เทศน์เช้า วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๘
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจฟังธรรม พูดทุกวัน พูดทุกวันเพื่อเน้นย้ำนะ เน้นย้ำเข้าไปในหัวใจของเรา เน้นย้ำเข้าไปในหัวใจของเรา มันมีค่าที่สุด มันมีค่าที่สุด เวลาหลวงปู่มั่นท่านพูด จิตนี้เป็นได้หลากหลายนัก มันเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ แล้วมันมาเกิดเป็นเราๆ เกิดเป็นเรามันมีสติมีสัมปชัญญะ แล้วเกิดมาพบพระพุทธศาสนา
ในธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกข้อเลยนะ เวลาท่านบัญญัติวินัย กำราบไอ้คนหน้าด้าน ไอ้คนหน้าด้าน กดมันไว้ คนไหนที่ทำคุณงามความดีควรส่งเสริมเขา พูดตามความเป็นจริง ดีก็คือดี ชั่วก็คือชั่ว แต่สังคมรับอย่างนั้นไม่ได้ เวลาคนดีขึ้นมา เวลาใครดีขึ้นมา เวลาพูดนี่หัวเดียวกระเทียมลีบ ไอ้คนใจถึงใจใหญ่ ใจถึงพึ่งได้ คนนบนอบบูชา แล้วไอ้ใจถึงพึ่งได้มันพึ่งได้จริงหรือเปล่า
มันพึ่งได้ๆ มันก็ช่วยกันชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้นน่ะ แต่เวลาเราทำสิ่งใดแล้วมันฝังอยู่ในใจเรานะ ความดีความชั่วเรารู้ของเราได้ ถ้าเรารู้ของเราได้ ความรู้ สัจธรรมอันนี้ แต่จิตใจของคนมันอ่อนแอ เวลาจิตใจคนอ่อนแอนะ สิ่งใดที่มันพึ่งได้เฉพาะหน้า มันเอาสิ่งนั้นน่ะ แล้วสิ่งนั้นทำแล้วมันก็ฝังใจเราไปทั้งนั้นน่ะ
กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน สิ่งที่เราเกิดมา จริตนิสัยของเรา สิ่งที่เป็นความคิด ปัญญา ทุกคนก็อยากให้เรามีปัญญาเลอเลิศทั้งนั้นน่ะ ปัญญาเลอเลิศมันเกิดมาจากไหนล่ะ ปัญญาเลอเลิศเกิดมาจากสิ่งที่เราคาดไม่ถึงเลย การนั่งสมาธิภาวนาทำให้เกิดปัญญา ปัญญามันจะเกิดได้เกิดจากความสงบระงับ
ไอ้เราก็ว่าปัญญาจะเกิดได้จากการตรึกการคิดของเรา การจินตนาการของเรา สิ่งนั้นมันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นสัญชาตญาณ เราไม่ต้องคิดมันก็ฟูขึ้นมาในใจอยู่แล้ว แต่เราจะทำอย่างไรให้มันสงบได้นั่นน่ะ เราทำอย่างไรจะให้จิตมันสงบได้ เราทำอย่างไรให้จิตมันปล่อยวางได้ นั่นล่ะคือปัญญา ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร สังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่งไง ปัญญามันจะเกิดได้จากการนั่งสมาธิภาวนานี่ ถ้าปัญญามันเกิดจากตรงนี้ สัจธรรมอันนี้ แต่เรามองข้ามกันไปไง มองข้ามแต่สิ่งภายนอกๆ เห็นไหม
มาตรฐาน เวลาทำสิ่งใดเขามีมาตรฐานของเขา ชุมชนไหน มาตรฐานของเขา มันเป็นวัฒนธรรมประเพณี เวลามาตรฐานของเขา แต่เราไม่เคยอยู่ในวัฒนธรรมของเขา เราเข้าไป เราเข้าใจเขาไม่ได้เลย แล้วไปทำอะไรทำเปิ่นๆ อย่างนั้นน่ะ วัฒนธรรมข้ามชาติ คนละชนชาติ วัฒนธรรมแตกต่างกัน แม้แต่ชุมชนมันก็แตกต่างกันแล้ว นี่พูดถึงวัฒนธรรมนะ
แต่เวลามาตรฐานของเราๆ เวลาเราเป็นมนุษย์ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา แล้วมาตรฐานมันอยู่ที่ไหนล่ะ มาตรฐานของศีล ศีลคือความปกติของใจ ถ้าใจมันปกติขึ้นมานะ มาตรฐานของสมาธิ มาตรฐานของปัญญา แล้วมาตรฐานมันอยู่ที่ไหนล่ะ
เวลามาตรฐานของมัน ดูสิ เวลาค่าของเงิน ค่าของเงินนะ ๑ บาท คือ ๑ บาท ธนาคารชาติเขาให้ค่าเงิน ๑ บาท แต่ ๑ บาทนี้ไปอยู่ของเศรษฐี แหม! มันมีค่ามากนะ ไอ้ ๑ บาทมาอยู่กับยาจกมันไม่มีค่าเลยหรือ ทำไมคนดูถูกเหยียดหยามขนาดนั้น ไอ้บาทเดียวเหมือนกัน แต่มันอยู่ที่ใครถือ ไปอยู่ที่คนมั่งมีศรีสุข คนที่มียศถาบรรดาศักดิ์ โอ้โฮ! บาทนี้มันใหญ่มาก เหยียบย่ำเขาไปหมดเลย ไอ้บาทของเรา ไอ้บาทยาจก บาทของเรามันไม่มีค่าเลยหรือ นี่มาตรฐานไง มาตรฐานมันอยู่ที่วัฒนธรรม อยู่ที่สังคมที่เขายอมรับ แต่จริงๆ ค่าของมันก็คือบาทหนึ่งนั่นน่ะ บาทหนึ่งก็คือบาทหนึ่ง
ค่าของเรามาประพฤติปฏิบัติกัน ค่าของสมาธิ พอสมาธิขึ้นมา ค่าของมันมีมาตรฐานของมัน ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ แต่เราทำกัน มาตรฐานมันอยู่ที่ไหนล่ะ มาตรฐานของมัน ดูสิ ครูบาอาจารย์ของเราเวลาท่านทำความจริง ดูหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์นี้สำคัญมาก สำคัญเวลาครูบาอาจารย์ท่านถามว่า หลวงปู่เสาร์ทำไมไม่อบรมบ่มเพาะลูกศิษย์ล่ะ
ทำให้มันดูมันยังไม่เอาเลย ทำให้มันดู ทำให้มันดูมันยังไม่เอา แล้วไปสอนอะไรมัน ไปจ้ำจี้จ้ำไชมัน นี่ทำให้มันดูๆ
มาตรฐานในใจหลวงปู่เสาร์มันมั่นคงอยู่แล้ว ถ้า ทำให้ดูๆ เพราะท่านมีหลักของท่านไง ทำให้ดู ท่านอยู่ในหลักของท่าน แล้วทำให้ดูมันยังไม่เอา แล้วเราไปสั่งสอนๆ เห็นไหม ออกแล้ว ลำเอียง เข้าข้างนั้น เข้าข้างนี้ นี่ออกไปแล้ว นี่ไง มาตรฐานของใครล่ะ มาตรฐานของใคร
ถ้ามาตรฐานความจริง ถ้าเป็นสมาธิมันเป็นสมาธิจริงๆ ถ้าเป็นสมาธิแล้วมันตั้งมั่นของมัน พอตั้งมั่น สมาธิก็คือสมาธิ ดูสิ ว่าสติก็คือสติ สมาธิก็คือสมาธิ มันไม่ใช่ปัญญา แต่ปัญญามันมีแง่มุมของมัน เวลาเกิดสมาธิแล้วมันเกิดความรู้ความเห็น มันเกิดฉุกคิดขึ้นมา สะดุดใจ นั่นล่ะปัญญา
สมาธิก็คือสมาธิ แต่มันฐานของสมาธิ สมาธิที่มันปลอดโปร่ง มันโล่งโถงของมัน เวลามันเกิดปัญญา ปัญญาอย่างนั้นมันเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาอย่างนั้นเกิดจากสัจธรรม ไม่ใช่ปัญญาของเรา ปัญญาของเรานี่สัญญาทั้งนั้นน่ะ จำเขามา เทียบเคียงมา แล้วก็คาดการณ์ไป มันเป็นอดีตอนาคตทั้งนั้นน่ะ แล้วก็ ทำไมมันไม่เป็นอย่างนั้นๆ...มาตรฐานของใคร
พระอรหันต์สมัยพุทธกาล มีพระอุบาลี พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ต่างคนต่างโต้แย้งกันว่าความชำนาญของตนสำคัญที่สุด พระอุบาลีก็บอกว่าวินัยสำคัญที่สุด พระสารีบุตรบอกปัญญาสำคัญที่สุด พระโมคคัลลานะบอกว่าฤทธิ์สำคัญที่สุด แล้วมีอีก ๒ องค์ แล้วเวลาสุดท้ายแล้วตกลงกันไม่ได้ ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ตัดสิน
อาสวักขยญาณสำคัญที่สุด อาสวักขยญาณคือทำให้บุคคลผู้นี้เป็นพระอรหันต์ คือมรรคญาณ คือสัจธรรมอันนั้น มาตรฐานอันนั้นมีอันเดียว ทำให้เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด แล้วพระอรหันต์ก็ยังบอกว่าความชำนาญของตนมันเป็นความสำคัญ แต่มาตรฐานอันนั้นไง
ฉะนั้น เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติ มาตรฐานของเรา ศีล สมาธิ ปัญญา มันมาตรฐานของใคร ถ้ามาตรฐานของครูบาอาจารย์เรา มาตรฐานครูบาอาจารย์ ดูสิ หลวงตาท่านพูดประจำ เวลาเป็นลูกศิษย์ของท่านด้วยภูมิธรรม เจอแล้วนั่งเฉยๆ ท่านเห็นหน้าก็ เออ! ลูกศิษย์เรามา
ไอ้พวกแห่นั่นน่ะ แห่กันไป แห่กันน่ะ มาตรฐานของใคร จะเอาโลกเป็นใหญ่ใช่ไหม เอาสังคมเป็นใหญ่ใช่ไหม แต่ถ้ามันเป็นความจริง มาตรฐานอันนั้น สบตามันก็รู้แล้ว มันสบตามันก็รู้แล้วพวกใคร จิตใจมันสงบนิ่งไหม มันเป็นความจริงไหม ถ้าเป็นความจริงมันเป็นแบบนั้น แล้วซาบซึ้งมาก ซาบซึ้งตรงไหน ซาบซึ้งตรงเวลาหลวงตาท่านตรัสรู้นะ ท่านบรรลุธรรม กราบแล้วกราบเล่าๆ มันซาบซึ้งอันนั้นน่ะ เวลามันซาบซึ้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานมา ๒,๐๐๐ กว่าปีนะ เวลาใครประพฤติปฏิบัติเข้าไปถึงจุดนั้นนะ มันมหัศจรรย์ มันมหัศจรรย์ตั้งแต่เริ่มต้น มหัศจรรย์ตั้งแต่ปุถุชน กัลยาณปุถุชน แม้แต่ปุถุชน กัลยาณปุถุชนเรายังแบ่งไม่ออกเลย
ปุถุชนคนหนา ลุ่มๆ ดอนๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวเลว เดี๋ยวเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญอยู่อย่างนั้นน่ะ
กัลยาณปุถุชนคงที่ กัลยาณปุถุชนคือเขารอบรู้ในรูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร รูป รส กลิ่น เสียง มันไปทำให้หัวใจนี้มันฟู หัวใจนี้มันโดนกดดัน เพราะมันเป็นบ่วงของมาร บ่วงคือมันรัดคอ
เป็นพวงดอกไม้คือมันเชิดชู เราก็ยกย่องตัวเราเองเนาะ จินตนาการว่าเราสำคัญมาก เราสุดยอดมาก นี่พวงดอกไม้ นี่ไง ปุถุชน แต่ถ้าเป็นกัลยาณปุถุชนมันรู้เท่าหมด รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร แต่พวกเรา เราสื่อสารกันด้วยเสียง เราสื่อสารด้วยกิริยา เราเอาไว้สื่อสารกัน เอาไว้เพื่อความเข้าใจกัน แต่เราไปสำคัญมัน เราทุกข์ เราไปสำคัญมัน เราไปยึดมันเกินไป เป็นทุกข์ แต่ต้องใช้มัน เราไม่สื่อสารกัน เราทำอย่างไร พูดอยู่นี่พูดเพื่อใคร นี่ไง ถ้ากัลยาณปุถุชนมันก็ไว้สื่อสารเฉยๆ แต่เราไม่สำคัญ ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นมัน นี่กัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล มันแตกต่างหลากหลายทั้งนั้นน่ะ
มันมีมาตรฐานเดียวทั้งนั้นน่ะ มาตรฐานเดียว มรรคสามัคคี เวลามันสมุจเฉทฯ มันขาดเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ถ้ามันเป็นขาดเป็นชั้นเป็นตอน ถ้ามันขาด มันถึงเห็นการตทังคปหานคือการปล่อยวางชั่วคราวไง แล้วมันปล่อยวางชั่วคราว แต่วิธีการที่มันเข้ามามันหลากหลาย ดูจริตนิสัย จริตนิสัยของพระอุบาลี พระอุบาลีเกิดมาเป็นกัลบก เป็นผู้ที่ตัดผมให้ราชกุมาร นี่วาสนาคนมันมาอย่างนั้น แต่เวลาสำเร็จเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ท่านชำนาญของท่านในทางวินัย นี่ไง ดูสิ ดูพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ท่านสร้างของท่านมา มันเป็นการสร้างมาโดยสันดานไง พระอรหันต์ไม่สามารถละนิสัยได้ แต่สามารถละกิเลสได้
กิเลสคือตัณหาความทะยานอยาก กิเลสคือพญามาร กิเลสคือความมักมาก กิเลสคือความเห็นแก่ตัว มันชำระล้างอันนั้นได้ แต่มันชำระความเคยชิน ชำระสันดานไม่ได้ ชำระนิสัยไม่ได้ ชำระนิสัยได้ มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์เดียวไง ฉะนั้น นิสัยสันดานอันนั้น ทุกคน สันดานคือว่าความเคยชินก็บอกของฉันดีที่สุด ของฉันดีที่สุด นั่นคือวิธีการไง แต่มาตรฐานของมันคือมรรค ปัญญาที่ความจริงขึ้นมา
ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เอ็งไม่รู้จักหรือ ถ้าเอ็งรู้จัก เอ็งก็ต้องรู้สิ ถ้ามันไม่มีสมาธิ ปัญญามันเกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีสมาธิ ปัญญามันเกิดเป็นสัญญาทั้งหมด สัญญาที่ไหน สัญญาคือตัวตนเราบวกเข้าไป ความรู้ความเห็นของเราบวกเข้าไป บวกอันนี้คือสมุทัย ตัณหาความทะยานอยากคือว่าเราต้องเข้าข้างใดข้างหนึ่ง เราต้องชอบและไม่ชอบ เรามีการผลักไสแล้วมีความต้องการ นี่ตัณหาความทะยานอยาก ถ้าไม่มีสมาธิตัวนี้มันนอนเนื่องเข้ามา อันนี้มันมีนอนเนื่องเข้ามา ตะกอน ตะกอนของใจมันต้องผสมเข้ามาทั้งหมด
ฉะนั้น ถ้าสัมมาสมาธิไม่ชัดเจน ปัญญาเกิดไม่ได้ ปัญญาที่เข้าใจกันอยู่นี้เป็นตรรกะ จินตะ คิดจินตนาการไปโดยอิงธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อิงธรรมะของครูบาอาจารย์ เคยได้ยินได้ฟัง เราเคยได้ยินได้ฟังขึ้นมามันอิง ฉะนั้น ความจริงๆ ล่ะ
นี่พูดถึงมาตรฐานไง มาตรฐานของมรรค มาตรฐานของครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติท่านจะรู้ แล้วคนที่ไม่รู้พูดไม่ได้ จำอย่างไร พิจารณาอย่างไรก็ไม่ได้ คนไม่เคยเห็นพูดไม่ถูก นี่มาตรฐานของมันไง
ทีนี้มาตรฐานอย่างนี้ปั๊บ เวลาครูบาอาจารย์ของเราสมัยหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น แล้วครูบาอาจารย์ของเรา เวลามาตรฐานของหลวงปู่มั่นท่านจะรู้ของท่านว่าองค์ใดสิ้น องค์ใดเป็นจริง แล้วเวลาคุยกัน เวลาสนทนาธรรม มาตรฐานเดียวกัน มันคุย มันเข้าใจหมดล่ะ แต่เวลาคนที่มันอ่อนด้อยลงไป มีมาตรฐานขนาดไหน ใจที่สูงกว่าพยายามดึงใจที่ต่ำกว่าขึ้นมา ถ้าดึงขึ้นมา มันก็เป็นมาตรฐานเดียวกัน แต่ถ้ามาตรฐานของเขาแค่นั้น มาตรฐานของเขาไม่ได้อย่างนั้นมันก็กรรมของสัตว์
เด็ก เราบังคับเด็กให้ทำตามความพอใจของเราทั้งหมด เป็นไปได้อย่างไร เด็กมันไร้เดียงสา มันเป็นไปไม่ได้ที่จะให้มาตรฐานของเราไปให้เด็กมันทำตามเราได้ เด็กมันไร้เดียงสา ความไร้เดียงสา มาตรฐานคำว่า ไร้เดียงสา ไม่มีมาตรฐานเลย เพราะมันไร้เดียงสา แต่เราทำอย่างไรให้มันฉลาดขึ้นมา ทำอย่างไรให้มันอยู่ในกรอบขึ้นมา มันอยู่ที่เราไง นี่พูดถึงมาตรฐาน
ฉะนั้น เวลาปฏิบัติ ตรงนี้สำคัญ ทีนี้ถ้ามีครูบาอาจารย์ปั๊บ ตรงนี้มันจะวัดได้ ถ้าวัดไม่ได้ มันภวังค์หมดน่ะ เห็นไหม สมาธิก็เป็นสมาธิ แต่เราเกือบจะเป็นสมาธิ คล้ายๆ สมาธิ แต่ไม่ใช่ มันไม่ใช่เพราะสติไม่สมบูรณ์ สติมันดูแลไม่ได้ เพราะเป็นสัมมาสมาธิมันรำพึงไปได้เลย
เขาบอก สมาธิคิดไม่ได้ ถ้าคิดไม่ใช่สมาธิ
ถ้าสมาธิคิดไม่ได้ ปัญญามันเกิดอย่างไร สมาธิมันคิดแบบโลกไม่ได้ แต่มันจะเชิดชูขึ้นสู่ธรรมะได้ มันจะยกขึ้นสู่ได้ ถ้ายกขึ้นสู่ สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ยกขึ้นสู่วิปัสสนา ยกขึ้นสู่วิปัสสนา ยกอย่างไร ทำอย่างไรให้เกิดมรรคเกิดผล ทำอย่างไรให้จิตยกขึ้น แล้วถ้าจิตยกขึ้น ทำไมปุถุชน กัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล โสดาปัตติมรรคกับโสดาปัตติผลแตกต่างกันอย่างไร โสดาปัตติมรรค ผู้ที่เดินมรรค ผู้ที่มีปัญญา ควรจะเป็นโสดาปัตติผลคือควรเป็นพระโสดาบัน แต่อย่างนั้นมันสมุจเฉทปหาน เป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นไปไม่ได้มันจะเจริญแล้วเสื่อม เป็นกุปปธรรม
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ยืนยันกันนักว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนัตตา เป็นอนัตตาต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง ของดิบจะให้เป็นของสุก นั่นคือการเปลี่ยนแปลง นั่นคืออนัตตา ถ้ามันสุกแล้วทำให้สุกอีกได้ไหม สุกแล้วก็คือสุกไง ทำอีกก็ไหม้ไง ทำอีกก็เผาทิ้งไง ถ้ามันเป็นความจริง มันเป็นความจริงอย่างนี้ไง ถ้าความจริง นี่มาตรฐานของมัน ถ้ามาตรฐานของมันเป็นความจริงอย่างนี้ ประพฤติปฏิบัติขึ้นไป เราพยายามทำของเรา
ฉะนั้น จริตนิสัย จริตนิสัยแตกต่างกันไป ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นจริง ท่านก็พยายามทะนุถนอม พยายามจะชักจูง พยายามจะยกขึ้น
เวลาพระสมัยพุทธกาลนะ ใครก็แล้วแต่ไปอบรมจนได้เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามว่า ใครทรมานมา ใครทรมานมาคือคนที่ชี้นำ คนที่ยกขึ้น คนที่พยายามชักจูง นั่นน่ะคือใครทรมาน
ทรมาน ทรมานกิเลสไง เพราะกิเลสมันดีดดิ้น กิเลสไม่ยอมรับใคร กิเลสไม่ยอมซึ่งสิ่งใด ครูบาอาจารย์ท่านต้องมีอุบาย มีอุบายวิธีการ มีอุบาย กุศโลบายคอยชี้แนะจนให้ได้ฉุกคิด ความว่าฉุกคิดคือยอมรับความผิดของตน ถ้าจิตมันไม่ยอมรับความผิด ทุกคนจะจับผิดคนอื่น ไม่เคยจับผิดตัวเองเลย แล้วสติปัญญาที่จะย้อนกลับ ทวนกระแสกลับเข้าไปสู่จิตของตัวเองยากแสนยาก แต่ถ้าครูบาอาจารย์ท่านมีกุศโลบาย ท่านมีอุบายแล้วพยายามชี้แนะ พยายามใช้กลอุบายให้คนเขาได้คิด ให้เขาได้ย้อนกลับมา นี่ไง แล้วเวลาถ้าเขาทำได้ผลของเขา นี่จะมีบุญคุณมาก
ฉะนั้น เวลาหลวงตาท่านบอกว่า ท่านไปอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ ถ้าไม่ได้กราบหลวงปู่มั่น ท่านนอนไม่ได้ ก่อนจะนอนต้องกราบหลวงปู่มั่นก่อน ท่านซาบซึ้งขนาดนั้นนะ
ใครทรมานเรามา ใครเป็นคนชี้นำเรามา เราจะเชิดชูพ่อแม่ของเรามากเลย ชีวิตนี้ได้จากพ่อแม่มา สรรพสิ่งได้จากพ่อแม่ พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก แล้วครูบาอาจารย์พยายามชักนำมา ฉะนั้น เวลาหลวงตาท่านบอกว่า ท่านไปอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ ถ้าไม่ได้กราบหลวงปู่มั่น นอนไม่ได้ นอนไม่ได้ นอนไม่ได้เลย ต้องกราบก่อน นี่ความซาบซึ้งความลงใจ ครูบาอาจารย์ที่เป็นจริง เป็นจริงอย่างนี้ ถ้าเป็นจริงอย่างนี้ นั่นน่ะมาตรฐาน ถ้ามาตรฐานของธรรมเป็นอย่างนั้น
วิหารธรรม วิมุตติสุข มันจะเป็นของมันโดยธรรมชาติของมัน มันจะเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ไม่ต้องให้ใครไปปรับเปลี่ยนมัน มันจะเป็นความจริงอย่างนั้น ถ้าความจริงอย่างนั้น นี่มาตรฐานของมันที่ผู้ที่ปฏิบัติได้ แล้วมาตรฐานนี้เขาวัดกันได้ วัดกันได้ คนที่มีมาตรฐานวัดไง ไอ้เราวัดไม่ได้ เราไม่มีมาตรฐานเพียงพอ เราก็เลยเป็นควายให้เขาสวมจมูกแล้วก็จูงไป ให้เขาสวมจมูกนะ แล้วก็ลากไป มอ มอ เพราะเราไม่มีฐานของธรรมไปวัดใคร เอวัง
l