เทศน์บนศาลา

ธรรมเป็นใหญ่

๑๓ ส.ค. ๒๕๔๘

 

ธรรมเป็นใหญ่
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๘
ณ วัดสันติธรรมาราม ต. คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ฟังธรรม ฟังธรรมนะ เพราะธรรมนี้ต้องเป็นใหญ่ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังเป็นธรรม ถือธรรมเป็นใหญ่นะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ธรรม จะถือธรรมที่ไหนเป็นใหญ่ ธรรมมันมีอยู่ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้ว ธรรมนี้มีอยู่ ของดั้งเดิมมีอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ มาตรัสรู้ด้วยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง

ไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ศึกษานะ เพราะในโลกในวิชาการสมัยนั้นนะ ตักกสิลามีชื่อเสียงมาก ทุกคนไปศึกษา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษาวิชาการทางโลกมาจากตักกสิลา แต่เวลาออกมาประพฤติปฏิบัตินะ เจ้าลัทธิต่างๆ ที่มีอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไปศึกษากับเขา แต่ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคารพล่ะ ไม่เคารพธรรมเลย ธรรมไม่เป็นใหญ่เลยเพราะอะไร เพราะไม่สามารถชำระกิเลสในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

สิ่งที่ว่าสิ่งที่ชำระกิเลส เวลาอาสวักขยญาณ อาสวักขยญาณ สิ่งนี้ทำลายกิเลสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชำระกิเลส สิ่งที่เป็นไปในหัวใจมันเป็นความมหัศจรรย์นะ คิดดูสิว่าอจินไตย ๔ พุทธวิสัยเป็นสิ่งที่ลึกลับมหัศจรรย์มาก ไม่มีใครสามารถจะคาดการณ์ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

คนที่มีปัญญาระดับนั้น ยังท้อแท้นะ ท้อแท้ว่าสิ่งนี้จะสั่งสอนอย่างไร สิ่งที่เป็นความลึกลับมหัศจรรย์สิ่งนี้จะออกมาเผยแผ่ได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ตั้งใจเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วคาดสิ คาดถึงการณ์ว่าปัญญาอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังท้อแท้ นี่มันลึกลับขนาดไหน มันมีคุณสมบัติขนาดไหน ทำไมปัญญาระดับนั้น

เวลาเราเป็นผู้ใหญ่เราจะสอนเด็ก เราจะมีวิธีการจะสอนให้เด็กเข้าใจสิ่งที่เราจะสื่อ สิ่งที่เราจะสื่อ นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาอย่างนี้ แล้วปัญญาระดับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ก็ต้องเอาสิ่งนี้ตีแผ่ออกมาให้ใครเข้าใจก็ได้ สิ่งนี้เป็นไปไม่ได้ ขนาดปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ พอเข้าไปรับรู้สิ่งนี้ มีอาสวักขยญาณ

ความรับรู้ของปัจจุบันเรามันเหมือนกระดาษซับ มันเป็นการซับเหมือนสิ่งที่ว่าเครื่องถ่ายภาพ สิ่งนี้ถ่ายภาพออกมา มันซับเข้าไปในหัวใจ แต่การชำระกิเลสมันเป็นการรื้อ รู้ด้วยการเพิกออกกับรู้ด้วยการซับเข้ามา ทางโลกเรารู้ด้วยการซับเข้ามา สิ่งที่รู้ด้วยวิธีการเพิกออกมันเป็นอาสวักขยญาณ เห็นไหม สิ่งนี้เป็นความมหัศจรรย์ แล้วจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไรล่ะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้สิ่งนี้แล้วถึงได้เคารพไง เคารพธรรมมาก แล้ววางธรรมไว้เป็นใหญ่ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบก็กราบธรรมนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ศาสนะ ๒ มีพระพุทธกับพระธรรม มีคฤหัสถ์ที่ถึงพระพุทธ พระธรรมก่อน แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยวิมุตติสุข สิ่งนี้ออกไปเทศน์ธัมมจักฯ แล้วพระอัญญาโกณฑัญญะเข้ามามีดวงตาเห็นธรรม แล้วเทศน์ปัญจวัคคีย์จนปัญจวัคคีย์เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด สิ่งนี้เป็นรัตนตรัย เป็นศาสนะที่พึ่งของชาวพุทธเรา

สิ่งที่เป็นชาวพุทธเรา สังคมวิวัฒนาการมาตลอด สิ่งที่วิวัฒนาการมาตลอด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เผยแผ่ธรรม เผยแผ่ธรรมไปเพราะคนที่มีปัญญา คนที่มีความเข้าใจสิ่งนี้มี สิ่งที่เป็นวัฏฏะโลกนี้หมุนเวียนไป ดูสิ ดูความเจริญของประเทศชาติ ดูความหมุนไปของโลก เรามองกันแต่ความเจริญรุ่งเรืองของโลก แต่เราไม่ได้มองสิ่งที่ว่าโลกที่บกพร่องไป

อย่างเช่น ทรัพยากรที่ใช้ไป เรามองกันนะว่าเดี๋ยวนี้โลกเจริญ วิทยาศาสตร์เจริญ ความเป็นอยู่ของเราสุขสบายขึ้นมา ดีขึ้นมาแต่เดิม เมื่อก่อนดำรงชีวิตมีความทุกข์ยาก มีความทุกข์ยากต้องใช้ดำรงชีวิตแบบธรรมชาติ แต่ปัจจุบันนี้มีสิ่งที่อำนวยความสะดวกเข้ามา แต่เราไม่ได้มองสิ่งที่ว่าเป็นจุดบกพร่องของโลก บางส่วนของโลกเขาทุกข์ยากของเขานะ แม้แต่ทรัพยากรก็โดนที่อื่นดูดซับไปใช้ นี่ที่วิวัฒนาการของโลก โลกหมุนเวียนไปเหมือนกับวัฏฏะ

สิ่งที่เป็นวัฏฏะ ผู้ที่เป็นสาวก-สาวกะสร้างบุญกุศลมาเป็นสหชาติ ก็ต้องสร้างบุญกุศลกันมา แล้วเกิดมามันวิวัฒนาการของวัฏฏะ วัฏฏะ กามภพ รูปภพ อรูปภพ แล้วจิตวิญญาณก็หมุนเวียนไป จนมาเกิดพร้อมกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรม สิ่งนี้ผู้ที่มาเข้าใจตามธรรม มาเห็นธรรมตามจริงกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ สังคมมีมากขึ้น ภิกษุมีมากขึ้น ในสังคมนะ บริษัท ๔ ภิกษุ-ภิกษุณีมีมากขึ้นถึงบัญญัติธรรมและวินัย

“ธรรม” ธรรมคือการบัญญัติ คือการแสดงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นที่ว่าสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถือว่าความเป็นใหญ่ ความเป็นใหญ่คือผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ใจเข้าถึงธรรม สิ่งนี้ธรรมนี้เป็นใหญ่ สิ่งที่เป็นใหญ่นี้มันเป็นสิ่งที่ว่ามันสะอาด เพิกออกจนอวิชชาไม่มี ความหลงผิดในหัวใจไม่มี สิ่งนี้เป็นใหญ่นะ

แต่วินัย วินัยบัญญัติไว้เพื่อบังคับหมู่สงฆ์ เพราะสงฆ์นี้มีมากขึ้น สิ่งที่สงฆ์มีมากขึ้น การกระทำ ผู้ที่บวชเข้ามาบวชแต่ร่างกายก่อนก็มี เวลาเอหิภิกขุคือการบวชขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ผู้ที่สิ้นกิเลสแล้ว “เธอจงอยู่พรหมจรรย์เถิด มาเป็นภิกษุเถิด”

แต่ขณะที่ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ปรารถนาจะบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ “เธอจงบวชมาเป็นภิกษุเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อจะเพิกสิ่งที่สะสมในหัวใจนี้ออกไป”

นี่วินัยบัญญัติมาเพื่อบังคับ บังคับให้สังคม ในเมื่อสิ่งที่เข้ามาบวชเป็นภิกษุแล้วมีกิเลส มีจริตนิสัยต่างๆ กันนะ สิ่งนี้บัญญัติไว้ แล้วถ้ามีผู้ที่กระทำความผิดพลาด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็บัญญัติวินัยไปเรื่อยๆ สิ่งที่บัญญัติมานะ ขณะที่บัญญัติมาแล้วมีผู้ที่คัดค้านก็มี มีผู้ที่บวชเข้ามาแล้วสึกออกไปก็มี มีที่บวชเข้ามาแล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์เหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเยอะมาก

เยอะมากเพราะขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาประพฤติเป็นพระโพธิสัตว์ สิ่งที่ชักนำมา สิ่งนี้ก้าวเดินตามกันมา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ค้นคว้าสิ่งนี้ เวลาล้มลุกคลุกคลานนะ ความทุกข์ของการประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติเพราะเป็นการต่อสู้กับกิเลส สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้ในธรรม “ชนะสงครามมากมายขนาดไหนสิ่งนั้นเป็นชนะที่ไม่ประเสริฐเลย เพราะการชนะสิ่งนั้นเป็นการก่อเวรก่อกรรม”

ดูสิ ความวิวัฒนาการของโลกมันก็เป็นการขับเคลื่อนกันไปอย่างนั้น แล้วก็มีการทำลายกัน ขนาดปกครองขนาดไหนมันก็เป็นไปไม่ได้เพราะเรื่องของกรรม เรื่องของความเป็นไปของโลก ชนะขนาดไหนก็ก่อเวรก่อกรรมไปตลอดไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีที่สิ้นสุดเลยถ้ามีการกระทำกันตลอดไป

แต่การชนะตน การชนะตนคือการเพิกข้อมูลของหัวใจออกทั้งหมด ให้มันเป็นสิ่งที่สะอาดบริสุทธิ์ในหัวใจ การชนะตนนี้ประเสริฐที่สุด สิ่งที่ประเสริฐที่สุดคือการชนะตน การชนะตนแต่กว่าจะชนะตนได้ต้องมีวิธีการชนะตน การชนะตน แม้แต่การกดไว้เฉยๆ ว่าเราชนะตนมันเป็นไปไม่ได้

สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เรานั่งกันอยู่ปกติโดยที่ไม่มีการขยับเขยื้อน มันเป็นไปได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้หรอก สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่เราจะนั่งเฉยๆ นั่งโดยที่มีความสุขของเรา มันจะทำอย่างไรถึงมีความสุขของเรา มันต้องมีสิ่งที่ความพอใจของใจ ความพอใจ ถ้ามีความฟุ้งซ่าน มีความทะเยอทะยานในหัวใจ มันจะฉุดกระชากลากไปมหาศาลเลย แต่ถ้ามีความพอใจการที่จะชำระกิเลสล่ะ มันก็มีแรงขับมหาศาลเลย ถ้าไม่มีแรงขับมหาศาลเราจะทำลายกิเลสของเราได้อย่างไร เราจะต่อสู้กับความต้องการของหัวใจนี้ได้อย่างไร

หัวใจนี้มันต้องการเพราะมันหิวกระหายมาตลอด มันต้องการอารมณ์คืออาหารของมันตลอดไป แล้วเราจะเอาสติเข้าไปยับยั้งมัน ทำความยับยั้งมันเพื่อจะให้มันแค่เกิดพื้นที่ทำงานนะ การที่จะเอาชนะตนมันต้องมีความมุมานะ มันต้องมีความคิด มันต้องมีความจงใจอย่างประเสริฐ ถ้ามีความจงใจอย่างประเสริฐ ใครจะเอาชนะตนได้ มันก็เอาชนะแต่ผู้อื่นตลอดไป

ในการประพฤติปฏิบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุกฤษฏ์มาก ทำมาเพื่อชำระใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน สิ่งนี้เป็นประสบการณ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ แล้วสาวก-สาวกะที่ไปประพฤติปฏิบัติ ที่ว่าประพฤติปฏิบัติมาขนาดไหนก็แล้วแต่ จะไม่ได้เท่าความประพฤติปฏิบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงเข้าใจและถึงสั่งสอนได้ทุกคน สิ่งที่ทุกคน ขณะสั่งสอนถึงชี้ถูกชี้ผิดได้นะ

“ธรรมเป็นใหญ่” เพราะหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธรรมทั้งดวง ถึงธรรมเป็นใหญ่ เห็นไหม เวลาพระกัสสปะถือธุดงควัตร ถือผ้า ๓ ผืน สังฆาฏิปะชุน ปะชุนมาตลอด จนหนาถึง ๗ ชั้นนะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามว่า “กัสสปะ เธอทำเพื่อเหตุใด”

“ถือธุดงควัตร”

เพราะพระกัสสปะก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน พ้นกิเลสแล้วเหมือนกัน อายุเท่ากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “กัสสปะ เธออายุปานนี้ สิ่งที่เป็นผ้าปะชุนมันหนักเกินไป ให้เปลี่ยน”

“ไม่เปลี่ยน” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่บังคับ

ถือธรรมเป็นใหญ่ ธรรมเป็นใหญ่ไม่มีการบังคับ ไม่มีการใช้อำนาจ ไม่มีการสิ่งต่างๆ เลย ไม่มีบังคับนะ

ถึงบอก ในเมื่อผู้ที่พ้นจากกิเลสแล้ว ถึงขอแลกเอานะ เอาผ้าสังฆาฏิขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแลกกับผ้าสังฆาฏิของพระกัสสปะที่ปะชุนไว้ถึง ๗ ชั้น เพราะปะเข้าไป พอขาดก็ปะ ขาดก็ปะ สิ่งนี้ทำเพื่ออะไรล่ะ เพราะเป็นคุณธรรม พระกัสสปะเป็นธรรม พระกัสสปะทำถูกต้องตามธรรมวินัย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากระทำเพื่อเชิดชูพระกัสสปะ พระกัสสปะมีคุณธรรม สิ่งที่คุณธรรมนะ เรื่องของผ้า ผ้ามันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย สิ่งที่เครื่องอาศัยจากภายนอก แต่คุณธรรมในหัวใจทำมาเป็นแบบเป็นอย่าง

แล้วในสมัยพุทธกาล ธรรมและวินัย มีพระมากมายเลยที่เวลาใช้ผ้า เวลาออกธุดงค์ ออกเคลื่อนเพราะพระสมัยพุทธกาล เวลาออกพรรษาแล้วจะออกธุดงค์ไปเคลื่อนย้ายไป มีผ้านะผ้าชุดหนึ่งเอาไว้ห่ม พับอีกชุดหนึ่งเทินบนศีรษะไป จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นบอก “นี้เหมือนกับพวกที่เขาเป็นคฤหัสถ์ที่เขาค้าขายกัน” จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติวินัยนะ บัญญัติวินัยว่า เวลาผ้าจีวรต้องให้อธิษฐานเป็นจีวร เป็นสบง เป็นสังฆาฏิ แล้วสิ่งที่เหลือให้สละออก นี้ขนาดที่ว่าเก็บสะสมไว้จนมากเกินไป

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้อำนาจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นวินัย บังคับให้สละออกแล้วเป็นบัญญัติ บัญญัติเป็นวินัยมาบังคับหมู่สงฆ์อีกด้วย แล้วเวลาได้ผ้ามา อยู่ในสุตตันตปิฎกนะ ภิกษุได้ผ้ากาสีสวยงามมาก สวยมากงาม เวลาเอามาใช้ มาห่ม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็น บัญญัติให้สละออก ให้สละออก สิ่งที่สวยงาม สิ่งที่ทางโลกเขาชื่นชมกัน เวลาพระเอามาใช้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สละออก

ผ้าบังสุกุลหมายถึงผ้าป่าน ผ้าฝ้าย ผ้าเปลือกไม้ ขนสัตว์ ไหมระคนกัน สิ่งนี้ให้ถือเป็นผ้าบังสุกุล นอกจากนั้นอธิษฐานไม่ขึ้น นอกจากนั้นไม่ถือเป็นผ้าบังสุกุล แล้วถ้าผ้านั้นสวยงามมาก ผ้านั้นเป็นการชื่นชมทางโลก ให้สละออก สละออกแล้วบัญญัติเป็นวินัยปรับอาบัติอีกต่างหาก

ถ้าเป็นกิเลส ถ้าเป็นความมักมาก ถ้าเป็นการสะสมเพื่อกิเลสมันไม่เป็นธรรม เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้อำนาจ ใช้อำนาจข่มขี่ผู้ที่เป็นกิเลส แต่ใช้คุณธรรมความเป็นธรรมยกย่องผู้ที่ทำคุณงามความดี

สิ่งที่เป็นคุณงามความดี สิ่งที่ทำเพื่อความถูกต้อง เวลาพระกัสสปะถือธุดงควัตร บิณฑบาตเป็นวัตร ไม่รับกิจนิมนต์ บิณฑบาตเป็นวัตร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามพระกัสสปะ “เธอทำเหตุนี้เพื่อสิ่งใด” ก็เป็นพระอรหันต์แล้วเหมือนกัน “เพราะทำสิ่งนี้ไว้เป็นอนุชนรุ่นหลัง” อนุชนบุตรสุดท้ายภายหลังได้เอาสิ่งนี้เป็นคติ เป็นตัวอย่างว่า มีผู้ทำเป็นแบบอย่าง สิ่งที่มีผู้ทำเป็นแบบอย่างอย่างนี้เพื่อจะให้ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมีแบบมีอย่าง สิ่งนี้เป็นธรรม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ได้บังคับอีก ไม่ได้บังคับว่าจะต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนั้น เพราะสิ่งนี้มันเป็นการขัดเกลากิเลส แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติกับภิกษุ เวลารับกิจนิมนต์ เวลาสิ่งต่างๆ จะเอาแต่สิ่งที่เป็นความพอใจของตัว แม้แต่พอไม่ได้ดั่งใจก็มีปัญหา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบัญญัติมาเป็นวินัย วินัยมาตลอดเลย สิ่งที่บัญญัติมาเป็นวินัยเพื่อบังคับ

เพราะสิ่งที่จะเข้าเป็นคุณธรรมอย่างนี้มันต้องมีการกระทำ มันต้องมีการประพฤติปฏิบัติ มันต้องมีการแก้ไข เวลาแก้ไขขึ้นมาจนถึงที่สุดแล้ว นี่ยังยืนอยู่ในหลักธรรมและวินัย ชีวิตเป็นแบบอย่าง ชีวิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างที่สวยงามมาก เห็นไหม เกิดที่ลุมพินี เกิดในป่า เวลาเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นกษัตริย์อยู่ในเมือง อยู่ปราสาท ๓ หลัง เวลาออกประพฤติปฏิบัติก็ออกเข้าป่า ตรัสรู้ธรรมก็โคนต้นไม้ เวลาจะปรินิพพานก็ปรินิพพานอยู่ที่โคนต้นรัง

สิ่งที่อยู่ในป่า สิ่งนี้เป็นธรรมชาติ สิ่งนี้ปกติมันมีอยู่แล้ว แต่ถ้าเราไปสร้างสิ่งที่หรูหรา สร้างสิ่งที่ความเป็นไปของโลก สิ่งนี้ต้องเป็นการรักษานะ การสร้างก็เป็นการวุ่นวาย การรักษาไว้ก็เป็นความวุ่นวาย แล้วมันก็อยู่คงที่ไปไม่ได้เพราะสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นนี้มันต้องแตกดับไปเป็นธรรมดา มันเป็นเรื่องความกังวลวุ่นวายจากภายนอก แต่ถ้ามันเป็นสัจจะความจริง สภาวธรรมจะเข้ากับสิ่งนี้ ในเมื่อใจเรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แล้วมันต้องการไปของมันโดยธรรมชาติของมัน แต่ถ้าเราอยู่โดยสิ่งที่ว่ามันเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว โลกเป็นสภาวะแบบนี้อยู่แล้ว แล้วอาศัยสิ่งนี้เข้ามาเพื่อจะหาใจของตัว สิ่งที่หาใจของตัว นี่สภาวธรรมเป็นสภาวะแบบนี้

แต่เวลาภิกษุเขาต้องการความสุข ต้องการความสบายของเขา เพราะบวชมา มีกิเลสบวชมาก็เป็นพระเหมือนกัน ถึงบอกสิ่งนี้เป็นเรื่องของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่สิ่งที่เป็นธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าสิ่งที่เป็นธรรมจะเชิดชูธรรม สิ่งที่เป็นกิเลสองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบัญญัติเลย ปรับอาบัติด้วย บัญญัติด้วย

ในสมัยพุทธกาลนะ พระอรหันต์ ๕ องค์มีพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระอุบาลี อยู่ในสวนคุยกันเรื่องธรรมะ สิ่งที่เป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรมจะไม่ขัดแย้งกัน มาคุยกันเรื่องธรรมะ สิ่งที่คุยกัน ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ สภาวธรรม สิ่งที่สภาวธรรมเพราะอะไร เพราะเป็นพระอรหันต์ สิ่งที่เป็นพระอรหันต์ สิ่งที่ความเหมือนกันคือคุณธรรมในหัวใจนี้เหมือนกัน แต่การกระทำมาต่างกัน สิ่งที่เป็นอริยสัจเหมือนกัน

แต่เวลามาเป็นจริตนิสัย เห็นไหม พระอุบาลีบอกสิ่งที่มีคุณประโยชน์คือวินัย เพราะพระอุบาลีนี้ได้รับพยากรณ์เป็นเอตทัคคะทางวินัย พระสารีบุตรได้เอตทัคคะทางปัญญา พระโมคคัลลานะได้เอตทัคคะทางฤทธิ์ มีฤทธิ์มากที่สุด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนแต่งตั้งเอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพุทธวิสัย สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะแต่งตั้งโดยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องรู้สิ่งนี้ ดีกว่าสิ่งนี้ถึงเข้าใจสิ่งนี้ได้ พูดกันว่าสิ่งนี้ประเสริฐที่สุด สิ่งนี้ประเสริฐที่สุด แล้วลงกันไม่ได้ อย่างนั้นพากันไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลาไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “พวกเกล้ากระผมต่างว่ากันว่าสิ่งนี้ดีที่สุด สิ่งนี้ดีที่สุด”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอบว่า “อาสวักขยญาณ สิ่งที่เป็นสิ่งที่อรหัตตมรรค ทำลายหัวใจ ทำลายอวิชชา เพิกสิ่งที่เป็นความรู้ทั้งหมดออกไปจากหัวใจ สิ่งนั้นดีที่สุด”

แต่จริตนิสัยความเห็นของแต่ละบุคคลนี้ มันเป็นการสร้างสมมาของจิตแต่ละดวงที่ไม่เหมือนกัน สิ่งที่ไม่เหมือนกันนี้มันไม่เป็นปัญหาความขัดแย้ง เพราะมันเป็นความเห็นจากความถนัดของตัว แต่สิ่งที่เหมือนกัน เหมือนกันประเสริฐที่สุดคืออาสวักขยญาณ คือสิ่งที่ญาณที่เกิดขึ้น การทำลายหัวใจของตัว สิ่งที่ทำลายหัวใจของตัว นี่พระอรหันต์

ธรรมเป็นใหญ่นะ ถ้าถือธรรมเป็นใหญ่ สังคมจะมีความร่มเย็นเป็นสุข แต่มันไม่ได้ถือธรรมเป็นใหญ่ มันถือกิเลสเป็นใหญ่ ถ้าคนมีกิเลสในหัวใจ สิ่งที่ศึกษาธรรมมาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษากันมาเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ธรรมของเราเลย

แต่เวลาพระอรหันต์ ๕ องค์ที่ ธมฺมสากจฺฉา ที่คุยกันอย่างนี้ นี่เป็นพระอรหันต์ สิ่งที่รู้จริงนะ รู้จริงเห็นจริงตามความเป็นจริงอย่างนี้ จริตนิสัยต่างกัน ความเห็นต่างกัน เอตทัคคะคนละทางก็ยังมีความเห็นจากภายนอก แต่ไม่เป็นภัย ความไม่เป็นภัยสิ่งนี้ความเจริญขนาดไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะให้สิ่งที่สาวก-สาวกะนี้เป็นผู้ที่ช่วยเผยแผ่ธรรม

เวลามีคหบดี มีสิ่งที่เป็นเศรษฐีที่มีจริตนิสัย แต่มีความคิดในหัวใจที่ต่อต้าน หรือที่ไม่เห็นด้วยในเรื่องของธรรม จะให้พระโมคคัลลานะนี้ไปทรมาน เพราะพระโมคคัลลานะจะมีฤทธิ์มาก ทีนี้ คหบดีมีเรื่องมีความเห็นแบบพราหมณ์มีปัญญามาก จะใช้พระสารีบุตรไป สิ่งนี้เป็นประโยชน์ทั้งหมด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาสภาวะความถนัดของสาวก-สาวกะนี้มาใช้ประโยชน์นะ

สิ่งที่ใช้ประโยชน์ อย่างพระอานนท์ เวลาพระอานนท์จะเป็นผู้อุปัฏฐาก พระอานนท์ขอไว้เลยว่า สิ่งที่ขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ก่อน ๑. ได้ของสิ่งใดมาที่เป็นประโยชน์จะไม่ขอรับ เพราะถ้ารับเขาจะหาว่าพระอานนท์นี้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อลาภ

ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเทศนาว่าการที่ไหนมาถ้าพระอานนท์ไม่ไปด้วย กลับมาต้องมาเทศน์ให้พระอานนท์ฟังอีกรอบหนึ่ง เพื่อขณะที่ว่าต่อไปข้างหน้าเขาจะถามพระอานนท์ว่า เป็นผู้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำไมไม่รู้ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดหรือว่าสิ่งใดไว้ในการเผยแผ่ธรรม

สิ่งนี้เพื่อประโยชน์ข้างหน้า นี่ผู้ที่มีธรรมในหัวใจจะเห็นประโยชน์กับหมู่คณะ จะเห็นประโยชน์กับความเป็นไปของสังคม จะเห็นประโยชน์ของการเป็นไปของความทุกข์ในหัวใจของสัตว์โลก

สัตว์โลกมีความทุกข์ในหัวใจนี้เป็นสัจจะความจริงทั้งหมดเลย แต่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นสิ่งที่จะมาชำระล้างสิ่งนี้ ชำระล้าง ผู้ที่เข้าถึงได้มากก็จะได้ประโยชน์มาก ผู้ที่เข้าถึงได้มากได้น้อยอยู่ที่ความเชื่อของใจดวงนั้น อยู่ที่การเปิดโอกาสให้ใจของตัวเอง ถ้าหัวใจของตัวเองเปิดมากขนาดไหน เหมือนกับโอกาส ใครมีโอกาสมาก การโอกาสแล้วการประพฤติปฏิบัติจะได้แบบโอกาสที่เรามีโอกาสนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ

นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อสิ่งที่ธรรมเป็นใหญ่ เราต้องถือผู้ที่เป็นธรรมเป็นใหญ่ จะไม่ถือสิ่งที่เป็นกิเลสเป็นใหญ่

ในศาสนาพุทธของเรานี้ เวลาผู้ที่เข้ามาบวชในศาสนาอย่างเช่นพระเทวทัต สิ่งนี้พระเทวทัตเข้ามาบวชในศาสนาเหมือนกัน แต่ความเห็นทำไมเห็นต่างออกไปอย่างนั้น แล้วความเห็นต่างของพระเทวทัตไม่ใช่เห็นต่างแบบพระอรหันต์ ๕ องค์นั้น ที่ความเห็นต่างในเรื่องจริตนิสัย

แต่ความเห็นต่างของพระเทวทัตเห็นต่างด้วยการมีอำนาจอยากปกครองสงฆ์ ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่อายุมากแล้ว ควรจะขวนขวายน้อยคือให้พักผ่อน แล้วพระเทวทัตจะออกมาปกครองสงฆ์ สิ่งนี้เป็นเรื่องของอำนาจ เป็นเรื่องของสิ่งที่ว่าเป็นเรื่องของกิเลส ถ้าเป็นเรื่องของกิเลส องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรับอาบัติด้วย แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่ให้สิ่งนั้นด้วย

แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทะเจ้าแบบพระกัสสปะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช้อำนาจ ใช้คุณธรรม สิ่งที่เป็นคุณธรรมแล้วยกย่องด้วย สิ่งที่ยกย่องเพราะอะไร เพราะสิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นประโยชน์กับโลกนะ สิ่งที่เป็นคุณธรรม แล้วสิ่งที่เป็นธรรมในหัวใจ ไม่มีใครจะสามารถรู้ความเป็นไปในหัวใจของครูบาอาจารย์เราที่จิตที่เป็นสิ่งที่วิมุตตินั้นได้

แต่การแสดงออก การแสดงออกมาว่า สิ่งที่เป็นความบริสุทธิ์ผุดผ่อง กับสิ่งที่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก การแสดงออกมากิริยาเหมือนกัน พระอรหันต์ก้าวเดินไปก็เหมือนกัน พระอรหันต์ก็ต้องฉันอาหารเหมือนกัน พระอรหันต์ก็ต้องดำรงชีวิตเหมือนกัน การดำรงชีวิตอย่างนี้ดำรงชีวิต อุปาทิเสสนิพพาน คือยังมีธาตุขันธ์มีร่างกายและหัวใจนี้อยู่ สิ่งนี้ใครจะรู้ได้ล่ะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงได้เชิดชูธรรมเป็นใหญ่ ธรรมเป็นใหญ่เพื่อให้สิ่งนี้เป็นที่ยึดเหนี่ยว

แต่ไม่ได้ตั้งให้เป็นผู้ปกครองสงฆ์ ไม่ได้ตั้งให้เป็นผู้ที่มีอำนาจ แต่มีอำนาจด้วยบารมีธรรม

สิ่งที่มีบารมีธรรมในความรู้สึกของเรา เราจะมีความรู้สึกว่าสิ่งนั้นเป็นคุณกับเราหรือสิ่งนั้นเป็นโทษกับเรา เราไปอยู่กับใคร ไปอยู่ในสังคมใดก็แล้วแต่ สังคมนั้นจะเป็นสังคมที่ว่าประพฤติปฏิบัติเพื่อจะชำระกิเลส หรือสังคมนั้นสักแต่ว่าอยู่กันไปวันๆ หนึ่ง สังคมไหนสังคมที่เป็นไปเรานี่สัมผัสได้ เพียงแต่ว่าเราจะเลือกสิ่งใด ถ้าเลือกสิ่งที่ความสะดวกสบายของตัว มันก็เข้ากับกิเลสตัณหาความทะยานอยากของตัว กิเลสตัณหาความทะยานอยาก

ทั้งๆ ที่เราเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เราหาโอกาสในการประพฤติปฏิบัติ เราบอกผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ศาสนาเจริญเพราะการประพฤติปฏิบัติ เราก็ได้ประพฤติปฏิบัติ บอกว่า โอกาสมีแต่การประพฤติปฏิบัตินั้นจะตรงกับสิ่งที่ความเป็นไปไหม การปฏิบัติต้องตรงต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ ต้องความเห็นถูกต้องถึงจะเข้าไปถึงสภาวธรรม

การประพฤติปฏิบัติสักแต่ว่าก็เป็นการสักแต่ว่าประพฤติปฏิบัติ เพื่อเป็นอำนาจวาสนา การประพฤติปฏิบัติถ้าไม่ได้ผลนะ ไม่ได้ผลหมายถึงเราเข้าไม่ถึงจุดที่จะเป็นสภาวธรรม แต่เราได้ประพฤติปฏิบัติ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเป็นพระโพธิสัตว์ ทำไมองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าสละชีวิต สละมาทุกๆ อย่างแต่ละภพแต่ละชาติ สละมา ๔ อสงไขยแสนมหากัปก็เพื่อมาตรัสรู้ธรรมอันนี้

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราก็ศรัทธา เกิดมามีอำนาจวาสนา ถ้าไม่มีอำนาจวาสนาจะไม่ศรัทธา จะสักแต่ว่า เป็นชาวพุทธก็ชาวพุทธสักแต่ว่า ไม่ดูดดื่ม แต่ถ้ามันมีความดูดดื่มของใจ นี่วาสนานะ มีการดูดดื่มของใจ ขนาดที่ว่าโลกเขามีสิ่งที่ว่ามีความเจริญของเขา ที่เขาตื่นโลกกันไป ทำไมเราไม่ตื่นไปกับเขา เพราะเราไม่ตื่นไปกับเขา เพราะเราต้องมีอำนาจวาสนาสิ เราถึงยับยั้งสิ่งนี้ได้

แต่ถ้าเป็นเรื่องของโลกเขาจะบอกคนนี้ไม่มีวาสนา คนนี้ทำไมไม่สร้างความเจริญ

สร้างความเจริญมาก สร้างความเจริญของความสุขในหัวใจ สิ่งที่เป็นความสุขในหัวใจ ผู้ที่พอ ถ้าใครผู้ที่พอจะมีความสุขมาก ที่เรามีความทุกข์กันนี้เพราะจิตเรามันไม่พอ มันพร่อง จิตที่มันพร่องมันถึงแสวงหา มันถึงดิ้นรน นี่ดิ้นรนทางโลกนะ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จิตมันเกิน จิตมันเกินเพราะมันเป็นความฟุ้งซ่าน มันเกินมันฟุ้งไป เหมือนกับเราจะแก้ปมด้าย ด้ายเป็นกลุ่ม กลุ่มด้ายที่มันยิ่งพันกันอยู่ แล้วยิ่งแก้มันยิ่งแก้ยิ่งพัน ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง

นี่ก็เหมือนกัน หัวใจมันเกินเพราะว่าเราควบคุมมันไง เวลามันพร่อง มันพร่องเพราะมันต้องการ มันดิ้นรน มันแสวงหา มันเลยพร่อง ขณะที่เราว่าเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา เรามีศีลเราก็มีความปกติของใจ สิ่งนี้มันเป็นเรื่องปกติ เรื่องของศีล

ฤๅษีชีไพรเขาก็มีศีล ก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม ฤๅษีเขาถือศีล ๘ เรารู้ได้อย่างไรว่าเขาถือศีล ๘ ล่ะ เพราะสิ่งนี้มันเป็น ศีลคือคนต้องการแสวงหา โดยสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตต้องการสิ่งที่ดีที่สุด ต้องการสิ่งที่มีความสุขที่สุด ขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ธรรม เขาก็แสวงหากันอยู่ เพราะเขาเกิดมาทุกคนก็แสวงหา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เคยเกิดเสวยชาติเป็นฤๅษีเป็นชีไพรเหมือนกัน สิ่งนี้แสวงหามาเพื่อสะสม สะสม สะสมเพื่อเป็นจริตนิสัย

แต่ขณะที่เขาแสวงหาเขาเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นธรรม ศีลมีอยู่โดยธรรมชาติ ศีลมีอยู่โดยในหัวใจ ถ้าหัวใจดวงนี้มีคุณธรรมก็จะมีศีลขึ้นมาโดยวิรัติเกิดขึ้นมาจากหัวใจของเขา การที่ว่าเราเป็นชาวพุทธต้องมาขอศีลต้องอะไร สิ่งนี้เพราะเราว่าเป็นศาสนา เราถึงเชื่อเป็นชาวพุทธเป็นศาสนา ต้องมีศีล ต้องมีสมาธิ ต้องมีปัญญา เราก็ขอศีลกัน ขอแล้วขอเล่า ขอขึ้นมา ขอมาแล้วก็ไม่ประพฤติปฏิบัติ เพราะเขาไม่ดูดดื่มในใจของเขา

ฉะนั้น ศีลเป็นเรื่องปกติที่มีอยู่ ถ้าเราวิรัติ หมายถึงว่า เรากำหนดขึ้นมาในหัวใจ มันมีโดยความรู้สึก ความปกติของใจ ถ้าจิตเราปกติมีความรู้สึกของใจ มันจะมีศีล เกิดศีลขึ้นมาโดยธรรมชาติ ที่เกิดศีลโดยธรรมชาติ แต่ถ้ามันผิดล่ะ เวลาเราเป็นชาวพุทธ เวลาเรามีความผิดพลาดไป สิ่งนี้มีความผิดพลาดไป อริยวินัย ผู้ใดทำความผิดแล้วระลึกถึงความผิดของตัว ปลงอาบัติ นี่อริยวินัย เพราะมันต้องมีโอกาส

ถ้าทำความผิดแล้วเราจะไม่มีโอกาสเลย ชีวิตนี้ยังอีกตั้งยาวไกล สิ่งนี้ถ้าเกิดขึ้นมาแล้วเราต้องปลงอาบัติ เราต้องเริ่มต้นหาโอกาสให้ตัวเองใหม่ เกิดมีโอกาสบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า สิ่งนี้เป็นศีลถ้าทำความปกติของใจเข้ามา สิ่งที่ทำปกติของใจ นี่กลุ่มด้ายไง

สิ่งที่พร่องมันแสวงหาจากภายนอก สิ่งที่ต้องการปลดเปลื้องมันจะแสวงหาจากภายใน การแสวงหาจากภายในต้องหาที่สงัดเพราะอะไร เพราะว่ามนุษย์มีตา หู จมูก ลิ้น กายและหัวใจที่สำคัญมาก เพราะขนาดนั่งหลับตามันก็ยังมีความรู้สึก มีความคิดอยู่ เรื่องของใจไม่ต้องอาศัยอายตนะเลย ไม่ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย มันก็มีความคิดของมันได้

แต่ขณะที่ว่ามันเป็นโดยปกติธรรมชาติของเขา เขาจะสื่อออกโดยตา หู จมูก ลิ้น กาย สิ่งนี้สื่อออกไป เราถึงต้องการความที่สงัดเพื่อจะดับสิ่งนี้ เพราะสิ่งนี้ออกไปเกาะเกี่ยวกับรูป รส กลิ่น เสียง นี้เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร สิ่งที่พวงดอกไม้แห่งมาร ในเมื่อมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากอยู่ในหัวใจ มันก็ออกไปแสวงหาเหยื่อ เหยื่อของสิ่งที่เป็นความพอใจของกิเลส กิเลสในหัวใจของเรามันพร่องอย่างนี้ มันก็อาศัยสิ่งนี้ออกไป ถึงบอกต้องอาศัยความสงัด เราถึงจะต้องออกวิเวก

สิ่งที่ออกวิเวก ผู้ที่เป็นกิเลสนะ สิ่งที่เป็นกิเลสทำไมผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ทำไมปฏิบัติในเมืองไม่ได้ ทำไมปฏิบัติท่ามกลางรูป รส กลิ่น เสียงนี้ไม่ได้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมบุญญาธิการมาขนาดนั้น ยังตรัสรู้โคนต้นโพธิ์นะ เราจะเอาความเห็นอย่างนี้ เอาเรื่องของกิเลส บอกว่าเวลาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ไปตีความกันเอาเอง ไปคิดจินตนาการเอาเองว่า การศึกษาเป็นเหมือนการศึกษาทางโลก การศึกษาทางโลกมันเป็นสุตมยปัญญา

การสุตมยปัญญา พระที่เป็นฝ่ายปริยัติศึกษาสุตมยปัญญาเป็นฝ่ายการปกครอง เป็นนักปราชญ์ นักปราชญ์คือนักวิชาการนะ นักปราชญ์เขาจะมีผลงานของเขา เขาจะสร้างผลงานของเขาด้วยตำราการศึกษาเป็นการสร้างขึ้นมาจากการเป็นนักปราชญ์

ในปัจจุบันนี้ ในเมื่อศาสนาคล้อยมา ๒,๕๐๐ ปี เราจะเห็นหลักวิชาการออกมาใหม่ๆ อีกบ้างไหม ไม่ได้ออกมาไม่ใช่เป็นนักปราชญ์ นักปราชญ์ที่เป็นปราชญ์ ปราชญ์ที่ว่ามีปัญญามีความเข้าใจ นี่มันเป็นสิ่งที่ว่าเข้าไปแสวงหาอำนาจกัน สิ่งที่แสวงหาอำนาจมันถึงไม่ใช่นักปราชญ์เพราะมันไม่มีวิชาการ แล้วก็เข้าใจว่าสิ่งนี้คือการศึกษาธรรม สิ่งนี้คือการประพฤติปฏิบัติ ศึกษามาก็จำมา มันปราศจาก ปราศจนไม่มีสิ่งใดที่เป็นที่เกาะเกี่ยว ไม่มีสิ่งใดที่จะไปยึดมั่น

แต่ถ้าเป็นผู้ที่ภิกษุ เป็นคามวาสี เป็นการออกประพฤติปฏิบัติ ค้นคว้าออกมาจากประสบการณ์ จะโง่เง่าเต่าตุ่นขนาดไหนก็ไม่สนใจ เพราะอะไร เพราะหัวใจนี้ทุกข์มาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ถือธรรมเป็นใหญ่ ธรรม สุขทุกข์นี่ก็เป็นธรรมอันหนึ่งนะ สติธรรม ปัญญาธรรมก็เป็นธรรมอันหนึ่งนะ เราเก็บหอมรอมริบ

เราจะเริ่มเก็บหอมรอมริบตั้งสติของเราขึ้นมา แล้วพยายามจะค้นคว้าหัวใจของเราขึ้นมา เพราะสุตมยปัญญาคือการไปศึกษามาอย่างนั้น ยิ่งศึกษามาขนาดไหนก็เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม นี่เป็นแผนที่เครื่องดำเนิน แผนที่เครื่องดำเนินศึกษามาแล้ววางไว้ แล้วเราต้องสร้างคุณธรรมของเราขึ้นมา ถ้าสร้างคุณธรรมของเราขึ้นมา นี่ธรรมเป็นใหญ่จากหัวใจของเรา ถ้าธรรมเป็นใหญ่ในหัวใจของเรา คือการแสวงหาการพึ่งตนเอง

แต่ถ้าเป็นกิเลสเป็นใหญ่ในหัวใจของเรานะ มันบอกว่า เรารู้แล้ว เราเข้าใจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหมดเลย ทำไมเราต้องไปดัดแปลงตน ทำไมเราต้องทำให้ลำบากเปล่า ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ทำลายกิเลสเลย ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติเลย นี่ถ้ากิเลสเป็นใหญ่ สิ่งนี้เป็นการกล่าวตู่ การกล่าวตู่นะ กล่าวตู่ว่าเรารู้

แต่ในกล่าวตู่ในธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ภิกษุ ถ้ากล่าวตู่ธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สงฆ์สวดประกาศ ๓ หน ถ้ายังไม่เปลี่ยนความคิดเห็น เป็นอาบัติสังฆาทิเสส”

สังฆาทิเสสคือสงฆ์เป็นใหญ่ “สังฆะ” สังฆาทิเสสสงฆ์นั้นเป็นใหญ่ สงฆ์นั้นปรับอาบัติ ถ้าปรับอาบัตินั้น ถ้าปิดไว้ไม่ยอมรับก็เป็นออกไป ถ้าเป็นอาบัติหนักอย่างนี้ การประพฤติปฏิบัติ เพราะความเห็นทิฏฐิมันผิด ทิฏฐิมันผิดแล้วมรรคมันเกิดได้อย่างไร

มรรคญาณ ความดำริชอบ ถ้ามรรคญาณต้องมีความดำริชอบก่อน ดำริในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยนี้เป็นศาสดาของเรา ธรรมและวินัยนี้เป็นแผนที่เครื่องดำเนิน แล้วเราดำริผิด เราเขียนแผนที่ใหม่ เขียนแผนที่ที่ผิดออกไปแล้วมันจะเข้าหลักการที่ไหนล่ะ มันจะเป็นความจริงได้ไหม แม้แต่แผนที่เครื่องดำเนินมันก็ชี้ออกไปทางที่ผิดแล้ว แล้วเราจะทำอย่างไรไม่ให้ผิด มันถึงเป็นไปไม่ได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สาวก-สาวกะเหมือนลูกนะ ลูกของเรา เรารักขนาดไหน เราถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูมาขนาดไหน นี่ก็เหมือนกัน สาวก-สาวกะเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส มีทิฏฐิความเห็นผิดอย่างนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าป้องกันไว้เพื่อจะไม่ให้มีความเห็นออกไปจากมรรคญาณ จากที่เกิดเป็นมรรค ความดำริชอบ ถ้าดำริผิดมันจะเข้ามรรคไม่ได้ มันจะเกิดปัญญาของตัวไม่ได้ มันจะเกิดประสบการณ์ของจิตไม่มี ความที่ประสบการณ์ของจิตมันไม่มีเพราะมันเขียนแผนที่ของเขาไป มันก็จินตนาการของเขาไปสภาวะแบบนั้น

ถ้าเป็นความดำริชอบจะยอมรับสิ่งนี้ ถ้ายอมรับสิ่งนี้ก็ต้องปลงอาบัติ ต้องปลงอาบัติ เห็นไหม ปิดไว้ขนาดไหนก็ต้องอยู่กรรม อยู่กรรมเท่าที่ปิดเท่าที่ไม่ยอมรับนั้น ถ้ายอมรับขนาดไหนมันก็สิ้นสุดที่เวลานั้น “ปริวาส” คือความเห็นผิดขนาดไหน น้ำหนักของความยึดมั่นถือมั่นขนาดไหนต้องอยู่ปริวาสอย่างนั้น แล้วต้องอยู่มานัต อยู่มานัตคือยอมรับกับสงฆ์ ต้องอุปัฏฐากสงฆ์ ต้องทำกิจวัตรของสงฆ์ กิจวัตรเสร็จแล้วถึงจะอัพภาน อัพภานคือยกขึ้นมาใหม่

ภิกษุบวช ๕ องค์ก็บวชได้ แต่ในปัจจุบันนี้ประเพณีต้องบวชเป็น ๑๐ องค์ เพื่อให้สังฆะบริสุทธิ์ยกขึ้นมา แต่การบอกอัพภานต้องพระ ๒๐ นะ สิ่งที่จำนวน ๒๐ เพราะอะไร เพราะทิฏฐิความเห็นมันออกไปข้างนอก ถึงต้องย้อนกลับเข้ามา นี้เป็นการกล่าวตู่นะ แต่อาบัติสังฆาทิเสสข้อต่างๆ นี้ก็เป็นความผิดพลาดไปแต่ละข้อๆ ออกไปอย่างนั้นนะ สิ่งนี้ชักย้อนกลับเข้ามาให้เป็นการประพฤติปฏิบัติ นี่ธรรมเป็นใหญ่

แม้แต่ความเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็วางแนวทางไว้แล้ว แม้แต่ความเห็นนะ ความเห็นความผิดจากหัวใจ ความเห็นผิดจากในใจของเรานะ แล้วถ้ากิเลสมันมีอำนาจนะ มันก็ความเห็นไง เวลาประพฤติปฏิบัติไป แม้แต่เป็นธรรม ธรรมเป็นใหญ่ แล้วเราบวชมา อยู่ในศีลในธรรมตลอดนะ ในการประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าสิ่งนี้อินทรีย์เราไม่ถึงกับมีหลักมีเกณฑ์ มันก็เตลิดเปิดเปิง มันก็ต้องออกไปตามกิเลสนั้น

แต่ถ้ามันมีอินทรีย์แก่กล้า อินทรีย์แก่กล้าหมายถึงว่ามันมีสตินะ มันจะมีเชาวน์ปัญญา สิ่งใดสิ่งนี้ถ้าเราตรึกด้วยความคิดของเรามันไม่น่าเป็นไปได้ สิ่งนี้น่าจะเป็นไปได้ มันจะมีเชาวน์มีปัญญา ถ้าตัวเชาวน์ปัญญาตัวนี้มันจะเริ่มถ้ามีอินทรีย์แก่กล้า มันจะไม่ออกนอกลู่นอกทาง แล้วสิ่งใดที่เกิดกับสัมผัสของใจ ใจสัมผัสนะ ตาเห็นรูป วิญญาณรับรู้ ถึงว่ารูปสวยรูปงาม ถ้าตาเห็นรูปวิญญาณไม่รับรู้ ตาเห็นสักแต่ว่าตา เห็นอยู่แต่ไม่เข้าใจสิ่งใดๆ เพราะอะไร เพราะวิญญาณไม่ออกรับรู้

นี้ก็เหมือนกัน ถ้าในหัวใจนะ มันสัมผัสกับสัมมาสมาธิ มันสัมผัสกับสิ่งใด อาการสัมผัสของใจกับสภาวธรรม สภาวธรรมนะ สติธรรม สมาธิธรรม สิ่งนี้ใจสัมผัสได้ ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิ ตอนนี้มิจฉาสมาธิ การประพฤติปฏิบัติ นี่ความเข้าใจของเรา วุฒิภาวะของจิตนี้อ่อนมาก อ่อนขนาดที่ว่าเรากำหนดเฉยๆ แล้วมันเคลิ้มเข้ามา เข้าใจกันว่าเป็นสมาธินะ สิ่งที่เป็นสมาธิมันต้องมีสติ ความเคลิ้มนี้สติพอไหม ถ้าสติมันพอมันเคลิ้มได้อย่างไร ความรู้สึกว่างๆ ตอนนี้นะใครๆ ก็บอกว่างๆ ว่างๆ แล้วเป็นสมาธิ แล้วทำไมประพฤติปฏิบัติมันไม่ได้ผล แล้วจะก้าวเดินกันอย่างไรต่อไป สิ่งนี้เป็นความเคลิ้มนะ

ความสัมผัสของใจกับอาการของใจ สิ่งที่อาการของใจ เพราะสมาธิเกิดจากใจ เวลาจิตสงบเข้ามา สงบเข้ามา ถ้าเป็นขณิกะ เป็นอุปจาระ มีใจ ความรู้สึก ขณะที่เข้าเป็นอัปปนา นี่สมาธิละเอียดมาก สมาธิกับใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าสมาธิกับใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้ามีสติ มีสมาธิลึกๆ นี่มันปล่อยวางกายได้ ปล่อยวางแบบสมถะ คือหินทับหญ้า ปล่อยวางแบบไม่รับรู้สึก

เพราะจิตมันสงบเข้าไปถึงตัวฐีติจิต จิตถึงตัวฐานของจิต มันปล่อยหมด ปล่อยวางเข้ามาเป็นอิสระของมัน อิสระของจิตนะ แต่กิเลสเต็มหัวใจเพราะไม่ได้ทำสิ่งใดเลย เพราะสิ่งนี้ปล่อยเข้ามาโดยคำบริกรรม ปล่อยเข้ามา

ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามีสมาธิอย่างนี้ การทรงสมาธิ การรักษาสมาธินะ สมาธิจะละเอียดลึกซึ้งขนาดไหน เรามีสติพร้อมเข้าไป ควบคุมสิ่งนี้ออก นี่มันความสัมผัสของใจ สิ่งที่เป็นความจริงนะ สิ่งนี้เป็นสัมมา สิ่งที่เป็นสัมมาคือว่าสติ ความสุขขนาดไหน ปล่อยวางขนาดไหน ว่างขนาดไหน สติจะควบคุมรู้สึกตัวตลอดว่าสิ่งนี้เป็นสมาธินะ สิ่งนี้ไม่ใช่ธรรม ธรรมคือใจที่ปล่อยวาง ชำระกิเลสออกเป็นชั้นเป็นตอน นั้นคือสภาวธรรม

ถ้าสภาวธรรมของจิตเวลาเป็นสัมมาสมาธินี้ยกออกไป น้อมไปพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าน้อมพิจารณาออกไปเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม ความสัมผัสของจิต จิตสัมผัสอีกล่ะ ความสัมผัสของจิต จิตสัมผัสสมาธินี่เป็นอาการของใจ ใจกับอาการสัมผัสกัน เวลาจิตเข้าไปสัมผัสกับกาย เวทนา จิต ธรรม นี่เป็นสมาธิ เป็นตัวจิตออกไปวิปัสสนา ถ้าจิตออกไปวิปัสสนากาย เวทนา จิต ธรรม ที่ว่าจะชนะตน จะต้องมีความมุมานะ

งานอย่างโลกๆ เขาเป็นงานอาบเหงื่อต่างน้ำ แม้แต่ผู้ที่บริหารก็บอกว่าใช้งานสมอง งานสมองของเขานั้นก็เครียดมากจนต้องแบกรับภาระ ร่างกายล้าไปหมด สิ่งใดล้าไปหมด แต่งานของใจนะ ละเอียดอ่อนกว่านั้นอีก ละเอียดอ่อนเพราะอะไร เพราะสติ สมาธิจะลึกซึ้งกว่านั้น ลึกซึ้งกว่าผู้ที่นักบริหารองค์กรต่างๆ ที่เขาบริหารกันอย่างนั้น เขาว่าสิ่งนั้นเป็นคุณสมบัติของเขา เขาทำคุณประโยชน์ไว้กับโลกมหาศาลเลย สิ่งนี้เป็นเรื่องของโลก สิ่งที่เรื่องของโลกมันเป็นการบริหารกันไปชั่วครั้งชั่วคราว ชั่วครั้งชั่วคราวเพราะสิ่งนี้ไม่มีสิ่งใดคงที่เลย มันต้องแปรสภาพไปเป็นธรรมชาติของมัน

แต่ถ้าเราบริหารใจของเราโดยที่ว่าจิตสัมผัส ความเห็นของจิตที่มันจะละเอียดเข้ามาแล้วน้อมไปที่กาย ความเห็นกายจะเห็นต่างกับเขา ความเห็นกายนะ เราจะประคองจิตของเราอย่างไร ขณะที่จิตเป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นกายของจิตเป็นวิปัสสนึก วิปัสสนึกเห็นกายโดยความเป็นไปของเรา โดยความเป็นการคาดหมาย โดยความเป็นไปสร้างภาพ สิ่งนี้มันไม่ใช่สะเทือนกิเลส

ผู้ที่มีเชาวน์ปัญญาคือมีสติ คือมีอำนาจวาสนา จะเห็นสภาวะแบบนี้ ว่าวิปัสสนาไปขนาดไหน การปล่อยวาง ว่าเวลาเคลิ้มก็ว่าสิ่งนี้เป็นสมาธิ เพราะไม่มีสติ เวลาเราสร้างภาพ เห็นเป็นวิปัสสนาเห็นกาย ก็เห็นกายโดยการสร้างภาพ สิ่งที่สร้างภาพหมุนออกไปด้วยความเห็นต่างๆ แล้วปล่อยวางเข้ามา มันก็ไม่ได้สะเทือนกิเลสแม้แต่นิดเดียว เราก็รู้นะ เรารู้เพราะอะไร เพราะเราทำมาขนาดไหน กิเลสมันไม่ได้สะเทือนเลย กิเลสมันไม่ได้มีการเข้าไปจับเห็นหน้ากิเลส แล้วพลิกแพลงดูความเป็นไปของกิเลสแม้แต่น้อยเลย นั้นเป็นความเห็นของกิเลส

แต่ถ้าจิตเป็นสัมมา จิตเป็นสมาธิขนาดนี้ เวลาน้อมไปที่เห็นกาย ความเห็นต่างกันมหาศาล เพราะมันสะเทือนนะ เวลาจิตสงบเข้ามา แล้วรักษาฐานของเราเข้ามา แล้วมันน้อมออกไป น้อมออกไปคือว่าผู้ที่ชำนาญการ น้อมออกไปคือการควบคุม คือการบริหาร คือการควบคุมให้จิตนี้ออกไปทำงาน เวลาจิตสงบเข้ามาจะมีความสุข จะมีความปล่อยวาง เหมือนคนหลับคนนอนหลับสดชื่นแจ่มใสมาก มีความสุขในหัวใจมาก ถ้าไม่มีสติ ถ้าไม่พาออกวิปัสสนา จะเข้าใจว่าเป็นนิพพานก็ได้ เพราะติดในสมาธิ

ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติติดในสมาธิว่าเป็นนิพพาน นี่มี เพราะอะไร แต่เวลาเสื่อมไป เวลาออกไปกระทบเพราะอะไร เพราะไม่มีการรักษา ในเมื่อว่าเข้าใจ กิเลส ในเมื่อว่าเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นคุณธรรม สิ่งนี้เป็นนิพพาน เวลาสติก็ไม่ควบคุม เวลาออกไปกระทบกับรูป รส กลิ่น เสียงจากภายนอกที่เป็นบ่วง เป็นพวงดอกไม้ เป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยากที่เข้ามาทับถมใจ ทีแรกก็ว่าปล่อยวางได้ ทีแรกก็ควบคุมได้ เพราะสติยังมีกำลังอยู่

ขณะที่สติอ่อนตัวลง อ่อนตัวลง มันจะมีความรับรู้ไปในอารมณ์โลก มันจะมีความพอใจไปเรื่องของรูป รส กลิ่น เสียง ขณะนั้นจะเสียใจ เสียใจว่าอันนี้ไม่ใช่คุณธรรม อันนี้เป็นอนิจจัง อันนี้เป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ความที่เคยเป็นสภาวธรรมอย่างนี้ได้หมดไปแล้ว แต่ถ้าเป็นสุภาพบุรุษ ถ้าเป็นสิ่งที่มีคุณธรรมในหัวใจ ถ้าอย่างนี้เป็นความผิดอย่างนี้เป็นครูของเรา เราก็จะเริ่มต้นแล้วตั้งสติ แล้วพยายามใช้คำบริกรรม ทำอย่างไรก็แล้วแต่ให้กลับมาที่ความสงบอย่างนี้ให้ได้

แล้วถ้าน้อมไปวิปัสสนา น้อมไปเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าน้อมไปได้อย่างนี้มีวาสนา ถ้าน้อมไปไม่ได้วิปัสสนาทำขนาดไหนเพราะอะไร เพราะสิ่งที่ว่าจิตเสื่อมนี้เป็นการแก้ไขที่ยากมาก ฉะนั้นครูบาอาจารย์สำคัญจะระวังมากเรื่องจิตของลูกศิษย์ลูกหาที่เจริญแล้วเสื่อม แต่ระวังขนาดไหนมันก็เป็นสัจจะความจริงอันหนึ่ง มืดสว่างมันเป็นของคู่กัน มันต้องเกิดดับอย่างนี้ตลอดไป สิ่งที่เป็นความสงบมันก็เสื่อมของมันโดยสภาพของมัน มันจะออกมาโดยจิตปกติที่เป็นธรรมชาติของเขา

จิตปกติ จิตโดยปุถุชนอย่างนี้มันก็สามารถทำความสงบได้ด้วยสัจจะความจริงเหมือนกัน สิ่งที่สัจจะความจริงเพียงแต่ว่า คนเราเคยสัมผัสสิ่งที่มีความอบอุ่นความสุขในหัวใจ แล้วจะเริ่มต้นทำเข้าไปมันจะมีความท้อถอย มีความท้อแท้ สิ่งนี้มันเป็นการตัดทอนกำลังใจ ถึงว่าจิตเสื่อมจะเริ่มต้นใหม่มันมีสิ่งนี้มาเป็นการตัดทอนกำลังใจ

แต่ถ้าคนที่ยังไม่เคยพบสิ่งใดแล้วเราทำสิ่งนี้เข้าไป มันจะไม่มีสิ่งนี้มาตัดทอนใจ แต่มันจะมีกิเลสตัณหา มีอำนาจวาสนามาทอนสิ่งนี้ทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน สิ่งนี้เราถึงต้องมีครูมีอาจารย์คอยให้กำลังใจ ครูบาอาจารย์จะให้กำลังใจผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ สิ่งนี้มันเป็นการเกิดและดับไปในจิตใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติทุกๆ คน แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๖ ปีนี้ก็ได้สัมผัสสิ่งนี้มา ครูบาอาจารย์ของเราได้สัมผัสสิ่งนี้มา

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สะเทือนหัวใจมาก เพราะคนที่บุกเบิก คนที่ได้สร้างองค์กรสิ่งใดมา จะรู้ว่าสิ่งที่เราก่อสร้างมามันมีความทุกข์ยากขนาดไหน แต่ผู้ที่เข้ามาเป็นสมาชิก ผู้ที่เข้ามาใช้องค์กรนั้น เขาคิดว่าของเขาเข้ามาสะดวกสบาย ผู้ที่บริหารองค์กรนั้นถึงต้องพยายามจะทำให้ผู้ที่เข้ามาใหม่นี้เข้าใจสิ่งนี้ ให้รักษาองค์กรนี้เอาไว้ให้ได้

นี้ก็เหมือนกัน ในหัวใจของเรา ในเมื่อครูบาอาจารย์เคยประพฤติปฏิบัติมา สิ่งนี้เคยเจริญแล้วเสื่อมในหัวใจครูบาอาจารย์เรามา สิ่งนี้ถึงคอยชี้นำ ถ้าธรรมเป็นใหญ่นะจะเริ่มต้นตั้งแต่มีศรัทธา จะทำอย่างไรให้เขามีศรัทธา จะทำอย่างไรให้เขาทรงศรัทธาของเขาไว้ แล้วจะทำอย่างไรให้เขามีศีล จะทำอย่างไรให้มีสมาธิขึ้นมา นี่รื้อสัตว์ขนสัตว์ จะรื้อสัตว์ขนสัตว์

สัตตะคือผู้ข้อง คือหัวใจของเรามันยังข้องอยู่ ถึงต้องสัตตะ สัตว์โลกต้องรื้อค้น ต้องรื้อสัตว์ขนสัตว์ตัวเราก่อน ถึงว่าครูบาอาจารย์ถึงบอกต้องให้ประพฤติปฏิบัติ อย่าออกไปรับรู้สิ่งต่างๆ

ขนาดเรื่องความสัมผัสของใจ ใจสัมผัสกับความรู้สึกเรามันก็เป็นความฟุ้งซ่าน มันเป็นเรื่องภาระหนักหน่วงของเราเต็มทีอยู่แล้ว แล้วเราทำไมจะต้องไปแบกรับภาระของเรื่องจากภายนอกอีก เว้นไว้แต่เป็นวัตรปฏิปทาเครื่องดำเนิน เวลาสัตว์เขาอยู่เป็นฝูงของเขานะ เขายังแบ่งหน้าที่ทำงานของเขาเลย ตอนนี้เราเป็นมนุษย์ เราเป็นพระ เราเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ มันก็มีข้อวัตรปฏิบัติ สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องภาระของหมู่ นี่กิเลสเวลามันอ้าง มันอ้างนะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องภาระ จะไม่ออกไปรับรู้ จะอยู่โดยเอกเทศ โดยทำเอกเทศ

สิ่งนี้มันมีความสมดุลนะ ถ้าไม่มีกิเลสเอาธรรมเป็นใหญ่นะ ธรรมและวินัยมันเป็นองค์ศาสดา ทุกคนก็ศึกษาทุกคนก็เข้าใจมาใช่ไหม หน้าที่การงานก็ทำไปตามนั้น เหมือนทีมฟุตบอล หน้าที่ของผู้ที่เล่นตำแหน่งไหนก็ต้องเล่นตำแหน่งนั้นไป อย่าไปก้าวก่ายกัน มันก็จะสมดุลกัน แล้วเวลาผู้เล่นคนใดโดนใบแดงออกไป ผู้ที่เล่นนั้นจะเข้ามาทำหน้าที่แทน มันเป็นการฝึกฝน ในทีมนั้นมีการฝึกฝนในวัตรปฏิปทา สิ่งนี้เป็นวัตรปฏิปทา

ถ้ากิเลสอ้าง อ้างว่าไม่ต้องไปรับรู้สิ่งภายนอก เวลาเป็นหน้าที่การงานมันก็ปฏิเสธ กิเลสนี้ร้ายนัก กิเลสเป็นใหญ่จะมีปัญหาไปทุกแง่ทุกกระทงทุกความหมายเลย แต่ถ้าเป็นธรรมเป็นใหญ่นะ สิ่งนี้เป็นหน้าที่ สิ่งนี้เป็นเครื่องดำเนิน แล้วเป็นมัชฌิมาปฏิปทา สมดุล สมดุล สมดุลตลอดไป ไม่เป็นภาระทั้งหัวใจของเรา ไม่เป็นภาระจากภายนอก ไม่เป็นภาระของหมู่คณะ ไม่เป็นภาระของใคร

สิ่งที่เป็นภาระเพราะอะไร เพราะเราเห็นแก่ตัว เพราะเห็นแก่กิเลส ทั้งที่กิเลสมันอยากจะมีปัญหาเลย แต่ถ้าเป็นธรรมเป็นใหญ่นะ หน้าที่สิ่งนี้เราก็ทำ ถ้าเขาไม่ทำก็เรื่องของเขา นี้เป็นเรื่องภายนอก

ดีนอก ดีในนะ ถ้านอกดีมันจะย้อนกลับมาข้างใน ถ้าข้างในดี โอกาสจากภายในที่ว่าสิ่งที่ละเอียดมันอยู่จากภายใน ถ้าสิ่งที่ละเอียดมันอยู่จากภายใน สิ่งที่ต้องไปแบกรับภาระไม่ใช่หน้าที่ของเรา สิ่งที่เป็นหน้าที่ของเราคือดูใจของเราให้มันสงบเข้ามา ถ้าจิตสงบเข้ามา มันจะเจริญแล้วเสื่อมขนาดไหน จะล้มลุกคลุกคลานขนาดไหน เราก็ต้องเริ่มต้นสร้างขึ้นมา

เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธวิสัยกว้างขวางมาก ถ้ามีหนทางอันใดก็แล้วแต่ที่เป็นความสะดวกสบาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องชี้ทางไว้แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องบอก เพราะเมตตาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้มหาศาลเลย แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องบึกบึนมา ต้องพยายามประพฤติปฏิบัติมา ๖ ปีเหมือนกัน

แล้วถ้ามีทางอันไหนที่สะดวก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องชี้ทาง มันถึงบอกศีล สมาธิ ปัญญานี้เท่านั้น แล้วปัญญา ปัญญาที่ว่ากัน ไม่ใช่ปัญญาจากอาการของใจ มันเป็นปัญญาของใจ ถ้าเป็นปัญญาจากอาการของใจที่เราตรึกธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา อริยสัจ ทุกคนก็รู้ ทุกข์ก็ควรกำหนด ก็บ่นว่าทุกข์กำหนดแล้ว ทุกข์มาก ทุกข์กำหนดแล้ว นี้คืออาการของทุกข์นะ ไม่ใช่ทุกข์

อาการของทุกข์ ใจสัมผัสอาการของใจ ขณะที่เราพิจารณาเข้ามาว่าทุกข์มาก ทุกข์มาก มันปล่อยความทุกข์เข้ามา มันเป็นสมถะทั้งหมดล่ะ แต่ความคิดของโลก ความคิดของกิเลส ว่าวิปัสสนาแล้ว แล้วก็ไปเรียกร้อง ไปบังคับเอาจากธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ประพฤติปฏิบัติมา ๕ ปี ประพฤติปฏิบัติมา ๑๐ ปี ประพฤติปฏิบัติมาขนาดนี้ทำไมมันยังไม่ได้ ทำไมมันยังไม่รู้สึก ทำไมไม่มีคุณธรรมในหัวใจ นี่อาการของใจทั้งหมดเลย ยิ่งเรียกร้อง ยิ่งบังคับ ยิ่งขู่เข็ญ นี้คือปฏิบัติธรรมด้นเดา ผู้ใดปฏิบัติธรรม ด้นเดาธรรม จะไม่ได้ธรรมในหัวใจเลย

ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม หน้าที่ของเราประพฤติปฏิบัติไป จะไม่ไปบังคับขู่เข็ญสิ่งต่างๆ แล้วทำไปให้เป็นมัชฌิมาปฏิปทา “สมดุล” สมดุลของธรรมนะ ถ้าสมดุลของธรรม ธุดงควัตร ๑๓ นี่สมดุล ถ้าสิ่งที่ว่าไม่สมดุล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าธรรมเป็นใหญ่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถือธรรมเป็นใหญ่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใจเป็นธรรมทั้งหมดเลย แล้วเป็นเจ้าของทฤษฎีมัชฌิมาปฏิปทาต่างหาก แล้วเขียนบัญญัติธรรมและวินัยไว้เป็นองค์ศาสดา ให้เป็นอัตตกิลมถานุโยค ให้เป็นความลำบากเปล่า เป็นไปไม่ได้

ฉะนั้น ถ้าเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ที่ธรรมวินัยนี้คือมัชฌิมาปฏิปทา เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่เตือนเอง “ทเวเม ภิกฺขเว ภิกษุทั้งหลายทางสองส่วนไม่ควรเสพ” แล้วบัญญัติวินัยไว้ให้เป็นสิ่งที่ลำบากเปล่า เป็นไปไม่ได้ มันต้องเป็นคุณธรรมที่เข้ามาในหัวใจของเรา มันถึงว่ามัชฌิมาปฏิปทาของธรรมต้องมีความเข้มแข็ง ต้องมีความดัดต้องขัดเกลากิเลส ต้องต่อต้านกิเลสทั้งหมด

ถึงบอกว่าอ่อนนุ่ม อ่อนโยนมากเรื่องของความรู้สึก แต่ขณะที่ประพฤติปฏิบัติธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องเข้มแข็งมาก สิ่งที่เข้มแข็งมากจะเข้าไปกำจัดสิ่งที่อ่อน สิ่งที่ควบคุมสิ่งที่อ่อนไหว สิ่งที่เป็นความสงบของใจอยู่ได้เป็นสัมมาสมาธิ แต่เพราะเราอ่อนไหว เพราะเราอ่อนแอ เพราะเราไม่เข้มแข็ง แล้วเอาสิ่งที่อ่อนแอไปทำให้หัวใจที่ควรเป็นอ่อนไหวนี้ มันยิ่งเหลวไหล มันยิ่งไม่ได้ผล แล้วก็อ้าง อ้างว่ามัชฌิมาปฏิปทา ทำให้มันลำบากเปล่าอย่างนั้นเป็นอัตตกิลมถานุโยค

มันไม่เป็นอัตตกิลมถานุโยคเลย เป็นคุณธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่าธรรมเป็นใหญ่ ต้องตั้งอย่างนี้เพราะสิ่งที่จะควบคุมสิ่งที่เป็นความลึกลับของใจนี้ ต้องเอาสิ่งที่มีอำนาจเหนือกว่า แล้วสิ่งที่มีอำนาจเหนือกว่า จะเป็นอำนาจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ใช่ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรับอาบัติต่อเมื่อผิด ต่อเมื่อทำความผิด ต่อเมื่อเป็นอาบัติเท่านั้น

สิ่งที่กล่าวตู่ธรรม สิ่งที่ไปบีบคั้นไปเรียกร้องเอาจากธรรม นี่สิ่งนี้ผิดหมด

แต่ถ้าเป็นสัจจะความจริง เราทำสมดุลกับเรา สิ่งที่เป็นไปในหัวใจของเรา สิ่งนี้เป็นคุณธรรม ถ้าสิ่งนี้เป็นคุณธรรม ธรรมเป็นใหญ่ ถ้าหัวใจเราธรรมเป็นใหญ่ มันจะมีจริตนิสัย อย่างเช่น ศรัทธาความเชื่อนี่ธรรมเป็นใหญ่ ถ้าธรรมเป็นใหญ่มันก็จะมีโอกาส แล้วพยายามทำของเราเข้ามา จิตสงบเข้ามา เสื่อมขนาดไหนก็ฟื้นฟูขึ้นมา ฟื้นฟูขึ้นมาแล้วปัญญาเกิด นี่ปัญญาที่เกิด

จิตสงบโดยสัจจะโดยความจริง “ทุกข์ควรกำหนด” ทุกข์ควรกำหนดเพราะมันสงบเข้ามา เพราะจิตนี้สงบมันถึงจะเห็นทุกข์ ถ้าจิตนี้ไม่สงบเพราะตัวทุกข์คือตัวจิต ตัวจิตนี่เป็นตัวทุกข์ แต่เราไปเห็นอาการของทุกข์ เพราะอะไร เพราะเราสัมผัสกับสิ่งใด เราไม่พอใจสิ่งใด เราอยู่กับโลกเขา เราว่าสิ่งนี้เป็นทุกข์ คิดถึงอดีตที่มีความเจ็บช้ำน้ำใจ ว่าสิ่งนั้นเป็นทุกข์

สิ่งนี้เป็นอาการของใจเพราะอะไร เพราะใจมันไปเอาสิ่งที่เป็นอดีต สิ่งที่ฝังอยู่ในหัวใจข้อมูลในหัวใจออกมาคิด สิ่งที่ออกมาคิด ทั้งๆ สิ่งนี้มันไม่น่าเป็นทุกข์เพราะอะไร เพราะสิ่งที่เป็นทุกข์คือการประสบการณ์ สิ่งที่กระทบครั้งแรก สิ่งที่เราไม่เคยเจอ สิ่งนั้นถึงเป็นทุกข์ต่างหากล่ะ แล้วสิ่งนี้สิ่งที่เป็นทุกข์ก็ผ่านไปแล้ว แล้วสิ่งนี้เราไปเอาสิ่งที่เป็นข้อมูลออกมาคิดอีกทำไม ถ้าคิดอีกก็เกิดความทุกข์อีก

นี่เราไปตะครุบเงา เราไม่เข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นอาการของใจ คือมันเกิดดับในหัวใจ เป็นแขกที่จรมาไม่ใช่ตัวใจ แล้วเราก็ไปเอาสิ่งนี้มาคิด เอาสิ่งนี้มาพิจารณา แล้วว่าพอปล่อยวางสิ่งนี้เข้ามา เราบอกว่านี่เราประพฤติปฏิบัติ เราวิปัสสนา เห็นไหม เราทำในใจ

เวลาจิตสงบนะ เคลิ้มมาก็ไม่มีสติ เวลาออกไปใช้ปัญญาก็ออกเป็นอาการของใจ ถ้าขาดสติ มรรคมันแกว่ง มันวิ่นมันบิ่นไป มันบิดมันไม่สมดุล ไม่บริบูรณ์ แต่ถ้าจะมีสติ แล้วมีสมาธิโดยสมบูรณ์ จิตสงบเข้ามาเป็นสมบูรณ์ แล้วน้อมไปเห็นอาการของใจ เห็นอาการของใจ อาการของใจคืออะไร

อาการของใจคือตัวขันธ์ ๕ ตัวขันธ์ ๕ แขกที่มันเกิด จรมา อาการของใจ สัญญา ถ้ามีสัญญาข้อมูลเดิมมันจะเกิดความคิด ถ้าเกิดความคิด สัญญานี้คืออะไร สัญญานี้มาจากไหน สัญญานี้มีคุณประโยชน์อะไร ทุกอย่างที่เกิดโดยธรรมชาติของเรามีคุณประโยชน์หมดนะ ถ้าใช้เป็นประโยชน์ เพราะสัญญา มีสัญญาแล้วสัญญาเป็นการศึกษาเป็นสังขาร สังขารเวลาปรุงเวลาแต่ง ข้อมูลก็กลับมาที่สัญญา เวลาเราคิดอะไรขึ้นมา อยากจะจำได้สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์มันก็ลืม แต่สิ่งที่เป็นโทษสิ่งที่เป็นทุกข์ ทำไมมันคิดบ่อยๆ ล่ะ

นี่เพราะเรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันจะคิดแต่เรื่องบาดหมาง เรื่องความทุกข์ของใจ แต่เรื่องที่เป็นประโยชน์เป็นคุณงามความดีมันจะไม่คิด เพราะมีกิเลสมีตัณหา กิเลสตัณหานี้เวลาสัญญานี้เกิดขึ้นมา มันเลยมีพิษมีภัย แต่ถ้าเป็นธรรมขึ้นมา เป็นธรรมขึ้นมา สัญญาที่เกิดขึ้นเป็นคุณประโยชน์

สิ่งที่เป็นประโยชน์กับโลกคือการสื่อสาร ภาษาก็เป็นประโยชน์กับชุมชน สิ่งต่างๆ ก็เป็นประโยชน์กับชุมชน ขันธ์ ๕ มันก็เป็นประโยชน์กับมนุษย์ เพราะมนุษย์มีขันธ์ ๕ แม้แต่คนใบ้เขายังมีภาษามือของเขา เขายังรู้จักใช้ภาษาของเขา สิ่งนี้ถึงว่าเป็นประโยชน์ไง

แต่เวลากิเลสเอาไปใช้เป็นโทษหมดเลย แต่เวลาเป็นธรรมไปใช้นะ จิตสงบเข้ามา ดูอาการของใจ ดูสิ่งที่อาการของใจเกิดขึ้นมาได้เพราะอะไร เพราะมีสิ่งนี้ เพราะมีขันธ์ ๕ เพราะมีความเป็นไป ธาตุขันธ์มันเป็นไปตามธรรมชาติ สิ่งนี้เป็นประโยชน์กับโลกถ้าใช้ไปในแง่บวก เป็นนักวิชาการ สิ่งนี้เป็นโทษกับโลกถ้าเป็นพวกโจรพวกกิเลสตัณหา สิ่งนี้เอาเบียดเบียนกัน แล้วจับสิ่งนี้ที่เป็นประโยชน์และเป็นโทษของโลกให้มันละเอียดเข้ามา พอละเอียดเข้ามามันก็เป็นอีกชั้นตอนหนึ่ง คืออีกมิติหนึ่ง

มิติหนึ่งคือโลกียปัญญา มิติหนึ่งคือโลกุตตรปัญญา โลกุตตรปัญญาเพราะมีจิตสงบ สงบโดยสัมมาทิฏฐิ คือความถูกต้อง ไม่ใช่เคลิ้ม เคลิ้มแบบโลกเขา พอจิตสงบเข้ามาโดยความถูกต้อง อาการของจิตที่มันสัมผัสกับขันธ์ ๕ เราต้องพิจารณาตรงนี้ ถ้าสิ่งนี้พิจารณาตรงนี้ สิ่งนี้ต่างหากถึงเป็นวิปัสสนา เพราะอะไร

เพราะจิตเห็นอาการของจิตโดยสัจจะความจริง แล้วจิตเป็นสมาธิคงที่ สิ่งที่คงที่ไม่เป็นอัตตกิลมถานุโยค ไม่เป็นอดีตอนาคต มันเป็นปัจจุบัน สิ่งที่คิดโดยความเคลิ้มนี้เป็นอดีตอนาคตเพราะมันไหลไปตามกระแส ไหลไปตามความคิด มันถึงไม่เป็นวิปัสสนา มันถึงเป็นวิปัสสนึก

แต่ถ้าจิตมันคงที่ จิตคงที่คือมีสติ มีสมาธิเข้ามาเหนี่ยวรั้ง สิ่งนี้ออกไปสัมผัสกับอาการของใจ สิ่งที่จับอาการของใจได้ นี้เป็นวิปัสสนา ถ้าออกไปเห็นกาย ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่ว่าจะเกิดขึ้นกับหลักศาสนาพุทธ ปัญญาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าค้นคว้ามา ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง แล้วมันละเอียดอ่อนขึ้นไป

จากโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามรรค สกิทาคาผล อนาคามรรค อนาคาผล อรหัตตมรรค อรหัตตมรรคคืออาสวักขยญาณ สิ่งที่เอาอาสวักขยญาณนี้ไปทำลายอวิชชา พอทำลายอวิชชา พระอรหันต์ ๕ องค์ที่เถียงกันอยู่ในสวน เถียงกันด้วยจริตนิสัย เถียงกันด้วยความถนัด แต่เพราะพระอรหันต์ ๕ องค์นี้มีอาสวักขยญาณนี้เข้าไปทำลายหัวใจ เข้าไปทำลายกิเลส นี้เป็นความบริสุทธิ์ นี่ธรรมถึงเป็นใหญ่ การโต้เถียงการเถียงกันนี้ การ ธมฺมสากจฺฉา อย่างนี้มันเป็นประโยชน์ ประโยชน์กับสิ่งที่เป็นข้อมูล สิ่งต่างๆ ที่เราจะเผยแผ่ธรรมออกไป ธรรมะจะเผยแผ่ออกไป

สิ่งที่ออกไปสื่อสัมพันธ์กับโลกจะเกิดจากสิ่งนี้ จะเป็นคุณประโยชน์ สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ สภาวธรรมอย่างนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการตรงนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกสิ่งนี้ประเสริฐที่สุด ประเสริฐที่สุดคืออาสวักขยญาณ ที่มันเป็นมรรค เป็นธรรมฝ่ายเหตุ เห็นไหม ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคอริยสัจ ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ นิโรธนิโรธเกิดขึ้นจากมรรคญาณ มรรคญาณคือมรรค อริยสัจนี้ไง สิ่งที่เป็นอริยสัจ นี่มีมรรค ๘ มีความเป็นไปของใจ การกระทำของใจอย่างนี้จะเกิดขึ้นมาถ้าธรรมเป็นใหญ่นะ

ถ้ากิเลสเป็นใหญ่มีแต่ท้อถอย มีแต่ความรำพัน ทั้งๆ ที่ไปศึกษานะ ประพฤติปฏิบัติมาก็เอาสิ่งนี้ออกมา จิตได้สัมผัสธรรมสูงส่งขนาดไหน เสื่อมสภาวะไปก็อาศัยสัญญาคือความจำอย่างนั้นออกมาเป็นการเทศนาว่าการ คือการเผยแผ่ การเผยแผ่ธรรม ครูบาอาจารย์ถึงบอกว่า ในธรรมวินัยว่าไว้เลย ธรรมและวินัย วินัยจะรู้ว่ามีวินัยจริงหรือไม่มีวินัยจริง อยู่ด้วยกัน การอยู่ด้วยกัน ความเห็นกัน ธรรมจะเกิดขึ้นมาจากขณะเทศนาว่าการนี้ ถ้ามีการเทศนาว่าการคือเปิดอกมาจากหัวใจ ถ้าธรรมออกมาจากใจ ธรรมออกมาจากสิ่งที่ความสัมผัสประสบการณ์ของใจดวงนี้ จะขึ้นไปเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป

สิ่งที่เป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป เพราะการปล่อยวาง การชำระล้างมันจะออกมาเป็นชั้นเป็นตอน เพราะในเวไนยสัตว์กึ่งพุทธกาลนะ ขิปปาภิญญาคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่นั่งอาสนะเดียวถึงพระอรหันต์เลย ทีเดียวขิปปาภิญญานี่มี แต่ขณะที่ในเวไนยสัตว์ ๑ จริตนิสัยของสัตว์โลก ๑ ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้แต่ประพฤติปฏิบัติเข้าสัจจะความจริง สิ่งนี้ก็ประเสริฐที่สุดแล้ว ถึงบอกจะเป็นขั้นเป็นตอน

สิ่งที่เป็นขั้นเป็นตอน เห็นไหม ล้มลุกคลุกคลานขนาดไหนก็รู้ ฟื้นฟูขึ้นมาขนาดไหน จนตั้งตัวขึ้นมาขนาดไหนก็รู้ แล้วขณะที่ว่าทำเข้ามาเป็นสัจจะความจริง ไปเห็นกายตามความเป็นจริง เห็นขันธ์ตามความเป็นจริง เห็นขันธ์คือการพิจารณาจิต เห็นกายคือการพิจารณา เป็นปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา จะเป็นสภาวะแบบนี้ เป็นชั้นเป็นตอน จะปล่อยวางขนาดไหน ถ้าไม่สมุจเฉทปหาน สังโยชน์ไม่ขาด

ถ้าสมุจเฉทปหาน เห็นไหม ขาดออกไป พอขาดออกไปจะทำให้ขาดอีกไม่มี มีไม่ได้ ขาดได้หนเดียว พอขาดได้หนเดียว ถ้ายกขึ้นสูงไป เป็นสกิทาคามรรค พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนปล่อยวาง วิธีการและข้อมูลเดิม ข้อมูลการก้าวเดิน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกมรรคญาณ มรรคฝ่ายเหตุนี่สำคัญมากเลย ถ้าสมดุลเป็นไปตามสัจจะความจริง ผลไม่ต้องไปเรียกร้อง ไม่ต้องเรียกร้องหาผลนะ ไม่ต้องไปค้นคว้า ไม่ต้องไปด้นเดา ไม่ต้องไปบังคับเอาว่าปฏิบัติมา ๑๐ ปี ๒๐ ปี ทำไมไม่ได้ผลซักที สิ่งที่เรียกร้องอย่างนี้คือเรื่องของกิเลสเป็นใหญ่นะ ถ้ากิเลสเป็นใหญ่ปฏิบัติก็ล้มลุกคลุกคลาน แล้วพยายามบีบคั้นเรียกร้องเอา ให้คะแนน ตัดคะแนนตัวเอง

แต่ถ้าเป็นธรรมสัจจะความจริงนะ พระโพธิสัตว์ ขณะเสวยชาติเป็นกระรอกอยู่ชายทะเล ลมพัดมารังกระรอกตกลงไปในทะเล พระโพธิสัตว์เป็นกระรอกไปเอาหางจุ่มในน้ำทะเลขึ้นมาสะบัด ขึ้นมาสะบัด จนเทวดาทนไม่ไหวนะ ลงมาถามกระรอกว่า “ทำอะไร”

“จะเอาหางชุบน้ำทะเลแล้วขึ้นมาสะบัด จนกว่าน้ำทะเลนี้จะแห้ง”

“เพราะอะไร”

“เพราะจะเอาลูก ลูกอยู่บนต้นมะพร้าวแล้วลมพัดรังกระรอกตกไปในทะเล จะเอาหางแช่น้ำทะเลแล้วขึ้นมาสะบัด แช่น้ำทะเลแล้วขึ้นมาสะบัด จนกว่าน้ำทะเลจะแห้ง เพราะต้องการลูก จะเป็น ไม่เป็นไม่รู้”

เทวดาถามว่า “แล้วมันจะเป็นไปได้ไหมล่ะ”

“จะเป็นไปได้ไม่ได้ไม่รู้”

จะทำอย่างไรก็ไม่ยอม ไม่ยอมทั้งสิ้น จะเอาหางจุ่มน้ำทะเลขึ้นมาสะบัดอยู่อย่างนั้น ทำอยู่อย่างนั้น จนพระอินทร์ทนไม่ได้ ต้องไปเอาลูกขึ้นมาจากทะเลขึ้นมาให้กับกระรอกตัวนั้น

พูดถึงสัจจะความจริง เราไม่ต้องเรียกร้อง หน้าที่ของเราคือการประพฤติปฏิบัติ แม้แต่พระโพธิสัตว์เป็นกระรอกต้องการเอาลูกขึ้นมาจากน้ำทะเล แล้วเพราะกระรอกมีความสามารถได้แค่นั้น แค่เอาหางของตัวเองไปชุบ เพราะปัญญาของกระรอกมีเท่านั้น แต่เสวยชาตินะ เสวยชาตินั้น นี้คือการบำเพ็ญ การบำเพ็ญของพระโพธิสัตว์มา ทุกข์ยากขนาดไหนก็บำเพ็ญมา เพื่อจะให้พ้นจากกิเลสอย่างนี้ เพราะในเมื่อถ้าเป็นพระโพธิสัตว์ เมื่อที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์แล้ว ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องก้าวเดินไปตามนั้น ต้องเสวยชาติอย่างนั้นตลอดไป

แต่ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่พยากรณ์นะ อำนาจวาสนาที่สร้างมานี้จะย้อนกลับมาเป็นอำนาจวาสนา เป็นบารมีของใจ แล้วจะย้อนกลับเข้ามา แต่เราเราเป็นสาวก-สาวกะ ไม่มีภูมิของพระโพธิสัตว์มาบังคับขนาดนี้ เราทำแล้วมันยังโอกาสนี้ ถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมีบารมีของพระโพธิสัตว์มาบัง มันยังต้องไปแก้ไขกันอีกนะ นี่พูดถึงอุปสรรค

ถ้าพูดถึงแง่บวกมันก็มีคุณประโยชน์ไปตลอด คุณประโยชน์ไปเอาข้างหน้าก็ได้ คุณประโยชน์ในปัจจุบันก็ได้ ถ้าพูดถึงในแง่ลบ แง่ลบหมายถึงว่าเวลาปฏิบัติไปมันจะมีปัญหา มันจะมีสิ่งที่ว่ามันบิดเบือน มาทำอะไร มันต้องแก้ไขให้ถูกต้อง ถึงการปฏิบัติต้องถูกต้อง การปฏิบัตินะ ถ้าการปฏิบัติไม่ถูกต้องมันก็ไม่เข้ามรรค มรรคคือสัมมาทิฏฐิความถูกต้อง แล้วมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิด ปฏิบัติแต่มันเห็นผิด มันไม่ถูกต้อง

การปฏิบัติถึงอยู่ที่ความถูกต้อง ถ้าความถูกต้องมันก็เป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรมก็เป็นมรรค สิ่งที่เป็นธรรม เราถึงว่าธรรมเป็นใหญ่ ถ้าธรรมเป็นใหญ่เพราะเรามีสติ มีปัญญา เราถึงต้องพยายามทำสิ่งที่เป็นมุมมองเราให้ถูกต้อง ถ้ามุมมองเราถูกต้อง ความก้าวเดินไป เห็นไหม เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบก็กราบธรรม แล้วให้ธรรมเป็นใหญ่มาตลอด

สิ่งที่ธรรมเป็นใหญ่ เวลาปกครอง สิ่งที่รู้ๆ อยู่นะ บางอย่าง ผู้ที่มีกิเลสสร้างปัญหาขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้หมดเลย แต่ก็ให้สอบสวน ให้แก้ไขเพื่ออะไร เพื่อให้สิ่งที่ผู้ที่ไม่รู้ให้มันชัดเจนออกมา แล้วตัดสินไปตามนั้น นี่ธรรมเป็นใหญ่

แม้แต่รู้อยู่ ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไม่ผิด ตัดสินไปเลย ผู้ที่ภาพหลักฐานไม่ออกมาชัดเจน ผู้ที่มีกิเลสในหัวใจ เขาก็ว่าลำเอียง เขาก็ว่าสิ่งนี้ไม่เป็นธรรม กิเลสนี้ร้ายกาจมาก แม้แต่ไปอยู่กับคุณธรรมขนาดนั้นก็ยังมีสิ่งที่ว่าปิดบังหัวใจอยู่ ไปจับผิดไปความเห็น เพราะกิเลสมันเอาแต่ความเป็นโทษใส่หัวใจของกิเลส

แต่ถ้าเป็นคุณธรรมนะ จะเข้าไปแบ่งเบาภาระ จะเข้าไปทำสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์เพื่ออะไร เพราะเอาสิ่งที่เป็นภาระ สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์นั้นให้กับหัวใจของเรา ให้โอกาสไง ในการบำเพ็ญทานของเรา เราให้ทาน เรารักษาศีลเพื่ออะไรล่ะ? ก็เพื่อหัวใจของเรา จะบำเพ็ญทานจะทำบุญกุศลขนาดไหน จะพ้นจากกิเลสได้ต้องปฏิบัติเท่านั้น

ถ้าไม่มีการประพฤติปฏิบัติเลย เราทำทานขนาดไหนมันก็ให้ผลนะ เพราะเราทำบุญกุศลขนาดไหน บุญกุศลนี้ต้องให้ผลแน่นอน สิ่งใดการกระทำไปแล้วไม่สูญเปล่า สิ่งที่เป็นบุญกุศลก็เกิดไปในวัฏฏะ เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมไป แล้วสิ่งที่เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่ามันมีวาระมีกาลของมัน ถ้าหมดอายุขัยก็ต้องหมุนกลับมาอีก มันก็เป็นวัฏฏะอยู่อย่างนี้ สิ่งที่เป็นวัฏฏะ

ทำบุญกุศลมากขนาดไหน จะทำขนาดไหน เวลาถึงที่สุดแล้วก็ต้องมาประพฤติปฏิบัติถ้าจะพ้นจากกิเลสนะ พ้นจากกิเลสเพราะจิตนี้ให้เป็นอิสรภาพ

ถ้าไม่พ้นจากกิเลส พญามารเป็นใหญ่ในหัวใจ สิ่งที่พญามารเป็นใหญ่ เราคิดคุณงามความดี เราทำคุณงามความดี สิ่งนี้เป็นของชั่วคราว เพราะเวลาสิ่งที่ทำคุณงามความดี สิ่งนี้มันเป็นคุณงามความดีตลอดไปไหม ถ้าคุณงามความดีตลอดไป อันนี้เป็นวาสนา แต่ถ้าทำคุณงามความดี ถ้ามารมันพลิกแพลงออกมา มันก็ท้อถอย มันน้อยเนื้อต่ำใจ ความน้อยเนื้อต่ำใจ สิ่งที่เราสร้างคุณงามความดีขนาดไหน ความน้อยเนื้อต่ำใจนี้เป็นทุกข์อันละเอียดนะ

ทุกข์ของเราคือการแบกหามความทุกข์ ทุกข์นี้เป็นทุกข์จากภายนอก ทุกข์จากสิ่งที่เป็นเรื่องโลก ทุกสิ่งที่เป็นความแบกหามภาระรับผิดชอบ แต่ทุกข์ภายในคือผู้ที่มีอำนาจวาสนามาก ผู้ที่เป็นผู้ปกครอง ผู้ที่เป็นเจ้าของสมบัติ แต่มันก็มีความเฉา มันก็มีความลังเล ความอาลัยอาวรณ์ในหัวใจ ทุกข์นี้ถึงเป็นอริยสัจ ทุกดวงใจมีหมดไม่ต้องไปพิสูจน์ที่ไหน พิสูจน์ที่หัวใจของเรา

หัวใจของเรา เราถามใจของเรา สิ่งนี้เป็นความจริงในหัวใจของเรา สิ่งที่เป็นความจริงในหัวใจของเรา ทำไมเราจะรู้ไม่ได้ สิ่งที่เรารู้ได้ สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมาจาก ถ้ามันเกิดที่แล้วดับที่ เราจะเข้าใจทั้งหมดเลย เพราะใจทุกดวงเหมือนกัน แม้แต่สัตว์มันก็มีหัวใจ มนุษย์ก็มีหัวใจ สิ่งที่มนุษย์มีหัวใจ สิ่งที่เป็นหัวใจมันรับทราบสภาวะแบบนี้ มันละเอียดอ่อนถึงต้องใช้ธรรม มรรคญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าไปชำระล้างมัน

สิ่งที่มีมรรคญาณ เรายังมีความพอใจ เรายังมีโอกาสอยู่นะ ถ้ายังมีลมหายใจเข้าและลมหายใจออกอยู่ ยังมีโอกาส จะขาดโอกาสต่อเมื่อสิ้นลมหายใจ ขณะลมหายใจขาดตามแต่กรรม ตามแต่อำนาจของจิตที่มันสร้างมา ถ้าประพฤติปฏิบัติมาได้แค่ไหนก็แค่นั้น แค่นั้นนะ เวลาดับจากไป ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติก็ได้ไปเสวยตามผลอันนั้น

พระอนาคามี ขนาดที่ว่าดับไปถ้ายังไม่สิ้นกิเลส เกิดบนพรหม เป็นพระอนาคามีแล้วเข้าใจว่าสิ่งนี้ สิ่งที่กิเลสสิ้นไปเพราะว่างหมดเลย เวลาไปจุติเป็นพรหมจะรู้เลยว่าสิ่งนี้มันไม่ใช่ แต่ก็ต้องเสวยอันนั้นไป ถึงบอกว่าขณะที่ลมหายใจขาดมันเป็นสิ่งที่ตัดรอนโอกาสนะ ขณะที่ลมหายใจยังมีอยู่ จะเจ็บปวด ร่างกายจะมีความทุกข์ร้อนขนาดไหน อันนี้มันเป็นเรื่องสัจจะความจริงนะ มันสะเทือนหัวใจเราด้วย สะเทือนหัวใจที่ไหน

สะเทือนหัวใจว่า ธรรมประกาศตัว ธรรมกังวานตลอด ธรรมเทศนาว่าการนะ เดี๋ยวเจ็บหน้าท้อง เดี๋ยวปวดหัว เดี๋ยวมีความเป็นไป นี่มันเป็นอนิจจังทั้งหมดเลย ขนาดธรรมเตือนขนาดนี้เรายังลังเลสงสัย เรายังไม่มีสติ ยังไม่ย้อนกลับมาดูใจของเรา มันถึงย้อนว่าอำนาจวาสนาของเรามีมาจริงไหม เราควรทำไหม ถ้าเราควรทำสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์กับเรา เอวัง