ถามธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๘
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “ถามเรื่องการวิปัสสนา”
กราบเรียนหลวงพ่อด้วยความเคารพยิ่ง กระผมฟังพระเทศน์เรื่องจิตตภาวนามาหลายครูบาอาจารย์ ไม่ลงใจกับเทศนาของใครเลย เหมือนของหลวงพ่อ หลวงพ่อเทศน์ตรงใจผมมาก ผมภาวนาโดยใช้ความคิดไตร่ตรองในเรื่องร่างกายแบบกายคตาสติกรรมฐาน พอคิดเรื่องกาย ความรู้สึกมันทำให้ความรู้สึกทางเพศสงบตัวลงมาก
ผมนั่งไตร่ตรอง ชอบใช้ความคิด เพราะผมคิดพุทโธ จิตมันฟุ้งซ่านคิดนู่นนี่นั่น ไม่อยู่ในพุทโธคำเดียว ผมคิดเรื่องกาย คิดๆๆๆ แยกแยะแล้วเกิดความรู้สึกวูบวาบจากอวัยวะเพศมาถึงกลางอก จิตรวมลงมาสว่างจ้าอยู่กลางอกด้านซ้ายตรงหัวใจ เกิดความสุขอย่างมาก สุขที่สุด ความคิดหายไปเลย คือคิดต่อไปไม่ได้พอความสุขเริ่มหายไป ความคิดก็เริ่มกลับมาอีก ผมทำอย่างนี้ประจำ แต่มันคิดไปหากายไม่ได้สักทีในขณะจิตรวม
คำถาม : ผมจะน้อมไปเห็นกายช่วงไหนในขณะจิตรวม เพราะความคิดหายและความสุขมันบดบังหมดแล้ว ไม่อยากทำอะไรต่อเลยครับ หลวงพ่อช่วยแนะนำด้วยครับ ไม่อย่างนั้นทำต่อไปไม่ได้แน่ หลวงพ่อช่วยแนะนำด้วยครับ ขอบพระคุณ
ตอบ : นี่เขาถามมานะ เขาบอกว่าเขาฟังเทศน์ พอฟังเทศน์ เวลาพุทโธๆ เขาบอกว่าเขาพุทโธไม่ได้ เขาใช้ความคิดของเขาตลอดไป
เวลาคิดเรื่องกายๆ นี่กายนอก เห็นไหม เวลาหลวงตาท่านบอกกายนอกกายใน กายในกาย คำพูดอย่างนี้มันเป็นกรรมฐาน แล้วกรรมฐานเราพูดด้วยความเป็นจริงนะ กายนอก กายใน กายในกาย
กายนอก เราไปเที่ยวป่าช้าๆ เราไปเห็นโครงกระดูก เห็นซากศพ มันสะเทือนหัวใจแน่นอน กายนอก กายในก็กายของเรา ฉะนั้น เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ กายนอก กายใน กายในกาย มันก็เป็นกายหยาบกายละเอียด อย่างเช่นกายหยาบๆพิจารณากายๆ ถ้าพิจารณากาย นี่กายคตาสติ เวลาพิจารณาไปแล้วละสักกายทิฏฐิ ความทิฏฐิในกาย กายเป็นของเรา ถ้ากายเป็นของเรา สรรพสิ่งเป็นของเราเพราะเรามีเราแล้วเราถึงไปเบียดเบียนคนอื่น เห็นไหม ถ้าพิจารณากายนอก
เวลากายใน เห็นไหม กายใน พิจารณากายเหมือนกัน เวลากายมันแยกออกมาเป็นธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ เวลามันแยกไป เห็นต่อหน้า สิ่งนี้พอพิจารณากายโดยสมุจเฉทปหานมันก็เป็นสกิทาคามี ฉะนั้น ถ้าจิตสงบแล้วตรงนี้ยกขึ้นสู่อสุภะ ตรงนี้ยกขึ้นได้ยากที่สุดเลย ถ้ายกขึ้นสู่อสุภะ เห็นไหม นี่กายนอกกายใน กายในกาย กายในกาย กายที่ละเอียด มันมีขั้นตอนของมันไง
ถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติในกายคตาสติ เวลาพิจารณากายโดยต่อเนื่อง อย่างเช่นหลวงปู่เจี๊ยะ ครูบาอาจารย์ท่านพิจารณากายอย่างเดียว หลวงปู่เจี๊ยะท่านพูดเอง พูดกับเราบ่อยมากว่าพิจารณากายๆๆ ท่านพิจารณากายอย่างเดียวเลย
เวลาครูบาอาจารย์บางองค์ท่านก็พิจารณาจิตของท่านอย่างเดียวเลย อย่างเช่นหลวงตาท่านพิจารณาของท่าน พิจารณาขั้นแรกของท่าน ท่านพิจารณาเวทนาขั้นที่ ๒ ท่านพิจารณากาย ขั้นที่ ๓ ท่านพิจารณาอสุภะ ขั้นที่ ๔ ท่านพิจารณาจิตจุดและต่อมคือจิต
หลวงตาเป็นพระที่มหัศจรรย์ มหัศจรรย์ว่าสติปัฏฐาน ๔ เวลาสติปัฏฐาน ๔ท่านพิจารณาของท่านแต่ละชั้นแต่ละตอนไง แต่เวลาครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่แล้วถ้าพิจารณากายก็จะพิจารณากายๆๆ คือความถนัดไง เหมือนทหารบก ทหารบกก็เชี่ยวชาญการรบทางบก ทหารเรือนาวิกโยธินก็เชี่ยวชาญการรบทางน้ำ ทหารอากาศก็เชี่ยวชาญการรบทางอากาศ
นี่ก็เหมือนกัน ทหารแต่ละชนิดก็เชี่ยวชาญของเขา เพราะเขาฝึกฝนมาโดยความเป็นจริงอย่างนั้น แต่เวลาคนรบบนบกก็เชี่ยวชาญ รบทางน้ำก็เชี่ยวชาญ รบทางอากาศก็เชี่ยวชาญ มันหายากนะ
ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติ ท่านพิจารณากาย ท่านจะพิจารณากาย ท่านเชี่ยวชาญ ถ้าเป็นทหารบกก็เชี่ยวชาญการรบทางบก แม้แต่ทหารบกก็อยู่ที่คออีก ทหารปืนใหญ่ ทหารราบ มันยังมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไป นี่ก็เหมือนกัน ทางบกก็เหมือนกัน ทางบกเขายังมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไป
ฉะนั้น เวลาพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริงไง ฉะนั้น ถ้าตามความเป็นจริงมันจะเป็นแบบนี้ ถ้าเป็นแบบนี้ ฉะนั้น เวลาที่จะประพฤติปฏิบัติ ฉะนั้นเวลาเราจะปฏิบัติ เขาบอกว่าเขากำหนดของเขา ใช้ความคิด ว่าคิดๆๆ เขาว่าคิดคิดจนมันแยก
คิดๆๆ ถ้าเรามีสตินะ ถ้าคิดๆๆ คำว่า “คิดๆๆ” มันมีสติมันถึงรู้ว่าเราคิด แต่ถ้าเราคิด เราคิดคือว่าอารมณ์ความรู้สึกมันไปแล้ว มันไม่มีเรา เพราะเรากับอารมณ์เป็นอันเดียวกัน
เวลาถ้าโดยสามัญสำนึกของเรา เวลาเราคิด พอคิดแล้วมันเกิดอะไรขึ้นมาเวลาคิดแล้วมันเกิดอารมณ์ มีความโกรธ มีความไม่พอใจ มันเป็นเราหมดเลยแต่ถ้าเราคิดๆๆ แต่เรามีเราคอยคิดมีสติไง มันมีสติ มีสติคอยดูความคิด เท่าทันความคิด ถ้าสติมันทันนะ เอ็งคิดทำไม คิดมาอย่างนี้คิดมากี่ล้านๆ ครั้งแล้ว แล้วก็หลงคิดอยู่อย่างนี้ ทำไมเอ็งไม่มีสติปัญญาเลยหรือ มันอายนะ หยุดเลย ถ้าสติปัญญามันทัน อันนี้เขาเรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิ
ถ้าบอกว่าเราคิดๆๆ แต่มันมีเราอยู่ไง แต่ถ้าไม่ใช่เรานะ คิดๆๆ อารมณ์มันร่วมไปนะ คิดเรื่องอะไรล่ะ ถ้าคิดเรื่องสิ่งใด เราก็เอาสิ่งนั้นเป็นตัวตั้ง คือจิตไปอยู่ที่นั่น แต่ถ้าเราคิดๆๆ แต่มีสติอยู่กับเรา มันอยู่ที่จิต มันไม่ได้ไปอยู่ที่เป้าหมายนั้น
เราคิดเรื่องอะไรก็แล้วแต่ คิดเรื่องผลกระทบต่างๆ เราไปคิด มันมีผู้ได้ผู้เสียคิดอย่างนั้นน่ะ เราไปแล้ว เราอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกอันนั้น แต่ถ้าเราคิดๆๆ แต่เรามีสติปัญญาอยู่ เขาบอกว่าเขาคิดๆๆ มันแยก แยกความรู้สึก มันวูบวาบเลยวาบหมดเลย จิตนี้สว่างจ้า มีอยู่กลางหัวอก กลางดวงใจ เกิดความสุขมาก แล้วเขาเน้นเลยว่าสุขสุดๆ ความคิดนั้นหายไปเลย ความคิดนั้นหายไปเลยนะ
เวลามันเป็นเอกเทศ มันคิดไม่ได้ เพราะการคิดมันต้องมีจิตกับอารมณ์มันกระทบกัน ถ้ามันกระทบกัน เวลาเราสบายใจ เราไม่ได้คิดอะไรเลย มันว่างๆ มันไม่กระทบอะไรเลย มันไม่มีความคิด เห็นไหม ตอนที่เราสบายใจ เราปล่อยอารมณ์หมดเลย มันว่างหมดเลย แต่ว่างแบบนี้มันว่างโดยธรรมชาติของมันเองเราไม่ได้ว่างโดยการบริหารจัดการ ไม่ได้ว่างโดยที่เรามีสติปัญญาดูแลหัวใจของเรา
ถ้าเราว่างมีสติปัญญาดูแลหัวใจของเรา หัวใจมันสงบนะ จิตนี้เป็นหนึ่ง ถ้าจิตเป็นหนึ่ง ฉะนั้น สิ่งที่มันเป็นหนึ่ง พอเป็นหนึ่งแล้ว ถ้าเขาบอกว่า มันว่างหมดเลย มันมีความสุขมาก ความคิดหายไปเลย คิดต่อไปอีกไม่ได้ แต่พอความสุขหายไป กลับมาคิดอีก แล้วมันก็ทำอย่างนี้ประจำ แต่มันคิดไปหากายไม่ได้สักที
ถ้าจิตสงบแล้ว ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริงถ้าจิตสงบแล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง มันถึงจะเป็นวิปัสสนา
ที่เขาบอกว่า “พุทโธๆ ไม่มีปัญญา ของเราใช้ปัญญา”
ปัญญาอย่างนั้นมันเป็นปัญญาแบบคิดๆๆ นี่แหละ คิดๆๆ มันก็คิดของมันน่ะแต่มันไม่เห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริงหรอก นั่นเขาบอกว่าเขาเป็นปัญญานั้นโลกียปัญญา ปัญญาอย่างนั้นมันเป็นการท่องจำจิตด้วยความคิดของเขาว่าสิ่งนั้นเป็นการประพฤติปฏิบัติด้วยความเข้าใจของเขา ด้วยความเข้าใจ มันไม่ใช่ความจริง
ถ้าเป็นความจริงนะ ถ้าเป็นความจริง ถ้าสมาธิก็ต้องเป็นสมาธิ ถ้ามันสงบก็ต้องคิดจนมันสว่างโพลง มันวาบ ความคิดหยุดหมดเลย
ตั้งสติไว้ อันนี้ที่หลวงปู่ดูลย์สอน พยายามตั้งสติไว้ ความคิดส่งออกทั้งหมดเป็นสมุทัย ผลของสมุทัยเป็นทุกข์ ความคิดทั้งหมดที่ส่งออก ความคิดโดยสามัญสำนึกของมนุษย์ทั้งหมดเป็นสมุทัย ผลของมันคือความทุกข์ คิดๆๆ จนจิตมันหยุด แล้วให้จิตเห็นอาการของจิต ถ้ามันหยุด จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นอาการของจิตนั้นเป็นมรรค ผลของการที่จิตเห็นอาการของจิตนั้นเป็นนิโรธ นี่หลวงปู่ดูลย์พูดอย่างนี้ มันต้องมีตรงนี้ไง มีตรงที่จิตเห็นอาการของจิต
เหมือนคำถามนี้ ผมคิดๆๆ มันวาบหมด วูบเลยนะ วาบสว่างโพลงกลางหัวใจ มีความสุขมาก สุขมาก
ถ้าสุขมาก เพราะเขามีสติปัญญา แล้วเขาพูดเอง เขาบอกว่าฟังเทศน์ครูบาอาจารย์มาเยอะแล้ว แต่ติดใจเทศน์หลวงพ่อ
นี่เพราะติดใจเทศน์หลวงพ่อ มันเลยบอกว่านี่ไม่นิพพานไง ถ้าลองไม่ได้เทศน์หลวงพ่อนะ ถ้ามันสว่างโพลงอย่างนี้ “อ๋อ! นิพพานเป็นอย่างนี้เอง” เพราะความเชื่อของเขาไง มันเป็นความเชื่อ มันเป็นความเชื่อของเขา มันไม่เป็นความจริงไง
นี่เขาพูดเอง เขาบอกว่า ฟังเทศน์ครูบาอาจารย์มาเยอะ แต่ไม่ลงใจ แต่ตอนนี้ฟังเทศน์หลวงพ่ออยู่ เพราะฟังเทศน์หลวงพ่ออยู่ เพราะมันมีหลัก เวลาคิดๆๆอย่างนี้ แล้วเวลาจิตมันสว่างโพลง เขาถึงเขียนคำถามมาว่า “แต่มันคิดไปหากายไม่ได้สักที”
“มันคิดไปหากายไม่ได้สักที” คือยกขึ้นสู่วิปัสสนาไม่ได้ สำคัญตรงนี้มาก
เวลาเราเทศน์มาตลอดเลยบอกว่า เราจะเข้าบ้านของเรา ถ้าเราเข้าปากซอยเราถูก เราจะเข้าบ้านเราถูก ปากซอย ปากซอย ถ้าเราเข้าปากซอยเราไม่ถูกนะเราจะเข้าบ้านเราไม่ได้เลย เพราะบ้านเราอยู่ในซอยนั้น เราเข้าปากซอยถูก เราจะเข้าบ้านของเราได้ ถ้าเราเข้าปากซอยไม่ถูก เราจะเข้าบ้านไม่ได้
นี่ก็เหมือนกัน มันไม่เห็นกายสักที มันหาปากซอยตัวเองไม่เจอ คือหาหนทางของตัวเองไม่ได้ ถ้าหาหนทางของตัวเองได้นะ ใครถนัดทางใด ถ้าใครเห็นกายเห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง
แต่ถ้ามันเห็นไม่ได้นะ กรณีที่ว่ามันคิดไม่ได้สักที ถ้านั่งนานๆ ถ้าเดินจงกรมๆถ้าเวลามันเมื่อย นั่นแหละเวทนา มันเมื่อย มันเหนื่อย มันล้า เวลานั่งไป เวลามันเจ็บมันปวด นั่นล่ะ จับเลย จับๆๆ กาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐาน ๔ สิ่งที่ไม่พอใจ สิ่งที่ขัดใจก็เป็นเวทนาจิต สิ่งที่ขัดเคืองในหัวใจก็เป็นเวทนาจิต สิ่งที่เจ็บหลัง ปวดเอว เจ็บแข้งเจ็บขา เวทนากาย เวทนากายมันเกิดก็เกิดเวทนาจิต
ไอ้คนที่บอกว่าเข้าปากซอยไม่ถูกๆ...ปากซอยเบ้อเริ่มเทิ่ม แต่ผ่านไปผ่านมาผ่านมาผ่านไป ไม่แวะปากซอยสักที ซอยตัวเองเบ้อเริ่มเทิ่มไม่เห็น ถ้าอยากเห็นนะ นั่ง ๔ ชั่วโมงนั่นน่ะ เดี๋ยวมันก็เจ็บแล้ว ถ้าเจ็บก็จับมันสิ จับมัน กาย เวทนา จิตธรรม อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ แล้วขัดเคืองหัวใจมันเป็นเวทนาจิต ถ้ามันฉงนใจเฉลียวใจนะ ฉุกคิดนะ จับมับ! ถ้าจับมับ! นั่นจิตเห็นอาการของจิต
จิตเห็นอาการของจิต อาการที่มันสั่นมันไหว อาการที่มันขัดเคือง อาการที่มันขัดข้อง อาการที่มันไม่พอใจ อาการทั้งนั้น แต่เราไม่ได้สนใจ พออาการมันขัดเคืองขัดข้องก็ฉุนเฉียว ไม่พอใจ เห็นไหม มันเอาอาการนั้นน่ะเป็นเรา แล้วเราก็พอใจอาการนั้น แล้วเราก็จะไปฉุนเฉียวใครก็ไม่รู้
เวลาฉุนเฉียวไม่พอใจเขานะ ฉุนเฉียวไม่พอใจทุกๆ อย่างเลย แต่มันไม่เข้าใจเลยว่าไอ้อาการ ไอ้ความขัดเคืองใจ ตัวนี้แหละตัวมัน ถ้าจับตัวนี้ นี่จิตเห็นอาการของจิต จับยาก เพราะอะไร ขี้บนหัวคนอื่น ขี้นกบนหัวคนอื่น เห็นหมดเลยขี้นกมันขี้เต็มหัวเลย แต่ขี้นกบนหัวตัวเราเองมองไม่เห็น สอนคนอื่นได้หมด รู้ไปหมด แต่เวลามันเกิดกับตัวเราเองทำไมมันไม่รู้ล่ะ เกิดกับตัวเองทำไมมันไม่รู้ขัดเคืองใจนั่นน่ะทำไมไม่รู้ แล้วพอขัดเคืองใจไปแล้ว ทีนี้มันก็พาลแล้ว หาแพะแล้ว ไอ้คนนั้นว่ากู ไอ้คนนี้ว่ากู ไอ้คนนู้นๆๆ น่ะ มันพาลไปแล้ว...จับตรงนี้
แล้วถ้าพูดถึงว่าเขาถามว่า “แต่มันคิดไปหากายไม่ได้สักที”
คิดไปหากายไม่ได้เพราะว่าเราตั้งใจว่าเราพิจารณากาย เห็นไหม เริ่มต้นมาจากว่าเราคิดเรื่องกาย เรื่องกายเราคิดได้ เราคิดได้ มันเป็นกายนอก กายนอกนี่โลกียปัญญา ปัญญาอย่างนี้เราจินตนาการได้ เราสร้างภาพได้ นี่กายนอก
แต่ถ้าพอมันสงบเข้ามาแล้ว ถ้ามันจะเห็นกายใน เห็นกายที่มันเกิดจากจิตเห็นอาการ เห็นที่จิตมันไปยึดมั่นถือมั่น เพราะถ้าพิจารณาไปแล้ว ถ้ามันละสังโยชน์ มันละสังโยชน์ตรงนี้ สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดจากความขัดข้องหมองใจ เห็นผิดหมดล่ะ เพราะความเห็นผิด เพราะความเห็นผิดมีขั้วบวกขั้วลบมันถึงเป็นอารมณ์ออกมา
ถ้าความเห็นถูก ขั้วบวกขั้วเดียว ขั้วลบขั้วเดียว มันเกิดอารมณ์ไม่ได้ มันเกิดปฏิกิริยาออกมาไม่ได้ ถ้าสักกายทิฏฐิมันลบล้างแล้ว มันไม่มีปฏิกิริยาขั้วบวกขั้วลบให้เกิดการกระเทือนหัวใจออกมาได้ เราพิจารณา พิจารณากันตรงนี้ไงพิจารณาเพื่อเหตุผลตรงนี้ไง
ทีนี้กว่าที่พิจารณา มันก็ต้องจับก่อน พิจารณาก่อน ให้มันเป็นความจริงขึ้นมาให้ได้ ถ้าเป็นความจริงได้ เราจะบอกว่า ทำความสงบของใจให้มากขึ้น ทำความสงบของใจที่เขาทำอยู่นี่ ที่ว่ามันสว่างโพลง มันวาบ มันเป็นความสุข อยู่กับความสุขแล้วก็คิดต่อไป คิดต่อไปมันก็จะสงบเข้ามาๆ แล้วพอสงบเข้ามาแล้ว พอสงบเรารู้ว่าสงบ พอสงบแล้วเรารู้ว่า อ๋อ! จิตเป็นอย่างนี้ สมาธิเป็นอย่างนี้ สิ่งที่ว่าจิตที่เวียนว่ายตายเกิด ปฏิสนธิจิต จิตเดิมแท้มันเวียนว่ายตายเกิดอย่างนี้ มันซาบซึ้งมาก มันซาบซึ้ง มันเหมือนเรา เรามือเปล่าๆ เราจะไปสู้เสือด้วยมือเปล่าๆ ไง แต่พอเรามีสติ มีสมาธิ เรามีอาวุธแล้ว แหม! อยากเจอเสือๆๆ
เรากำหนดเข้ามาๆ ถ้าจิตมันสงบแล้ว พออยากเจอเสือ มันระวัง ถ้ามันเห็นความคิดปั๊บ มันจับมับ! นั่นน่ะเสือ แล้วมีอาวุธสู้มันด้วย พอจับได้นะ พอจับได้มันสะเทือนหัวใจมาก กาย เวทนา จิต ธรรมโดยความเป็นจริงมันก็เป็นความจริงนี่แหละ แต่ถ้าเรารู้จริงเห็นจริงขึ้นมา เพราะเรามีกิเลสไง เห็นไหม
เวลาพระอรหันต์นะ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ ๕ เป็นภาระ มันไม่มีโทษไม่มีภัยกับใคร มันไม่มีโทษไม่มีภัยกับพระอรหันต์นะ ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ร่างกายกับจิตใจไม่มีโทษกับพระอรหันต์นะ ไม่มีโทษเลย เพราะอะไร เพราะท่านสำรอกท่านคายมันออกหมดแล้ว แต่ของเรามันอยู่กับเราทั้งนั้นน่ะ ถ้าเราเห็น เราจับได้ถ้าจับได้มันจะวิปัสสนาได้ ถ้าวิปัสสนาได้มันก็เป็นมรรคไง ที่บอกว่า ที่ว่าภาวนามยปัญญา ปัญญาที่มันมหัศจรรย์ไง
“แต่คิดไปหากายไม่ได้สักที” ฉะนั้น คำถามว่า “ผมจะน้อมไปหากายช่วงไหนในขณะจิตรวม เพราะความคิดหายและความสุขมันบดบังหมดแล้ว ไม่อยากทำอะไรต่อเลยครับ หลวงพ่อช่วยแนะนำด้วย”
“ผมควรน้อมไปหากายช่วงไหน ขณะที่จิตรวม เพราะความคิดหาย”
ขณะที่จิตรวม ถ้าจิตรวม ถ้ามีสตินะ ถ้ามีสติก็เป็นสัมมา ถ้ามันไม่มีสติ มันรวมเข้าไปอยู่กับความสุขอย่างนั้น แล้วพอมันคลายตัวออกมา มันคลายตัวออกมาไง พอมันคลายตัวออกมา ดูสิ ถ้าคนเขามีอำนาจวาสนานะ พอเขาพุทโธหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ พอจิตจะสงบจะเห็นนิมิตมาล่อมาลวง แต่ถ้าจิตมันสงบแล้วเห็นนิมิต นิมิตก็คือนิมิต แต่ถ้ามันจิตสงบแล้วเห็นกาย เห็นกายมันก็เห็นกายโดยสัจจะความจริง
แต่ถ้าของเรา เรายังไม่เห็นใช่ไหม ถ้าจิตมันรวมก็อยู่ในความสงบนั้น คลายตัวออกมา ให้รำพึงเลย พอคลายตัว เวลาเราคิดๆๆ จนมันสว่างโพลง ความคิดมันดับหมด ออกมาก็คิดใหม่ ความคิด คิดแล้วจับเลย ถ้ามันคิดแล้วถ้ามันยังจับไม่ได้ก็คิดต่อเนื่องไป มันก็สว่างโพลงอีก คือกลับมาสงบอีก
ผลของสมาธิคือมันสงบ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ แต่เวลาออกมาแล้ว เพราะสมาธิเป็นสมาธิ แต่ไม่มีสมาธินะ มันเป็นโลกหมด ไม่มีสมาธินะ มันเป็นโลกียปัญญา พอมีสมาธิแล้วรำพึง ถ้ารำพึงไม่เห็นกายก็ได้ ถ้ารำพึงไม่เห็นกาย ความคิดนี่จับมันๆ ถ้าจับมันได้ มันเป็นเทคนิค
เวลาหลวงตา เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ เวลาเคล็ดลับ ท่านจะไม่ค่อยบอกถ้าบอกแล้ว พอทำแล้วเดี๋ยวมันก็จับแล้วจับอีก ก็ตะครุบอยู่นี่ จับอยู่นี่ มันจับไม่ได้
มันต้องเป็นปัจจุบัน ค่อยๆ หาวิธีการจับได้ ถ้าจับได้ นั่นน่ะสติปัฏฐาน ๔ จริงถ้าจิตเห็นอาการของจิต ถ้าจิตเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง นั้นถึงเป็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความมุ่งหมายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในปัจจุบันนี้เราท่องกันเอาเอง เราท่องกาย ท่องเวทนา ท่องจิต ท่องธรรมเราท่อง เราท่องสติปัฏฐาน ๔ ท่องอย่างไร ก็มันเกิดจากจิต ท่องจากจิตไง ท่องโดยเราท่องจำแล้วเราจินตนาการ เราจินตนาการ มันเป็นโลกียปัญญานี่แหละ
ฉะนั้น ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ไม่มีผลสะเทือนกับธรรมธาตุในใจของพระอรหันต์ แต่ของเรามันเป็นขันธมาร ขันธ์มันเป็นมารทั้งหมด ความคิดเป็นมารทั้งหมด ทุกอย่างเป็นมารทั้งหมด แล้วมันก็คิดจากมารน่ะ คิดจากมาร คิดจากของเราน่ะ ถ้าจิตสงบแล้วมันปลอดโปร่ง มันปลอดโปร่งชั่วคราว เพราะกิเลสมันสงบตัวลงมันถึงเป็นสมาธิ พอสมาธิแล้ว เรารื้อค้น เราพิจารณาไป
อย่างที่ว่าเขาบอกเขาน้อมไปไม่เห็นกายสักที แล้วกระผมจะน้อมไปช่วงไหน
ก็ช่วงที่ว่าเวลาจิตมันรวมแล้วไง เวลาคลายตัวออกมา เวลาจิตมันรวม เพราะสมาธิเป็นสมาธิ ถ้าสมาธิลึกๆ มันคิดไม่ได้ แต่เวลาพอมันคลายตัวออกมานี่รำพึงก็ความคิดนี่แหละ แต่ความคิดที่มีสมาธิเป็นพื้นฐาน ทางธรรมเรียกว่า “รำพึง”
ถ้ามันคิดโดยสามัญสำนึก เพราะความคิดทางโลกเป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าพูดแบบวิทยาศาสตร์ใช่ไหม ความคิดเราก็คือความคิด แต่ถ้าเป็นนักปฏิบัติ พอจิตเขาสงบแล้ว ถ้าบอกเป็นความคิด มันก็เป็นจิตเดียวกับที่เป็นปุถุชน เป็นจิตเดียวกับปุถุชนคนหนา แต่ถ้าจิตมันสงบแล้วเป็นกัลยาณปุถุชนใช่ไหม ถ้าเป็นความคิดของกัลยาณปุถุชนเขาเรียกว่ารำพึง แน่ะ! รับประทานกับเสวย ถ้าเราไม่มีสถานะเราก็ต้องรับประทาน ถ้าคนมีสถานะ เขาเรียกว่าเสวย
นี่ก็เหมือนกัน เพราะจิตมันมีสถานะของมัน มันมีสมาธิของมัน เขารำพึงรำพึงไปเห็นกาย เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม แล้วต้องฝึกหัดให้เกิดขึ้นมาเอง ฝึกหัดให้เกิดขึ้นมากับเรา ฝึกหัด
การฝึกหัดนะ มนุษย์เราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ เราจะมีความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะต่อเนื่องกับเรามันก็จะทำความเป็นจริงของเราขึ้นมาได้ เอาตอนนั้น
นี่คำถามเขาถามว่ามันไม่เห็นกายสักที มันคิดๆๆ
คิดๆๆ มันก็เป็นประโยชน์แล้ว เพราะจิตสงบได้ พอสงบได้มันก็มหัศจรรย์แต่มันยังไม่ได้เดินมรรค คือว่ายังไม่ได้เดินปัญญา ปัญญาก็เป็นภาวนามยปัญญาเป็นปัญญาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการรื้อสัตว์ขนสัตว์
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านพิจารณาของท่าน ท่านชำระอวิชชาของท่านในหัวใจของท่าน แล้วท่านวางธรรมวินัยนี้ไว้จะให้พวกเราขวนขวาย ขวนขวาย พวกเราก็ใช้จิต จิตของเรามันเป็นปัญญา พอทางโลกปัญญาก็คือความคิดนี่ คิดงานๆ คิดงานเพื่อสัมมาอาชีวะ
แต่เวลาของเรามันเป็นมรรค มรรคมันเป็นความคิด ความคิดที่ละเอียดความคิดที่เกิดจากจิต ความคิดที่สั้น ความคิดมันไม่ส่งออก มันอยู่ที่จิต มันพิจารณา เกิด ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิฯเกิดญาณ เกิดทัสสนะ เกิดปัญญา เกิดความสว่างโพลงกลางหัวใจ นี่เป็นความจริงอย่างนั้น นั่นเกิดมรรค ถ้าเกิดมรรคขึ้นมามันจะเป็นประโยชน์กับเราตรงนั้นเห็นไหม ให้ทำแบบนี้
เขาถามว่า หลวงพ่อ แล้วจะให้ทำอย่างไร ให้ทำอย่างไร
ถ้าคิดๆๆ จนจิตมันรวม เราก็อยู่กับความสุขนั้น เป็นความสุขนั้นคือผลงานของเรา
เราทุกข์เรายากนะ เราทุกข์เรายากแล้วไม่มีผลตอบสนองในใจ ถ้ามันมีผลตอบสนองในใจ มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เป็นผลงานของเรา นี่เป็นผลงานเราเป็นคนขวนขวายเอง เราเป็นคนทำเอง เราก็อยู่กับความสุขนั้น เวลามันคลายตัวออกมา เราจะเดินงานต่อ
ถ้าคิดๆๆ มันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิเข้าไปสู่ความสงบ สงบบ่อยครั้งเข้าสงบบ่อยครั้งเข้ามันเป็นสมาธิ เป็นสมาธิขึ้นมา มันตัดรูป รส กลิ่น เสียง มันทำสมาธิได้ง่าย ได้ง่ายแล้วเราก็พยายามจะขวนขวายหากายของเราให้เจอ หากายหาเวทนา หาจิต หาธรรม
กายก็ได้ เวทนาก็ได้ จิตก็ได้ ธรรมก็ได้ สติปัฏฐาน ๔ อะไรก็ได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่จำเป็นว่าต้องกายอย่างเดียว ถ้าเป็นกาย เห็นไหม กายนอก กายในกายนอก ดูกายสิ กายนอกก็เป็นร่างกาย ถ้ากายในก็ความรู้สึกนึกคิด จับได้ คือว่าไม่ใช่ว่าซื่อตรง ซื่อว่าจะต้องกายอย่างเดียว แล้วต้องกายที่ว่าเราเข้าใจอย่างเดียว เวลามันเกิดกายจริงๆ ไม่รู้จัก
มีคนภาวนานะ เวลาเกิดเป็นอวัยวะ เกิดเป็นปอดเป็นตับขึ้นมา เป็นภาพมาให้เห็นเลย ตกใจ ไม่รู้อะไร มาถาม “หลวงพ่อ นั่นคืออะไร”
ก็กายไง เพราะเห็นกายโดยอาการ ๓๒ เห็นกายโดยส่วนใดส่วนหนึ่ง อยู่ในวิสุทธิมรรคไง เห็นกายโดยส่วนใดส่วนหนึ่งของกาย เห็นกายโดยครบองค์ประกอบ เห็นกายโดยจำเพาะ การเห็นนี่ร้อยแปดเลย วาสนาคนไม่เหมือนกัน
ฉะนั้น เวลาถ้ามันเห็นแล้วมันสะเทือนหัวใจมากเลย ถ้าสะเทือนหัวใจ พอสะเทือนหัวใจแล้วก็เดินไม่ค่อยถูก แล้วค่อยๆ ฝึกหัด จับต้องได้แล้วฝึกหัดจนก้าวเดินได้ ก็จะเป็นผู้ที่ปฏิบัติได้มรรคได้ผลต่อไปข้างหน้า นี้จบ
ถาม : เรื่อง “ลองทำและถามทีเดียว”
๑. ทำไมตอนฟังเทศน์บนศาลา จิตสงบกว่านั่งหรือเดินจงกรมเอง ใจตั้งเป็นสมาธิ ทนเจ็บ ไม่ขยับ และรับมือกับอาการสำลักหายใจไม่ออกโดยเกาะคำเทศน์ของหลวงพ่อไปเรื่อยๆ ได้ และกราบขอบพระคุณหลวงพ่อมาก ได้อุบาย กำลังใจและกลับมาตั้งสมาธิได้ กลับมาตั้งสมาธิอีก พร้อมท้าทายตัวเอง ลองเนสัชชิกและอดอาหารดู
๒. ผลลองทำเนสัชชิก คืนนั้นตอนเดินจงกรมท้องร้อง คราวนี้สวนถาม “ใครหิว” (ก็อปปี้หลวงพ่อมา) อาการหาย แต่นั่งสมาธิไม่ได้ ตกภวังค์ หลับตลอด เลยเดินแทน วันต่อมาอดอาหาร แต่กินปานะ อยู่ได้ ทึ่ง ไม่ได้ทรมานอย่างที่เคยคิดและทำสมาธิเกาะที่คำบริกรรมได้ ฟุ้งน้อยลงจริงๆ ไม่ง่วงเหมือนคืนเนสัชชิก รู้สึกมีความหวังแก้จิตเสื่อมได้ มีกำลังใจกลับมาทำสมาธิอีก อีกวันสองวันกลับมากินอาหาร พลุ่งพล่าน ฟุ้งมาก แต่ดีกว่าตอนทำเองที่บ้านและก่อนมาวัดมากค่ะ แบบนี้ถูกจริตกับอดอาหารใช่หรือไม่เจ้าคะ
๓. ความโกรธและพยายามอภัยด้วยสมอง แผ่เมตตามาเป็นปีๆ ตอนเกิดเรื่องแรกๆ ทุกเช้าผุดแต่เรื่องไม่ดีของเขา คืนหนึ่งตอนเดินจงกรมตอนดึกๆ เรื่องนี้เข้ามา แต่เป็นอีกมุม มีธรรมะมาสอน อยากอโหสิฯ เลิกจองเวร มีอีกหลายคำสอนขึ้นมาเอง ผลปล่อยเรื่องนี้ได้ ทุเลาลงอย่างมหัศจรรย์ใจ ไม่ผุดมาหลอนเหมือนตอนเช้าแล้ว หลังจากนั้นถ้าเผลอนึกถึงสิ่งที่เขาทำไม่ดีหรือได้ยินมา ก็จะเอามาสอนย้อนแย้งตัวเองว่า เราก็มีกิเลสนั้น ไม่ได้ดีกว่าเขา แบบนี้เป็นแค่ธรรมเกิด ไม่ใช่วิปัสสนาแบบเห็นธรรมใช่ไหมเจ้าคะ (มักผุดคำสอนหรือยกเรื่องที่ค้างคามาใคร่ครวญ หลังเดินจงกรมบริกรรมพุทโธอย่างน้อย ๑-๒ ชั่วโมง แต่แบบนี้ไม่เคยเกิดตอนนั่งสมาธิ)
๔. หลังบริกรรมให้สงบแล้วหัดรำพึงให้เห็นร่างกายโครงกระดูก ร่างอาจารย์ใหญ่ จากความจำ แต่ใจมันไม่สะเทือน รู้ว่าปลอม ไม่จริง ต้องใช้ความพยายามมาก ก็ดึงกลับมาพุทโธ แต่มีคืนหนึ่งฝัน หลังจากนั่งสมาธิได้สงบกว่าวันอื่นๆ ว่าฟันร่วงหมดปาก อันนี้สะเทือนใจมาก ตกใจ กลัวยันตื่นนอนยังตกใจ แบบนี้เกี่ยวกับการปฏิบัติไหมเจ้าคะ (เคยลองพยายามโน้มให้เห็นกาย แต่รู้ว่าปลอม แต่เราได้ใช้ความคิดตอนสงบจะไหลลื่นกว่าโดยเป็นเอง ยังแปลกใจว่าเราคิดหรือรู้คำตอบนี้ได้อย่างไร บางทีก็เป็นคำเทศน์ของหลวงพ่อมาตอกย้ำบอกใจตัวเอง แบบนี้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหรือหลงทางคะ ถ้าจะวิปัสสนาให้ถูก ควรทำอย่างไรเจ้าคะ)
๕. การปิดวาจาช่วยในการนั่งสมาธิภาวนาได้ไหมคะ
๖. ความสงบไม่ขึ้นกับระยะเวลาที่เราเพียรพยายามนั่งหรือเดินจงกรมใช่หรือไม่ บางทีอยากให้สงบ มันไม่สงบ แต่เดินจงกรมนานสุด ๔ ชั่วโมง บางทีเดินแบบปล่อยวางความคาดหวัง เดิน ๒ ชั่วโมงก็สงบได้ และมีผุดคำสอนต่างๆ ค่ะ
ขอบพระคุณหลวงพ่ออย่างสูงที่มีคำสั่งสอน
ตอบ : นี่เขาว่ามานะ ฉะนั้น เวลาปฏิบัติ เวลาฟังเทศน์ เวลามาปฏิบัติแล้วมันได้ผล เห็นไหม ถ้าได้ผลของเรา บางทีเราลังเล เราสงสัย เราไม่มีทางออก มันเหมือนนะ ที่เวลาเราพูดหรือเวลาเราตอบปัญหา ตอบปัญหาเพราะเราเข้าใจหัวอกคนที่ประพฤติปฏิบัติ เพราะเราเคยเป็นแบบนี้ เวลาปฏิบัติใหม่ๆ จับต้นชนปลายไม่ถูก แล้วไปถามใครนะ ไปไหนมา สามวาสองศอก
เราบวชพรรษาแรกแล้วพยายามขวนขวาย ทั้งๆ ที่ก่อนบวชก็ศึกษานะ ศึกษานะ เพราะเคย ก่อนบวช เพื่อนๆ เขาไปวัดท่าซุง หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ เราก็ไปกับเขา แต่เวลาเอาจริงๆ ขึ้นมา เราก็มาค้นคว้าว่า ถ้าเราไปบวชอย่างนั้นเราคงอดตายแน่ๆ เลย เพราะบิณฑบาตก็ต้องบิณฑบาตกับเทวดา แล้วธุดงค์ก็ต้องอยู่ห่างจากบ้านหลายกิโลฯ คิดว่าจะอดตาย แต่พอมาศึกษาประวัติหลวงปู่มั่น เออ! อย่างนี้กูทำได้ ก็เลยมาทางนี้ไง นี่พูดถึงว่าเวลาก่อนบวช
แล้วบวชเข้ามาแล้ว สายหลวงปู่มั่น สายกรรมฐาน เพราะมันบวชใหม่ๆ กันทั้งนั้นน่ะ อู้ฮู! มีแต่ครูบาอาจารย์ทั้งนั้นน่ะ ไปถามเขานะ ไปไหนมา สามวาสองศอก ก็มั่วอยู่นั่นน่ะ ทั้งๆ ที่ก็รู้จักหลวงตานะ แต่บวชใหม่ๆ ก็คิดว่าพยายามจะฝึกฝนให้มีข้อวัตรก่อน แล้วเดี๋ยวค่อยเข้าไปทีหลัง กลัวเข้าไปแล้วโดนไล่ออกมาแล้วมันจะเสียสิทธิ์ รักษาสิทธิ์ตัวเองไว้ก่อน แล้วก็พยายาม
ไปไหนมา สามวาสองศอก ประสบการณ์อันนี้ประสบการณ์ที่ว่าไปถามพระองค์ใดก็พูดไปสัพเพเหระ เขาก็พูดเต็มปากเต็มคำนะ แต่มันเป็นที่วุฒิภาวะอ่อนด้อย คือเขามีความรู้แค่นั้นแล้วเขามั่นใจ แต่พอเราฟังเราก็งง พองงขึ้นมามันก็เก็บข้อมูลไว้เยอะ เก็บข้อมูลไว้เยอะ เวลาปฏิบัติมันมั่วไปหมดเลย จิตเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ ทุกข์ยากมาก
พอไปเจอหลวงปู่จวน เออ! “อวิชชาอย่างหยาบท่านสงบตัวลง” คือพอทำได้พออยู่ได้ “อวิชชาอย่างกลางของท่านมหาศาลเลย อวิชชาอย่างละเอียดในใจท่านเยอะแยะเลย”
อืม! จริงของท่านหมดเลย
แต่ตอนนั้นคนนู้นก็ว่าอย่างนี้ คนนี้ก็ว่าอย่างนั้น แล้วก็พยายามศึกษามานะบอกอวิชชาดับก็เป็นพระอรหันต์น่ะ แล้วเราทำใจกลางๆ จะว่าจิตสงบก็ได้ ไม่สงบก็ได้ แต่ทำใจกลางๆ ก็เข้าข้างตัวเองว่ากูไม่มีอวิชชา เพราะกูรู้เท่าหมด แต่ทำไมกูไม่เป็นพระอรหันต์ ก็ไม่เป็นจริงๆ ก็รู้ว่าไม่เป็น แต่ไอ้คำสอนที่ไปฟังมา ไปจับไปฟังมา มันทำให้ปั่นป่วนหมดเลย
พอไปเจอหลวงปู่จวน ท่านเป็นของจริง ไปอยู่กับท่านนะ ท่านก็บอกว่า“อวิชชาอย่างหยาบ คือความฟุ้งซ่านของพวกเรา ไอ้ความลังเลสงสัย ความฟุ้งซ่านหยาบๆ มันสงบตัวลง อวิชชาอย่างกลางๆ ในใจท่านอีกมหาศาลเลย อย่างละเอียดที่ท่านไม่เห็นอีกเต็มเลย”
เออ! จริง
ทีแรกบอกมันไม่มีไง พอเราทำใจกลางๆ นะ ไม่สงสัยอะไรเลย อวิชชาไม่มีอวิชชาไม่มีก็ต้องเป็นพระอรหันต์สิ เพราะอวิชชามันไม่มีแล้ว มันไม่มีกิเลส ทำไมมันมีอยู่ล่ะ นี่มันสัพเพเหระ เพราะมันเจอประสบการณ์อย่างนี้มา
พออยู่กับท่านสักพักหนึ่งแล้วมันก็ขวนขวายไง คือว่าตอนอยู่กับท่านมันได้สติแล้วล่ะ กูโดนหลอกมาเยอะเลย กูโดนหลอกมาทั้งนั้นน่ะ มันเลยวางหมดเลยไง ไอ้คำสอนหลอกๆ วางให้หมดเลย พุทโธกับมันนี่แหละ ซัดกับมันนี่แหละมันก็เลยได้น้ำได้เนื้อมา พอได้น้ำได้เนื้อมา ท่านก็เครื่องบินตกเสีย ก็เครื่องบินตกนั่นแหละทำให้ต้องหันเข้าบ้านตาด เพราะมันโดนหลอกมาจนเข็ด
มันโดนหลอกนะ คนอื่นหลอกมา สำมะเลเทเมามาตลอด แล้วสอนไปไหนมาสามวาสองศอก พอมาเจอหลวงปู่จวน พอตรงทางนะ พอเครื่องบินตก กูไม่ให้ใครหลอกอีกแล้ว กูโดนหลอกมาพอแล้ว กูไม่ให้ใครหลอก เข้าบ้านตาดเลย เข้าบ้านตาดก็ปะทะกันอยู่นั่นน่ะ จนหัวแบะมานี่ นี่พูดถึงเวลาที่ว่าเราตอบปัญหาอยู่นี่ก็เพราะเหตุนี้
ฉะนั้น เวลาเขาพูดไง เวลาเขาพูด เห็นไหม ฟังเทศน์บนศาลา เวลาฟังเทศน์บนศาลา ถ้าจิตสงบได้
มันก็ที่เวลาหลวงตาท่านพูด เวลาหลวงตาท่านพูดนะ การปฏิบัติในกรรมฐานเรา การฟังเทศน์สำคัญที่สุด แต่การฟังเทศน์มันก็ต้องฟังเทศน์หลวงปู่มั่น เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์นะ หลวงตาท่านนั่งฟังอยู่นะ บอกมรรคผลนิพพานทุกคนหยิบฉวยได้เลย เพราะในใจของหลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านเทศน์จากข้อเท็จจริงในใจของท่าน ท่านเทศน์จากข้อเท็จจริงในใจของท่าน เราฟังอยู่นี่เราจินตนาการตาม มันเหมือนจะหยิบเอาเลยนะ สอยดาวๆ ดาวดวงไหนกูก็จะสอยมา ดวงจันทร์กูก็จะดึงมา กูจะสอยพระอาทิตย์เลยล่ะ แต่นี่ความคิดของเราใช่ไหมแต่หลวงปู่มั่นท่านพูดของท่านเพราะดวงใจท่านเป็นหมด ในใจของท่านมันองค์ประกอบพร้อมหมด ท่านอธิบายออกมาทั้งหมด แล้วเราฟัง เราฟังเราก็จะสอยดาวสอยเดือนน่ะ สอยเอา แล้วก็สอยไม่ได้
หลวงตาท่านบอกว่า เวลาหลวงปู่มั่นเทศน์นะ เหมือนนิพพานจะหยิบฉวยเอาได้เลย พอหลวงปู่มั่นเทศน์จบ ฟ้าปิดหมดเลย ท้องฟ้าจำลองก็ปิดไฟ ดับมืดเลย
นี่เวลาเราฟัง เราจินตนาการได้ เราทำได้ ฉะนั้น เวลาเราสำคัญที่วุฒิภาวะของผู้ฟัง ตอนที่เราบวชใหม่ๆ ขนาดที่ว่าบวชใหม่ๆ เราก็ศึกษามาพอสมควรแล้วแหละ เราถึงบวช เพราะมีความศรัทธามาก แต่บวชไปแล้ววุฒิภาวะเรายังอ่อนด้อย ใครพูดอะไรก็เชื่อ เพราะเราก็เชื่อว่าพระต้องพูดจริง พระมีศีลต้องพูดข้อเท็จจริง ฟังเขามา โกหกทั้งนั้น เพราะอะไร มันโกหกทั้งนั้นเพราะอะไร เพราะเราภาวนาเป็นสมาธิแล้วไม่เหมือนที่มึงสอนกูเลย
ยิ่งพอจิตเห็นอาการของจิต เราเห็นจิต เราพิจารณาจิตก่อน ไปเห็นจิต จับรูปเลย เฮ้ย! ความคิดเป็นรูปเลยหรือ แล้วมันก็ไปเข้ากับธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกที่บอกหลานพระสารีบุตร “ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งต่างๆ เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ความรู้สึกของเธอด้วย เพราะอารมณ์ความรู้สึกของเธอก็เปรียบเหมือนกับวัตถุอันหนึ่ง” วัตถุเลย ถ้าคนเป็นเป็นอย่างนั้นเลย แล้วเราจับได้ ทำได้
ทีนี้พอมันจับได้อย่างนั้น พอมาดูพระไตรปิฎก โอ้โฮ! มันตรงกันเลยเว้ย แต่เราจับได้ก่อนน่ะ พอเราจับได้ เราพิจารณาแล้ว พอไปดูในพระไตรปิฎก โอ้โฮ! มันตรงกันเลย
ทางวิชาการ ความคิดเป็นนามธรรม หัวใจเป็นนามธรรม แต่เวลาไปจับแล้วทำไมมันชัดเจนขนาดนั้น เวลาคนเป็นนะ ฉะนั้น เวลาเป็น
ทีนี้เวลาเขาบอกว่า ฟังเทศน์บนศาลา ทำไมจิตมันดี จิตมันอะไร
เพราะว่าฟังเทศน์ การฟังเทศน์ที่เหมือนกับหลวงปู่มั่นท่านบอก หลวงตาท่านบอกฟังเทศน์หลวงปู่มั่น มรรคผลนิพพานจะหยิบจะฉวยเอาเลย ไอ้นี่ก็เหมือนกันถ้าฟังเทศน์นะ เทศน์ก็คือเทศน์ มันเป็นเทป ในเว็บไซต์มันเป็นเทคโนโลยี แต่ถ้าจิตใจมันลง จิตใจมันหาเหตุผล
ถ้าจิตใจคนหยาบ ฟังเทศน์เรานี่เบื่อ พูดอะไรก็ไม่รู้เรื่อง ไปไหนมา สามวาสองศอก บอกมาสิ ทำอย่างไรจะเป็นพระอรหันต์ จะทำให้ดู
แต่ฟังเทศน์ไม่ฟัง แล้วฟังไม่เข้าใจ มันคิดไปคนละเรื่องเลย นี่พูดถึงเวลาถ้าจิตใจมันไม่เปิด ถ้าจิตใจมันเปิดนะ โอ้โฮ! เขาหาอย่างนั้นน่ะ เขาหาของอย่างนี้
ฉะนั้นบอกว่า ทำไมฟังเทศน์หลวงพ่อแล้วจิตมันสงบได้
มันสงบได้ ฟังเทศน์มันสำคัญตรงนั้นน่ะ ฉะนั้นบอกว่า ฟังเทศน์แล้วพอจิตมันสงบแล้ว มาถึงข้อที่ ๒. พอข้อที่ ๒. จะทำเนสัชชิก พอทำเนสัชชิกขึ้นไป พอจะเอาจริงเอาจังขึ้นมา กระอักกระอ่วนเกือบตาย ทรมานมาก เขาบอกทีแรกทำนี่ทรมานมาก เพราะมันหิวไง ถ้าหิว ทรมานมาก ใช้ปัญญาเข้าไปมันก็ได้อุบาย ถ้าได้อุบายไปแล้ว สุดท้ายแล้วบอกว่า เวลาอดอาหาร ฉันน้ำปานะบ้าง กินน้ำปานะ
มันทำได้ เรามีอุบาย แต่ถ้าเรามีอุบาย เรามีครูบาอาจารย์เป็นแบบอย่าง เราทำอย่างนั้นเพราะมันเป็นวิธีการ หลวงตาท่านบอกว่า ท่านอดอาหารดีมากเลยแต่ท่านอดนอนไม่ดี อดนอนแล้วนะ มันจะทื่อ มันจะคิดไม่ออก
ฉะนั้น เมื่อก่อน ดูสิ ที่ว่าหลวงปู่ลีกับหลวงปู่กงมาอยู่ที่วัดป่าคลองกุ้ง วัดของหลวงปู่กงมา วัดหนึ่งอดอาหาร วัดหนึ่งอดนอน เวลาทำ นี่กรรมฐานด้วยกันแข่งกัน แข่งกันทำความดี ถ้าครูบาอาจารย์บางองค์ อย่างเราอดนอนก็ได้ อดอาหารก็ได้ ชอบทั้ง ๒ อย่าง เวลาอดอาหาร พออดอาหาร ไม่ต้องทำข้อวัตร อดอาหารแล้วอดนอนไปด้วย ถึงได้บอกว่า ๗ วัน ๗ คืนไง เดินจงกรม ๗ วัน ๗ คืน ไม่ไปไหนเลย อยู่ในทางจงกรมนั่นน่ะ นอนก็นอนไม่ได้ เพราะปัญญามันหมุน เวลาเอาจริงเอาจังขึ้นมามันเป็นอย่างนั้นเลย ทั้งอดนอนก็ดี อดอาหารก็ดี เราได้ทั้ง ๒ ทางแต่ครูบาอาจารย์บางอย่างก็เป็นอย่างหนึ่ง ทีนี้มันเป็นอุบายเป็นวิธีการ ฉะนั้น ถ้าคนทำได้จริงมันเป็นได้จริง ทำได้จริงนะ
เวลาพระเราอยู่ด้วยกัน อดนอน หิวไหม อดอาหารแล้วทรมานไหม แต่ทำไมเขาทำได้ เขาทำได้ มันต้องมีเหตุผล อย่างเรา วันเดียวเราก็จะตายแล้ว แล้วทำไมเราต้องไปทรมานให้เราจะเป็นจะตาย แค่ทุกข์กิเลสมันบีบก็จะตายอยู่แล้ว แล้วก็จะไปภาวนาให้มันทรมานเข้าไปสองชั้นสามชั้นหรือ บ้า
แต่เวลาคนที่เขาทำได้นะ อดนอนผ่อนอาหาร อู้ฮู! เขาแจ่มชัด อู้ฮู! ใจเขาเบิกบาน อู๋ย! มันดีไปหมดเลย มันดีไปหมดนะ เขาเรียกว่ามีงานไง ถ้ามีงานก็เป็นอย่างนั้น
นี่ข้อที่ ๒. ว่าเวลามันอดอาหารแล้วถ้ามันทรมาน แต่ถ้าใช้ความคิดไปมันก็แก้ความหิวได้ แต่ถ้ามันกินปานะบ้าง อะไรบ้าง ถ้าเป็นพระ เป็นพระมันมีวินัยไงมีวินัย สัตตาหกาลิก สิ่งที่เป็นสัตตาหกาลิก สิ่งที่พอฉันได้ พวกน้ำพวกต่างๆ พอฉันได้ บรรเทาได้
แต่ถ้าที่ไม่มีเลย สมัยครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า อย่าว่าแต่จะฉันเลย เอามาถ่ายรูปยังไม่มีเลย เพราะสมัยก่อนคนยังไม่เข้าใจเรื่องพระไง แต่สมัยนี้พอคนเข้าใจเรื่องพระ คนก็อยากจะได้บุญกุศล ก็อยากจะช่วยเหลือ มันพอมีสิ่งใดได้พอบรรเทาได้ก็บรรเทา ถ้าไม่มี ไม่มีก็บอกวาสนาเรามีแค่นี้ มันอยู่ที่อำนาจวาสนาของเรา ถ้ามีก็เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าไม่มี ไม่มี เราก็ต้องสู้ สู้เสือด้วยมือเปล่าถ้ามี มันก็มีอาวุธได้สู้กับเสือ นี่ข้อที่ ๒.
“๓. ความโกรธ”
ความโกรธ การให้อภัย เวลามันมีแต่ความฝังใจมา แต่เวลาเขาทำคุณประโยชน์ขึ้นมา ภาวนาขึ้นมา ธรรมมันเกิด ธรรมมันเกิด มันจะสะเทือนใจ เวลาคนอื่นสอนไม่ได้ พ่อแม่ก็สอนไม่ได้ ใครก็สอนไม่ได้ แต่ด้วยอำนาจวาสนาคุณธรรมสอนเราไง ถามธรรมๆ
ถามธรรมะ เวลาเห็นนิมิตก็ถามว่านิมิตนี้คืออะไร ถามธรรม แล้วธรรมมันตอบขึ้นมา เห็นไหม เราจะดีกว่าเขาหรือ เราก็มีความผิดพลาดเหมือนกัน...นี่มันอยากให้อภัยเขาเลย เวลาสัจธรรมมันแสดงตัวออกมา เห็นไหม
เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย บุคคลหรือสิ่งต่างๆ มันก็ต้องแปรสภาพไปเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรคงที่หรอก เราพึ่งใครไม่ได้ทั้งสิ้น เราอาศัยกันได้ชั่วคราว แต่สัจธรรมในหัวใจเราเป็นที่พึ่งเถิด
ฉะนั้น เวลาธรรมมันเกิดขึ้นมา สิ่งนี้มันธรรมเกิดๆ...ใช่ เขาว่าที่ผุดขึ้นมาเป็นธรรมขึ้นมาใช่ไหม
บางคนไม่ผุดเลย แล้วอย่างหลวงตาท่านพูด หลวงปู่มั่น ของท่านเป็นภาษาบาลีเลยล่ะ แล้วของหลวงตาท่านเป็นภาษาไทย ดูเวลามันเป็นขึ้นมามันเป็นภาษาเป็นความเข้าใจของเราเลย เป็นธรรมะที่สอนเราเลย
ดูสิ เวลาหลวงตาท่านเห็นจิตของท่านมหัศจรรย์ เห็นไหม อู๋ย! ภูเขาเลากานี้ทะลุไปหมดเลย เวลาธรรมมาเตือนเลย สิ่งที่มหัศจรรย์นั้นเกิดขึ้นจากจุดและต่อมเกิดจากจิตของเรา แต่จิตของเรายังไม่สะอาดพอ ควรจะแก้ไขที่จิตของเรา งงไปหมดเลย นี่ธรรมเกิดมีคุณประโยชน์หมดถ้าเป็นธรรมเกิด
ฉะนั้น เหมือนกัน ย้อนกลับมาคำถาม คำถามที่เกิดที่เขียนมา ตัวเองก็ต้องพอใจใช่ไหม เพราะว่าความทุกข์นี้มันเผาลนมาตลอดใช่ไหม ฉะนั้น พอธรรมเกิดขึ้นมา อยากให้อภัยเขาเลย ทั้งๆ ที่ไม่เห็นหน้าเขาด้วย อยากให้อภัยเขาเลยเพราะอะไร
เพราะความที่เราไปผูกโกรธเขามันเผาตัวเองก่อน เราให้อภัยเขาแล้วเราเองได้คุณธรรม เราได้ความสบายใจ เขาจะรู้ไม่รู้ เราสบายใจก่อนแล้ว เราให้อภัยเขา สพฺเพ สตฺตา สัตว์ทั้งหลายเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย เพราะเราก็ทุกข์พอแรงอยู่แล้ว เราก็ทุกข์แย่อยู่แล้ว ทำให้หัวใจเราสบาย นี่ข้อ ๓.
๔. หลังจากบริกรรมให้มันสงบแล้วเห็นร่างโครงกระดูก เขาบอกว่า เวลาเขาเห็นกาย พิจารณากายขึ้นมา มันไม่สะเทือนใจ มันรู้ว่ามันปลอม นี่เวลาได้เห็นปลอมๆ
เห็นปลอมๆ ก็ต้องฝึกจากปลอมๆ ไปก่อน ถ้าเวลาจิตสงบแล้วเราพยายามรำพึงขึ้นมาให้มันเป็นจริงขึ้นมา แต่มันยังปลอม เห็นไหม
“แต่มีวันหนึ่งนอนหลับแล้วฝันไป ฝันว่าฟันร่วงหมดปากเลย มันสะเทือนใจตกใจ กลัว ตื่นนอนยังตกใจเลย”
เวลาถ้ามันเป็นจริง ถ้ามันสะเทือนกิเลสนะ นี่ขนาดนอนฝันนะ แต่ถ้าเวลาจิตมันสงบแล้วมันเห็นกายจริงๆ ถ้าเห็นกายจริงๆ มันจะเห็นสภาพแบบนี้ แล้วมันมหัศจรรย์ อย่างที่ว่าตกใจๆ แต่เวลามันเห็นกายมันไม่ตกใจขนาดนี้ มันสะเทือนใจ แต่ไม่ตกใจ เพราะอะไร มันไม่ตกใจเพราะสติ มีสติ มีสมาธิ
มีสติ มีสมาธิ คนมีสติ คนมีสมาธิมีกำลังแล้วเห็นอย่างนั้น เห็นไหม นี่ไง วุฒิภาวะของผู้ที่บรรลุธรรมๆ มันต้องมีอำนาจวาสนาบารมีรองรับ ถ้าจิตมันมีกำลังมันรองรับได้ มันเห็น มันสะเทือนใจ มันใช้ปัญญา ปัญญามันหมุนไปมันก็เป็นมรรคแล้ว โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล บุคคล ๔ คู่ นี่ถ้าเป็นจริงจะเป็นแบบนั้น
ถ้าบอกว่า ถ้าเวลาฝันก็ฝันเห็นอย่างนั้น ฉะนั้น เวลาให้เห็นกาย มันรู้ว่าปลอม
รู้ว่าปลอมก็ฝึกหัด รู้ว่าปลอม ถ้ามันปลอม มันไม่สะเทือนใจ ก็กลับมาพุทโธกลับมาทำความสงบของใจ แล้วก็พิจารณากาย ฝึกหัดอย่างนี้ อย่างคำถามแรกไม่เห็นกายๆ อย่างนี้เราฝึกหัดกายไปเลย ฝึกหัดๆ
เพราะหลวงตาท่านบอกว่า ปัญญาเกิดจากการฝึกหัด สมาธิเกิดปัญญาไม่ได้สมาธิเกิดปัญญาไม่ได้ สมาธิเป็นสมาธิ แต่สมาธิเป็นบาทเป็นฐานให้เกิดภาวนามยปัญญา ไม่มีสมาธิ ภาวนามยปัญญาเกิดไม่ได้
ถ้าปัญญามันเกิดก็ปัญญาเกิดนี่ไง เห็นกายแล้วไม่สะเทือนใจ พิจารณาแล้วก็ไม่สะเทือน ไม่สะเทือน ไม่รู้ไม่ชี้ แต่ก็อยากทำ แต่ไม่รู้ไม่ชี้ เพราะจิตมันไม่สงบ ถ้าไม่สงบ
ไก่กับไข่ ใครเกิดก่อนกัน ไก่กับไข่ อันไหนเกิดก่อนกัน เถียงกันตรงนี้ ไก่กับไข่ ไม่มีไข่ก็ไม่มีไก่ ไม่มีไก่ก็ไม่มีไข่ เออ! ไก่กับไข่ อันไหนเกิดก่อนกัน
อ้าว! ก็บอกว่าพุทโธๆ เป็นสมาธิไม่ดี ไอ้ปัญญาก็บอกว่า ถ้าไม่มีสมาธิก็ปัญญาไม่ได้
ไก่กับไข่ อันไหนเกิดก่อนกัน ต้องมีไข่ถึงมีไก่ ไม่มีไก่ก็ไม่มีไข่ เออ! ไก่กับไข่อันไหนเกิดก่อนกัน
แล้วมันจะเป็นความจริงขึ้นมา ทีนี้พิจารณาไปแล้ว ถ้ามันเป็นประโยชน์ มันเป็นประโยชน์อย่างนี้ ถ้าเป็นประโยชน์ เราหัดทำของเรา เขาถามไง เห็นกายๆมันไม่เป็นความจริงสักที แล้วถ้าเป็นความจริงจะเป็นอย่างไร ถ้าเป็นความจริง ฝันถ้าฝันนั่นก็เป็นการบอกวิธีการของเรา
“๕. การปิดวาจาช่วยในการทำสมาธิภาวนาใช่ไหมคะ”
การปิดวาจา มันก็เหมือนพระ พระเวลามีข้อวัตรปฏิบัติ เขาสงบ เขารักษาจิตใจของเขา ความสงบร่มเย็น สงบหัวใจ ใจไม่คึกไม่คะนอง ทีนี้เราก็คิดกันเองว่าปิดวาจา ปิดวาจาก็ไม่พูด ไม่พูด แต่หัวใจมันพูดมากกว่าคนพูด เพราะคนพูดเวลาคิดก็พูดไปเลย เวลาปิดวาจาขึ้นมา คิดอะไรแล้วก็พูดไม่ได้ คิดแล้วก็อยู่ในใจ มันคิดไป ๒ เท่า คิดไป ๒ เท่า มันก็คิดไป ๒ เท่า แต่มันเป็นวิธีการ วิธีการหยาบๆ
แต่ถ้าวิธีการที่ละเอียดนะ สูงสุดสู่สามัญ อยู่โดยปกตินี่แหละ พระอรหันต์คือพระที่ธรรมดาที่ไม่มีอะไรพิสดารอะไรเลย เป็นพระมนุษย์ปกติ นี่พระอรหันต์ ไอ้พระที่มหัศจรรย์ ไอ้พระที่เหาะเหินเดินฟ้านั่นน่ะ ไอ้นั่นน่ะโขน พวกโขน
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าการประพฤติปฏิบัติก็ปกตินี่แหละ ปิดวาจา เพราะถ้าไม่ปิดมันก็คิด ถ้าจะปิดปั๊บ กิเลสมันยุเลยนะ กิเลสมันมีปัญหาเลย ฉะนั้น ให้ปกติสามัญเรานี่แหละ พระธรรมดา พระธรรมดา เป็นคนธรรมดา เป็นพระธรรมดา แต่มีคุณธรรม
อันนี้บอกว่า “การปิดวาจาช่วยในการตั้งสมาธิหรือไม่เจ้าคะ”
เราคิดว่าปกตินี่แหละ ไม่ต้องถึงขนาดนั้น ถ้าถึงขนาดนั้นแล้วกิเลสเอาเรื่องอย่างนี้มาพลิกแพลงให้เป็นภาระ ให้เป็นภาระต้องมาแก้ไข แก้ไขว่า พูดหรือไม่พูดดี วันไหนจะออกจากปิดวาจา พูดเสียที ถ้าอย่างนั้นยังไม่พูดไปก่อน เลยเป็นประเด็นขึ้นมาให้ต้องเป็นภาระขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ปกติธรรมดานี่แหละ
“๖. ความสงบไม่ขึ้นกับระยะเวลาที่เราเพียรพยายามนั่งหรือเดินจงกรมใช่หรือไม่ บางทีอยากจะให้สงบ มักไม่สงบ เดินจงกรมนานสุด ๔ ชั่วโมง บางทีเดินแบบปล่อยความคาดหวัง ๒ ชั่วโมงก็สงบแล้ว”
ฉะนั้น การนั่งสมาธิหรือการทำความเพียร ถ้าพูดถึงพระเรา ถ้ามันต่อเนื่องเวลานี่สำคัญ แต่ถ้าโดยปกติเราก็ไม่คาดคั้น ไม่จำเป็น ถ้ามีความชำนาญนะ มีความชำนาญ อย่างเช่นทำสมาธิ กำหนดรู้เข้าสมาธิเลย ง่ายๆ
คำว่า “ง่ายๆ” มันก็ทุกข์ยากมาก่อนนะ แต่มันมีเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ ต้องดูแลรักษาของเราตลอดไป ถ้าจิตมีสมาธิโดยพื้นฐาน การภาวนามันจะก้าวหน้าตลอด
ฉะนั้น คำว่า “ต้องกี่ชั่วโมง” ไอ้นี่มันดีต่อผู้บวชใหม่ ผู้ปฏิบัติใหม่ ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ เราเองเราก็ไม่เข้มแข็ง เราเองเราก็โลเลไง ฉะนั้น เราจะต้องตั้งกติกาไว้ จุดธูปไว้ดอกหนึ่งก็แหม! เมื่อไหร่ธูปมันจะหมดดอกสักที จุดเทียนเล่มหนึ่งก็เมื่อไหร่เทียนมันจะไป ยิ่งถ้าตั้งนาฬิกาด้วย อยากทุบนาฬิกาทิ้งเลย ช้าน่าดูเลย นั่นน่ะเพราะเราไปส่งออกหมดเลย
ภาวนาเพื่อเอาหัวใจ ไม่ได้ภาวนาเพื่อธูป ธูป ไปที่โรงเจ เขาจุดกันเป็นกระถางๆ นู่นน่ะ เวลาเราจุดธูปดอกหนึ่ง เมื่อไหร่มันจะหมดสักทีๆ ถ้าไม่จุดธูปสบายใจ ไม่จุดธูป ไม่ตั้งนาฬิกา สบายใจ ปฏิบัติของเรา
เห็นไหม เขาบอกเลย มีวันหนึ่งไม่คาดหมาย ไม่ทำสิ่งใดเลย เดิน ๒ ชั่วโมงสงบแล้ว
ไม่คาดหมาย ไม่สิ่งใดเลย แล้วไม่คาดหมายก็ต้องมีสัจจะ คือไม่คาดหมายแต่เราก็ต้องมีความเพียร มนุษย์เราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร ความเพียรความวิริยะ ความอุตสาหะ ให้เป็นสัมมาทิฏฐิความดีงามถูกต้อง จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ภาวนา เอวัง