยวุฒิภาวะที่อ่อนด้อยก็เลยคิดว่าตัวเองทำกันได้ไง แล้วทำกันได้มันก็อยู่ในวงของโลกไง อยู่ในวงของสมุทัยอยู่นั่นน่ะ
แต่ถ้าครูบาอาจารย์ของเราให้ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบขึ้นมาแล้ว สงบบ่อยครั้งเข้าๆ จนจิตเป็นสมาธิ
แต่นี้จิตมันสงบไง เวลาจิตมันดี จิตมันดีหมายความว่าเรายังมีศรัทธามีความเชื่อ เราทำของเราได้ บอกเขาขับรถ เขาขับรถของเขาไป เขาภาวนาไปด้วย มันก็เป็นสมาธิได้ มีสติได้ ชัดเจนดี ตาก็ยังเห็นทางชัดเจน กรณีนี้มันบอกว่า ตาเห็นชัดเจน ทุกอย่างเห็นชัดเจน มันบอกถึงคุณภาพของจิตไง ถ้าคุณภาพของจิตอย่างนี้มันก็เป็นอุปจาระ มันก็เป็นสมาธิ เป็นพักผ่อนได้
เราจะบอกว่าเป็นประโยชน์นะ เราไม่ใช่บอกว่าเป็นโทษหรอก แต่เราจะบอกว่ามาตรฐานของสมาธิ คนที่จะทำเป็นเขารู้ว่าสมาธิ ขณิกะมันจะอยู่อย่างนี้ อุปจาระสงบมาขนาดไหนแล้วออกรู้อย่างไร แล้วอัปปนาสมาธิเป็นอย่างไร คนที่ทำสมาธิได้เขาจะรู้ถึงมาตรฐานของมัน เขาจะพูดถึงสมาธิที่ถูกต้อง
คนที่ไม่เคยทำสมาธิเลย “ว่างๆ ว่างๆ มันสบายนะ มันว่าง มันสบายนะ”
วางยาสลบไว้ เจ้าชายนิทรา เวลาเขาไปรักษาแล้วเขาช็อกไป เขาเป็นเจ้าชายนิทรา เขาก็นอนว่างๆ อยู่นั่น สบายทั้งวันเลย เดี๋ยวญาติก็มาพลิกตัวให้ เพราะมันกดทับ นั่นก็ว่างๆ นะ นั่นก็สบายนะ
ไอ้ที่เราพูด เราพูดไป มาตรฐานของสมาธิมันจะมีของมัน มันไม่เป็นอย่างนี้หรอก มันไม่เป็นอย่างที่เราว่ากันหรอก
ฉะนั้น สิ่งที่เขาบอกว่าเขาขับรถไปแล้ว แล้วมันภาวนาได้ แล้วมันไม่ฟุ้งซ่าน จิตมันดีมาก ร่มเย็น
ก็ใช่ ก็ใช่ เพราะหลวงปู่ฝั้นท่านก็บอกว่าอย่าเสียเวลาทิ้งเปล่า เราภาวนาได้ เราภาวนาอย่างนี้มันไม่ลงขนาดนั้นหรอก ถ้าจะลงจริง ลงที่ว่าสักแต่ว่า มันควบคุมรถไม่ได้เลย จอดข้างทาง จอดข้างทาง
เพราะคนที่ลงสมาธินี้ได้นะ กำหนดลมหายใจ ลมหายใจเริ่มละเอียด เราก็รู้ เราก็รู้เพราะอะไร เพราะคนเรามันเห็นแก่ตัวจะตาย จิตนี่ พอจิตมันเริ่มละเอียด ลมหายใจละเอียด เดี๋ยวจะตายแล้วนะ ภาวนาไม่ได้แล้วนะ มันคิดไปก่อน มันวิตกวิจารณ์ไปก่อน
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตมันละเอียด มันรู้ แล้วพอรู้แล้ว เพราะคนที่เคยทำ จิตมันจะละเอียดเข้ามาแล้ว ละเอียดขนาดไหน สติก็พร้อม ถ้าคนภาวนาเป็นนะ ถ้าคนภาวนาไม่เป็นจะตื่นเต้นตกใจ แล้วกิเลสมันจะสวมรอย จะตาย จะเป็นอย่างนั้น เวลาปัญญาที่มันคิดนั่นแหละกิเลสมันสวมรอย แต่โดยธรรมชาติของจิตที่มันรับรู้ มันจะรู้หยาบละเอียด แต่เวลามันจะกลัวตาย กลัวเป็นกลัวตาย กลัวผิดกลัวพลาด อันนั้นคือกิเลส
แต่ถ้าจิตรับรู้โดยธรรมชาติของมัน รับรู้ว่าหยาบละเอียดเท่านั้นน่ะ แล้วเวลาคนภาวนาเป็นนะ เขาควบคุมกิเลสได้ มันหยาบละเอียด พอหยาบละเอียดใช่ไหม ถ้าจิตใจมันละเอียด มันเดินนะ อย่างเช่นเดินจงกรม เดินไม่ได้ ยืน ยืนแล้วกำหนดชัดๆ ยืนก็ไม่ได้ นั่งลง นั่งลงตรงนั้นเลย สักแต่ว่า ละเอียดเข้ามาจนดับหมด แต่สักแต่ว่าชัดเจนมาก คนเป็นน่ะมันเป็น นี่อัปปนาสมาธินะ
อยากจะให้พูดถึงฌานสมาบัติไหม นั่นเป็นอีกกรณีหนึ่งนะ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเป็นนะ ถ้าคนเป็น มาตรฐานมันมีของมัน มันเหมือนทฤษฎี เหมือนกฎฟิสิกส์ชัดเจน ชัดเจน ถ้าเป็นก็คือเป็น ถ้าไม่เป็น มั่ว มั่วอยู่อย่างนั้นน่ะ ว่างๆ สบายๆ...ไอ้นั่นเจ้าชายนิทรามันนอนอยู่บนเตียง แล้วมันทำอะไรไม่ได้
นี่ไง สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน
ฉะนั้น ถ้าเขารู้เขาเห็น ไอ้นี่ก็กรณีหนึ่งใช่ไหม ถ้าเขาบอกว่าเป็น เขาบอกว่าทำได้ ทำได้ คำถามมันบอกถึงตัวเอง วันหนึ่งขณะขับรถ จิตใจเขาภาวนาอยู่ จิตเขาสงบดี ก็เหมือนกับตอนที่นั่งสมาธิภาวนา
คำว่า “เหมือนกับตอนที่นั่งสมาธิภาวนา” เพราะตอนนั่งสมาธิภาวนามันก็ได้แค่นี้ไง ได้เท่ากัน พอได้เท่ากัน เขาบอกขณะที่มีสติชัดเจนดี ตาก็ยังเห็นทางอยู่ชัดเจน หูก็ได้ยินชัดเจน
เห็นไหม จิตสงบอยู่ แต่มันยังรับรู้อยู่ อายตนะมันยังรับรู้ข้างนอกอยู่ แต่ถ้ามันละเอียดกว่านี้ ละเอียดกว่านี้นะ เสียงมันเริ่มสักแต่ว่าเสียง จากเสียงที่เราพูด เสียงสักแต่ว่าเสียง แล้วเสียงนี้จะดับไป แต่ตัวมันยังรู้ของมันอยู่ รู้อยู่ ถ้ามันระลึกได้ก็ระลึกของมันต่อเนื่องไป ให้มันละเอียดเข้าไป ระลึกจนมันจะระลึกไม่ได้ มันจะเป็นตัวมันแล้ว ถ้ามันจะเป็นตัวมัน นั้นอีกกรณีหนึ่ง นี่พูดถึงว่ามาตรฐานของสมาธิ
แต่ทำได้ขนาดนี้เก่งแล้ว คนถามนี้เก่งแล้ว เดี๋ยวพูดไปจะบอกว่า “หลวงพ่อ เดี๋ยวก็ชม เดี๋ยวก็ทุ่มทิ้ง อะไรกันเนี่ย”
เพราะว่าเด็ก เด็กมันทำมานี่ถูกต้องไหม ถูกต้อง แต่เด็กมันต้องพัฒนาขึ้นอีกไหม ต้อง ฉะนั้น ไอ้ที่ทำมาดีไหม ดี แล้วต่อไปล่ะ ต่อไปต้องดีขึ้นไปกว่านี้ ไอ้ที่ว่าทำถูกต้องไหม ถูก แต่ถ้าดีขึ้น ดีขึ้นต้องทำให้มากกว่านี้ ให้มันชัดเจนยิ่งกว่านี้ มันจะดีไปกว่านี้
ฉะนั้นบอกว่ามันเป็นได้ เขาบอกว่าที่เขาขับรถแล้วมันดีขึ้น ดีขึ้น เราภาวนาเพื่อมีธรรมะเป็นเครื่องอยู่ เราหาอาศัยอย่างนี้เป็นเครื่องอยู่ นี่เป็นเรื่องปกติ ใช้ได้
“๒. ขณะที่นั่งสมาธิ พักหลังนี้มีความสงบเย็นดีขึ้นเกือบทุกครั้งที่นั่งก็ว่าได้ ใจมันสงบและเห็นภาพนิมิตมากมายก่ายกอง แต่ก็ตั้งสติไว้ว่าไม่เอาๆ และเมื่อคืนนี้เองมันก็เกิดภาวนาจิตสงบเห็นนิมิตชัดขึ้นมาเป็นภาพซากกะโหลกและฟันมันผุไปเอง มันกระจายออกไป แว็บ! ใจมันลง”
ถ้าเห็นนิมิตนะ เห็นนิมิต แต่จิตมันเห็นนิมิต ถ้าเห็นภาพต่างๆ ที่เขาปฏิเสธมาตลอด ปฏิเสธแล้วว่าไม่เอา แล้วเอาพุทโธชัดๆ ขึ้นมา ถ้ามันจะเป็นจริง ถ้ามันเห็นภาพเป็นซากกะโหลก เป็นฟัน นี่เขาบอกว่า อันนี้เมื่อเขากลับมานั่งสมาธิที่บ้าน ไม่ได้ขับรถ
เวลาขับรถมันจะเห็นอย่างนี้ แบบว่าจิตมันรับรู้หนึ่งเดียว ถ้าบอกขับรถแล้วเห็นอย่างนี้ด้วยนะ ใช้ไม่ได้ แต่ถ้าเขามาอยู่ที่บ้าน เวลาเขาภาวนาแล้ว
เวลาขับรถ เราขับเป็นแบบว่าเครื่องบรรเทาทุกข์ เรามีธรรมะเป็นเครื่องอยู่ เราอยู่กับความสงบก็ไม่เสียหาย เราก็ขับรถของเราไป นี่เรามีธรรมะเป็นเครื่องอยู่ หลวงตาท่านสอนด้วย สอนว่า ในปกติชีวิตประจำวันเรา เราทำอะไรก็มีพุทโธๆ ของเราตลอดไป ท่านบอกว่าเหมือนโค โคที่เราผูกไว้ เวลาเราจะใช้มัน เราก็ไปหยิบที่เชือก เราก็ใช้ประโยชน์ได้เลย แต่ถ้าโคปล่อย วันๆ เราก็ปล่อยมัน เวลาจะใช้ เราต้องไปหามัน เพราะมันเที่ยวไปไกล เราต้องตระเวนหามัน
นี่ก็เหมือนกัน โดยปกติเราก็มีเครื่องบรรเทาทุกข์ เราก็มีเครื่องอยู่ เราก็พุทโธของเรา เราก็ภาวนาของเรา เวลาเราจะมาภาวนาต่อเนื่อง เห็นไหม โคมันมีอยู่แล้วใช่ไหม เชือกมีอยู่แล้วก็ภาวนาต่อไป
เขาบอกเขาเกิดภาพนิมิต
ถ้านิมิตที่ไม่ถูกต้อง เราปฏิเสธไปเรื่อยๆ นิมิตเห็นเทวดา เห็นอินทร์ เห็นพรหม เราปฏิเสธ แต่ถ้าเห็นเป็นกะโหลก เห็นเป็นกะโหลกศีรษะ เห็นเป็นฟันมันผุไปเอง นี่ภาพนิมิตมันเกิดขึ้นแว็บ แล้วจิตมันสงบลง ถ้าจิตสงบลง แว็บขึ้น มันดีขึ้นเรื่อยๆ
แล้วภาพกายนี้มันโผล่มา บอกว่า พอมันสงบลง เสร็จแล้วภาพ มันก็มีคำบริกรรมต่อเนื่อง มันก็เกิดภาพเป็นแขนบ้างเป็นขาบ้าง แล้วอย่างนี้มันจะทำอย่างไร
มันเห็นแล้วมันสงบตัวลง มันเป็นแบบว่า มันเป็นผลของวิบาก มันเป็นผลของกรรม มันเป็นผลของการกระทำ คำว่า “วิบาก” คือผล ผลของการปฏิบัติ เราปฏิบัติแค่นี้ เราก็ได้แค่นี้ เวลานิมิตมันเกิดก็นิมิตเกิด มันเกิดแว็บ มันเห็นแล้ว เห็นภาพกะโหลกศีรษะ ภาพฟันมันผุ มันแว็บเลย แล้วมันแว็บ มันก็ลง มันก็มีความสุข นี่ความสุข ถ้าทำอย่างนี้ก็ได้แค่นี้ตลอดไป
เวลาคนประพฤติปฏิบัติแล้วจะไปถามหลวงตาว่าที่ปฏิบัตินี้ถูกไหม หลวงตาบอกว่าถูก แล้วเราก็จะถามเลยว่า ถ้าถูกแล้วทำอย่างไรต่อไป หลวงตาจะบอกต้องปฏิบัติซ้ำ
นี่ก็เหมือนกัน เวลาทำความสงบของใจ สมถกรรมฐาน ถ้าฐานที่ตั้งแห่งการงานยกขึ้นสู่วิปัสสนา มันเห็นของมัน สติปัฏฐาน ๔ แล้วเราจะเดินปัญญาไปอย่างไร ทีนี้ไอ้ที่เวลาจิตเรานะ เราเกิดนิมิต เราปฏิเสธมา พอปฏิเสธมาตลอด พอจิตมันเห็นตามความเป็นจริงแล้ว เห็นซากกะโหลก แต่มันแว็บ แว็บแล้วลง โอ้โฮ! มันมีความสุขมาก แล้วจะทำอย่างไรต่อไป
หลวงตาท่านบอกว่าให้ปฏิบัติซ้ำ ปฏิบัติซ้ำหมายความว่ากลับมาที่พุทโธ
คำว่า “ปฏิบัติซ้ำ” เพราะอะไร คำว่า “ปฏิบัติซ้ำ” เรากำหนดพุทโธๆ จนจิตสงบใช่ไหม เห็นภาพนิมิต เราปฏิเสธภาพนิมิตใช่ไหม แล้วพอมันเห็นนิมิต เห็นกาย เห็นกระดูก มันเห็นตามความเป็นจริงใช่ไหม มันเห็นจากอะไรล่ะ เห็นจากจิตที่เรากำหนดพุทโธ จิตมันสงบมันถึงเห็นนิมิต เห็นนิมิตของปลอม เห็นนิมิตที่มันล่อมันลวง เราก็ปฏิเสธมาตลอด แต่พอมาเห็นซากโครงกระดูกอย่างนี้ มันก็เป็นนิมิตเหมือนกัน แต่มันแว็บ มันแว็บ มันไปต่อไม่ได้ มันไปต่อไม่ได้ มันเร็วมาก
แล้วหลวงตาท่านบอกให้ปฏิบัติซ้ำ
ซ้ำก็หมายความว่าต้องกลับไปที่พุทโธ ถ้ากลับไปพุทโธ เราก็สร้างกำลังไง ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ฐานนี้มันเล็ก ฐานนี้มันง่อนแง่น ฐานนี้มันตั้งการประพฤติงานอย่างนี้ไม่ได้ มันก็แว็บ พอแว็บ เราเคยได้ เคยเห็น เราเคยได้หมายความว่าเราเห็นนิมิต เห็นเป็นซากโครงกระดูก แว็บ เขาบอกว่า มันแว็บแล้วมันสุขมาก มันแว็บ มันดีมาก มันลงอย่างนี้ทุกทีเลย
กลับไปที่พุทโธนั้น ถ้ากลับไปพุทโธนั้น ให้ใจมันมีมาตรฐาน ให้ใจมันสงบ มันจะมีสิ่งใด ยังไม่เอามัน กลับมาที่พุทโธ แล้วถ้ามันไปเห็นกาย เห็นต่างๆ มันทำได้ มันทำได้ มันวิปัสสนาได้
เมื่อกี้นี้พูดถึงมาตรฐานของสมาธินะ ตอนนี้จะพูดถึงมาตรฐานของปัญญา ถ้ามาตรฐานของปัญญา การเห็นนิมิต เขาบอกว่า “ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ผมทำถูกไหม และต้องทำอย่างไรต่อไป” นี่คำถามเขานะ
สิ่งที่ว่าคำถามครั้งที่ ๒ กลับมาปฏิบัติที่บ้าน แล้วพอนั่งไปแล้วมันเห็นนิมิตก็ปฏิเสธมันมาตลอด แล้วพุทโธๆ ต่อเนื่องไปจนเห็นเป็นภาพของกะโหลก ภาพของฟันที่มันผุ แล้วมันแว็บๆ ลงหมดเลย แล้วบอกว่า ภาพนิมิตนี้มันเร็วมาก ไม่ทันที่จะคิดพิจารณาสรุปเป็นไตรลักษณ์ มันก็สรุปเองในตัวของมันเอง เพราะรู้ว่าใจมันจะปล่อยวาง แปลกครับ แปลกตรงที่กายนิมิตที่เห็นนั้นเกิดและดับหลายครั้งในขณะที่ภาวนาครั้งเดียว
เห็นไหม เวลาเห็นอย่างนี้ อย่างนี้ตำราไม่มี ตำราที่ไปเรียนอย่างไรก็ไม่มี ตำรา เขาก็เขียนตำราไว้ แต่เราไม่เข้าใจ แต่ผู้ถามเวลาปฏิบัติไปเห็นอย่างนี้ปั๊บ นี่ปัจจัตตัง รู้จำเพาะหัวใจที่มันเห็น
นิมิตที่มันเร็วมาก แล้วเขายังเขียนไว้ด้วยว่า แม้ท่านอาจารย์บอกว่าจิตนี้สามารถบังคับได้ ผมเองผมไม่มั่นใจว่าจะได้หรือเปล่า เพราะมันเร็ว เขาบอกว่า มันเร็วมาก นิมิตมันเกิดขึ้นปั๊บ มันจะสรุปตัวมันเอง ไม่ได้พิจารณาเป็นไตรลักษณ์เลย
มาตรฐานของปัญญานะ มาตรฐานของผู้ที่ปฏิบัติเป็น ถ้าเป็นอย่างนี้เขาเรียกว่าผู้ที่ปฏิบัติใหม่ พอปฏิบัติใหม่ พอเห็นกายครั้งแรกก็ทึ่งมากเลย เห็นกายครั้งแรก เห็นภาพกะโหลกศีรษะ เห็นฟันผุ ขนพองสยองเกล้าเลย แล้วก็หลุดมือไปอย่างนี้ ทรงไว้ไม่ได้ ก้าวเดินไม่เป็น คนที่ปฏิบัติจะเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น
ถ้าก้าวเดินไม่เป็น แล้วทำอย่างไรต่อล่ะ ล้มลุกคลุกคลาน ไปหาครูบาอาจารย์ที่ไม่เป็น ท่านก็ยุส่งเลย “จิตสงบแล้วต้องพิจารณากาย พิจารณากายซ้ำๆ มันก็จะปล่อย ปล่อยแล้วมันก็จะเป็นพระอรหันต์” นี่มันก็ว่าไป แล้วทำอย่างไรล่ะ ปฏิบัติอย่างไร
ถ้ามันเป็นแบบนี้ เขาบอกว่านิมิตมันจะสรุปตัวมันเอง
นี่เขาเรียกว่าส้มหล่น ส้มหล่น ถ้ามันเกิด มันเป็นอย่างนี้ มันจะเกิดโดยตัวมันเอง เราไม่ได้บริหารไง เราจะบอกเวลาธรรมมันเกิดๆ ธรรมมันผุดขึ้นมา มันจะผุดขึ้นมาอย่างนี้ แต่นี่มันเห็นนิมิต เห็นนิมิต รู้นิมิต แต่นิมิตมันเร็ว เร็วแล้วเราไม่มีกำลังพอไง
นี่ไง ที่เขาบอกว่า เวลาทำสมาธิ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เวลาทำปัญญา สติปัญญา สติ มหาสติ เวลาปัญญา ปัญญา มหาปัญญา มันยังไปมากกว่านี้
ไอ้นี่เบสิก มาตรฐานนี่พื้นๆ พื้นๆ ยังล้มลุกคลุกคลานเลย แล้วถ้าเห็นนิมิต เห็นนิมิตแล้วเราจะเดินอย่างไร
จิตสงบนะ เวลาครูบาอาจารย์ พอจิตสงบแล้วถ้าเห็นกาย ยกขึ้นสู่กาย เห็นกาย เห็นไหม เป็นอุคคหนิมิต แล้วถ้ามันทรงไว้ไม่ได้ มันไหล เวลาภาพมันจะไหล ถ้าภาพไหลแสดงว่ากำลังไม่พอ จิตไม่พอแล้ว เราต้องวาง วางแล้วกลับมาพุทโธอย่างเดียว กลับมาพุทโธ ถ้ามันจะดึงไปนิมิต ยังไม่เอา พุทโธก่อน ให้มีกำลัง
พอมีกำลัง กำลังมันพอใช่ไหม ไฟมันพอ เวลาภาพมา เราตั้งภาพได้แล้ว ภาพที่มันไหล เราให้มันตั้งได้ พอมันตั้งได้นะ ตั้งได้ เราก็รำพึงใช่ไหม การพิจารณาหมายความว่าเรารำพึงคือคิดในสมาธิ ให้มันแปรสภาพไป ให้มันแปรสภาพไป ถ้ามันไปได้แสดงว่ามีกำลังพอ แล้วถ้ากำลังพอ มันจะพิจารณาได้
แล้วพอถึงเวลาพิจารณาแล้วกำลังมันไม่พอ เราเคยให้มันแปรสภาพ มันจะแปร พับ! ไปให้เห็นเลย แต่ถ้ากำลังไม่พอ ให้มันแปรสภาพ มันไม่ไป มันไม่ไป มันอยู่อย่างนั้นน่ะ มันไม่ไป แล้วไม่ไป ทำอย่างไร
คนไม่เป็นก็บอกเอาปืนยิงมันเลย ระเบิดปาเข้าไป
ไอ้นี่มันคิดเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้
ถ้ามันไม่ไป นี่กำลังไม่พอแล้วล่ะ กำลังไม่พอ ต้องวางทันที กลับมาพุทโธต่อ กลับมาพุทโธๆๆ ถ้าพุทโธ กำลังมันได้ พุทโธจนจิตมันดี สมาธิเข้มแข็ง เห็นภาพอย่างเดิม เห็นภาพอย่างเดิม อุคคหนิมิต แล้วให้มันแปรสภาพไป ทำได้ ยิ่งกว่าได้ ไม่ใช่ได้อย่างเดียวนะ มันยิ่งกว่าได้ เพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำมาแล้ว ครูบาอาจารย์ของเราทำมาแล้ว มาตรฐานของมันจะเป็นอย่างนี้
ฉะนั้น ถ้ามาตรฐานของมันเป็นแบบนี้ปั๊บ ถ้าคนที่ไปรู้ไปเห็นแล้วก็พูดไปสุ่มสี่สุ่มห้า พูดแต่ความเห็นของตัว ใครเห็นกาย พิจารณากายอย่างไร ใครเห็นอย่างไรก็ได้ แต่เวลาพิจารณาไปแล้วมันจะเป็นอริยสัจ มันเป็นอันเดียวกัน พิจารณาจนมันเป็นไตรลักษณ์ แล้วมันเป็นไตรลักษณ์เป็นอย่างไร
นี่บอกว่า มันเป็นไตรลักษณ์ไม่ได้ มันสรุปของมันเอง จิตมันสรุปของมันเอง
อันนี้ยังมีวาสนาอยู่นะ แต่ถ้าถึงเวลากิเลสมันเข้ามาหลอกมาล่อ มันจะทำให้เสียหายมากกว่านี้
แต่นี่เขาบอกว่าที่เขาทำมา เขาเห็นภาพนิมิตต่างๆ มันถูกไหม แล้วภาพนิมิตมันเกิดขึ้นเร็วมาก
เร็วมากๆ เร็วมากๆ แต่เร็วขนาดไหน สติปัญญามันทัน พอมันทันขึ้นมา เร็วขนาดไหน มันทำให้หยุดนิ่งได้ หยุดนิ่งได้ หยุดนิ่งได้ด้วยกำลังของสมาธิ หยุดนิ่งได้ด้วยกำลังของธรรม ด้วยกำลังของมรรค เวลามรรคมันเกิดมันจะเป็นแบบนั้น
ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันเกิดขึ้นเร็วมาก แล้วมันสรุปเอง มันสรุปเป็นไตรลักษณ์เอง พอสรุปเป็นไตรลักษณ์เอง เรารู้ของเราขึ้นมา มันปล่อยวางเอง แปลกมาก แปลกตรงที่นิมิตนี้มันเห็นแล้วเห็นเล่า มันเกิดดับหลายครั้ง มันแปลก
มันมหัศจรรย์ มันเหนือโลก แต่เพราะว่าเราพัฒนาใจของเราจนมีมาตรฐานขึ้นไป เราถึงมารู้เห็นสิ่งนี้ได้ เพราะเราพัฒนาใจเรามา เราถึงรู้เห็นสิ่งนี้ได้ แล้วรู้เห็นสิ่งนี้ได้ แล้วจิตของเราพัฒนาต่อเนื่องไป เห็นไหม ต่อเนื่องไป
เพราะว่าเขาฟังปัญหาเราเยอะมาก เขาถึงบอกว่า ที่หลวงพ่อบอกว่าจิตนี้บังคับได้ สิ่งที่เร็วขนาดนี้บังคับได้ ผมไม่มั่นใจ
ไม่ต้องบอกไม่มั่นใจ บอกผมไม่เชื่อ ถ้าบอกไม่เชื่อก็บอกไม่เชื่อ มันบอกไม่มั่นใจ ก็บอกเลยว่า ที่หลวงพ่อบอกว่าทุกอย่างควบคุมได้ ผมไม่เชื่อ เพราะมันเร็วมาก
เห็นไหม คนที่ไปรู้เห็นมันจะเห็นว่าเร็ว เพราะว่ายังทำไม่ได้ มันก็คิดว่ามันไม่น่าจะทำได้ แต่ถ้าพอทำได้นะ พอทำได้ เร็วขนาดไหน เราตั้งไว้เฉยๆ ได้ จิตนี้ ภาพนะ ตั้งไว้เลย แล้วกำหนดให้มันละลายลง ให้มันแปรสภาพไป ถ้ามันเป็นไป เห็นไหม
เวลาหลวงตาท่านเทศน์ถึงของท่าน ท่านพิจารณากายของท่าน เวลาพิจารณา ท่านพิจารณาให้มันแปรสภาพไป มันละลายออกไปหมดเลย สุดท้ายแล้วสิ่งที่เป็นเนื้อเป็นหนัง มันละลายเป็นน้ำซึมลงไปในดินหมดเลย เหลือแต่กระดูก เหลือโครงกระดูกมันนอนอยู่ ท่านบอกว่าให้โครงกระดูกนั้นหายไป ท่านบอกดินมันพรึบ! มากลบหมดเลย มันแปรสู่สถานะของธาตุเดิมมันน่ะ เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ มันแปรสภาพ สถานะหายไป แล้วมันสอนใครนั่นน่ะ อันนั้นเป็นความจริง
เพราะหลวงตาท่านทำของท่านได้จริง ท่านไปสอนแม่ชีแก้ว แม่ชีแก้วมีฤทธิ์มีเดช โอ๋ย! รู้เห็นแปลกประหลาดมหัศจรรย์กว่านี้อีก ถ้าคนไม่รู้มันจะสอนได้อย่างไร
อันนี้ก็เหมือนกัน อันนี้บอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ ที่เร็วๆ อย่างนี้จะทำให้มันหยุดได้ แล้วมันแปรสภาพได้
มันไม่ใช่แปรสภาพได้นะ เวลาพิจารณาไปแล้ว เวลาพิจารณาโดยข้อเท็จจริงนะ ไอ้นี่มันไม่พิจารณา ไอ้นี่ส้มหล่น เห็นนิมิตปั๊บ มันสรุปมันเอง มันสรุปพับๆ เลย แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะ
กลับมาตั้งสมาธิให้ดีๆ กลับมาพุทโธโดยที่ไม่ต้องการเห็นใดๆ ทั้งสิ้น ให้กำลังมันดี แล้วถ้ากำลังดีแล้ว มันไม่เห็นภาพอย่างนี้อีกแล้ว รำพึงให้มันเห็นขึ้นมา รำพึงแล้วตั้งมันไว้ แล้วเราพิจารณาให้มันเป็นต่อหน้า ให้เป็นไตรลักษณ์ มาตรฐานของปัญญามันเป็นแบบนี้ มาตรฐานของการพิจารณากาย มาตรฐานของมันคือพิจารณาให้เป็นไตรลักษณ์ แต่ในแนวทางของใคร
ในแนวทางของหลวงปู่คำดี ในแนวทางของหลวงปู่ชอบ ในแนวทางของหลวงปู่บัว ในแนวทางหลวงปู่เจี๊ยะ พิจารณาเหมือนกัน แต่มันแตกต่างกัน แตกต่างกันที่ดีเอ็นเอ แตกต่างกันที่อำนาจวาสนา พันธุกรรมของจิต พระอรหันต์แต่ละประเภทสร้างบุญกุศลมาอย่างไร มันแตกต่างกันตรงนั้น มันแตกต่างที่วาสนาบารมีของคนที่สร้างมา แต่เวลามาพิจารณาอริยสัจ อริยสัจอันเดียวกัน อริยสัจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราทำของเรา มันจะเป็นอย่างนั้นน่ะ
ฉะนั้น พูดถึงว่า ถ้ามันภาวนาไปแล้ว ไอ้ที่ว่าเป็นไปไม่ได้ๆ ถ้าคำว่า “เป็นไปไม่ได้” นี่เขาภาวนาจริง เขารู้จริง เขายังทำไม่ได้จริง เขาบอกว่าสิ่งที่จะพัฒนาขึ้นไปมันเป็นไปไม่ได้ เขาพูดตามองค์ความรู้ของเขา แต่คนที่เขารู้จริงเขาผ่านไอ้อย่างนี้ขึ้นไป โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล เขายังต้องเดินไปอีก ๔ คู่ ไอ้ที่ว่าเป็นไปไม่ได้ๆ ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติมาแล้ว ท่านผ่านไปแล้ว ท่านผ่านไอ้ที่เอ็งว่าเป็นไปไม่ได้ไปถึงที่สุดแล้ว นี่พูดถึงมาตรฐานนะ
เพราะคำถาม เราไม่ได้พูดด้วยความแบบว่าเสียดสีให้คนเสียใจนะ เพราะคำถามนี้มันเป็นประโยชน์กับคนที่ปฏิบัติ เวลาปฏิบัติจับพลัดจับผลูได้มรรคได้ผลกันมาทั้งนั้นน่ะ แต่นี่เขาปฏิบัติ เขาได้เหตุได้ผล ฉะนั้น เราถึงยกเหตุยกผลนี้เป็นบรรทัดฐาน แล้วสอนถึงการใช้ปัญญาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ให้เห็นว่าเวลาปฏิบัติมันมีเหตุมีผล เห็นไหม ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล ในการปฏิบัติที่ยังไม่มีเหตุมีผล มันจะเป็นไปไม่ได้
แต่นี่ปฏิบัติมันมาตามข้อเท็จจริง มาตามองค์ความรู้ที่ตัวมีวาสนามากน้อยแค่ไหน แล้วเขียนมาถาม มันเป็นโอกาสที่เราได้เห็นมาตรฐานว่ามาตรฐานของสมาธิมันจะเป็นแบบมาตรฐาน คนเป็นพูดได้ คนเป็นรู้ได้ คนขนาดภาวนาเริ่มได้แล้วพูดออกมาความรู้ยังไม่รอบคอบ ไอ้ผู้ฟังก็รู้แล้วว่าระดับไหนแค่ไหน
ไอ้การใช้ปัญญา การเห็นนิมิต พูดออกมาโดยข้อเท็จจริง โดยความเห็นของตัวเองจริง เห็นไหม มันมหัศจรรย์ แล้วบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะให้มันอยู่นิ่งได้ มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่มันจะพิจารณาได้
แต่คนที่เขาพิจารณามาจนเป็นพระอรหันต์เยอะแยะเลย เขาพิจารณาผ่านอย่างนี้มา
ฉะนั้นจะบอกให้เห็นว่า มรรคผล เหตุที่จะปฏิบัติข้างหน้ายังอีกมหาศาล มหาศาลนะ แล้วมันไปจากไหน ไปจากไอ้ล้มลุกคลุกคลานนี่ ไปจากจิตที่อ่อนด้อยนี่ เวลาหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ท่านปฏิบัติเริ่มต้นก็เป็นแบบนี้ แต่ท่านพยายามของท่าน ท่านพยายามขวนขวายของท่าน พยายามสร้างสมบุญญาธิการของท่าน ท่านปฏิบัติของท่านจนท่านถึงที่สุดแห่งทุกข์ พอถึงที่สุดแห่งทุกข์ปั๊บ ท่านเห็นถึงระยะทางที่ท่านเดินมามันทุกข์ยากขนาดไหน มันละเอียดขนาดไหน มันมีสติ มหาสติ สติอัตโนมัติ มันมีปัญญา มหาปัญญา ปัญญาอัตโนมัติ มันจะต้องผ่านวิกฤติ ผ่านกิเลสที่มันยุมันแหย่ มันทำให้มันพลัดมันพราก ท่านถึงสงสารพวกเรา ท่านถึงได้วางข้อวัตรปฏิบัติไว้ ท่านถึงได้ฝากไว้ เห็นไหม “หมู่คณะให้จำชื่อหลวงปู่ขาวไว้นะ เพราะเราได้คุยแล้ว หลวงปู่ขาวท่านสิ้นแล้ว” สิ้นแล้วคือปฏิบัติมาจบแล้ว
ท่านฝากท่านฝังไว้เพราะอะไร เพราะท่านเห็นว่ากิเลสมันร้ายกาจ ไอ้ทำให้เราหลงใหลนี่มันร้ายกาจมาก แล้วร้ายกาจข้างหน้ายังมีอีกมหาศาลนะ
นี่ขนาดปฏิบัติแล้วเห็นขนาดนี้ตื่นเต้น แล้วบอกเลย หลวงพ่อบอกว่าจิตมันควบคุมได้ มันพัฒนาได้ ผมไม่เชื่อ
ไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร ไม่เชื่อก็ไม่ปรับโทษหรอก เพราะไม่เห็นมันก็ไม่เชื่อ ธรรมดา โอ้โฮ! ถ้าไม่เชื่อนี่เราคบกันไม่ได้เลยหรือ ไม่เชื่อก็ไม่เห็นเป็นอะไรเลย
มันต้องไม่เชื่ออยู่แล้ว เพราะขนาดที่ภาวนาขนาดนี้ก็ว่ามันสุดยอดแล้ว แล้วคนเราจะทำได้มากกว่านี้อีกหรือ แต่ครูบาอาจารย์เราท่านผ่านมาหมดแล้ว ถ้าผ่านมาแล้ว เพราะผ่านมาแล้ว เวลาสังคมปฏิบัติเขาคุยกัน ครูบาอาจารย์ท่านฟังแล้วท่านถึงสังเวชไง ภาวนายังไม่เป็นกันเลย สุมหัว แล้วก็คุยมรรคผลกัน ไร้สาระ แต่ถ้าคนภาวนาเป็น คนเขารู้ว่ามันจะผ่านวิกฤติไปขนาดไหน
นี่พูดถึงว่าการรู้การเห็นนิมิตนะ นี่การบริหารไง การดูแลหัวใจที่ว่าเขาไปทำงาน เขาขับรถ เขาทำสมาธิของเขาได้เป็นเครื่องอยู่ ยังเห็นทางชัดเจน มันบอกชัดเจนอยู่แล้วว่าจิตยังรับรู้ภายนอก จิตรับรู้ภายนอก จิตมันเห็นหนทางไง จิตได้ยินเสียง จิตยังรับรู้ภายนอก จิตยังไม่เข้ามาเป็นตัวมันเองเลย แต่มันมีความสุขความสงบ ก็ใช่
มาตรฐานมันมี คนรู้คนเห็นพูดมามันรู้เลยว่ามาตรฐานจิตแค่ไหน เห็นนิมิต เห็นกาย มันก็พูดออกมาได้ตามความเป็นจริงของมันน่ะ มันก็รู้ว่ามาตรฐานของมันแค่ไหน ถ้ามันทำต่อไปอย่างไร
สุดท้ายแล้วนะ มันต้องทำความสงบของใจเข้ามา แล้วสิ่งที่ว่าทำไม่ได้ๆ ทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจะมีความชำนาญ แล้วพอตั้งมาได้แล้ว เออ! ของแค่นี้ไม่น่าโง่เลย พอทำได้แล้วนะ แต่พอยังไม่รู้ โอ้โฮ! มหัศจรรย์มาก สุดยอดๆ แต่พอผ่านไปแล้ว อืม! ของแค่นี้ไม่น่าโง่เลย
คนเรามันต้องโง่ก่อน ต้องผิดพลาดมาก่อน แล้วค่อยทำไป เราก็เคยล้มลุกคลุกคลานอย่างนี้มาเหมือนกัน เวลาเราปฏิบัติใหม่ๆ เราจะแสวงหาครูบาอาจารย์ เราก็ทุกข์ยากมาพอแรง แล้วเวลาไปเจอครูบาอาจารย์ที่สอนผิด ท่านสอนนะ พูดน้ำท่วมทุ่ง แล้วพยายามจะให้เราเชื่อ จะให้เราทำตาม แต่พอเรามาปฏิบัติของเราเอง เราถึงได้รู้ว่าถูกผิดอย่างไร
พอรู้ว่าถูกผิดปั๊บ มันมีครูบาอาจารย์ที่ถูกสอน เราจะเกาะครูบาอาจารย์ที่ถูกไว้เลย แล้วพยายามขวนขวายเต็มที่ ขวนขวายเต็มที่ เพราะเราเอง กิเลสมันก็ยุแหย่อยู่แล้ว แล้วเราพยายามต่อสู้กับมัน แล้วถ้าเรามีครูบาอาจารย์ยึดเกาะ เห็นไหม ยึดเกาะ ผิดถูก เราก็ถามได้
ขนาดถามได้ ฟังสิ เวลาหลวงตาท่านเถียงหลวงปู่มั่น ท่านบอกของเราก็มี คือความเห็นของเรามันมี แล้วท่านเถียงหลวงปู่มั่น ไม่ได้เถียงด้วยทิฏฐิมานะ เถียงด้วยการต้องการความจริง เถียงหูดับตับไหม้เลย แต่เถียงจบแล้วท่านบอกว่าหัวแตกทุกทีเลย แพ้ทุกที เพราะเรามีประสบการณ์ไง เพราะมันเห็น เพราะมันรู้ของมัน แต่มันรู้ผิด รู้โดยสมุทัย รู้โดยกิเลสของเราบวกไง ครูบาอาจารย์ถ้าเป็นจริง เขาพึ่งกันอย่างนี้ไง
เราเองปฏิบัติไป เรามีกิเลส กิเลสมันจะพลิกแพลง มันจะหลอกลวง แล้วเราเองเราก็ปฏิบัติจนมีคุณธรรมส่วนหนึ่ง แต่กิเลสมันยังครอบงำอยู่ ก็ยังโต้เถียงกันในใจของเรา อะไรถูกอะไรผิดไง แล้วเรายึดครูบาอาจารย์ที่ดี
ขนาดเราไปเถียงกับท่านจนจบนะ เรายังว่าเราถูกอยู่น่ะ แต่พอเวลาเข้าทางจงกรมแล้วเราผิดหมดเลย แล้วถ้ามันเป็นจริงขึ้นมานะ กราบแล้วกราบเล่า หลวงตาท่านกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบแล้วกราบเล่า แต่กว่าที่จะผ่านวิกฤติอย่างนี้มา มันมหัศจรรย์
นี่พูดถึงในการเห็นนิมิต ในการจะบริหารจัดการมัน แต่นี้เราเห็นโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เพราะอวิชชายังเต็มหัวใจ แต่ครูบาอาจารย์ท่านก็เห็นแบบเรานี่แหละ แต่ท่านพิจารณาต่อสู้จนชำระล้างกิเลสตัณหาความทะยานอยากจนหมดหัวใจไปแล้ว การเห็นนั้นมันก็เป็นแค่วิธีการ ฝึกหัดจิต ปฏิบัติจิตให้มันมีปัญญาขึ้นมาจนหลุดพ้นมาเป็นชั้นเป็นตอน จนปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้
ฉะนั้น เวลาคำถามนี้ เราไม่ได้ถือสาอะไรหรอก เพียงแต่เวลาเขาเขียนมานี่อารมณ์ไง อารมณ์ร่วมตอนที่เราปฏิบัติใหม่ๆ อารมณ์ร่วม “มันน่าจะเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก” อารมณ์ร่วม แต่หัวแตกทุกทีเลย หลวงตาท่านเถียงหลวงปู่มั่นขนาดไหน ท่านบอกว่าจบแล้วหัวแตกทุกทีเลย
มันเป็นไปได้ เป็นไปได้ เพราะสติ มหาสติ มันจะมีอัตโนมัติข้างหน้า ปัญญา มีมหาปัญญา ปัญญาอัตโนมัติ ปัญญาที่ละเอียดกว่านี้ยังมี
ฉะนั้น อย่าท้อแท้นะ ขนาดปฏิบัตินี่ก็เกือบตาย ยังต้องไปอีกขนาดนั้นเชียวหรือ
ต้องไปอย่างนั้นจริงๆ ต้องไปอย่างนั้นถ้าเราจะปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์ เอวัง