มรรคผล
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๘
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “ถามปัญหามรรคครับ”
กราบเรียนหลวงพ่อที่เคารพ กระผมขอเล่าการภาวนาก่อนดังนี้ กระผมภาวนาทำความสงบของใจตามหนังสือวิธี การสร้างบุญบารมีขององค์สมเด็จพระสังฆราชที่ท่านได้แต่งไว้ กระผมเอากายคตาสติกรรมฐาน จากกรรมฐาน ๔๐ กองมาทำอารมณ์ โดยวิธีปฏิบัติดังนี้
กระผมนั่งหรืออยู่ในอิริยาบถใดๆ ก็ตาม เว้นแต่นอนหลับนั้น กระผมใช้ความคิดพิจารณาอยู่ในกายคตาอย่างเดียว คือให้ ระลึกคิดอยู่ในกาย คือไม่ให้ความคิดนี้คิดไปเรื่องอื่น เรียกว่า มีสติในกายคตากรรมฐาน
กระผมรู้และเข้าใจว่า ความคิดที่คิดเริ่มแรกนี้เป็นการคิดเอานึกเอาในกาย มันคือปัญญาแบบโลกียะ ไม่ใช่ปัญญามรรค เพราะผลของการคิดแบบนี้คืออารมณ์สมถะ การทำความสงบ ของใจให้เกิดขึ้น กระผมคิดอยู่ในอารมณ์นี้ตลอดเวลาจนหลับ
ยิ่งคิดมากเท่าไร ความคิดมันก็คิดๆๆ คิดเองจนเป็นความคิดอัตโนมัติ เกิดความสุขเย็นใจเป็นอย่างมากตลอดระยะเวลา ๓ เดือน ผมคิดอยู่อย่างนี้อย่างเดียว เหมือนความคิดนี้สามารถบังคับได้เลย คือบังคับให้คิดก็ได้ ไม่ให้คิดก็ได้ และก็เกิดความสุขใจตลอดเวลาคิดกายคตา
คืนนั้นกระผมสวดมนต์เสร็จ กระผมนั่งภาวนา และผมนอนหลับประมาณหัวรุ่ง แต่ยังไม่สว่าง ประมาณตี ๓ ผมฝันว่า ผมยืนห่มผ้าคลุมจีวรห่มไหล่อยู่บนบ้านไม้ที่ใต้ถุนยกสูง เป็นบ้าน มีรั้ว ผมเดินลงจากบ้านไปที่ประตูรั้ว มีผู้หญิงคนหนึ่งประมาณ วัยกลางคนมายืนขวางทางประตูรั้วไว้ พร้อมกางแขนสองข้างออก ไม่ให้ผมเดินออกไป ผมเลยพูดขึ้นว่าออกไปนะ จากนั้นหญิงนั้นก็ ค่อยๆ เปลี่ยนหน้าตากลายเป็นหน้าเละ เป็นหน้าเน่าน้ำเหลืองเยิ้ม
ผมเลยสวดมนต์ นะโม ตัสสะ ร่างของผมค่อยๆ ลอยขึ้นและเหยียบหัวผีตนนั้น ผมก็สะดุ้งตื่นขึ้นมา ผมนอนอยู่ในกุฏิหิน อยู่ในป่าบนภูเขา เหงื่อแตกพลั่กๆ ผมย้อนนึกถึงความฝัน เหมือนเหตุการณ์ความจริงมาก จำได้ติดตาติดใจเลยครับ
วันนั้นหลังจากฝันแล้ว ตอนสายๆ วันนั้นผมเริ่มนั่งนึกย้อนคิดเห็นถึงการณ์เมื่อคืนที่ฝันนั้น ปรากฏว่าเกิดความรู้สึกเหมือนความรู้สึกทางเพศขาด (แต่จริงมันไม่ขาด เพียงสงบระงับ) เป็นทางยาวจากบริเวณหัวอกด้านซ้าย ผ่านช่องทางสู่อวัยวะเพศ เกิดความรู้สึกเสียงดังวูบที่กลางอกซ้ายลงไปลึกมากเหมือนตกลงเหว แล้วค่อยๆ ปรากฏความสว่างไสวเหมือนดวงไฟนีออน เกิดความสุขสดชื่นเป็นอย่างมาก ทั้งคิดกายคตาสติครั้งนี้เกิดความผ่องใสอย่างมากที่สุขสุดๆ ครับ
ต่อไปเป็นคำถาม ผมถาม ๒ ข้อครับ
๑. เมื่อจิตรวมลงสู่สมาธิ พอมันคลายตัวออกสู่อุปจาระ คือสามารถคิดได้แล้วเราก็นึกไปถึงกาย ให้เห็นกายปรากฏเป็นภาพ แต่ถ้านึกแล้วไม่ปรากฏภาพไม่ปรากฏกาย แต่ถ้าปรากฏเป็นภาพศพแทนหรือผีแทนแบบนี้เป็นมรรคหรือไม่ ถูกต้องตามหลักการพิจารณาอริยสัจหรือไม่ และแบบนี้เรียกว่าเป็นวิปัสสนาหรือไม่
๒. กระผมขอยืนยันว่าจิตนี้เป็นรูปธรรม ไม่ใช่นามธรรมตามที่เขาเข้าใจกัน เพราะจิตสามารถจับต้องได้ เพราะจิตมันมี ลักษณะผ่องใส สว่าง เหมือนดวงไฟ ผมเข้าใจแบบนี้ผิด หรือเห็นแย้งกับหลักการหรือไม่
ตอบ : นี่คำถามเนาะ คำถามนี้มันแปลก มันแปลกที่ว่าคำถาม เขาถามมาเรื่องมรรคนะ แต่เขาเขียนว่า คนผู้ถามว่าปิดนาม พอปิดนาม เวลาพูดไป เขาถามเรื่องมรรค เรื่องการประพฤติปฏิบัติ แต่การประพฤติปฏิบัติ เราจะอธิบายต่อไป
แต่คำถามนี่มันจะปิดอย่างไรก็แล้วแต่เนาะ แต่มันก็ชี้ให้เห็นว่า หนึ่ง เวลาเขาภาวนา เขาต้องเป็นพระ เพราะเขาบอกว่าเขาอยู่บนกุฏิ อยู่ในป่า แต่เขาบอกเขาก็ปิดนาม แต่ผู้ถามนี่น่าจะเป็นพระ เพราะน่าจะเป็นพระ เพราะว่าเขาสวดนะโม ตัสสะ
ฉะนั้น เวลาถามว่าเป็นโยมหรือเป็นพระนี่อีกเรื่องหนึ่ง แต่คำว่า “ปิดนาม” ปิดนามปิดของเขา เวลามันถาม ถามเรื่อง เวลาพูดนะ มันพูดได้ มันคิดได้ เพราะว่าเวลาเราจะประพฤติปฏิบัติ ศีลมันต้องบริสุทธิ์ไง ถ้าศีลมันบริสุทธิ์ใช่ไหม ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ถ้าศีลมันบริสุทธิ์นะ เวลาถามจะเป็นพระหรือเป็นโยมใครๆ ก็ถามได้ แต่เวลาถามไปแล้ว ถ้าถามสัจจะความจริงอย่างไร มันก็เป็นความจริงได้ แล้วพูดถึงเวลาปฏิบัติ อยากว่าเป็นมรรคๆ เป็นมรรคมันก็เป็นมรรคโดยความจริง แต่ถ้ามันเป็นมรรคโดยความนึกเอา วิปัสสนึก วิปัสสนึกไง
ถ้าเป็นมรรคแล้วผล ผลมันจะเกิดขึ้น แล้วคนที่ประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงนะ เริ่มต้นเขาเรียกว่าปุถุชนคนหนา ปุถุชนคนหนาเราพิจารณาสิ่งใด ทำสิ่งใดมันติดขัดไปหมดล่ะ มันติดขัดไปหมด แต่เราต้องพยายามฝืนทนของเรา เราต้องพยายามปฏิบัติของเรา เห็นไหม
ถ้าเราปฏิบัติของเราด้วยประสบการณ์ของเรา ถ้าประสบการณ์นะ รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร โดยธรรมชาติของเรา ยิ่งถ้าเราปฏิบัติด้วยความคิดเราของเราไง ว่าเรารู้เท่าทันหมด รูป รส กลิ่น เสียง เรารู้เท่าทันหมดล่ะ
แต่เวลารูป รส กลิ่น เสียงนะ มันรูป รส กลิ่น เสียงต่อเมื่อจิตใจถ้าเราดีนะ รูป รส กลิ่น เสียง มันก็รบกวนจิตใจของเราไม่ได้ แต่ถ้าจิตใจเราอ่อนแอ สติเราอ่อนแอนะ เวลารูป รส กลิ่น เสียงขึ้นมา เราเคลิบเคลิ้มไปกับมันเลย
เราจะบอกว่า เวลาคนจิตใจเข้มแข็งขึ้นมา เวลาเขาบอกว่า เขารู้เท่าทันรูป รส กลิ่น เสียง เขาคิดว่าเขามีคุณธรรมไง แต่ ความจริงมันไม่ใช่ มันไม่ใช่เพราะอะไร
เพราะจิตใจของคนเดี๋ยวมันก็เจริญ เดี๋ยวมันก็เสื่อม เวลามันเจริญขึ้นมา มันรู้เท่าสิ่งใดมันก็ว่ามันองอาจกล้าหาญไปทั้งนั้นน่ะ เวลาจิตใจมันเสื่อมนะ เสียงแค่เสียงเด็กๆ มันก็สะเทือนหัวใจแล้ว นี่รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เวลาถ้าเป็นปุถุชนคนหนาสิ่งนี้มันจะก้าวข้ามได้ยาก
แต่เราฝึกหัด ฝึกหัด อย่างฝึกหัดที่ภาษาเรานี่ที่เราล้มลุกคลุกคลานกันอยู่นี่ เวลาเราฝึกหัด เราทุกข์เรายากกันอยู่นี่ เรา ก็ฝึกหัดเพื่อให้จิตใจเราเข้มแข็งไง จิตใจเราเข้มแข็ง จิตใจเรามีเหตุผล จิตใจเราแยกแยะได้ขึ้นมามันจะรู้เท่าทัน เห็นไหม พอมันรู้เท่าทัน รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มันรู้เท่าทันมันก็วางไง พอมันวางขึ้นไปมันก็เข้มแข็ง ขึ้นมา ถ้ามันทำสมาธิมันก็ทำสมาธิได้ง่าย เขาเรียกกัลยาณปุถุชน ถ้ากัลยาณปุถุชนทำสิ่งใดขึ้นมาก็เป็นประโยชน์ไง
ถ้าเป็นประโยชน์ขึ้นมา เห็นไหม ถ้าทำความเป็นจริง คนที่ฝึกหัดประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จะเป็นฆราวาส จะเป็นพระปฏิบัติได้เหมือนกัน แล้วทำได้เหมือนกัน พอทำได้แล้ว เพราะมันมีคุณสมบัติมันอยู่ที่ใจนั้น คุณสมบัติมันไม่อยู่ที่เพศ เห็นไหม เวลาถึงเพศนะ เพศหญิง เพศชาย สมาธิมีหญิงมีชายไหม เวลามรรคผลมีหญิงมีชายไหม นางอุบลวรรณาเป็นพระอรหันต์ เป็นเอตทัคคะ เป็นนางภิกษุณี เป็นผู้หญิงเหมือนกัน มีฤทธิ์มีเดชเหมือนกัน เวลาทำไปแล้ว ไอ้เพศมันเกิดมาแล้ว สถานะเราแยกเพศที่นี่
นี่ก็เหมือนกัน เพศนักบวช ถ้าเพศนักบวช ทีนี้เขาถามว่า ปัญหาของมรรค สิ่งที่เขาถามมา “ปัญหาของมรรค เขาบอกว่าศึกษาในหนังสือของสมเด็จพระสังฆราช เวลาเขาทำไปแล้วเขาคิดอย่างนั้น คิดเป็นเดือนๆ เลย เวลาคิดแล้ว คิดแล้วมีความสบายใจ มีความสุขใจ”
นี่ไง ถ้าเรากำหนดพุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราตรึกอยู่ในธรรม จิตใจของเราคบธรรมะ คบองค์สมเด็จพระสัมมา-สัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราตรึกในธรรม ตรึกในธรรมอยู่ตลอดเวลาไง
“เขาบอกคิดอยู่ ๓ เดือน อู้ฮู! มีความสุขมาก มีความสุขมาก”
ถ้าเขาคิดอยู่ ๓ เดือน ถ้ามันคิดอยู่ ๓ เดือนมีความสุขมาก มันมีประโยชน์ไง มันมีประโยชน์ เพราะว่าเราตรึกในธรรม แต่เวลามันเสื่อมล่ะ ถ้ามันเสื่อมขึ้นมา เวลามันมีปัญหาขึ้นมา มัน เป็นปัญหาไปหมดล่ะ
ฉะนั้น เขาบอกว่า “สิ่งที่เขาทำนี่มันเป็นมรรคหรือไม่เป็นมรรค”
สิ่งที่เขาทำ เวลาเขาตรึกในธรรมๆ ไอ้กรณีนี้มันเป็นกรณีเราฝึกหัดเริ่มต้น เวลาฝึกหัดเริ่มต้นที่เราคิดธรรมะขององค์สมเด็จ- พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คิดถึงธรรมะขององค์สมเด็จสังฆราช แล้วเราคิดอยู่แล้วมีความสุข นี่ปัญญาอบรมสมาธิ เราอยู่ในปัญญา
ทีนี้ปัญญาอบรมสมาธิแล้ว เวลามันกล่อมเกลาหัวใจใช่ไหม ทีนี้พอมันดีขึ้นมานี่ฝันแล้ว เวลาฝันไง ฝันว่าเห็นว่าตัวเองห่มผ้า อยู่ในเขา ถ้าอยู่ในเขา ถ้าอยู่ในเขานี่เห็นไหม เขาบอกว่า “เขานอนสะดุ้งตื่น ผมนอนอยู่ในกุฏิหิน อยู่ในป่าบนภูเขา เหงื่อแตกพลั่ก ผมนอนอยู่บนกุฏิหิน อยู่บนเขา เหงื่อแตกพลั่กๆ เลย”
ถ้าเหงื่อแตกพลั่กๆ เวลามันไปรู้ไปเห็นสิ่งใดถ้ามันตกใจ ถ้ามันตกใจ คนเรานี่ถ้าเราธุดงค์มาก่อน เวลาครูบาอาจารย์ท่านธุดงค์มา เขาบอกว่าศีลมันคุ้มครองได้ สีเลน สุคติํ ยนฺติ ศีลทำ ให้สงบระงับ สีเลน โภคสมฺปทา ศีลทำให้เกิดโภคทรัพย์ ศีลทำ ให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์เลย ศีลนี่ถ้าศีลมันสะอาดบริสุทธิ์นะ ถ้าศีลมันสิ่งใด เวลาฝัน เวลาสิ่งใดมันจะรู้ไง ศีลด่างพร้อย ศีลต่างๆ ฉะนั้น เวลาอยู่ในป่าในเขา ศีลนี่สำคัญมาก
อย่างเมื่อวานพูดเรื่องสติ สติก็สำคัญ ศีลก็สำคัญ ทุกอย่างสำคัญ แต่จริงๆ แล้ว ศีล สมาธิ ปัญญา เวลาฝึกหัดขึ้นมาแล้วมันสมดุล คำว่า “สมดุล” มัชฌิมาปฏิปทา เวลามรรคมันรวมตัว รวมตัว มันรวมตัวอย่างไร
ฉะนั้น เวลาที่เราประพฤติปฏิบัติกันอยู่นี่มันเริ่มต้นจาก การฝึกหัด จริตนิสัยเห็นไหม ชาวนา ชาวนาชำนาญเรื่องของชาวนา ชาวไร่ ชาวไร่ชำนาญเรื่องการทำไร่ ชาวประมง ชาวประมงชำนาญในการทำประมง
นี่ก็เหมือนกัน จิตใจของคนที่มันมีจริตนิสัย มีความชำนาญ ถ้ามีความชำนาญ ใครทำอย่างไร ทำตามความชำนาญของตน แต่ความชำนาญแล้ว เราทำสิ่งใดก็แล้วแต่ ทำสินค้าทุกอย่างเสร็จแล้วเราต้องไปขาย ขายแล้วเราถึงได้เงินมาใช่ไหม ทำทุกอย่าง
เราทำมันจะเป็นศีล จะเป็นสมาธิ จะเป็นปัญญา จะหนักในทางสติ เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ จะทำสิ่งใดก็แล้วแต่ เวลามันจับต้องได้ จับต้องเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง มันจะเริ่มเกิดมรรค เกิดมรรคพิจารณาไปแล้ว เวลามันสมดุล สมดุลมันมรรคสามัคคี มรรคญาณอันเดียวกัน เวลาถึงที่สุดแล้วอริยสัจเป็นอันเดียวกัน
ฉะนั้น เวลาพระอริยบุคคลถึงหลอกกันไม่ได้หรอก บางคน จะบอกว่าเป็นจริตเป็นนิสัยจะทำอย่างไร ไอ้นั่นมันเป็นวิธีการ วิธีการ เราไม่โต้แย้ง วิธีการ ชาวนาเขาชำนาญในการทำนา เขาขายแล้วเขาได้เงินเหมือนกัน ชาวไร่ ชาวไร่เขาทำไร่ของเขาเสร็จแล้ว เขาจบแล้ว เขาไปขาย เขาได้เงินเหมือนกัน ชาวประมงทำประมงเสร็จแล้ว เขาขายขึ้นมา เขาก็ได้เงินเหมือนกัน
อริยสัจไง สุดท้ายแล้วมันมาจบลงสัจจะความจริงอันเดียวกันนั่นน่ะ ทีนี้สัจจะความจริงอันเดียวกันมันถึงจะเป็นความจริงอันนี้ นี่พูดถึงความจริงนะ
ฉะนั้น บอกที่เขาฝัน ถ้าเขาฝัน เวลาฝันนะ ฝันมันควบคุมไม่ได้ เหมือนคนฝัน สติมันขาด มันก็ฝันของมันไป ฉะนั้น เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เขาบอกว่าเขาปฏิบัติดีอย่างนั้นๆ เวลาถามว่าแล้วปฏิบัติอย่างไร มันดีตอนฝันน่ะ ตอนนั่งภาวนาไม่เคยเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าฝันเป็นทุกทีเลย
ฝัน เห็นไหม ขาดสติ ก็เหมือนความคิดนี้ หลวงตาใช้คำว่า “ฝันดิบ ฝันสุก” ฝันดิบๆ ก็เราคิดนี่ฝันดิบ ความคิด ความกังวล ความเพ้อเจ้อ นี่คือความเพ้อฝัน นอนหลับไป ฝันนั่นน่ะ ฝันสุกๆ เลย มันฝันจริงๆ เลย ฉะนั้น ถ้าฝันจริงๆ ความฝันมันก็เกิดจากขันธ์ ๕ เกิดจากความคิด ความปรุง ความแต่งในจิตนั่นแหละ ความฝัน แต่เวลาเรามีสติสมบูรณ์ เวลาความคิดนี่ฝันดิบๆ เลย ฝันเรื่องอะไรก็ได้ จะฝันอย่างไรก็ได้ นี่ความเพ้อฝัน
ฉะนั้น เราถึงต้องทำความสงบของใจเข้ามาไง ถ้าจิตมันสงบแล้วมีสติปัญญาขึ้นมา มันสมบูรณ์ของมัน ถ้าสมบูรณ์เวลา จิตสงบแล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ตามความเป็นจริง อันนั้นถึงจะเป็นวิปัสสนา อันนั้นถึงจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ ต่อเมื่อจิตมันสงบจิตระงับนี่เป็นสติปัฏฐาน ๔ จริง จริง เพราะว่า จิตมันรู้มันเห็นตามความเป็นจริง สติปัฏฐาน ๔ จะเป็นความจริงเมื่อจิตสงบแล้ว จิตเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง
แต่จิตไม่สงบ ฝันดิบ ความเพ้อฝัน ความเพ้อฝันเพราะอะไร เพราะเป็นความคิดอยู่แล้ว ความเพ้อฝัน อ้าว! ความเพ้อฝันไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันเป็นความจริงไหม เพราะมันเป็นความเพ้อฝันมาตั้งแต่ต้น ถ้ามันเป็นความเพ้อฝัน มาตั้งแต่ต้น มันก็เป็นวิปัสสนึกตั้งแต่ต้น
ถ้าวิปัสสนึกตั้งแต่ต้นมันก็เป็นความวิปัสสนึก นึกตลอดไป แล้วบอกว่า“ปฏิบัติตามแนวทางสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็น จริง สติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง” จริงโดยกิเลสไง จริง โดยความเพ้อฝัน จริงโดยความเพ้อเจ้อ
แต่ถ้ามันจะเป็นความจริงนะ เรากำหนดนะ กำหนดพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ จิตสงบจริงๆ ไม่ใช่ฝันแบบนี้ ฝันแบบนี้เป็นฝัน แต่ถ้าเวลาเป็นความจริงนะ พอจิตมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง การเห็น เห็นโดยที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ สติสัมปชัญญะสมบูรณ์มันถึงควบคุมดูแลจิตเราให้เป็นสัมมาสมาธิ
จิตที่เป็นสัมมาสมาธิคือมันวางอารมณ์ทั้งหมด วางความคิดทั้งหมด มันเป็นอิสรภาพของมัน เพราะเป็นขณิกสมาธิ อุปจาร- สมาธิ อัปปนาสมาธิ มันเป็นอิสระ อิสระนี้มันไม่ได้อยู่ใต้ของสมุทัย ไม่อยู่ใต้ของกิเลส มันถึงเป็นอิสระชั่วคราว ถ้าการที่เข้าสมาธิ สมาธินี่คือเป็นอิสระ ถ้าเป็นอิสระมันเป็นจิตที่มีกำลัง พอจิตที่มีกำลัง เห็นไหม มันเป็นอิสระ ไม่อยู่ในการครอบงำของสมุทัย ไม่อยู่ในการครอบงำของครอบครัวของมารชั่วขณะหนึ่งๆ
ถ้ารำพึงไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง เห็นไหม ถ้าเห็นเป็นจริงๆ มันสะเทือนหัวใจ มันสะเทือนเพราะเราสมบูรณ์ จิตเราสมบูรณ์ ถ้าเราสมบูรณ์แล้วเราจับต้องโดยสมบูรณ์ เหมือนคนที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เหมือนเรามีตังค์ เราจะใช้เงินของเราด้วยความสมบูรณ์ ไม่ใช่ว่าเราคนเมากินเหล้าเมาแป้เลยแล้วมีเงินจะแจก จะแจกๆ เวลาคนเมามันจะแจกตังค์
แต่คนที่มีสติสมบูรณ์ เราซื้อสินค้าสิ่งใด เราก็ใช้จ่ายโดยมูลค่าของมันตามความเป็นจริงไง เราเป็นคนใช้จ่าย เรามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ จิตที่เป็นสัมมาสมาธิมันมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ มันจะรู้มันจะเห็นอะไร มันสะเทือนหัวใจมาก สะเทือนกิเลสมาก ถ้ามันสะเทือนกิเลส นั่นน่ะสติปัฏฐาน ๔ โดยตาม ความเป็นจริง
สติปัฏฐาน ๔ โดยความจอมปลอม สติปัฏฐาน ๔ โดยความนึกเอา สติปัฏฐาน ๔ โดยความเพ้อฝัน คนเมาไง แจกตังค์ แจกตังค์ อยากดัง แจกตังค์ สติปัฏฐาน ๔ อย่างนั้นหรือ อย่างนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ นี่พูดถึงว่าเวลาเขาฝันไง ความฝัน ความฝัน ฝันสิ่งใดก็ได้ ความฝันนะ
ความฝันถ้าเอามาเป็นประโยชน์นะ หลวงตาท่านจะออกประพฤติปฏิบัติครั้งแรก ท่านบอกว่าท่านอยากปฏิบัติครั้งแรก ท่านก็ตั้งอธิษฐานว่า ท่านออกปฏิบัติแล้วมันจะประสบความ สำเร็จหรือไม่ ท่านบอกท่านจะอธิษฐานเอา นั่งสมาธิ ขอให้ เข้ามาในสมาธิ จะเป็นสิ่งใดก็ได้ ขอให้บอกว่าท่านออกประพฤติปฏิบัติจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แล้วถ้ามันเห็นไม่ได้ ถ้า เดี๋ยวภาวนาเต็มที่ไม่เห็น ให้นอนฝันก็ได้ เวลาท่านนั่งภาวนาหลายชั่วโมงมันไม่สงบ มันไม่เห็น ท่านก็นอนหลับไป
พอนอนหลับไป ท่านฝัน ฝันว่า ท่านเหาะขึ้นไปบนมหานคร ๓ รอบ ท่านฝัน แล้วความฝันอันนั้นน่ะฝังใจท่านตลอด จนท่านออกประพฤติปฏิบัติ เพราะท่านอธิษฐานว่า ถ้าท่านออก ประพฤติปฏิบัติ ถ้ามันจะประสบความสำเร็จ ขอให้ได้มีคติธรรมมาเตือน หรือมีความฝันให้มาบอก
แล้วเวลาท่านนอนหลับไป ท่านฝันจริงๆ ฝันว่าท่านเหาะลอยขึ้นไปบนมหานคร แต่ไม่ใช่กรุงเทพมหานคร ท่านฝัน ท่านเหาะขึ้นไปบนมหานคร กามภพ รูปภพ อรูปภพไง ๓ รอบ ความฝันอันนี้มันฝังใจท่านว่าท่านออกประพฤติปฏิบัติแล้วท่านจะมีหนทางไปได้ มันเป็นกำลังใจมาตลอด
เราบอกว่า ถ้าความฝัน ฝันแล้วมันจะเป็นประโยชน์ เราเอามาเป็นประโยชน์ ไม่ใช่ฝันแล้วเอามาสั่นคลอนหัวใจของตน ฝันแล้วเอามาวิตกกังวล มันจะเป็นประโยชน์กับเรามันเลยเป็น โทษไง ความฝัน ความรู้ต่างๆ มันควรจะเป็นประโยชน์กับเรา เรามาใช้ให้เป็นประโยชน์ อย่าเอามาใช้เป็นโทษ ถ้ามันจะเป็นโทษ เราวางซะ เราอย่าให้สิ่งนั้นมากวนใจเรา
นี่ก็เหมือนกัน เขาบอก “เวลาเขาทำอย่างนั้นแล้วเขาฝัน ฝันว่าเขาห่มผ้าจะลงไป” ไอ้นี่มันเป็นคติธรรมได้ ถ้าห่มผ้า แล้วบอกว่าพอมีผู้หญิงมาขวาง พอขวางแล้วเขาบอกผู้หญิงให้ออกไป จากผู้หญิงก็หน้าตากลายเป็นเน่าเฟะไป ไอ้นี่มันเป็นความฝัน เราถึงบอกไง ความฝันมันควบคุมไม่ได้
แต่ถ้าเป็นความจริง เรานั่งสมาธิแล้วเห็น เดินจงกรม ครูบาอาจารย์ของเราเดินจงกรมมันมีโครงกระดูกมาเดินอยู่ข้างหน้าเลย เดินจงกรมไป แสดงว่าจริตของครูบาอาจารย์เรา ไม่เหมือนกัน เห็นไหม เวลาเดินจงกรมจิตมันสงบ จิตมันเป็นสมาธิได้ พอเป็นสมาธิได้ เวลาเดินจงกรมไปจะเห็นมีโครงกระดูกมาอยู่ข้างหน้า คำว่า “เดินจงกรมอยู่” มันเดินเคลื่อนไหวอยู่ไง แล้วโครงกระดูกมันมาอยู่ข้างหน้า ลอยไปลอยกลับ ลอยไป ลอยกลับ ครูบาอาจารย์บางองค์ทำอย่างนี้ได้ แต่น้อยองค์นัก
พอน้อยองค์นัก เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ถึง ประสบการณ์ของท่าน ไอ้พวกโจร ไอ้พวกขโมย มันก็จะไป อ้างว่า “ฉันเดินจงกรม ฉันเห็นกระดูกมาลอยอยู่ข้างหน้าเลย” ไอ้พวกแอบอ้างนี่มันเยอะมาก ไปหยิบฉวยของเขามา แต่ความจริงที่ท่านพูด ท่านพูดเป็นคติธรรมว่าผู้ทำได้เขามี ถ้าผู้ทำได้เขามี มันมีประโยชน์ เห็นไหม นี่ขนาดการเคลื่อนไหวนะ
แล้วถ้าเราฝัน เราฝัน เรานอนหลับไปแล้วมันแตกต่างกัน ฉะนั้น ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ทำนะ ถ้ามันเป็นประโยชน์ เราพยายามจะสรุปให้มันเป็นประโยชน์ ทีนี้คำว่า “เป็นประโยชน์” เราจะเก็บทุกอย่างเป็นประโยชน์หมดไม่ได้
เมื่อเช้านี้เขามีไก่ทอด ไก่ย่าง เห็นไหม เวลาเขากินไก่ เขาไม่กินกระดูกไก่นะ เขากินไก่ เขากินแต่เนื้อไก่ใช่ไหม กระดูกเขาลงกระโถน เรารู้เราเห็นบางอย่าง มันเป็นเนื้อไก่ เป็นของดี แต่ในของดีนั้นมันมีกระดูกไก่ ไก่มันจะโตมามันต้องมีกระดูกนะ ปลาจะโตมาต้องมีก้าง กินปลาก็กินเนื้อปลา ไม่กินก้างปลา การรู้การเห็นในการประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่ถูกก็มี สิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยก็มี ฉะนั้น ครูบาอาจารย์เราท่านถึงให้เลือกให้แยกแยะ
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาเขาบอก “เขาเห็นผู้หญิง ผู้หญิง พอเขาให้ออกไป ผู้หญิงหน้าตากลายเป็นเละไปเลย กลายเป็นผีไปเลย”
อันนี้มันเป็นความฝัน ความฝันเราควบคุมไม่ได้ เรารู้ไม่ได้หรอก ทีนี้ความฝันมันเป็นคติ คติว่าถ้าเราเอาจริงเอาจัง ฉะนั้น เขาบอกว่า “เขาตื่นขึ้นมา เขาเลยสวดมนต์ใหญ่เลย ร่างนั้นก็ค่อยลอยขึ้นไป เหยียบหัวผีตนนั้น แล้วผมก็สะดุ้งตื่น ผมนอนอยู่บนกุฏิหิน อยู่ในป่าบนภูเขา เหงื่อแตกพลั่กเลย” นี่เขาว่านอนอยู่ในกุฏิ แสดงว่าเป็นพระ
ฉะนั้น “หลังจากฝันแล้วผมก็นึกย้อนไป”
ทีนี้การนึกย้อนไป อันนี้มันเป็นสิ่งที่หลอกลวงแน่นอน “มาทบทวนแล้วปรากฏว่าความรู้สึกทางเพศของผมมันขาดไป” คนที่วุฒิภาวะอ่อนด้อยพยายามจะคิด เวลาเรานี่พวกผู้ชาย เวลาประพฤติปฏิบัติจะเห็นผู้หญิงแล้วมันเกิดอารมณ์ทางเพศ มันจะเพ่งเลยนะ ให้เป็นอสุภะ ให้เป็นอสุภะ แล้วมันเป็นไหม ยิ่งเพ่งให้เป็นอสุภะมันยิ่งสวย ยิ่งเพ่งเท่าไรมันยิ่งสวย มันไม่เป็นอสุภะสักที
การเพ่งอสุภะ จิตใจมันต้องเป็น ถ้าจิตใจมันเป็น ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เพราะมันเป็นความวิตกกังวลใช่ไหม ฉะนั้น เขาบอกว่า “เวลาเขาพิจารณาแล้ว ความรู้สึกทางเพศมันขาดไป” มันกดไว้เฉยๆ น่ะ สุดท้ายเขาวงเล็บว่า มันไม่ขาดหรอก มันกดเอาไว้เฉยๆ
เราฟังเรื่องนี้มาเยอะ แล้วถ้ากดไว้เฉยๆ เวลากิเลสมันเสี้ยมนะ เวลามันเสี้ยมมันบอกว่านี่หมดกิเลสแล้ว ไม่มีกามราคะ แล้วมันก็กดไว้ มันเป็นการกดไว้ เหมือนเราปฏิบัติ อย่างเรา ทุกคนเขาจะร่ำลือว่าเรานี่ดุมาก แล้วเราก็อายเขา เพราะความดุ นี้เป็นโทสะ ตอนนี้เราก็เลยทำสงบเสงี่ยมไว้ไง
“เดี๋ยวนี้ไม่ดุแล้ว เดี๋ยวนี้ไม่ดุแล้ว โอ๋ย! เป็นอนาคามีนะ”
เพราะเดี๋ยวนี้ไม่ดุแล้วไง มึงอย่ามาแหย่กูนะ แหย่กู เดี๋ยวตบะกูแตกทันทีเลย นักปฏิบัติจะใช้มุขนี้กันตลอด “เมื่อก่อน เป็นคนขี้โกรธ เป็นคนกินเหล้าเมายา พอเริ่มปฏิบัติ เดี๋ยวนี้ ดีหมดเลย”
ดีหมดเลยมันก็เป็นศีลน่ะ มันเป็นศีล มันระดับของศีล ศีลธรรม คนมีศีลมีธรรมเขาก็ไม่กินเหล้าเมายา ศีล ๕ เขายังห้ามเลย ฉะนั้น ถ้ามันเป็นศีลมันผิดไหม มันไม่ผิดหรอก แต่มัน บอกว่าเราจะละได้หมด ไม่ใช่! การละมันต้องมีเหตุมีผล มันต้องมีสัมมาสมาธิ มันต้องเข้าไปชำระล้าง คือเราคนเจ็บไข้ได้ป่วย เราต้องรักษาอาการไข้ให้มันหาย มันถึงจะหายจากไข้ ไอ้นี่ มันบรรเทาเฉยๆ เอาน้ำเย็นลูบๆ อาการไข้มันบรรเทาลงเฉยๆ ถ้าเฉยๆ เราก็ไม่คิดอย่างนั้น
เราฟังเรื่องนี้มาเยอะ ไอ้เรื่องที่ว่ากามขาดเลย ทุกอย่างขาดเลย ฟังมาเยอะ แล้วสุดท้ายแล้วไอ้พวกที่เราฟังๆ ไว้นี่สึกไปหมดแล้ว ไปมีครอบครัวหมดแล้ว ไอ้ที่ว่าสำเร็จๆ มันสึกไปมีครอบครัวหมดแล้ว
ฉะนั้น กรณีนี้มันถึงบอกว่า ไอ้ความรู้สึกของเรามันเป็นความมหัศจรรย์ไง เวลาตรึกในธรรมๆ จิตมันดีขึ้น พอดีขึ้นมันมีความอบอุ่นไง มันมีความรู้สึกเลยว่า โอ้โฮ! ขนาดว่าความรู้สึกทางเพศขาดไปเลย เวลาจิตมันดีไง
คนเราเวลาเงินทองเยอะในกระเป๋า ไปเที่ยวที่ไหนมันก็ไม่อยากกินอะไรเลย เพราะมันอิ่ม แต่ถ้าคนจนไปเที่ยวที่ไหน มันอยากกินทั้งนั้นเลย เห็นแล้วก็อยากกิน เพราะมันไม่มีตังค์ ไอ้คน มีตังค์นะ ไปที่ไหนก็ไม่กิน เงินในกระเป๋าเต็มเลย ไม่อยากกิน อะไรเลย ไอ้คนจนๆ เห็นอะไรก็อยาก อยากไปหมด
ไอ้นี่จิตใจของเรามันคิดตรึกในธรรม เขาบอกเขาคิดธรรมะของสมเด็จสังฆราช ๓ เดือน ๔ เดือน มันชุ่มชื่นมันอบอุ่นอยู่ในธรรมไง มันก็เลยบอกว่าความรู้สึกทางเพศขาดไปเลย พอเดี๋ยว มันจนนะ พอตังค์มันหมด ธรรมะของสังฆราชก็เป็นของสังฆราช เราไปศึกษามา เรามาตรึกมันก็เป็นของชั่วคราว พอมันเหือดแห้งไปนะ พอเป็นคนจนขึ้นมา มันอยากกินไปหมด เดี๋ยวความรู้สึกทางเพศจะมีหรือไม่มี เดี๋ยวมันจะรู้ นี่เขาพูดของเขาไป
ฉะนั้น ย้อนมาที่คำถาม “๑. เมื่อจิตรวมลงสู่สมาธิ แล้วพอมันคลายตัวออกสู่อุปจาระ คือสามารถคิดได้ แล้วเราก็นึกไปถึงกาย เพื่อให้เห็นกายปรากฏเป็นภาพ แต่ถ้านึกแล้วมันไม่ปรากฏ แต่ถ้าปรากฏเป็นศพแทน ผีแทน แบบนี้เป็นมรรคหรือไม่ ถูกต้องตามหลักพิจารณาหรือไม่”
เวลาเราพิจารณานี่ เราอยากให้เกิดเป็นภาพกาย แต่ถ้า คนเข้าไปไม่เห็นภาพกายนะ ความเสียใจที่ความไม่เห็นนั้น ถ้ามันฉลาดพอมันก็จับถึงความเสียใจอันนั้นได้ ความเสียใจ ความตั้งใจ ความจงใจของเรา เราอยากเห็นภาพกาย เราอยากเห็นกายคตา แต่ถ้ามันไม่เห็นขึ้นมา มีความเสียใจ มีความไม่พอใจ ความเสียใจความไม่พอใจอันนั้น ถ้าสติมันเท่าทัน มันจับอารมณ์อันนี้ได้ เขาเรียกเวทนาของจิต กาย เวทนา เห็นไหม เวทนามันเกิดอยู่ กับเรา เราอยากเห็นภาพกาย ถ้าเห็นแล้วเราดีใจมันก็สุขเวทนา ถ้าเราไม่เห็น เราเสียใจก็เป็นทุกขเวทนา
แต่จิตใจของเรามุ่งเน้นแต่การเห็นกายๆ แต่ถ้ามันเห็นกายแล้วมันพยายามต่อสู้สิ่งใดแล้วมันเห็นกายไม่ได้ ถ้ามีสติสมบูรณ์พอมันหันกลับมาจับความเสียใจนั้นปั๊บ มันจะจับเวทนาได้ทันที ถ้าจับเวทนาได้มันก็สั่นไหวหัวใจทันที แต่มันจับไม่ได้ เหมือนกับเรา เราไม่รู้จักอะไรเลย เราก็ไม่กลัวอะไรเลย ถ้าเรารู้จักถึงความเป็นภัย เรากลัวไปหมดล่ะ
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเขาไม่รู้จักสิ่งใด เขาก็ไม่เห็นสิ่งใดเลย แต่พอเขาจะรู้จัก เขาจับได้มันสะเทือนหัวใจ การที่จับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรมได้ จับสติปัฏฐาน ๔ ได้ คำว่า “จับได้” เพราะจิตมันจับอาการของจิต ถ้าจิตมันจับอาการของจิตได้ สติปัฏฐาน ตามความเป็นจริงมันสะเทือนหัวใจมาก สะเทือนหัวใจเพราะอะไร
เพราะจิตมันหลงผิด มันหลงว่าสรรพสิ่งในโลกนี้เป็นของเรา สรรพสิ่งเป็นของเรา ทุกอย่างเป็นของเรา ตัวเราก็เป็นของเรา อะไรก็เป็นของเรา เป็นเราโดยจิตใต้สำนึกไง
พอมันจับได้ มันจับได้คือมันจับอาการได้ มันจับความรู้สึกได้ มันสะเทือนมาก คนที่จับได้มันสะเทือนมาก พอสะเทือนมาก พอจับได้ โอ้โฮ! มันจะเห็นของมัน ถ้าเห็นของมันแล้วถ้ามีกำลังมันจะพิจารณาของมันไปนะ พิจารณา ถ้าสติกำลังไปได้มันก็ไปได้ ถ้าสติกำลังไปไม่ได้ มันก็ยื้อกันอยู่อย่างนั้นน่ะ จับได้ แต่ทำอะไรไม่ได้ ชักหน้ายึกยักๆ แล้วคนไม่รู้เรื่องก็ “ฉันเก่งๆ” ฉันจะไป ให้ได้ มันยิ่งเสื่อมลง
ถ้ามีครูบาอาจารย์ท่านฉลาด ท่านบอกให้วาง แล้วกลับมาทำพุทโธให้กำลังมันมากขึ้น เหมือนมีดของเรา มีดของเรามันทื่อ มีดของเรามันไม่คมแล้ว เราพยายามจะเฉือน พยายามจะตัดให้ได้ มันไปไม่ได้หรอก นี่พูดถึงคนที่ปฏิบัติแล้วมีกำลังนะ
ฉะนั้น สิ่งที่เขาบอกว่า “เวลาเขาเห็นกาย เขาพยายามนึกให้เห็นกาย ว่าถูกต้องหรือไม่”
ถ้าจิตลงสู่สมาธิแล้ว ลงสมาธิ การเห็น เห็นไหม การเห็น การทวงหนี้ การทวงหนี้ผู้เป็นเจ้าหนี้พยายามหาลูกหนี้ ลูกหนี้มันพยายามหลบเจ้าหนี้ ไม่มีลูกหนี้คนไหนจะนั่งรอ เชิญมาทวงหนี้ฉันสิคะ ไม่มีหรอก ลูกหนี้มีแต่หลบ
กาย เวทนา จิต ธรรม มันไม่ให้อยู่พิจารณาหรอก มันหนีตลอด ถ้าจิตเราดีเราถึงจะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง ถ้าจิตเราไม่ดีนะ หาอย่างไรก็ไม่เจอ ไม่เจอ มันก็เลยอาศัยภาพเดิม เคยทวงหนี้บ้านนี้ก็จะไปที่บ้านเขา ไม่เจอลูกหนี้ก็ทำลายบ้านเขาเลย ติดคุกอีกต่างหาก
นี่ก็เหมือนกัน นี่การพิจารณานะ การพิจารณาไม่ใช่วิทยาศาสตร์ที่จับอย่างไรได้ก็ทำอย่างนั้น ไม่ใช่! มันเป็นปัจจุบันธรรม รู้เห็นสิ่งใด ขณะที่เห็นจับสิ่งใดได้เป็นปัจจุบันต้องทำเลย แล้วเวลาทำแล้วบางทีก็เห็นกาย บางทีก็เห็นเวทนา บางทีก็เห็นจิต บางทีก็เห็นธรรม ถ้าฉลาดพอมันทำได้ ถ้าไม่ฉลาดพอ มันเอาแต่เห็นกาย มันไม่ยอมรับรู้อะไรเลย ซื่อบื้อจะเห็นกายๆ
แต่ถ้าคนมันฉลาดเห็นกายก็ได้ เห็นเวทนาก็ได้ เห็นจิตก็ได้ เห็นธรรมก็ได้ คำว่า “ก็ได้” คือปัจจุบัน ถ้าปัจจุบันจับต้องได้ เหมือนปลา ปลาที่มีชีวิต ปลาที่มีชีวิตเราจับ มันดิ้น ไม่ใช่ปลาพลาสติกเอามาตั้งโชว์ เห็นปลาๆ ปลาพลาสติก เด็กเขาเอาไว้เล่น แต่ของเรามันต้องเห็นปลาตัวเป็นๆ ไง ถ้าจับได้พิจารณาได้ เพราะปลามันดิ้น ปลามันจะพยายามรักษาชีวิตมัน มันจะลงสู่น้ำ
นี่พูดถึงว่า “จิตเข้าสู่สมาธิแล้ว ถ้ามันคลายตัวออกมาสู่ อุปจาระ มันคิดได้” ไอ้นี่มันตามตำรา
แต่ถ้ามันตามความเป็นจริงนะ จิตถ้ามันสงบแล้วมีกำลังแล้ว มีความสุขแล้ว มีความสุข เราก็มีความสุข แต่นี้มันมาเกิดความทุกข์ ความทุกข์เพราะว่าถ้าจิตสงบแล้วเราต้องเห็นกาย แล้วพิจารณากายไปแล้ว พิจารณากายไปแล้ว มันจะสำรอก มันจะคาย เราจะเป็นพระโสดาบัน คือมันคาดหมายไปหมดไง แล้วมันทำไม่ได้อย่างความเป็นจริงสักข้อหนึ่ง มันจะมีความทุกข์ใจไปทุกๆ เรื่องเลย ทำแต่ความร้อนรน ทำแล้วมันมีแต่ความเหี่ยวเฉา ทำแล้วมีแต่ความทุกข์ยาก
แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์นะ ใจเย็นๆ ใจเย็นๆ ใจเย็นๆ เราทำตามความเป็นจริง แค่เราปฏิบัติ เราก็เป็นกัลยาณปุถุชน เป็นกัลยาณชน เป็นผู้ที่มีสัจจะ เป็นคนดีแล้ว เราพยายามปฏิบัติ ผู้ดีจริตมารยาทของเขา เขาอยู่ด้วยความสมดุล ความเป็นผู้ดี
เราปฏิบัติของเรา เรารักษาใจของเรา ปฏิบัติของเราให้ต่อเนื่องไป อย่าวิตก อย่ากังวล อย่าทุกข์ร้อน อย่าบีบคั้นหัวใจของตน แล้วปฏิบัติของเราไป เพราะการประพฤติปฏิบัติไง มันอยู่ที่อำนาจวาสนา ถ้าเราทำกรรมดีมา เราปฏิบัติของเรามา มันจะมีการส่งเสริม มันจะมีสิ่งที่ดี มันจะเจอหมู่คณะที่ดี เจอครูบา-อาจารย์ที่ดีเข้ากันโดยธาตุ
ถ้าธาตุเราดีนะ เราเจอคนที่ดี เจอครูบาอาจารย์ที่ดี เรา จะเห็นแล้วเราจะชื่นใจ เราจะเชื่อตาม ถ้าธาตุเราเป็นธาตุที่เกเร ธาตุของเราเป็นธาตุที่โหดร้าย เราไปเจอครูบาอาจารย์ที่ดี มันจะต่อต้าน “อาจารย์เราไม่ชอบเหมือนเราเลย”
แต่เราไปเจออาจารย์ที่โหดร้าย ไปเจออาจารย์ที่ขูดรีด ถ้าธาตุเราเป็นอย่างนั้น เราไปชอบ “เออ! อาจารย์ดี อาจารย์ ท่านแสวงหาผลประโยชน์ให้เราเยอะแยะเลย อาจารย์ดี” นี่มันเข้ากันโดยธาตุ ถ้าธาตุเราดี เราเจอสิ่งที่ดีๆ มันจะเป็นสิ่งที่ดี
นี่คือเราพูดถึงวาสนา ถ้าวาสนาเราสร้างของเรามาอย่างนี้ ธาตุของเราเป็นธาตุที่ดี เจอครูบาอาจารย์ที่ดี ครูบาอาจารย์ที่ดี เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่โคนไม้ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านอยู่โคนไม้ อยู่ในป่าของท่าน ท่านอยู่ในความที่สงัดวิเวก ท่านอยู่ในปัจจัย ๔ ปัจจัยเครื่องดำรงชีวิตเท่านั้น ท่านไม่ต้องการสิ่งใดที่เป็นภาระรุงรัง ไม่ต้องการสิ่งใดที่เป็นเกินกว่าปัจจัย ๔ นั้นเกินไป แล้วไม่ต้องแสวงหา ไม่ต้องดิ้นรน ไม่ต้องหาความทุกข์มาบีบคั้นหัวใจ หน้าที่ของเราประพฤติปฏิบัติอย่างเดียว
“แล้วปฏิบัติอย่างเดียว มันจะมีความสุขได้อย่างไร มันอยู่กับโคนไม้ มันไม่มีอะไรเป็นความชื่นบานหัวใจเลย” นี่กิเลส กิเลสมันยุ
แต่ถ้าครูบาอาจารย์นะ สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี จิตที่ เป็นสัมมาสมาธิ จิตที่สงบระงับแล้วมันสลัดทิ้งทุกๆ อย่างเลย เวลาครูบาอาจารย์ของเรานะ ถ้าจิตที่เป็นธรรมแล้ว จิตเป็นธรรม ท่านอยู่ในเรือนว่าง อยู่ในที่สุข อยู่ในถ้ำ ในห้อมหอ ท่านมีความ สุขของท่าน
สังเกตได้พระที่มันบอกว่ามันจะเข้าฌานสมาบัติ ขึ้นคัตเอาต์ เลย กำลังจะเข้าฌานสมาบัติ จะเปิดโลกธาตุ... ไอ้บ้าบอคอแตก เราก็วิ่งหาตังค์กันใหญ่เลย อยากได้บุญไปกับเขา แต่ครูบาอาจารย์เราไม่มีนะ ครูบาอาจารย์เราท่านอยู่โดยสงบระงับ เห็นไหม นี่ความจริงมันเป็นแบบนี้
นี่พูดถึงว่าเขาบอกว่า “จิตรวมแล้วจะเห็นกาย พิจารณากาย ไม่เห็นภาพกาย เห็นเป็นศพ เห็นเป็นผี”
ทีนี้เห็นเป็นศพก็คือศพ ศพก็คือเห็นกาย กายนอก กาย ใน ถ้าเห็นผี ผีคือจิตวิญญาณ ไม่ใช่ ฉะนั้น สิ่งนี้เขาพยายามจะเทียบเคียงถึงฝันของเขาไง เพราะเขาฝันเห็นผี แล้วอย่างนี้จะเป็นมรรคหรือเปล่า
ถ้าเป็นมรรคนะ มรรคผล มรรค ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิมันจะวัดกันที่ผลไง มันจะวัดกันที่เป้าหมาย วิธีการคือการกระทำนั่นคือมรรค แล้วผลที่แสดงออกคือเป้าหมาย คือที่สุด เราวัด กันตรงนี้
ถ้าธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเป็น มักน้อยสันโดษ อยู่ในที่สงบสงัด ถ้าเป็นธรรมะขององค์สมเด็จ- พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเป็นธรรมจะเป็นแบบนี้
แต่ถ้าเป็นกิเลส มันอยากขี้โม้ มันอยากอวด มันอยากโฆษณา มันอยากทำการตลาด มันอยากให้คนเยอะๆ อันนั้น ไม่เกี่ยว แต่ถ้าเป็นมรรค วัดกันตรงนี้ไง เขาถามว่ามันเป็นมรรคหรือเปล่า ถ้ามันเป็นมรรค มันเป็นผล วัดกันที่ผล ผลสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องดีงาม ผลของมันก็จะเป็นประโยชน์กับเราไง วัดกันตรงนี้ มรรคผล
“๒. กระผมขอยืนยันว่า จิตนี้เป็นรูปธรรม ไม่ใช่นามธรรม ค้านที่เขาเข้าใจกัน เพราะจิตสามารถจับต้องได้ เพราะจิตนี้มีลักษณะผ่องใส จิตนี้สว่าง”
เขาบอก จิตเขาสว่าง เราจะบอกว่าเวลากรรมฐาน เห็นไหม กายนอก กายใน กายในกาย เขาบอกว่าเป็นโวหาร ไอ้นี่เป็น ศัพท์ของกรรมฐาน เป็นศัพท์ ไอ้นี่เหมือนกัน ถ้าจิต จิตที่เป็น นามธรรมไหม ใช่ เป็นนามธรรม แต่เขาบอกว่าจิตนี้เป็นรูปธรรม
ไอ้รูปธรรมนี่เราพูดเอง เราพูดบ่อยว่าจิตนี้เป็นรูปธรรม รูปธรรมเพราะว่าจิตจับต้องจิตได้ มันรู้เห็นตามความเป็นจริง มันก็เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เป็นความรู้เฉพาะตน
แต่ที่ว่ากายนี้เป็นรูป จิตนี้เป็นนามอะไรนี่ สิ่งนี้ที่ว่าเป็นนาม มันเป็นนามธรรม นี้เป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมา-สัมพุทธเจ้า เราเคารพไง เราเคารพธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็น ผู้ที่ปัญญากว้างขวาง เป็นพุทธวิสัย สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ ท่านจะแสดงความเป็นประโยชน์ไง
ถ้าเราบอกว่าจิตนี้เป็นรูปธรรมปั๊บมันก็จะเอาจิตนี้มาขึ้นรูปเลย จะเอาเป็นรูปอะไรล่ะ จิตเป็นรูปธรรม มันไปติดขัดกับทางวิทยาศาสตร์ ทางวิทยาศาสตร์ของเขา
ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ของเรา จิตนี้ที่ว่าเป็นรูปธรรม เวลาหลวงตาท่านคุยกับหลวงปู่แหวนอย่างนี้ เวลาหลวงตาท่านคุยกับหลวงปู่คำดี เวลาหลวงตาท่านคุยกับหลวงปู่ฝั้น คุยกับหลวงปู่บัว รูปธรรม ไม่รูปธรรม นั่นน่ะชัดเจน นักวิทยาศาสตร์กับนักวิทยาศาสตร์คุยกันเข้าใจกัน นักวิทยาศาสตร์ที่ท่านพิสูจน์แล้วมันจะชัดเจน ฉะนั้น เวลาชัดเจนนั้น มันเป็นศัพท์เฉพาะของ ผู้มีความรู้จริง
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ไอ้ที่เราพูด จิตเป็นรูปธรรมๆ เราก็พูดเยอะ แต่เวลาเขาถาม เขาให้เรายืนยันเลยว่า “กระผมยืนยันว่าจิตนี้เป็นรูปธรรม” เราก็บอกว่าเป็นนามธรรม เราไม่เป็นรูปธรรมกับเอ็ง ถ้าเป็นรูปธรรม เราก็ต้องไปพิสูจน์ ไปพิสูจน์กับเขาอีกนะ
เราไม่ไปพิสูจน์กับใคร เราจะพิสูจน์ความจริงกลางหัวใจของเรา จิตนี้เป็นรูปธรรมต่อเมื่อที่เขาเห็น เขารู้ เขาจับต้องได้ เป็นรูปธรรมเพราะว่ามีสติปัญญาเท่าทัน มันก็จับได้ ถ้าเวลาสติปัญญามันไม่เท่าทัน เราก็วางไว้ มันเป็นความรู้สึกเป็นนามธรรม
จิตนี้โดยที่เราจะคุย เวลาเราคุยกัน นักวิทยาศาสตร์ เห็นไหม นักวิทยาศาสตร์เขาคุยกับลูกศิษย์ของเขา เขาคุยกับประชาชน เขาก็คุยต้องให้ประชาชนเข้าใจได้ ไม่ใช่เราคุยกัน นักวิทยาศาสตร์ ๕ คน เราคุยกันรู้กัน ๕ คน คนอีก ๗ พันกว่าล้านช่างแม่มัน ๕ คนก็ต้องคุยเข้าใจได้ อีก ๗ พันล้านก็ต้องคุยเข้าใจได้ ความเข้าใจได้นี่คือปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้วางธรรมวินัย พระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบเหมือนกัน วางธรรมวินัย ไม่ได้ ฉะนั้น กรณีอย่างนี้มันเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมา-สัมพุทธเจ้า เราต้องเคารพต้องบูชา
แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เรารู้เราเห็นอะไร ความรู้ ความเห็นนั้นเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เป็นองค์ความรู้ของคนคนนั้น คนคนนั้นประพฤติปฏิบัติแล้วมีองค์ความรู้อย่างไร พูดออกมา ความจริงอันนั้นน่ะ หลวงตาท่านไปคุยกับหลวงปู่แหวน ไปคุยกับหลวงปู่คำดี เห็นไหม องค์ความรู้แต่ละองค์พูดออกมา แล้วตรงกันไหม เหมือนกันไหม ลงกันไหม ถ้าลงกัน เห็นไหม ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เอวัง