เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๘ พ.ย. ๒๕๕๘

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ ธรรมะคือสัจธรรม ธรรมะคือสัจจะ สัจจะที่หัวใจเราปรารถนา มันเป็นสมบัติของเราไง เวลาสมบัติในบ้านของเรามีมากมีน้อยเป็นสมบัติของเรา สมบัตินอกบ้านของเราไม่ใช่เรื่องของเราเลย แต่ไม่ใช่เรื่องของเรา เห็นไหม เวลาเขาบอกว่าเผยแผ่ธรรมๆ เผยแพร่ไม่ได้ เผยแพร่มันเชื้อโรค เผยแผ่ เขาว่าต้องเผยแผ่ เผยแพร่เป็นเชื้อโรค เชื้อโรคมันจะระบาด

เผยแผ่ธรรม ถ้าเผยแผ่ธรรมมีสิ่งใดไปเผยแผ่ไง เวลาหลวงตาท่านบอก เวลาเผยแผ่ธรรม เอากิเลสไปเผยแผ่หรือเอาธรรมะเผยแผ่ เวลาเผยแผ่ธรรม สิ่งที่ทำเป็นความจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นความจริง ดูสิ สมัยพุทธกาล เวลาพระเขาออกไป เขาเสียสละชีวิตของเขา สละชีวิตของเขาเพราะเขามีความเชื่อของเขาอย่างนั้น แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านจะเป็นธรรม สอนตนเองให้ได้ก่อน ถ้าสอนตนเองให้ได้ก่อน สัจจะที่ออกไปมันถึงเป็นความจริง

ถ้าสอนตัวเองไม่ได้ สอนตัวเองยังไม่ได้ เผยแผ่ธรรม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติมันก็หมุนเวียนของมันอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่เวลามันทุกข์มันยากไง แต่ถ้ามันเป็นความจริงในใจของเรานะ ฟังธรรมๆ เพื่อเหตุนี้ ฟังธรรมแล้วมันสะกิดใจเราไง เวลาสะกิดหัวใจเรา มันทำให้เราย้อนกลับมาดูใจของเราว่าเราควรทำอย่างใด เราแก้ไขดัดแปลงตัวเราเป็นอย่างไร ถ้าแก้ไขดัดแปลงตนของเรา

ถ้าเราแก้ไขเราได้แล้ว แก้ไขเราได้ เห็นไหม จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ถ้าใจดวงหนึ่ง สัจจะความจริงเป็นสัจจะความจริง เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูด เวลาท่านพ้นจากทุกข์ไปแล้ว ท่านมองเราเหมือนสัตว์ เหมือนสัตว์ ดูสิ เขาเป็นคนไม่ใช่สัตว์ มันเป็นคน สัตตะผู้ข้อง เหมือนสัตว์ มันไร้เดียงสา มันไม่รู้เหนือรู้ใต้ มันทำสิ่งใดไม่ได้หรอก ทั้งๆ ที่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปากเปียกปากแฉะ ปากเปียกปากแฉะ สิ่งนั้นมีความสำคัญไหม? มันมีความสำคัญนะ มีความสำคัญว่าเป็นปริยัติ ปริยัติคือการศึกษาเล่าเรียน นี่ถ้าไม่มีการศึกษาเล่าเรียน

ทีนี้ปริยัติเขาสำคัญตน สำคัญตนว่าเพราะการปริยัติมันมั่นคง เพราะปริยัติมันชัดเจน การปฏิบัติมันถึงเป็นความจริง นี่ปริยัติมันมั่นคง ปริยัติมันมั่นคงตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธัมมจักฯ นั่นน่ะ แสดงธัมมจักฯ จักรมันเคลื่อน เทวดา อินทร์ พรหมส่งเป็นชั้นๆ ขึ้นไปนั่นน่ะ นั่นสัจจะความจริง นี่จักรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เราไปศึกษา เราไปจำมา อนุสัย กิเลสของเรามันเจือปนมาทั้งนั้นน่ะ ถ้ามันเจือปน มันจะชัดเจนที่ไหนล่ะ

เขาบอกว่า ต้องมีการวิเคราะห์วิจัยให้ปริยัติมันชัดเจน พอเดี๋ยวนี้ปริยัติมันชัดเจน การศึกษามั่นคง มั่นคง การปฏิบัติก็เลยมั่นคงไปด้วย

การศึกษามั่นคง แต่การปฏิบัติล้มเหลว การศึกษามั่นคง มั่นคงนี่การปฏิบัติต้องให้มันสัจจะความจริง ทีนี้สัจจะความจริงขึ้นมา มันเป็นความจริงขึ้นมา มันเป็นอำนาจวาสนาของคน ดูสิ เวลาพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล พระสีวลีผู้มีลาภสักการะมหาศาล ดูสิ ดูอย่างครูบาอาจารย์แต่ละองค์ๆ มันไม่เหมือนกัน มันอยู่ที่การกระทำมาๆ นี่สิ่งที่ทำมานะ

เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติสิ้นสุดแห่งทุกข์ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำไมเป็นอย่างนั้น ทำไมเป็นอย่างนั้น

เขาเคยทำของเขามาอย่างนี้ ทำของเขามา ดูสิ จูฬปันถกกับมหาปันถก พี่ชายกับน้องชายสอนกันไม่ได้ พี่ชายให้สึกไป

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปดักหน้าเลย “บวชเพื่อใคร”

“บวชเพื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

ฉะนั้น ให้เอาผ้าขาวไปลูบไง ว่ามันขาวหนอๆ ลูบไปๆ มันไม่ขาวหรอก เพราะมือมันสกปรก มันลูบไปมันเห็นของมัน ถ้าเห็นความจริง นี่แทงเข้าไป มันสะท้อนเข้าไป ปัญญามันแทงกลับ มันแทงกลับเข้าไปในใจ เป็นพระอรหันต์เลย

จากที่ทำสิ่งใดไม่ได้ ทำสิ่งใดไม่ได้นะ พี่ชายเป็นพระอรหันต์สอนน้องไม่ได้ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อนาคตังสญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันละเอียดมันลึกซึ้งกว่ากัน นี่สิ่งที่ทำมาๆ เขาทำของเขามา เขาทำสิ่งนี้มามันก็เป็นประโยชน์ของเขามา ถ้าเขาไม่ได้ทำของเขามา มันขืน มันขืนของมันอยู่อย่างนั้นน่ะ อันนั้นอำนาจวาสนาของคนนะ

แต่ของเรา เราดูแลหัวใจของเรา ฟังธรรมๆ ฟังธรรมเพื่อตอกย้ำความรู้สึกของเราไง มันขัดมันแย้งไหม ถ้ามันขัดมันแย้ง มันขัดแย้งเพราะเหตุใด เราใช้ปัญญาของเราสิ เราใช้ปัญญาของเรา ใช้ปัญญามันแยกแยะของเรา ถ้ามันแยกแยะของเรา มันจะเกิดปัญญาของเรา ถ้าเกิดปัญญาของเรา

ถ้าปัญญาของเรามันเกิดกับเราเอง แต่การศึกษาๆ มา ศึกษามันเป็นปริยัติ มันเป็นทฤษฎีมันต้องศึกษา คำว่า “ศึกษาๆ” เพราะอะไร เพราะถ้าเราทำสิ่งใดเราไม่เริ่มต้นเลย เราไม่มีการศึกษาเลย เราก็เริ่มต้นไม่ถูก แต่การเริ่มต้นของเรา เริ่มต้นแล้วมันถูกหรือเปล่า เริ่มต้นแล้วมันล้มลุกคลุกคลานอยู่นี่ เพราะการเริ่มต้น แล้วพอเริ่มต้นขึ้นมา เพราะอะไร เพราะตัวเรา เราเชื่อตัวเราเองไม่ได้ เราพึ่งตัวเองไม่ได้ พอเราศึกษาสิ่งใดมาเราก็จะพึ่งสิ่งนั้นๆ พอพึ่งสิ่งนั้นมันก็เลยพึ่งไม่ได้เหมือนกัน

ศึกษามาๆ ต้องฝึกหัด ฝึกหัดปฏิบัติให้มันเป็นขึ้นมา ถ้ามันเป็นขึ้นมา สติ ดูสิ เวลาวันไหนที่จิตมันร่มเย็นเป็นสุข โอ! มันมีสติ มันซาบซึ้งนะ แต่ถ้าวันไหนเวลามันตึงเครียด เวลามันฟุ้งซ่านขึ้นมา สติมันไปไหน สติมันไปไหน มันล้มลุกคลุกคลาน สติมันไปไหน ก็ไอ้คนเดียวกันนี่แหละ สติมันไปไหน ทำไมความคิดมันเหยียบย่ำเราขนาดนี้ ทำไมเราเอามันไม่อยู่ไง นี่ถ้ามันมีแต่ชื่อเป็นอย่างนั้นน่ะ

แต่ถ้าเราเริ่มต้น เริ่มต้นจากระลึกรู้ ระลึกรู้ให้มั่นคงขึ้นมา แล้วเรากำหนดพุทโธของเรา ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เพราะพุทโธ คำบริกรรม มันจะมาฟื้นฟู มาฟื้นฟูเพราะอะไร เพราะสติ สติมันตั้งแล้วมันก็ล้มเหลว ถ้ามันพุทโธ เพราะสติแล้วมันต้องกำหนดพุทโธ ถ้ามันพุทโธได้ สติมันควบคุมให้จิตมันระลึกพุทโธได้ สติมันก็ดีขึ้น ถ้ามันพุทโธได้ พุทโธไปได้ มันต่อเนื่อง มันยาวขึ้น พอมันยาวขึ้น มันมั่นคงขึ้น พอมั่นคงขึ้น สติมันดีขึ้น ความคิดมันไปไหนล่ะ? ความคิดก็ดับไป ถ้าความคิดมันดับ มันก็เป็นความจริงของมันขึ้นมา นี่ปฏิบัติให้เป็นความจริง ปฏิบัติให้เป็นความจริง

ถ้าปฏิบัติเป็นความจริง ชำนาญในวสี พอมีความชำนาญของมัน มันชำนาญของมัน มันทำของมันได้ไง ถ้ามันทำของมันได้ สติก็เป็นสติ สติก็คือสตินั่นแหละ แต่ว่าสติมันมีตัวตนจริงมาหรือเปล่า สติมันมีความรู้จริงหรือเปล่า ถ้ามีความรู้จริงขึ้นมามันก็สติตัวเป็นๆ ไง แต่สติที่ระลึกได้ก็เป็นสัญญา สติที่ศึกษามานั้นก็เป็นตัวอักษร แต่ถ้ามันเป็นจริงๆ เป็นจริงขึ้นมาอย่างนี้ นี่ปริยัติแล้วปฏิบัติ

พอปฏิบัติขึ้นไปแล้ว ดูสิ พระอรหันต์ลืมในอะไร? ลืมในสมมุติบัญญัติ สมมุติก็คือภาษา บัญญัติ บัญญัติที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ นี่ลืมได้ แต่ไอ้ลืมตัวสติจริงไม่ได้ ไอ้ตัวสติจริงๆ ลืมไม่ได้ เพราะมันเป็นความจริง นี่ไง ไม่ลืมในอริยสัจ ไม่ลืมในสัจจะความจริงที่มันเป็นขึ้นมาในหัวใจนี้ แต่ถ้าชื่อมัน ชื่อมันลืมได้ ชื่อของมันลืมได้ ลืมได้ แต่ตัวจริงไม่มีวันลืม ไม่มีวันลืมถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา นี่ไง ที่มันปฏิบัติแล้วมันมีปฏิเวธอย่างนี้ไง ปฏิเวธคือความจริงขึ้นมา ถ้าความจริงขึ้นมาก็เป็นสัจจะความจริงขึ้นมา

ฉะนั้น สิ่งที่มันเป็นความจริง ความจริงก็ความจริง ความจริงมันอยู่ที่การปฏิบัติ ฉะนั้น พระกรรมฐาน เห็นไหม การศึกษา เวลาศึกษานี่ศึกษาจากประวัติครูบาอาจารย์ของเรา ศึกษาจากประสบการณ์ จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง เราได้นิสัยอย่างนั้น เรามีการกระทำอย่างนั้น เราทำความจริงของเราขึ้นมา แต่เวลาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ศึกษา พระไตรปิฎกก็มีทั้งนั้นน่ะ ครูบาอาจารย์ พระกรรมฐาน หลวงปู่มั่นท่านก็ศึกษาของท่าน ท่านค้นคว้าในพระไตรปิฎกเหมือนกัน ครูบาอาจารย์ท่านก็ค้นคว้าในพระไตรปิฎก ค้นคว้าด้วยความเทิดทูนเคารพบูชา เพราะว่าถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา “จะสอนใครได้หนอ จะสอนใครได้หนอ” มันลึกลับมหัศจรรย์

เวลาไปสอนปัญจวัคคีย์ เทศน์ธัมมจักฯ พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม เวลาไปสั่งสอนอัครสาวกต่างๆ ก็สอนขึ้นมาโดยที่ว่าเขาคาดไม่ถึง คาดไม่ได้ แต่มันอยู่ในใจนั่นน่ะ นี่สัจจะความจริงมันเป็นอย่างนี้ ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา “จะสอนใครได้หนอ จะสอนใครได้หนอ”

ทีนี้เราไปศึกษาๆ “ทำไมจะไม่ได้ เรียนมาจนได้ ๙ ประโยค ๑๐ ประโยค ทำไมจะทำไม่ได้ ธรรมะพระพุทธเจ้าจะสอนใครได้หนอ ก็สอนฉันนี่ไง ฉันศึกษามีความรู้เต็มหัวใจนี่ไง ฉันศึกษาได้จบแล้วไง” แต่ไม่รู้ว่าทุกข์มันเป็นอย่างไร พอศึกษาจบอย่างนั้นแล้วทำไมทำตัวกันอย่างนั้น ทำไมสำมะเลเทเมาอย่างนั้น ทำไมไม่เห็นคุณค่าของกาลเวลา

นี่ไง หายใจเข้าและหายใจออก ไม่เห็นคุณค่าของมันเลยหรือ ไม่เห็นคุณค่าของชีวิตนี้เลยหรือ ชีวิตนี้ประพฤติปฏิบัติจนสิ้นสุดแห่งทุกข์แล้วหรือ ชีวิตนี้เกิดมาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะแล้วมันต้องตาย รู้รอบขอบชิดหมดแล้วใช่ไหม เข้าใจชีวิตหมดแล้วหรือ ศึกษามาจบแล้ว เข้าใจชีวิตหมดแล้วใช่ไหม ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคญาณ เข้าใจหมดแล้ว รู้แจ้งแล้วใช่ไหม นี่ศึกษารู้มา

แต่ครูบาอาจารย์ของเราหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติของท่านมา ท่านเห็นคุณค่ามาก เห็นคุณค่า เห็นไหม วันคืนล่วงไปๆ เราทำอะไรอยู่ เราทำอะไรอยู่ ทำไมเวลาเดินไปเดินมา เวลาทำข้อวัตรปฏิบัติ ถ้าขาดสติ หลวงปู่มั่นท่านพูดเลย “เหมือนซากศพเดินได้” คนมีชีวิตอยู่เหมือนคนตายแล้ว ศึกษามามีความรู้มหาศาลนี่เหมือนคนตายแล้ว คือตายจากการประพฤติปฏิบัติ ตายจากคุณงามความดี ตายจากการขวนขวายไง ศึกษามาอย่างนั้นหรือ

ถ้าศึกษามา ศึกษาสติ-มหาสติขึ้นมา ทำความจริงขึ้นมาสิ เรายังมีกิเลสในหัวใจใช่ไหม ในหัวใจยังมีกิเลสอยู่ไหม ศึกษามาแล้ว จบแล้ว เข้าใจใช่ไหม ศึกษามาแล้วมันเป็นปริยัติ ปริยัติ ปฏิเวธไม่มี ปริยัติต้องปฏิบัติ

ทีนี้พอศึกษามาแล้ว พอศึกษาแล้วพอจะปฏิบัติก็หันรีหันขวางแล้ว “กลัวผิด พุทธพจน์ว่าไว้อย่างนั้น”

พุทธพจน์มันจบแล้ว พุทธพจน์คือคนรู้จริงพูด พุทธพจน์คือธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านถึงเทศนาว่าการ ที่วางธรรมและวินัยนี้ไว้ แต่ก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิบัติกับเจ้าลัทธิต่างๆ ดูสิ อาฬารดาบส อุทกดาบสบอกว่า “มีความรู้เหมือนเรา” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่เอามาสอนเลย เรื่องฌานสมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศีล สมาธิ ปัญญาเลยล่ะ นี่รู้จริงแล้วถึงได้วางธรรมและวินัย ถึงได้สั่งสอน สั่งสอนนั่นเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรายังไม่รู้จริงหรอก ถ้าเรารู้จริงขึ้นมา มันเป็นความจริงในใจ ความจริงในใจ ดูสิ พระภัททิยะเป็นกษัตริย์ออกมาประพฤติปฏิบัติ เป็นกษัตริย์นะ ละสมบัติมาปฏิบัติ เวลาปฏิบัติอยู่โคนต้นไม้ “สุขหนอๆ สุขหนอๆ” ดูสิ เวลาเป็นกษัตริย์ไม่บ่นว่าสุขล่ะ เป็นกษัตริย์ไม่เห็นบอกว่ามีความสุขเลย เวลาออกมาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้ว พอสิ้นสุดแล้วบอกว่า “สุขหนอๆ” ไอ้คนฟังฟังไม่รู้เรื่อง ไปฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรียกมาเลย “ภัททิยะเธอพูดอย่างนั้นจริงๆ หรือ”

“จริงๆ ครับ”

“ทำไมเธอพูดอย่างนั้นล่ะ”

“โอ้โฮ! เป็นกษัตริย์มันต้องบริหารจัดการ โอ้โฮ! ทั้งวันทั้งคืนไม่ได้นอน ไม่ได้พักผ่อนเลยล่ะ” แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาถึงที่สุดแห่งทุกข์ “สุขหนอๆ” อยู่โคนต้นไม้มีความสุขได้อย่างไรล่ะ นั่งอยู่ราชบัลลังก์ไม่มีความสุข แต่มาอยู่โคนต้นไม้มีความสุข

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ใช่” นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ ถ้ามันเป็นความจริง ความจริงมันเป็นอยู่ในใจอันนั้น แล้วเวลาใครที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นไป เพราะอะไร เพราะพระที่เป็นปุถุชนมันเข้าใจไม่ได้ไง ก็คิดว่าพระภัททิยะรำพึงถึงตอนที่เป็นกษัตริย์ถึงว่า “สุขหนอๆ” คิดถึงไง คิดถึงราชบัลลังก์อยากจะกลับ เพราะว่าความเป็นอยู่มันไม่มีความสุข อยู่โคนต้นไม้มันจะมีความสุขไปได้อย่างไรล่ะ

แต่เวลาคนที่จิตใจมันเป็นธรรมขึ้นมา อยู่โคนไม้ เพราะอะไร เพราะชีวิตมีเท่านี้เอง ปัจจัยเครื่องอาศัย มีปัจจัยเครื่องอาศัย ปัจจัยมันสมบูรณ์อยู่แล้ว มันมีสิ่งใดอีกล่ะ สืบต่ออะไร มันราตรีเดียวไง เวลามันไม่เคลื่อนที่แล้ว มันพ้นจากกาลเวลาทั้งสิ้น ของมันอยู่ของมัน มีความสุขของมันอยู่อย่างนั้นน่ะ ถึงได้อุทานออกมาว่า “สุขหนอๆ” มีความสุข สุขจนบ่นออกมาเลยล่ะ

ไอ้ของเรามันขี้ทุกข์ เรียนมา เรียนธรรมะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจบสิ้นกระบวนการ ความรู้เยอะมาก แต่ดิ้นกันเป็นหมาบ้า ดิ้น ดิ้นรนกันเป็นหมาบ้า ธรรมะในหัวใจเต็มเลยล่ะ เต็มเหมือนหมาบ้า

หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่าในเขาของท่าน ท่านมีคุณธรรมในหัวใจของท่าน นี่ถ้าความจริงมันเป็นแบบนี้ ถ้าเป็นแบบนี้ เราพยายามรักษาของเรา การเคลื่อนไหว เคลื่อนไหวจากภายนอก การเคลื่อนไหวจากภายนอก เราต้องมีอาชีพ เราต้องมีการกระทำ เราทำของเรา แต่รักษาหัวใจของเรา มันไม่มีค่ากว่าความรู้สึกนี้ไปได้หรอก ถ้าความรู้สึกอันนี้มีคุณธรรมนะ แม้แต่สัมมาสมาธิมันก็มีความสงบร่มเย็นของมันแล้ว

ถ้ามีความสงบร่มเย็นของมันแล้ว ดูสิ หลวงปู่มั่นท่านพูดกับพระไว้ “อายุไม่เกิน ๘๐ นะ ๘๐ นี้ตายแน่นอน อายุไม่เกิน ๘๐ หมู่คณะใครจะปฏิบัติให้ปฏิบัติมานะ ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ” พอถึงเวลาจะตาย ท่านจบเลย นี่ไง เพราะมันจบแล้ว มันจบตั้งแต่ในหัวใจแล้ว

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ชีวิตของเรา เรายังมีลมหายใจเข้าและลมหายใจออกอยู่ นี้คือโอกาสของเรา ถ้าโอกาสของเรา ขวนขวายของเรา การกระทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา ตายไปแล้วเราจะได้ไปประพฤติปฏิบัติอีกหรือไม่ ตายไปแล้วจะไปเกิดเป็นสิ่งใด เราก็มั่นใจว่าเราทำคุณงามความดีของเรา ถ้าตายไปแล้วอย่างน้อยก็ไปเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม ไม่ก็เกิดเป็นมนุษย์จะประพฤติปฏิบัติต่อ ถ้าประพฤติปฏิบัติต่อ นี่คิดตอนนี้ไง คิดเผื่อไปอนาคต แล้วปัจจุบันนี้ล่ะ แล้วจะปฏิบัติต่อแล้วทำไมไม่ปฏิบัติตอนนี้ล่ะ ตอนนี้ก็ปฏิบัติได้ ก็มีลมหายใจอยู่นี่ ทำไมต้องตายแล้วไปปฏิบัติต่อข้างหน้านู่นน่ะ ทำไมปฏิบัติตอนนี้ไม่ได้หรือ ถ้าปฏิบัติตอนนี้ นี่ไง ของมันชัดๆ อยู่นี่ไง ทางจงกรมก็มี เขามาทำให้ดีเลย นั่งสมาธิก็มีให้พร้อมอยู่แล้ว ทำไมไม่ปฏิบัติตอนนี้ล่ะ ทำไมไปปฏิบัติเอาข้างหน้าล่ะ นี่กิเลสมันหลอก หลอกอนาคตไปเรื่อย เอาอนาคตมาล่อไปเรื่อย

เราเอาความจริงที่นี่ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ถ้าจิตใจมันผ่องแผ้ว มันมีสติปัญญาของมัน มันจะเกิดวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาญาณ วิปัสสนาการรู้แจ้ง รู้แจ้งในใจของเรา รู้แจ้งสิ่งอวิชชา รู้แจ้งที่มันครอบหัวใจเรา แล้วจะเข้าใจปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธมันสำคัญอย่างไร

ปริยัติ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถ้าไม่มีเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้ได้อย่างไร แต่ศึกษามาศึกษาให้ปฏิบัติ ไม่ได้ศึกษามาว่า “ฉันมีความรู้ๆ” ความรู้อย่างนั้นมันความรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขี้โกงเขามาแล้วไม่ยอมรับความจริง

แต่ความรู้เป็นจริงของเราขึ้นมา “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” นั่น! ความรู้ต้องเป็นอย่างนั้น! ความรู้ที่มันรู้แจ้งนั่น! “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอๆ” นั่นคือปัญญาของเขา ปัญญาของพระอัญญาโกณฑัญญะแทงทะลุไง แต่ปัญญาของเราไม่มีหรอก ปัญญาของเราไม่มี ปัญญาของเราจำเขามาทั้งนั้นเลย แล้วก็อ้าง สมอ้างเอา

ถ้าเป็นความจริงศีล สมาธิ ปัญญา แล้วพยายามประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมาให้เป็นความจริงของเรามา นี่สัจธรรม หัวใจของเราปรารถนาสิ่งนี้ แล้วมันทำได้จริงนะ ศีล สมาธิ ปัญญา มันเป็นปัญญาจริงๆ ไม่ใช่จำของใครมา แล้วมันเป็นปัญญาของเรา มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นคุณธรรมในใจดวงนั้น ใจดวงนั้นถึงจะมีที่พึ่งจริง เอวัง