ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

คนดีพระดี

๒o ก.ย. ๒๕๕๘

คนดีพระดี

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๘

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : เรื่อง “เป็นพระอยู่ต่อหรือต้องสึกดีครับ

กราบนมัสการ ขอความเมตตาจากหลวงพ่อช่วยชี้แนวทางด้วยครับ ผมบวชอยู่ครับ จะเข้า  พรรษาแล้ว มีปัญหาอยู่ คือผมมีป้าอยู่  คน เป็นผู้หญิงอายุ๘๐ กับ ๗๘ เขาเลี้ยงผมมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะผมกำพร้าพ่อแม่ครับ ผมจะดูแลทั้งๆ ที่เป็นพระ หรือว่าควรสึกเพื่อไปดูแลดีครับ

ขอโอกาสเล่ารายละเอียดคร่าวๆ ให้หลวงพ่อฟังครับ คือผมเกิดมา พ่อแม่ไม่เลี้ยงครับ แล้วน้องชายของป้าทั้ง  คนนี้เขารับผมมาเลี้ยง ตอนนี้น้องชายคนนั้นตายครับ ป้าผู้หญิง  คนนี้เลยอยู่กันตามลำพังครับ

ปลผมบวชเพราะผมรู้สึกเบื่อๆ กับการใช้ชีวิตทางโลก ได้มีโอกาสฟังเทศน์พระหลวงตามหาบัวเรื่องการปฏิบัติภาวนา ผมเลยออกบวชแบบเงียบๆ เพื่อลองทำภาวนาอยู่ตอนนี้ครับ

ตอบ : นี่คือคำถามเนาะ คำถามว่า “ผมเป็นพระอยู่ต่อหรือต้องสึกครับ

เวลามันเป็นปัญหา เป็นปัญหาอย่างนี้ ถ้าเป็นปัญหานะ ถ้าคนดี คนดีนะเวลาบวชเป็นพระก็เป็นพระที่ดี คนดี หมายความว่า คนที่เอาถ่าน คนที่มีความขยันหมั่นเพียร คนที่มีจิตใจที่ดี พอบวชเป็นพระก็เป็นพระที่ดี คนไม่ดี คนที่สังคมไม่ต้องการ คนที่ว่าเป็นคนเกเร เวลามาบวชเป็นพระก็เป็นพระที่เกเร เห็นไหมว่าคนดีอยู่ที่ไหนมันก็เป็นคนดีไง ถ้าคนดีนะ ก็เป็นคนดี

ทีนี้พอเป็นคนดี คนดีคือคนกตัญญูกตเวที ใครมีคุณกับเรา เห็นไหม แม้แต่น้ำขันหนึ่ง ข้าวแม้แต่มื้อหนึ่ง เราเคยกินที่ไหน เราเคยทำอย่างไร เราจะซาบซึ้งบุญคุณเขานะ

นี่ปัญหาของเขาคือว่าเกิดมาพ่อแม่ไม่เลี้ยง คือเด็กกำพร้าไง แต่น้องชายของป้า  คนนี้เก็บมาเลี้ยง ถ้าเก็บมาเลี้ยง เราก็ถือว่าเป็นพ่อแม่บุญธรรม พ่อแม่บุญธรรม พ่อแม่คือพ่อแม่ที่ให้ชีวิตเรามา พ่อแม่ที่เลี้ยงดูเรามาคือพ่อแม่บุญธรรมพ่อแม่ที่ชุบชีวิตเลี้ยงดูเรามา มีบุญคุณทั้งนั้น พ่อแม่แท้ๆ ก็มีบุญคุณ มีบุญคุณกับเราเพราะเขาให้ชีวิตนี้มา ทั้งๆ ที่เขาจะไม่เลี้ยง มันก็มีบุญคุณกับเราเพราะให้ชีวิตนี้มา แต่เขาไม่เลี้ยงเรา

แต่ถ้าเวลามาอยู่กับพ่อแม่บุญธรรม พ่อแม่บุญธรรมเขารัก เขาเมตตา เขาเลี้ยงดูเรานะ เขาก็เหมือนพ่อแม่เรา แต่เป็นพ่อแม่บุญธรรม เขามีคุณทั้งคู่ไง ถ้าเราสืบได้ว่าพ่อแม่เราอยู่จริง แล้วพ่อแม่บุญธรรมเราอยู่จริง เราเป็นคนเกิดมาที่มีทั้งพ่อแม่แท้และพ่อแม่บุญธรรม มีพ่อแม่  คน ต้องเลี้ยงดูมากกว่าเขา ต้องรับผิดชอบมากกว่าเขา เพราะเราเป็นคนดี เราเป็นคนดีไง เป็นคนดี เรายอมรับสัจจะความจริง

แต่ในเมื่อโลกมันเป็นแบบนี้ โลกมันเป็นแบบนี้ เห็นไหม ดูสิ สถานที่เลี้ยงเด็กกำพร้า เด็กกำพร้าเยอะมาก แล้วเวลาเป็นเด็กๆ น่าสงสารมาก เขาขาดความอบอุ่น เขามีพ่อแม่บุญธรรมไปนะ เสาร์อาทิตย์เขาจะรอเลยว่าพ่อแม่จะมากอดเขาไหม เขาอยากได้สิ่งนั้นไง

ฉะนั้น เวลาเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เรามีพ่อมีแม่แล้ว เราควรภูมิใจ เราควรภูมิใจกับชีวิตเราว่าชีวิตเรามันก็ไม่ทุกข์ไม่ยากถึงขนาดนั้น

เวลาทุกข์ยากนะ เด็กกำพร้านะ พวกปัจจัยเครื่องอาศัยสมบูรณ์พออยู่อาศัยแต่เขาขาดความอบอุ่น เขาขาดความรัก เขาขาดน้ำใจ ขาดความระลึกถึง ความระลึกถึงนี่สำคัญ เห็นไหม น้ำใจๆ สำคัญ ถ้าน้ำใจสำคัญ นี่สิ่งที่สำคัญ

เราเกิดมา เขาเกิดมาแล้วมีคนเก็บไปเลี้ยง จนได้บวช เห็นไหม นี่มีความสำนึก ถ้าเราเป็นคนก็ต้องเป็นคนดี เป็นคนดี เราต้องระลึกถึงบุญคุณ นึกถึงสิ่งที่ว่าเราจะต้องมีความกตัญญู เขาให้น้ำ ให้ข้าว ให้อากาศ ให้โอกาส ให้การศึกษาให้ทุกอย่าง เขามีคุณกับเรา มีคุณกับเรา เราต้องทดแทนบุญคุณ แล้วบุญคุณอย่างนี้ด้วย

หลวงตาใช้คำว่า “ใจจืดใจดำ” ใจจืดใจดำ ไม่เหลียวแลเขา ไม่รับรู้สิ่งใดเลย แต่เวลาหลวงตาท่านพูดนะ ท่านบอกว่า ท่านเป็นภิกษุ ท่านเป็นพระ ท่านไม่มีทรัพย์สมบัติ ถ้าท่านมีทรัพย์สมบัตินะ ท่านจะไม่กวนชาวบ้านชาวเมืองเลย ท่านจะเอาทรัพย์สมบัติของท่านช่วยชาติ แต่เพราะว่าท่านเป็นภิกษุ เป็นผู้ขอ ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านไม่มีทรัพย์สมบัติ ท่านมีแต่คนศรัทธา ท่านถึงออกมากวนบ้านกวนเมือง ท่านถึงมาหาปัจจัยเครื่องอาศัยเพื่อไปค้ำจุนชาติ เห็นไหม ถ้าเรามี ถ้าเรามี เราจะไม่กวนใครเลย แต่เพราะเราไม่มี เราไม่มี เราถึงต้องรบต้องกวนเขาเพื่อประโยชน์เขา นี่พูดถึงว่านี่ความเห็นท่านนะ

แต่ถ้าความเห็นโดยข้อเท็จจริง เราเป็นผู้ทำบุญ เราเป็นผู้เสียสละ เราได้บุญคำว่า “ได้บุญกุศล” แล้วก็มีโอกาสตอนนั้น โอกาสตอนนั้นคือว่าเราทำเป็นสมบัติสาธารณะเพื่อประชาชนทั้งหมด

แล้วเขาบอกว่า มันไม่ได้ทำบุญกับศาสนา มันจะได้บุญที่ไหน

ได้ ได้บุญเพราะอะไร เพราะการช่วยชาติ ศาสนา ศาสนจักรตั้งอยู่บนอาณาจักร เราทำให้อาณาจักรเข้มแข็ง แล้วศาสนจักรเขาจะสร้างโบสถ์สร้างวิหาร เขาจะสร้างอะไร เขาสร้างบนอาณาจักรนี้ เขาสร้างบนแผ่นดินนี้ เราคุ้มครองดูแลแผ่นดินนี้ไว้ แล้วเขามาสร้างสิ่งที่เป็นบุญกุศลในแผ่นดินนี้ แผ่นดินของเรา มันไม่ได้บุญตรงไหน ได้บุญทั้งนั้นน่ะ ทีนี้เพียงแต่ว่าโอกาสตอนนั้นไงโอกาสที่ว่าเราได้ทำบุญ เราได้โอกาส นี่พูดถึงว่าโอกาสของเรา

ทีนี้ย้อนกลับมาปัญหา ปัญหาว่าพระเขาถาม “ผมจะต้องสึกหรือผมจะต้องอยู่เป็นพระดี

เราต้องสึกไหม เราจะบอกว่าอย่างนี้นะ โอกาสของคน วาสนาของคน ถ้าวาสนาของคนนะ ถ้าเขาเป็นพระที่ว่าเป็นพระผู้ใหญ่นิดหนึ่ง ถ้าเป็นพระผู้ใหญ่เป็นผู้รับผิดชอบ เราจะบอกว่าไม่ต้องสึก พระเลี้ยงดูได้ เลี้ยงดูพ่อแม่บุญธรรมเลี้ยงดูได้

เวลาในธรรมวินัยนะ สมมุติว่าพ่อแม่มีลูกคนเดียว มีลูกคนเดียว ลูกออกไปบวช พอออกไปบวชแล้ว ถ้าเขามีความเข้มข้น เขามีความจริงจัง กรอบสมณเพศของเขา สิ่งนี้มีค่ามาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุญาตให้เอาพ่อแม่มาเลี้ยงได้ บิณฑบาตมาเลี้ยงพ่อแม่ได้ ดูแลพ่อแม่ได้ เช็ดขี้เช็ดเยี่ยวแม่ได้ ถ้าเราเป็นลูกคนเดียว

แต่ถ้ามีลูก  คน  คนนะ มีพี่มีน้อง มีคนดูแลอยู่นะ ไม่สมควร เพราะคนอื่นเขาทำแทนเราได้ไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เวลามันจนตรอก สิ่งที่มันทำไม่ได้ อนุญาตให้ทำได้ จนตรอก หมายถึงว่า มีลูกคนเดียว ไม่มีใครอีกแล้วเราเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวแม่ได้เลย ไม่เป็นอาบัติ แล้วยังเป็นบุญอีกด้วย

พ่อแม่ เพราะเป็นพระอรหันต์ของเรา เราบวชอยู่ เรายังเป็นปุถุชนอยู่เลย เรายังเป็นพระที่มีความทุกข์บีบคั้นหัวใจเลย แต่พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของเรา เช็ดขี้เช็ดเยี่ยวได้ แต่ถ้ามีพี่มีน้องมีญาติ ญาติดูแลแทนได้ เราหาปัจจัยเครื่องอาศัยมาช่วยดูแลได้ แต่เราไม่ควรลงไปทำอย่างนั้น นี่พูดถึงว่าถ้ามีพี่น้องหลายคนนะ แต่ถ้าพี่น้องคนเดียว เราทำได้

ถ้าเป็นพระที่มีพรรษามากนิดหนึ่ง ถ้าเรายังเข้มข้น เรายังมีจิตใจมั่นคง เราไม่ต้องสึก

แต่ถ้าเขาบอกเขาเพิ่ง  พรรษา ถ้า  พรรษา ยังเป็นพระผู้น้อย พระผู้น้อยเราจะเอาพ่อเอาแม่ไปอยู่ในวัด เราต้องอาศัยภิกษุ อาศัยเจ้าอาวาส อาศัยผู้ที่เป็นหัวหน้า เขาจะคิดอย่างไร เห็นไหม ถ้าจิตใจเขาเป็นธรรมนะ เขาจะส่งเสริม เขาจะช่วยเจือจานเราเลย ถ้าจิตใจเขาไม่เป็นธรรมล่ะ ถ้าเราเป็นพระผู้น้อย มันโอกาสไง โอกาสจะน้อยกว่าเขา เพราะเราไม่ใช่เป็นผู้รับผิดชอบ มันต้องเป็นการได้รับอนุญาตไง

ฉะนั้น ถ้าพรรษายังไม่มาก แล้วความมั่นคงในสมณเพศมันมั่นคงขนาดไหนถ้ามั่นคงนะ ถ้ามั่นคง ป้า  คนอายุ ๗๐ หรือ ๘๐ ถ้าเขายังแข็งแรงอยู่ เราดูแลเขาได้ เราเป็นพระ เราไปให้กำลังใจ ถ้าช่วยเหลือตัวเองได้ ถ้าเขาช่วยเหลือตัวเองได้ เราจะดูแลโดยที่เราไม่ต้องสึก

แต่ถ้าจิตใจเรายังไม่มั่นคง จิตใจเรายังไม่แน่ใจ เราบอกว่าสึกน่ะดี สึกเลยตัดปัญหา จบ สึก สึกไปดูแลท่าน ไปรักษาท่านจนกว่าท่านจะล่วงหมดอายุขัยไปแล้วกลับมาบวชใหม่ก็ได้ แล้วไม่ต้องเสียใจตอนนั้นไง เพราะจิตใจเราไม่มั่นคงไง

ถ้าจิตใจเราไม่มั่นคงนะ เวลาท่านเสียไปแล้วไง สมมุติว่าเรายังเป็นพระอยู่แหมตอนนี้มั่นคงมาก โอ๋ยศรัทธามาก เราต่างคนต่างก็ดูแลกันอย่างนี้ แล้วท่านก็ต้องช่วยเหลือตัวเองจนกว่าท่านจะหมดอายุขัยไป พอหมดอายุขัยไป จิตใจเราก็เรรวน จิตใจเราก็ไม่มั่นคง แล้วสุดท้ายเราก็สึกไง เราสึกตอนนั้นมันไม่มีค่าไงสึกตอนนั้นเขาเสียไปแล้ว

ถ้าจิตใจเราไม่มั่นคง อนาคตเราอยู่ไม่ได้ เราก็ต้องสึกใช่ไหม แต่ถ้าไปสึกตอนนั้น เราก็ไม่ได้ประโยชน์ไง แต่ถ้าเราไม่แน่ใจว่าเราไม่มั่นคง สึกตอนนี้ สึกเลย เพราะสึกไปมันได้ประโยชน์อยู่แล้ว ได้ประโยชน์คือได้ไปดูแลท่าน

ทีนี้เพียงแต่ว่าเราจะถามกลับ เขาไม่มีญาติพี่น้องเลยหรือ เขาไม่มีญาติไม่มีพี่น้องหรือ แล้วแบบประสาเรา ต้องถามท่านจริงๆ เลย ถามเลย ถามป้า  คนนี้บอกว่า อยากให้อาตมาสึกหรือเปล่า

จริงๆ เขาไม่อยากให้สึกก็ได้ จริงๆ เขาอยู่เองก็ได้ คือเราคิดไปเองไง เราวิตกของเราไปเองไง ตอนนี้คนดีไง คนดี พอเราคิดถึง เราก็จะเป็นคนดี

เราพูดบ่อย พวกที่มีชื่อเสียงเขาจะมาบวช พอมาบวชเสร็จแล้วนะ พอบวชสัก ปี  ปี เขาบอก อู๋ยธรรมะนี้สุดยอดเลย ธรรมะสอนให้รู้จักรับผิดชอบ จะต้องสึกไปรับผิดชอบ เวลาธรรมะนี่สุดยอดเลย สอนให้รับผิดชอบนะ ฉะนั้น เราต้องสึกไปรับผิดชอบ นี่เวลาบวชมาไง

ฉะนั้น มันอยู่ตรงนี้ อยู่ที่ว่า ถามท่านตรงๆ เลย ถามท่านว่าอยากให้อาตมาออกมาดูแลไหม

แต่เขาก็เกรงใจ เขาก็พูด แต่เราเข้าใจได้นะ แต่เราเข้าใจได้ว่ามันจำเป็นไม่จำเป็น เพราะกรณีนี้เป็นกรณีสังคม แล้วมันเกิดอย่างนี้มาก ในวงการพระเรามีครูบาอาจารย์ของเรา เวลามีพระมาบวช พ่อแม่จะมาขอสึก แล้วครูบาอาจารย์บางองค์ท่านจะขอไว้ ท่านบอก “โยมก็ลูกหลายคนแล้ว ลูกทางโลกก็เยอะแยะแล้ว สละสักคนหนึ่งมาไว้ในศาสนา” นี่เวลาครูบาอาจารย์ท่านจะจรรโลงศาสนานะ

แต่สำหรับเรานะ เราปล่อยไปตามเวรตามกรรม กรรมของสัตว์ ถ้าใครดี เขาก็อยู่ของเขาได้ ถ้าใครเขาทนไม่ได้ เขาก็สึกของเขาไป เวลาสึกของเขาไปนะ ถ้าเราจะเป็นคนก็เป็นคนดี ถ้าเป็นพระก็เป็นพระที่ดี ถ้าเป็นพระที่ดี มันก็เป็นประโยชน์ไง ถ้าเป็นพระที่ดี กรณีนี้มันก็เป็นกรณีที่ต้องมีประสบการณ์นิดหนึ่ง มีพรรษามากขึ้นจะรู้ว่าอะไรควรทำได้ อะไรควรทำไม่ได้ไง

เมื่อก่อนเราบวชใหม่ๆ มันก็คิดอย่างนี้ มันทำอะไรไม่ถูก เขาถึงว่าต้องให้ได้นิสัย ให้  พรรษาขึ้น จะได้เข้าใจว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรควรไม่ควร เพราะมันไปเห็นน่ะ เห็นเยอะมาก เห็นว่าพระบางองค์เขาเอาพ่อเอาแม่มาเลี้ยงได้ พระบางองค์นะ แล้วบางองค์ที่เป็นพระที่ดี พ่อแม่เขาดี โอ้โฮมีคนชื่นชม ชื่นชมมาก แต่ถ้าบางทีคนเรา พระที่ไม่ดีไปทำความผิด ไปทำความเสียหาย คนอื่นเขาไม่ชื่นชมไง เขาเรียกว่าทำศรัทธาไทยให้ตกล่วง ถ้าทำศรัทธาไทยให้ตกล่วงนะ มันเป็นอาบัติ

ฉะนั้น เวลาเราเอาพ่อเอาแม่มาเลี้ยง ถ้าเราบอกว่า “นี่พ่อแม่เรา” ถ้าเราบอกเสียหน่อยว่าพ่อแม่เรานะ ทุกคนจะชื่นชม ถ้าเราไม่บอกเขา เขาว่า “เอ๊ะพระไปเก็บใครมาเลี้ยงน่ะ” มันมีความเข้าใจผิดได้นะ ในกรณีนี้มันแบบนี้ ถ้าเรามีประสบการณ์ เราพูดตรงๆ พูดตรงๆ มันก็จบไง

นี่พูดถึงว่า เราจะต้องสึกไหม

ถ้ามันเป็นปัญหาสังคมนะ ปัญหาสังคม ถ้าปัญหาสังคม แล้วเราจะคิดของเราอย่างไร ถ้าคิด คิดให้ได้ นี่พูดถึงพระ นี่พูดถึงแค่ความเป็นอยู่นะ ยังไม่ได้ภาวนาเลย เวลาภาวนาไป เวลาภาวนาไป เรื่องนี้มันจะไปกวนมาก แต่ถ้าเป็นนักภาวนานะ นั่งลงไป เรื่องนี้จะขึ้นทันทีเลยล่ะ เวลาขึ้นทันทีเลย แล้วมันจะกวนตลอดแล้วกวนตลอดแล้วทำอย่างไร

ฉะนั้น เวลาคนที่ปฏิบัติถึงว่าต้องจิตใจเข้มแข็ง จิตใจเข้มแข็ง สิ่งที่มันกระทบมันทดสอบใจเรา มันทดสอบทุกอย่าง เช้าขึ้นมาบิณฑบาตได้แต่ของดีๆ มาทั้งนั้นน่ะ แล้วเวลาบิณฑบาตไปนะ ไปเห็นพระที่อื่นนะ ทำไมเขามีแต่ของดีๆ เลย ของเรามีแต่ของไม่ดีทั้งนั้นเลย ทั้งๆ ที่ของเขามันไม่ดีกว่าเราหรอก เหมือนกัน แต่กิเลสมันคิดไปเอง บิณฑบาตด้วยกันนี่แหละ “อู๋ยข้างหน้าได้แต่ของดีๆ ทั้งนั้นเลยน่ะ ไอ้ข้างหลังไม่ได้อะไรเลยน่ะ” นี่มันคิดไปเองไง ถ้ามันคิดไปเอง สิ่งที่เวลาคิดไปเอง เวลาคิดไปเอง เวลามาภาวนาไม่ลง

แต่ถ้าเป็นพระที่ดี ดูสิ เวลาอยู่กับหลวงตา เวลาแจกอาหาร ท่านให้แจกจากหัวไปท้าย บางทีท่านบอกให้แจกจากท้ายไปหัว ท่านบอกว่าสามเณรน้อยมันทำงานมากกว่าพระอีก เพราะพระมันมีวินัยห้ามพรากของเขียว ห้ามขุดดิน เณรมันฟันเอาๆ เลย ต้องใช้เณร ฉะนั้น เวลาเณรมันอยู่ท้ายแถว เวลาแจกอาหารหัวหน้าเอาแต่ของดีๆ เหลือแต่น้ำต้มผักไปให้เณรอยู่ข้างหลัง แล้วเวลาใช้ก็ใช้แต่เณร ท่านถึงบอกว่าให้แจกตั้งแต่เณรขึ้นมา

ตั้งแต่บวชมาก็เห็นวัดป่าบ้านตาดนี่แหละ บางทีก็แจกหัวลงไปท้าย บางทีก็แจกท้ายขึ้นมาหัว ท่านจะสับเปลี่ยนอย่างนี้เพื่อให้ความเป็นธรรมไง มันมีปากมีท้องเหมือนกัน ถ้าเราเจอครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมนะ ไปอยู่แล้วมันสบายใจ มันไม่ลำเอียงเพราะรัก ไม่ลำเอียงเพราะชัง ไม่ลำเอียงเพราะพวกเราพวกเขา ไม่มีไม่มี

เพียงแต่ว่าไม่มี แต่เวลาเราอยู่กับท่าน ไม่มีนะ แต่เวลาเราโดนด่า เราโดนด่าเช้าสายบ่ายเย็น โดนวันยังค่ำเลย ไอ้นี่อย่างนี้ไม่มีได้อย่างไร

ไม่มี ไม่มี เช้าสายบ่ายเย็นน่ะท่านสอน คำว่าด่าๆ นั่นคือเทศน์ แล้วเทศน์ที่จริงจัง แล้วเพียงแต่คนที่มีปัญญาหรือเปล่า ถ้ามีปัญญาหรือเปล่า มันจะได้ประโยชน์หมด เวลาเทศน์มานะ เวลาผิดพลาด เดินล้ม เดินลื่น เดินไถล ท่านใส่เลย “ไม่มีสติ

ไอ้เราก็ โอ้โฮล้มก็ต้องโอ๋สิ ต้องอุ้มขึ้นมาสิ ทำไมกระทืบซ้ำ

ท่านใส่เลยๆ กรณีอย่างนี้มันไม่ใช่ลำเอียง กรณีอย่างนี้เขาจะดูว่าคนคนนั้นมีวุฒิภาวะ มีความสามารถที่จะรับข้อนี้ได้ไหม เห็นไหม ดูสิ เวลาท่านพูดถึงหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นนะ เวลาพระที่ภาวนานะ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ท่านจะบอกเลย ไปเอาผ้าถุงมาใส่ ไม่เข้มแข็ง

ทีนี้เวลาท่านไปเทศน์มหาอะไรนะ ที่อีกมหาหนึ่ง จำชื่อไม่ได้ ท่านบอกว่าเวลาไปพูดเสียงดัง ร้องไห้เลยนะ พอร้องไห้ ท่านบอกว่าไม่ได้ ยานี้ใช้ไม่ได้ กลับไปคราวนี้โอ๋ใหญ่เลยนะ โอ๋ยเดี๋ยวก็หาย เดี๋ยวก็ดี หายเลย ยามันมีหลายชนิด

ฉะนั้น เวลาว่าเช้าสายบ่ายเย็นมันอยู่ที่ว่าคนรับได้หรือไม่ได้ ถ้าคนรับนะเวลาเรามอง มองว่าเป็นการด่า เป็นการติเตียน แต่เวลาความจริง ท่านยื่นดาบให้เลย ยื่นเกร็ด ยื่นวิธีการ ยื่นให้เลยนะ แต่เพราะของเรา เวลาเราเผชิญอะไรก็แล้วแต่ เราไม่ทัน เราไม่ทัน

ท่านใช้คำนี้ ท่านบอกว่า “เราจะสู้เสือด้วยมือเปล่าหรือ” เสือ เวลาเราจะสู้กับเสือ เราต้องมีอาวุธไปสู้กับมัน กิเลสนี้มันยิ่งกว่าพญาเสือโคร่ง แล้วมันตะปบหัวใจเราทุกวันๆๆ เลย แล้วเราไม่มีอะไรไปสู้มันเลย ไม่มีเลย

เวลาท่านด่านั่นน่ะ เฮ้ยนี่ปืนๆ สู้มันๆ ด่านะ เฮ้ยนี่มีด มีดนะ สู้มัน ถ้าเรามุมมองอย่างนี้ เช้าสายบ่ายเย็นนั้นท่านให้อุบายตลอด ท่านไม่เคยด่า แต่ถ้าคนไม่ได้คิดอย่างนี้ โอ้โฮเช้าสายบ่ายเย็น แล้วเรานี่โดนเช้าสายบ่ายเย็น แล้วโดนเป็นประจำ โดนจนเขาร่ำลือ ร่ำลือมาก อยู่ด้วยกันน่ะ ของเรานี่ร่ำลือมาก เช้าสายบ่ายเย็น จนพระมันสงสัย “ไอ้หงบ มึงทำอะไรผิดวะ มึงโดนทุกวันเลย” มันถามอย่างนี้จริงๆ นะ “เฮ้ยมึงทำอะไรผิดวะ โดนด่าทุกวันเลย

โทษนะ แล้วหน้าด้านด้วย ด่าแล้วก็ไม่อาย ด่ากลางศาลา คนทั้งศาลาเลยเฉย หน้าด้านอีกด้วย โดนด่าแล้วยังหน้าด้านอีก พระเขางงกันนะ แต่เขาไม่รู้หรอกว่าในหัวใจ ในหัวใจเขามีอะไรกันอยู่ ในหัวใจ ท่านยื่นดาบยื่นปืนให้ โธ่ยิ่งด่านะ ระหว่างท่านกับเรา โอ้โฮมันได้อาวุธ มันได้กระสุน มันได้ปืนไปต่อสู้กิเลส เพราะด่าเสร็จแล้วก็เข้าทางจงกรมทั้งวันเลย ออกจากทางจงกรมขึ้นมาโดนอีกแล้ว หันรีหันขวาง เข้าทางจงกรมใหม่ ออกจากทางจงกรมมา โดนอีกแล้วเป็นอย่างนี้ ตอนอยู่กับท่านเป็นแบบนี้

นี่พูดถึงบอกว่า เวลาถ้าเรามองมุมไหนล่ะ เข้มแข็งพอหรือเปล่าล่ะ เรามีมุมมองอย่างใด เรามีวุฒิภาวะแค่ไหน ถ้าเรามีวุฒิภาวะ ถ้าเราเข้มแข็ง เราบอกเลยไม่ต้องสึก ไม่ต้องสึก เราดูแลได้ แต่ถ้าวุฒิภาวะเราอ่อนแอ มันไม่ต้องไปสึกหรอกมันไปกว้านมาเอง นั่งก็คิดถึงแล้ว ป้า  คนจะนอนหรือยัง จะกินหรือยัง ท่านจะคลานเข้าห้องน้ำหรือเปล่า...โอ๋ยตาย ตายเลย

ฉะนั้นว่าสึกหรือไม่สึกมันอยู่ที่กำลังของเรา อยู่ที่ความคิดของเรา ถ้าบอกว่าถ้าเป็นคนก็คนดี คนดีคือคนรับผิดชอบ คนรับผิดชอบ คนมีสามัญสำนึกนี่เป็นคนดี ถ้ามาบวชเป็นพระก็เป็นพระที่ดี ถ้าเป็นพระที่ดี พระที่ดีมันต้องมีวุฒิภาวะไม่ให้กิเลสมันมาหลอกเอา

ความดีก็คือความดีนะ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำดีคือได้ดี แต่ทำดีมันมีกาลเทศะ เวลาไม่บวช เวลาอยู่กับท่าน ดูแลหรือเปล่า เวลาอยู่บ้านก็เที่ยวทั้งวันเลย ไม่เคยเข้าบ้าน ปล่อยให้ป้า  คนนี้อยู่บ้าน ตัวเองก็ไปอยู่กับเพื่อน ออกไปก็นู่นน่ะ อยู่ศูนย์การค้านู่น บอกสึกไปจะไปดูแลป้า  คน มันไม่เคยอยู่บ้านเลย ไปไหนก็ไม่รู้ เวลามาบวช อู๋ยคิดถึงป้า เวลามาบวช เวลาอยู่บ้านมันไม่เคยดูแลเลย

นี่พูดถึงว่าคนนะ เวลากิเลสมันพลิกแพลง ไม่ได้ว่านะ แต่บอก “แหมหลวงพ่อ ถามหลวงพ่อ เอากำลังใจจากหลวงพ่อ หลวงพ่อประจานใหญ่เลย

ปัญหาสังคม มีทุกคน เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราอยู่กับโลก เรามีความรู้สึกเหมือนกันทุกๆ คน เห็นไหม จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ใจที่มีกำลังใจ ใจที่มีวุฒิภาวะนะ มันสามารถผ่าวิกฤติอย่างนี้ไปได้ของเล็กน้อย

แต่ถ้ามันอ่อนแอนะ โอ้โฮมันเหยียบย่ำ แล้วชีวิตของเรานะ มันหน้าชื่นอกตรม มันหน้าชื่นอกตรม ถ้าหน้าชื่นอกตรมนะ แล้วเวลากิเลสมันเบียดเบียนหัวใจมันทุกข์ยากมาก นี่พูดถึงเป็นปัญหาแต่ละบุคคลนะ

ฉะนั้น เราแนะนำอย่างนี้ แนะนำที่ว่า ถ้าเรายังไม่แน่ใจในสมณเพศของเราสึกไปดูแลท่านให้จบก่อน แล้วจะกลับมาบวชใหม่ก็ได้ กลับมาบวชใหม่ก็ได้ แต่ถ้าเราเข้มแข็ง เราเข้มแข็ง เราบวชมาแล้ว  พรรษา ปฏิบัติมาแล้วจิตมันสงบบ้าง มีหลักมีเกณฑ์บ้าง มั่นใจว่าจะไม่สึก แต่มั่นใจหรือเปล่าล่ะ ถ้ามั่นใจว่าจะไม่สึกนะ ได้เลย

แต่นี้ข้างหน้ามันไม่แน่นอนน่ะ ยิ่งเวลามีโอกาสไปดูแลอุปัฏฐากท่าน ไม่ได้ทำแล้วเวลาท่านเสียไปแล้วค่อยไปสึก มันเสียโอกาส ถ้าพูดถึงเราไม่แน่ใจ สึกเลยแล้วไปดูแลท่านให้จบเสีย ดูแล เพราะชีวิตนี้เราได้นั่นมา แล้วชีวิตของเรา เพราะอะไร เพราะเขาพูดเอง น่าสงสารนะ เกิดมาเป็นเด็กกำพร้า พ่อแม่ทิ้ง แล้วเขาเก็บมาเลี้ยง

เห็นไหม เรามีทั้งพ่อแม่จริงๆ และเรามีพ่อแม่บุญธรรม แล้วชีวิตนี้ได้มาเพราะถ้าพ่อแม่ทิ้ง ไม่มีใครดูแลก็ตาย ถ้าตายไป ไปเกิดที่ไหนก็ไม่รู้ แต่นี่ยังเป็นคนอยู่ แล้วได้เติบโตมาด้วย แล้วฟังเทศน์หลวงตา แล้วถึงมาประพฤติปฏิบัติบวชเงียบๆ เลยนะ บวชเงียบๆ แล้วเราทำของเรา ถ้าบวชเงียบๆ ถ้าเราทำของเราได้

เราจะบอกว่า ป้าเขาก็ชื่นใจกับเราถ้าเรามีชายผ้าเหลืองไปให้ท่านดูน่ะ ท่านเลี้ยงเรามา แล้วสิ่งที่ท่านทำประโยชน์มาค้ำจุนศาสนา ค้ำโพธิ์ ค้ำโพธิ ค้ำศาสนาไว้ด้วยภิกษุสงฆ์ ภิกษุสงฆ์มาอยู่ในศาสนา ท่านเห็นท่านก็ชื่นใจ ท่านได้อาศัยชายผ้าเหลือง ได้อาศัยสิ่งนี้เป็นบุญกุศล ถ้าเขาเห็นนะ เห็นเราไปเยี่ยม เห็นพระห่มผ้าเหลืองมาน่ะ เขาก็มีความสุขของเขา

ถาม พูดกันตรงๆ เลย เปิดใจคุยกัน จะให้สึกหรือให้อยู่ ถ้าอยู่ เราก็อยู่ไปพอเขาให้อยู่ แหมนึกว่าบอกสึก จะได้รีบๆ สึก พอบอกให้อยู่ เสียใจเลย ไปถามว่าจะให้อยู่หรือจะให้สึก “ท่านอยู่ต่อไปก็ได้” โอ๋ยใจนี้แป้วเลย นึกว่าจะได้สึกแล้ว ไม่ได้สึก

คุยกันให้จบ มันปัญหาสังคมนะ นี่พูดถึงว่าพระที่ดี พระดี คนดีก็เป็นพระที่ดี

ถาม : เรื่อง “ผู้สงสัยกับอาการ

กราบนมัสการหลวงพ่อ เกล้ากระผมมีข้อสงสัยอยากเรียนถามขอความเมตตาจากหลวงพ่อชี้ทางเพื่อแก้ไขข้อติดขัดดังนี้ครับ เมื่อเกล้ากระผมภาวนาพุทโธ แล้วฟังธรรมเกี่ยวกับการปฏิบัติเป็นเวลานาน มักจะเกิดอาการอย่างนี้ครับ

เมื่อรู้ตัวว่าฝัน สติถอยจากฝันมาสู่สภาวะปกติ จะเกิดอาการยื้อๆ กันอยู่แล้วมีเสียงพูดว่า “กลัวตาย” คำเดียว ทำให้เกิดความคิดของเกล้ากระผมหยุดนิ่งเสียงภายนอกได้ยินชัด ภาพที่มองเห็นก็ชัด ทั้งเสียงและภาพดับลงพร้อมกันเป็นความมืด มีเพียงอาการและผู้สงสัย  สิ่งนี้ อาการเริ่มหมุน เกล้ากระผมจึงบริกรรมพุทโธ ยิ่งพุทโธ อาการยิ่งหมุนเร็วเข้า สุดท้ายคือคลายกลับมาสู่สภาวะปกติ

หลายวันต่อมา อาการดังเดิม สภาวะเดิมเกิดขึ้นมาอีก แต่ไม่ได้ดึงกลับจากอาการฝัน เกล้ากระผมจึงจดจ่อเพ่งดูอาการนั้นโดยไม่บริกรรมพุทโธ อาการนั้นไม่หมุน แต่กลับพุ่งทะยานขึ้น ยิ่งจ่อเข้า อาการยิ่งพุ่งทะยานเร็วขึ้น ผลสุดท้ายก็คลายออกมาเหมือนเดิม

ไม่รู้ว่าเกล้ากระผมทำมาถูกต้องหรือไม่ และจะแก้ไขอย่างใด จึงจะใคร่ขอความเมตตาจากหลวงพ่อโปรดชี้ทาง และเป็นที่พึ่งแก่ผู้ด้อยปัญญาด้วยครับ

ตอบ : ชี้ทางก็นี่ พอคำถามนะ “เมื่อผมรู้ตัว”...แสดงว่านั่งหลับ

เราบอกเราภาวนาพุทโธๆ เราก็พุทโธจริงๆ นี่แหละ ถ้าพุทโธๆ ไปแล้ว ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิ พุทโธๆ สัมมาทิฏฐิคือความเห็นที่ถูกต้อง สัมมาสมาธิ สมาธิที่ดีงาม พุทโธๆ พอพุทโธเข้าไปนะ คนเรานะ ถ้าพุทโธเข้าไป พุทโธๆ พุทโธจนขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันจะเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป

พุทโธๆๆ เวลามันจะเป็นมิจฉา มันมีกำลังขึ้นมา เพราะพุทโธๆๆ จิตมันเกี่ยวกับพุทโธ ธรรมดาจิตมันจะคิดของมันไป ความคิด ความคิดเกิดจากจิต พุทโธก็เป็นความคิดอันหนึ่ง แต่เรามีสติปัญญา เราถึงบังคับให้จิตเราคิดพุทโธ เพราะพุทโธมันเป็นวิตก วิจาร เราระลึก ระลึกว่าพุทโธๆ เราระลึกขึ้นมา เพราะเราระลึกเรามีสติระลึกอยู่ จิตมันถึงคิดเป็นพุทโธ แต่ถ้าเราไม่ระลึก เราปล่อย มันก็คิดไปสัพเพเหระ คิดไปตามเรื่องของมัน

แต่เพราะเรามีสติปัญญาใช่ไหม เรามีสติปัญญา เราอยากภาวนา เราก็วิตกวิจาร ระลึกวิตกขึ้นมา วิตกคือระลึกความรู้สึกขึ้นมา วิจาร พุทโธๆ วิตก วิจาร ปีติสุข เอกัคคตารมณ์ ถ้ามันเป็นอารมณ์อย่างนี้มันเป็นอารมณ์ของสมาธิ แต่ถ้าเราพุทโธๆ โดยมีสติปัญญา เห็นไหม พุทโธๆ

ทีนี้คำถามที่ เมื่อรู้ตัวว่าฝัน

นี่แสดงว่ามันตกภวังค์ แสดงว่าถ้ารู้ตัวว่าฝัน ยังดีนะ ยังคิดว่ารู้ตัวว่าฝันแสดงว่ามันตกภวังค์ นี่มันส่งออกแล้ว พอตกภวังค์ไปแล้ว เราไม่สามารถควบคุมได้ เหมือนขับรถ เวลาขับรถ เราขับรถ เรามีปลายทางที่ไหน เราตั้งสติขึ้นมา เราก็พารถเราไปถึงปลายทางนั้น

ไอ้นี่ขับรถไป เริ่มต้นก็สตาร์ตรถออกไปดี พอปล่อยแล้วนะ มันเหมือนรถที่ไร้คนขับ กูเกิล มันปล่อยเลย อ้าวมึงไปตามสบายของมึง มันขับรถไปถึงสี่แยก มันบอก เออมึงไปเลย หมุนเอาเลย ตรงไหนก็ได้ ไปเลย

นี่ไง “เมื่อรู้ว่าฝัน” แสดงว่าขับไปถึงสี่แยกแล้วปล่อยไหลเลย อ้าวจะไปทางไหนก็ได้ จอดคาไฟแดงนั่นน่ะ แล้วอะไรจะเกิดขึ้น คันไหนจะชน พอชนก็อาการนี้เกิดไง พอมีอาการปั๊บ “เมื่อรู้ว่าฝัน สติถอยจากฝันมาอยู่ที่สภาวะปกติ

เพราะ “เมื่อรู้ตัวว่าฝัน” เพราะมันเห็นไปแล้วมันนึกว่าฝัน ถ้านั่งอยู่แล้วมันไปเห็นนิมิต พอเห็นนิมิตขึ้นไปแล้ว เขาก็ยื้อกันแล้ว เขาบอกว่า พอรู้ว่าฝันนะพยายามกำหนดพุทโธให้กลับมาสู่สภาวะปกติ พอรู้ตัวว่าฝัน ถอยเข้ามา พอถอยเข้ามา มันมีเสียงดังขึ้นด้วย มันก็ยังดี มีเสียงดังขึ้นมาว่า “กลัวตายๆ” คำว่า “กลัวตาย” นะ พอกลัวตายขึ้นมา เสียงมันชัดขึ้นมา มันเห็นทั้งภาพทั้งเสียง ทั้งภาพทั้งเสียง สิ่งที่มันเห็นนะ สิ่งที่เห็น ถ้ามันขาดสติมันเป็นอย่างนี้

แต่ถ้าเราพุทโธๆ เราเกาะอยู่กับพุทโธเลยนะ เราเกาะอยู่กับพุทโธ ถ้ามันสงบก็คือสงบเข้ามา พุทโธๆๆ มันไม่ส่งออกหรอก เพราะจิต ธรรมดาจิตนี้มันเหมือนวัตถุธาตุ มันคิดได้อย่างเดียว มันคิดได้ทีเดียวไง ถ้ามันคิดเรื่องอะไรอยู่ถ้าโดยชัดเจนนะ

แต่นี้เวลาเราพุทโธมันแฉลบ มันแลบ มันพุทโธไม่ชัดไง เหมือนเราทำสิ่งใดมือทำงานได้ชนิดเดียว แต่มันทำสิ่งนี้แล้วมันทำสองอย่างสามอย่างพร้อมกัน มันก็เลยแฉลบ มันเลยออก

ถ้าพุทโธชัดๆ มันไปไหนไม่ได้ ถ้าเราทำงานอยู่ชัดๆ มือทำงานอยู่ชัดๆ มือนี้ทำอย่างอื่นไม่ได้ พุทโธๆ แต่พุทโธๆ แล้วมันบางลงจางลง มันไปแล้วพุทโธจางลง ถ้ามันตกภวังค์นะ เพราะคำว่า “เมื่อรู้ตัว” แสดงว่าหลับแล้ว “เมื่อรู้ตัว” ก่อนรู้ตัวนั่นหายไปแล้ว “เมื่อรู้ตัว” แล้วเมื่อที่ยังไม่รู้ไปไหน ก็กรนอยู่ไง

พอมันรู้ตัว รู้ตัวนะ เพียงแต่ว่า ถ้ามันเป็นสัมมา มันถูกต้องดีงามไปทั้งหมดมันจะละเอียดเข้ามา พุทโธๆๆ เข้ามา ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ เพราะพอละเอียดเข้ามา สุดท้ายแล้ว พุทโธๆ จนพุทโธไม่ได้เลย ถ้าพุทโธไม่ได้

เพราะพุทโธนี้เป็นคำบริกรรม พุทโธนี้มันเป็นวิธีการ แต่เป้าหมายคือความสงบ เป้าหมายคือจิตมันสงบระงับ แต่ไอ้นี่คือวิธีการเข้าไป มันเป็นสอง เห็นไหมแต่ถ้าเป็นสอง ถ้ามันถูกต้องดีงาม มันก็ต้องฝึกหัดไปอย่างนี้ จะบอกว่า มันก็เป็นธรรมดาที่มันจะผิดพลาดบ้าง

ฉะนั้นบอกว่า “เมื่อรู้ตัวว่าฝัน พยายามกำหนดสภาวะให้กลับมา

เมื่อรู้ตัวว่าฝัน มันก็เป็นอย่างนี้ นี่พูดถึงว่าเวลาแก้ไข เวลาแก้ไขนะ เราก็ระลึกพุทโธของเรานี่แหละ ระลึกพุทโธตลอดไป ถ้ามันจะรู้สิ่งใด เรากลับมาระลึกพุทโธ จบหมด พวกนี้จบหมด

แต่อาการที่เขาเป็นไง อาการที่เขาเป็นบอกว่า เวลาเขาระลึกพุทโธแล้วเขาดึงกลับมา ดึงกลับมาด้วยสติปัญญา ภาพนี้ดับหมดเลย แล้วมันมีอาการหมุน มีอาการหมุนนะ สิ่งที่ว่ากระผมยิ่งพุทโธ อาการหมุนก็ยิ่งเร็วขึ้น

นี่เวลาสมุทัยมันซ้อนเข้ามามันเป็นแบบนี้ เวลามันหมุนใช่ไหม เวลามันหมุนเพราะว่าเหมือนกับเวทนาเป็นเรา ทุกข์เป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเรา นี่ก็อาการหมุนเป็นเรา เรากับหมุนก็เป็นอันเดียวกัน มันก็หมุนใหญ่เลยไง

แต่ถ้าตั้งสติ กลับมาพุทโธนะ หยุดหมด ถ้ากลับมาพุทโธ หมุนไม่ได้ มันไม่หมุน ไม่มีอาการอะไรทั้งสิ้น ถ้ามันกลับมาพุทโธนะ แต่ถ้าเวลามันยิ่งหมุน เพราะว่าสติเราไม่พร้อม ถ้าสติไม่พร้อม มันยิ่งหมุนยิ่งเร็วขึ้น เร็วขึ้นโดยปกติ แล้วถ้าตามไปนะ

เพราะกรณีนี้ ทุกคนเวลาฟังคนอื่นพูด เวลาครูบาอาจารย์พูดก็เป็นเรื่องหนึ่งนะ แต่ถ้าเราเจอเอง มันเป็นประสบการณ์ของเรา ถ้าประสบการณ์ของเราอาจารย์พูดอย่างนั้นก็เชื่อ แต่ก็อยากลอง เวลาหมุน อ้าวหมุนก็หมุนกันวะ ลองดูซิ หมุนไปที่ไหน หมุนไปสักพักหนึ่ง ไม่มีวันจบหรอก มันหมุนอยู่อย่างนั้นน่ะ ไม่มีวันจบ ทีนี้ไม่มีวันจบ มันอยู่ที่นิสัย นิสัยบางคนมันจะไปเห็นอะไรที่แปลกมหัศจรรย์บางคนจะไปรู้อะไรแปลกๆ

แปลกๆ มันก็คืออาการ มันเหมือนเด็กเขียนการ์ตูนเลย มันจะวาดภาพอะไรก็ได้ จิตนี้มันจะวาดภาพอย่างไรก็ได้ มันจะรู้อะไรก็ได้ คำว่า “ก็ได้ๆ” มันอยู่ข้างนอกหมดน่ะ

ถ้าวิธีแก้ วิธีแก้ก็พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ ดึงไว้ พุทโธชัดๆ แล้วภาวนาของเราไปนะ ให้จิตสงบ พอจิตสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา ให้เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตเห็นธรรมตามความเป็นจริง พิจารณาของเรา แยกแยะของเรา วิปัสสนา ใช้ภาวนามยปัญญา เวลาปัญญามันชำระล้างกิเลส กิเลสมันขาดไปแล้วนะ ถ้าเรามีวาสนาที่จะรู้จะเห็นอย่างนี้ เขาเรียกอภิญญา

หลวงปู่ตื้อ หลวงปู่ตื้อท่านสร้างอำนาจวาสนาของท่านมา ท่านทำจบแล้วท่านจะมีอภิญญาของท่าน เวลาอาจารย์สิงห์ทอง หลวงตาท่านบอกว่าอาจารย์สิงห์ทองนี่สุกขวิปัสสโก เวลาท่านทำของท่านเสร็จแล้วนะ ท่านทำของท่านเสร็จแล้วด้วยวิมุตติสุข สุขสงบระงับอย่างนั้น แต่ท่านไม่มีความรู้ความเห็นอย่างนั้น

นี่เหมือนกัน ถ้าเราบอกว่ามันหมุนติ้วเลย มันมีความรู้อะไรแปลกๆ เลย

อันนั้นมันเป็นอำนาจวาสนานะ แล้วถ้าเราอยู่กับอำนาจวาสนา อยู่กับเรื่องกิเลสอย่างนี้ เราจะไม่บรรลุธรรม เพราะอะไร เพราะอภิญญามันไม่ใช่มรรค ไม่ใช่กิจจญาณ สัจจญาณ กิจจะ สัจจะ มันเป็นอริยสัจ จิตมันต้องมาฝึกหัดใช้อริยสัจถ้าอริยสัจ มันชำระล้างกิเลสไปแล้ว อำนาจวาสนาบารมีของเรามันพร้อมกับที่จิตสะอาด ไอ้นี่มันอยู่กับเราคงที่เลย เหมือนกับหลวงปู่ตื้อ เหมือนกับครูบาอาจารย์ที่ท่านรู้อะไรแปลกๆ เลย ความรู้อย่างนี้มันรู้ด้วยจิตที่สะอาดบริสุทธิ์ รู้โดยที่ไม่มีกิเลสยุแหย่ไง

แต่เรามีกิเลสอยู่ เรารู้อยู่ แล้วเราพยายามจะใช้ก่อน...เสื่อมหมด แล้วไม่ได้อะไรด้วย ถ้ามันยังไม่ได้เข้าอริยสัจ เหมือนกับคนเป็นไข้ คนเป็นไข้แล้วไม่ได้รักษาตัวเอง มีแต่พาไปเที่ยว พาไปเช็ดตัวล้างตัว เช็ดตัวให้มันเย็นๆ ลดไข้ แล้วลดไข้มันก็สบายๆๆ อ้าวลดไข้ไง ลดไข้ เอาผ้าเย็นเช็ด เออสบายตัวดีไหมสบาย สบาย แล้วทำอะไรต่อ ไข้มันไม่ได้รักษา แล้วมันก็เป็นอยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วอภิญญานี้เสื่อม เสื่อมเพราะอะไร เพราะไข้มันสูงขึ้นๆ มันเข้าสมาธิไม่ได้ แต่ถ้ามันวางสิ่งนี้ไง

เวลาปฏิบัติ ไอ้ที่ว่ามันหมุนติ้วๆ สิ่งที่มันเกิดขึ้น อาการทั้งหมด อาการทั้งหมดนะ แล้วกลับมาพุทโธชัดๆ แล้วอย่างที่ว่า “เมื่อรู้ตัวว่าฝัน”...นั่นมันไปแล้วมันไปแล้ว มันเพิ่งกลับมาไง แต่กลับมาก็รู้ตัวว่าอย่างนั้น พอรู้ตัวอย่างนั้นก็เข้าใจว่า เข้าใจว่าเราทำมาเสมอต้นเสมอปลายไง เพราะต้นเราทำอย่างนี้ ท่ามกลางเราทำอย่างนี้ แล้วนี่ขั้นปลายมันอย่างนี้ แล้วเราจะต่อยอดอย่างไร

แต่ถ้ามันเป็นข้อเท็จจริงนะ ขั้นต้นเราภาวนาดี เราพุทโธๆ อยู่ ท่ามกลางนี่หลับไป มันวูบ สะดุ้ง รู้สึกตัว ไปแล้ว ท่ามกลางมันพลาด แล้วบั้นปลายมันหมุนติ้วๆ ก็ยิ่งงงเข้าไปใหญ่เลย

วางไว้ แล้วก็ทำแบบนี้ พุทโธแบบนี้ เริ่มต้นให้มันชัดเจน แล้วอย่าให้พลาดที่ตรงกลาง อย่าให้วูบไป อย่าให้หายไป พุทโธไว้ชัดๆ ชัดๆ แล้วถ้ามันไม่ได้ วางใช้ปัญญาอบรมสมาธิคือใช้ปัญญาแยกแยะเลย ทำไมเอ็งง่วงนอน ทำไมเอ็งทำแล้วทำไม่ได้ นี่ใช้ปัญญา พอปัญญามันแยกแยะ เหมือนกับเราทำความสะอาดพื้นที่ แล้วเราจะมาพุทโธใหม่ มันก็เริ่มชัดขึ้น มันไม่ใช่วูบหายไปไง ค่อยๆ ทำแบบนี้ ถ้าทำแบบนี้มันก็จะมาได้ ถ้ามาได้ มันก็ที่ว่าถ้าทำให้มันถูกต้อง

ที่ทำมาผิดไหม

วิธีการไม่ผิด แต่กิเลสมันมาซ้อนให้ผิด กิเลสมันมาพลิกแพลงให้ผิด วิธีการพุทโธๆ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิไม่ผิด แต่กิเลสที่มันสอดมาน่ะ กิเลสที่มันเข้ามาแทรกนั่นน่ะมันทำให้ผิด ฉะนั้น เวลาทำเข้าไปแล้วเราก็ตั้งสติให้มากขึ้น ตั้งสติมากขึ้น รอบคอบมากขึ้น แล้วทำให้ดีขึ้น มันก็จะแก้ไขขึ้นมา นี่ข้อ .

หลายวันต่อมา อาการสภาวะเดิมเกิดขึ้นอีก แต่ไม่ได้ดึงกลับ เป็นอาการฝัน เกล้ากระผมจึงจดจ่อเพ่งดูอาการนั้นโดยที่ไม่บริกรรมพุทโธ อาการนั้นไม่หมุนแต่กลับพุ่งทะยานขึ้น ยิ่งจ่อเข้า อาการยิ่งพุ่งแรง ทะยานขึ้นเร็ว ผลสุดท้ายก็คลายออกมา

เห็นไหม “ผลสุดท้าย” อาการ อาการที่มันแสดงออกทั้งหมด ก็เหมือนอารมณ์เราถ้ามันถึงที่สุดแล้วมันก็จบไง เวลาโกรธ ถ้าเรานั่งเฉยๆ นะ เวลาเราโกรธแล้วเราบังคับตัวเองไว้ โกรธแค่ไหนก็ไม่ไปไหน นั่งอยู่นี่ ให้มันโกรธไปนะ โกรธถึงที่สุดแล้วมันก็จบ พอจบแล้ว เออถ้ากูตามมึงไปนะ กูก็ทำผิดอีกแล้ว

โกรธแค่ไหนก็บังคับตัวเองนั่งอยู่นี่ ให้มันโกรธไป แต่ไม่ไป นั่งอยู่นี่ เฉยเดี๋ยวมันต้องจบ เดี๋ยวนะ แต่บางทีมันไม่เดี๋ยวน่ะสิ  วันยังโกรธอยู่ ไม่จบ ยิ่งวันที่  ยังโกรธเลย เห็นไหม ถ้าบังคับไว้ ถ้าโกรธแล้วไม่ตามมันไป อยู่เฉยๆ เดี๋ยวก็จบ

นี่ก็เหมือนกัน อาการพุ่ง อาการพุ่ง อาการที่มันพุ่งไปอะไรไป เวลาไม่มีกำลังส่งมันก็จบ แต่จบแล้วมันก็เป็นปรากฏการณ์ทางจิตที่เรารู้เห็น แล้วถ้าคนไม่มีครูบาอาจารย์นะ “โอ้โฮเก่ง โอ้โฮรู้นะ มันหมุนมันติ้วเลยนะ โอ้โฮมันส่งออกเลยนะ

มันเป็นเงา มันเป็นอาการของจิต แล้วมันมีอวิชชาเข้ามาเจือปน มันก็ไม่สะอาดไง ทำด้วยเจือปน สมุทัยมันซ้อนเข้ามา แต่ที่เราทำกัน เราต้องการธรรมะสัจธรรม ตบะธรรมแผดเผากิเลส การแผดเผากิเลสต้องให้มันสะอาดบริสุทธิ์ไง

เห็นไหม ดูการทำอาหารสิ แม้แต่ใช้เชื้อเพลิงแตกต่างกัน รสชาติของอาหารยังแตกต่างกันเลย เดี๋ยวนี้เขาบอกต้องใช้ไฟถ่าน อาหารมันจะได้อร่อย เมื่อก่อนใช้ไฟถ่านนี่ล้าสมัย ต้องใช้แก๊ส ตอนนี้ต้องกลับไปใช้ไฟถ่านอีกแล้วนะ ถ้าไฟถ่านอู้ฮูอาหารจะกลมกล่อม แม้แต่มันใช้พลังงานแตกต่างกันมันยังให้ผลแตกต่างกันเลย

อ้าวแล้วของเราล่ะ ของเราถ้าทำให้ดี ฉะนั้น เวลามันพุ่งๆๆ มันพุ่ง อาการทั้งนั้น เราจะบอกว่า ถ้า  ลักษณะนี้ถ้าเข้าใจแล้ว เดี๋ยวมันก็มีอาการใหม่ เพราะกิเลสมันเป็นตัวเชื้อ แล้วมันสร้างภาพ มันพลิกแพลง มันหลอกลวงเราทั้งนั้นน่ะมันหลอกลวงเราตลอดเวลา อาการไง แล้วเราพูดเฉพาะประสบการณ์ของเราชนิดอันเดียว แต่จิตนี้มันพลิกแพลงได้ มันมาได้หลายรูปแบบ มันจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไรก็ได้ แต่ก็เชื้ออันเก่านั่นแหละ เชื้อคืออวิชชานั่นน่ะ ฉะนั้น ทำความสงบของใจเข้ามา

เวลาหาครูบาอาจารย์เรา มันไม่มีรสชาติไง มันไม่เป็นอภิญญาไปรู้เห็นอะไรแปลกๆ ชอบ แต่ไปหาครูบาอาจารย์เรา ทำความสงบของใจเข้ามา ต้องทำความสงบของใจเข้ามา

อาหารที่เขาทำประกอบอาหาร เขาต้องการน้ำสะอาด น้ำสะอาดใช้หุงข้าวก็ได้ ใช้ทำอาหารก็ได้ ใช้ทำสรรพสิ่งได้ทั้งหมดเลย น้ำสะอาด สัมมาสมาธิ จิตที่ใสสะอาด เราต้องการตรงนี้ ต้องการตรงนี้ ถ้าต้องการตรงนี้แล้วเราทำได้ประโยชน์หมด

ฉะนั้น พุทโธ ทำให้จิตสงบเข้ามา น้ำสะอาด เอาน้ำสะอาด แล้วมันจะใช้ประโยชน์ได้ทุกๆ อย่าง เพียงแต่ว่าใช้เป็นหรือใช้ไม่เป็น ถ้าใช้เป็น ครูบาอาจารย์ ถ้ามันมีอำนาจวาสนา จิตสงบแล้ว น้ำที่ใช้ประโยชน์แล้วมันจะมีกิจกรรมให้ทำต่อเนื่อง แต่ถ้าวาสนาของเรา น้ำสงบแล้วมันอยู่ในบึงอยู่ในสระ มันก็อยู่ในบึงในสระนั้นน่ะ เราต้องรำพึง รำพึงตักน้ำนั้นขึ้นมา รำพึงไปที่กาย รำพึงไปที่เวทนา รำพึงไปที่จิต รำพึงไปที่ธรรม รำพึง

วาสนาคนไม่เหมือนกัน บางคนนะ พอมีน้ำ มันอยู่ในที่สูงนะ มันจะไหลลงมาเลย เป็นสปริงเวย์นะ จะมีกำลัง จะมีทดทุกอย่าง จะเป็นประโยชน์หมดเลย นี่คนที่มีวาสนา คนที่มีวาสนา พอจิตสงบแล้วมันจะเกิดการกระทำต่อเนื่อง เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นไปต่อเนื่องเลย แต่จิตของคนที่ไม่มีวาสนา เราต้องขวนขวาย

จิตของคนไม่เท่ากัน อำนาจวาสนาของคนไม่เท่ากัน เพียงแต่ว่าเราปฏิบัติแล้วเรามีวุฒิภาวะ เรามีคุณอย่างไร เราต้องปรึกษาอาจารย์ ปรึกษาอาจารย์ที่ท่านเคยผ่านประสบการณ์มา ปรึกษาท่าน ท่านมอบให้ ท่านเคยผ่านมา ท่านรู้จิตของคนไม่เหมือนกัน กำลังของคนไม่เหมือนกัน คนคนเดียวทำแต่ละคราวก็ไม่เหมือนกัน คราวนี้ทำความสงบได้ง่าย คราวหน้าทำความสงบได้ยาก ทำความสงบแล้ววิปัสสนาได้หรือไม่ได้ มันไม่เหมือนกัน

อาหารเวลาทำไปแล้ว ดูแม่ครัวดังๆ สิ ในร้านอาหารเขาเปลี่ยนแปลงเมนูทุกเดือนน่ะ ไม่อย่างนั้นไม่มีใครมากินหรอก มันเปลี่ยนแปลงตลอด เดือนหน้าเปลี่ยนเมนูใหม่แล้วนะ สดๆ ร้อนๆ เรียกแขก นี่ไง แม่ครัวทำอาหาร เขายังต้องเปลี่ยนเมนูของเขาเลย แล้วเราปฏิบัติอยู่ มันยังมีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ทำอย่างนั้น

นี่พูดถึงเราค่อยๆ ทำนะ ถ้ามันพุ่งออกๆ พุทโธไว้ ถ้าจิตสงบแล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเรา ไอ้นี่เรื่องของเขา เรื่องของเขาคือเรื่องของกิเลสไง เราทำของเรานะ นี่จบ

ถาม : เรื่อง “กราบขอบพระคุณ

ตอบ : กราบขอบพระคุณคือว่าเขาเขียนปัญหามาถามไง แล้วเขาบอกว่าเขาไปฟังเทศน์บนศาลาแล้ว แล้วจบแล้ว ฉะนั้น เขาเขียนมา เราก็พูดให้รู้ว่าได้รับแล้ว เอวัง