เทศน์บนศาลา

ศาสนาที่ประเสริฐ

๒๕ ก.พ. ๒๕๔๑

 

ศาสนาที่ประเสริฐ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตอนนี้ฟังธรรมนะ ธรรม ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม ตรัสรู้ธรรมแล้วถึงได้ธรรม ธรรมะตามความเป็นจริง ธรรมะเหนือธรรมชาติ ธรรมชาติความเป็นไปตามธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้วิเคราะห์ได้ ให้เป็นตามความเป็นจริง พิสูจน์ได้ แต่ธรรมะ ต้องเอาใจเข้าพิสูจน์

นักวิทยาศาสตร์คิดค้นการถ่ายที่ย้อนแสง การคำนวณ การอะไร เข้าใจได้ แต่เข้าใจได้เป็นวิชาการ วิชาการนี่รับรู้ไว้เป็นประโยชน์ เพื่อเราจะได้เข้าใจ ไม่ทำจิตใจนี้ให้ไขว้เขว ไม่ทำให้จิตใจนี้โลเล เข้าใจตามสภาวะตามความจริงของธรรมชาติ

แต่ธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้นเป็นธรรมะที่ชำระกิเลส ชำระกิเลสในหัวใจของพระพุทธเจ้าก่อน จนเปล่งวาจาเลย “สุขหนอ สุขหนอ” วิมุตติสุข เสวยวิมุตติสุขมา สองพันกว่าปีแล้ว เราฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้าประทานไว้เลย แล้วเราศึกษาธรรมะกัน ศึกษาธรรมะกัน ธรรมะก็ย้อนกลับมา เราเข้าใจธรรม เข้าใจธรรม

ธรรมะสอนเลยว่า การเกิดเป็นมนุษย์ การเกิดก็แบ่งเป็นชั้นเป็นตอน มนุษย์ทุกคนเกิดมาอยากปรารถนาความสุขทั้งหมดเลย ทุกคนปรารถนาความสุข ทุกคนปรารถนาความดี ปรารถนาสิ่งที่เลอเลิศ แต่ทำไมมันไม่เป็นไปตามนั้น ไม่เป็นไปตามความปรารถนาเพราะอะไร

“กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างกัน” กรรม การกระทำที่ทำมาแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน ได้เกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นทรัพย์อันประเสริฐแล้ว การเกิดเป็นมนุษย์นี้ประเสริฐมาก ประเสริฐมาก ต่างกับสัตว์ ดูอย่างสัตว์นะ สัตว์ทั่ว ๆ ไป อย่างเช่น วัว เช่น หมู เขามาขุนเขามาเลี้ยงไว้ ชีวิตนี้มีความสุขนะ ตั้งแต่เกิดมา เขาก็เลี้ยงมา พยายามประคบประหงม เสร็จแล้วโตขึ้น จนกว่าจะถึงเวลาเชือด ถ้าไม่เชือดก็ถึงเวลาตายไป

เราเห็นสัตว์ตายไป เราก็ว่าเป็นสัตว์ เราว่าเราเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ประเสริฐ เป็นการความเข้าใจ มีกฎหมายปกป้องคุ้มครอง แต่การดำรงชีวิตของเรา จากเกิดมาก็งก ๆ ๆ ๆ ทำไป ทำไป จนกว่าจะตายไป เราจะต่างกับสัตว์ไหม เรามีอะไรดีกว่าเขา เราเข้าใจว่าเราดีกว่าเขา เราเข้าใจ มนุษย์เข้าใจว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ เหนือสัตว์ เหนือสัตว์เดรัจฉาน เข้าใจว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ แล้วความเป็นอยู่การกระทำ ประเสริฐตรงไหน

หรือว่าเราเข้ามาประพฤติปฏิบัติ เข้ามาประพฤติปฏิบัติ เข้ามาบวช เข้ามาเป็นพระ เป็นเณร แล้วเราดีกว่าเขาตรงไหน? เราเป็นมนุษย์ เราเกิดมาแล้ว เราได้พบพระพุทธศาสนา เข้าใจธรรมะพระพุทธเจ้า แล้วเข้ามามีทาน มีศีล แล้วมีภาวนา

หรือว่าเราจะต่างกับเขาว่า ถึงจะเป็นหมู เราเป็นหมูพันธุ์ เขาเป็นหมูพื้นเมืองเหรอ ก็เข้ามาแล้วไง เข้ามาในพระพุทธศาสนา แต่จากหมูจนพ้นจากหมูตรงไหนล่ะ กลิ่นคาวของหมู กลิ่นคาวของผู้ที่อยู่ในโลก กลิ่นคาวของโลก เทวดาเขายังไม่ค่อยอยากเข้าใกล้มนุษย์เลย เพราะมันกลิ่นคาว

เราจะทำอย่างไรให้พ้นจากความเป็นตรงนั้น ดูสิ ดูหัวใจของตัว กลิ่นคาวของใจ กลิ่นคาวของความยึดติด เพราะกิเลสมันพาเป็น พาดำเนิน ถึงเกิดเป็นมนุษย์ เป็นว่าสัตว์ประเสริฐแล้ว แต่จะหลงความประเสริฐอันนั้นหรือ เราหลง เราหลงสภาวะว่าเราเป็นมนุษย์ เราหลงเข้าใจว่าเราเป็นสัตว์ประเสริฐ เราเข้าใจเอาไง นี่กิเลสมันหลอกมาตลอดนะ หลอกตั้งแต่เกิด

แต่ธรรมะว่าอย่างนั้นจริงๆ ในพระไตรปิฎกพูดไว้เลย พระพุทธเจ้าก็บอกว่า เกิดเป็นมนุษย์นี้ประเสริฐมาก เพราะว่าเกิดมาแล้วมีปัญญา มนุษย์นี้มีปัญญาแบ่งแยกได้ว่าผิดหรือถูก แต่มนุษย์นี้โดนกิเลสมันหลอก หลอกเข้าข้างตัวเองว่า เราทำดีมาตลอด เราทำความดี เราทำความถูกต้องมาตลอด แต่กิเลสว่า ถูกต้องตรงไหน

พระพุทธเจ้าสอนว่า กิเลสมันกว้านมาหมด มันโลภ มันโกรธ มันหลง เห็นไหม ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความหลง ถึงเวลาโกรธ เราก็ว่าเราโกรธ เราโกรธเพราะอะไร เพราะเขาว่าเรา เราโกรธเพราะว่าเราถูกต้อง คนอื่นผิดหมด เห็นไหม พอหลง หลงว่าตัวเองถูก หลงว่าตัวเองดี หลงว่าตัวเองเหนือเขา นี่กิเลสเหนือ เหนือความคิดของเราไง นี่มันผลักดันเรา ผลักไสเราออกไป ผลักไสเราออกไป เราก็ว่าเราประเสริฐกว่าเขา เราประเสริฐกว่าเขาเพราะเราสำคัญตน เราสำคัญตน เรายกย่องตนเราเองว่าเราประเสริฐกว่าเขา

แต่ธรรมะก็ว่าประเสริฐอยู่แล้ว แต่ประเสริฐต้องใช้ความประเสริฐนั้นให้เป็นประโยชน์สิ ไม่ใช้ให้ความประเสริฐนั้น ใช้หมดค่าไป เหมือนกับสัตว์ที่เข้าโรงเชือด ถึงเวลาวัวเขาไปโรงเชือดมันยังกินหญ้าไป มันยังไม่รู้ชะตากรรมของมันนะ ถึงที่สุดแล้วบางตัวมีโอกาสถึงน้ำตาร่วง เพราะว่า ไม่มีโอกาสได้หนีแล้ว ไม่มีโอกาสจะได้ทำความดีอีกแล้ว

การตาย เราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วเราตายเปล่า เราตายไป ตายไปเปล่า ๆ ใช้ชีวิตมนุษย์หมดไป นี่ความหลง หลงในตัวเอง หลงในความไม่เข้าใจ ความยึดว่าเราดีกว่าเขา แต่มันไม่ใช่ดีตามความเป็นจริง ดีตามความเป็นจริง แม้แต่พระพุทธเจ้า เป็นถึงกษัตริย์นะ ยังสละออกจากความสมบัตินั้น ออกมาประพฤติปฏิบัติเพื่อแสวงหาความเป็นจริง แสวงหาความเป็นจริง ความโมกขธรรม ให้ความชำระทุกข์ ชำระทุกข์ไง

ถึงอยู่ในสภาวะแบบใด...ดูอย่างในหลักการหลักวินัยของพระพุทธเจ้า จะชนชั้นใด จะชาติชั้นวรรณะใดก็แล้วแต่ พอบวชแล้ว ความเสมอกันด้วยศีล เห็นไหม จะชนชั้นใด แต่ทางโลกเขาเหยียบย่ำกันด้วยความชนชั้น การเกิด เกิดในฐานะสูง ฐานะต่ำ มันไม่ได้ดีที่การเกิด มันไม่ได้ดีที่ว่าชนชั้นสูง ชนชั้นต่ำ มันไม่มีดีที่ตรงนั้นหรอก

พระพุทธเจ้าเป็นถึงกษัตริย์ ออกจากวรรณะของกษัตริย์เลยนะ ออกมาเป็นนักบวชที่ยังไม่มีพระพุทธศาสนา ออกมาในความดูถูก ความติฉินนินทาของโลก ออกมาดำรงชีวิตแบบทุกยาก จากชีวิตที่มีความสุขมหาศาล ทำไมสละออกมาล่ะ ชีวิตที่มีความสุขมันสุขแต่เปลือก มันสุขแต่ความเขายกยอปอปั้น เขาว่าเป็นกษัตริย์ เขาปรนเปรอด้วยฐานะของกษัตริย์ เห็นไหม มันจริงตามสมมุติ มันจริงตามสภาวะความเป็นจริงของที่เขาเป็น โลกเขาเป็นกัน

แต่มันไม่ใช่เป็นความจริงของธรรมนี่ เพราะมันมีความทุกข์ ถึงสถานะไหนมันก็แบกทุกข์ อมทุกข์ไว้ในหัวใจ แต่ผู้ที่มีปัญญา จะเอาตนออกจากทุกข์ ยังคิดแสวงหา คิดเปรียบเทียบ ทุกข์มี ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ต้องดับได้ การดับได้ ไม่ใช่ดับได้ด้วยการจมอยู่ในกาม จมอยู่ในความสุขที่ว่า เป็นโลกเขายกยอปอปั้น

แต่คนเข้าไปสัมผัสแล้ว มันยกยอปอปั้น มันเป็นความสุขด้วยอามิส มันเป็นความสุขเพราะว่า เหมือนคนกินข้าวแล้วอิ่ม อิ่มก็ว่าจะไม่กินอีก มันเป็นความสุขของคนขี้เมา มันเป็นความสุขของคนเมาในโลก เมาในวัฏฏะ เมาในชีวิตของตน ว่าเราจะไม่ยอมตาย เราจะอยู่ค้ำฟ้า ใครๆ ก็ว่าเราจะอยู่ค้ำฟ้า เราจะอยู่เสวยสุขตลอดไป...มันไม่จริงหรอก แต่ความไม่จริง ก็ยอมรับกันถึงว่าเวลามันจนตรอกไง

พระพุทธเจ้าเป็นผู้ฉลาด พระพุทธเจ้าเป็นผู้ออกแสวงหาก่อน คนมีการเกิด คนมีการตาย มันก็ต้องมีการเกิดแล้วไม่ตาย แต่แสวงหาอย่างไร เพราะว่าพระพุทธเจ้าสร้างบารมีของท่านมา เป็นถึงว่าเป็นโพธิสัตว์มา นี่แรงกุศล แรงกุศลคือความฉงนในหัวใจ ความคิดที่จะแยกออกจากโลก อย่างพวกมนุษย์ทั่ว ๆ ไป มันเป็นมนุษย์ที่จนตรอก

ความคิดที่ว่าฉลาดก็เป็นความคิดที่ฉลาดที่ว่าการสะสมทางโลกทั้งนั้นเลย งานของโลกไง งานของโลก งานความยิ่งใหญ่ ฉลาดขนาดไหนมันก็ฉลาดในแง่ของการผูกมัด ความคิดที่สะสมเข้ามา วัตถุสะสมเข้ามาเท่าไหร่ มันก็เป็นภาระ เป็นความทุกข์ เป็นการบำรุงรักษา ความรู้สะสมเข้ามาเท่าไหร่ มันมีแต่ความหนัก มีแต่ความหนักอกนะ มีแต่ความหนักอก ความไตร่ตรอง กลัวมันลืมไง

สัญญาคือความจำได้หมายรู้ การศึกษาวิเคราะห์ขนาดไหนมันก็เป็นสัญญา มันมีการลืม มีการนึกได้ มีการลืมไป นี่ความคิดของโลก ปัญญาของทางโลกเขา จะฉลาดขนาดไหนก็แล้วแต่ แต่ผู้ที่มีบารมี ผู้ที่การจะพ้นออกไป ผู้ที่ชำระล้างออกไป ชำระล้างความคิด ชำระล้างกิเลส การชำระล้างกิเลสมันต้องชำระล้างลงที่ไหน

ร่างกายเราสกปรกโสโครก เราก็ไปอาบน้ำอาบท่ามันก็หาย แต่ความคิดกิเลสที่มันเหนียวแน่นอยู่ในหัวใจ ในแก่นของใจ มันจะเอาอะไรไปชำระล้าง? ธรรมะของพระพุทธเข้าไง พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ชำระล้างแล้ว ทำได้ตามความเป็นจริง ถึงวางไว้ตามความเป็นจริง ว่าทำได้จริง ๆ เพราะพระพุทธเจ้าทำได้เป็นองค์แรก เป็นสยัมภูที่ตรัสรู้ด้วยตนเองด้วย

เพราะออกมาแบบนั้น เพราะคนใฝ่ทุกข์ คนใฝ่สุข คนใฝ่หาทางออก คนจดจ้องทางออก ไม่ใช่คนลืมตน คนลืมตน คนใช้ลืมตน ใช้ชีวิตโดยเปล่า คิดว่ามันจะอยู่กับเราตลอดไป ไม่มี “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับ” สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้น สิ่งนั้นต้องแปรสภาพ สิ่งนั้นต้องสลายไป ไม่มีสิ่งใดอยู่คงที่ ไม่มี ชีวิตนี้ก็เหมือนกัน สรรพสิ่งในโลกนี้แปรสภาพตลอด ไม่มี ไม่มีใด ๆ เลยที่จะคงไว้ให้เราเป็นที่ยึดมั่นถือมั่น เป็นความพึ่งเป็นพึ่งตายได้ ไม่มีหรอก

แต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมมา สิ่งนั้นจริงได้ สิ่งนั้นพึ่งได้ ธรรมะพระพุทธเจ้าเท่านั้นพึ่งได้ เพราะผู้ที่ผ่านพ้นไปพึ่งได้ก่อนแล้วถึงได้บอกให้พวกเราเป็นที่พึ่ง ถึงไม่ให้นอนใจ ไม่ให้นอนใจกับชีวิต ไม่ให้นอนใจกับกาลเวลา กว่าเราจะมีชีวิตอยู่ตลอดไป เราจะปฏิบัติเมื่อไหร่ก็ได้ ให้แก่ ๆ ก่อน ให้มีเวล่ำเวลาก่อนค่อยปฏิบัติอย่างนั้นหรือ

แม้แต่ปฏิบัติอยู่มันก็หลอกลวงภายในวงปฏิบัติ หลอกลวงอย่างไรล่ะ พอนั่งลงไป พอเริ่มปฏิบัติ “เราไม่มีวาสนา เราคนวาสนาน้อย” ทำให้ความคิดแบบนี้ทำให้เกิดขึ้น มันก็เหมือนกับเราจะจงใจจะยิงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือจงใจจะปาเป้าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วเป้านั้นไม่มีเลย เราจะปาไปโดนอะไร เราใช้พลังงานโดยเปล่าประโยชน์ ปาเป้านะออกแรงปาไป แล้วไม่มีเป้าหมายรองรับ เพราะอะไร

เพราะว่าเราไม่มีวาสนา เราไม่อยาก เราวาสนา เราทำสักแต่ว่าทำ นี่หลอกแค่นี้นะ หลอกว่าเราไม่มีวาสนาเท่านั้นล่ะ หลอกแม้แต่ในการประพฤติปฏิบัติ แม้แต่ว่าเราเชื่อมาครึ่งหนึ่ง เชื่อพระพุทธเจ้า เชื่อธรรมะพระพุทธเจ้ามาครึ่งหนึ่ง แต่เวลาปฏิบัติก็ยังหลอกมาภายใน ไม่มีวาสนา มรรคผลไม่มี กาลเวลาล่วงไปแล้ว ทำไปจะเสียเวลาเปล่า แต่ความใฝ่ดีของคนก็ยังมี ก็ยังสักแต่ว่าทำ

ต้องมั่นใจ แดดออกมา พอแสงแดดออก แผดเผาออกมา พลังงานให้ความร้อนเด็ดขาด การประพฤติปฏิบัติ สิ่งใดมีค่าขึ้นมามันต้องมีผลรองรับ การเกิดแล้วต้องตาย ตายแล้วต้องเกิด มันเกิดจากอะไร? สิ่งใดสิ่งหนึ่งมันมาจากฟ้าเหรอ มาลอยลมมาเหรอ กิเลสนี้ลอยลมมาเหรอ ชีวิตนี้ลอยลมมาเหรอ อยู่ดีดีก็ผุดมาเกิดอย่างนั้นเหรอ? ไม่ใช่ ถ้าผุดมาเกิด เราต้องทำให้เครือญาติเราให้เหมือนเราทั้งหมดสิ เพราะมาจากเบ้าหลอมเดียวกัน มันเป็นไปไม่ได้เลย เพราะอะไร เพราะเชื้อไขที่ทำให้มา กรรมสะสมจากจิตดวงนั้นมา จิตที่มาเกิดนี้ก็สะสมมา จิตเมื่อเกิดสร้างคุณงามความดีมาแล้วถึงได้มาคิดอยากออกประพฤติปฏิบัติ นี่มันมีเชื้อมีไขอันนั้นมา มันมีเหตุมันถึงมีผล

การเกิดนี้เกิดจากเชื้อ ยางเหนียวในจิต กิเลสหุ้มอยู่ที่จิต ตัวที่จิตมีกิเลสอยู่ ถึงต้องเกิด ฉะนั้นต้องดับได้สิ สิ่งใดเกิดได้ สิ่งนั้นต้องดับได้ สิ่งใดที่เกิดขึ้น สิ่งนั้นต้องแปรสภาพ สิ่งนั้นไม่คงที่ แต่เพราะเราว่าเราไม่มีวาสนา เราไม่เชื่อผล เราไม่เชื่อพระพุทธเจ้า พวกเรามันตาบอด ตาบอดแล้วอยากเถียงคนตาดี พระพุทธเจ้าบอกว่ามี บอกว่าทำได้ คนที่ประพฤติปฏิบัติต้องทำได้ จิตดวงที่ผ่องแผ้ว จิตที่รู้จักธรรมะ จิตที่มีเมตตา จิตที่เข้าใจเรื่องของทาน เรื่องของศีล แล้วเรื่องของภาวนา

จิตที่มีทาน มันมีความเมตตา มันเริ่มเปิดรับ ไม่ใช่จิตที่มืดบอด จิตที่มืดบอด สัตว์เกิด เห็นไหม กรรมพา มีบุญกุศลอยู่พาเกิด มีบุญกุศลอยู่เกิดเป็นมนุษย์นะ แต่มืดบอดเพราะว่าความมืดบอดการกระทำมาจากชาติเดิมๆ มันสะสมมา จนพระพุทธเจ้าถึงเปรียบมนุษย์เหมือนบัว ๔ เหล่า เห็นไหม เกิดมาแล้วอยู่เป็นอาหารของเต่า อยู่ใช้ชีวิตเป็นอาหารของเต่า มันก็เหมือนหมูตัวหนึ่ง ชีวิตเหมือนกัน หมูก็เกิดมา เกิดมาก็อยู่ในคอก เขาเลี้ยงจนกว่าถึงเวลาก็เชือด ชีวิตนี้เกิดมาเป็นอาหารของสัตว์

บัว สายบัวจมอยู่ใต้น้ำเป็นอาหารของปลา นี้เหมือนกัน เป็นอาหารของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การตื่นข่าวอยู่ในโลก หมุนหัวปั่นอยู่ในโลกกระแสของโลกาภิวัฒน์ที่เขาว่ามันเจริญ ๆ ปั่นจนเป็นขี้ข้าอยู่ในนั้น แล้วก็เหมือนกับหมูตัวหนึ่ง

เพราะจิตเกิดมาแล้วจิตดำ จิตมืดบอด จิตไม่เชื่อหลักธรรมพระพุทธเจ้า จิตเอาแต่ความคิดว่าตัวเองคิด ตัวเองดี แต่เสร็จแล้วไม่เข้าใจว่าตัวเองหลอกตัวเองว่าตัวเองเป็นหมูตัวหนึ่ง แต่ผู้มีทาน เห็นไหม เปิด เริ่มเปิด พอเริ่มเปิด ห้องอับ ๆ เราเปิดห้องออก ห้องนั้นจะมีอากาศถ่ายเท ความคิดสละออก ความคิดเป็นบุญกุศล หัวใจเริ่มเปิดออก หัวใจเริ่มเปิดออก ผู้ที่ปฏิบัติ ผู้ที่เชื่อธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วยังจะทำตามด้วย ไม่ใช่เชื่อว่าเป็นชาวพุทธ

เราเป็นหมูตัวหนึ่ง ก็ขอเป็นหมูพันธุ์ ไม่ใช่หมูพื้นบ้าน ก็ว่าเราเป็นชาวพุทธ เราพบพระพุทธศาสนา เราประพฤติปฏิบัติแล้ว ยังหยิ่งนะ ยังจองหองว่าเป็นหมูพันธุ์นะ ยังไม่รู้ตัวว่าเป็นหมูอยู่นะ...มันต้องยกสิ พอไปเปิดออกสว่างแล้ว มันต้องพยายาม

ความจริง ความจริงของผู้ปฏิบัติ เราได้ยินแต่ข่าว พระสารีบุตรตรัสรู้ พระสารีบุตรบรรลุธรรมที่เขาคิชฌกูฏ ในถ้ำมังกรนั่น พระโมคคัลลานะบรรลุธรรมที่เขาอะไร นั่นเราได้ยินแต่ข่าวของผู้อื่น เพราะความจริงของท่านไง เราได้ยินข่าวแต่ของคนอื่น ข่าวของเรา ข่าวที่ว่ามันมาในพระไตรปิฎก เราอ่าน เราเข้าใจ เราเชื่อ นี่เข้าใจ ใจมันเปิด อากาศถ่ายเท มันก็มีสิ่งนี้ไหลเข้ามา

เพราะเราทำทาน เราเชื่อในพระพุทธศาสนา แล้วเราเริ่มต้นจากการให้ทาน ให้ทาน มีศีล ศีลเกิดจากไหน? ศีลเกิดจากพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ บัญญัติศีลออกมา พระพุทธเจ้าสอนนะ ปฏิบัติเห็นมนุษย์ สัตว์ต่าง ๆ มันหลายเหล่า หลายความคิด ให้ทาน ใครที่ทำทานได้คนนั้นก็ดีกว่าแล้ว ใจเปิดแล้ว ใจเริ่มออกเพราะมันสละทาน การสละทานมันแสนยาก เพราะใจมันตระหนี่

กิเลสอยู่ที่ไหน ที่นั่นยุ่งไปหมด การจะสละออกมันก็ต้อง “ไม่มีเวลา ไปไม่ได้ ของนี่หามายาก” นี่มันเริ่มสละออกส่วนหนึ่ง พระพุทธเจ้า...ถ้าผู้ที่เข้ามาในวงของทาน ผู้นี้ถ้าอยู่ในวงทานแล้วมีความเลื่อมใสศรัทธา ถึงเขาตายไปก็ได้ไปสวรรค์ เพราะเขาเสวยสมบัติที่เขาได้สละออกไป แค่ทานนะ เขาก็ได้ประโยชน์ขนาดนั้นแล้ว

แล้วยังบัญญัติศีล ศีล ๕ ศีล ๘ หนักเข้า หนักเข้า ผู้ปฏิบัติจะเข้มเข้า เข้มเข้า เราจะเป็นพระหรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ เราจะถือศีลขนาดไหน มากเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น เพราะศีลนี้เป็นขอบเขต บ้านของเรามีรั้ว เราก็ป้องกันสิ่งใด ๆ ได้ หัวใจของเรามีศีลครอบคลุมไว้ มีศีลครอบคลุมไว้ทำให้หัวใจนี้ไม่อิสระตามกิเลสที่มันจะบังคับบัญชา

ถ้าไม่อย่างนั้น กิเลสมันจะบอกว่า “เราไม่ได้ไปทำสัตว์ ไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร เรานี้เป็นผู้ไม่ผิดศีลแล้ว”...นี่มันจะหลอกออกมา แต่ภายใน นี่มโนกรรม ความคิดอย่างนั้น ความคิดที่เบียดเบียน ความคิดที่จะเอาเปรียบเขา ความคิดที่จะไปรังแกคนอื่น อันนั้นทำให้จิตขุ่นมัว

ศีลมีศีลแล้ว พอศีลมาปกคุ้มครองหัวใจ หัวใจอยู่ในวงอำนาจของศีล เวลาเรามาเริ่มมาภาวนา ออกจาก ยกขึ้นจาก...หมูพันธุ์ก็ไม่เป็น จะเป็นมนุษย์ประเสริฐ จิตที่ผ่องแผ้ว จิตที่เริ่มคุม เริ่มควบคุมมาด้วยศีล แล้วมากำหนดพุทโธ พุทโธ เพราะจิตนี้อยู่ในอำนาจของธรรมแล้ว ธรรมมีเหนืออำนาจของกิเลส กิเลสนี้ควบคุมจิตอยู่เดิม แต่เรามีทานเข้ามา มีศีลเข้ามา ธรรมนี้เริ่มเข้าไปในหัวใจ เริ่มเปิดกว้างที่ว่าห้องมันถ่ายเท ห้องในหัวใจไง

หัวใจมันมี ๔ ห้อง แล้วเปิดออกให้อากาศมันถ่ายเท ความเป็นไปนะ ความคิดเปลี่ยนไป เพราะว่ามีศีล เราเห็นความโดนควบคุม หัวใจโดนควบคุม มันจะต่างกับหัวใจอิสระด้วยกิเลส หัวใจที่กิเลสมันเป็นผู้บังคับบัญชาจะคิดไปร้อยแปด แต่พอมีศีลเข้ามา เราจะว่าอันนี้เรารังแกใจเราก่อน ความคิดที่ไม่ดีมันต้องเผาผลาญใจเราก่อน แล้วจะคิดออกมาเป็นการกระทำ ถึงทำลายผู้อื่น

“มโนกรรม” มโนกรรมที่เบียดเบียนแล้ว เราทำลายหัวใจเราแล้ว เราทำลายรากเหง้าของมนุษย์ มนุษย์นี้ ตัวของมนุษย์แท้ ๆ หลักของมนุษย์อยู่ที่หัวใจ ไม่ใช่อยู่ที่ร่างกาย ร่างกายนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วเป็นของชั่วคราว แต่หัวใจนี้เป็นรากเหง้าของมนุษย์ เพราะว่าเป็นตัวฐีติจิต เป็นตัวจิตปฏิสนธิ เกิดขึ้นมาจากจิตดวงนี้ปฏิสนธิในครรภ์ของมารดาขึ้นมาถึงเป็นมนุษย์ ตายจากมนุษย์ไป อยู่ที่กรรม เกิดเป็นเทวดา หรือเกิดเป็นสัตว์ เกิดเป็นนรก อันนี้ก็ยัง...รากเหง้าของมนุษย์ก็ยังต้องสืบ สืบไปตลอด ไม่มีขาดสายของหัวใจดวงนั้น

พอรากเหง้าของมนุษย์นี้เริ่มดีขึ้น เริ่มสว่างขึ้น เพราะว่ามีการควบคุมจากธรรม ศีลและธรรม เข้าแย่งอำนาจของกิเลสในใจ เห็นไหม กิเลสในใจที่มันเคยบังคับบัญชาตลอด ศีลนี้เข้าไปควบคุม แล้วเรายกขึ้นแล้ว ควบคุมขึ้นมามันก็นิ่ง หรือทำได้ง่ายขึ้น จับต้องได้ไง สมาธิธรรมนี้จับต้องได้ จิตนี้จับต้องได้ด้วยธรรม ไม่มีสิ่งใด ๆ จับต้องมนุษย์หรือรากเหง้ามนุษย์ได้ นอกจากธรรมะพระพุทธเจ้า เพราะธรรมะพระพุทธเจ้าเข้าไปครอบงำกิเลสให้มันยุบยอบตัวลง

กิเลสในหัวใจที่มันเคยบัญชาการ ที่มันเคยใหญ่ เคยไสเรามาตลอด มันโดนศีล โดนธรรมของพระพุทธเจ้า เริ่มเบียดเข้ามา เบียดเข้ามา กิเลสกลัวธรรมพระพุทธเจ้าอย่างเดียว ดูสิ เพราะพวกเรานี้เป็นสาวก เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ปฏิบัติตามครูบาอาจารย์มันน่าจะได้ผล น่าจะภูมิใจ เพราะเราเป็นผู้เดินตาม

มีคนบอกไว้ สิ่งใด ๆ ในโลกนี้ ที่ไม่มีเลย เราไปบุกเบิกนี้แสนทุกข์ยาก เราไปหาซื้อของที่ในโลกนี้ไม่มี ไปหาซื้อที่ไหน...ในโลกนี้เขาไม่มีสินค้าชนิดนี้ แต่เราต้องการ เราไปหาขนาดไหน ก็ไม่มี แล้วเราก็เสียเวลาเปล่า เพราะเราหาสิ่งที่ไม่มี

แต่ธรรมะพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว แล้วเป็นตามเป็นจริง มีพยานหลักฐานในวันมาฆบูชา พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ เป็นเอหิภิกขุด้วย เป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่ประทานไว้ เราเป็นผู้ที่เดินตาม เราเป็นผู้เดินตาม เราควรจะเข้าถึง ควรจะจับต้องได้ ควรจะเข้าไปถึงได้สัมผัส สัมผัสธรรมะไง “รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” รสของธรรม พระพุทธเจ้าประทานไว้ ประทานไว้เป็นตำรานั่น เป็นปริยัติเราก็ศึกษา แต่เรายังไม่ได้เข้าไปสัมผัสด้วยความสัมผัสของใจ ความสัมผัสของใจนี้มันถึงเป็นรสแท้

การอ่าน การศึกษา เป็นสิ่งตำราที่มันตื่นเต้นที่เราไม่เคยเห็น เรายังขนพองสยองเกล้าเลย เรายัง อู้หู! มันดูดดื่ม นั่นขนาดที่ว่าเราเป็นปริยัติ เราอ่านด้วยหลักวิชาการ เรายังทึ่ง ฉะนั้น พอเราเริ่มบังคับจิตใจเข้าไป พอใจเป็นเอง สิ่งที่เราทึ่งว่าผู้นั้น ผู้นั้น เพราะพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา เป็นผู้ที่ประทานไว้ ท่านรู้อย่างนั้น แล้วเราเข้าไปสัมผัสอย่างนั้นน่ะ

จากที่เราทึ่งในการกระทำของเขา เราทึ่งในผู้ที่ประสบความสำเร็จทางโลก เห็นไหม คนคนนี้เก่ง คนนี้ยอด เราอยากจะมีเหมือนเขา เราพยายามขวนขวาย ก็ยังมีทำแทนกันได้ ช่วยเหลือกันได้ แต่การประพฤติปฏิบัติ กิเลสมันอยู่ที่ใจ ใจนี้เป็นนามธรรม สิ่งใดที่เปรียบเทียบออกมาเป็นรูปธรรม คือการพยายามเปรียบเทียบออกมาเป็นวัตถุก็เพื่อจะให้เราคิดย้อนกลับเข้ามาที่ใจ

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าตรัสรู้ พระพุทธเจ้ารู้แล้วพระพุทธเจ้าวางธรรมไว้เป็นทาน ศีล ภาวนา การภาวนานี้เข้าไปถึงเนื้อแท้ เข้าไปสัมผัส เข้าไปจับต้อง จับต้องตัวเราเอง จับต้องหัวใจของเราเองด้วยศีล ด้วยธรรม แล้วศีลธรรมนั้นบังคับ ฟังสิ บังคับให้จิตที่มีกิเลสนี่ให้กลายเป็นจิตที่เริ่มเข้าไปสัมผัส เห็นไหม เห็นเงาของพระพุทธเจ้าไง “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต”

แล้วความสัมผัสที่ว่า ขนาดเราศึกษาปริยัติเรายังมีความรู้สึกว่าน่าเป็นไป อยากสัมผัส แล้วเราพยายามบังคับ บังคับด้วยธรรม บังคับด้วยศีลและธรรมของพระพุทธเจ้า เข้าไปจนเป็นตามความเป็นจริง จิตนี้สงบ

จิตจะเริ่มรวมลง รวมลงนะ จากไม่รู้เหนือรู้ใต้ ไม่รู้ผิดรู้ถูก เริ่มสงบตัวลง อ่อนลง ๆ อ่อนลงด้วยอำนาจของกิเลส อ่อนลงด้วยไฟที่แผดเผา กลายเป็นความเย็นลง เย็นลง มันตื่นเต้นนะ มันตื่นเต้น มันมีความสุข มันเวิ้งว้างนะ ลงลึกลงไปเลย มีความสุขมาก มีความสุขจนคิดว่า จิตนี้ สมาธินี้เป็นเรา เหมือนกับจิตนี้เป็นผลของเรา ความสุขเกิด มันก็เลยนอนจมกับความสุขนั้น

แต่ก็ให้จม ควรจะจม ควรจะเป็นความสุข เพราะเป็นผลงานของเรา เป็นผลงานของผู้ปฏิบัติ เป็นตามความเป็นจริง เป็นปัจจัตตังที่จับต้องได้ เป็นปัจจัตตังของผู้ที่จิตสงบ ผู้ที่ใจมีความร่มเย็น ไม่ใช่ตำราที่เราเคยศึกษา เราเคยอ่าน แล้วเราเคยถามหาตลอด “เป็นอย่างไร เป็นอย่างไร สมาธินี้เป็นอย่างไร ความสุขนี้เป็นอย่างไร”

ถ้าจิตนี้รวมลงแล้วมันดื่มกินเองแล้ว มันมีความสุขของตัวเอง จมก็จม จม สุข จนกว่าจะถอนออกมา แล้วอยากได้อย่างนั้นอีก อยากจะเป็นอีก อันนั้นก็ไม่เป็น เริ่มต้นต้องเป็นแบบนั้น เริ่มต้นต้องเป็นแบบนั้นนะ พอมันจิตสงบเข้าไป จิตสงบ แต่ถ้าจิตนี้สงบ ความสงบของจิตนี้ตั้งมั่น แล้วเราเข้าใจ เราเข้าใจนะ เพราะจิต สติมันพร้อม มันจะบอกว่า สมาธิเป็นสมาธิ

ความจิตนี้สงบเป็นความสุข เป็นผลของเรา แต่ถ้าเราอยู่กับสมาธินี้ สมาธินี้ เห็นไหม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายต้องแปรสภาพ เพราะธรรมช่วงนี้ยังเป็นธรรมช่วงก้าวเดิน ไม่ใช่ธรรมเป็นอกุปปธรรม ธรรมที่ช่วงก้าวเดิน เราควรจะก้าวเดิน เราไม่ควรจะทำให้อยู่กับที่นั้น ให้สมาธินี้เป็นเรา เรากับสมาธิเป็นเนื้อเดียวกัน มันแยกกันไม่ออก แบบว่า วัตถุที่เราประดับไว้ที่ตัว พวกเครื่องประดับ มันมัดติดที่มือ อยู่ที่มือ มือจะแกว่งไปไหนก็ตามไปด้วย

อาการของสมาธินี้เพราะกิเลสสงบตัวลง ปล่อยให้อาการนี้ได้เกิดขึ้น เหมือนกับเรามีเครื่องประดับประดับที่ใจ เครื่องประดับนั้นเป็นนามธรรมซะด้วย ไม่ใช่เครื่องประดับที่เป็นวัตถุ เครื่องประดับที่เป็นวัตถุยังแปรสภาพ แล้วเครื่องประดับที่เป็นนามธรรม เครื่องประดับ เห็นไหม สมาธิธรรมประดับที่ใจ ถ้าเราเห็นเครื่องประดับกับเราไม่ใช่อันเดียวกัน เราควรจะเอาเครื่องประดับนั้นสร้างประโยชน์

ถอนออกมา พอออกจากสมาธิมา เราจะพิจารณาอะไรก็ได้ กาย เวทนา จิต หรือธรรม พิจารณาสิ เพราะการพิจารณาในสมาธิเป็นเครื่องหนุนนี้จะเห็นตามความเป็นจริง ถ้าสมาธินี้ไม่มีเครื่องหนุนนี้ ความคิด ความเห็น เป็นโลก ความคิด ความเห็นเป็นโลกนี่มันเห็นแล้วมันไม่เศร้า มันไม่สลด มันไม่ปล่อยวางไว้ตามความเป็นจริง

สิ่งที่เคยทับซ้อนกันอยู่ การสะสมมาเป็นล้าน ๆ ปีจนเป็นเนื้อเดียวกัน กิเลสกับใจอยู่มาด้วยกันตลอด แล้วจะให้เปราะบาง เป็นไปไม่ได้ ความเห็นของโลก ความเห็นของโลกหมายถึงว่าความเห็นที่ไม่มีสมาธิเข้าไปเบี่ยงเบน ให้ความเห็นนั้นออกไปจากโลก ความเห็นของโลกต้องเห็นไปตามสภาวะนั้น

สิ่งที่ทับซ้อนกันมาจนตกผลึก เราจะเห็นเป็นเนื้อเดียวกัน ความเห็นของโลกต้องเห็นเป็นแบบนั้น ความเห็นของโลกว่ากายกับจิตต้องเป็นอันเดียวกัน ความเห็นของโลกว่า กายนี้คือเรา เรานี้คือกาย ความเห็นของโลกว่า ความคิดเราต้องเป็นของเรา สมบัติของเราต้องเป็นของเรา

แต่ธรรมะพระพุทธเจ้าสอนว่า สิ่งใดที่ยึดมั่นถือมั่นนั้น สิ่งนั้นพึ่งไม่ได้เลย สิ่งนั้นต้องแปรสภาพทั้งหมด แต่แปรสภาพต่อเมื่อมันแปรสภาพ ที่ว่าเราสิ้นไปนั้นมันแปรสภาพตามความเป็นจริงของเขา แต่ถ้าเราใช้วิปัสสนาญาณ หรือเราใช้ความพิจารณาของธรรมจักรของเรา เข้าไปให้เห็นสภาวะความเป็นจริง เข้าไปสมุจเฉทปหาน ให้สิ่งที่ตกผลึกที่แยกไม่ได้นั้นแตกออกจากกัน

เพราะความเห็นว่าไม่ใช่เรา เราก็ความเห็น เราพูดกันที่ปริยัติ เราพูดกันตามตำรา แล้วเราเข้าใจตามครูบาอาจารย์ว่า ตามครูบาอาจารย์พูด ตามครูบาอาจารย์ที่เราฟังเทศน์ต่อ ๆ กันมา อันนั้นเป็นความจริงถ้ามันเกิดขึ้นในปัจจุบันธรรม

แต่ในเมื่อมันคลาดเคลื่อนด้วยกาลเวลา คลาดเคลื่อนด้วยไม่ใช่ปัจจุบันธรรม คลาดเคลื่อนด้วย...

...นี้เป็นสมาธิ มันเป็นสมาธิ มันเป็นธรรม มันต่างกับโลกอย่างนั้นไง ต่างกับโลก ถ้าความคิดแบบที่ว่าเราจำมา หรือเราใคร่ครวญมา มันเป็นความจริง แต่เกิดขึ้นในขณะที่ปฏิบัตินี้ อันนั้นรับได้ ความรับได้หมายถึงว่ามันชำระความเบาออกไป การใคร่ครวญ การพิจารณาแล้วมันปลดเปลื้อง ฟังสิ มันปลดเปลื้องความลังเลสงสัย มันปลดเปลื้องด้วยความคาดหมาย

เราฟังของครูบาอาจารย์มาจะคาดหมายว่าควรจะเป็นอย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น แต่เวลาเราพิจารณาตามความเป็นจริงแล้วมันไม่เป็นอย่างที่คาดหมาย มันจะเป็นสภาวะตามความเป็นจริง สภาวะตามความเป็นจริงนี้มันเกิดขึ้นจากอดีต เกิดขึ้นจากความเป็นมาของหัวใจดวงนั้น หัวใจดวงนั้น สะสมมา บารมีมาก บารมีมากพอควร บารมีน้อย การบารมีน้อยนี้ต้องกระเสือกกระสนเพื่อจะทำให้ได้ ถ้าบารมีมาก ความพิจารณาแล้วมันจะเข้าใจ

มันจะเข้าใจนะ ความเข้าใจนี้มันปล่อยวางไม่ขาด ตามความเป็นจริงไม่ใช่ความเข้าใจ มันจะเป็นการสมุจเฉทหลุดออกไป ในตำราบอกว่า ปานดั่งแขนขาด การพิจารณากิเลสออกจากใจจังหวะหนึ่งเหมือนดั่งแขนขาด ความขาดออกไปจากใจ ความลังเลสงสัย ความเห็นผิดขาดออกไปจากใจด้วยสมุจเฉทปหานของธรรมจักร

ความคิดที่เป็นสังขารนี้เป็นปัญญา เป็นปัญญาเพราะมีสมาธิหนุน เป็นปัญญา ถ้าความคิดนี้มันคิดออกมาด้วยความเป็นโลก คือว่าไม่มีสมาธิหนุน มันจะคิดเป็นสังขาร สังขารกิเลส กิเลสและสังขาร เพราะความคิดของโลกมันหมุนออกไปด้วยสัญญา ด้วยการศึกษา ด้วยความโน้มเอียงของความเป็นเรา ความเป็นตัวตน ความยึด ความเห็นของเราดั้งเดิม มันถึงไม่ใช่ตามความเป็นจริง มันถึงว่าไม่เป็นธรรมจักร

แต่ถ้าเป็นธรรมจักร เป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการภาวนา เกิดขึ้นจากสมาธินี้ มันจะหมุนไปเป็นธรรมจักร มันจะไม่เอียง ไม่เอียงจากเข้าข้างเรา ไม่เอียงว่า ก็พระพุทธเจ้าบอกว่า กายไม่ใช่เรา ในตำราก็บอกว่าไม่ใช่เรา ในอนัตตลักขณสูตร ในอนัตฯ ขันธ์เป็นเราเหรอ? ไม่ใช่ สังขารมันใช่เราเหรอ? ไม่ใช่ แล้วไม่ใช่ ยึดทำไม ไม่ใช่ทั้งนั้น

แต่ทำไม่เราเห็นว่า เราก็ว่ามันไม่ใช่ ทำไมมันไม่แตก ไม่แยกล่ะ ทำไมไม่เป็นไปอย่างที่เราศึกษาเล่าเรียนมาล่ะ เพราะอันนั้น เห็นไหม ถึงว่ามันคาดมันหมายอย่างนี้ไง ตามความเข้าใจว่า ไม่ใช่เรา แต่ความเห็นว่าไม่ใช่เรา ก็เป็นความคาดหมาย แต่พอมันหมุนตามความเป็นจริง มันไม่ใช่การคาดหมาย พอไม่ใช่การคาดหมาย ไม่ใช่การคาดหมาย ถ้าการคาดหมายนั้นไม่ใช่ปัญญา ถ้าเป็นภาวนามยปัญญานี้ไม่ได้คาดและไม่ได้หมาย แต่หน้าที่คือการหนุนขึ้นไป หนุนสมาธิขึ้นไปแล้วพิจารณาไปเรื่อย ๆ ความพิจารณาเรื่อย ๆ ไปอย่างนี้ ไม่คาดไม่หมายสิ่งใดทั้งสิ้น

หลวงปู่มั่นบอกว่า การเดินปัญญา เหมือนกับเราคราด เราไถคราด ไถแล้วไถเล่า ไถนะจนกวาดดิน จนร่วน จนพอจะทำประโยชน์ได้ อันนั้นถึงจะถูกต้อง การพิจารณา การคราด คราดกิเลสให้ออกจากใจนี่มันต้องไม่กำหนดว่ากี่เที่ยว กี่หน พิจารณาเข้าไป ปล่อยวางก็ปล่อย พิจารณาเข้าไป ปล่อยวางก็ปล่อย

แต่สมุจเฉท ปล่อยออกไปแล้วขาด ขาดโดยที่ว่าไม่มีสิ่งใด ๆ รองรับ ขาดออกไปแบบไม่เข้ามาประติดประต่อ กับขาดออกไป ปล่อยเฉย ๆ มันมีสิ่งเยื่อใยอยู่ข้างล่างมันให้มาสืบต่ออีก ถ้าไม่ฉลาด ไม่เฉลียว ไม่เพ่ง ไม่คราด ไม่ซ้ำ ตรงนั้นมันจะย้อนกลับมา แต่ถ้าเราคราดเราไถออกไปจนขาด ขาดออกไปเลย ความรู้ตามความเป็นจริงจะเกิดขึ้น

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับ” พระอัญญาโกณฑัญญะรู้ตรงนี้ พระพุทธเจ้าเปล่งอุทานว่า “รู้แล้วหนอ” สงฆ์องค์แรกเกิดขึ้นในโลก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบบริบูรณ์ เพราะท่านเป็นพระอริยบุคคลขึ้นมา จากเห็นสภาวะ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับทั้งหมด

ความยึดของใจที่ยึดกาย เห็นไหม มันก็เป็นการยึดของกิเลส มันก็ต้องดับ ดับเพราะธรรมะของพระพุทธเจ้า ดับเพราะว่ากิจนี้ได้ทำแล้ว รู้ตามความเป็นจริงแล้ว กิจโดยรอบออกมาแล้ว แล้วปล่อยไปตามความเป็นจริง นั่นน่ะมันเป็นจริง นี่ธรรมถึงเป็นความเป็นจริง ถึงเป็นที่พึ่งได้ เป็นที่เกาะได้จริงไง ตรงนี้เกาะได้จริง พระพุทธเจ้าถึงเปล่งอุทานเลย พอท่านตรัสรู้ท่านก็เปล่งของท่าน แต่ในเมื่อผู้รู้ตาม เป็นพยาน คือว่าบุคคลแรก

“อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ”

ผู้ที่เดินตามเป็นสงฆ์องค์แรกรู้แล้วหนอ เป็นสาวก เป็นพระรัตนตรัยที่เรากราบไหว้บูชาอยู่ แล้วเราก็ศึกษาตามนั้น พระอัญญาโกณฑัญญะหรือแม้แต่พระพุทธเจ้า ท่านก็ต้องประพฤติปฏิบัติมา แล้วเราก็เดินตามแนวทางนั้น เราเดินตามแนวทางของนักปราชญ์ เดินตามแนวทางของครูบาอาจารย์ เห็นไหม ฟังข่าวของท่าน แล้วข่าวของเรา ข่าวของเรา มันก็กังวานในหัวใจ

ธรรมะนี้ ปริญญาให้ด้วยความเป็นจริง ไม่ต้องมีใครเป็นผู้มอบให้ มันจะเกิดขึ้นท่ามกลางความเป็นจริงของใจ ถึงว่า เป็นพ้นจากมนุษย์ปุถุชนขึ้นมา จนเป็นมีที่พึ่ง เป็นอริยชน เป็นธรรมเริ่มต้นที่ว่า หัวใจมี ๔ ห้อง เราได้ห้องหนึ่ง อิสระจากกิเลสแล้ว ถ้าอีก ๓ ห้องเรายังอยู่ในอำนาจของกิเลส เราก็ต้องดำเนินการต่อไป

ดำเนินการต่อไป เพราะว่าความสุขอย่างนี้มันเป็นความสุขที่ว่าเลอเลิศ เป็นความสุขจริง เป็นความดีจริง เป็นความดีของชาวพุทธ การเดินต่อ พอเดินต่อเพราะอะไร เพราะขนาดนี้มันก็เป็นเครื่องดำเนินว่า สุขขนาดนี้ เหมือนการประกอบอาชีพทางโลก คนประสบความสำเร็จแล้วก็อยากจะได้มาก อันนั้นกิเลสมันพาให้เหนื่อย กิเลสพาให้ทุกข์ยากต่อไป

ผู้ที่ทำแล้วก็อยากทำ ทำจนจมอยู่นั่น เป็นสุกรตัวหนึ่ง เป็นหมูตัวหนึ่ง แต่อันนี้มันจะพ้นออกมา หมู ๔ ขาเราก็ตัดทิ้งไปแล้ว ขาเดี้ยงไปขาหนึ่งเหลือ ๓ ขา มันจะหลุดออกไป หลุดออกไป เราต้องพยายามขึ้นไป การพยายามอันนี้จะว่ายาก...ไม่ยากแล้ว มันยากระหว่างช่วงนี้ ช่วงที่เรายังทำไม่ได้เลย เหมือนกับเราไม่มีฐานที่มั่น ในเมื่อเรามีฐานที่มั่นขึ้นมา เราตั้งฐานที่มั่นได้แล้ว ทำไมเราจะทำอีกไม่ได้ ฐานที่มั่นเรามี ทั้ง ๆ ที่ ไม่มีฐานที่มั่นในหัวใจเลย เรายังต่อสู้มา จนเราได้ห้องหนึ่ง อิสระขึ้นมา

จาก ๔ ห้อง หัวใจมีสี่ห้อง อิสระขึ้นมาแล้วห้องหนึ่ง ห้องนี้ไม่มีใครเข้ามายุ่งกับเราได้ กิเลสเข้ามายุ่งไม่ได้ห้องนี้ แต่อีก ๓ ห้องนั้นเรายังสงสัยอยู่ แต่ก็รู้อยู่นะว่า ๓ ห้องนั้นอยู่ในอำนาจของกิเลส การลังเลสงสัยอยู่ สงสัยสิ เพราะว่าเราเข้าใจห้องนี้นี่ เราเข้าใจพื้นฐานของชั้นหนึ่ง ชั้นล่าง เราเข้าไปสำรวจได้หมดเลย แต่ชั้นที่ ๒ เราไม่เคยขึ้นไป เขาจะบอกเหมือนชั้นล่าง เหมือนอย่างไรก็แล้วแต่ แต่เราก็ยังไม่เห็น

การเข้าไปจะขึ้นไป จะขึ้นไป พิจารณากาย เราพิจารณากายแล้ว มันปล่อยวางจนไม่มีเยื่อใย ไม่มีเยื่อใยเลย ขันธ์ ๕ สักแต่ว่าขันธ์ ๕ กาย กายสักแต่ว่ากาย ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย กายไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่เรา แต่ทำไมหัวใจมันยังเศร้าหมองอยู่ล่ะ ทำไมหัวใจมันยังเศร้าหมองอยู่ มันเข้าใจตามความเป็นจริงนะ กายนี้ไม่ใช่เรา ความสุขของพื้นฐาน สุข แต่เวลามันเศร้าหมอง เพราะมันขึ้นไปมันยังเศร้าหมอง เพราะมันยังมีกิเลสอยู่ ความเศร้าหมองนี้เกิดจากไหน ความเศร้าหมอง ทำให้เวลามันลงมาถึงตรงฐานนี้ มันพ้น ไม่ลังเลสงสัย มีความสุข

แต่นี้จิตของคนจะอยู่อย่างนั้นเหรอ จิตมันต้องเคลื่อนขยับสิ พอขยับไป ในบ้านเรา เรามันไม่มีเชื้อโรค สะอาด เราออกไปในสังคมสิ ออกไปในหมู่บ้านสิ เขามีแต่สิ่งแวดล้อมมีแต่เป็นพิษไปหมดเลย เราจะไปไหนล่ะ อันนี้ก็เหมือนกัน พอขยับขึ้นมานี่ อืม! กิเลสมันเป็นสิ่งเป็นพิษ มันทำให้ความสุขที่ว่า สุขนั้น เริ่มมีความรู้สึกว่า อืม! ทุกข์เหมือนกัน เพราะมันยังไม่เข้าใจตลอดรอบ มันยังไม่รอบตัวมันเอง

พิจารณาต่อ กายก็ได้ จิตก็ได้ เวทนาก็ได้ ธรรมก็ได้ กาย เวทนา จิต ธรรม อย่างเดิม อย่างเดิมแต่อย่างเดิมที่ลึกลงไป ไม่ใช่อย่างเดิมที่หยาบ ๆ เริ่มต้นนี่หยาบ ๆ ยังทำมาเกือบเป็นเกือบตาย แต่อย่างที่ลึกลงไป ละเอียดเข้าไปอีก กาย เวทนา จิต ธรรม เลย

ถ้าการต่อสู้ด้วยการวิปัสสนา เราผ่านขั้นตอนมาแล้ว ผ่านห้องแรกมา การงานที่เคยทำ จะเข้าใจว่า ถ้าเราพิจารณาเป็นโลกก็ยังเป็นโลกอยู่ พิจารณาเป็นธรรมก็เป็นธรรมอยู่ ถ้าสมาธินี้ไม่พอ หรือจิตนี้ไม่เวิ้งว้างพอ พิจารณาออกไปมันก็เกาะเกี่ยวไป มันจะไม่ให้ผลไง คนที่ทำงานเป็นจะเข้าใจ เข้าใจเพราะทำง่ายขึ้น

การทำง่าย เห็นไหม อย่างเราไม่ได้ช่าง เราทำงานช่างไม้นี่เราทำยาก คนที่เป็นช่างไม้ เขาจะทำงานช่างไม้ได้ง่าย เขาจะสร้างบ้านสร้างเรือนได้ง่าย เพราะเขาเคยงาน คนที่ผ่านขั้นตอน ผ่านขั้นขึ้นมานี่เหมือนกับช่างไม้ เป็นงาน แต่ช่างไม้ก็ต้องทำงานใช่ไหม เราสร้างบ้านกับช่างไม้สร้างบ้าน ก็ทำงานเหมือนกันใช่ไหม การต่อสู้กับกิเลส ผู้ที่เป็นก็ต้องต่อสู้เหมือนกับผู้ที่ไม่เป็นใช่ไหม? เหมือนกัน

ฉะนั้น การต่อสู้นั้นเป็นการต่อสู้บ้านหลังใหม่ หัวใจ ๔ ห้อง เป็นการสร้างห้องใหม่ เป็นการต่อสู้ใหม่ไง ก็ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรมอันนั้น อันนั้นเพราะเป็นงานก้าวขั้นตอนต่อไป แต่ดีที่เป็นช่างไม้ ดีที่เป็นช่างสร้างหัวใจ ดีที่เป็นช่างสร้างใจ การเป็นช่าง การเป็นผู้ที่ผ่านงาน มันทำตรงนั้นได้ แต่ช่างก็เหงื่อโทรม

การวิปัสสนาก็ต้องต่อสู้ไป เพราะกิเลสมันต่อต้านทุกขั้นตอน กิเลสไม่ปล่อยให้ใครเป็นอิสระโดยธรรมชาติ เพราะกิเลสมันอยู่ที่หัวใจ ถึงจะผ่านแพ้มาชั้นหนึ่ง เขาก็ต้องต้านไว้ต่อสู้เต็มที่เลย การต่อสู้ การทำงานถึงต้องใช้พลังงาน ถึงต้องเหนื่อย ต้องขวนขวาย แต่การขวนขวายของช่างไม้ กับคนขวนขวายของผู้ที่ไม่เป็นงานต่างกัน

ฉะนั้นการทำถึงว่า ไม่ยากเหมือนขั้นเริ่มต้น เริ่มต้นจากไม่เป็นใด ๆ ต้องฝึกฝนก่อน แต่พอเป็นแล้วนี่ก้าวเดินเหมือนกับเศรษฐีที่ทำงานแล้วได้ผลดี การก้าวเดินนั้นมันถึงจะยากก็ยาก แต่ยากแบบผู้เป็นงาน ยากแบบผู้เป็นงาน มันถึงก้าวเดินได้ ต้องใช้ภาวนามยปัญญา เหมือนกัน การภาวนามยปัญญาเพราะจะมรรคสามัคคี มรรค มรรครวมเข้า กงล้อหมุนไป ต้องเป็นกงล้อที่วนรอบ กงล้อที่บิดเบี้ยว กงล้อที่แหว่ง เป็นหมุนไปไม่ได้

ธรรมจักรก็เหมือนกัน ความดำริชอบ การงานชอบ ความเพียรชอบ สุดท้ายคือสมาธิชอบ เห็นไหม ธรรมจักร จักรมี ๘ ซี่ กงจักรที่หมุนไปต้องพร้อมกัน พร้อมกันจนหมุน จนเป็นธรรมจักร หมุนโดยธรรม หมุนโดยธรรม ภาวนามยปัญญา ปัญญาโดยธรรม ความเป็นธรรม มรรคสามัคคี สามัคคีกันจนเป็นหนึ่งเดียว จนหมุนติ้ว ๆ จนชำระกิเลส จนประหารกิเลส จนขาดออกไป

ถ้าพิจารณากาย กาย จากที่ว่ากายนี้ไม่ใช่เรา แต่พิจารณากายวงรอบนี้จะแตกออก ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ เผาไหม้หมด เผาไหม้หมดจนกายนี้ เวิ้งว้างออกไป จิตนี้เป็นอิสระออกมาจากธาตุทั้ง ๔ จากกายไม่ใช่ของเรา จากธาตุทั้ง ๔ ที่ทับขันธ์หัวใจนี้หลุดพ้นออกไป หลุดพ้นจากธาตุเลย เป็นใจล้วน ๆ กายนี้เป็นโพธิ จิตนี้เป็นกระจกใส แยกออกจากกัน รวมใหญ่ รวมลงทั้งหมด จิตนี้ปล่อยวางทั้งหมดเลย เป็นอิสระจากกาย อิสระออกไป เวิ้งว้าง มีความสุข ความสุขที่เป็นสภาวะตามความเป็นจริง

ความเป็นสุข ตามสภาวธรรม สภาวธรรมตามความเป็นจริง ธรรมที่เป็นจริง ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วประทานไว้ เป็นธรรมแท้ ๆ ที่ใจนี้เข้าไปสัมผัส เป็นธรรมแท้ ๆ ธรรมที่มันเป็นไปโดยเนื้อ ๆ ของใจ ใจกับธรรมสัมผัสกัน ไม่เจือด้วยอามิส ไม่เจือด้วยโลก ไม่เจือด้วยความสุขหลอก ๆ ไม่เจือด้วยว่าเป็นหมูพันธุ์หรือหมูพื้นบ้าน

พ้นออกไป พ้นออกไป...สุข สุขมาก สุขเกิดจากการประพฤติปฏิบัติ สุขเกิดจากความมุมานะ สุขเกิดจากความทุกข์ที่แสวงหา จากความทุกข์ที่ว่าไม่มีคุณค่า จากชีวิตนี้ออกประพฤติปฏิบัติ ชีวิตนี้ออกมาเหมือนคนที่ไร้ค่า แต่หัวใจมันมีค่าขึ้นมาโดยความเป็นจริง ความเป็นธรรม ความเป็นธรรมอันนี้ที่ว่าพึ่งพาอาศัย เป็นที่พึ่งพาอาศัยของจิต เป็นที่พึ่งพาอาศัยของตน ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนแล้ว ตนถึงเป็นประโยชน์กับโลก เป็นประโยชน์กับผู้อื่นต่อไป เป็นประโยชน์ผู้อื่น ผู้ชักนำ

ได้มา ๒ ห้อง หัวใจได้ ๒ ห้อง เพราะตอนนี้เวิ้งว้างจนเข้าไม่ถูก เพราะกิเลสมันโดนชำระออกมาแล้ว เป็นครึ่งต่อครึ่งแล้ว ย่นเข้ามา จับต้องเป็นนามธรรม จับต้องได้ยาก การจับต้องนี้จับต้องได้ยาก การขุดคุ้ย การชำระ การแสวงหา ความอยากจะพ้นออกจากทุกข์ การจับต้องนี้จับต้องได้ลำบาก แต่ก็ต้องจับต้อง จับต้องด้วยการขุดคุ้ยก่อนไง

ถ้าเจอหัวใจ คนที่ชำระ คนที่พิจารณานะ คนที่พิจารณาเป็นกาย กาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณาเป็นกาย เป็นอสุภะนะ จิตช่วงนี้เป็นอสุภะ กายหลุดไปแล้ว พ้นจากธาตุขันธ์แล้วเป็นอสุภะได้อย่างไร? เป็นอสุภะเพราะว่า เวลาเกิด ใจปฏิสนธิใช่ไหม ใจเรา ฐีติจิต ไปปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา ครรภ์ของมารดา เห็นไหม ครรภ์ของมารดา เสพกามถึงจะเกิดใช่ไหม ใจดวงนี้เป็นใจดวงที่เสพกาม ถึงได้เป็นอสุภะ-อสุภัง ความสวยความงาม เราเข้าใจว่าสวย เราเข้าใจว่างาม เราถึงตกอยู่ในอารมณ์ของโลก เราถึงโดนบัญชาการโดยศรของกาม โดยกามปักเสียบที่ใจ

กามมันปักเสียบไว้ ความปักเสียบของกามมันเป็นเนื้อเดียวกับใจ เราเอากาย เอาใจนี้พิจารณากาย พิจารณากายในไง กายของใจ ไม่ใช่กายเนื้อ “กายของใจ” ใจนี้เป็นกาม ความเป็นกามอันนั้นถึงเป็นอสุภะ ความเป็นอสุภะเพราะว่าความเป็นของไม่จริง เป็นของไม่สวย เต็มไปด้วยน้ำเลือด น้ำหนอง เต็มไปด้วยความเป็นคาว ความเหม็นคาว ความเป็นคาว ความอันนั้นมันถึงว่าเป็นอสุภะ-อสุภัง ถ้าจิตนี้จับต้องได้ จะพิจารณากายเป็นอสุภะ

ความเป็นอสุภะ ความเป็นของเน่าเปื่อย การเกิด เกิดด้วยน้ำคร่ำของมารดา น้ำคร่ำ น้ำเหม็น น้ำเสียนั่นน่ะ แล้วจิตมาปฏิสนธิตรงนั้น มันถึงว่ามันโดนปักเสียบไว้ด้วยกาม ถึงได้เป็นอสุภะ ถ้าพิจารณากายเป็นอสุภะ ถ้าพิจารณาจิตก็เป็นขันธ์ของจิต ถ้าพิจารณาธรรม ความไม่จริง ความเป็นธรรม เวทนามันทำไมมันไม่เวทนา มันสุข มันทุกข์อยู่อย่างนั้น

การหมุนเข้าไปวิปัสสนา ถึงว่าขั้นนี้ถึงเป็นขั้นที่รุนแรง ความรุนแรงนี่พ้นออกจากโลก มันจะพ้นออกจากวัฎฎะส่วนหนึ่ง จากที่ว่าเราเกิดเราตาย เราเกิดเราตาย เราไปนอนจมอยู่ในน้ำคร่ำอันนี้ทั้งนั้น จมอยู่ในน้ำคร่ำที่ว่าเป็นความเหม็นเน่า เป็นเหม็นเน่า ถ้าให้เห็นจริงนะ ดูอย่างกายที่ว่า เขาว่ากัน กายมันเต็มไปด้วยเลือด เอาผิวหนังออกมา เลือดสด ๆ เราจะเป็นอย่างไร

ไอ้นั่นมันเป็นเลือดสด ๆ แต่ถ้าเราพิจาณาข้างใน มันจะเห็นความแปรสภาพ มันจะเห็น เห็น ต้องเห็นจริง ๆ ถึงจะตามความเป็นจริง มันจะละลายออก มันจะแปลงไปนะ ความเป็นอสุภะ ความไม่แน่นอน เป็นของที่ว่ามันไม่สวย แต่กิเลสมันหลอก เผลอออกมามันก็สวย พอว่าไม่สวยนี่มันก็ซุกอยู่ข้างล่าง เพราะมันจะดิ้น ความเป็นจริงของใจที่ชุ่มด้วยกาม ชุ่มด้วยกิเลส นี่มันจะดิ้นรน ดิ้นรนเพราะอะไร เพราะมันจะเอาตัวรอด

เหมือนกับเราต่อสู้กัน เป็นคน ๒ คน ต่อสู้กันนะ เราต้อนคนหนึ่งเข้าไปในจนมุมสิ คนจนตรอกนี่มันต้องเอาตัวรอด มันจะไม่ยอมเพลี่ยงพล้ำให้มันเกิดความเสียหาย หัวใจ ใจที่กามมันปักเสียบอยู่ เราเข้าไปต่อหน้าต่อตา มันจะพลิกสวยหรือไม่สวยล่ะ ถ้าธรรมะว่าไม่สวยต้องเป็นอสุภะ ความเป็นอสุภะมันจะชำระไอ้ความที่ว่าเป็นสุภะ เป็นของสวยของงาม ของที่เคลิบเคลิ้ม

ใจปักเสียบด้วยศรของกาม ถ้าว่าปักเสียบนี่มันปักเสียบไว้นิดเดียว แต่ความเป็นจริงมันชุ่มคือมันคุมไว้ทั้งหมด ความคุมไว้ทั้งหมด เราเข้าใจว่าสวยว่างาม มันถึงได้หลง ได้เพ้อ ได้รำพันกัน แต่ธรรมะเข้าไปว่ามันจริงหรือ มันจริงหรือ มันสวย มันก็เหมือนกับว่า เราสร้างขึ้นมาด้วยแสง แวบขึ้นมาสวยแล้วมันก็ต้องแปรสภาพไป

นี่ก็เหมือนกัน ความคิดของมัน ความเห็นของมันต้องว่าสวย มันถึงได้เสพกาม แต่ถ้าพิจารณาเข้าไปแล้ว มันเหมือนแสงที่แวบขึ้นมาแล้วหายไป มันอนิจจัง มันไม่แน่ มันไม่เที่ยง มันไม่จริง มันโดนหลอกไว้ด้วย เพราะว่ามันโดนควบคุมไว้ด้วยกาม พระพุทธเจ้าถึงได้สอนว่า เอาอสุภะเข้าไปชำระความเป็นสุภะ ความเป็นสุภะคือความงาม ความจงใจที่ว่าสวย ว่างาม ถึงได้คลั่งไคล้กัน คลั่งไคล้กันจนหลงเพ้อพร่ำรำพันกัน

ตามความเป็นจริงเข้าไปพิจารณาตรงนั้น พิจารณาตรงนั้น ตรงความเป็นจริงอันนั้น แล้วพอพิจารณาแล้วพิจารณาเล่านะ การพิจารณา การต่อสู้นี้จะรุนแรงมาก เพราะการคัดค้านอันนี้ คัดค้านแบบคนจนตรอก แต่ที่เริ่มต้นมานี้เขายังคิดว่าเขามีอีกหลายห้องที่เขาจะวนเวียนได้ กิเลส เห็นไหม แต่อันนี้มันเข้าไปแล้ว เราเข้าไปแล้ว ๒ ห้อง ไอ้ห้องที่ ๓ นี่เพราะถ้าเขาเสียอันนี้ไป น้ำหนักส่วนธรรมจะเหนือกว่า

จาก ๓ กับ ๑ จาก ๒ เท่ากัน การนี้เขาถึงต่อต้านเต็มที่เลย ไม่มีการงานตรงใดจะง่าย ๆ อย่างนี้ไม่มี เพราะงานตรงนี้เป็นงานภายใน ต้องเป็นงานของมหาสติ-มหาปัญญา สติปัญญาธรรมดาปกติ จับต้องไม่ถึง จับต้องไม่ติด เป็นมหาสติ-มหาปัญญาจึงหมุนเข้าไป หมุนเข้าไปด้วยความรุนแรงของธรรมจักรอันเหนือ อันเหนือนะ อันเหนืออันบนเพราะงานของช่างที่เราทำมาก็ว่า เป็นงานของช่าง ก็ว่าลำบากแล้ว

อันนี้เป็นงานของสถาปนิก เป็นที่ควบคุมช่างอีกทีหนึ่ง เป็นคนเขียนแปลนออกมาสั่งช่าง เป็นคนควบคุมออกมาในการเกิด ในมนุษย์ การเกิดในเทวดา เป็นสถาปนิกเลย กรรมนี้เป็นเจ้าของสถาปนิก แล้วเราไม่ได้ทำลายตัวแบบแปลนนะ เราไปทำลายไอ้คนเขียนแปลน เราไปทำลายไอ้สถาปนิกที่มันจะเขียนมาให้เรามาเกิดอีก เพราะถ้าเราทำลายอสุภะอันนี้ออก ชำระกามออกจากใจทั้งหมด ใจนี้จะเป็นอะไร ใจนี้พ้นจากกามแล้วมันจะเป็นอะไร

ถึงว่า มันไปทำลายไอ้ตัวสถาปนิกเลย แต่พอมันเขียนออกมาเป็นแปลน แปลนอันนั้นมันก็ครอบคลุมหัวใจเราแล้ว มันครอบคลุมหัวใจ เห็นไหม ธรรมจักร หมุนกลับเข้าไปไง เราต้องหมุน ต้องหมุน ต้องต่อสู้ เพราะความหลอก การหลอกในวงปฏิบัติ การหลอกในขณะที่ประพฤติปฏิบัตินะ ในขณะที่กำลังต่อสู้กิเลส มันจะหลอก หลอก มันจะสร้างอารมณ์

มันเขียนแปลนขึ้นมามันก็เป็นแปลนใช่ไหม มันไปเขียนแปลนที่ว่าเป็นวงกลมขึ้นมาว่า อันนี้ไม่ใช่นะ อันนี้ปล่อยวางแล้วนะ...มันจะหลอกไปตลอด พิจารณาแง่นี้ไปมันก็ว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น ต้องต่อสู้นะ เหนื่อย เหนื่อยสุด ๆ ล้า ละล้าละลังในหัวใจเลย ความละล้าละลังอันนี้ เพราะอะไรไปทำให้ละล้าละลังล่ะ ธรรมะเหรอ? ไม่ใช่ กิเลสที่เอาตัวรอดต่างหากล่ะ กิเลสที่มันขุดหลุมพราง กิเลสที่มันต่อสู้ อันนี้ถึงเรียกว่าหลง ความดำเนินผิด หลงไปชั่วครั้งชั่วคราว หลงไปในอำนาจที่มันยังมีแรงต่อสู้อยู่

แต่ถ้าธรรมมันหมุนเข้าไป หลงก็หลงไปผิด ประเดี๋ยวก็พิจารณาใหม่ มันก็เป็นอีกแง่หนึ่งคือว่าปัญญามันกว้างขวางมาก ปัญญาในการต่อสู้กิเลสนี่กว้างขวางมากนะ กว้างขวางว่าแล้วแต่จะพลิกแง่ไหน กิเลสมันก็ต่อสู้ทุกแง่ทุกมุม มันจะไม่ยอมปล่อยให้ง่าย ๆ หรอก ถ้ามันปล่อยง่าย ๆ คนพอปฏิบัติขึ้นไปต้องไปผ่านง่าย ๆ สิ ทำไมมันกระเสือกกระสนมา ครูบาอาจารย์บอกเลยฟากตายทั้งหมด เอาตายเข้าแลกทั้งนั้นนะ

สุดท้ายมันก็หลอกว่าจะตาย จะตาย ให้เราผ่อนคลาย ให้ผ่อนคลายให้กิเลสมันได้หัวเราะเยาะชั่วคราว พอเรามาพิจาณาใหม่ อ้อ! ไม่ใช่ เราเองต่างหากจะตาย จะโดนกิเลสฆ่าตาย ไม่ใช่ว่าเราจะตายหรอก กิเลสมันจะฆ่าเราต่างหาก มันถึงว่าเอาตายมาหลอก ถึงว่าต้องฟากตาย ตายยังไงก็ใส่เข้าไปสิ อะไรมันตาย กิเลสต่างหากมันจะตาย ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติตาย แต่พอกิเลสมันหลอก ผู้ปฏิบัติล้มก่อน เชื่อมันก่อน ถึงว่าต้องฟากตาย ฟากตายสู้ต่อไปเลย พิจารณาว่า มันเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงตามที่ว่ามันออกมา แต่มันเป็นจริง จริงด้วยอารมณ์โลก จริงด้วยอารมณ์กาม เพราะอารมณ์นี้มันรุนแรงมาก

แต่ธรรมะขึ้นไปต่อสู้ขนาดนี้แล้ว พอมันระเบิดออก โลกรับว่าระเบิดออก ระเบิดออกเพราะว่ามันสู้กันสุด ๆ สู้กันรุนแรงมาก กระเสือกกระสนเสร็จแล้ว จนระเบิดออก โลกธาตุนี้ไหวเลย พอกามราคะมันขาด กามราคะมันขาด กามไง กาม กามภพ กามภพนี้เป็นที่อยู่ของเทวดาลงมา ที่อยู่ของเทวดาลงมานะ พรหมบางส่วนด้วย เพราะพรหมที่มีกามก็ยังมี

พอมันขาดออก การขาดออกอันนี้มันเป็นการขาดออกของเชื้อ แต่การขาดออกของขั้นตอนสองขั้นตอนแรกมันเป็นการขาดออกของกิเลส อันนี้ขาดออกของกิเลสด้วย ขาดออกของเชื้อการเกิดในกามภพด้วย เห็นไหม การขาดออกมันต่างกัน การขาดออกจากกาย

กิเลสมันไปติดที่กาย การขาดออกจากที่ว่าเป็นการตกผลึกของกายกับจิต อันนั้นก็กิเลสขาดออก การขาดออกของกาม กิเลสก็ขาดออกด้วย แล้วยังขาดออกจากเชื้อของกามด้วย ไอ้เชื้อตัวนี้ถึงว่าถึงจะเกิดอีกก็เกิดอีกบนพรหม ๕ ชั้นนี้เท่านั้น ไม่มาเกิดในกามภพ ถึงกับว่าโลกธาตุถึงได้ไหว กามภพสั่นสะท้านไปหมด ถึงว่าโลกธาตุหวั่นไหวเลย โลกธาตุหวั่นไหวไปเลย ไหวออกจาก...เพราะเชื้อมันขาด สายใยของการเกิดในกามภพขาดออกทั้งหมด

พ้นออกไป นี่ได้มา ๓ ห้อง พอได้ ๓ ห้อง พอมันขาดออกจากกามภพแล้ว นั่นอะไร อันนั้นจิตปฏิสนธิที่ว่าปฏิสนธิ ปฏิสนธิอยู่ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส กับจิตเดิมแท้นี้ผู้ที่ปฏิสนธิไง จิตปฏิสนธิไม่ใช่จิตไปด้วยกาม จิตปฏิสนธินะ อ่อนไหว เหมือนพลังงานธรรมดานี่แหละ

พลังงานของไฟ เข้าไปในเครื่อง เข้าไปในคอมพิวเตอร์ เป็นพลังงานทั้งหมด จะเป็นพลังงานพื้นฐาน พลังงานปฐม จิตตัวนี้ก็เป็นตัวปฐม แต่ไม่ใช่ตัวปฐมของไปด้วยขันธ์ ถึงว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ เป็นปัจจยาการที่มันเป็นพลังงานไปด้วยกัน ไม่ใช่กอง ถ้าเป็นข้างล่าง เป็นการที่เป็นกอง กองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ

แต่อันนี้เป็นปัจจยาการทั้งหมดเลย มันเป็นปฏิสนธิ มันเป็นจิตเดิมแท้ ถ้าความเป็นไปอย่างนี้จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส แต่ถ้าเป็นการประพฤติปฏิบัติข้างล่าง จนพอคนมีบารมีมาก จิตนี้จะรวมลง รวมลงถึงที่ฐีติจิตเหมือนกัน แต่ฐีติจิตที่ว่ารวมถึงจิตเดิมแท้อันนี้ก็เป็นจิตเดิมแท้ที่ครอบคลุมไปด้วยกิเลส กับจิตเดิมนี้เกือบพ้น เป็นจิตเดิมแท้ที่ผ่องใส

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส” นี่หมองออกไปด้วยอุปกิเลส แล้วก็จะพาเกิด ถึงได้ไปเกิดบนพรหม ถ้าไปเกิดบนพรหมก็ต้องสุขไปเลย สุขไปเลย ไปเลย แต่สุขไปเลย เราจะไปเกิดบนพรหมไม่เสียเวลาเหรอ ถ้ารู้นะ ถ้ารู้ แต่ส่วนใหญ่ไม่รู้ ส่วนใหญ่ผู้ที่ต่อไปนี้ เพราะอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ ผู้มีวาสนา ผู้ที่สนใจการใคร่ครวญ ไม่เผลอตน ไม่ลืมตน จะหันกลับมาพิจารณาตรงนี้ไง

หันกลับมาพิจารณาตรงนี้ว่าอันนี้ถึงจะโลกธาตุหวั่นไหว ถึงจะพ้นออกไปจากกามภพ มันก็ไปเป็นหนึ่งเดียว ไม่กระทบสิ่งใด กระทบสิ่งใด เป็นหนึ่งเดียว เพราะว่าผลไม้อยู่บนกลางอากาศ จะสุกออกไป นี่จับต้องตรงนี้ จับต้องสิ่งที่แขวนอยู่กลางอากาศ จับต้องอยู่ที่ตอของจิต

“มโน” มโนคือตัวของจิต ตัวของความเป็นไป ของพลังงาน “มโน” ตัวเดียวนั่นน่ะ พลิกตรงนั้น ได้ ๔ ห้องหมด พลิกตรงนั้น พลิกเลย พลิกออกไปแล้ว ถึงว่าเป็นพยานกัน เป็นพยานกัน ตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมา พระพุทธเจ้า พระอัครสาวก พระสาวกต่าง ๆ พลิกตรงนั้น เป็นพยานกันทั้งหมด นี่ศาสนาพุทธ

พุทธศาสนาเป็นศาสนาผู้ที่ประเสริฐ ศาสนาที่เลอเลิศ ศาสนานี้พึ่งได้จริง พึ่งได้จริงต้องเราต้องเห็นคุณค่าของเราก่อน คุณค่าของมนุษย์ คุณค่าของผู้ปฏิบัติ เห็นเรามีคุณค่า คุณค่าของมนุษย์ คุณค่าของหัวใจ คุณค่านั้นถึงจะมีฐานรองรับถึงคุณค่าของชาวพุทธแท้ เราไปลิดรอนคุณค่าของเราก่อน ว่าเราไม่มีปัญญา เราไม่มีวาสนา เราไปลิดรอนคุณค่าของเรา เราก็ไม่ถึงชาวพุทธแท้

ชาวพุทธแท้ถึงว่าต้องเห็นคุณค่าของเรา เห็นคุณค่าของศาสนา ความเป็นจริง ของที่จริงกับความเป็นจริง ถึงเข้ากันได้ด้วยความเป็นจริง จริงตามธรรม (เสียงเทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)