เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๗ ส.ค. ๒๕๕๘

 

เทศน์เช้า วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๘
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อ้าว ตั้งใจฟังธรรมเนาะ ธรรมะเพื่อหัวใจนะ เวลาเราทุกข์เรายากเราแสวงหา ความแสวงหาทางโลกมันทุกข์ยากมากนะ เวลาคนขาดตกบกพร่อง ปากกัดตีนถีบมันเป็นความทุกข์มาก แต่ความทุกข์อย่างนั้นเวลาเราพักเหนื่อยมันก็หายได้ แต่หัวใจมันพักไม่ได้ เวลาเราเหนื่อยล้าขนาดไหน เราพักเราผ่อนเดี๋ยวมันก็ฟื้นฟูขึ้นมาร่างกายนี่ แต่จิตใจเวลามันตกนะ เวลาจิตใจมันทุกข์มันยากมันย้ำคิดย้ำทำ มันย้ำคิดย้ำทำแต่ความเจ็บช้ำอันนั้นแหละ แต่เวลาความดีงามมันคิดไม่ค่อยถึง

นี่ฟังธรรมๆ เพื่อตอกย้ำตรงนี้ ฟังธรรมเพื่ออะไร ฟังธรรม เห็นไหม นี่โลกนี้เป็นทุกข์เพราะอะไร เพราะมันเป็นอนิจจัง มันไม่แน่นอนหรอก มันแปรปรวนตลอดเวลา เราปากพูดกันนะ นี่โลกนี้มันมีความไม่แน่นอน สิ่งที่แน่นอนคือความไม่แน่นอนไง แต่ความไม่แน่นอนอันนั้นเรารักษาได้ เรารักษาได้นะ นี่สรรพสิ่งนั้นมันเป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา คือเป็นอนัตตามันเป็นสภาวะแบบนั้น

เราเกิดมา เห็นไหม เกิดมาเป็นมนุษย์มีศักยภาพความเป็นมนุษย์ ถ้าความเป็นมนุษย์นะมีสติมีปัญญา คำว่าสติปัญญานะ สติปัญญาทางโลกสติปัญญาจากสถิติ สถิติอะไร จากปรัชญา สถิติจากการศึกษาเล่าเรียน สถิติปัญญาอย่างนี้คือปัญญาทางโลกไง นี่ถ้าเรามีสติปัญญานะ เรามีสติปัญญาเราหยุด เวลาหยุดนะ หน้าที่การงานเราอาบเหงื่อต่างน้ำเราทำสุดความสามารถของเรา แต่เวลาเราหยุดนะ เราหยุดเราต้องหยุดหัวใจเราด้วย

เวลาหยุด เห็นไหม ดูสิของเราเก็บแล้วมันก็จบไง แต่หัวใจมันเก็บไม่ได้ มันหยุดไม่ได้ไง ถ้ามันหยุดไม่ได้มันต้องอาศัยธรรมะนี่ไง ถ้าอาศัยธรรมะนะตั้งสติไว้ คำว่าตั้งสติ สตินี่ พอสติ ความรู้สึกนึกคิดอันนี้ที่มันล้นฝั่งให้มันหยุดได้ พอมันหยุดได้ นี่ถ้าเราฝึกหัดใช้ปัญญานะ ถ้ามันเกิดภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการใคร่ครวญ ปัญญาเกิดจากการภาวนา

ในสัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าสัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แม้แต่ความรู้สึกนึกคิดก็เป็นอนัตตา เวลาธรรมะก็เป็นอนัตตา มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป เราพิจารณาของเราใคร่ครวญเข้าไปๆ เวลามันข้ามพ้น เวลาสิ่งที่เป็นอนัตตามันวางไว้หมด สิ่งที่เหลืออยู่คืออะไร ผู้ที่ปฏิบัติธรรมเขารู้อย่างนี้ เขารู้สิ่งที่เหลืออยู่ไง พวกเรานี่เราคิดโดยวิทยาศาสตร์ใช่ไหม ไม่อยากไปนิพพานหรอก เพราะนิพพานมันว่าง นิพพานมันไม่มีอะไรเลย นิพพานมันจับต้องไม่ได้

เพราะเราว่านิพพานเป็นความว่างๆ ไง ความว่างไม่มีรสชาติ ความว่างไม่มีสิ่งใด ถ้าความสุข ความสุขเพราะว่าเราทุกข์เรายาก พอเราทุกข์เรายาก เราโดนบีบคั้น เวลามันปล่อยวาง เออ ก็มีความสุข นี่ความสุขไงเพราะเราปล่อยวาง เราปล่อยวางเราก็ว่าเป็นความว่างๆ นิพพานเป็นความว่าง มันจับต้องสิ่งใดไม่ได้ไง แต่เวลาพิจารณาไปโดยภาวนามยปัญญามันรู้มันเห็นของมัน

ถ้ามันรู้มันเห็น สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับเป็นธรรมดา ดับแล้วเหลืออะไร เราอยู่กับครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นนะท่านถามว่าเหลืออะไร รู้อะไร เราว่าเป็นอนัตตา ปล่อยวางหมดแล้ว แล้วเหลืออะไรล่ะ ไม่รู้ ไม่รู้ ว่างๆ ว่างๆ ว่างๆ ก็อากาศไง ว่างๆ ก็สิ่งใดที่มันจุอยู่ สิ่งที่เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการ สิ่งใดที่มันรกรุงรัง เราเก็บมันเรียบร้อยมันก็ดูสวยงาม

นี่ก็เหมือนกัน ความคิดของเรา ความคิดของเรา เราไม่มีสติปัญญาเราควบคุมไม่ได้หรอก มันควบคุมไม่ได้แล้วนะมันยังมีอวิชชา มันยังฟาดงวงฟาดงา เวลามันฟาดงวงฟาดงา นี่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าจิตของเราเหมือนช้างสารที่ตกมัน เหมือนช้างสารที่ตกมัน เวลาช้างตกมันใครไปยืนขวางมันได้ จิตใจของเราเวลามันคิดขึ้นมา เวลามันยุแหย่ขึ้นมาใครไปยืนขวางมันได้ ใครจะเอามันอยู่ไง แต่เวลาเราฝึกหัดสติ นี่ฟังธรรมๆ เพื่อฝึกหัดของเราไง

คำว่าฟังธรรมๆ มันผ่องแผ้ว สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง สิ่งที่ได้ยินได้ฟังตอกย้ำทุกวัน ได้ยินได้ฟังตอกย้ำทุกวัน ตอกย้ำๆ นี่ถ้ามันเกิดความสงสัย สิ่งที่ตอกย้ำๆ มันจะใคร่ครวญของมัน มันจะพิจารณาของมัน เวลามันปล่อยวาง สิ้นสุดของมัน เวลาฟังธรรมจิตใจมันผ่องแผ้ว มันผ่องแผ้วมันใสสว่าง นี่ไงฟังธรรมๆ เพื่อตอกย้ำมันนี่ไง ถ้าตอกย้ำ พอตอกย้ำมันมีสติมีปัญญาขึ้นมามันเห็นคุณค่าไง พอเห็นคุณค่ามันก็อยากจะทำไง

ดูสิคนที่เขามีศรัทธาความเชื่อของเขา เวลาเขาขวนขวายของเขา ประพฤติปฏิบัติของเขา เขาเดินจงกรมของเขา นั่งสมาธิของเขาเขาเอาหัวใจของเขาทำด้วย แต่ของเรา เห็นเขาทำเราก็ทำตาม เห็นเขาเดินก็เดินตาม เห็นเขานั่งก็นั่งตาม อะไรนั่งก็ไม่รู้ อะไรเดินก็ไม่รู้ หลวงตาท่านพูดบ่อย หมามันวิ่งได้นะ หมาวิ่งไปวิ่งมาก็วิ่งได้

เดินจงกรมนี่มีสติปัญญาไหม ถ้ามีสติปัญญานั่นก็เป็นมรรค ถ้าไม่มีสติปัญญาก็เป็นโลก เห็นไหม โลกกับธรรมๆ ถ้าธรรมต้องมีสติมีปัญญา นี่ถ้ามีสติปัญญาก็เกิดจากการฟังธรรมๆ การฟังธรรมมีสติปัญญาขึ้นมาแล้วมันคิดมันใคร่ครวญของมัน เวลามันทำก็ตั้งใจ เวลาตั้งใจ เวลาทำงานเราเหนื่อยไหม เหนื่อย แล้วยิ่งตั้งสติ ยิ่งเข้มข้นกับมันยิ่งเหนื่อย เวลาภาวนาตั้งสติ เหนื่อยไหม เวลาเราฝึกหัดใช้ปัญญา เหนื่อยไหม มันยิ่งกว่าเหนื่อย

ฉะนั้น เวลาหลวงตาท่านพูด เห็นไหม เวลาท่านปล่อยวางๆ ของท่าน ท่านว่างหมด นี่เวลาหลวงปู่มั่นท่านว่าไง มหา จิตเป็นอย่างไร อู๋ย ว่างหมดเลย สบายหมดเลย ท่านก็ปล่อยมาเพราะอะไร เพราะว่าคนเข้าไปรู้ไปเห็น รู้จริงไหม จริง แต่ความเห็นมันยังไม่จริง แต่ แต่ใครจะบอกได้ล่ะ เพราะเขารู้เห็นของเขา เขาได้ประสบการณ์ของเขา หลวงปู่มั่นท่านก็ปล่อยจนให้เขาได้ฉงน ได้คิด เพราะมันเป็นอย่างนี้มานานแล้ว มหา สุขแบบนี้มันสุขแบบเศษเนื้อติดฟัน เศษเนื้อก็เคยติดฟันเรา เราเคยมีเศษเนื้อ กินอาหารแล้วเศษอาหารติดฟัน

สุขอย่างนี้สุขแค่เศษเนื้อติดฟัน มันยังมีความสุขกว่านี้มาก มันมีความมหัศจรรย์กว่านี้อีกมาก แต่ท่านชอบใจความสุขที่เศษเนื้อติดฟัน รสของเศษอาหาร แต่เวลาคนมันติดมันว่าสุดยอดๆๆ นี่เวลาหลวงปู่มั่นท่านจะแก้ไข เวลาคนเป็นท่านเปรียบเทียบได้ แต่เวลาเข้าไปติด เวลาท่านติดนั้นท่านได้สกิทาคามีแล้วนะ คนที่มีความสุขขนาดนั้น แต่คนที่มีความสุขที่มากกว่า ท่านเปรียบเทียบเหมือนเศษเนื้อติดฟัน สกิทาคามีนี่เศษเนื้อติดฟันหรือ แล้วอนาคามีล่ะ แล้วพระอรหันต์ขึ้นไปล่ะมันจะสูงส่งขนาดไหน

นี่ไงสุขของท่านนี่มันสุขเศษเนื้อติดฟันนะ อ้าว ถ้ามันสุขเศษเนื้อติดฟัน สัมมาสมาธิเป็นอย่างไรล่ะ นี่คนปัญญามากไง เวลากิเลสมันฟาดงวงฟาดงานะ เวลากิเลสมันฟาดงวงฟาดงามันไม่ไว้ใครหรอก ถ้ามันเป็นเศษเนื้อติดฟัน นี่สัมมาสมาธิขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ไงเอาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นการยืนยันเลย เอาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามายันเลย

นี่ไงเวลาบอกพุทธพจน์ อภิธรรมเขาพุทธพจน์ ใช้ปัญญาทั้งนั้นแหละ ถ้าพูดอย่างนี้เราก็จนตรอกเลย แต่เวลาบอกว่านี่ไงสัมมาสมาธิขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง เวลาหลวงปู่มั่นท่านแก้ สัมมาสมาธิขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีสมุทัย ของท่านสมุทัยทั้งนั้น สมุทัย สมุทัยคือกิเลส กิเลสมันปนกับสมาธินั้นมา มันยังมีอยู่ ได้คิด ได้สติ นี่ฝึกฝนๆๆ นี่ไงเวลาบอกว่ามันว่างๆ ว่างอย่างไร ถ้าเป็นอนัตตา อะไรเป็นอนัตตา แล้วอนัตตาเป็นอย่างไร

นี่ไงสัพเพ ธัมมา อนัตตา สัพเพ ธัมมา อนัตตาก็ปากเปียกปากแฉะ นกขุนทอง แต่ฟังธรรมๆ ฟังธรรมตอกย้ำตรงนี้ มันเป็นอนัตตา อนัตตาจริงหรือเปล่า เราทำได้จริงหรือเปล่า แล้วที่มันเหลือเหลืออะไร คำว่าเหลืออะไร ถ้าเราไม่รู้จริงเราพูดไม่ได้หรอก นี่ก็ว่างๆ ว่างๆ ก็อ้างกันอยู่อย่างนี้ ว่างๆ ก็อากาศ แต่มันมีสิ่งใดที่เป็นความจริงในหัวใจนี้บ้าง แต่ถ้าคนจริงมันมีองค์ความรู้ มันมีความจริงของมัน เวลาพิจารณาไปแล้ว ถ้าเป็นสมาธิ สมาธิก็ตั้งมั่น มีสติควบคุมได้ เวลายกขึ้นสู่วิปัสสนามันจะเป็นภาวนามยปัญญา

นี่ไงฟังธรรมๆ ตอกย้ำตรงนี้ ตอกย้ำ นี่เราฝึกหัดของเราให้เป็นความจริงขึ้นมา ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล หัวใจดวงใดที่ภาวนาที่ไม่มีมรรคมันก็ไม่มีผลเหมือนกัน หัวใจของเขา เขาภาวนาเกิดมรรค เกิดผลของเขา เขาเกิดปัญญาของเขา เขาชำระสะสางในหัวใจของเขา เขาสำรอก เขาคายกิเลสของเขาออกไป เวลาคายกิเลสออกไป ดูสิเราทำหน้าที่การงานขนาดไหน มีข้าวของเงินทองขนาดไหน ข้าวของเงินทองมันก็เป็นสมบัติสาธารณะ สมบัติของโลก ถ้าเก็บไว้ในโลกนี้มันก็เป็นมรดกตกทอดไปอนุชนรุ่นหลัง แต่ถ้าเป็นมรรค เป็นผลล่ะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน เห็นไหม พระอานนท์เป็นพระโสดาบัน คร่ำครวญเลยเพราะอยากให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้สั่งสอนต่อไป อานนท์ เราไม่ได้เอามรรค ผลของใครไปเลย เราเอาแต่ของเราไป เอาของเราไป เอาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป นี่ไงศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล ศาสนาที่ปฏิบัติไม่มีสติปัญญาขึ้นมาเขาจะไม่มีคุณธรรมในหัวใจนั้น ถ้ามีคุณธรรมในหัวใจนั้น ความจริงในหัวใจนั้น นี่เอาของท่านไปๆ

นี่ไงถ้านิพพาน นิพพานมันคืออะไร นิพพานเป็นความว่างไม่อยากไปเลย อยากอยู่กับโลก โลกมีรสชาติ นิพพานจะเป็นอย่างไร นี่วิมุตติสุขมันเหนือโลก สิ่งที่ในโลกนี้ได้สิ่งใดมาของชั่วคราวทั้งนั้น ของชั่วคราวนะอยู่กับเราพักหนึ่ง เราไม่พลัดพรากจากเขา เขาก็ต้องพลัดพรากจากเรา ที่ว่าเป็นทิพย์ๆ เป็นทิพย์ ทำบุญกุศลนี่เป็นทิพย์ เป็นทิพย์

ดูสิสิ่งที่เราสละไปแล้วนั่นล่ะเป็นวัตถุ แต่ความรู้สึกเรา เห็นไหม ความรู้สึกเราเป็นทิพย์ เวลาไปเกิดเป็นเทวดา เทวดานะเขาไม่มีตลาด เขาไม่มีการทำสิ่งใดเพิ่มเติม เขามีแต่บุญกุศลในหัวใจอันนั้น มันเป็นแสง มันเป็นอารมณ์ความรู้สึกในใจ วิญญาณาหาร นี่เวลาวิญญาณาหาร อาหารของเทวดา เขาอยู่เป็นความสุข เป็นทิพย์อยู่อย่างนั้นแหละจนกว่าอาหารเขาจะจางลงๆ แสงจะเบาบางลง เขาจะหมดอายุขัยของเขา นี่ไง นี่งสิ่งที่ว่าเป็นทิพย์ๆ เป็นทิพย์มันก็อนิจจัง เป็นทิพย์มันก็ยังไม่คงที่

ฉะนั้น เวลาทำบุญ แต่มันก็ผลในวัฏฏะ เราเกิดในวัฏฏะเราก็เกิดในวัฏฏะ ถึงการเกิดเราก็เกิดสมความปรารถนา หัวใจมันจะทุกข์ร้อนบ้าง คำว่าทุกข์ร้อนบ้างนะ เพราะว่ามันไม่มีหัวใจดวงใดที่มีความสุขสมบูรณ์ ไม่มี ทุกดวงใจที่การเกิดนี้คืออวิชชา หัวใจที่สมบูรณ์ไม่มี แต่ถ้ามันขาดตกบกพร่องขึ้นไปเราก็มีสติปัญญารักษาของเรา เราขวนขวายของเรา เราประพฤติปฏิบัติของเรา

ฟังธรรมๆ เพื่อตอกย้ำตรงนี้ ถ้าฟังธรรมตอกย้ำตรงนี้ปั๊บ เวลาเราจะไปปฏิบัติมันก็ปฏิบัติด้วยความสมบูรณ์ ปฏิบัติด้วยสัมมาทิฏฐิ ปฏิบัติด้วยความดีงาม ปฏิบัติด้วยความมุมานะ ไม่ใช่ปฏิบัติสักแต่ว่าทำ เห็นเขาทำก็ทำกัน เห็นเขาทำก็ทำทั้งนั้นแหละ ทำเหมือนกัน ทำมากกว่าด้วย แต่ไม่ได้ผล มันไม่ได้ผลไง ไม่ได้ผลเพราะมันไม่มาทำจากความรู้จริงไง ไม่ทำจากสัมมาทิฏฐิ ไม่ทำมาจากสติ ไม่ทำมาจากความถูกต้องดีงามไง สักแต่ว่าทำ มันก็เลยสักแต่ว่า

นี่สักแต่ว่าทำนะ หลวงตาท่านย้ำประจำ ถ้าขาดสติการกระทำนั้นมันไม่ใช่มรรค การกระทำเป็นโลกหมดถ้าขาดสติ ถ้ามีสติขึ้นมา พอมีสติขึ้นมา เห็นไหม เพราะผู้ปฏิบัติใหม่ โอ้โฮ มีสติมันยุ่งยากไปหมดเลย อึดอัดขัดข้องไปหมดเลย อึดอัดขัดข้องแน่นอน เพราะอะไร เพราะเราจะขังกิเลสไว้ สิ่งนี้ปล่อยให้มันเป็นอิสระ ปล่อยให้มันคิดไปตามแต่ความพอใจของมัน มันคิดเสร็จแล้วมันก็เหยียบย่ำหัวใจอันนี้ไง

พอตั้งสติขึ้นมา เอ็งคิดได้แค่นี้ ตรึกในธรรมๆ คิดธรรมะ คิดธรรมะมันก็ดิ้นรนของมันจนมันคล่องตัวของมัน มันคิดแล้วมันพอใจของมันนะ นี่ละเอียดเข้าไป ขีดเส้นมากขึ้นๆๆ จนมันปล่อยวางหมดมันก็เป็นสัมมาสมาธิ พุทโธ พุทโธ พุทโธขีดเส้นแค่นี้ เอ็งเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นี่แหละพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธจนพุทโธไม่ได้ พุทโธไม่ได้ตัวมันเป็นสัมมาสมาธิ

นี่ไงถ้ามันเป็นจริงๆ ถ้าเรามีสติปัญญาบังคับก็ต้องบังคับอย่างนี้ ถ้ามีสมาธิ สมาธิหลวงตาท่านชมประจำ ใครมีสมาธิคนนั้นมีเครื่องอยู่ ถ้าใครมีสติจิตใจจะอบอุ่น พอจิตใจอบอุ่น กิริยาท่าทางมันก็แสดงออกหมด ถ้าจิตใจไม่อบอุ่น จิตใจไม่อบอุ่นมันแสดงออกมามันมีแต่ความทุกข์ความยากทั้งนั้น ถ้าจิตใจมันอบอุ่น คนอบอุ่น คนมีจุดยืน คนทำสิ่งใดมันมั่นคงหมดแหละ สัมมาสมาธิเวลามันเสื่อมล่ะ เสื่อมทุกข์มาก

คนเราเคยสุข เคยสบายแล้วเสื่อมถอยมา คนเราเคยมีความอบอุ่น มีที่พักที่พิง แล้วมันต้องไปตากฟ้าตากลมมันมีความทุกข์มาก ถ้าความทุกข์มาก ถ้าคนไม่มีสติปัญญา ทำสิ่งใดขึ้นมาไม่ได้ เสื่อมแล้วก็เสื่อมไปเลย แต่ถ้าคนมีสติปัญญา เสื่อมแล้วนะทำไมเราทำได้ล่ะ ทำไมเราเคยทำได้ ถ้าเราทำได้เราทำได้อย่างไร เราก็ขวนขวายของเรา เราต้องมีสติมีปัญญาสิ ธรรมดาของมันเจริญต้องเสื่อม ต้นไม้อายุขัยของมัน เวลาหมดอายุมันก็ตาย แต่ต้นไม้เขาพยายามดูแลรักษาไว้เป็นพันๆ ปีก็มี แต่น้อยนัก ส่วนใหญ่แล้ว ดูสิข้าวอายุมันกี่วัน

นี่ก็เหมือนกัน อารมณ์ความรู้สึกของเราอายุกี่วัน แต่ถ้าเป็นสัมมาสมาธิมันตั้งมั่นขึ้นมาได้แล้ว เวลามันเสื่อม เสื่อมไป เสื่อมก็ต้องเสื่อม มันเสื่อมเป็นความจริงของมัน แต่ถ้าเรารักษาของเรานะ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ รักษาเหตุ มีสติมีปัญญาของเรา รักษาของเรา เรามีคำบริกรรมของเรา คำบริกรรมอย่าไปมองที่อื่น เวลามองที่อื่น ดูสิคนจะร่ำจะรวยส่วนใหญ่เป็นคนประหยัด คนประหยัดมัธยัสถ์เขาจะร่ำเขาจะรวยของเขา คนเราสุรุ่ยสุร่ายมันไม่มีวันร่ำรวยหรอก จะทำธุรกิจ จะมีหน้าที่การงานมากน้อยขนาดไหน ถ้ามันรู้จักประหยัด เดี๋ยวมันสร้างเนื้อสร้างตัวได้

นี่ก็เหมือนกัน พุทโธ พุทโธ ใช้สติปัญญา ถ้ามันรู้เหตุรู้ผลขึ้นมานะ แต่คนมันไม่คิดอย่างนั้น คนมันสุรุ่ยสุร่าย มันเคยร่ำรวยขึ้นมาแล้ว ถ้ามันล้ม ไม่มีฐานมันต้องกู้ๆๆ นี่ก็เหมือนกัน พอเวลาจิตเสื่อมแล้วก็จะเอาให้ได้ๆ ไม่ได้หรอก จิตเสื่อมแล้วกลับมาพุทโธ จิตเสื่อมแล้วกลับมาปัญญาอบรมสมาธิ ส่วนใหญ่คนคิดว่าไปข้างหน้าแล้วจะไม่ยอมกลับมาข้างหลังไง เราออกจากบ้านมา แล้วเราจะไม่กลับบ้านเราเลยหรือ เรามีพ่อมีแม่ ออกจากบ้านมาแล้วลืมพ่อลืมแม่ไปเลยหรือ

พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานหัวใจ เราลืมมันได้อย่างไร เราลืมหัวใจของเราเองได้อย่างไร เราลืมตัวเราเองได้อย่างไร เพราะเราลืมตัวเราเองไงเราถึงได้เสื่อมไง เพราะเราไม่รักษาตัวเราเองถึงได้เสื่อมไง ไม่รักษาบ้านของเรา ไม่รักษาที่อยู่ที่อาศัยของเราไง นี่เราทิ้งให้มันเป็นบ้านร้างไง แล้วก็อู้ฮู ใช้ปัญญา เคยทำได้ เคยเก่ง เคยรู้

นี่ไงจิตเสื่อมเสื่อมเพราะเหตุนี้แหละ มันไปแล้วมันเสื่อมหมดแหละ แต่ถ้าคนรู้จักรักษาบ้านของตัว จะทำสิ่งใดก็แล้วแต่บ้านของเราอยู่นี่ เราหน้าที่การงานใหญ่โตแค่ไหนก็บ้านเราอยู่นี่ เราจะทำสิ่งใดเราได้ผลมา บ้านเราอยู่นี่ เราได้ทรัพย์สมบัติขึ้นมาก็เก็บไว้ในบ้านเรา พุทโธ ปัญญาอบรมสมาธิทิ้งไม่ได้ ต้องมีสติมีปัญญาต่อเนื่องไป ทำของเราเพื่อประโยชน์ขึ้นมา นี่ฟังธรรมๆ ตอกย้ำตรงนี้

วันพระ เห็นไหม วันพระ พระผู้ประเสริฐ เวลาประเสริฐมันต้องประเสริฐพุทธะ พุทธะคือผู้รู้ ผู้รู้นี่ความรู้สึกไง ความรู้สึกของเรา อารมณ์นะเวลาอารมณ์มันรุนแรง ความรู้สึกอย่างนี้ใช้ไม่ได้ แต่ถ้ามันนุ่มนวลอารมณ์อย่างนี้ที่ดี อารมณ์เกิดจากจิต พุทธะคือตัวจิตนั้น จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ขวนขวาย เป็นผู้กระทำ ถ้าจิตผ่องใสเป็นผู้กระทำ ทำขึ้นมา

นี่งานอย่างนี้งานของเอกบุรุษ สัตตะบุรุษ งานที่ทำให้มันประเสริฐขึ้นมา แล้วงานอย่างนี้ทำด้วยหัวใจ นี่ไงถ้าใจดวงไหนไม่มีมรรค ไม่มีมรรคคือไม่มีการกระทำ ไม่มีมรรคคือไม่มีการแยกแยะ ไม่มีการกระทำ แล้วคนที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยปฏิบัติพูดไม่ได้หรอก พูดอย่างไรก็พูดไม่ถูก ถ้าพูดไม่ถูกนะ สิ่งที่เขาพูดนั้น ถ้าเขาพูดโดยสุจริตคือความหลงของเขา นั่นคือพูดโดยความไม่รู้ แต่ถ้าเขายืนยันด้วยความไม่รู้ของเขา อันนั้นคือทุจริต นี่คำว่าทุจริตไง จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส เอวัง