ความกลัว
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๘
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
หลวงพ่อ : มันน่าสงสารคนเอาจริงเอาจัง มันเป็นอย่างนี้ มันมีอุปสรรค
ถาม : เรื่อง “ทําอย่างไรความกลัวจึงจะหาย เพราะความกลัวคืออุปสรรค”
กลัวความมืดและกลัวว่าจะเจอผี กลัวจริงๆ รู้ก็รู้ว่าหลอกตัวเอง คิดได้ แต่ทําไม่ได้เลย กลัวจนบางครั้งรู้สึกเหมือนจะเสียสติ มันทรมานมาก และเป็นอุปสรรคกับการปฏิบัติจริงๆ แม้แต่ตอนนั่งสมาธิก็ยังกลัว ทั้งที่ตัวเองก็ชอบความเงียบสงบไม่ชอบความวุ่นวายเลย แต่มันกลัว
ตอบ : ไอ้คําว่า “เรื่องกลัวๆ” ถ้าเป็นความกลัว โดยธรรมชาติของมนุษย์มนุษย์มันมีความกลัวโดยสัญชาตญาณ ทุกคนมีความกลัวทั้งนั้นน่ะ เรากลัวว่าเราจะตกงาน เรากลัวว่าในครอบครัวเราจะมีปัญหา เรากลัวว่าเราจะเจออุปสรรค เรากลัวไปหมด ทุกคนโดยสัญชาตญาณ ทุกคนมันมีความกลัวโดยพื้นฐาน ความกลัว เพราะมีความกลัว เราถึงดิ้นรน ดูสิ มันมีอุปสรรคสิ่งใด ทางวิทยาศาสตร์ที่มันพัฒนามา พัฒนามาก็เพราะมีอุปสรรคนี่แหละ เพราะมันมีอุปสรรค มีความทุกข์ความยาก เขาก็คิดค้นทําวิจัยขึ้นมาจนเราได้เทคโนโลยี ได้สิ่งใดมาเป็นที่พึ่งอาศัยไง
นี่ก็เหมือนกัน โดยความกลัวมันเป็นธรรมชาติ แต่โดยความกลัวนี้มันกลัวโดยสัญชาตญาณ กลัวเป็นธรรมชาติ กลัวโดยที่ไม่เกินกว่าเหตุ มันก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่เวลามันกลัว กลัวจนเสียเลย เห็นไหม ทั้งๆ ที่เป็นคนชอบความสงบทั้งๆ ที่ไม่ชอบความวุ่นวายเลย แต่ไม่ชอบความวุ่นวายเลย มันก็ควรจะชอบความสงบ ชอบที่สงัด แต่เวลาเข้าไปที่สงัด มันกลัวจนทรมานมาก
เห็นไหม เวลาเราก็คิดได้ว่าเราต้องการความสงบสงัด เราต้องการภาวนาเวลาไปภาวนาจริงๆ มันก็ไปกลัวผี เราไปกลัวความมืด ไปกลัว เวลามันกลัวขึ้นมานะ กรณีกลัวนี่มันเป็นเรื่องจริงนะ มันเป็นเรื่องจริงเพราะคนเรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันเป็นอย่างนี้ แต่ให้มันกลัวพอประมาณไง ให้มันกลัวพอประมาณ สิ่งนั้นมันก็เป็นประมาณ
กรณีอย่างนี้มันมีครูบาอาจารย์ทั้งนั้นน่ะ ดูสิ เวลาหลวงตาท่านเล่าประวัติของท่าน ท่านไปอยู่ป่าอยู่เขา ท่านพูดเอง ท่านเป็นคนกลัวสัตว์มาตั้งแต่ก่อนบวชแล้วเวลาท่านไปอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นให้ไปอยู่กับเสือ แล้วพี่ชายของท่านพี่ชายของท่านไปเยี่ยม พอไปเยี่ยมขึ้นมา หลวงปู่มั่นก็บอกว่า ตอนนี้ให้ไปอยู่ที่นั่นๆ แล้วพี่ชายของท่านก็เป็นพรานป่าเหมือนกัน ก็ไปเยี่ยมหลวงตา พอไปเยี่ยมหลวงตาเสร็จ กลับไป ไปร้องไห้กับแม่เลย
นี่หลวงตาท่านเล่าให้ฟังว่าเวลาท่านกลับมาเยี่ยมแม่ เพราะพี่ชายรู้ว่าน้องชายกลัวอะไร แล้วพอกลัวอะไร ไปอยู่สภาพแบบนั้นน่ะ คือสงสารน้อง พี่ชายหลวงตาไปเยี่ยมหลวงตานะ กลับไป ไปรําพึงรําพันกับแม่ตัวเองไง บอกเลยว่าน้องชายเป็นคนขี้กลัว มันกลัวอย่างนั้นๆ เพราะพี่น้องมันโตด้วยกันมา มันรู้ แล้วทําไมไปอยู่สภาพแบบนั้น
แต่เวลาอยู่สภาพแบบนั้นน่ะ หลวงปู่มั่นท่านให้ไปอยู่ หลวงปู่มั่น เห็นไหมดูสิ เวลาจิตมันเสื่อม เวลาทําอะไรสิ่งใดแล้วไม่เป็นประโยชน์ คนมันกลัวเสือ ท่านก็ให้ไปอยู่ในป่า ไปอยู่ใกล้เสือ พออยู่ใกล้เสือ พี่ชายไปเยี่ยม ไปเห็นสภาพ ไปเห็นรอยเท้าเสือ ไปเห็นเสือมันเดินไปเดินมาแถวนั้นน่ะ แล้วคิดดู น้องชายเรามันจะกลัวขนาดไหน
นี่พูดถึงท่านเล่าเองนะ หลวงตาท่านเล่าเองว่าพี่ชายไปเยี่ยม แล้วกลับไปฟ้องแม่ ไปฟ้องแม่ว่าน้องชายไปอยู่ด้วยความทุกข์ทรมานขนาดนั้น นี่พูดถึงว่ามองโดยภาพทางโลก เพราะเขารู้ของเขาอย่างนั้น
แต่หลวงปู่มั่นท่านเอาเป็นประโยชน์ไง เอาความกลัวนั้นเป็นประโยชน์ เห็นไหม เวลาท่านไปอยู่ในป่า ไปอยู่กับเสือ ท่านบอกเวลามันกลัว ด้วยความกลัวเพราะธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์มีความกลัวเป็นพื้นฐาน มีความวิตกกังวลเป็นพื้นฐาน ทีนี้พอมันกลัวขึ้นมา กลัวจนตัวสั่น
พอกลัวจนตัวสั่น ท่านใช้ปัญญาเลย ท่านใช้ปัญญา ท่านตั้งสติของท่าน ท่านใช้ปัญญาของท่านนะ อ้าว! ไปกลัวอะไรมัน มันเป็นสัตว์ เราเป็นมนุษย์ อ้าว! มันมีขน เราก็มีขน อ้าว! มันมีหนัง เราก็มี มันมีตา เราก็มี มันมีทุกอย่าง เรามีหมดเลยเห็นไหม กิเลสมันไล่กันมา ถ้ามันมีเหมือนกัน เราไปกลัวอะไรมัน ก็เหมือนกันน่ะสุดท้ายแล้ว มันมีหาง เราไม่มีหาง พอมันมีหาง ถ้าโดยกิเลสแล้ว ถ้ามันมีหางก็ต้องกลัวมันสิ เพราะเราไม่มีหาง แต่ปัญญา เห็นไหม มันมีหาง แต่ตัวมันเองมันยังไม่กลัวหางมัน แล้วเราจะไปกลัวมันทําไม นี่ปัญญามันพลิก
มันมีหาง ถ้ามันมีหาง หางเป็นคุณสมบัติพิเศษ เสือก็ต้องกลัวหางมันเองสิเสือมันไม่กลัวหางมัน หางมันเป็นประโยชน์ ไว้การทรงตัว ไว้ต่างๆ เห็นไหม มันมีหาง มันยังไม่กลัวหางมันเอง แล้วเราจะไปกลัวทําไม นี่เวลาท่านพูดอย่างนี้จบนะเวลาท่านไล่ของท่านไปแล้ว เวลาจิตมันปล่อย ท่านบอกเวลากลัวก็คนคนหนึ่งนะเวลากลัว กลัวจนตัวสั่น กลัวจนก้าวขาไม่ออก แต่เวลาพิจารณาไปแล้วนะ พอปัญญามันไล่ไปแล้ว มันปล่อยหมดนะ มันกล้าหาญมาก เสืออยู่ไหน ตัวไหนมันตัวใหญ่จะให้ตัวนั้นกินก่อน เดินเข้าหาเลย เดินเข้าหาเสือเลย เดินไปตรงนั้น ไม่มีเสือ เดินเข้าไปตรงในที่มืด ไม่มีเสือ เดินไปที่ไหนก็ไม่มีเสือ มันมีแต่สังขารมันปรุงมันมีแต่ความคิด ความกลัววิตกกังวล แล้วมันสร้างภาพขึ้นมาว่ามันเป็นเสือ เสือตัวใหญ่ๆ มันมาหมอบอยู่ข้างทางจงกรม มันจะคอยกินหัวเราน่ะ มันวิตกกังวลไปหมด นี่พูดถึงว่า ถ้ามันมีปัญญาไล่ไปมันก็จบ อันนี้มันเป็นปัจจุบันของหลวงตา เราเอามาใช้ไม่ได้หรอก
เวลาเราเอามาใช้ ถ้าเราจะไปอยู่ในป่านะ เราก็เอากรงเหล็กไปตั้งไว้ก่อนเหมือนกับเขาไปถ่ายรูปไอ้หลาม ก็ต้องมีกรงเหล็กลงไปแล้วก็ถ่ายรูปในทะเล เราจะไปอยู่ป่านะ เรากลัวมาก เราก็เอากรงไปตั้งไว้เลย ยิ่งตอนนี้ด้วยนะ ไปสร้างเลยเอาเหล็กไปอ๊อกไว้เป็นที่ป้องกันสัตว์ไว้เสร็จเลย “อ้าว! คนมีปัญญาน่ะ” มันเถียงนะกิเลสมันเถียง “ก็คนมีปัญญานี่ มันไม่ใช่คนโง่ๆ เรามีปัญญา เราก็ต้องป้องกันตัวเองสิ” แล้วก็ไปนั่งดูเสือ
เขาเรียกว่า จริตนิสัยของใคร ปัญญาของใครมันเกิดในปัจจุบัน แต่พอเราไปศึกษามาแล้วมันเป็นสัญญา เราก็จําได้ แล้วเราก็จะเอาสิ่งนี้มาเป็นสมบัติของเรามันเป็นไปไม่ได้หรอก มันต้องเป็นปัจจุบันไง ปัจจุบันหมายความว่ากิเลสมันยังไม่รู้ทันความคิดเรา เวลาความคิดมันเกิดขึ้น มันเป็นปัจจุบัน มันแยกแยะของมันในปัจจุบันนั้น มันจะได้ผลตอนนั้น ถ้าเป็นสัญญาคืออดีตอนาคต กิเลสมันมีช่องว่างมันก็คิดไป เอ็งก็คิดไปสิ กูไม่เกี่ยว ถ้ากูไม่เกี่ยว มันละไม่ได้ แต่เวลาที่มันเป็นปัจจุบัน มันหมุนไปด้วยกัน ด้วยเหตุด้วยผล เวลามันไล่ไปถึงที่สุดแล้วมันก็ปล่อยหมด ความกลัวนั้นก็หาย อันนี้พูดถึงว่าเวลาท่านประพฤติปฏิบัตินะ พอความกลัวหาย ท่านเกิดความกล้าหาญขึ้น
แต่ในสังคมปฏิบัติบางที่เขาไม่เข้าใจ เขาบอกว่า คนเรามีความกลัว พอมีความกลัวก็พิจารณาความกลัว ปล่อยความกลัว เขาบอกเขาได้โสดาบัน พอปล่อยความกลัว เขาได้สกิทาคามี ปล่อยความกลัว เขาได้อนาคามี ปล่อยความกลัว เขาเป็นพระอรหันต์
แล้วบอกความกลัว กาย เวทนา จิต ธรรม ถ้ามันเป็นเวทนา มันเป็นเวทนาได้ แต่ถ้ามันเป็นปัจจุบัน มันเป็นความจริง ไอ้ความกลัวนี้มันเป็นอารมณ์ มันเป็นอารมณ์ที่เดี๋ยวก็กลัว เดี๋ยวก็ไม่กลัว แล้วเวลาความกลัว พิจารณาไปแล้วมันปล่อยอย่างที่หลวงตาท่านพิจารณาเสือ เสือมันมีหาง มันยังไม่กลัวตัวเอง เราจะกลัวอะไรล่ะ มันกล้าหาญขึ้นมา กล้าหาญ ท่านไม่เห็นเป็นอะไรเลย ก็เพียงแต่ชนะความกลัว ชนะความกลัวเป็นชนะความกลัวนะ แต่ไอ้เรื่องอริยสัจมันไม่เป็นแบบนี้ถ้าอริยสัจมันเป็นอีกอย่างหนึ่ง นี่พูดถึงว่าความกลัวนะ ถ้าความกลัวมันเกิดขึ้นความกลัว เรามีสติมีปัญญา แล้วค่อยแยกแยะเอา
จะบอกว่า ทั้งๆ ที่ว่าตัวเองก็รู้นะ มันเหมือนหลอกตัวเอง คิดได้ แต่ทําไม่ได้เลย คิดได้ รู้ได้ ถ้าคิดทางวิทยาศาสตร์ เราก็รู้ได้ แต่มันช่วยตัวเองไม่ได้เลย เห็นไหม เพราะเราคิดตามไปไง นี่กิเลสมันรู้เท่า แต่มันก็ต้องฝึกหัด ฝึกหัดเข้าไปๆ ถ้ามันวางตรงนี้ได้ ชีวิตของเราก็จะสะดวกขึ้น การภาวนาเราก็จะดีขึ้น
ความกลัว ความกลัวมันก็เหมือนมารยาท ใครฝึกหัดมารยาทก็รู้จักเข้าสังคมได้ เข้าสังคมแล้วมันก็ไม่เคอะไม่เขิน นี่ก็เหมือนกัน เราจะประพฤติปฏิบัติ มีปัญญา เราก็แยกแยะของเรา อะไรควรไม่ควร มันก็วางได้ พอวางได้ เราก็จะปฏิบัติไปข้างหน้า
ไอ้นี่พูดถึงว่าความกลัวไง แต่ความกลัวมันมีอยู่ในทุกดวงจิต ผู้ถามไม่ต้องน้อยใจ ใครๆ ก็คิดอย่างนี้ ใครๆ ก็มีความคิดอย่างนี้เหมือนกัน แต่ความคิดอย่างนี้ ความคิดแบบนี้ ถ้าเขาใช้ปัญญาของเขาเป็นประโยชน์ของเขาก็เป็นประโยชน์ของเขา แต่ของเรา เราจะเอาประโยชน์กับเรา เพราะพอมันผ่านความกลัวเข้าไป เขาบอกว่า เขาเป็นคนที่ชอบความสงบ ชอบความเงียบ ไม่ชอบความวุ่นวายเลย แต่ทําไมมันกลัว
อ้าว! ถ้าอย่างนี้ เราชอบความสงบ เราชอบความเงียบแล้ว มันจะไม่มีอะไรเลย จะเป็นพระอรหันต์ไปเลยหรือ ชอบก็ส่วนชอบสิ กิเลสก็ส่วนกิเลส มันไม่เกี่ยวกันน่ะ เราชอบที่สงบสงัด เราชอบ เราชอบที่ปลอดภัย เราชอบที่จิตมันจัดสรรให้บอกที่นี่ปลอดภัย ที่นี่สงบสงัด แต่เวลาเราไปที่สงบสงัดขึ้นมา ที่ครูบาอาจารย์ท่านไปวิเวก ท่านไปเที่ยวป่าช้า ท่านไปเที่ยวที่มีสัตว์มีเสือ ก็นี่ไง ก็ไปคุ้ยกิเลสมันออกมาไง เวลาเราปฏิบัติ เราก็ต้องการไง ต้องการเอาสิ่งความกลัวมันไม่ให้เราคิดมากไง
ถ้าเราอยู่สุขสบาย มันคิดร้อยแปดเลย พอความกลัว พอกลัวเสือ กลัวผี มันหาพุทโธเลย มันหาที่พึ่งไง พุทโธๆๆ จนจิตมันสงบได้ เห็นไหม แต่ถ้ามันไม่ไปหาความกลัว มันก็คิดไปเลย นั่งภาวนานู่นน่ะ เห็นสวรรค์นรกไปทั่ว มันเที่ยวไปทั่ว ส่งออกไปทั่ว มันก็เลยต้องไปป่าช้า นั่นเขาเอาความกลัว เอาสิ่งนี้มาบีบคั้นมาป้องกันตัวเองไม่ให้ตัวเองส่งออก เขาใช้ประโยชน์จากมันไง
แต่ตอนนี้โยมไม่ได้ประโยชน์จากมัน เพราะว่ามันจี้ใจดํา ใครมันมีข้อบกพร่องในใจ มันก็จะเป็นโทษนั้นน่ะ อันนี้พูดถึงถามความกลัวนะ แล้วอันนี้คนเดียวกันเลย
ถาม : เรื่อง “ทุกครั้งที่นั่งสมาธิและเดินจงกรมฟุ้งตลอดเวลา”
ไม่ว่าจะเดินหรือจะนั่ง จิตฟุ้งซ่านตลอดเวลา ทุกครั้งที่เผลอก็จะหลุดไปคิดตลอด แต่พอนึกขึ้นมาได้ก็จะพุทโธต่อไปเรื่อยๆ แล้วก็จะเผลออีก เป็นอย่างนี้ตลอดทุกครั้ง และเวลานั่งก็จะไม่เคยได้ความสงบเลย จิตมันฟุ้งจนรู้สึกรําคาญตัวเอง จนบางครั้งไม่อยากจะนั่ง เลยรู้สึกอึดอัดและรําคาญตัวเองจริงๆ
ตอบ : ตัวเรานี่ไม่มีความดีเลย ทั้งไม่พอใจ ตัวเราไม่มีอะไรดีเลย มันไม่มีอะไรดีเพราะเวลากิเลสมันพาออก
ตัวเราไม่มีอะไรดีได้อย่างไร ตัวเรา ดูสิ เวลาเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา มันฟุ้งไปตลอดเลย ถ้ามันฟุ้ง เรากําหนดพุทโธไม่ได้ เรามีสติปัญญาของเรา ใช้ปัญญาอบรมสมาธิเลย อ้าว! ให้คิดไป ตามความคิดไปเลย ตามความคิดไป ถึงเวลาถ้ามันเท่าทันความคิดมันก็หยุดของมัน ถ้ามันหยุดได้ เห็นไหม ถ้ามันหยุดได้
ทําสิ่งใดมันหงุดหงิด มันหลุดตลอด มันทําอะไรไม่ได้ประโยชน์เลย เพราะเวลาคนทํางาน เขาเรียกว่านักแสดงเขาต้องเป็นธรรมชาติ ไปแสดงเก้ๆ กังๆ เขาไม่มีใครดูหรอก เขาต้องทําให้เป็นธรรมชาติ แล้วมันก็ทําเป็นธรรมชาติไม่ได้ เว้นไว้แต่มันเผลอ ถ้าไม่แสดงนี่เป็นธรรมชาติ พอแสดงขึ้นมา ไม่เป็นธรรมชาติทันทีเลย
นี่ก็เหมือนกัน เวลาไม่ปฏิบัติมันก็เป็นปกติ เวลาเอาจริงเอาจังขึ้นมา ฟุ้งทุกทีเลย แล้วเวลาไม่ปฏิบัติมันฟุ้งไหม มันจะฟุ้งทั้งวันทั้งคืนเลยหรือ ก็ไม่เห็นมันฟุ้งเลย แต่พอจะปฏิบัติ ฟุ้งทุกทีเลย
นี่ก็เหมือนกัน เวลาจะเข้ากล้องทีไรไปไม่เป็นเลย เวลาอยู่คนเดียว โอ้โฮ! คนนี้มีแวว คนนี้มีแวว พอเข้ากล้องเท่านั้นแหละ โอ้โฮ! กลายเป็นท่อนไม้ไปเลย ทําอะไรผิดไปหมดเลย
เห็นไหม มันฟุ้ง นี่เขาเรียกตัณหาซ้อนตัณหา ถ้าเราไม่ทําอะไรเลยก็ไม่เห็นมีอะไร เราไม่ทําอะไร มันก็ปกติ แต่เวลาจะเอาจริงเอาจังขึ้นมา มันฟุ้งไปเลย กิเลสมันทันน่ะ กิเลสมันคอยกีดคอยขวางมาตลอด ถ้ากิเลสคอยกีดคอยขวางมาตลอดแล้วเราก็เอาจุดนี้เป็นประเด็น มันไปไหนไม่รอดหรอก ถ้ามันไปไหนไม่รอดนะ อันนี้เขาเรียกว่าจริตนิสัย
ถ้าวาสนาของคน เราจะปฏิบัติก็ธรรมดานี่ไง ธรรมะคือธรรมดา ธรรมะคือสัจจะ มันเป็นเรื่องปกติชีวิตประจําวัน โอ้โฮ! เวลาจะปฏิบัติธรรมทีหนึ่งต้องดอกบัว ๕ ชั้น ๖ ชั้น จะไปนั่งบนนั้นน่ะ ทําเสียใหญ่โต แล้วนั่ง ๒ นาที เลิก จัดที่นั่งภาวนานี่จัดที่เกือบตาย นั่ง ๒ ที อ้าว! พอ เลิก กลับบ้านได้
มันเรื่องธรรมดา ธรรมะคือความเป็นธรรมดา คือชีวิตประจําวันนี่ แล้วชีวิตประจําวันมีสติปัญญาขึ้นมา รู้เท่า สติเรารู้เท่าตัวเราเอง ถ้ารู้เท่าตัวเราเอง แค่นี้แหละ ปฏิบัติจะเอาอะไร
เวลาหลวงตาท่านพูด เวลาปฏิบัติไปแล้ว เวลามันเคร่งครัด เวลามันจริงจังไอ้นั่นก็ถูกต้อง มันถูกตรงนั้นไง แต่ถ้ามันละเอียดขึ้นไป มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียดไง คําว่า “มรรคหยาบ มรรคละเอียด” คือว่าสิ่งหยาบๆ จิตเราละเอียดไม่ได้ อารมณ์ความรู้สึกเรามันจะละเอียดลึกซึ้งเข้าไป ถ้าละเอียดลึกซึ้งเข้าไป มันจะละเอียดเข้าไปๆ ถ้าละเอียดเข้าไป มันต้องพัฒนาขึ้นไป
แต่ถ้าเวลาเริ่มต้น ก่อนที่จะละเอียด มันมาจากไหนล่ะ เราไม่เริ่มต้น เราไม่มีจุดยืน เราไม่มีจุดสตาร์ต มันจะไปตรงไหนล่ะ นี่ไง เวลาจะปฏิบัติ ปฏิบัติเอาอะไรมาปฏิบัติล่ะ เอาอะไรปฏิบัติ เอาความคิดปฏิบัติไง ถ้าเอาความคิดปฏิบัติ มันก็สร้างภาพ ทําอะไรก็ได้ คิดจินตนาการได้หมด แต่จริงๆ ไม่รู้อะไรเป็นอะไร ไม่รู้เลย แต่เรามาเถียงกันนี่เก่ง เก่งเพราะอะไร เพราะว่าไปเอาธรรมะของพระพุทธเจ้าไปเล่าธรรมะพระพุทธเจ้าเลย เอามาตั้งโจทย์แล้วเถียงกัน แล้วตัวเองไม่มีประโยชน์ ตัวเองไม่มีคุณสมบัติเลย
แต่ถ้าเป็นความจริง อ๋อ! สติเป็นแบบนี้ ถ้าสมาธิ จิตสงบ แล้วปัญญา โอ๋ย! มันจะพูดเองเลยว่าปัญญาทางโลกกับปัญญาทางภาวนาจะแตกต่างกันเลยถ้าเราได้ปัญญาจริงๆ ถ้ามันได้ปัญญาจริงๆ เห็นไหม ยืนกระต่ายขาเดียวเลย ถ้าภาวนามยปัญญาจะเป็นแบบนี้
ไอ้สิ่งนั้นมันจินตนาการทั้งนั้น เพราะมันจินตนาการทั้งนั้น คุณสมบัติอย่างนั้นมันจะให้ผลอย่างนั้น แต่ถ้ามันเป็นภาวนามยปัญญา มันแสดงออกจากจิต คนเราถ้าจิตมันมีสามัญสํานึก จิตที่มันแสดงออก มันกลัว มันกลัว มันระวัง มันสงวนมันรักษา มันถนอม ถ้ามันถนอมแล้ว เรามีคุณวิเศษ มีความจริงในใจ แล้วกิริยาภายนอก ถ้ามันออกไป มันจะพาให้เสื่อม คนที่มีสติปัญญาเขาจะออกมาไหม
ถ้าเขาจะไม่ออกมา การเดิน การเหยียดการคู้ เขาระวังตัวของเขา ถ้าระวังตัวของเขา คนปฏิบัติมองคนปฏิบัติออก ถ้าคนปฏิบัติอย่างนั้นน่ะ เราจะหลีกเขาเลย ให้เขารักษาของเขา เราอย่าไปกีดไปขวาง เว้นไว้แต่เวลาเพื่อนฝูงเขาแหย่เล่นกัน นั่นอีกเรื่องหนึ่ง นี่ถ้ามันเป็นจริง มันเป็นจริงแบบนั้น
นี่พูดถึงทําอะไรมันฟุ้งทุกครั้งเลย มันฟุ้งมันซ่านจนอึดอัดรําคาญตัวเอง
เวลาจะปฏิบัติธรรมไง แล้วก็บอกว่าฉันจะเป็นคนดีไง พอฉันจะเป็นคนดี ทุกคนยกมือขึ้น ฉันเป็นคนดี...มันไม่มีหรอก
นี่ก็เหมือนกัน เวลาจะปฏิบัติมันต้องให้สงบราบคาบไปทุกอย่าง ทุกอย่างจะเปิดโล่ง...ยัง ยังไม่รู้จักกิเลสของตัวเองหรอก กิเลสของเรานี่แหละ ถ้ามันสํามะเลเทเมา มันเปิดทางโล่งเลย ถ้าจะทําคุณงามความดี มันปิดทางเลย มันปิดทางอย่างนี้มีอุปสรรคไปหมด ทําอะไรผิดพลาดไปหมด ผิดพลาดจนตัวเองเบื่อเลย แต่ถ้ามันจะไปทําสํามะเลเทเมานะ โอ้โฮ! ทางโล่งสะดวก ไปได้เลย...ยังไม่รู้จักกิเลส
ถ้ากิเลส ทําไมต้องฝืนล่ะ เราฝืนๆ กันนี่ฝืนอะไร
เราฝืนความพอใจของเรานี่แหละ ฝืนความคุ้นชินของมันนี่แหละ อยากไป ไม่ไป อยากทํา ไม่ทํา ฝืนมันตลอดๆ ฝืนคือฝืนกิเลส ฝืนเรานี่ฝืนความรู้สึก ฝืนอารมณ์เราคือฝืนกิเลส เพราะกิเลสมันก็อาศัยอารมณ์เรา อาศัยสติปัฏฐาน ๔ เป็นทางออกไปหาประโยชน์ของมัน ถ้าเราจะเอาความจริง เราก็ฝืนมันไง ฝืนมัน จะไปไม่ไป
ไอ้นั่นบอก “ไม่ไปไม่ได้ ไม่ไป ผิด”
มันหลอกตัวเองตลอด ฝืนมันเลย ถ้าฝืนมันนะ ฝืนมันใหม่ๆ ฝืนไป จนมันทําจนมันมีหลัก พอมันทํามีหลัก มันเข้าใจ อ๋อ! ถ้าเราไปตั้งแต่ตอนนั้นนะ ป่านนี้เราก็เสียไปแล้ว เห็นไหม ตอนนั้นน่ะมันอยากไป เราก็ไม่ไปกับมัน ตอนนี้เราเลยยังเป็นนักปฏิบัติอยู่นี่ไง แต่ถ้าตอนนั้นมันยุมันแหย่ แล้วเราไปกับมันนะ จบแล้วครับพอไปแล้วมันไม่กลับแล้ว เพราะกลับไปทุกข์ มันไม่เอา เพราะไปแล้วมันสบายสบายของใคร สบายกิเลสไง กิเลสมันลากเอาไปเป็นขี้ข้ามันไง มันลากเอาไปสับไปยําไง พอมันลากไปอย่างนั้นก็ชอบ แต่เวลาฝืนมันเป็นอย่างนี้ อย่างที่ถามมานี่มันอึดอัดขัดข้อง มันฟุ้งซ่าน มันทุกข์ มันไม่มีอะไรเลย...นี่แหละสู้กับมัน สู้กับมันจนมันสงบระงับนะ
ดูสิ เขาดับไฟป่า ไฟป่าเวลามันแผดเผาไปทุกอย่างเลย ถ้าผู้ดับไฟป่า ไฟป่ามันดับแล้ว สิ่งที่มันเผาผลาญมามันก็เป็นปุ๋ย เมล็ดพันธุ์พืชที่มันโดนความร้อนมันจะแตก แล้วมันจะตกดิน มันจะงอกขึ้นมาใหม่
ถ้าเราฝืน ฝืนจนเราควบคุมได้นะ เดี๋ยวต้นไม้มันจะงอกงามขึ้นมา ถ้าฝนตกมันได้ความชุ่มชื้น ป่ามันจะฟื้นฟูขึ้นมา พอเห็นความฟื้นฟูขึ้นมา เราจะ อ๋อ! กิเลสมันร้ายขนาดนี้เชียวหรือ
ทีนี้เวลาเราฟังธรรมๆ เราอยากได้ธรรมะกัน แต่เราไม่รู้จักกิเลส เราไม่รู้จักกิเลสมันกีดขวางอย่างไร มันทําอย่างไรให้เรามีอุปสรรคไง นี่ไง ว่าทําดีๆ แล้วไม่ละความชั่วล่ะ ไม่ละสิ่งที่กิเลสมันลากไปล่ะ นั่นล่ะต้นเหตุต้นขั้วของมันเลยล่ะ มันลากไปนั่นน่ะ แล้วมันลากไป มันอยู่ไหน มันก็คือเราไง
ถ้าอะไรที่มันสะดวกสบาย อะไรที่มันพอใจ มันก็ชอบใจ มันก็ไปกับเขา แต่ที่มันเป็นธรรม โอ๋ย! เป็นธรรมนั่นฝืนหมดเลย อย่างที่ว่า จะไปก็ไม่ไป จะทําก็ไม่ทําฝืนทุกอย่างเลย นี่ประพฤติพรหมจรรย์ พรหมจรรย์คือหนึ่งเดียว พรหมจรรย์คือความสงบสงัด ถ้ามันสงบได้มันก็เป็นความจริงของเรา นี่พูดถึงความจริงนะ
นี่พูดถึงว่าเวลาเริ่มต้น คนถามคนเดียวกันไง “ทําอย่างไรจะละความกลัวให้หาย เพราะความกลัวคืออุปสรรค อันนี้ทุกครั้งที่นั่งสมาธิและเดินจงกรมฟุ้งตลอดเวลา”
ค่อยๆ นะ พูดถึงเวลาผู้ที่ปฏิบัติใหม่ ผู้ที่มีเจตนาดีไง คนมันเหมือนเด็ก เหมือนคนทํางานใหม่ เวลาเข้าไปฝึกงานทํางานก็บอกว่า เราตั้งใจ เราทําดี โอ้โฮ! เราตั้งใจเต็มที่เลย แต่ทําอะไรมันผิดไปหมดเลย โดนเอ็ดตลอดเลย ทําไมเป็นแบบนั้น ทําไมคนคอยจับผิด...ไม่ใช่หรอก เพราะเราไม่เป็น
นี่ก็เหมือนกัน เริ่มต้นใหม่มันจะเป็นอย่างนี้ มันมาด้วยความศรัทธาไง เห็นไหม เราอยู่ทางโลก ชีวิตเราก็ไม่เห็นมีอะไรเลย ชีวิตเราก็ดูปกติ พอจะมาปฏิบัติโอ้โฮ! นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ ไม่มีอะไรได้สักอย่างเลย แต่ถ้าไม่ปฏิบัติ จบง่าย ไม่มีอะไรเลย สบาย
นี่ไง พอมันเข้ามาเป็นอย่างนี้ เหมือนคนทํางานใหม่ ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ ที่เราพูดนี่เราเห็นใจผู้ที่ปฏิบัติใหม่ เวลาปฏิบัติใหม่ เราจะเริ่มต้นกันอย่างไร ถ้าเริ่มต้นนะเห็นไหม ธรรมะคือธรรมดา คือธรรมดานี่แหละ อย่าไปเกร็ง อย่าไปเกร็ง อย่าไปเครียด ธรรมดานี่แหละ เฉยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ ธรรมดา ธรรมดาเรานี่ ชีวิตประจําวันนี่ ไม่มีอะไรพิเศษ แล้วพุทโธไป
นี่พอบอกปฏิบัติธรรม โอ้โฮ! มันต้องมีพิธีรีตองแล้ว โอ้โฮ! ใหญ่โตเลยเพราะจะปฏิบัติธรรม ธรรมมันเหนือโลก โอ้โฮ!
เหนื่อยตอนทําพิธีนั่นน่ะ แล้วก็ไม่ได้ปฏิบัติเลย เวลาจะปฏิบัติก็ฟุ้งอย่างนี้แล้วเวลากลัวก็กลัวอย่างนั้นน่ะ
ฉะนั้น ถ้าเรามีเจตนามีความเชื่อแล้ว เราตั้งใจของเรานะ
ความกลัว ความกลัวมันเป็นสามัญสํานึกของสิ่งมีชีวิต กลัวเป็นกลัวตายกลัวทุกข์กลัวยาก กลัวทุกอย่าง นี่ความกลัว แต่ให้มันกลัวอยู่ในขอบเขต ให้มันเป็นความจริงขึ้นมา
แล้วเวลาจะประพฤติปฏิบัติ มันจะฟุ้งมันจะซ่านอะไร เราตั้งสติไว้สิ เราตั้งสติไว้ หลวงตาบอกว่า สติเท่าฝ่ามือสามารถกั้นคลื่นทะเลได้ เพราะคลื่นทะเลเป็นคลื่นทะเล แต่เวลาความฟุ้งซ่านมันออกมาจากจิต มันออกจากจิต เห็นไหม ถ้ามีสติ เหมือนฝ่ามือ ฝ่ามือ “มารเอย เธอเกิดจากความดําริของเรา” ถ้าเราอยู่กับเราเราพุทโธของเราอยู่ที่จิต ไม่ดํารินอกเรื่องนอกราว เราพุทธานุสติ มันสามารถกั้นได้ ฝ่ามือสามารถกั้นคลื่นทะเลได้หมดเลย พายุโหมมาขนาดไหน ถ้าตั้งสติไว้นี่ระงับได้หมดเลย ผู้ที่ทําได้จริงมีความมั่นใจขนาดนั้น แล้วทําได้จริง
ของเราก็เหมือนกัน ถ้าผู้ที่ทํา ทําได้ทั้งนั้นน่ะ เพียงแต่ผู้ฝึกหัดใหม่มันก็เป็นอย่างนี้ มีอุปสรรคอย่างนี้ มีอุปสรรคเพราะอะไร เพราะมันเป็นปัจจัตตัง ปัจจัตตังในทางกิเลสไง ปัจจัตตังในการรู้การเห็นความฟุ้งซ่านนี่ไง
ถ้ามันฟุ้งมันซ่าน มันทุกข์มันยาก เราก็ดูแลมันไป รักษาสิ่งนี้ไว้ รักษาสิ่งนี้ไว้แล้วฝึกหัด อย่าทิ้ง ถ้าทิ้งนะ จุดเริ่มต้น เราจะเริ่มต้นออกสตาร์ต แล้วมันไปไม่ได้เราก็โยนทิ้งเลย แล้วชีวิตนี้ การเกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยาก แล้วเกิดเป็นมนุษย์แล้วถ้ามีศรัทธามีความเชื่อในการประพฤติปฏิบัติหาได้ยาก
เวลาปกติคนเต็มเลย บอกว่า อ้าว! นั่งสมาธิ...เหลือ ๒ คน หายหมด หายหมดเลย มันไม่มีใครเอา นี่มันยากอย่างนี้ไง มันน้อยคน เวลาเอาละเอียดเข้ามาเหลือน้อยๆ เหลือน้อยลงเรื่อยๆ แล้วเราเป็นคนหนึ่งที่มีศรัทธา เราเป็นคนหนึ่งที่เราจะประพฤติปฏิบัติ เราเป็นคนหนึ่งที่ตั้งใจ ถ้ามีอุปสรรค แก้เอา อุปสรรคนี่
ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เราเป็นคนทํามาเอง เหตุผลของเราเป็นอย่างนี้ เราได้สร้างเวรกรรมมาอย่างนี้ มันถึงให้ผลเรามาอย่างนี้ แต่ยังมีบุญที่ได้มาสนใจ ที่ได้มาประพฤติปฏิบัติ ที่ได้มากระทํา ที่ได้มาค้นคว้าตัวเองไง
เหมือนคนเจ็บไข้ได้ป่วย คนเจ็บไข้ได้ป่วยเขารู้จักรักษาตัวเอง เขามีโอกาสหาย คนโดยทั่วไปเขาเจ็บไข้ได้ป่วย แต่เขาไม่รู้ตัวว่าเขาเป็นคนป่วย นั่นน่ะความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นมันจะลามไปเรื่อย
นี่ก็เหมือนกัน คนเกิดมามีอวิชชา มีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เหมือนคนป่วย จิตมันป่วย จิตมันมีเชื้อโรคของมันอยู่ แล้วจิตที่ป่วยนั้นเขามีสติมีปัญญาเขาพยายามรักษาจิตของเขา เป็นคนที่พยายามรู้ตัวเองว่าป่วยแล้วรักษา มันมีโอกาสไง
แต่คนที่เขาเกิดมาเขาเป็นผู้ป่วยเหมือนกัน เขามีอวิชชาเหมือนกัน มีกิเลสตัณหาความทะยานอยากเหมือนกัน แต่เขาไม่รู้ตัว แล้วเขาไม่ยอมรับตัวเองว่าเขาป่วย เขาจะมีโอกาสไหม
ถ้าเราเทียบอย่างนี้ เราคิดอย่างนี้ปั๊บ เราจะมีกําลังใจขึ้นมาทันทีเลยว่า เราเป็นคนป่วยคนหนึ่งที่เราพยายามจะรักษาตัวเราเอง เราพยายามจะประพฤติปฏิบัติเราเอง เรามีโอกาสแล้ว คนอื่นเขายังมืดบอดอยู่ เขายังไม่สนใจอยู่ เขายังไม่มีศรัทธาความเชื่อที่จะกระทําเหมือนเรา ถ้าคิดอย่างนี้ได้ เราดีกว่าเขาแล้ว ไอ้ความกลัวนั้นมันเป็นสมบัติส่วนตน ไอ้ความฟุ้งซ่านมันก็จริตนิสัย แล้วเราแก้ไขของเราไป เราจะปฏิบัติของเราไป เอาความจริงของเรา
ถาม : เรื่อง “พุทโธจากใจ”
กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ หลังจากที่ได้ฟังหลวงพ่อตอบคําถามเรื่อง“ธรรมะไม่มีวันแก่” ลูกก็ได้มีหลักใจ ตัดความกังวลออกไป แล้วกลับมาอยู่กับการปฏิบัติปัจจุบันที่ตัวเราสามารถควบคุมและทําได้ ช่วงหลังนี้ลูกจึงได้เว้นจากการเขียนคําถาม แล้วไปฝึกฝนตนเองให้มากเสียก่อน แต่ตอนนี้มีข้อสงสัยที่อยากกราบเรียนถามเมตตาหลวงพ่ออีกเจ้าค่ะ
๑. ตั้งแต่วันที่ได้ฟังเทศน์คําตอบแล้วรู้สึกว่าจิตลูกมันนิ่งขึ้น ไม่หวั่นไหวถึงอนาคตว่าเราจะปฏิบัติภาวนาไปได้ไกลแค่ไหน เพราะยอมรับว่า ทุกอย่างเราทํามาเอง และจะเป็นอย่างไรต่อไปก็ขึ้นอยู่กับการกระทําของเรา กาลเวลาที่เราได้มาและสิ่งที่เราทําก็คือเดิมพันที่เราจะสร้างเพื่อเดินต่อไป ตอนนี้ยามที่ลูกปฏิบัติตามปกติ เดินจงกรม นั่งสมาธิ รู้สึกว่าจิตใจมันนิ่งๆ เฉยๆ ความคิดฟุ้งซ่านนี้มีน้อยปกติความคิดมันแทรกมาตลอดเวลา ใจนิ่งเฉยแบบนี้ปกติหรือเปล่าเจ้าคะ
๒. ที่ผ่านมา ลูกตั้งใจปฏิบัติพุทโธให้ต่อเนื่องทั้งในยามฝึกปฏิบัติและขณะอยู่ในชีวิตประจําวัน เช่น หลังๆ เวลานั่งสมาธิรู้สึกว่าฐานของการปฏิบัติจะเกิดขึ้นที่กลางอกลิ้นปี่ พอเริ่มปฏิบัติ พุทโธก็จะออกมาที่ลิ้นปี่และแทบจะไม่สนใจลมหายใจเลย รู้สึกว่าสงบเร็วมาก ความคิดแทรกก็ไม่ค่อยมี รู้สึกเหมือนว่าพุทโธออกมาจากใจจริงๆ ต่างจากแต่ก่อนที่ลูกฝึกบริกรรมพุทโธแล้วอาจจะใช้ความคิดในการนึกคําบริกรรม ความคิดเลยแทรกตลอด ไม่ค่อยสงบเลย ลูกทําอย่างนี้ถูกหรือผิดเจ้าคะ
๓. โดยปกติในชีวิตประจําวัน ลูกมักจะพิจารณาสิ่งรอบๆ และอารมณ์ที่มากระทบเพื่อให้มีสติรู้ทัน และใช้สอนตัวเอง มีวันหนึ่งที่ลูกไปช่วยงานอาสาที่ต้องเจอผู้คนหลากหลาย ก็เห็นว่ามีอารมณ์มากระทบมากมาย ก็ดูไป แล้วจู่ๆ ก็มีความคิดแว็บขึ้นมาว่า ไอ้ตัวที่กําลังมองดูคนอื่นน่ะ มันดูตัวมันเองบ้างหรือเปล่ารู้สึกแปลกใจแล้วคิดขึ้นมาว่า เอ๊ะ! จริง ดูข้างนอกแล้วต้องย้อนดูข้างในด้วยนะคะกราบขอความเมตตาหลวงพ่อด้วย
ตอบ : นี่กราบขอความเมตตาเนาะ เอาข้อ ๑. ก่อน ไอ้ปฏิบัติมันส่วนปฏิบัติปฏิบัติไปแล้วมันอยู่ที่ปัจจัตตังนะ เวลาเขาปฏิบัติไป “เวลาปฏิบัติไป เวลาจิตมันนิ่ง ถ้าจิตมันนิ่ง มันนิ่งมันเฉยอยู่ อย่างนี้เป็นปกติหรือเปล่าเจ้าคะ”
มันยิ่งกว่าปกติอีก เพราะปกติแล้วคือความสงบไง สิ่งที่ฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านโดยสัญชาตญาณของมัน ถ้ามันดีขึ้น ถ้ามันนิ่งอยู่ ถ้ามันเฉยอยู่ ถ้ามันนิ่งอยู่เฉยอยู่ต้องมีสตินะ ถ้านิ่งอยู่เฉยอยู่ ขาดสตินะ อันนั้นจะเหตุแห่งการลงภวังค์
เช่น กําหนดพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เรามีสติปัญญาอยู่ เรารักษาดูแลอยู่ พุทธานุสติ กําหนดพุทโธๆๆ มันละเอียดเข้าไปๆ แต่ถ้ามันนิ่งอยู่ นิ่งอยู่คือมันไม่มีคําบริกรรมไง หลวงตาใช้คําว่า “ไม่มีบริกรรม”
เมื่อก่อนมีคําบริกรรมคือมันเกาะ คําบริกรรมคือความชัดเจน คือการทํางานอยู่ เหมือนเขียนหนังสืออยู่ มันก็เขียนหนังสืออยู่ด้วยการเขียนหนังสือ ถ้าหยุดเขียน มันจะสัปหงกแล้ว มันจะหลับ
แต่เราเขียนอยู่ เราเขียนอยู่ เห็นไหม เราเขียนอยู่ บริกรรมก็เหมือนเขียนอยู่บริกรรมคือจิตมันทํางานอยู่ ถ้าทํางานอยู่ มันต้องมีคําบริกรรมพุทโธๆ ไป ถ้ามันนิ่ง นิ่งเพราะมันละเอียด นิ่งเพราะมันละเอียด ถ้ามันนิ่งเพราะละเอียด ถ้ามันระลึกไม่ได้ อันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้ามันเฉยอยู่ เฉยอยู่ ถ้ายังระลึกได้ เราควรระลึกต่อไป ถ้าระลึกต่อไปเพราะอะไร เพราะต้องการให้มันมีที่เกาะ คือป้องกันการตกภวังค์
เวลาตกภวังค์ วูบหายไปเลย เวลาตกภวังค์นะ ถ้าตกภวังค์ไป พอตกภวังค์แล้ว ส่วนใหญ่คนที่มันขาดสติ มันตกภวังค์แล้วมันเข้าใจผิด “โอ้โฮ! สมาธิมันดีขนาดนี้” มันลงภวังค์ไปแล้วนะ มันยังบอกเลย “โอ้โฮ! สมาธินี้มันลึกลับซับซ้อน” มันไม่รู้หรอกว่ามันหลับไปแล้ว แล้วพอสะดุ้งตื่นขึ้นมา โอ้โฮ! ออกจากสมาธินี่สดชื่น แต่พอนานไปๆ มันจะรู้ตัว
คนตกภวังค์ไม่รู้หรอก เหมือนเรา เราทําผิด เราไม่รู้ว่าผิด เราเห็นคนผิดหมดนะ อ้าว! คนนั้นก็ผิด คนนี้ก็ผิด คนนู้นก็ผิด คนนี้ก็ผิด แต่ตัวเองทําผิดไม่รู้ แปลกเราเป็นเองนี่ไม่รู้หรอก ศึกษาทางวิชาการมานี่รู้หมด ไอ้นี่เป็นอย่างนี้ๆ เวลาใครมาถามฉัน ฉันบอกได้หมด แต่เวลาฉันตกภวังค์ ฉันไม่รู้ตัวก็แล้วกันแหละ สะดุ้งตื่นขึ้นมาแล้วเป็นอย่างนั้นเลย
นี่พูดถึงถ้าขาดคําบริกรรม คําบริกรรมมันสําคัญตรงนี้ไง เพราะคําบริกรรมมันบริกรรมอยู่ จิตมันทํางานของมันอยู่ ถ้าละเอียดพร้อมกับสติปัญญา มันละเอียดเข้าไปอย่างนั้น แต่ถ้ามันนิ่งอยู่เฉยอยู่เป็นปกติหรือเปล่า
ปกติแล้วเราไม่ทําอะไรเลยก็อยู่ปกติ แต่ถ้าเราอยากได้สมาธิ เราอยากให้จิตสงบ เราต้องมีคําบริกรรม คําบริกรรมหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ คือมีการกระทําคือไม่มีของฟรี มันจะได้มาเพราะการกระทํา
แล้วอย่างที่ผู้ชํานาญ เราไม่อยากจะพูดเนาะ เวลากําหนดพุทโธ เรากําหนดเฉยๆ เข้าเลย เพราะอะไร เพราะมันชํานาญ คนชํานาญมันทําอะไรก็ได้ แต่คนไม่ชํานาญน่ะ
คนชํานาญกําหนดปั๊บ ได้เลย เพราะอะไร เพราะชํานาญในวสี ชํานาญในการเข้าออก กูทําทุกวัน ทําจนมันเป็นเรื่องปกติ แต่มันต้องชํานาญนะ นี่ไม่ค่อยอยากพูด เพราะพูดไปแล้ว “เออ! หลวงพ่อก็ทําได้ หนูก็จะทําบ้าง” เละเลย ไปไหนมา สามวาสองศอก
มันอยู่ที่ผู้ชํานาญ ผู้ชํานาญเขาทําได้ จะบอกว่าทําได้ ได้ แต่มันส่วนน้อยไงคนที่ต้องชํานาญจริงๆ ชํานาญจริงๆ ทําได้ แต่ถ้าไม่ชํานาญ เฉยอยู่ๆ เดี๋ยวเรียบร้อย ฉะนั้น มันเฉยอยู่นะ ถ้ามันลง เดี๋ยวมันเป็นผลเสียหาย
พอเสียหายแล้วนะ กว่าจะเข้าใจว่าเสีย กว่าจะเข้าใจว่าเราผิดพลาดนี่ โอ้โฮ! มันต้องหาเหตุผลมา เพราะคนเราส่วนใหญ่พอทําไปแล้วมันจะคิดว่าเรานี่ทํางานได้ผล แล้วพอทํางานได้ผลปั๊บ “เอ๊ะ! ได้ผล ทําไมเป็นอย่างนี้ ธรรมะพระพุทธเจ้าทําไมเป็นอย่างนี้ ทําไมครูบาอาจารย์สอนทําไมเป็นอย่างนี้ มันไม่เป็นอย่างที่ท่านพูดเลยนี่” กว่าจะหาเหตุหาผล กว่าจะพิสูจน์ตรวจสอบ “เออ! น่าจะผิด” น่าจะนะแล้วพอหาเหตุผลต่อเนื่องไป “เออ! ใช่ๆ ผิด ใช่ๆ” พอหาเหตุผลต่อไปนะ “เออๆถ้าผิดแล้วเราหาทางออก”
กิเลสมันไม่ยอมหรอก ไอ้คนหลงน่ะ โธ่! มันหลงมา หลงไปแค่ไหนไม่รู้ เตลิดเปิดเปิงไปเลย มันบอกนี่นิพพาน นิพพานเป็นอย่างนี้ นิพพานเหมือนหมาบ้า โอ๋ย! วิ่งกําลังหาอยู่นี่ นิพพาน...มันไม่รู้ตัวหรอก กิเลสนี้ร้ายนัก มันปิดหูปิดตา ลําบากมาก
นี่พูดถึงว่าถ้ามันนิ่งอยู่นะ ถ้าใจมันนิ่ง นิ่ง แล้วเวลามันเฉยอยู่
“๒. กําหนดพุทโธๆ ตั้งใจกําหนดคําบริกรรม ที่ว่ามันออกมาจากลิ้นปี่ มันพิจารณาออกมาจากใจ”
ถ้าออกมาจากใจ เห็นไหม เวลาผู้ที่ปฏิบัติใหม่ ถ้ามันไม่ได้ นึกเอาเลย ถ้ามันยังไม่ได้ พูดเลย พุทโธๆ พูดเลย พูดเลย พูดพุทโธๆ จนมันคล่องแคล่ว แล้วหยุดปากซะ นึกเอา นึกพุทโธๆๆ
ทีแรกถ้ามันพุทโธแล้วมันยังแส่ส่าย พุทโธแล้วมันยังไม่ได้ผล ให้พูดออกมาที่ปากนี่เลยแหละ พุทโธๆๆ อย่างนี้เลย พูดออกมาเลย ให้มันชัดเจน แล้วพอมันละเอียดเข้าไป เราค่อยระงับคําพูดนั้นซะ แล้วให้กลายเป็นนึก เห็นไหม พุทโธๆนึกขึ้นมา
ถ้ามันจะละเอียดเข้าไป มันนึกไม่ได้ มันนึกคือมันส่งออก เพราะส่งออกมาแล้วมันส่งไปทั่ว เราเลยส่งไปที่พุทโธ คําบริกรรม พุทโธๆ จนมันพุทโธไม่ได้ มันนึกไม่ได้ มันเป็นตัวมันเอง มันนึกไม่ได้ ต้องสติสัมปชัญญะพร้อมนะ แล้วเวลามันปล่อยหมดนะ โอ้โฮ! มันเป็นอย่างนี้เอง ถ้ามันเป็นอย่างนี้เอง ต่อไปเราจะรู้เลยว่าอ๋อ! ถ้าหยาบๆ จะเป็นอย่างนี้ อย่างกลางจะเป็นอย่างนี้ ถ้าละเอียดจะเป็นอย่างนี้ละเอียดสุดมันเป็นอย่างนี้ จิตมันเป็นอย่างนี้ แล้วเวลาเรากําหนดพุทโธ อ๋อ! เรารู้เลย นี่มันเป็นอย่างหยาบ
ถ้ามันอย่างหยาบ มันอย่างหยาบหมายถึงว่าข้อเท็จจริง แต่ถ้าจิตใจเรามันฟุ้งซ่านมาก อย่างหยาบนั่นก็ถูกต้อง อย่างหยาบคือมันพุทโธชัดๆ นี่อย่างหยาบถูกต้อง
ถ้าจะไปละเอียดอยู่ ไม่ได้ ละเอียดอยู่มันไม่มีตัวตน ละเอียดอยู่ มันจับตัวไม่ได้ ต้องนึกเลย พุทโธเลย ไม่เสียหาย จะหยาบจะละเอียดก็คือตัวเรานี่แหละ
บางวันเราก็ชอบกินของเผ็ดๆ บางวันเราก็ชอบกินของจืดๆ บางวันเราก็ชอบกิน เราชอบกิน อาหารเหมือนกัน หยาบละเอียด เราอย่าไปรังเกียจ บางคนรังเกียจนะ โอ๋ย! นั่นมันหยาบ ฉันมันละเอียด ละเอียดจนจับต้องไม่ได้ไง ละเอียดจนนั่งหลับ ละเอียดอย่างนี้ไม่มีประโยชน์อะไร
ละเอียดของเรา ละเอียดมันต้องรักษาตัวได้ ถ้ามันหยาบ หยาบก็ต้องรักษาตัวได้ หยาบละเอียดไม่สําคัญ สําคัญที่ว่ามันทําแล้วได้ผล เอาตรงนี้ ถ้าตรงนี้ได้มันจะเป็นประโยชน์ใช่ไหม
แล้วถ้ามันพุทโธมาจากใจ ถ้าเขาบอกว่า มันพุทโธแล้วมันดีขึ้น มันพุทโธมาจากใจ
คือมันละเอียด ถ้ามันละเอียด เรารู้ได้ คําว่า “รู้ได้” เขาเรียกปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก คนไม่ปฏิบัติมันจะจับต้องสิ่งนี้ไม่ได้ ถ้าคนปฏิบัติมันจะจับต้องสิ่งนี้ได้ ถ้าจับต้อง มันจะรู้เข้าไป มันจะรู้เข้าไป นี่เป็นปัจจัตตัง
ดูสิ เวลาหลวงตาท่านพูด เวลาพูดเรื่องสมาธิ ใครจะมาหลอกเราไม่ได้หรอกอ้าว! พูดมาเลยๆ โอ๋ย! เราเป็นมาหมดแล้ว หลวงตาว่า เราเป็นมาก่อนๆ เป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างนี้ๆ แล้วพอเป็นอย่างนี้แล้วมันก็มีหยาบมีละเอียดอีก
คําว่า “หยาบละเอียด” เหมือนคน จริตนิสัยบางคนทําแล้วมันขิปปาภิญญามันทําง่ายรู้ง่าย ถ้ามันง่ายขึ้นมา แต่ถ้ามันยาก โอ๋ย! ทําแล้วสมาธิเหมือนกัน แต่ที่มามันแตกต่างกัน คือต้องลงทุนลงแรงมากกว่า ไอ้พวกนั้นมันไม่เห็นต้องลงทุนลงแรงเหมือนเราเลย ทําไมมันได้แล้ววะ อันนั้นมันจริตนิสัยที่เขาทําแล้วได้ คําว่า“ได้” ไง แต่เราทําเรายังไม่ได้ แต่เราทําให้เราได้ พอเราได้ขึ้นมาแล้ว สิ่งนี้มันเป็นพื้นฐาน เป็นสัมมาสมาธิ แล้วฝึกหัดใช้ปัญญา
ปัญญาต้องฝึกหัดแล้วมันจะเป็นปัญญาขึ้นมา พอปัญญา เพราะจิตมันจริงสมาธิมันจริง สมาธิจริง เวลาปฏิบัติเกิดปัญญาก็เป็นปัญญาจริงๆ ปัญญาอย่างนี้เป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาอย่างนี้เป็นปัญญาขุดคุ้ยหากิเลส พอมันเจอกิเลสมันพลิกแพลงแล้วมันจับกิเลสได้ มันพิจารณาของมันไป เดี๋ยวเป็นปัญญาฆ่ากิเลสปัญญาฆ่ากิเลส นี่เป็นธรรมโอสถที่มันจะชําระสะสาง อันนั้นพูดถึงว่ามันพุทโธมาจากใจนะ
อันนี้ข้อที่ ๓. ชีวิตประจําวัน เขาบอกว่า เขาใช้ชีวิตประจําวันแล้วไปทํางานอาสา แล้วจู่ๆ มันมีผลกระทบใช่ไหม พอผลกระทบ บางทีเราไม่ได้ตั้งใจอะไรเลยแต่เวลาปัญญามันคิดของมัน มันตีกลับ พอมันตีกลับ มันคิดถึงว่า เวลาผลกระทบแล้ว มันมีกระทบแล้ว มันเป็นสิ่งที่ทําให้อารมณ์มันกระทบ มันดูความคิด แล้วมันมีความคิดกลับมา ทําไมไม่ดูตัวเอง
กรณีอย่างนี้ที่ว่าหลวงตาท่านบอก เวลาจิตของท่าน ท่านเห็นจิตของท่านมหัศจรรย์ไง มันมองเห็นทุกสรรพสิ่งไปทั้งหมดเลย ท่านบอกธรรมะมาเตือนธรรมะมาเตือนไง สิ่งที่รู้ที่เห็นมันเกิดจากจุดและต่อม สิ่งที่รู้ที่เห็น หลวงตาท่านบอก ธรรมะกลัวท่านจะเคลิบเคลิ้มไป จะหลงตัวเองไป จะสําคัญตนว่าตัวเองมีคุณวิเศษไง ธรรมะมาเตือนเลย “สิ่งที่รู้ที่เห็นมันเกิดจากจุดและต่อม”...งง จุดและต่อมเป็นอย่างไร
นี่ก็เหมือนกัน เรามีแต่ความคิด มีแต่ไปมองผลกระทบจากอารมณ์ ทําไมไม่ดูหัวใจของตัวเอง ถ้าดูหัวใจของตัวเอง สิ่งที่หัวใจมันก็เป็นสิ่งธรรมะ ธรรมเตือนเรา เตือนหัวใจเรา นี่ธรรมมันเกิด ความรู้สึกนึกคิดมันเกิด สัจธรรมมันเกิด แล้วมันเป็นประโยชน์ไหมล่ะ ถ้ามันเป็นประโยชน์ สิ่งที่เป็นประโยชน์ ประโยชน์เพราะอะไร คนอื่นเตือนเรา ใครๆ เตือนเรา เราก็บอก อืม! เขาเตือนลําเอียงหรือเปล่าเขาเตือนนี่เขาหลอกลวงเราหรือเปล่า
คนอื่นพูดมันยังต้องใช้พิจารณา แต่นี่เราคิดขึ้นมาเอง นี่มันผุดขึ้นมาเอง มันผุดขึ้นมาจากใจเลย มันผุดขึ้นมา มันเตือนเราเลย ถ้าเตือนเราแล้ว นี่ธรรมเกิดๆสัจธรรมมันเกิด เห็นไหม
หลวงปู่มั่นท่านพูด อยู่ป่าอยู่เขาท่านฟังธรรมทุกวันๆ มันจะมีธรรมะสัจธรรมมาเตือนท่านตลอด จะมีความถูกความผิดมันจะเตือนตลอด ไอ้นี่มันอยู่ที่วาสนาของคน คนที่มีวาสนามันจะขึ้นนะ
แล้วครูบาอาจารย์ ดูสิ เวลาหลวงตาท่านบอก เวลาธรรมะมาเตือนท่านเป็นภาษาไทย เวลาของหลวงปู่มั่นขึ้นมาเป็นภาษาบาลีเลย นี่มันวัดวาสนาของคนเลยวาสนาของคนมีมากมีน้อยขนาดไหน ถ้าวาสนามีมาก มันจะเป็นสัจจะเป็นความจริง นี่พูดถึงว่าเวลาปฏิบัตินะ
“ขอความเมตตาหลวงพ่อสอนด้วยเจ้าค่ะ กราบขอบพระคุณ สอนด้วยเจ้าค่ะ”
ให้ทําต่อเนื่องไป เพราะว่าเวลาทําไปแล้ว ทําสมาธิเหมือนกัน แต่อุปสรรคของคนไม่เหมือนกัน อุปสรรคของคน อุปสรรคมันมีแล้วมีเล่าไง ถ้าอุปสรรคมีแล้วมีเล่า เราพยายามทําความสงบของใจเข้ามาแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา จิตสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาใคร่ครวญ
อย่างที่ว่า มองแต่ผลกระทบ ทําไมไม่ดูใจตัวเองเลย ทําไมไม่มองความเป็นจริงของตัวเอง
พิจารณาเรื่องอริยสัจ เรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้วก็พอพิจารณาด้วยสัจธรรมขึ้นมา แล้วผลของมันคือไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย
แต่ไม่ใช่ว่าเกิด แก่ เจ็บ ตายแล้วมันจะพลิกแพลงขึ้นมา ไม่ใช่ เกิด แก่ เจ็บตายมันเป็นสัจธรรม มันเป็นข้อเท็จจริง ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย นี่คือสิ่งที่ว่าปฏิบัติแล้วมันได้มรรคได้ผล ได้มรรคได้ผลเพราะมันไปชําระล้าง ถ้าไม่ชําระล้างจิตมันก็เวียนว่ายตายเกิด มันเกิด แก่ เจ็บ ตายโดยธรรมชาติของมัน นี่พูดถึงว่าเวลาปฏิบัติต่อเนื่องไป
ฉะนั้น ฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญาแล้วกลับมาทําความสงบก็ง่ายขึ้นเพราะเรามีสติปัญญา ฝึกหัดใช้ปัญญาแล้ว เราปฏิบัติมันก็มีต้นมีปลาย มันมีเริ่มต้น ท่ามกลาง ที่สุด เราปฏิบัติของเราไป
พอปฏิบัติไป มันเหมือนผู้ชํานาญการ ผู้ชํานาญการทําสิ่งใดก็ถูกต้องดีงามไปหมด ผู้ที่ทํางานไม่เป็น ทํางานอะไรแล้วมันก็ทําอะไรจับผิดจับถูกไปหมด เพราะเราไม่มีความชํานาญ แล้วฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกหัดใช้ปัญญา มันจะย้อนกลับไปภาวนาได้ง่าย ทุกอย่างทําได้ง่าย มันทําได้ง่าย แล้วมันทําไปแล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเรา เห็นไหม
นี่เริ่มต้นจากความกลัว จากความกลัวก็ไปความฟุ้งซ่าน จากความฟุ้งซ่านก็ไปผลของพุทโธเลยเนาะ นี่ปฏิบัติเป็นอย่างนั้น
นี่ภาษาเรา เราเป็นพระกรรมฐาน วัดเราเป็นวัดกรรมฐาน วัดพระป่า พระป่าหัวใจของพระป่าคือการปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติธรรม ตบะธรรม ฉะนั้น เวลาผู้ที่มาวัดมาวา เราก็มาขวนขวาย มาหาสัจจะความจริงในใจของเรา
ครูบาอาจารย์ วัด วัดป่า เวลาสนทนาธรรม สิ่งนี้จรรโลงศาสนา จรรโลงศาสนา หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ประชุมพร้อมกัน เลิกประชุมพร้อมกัน ให้มีความสามัคคีกัน นี่เหมือนกัน สังคมของนักปฏิบัติคุยกันเรื่องประพฤติปฏิบัติธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เราคุยสนทนาธรรมกัน เรื่องโลก เราอยู่กับโลกมันก็ต้องมีเรื่องโลกเป็นเรื่องธรรมดา แต่เรื่องโลกมันก็วางไว้ เพราะทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่ากัน แต่เรื่องของธรรมๆ ทุกคนขวนขวายนะ ขวนขวายประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา เราสนทนาธรรมเป็นมงคลชีวิต เอวัง