เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๒ พ.ย. ๒๕๕๘

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ผู้มาใหม่เขาไม่ค่อยเคย พอมีสิ่งใดเขาก็ตื่นเต้นของเขา แล้วโดยทั่วไปพื้นฐานเขาก็ทำของเขาเป็นพื้นฐาน เพราะพื้นฐาน ประเพณีวัฒนธรรมมัน ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว ถ้า ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้วนะ มันก็ไหลไปตามสังคม ไหลไปตามโลก โลกเป็นใหญ่

แต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติของท่านขึ้นมา ท่านทำเป็นแบบอย่าง ถ้าท่านทำเป็นแบบอย่างขึ้นมา ดูสิ เวลาหลวงตาท่านถามถึงว่า เวลาสมัยพุทธกาล พระเขาห่มผ้าสีอะไร เขาห่มกันอย่างไร

หลวงปู่มั่นท่านพยายามฟื้นฟูๆ ฟื้นฟูมาเพื่ออะไร? เพื่อการประพฤติปฏิบัติมันจะได้เข้าถึงสัจจะความจริงไง เวลาเราทำบุญกุศลกันทุกคนจะบ่นว่า “ทำบุญแล้วไม่ได้บุญ บุญมันคืออะไร”

บุญมันคือความสุขใจ บุญมันคือสิ่งที่เรามีความอบอุ่นในหัวใจ ความอบอุ่นในหัวใจ เห็นไหม ถ้าอบอุ่นในหัวใจแล้ว ทำสิ่งใดเราก็ทำได้ของเราด้วยความมั่นคงของเรา เราไม่ตื่นเต้นไปกับโลกเขา ข้างในมันว้าเหว่ มันเร่ร่อน ทำสิ่งใดนะ โลกเป็นใหญ่ๆ ถ้าโลกเป็นใหญ่ มันอยู่ที่การประชาสัมพันธ์ อยู่ที่สังคม สังคมเขาจะชักจูงไปอย่างไรก็ได้ ถ้าเขาชักจูงไปอย่างไรได้ เขายิ่งชักจูงออกไปเท่าไรก็ยิ่งห่างศาสนาไปมากเท่านั้น แต่ถ้าเราทำเรียบง่าย ทำโดยสัจจะความจริงของเรา เราทำเพื่อใครล่ะ

เวลาหลวงตาท่านพูด “เคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วแสดงธรรม เหยียบหัวองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปแล้วแสดงธรรม” เหยียบหัวก็เหยียบหัวข้อวัตรปฏิบัติ เหยียบหัวธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก้าวล่วงกันไปไง แล้วก็เอาทิฏฐิ เอาความเห็นของตัวว่าสิ่งนั้นเป็นใหญ่ แล้วทำสิ่งใดเราก็เห็นว่าสิ่งนั้นมันน่ารื่นรมย์ สิ่งนั้นมันเป็นมหรสพสมโภช เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น...ยิ่งตื่นเต้นเท่าไรมันก็ยิ่งออกไปข้างนอกเท่านั้นน่ะ

ทาน ศีล ภาวนา ระดับของทาน ระดับของทาน เราทำทานของเราด้วยความสงบด้วยความระงับของเรา เราทำด้วยความเป็นจริงของเรา สิ่งที่เราแสวงหามา ได้เงินมา ๑ บาท สลึงหนึ่งเอาไว้เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ สลึงหนึ่งเอาไว้เลี้ยงครอบครัวของเรา สลึงหนึ่งเอาไว้ทำธุรกิจการค้าของเรา ๑ บาทมี ๔ สลึง นี่ ๑ สลึงๆ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้อย่างนั้น ถ้าสอนไว้อย่างนั้น ฝังดินไว้ๆ ฝังไว้ที่ไหน? ก็ฝังไว้ในหัวใจนี้ไง ถ้าหัวใจของเรามีศรัทธามีความเชื่อของเรา เราเสียสละออกไป เสียสละที่เป็นวัตถุนั้นออกไป แต่มันฝังลงไปที่หัวใจของเราไง ถ้าฝังหัวใจของเรานะ ถ้ามันสะอาดบริสุทธิ์ มันเป็นทิพย์

มันเป็นทิพย์ เห็นไหม เทวดา อินทร์ พรหมเขาเกิดเป็นเทวดาของเขา เวลาเขาเสวยทิพย์สมบัติของเขามันเกิดจากที่ไหนล่ะ? ก็เกิดจากที่เขาทำของเขามา นี่ฝังลงดินๆ ฝังลงในหัวใจของเรา ฝังด้วยเจตนาความเชื่อของเราไง ถ้าเจตนาความเชื่อของเราถูกต้องดีงาม

ถ้าเจตนาความเชื่อของเราเชื่อโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ทำสิ่งใดเราก็ต้องให้คนนับหน้าถือตา ทำสิ่งใดก็ต้องให้เป็นกระแสของโลก นี่มันออกไปเรื่อยไง

ฉะนั้น มันเรียบง่ายๆ เรียบง่ายมันเพื่ออะไร? เพื่อหัวใจของเรานี่แหละ

แต่มันทำแล้วมันเป็นการแข่งขัน นี่เขาบอกว่า “เป็นอย่างนั้นๆ”

เขาว่ากันไปนะ ฟังแล้วมันเศร้า มันเศร้าที่ไหน มันเศร้าที่ว่ามันเป็นการตบมือสองข้างระหว่างพระกับผู้ที่เขาศรัทธาของเขา ชื่นชมกันไปๆ ชื่นชมไปไหนน่ะ มันชื่นชมลงไปในทะเล ชื่นชมออกทะเลไปหมดเลย มันไม่ชื่นชมเข้ามา

ดูสิ ของเราทวนกระแส เวลาเราทำของเราขึ้นมา เราเข้าป่าเข้าเขาของเรา เราจะปีนยอดเขาของเรา ปีนยอดเขา ปีนไปต้นน้ำไง ต้นน้ำคือปฏิสนธิจิต ต้นไม้คือหัวใจของเรา ถ้าหัวใจของเรา ถ้าเราเข้าสู่สัจจะความจริงอันนี้ได้มันจะเป็นความจริงของเราขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา ทาน ศีล ภาวนา

ระดับของทาน ทานเพราะอะไร เพราะเวลาเข้าพรรษา พระอยู่ครบพรรษา อยู่ครบพรรษา ครบสงฆ์ขึ้นมา ชาวบ้านชุมชนนั้นได้ถวายผ้า ได้ถวายสิ่งต่างๆ ขึ้นมาเพื่อเป็นวัฒนธรรมประเพณี นี่ไง สิ่งที่มันเป็นระดับของทานๆ ระดับของทาน ถ้าไม่มีพระขึ้นมา ไม่มีการจำพรรษา ไม่มีการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันไม่อบอุ่น ทานของเรามันไม่สมบูรณ์ไง ถ้ามันสมบูรณ์แล้วมันก็สมบูรณ์ในระดับของทานใช่ไหม แล้วในพรรษาพรรษาหนึ่ง ทานแล้วก็ศีล เราถือศีล ไปวัดไปวาไปถือศีล ไปถือศีลก็เพื่ออะไร? เพื่อให้สงบระงับ นี่ไม้ใกล้ฝั่งๆ ไม้ใกล้ฝั่ง ไม้มันจะพังลงแม่น้ำไปแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน ชีวิตเรามันสั้น ตั้งแต่เกิดมาเราทำความมั่นคงในชีวิตของเรา ชีวิตเรา เราก็ทำของเราเพื่อประโยชน์กับชาติตระกูลของเรา แต่สมบัติของเราๆ เวลาทุกข์เวลายากขึ้นมา เราทุกข์เรายากในหัวใจของเรา เวลาทำสิ่งใดประสบความสำเร็จมันก็มีความพอใจ มีความอบอุ่นของมัน ความอบอุ่น เห็นไหม บุญ กุศล อกุศลไง ถ้าเป็นกุศลขึ้นมา เราทำคุณงามความดีของเรา รักษาศีลๆ ก็รักษาหัวใจของเรา

ศีลคือความปกติของใจ ถ้าใจมันปกติขึ้นมาแล้ว ถ้าจิตมันสงบแล้วมีครูบาอาจารย์ท่านคอยชี้แนะ ถ้าเราฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา ถ้าปัญญาของเรา เราเกิดปัญญาของเรา เราศึกษามาจนปากเปียกปากแฉะ สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา เราก็ท่องกันปากเปียกปากแฉะ มันได้แต่ชื่อของมัน มันได้ชื่อของมัน ไม่ได้ความจริง

ถ้ามีครูบาอาจารย์คอยชี้แนะ เรามีความสงบมีความระงับในหัวใจของเรา เราทำบุญกุศลของเราเพื่อบุญกุศลอันนั้น ทำดีเพื่อความดีอันนั้น พอความดีอันนั้นแล้ว ถ้าเรารักษาศีลความปกติของใจเข้ามา ถ้าใจมันปกติขึ้นมา มันสงบระงับ สงบระงับ เราพยายามทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบแล้ว เราฝึกหัดใช้ปัญญาๆ เวลาเกิดปัญญาขึ้นมา เกิดภาวนามยปัญญาขึ้นมา มันรู้แจ้งในหัวใจ แล้วใครจะมาหลอก พระองค์ไหนมันจะมาหลอก

ไอ้พูดอย่างนั้นมันพูดเพื่อลาภเพื่อสักการะ โมฆบุรุษไง ตายเพราะลาภ นี่เพราะลาภสักการะทำให้คนสั่นไหว เพราะการสั่นไหวอันนั้นทำให้มันคลาดเคลื่อนกันไป ถ้ามันคลาดเคลื่อนกันไป

นี่สูงสุดสู่สามัญ สูงสุดขึ้นสู่หัวใจของเรา สูงสุดก็เพื่อความสงบระงับอันนี้ สูงสุดขึ้นมาโดยภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นมาแล้วมันก็เหมือนวิธีการ ภาชนะ ภาชนะใส่อาหารมา อาหารตักจากภาชนะหนึ่งใส่ภาชนะหนึ่ง เกิดภพชาติใดก็ได้ภาชนะหนึ่ง ได้สถานะหนึ่ง สถานะของมนุษย์ สถานะต่างๆ แต่หัวใจๆ ล่ะ หัวใจขึ้นมา

นี่ก็เหมือนกัน ทำบุญกุศลขึ้นมา บุญกุศลสิ่งนี้มันเป็นเนื้อหาสาระในใจ ถ้าเนื้อหาสาระทำสิ่งใดแล้วมันก็ปลอดโปร่ง เราทำแล้วๆ เราทำเพื่ออะไร เราทำเพื่อเป็นบาทฐาน ทำเพื่อจิตเป็นกุศล แล้วถ้าสิ่งต่างๆ เราก็ต้องทำความสงบของใจเข้ามา มันต้องภาวนาของเรา เอาเนื้อหาสาระอันนั้น

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์นั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วิชชา ๓ บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ ถึงเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมา เพราะความเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมา นี่เสวยวิมุตติสุข พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ เราชื่นชมอันนั้น เราชื่นชมสัจธรรมในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรมๆ กราบสัจธรรมอันนั้น แล้วกราบสัจธรรมอันนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เวลาจะออกประพฤติปฏิบัติ มันก็มีความทุกข์บีบคั้น มีกิเลสเหมือนกัน นี่ก็เหมือนกัน เราเกิดมาเป็นสาวกสาวกะ เราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เราก็มีกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจของเราเหมือนกัน กิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจของเราก็ปรารถนา ความปรารถนา ปรารถนาโดยกิเลส ปรารถนาโดยความเหลวไหล

ถ้าความปรารถนาความเป็นมรรค ความปรารถนาเป็นคุณงามความดี นี่เราทำบุญกุศลเป็นวัตถุ มันเป็นวัตถุที่เราแสวงหามา แต่แสวงหามามันมีเจตนา เจตนาอันที่เราเสียสละอันนั้นน่ะ เราเสียสละอันนั้น เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติ เราจะประพฤติปฏิบัติด้วยเจตนาอันนั้น ถ้าเจตนาอันนั้นมันจะย้อนกลับมาเข้าสู่ฐีติจิต เข้ามาสู่ใจของเรา มันต้องมีสติมีปัญญา มีการควบคุมดูแลหัวใจของเราเข้ามา ถ้ามีการควบคุมดูแลหัวใจของเรา หัวใจมันจะย้อนกลับมาที่นี่ไง ถ้าเกิดที่นี่ขึ้นมา เกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดปัญญาขึ้นมา เราจะเห็นภาวนามยปัญญา

ปัญญาที่เราศึกษากันมาปากเปียกปากแฉะ เวลามันเกิดภาวนามยปัญญาขึ้นมา ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่ไม่ต้องการสิ่งใดเลย ปัญญาต้องการสติ ต้องการสมาธิ แล้วเกิดฝึกหัดใช้ปัญญาขึ้นมา มันเกิดจากฐีติจิต มันเกิดจากกำลังของใจ มันเกิดจากการภาวนา มันเกิดจากคุณธรรม คุณธรรมอันนี้ แก่นของศาสนามันอยู่ตรงนี้ แก่นของศาสนา เพราะศาสนามีแก่นอันนี้ขึ้นมา มันถึงมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงมีพระพุทธ พระธรรม แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธัมมจักฯ พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรกของโลกไง นี่หัวใจของมัน มันอยู่ที่สัจธรรมอันนั้น การทำบุญกุศลก็ทำเพื่อสร้างอำนาจวาสนาบารมีเรานี่แหละ แต่ทำแล้วมันเป็นส่วนประกอบไง คำว่า “อำนาจวาสนาบารมี” จริงๆ แล้วมันก็เข้ามาสู่หัวใจของเรา

เราไปทำบุญกุศลที่ไหนก็แล้วแต่ มันจะอึกทึกครึกโครมขนาดไหนก็แล้วแต่ ต่างคนต่างสงบระงับ ต่างคนต่างรักษาใจของตน แล้วเวลาใจของตนมันสำเร็จขึ้นมาในหัวใจของตนขึ้นมา คนคนนั้นก็เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ถ้าเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา นี่เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เป็นศาสนทายาท เป็นผู้ที่เป็นหลักเป็นชัยในศาสนา ในศาสนาไง มันมีหลักมีชัยขึ้นมา มันมีแก่นมีสาร ไม่ใช่ไหลกันไปๆ ไหลกันไปจน...

นี่ไง เวลาชาวไทยไปอยู่เมืองนอก จะย้อนกลับมาดูสังคมไทยแล้วก็สังเวชทุกทีเลย เป็นสังคมอุปถัมภ์ มันเป็นสังคมอุปถัมภ์ มันเป็นความเชื่อ มันเป็นต่างๆ ขึ้นมา อันนี้มันเป็นวัฒนธรรม เราก็ไม่ได้มองด้วยความเหยียดหยามนะ เราก็ไม่ได้มองว่ามันจะเป็นอย่างนั้น แต่มันควรจะพัฒนา มันควรจะมีวุฒิภาวะขึ้นมาในหัวใจของเราไง ถ้าหัวใจมันมีวุฒิภาวะ มีปัญญาขึ้นมา เรามองแล้วเรามีจุดยืน เราไม่ไหลไปตามกระแส

เราก็ทำกับเขานั่นแหละ ข้าวก็คือข้าวนี่แหละ แต่เราจะเอาข้าวมาทำอะไร ข้าวนี่ ข้าวเราทำอะไร เอามาเป็นข้าวต้ม เอามาเป็นข้าวสวย เอามาเป็นเส้นหมี่ เอาไปทำ ข้าวทำขนมจีนก็ได้ ข้าวทำได้หลายอย่างเลย

ใจของเรา ใจของเราจะทำอะไร เอามาทำอะไร แล้วทำเพื่อประโยชน์กับใคร เราทำประโยชน์ตรงนี้ไง หัวใจสำคัญมากนะ เหมือนข้าว อาหารทุกอย่างทำมาจากข้าว เพียงแต่เราจะแปรรูปให้มันเป็นอาหารอะไรขึ้นมา นี่ก็เหมือนกัน วิธีการไง วิธีการ เราจะค้นหาความจริงของเราขึ้นมา ความจริงอันนี้เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกนะ

เดี๋ยวเทศน์เสร็จแล้วโยมทานอาหารกัน พอใครทานอาหารเข้าไป เวลาเข้าลงไปกระเพาะแล้วอิ่มหนำสำราญก็เป็นของเราใช่ไหม นี่ไง ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครมีปัญญา ใครมีปัญญา ปัญญาย่อยสลาย แล้วพยายามฝึกฝนขึ้นมา มันจะเป็นปัญญาของเราไง มันเป็นปัญญาของเรา จิตมันได้สัมผัส กิจจญาณ สัจจญาณ มีการกระทำขึ้นมา

เราเชื่อโดยที่ไม่ทำอะไรเลย เวลาบอกว่าเทศน์เสร็จแล้วให้โยมทานข้าว ไอ้บางคนก็บอกว่า “ฉันทานมาแล้ว ฉันนั่งเฉย” มันก็ไม่ได้อะไรเลยเหมือนกัน นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เราย่อยสลาย เราใช้ปัญญาของเราขบคิด ขบคิดแล้วพิจารณา ทำไมเขาทำกันอย่างนั้น ถ้ามันไม่ดี ทำไมคนมันเยอะ เขาว่าที่ไม่ดี ทำไมคนมันเยอะ เยอะมากเลย

เยอะเพราะมันตื่นคน เวลาคนมันตื่นมันชอบอย่างนั้นน่ะ เวลาเราจะค้นหาความจริง ดูเวลาไปงานทำบุญสิ โอ๋ย! คนเยอะแยะเลย เวลาจะให้ภาวนาเหลือ ๒ คน นอกนั้นกลับบ้านหมด เวลาให้นั่งภาวานาเหลือ ๒ คน หายเกลี้ยงเลย

เวลาภาวนานั่นแหละของจริงนะ ภาวนาก็กินข้าวไง เราจะเอาเข้าสู่ใจของเราไง พุทโธๆๆ เห็นไหม พุทโธๆ เหมือนกับตักอาหารเข้าปาก พุทโธๆๆ มันตักข้าวได้ไหมล่ะ อาหารมันตักเข้าปาก มันก็ได้เคี้ยวกินใช่ไหม ไอ้นี่พุทโธเท่าไร พุทโธแล้วยิ่งเครียด พุทโธแล้วไม่สงบสักที ไหนว่าตักอาหารเข้าปากไง

พุทโธคือคำบริกรรมไง คำบริกรรมให้จิตนี้มันสงบระงับ ให้มันเป็นความจริงขึ้นมา ถ้ามันเป็นความจริงได้มันเป็นความจริงนะ

มันดูแล้วมันสังเวช มันสังเวช เวลาข่าวลือก็ลือกันไป พอลือกันไปอย่างนั้นมันไหลไปเรื่อยๆ ไง พอไหลไปเรื่อยๆ นี่เวลาฟื้นฟูๆ กึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง เจริญที่ไหนล่ะ มันก็เจริญในหัวใจของครูบาอาจารย์ของเรา

เราศึกษานะ เราศึกษาทางประวัติศาสตร์ ศึกษาต่างๆ ก่อนที่กึ่งพุทธกาล ก่อนที่ตั้งแต่อยุธยาแตก มันเป็นก๊กเป็นเหล่า ก๊กพระยาฝาง ก๊กต่างๆ กว่ามันจะฟื้นฟูศาสนา พอฟื้นฟูศาสนา คนเราบ้านแตกสาแหรกขาด ใครจะมาดูแล ต่างคนต่างเอาชีวิตรอด โอ๋ย! มันกระสานซ่านเซ็นนะ บ้านแตกสาแหรกขาด กว่าพวกเราจะรวบรวมตัวกันขึ้นมาได้ แล้วรวมตัวขึ้นมาได้นะ ผู้นำที่ดีมากลั่นมากรองขึ้นมา แล้วคัดเลือก คัดเลือกขึ้นมานะ ถึงเวลาแล้วหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านก็มาค้นคว้าในใจของท่านขึ้นมา แล้วพอเป็นความจริง ถ้าไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้นึกว่าเราโตมาพบพระพุทธศาสนาแล้ว ศาสนานี้เป็นหน้าที่ของพระ พระก็ฟื้นฟูกันมาสิ

แต่เวลาอยู่ในวงการพระ พิธีกรรมต่างๆ กว่าจะได้มาแต่ละชิ้นแต่ละอัน แม้แต่ กปฺปิยํ กโรหิ สมัยหลวงปู่มั่น พระผู้ใหญ่ไม่ให้ทำทั้งนั้นน่ะ มันมาสำเร็จสมัยหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ฝั้นไปเปิดในพระไตรปิฎกให้สมเด็จมหาวีรวงศ์ท่านดู บอกเห็นไหมมันอยู่ในพระไตรปิฎก สุดท้ายของมัน ถ้าเป็นเม็ดพริกไทย มัน กัปปิไม่ได้ก็ให้ใช้เข็มจี้ นี่กว่ามันจะได้มาแต่ละข้อที่จะฟื้นฟูขึ้นมา ไปศึกษาแล้วมันเห็นแล้วมันมีคุณค่าไปหมดล่ะ

แต่เวลาเดี๋ยวนี้เราจะเชื่อใครล่ะ เชื่อกระแสนะ กระแสเข้ามาเพราะอะไร เพราะเห็นเข้ามาแล้วมันได้ผลประโยชน์ใช่ไหม ถ้าทำอย่างนี้เชื่อฉันๆ ก็เป็นกลุ่มเป็นก้อนขึ้นมา แล้วก็ทำตามๆ กันไป แล้วค้นคว้าสิ ย้อนกลับไปในพระไตรปิฎก ย้อนกลับไปต้นขั้ว มันมีอยู่ตรงไหนล่ะ ตรงไหนสอน ตรงไหนบอก ตรงไหน พระพุทธเจ้าบอกไว้ตรงไหน

แล้วถ้าบอกว่า “อ้าว! ก็นี่มันบ้านแตกสาแหรกขาด ก็เพิ่งมาเก็บรวบรวมมา มันยังไม่ชัดเจนหรอก มันก็ยังเชื่อถือไม่ได้”

เชื่อถือไม่ได้ เราเป็นสุภาพบุรุษ เราก็เอามาสิ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เราคุยกันด้วยเหตุด้วยผลสิ เราอย่าว่าพวกมากลากไป แล้วเราทำแล้วมันพอใจ พอใจเราก็จะเอา กาลามสูตร พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว อย่าเชื่อว่าเป็นครูบาอาจารย์ของเรา ท่านพูดสิ่งใดเราก็ฟัง ฟังแล้วเราก็ค้นคว้าของเรา มันเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนขนาดนั้นนะ กาลามสูตร อย่าเพิ่งเชื่อ มีข้อมูลอย่างใด รับฟัง แล้วเรามาวินิจฉัย แล้วว่ามันเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง ค้นคว้าได้ ประวัติศาสตร์เราค้นคว้าได้ มันมีตำรับตำรา มันมีวัฒนธรรม จดหมายเหตุ ค้นคว้าได้ทั้งนั้นน่ะ เขาค้นคว้ากันได้เป็นล้านๆ ปี ไดโนเสาร์ ดูสิ เขาเอามาวิเคราะห์วิจัยกัน ฟอสซิลเขายังคำนวณอายุมันได้เลย แล้วนี่พอมันเจริญแล้ว พอมันเจริญแล้วเราต้องเจริญอย่างนี้ เจริญด้วยสติปัญญา อย่าเชื่อตามๆ กันไป

นี่สิ่งที่ทำ สิ่งที่ทำเรียบง่าย พระพุทธเจ้าสอนให้เรียบง่ายนะ ชีวิตเราขอให้เรียบง่าย ขอให้มีความสุข ไม่ต้องไปเฟื่องฟู เฟื่องฟูส่งออกทั้งนั้นน่ะ มีมากมีน้อยขนาดไหนเราเจือจานสังคม เพื่อประโยชน์สังคม เพื่อความร่มเย็นเป็นสุข แล้วเรารักษาหัวใจของเรา ดูแลใจของเรา ถ้าใจของเรามันมีคุณธรรมขึ้นมา มันมีคุณค่า

เพชรนิลจินดา สิ่งที่มีน้ำดีขนาดไหนก็มีคุณค่ามากขนาดนั้น หัวใจของคนถ้ามันใสมันสะอาดขึ้นมาด้วยการกระทำ มันมีคุณค่าตรงนั้น มันมีคุณค่าตรงนั้น เป็นศาสนทายาท เป็นหลักเป็นชัย แล้วมันมีคุณธรรมในใจ ถ้ามีคุณธรรมในใจ ไม่ตื่นในโลกธรรม ๘

โมฆบุรุษตายเพราะลาภ โมฆบุรุษเห็นลากสักการะแล้วสั่นไหวหัวใจ แล้วเอาโลกเป็นใหญ่ ตามเขาไปหมดเลย นั้นเป็นโมฆบุรุษ เอวัง