เทศน์เช้า วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๘
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
อ้าว ตั้งใจฟังธรรมะ ก่อนเข้าพรรษานะมันหยุด ๔ วันเราเห็นอยู่แล้ว เราก็เตรียมตัวของเราไว้พร้อม ไปส่งเสบียงไว้ก่อน ทุกอย่างไว้ก่อน ฟื้นฟูร่างกายไว้ให้เข้มแข็ง ให้เข้มแข็งเพราะอะไรล่ะ นี่พระ จัดพระไปให้ไปจำพรรษาที่นั่นๆ ให้พระเขาฝึกหัดของเขา สถานที่ เราเปลี่ยนสถานที่เพื่อความสดชื่น เพื่อความสด ที่มันสด ที่มันใหม่ ร่างกายคนแข็งแรงเพื่อการประพฤติปฏิบัติไง
ฉะนั้น ในเข้าพรรษาๆ มันสำคัญไง สำคัญว่าหนึ่งปีเราไปให้ของขวัญกัน เราไปชื่นชมกันวันปีใหม่ หนึ่งปี พระ พระเวลาจะเข้าพรรษา หนึ่งปีเราเที่ยวธุดงค์ไป เราหาที่สงบสงัดประพฤติปฏิบัติเราไป เราหาที่จำพรรษาไง ถ้าจำพรรษาเราจะเข้มงวดกับเรา ตั้งสัจจะถือธุดงควัตรข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลายๆ ข้อ ทุกคนตั้งกติกาขึ้นมาเพื่อจะค้นคว้าหาตัวเอง เพราะอะไร เพราะมันต้องจริงจังบ้างสิ
นี่เวลาโยมเขายังมีจริงจัง เขามีงานมีการของเขา พระเรามันก็ต้องมีหนักมีเบา ไม่ใช่อยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้นแหละ ปีหนึ่งก็ปีหนึ่งอยู่อย่างนี้ แล้วก็เวลา ๕ ปี ๑๐ ปีฉันพรรษาเยอะนะ ฉันเป็นอาวุโสนะทุกคนต้องมาเคารพบูชา ให้ ๑๐๐ พรรษาด้วยถ้ามันโง่ แต่ถ้ามันฉลาดนะ สามเณรน้อยอายุ ๗ ขวบเป็นพระอรหันต์ คนเคารพบูชากันมาก แต่เวลาพระไม่เข้าใจ เห็นว่าสามเณรน้อย ตัวเองเป็นพระไง ไปเล่นกับสามเณรน้อย
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเตือนนะ นั่นพระอรหันต์นะน่ะ ไปลูบหัวเล่นอยู่นั่นพระอรหันต์นะ ตัวเองทำอะไรอยู่ ตัวเองได้ประโยชน์อะไรอยู่ นั่นพระอรหันต์นะ แล้วพระอรหันต์มาจากไหนล่ะ คำว่าพระอรหันต์นะ ทุกคนมันเป็นเป้าหมายของชาวพุทธเรานะ ถ้าชาวพุทธเรานี่เราสิ้นสุดแห่งทุกข์ คำว่าสิ้นสุดแห่งทุกข์คือพระอรหันต์ พระอรหันต์คือว่าไม่หันกลับมาอีกแล้ว นั่นล่ะถ้าสิ้นสุดแห่งทุกข์มันจะเสวยวิมุตติสุขๆ
วิมุตติสุขมันเกิดมาจากไหนล่ะ มันเกิดมาจากหัวใจที่ทุกข์ยากนี่ หัวใจเวลาทุกข์เวลายาก เราบ่นเรื่องความทุกข์ความยากเราบ่นได้ทั้งวันเลย แต่เราไม่เคยทำความสงบของใจเราให้ได้ เราไม่เคยค้นคว้าหาสัจธรรมในหัวใจของเราได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมบุญญาธิการมาเป็นพระโพธิสัตว์ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย สร้างบุญญาธิการมาขนาดนั้น เวลาท่านเห็นภัยในวัฏสงสาร ไปเที่ยวสวนเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย เราก็ต้องเป็นเช่นนั้นหรือ ถ้าเป็นเช่นนั้นหรือมันต้องมีฝั่งตรงข้าม ต้องไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย
แต่คำว่าไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายนี้ยังไม่มีใครค้นคว้า ยังไม่มีใครหาได้ มันไม่มีใครทำได้ แต่ท่านเองท่านมีปฏิภาณอย่างนั้น ท่านมีบารมีอย่างนั้น พยายามออกค้นคว้าของท่านอย่างนั้น ท่านออกไปค้นคว้า ออกไปศึกษา ออกไปประพฤติปฏิบัติ ที่ไหนเขามีครูบาอาจารย์ ที่ไหนที่ปฏิบัติเขามีชื่อเสียง ที่ไหนเขามีคนนับหน้าถือตา ไปทดสอบๆๆ ไปศึกษากับเขามาหมดเลย มันก็ไปไม่ได้ มันไปไม่ได้ที่ไหน มันไปไม่ได้เพราะในหัวใจเรานี่ไง หัวใจเรารู้นี่ เรายังสงสัยอยู่ เรายังเวียนว่ายตายเกิดอยู่
การเวียนว่ายตายเกิด เวียนว่ายตายในวัฏฏะ เวียนว่ายตายเกิดในอารมณ์ของเรานี่แหละ ความลังเลสงสัย ความรู้สึกนึกคิดมันเกิดดับๆ อยู่ในใจ มันรู้ของมันอยู่ เราบอกว่าเราไม่เกิด ไม่เกิดเอ็งรู้อะไร บอกว่าไม่ตาย ไม่ตายมันจะตายอยู่วันสองวันนี้ ไม่ตายที่ไหน มันก็เกิด แก่ เจ็บ ตายอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วมันทำอย่างไรล่ะ นี่ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาบุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ ย้อนกลับมาทำลายอวิชชาในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเป็นไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา เราเป็นไก่ตัวแรก เราถือศาสดาของเราไง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราเคารพบูชารัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นแก้วสารพัดนึกไง
เวลาโลกเขานึกกัน เวลาเขาทุกข์เขายากเขาก็แค่บรรเทาทุกข์ไง นึกถึงศาสนา ศาสนาเป็นเขตอภัยทาน ใครมีความทุกข์ยากขนาดไหนก็ไปวัดไปวาไปพึ่งพาอาศัย ทุกข์ยากมาก็มาพึ่งพิงอาศัย พอพึ่งพิงอาศัยนะได้กำลังแล้วก็ออกไปสู่กับสังคมนั้นใหม่ แต่ผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสารเขาสละสิ่งนั้นมาเพื่อจะเอาจริงเอาจัง ถ้าเอาจริงเอาจังขึ้นมา เวลานิสัยของไก่มันตื่นแต่เช้า มันขันตั้งแต่คนยังไม่ตื่น คนยังไม่ตื่นไก่มันขันก่อนแล้ว ถ้าไก่มันขันก่อน ไก่มันออกอรุณแล้ว มันจะออกหากินแล้ว เราต้องตื่นก่อนไก่ เราจะเอาความจริง เอาจริงเอาจังขึ้นมา
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเปรียบ จิตของท่านเหมือนไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา แต่เราดูพฤติกรรมของไก่ ไก่ในโลกนี้มันก็บอกเวลา ขันบอกเวลา เดี๋ยวนี้ไม่ต้องการแล้วเขาเอานาฬิกา นาฬิกาปลุกตั้งไว้นะ เวลามันปลุกนะลุกขึ้นมากดให้มันปิดก่อนแล้วก็นอนต่อ นี่ไงมันตั้งใจ ตั้งใจว่านาฬิกาปลุกแล้วมาภาวนาไง แต่เวลามันปลุกนะเอามือไปกดมันนะ นอนต่อ นี่เปลี่ยนมาจากไก่มันขัน ไปห้ามมันไม่ได้ เวลานาฬิกาไปกดมันซะ กดไม่ให้มันปลุก
นี่เวลาไก่ตัวแรกเจาะฟองอวิชชาออกมา ถ้าเป็นไก่ ในการประพฤติปฏิบัติเราต้องเป็นความจริงของเรา ต้องขยันหมั่นเพียรของเรา ต้องมีสัจจะของเรา ถ้าวันเข้าพรรษาแล้วเราก็ต้องตั้งกติกากับเรา เอาความจริงกับเรา แต่เวลาคนที่ประพฤติปฏิบัติไปคุ้นชิน พอเขาว่าไก่มันคอยบอกเวลาใช่ไหม กูก็จะเป็นเป็ดแล้ว เป็ดมันก็บินได้ มันก็ลงน้ำได้ เป็ดมีทุกอย่างเลย
นี่ก็เหมือนกัน ประพฤติปฏิบัติไง ถูลู่ถูกัง รู้ไปหมด นู่นก็ทำได้ นี่ก็ทำได้ พระพุทธเจ้าสอนแล้วเข้าใจหมด โอ้โฮ ครูบาอาจารย์ว่านิพพานเป็นอย่างนั้น ว่างหมด กรรมฐานเป็ด เป็ดมัน ลงน้ำก็ได้ บินก็ได้ เออ เขาขันบอกเวลา มันก๊าบๆๆ มันก็จะขันไปกับเขา มันทำได้ทุกอย่างเลย แต่ทำได้ไม่ดี ทำได้ไม่จริง ฉะนั้น ทำได้ไม่จริง นี่ไงวันเข้าพรรษาไง เวลาหลวงตาท่านพูดนะเพราะท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น เวลาเข้าพรรษาอธิษฐานพรรษากันทั้งวัดเลย เวลาออกพรรษาแล้วเหลือไม่กี่องค์ ทำไมจิตใจมันอ่อนแอขนาดนั้น เวลาจิตใจอ่อนแอขนาดนั้นท่านถึงได้ตั้งสัจจะไง
ท่านบอกเองนะเวลาสมัยอยู่กับหลวงปู่มั่น ทุกคนกลัวหลวงปู่มั่นเป็นอันดับหนึ่ง กลัวท่านเป็นอันดับสอง อันดับเพราะท่านเป็นคนปกครองดูแลพระไง ถ้าเป็นคนปกครองดูแลพระ เป็นคนปกครองดูแล เวลาอธิษฐานพรรษามันก็รู้คนดูแลเขา เขาอธิษฐานธุดงค์ เขาก็บิณฑบาตธุดงค์ของเขา เวลามีไทยทานมาก็เปิดบาตรรับๆ นั่นไงเขาขาดธุดงค์แล้ว ท่านเห็นตำตาๆ ฉะนั้น ท่านถึงได้วางหลักเกณฑ์ไว้
ท่านพูดบ่อยบอกว่าธุดงควัตรมันเป็นธุดงค์ ๑๓ มันเป็นศีลในศีล ถ้าพระเราไม่จรรโลง ไม่รักษาไว้มันก็เป็นแต่ทฤษฎี แล้วพอเป็นทฤษฏีแล้ว ต่อไปอนุชนรุ่นหลังเขาก็ไม่รู้ไม่เห็นของเขา นี่ทฤษฎีมันก็มีด้วย ข้อเท็จจริงมันก็มีด้วย พระเราก็ต้องมีด้วย เราก็ต้องทำด้วย เราก็ต้องปฏิบัติด้วย นี่เข้าพรรษา เข้าพรรษาเอาจริงเอาจังของเรา ถ้าประพฤติปฏิบัติมันจะได้ความจริงของเราไง ถ้ามันไม่ได้ความจริงของเรา นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา เราจะเป็นเป็ด กูจะเป็นเป็ด กูไม่เป็นไก่หรอก ไก่มันลำบาก เป็นเป็ดดีกว่า แล้วเป็ดมันแถไปได้หมด
ปฏิบัติอย่าให้มันแถ อย่าให้กิเลสมันชักนำ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เป็นความจริง เราประพฤติปฏิบัติเป็นความจริง หน่อของพุทธะ ถ้าจิตมันสงบนะเราไปเห็นหน่อของพุทธะ หน่อพุทธะคือหน่ออ่อนกับหัวใจของเราไง ไอ้นี่ใจมันด้าน ใจมันนะมีแต่ความดื้อด้าน ความดื้อด้านมันไม่มีความจริงอะไรเลย พุทโธ พุทโธเวลาจิตมันสงบเข้าไปมันลอก มันปอกเปลือก มันปอกเปลือกเห็นผลไม้ เนื้อในของมันที่มันอ่อน มันสดชื่น มันน่าชื่นชม ไอ้ความแก่ ความชราภาพมันไม่มีใครต้องการ แต่มันก็ไม่เคยตายนะ มันก็เวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนั้นแหละ
พุทโธ พุทโธ พุทโธเข้าไป หรือว่าปัญญาอบรมสมาธิเข้าไปจะเข้าไปสู่หน่อของพุทธะ ไปสู่หัวใจที่อ่อนนิ่ม หัวใจที่ควรแก่การงาน ถ้าไปเจอหัวใจที่ควรแก่การงาน เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไปมันจะเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก แล้วมันจะกราบ มันจะซาบซึ้ง คนเวลาซาบซึ้งนะมันไม่ทำหรอก อีลุ่ยฉุยแฉกมันทำไม่ลงไง มันทำไม่ลงเพราะอะไร เพราะมันเข้าไปสัมผัส มันรู้ว่ามันจะไปไหน มันจะไปไหน มันจะทำอย่างไรมันเห็นช่องทางของมันไง แต่คนเราไม่เคยเห็นช่องทางเลยไง มันจะเป็นเป็ด ก๊าบๆ อยู่อย่างนั้นแหละ มันไม่เป็นไก่ เป็นไก่นะดูสิมันฟัก มันดูแลของมัน มันขันมันบอกเวลา มันเป็นประโยชน์ มันขยันหมั่นเพียรของมัน
นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติไปแล้ว กิเลสนะมันเป็นกาฝาก เวลากาฝาก อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง อวิชชา แล้ววิชชาล่ะ วิชชา นี่วิชชาคือธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ไงศีล สมาธิ ปัญญาคืออวิชชา คือมรรค ๘ วิชชามันไปทำลายอวิชชา กาฝากมันต้องอยู่เป็นต้นหน่อพุทธะ อยู่ต้นธรรม ต้นธรรมคือหัวใจของเรา มันมีอวิชชา มันมีกาฝากอยู่ แล้วกาฝาก เวลามองไปนี่กาฝากมันย้อยเต็มต้นเลยนะ โอ๋ย กาฝากมันสวย โอ๋ย อยากได้กาฝาก ไม่เอาต้นล่ะ เอ็งไม่เอาต้นจะเอากาฝากหรือ
ปฏิบัติก็เหมือนกัน เอ็งจะเอาต้นมันหรือจะเอากาฝาก เอ็งจะเอาความเห็นของเอ็งใช่ไหม เชื่อแต่ตัวเอง ตัวเองเชื่อไม่ได้มันต้องเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชื่อธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอย่างไร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอย่างไร สอนให้เสียสละๆ อ้าว เสียสละกูไม่เห็นได้อะไรเลย กูมีแต่เสียสละ เสียสละวัตถุ วัตถุธรรม
นี่วัตถุมันเป็นธรรมนะถ้าจิตใจมันเป็นธรรม ถ้าวัตถุไม่เป็นธรรม เราฆ่าแกงกันเพราะวัตถุนั้น แต่ถ้าเป็นธรรม เป็นธรรมเราหามาด้วยความชอบธรรม ถ้าหาด้วยความชอบธรรม ปฏิคาหก เวลาเราได้มาได้มาด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ เวลาเราจะให้เราให้ด้วยความชื่นชม ให้แล้วเราพอใจ ภิกษุผู้รับ ท่านสะอาดบริสุทธิ์ รับของไทยทานมาแล้วใช้ประโยชน์นั้น ตั้งแต่เริ่มต้น ท่ามกลางและที่สุด นี่ไงปฏิคาหกอย่างนี้ได้บุญมหาศาลเลย แล้วได้บุญมหาศาล แล้วได้มาเสียสละ เชื่อธรรมๆ ให้เสียสละ
เสียสละทำไม ก็เสียสละเพื่อหัวใจดวงนี้ไง หัวใจผู้ให้ หัวใจผู้ให้มันเบิกบาน หัวใจผู้ให้มันแช่มชื่น หัวใจผู้รับ คนไร้บ้าน คนไร้บ้านไม่ใช่ว่าคนจนนะ คนไร้บ้านเขานักธุรกิจแล้วหมดตัว ไร้บ้านไปนอนอยู่ข้างถนน คนไร้บ้านที่ทุกข์ที่จนเพราะอะไร เขาไม่ใช่คนจนนะ คนจน คนไม่เอาไหนก็มี คนที่ทำธุรกิจผิดพลาด คนที่รักษาสมบัติของตัวไว้ไม่ได้ พอเวลาหมดตัวแล้วไปนอนอยู่ข้างถนน นี่คนไร้บ้าน ถ้าคนไร้บ้าน สิ่งที่ไร้บ้านเพราะอะไรล่ะ ไร้บ้านเพราะว่าไม่มีสติปัญญารักษา
นี่ไงว่าการเสียสละ เสียสละของเราเสียสละเพื่ออะไรล่ะ ก็เสียสละเพื่อหัวใจดวงนี้ไง ถ้าหัวใจดวงนี้มันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา มันปลื้มใจ มันพอใจ เราเป็นผู้ให้ ผู้รับมีแต่ความทุกข์ความยากนะ ดูสิพระผู้ทรงศีลทรงธรรมขนาดไหนเขาไม่เคารพคนหรอก เคารพพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยนี้ไว้ไง ภิกษุต้องภิกขาจารไง นี่ภิกขาจารบิณฑบาตไปเห็นความทุกข์ความยากของชาวบ้านทั้งนั้นแหละ ครูบาอาจารย์เราเดินบิณฑบาตไปตามคันนา ฝ่าดงพงไพรไป
เวลาออกมาธุดงค์ เราเคยเป็น ออกมานี่ไม่ได้หรอกเพราะหญ้าคามันท่วมหัว ผ้านี่ต้องใส่ไว้ในบาตรก่อน ใส่ผ้าไว้ในบาตรแล้วลุยออกมา พอพ้นออกมาแล้วค่อยมาห่มผ้าออกบิณฑบาต เวลาออกบิณฑบาตมันให้เห็นความทุกข์ความยากไง พระไม่ใช่นอนกิน นอนจมอยู่นั่น ไอ้เป็ด ก๊าบๆๆ อยู่นั่นมันไม่ใช่ไก่ ไก่เขาขันแต่เช้าเขาบอกเวลา เวลาปฏิบัติก็เหมือนกันกาฝากเราไม่เอา เราจะเอาต้นธรรม ถ้าต้นธรรม ต้นธรรมคือใจของเรา ถ้าใจมันสงบระงับเข้ามามันมีค่า
ฉะนั้น ถ้ามีค่า มันมีค่าที่ไหนล่ะ เวลาหลวงตาท่านไปโปรดประชาชน มานี่มาเอาใจคน มาเอาน้ำใจของคน การเสียสละนั้นท่านบอกเลยนะท่านทำให้ลูกศิษย์บอบช้ำ การบอบช้ำ เอ็งจะเสียสละเอ็งก็ต้องมีสิ่งที่เสียสละใช่ไหม ถ้าจะเสียสละ น้ำใจเป็นน้ำใจที่มันมองกันไม่เห็นด้วยสายตา ตาเปล่าใช่ไหม แต่เวลาถ้ามันจะเสียสละ ขวนขวายมาเพื่อหัวใจของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้เสียสละทาน เสียสละเพื่อใจดวงนี้ เพื่อใจดวงนี้ให้มันได้คลายออก ให้มันยอมรับความเห็นต่าง
นี่เวลาเราอยู่กันประชาธิปไตยไง ต้องเคารพสิทธิ์ของเขา เขาก็มีสิทธิ์นะเขาเกิดเป็นคน เขาเกิดเป็นคน จะดีจะชั่วมันก็คน แต่เราก็ป้องกันไว้คนชั่วไม่ให้เข้ามาใกล้เรา อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา ทุกข์ของบัณฑิตทุกข์เพราะอยู่ใกล้คนพาล คนพาลนะมันพาล มันไม่มีเหตุมีผล ไอ้เราอยู่ใกล้คนพาลทุกข์น่าดูเลยนะ มันคอยยุ คอยแหย่ คอยทำลาย ทีนี้มันพาลแล้วเราไปอยู่ใกล้มันทำไมล่ะ ถ้ามันเป็นญาติโกโหติกาของเราล่ะ มันเป็นสายบุญสายกรรมล่ะ
ถ้าเป็นสายบุญสายกรรม นี่สายบุญสายกรรมมันสร้างเวรสร้างกรรมกันมาไง ถ้าสร้างเวรสร้างกรรมกันมา เขามีสิทธิ์เป็นมนุษย์ มันเป็นสิทธิ์ของเขา แล้วเวลาคนพาลมันพาลเพราะมันมีอธรรมในหัวใจไง เพราะมันดื้อด้าน ดื้อด้าน เรียกร้อง แต่ถ้ามีธรรม นี่ที่เสียสละเราเสียสละทำไม เราเสียสละเพราะเรามีธรรมไง ถ้าเรามีธรรมจิตใจมันอ่อนโยน จิตใจมันยอมรับฟังเหตุฟังผลไง ถ้าเวลาเราคุยกัน เจรจากัน ฟังเหตุฟังผลเราฟังนะ ถ้าเราฟังเหตุผลเขาดี เหตุผลเขามีน้ำหนักกว่ากันเราต้องยอมรับสิ
ถ้ายอมรับนะ ไอ้ความดื้อด้านนั้น ไอ้ความเห็นแก่ตัวนั้นมันก็เบาบางลงๆ มันเบาบางลงเพราะอะไร เพราะจิตใจเราพัฒนาขึ้น เวลาคบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง นี่ไงกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันเป็นกาฝากไง กาฝากมันเกาะกินต้นธรรมอยู่นี่ไง มันเกาะกินพุทธะ เกาะกินผู้รู้ เกาะกินอยู่นี่ไง อวิชชาไง แล้วอวิชชา อวิชชาความไม่รู้ ไม่รู้อะไร ไม่รู้ในอัตตสมบัติ ไม่รู้ในความดี ความชั่วของใจ ไม่รู้สิ่งดีงาม
เราไปเห็นทรัพย์สมบัตินี้ดีงาม วัตถุธาตุ ธรรมธาตุ วัตถุธาตุ จิตใจคนที่มีน้ำใจนะ วัตถุธาตุจะเป็นประโยชน์มากเลย แล้วธรรมธาตุล่ะ ธรรมธาตุนะ มันเป็นจริงแล้วนะมันวิมุตติสุข คำว่าวิมุตติสุขนะ สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี หัวใจของเราจะสงบจะระงับ หน้าที่การงานก็อาบเหงื่อต่างน้ำเท่านั้นแหละ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานนะ อานนท์ เรากระหายน้ำเหลือเกิน
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์มา ๔๕ ปีนะ การกระหายน้ำร่างกายมันกระหาย แต่จิตใจมันไม่กระหายหรอก เพราะเวลากระหายแล้วพระอานนท์ไปตักน้ำ ลังเลจะไม่ไปตักไง อานนท์ ไปตักมาเถอะเรากระหายเหลือเกิน พอไปตัก น้ำตรงนั้นมันขุ่นๆ มันก็ใสหมดเลย พระอานนท์นี่ทึ่ง เวลาห้ามพระอานนท์ก็ห้ามเป็นพระโสดาบัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา เป็นพระอรหันต์ รู้แจ้งโลกนอกและโลกใน
ให้พระอานนท์ไปตัก พอไปตักมาแล้ว ทีแรกก็ไม่ไปตักเพราะน้ำมันขุ่น พอไปตักน้ำมันใสเฉพาะที่ตัก พอตักมาแล้วมันก็เกิดมหัศจรรย์ขึ้นมาอีก ทีแรกก็ไม่ไปตักเพราะว่าไม่ต้องการให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฉันน้ำขุ่น เวลาไปตักน้ำมันก็ใสขึ้นมา โอ้โฮ ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ สิ่งที่ไม่เคยมี ไม่เคยเป็นมันก็เป็นแล้ว น้ำมันขุ่นหมดเลย มันใสเฉพาะตรงที่จะตัก มันเป็นอย่างนั้นเองอานนท์ ไม่ตื่นเต้น ไม่ตื่นเต้น ไม่สั่นไหว ไม่มีสิ่งใดประเด็นในหัวใจเลย มันรู้แจ้งแทงตลอด รู้แจ้งโลกนอกโลกใน มันไม่มีอะไรเลย แต่หิวน้ำ
ถ้าเราไม่ถึงเราเข้าใจไม่ได้ แต่ครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ท่านเข้าใจสิ่งนี้ได้ ถ้าเข้าใจสิ่งนี้ได้มันอยู่ไหนล่ะ ว่าเวลาเข้าพรรษา เวลาเข้าพรรษาแล้วมันควรมีหนักมีเบาไง ปีทั้งปีเราก็ปล่อยชีวิตเราสำมะเลเทเมา แล้วแต่อวิชชากาฝากมันจะชักไป ในพรรษามีข้อห้ามกับตัวเราเองข้อหนึ่งไม่ได้หรือ ข้อใดก็ได้ที่เราเห็นว่ามันไม่ดี เราไม่ทำ พยายามฝืนมัน ฝืนมันจะไม่ทำในพรรษานี้ พยายามฝืนมันๆ ฝึกหัดดัดแปลงตน
การฝึกหัดดัดแปลงตนนั้นคือมรรค ถ้ามีมรรคนะ มรรคคือสัมมาทิฏฐิ ความดีงาม มันจะไปต่อต้านกับมิจฉาทิฏฐิความเห็นแก่ตัว ความเคยชินของใจ ถ้าเราไม่แก้ไขใครจะแก้ไขให้ ไปฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เทศน์สอน ไปหาครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ก็เทศน์สอน แล้วเราไม่ประพฤติไม่ปฏิบัติ ไม่ดัดแปลงใจของเรา ใครจะทำให้ล่ะ เราต้องทำเอง พอเราทำเองนะเราจะปลื้มใจ พอใจ
นี่จิตใจที่มันจะเป็นไก่ไม่เป็นเป็ด ขันแต่เช้า ลุกขึ้นแต่เช้า ดูแลรักษาเรา รักษาหัวใจของเรา ทำหัวใจของเราให้มันแช่มชื่นขึ้นมา แล้วมันปรารถนาเอง เวลาจะประพฤติปฏิบัตินะ อาจารย์สิงห์ทอง ครูบาอาจารย์ของเราท่านเดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน หลวงตากับหลวงปู่เจี๊ยะท่านชมมากเดินได้อย่างไร เดินจนทางเป็นร่อง หินแดงเถือกไปหมดเลย หินนี่มันเดิน ขนาดใช้ขนาดนั้น คนเดินไปเดินมาๆ ทำไมมันเดินได้ขนาดนั้นล่ะ เพราะเขามีงานภายใน เขามีมรรค เขามีสัจจะมีความจริง เขามีอัตตสมบัติเขาถึงทำได้ไง
ไอ้เราไม่มีมรรคไง เหมือนเครื่องยนต์ แบตเตอรี่ก็ไม่มีไฟ เครื่องยนต์ก็ไม่มีน้ำมัน ยิ่งในแท้งค์น้ำมันเครื่องแห้งผาดเลย ติดเครื่องอย่างไรก็ไม่ติด แต่ถ้ามันพร้อมหมด เวลามันติดแล้วนะโอ้โฮ มันขยัน มันหมั่นเพียร มันมีความมุมานะ มีความอดทน นี่ถึงว่าเราประพฤติปฏิบัติเราจะเอาความจริง อย่า อย่าไปเอากาฝาก อย่าเป็นเป็ดก๊าบๆๆ ไป เวลาปฏิบัติเก่งนัก ว่ายน้ำก็ได้ บินก็ได้ ขันก็ได้ ไข่ก็ได้ ได้ทุกอย่างเลย แต่ไม่มีอะไรเป็นสาระ ไม่มีอะไรเป็นความจริงเลย ไม่มี แล้วเราจะเป็นคนอย่างนั้นไหม เราจะเอาความจริงของเรานะ ขยันหมั่นเพียร คนเราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร ความเพียร ความวิริยะอุตสาหะจะเป็นสมบัติของเรา เอวัง