ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

รู้จริงเงียบ

๓o พ.ค. ๒๕๕๘

รู้จริงเงียบ

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๘

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องสมาธิอารมณ์และสัญญาอารมณ์

หลวงพ่อ : เขาถามนะสมาธิอารมณ์และสัญญาอารมณ์เขาคิดเอง เวลาคนปฏิบัติใหม่แล้วก็คิดไปเรื่อยว่าตัวเองทำได้มากได้น้อยแค่ไหน เพราะมันตั้งชื่อให้ไม่ถูก ก็ว่ากันไปตามนั้น

ถาม : นมัสการท่านอาจารย์ที่เคารพ เมื่อก่อนทุกข์มาก ฝึกภาวนาเพื่อแสวงหาสมาธิธรรม ทำมาเรื่อยๆ ลุ่มๆ ดอนๆ ฝึกแรกๆ ก็ว่าอย่างนี้จะใช่สมาธิ มันน่าจะ แต่สุดท้ายก็ไม่ใช่ นานหลายปี อาจเป็นเพราะไม่ค่อยจริงจังเท่าไร แหม! มันเป็นหญ้าปากคอกจริงๆ สงสัยมาก ทุกข์มาก จนไม่นานมานี้ผมได้สัมผัสสมาธิจริงๆ มันอธิบายด้วยคำว่าสงบมันไม่ได้จริงๆ มันรู้สึกเกินกว่านั้น บรรยายไม่โดนจริงๆ แต่รับรู้ได้ มันทั้งสงบ มันทั้งร่มเย็น มันทั้งสบาย มันทั้งโล่งใจ ผมสามารถทำความสงบได้เร็วขึ้นและบ่อยๆ จนตอนนี้กลัวและกังวลครับ ปัญหามันอยู่ตรงนี้ครับ

. เมื่อก่อนทำไม่ได้ก็เป็นทุกข์ ถึงตอนนี้ทำง่ายก็เป็นทุกข์ กังวลว่านั่งแล้วจะไม่ได้อารมณ์สมาธินั้นอีก แต่ในใจก็อยากได้ความสงบมากกว่านี้ขึ้นไปอีกมากๆ จนตั้งใจจะให้ถึงตัวจิต (ตั้งปณิธานเอาไว้ครับ) ดังนั้นตนเองก็คิดอยู่ตรงนี้ ถึงพยายามที่จะบริกรรมต่อๆ เพื่อให้ได้ความสงบลึกซึ้งให้ได้ ขอเมตตาพระอาจารย์ช่วยชี้แนะด้วยครับ หรือว่าผมควรจะล้างปณิธานนั้นทิ้งเสีย แล้วทำความสงบของใจพอสมควร แล้วเดินปัญญาต่อเลยดีไหมครับ ถึงกระนั้นส่วนตัวก็ยังว่าการล้างปณิธานออกจากใจนั้นก็ไม่ง่ายอยู่ครับ ขอเมตตาพระอาจารย์ช่วยให้อุบายชี้แนะด้วยครับ

. พอทำสมาธิได้ง่ายเร็วขึ้น อารมณ์สมาธิมันฝังใจ มันสงบร่มเย็นเกินบรรยายจริงๆ แต่ตอนนี้ผมเริ่มกลัว กลัวและกังวลแล้วว่ากิเลสมันจะหลอกหรือเปล่า กิเลสมันอาจใช้สัญญาอารมณ์มาหลอกเราว่ามันเป็นสมาธิอารมณ์จริงๆ กิเลสมันร้าย ผมเชื่อว่าจิตละเอียดขึ้น กิเลสมันก็จะละเอียดขึ้นตามด้วยเช่นกัน ผมจะต้องใช้สติไปจับสิ่งใดเพื่อตรวจสอบความจริงครับ ความรู้สึกมันเตือนว่าให้ระวัง ให้ละเอียด และให้รอบคอบขึ้น ไม่เช่นนั้นจะเสียทีกิเลสและทำให้เสียเวลาหลงทางได้ครับ

ตอบ : นี่คำถามเนาะ คำถามว่าสมาธิอารมณ์หรือสัญญาอารมณ์ ตอนที่ทำสมาธิไม่ได้ก็ไม่เข้าใจว่าเป็นสมาธิ แต่พอมันเป็นสมาธิขึ้นมาแล้ว เขาก็เข้าใจได้ว่ามันเป็นสมาธิ แต่ตอนนี้พอนานไปๆ เขาสงสัยแล้ว สงสัยว่ามันเป็นสมาธิหรือเป็นสัญญาอารมณ์ เวลานานไปๆ ตัวเองก็สงสัยแล้ว เอ๊ะ! มันเป็นสมาธิไม่เป็นสมาธิ แต่ก่อนหน้านั้นอยากได้สมาธิมาก ไม่ได้สมาธิ แต่ตอนนี้พอได้สมาธิแล้ว มันจะเป็นสมาธิหรือไม่เป็นสมาธิ

เป็นสมาธิหรือไม่เป็นสมาธินี่เรารู้ได้ เรารู้ได้ ถ้าเป็นสมาธิ เพราะสติปัญญามันดี สติเราจะดีมาก จิตมันจะสงบ มันจะมีความร่มเย็นของมัน ถ้ามีความร่มเย็นของมัน จนมันขี้เกียจ ขี้เกียจคือมันไม่อยากออกใช้ปัญญา มันไม่อยากออกใช้หรอก หรือถ้ามันใช้ มันก็ใช้ไม่เป็น ใช้ไม่ได้ ถ้ามันใช้ไม่เป็น ใช้ไม่ได้ แล้วทำอย่างไรจะให้มันใช้ได้ล่ะ

เวลาคนนักปฏิบัติไป เวลาปฏิบัติไปเขาคิดว่าเหมือนการเรียนหนังสือไง พอเรียนหนังสือ ครูเขาต้องการสถานที่ไว้รับนักเรียน เขายกชั้นๆ เขาไม่ให้อยู่หรอก ไอ้นี่ก็ปฏิบัติไป ได้สมาธิแล้วเดี๋ยวจะได้ปัญญา เดี๋ยวจะได้มรรคได้ผล เดี๋ยวจะได้นิพพาน มันไม่เป็นอย่างนั้นหรอก พอได้สมาธิแล้ว ได้สมาธิ มันก็แช่อยู่อย่างนั้นน่ะ ไม่ได้สมาธิมันก็แช่อยู่ในอารมณ์นั้นน่ะ

พอแช่อยู่ในอารมณ์นั้น เราก็พุทโธๆ เพื่อจะสลัดตัวเองพ้นจากอารมณ์นั้น พ้นจากอารมณ์นั้น อารมณ์เกิดจากตัวจิตนะ เพราะจิตมันเสวย เสวยสัญญาอารมณ์ มันก็เป็นความคิด มันก็เป็นอารมณ์ เราก็แช่อยู่นั่นน่ะ พุทโธๆ พุทโธมันก็เป็นอารมณ์นั่นแหละ พุทโธๆ จนมันละเอียดขึ้นๆ มันจะสลัดตัวมันพ้นจากการแช่อยู่ในอารมณ์นั้น

เราเป็นสมาธินะ มันคิดว่าตัวเองเข้าไปแช่ในสมาธินะ พอแช่ในสมาธิ ก็ตัวเองก็คิดว่าไง คิดว่า เห็นไหม มันจะยกชั้นไง เพราะทางโรงเรียนเขาต้องการสถานที่ไว้เพื่อจะรับนักเรียนใหม่ ยกชั้นๆ เขาไล่ออกหมดแหละ ไล่ขึ้นไปๆ อ่านออกไม่ออกไม่เป็นไร ไล่ขึ้นไปให้มันจบไป เวลาปฏิบัติไปก็คิดว่าพอสงบแล้วมันก็จะได้มรรคได้ผลอะไรไป...ไม่มีทาง มันก็เป็นจินตนาการอยู่อย่างนั้นน่ะ

แต่ถ้ามันมีอำนาจวาสนานะ พอมันไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง มันสะเทือนกิเลสมาก มันสะเทือนกิเลสเพราะอะไร เหมือนเราเป็นไข้แล้วไปหาหมอ หมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคอะไร นั่นแหละจบแล้ว ถ้าวินิจฉัยเป็นโรคอะไร มันก็จะเริ่มการรักษา

นี่ก็เหมือนกัน ไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง มันเขย่า เขย่าหัวใจ เขย่าหัวใจ แต่ถ้ามันไม่ไปเห็นนะ มันก็ว่านิพพานไง เวลาจิตสงบแล้ว พอสงบแล้วหนหนึ่งก็ได้โสดาบัน หนที่สองก็สกิทาคามี หนที่สามก็อนาคามี หนที่สี่ก็พระอรหันต์ พระอรหันต์โดนแช่อยู่นั่นน่ะ แช่อยู่ในสมถะนั่นน่ะ ที่เขาบอกสมถะแล้วมันจะติดๆ ถ้าคนไม่มีอำนาจวาสนามันก็เป็นอย่างนั้น แต่ถ้าคนมีอำนาจวาสนา มีครูบาอาจารย์นะ ท่านพยายามจะให้อุบาย

สมาธิมันมีสมุทัย สมาธิมันไปคร่อมกิเลสไว้ สมาธิก็เป็นสมาธิ เป็นสมาธิแล้ว ถ้าไม่มีสมาธิ มันก็เป็นสัญญาอารมณ์ เป็นโลกเลย เป็นอารมณ์ เป็นความรู้สึกนึกคิดเลย แล้วก็จินตนาการสร้างภาพนะ สร้างภาพว่าตัวเองมีปัญญา มีปัญญาเสร็จแล้วมันก็ถอยมาสงบแค่นั้นน่ะ พอสงบแล้วมันไม่ยกขึ้นสู่วิปัสสนา มันก็แช่อยู่นั่นน่ะ

ถ้ามันยกขึ้นสู่วิปัสสนา โอ้โฮ! เวลาปัญญามันเกิดนะ ปัญญามันเกิด มันต้องถากต้องถาง มันต้องลงทุนลงแรง มันใช้ปัญญามหาศาลเลย พอใช้ปัญญามหาศาล นั่นน่ะมีสมาธิไปรองรับ มันก็ไปได้ พอสมาธิมันอ่อนแอลง มันไปไม่รอดแล้ว มันแบบว่ามันคิดไม่ออก นึกไม่ได้ เป็นไปไม่ได้

นี่ต้องมีสัมมาสมาธิมารองรับ ถ้าสมาธิมารองรับ มันจะเกิดภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาถ้าสมาธิขึ้นไปมันถึงจะเป็นวิปัสสนา เป็นวิปัสสนานั่นก็คือปัญญาไง นั่นก็คือภาวนามยปัญญา ปัญญาที่จะฆ่ากิเลสไง ถ้ามันฆ่ากิเลส มันทำลายกิเลสอย่างนี้มันถึงจะมีมรรคมีผลไง

ไม่ใช่ไปนอนแช่อยู่อย่างนั้น ไปแช่สมาธิมันก็เป็นสมาธิ ถ้าพูดถึงสมาธินะ แต่พอนานเข้า เขากลับสงสัยว่ามันเป็นสมาธิอารมณ์หรือเป็นสัญญาอารมณ์

ถ้าเป็นสมาธิ มันเข้าไปพักได้ มีสติพร้อม สติมันจะรู้เลยว่าเราพุทโธๆ จิตสงบเข้ามา เราก็รู้ว่าสงบ เวลามันคลายตัวออกก็คลายตัวออก คือคนมันนั่งอยู่ คนมันรับรู้อยู่ชัดๆ ไม่ใช่ตกภวังค์ ถ้าพุทโธๆๆ หายไปเลย ไม่รับรู้อะไรเลย นั่นน่ะตกภวังค์ นั่นน่ะภวังค์ ไม่ใช่สมาธิ ถ้าไม่ใช่สมาธิ มันก็ไม่รู้ว่าสมาธิ

ถ้าคนภาวนามันชัดเจน มันก็ชัดเจนอย่างนั้นน่ะ เวลาตกภวังค์ก็หายไปเลย แต่ถ้ามันพุทโธๆ เป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ เป็นอัปปนาสมาธิ ถ้ามันจะลงสมาธิจนสักแต่ว่า มันก็รู้ชัดๆ มันรู้ชัดๆ มันรู้ตัวตลอดเวลา ถ้ามันขาด ขาดก็สติขาดไง สมาธิก็คือสมาธิ

เขาว่าเป็นสมาธิอารมณ์หรือสัญญาอารมณ์

มันแปลกใจว่าทำไมตัวเองยังสงสัยในสมาธิของตัว ถ้าเรายังสงสัยในสมาธิของตัว ในทางโลกถ้ามีความสงสัยอยู่ เขายกประโยชน์ให้กับจำเลยนะ ห้ามตัดสิน ถ้ายังมีความสงสัยอยู่ ต้องยกผลประโยชน์ให้กับจำเลย นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรายังสงสัย สงสัยสมาธิเราอยู่หรือ

ถ้าเป็นขณิกสมาธิก็เป็นขณิกสมาธิ อุปจาระก็เป็นสมาธิรับรู้ได้ ถ้ามันละเอียดจนลงอัปปนาสมาธิ ถ้าจะสักแต่ว่ารู้ ไม่รู้อะไรเลย มันตัดอารมณ์ภายนอก แต่มันรู้ ไม่รู้ไม่ได้ มันเป็นธาตุรู้ มันเป็นตัวรู้ มันจะไม่รู้ได้อย่างไรล่ะ มันรู้ แต่มันสักแต่ว่า มันละเอียดจนมันแสดงตัวไม่ได้ มันละเอียดจนอยู่ในตัวมันเองไง อยู่ในร่างกายนี้ แต่ไม่ได้รับรู้ร่างกายนี้เลย จิตเป็นจิต กายเป็นกาย อยู่ด้วยกันนี่แหละ แล้วก็รู้

ไม่ใช่บอกไม่รู้นะ อะไรก็ไม่รู้ โอ้โฮ! บางคนบอก เราฟังเทศน์ พระเขาเทศน์กัน บางองค์บอกว่ารู้บ้างไม่รู้บ้าง บางองค์บอกไม่รู้อะไรเลย...มันเป็นอย่างนั้นหรือ มันไม่เป็นอย่างนั้น ผู้รู้ไม่รู้ได้อย่างไร ไม่รู้ก็คือผู้ไม่รู้น่ะสิ

ผู้รู้มันรู้ มันรู้ชัดเจนของมัน แต่รู้ระดับไหนล่ะ แต่คนมันไม่เคยรู้ไง พอไม่เคยรู้ก็บอกว่า พอจะเข้าอัปปนาสมาธินะ รู้ครึ่ง ไม่รู้ครึ่ง รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง

เพราะว่าฟังพระเทศน์เยอะเหมือนกัน พอฟังพระเทศน์แล้วมันก็ เอ๊! เขาพูดอะไรกันน่ะ ทีนี้มันก็ขำๆ ทีนี้เพียงแต่ว่าคนที่เขาฟังอยู่เขาไม่รู้ แต่ไอ้เราฟังแล้ว อืม! พูดออกมาได้อย่างไรน่ะ เขาเป็นผู้รู้ แต่เขาไม่รู้ได้อย่างไร ถ้าเขาไม่รู้ก็ตกภวังค์น่ะสิ ถ้าเขาไม่รู้ก็แสดงว่าเขาไม่รู้สึกตัวเขา

อ้าว! เขาบอกว่าเป็นอัปปนาสมาธินะ ไม่รู้เรื่องนั้น รู้เรื่องนี้

อ้าว! ไม่รู้ได้อย่างไร รู้ชัดเจนมาก เพียงแต่มันรู้ละเอียด มันไม่ยอมออกมารับรู้ความหยาบ อายตนะนี้มันหยาบ มันไม่ออกมาไง คือมันละเอียดจนมันไม่ออกมารับรู้ความหยาบ มันเป็นอิสระในตัวมันเอง นั่นพูดถึงว่ารู้ชัดเจน

เราจะบอกว่า เขาถามว่าเป็นสมาธิอารมณ์หรือเป็นสัญญาอารมณ์ มันเริ่มเอะใจแล้วล่ะว่า เอ๊! ทำไมยังสงสัยสมาธิของตัว เหมือนเรามีสตางค์ แล้วเราสงสัยสตางค์ของเราว่ามีสตางค์หรือไม่มีสตางค์นี่มันแปลกเนาะ เรามีสตางค์เท่าไร เราก็รู้ว่าเรามีสตางค์เท่านั้นใช่ไหม เราถือสตางค์อยู่ เอ๊! นี่สตางค์หรือไม่สตางค์ เอ๊ะ! นี่ใช่สตางค์หรือไม่ใช่สตางค์ เออ! มันก็แปลกแล้วนะ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราสติสมบูรณ์ เราถือสตางค์อยู่ก็ต้องเป็นสตางค์แน่นอน เงินก็ต้องคือเงิน เราถือเงิน กำเงินอยู่นี่ แต่เรากำเงินอยู่ เอ๊! เป็นเงินหรือไม่ใช่เงิน ถ้าเป็นเงินหรือไม่ใช่เงินแสดงว่าต้องยกผลประโยชน์ให้จำเลยคือไม่ใช่ แต่ไม่ใช่ จะกล้าทิ้งไหมล่ะ เงินของเรากล้าทิ้งไหม ไม่กล้าทิ้ง

อันนี้พูดถึงว่ามันก็แปลกใจ แปลกใจตรงเขาตั้งคำถามว่ามันเป็นหรือไม่เป็นใช่ไหม ถ้ามันแปลกใจ ทีนี้เราจะย้อนกลับมาที่สมาธินี้ เขาถาม เห็นไหม เขาถามว่า เมื่อก่อนนั่งสมาธิไม่ได้ก็คือไม่ได้ พอมันได้สมาธิแล้วแบบว่ามันสัมผัสได้จริงๆ เวลาเขาบอกพอเป็นสมาธิ สัมผัสสมาธิได้จริงๆ มันอธิบายไม่ได้ มันอธิบายคำว่าสงบไม่ได้จริงๆ ครับ มันรู้สึกเกินกว่าคำบรรยาย มันบรรยายไม่โดนคือบรรยายไม่ถึงความรู้อันนั้นจริงๆ มันทั้งสงบ มันทั้งร่มเย็น มันทั้งสบาย มันทั้งโล่งใจ

เห็นไหม มันไม่มีอะไรเข้ามาเจือปนเลย มันทั้งสงบ เราสงบแล้ว ร่มเย็นด้วย แล้วสบายใจด้วย แล้วโล่งใจด้วย ถ้าอย่างเราเป็นสมาธิไม่เป็นสมาธิ สมาธิหรือไม่ใช่ มันไม่โล่งใจนะ มันขัดใจนะ มันไม่สะดวก แต่ถ้าเป็นความจริง ความจริงเป็นความจริง ถ้าความจริงเป็นความจริง

ทีนี้ถ้ามันเป็นสมาธิ เราบอกว่า ถ้ารู้จริงแล้วมันจะเงียบ ถ้ารู้จริง เพราะความรู้สึกของเรามันอธิบายออกไป อธิบายเป็นวิทยาศาสตร์ยากมาก เราจะอธิบายเทียบเคียงกับอะไรล่ะ

ฉะนั้น เวลาในการแสดงธรรม เอตทัคคะในการแสดงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปุณณมันตานีบุตรนั่นเป็นเอตทัคคะในทางแสดงธรรม แม้แต่เวลาพระสารีบุตรเป็นผู้ที่เลิศด้วยปัญญานะ ยังสู้พระปุณณมันตานีบุตร หลานของพระอัญญาโกณฑัญญะไม่ได้ นั่นน่ะเราจะบอกว่าเขามีเชาวน์ปัญญาไง ถ้าเขามีเชาวน์ปัญญาเลิศ เลิศในการแสดงธรรม เขามีความเปรียบเทียบ เขาจะอธิบายความรู้สึกของเขาได้ออกมาจนเราฟังนี่เราเข้าใจได้เลย นี่เขามีความสามารถขนาดนั้น

คำว่าเขาเลิศในทางแสดงธรรมคือว่าสิ่งที่ยาก เอามาพูดให้เราเข้าใจได้ง่าย สิ่งที่ลึกซึ้งก็เอามาเปิดเผยให้เราเข้าใจได้ สิ่งที่เราคิดไม่ถึงเลย ท่านจะเอามาอธิบายให้เราฟังจนเอ๊อะ! เลยล่ะ นั่นน่ะแสดงว่าท่านเลิศ เลิศในการแสดงธรรม ท่านเลิศในการที่จะเอาสิ่งที่เราเข้าใจไม่ได้มาแสดงให้เราเข้าใจ

ก็แค่เข้าใจ ไม่ใช่ความจริง เพราะยังไม่ภาวนา เราต้องภาวนาให้มันได้รู้จริงเป็นความจริงขึ้นมาถึงเป็นความจริง

ฉะนั้น สมาธิก็เป็นสมาธิ ทีนี้สมาธิมันเป็นเรื่องของนามธรรม เรื่องของหัวใจ ฉะนั้น เวลาใครได้หรือไม่ได้ จะเอามาอธิบาย อธิบายได้ยาก เขาถึงบอกว่า เวลาเขาเป็นสมาธิขึ้นมาแล้วมันถึงได้เข้าใจ เมื่อก่อนนั้นทำได้ยากก็มีความทุกข์มาก มีความทุกข์มาก แล้วทำแล้วก็ว่าเข้าใจ ก็นึกว่ามันเป็นๆ จนมันไม่เป็น พอเขาเป็นแล้วเขาถึงย้อนกลับไปเห็นโทษไง มันเป็นหญ้าปากคอกจริงๆ หญ้าปากคอกมันเป็นความลังเลสงสัย มันเป็นการจับจด เราเอาจริงไม่เอาจริง นี่มันเป็นหญ้าปากคอกจริงๆ

ไอ้ตรงนี้เราพยายามวางไว้ แล้วพยายามตั้งใจ เห็นไหม ตั้งใจ พยายามตั้งใจแล้วเป็นเอกภาพ ทำให้ดี แล้วมั่นคง

เวลาหลวงตาท่านสอนนะ ท่านบอกเลย เวลาเราจะนึกพุทโธหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ให้เหมือนมีเรากับพุทโธเท่านั้น โลกนี้มีเหมือนไม่มี คือเราไม่ไปรับรู้อะไรเลย เราจะไม่ยอมรับรู้อะไรเลย เราจะรับรู้แต่ความรู้สึกเรากับพุทโธเท่านั้นๆๆ

ทีนี้มันไม่ได้น่ะสิ มันเหมือนเด็ก จับมันมัดไว้ มันไม่ยอมหรอก ถ้าเด็ก ปล่อยให้มันเล่นตามสบายมันก็ได้ จิตนี้ถ้าไม่ไปดูแลมัน มันก็อยู่สบายนะ พอสติเข้าไป มันดิ้นแล้ว นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ แต่ตอนไม่ทำไม่เห็นพูดอย่างนี้เลย ไม่ทำ มันก็เห็นอยู่เฉยๆ พอจะทำขึ้นมา มันต้านแล้ว นี่เวลาจะเอาจริงเอาจัง

ฉะนั้น คำว่าหญ้าปากคอกมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่พอเวลามันเป็นขึ้นมาแล้วเขาบอกโอ้โฮ! มันต่างกับที่คิดไว้มาก

ฉะนั้น พอมาเข้าคำถามนะ คำถามว่า

. เมื่อก่อนทำไม่ได้ก็เป็นทุกข์ ตอนนี้ทำได้ง่ายก็เป็นทุกข์ กังวลว่าเวลานั่งไปแล้วมันจะไม่ได้อารมณ์สมาธินั้นอีก แต่ใจมันก็อยากได้ความสงบมากกว่านั้น

เพราะว่าเขาอยากให้เข้าถึงตัวจิตไง เข้าถึงตัวอัปปนาสมาธิ จะเข้าถึงตัวนั้นนะ ถ้าเข้าถึงได้เข้าถึงไม่ได้ มันก็อยู่ที่อำนาจวาสนา เพราะว่าถ้าเป็นปัญญาวิมุตติจะไม่เข้าถึงสิ่งนี้เลยก็ได้ หรือถ้าเป็นเจโตวิมุตติ จิตมันเข้าไม่ถึงตรงนั้น ถ้าจิตเขาสงบแล้วเขาใช้ปัญญาของเขาไปก็ได้ แต่คนเวลาเข้าได้ เข้าได้ก็คือเข้าได้ เข้าได้ก็เป็นสมาธิไง

เหมือนเรามีเงินกันมากๆ คนที่มีเงินนะ เขามีเงินไม่มากหรอก แต่เขารู้จักใช้สอยเงินของเขา เขารู้จักเอาเงินของเขาไปลงทุน เขาจะมีเงินงอกเงยขึ้นมา เรามีเงินมากหรือเงินน้อย แต่เราลงทุนไม่เป็น เราเก็บเงินไว้แค่นั้นก็แค่นั้นไง

สมาธิก็คือสมาธิไง ถ้าเราหาเงินมาได้ เราไม่รู้จักใช้มัน เราเก็บสะสมไว้ก็เท่านั้น ถ้ามันหามาได้ หามาแล้วใช้ไม่เป็น ก็เข้าธนาคารสิ ไปซื้อหน่วยลงทุนก็ได้ตอนนี้ แต่ซื้อหน่วยลงทุน เดี๋ยวเขาโกงหมดนะ ฝากธนาคาร ธนาคารเจ๊งอีก ตอนนี้รัฐบาลไม่ค้ำประกันอีก โอ๋ย! มีเงินไม่รู้จะทำอย่างไร หันรีหันขวาง

คือมีสมาธิแล้วใช้ไม่เป็น ก็แค่นั้นน่ะ มีสมาธิก็เป็นทุน ถ้าเป็นทุนแล้วไปใช้ต่อเนื่องไปมันก็เป็นประโยชน์ไง

ฉะนั้น ถ้าพูดถึงว่า ถ้าเป็นขณิกสมาธิก็เป็นขณิกสมาธิ อุปจาระก็อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เราทำของเราบ่อยครั้งเข้าแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา ฉะนั้น เขาบอกว่าเขาตั้งปณิธานไว้ว่า ดังนั้นเขาจะพยายามตั้งปณิธานไว้ คิดว่าตัวเองจะอยู่ตรงนี้ ถึงพยายามจะทำให้บริกรรมบ่อยๆ ให้ถึงที่สุดให้เข้าถึงจิตนั้นให้ได้ แต่มันก็เข้าได้ยาก เขาถึงถามว่าแล้วเขาควรทำอย่างใด เขาควรทำอย่างใด เขาควรจะล้างปณิธานนั้นไหม แต่เขาบอกว่าปณิธานอันนั้นก็ล้างได้ยาก

มันก็เป็นความสงสัยของตัว ไอ้นี่เป็นความสงสัยของตัว ฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติใหม่ๆ นะ ถ้าเราสงสัยหรือเรายังสิ่งใดไม่จบสิ้น ก็ต้องทดสอบกันให้จบ จบเรื่องนี้แล้วให้เข้าใจถ่องแท้เลย พอจบแล้วก็เดินต่อไปๆ

เขาเรียกว่าติดไง เวลาภาวนานะ เวลาคนภาวนา ถ้าผิดพลาดไปก็หลงไปเลย แต่ถ้าภาวนาแล้ว ถ้าเราไม่มีปัญญา เขาเรียกติด ติดคือความสงสัย ติดคือมันยังปล่อยวางไม่ได้ อารมณ์อย่างนี้ปล่อยวางไม่ได้ แล้วก็เกาะอารมณ์อยู่อย่างนี้ แล้วมันไปไม่ได้ จะไปไหนมันก็คิดแต่ตรงนี้ จะก้าวไปไหนๆ ก็คิดถึงตรงนี้

ถ้าเป็นตรงนี้ปั๊บ เอาตรงนี้ ตรงที่สงสัยนี่ พิจารณา พิจารณาตรงสงสัย เอาให้จบ ติดอะไร รู้อะไร อย่างเช่นบางคนจะคิดว่า เรานี้เกิดมาจากไหน อยากรู้อดีตชาติ มันสงสัยตลอด

เอาให้มันจบ เอาให้มันจบว่าสงสัยทำไม สงสัยเรื่องอะไร สงสัยแล้วถ้ามันรู้จริงแล้วได้อะไร ถ้ากำหนดไปดูว่าอดีตชาติเราเป็นเปรต เป็นสัตว์นรกขึ้นมา เราจะคอตกไหม เราอยากรู้ไหมว่าอดีตชาติเราเป็นสัตว์นรก เราอยากจะรู้อดีตชาติว่าเราเป็นคนเลว หรือเราอยากจะรู้อะไร ถ้าเราเป็นคนดีก็จะมาส่งเสริมให้กิเลสมันเห่อเหิมอีก แหม! อดีตชาติเราสูงส่งนัก เราดีนัก ถ้าอดีตชาติเราเลวนัก มันก็จะมาคอตกอีก มันไปรู้มาแล้วได้ประโยชน์อะไร ถ้าประโยชน์ปัจจุบันนี้ ถ้าเราขยันหมั่นเพียร เอาตรงนี้

พูดถึงถ้ามันสงสัยอะไร เราจะแก้ไข เราจะแก้ไข เราพิจารณาของเราให้จบ ถ้าจบแล้วเราจะเดินหน้าต่อไป ถ้ามีครูบาอาจารย์ ถ้าไปปรึกษาครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านมีแนวทาง ท่านก็จะให้อุบาย มันติดอะไร ทำไมถึงติด

นี่ก็เหมือนกัน อยากจะเข้าถึงตัวจิต แล้วตอนนี้พยายามภาวนาต่อเนื่อง แล้วก็เลยเป็นทุกข์ กลัวมันจะไม่ได้

เวลาไม่ได้เลยก็เป็นทุกข์อย่างหนึ่ง เวลาได้มาแล้ว เขาบอกเขาได้มาแล้วตอนนี้ เขาได้มาแล้วคือเขาทำสมาธิได้ แต่เขาอยากพิสูจน์ถึงว่าเข้าไปถึงตัวจิต คือเข้าไปถึงอัปปนา เข้าไปถึงจิตที่มันดับหมด จิตที่มันดับอายตนะ ดับความหยาบ

ดับก็คือดับ มันเหมือนมีเงิน คนมีเงินหนึ่งล้านกับคนมีเงินร้อยล้าน ร้อยล้าน ถ้าไปเห็นร้อยล้านแล้วรู้ว่าตัวเองมีเงินร้อยล้าน ออกมาแล้ว แล้วร้อยล้านจะเอาไว้ไหน ทีนี้เป็นปัญหาแล้ว แต่คนอื่นเขาไปเห็นว่าเรามีร้อยล้าน ร้อยล้านก็เป็นนามธรรม ร้อยล้านคือเหมือนบุญกุศล บาปบุญมันเป็นนามธรรม ร้อยล้านก็คือร้อยล้าน มันก็เป็นอริยทรัพย์ เป็นอัตตสมบัติของเรา ก็วางไว้นั่น แล้วเราภาวนาของเราต่อเนื่องไป

ไม่ใช่เป็นร้อยล้าน เอาล่ะสิ มีร้อยล้าน เรามีเงินร้อยล้าน แล้วร้อยล้าน เราจะทำอะไร แล้วไอ้เงินหนึ่งล้านนี่ล่ะ ไอ้เงินหนึ่งล้านก็คือสมาธิปัจจุบันนี้ เราไปเห็น แล้วทีนี้มันเป็นเหมือนนามธรรม มันไม่ใช่รูปธรรมที่จับต้องได้ แต่เรารู้ได้

แต่ไม่ใช่รูปธรรมที่จับต้องได้ เราจะมาบอกประชาชนเขาได้ไหม เราจะมาบอกสังคมได้ไหมว่าเรามีร้อยล้าน แล้วมีไม่มี เขาจะเชื่อเอ็งไหม ใครเขาจะไปเชื่อเอ็ง มันเป็นนามธรรม

พอไปรู้ เราก็ไปติดไง ไปติด เรามีร้อยล้านนะ เราเคยเข้าอัปปนาสมาธินะ อู้ฮู! เรามีบารมีนะ

บารมีก็บารมีส่วนตัวของท่าน ไม่เกี่ยวกับใครหรอก ใครปฏิบัติ คนไหนรู้มากรู้น้อยแค่ไหนมันก็เป็นสมบัติของคนนั้นน่ะ เว้นไว้แต่เวลาเอามาแสดงธรรมให้คนอื่นเป็นตัวอย่างให้เขาเห็นเท่านั้นน่ะ มันเป็นสมบัติส่วนตน เป็นสมบัติส่วนตนที่เราจะทำของเรา

นี่พูดถึงเข้าอัปปนาสมาธิ ถ้าเข้าไม่ได้ก็เป็นความทุกข์ เราจะบอกว่า จะเข้าได้หรือเข้าไม่ได้มันเป็นอำนาจวาสนาของคน ถ้าครูบาอาจารย์ที่เคยเข้าได้บ่อย อย่างเช่นหลวงปู่ชอบ อย่างครูบาอาจารย์ อย่างหลวงปู่ตื้ออย่างนี้ ท่านเข้าของท่านได้ด้วยเรื่องปกติเลย เพราะว่าท่านมีความถนัดไง แต่ถ้าหลวงปู่ดูลย์เข้าอย่างนี้ได้ไหม หลวงปู่ดูลย์ท่านจะเป็นปัญญาของท่าน นี่พระอรหันต์เหมือนกัน แต่ความถนัดของคนมันไม่เหมือนกัน มันแตกต่างกัน ฉะนั้น เวลาแตกต่างกัน มันเป็นจริตเป็นนิสัย

ทีนี้เวลาผู้ถามจะถามว่า เขาเข้าได้หรือเข้าไม่ได้ เพราะเขาบอกเป็นความทุกข์ ตอนนี้เป็นความทุกข์ ความทุกข์วิตกกังวลจะเข้าได้หรือไม่ได้ แล้วเขาบอกว่า ให้ล้างปณิธานอันนี้ได้ไหม ล้างปณิธานที่ว่าจะตั้งใจเอาให้ได้

อยู่ที่ถ้าคนอื่นบอกมันก็ยิ่งสงสัยซ้อนสงสัยเข้าไปอีก ฉะนั้น ทำได้หรือทำไม่ได้ ถ้าอยากพิสูจน์ ให้ตัวเองเป็นผู้พิสูจน์

. พอทำสมาธิได้ง่าย เร็วขึ้น อารมณ์สมาธิมันฝังใจ มันสงบร่มเย็น มันเกินบรรยายจริงๆ แต่ตอนนี้ผมเริ่มกลัวและกังวลแล้วว่ากิเลสมันจะหลอกหรือเปล่า กิเลสมันอาจใช้สัญญาอารมณ์มาหลอกเราว่ามันเป็นสมาธิอารมณ์จริงๆ กิเลสมันร้ายมาก ผมเชื่อว่าจิตละเอียดขึ้น กิเลสมันก็จะละเอียดตามขึ้นไป ผมจะต้องใช้สติปัญญาจับสิ่งใดเพื่อทดสอบความรู้สึกให้ละเอียดขึ้นไปจนตอบกิเลสได้

อันนี้ก็เป็นที่ว่า ถ้าทำสัญญาอารมณ์มันจะมาหลอก ถ้ายังไม่เข้าใจตัวเอง ถ้าไม่เข้าใจตัวเอง มันก็เป็นปัญหาที่จะแก้สงสัยเรา

แต่ถ้าเขาบอกว่าเขาจะใช้ปัญญาต่อไปดีหรือไม่ ที่ว่าข้อที่ . ควรจะเดินปัญญาต่อเนื่องไปดีไหมครับ จะเดินสมาธิหรือจะใช้ปัญญา

ถ้าเป็นสมาธิก็เป็นสมาธิแล้ว เป็นปัญญาก็เป็นปัญญาแล้ว เพียงแต่ว่าคนจะเดินไปได้หรือไปไม่ได้

เวลาครูบาอาจารย์ของเรานะ เวลาเริ่มต้นปฏิบัติใหม่ๆ ถ้าปฏิบัติติดขัดก็ติดขัด แต่ถ้าใครปฏิบัติแล้ว ถ้ามันเจริญแล้ว เวลามันเสื่อมล่ะ

มีหลายองค์มากที่หลวงตาท่านบอกว่า เวลาครูบาอาจารย์ท่านเล่ากันมานะว่า ตอนเป็นปะขาวหรือตอนเป็นพระบวชใหม่ ทำสมาธิได้ดี จะรู้เห็นอะไรแปลกๆ เยอะแยะมหาศาลเลย แต่สุดท้ายแล้วสึกหมด พวกนี้สึกหมดนะ ท่านชี้ให้ดูเลย คนนี้มันสึกไป เมื่อก่อนเคยจิตสงบแล้วเห็นเป็นดวงแก้ว แล้วตามดวงแก้วขึ้นไป เวลาดวงแก้วลอยขึ้นบนต้นไม้ก็ปีนขึ้นไปบนต้นไม้ สุดท้ายแล้วมันไปปีนต้นไม้มาก จิตมันถอนออกจากสมาธิ ลงไม่ได้ ท่านบอกว่า ถ้าดวงแก้วนั้นไปที่หน้าผา แล้วถ้ามันผ่านไป แล้วให้คนนี้เดินตามไป ตกหน้าผาตายได้ นี่พูดถึงเวลาจิตเขามีคุณสมบัติขนาดนั้นน่ะ แต่เวลาหลวงตาท่านไปเจอตัวจริง เขาสึกจากพระไปแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน เวลาถ้าจิตมันภาวนาดี คิดว่าภาวนาดีแล้วมันจะดีต่อเนื่องไปไหม ถ้ามันดีต่อเนื่องไป เรารักษาของเรา ทีนี้เขาอยู่ทางโลก เขามีอาชีพนะ เขาทำอาชีพการงาน แต่เวลาปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมเพื่อคุณสมบัติ เพื่อสัจจะเพื่อความจริง

ถ้าทางโลกก็เป็นทางโลก ถ้าเป็นทางธรรม เราปฏิบัติของเราไป ถ้าปฏิบัติ ถ้าเป็นสมาธิก็คือเป็นสมาธิ แต่ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญา มันออกมาใช้ปัญญาก็ใช้ปัญญาไปเลย ออกไปใช้ปัญญา ใช้ปัญญาไปเลย ปัญญาพิจารณาในชีวิต ถ้าเป็นสิ่งที่มีชีวิตก็ธรรมารมณ์ไง

อารมณ์ที่เกิดจากสมาธิ เขาเรียกธรรมารมณ์ ถ้าอารมณ์ที่เกิดจากการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย ในชีวิตประจำวันของเรามันก็เป็นอารมณ์ความรู้สึกอันหนึ่ง แต่ถ้ามันมีสมาธิไปรองรับ มันก็เป็นการพิจารณาธรรม พิจารณาสติปัฏฐาน ไง กาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าพิจารณาธรรมขึ้นมา มันก็เป็นปัญญาของเราขึ้นมา มันก็ทำของเราไปสิ จะทำของเราไปเพื่อประโยชน์กับเราไง

ทีนี้ไม่เป็นสมาธิก็ว่าไม่เป็นสมาธิ พอเป็นสมาธิก็ว่าเป็นสมาธิ แล้วตอนนี้จะมาถามเลยว่ามันจะใช้ปัญญาต่อไปดีหรือว่ามันจะเข้าสมาธิดี

มันก็เหมือนเอาสำรับอาหารมาตั้งหลายๆ สำรับ แล้วก็มาถามเราว่าหลวงพ่อจะกินสำรับไหน

มันกินไม่หมดหรอก อาหารมันหลายสำรับมาก แต่ถ้าเรากินทีละสำรับใช่ไหม มื้อนี้กินสำรับนี้ใช่ไหม มื้อต่อไปกินสำรับนี้ใช่ไหม แต่เอาอาหารมาตั้ง - สำรับเลย แล้วก็บอกเราจะกินอันไหนดี กินอันไหนดี อ้าว! ชอบอันไหน กินอันนั้นน่ะ ชอบอันไหน กินอันนั้น กินไม่หมดหรอก กินไม่หมด

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราทำ เพราะจิตมันทำได้หนึ่งเดียวไง จิตเราจะทำสมาธิ เราก็ทำสมาธิเข้าไป พอทำสมาธิ มีความสุขความสงบแล้ว ถ้าเราเป็นลูกศิษย์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านฝึกหัดใช้ปัญญา เราก็ใช้ปัญญาของเราไป ถ้าใช้ปัญญาไป มันทำสมาธิได้ง่ายขึ้น ถ้าเป็นวิปัสสนาก็เป็นวิปัสสนาขึ้น ถ้ามันได้ผลนะ

ถ้ามันไม่ได้ผล แสดงว่าเราก็มีคุณสมบัติทำได้เท่านี้ ทำได้เท่านี้ก็ทำได้เท่านี้ ต่อเนื่องไปได้ไหม ถ้าต่อเนื่องไปแล้ว เวลาหลวงตา เวลาจิตของท่านหมุนติ้วๆ ท่านต้องแยกตัวท่านออกไปคนเดียว เวลาท่านปฏิบัติ ท่านไปอยู่ในป่าคนเดียว ต่อสู้คนเดียว เวลาถ้าจิตมันดีขึ้น มันต้องการใช้เวลามากขึ้น เหมือนงานที่ละเอียดขึ้น มันต้องการเวลามากขึ้น ยิ่งต้องการสติมากขึ้น เราจะต้องปลีกวิเวกมากขึ้น มันจะรู้เอง

เราทำอะไร กำลัง อย่างเช่นเราใช้มีดทำอาหาร ถ้ามีดมันทื่อ เราไม่ได้ลับ มันก็ไม่คมกล้า แต่ถ้าเราเอามีดไปลับแล้วกลับมาทำอาหารอีก มันก็คมกล้า จิตของเราก็เหมือนกัน ถ้ามันใช้ปัญญา มันพิจารณาไปแล้ว ถ้ามันทะลุทะลวงไป มันแสดงว่ามีสมาธิพอ ถ้ามันพิจารณาไปแล้ว ถ้ามันทะลวงไปไม่ได้ แสดงว่าสมาธิมันเสื่อม สมาธิมันเสื่อมเหมือนกับมีดที่มันไม่คม

สมาธิก็คือสมาธิ สมาธิก็คือเงิน เงินเอาไปใช้ประโยชน์ มันก็ได้ประโยชน์ ไม่ได้ประโยชน์ มันก็มีค่าเท่านั้น มีด มีดถ้ามันคมกล้า ถ้ามันใช้ประโยชน์ก็ได้ประโยชน์ ถ้ามีดมันทื่อ อยากจะใช้ประโยชน์ มันใช้ไม่ได้ มันก็ต้องไปลับให้คมกล้า

สมาธิก็เป็นสมาธิ ปัญญาก็เป็นปัญญา แล้วปัญญา ถ้ามันเป็นโลกุตตรปัญญา มันก็เป็นปัญญาเหนือโลก ถ้าเป็นโลกียปัญญา มันก็ปัญญาทางวิชาชีพ ปัญญาทางโลก มันมีเท่านี้

แล้วเขาบอกว่าให้หลวงพ่อช่วยชี้แนะด้วย

ถ้าชี้แนะ เราต้องหายใจแทนเลยล่ะ หายใจแทนเลยว่ามันควรจะทำอย่างไรนะ ไอ้นี่แบบชี้แนะด้วย มันเป็นความถนัดของคน ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก รู้จำเพาะตน แต่นี่ปฏิบัติมันได้ผลแล้วคือได้ผล

อันนี้พูดถึงว่าสมาธิอารมณ์หรือสัญญาอารมณ์เนาะ จบ

ถาม : เรื่องความรู้สึกจากใจ

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ กราบขอบพระคุณหลวงพ่อที่ตอบคำถามลูกมาโดยตลอด ตอนนี้ลูกไม่มีอะไรจะถาม ลูกพอเข้าใจบ้าง ลูกจะพยายามค่ะ ลูกจะไม่ประมาทค่ะ ลูกแค่อยากจะบอกหลวงพ่อว่า ลูกรู้สึกดีมากๆ อบอุ่นหัวใจเป็นที่สุดในความเมตตาของหลวงพ่อ อย่างน้อยลูกก็มีที่พึ่ง มีที่ยึดเหนี่ยวภายในใจบ้างค่ะ ได้แค่หวังลึกๆ ว่าลูกจะมีบุญมากพอที่จะได้ไปกราบหลวงพ่ออีกสักครั้ง

ตอบ : โอ้โฮ! จะไม่ได้เห็นหน้ากันเลยเนาะ เขาอยู่เมืองนอก

อันนี้เพียงแต่ว่า ถ้าเป็นคำถามอย่างนี้ เราพอใจแล้วแหละ เพราะเขาบอกว่า ลูกไม่มีอะไรจะถามแล้วค่ะ ลูกมีความเข้าใจบ้าง มีความพยายามบ้าง ลูกไม่ประมาทค่ะ

ตรงนี้สำคัญมากนะ สำคัญมากที่ว่า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม แล้วเวลาผู้ที่ไม่อยากจะเข้าไปคลุกคลีกับใครก็จะบอกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลยเวลาเขาพูด เขาพูดกันอย่างนั้นนะเธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลยแล้วธรรมะคืออะไรล่ะ ธรรมะคืออะไร

เวลาบอกว่า ธรรมะนะ พระพุทธคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมคือคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสงฆ์คือพระอัญญาโกณฑัญญะ พระอริยสงฆ์ แล้วพระธรรมคืออะไร พระธรรมคืออะไร แล้วถ้ามีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด แล้วเอ็งพึ่งอะไร แล้วเอ็งมีอะไรเป็นที่พึ่ง

เวลาบอกว่าเธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลยมีธรรมก็ต้องมีสัจธรรม ถ้ามีสัจธรรม เห็นไหม ทีนี้ธรรมะ ธรรมก็อยู่ในหัวใจของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เราก็อยากมีธรรมเป็นที่พึ่ง แล้วธรรมในใจของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นเป็นธรรมที่มีชีวิต เพราะหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านสื่อสารกับเราได้ เราทำถูกทำผิดอย่างไรท่านสื่อสารกับเราได้ ที่เราไปหาท่านเราก็ไปหานี่ เพราะคุณธรรมท่านมันอยู่ในหัวใจของครูบาอาจารย์ของเรา แต่เราไม่ได้ไปติดบุคคล

เขาห่วงกันเยอะไง เขาห่วงว่าพวกเราจะไปติดบุคคล แล้วบุคคลถ้าเป็นทางโลก บุคคลนั้นก็แสวงหาผลประโยชน์จากเราไง ควักหัวใจเราไปเลย หัวใจนี้ควักไป แล้วอยากจะได้สิ่งใดก็เรียกร้องเอา บีบบี้สีไฟเอากับเรา แต่หัวใจเราไปฝากไว้กับใคร ใครอยากได้ เราก็ให้ทั้งตัว เห็นไหม

ฉะนั้น เวลาทางธรรมเขาบอกว่าเธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีบุคคลเป็นที่พึ่งเลย อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลยก็พูดอย่างนั้นน่ะ ความหมายก็คืออย่างนั้นน่ะ

แต่นี่เหมือนกัน บอกถ้ามีหลวงพ่อเป็นที่พึ่ง เป็นที่พึ่ง เป็นที่อบอุ่นใจ

เราก็จะพูดกลับเลยเธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิดถ้ามีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด เรามีเหตุมีผล เราก็มีคุณธรรมในหัวใจ เราก็มีสิ่งนั้นเป็นที่พึ่ง ถ้ามีธรรมเป็นที่พึ่งนะ มีธรรมก็ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราก็ถามกลับว่า ธรรมมันคืออะไร

ธรรมก็คือสมาธิธรรม สติ สมาธิ ปัญญา คือธรรม สติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม เวลามันมีคุณธรรมขึ้นมา มันเกิดคุณธรรมขึ้นมาในหัวใจ อันนั้นจะเป็นธรรมแท้

ถ้าธรรมแท้ในหัวใจ ดูสิ เวลาเราไม่สงสัยสิ่งใดเลย ไม่สงสัยเพราะอะไร ไม่สงสัยเพราะว่าละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ละสักกายทิฏฐิ มันก็ไม่มีความสงสัย ไม่มีวิจิกิจฉา ถ้ามันไม่มีวิจิกิจฉา เราจะลูบๆ คลำๆ ไหม เราก็จริงจัง เราก็ทำมั่นคง เห็นไหม อย่างนี้เขาเรียกมีธรรมเป็นที่พึ่ง ถ้ามันมีความจริงขึ้นมา มันก็มีธรรมเป็นที่พึ่ง

เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลยธรรมอันนั้นคือธรรมจริงๆ ธรรมแท้ สติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม

อย่างที่เขาบอก เดี๋ยวนี้เขาจะไม่ประมาทแล้ว เขาจะมีสติปัญญาขึ้นมาแล้ว เพราะเวลาจะกดแป้นมานี่ตั้งสติดีก็พูดได้อย่างนี้ แต่เวลาเดี๋ยวสติเสื่อม ไปกระทบกระเทือน นั่งร้องไห้อีกแล้ว

ความทุกข์ความยากในใจมันจะเกิดดับ เดี๋ยวเราก็มีอารมณ์ เดี๋ยวเราก็มีสติปัญญารู้เท่ารู้ทันของเรา เดี๋ยวพอถ้าเราสติดีๆ สมาธิดี มรรคผลนิพพานมันจะหยิบจะคว้าเอาได้เลย แต่เวลาสมาธิเสื่อม ปัญญามันท้อแท้ โอ้โฮ! มันทุกข์มันยาก

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ผลของวัฏฏะ เหมือนกับเราเดินทางอยู่บนทะเลทราย แล้วล้มลง แล้วหงายหน้ามองไปข้างหน้า ยังต้องเดินต่อไป นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบไง

คนเดินอยู่กลางทะเลทรายนะ มันหิวมันกระหาย มันทุกข์มันยาก มันไม่มีสิ่งใดเลย แล้วไม่มีความสามารถจะเดินต่อไปได้ ล้มลง แต่มันยังไม่ตาย มันยังเห็นทาง เราจะต้องก้าวเดินต่อไป จิตนี่ผลของวัฏฏะไง พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบอย่างนี้ เรายังต้องก้าวเดินต่อไป เรายังจะต้องไป แต่อุปสรรคของเรา ล้มนอนอยู่กลางทะเลทราย มันทุกข์ยากแค่ไหน นี่พูดถึงผลของวัฏฏะ ถ้าเราคิดได้เรื่องอย่างนี้ปั๊บ ว่านี่ผลของวัฏฏะมันจะมีความทุกข์ความยากอย่างนี้ มันจะทำให้เรา

ถ้าจิตใจเรามีความอบอุ่น มีความระลึกถึงหลวงพ่ออย่างนี้ อันนี้ถ้าจิตใจมันดีมันคิดได้อย่างนี้ แต่ถ้าวันไหนจิตใจมันเสื่อมนะโอ้โฮ! เชื่อฟังหลวงพ่อมาตั้งนาน หลวงพ่อบอกให้ทำดีๆ ก็ทำดีมาจนขนาดนี้แล้วไม่เห็นได้อะไรเลยนี่เวลาจิตมันเสื่อมน่ะ

ทำดีหรือทำชั่วมันเป็นการกระทำ การกระทำนั้นคือกรรม กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดแตกต่างกัน กรรมคือการกระทำนั่นแหละ กระทำอันนั้นแหละ มันทำอันนั้นแหละมันเป็นวิบาก มันเป็นการกระทำ มันเกิดกรรม กรรมดีกรรมชั่วอยู่ที่นั่นแหละ ถ้าทำดีมันต้องได้ดี

ถ้าทำของเรานะ ทำด้วยความดี ด้วยสติปัญญา มันจะมาตรวจสอบ มันจะมาแยกแยะ มันจะมาทำให้เราอยู่ในสัจธรรม ว่าอย่างนั้น เพราะอะไร เพราะมันเป็นธรรม เพราะเป็นธรรมมันก็แยกแยะอะไรผิดอะไรถูก มันรู้

จริงๆ นะ คนเราจะทำสิ่งใดมันรู้ถูกรู้ผิดอยู่นะ แต่มันทนสิ่งเร้า ทนกิเลสไม่ไหว แต่เราฝึกหัดๆ อยู่นี่ เราควบคุมดูแลมันอยู่นี่ เราควบคุมดูแลมันอยู่ ถ้ามันมีสิ่งเร้า สติปัญญาเราเท่าทัน สติปัญญาเราสูงกว่า เราก็ยับยั้งได้ ยับยั้งได้ เห็นไหม กรรมดีมันก็ทำให้เราดีขึ้นๆ นี่ไง เธอจงมีธรรมะเป็นที่พึ่งเถิด ถ้ามีสิ่งนี้เป็นที่พึ่งมันจะเป็นประโยชน์ไง ถ้าเป็นประโยชน์ มันจะเป็นประโยชน์

เขาบอกว่าความรู้สึกจากใจ

เพราะว่าธรรมะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อต้องการรื้อสัตว์ขนสัตว์ เพื่อต้องการให้สัตว์มีที่พึ่งที่อาศัย ต้องการให้สัตว์มีความร่มเย็นไง เพราะว่าคนที่ไม่ใช่หมอก็จะไม่ค่อยรังเกียจพวกเชื้อโรคต่างๆ แต่ถ้าคนที่เป็นหมอเขาจะคัดแยกของเขาตลอด เห็นสิ่งใดว่ามันเป็นเชื้อโรค มันจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราเจ็บไข้ได้ป่วย เขาจะหลีกห่างเลย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ชำระล้างกิเลส ท่านถึงเห็นว่าเรื่องกิเลสร้ายกาจนัก ครอบครัวของพญามารในหัวใจน่ากลัวที่สุด ไม่มีอะไรน่ากลัวเท่ากับมารในหัวใจของเราเลย แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เห็นมัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทำลายมัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงหลีกเร้นหลีกห่างมันตลอด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงปรารถนาสอนพวกเรานี่ไง สอนพวกเรา

แต่พวกเราเป็นปุถุชน เราก็ไม่ใช่หมอไง หมอเขาถึงเห็นว่าอะไรถูกอะไรผิดใช่ไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงเห็นอะไรถูกอะไรผิดใช่ไหม แต่พวกเราเป็นปุถุชน เราถึงไม่เห็นว่ากิเลสมันน่ากลัวไง เราไม่ได้เห็นว่ากิเลสมันน่ากลัว เราไม่ได้ตื่นกลัวกับกิเลสเลย ถ้าเราตื่นกลัวกิเลส เราจะทำตัวกันอย่างนี้หรือ

เราต้องมีสติ เราต้องมีปัญญาสิ เราต้องมีสติปัญญาพยายามรื้อค้นฝึกฝนมัน ทำให้มีมุมมอง ให้มีความเห็นเหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เห็นว่ากิเลสมันน่ากลัว สิ่งที่ในหัวใจเรามันน่ากลัว มันทำให้เราทุกข์ยากอยู่นี่ แล้วเราถึงมีความกระตือรือร้นที่อยากจะปฏิบัติ มีการกระตือรือร้นที่จะเข้าไปต่อสู้กับมัน มีความกระตือรือร้นที่จะประพฤติปฏิบัติเพื่อจะต่อสู้กับกิเลส เพื่อจะเป็นประโยชน์ของเราไง

นี่พูดถึงว่า จงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด เอวัง