ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

นอกจิต

๒ ส.ค. ๒๕๕๘

นอกจิต

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๘

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่อง “หัวข้อในการพิจารณาเมื่อจิตสงบดีแล้ว

หลวงพ่อ : นี่เขาเข้าใจนะ เขาเข้าใจว่าจิตสงบดีแล้วจะพิจารณาไง

ถาม : หลวงพ่อครับ ผมขอความกรุณาไขข้อข้องใจในการปฏิบัติธรรมครับคือเมื่อผมทําความสงบกายและใจได้พอประมาณ ผมใช้การดูลมครับ รู้เนื้อ รู้ตัวรู้ลม ผมมีปีติเล็กๆ มีความสุขความพอใจในการปฏิบัตินี้ แล้วผมก็เริ่มพิจารณาตั้งประเด็นเรื่องคําสอนของพระศาสดามาทบทวน ถามเอง ตอบเอง คิดเอาว่ามีคนถามเรื่องธรรมะ เราจะตอบอย่างไร ผมก็จะนึกคําสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทําอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต่พยายามรู้เนื้อรู้ตัว รู้ลมเป็นระยะๆ

ต่อมาผมฟังหลวงพ่อเทศน์เรื่องการพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ผมก็ลองนึกตั้งประเด็นขึ้น แต่แล้วมันก็ไม่ซึ้งใจเลยครับ หรือผมเริ่มไม่เป็น ผมฟังหลวงตามหาบัวสอนว่าพิจารณาอสุภะอสุภังซํ้าๆ จนให้มันถึงใจ ผมก็อยากจะทําบ้างจึงเรียนมาขอความเมตตาจากหลวงพ่อด้วยครับ

ตอบ : นี่พูดถึงว่าเวลาเขาตั้งคําถามเนาะ ว่าเขาเวลาจิตสงบดีแล้วเขาจะพิจารณาอย่างไร คําว่า “จิตสงบดีแล้ว” เราคิดว่าจิตเราสงบไง ถ้าจิตเรายังไม่สงบพอ เห็นไหม จิตเราไม่สงบพอ เวลาเราพิจารณาไป คําถามมันตอบในตัวเองหมดเวลาคําถามมันตอบตัวเอง ในภาคปฏิบัติ ในภาคปฏิบัติ เวลาหลวงตาท่านบอกเลย เวลาผู้เทศน์มีความรู้ขนาดไหน เวลาเทศน์นี่เปิดหัวอกเลย บอกเวลาเทศน์นะความรู้ฉันมีเท่านี้ กึ๋นฉันมีเท่านี้ ฉันพูดได้เท่านี้ แต่คนที่เขามีปัญญามากกว่า เขาฟังแล้วเขาจะรู้เลยว่าคนพูดมีภูมิปัญญามากน้อยแค่ไหน

นี่ก็เหมือนกัน ในทางที่ว่าเราปฏิบัติ เราว่าจิตเราสงบดีแล้ว ถ้าจิตเราสงบดีแล้ว มันเป็นความเข้าใจของเราไง มันเป็นความเข้าใจของเรา แต่ข้อเท็จจริงมันไม่เป็นอย่างนี้ไง ถ้าข้อเท็จจริงนะ เวลาจิตสงบแล้ว เวลาย้อนไปพิจารณา เวลาจิตสงบแล้ว ถ้าภาษาเรานะ คนมีบุญนะ มันยกขึ้นสู่วิปัสสนาได้เลย แล้วมันจะวิปัสสนาไป ศีล สมาธิ ปัญญาไปเลย

แต่ส่วนใหญ่แล้ว อํานาจวาสนาบารมีคนไม่เท่ากัน เวลาจิตสงบดีแล้วนะเวลาจิตสงบ สงบก็คิดว่านี่คือนิพพาน พอสงบแล้วมันคิดว่าสิ้นสุดในการปฏิบัติแล้ว ถ้ามันสงบนะ ทีนี้มันสงบมากสงบน้อยมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ มันอยู่ที่วาสนาของคนไง ดูสิ คนเรานะ คนนี้บอกว่าฉันมีแสนหนึ่ง ฉันก็รวยแล้ว บางคนบอกมีล้านหนึ่งถึงจะรวย บางคนว่าสิบล้านมันยังไม่รวยเลย บางคนร้อยล้านมันก็ยังไม่รวย บางคนเป็นหมื่นล้านแสนล้านมันก็ยังไม่รวย แล้วตรงไหนมันรวยล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน ตรงไหนมันสงบล่ะ ไอ้คนว่าแสนหนึ่งบอกมันสงบแล้ว พอมันสบายใจบอกว่านี่ฉันก็สงบแล้ว เพราะเขาทุกข์มามาก พอจิตสงบมันก็สงบแล้วแต่ไอ้คนที่เขาบอกเขาจะมีล้านหนึ่งเขาบอกแค่นี้ไม่ใช่ ล้านหนึ่งมันยังไม่สงบเลยไอ้คนมีสิบล้านมันก็ยังไม่สงบเลย ไอ้คนมีพันล้านน่ะ นี่ไง มันอยู่ที่วาสนาของคนไง ทีนี้ไอ้เรื่องคําว่า “สงบ” มันแค่ไหนไง

ฉะนั้น เวลาสงบ ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่าสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิ สมาธิที่ถูกต้องดีงาม มิจฉาสมาธิ สมาธิที่ไขว้เขว สมาธิที่หลงผิด สมาธิที่มันเป็นความเห็นผิด เห็นไหม แม้แต่เป็นสมาธิยังมีมิจฉากับสัมมา คนบอกว่างๆ ว่างๆ มิจฉาทั้งนั้นน่ะ ไอ้ว่างๆ ว่างๆ นั่นน่ะ ว่างๆ ว่างๆ

ถ้าว่างๆ นะ มันเหมือนกับพ่อแม่ พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกเป็นคนดีหมด ถ้าลูกของเราอยู่ในโอวาท ลูกจะเป็นเด็กดีหมดเลย ลูกจะมีหน้าที่การงานทําดีหมดเลย ลูกจะคบเพื่อนที่ดีหมดเลย ลูกจะดูแลมรดกตกทอดของพ่อแม่ได้ดีหมดเลยแต่เวลาสอนลูกไป ลูกบางคนก็ดี ลูกบางคนมันก็บอกว่า โอ๋ยพ่อแม่นี่เห็นแก่ตัวจะใช้เรามากจนเกินไป

นี่ไง ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ว่าสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิ เวลาจิตมันสงบเข้ามาแล้วมันมีความสุขของมัน ถ้ามีความสุขของมัน คนที่มีอํานาจวาสนาขึ้นมาเขายกขึ้นสู่วิปัสสนาได้เลย เห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญา เวลาปัญญามันเกิดนะ มันเกิดภาวนามยปัญญา คําว่า “เกิดภาวนามยปัญญา

ก็อย่างที่ว่านี่ไง ที่บอกว่า “เวลาผมฟังเทศน์หลวงพ่อแล้วผมไม่ซาบซึ้งใจเลยผมปฏิบัติตามหลวงพ่อแล้วผมไม่ซาบซึ้งใจเลย เวลาผมฟังธรรมหลวงตา อสุภะอสุภัง ผมก็ไม่ซาบซึ้งใจเลย

ไม่ซาบซึ้งใจเพราะมันก็ไม่มีสมาธิไง ถ้ามีสมาธิมันก็ซาบซึ้งไง ถ้ามันไม่ซาบซึ้ง มันไม่เข้าถึงเนื้อของใจไง ถ้าคําว่า “เนื้อของใจ” มันก็มีแล้ว

นี่ว่า ธรรมภายนอก ธรรมภายใน แล้วอะไรเป็นภายนอก ภายใน

ไอ้คนที่ไม่รู้นะ มันบอกว่า ภายนอกมันก็อยู่นอกกาย ถ้าภายในก็อยู่ในกายแล้วไอ้ความคิดมันอยู่ข้างในหมด ไม่มีอยู่ข้างนอกหรอก เพราะมีชีวิต มันถึงคิดได้ คนไม่มีชีวิต คิดได้อย่างไร คนตายคิดไม่ได้ คนเป็นเท่านั้นคิดได้ แล้วคนเป็นคิดเป็นภายในหมดสิ อย่างนั้นไอ้คนทุจริตมันก็คิดเป็นภายในหรือ ถ้ามันคิดเป็นภายในไหม ภายนอกทั้งนั้นน่ะ เพราะจิตส่งออก

จิตส่งออกคือจิตคิดอารมณ์ จิตเสวยอารมณ์ นี่ส่งออก ความคิดทั้งหมดนี้คือส่งออกหมด ถ้าเรามีความคิด นั้นส่งออก นั้นนอกหมด ความคิดของเรานี่นอกหมดเลย นอกอะไร นอกจิตไง เพราะมันเกิดจากจิต มันคลายตัวออกมา มันเกิดจากจิต มันส่งออกมาจากจิต มันก็นอกจิต มันนอกจิต นอกจิตคือนอกธรรม ถ้านอกธรรมนะ พอเป็นนอก

ทีนี้พอไปศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเขาบอกว่าเขาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเขาคิดไง เขาคิดว่ารู้เนื้อ รู้ตัว รู้ลม มีปีติเล็กๆ แล้วเขาคิดอยากจะปฏิบัติ เขาก็คิดตั้งประเด็น เขาจะเริ่มพิจารณาของเขา เขาก็ตั้งประเด็นคําสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เปรียบว่ามีคนถาม มีคนถามเรื่องธรรมะแล้วเขาจะตอบอย่างไร เขาก็ไปค้นคว้าในพระไตรปิฎกมาตอบไง เขาตั้งประเด็นถามเอง แล้วก็ตอบเอง เขาตั้งประเด็นถามเอง แล้วตอบเอง พอพิจารณาไปแล้ว โอ้โฮมันซาบซึ้งๆ

มันซาบซึ้งสิ มันซาบซึ้งเพราะธรรมวินัยนี่ศาสดาของเรา เวลาเราสรรเสริญพุทธคุณๆ เวลาสรรเสริญคําสอน เราสวดธัมมจักฯ นี่คําสอนพระพุทธเจ้าทั้งนั้นน่ะอาทิตตปริยายสูตร อนัตตลักขณสูตร พระพุทธเจ้าทั้งนั้นน่ะ พระพุทธเจ้าเป็นคนสอนไว้ คําสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราไปตรึกในคําสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพิจารณาอย่างนี้ รู้ความจริงอย่างที่ท่านสอน แล้วจิตของท่าน ธรรมธาตุของท่านในใจของท่าน เป็นพระอรหันต์หลุดพ้นออกไป แล้วท่านก็สั่งสอนไว้เป็นทฤษฎี เป็นกิริยา หลวงตาใช้คําว่า “กิริยา” ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นทฤษฎี เป็นกิริยาทั้งหมด เป็นวิธีการ เป็นวิธีการแสวงหาค้นคว้าเข้าไปสู่จิตของบุคคลที่ปฏิบัติ วิธีการที่จะค้นหาจิตของตัว

ฉะนั้น เราไปตรึก เขาบอกว่า เวลาเขาพิจารณาของเขา เขาก็ตั้งคําถามว่ามีคนถามธรรมะ แล้วเขาก็จะตอบ พอเวลาถามตอบขึ้นมาแล้ว โอ้โฮมันซาบซึ้งมันซาบซึ้ง มันมีความซาบซึ้งมาก

พอมีความซาบซึ้งมาก กรณีอย่างนี้เป็นกรณีปัญญาอบรมสมาธิ เพราะอะไรเพราะจิตเรา ความคิดเป็นภายนอก จิตนี้เป็นภายใน ความรู้สึกนึกคิดอยู่ภายนอกมันตรึกในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เดิมเวลาคนเราเกิดมามีอวิชชา คือความไม่รู้เนื้อรู้ตัว เวลาคิดมันก็คิดตามใจ ตามอําเภอใจความคิดตามใจ

ความคิดตามใจ เห็นไหม ความคิดตามใจมันก็คิดสัญญาอารมณ์ นี่กิเลสมันใช้งาน พอกิเลสมันใช้งาน กิเลสมันใช้งานเรามา คิดสิ่งใดก็กิเลสใช้งาน ทีนี้พอมันมาตรึกธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งประเด็นขึ้นมาว่ามีคนถามธรรมะ แล้วเราก็ค้นคว้าธรรมะนั้นเพื่อจะมาตอบ นี่ถ้าค้นคว้าธรรมะขึ้นมาตอบ ทีนี้เราก็ไปคิดเรื่องธรรมะไง

ธรรมดาเราคิดตามอําเภอใจ ความคิดธรรมชาติของมัน เราคิดตามอําเภอใจ แต่เราพอมีสติปัญญา เรามาคิดธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นไหม เรามาคิด คําว่า “เรามาคิด” ส่งออก เรามาคิด นี่นอกจิต

พอเรามาคิด เราก็ใช้ความคิดเรานี่ไง ทีนี้ความคิดมันตรึกเรื่องธรรมะไง นี่ไงที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปสอนพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะฟังธรรมต่อจากพระสารีบุตร พระสารีบุตรฟังเทศน์พระอัสสชิมา พระอัสสชิเป็นพระอรหันต์ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะตอนนั้นยังเป็นมาณพ ยังเป็นอุปติสสะยังเป็นฆราวาสอยู่ ยังเป็นปุถุชน พอไปฟังเทศน์ของพระอัสสชิ อุปติสสะได้เป็นพระโสดาบัน พอมาบวชแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตั้งให้เป็นพระสารีบุตร

พระสารีบุตรนะ เวลามาพูดให้พระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะได้ฟังธรรมจากพระสารีบุตรก็ ปิ๊งสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา พอความคิดมันทําลายตัวมันเอง เป็นพระโสดาบัน แล้วก็มาบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอหิภิกขุบวชมาแล้ว จะให้ภาวนาต่อเนื่องให้เป็นพระอรหันต์ พระโสดาบันนั่งสัปหงกโงกง่วง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปด้วยฤทธิ์เลย ให้ตรึกในธรรม ให้แหงนหน้าดูดาว ให้เอานํ้าลูบหน้าถ้าง่วงนักก็นอนเลย นอนให้หลับไปก่อน แล้วตื่นมาค่อยมาปฏิบัติ

นี่ไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้ตรึกในธรรมๆ ตรึกในธรรมนี่ไง ที่ผู้ถามถามว่า ตั้งประเด็นขึ้นมาว่ามีคนถามปัญหาธรรมะ แล้วเราก็ไปค้นคว้าในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตอบ เห็นไหม เราถามเราตอบเราตรึกในธรรม นี่ตรึกในธรรม พอตรึกในธรรมนี่คือปัญญาอบรมสมาธิ ตรึกในธรรม ทําไมถึงเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิเพราะจิตของเรายังมีกิเลส มันคิดตามอําเภอใจ

คิดตามอําเภอใจอย่างหนึ่งนะ เวลากิเลสมันยุมันแหย่ ไม่ใช่คิดตามอําเภอใจนะ คิดตามกิเลสมันสั่ง กิเลสมันชอบอะไร มันยุมันแหย่ มันยุมันแหย่มันก็คิดอย่างนั้น ทําอย่างนั้น นั่นน่ะกิเลสมันยุมันแหย่ ถ้ากิเลสมันยุมันแหย่ คิดตามกิเลส

ทีนี้พอเรามีสติปัญญา มีสติปัญญา เพราะอะไร เพราะว่าเขาอยากประพฤติปฏิบัติ เราเป็นชาวพุทธ เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา เราอยากจะมีร่องมีรอยเราก็มาตรึกในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ามาตรึกในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ปัญญาอบรมสมาธิ แค่ปัญญาอบรมสมาธินี่ปัญญาอบรมสมาธิ เพราะอะไร เพราะปัญญามันอยู่ข้างนอกอยู่ไง มันนอกจิตอยู่ไง นี่ปัญญาอบรมสมาธิ

ถ้ามันปล่อยๆๆ ปล่อยก็เป็นอิสระ พุทโธๆๆ จนพุทโธไม่ได้ก็คือมันปล่อย แต่ต้องให้มันปล่อยโดยข้อเท็จจริง ไม่ใช่ว่าเราพุทโธเพื่อจะปล่อย

พุทโธนะ ตั้งไว้เลย พุทโธๆ มันจะละเอียดขึ้นเนาะ เพราะเรารู้หมด แล้วเราก็มีทางให้จิตลงเลย พุทโธๆๆ จนหลับไปเลย พอตื่นขึ้นมา โอ้โฮสมาธิดี๊ดี แล้วสมาธิเป็นอย่างไร โอ้โฮมันว่างหมดเลย มันว่างหมดเลย แต่พูดอะไรไม่ได้ พูดได้แต่ว่างหมดเลย ที่ไหนได้ ถ้ามีสติพร้อมนะ มันกรนเลยล่ะ นั่งจนสัปหงกนะ จนกรนจนคร่อก มันยังไม่รู้ตัว ว่าเป็นสมาธิของมันน่ะ นี่ไง ถ้ามันเป็นสมาธินะ มันจะเป็นสมาธิ

เราจะบอกว่าสิ่งที่ว่าเป็นสมาธิๆ เขาบอกว่า ถ้าเขาพิจารณาอย่างนี้เขาว่าเป็นความดีของเขา แต่เวลาพอมาฟังเทศน์หลวงพ่อ หลวงพ่อบอกว่าให้พิจารณาผมขน เล็บ ฟัน หนัง ผมก็ทําตาม แต่มันไม่ดีเลย มันไม่ดีเลย แล้วไปฟังเทศน์หลวงตา หลวงตาก็บอกให้พิจารณาอสุภะอสุภังซํ้าๆๆ จนกว่ามันจะถึงใจ มันก็ไม่ถึงใจเลย

รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง รสของสติธรรม สติธรรม คนจะรู้ได้ต่อเมื่อคนมีทุกข์มียากมาก แล้วความคิดมันยุมันแหย่ให้เราทุกข์ยากไปกับมันตลอดเวลาโดยที่ไม่รู้ตัว ถ้ารู้ตัวจะไม่คิดอย่างนั้น

ที่เราเป็นไปอย่างนั้นเพราะกิเลสมันครอบงําจนเราไม่รู้ตัว เราถึงเดินตามเขาต้อยๆ ไป ตามกิเลสที่มันบงการไป แต่วันไหนเราได้สติขึ้นมา วันไหนเราได้ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์คอยเตือนสติเรา แค่เราได้สติฟื้นขึ้นมา ความคิดจะหยุด กึ๊กเอ๊อะเอ๊อะเลยนะ เออไอ้ชื่อสติที่ครูบาอาจารย์ท่านแนะนํามันก็เป็นเรื่องหนึ่ง เวลามันเกิดจริงๆ เกิดจากจิต พอสติมันสมบูรณ์ มันจะคิดไปได้อย่างไร

สิ่งที่มันจะคิดได้เพราะสติเป็นปุถุชน คือว่ามีสติในฐานะของมนุษย์ แต่ไม่มีสติในฐานะของสัจธรรม เพราะสัจธรรมต้องมีสติ พอมีสติ มันยับยั้งความคิดความคิดจะหยุดเลย นี่ไง รสของธรรม

แม้แต่ทุกข์ยากอยู่อย่างนี้ เวลาเกิดสติมันจะรู้เลย เอ๊อะเมื่อก่อนทุกข์ยากมาก คิดแต่เรื่องน้อยเนื้อตํ่าใจ ใครพูดอะไรผิดใจ มันฝังอกฝังใจ แล้วก็แผดเผาตัวเอง แล้วก็อ้างว่าคนนั้นว่าเรา

ไอ้คนว่าเรามันไม่รู้เรื่อง มันนอนหลับสบายเลย ไอ้คนว่าเรามันนอนหลับสบาย มันทํางานมันอาบเหงื่อต่างนํ้าเลยนะ ไอ้เราจําขี้ปากมันมา มันก็มาเผาอยู่นี่เผาเราอยู่นี่ พอสติมันมา กึ๊ก!

ไอ้คนพูด ขนาดมันพูดเองมันยังไม่เดือดร้อนเลย ไอ้กิเลสมันเอามาปรุง เอามาเลี้ยง เอามาอุ่นกินอยู่นี่ โอ้โฮมันเดือดร้อนไปหมดเลยน่ะ พอมันได้สติ กึ๊กนี่สติจริงๆ เป็นแบบนี้ รสของสติธรรม คนปฏิบัติมันจะรู้เลย กึ๊กจะหยุดเลยนะ นี่ตัวจริงมันเป็นอย่างนี้ เหมือนเบรก ถ้าเบรกดีๆ รถวิ่งเร็วขนาดไหนก็เบรกได้

แต่ถ้าเบรกมันตาย นํ้ามันเบรกมันหมด เบรกอย่างไรก็ไม่อยู่หรอก เบรกก็มีอยู่อย่างนั้นน่ะ เหยียบไปเถอะ มีแต่ลม ฟืดๆ เบรกไม่อยู่หรอก นี่ไง สติไม่มีไงของมันมีอยู่ เบรกก็มีอยู่ อุปกรณ์มันครบหมด แต่มันรั่ว นํ้ามันมันรั่ว เบรกมันตายมันเสียหาย ใช้อะไรไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน คําว่า “สติๆ” เราก็ศึกษามาตลอด แต่ใช้กันไม่ได้เลย ใช้กันไม่เป็นเลย มันก็ไม่มีรสไม่มีชาติอะไรเลย พอมันมีสติปั๊บ มันหยุดหมดเลย พอหยุดหมดเลย เห็นไหม สติธรรม รสของสติธรรม รสของสมาธิ ถ้ารสของสมาธิ ใช้ปัญญาอย่างที่ผู้ถามถามนี่แหละ ถ้าเราพุทโธนะ พุทโธก็พุทโธได้ แต่เขาบอกว่าเขาจะกําหนดดูลม

ดูลมก็ดูลมชัดๆ ไปอย่างนั้น แล้วการฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาที่เขาพูดอยู่นี่ว่าเวลาเขาตั้งประเด็นขึ้นมา คําถามของผู้ถามปัญหาธรรมะ แล้วเขาเป็นผู้ตอบแล้วเขาซาบซึ้งมาก

อันนี้ฝึกหัดใช้ปัญญาได้ ฝึกหัดใช้ปัญญาได้ แต่เขาบอกว่าเวลามาฟังเทศน์มาฟังเทศน์ให้พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ให้พิจารณาอสุภะ มันทําแล้วมันไม่ซึ้งใจเลย มันทําแล้วไม่ซึ้งใจ มันไม่ซึ้งใจเพราะมันเป็นสัญญา มันไม่ซึ้งใจเลย

เราไปตลาดสิ เราไปซื้อสินค้าทุกอย่างเลย ซื้อมาแล้วก็ซื้อมา แต่ถ้าเราผลิตเอง แต่ถ้าวันไหนนะ เราผลิตเอง ดูสิ ไปซื้อนะ แกงถุงหนึ่ง ซื้อมาก็กินก็จบ แต่ถ้าเราแกงขึ้นมาได้ เฮ้ยเรามีฝีมือเนาะ เฮ้ยกูก็แกงเป็นน่ะ แล้วเราแกงขึ้นมา เราปรุงแกงขึ้นมาหนึ่งหม้อ เฮ้ยเก่งเว้ย แกงก็ได้ ผัดก็ได้ ถ้าเราไปซื้อมาก็ได้

ฉะนั้นบอกว่า สิ่งที่เราใช้ปัญญาๆ อยู่นี่ สิ่งที่ว่าเขาใช้ปัญญา มันเป็นปัญญาไหม มันมีโลกียปัญญา โลกุตตรปัญญา ในปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สุตมยปัญญา ปัญญาการศึกษา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา

ถ้าเกิดภาวนามยปัญญา เวลาจิตมันสงบแล้ว ถ้าจะเกิดภาวนามยปัญญา จิตมันสงบไง จิตสงบ เวลามันเกิดจากจิต นี่ไง สติภายใน สมาธิภายในไง ปัญญาภายใน ภายนอกภายในมันอยู่ตรงนี้

ภายนอก ภายใน เราฟังพระพูดบ่อย ฟังแล้ว แหมมันอึดอัดมากนะ มันเป็นภายใน ภายนอก เขาบอกว่ามันกลับนะ ขนาดที่ว่าอย่างนี้นะ ถ้าภายใน ในผิวหนังไง เขาบอกเวลากินนํ้าลงไป ถ้ามันเย็นๆ อยู่ในกระเพาะนี่เป็นภายใน นํ้าไปถึงตรงไหน

โอ้โฮเราฟัง อย่างนั้นตู้เย็นมันก็เป็นภายใน ยิ่งโรงนํ้าแข็งยิ่งเป็นภายในใหญ่เลย โรงนํ้าแข็ง เครื่องปั่นมันเย็นตลอดเลย มันก็เป็นภายใน มันเป็นภายในได้อย่างไร แค่นอกในมันยังไม่รู้จักเลย

ภายนอกคือความคิดทั้งหมดของเรานี่เป็นภายนอก เกิดความคิดทั้งหมดเป็นภายนอกหมด เพราะจิตมันส่งออกหมด มันคิดออกมานี่มันคิดออกมานอกจิตหมด ถ้าจิตมันสงบแล้ว จิตสงบแล้วไง นี่ไง นี่นอกจิต ในจิตไง ความคิดเกิดจากจิต ไม่ใช่จิต มันถึงนอกจิต ความคิดเกิดจากจิต ไม่ใช่จิต ถึงนอกจิต

เวลาสมาธิมันสงบเข้ามาแล้วมันถึงเป็นตัวสมาธิใช่ไหม พอสมาธิไปแล้ว พอเป็นสมาธิแล้ว โอ๋ยนิพพาน ว่างหมดเลย ทําอะไรไม่ได้เลย เห็นไหม นี่ฤๅษีชีไพรถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โลกก็ทํากันอยู่ได้แค่นี้ นี่เรื่องสมาบัติเรื่องฌานโลกีย์ เขาทํากันได้อย่างนี้ แล้วมันมีคุณวิเศษด้วย คุณวิเศษมันมีอภิญญา รู้วาระจิต เหาะเหินเดินฟ้าต่างๆ เกิดจากกําลังของจิต รู้อดีตชาติ ย้อนอดีตชาติได้ ทุกอย่างได้ แต่ไม่เห็นตัวตนของตัว ไม่เห็นสมถกรรมฐาน ไม่เห็นตัวจิต แล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา คือยกขึ้นสู่ปัญญาในพระพุทธศาสนาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนสั่งสอน นี่โลกเขาทํากันไม่ได้ มันไม่มี

ถ้ามันมีอยู่แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ปฏิญาณตนว่าเราตรัสรู้เองโดยชอบ เพราะว่ามันยังไม่มีไง แต่ทุกคนเกิดมามันมีจิต ฤๅษีชีไพรมีใช่ไหมการเกิดของมนุษย์มันมีมาเป็นล้านๆ ปีแล้วใช่ไหม คนมันคิดได้ใช่ไหม ถ้าคนคิดได้ มันทําได้อย่างนี้หมดแล้ว กําลังของจิตมันมี กําลังของจิตมันมีเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น วัฏฏะมันเป็นแบบนั้นไง

ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่าเรื่องฌานสมาบัติถึงไม่เอาหลวงตาพูดประจํา เรื่องฌานเรื่องแฌน อย่ามาพูดกับเรานะ เพราะหลวงตาท่านบอกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา สมาธิคือสัมมาสมาธิ ไม่ใช่มิจฉาสมาธิด้วย สมาธิมันมีสัมมาและมิจฉา ถ้ามันเป็นสัมมาสมาธิ พอเป็นสัมมาสมาธิ คนที่ไม่มีอํานาจวาสนามันได้แค่นี้ไง

อย่าว่าแต่คนไม่มีอํานาจวาสนาเลย เวลาคนไม่มีอํานาจวาสนานะ ทําสมาธิยังทําไม่ได้เลย ค้นหาใจตัวเองไม่ได้เลย แต่พอเป็นสมาธิแล้ว เพราะคนไม่มีวาสนา พอเป็นสมาธิมันก็เป็นความมหัศจรรย์ มันก็บอกว่านี่คือนิพพาน

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ท่านสร้างอํานาจวาสนามานะ อ้าวนิพพาน เวลามันออกจากสมาธิมา ทําไมมันยังมีอารมณ์ความรู้สึกเจ็บปวดอยู่อย่างนี้ล่ะ ทําไมมันยังโกรธเขาอยู่อย่างนี้ล่ะ ถ้ามันอย่างนี้ปั๊บ แสดงว่ามันยังไม่ได้แก้กิเลสไง

ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเข้าสู่กําหนดลมหายใจเข้าออกอานาปานสติ เวลาบุพเพนิวาสานุสติญาณไประลึกอดีตชาติ นั่นนอก ขณะระลึกอดีตชาติได้ก็นอก แต่เวลาจุตูปปาตญาณ อนาคตก็นอก อาสวักขยญาณนี่ใน พอในขึ้นมาแล้วนะ พอในขึ้นมามันถึงย้อนกลับเข้ามา

นี่ถ้านอกจิต นอกจิตมันก็เป็นเรื่องหนึ่ง มันถึงไม่ซาบซึ้งไง ถ้ามันจะซาบซึ้งข้างในจิต ในจิต จิตสงบแล้ว พอจิตสงบแล้ว นี่ไง ครูบาอาจารย์ที่ดี เห็นไหมต้องพยายาม พยายามใช้อุบายนะ บอกมันตรงๆ ไม่ได้ บอกมันตรงๆ มันเถียงทุกคํา “เหมือนหมด อาจารย์พูดมา ของผมเหมือนกันเลย ทําไมอาจารย์ไม่ยอมรับผม แปลก

เวลาพูดมานี่เหมือนกันหมดเลย เหมือนเพราะมันจินตนาการไง เหมือนเพราะมันเทียบเคียงไง ไม่ต้องบอกว่าเหมือน ถ้าคําว่า “เหมือน” มันต้องเหมือนที่ผลนี้ถ้าเหมือน มันต้องเข้ามาได้

ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ท่านสนทนาธรรมกัน ดูสิ เวลาหลวงตาท่านสนทนาธรรมกับอาจารย์สิงห์ทอง ท่านไม่ได้คัดค้านอาจารย์สิงห์ทองเลย นี่ไง ถ้ามันเหมือน เหมือนมันต้องเหมือนที่ผลไง เพราะหลวงตาพูดถึงอาจารย์สิงห์ทองนะบอกว่าอาจารย์สิงห์ทองพูดผลถูกหมด ถึงขนาดที่ว่ามันไม่ชัดเจน แต่พูดผลถูกหมด นี่ไง เวลาเราพูด เวลาอารมณ์ อารมณ์ที่มันได้ อารมณ์ที่มันไม่ได้

อารมณ์ เห็นไหม ดูสิ เขาบอกนะ เราเป็นนักวิทยาศาสตร์นะ เราต้องเชื่อเหตุเชื่อผล ต้องเชื่อข้อเท็จจริง อย่าไปฟังอารมณ์ของคน อารมณ์มันแปรปรวนอารมณ์มันแปรปรวน

แต่อารมณ์ของธรรม ถ้ามึงไม่เคยรู้เคยเห็นอย่างนี้มึงเข้าถึงธรรมไม่ได้ ถ้ามันจะเข้าถึงธรรม นี่ไง ที่กลั่นออกจากอริยสัจ อริยสัจมันเป็นอย่างไร ถ้ามันเป็นอย่างไร มันเป็นตามข้อเท็จจริงของเขา นี่พูดถึงว่า ถ้ามันเป็นภายใน ถ้ามันเป็นภายใน เป็นภายในเป็นภาวนามยปัญญา

ฉะนั้น ภาวนามยปัญญา ทางทฤษฎี เขียนออกไปเป็นทฤษฎีไม่ได้ เวลาหลวงตาท่านพูด พวกพลังจิต ท่านถามเลย สมาธิมันอยู่ที่ตําราหรือ เรียนสมาธิกัน มาขีดมาเขียนกันมันเป็นไปไม่ได้ หลวงตาท่านถามประจํา เวลาไปถาม ท่านมาจากสายนี้ เขาบอกว่าเขาไปเรียนพลังจิต

อ้าวสมาธิมันอยู่ในตําราหรือ สมาธิมันอยู่ในสมุดหรือ สมาธิมันอยู่ที่ปลายปากกาใช่ไหม ปลายปากกาเขียนเอาตามที่ตัวเองจินตนาการอย่างนั้นใช่ไหม ถ้ามันเป็นจริงในใจ มันเขียนออกมาอย่างนั้นไม่ได้ มันทําอย่างนั้นไม่ได้ มันทําอย่างนั้นไม่ได้ แต่ที่คนมันรู้จริงมันต้องมีข้อเท็จจริงใช่ไหม ถ้ามีข้อเท็จจริง เวลาสนทนาธรรมนี่รู้ เวลาพูดออกมานี่รู้หมดเลย ได้หรือไม่ได้

ฉะนั้น เวลาเราฟังพวกเรานักปฏิบัติ ไอ้ว่างๆ ว่างๆ ฟังทุกวันเลย

ว่างๆ มันเป็นสิทธิ์นะ เราเห็นใจ เราเห็นใจ ดูสิ ดูเด็กน้อยสิ เด็กน้อย วุฒิภาวะของมันก็เหมือนเด็ก ผู้ใหญ่ขึ้นมาก็มีความรับผิดชอบมากขึ้น ผู้เฒ่าผู้แก่ก็ผ่านมาเยอะ คนปฏิบัติมันยิ่งกว่าเด็กน้อยอีก เด็กน้อยมันยังมีตัวมีตน ไอ้คนที่ปฏิบัติไม่มีหลักเกณฑ์อะไรเลย ว่างๆ ว่างๆ

เรามองอย่างนี้จริงๆ เรามองผู้ที่ปฏิบัติใหม่มีคุณสมบัติน้อยกว่าเด็กน้อยเด็กน้อยมันยังมีรูปมีร่าง เด็กน้อยมันยังเห็นตัวตนมัน...ว่างๆ ว่างๆ มันไม่รับผิดชอบอะไรเลย ไม่มีจุดหมายที่เราจะพูดกันได้เลย เพราะว่าง อ้าวพูดอะไรมาก็ว่างว่าง

แล้วว่างอย่างไรล่ะ

ไม่รู้

สมมุติว่าให้พุทโธได้ไหม

ได้ค่ะ

เริ่มมีตัวตนขึ้นมาแล้ว “ได้ค่ะ” ก็นั่นแหละจุดของความรู้สึก แล้วเวลาเป็นสมาธิมันเป็นอย่างไร ถ้ามันเป็นสมาธิแล้ว เราจะบอกว่า ถึงมันจะเป็นสมาธิแล้วถ้ามันยกขึ้นสู่วิปัสสนาไม่ได้ มันยกขึ้นไม่ได้มันก็ภาวนาเพื่อบรรเทาทุกข์ไง ถ้าบรรเทาทุกข์ มันก็กลับมาผู้ถามที่ถามครั้งแรกนี่แหละ ถ้าเราภาวนา เราตรึกในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อ่านหนังสือครูบาอาจารย์มาแล้วก็เอาเป็นคติธรรม เอามาเป็นข้อวิจัย วิเคราะห์วิจัยให้จิตมันได้ฝึกหัดออกกําลังกายไง มันก็เป็นเครื่องอยู่ของจิตดวงนั้น ถ้าจิตดวงนั้นไม่มีอํานาจวาสนาที่จะสามารถภาวนาได้นะ

คําว่า “ภาวนาได้” มันต้องมีอํานาจวาสนา ถ้าไม่มีอํานาจวาสนาใช่ไหม ดูสิหลวงปู่มั่น ถ้าพระองค์ไหนภาวนาเป็นนะ ท่านจะคอยจํ้าจี้จํ้าไชเลย เหมือนกับว่านักกีฬากับโค้ชพยายามจะฝึกฝนให้มันมีเทคนิคมากขึ้นๆๆ ให้มีคุณงามความดีมากขึ้น

แต่ถ้านักกีฬาคนไหนที่ว่ามันทําไม่ได้เลย แล้วมันไม่มีโอกาสที่จะเป็นนักกีฬาได้ เขาก็ให้ฝึกหัดออกกําลังกายไป ฝึกไว้เพื่อโอกาส เขาอาจจะทําได้ อาจจะทําได้ นักปฏิบัติส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ มันทําไม่ได้ ทําอย่างไรล่ะ มันทําไม่ได้แล้วจะทําอย่างไร จะฆ่ามันทิ้งใช่ไหม ถ้ามันทําไม่ได้มันก็คือทําไม่ได้ แต่มันก็ต้องพยายามของเขา เขาก็ต้องพยายามของเขา ครูบาอาจารย์อย่างน้อยก็ให้โอกาส ให้โอกาสชี้แนวทางให้อยู่แล้ว

ถ้ามันทําไม่ได้มันอยู่ตรงนี้ มันอยู่ที่อํานาจวาสนาของเขา แต่ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นแล้วท่านชี้ได้หมดแหละ ท่านบอกได้หมดแหละ บอกแล้วเขาทําไม่ได้ ถ้าเขาทําไม่ได้ เราก็ให้กําลังใจนะ เวรกรรมมันเป็นอย่างนี้ กรรมจําแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน อํานาจวาสนาของคนจําแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน

ฉะนั้น เวลาคนที่จิตใจสูงส่งมันมีอะไรขาดตกบกพร่อง มีอะไรขัดแย้งใจ เขาให้อภัยได้หมด เขาวางได้ แต่ไอ้คนที่ยึดมั่นถือมั่น มีแต่ความผูกโกรธ ไอ้นั่นจิตใจอย่างนั้นมันก็จะจมอยู่ตรงนั้นน่ะ

ถ้าจิตใจของคนนะ มันวางได้ มันวางไว้ ถึงจะดับความรู้สึกไม่ได้หมดก็วางไว้ได้ วางไว้ได้ เราจะได้ก้าวเดินไปข้างหน้าได้ไง วางได้ เราจะได้พัฒนาได้ไง เราจะทําตัวเราให้ดีขึ้น ทําหัวใจเราให้ดีขึ้น ถ้ามันดีขึ้น เห็นไหม นั่นพูดถึงถ้าภาวนาไม่ได้ ถ้ายกขึ้นสู่วิปัสสนาไม่ได้

ถ้ายกขึ้นวิปัสสนาได้ ฉะนั้น เราถึงบอกว่า เขาบอกฟังเทศน์เราว่าให้พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ผมก็ลองแล้ว ตั้งประเด็นอย่างนั้นแล้ว แต่มันไม่ซึ้งใจเลย

มันไม่ซึ้งใจเลยเพราะกําลังมันยังไม่มี กําลังยังไม่พอ กําลังยังเป็นไปไม่ได้เวลาครูบาอาจารย์ท่านสนทนาธรรมกันนะ เวลามันซาบซึ้ง ขนาดฟังธรรมมันยังลงใจ มันลงใจ แล้วเวลาเราปฏิบัติไปมันซาบซึ้งใจ มันซาบซึ้ง ซาบซึ้งนี่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา คือความสมดุล คือโอกาสไง

คือเหมือนการแข่งกีฬา เวลาลงไป เกมกีฬาเริ่มขึ้น ตรงนั้นน่ะมันเป็นการแข่งขัน เวลามันซาบซึ้งๆ นี่ระหว่างกิเลสกับธรรมมันสู้กันแล้ว มันสู้กันในใจเราเห็นไหม หลวงตาจะพูดบ่อยว่า ระหว่างกิเลสกับธรรม ถ้ากิเลสมันชนะ กิเลสมันชนะใช่ไหม มันก็กินแล้วก็นอน วิชากอนแล้วนิน กินแล้วนอน ถ้าธรรมะมันชนะธรรมะมันชนะ โอ๋ยมันสู้กัน มันเดินจงกรม นั่งสมาธิ มันมีความสนุกมากเลย

ท่านบอกหัวใจระหว่างกิเลสกับธรรมมันสู้กัน นี่ระหว่างกิเลสกับธรรม เวลามันสู้กัน นี่ซาบซึ้งใจ ซาบซึ้งใจคือการขวนขวาย คือการกระทําในใจ นี่ไง ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล ถ้าคนไม่มีการกระทําอย่างนี้ คนไม่ปฏิบัติอย่างนี้เลย มันจะเอามรรคผลมาจากไหน คนไม่กินข้าวมันจะอิ่มได้อย่างไร คนไม่ได้ออกกําลังกายมันบอกมันแข็งแรง เป็นไปไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน แต่เวลาไอ้พวกแถๆ นะ มันบอกว่า “เออช่างเขาเถอะ ไอ้พวกที่ปฏิบัติอย่างนั้นให้เขาปฏิบัติไปเถอะ เรามานอนกันสบายๆ ดีกว่า” โอ้เขาพูดกันอย่างนี้นะ เราฟังแล้วนะ เราฟังแล้วมันเศร้า มันเศร้าตรงไหน

มันเศร้าที่ว่า เวลาเขาพูด ไอ้คนที่วุฒิภาวะมันด้อยมันเชื่อ ไอ้คนที่วุฒิภาวะมันอ่อนด้อยมันเชื่อเลย “เออจริงเนาะ เขาไม่ต้องลําบากลําบนกันเนาะ เรามาสบายๆ กันดีกว่า

เราฟังอย่างนี้มาเยอะ อย่างนี้มาเยอะเพราะอะไร เพราะพวกโยมนี่แหละไปประพฤติปฏิบัติกันมา ใครมีอะไรก็มาเล่าให้ฟังทั้งนั้นน่ะ ใครไปโดนหลอกมากี่ซับกี่ซ้อน ใครโดนล้วงกระเป๋ามา ใครไปหมดตัวที่ไหนมา มาเล่าให้ฟังหมดแหละมันได้ยินมาเยอะ มันถึง อ๋อเขาคิดกันอย่างนั้น เขาทํากันอย่างนั้นเนาะ ไอ้คนที่ไปโดนล้วงกระเป๋ามา ยังดีนะ ไม่ไปโดนควักหัวใจไป ไปโดนควักหัวใจไปเลยเชื่อเขาหมดหัวใจเลย

เวลามาหาเราถึงได้บอกไง บอกหลวงพ่อพูดอยู่ทําไม

กูพูดอยู่ ปรารถนาอย่างเดียวเท่านั้นน่ะ ขอให้ใจอยู่ในหัวอกพวกมึง เอาใจของเอ็งไว้ในหัวอกของพวกเอ็ง หัวใจของเราอย่างน้อยก็ต้องเป็นสิทธิของเราเว้ยไว้ในหัวอกเรา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนกาลามสูตรนะ อย่าเชื่อ อย่าเชื่อแม้แต่เราพูด อย่าเชื่อว่าเป็นอาจารย์ของเรา อย่าเชื่อ แต่ให้เรามีสติปัญญา ถ้ายิ่งมีสติปัญญานะ เอาคําพูดของครูบาอาจารย์ไปวิเคราะห์วิจัย ไปต่อยอด หาปัญญาหาความรู้ของตัว ถ้ามันเป็นจริง มันต่อยอดขึ้นไป ถ้ามันต่อยอดขึ้นไป ถ้าเราเคารพ เคารพก็ส่วนเคารพสิ แต่ถ้าเราปฏิบัติแล้วจะได้ความจริงของเราไง ถ้ามันเป็นความจริงของเรา อันนั้นถึงจะเป็นสมบัติของเรา

นี่ก็เหมือนกัน เพราะเขาถามเองไง เขาถามว่า แล้วเวลาเขาคิดของเขาเองตรึกในธรรมะพระพุทธเจ้า อู๋ยรู้สึกว่ามันมีปีติเล็กๆ มันมีความสุขไปหมดเลย แต่พอมาฟังเทศน์หลวงพ่อ หลวงพ่อบอกว่าให้พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โอ้โฮมันไม่เอาไหนเลย ไปฟังของหลวงตา หลวงตาให้พิจารณาอสุภะยิ่งไปใหญ่เลยท่านบอกให้ซํ้าๆๆ ซํ้าจนกว่ามันจะถึงใจ นี่หลวงตาท่านว่าอย่างนั้นนะ แต่ผมทําแล้วมันไม่ถึงใจสักที

ไอ้กรณีนี้ถ้าคนมีปัญญานะ เขาจะไม่โทษอาจารย์ เขาจะโทษว่าเราทําไม่ถึงแต่ถ้าเราเป็นคนเข้าข้างตัวเองนะ เราจะโทษเลย อาจารย์สอนกูผิด กูยังไม่ทันสอบเลย สอนกูผิดแล้ว แต่ถ้าเป็นเรานะ เราจะรีบไปฝึกหัด

จริงๆ เราบวชเป็นพระใหม่ๆ มันเป็นคนที่ขวนขวายมาก หาคนสอน หาคนชี้แนะ แล้วก็โดนพระหลอกมาเยอะมาก หลอกมา จนไปเจอหลวงปู่จวน หลวงปู่จวนพูดแล้วมันเข้าใจได้ มันก็เลย อ๋อไอ้ที่ฟังๆ มาหลอกทั้งนั้นเลย

แล้วพอหลวงปู่จวนเครื่องบินตก เราเข้าบ้านตาด มันพูดกับตัวเองไง เรานี่โดนหลอกมาเยอะ เวลาขวนขวายหาอาจารย์ เพราะความไม่รู้ของเราก็ให้อาจารย์คนอื่นหลอกมามากเลย แต่ตอนนี้เราเข้ามาอยู่บ้านตาดแล้ว หลวงตาท่านอยู่บนกุฏิ เราเดินจงกรมอยู่นี่ หลวงตารอตอบปัญหามึง รอตอบปัญหามึง มึงพยายามภาวนาขึ้นมาสิ เมื่อก่อนไม่เจอหลวงตา โอ๋ยปัญหาเยอะมาก อยากถามเรื่องนั้น อยากถามเรื่องนี้ อยากถามเรื่องนั้น เวลาหลวงตาอยู่บนกุฏิ รอตอบคําถามมึงนี่ คําพูดอย่างนี้เราพูดกับตัวเองทุกวันๆ ให้ตัวเองพยายามเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาหาเหตุหาผลมา หมอรอรักษามึงอยู่นะ หมออยู่บนกุฏิจะรอรักษามึงมึงมีโรคภัยไข้เจ็บอะไรจะขึ้นไปหาท่านบ้างล่ะ รีบขึ้นไปสิ

เรานี่เดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน เอาอย่างเดียวเลย เพราะมันเข็ด เพราะโดนหลอกมาเยอะ เวลาเราขวนขวายหาคน คนก็หลอกเอา แล้วตอนนั้นบวชใหม่ๆด้วย มันก็อยากรู้อยากเห็นนะ ใครพูดอะไรก็เชื่อๆ เชื่อไปหมดเลย

สุดท้ายพอมันปฏิบัติแล้ว อย่างที่ว่าโดนหลอกทั้งนั้นเลย แล้วก็มาฟังหลวงตาที่ท่านเทศน์ไง ท่านบอกว่า เวลาท่านออกไปธุดงค์ เวลาอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นก็แก้จิตท่าน เวลาท่านออกไปธุดงค์ เวลาไม่มีหลวงปู่มั่น ก็ไปปรึกษาพระผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์รุ่นใหญ่ เวลาท่านสอนผิด เราเคยอยู่กับหลวงปู่มั่นมา ท่านเคยอยู่กับหลวงปู่มั่นมา ท่านก็ฟังออกว่าอะไรถูกอะไรผิด เวลาเขาพูดแถออกข้างทาง ท่านคิดขึ้นมาเลยนะ “จิตมีความรู้อย่างนี้หรือจะมาสอนเรา อาจารย์มีความรู้แค่นี้หรือจะมาสอนเรา” คนที่เขามีวุฒิภาวะ ภาษาเรานะ เราเรียกว่าสบประมาทเลยล่ะ

แต่ขณะที่เราไม่เป็น เราไปแสวงหาเขา เขาหลอกเรามาเยอะ เพราะตอนนั้นเราไม่มีวุฒิภาวะ เพราะเรามีประสบการณ์อย่างนี้ เราถึงเห็นใจพวกโยมไง ไอ้ที่ไปโดนเขาล้วงกระเป๋า ไอ้ที่โดนเขาหลอก ไอ้ที่โดนเขาควักหัวใจไป หัวใจทั้งหัวใจให้เขาเอาไปไว้ในตัวของเขา เราบวชใหม่ เราก็เจอปัญหาอย่างนี้ แต่พอภาวนาพอมีจุดยืนขึ้นมาแล้ว มันถึงไม่เชื่อไง ฉะนั้น เวลาหลวงตาท่านพูดมันก็ แหมซาบซึ้งมาก ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ

ฉะนั้น ถึงว่า นอกจิต ในจิต ไอ้อย่างที่พูดครั้งแรก พูดที่บอกว่า เวลาตรึกในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันดีไปหมด

มันดีไปหมดทั้งนั้นน่ะ เพราะมันเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นความคิด แต่มันไม่ได้แก้กิเลสของเรา เพราะมันธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เราไปซื้อแกงมาถุงหนึ่ง แต่เราแกงไม่เป็นน่ะ ซื้อแกงมาแกงมันก็อร่อย แม่ค้ามันทําไม่อร่อยก็ขายไม่ได้

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทําไมจะไม่ดี สุดยอดอยู่แล้ว แต่เป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันนอกไง มันไม่ใช่เกิดจากจิตไม่ใช่เกิดจากเรา ถ้าจะเกิดจากเรา เอ็งจะแกง เอ็งก็ต้องมีเครื่องแกง เอ็งก็ต้องมีกุ้งหอยปูปลา เอ็งก็ต้องมีทุกอย่าง มันถึงจะแกงได้ เอ็งไม่มีอะไร เอ็งจะแกงอะไรอ้าวก็คิดว่าแกงไง คิดว่าแกง แต่ไม่ได้แกง มันก็เลยไม่ซาบซึ้งน่ะสิ

แต่ถ้าเอ็งมีกุ้งหอยปูปลา มีเครื่องแกง มีทุกอย่างพร้อมเลย อ้าวก็แกงขึ้นมาถ้าแกงแล้วมันยังไม่อร่อย ก็ทําครั้งแรกมันจะอร่อยได้อย่างไร แค่เป็นแกงก็พอแล้ว ถึงจะกินไม่ได้ ของฉันทําก็ฉันอร่อยก็แล้วกันแหละ แต่ทําบ่อยๆ ครั้งบ่อยๆ ครั้งเข้า มันก็ชํานาญขึ้น คําว่า “ชํานาญ” ซํ้าๆ ซํ้าๆ ซํ้าอย่างนี้ ซํ้าจนหลับตาทําได้เลย แม่ครัวใหญ่เขาหลับตาปรุงได้เลย ออกมารสชาติเหมือนกันเปี๊ยะ ซํ้าแล้วซํ้าเล่าๆ จนมันสมุจเฉทปหาน มันถึงจะเป็นความจริงไง

นี่พูดถึงว่า ทําไมมันถึงไม่ซาบซึ้งใจ

โอ้โฮจะให้ซาบซึ้งใจ เป็นวิทยาศาสตร์ไง จะทําอะไรก็ต้องซาบซึ้งใจหมดสิทธิเสมอภาค อ้าวโยมก็ปฏิบัติได้ พระก็ปฏิบัติได้ โอ๋ยทุกคนก็สิทธิเสมอภาคปฏิบัติแล้วก็ต้องเหมือนกันหมด...นี่ไง เขาถึงไม่เข้าใจเรื่องผลของวัฏฏะ

พระพุทธเจ้าเข้าใจเรื่องผลของวัฏฏะนะ กรรมจําแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กันคนหนึ่งทําคุณงามความดี ทําแต่กรรมดีมา เขาก็มีแต่ความคิดดีๆ ของเขา เขาทําอะไรเขาประสบความสําเร็จของเขา คนหนึ่งมีแต่ทํากรรมชั่วมา แล้วเกิดเป็นคนเหมือนกัน แล้วจะให้เหมือนกันได้อย่างไรล่ะ

กรรมจําแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กันนะ กรรมจําแนก กรรมของเอ็ง กรรมของจิตดวงนั้นมันจําแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน...ใครทํา พระพุทธเจ้าทําหรือ ใครทําให้ ก็จิตมันทําเอง

กรรมจําแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน คนเราสร้างเวรสร้างกรรมมาแตกต่างกันจะให้รู้เหมือนกัน เป็นเหมือนกัน ไม่มี ไม่มี แต่ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้แล้วเราก็ไม่น้อยเนื้อตํ่าใจไง ใครมีความทุกข์ความยาก เราก็ว่าเราสร้างกรรมมาอย่างนี้ เราทําของเรามาเอง

แต่ในปัจจุบันนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้แก้ที่ปัจจุบัน ถ้าปัจจุบันนี้เรามีศรัทธามีความเชื่อในธรรมโอสถ ธรรมโอสถจะไปแก้กิเลส ธรรมโอสถจะแก้จริตนิสัยของเรา เราฝึกหัดตรงนี้ไง เราเอาตรงนี้มาเป็นประโยชน์กับเราไง ในปัจจุบัน เขาแก้ได้ที่ปัจจุบันนี้ อดีตอนาคตแก้ไม่ได้ แก้ที่ปัจจุบันนี้ปัจจุบันคือสติปัญญานี่ มีสติมีปัญญา มีการค้นคว้า มีการไขว่คว้า แล้วมีการกระทํา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกพระอานนท์ไง “อานนท์ บอกนะบอกบริษัท  นะ ให้ปฏิบัติบูชาเราเถิด” การปฏิบัติบูชาคือการแก้ไขดัดแปลงการปฏิบัติบูชาไง “ให้ปฏิบัติบูชาเราเถิด อย่าบูชาด้วยอามิสเลย” ของที่เป็นอามิสสิ่งที่เสียหายเป็นอามิส เป็นอามิสมันได้บุญกุศลเพราะการเสียสละ แต่การปฏิบัติเป็นการดัดแปลง การแก้ไข การต่อสู้กันระหว่างกิเลสกับธรรมนี่ “ให้ปฏิบัติบูชาเราเถิด” แล้วมันจะได้สัจจะความจริง ได้ความจริงขึ้นมาไง มันถึงจะเป็นนอกเป็นใน เห็นนอกเห็นในโดยข้อเท็จจริงไง

ฉะนั้น ไม่เห็นว่านอกในจิต นอกจิตในจิต มันก็ต้องเหมือนกันสิ อ้าวคิดเหมือนกันน่ะ คิดถึงธรรมะของพระพุทธเจ้ามันซาบซึ้ง คิดถึงหลวงพ่อ ไม่เอาไหนเลย

ก็เรามันหยาบขนาดนี้ มันจะไปเอาไหนตรงไหนล่ะ แต่ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมาในใจนะ นั่นรสของธรรม รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง เอวัง