ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ชีวิตจริง

๗ ธ.ค. ๒๕๕๘

ชีวิตจริง

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๘

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่อง อยู่อย่างลำบากใจ

กราบเรียนหลวงพ่อที่เคารพเป็นอย่างสูง ลูกแค่อยากจะขอความเมตตาให้หลวงพ่อช่วยชี้แนะแนวทางใช้ชีวิตให้ลูกด้วยเจ้าค่ะ ลูกรู้สึกสับสน หาทางเดินไม่เจอ ตอนนี้สมาธิเสื่อมหมดแล้วเจ้าค่ะ ใจจริงๆ แล้วลูกก็ปรารถนาที่จะบำเพ็ญทาน ศีล สมาธิ สติ ภาวนา ให้ครบถ้วนสมบูรณ์เต็มที่ทุกอย่างนะคะ 

แต่การใช้ชีวิตทุกวันนี้มันเหมือนเส้นทางสองเส้นที่ตรงกันข้ามเลยเจ้าค่ะ เส้นทางธรรมนั้นเพื่อการละ แต่อีกเส้นทางหนึ่งไม่ใช่ ลูกไม่อยากจะฆ่าแม้แต่แมลงสาบตัวเล็กๆ หรือทำอะไรที่บิดเบือนไป แต่การอยู่กับคนอื่นๆ ในสังคมนั้นมันบีบบังคับมากเหลือเกินเจ้าค่ะ มันมีแต่เรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมาย ที่ดึงเราเข้าไปเกี่ยวอย่างที่เลี่ยงไม่ได้เจ้าค่ะ

เช่น การทำธุรกิจด้านอาหาร การรักษาความสะอาดของสถานที่สำคัญมาก จำเป็นต้องกำจัดแมลงและสัตว์ต่างๆ ที่อาจจะเป็นภัยกับอาหารและผู้บริโภค เป็นต้น และการทำธุรกิจเรื่องของเอกสารการเงิน ภาษี ทำให้ลูกลำบากใจไม่น้อยค่ะ ลูกไม่อยากจะทำตามใจคนอื่นๆ ค่ะ แต่ลูกก็อยู่ในสภาพที่เลือกไม่ได้ ทุกคนก็ต้องมีอาชีพ ต้องทำงานนะคะ ขอหลวงพ่อช่วยสอนลูกด้วยเจ้าค่ะ ขอบพระคุณ

ตอบ : นี่พูดถึงสังคมโลก เห็นไหม สังคมโลก สังคมโลกเป็นแบบนั้น กรณีอย่างนี้มันเป็นกรณีของหัวใจของเรา ถ้าหัวใจของเรานะ หัวใจของเราถ้ามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมาแล้วมันรู้จักหลบหลีกได้ แต่ถ้าหัวใจของเรายังไม่มีหลักมีเกณฑ์ ทำอะไรมันผิดไปหมดล่ะ

นี่เห็นไหม โดยเวลาเทศน์ไป หลวงตาท่านบอกเวลาท่านเทศน์ไป ท่านทำหน้าที่ของท่าน แต่ผู้ที่ฟังเทศน์ไปแล้วจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจนั่นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วถ้าเข้าใจ เข้าใจได้มากได้น้อย 

นี่พูดเรื่องกรรมๆ ทุกคนก็ว่าทุกอย่างเป็นกรรมๆ ด้วยความเห็นของเขา แต่ถ้ามันเป็นเรื่องของกรรมๆ กรรมดีมันก็มี คนเราไม่เคยทำกรรมดีเลยหรือ คำว่า กรรม” มันเป็นบาปอกุศลทั้งนั้นเลยหรือ กรรมดีมันก็มีไง กรรมดี กรรมคือการกระทำ แต่เวลาเราทำของเราแล้ว เราต้องมีสติปัญญาของเรา เราใช้คัดเลือกใช้แยกแยะเอา แล้วแยกแยะเอา แต่ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมาแล้วเราจะแยกแยะได้ อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ แล้วอะไรที่ มันจำเป็นต้องทำ หรือไม่จำเป็นต้องทำ 

ถ้ามันจำเป็นต้องทำนะ มันมีความจำเป็น ถ้ามีความจำเป็นเราต้องทำ ถึงมันจะเป็นกรรมก็เป็นกรรม แต่เป็นความจำเป็น เราต้องทำอย่างนั้น เพราะเราทำโดยมีสติมีปัญญา เราทำโดยความจำเป็นไง เพราะความจำเป็นมันบีบบังคับให้ต้องทำ ผิดศีลไหม ถ้าผิดศีล ผิดศีลคนที่เจตนาฆ่า คนที่เจตนาทำมันผิดศีล ไอ้นี่เราเจตนาไหม เราไม่เจตนาเลย เราไม่เจตนาเลยแต่มันจำเป็น 

มันมีอยู่ในกฎแห่งกรรม มีอยู่เรื่องหนึ่ง เราอ่านแล้วฝังใจมาจนป่านนี้ เขาบอกว่าเขาตายแล้วฟื้น คนนี้เป็นคนตายแล้วฟื้นนะ เขาเป็นชาวนา เป็นชาวนาเป็นผู้ที่มีศีล ก่อนที่เขาจะทำนา ทำนาโบราณเขาจะเผานา ถึงเวลาเขาจะเผานานะ เขาจะเอาไม้เคาะ ไม้เคาะไม้ไผ่เคาะ จะเผานานะ จะเผาแล้วแหละ เพราะมันถึงฤดูกาลที่ต้องทำนา เดี๋ยวจะเผานา” พอเผา เขาก็เผาของเขาไป ทีนี้พอเผาไปแล้วหนูนามันตาย พวกสัตว์มันตาย 

พอพวกสัตว์มันตาย สัตว์ที่เขาตายตามธรรมชาติก็อย่างหนึ่ง แต่มันมีหนูอยู่ตัวหนึ่งเขาอาฆาตมาก พออาฆาตมากเขาก็ไปรอที่ยมบาลเลย คนนี้เขาตายแล้วฟื้น แล้วถึงวันหนึ่งแกสลบไป คือแกตายชั่วคราว แกตายไปนะ พอแกตายไป ไปถึงยมบาล ยมบาลเขาก็ดูแล้ว เพราะคนนี้เป็นคนมีศีลนะ เขาเป็นคนมีศีล เขาก็ดูมันไม่มีเวรกรรม มันไม่มีเวรกรรม ถ้าจะไปมันก็ต้องไปสวรรค์ แต่เขาสลบไปคือเขาตายแล้วฟื้น เขายังไม่ถึงอายุขัยเขา 

ฉะนั้น มันมีหนูอยู่ตัวหนึ่งเขาไปยืนเฝ้าอยู่ ไปยืนเฝ้ารอคนนี้ ไปยืนรอคนนี้บอกว่าเขาโกรธมาก มันเหมือนคิดแบบทางโลกไง คือเขาตายโดยน้ำมือคนนี้ คนนี้เผานาแล้วหญ้าฟางทำให้เขาเสียชีวิต เขาบอกคนคนนี้ทำร้ายเขา เขาก็ไปแจ้งตำรวจ บอกไป ขึ้นศาล แบบว่าจะไปร้องเรียน ทีนี้เขาก็ไปอยู่ที่ยมบาล ไอ้คนคนนี้ ก็ตายไป

พอตายไปเขาบอกว่ามันไม่มีนะ คนคนนี้เขาไม่มีเจตนาทำผิด เขาเป็นคนมีศีลมีธรรม แต่เขาจำเป็นต้องทำนาของเขา ถึงเวลาทำนาของเขา เขาก็เอาไม้เคาะ บอกไป บอกว่า เขาจะเผานานะ ฤดูกาลทำนานะ สัตว์ที่มีอยู่ขอให้ออกไปนะ ขอให้ออกไป เพราะมันมีความจำเป็น” เขาก็เคาะบอกทุกเที่ยว เขาเป็นคนมีศีล มีธรรม เขามีครูบาอาจารย์สอนเขา ถึงเวลาแล้วเขาก็ทำนา ของเขา แล้วเขาก็ตายฟื้น เขาตายไป เขาบอก แล้วเขามาเล่า มันอยู่ในหนังสือกฎแห่งกรรม ของ ท.เลียงพิบูลย์ ไปอ่านได้ เราอ่านเจอ 

ฉะนั้น พอไปถึงปั๊บ ไอ้หนูตัวนั้นบอกไม่ได้ๆ เขาตายเพราะคนคนนี้ คนนี้เผาให้เขาตาย เขาไม่ยอม อย่างไรเขาก็ไม่ยอม ยมบาลก็ปวดหัวนะ ยมบาลหาทางออกไม่ได้ ยมบาลตัดสินนะ ฟังสิ ยมบาลตัดสินบอกอย่างนั้นไปเอาฟางมากองหนึ่ง เอาฟางมากองไว้ตรงนี้ แล้วให้ชาวนาคนนี้ขึ้นไปอยู่บนกองฟางนั้น 

แล้วก็ให้หนูตัวนี้ ตอนนั้นพอเขาหมดจากภพเป็นหนูแล้วเขาก็เป็นมนุษย์ เป็นจิต มันเห็นได้ เขาก็บอกว่าให้คนคนนี้เป็นคนจุดไฟเผาฟางกองนี้ แต่ก่อนจะจุดไฟเผาก็ต้องบอกว่า จะจุดฟางนี้แล้วนะ ให้ชาวนานี้ลงไป” พอถึงเวลาแล้วเขาก็ให้ทำแบบนี้ พอทำแบบนี้เสร็จแล้วชาวนาก็ลงจากกองฟางนั้น แล้วเขาก็จุดกองฟางนั้น ถือว่าเจ๊ากันไป จบ

เห็นไหม เราบอกว่าถ้ามีความจำเป็น ถ้ามีความจำเป็น เราทำความจำเป็น เราไม่มีเจตนาจะทำร้ายเขา เราไม่มีเจตนาทำสิ่งใดเลย แต่มันมีความจำเป็นต้องทำ ถ้ามีความจำเป็นต้องทำ เหมือนชาวนาคนนี้ เพราะว่าสมัยนั้นเขานิยมกันการจุดไฟ การจุดไฟเพื่อเผาวัชพืช เขาถึงฤดูทำนา เขาก็ทำอย่างนี้ของเขาทุกปี ก่อนที่เขาจะทำเขาก็เคาะเลยนะ เขาถึงฤดูกาลของเขาแล้วนะ เขามีความจำเป็นนะ สิ่งที่มีชีวิตให้หลบหลีกไปนะ นี่เขาบอก ก่อนเขาทำ เขาบอกเขากล่าวก่อน แล้วเขาก็จุดไฟเผา แล้วก็มี สัตว์ตายจริงๆ แล้วที่อาฆาตมาดร้ายก็ไปรอ นี้อยู่ในคนพ้นโลก

นี้เลยบอกว่า ถ้ามันมีความจำเป็น เราทำความจำเป็นของเรา แต่เราไม่ได้เจตนา ถ้าจิตใจเราไม่ได้เจตนาอย่างนั้น ถ้าเราไม่มีเจตนา นี่พูดถึงว่า เขาว่า การถือศีล การถือศีลแล้วอยู่ในโลกมันยุ่งมาก มันเหมือนเส้นทางสองเส้นทางเลย

เป็นอย่างนั้นจริงๆ ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นจริงๆ องค์สมเด็จ-พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่พูดไว้ในธรรมวินัยทุกข้อ ทางของฆราวาสเป็นทางคับแคบ ทางของนักบวชนักพรตนี่ทางกว้างขวาง ทางกว้างขวางเพราะถ้าศีลเราก็ถือของเราเอง อย่างเช่น ในปัจจุบันนี้เวลาเราปลูกต้นไม้แล้ว ต้นยางนา พวกปลวก ต้นตะเคียน มันชอบกินที่ราก ไอ้ยามันจะปวดหัวมาก มันจะตาย มันจะอะไร เราก็ต้องรักษา 

เวลาของเรา เราสั่งพระไว้เลย ถ้าปลวกมันขึ้นตามต้นไม้ให้ฉีด ให้ฉีด เพราะมันอยู่ตามดินนี่เรื่องของเขา แต่ขึ้นต้นไม้ ต้นไม้เราปลูกมาเป็นของของสงฆ์นะ ของของสงฆ์พระก็ต้องดูแลรักษา เห็นไหม เราให้ฉีดนะ เราไม่ได้ตั้งใจฆ่าปลวก เราตั้งใจ รักษาของของสงฆ์ รักษาต้นไม้นี้ ปลวกมันก็ว่าบ้านของมัน มันก็สร้างพอกดินขึ้นมา เราก็ฉีด ฉีดออกไป เรารักษาของของสงฆ์ มันรักษาด้วยกัน

ฉะนั้น เวลาเราสร้างโบสถ์ เห็นไหม เราสร้างโบสถ์ขึ้นมา สร้างโบสถ์ส่วนใหญ่เขาสร้างไว้ทำไม เขาสร้างไว้ทำสังฆกรรม ใช่ไหม เอาไว้บวชพระ เอาไว้ทำสังฆกรรมในโบสถ์ แต่ในโบสถ์นั่น ตุ๊กแกเต็มเลย จิ้งจกก็มี แมลงก็มี มันก็บอกของมันเหมือนกัน แต่เขาสร้างเพื่อสัตว์หรือ เขาสร้างเพื่อสังฆะ เขาสร้างเพื่อนั่น แต่มันมีมันก็เป็นหน้าที่ของพระไง 

นี่กิจของสงฆ์ ๑๐ อย่าง กิจของสงฆ์ ๑๐ อย่างคือกวาดลานเจดีย์ ดูแลรักษา เห็นไหม ต้องกวาด ต้องเช็ด ต้องถู นี่กิจของสงฆ์ เวลากิจของสงฆ์นี่ไม่ได้มอง ถ้าเรากิจของสงฆ์ เราทำของเราให้มันสมบูรณ์ขึ้นมา วัดไม่ร้าง ไม่ร้างคือมีข้อวัตรปฏิบัติ วัดร้าง พระเต็มวัดเลย แต่ไม่ทำข้อวัตรปฏิบัติเลย เหมือนกับวัดร้าง นี่มันอยู่ที่เจตนาไง

แต่ถ้าเป็นทางโลก ทางโลกเราคิดแบบวิทยาศาสตร์ ห้ามฆ่าสัตว์ เหาขึ้นหัวมันยังไม่สระผมเลย มันเป็นสัตว์ เหาบนหัว มันก็ไม่ดูแลรักษาทุกอย่าง เขาไม่ได้ฆ่ามัน เรารักษาศีรษะของเรา เราสระผมของเรา เราดูแลของเรา มันขึ้นมาทำไม เราก็หวี เราก็ดูแลของเรา มันคนละประเด็นกันน่ะ มันเป็นคนละประเด็น แต่เพราะจิตใจของเราไม่เข้มแข็ง จิตใจของเรา เราคิดของเราไปอย่างนี้ไง ถ้าจิตใจของเราเข้มแข็งขึ้นมานะ เราถือศีลของเรา

เขาบอกว่า เราไม่ได้พูดปด เราไม่ได้พูดปดนะ เราพูดตามความจริงทุกอย่าง แต่ของทุกอย่างที่เรามีต้นทุนใช่ไหม มีต้นทุน ค่าดอกเบี้ย ทั้งต้นทุน เราต้องการกำไรเท่าไร เราก็บวกหมด แล้วก็ตั้งราคา เราก็บอกราคานั้น พอบอกว่า อ้าวก็ซื้อมาเท่าไรอ้าวซื้อก็ส่วนซื้อมาสิ เราทำธุรกิจ เราทำการค้า เราก็พูดกับเขาไปตามความจริงนั่นน่ะ พอตามจริง เขาเต็มใจให้ด้วย ที่โลกนี้เขาไม่เชื่อใจ เขาไม่เชื่อใจคนโกหกดมดเท็จไง 

แต่ถ้าคนเขามีศีลมีธรรมนะ คนมีศีลมีธรรม ถ้ามีศีลจริงๆ แล้วทำได้นะ ทุกคนเขาเชื่อถือศรัทธานะ ทำสิ่งใดมันเป็นประโยชน์ทั้งนั้น แต่ถ้าเราอยากได้มากแล้วเราฉ้อฉล ได้หน สองหนมันจะไม่ได้อีกเลย นี่พูดถึงถ้าทางโลกถ้าจิตใจเราเข้มแข็ง พูดจริงๆ แต่คนเรามันไม่กล้าพูดความจริงไง 

ดูสิ ดูอย่างเช่น เช่นของ ของที่เขาไม่ได้ให้ หยิบไปนี่เป็นอาการลักทั้งหมด แล้วคนที่เขามีสติปัญญาเขาไปในไร่ในสวนใคร เวลาหิวนะ เขาใช้ไม้ทำเป็นตะขอแล้วแขวนไว้ แล้วเด็ดไป คือขอ พูดถึงถ้าของของเราถ้าคนมาขอกิน เราพอใจไหม เราไม่จำเป็นว่า เราจะใจดำขนาดที่ว่าเราจะไม่ให้ใครเนาะ ถ้าเขาขอ เขาขอเพื่อกินเพื่ออยู่นะ เอ้าเอาเถอะ

แต่ถ้าเขาลักขโมยของของเรา เราทำมา เราลงทุนลงแรง เราก็อยากได้ผลประโยชน์ แต่ถ้าเขาขอนะ ถ้าคนเขาขอ มันเต็มใจให้ ว่าอย่างนั้นเลย ผู้ให้นี่เต็มใจให้ เราอยากจะช่วยเหลือเจือจานกัน เราอยากจะให้ทุกคนมีความสุข ถ้าพูดกันจริงๆ มันพูดได้ แต่ แต่ส่วนใหญ่แล้วคนพูดไม่ออก เวลาจะขอจะเพื่อประโยชน์มันพูดไม่ได้ไง ศักดิ์ศรีมันค้ำคอ

แต่ถ้าจิตใจเป็นธรรมนะ คนเราจะสูงส่งขนาดไหน ถึงเวลาแล้วมันมีตกทุกข์ได้ยากได้ทั้งนั้น ราชสีห์มันยังให้หนูช่วยกัดเชือกมันเลย ราชสีห์เก่งขนาดไหน เวลาไปติดบ่วงของนายพราน หนูมันไปปลดให้ นี่ก็เหมือนกัน เราจะสูงส่งขนาดไหน คนเรามีลุ่มๆ ดอนๆ ทั้งนั้น เห็นน้ำใจต่อกัน นี่พูดถึงว่าถ้าคนจิตใจเป็นธรรมนะ มันจะไม่เดือดร้อนเรื่องอย่างนี้ มันเป็นไปได้ 

แต่จิตใจของเราเป็นโลก เป็นโลก เป็นวิทยาศาสตร์ ทำอย่างนี้ต้องเป็นอย่างนี้ ทำอย่างนี้ต้องเป็นอย่างนี้ มันมีเจตนาไง มันมีเจตนา เจตนานะ เราไม่ต้องทำ แต่ความจำเป็นมันมี ถ้าความจำเป็นมันมีเราทำไปก่อน ฉะนั้น ว่าถ้าทางสองแพร่ง ทางสองแพร่งจริงๆ เวลาทำงาน เราก็รักษาหัวใจของเรา ทำงานเลย แล้วเวลาเสร็จงานแล้ว หมดเวลา เราจะภาวนา เราภาวนาของเราได้

เขาบอกว่า ในปัจจุบันนี้เขาจะปฏิบัติ ตอนนี้สมาธิเสื่อมหมดเลย

เสื่อมสิ เสื่อมเพราะงานเรื่องหนึ่ง แต่จิตใจที่สับสบนี่เรื่องสำคัญกว่า เสื่อมเพราะเราสับสน พอมันสับสนมันวิตกกังวล นิวรณธรรม ความลังเลสงสัย ความลังเลสงสัย ความไม่แน่ใจ มันไม่กล้าทำอะไรเลย พอการไม่กล้าทำอะไร มันปิดกั้นหมดเลย จะเป็นความดีก็เป็นความดีขึ้นมาไม่ได้

แต่ถ้าเรามีสติปัญญาแยกแยะนะ ใช่ไม่น่าทำเลย ถ้าเลือกได้ไม่ทำ ถ้าเลือกได้ไม่ทำ แต่นี่มีความจำเป็น ทำ เราทำงาน แต่มันบังเอิญว่าจะไปกระทบกระเทือนชีวิตสัตว์ บังเอิญ แต่เราต้องทำหน้าที่การงานของเรา แต่มันบังเอิญ แล้วอย่างที่บังเอิญ ทำไมสัตว์นั้นไม่ไปอยู่ที่อื่น ทำไมสัตว์นั้นไม่หลีกเลี่ยงเรา ทำไมมันต้องมาอย่างนั้น นี่ไง ทำไมเขาไปเกิดอย่างนั้นล่ะ

เราพูด เห็นไหม บอกว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้ถือศีล ๕ มีโยมถามบ่อย แล้วเสือมันถือศีล ๕ ไม่ได้ เสือมันกินเนื้อ เราถามกลับเลย ทำไมมันเกิดเป็นเสือ ใช่ เสือมันกินเนื้อ ถ้ามันกินเนื้อ เห็นไหม แต่ถ้ามันเป็นเสือในสวนสัตว์ ถึงมันจะ กินเนื้อ เขาก็ซื้อซี่โครงไก่ให้มันกิน มันก็ไม่ได้ฆ่าสัตว์เหมือนกัน ถึงมันจะกินเนื้อ นี่ไง เราไปคิดกันเอง เราไปคิดก่อนเขาไงว่า มันต้องกินเนื้อ ทำไมถึงต้องล่า พอต้องล่า มันผิดศีล เสือมันถือศีล ไม่ได้ ถ้าเสือสวนสัตว์มันถือได้ เพราะเจ้าหน้าที่ไปซื้อแต่โครงไก่ให้มันกิน มันไม่ได้ฆ่า

เราคิดเองหมดเลย พอเราคิดเองหมดเลย เราก็ไปกว้านมาบีบคั้นหัวใจเราเองไง แต่เราคิดสิ กรรมของสัตว์ กรรมของเรา กรรมของเขา ทำไมเขาต้องเกิดอย่างนั้นล่ะ แล้วทำไมต้องมาเจอหน้าเราล่ะ มีโยมมาที่นี่ เขาขับรถมา มาถึง หลวงพ่อ” ทำบุญใหญ่เลย “ทุกข์มากเลย

ทำไมล่ะ

ขับรถมาชนหมาตาย ขับรถชนหมาตาย

เราบอก ไม่ใช่ หมามันวิ่งมาชนรถมึงตาย” เขางงเลยนะ บอกหมามันวิ่งมาชนรถมึงตาย เราขับรถมา เราตั้งใจชนหมาไหม เราไม่ตั้งใจหรอก เรามาทำบุญ ทุกคนก็ต้องอยากปลอดโปร่ง ทั้งนั้น แต่ทำไมมันชั่วเสี้ยววินาที มันวิ่งตัดหน้าเรา เราไม่ทันมัน เราไม่ทันเลย เราจะบอกว่ากรรมของสัตว์ตัวนั้นมันก็มี ทำไมมันต้องวิ่งมาชนรถเราล่ะ รถมันวิ่งเป็นร้อยๆ คันเลย ไม่เห็นคันไหนไปโดนทับมันเลย ทำไมมันวิ่งเข้ามาชนรถเรา นี่พูดถึงเรื่องของ กรรมๆ มันมหัศจรรย์นะ 

ฉะนั้น ที่ว่าเวลาเราทำอะไรผิดพลาด เราว่ากรรมเราทั้งนั้น เลยล่ะ แล้วกรรมของเขาล่ะ ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บ ถ้าเป็นคนพาล มันก็จะยกให้เขาหมดเลย ทีนี้เลยกลายเป็นคนพาลเลย จะพาลเขาไปทั่ว “กรรมของเขา กรรมเราไม่มี

คนเราจิตใจนะ ดูสิ เวลาหลวงตา ครูบาอาจารย์ท่านจะบอกเลย ท่านได้ทำหน้าที่ท่านแล้ว ทำหน้าที่คือเราเทศนาว่าการให้ธรรมเป็นทาน แล้วผู้รับเขาจะใช้ประโยชน์ของเขา ได้หรือไม่ คนฟังมาแล้ว คนฟังแล้วซาบซึ้งน้ำใจก็มี คนฟังแล้วไม่น่าเชื่อถือก็มี คนฟังแล้วคัดค้านก็มี มันอยู่ที่ใจของเขา แต่หน้าที่ของเรา เราได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว หน้าที่ของเขา เขาจะได้ประโยชน์ของเขาหรือไม่ได้ประโยชน์ของเขา เป็นหน้าที่ของเขา

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เรามีความจำเป็น เรามีอาชีพของเรา ถ้าอาชีพของเรา เราก็ทำ เช่น ทำธุรกิจร้านอาหาร เรื่องความสะอาด เรื่องความสะอาดนะ แล้วเรื่องเชื้อโรค เดี๋ยวเขาปลดใบอนุญาตเลย ใบอนุญาต ใบประกอบการนั่นน่ะ ใบประกอบการเขาต้องตรวจเชื้อโรคด้วย เขาตรวจหมดล่ะ ฉะนั้น เรามีอาชีพอย่างนี้ เราก็ต้องดูแลรักษา ดูแลรักษานะ

มีคนมาถามมาก ปลูกบ้านแล้วปลวกมันขึ้น แล้วไม่กล้าทำอะไรเลย เขาว่าไม่กล้าทำอะไรเลย เราบอกโง่น่าดูเลย ก็บริษัทกำจัดปลวกไง เราก็จ้างบริษัทเขาก็จบ เออเขาคิดของเขาได้เหมือนกัน สุดท้ายแล้วตอนหลังนี้มานะ มีคนมาปรึกษาเรื่องนี้ เยอะมาก อยู่บ้านมดขึ้นหมดเลย ลำบากมากเลย เราบอกว่าหน้าที่รักษาเป็นหน้าที่ของเรา หน้าที่ของสัตว์ หน้าที่ของมด 

ตั้งแต่นั้นมานะ เขาบอกว่าถ้ามดมานะ เขาก็พูดว่าเขาจะทำความสะอาดนะ แล้วเขาก็ทำของเขา บอกเดี๋ยวนี้เขาอยู่สบายขึ้นเยอะเลย ไม่เหมือนเมื่อก่อน เมื่อก่อนเนี่ยจะทำหรือก็ละล้าละลัง แล้วในบ้านเรามันก็สกปรกไปหมดเลย แต่เราก็บอกเขา นี่ไม่ใช่เลี่ยงบาลีนะ จะบอกว่า พวกนี้รู้มาก ชอบเลี่ยง เราไม่ใช่เลี่ยง เรารักษาชีวิต 

พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์เขาต้องสร้างคุณงามความดีของเขาไปเพื่ออำนาจวาสนาของเขา ชีวิตของเรามีอยู่นะ เราจะต้องเดินไปข้างหน้านะ แล้วชีวิตเรา เราต้องไปได้ อย่าให้คนเขามองแล้วขำๆ พวกนี้พวกชาวพุทธทำอะไรก็ครึ่งๆ กลางๆ จะทำอะไรก็ไม่กล้าทำ ไอ้เวลาจะทำก็ทำไม่จริง” ชาวพุทธเป็นอย่างนี้ไปหมดเลยหรือ ชาวพุทธนี่ครึ่งๆ กลางๆ จะว่าเป็นคนก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นสัตว์ก็ไม่เชิงอยู่อย่างนั้นหรือ ชาวพุทธก็ต้องเข้มแข็งสิ ต้องมีปัญญาสิ ต้องทำได้ เราไม่ได้ผิดศีล ศีลด่างพร้อย ศีลขาด ศีลทะลุ มันมีของมัน เห็นไหม 

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน พอถือเป็นวิทยาศาสตร์ก็ยุ่งไปหมดเลย ทำอะไรทำไม่ได้ทั้งนั้น แล้วเขาบอกเลย ทำอะไรก็สังคมมันบีบบังคับ สังคมบังคับทุกอย่างเลย มีกฎเกณฑ์มาก

ประเทศที่เจริญแล้วก็มีอย่างนั้น แล้วกฎหมายก็เป็นกฎหมายไง ของเรากฎหมายแล้ว กฎหมายพวกใครพวกมัน สังคมของเรา สังคมของเรา เราก็พยายามเลียนแบบเขา กฎหมายที่ไหนก็มีเขียนเหมือนกันนะ แต่การบังคับใช้ เราไม่ได้บังคับใช้ เห็นไหม แล้วยังมีพวกเขาพวกเราอีกต่างหาก 

ไอ้นี่เขาอยู่เมืองนอก ฉะนั้น สังคมเขา สังคมเขาใช้บังคับใช้กฎหมาย เขาจะบีบบังคับ เราก็ทำให้มันถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเราเลือกทางนี้ พอทำถึงที่สุดแล้วนะ ถ้าคนมันมีสติปัญญา มันจะเปลี่ยนหน้าที่การงาน จะเปลี่ยนงานไป ถ้าเปลี่ยนงานไปมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ 

ฉะนั้น อย่าสับสนไง เขาเขียนมาถาม หนูรู้สึกสับสนมาก หาทางเดินไม่เจอ ตอนนี้สมาธิเสื่อมหมดเลย

หาทางเดินไม่เจอเพราะเราสับสน กลับมาตั้งสติ เราเป็นมนุษย์ สิ่งที่มีค่าที่สุดคือความเป็นมนุษย์ของเรา จิตใจของเรา ความเป็นมนุษย์ แล้วความเป็นมนุษย์ มนุษย์จะเดินไปทางไหน ถ้ามนุษย์จะไปทางไหน เราเกิดมาเป็นคนต้องมีหน้าที่การงาน เราก็ทำหน้าที่การงานของเรา ก็ตั้งสติของเรา ไม่มีเจตนาทำความผิดเลย แต่มันเป็นความจำเป็น มันเป็นเรื่องอาชีพ 

แล้วเวลาทำเสร็จแล้วเวลาภาวนา ภาวนาก็สาธุ ถ้าจิตใจคนอ่อนแอ กรรมมันคลุกเคล้า หันซ้ายก็ไม่ได้ หันขวาก็ไม่ได้ ทำสิ่งใดไม่ได้เลย แล้วก็สับสน ทางโลกทำธุรกิจของตนก็มีปัญหา เวลาจะไปภาวนายิ่งยุ่งใหญ่เลย เพราะอะไร เวลาไปภาวนาก็ไปน้อยเนื้อต่ำใจ เกิดมาเป็นชาวพุทธจะทำคุณงามความดี ธุรกิจก็มีปัญหา เวลาจะมาภาวนายิ่งปัญหาทับซ้อนเข้าไปใหญ่เลย มันก็เลยล้มไปเป็นแถบเลย ล้มไปตั้งตัวไม่ได้เลย

แต่ถ้าเราจะตั้งตัวของเรา มีความจำเป็นทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย เราเลือกทางนี้แล้ว เราไม่มีเจตนาจะทำร้ายใครทั้งสิ้น ก่อนทำอะไร เราก็ขออโหสิ ขออภัยทั้งสิ้น แล้วเราทำของเรา ทำเสร็จแล้วนะ ถ้ามันเป็นอาชีพของเรา เสร็จแล้ววาง วางแล้ว เรามาภาวนาของเราให้ได้ ให้มันจริงให้มันจังอย่างนี้ ถ้ามันจริงมันจังขึ้นมาแล้วชีวิตมันไม่สับสน

ชีวิตนี้มีค่านะ ชีวิตนี้มีค่ามาก ทีนี้เกิดมาแล้ว คนเรามันแบบว่า เพราะมีคนเมื่อก่อนมาบ่นมากเลย หลวงพ่อ อยากบวชมากเลยล่ะ แต่มันผิดพลาดไปแล้ว มีครอบครัวไปแล้ว” บอก “ถ้าอย่างนั้นเอ็งก็ต้องให้ลูกๆ เอ็งมีงานทำก่อนแล้วค่อยมาบวช” คนมันคิดมาก 

นี่ไง มันผิดพลาดไปแล้วมันต้องรับผิดชอบสิ มีครอบครัวไปแล้ว แล้วถึงเวลาแล้วตัวเองก็คิดดีจะมาบวช แล้วก็ทิ้งให้แม่มันเลี้ยงเดี่ยว แล้วเอ็งมาอยู่คนเดียวได้อย่างไร เอ็งต้องดูแลส่งเสีย ให้เขาเรียนจบ ให้มีหน้าที่การงานทำก่อน ถ้าเอ็งคิดได้ เอ็งค่อยกลับมาบวช ถ้าเอ็งคิดไม่ได้ เอ็งก็ต้องคอยดูแลลูกเอ็งไปจนแก่เฒ่า นี่ถ้าเวลามันผิดพลาดไปแล้วเราก็ต้องรับผิดชอบ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติ ทางเลือกไง หาทางออก หาทางเลือก เวลาทางเลือก นี่ยังดีนะ ยังคิดได้ เห็นไหม ถ้าคิดไม่ได้มันไปเรื่อยเลย

ทีนี้เขาบอก เวลาทำไปแล้วมันจะมีเรื่องเอกสาร เรื่องการเงิน เรื่องภาษี” 

ถ้าเป็นกิจการของเรามันก็ยังทำให้มันถูกต้องได้ แต่ถ้าเราเป็นคนงานของเขา ถ้าเจ้าของเขาต้องให้ทำอย่างนั้นมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ เรื่องภาษี เรื่องอะไร 

เพราะพระเรา เห็นไหม พระเราเวลาด่านขนอนคือด่านภาษี ถ้าพระข้ามด่านขนอนไง คือเอาสินค้าชนิดหนึ่งที่ราคา ต่ำกว่าข้ามด่านขนอนเป็นปาราชิก คือมันมีค่าเกินบาท นี่พูดถึงพระนะ พระจะเสียต่อเมื่อด่านขนอนคือด่านศุลกากร ด่านตรวจคนเข้าเมือง เวลาสินค้าเข้าออก เรื่องนี้ถ้าพระเอาสินค้าเข้าโดย ไม่ได้เสีย ทันทีเลย

ทีนี้เขาพูดบ่อยมากว่าตอนนี้ไอ้พวกนี้พวกลิขสิทธิ์ แล้วพระใช้ พวกเราใช้จะเป็นอะไรไหม พวกลิขสิทธิ์เป็นลิขสิทธิ์นะ แต่ทีนี้ถ้ามันอยู่ในเมืองไทย มันมีของมันอยู่ เราไม่ได้เอาเข้ามา นี่พูดประสาเรานะ นี่พูดถึงภาษี เดี๋ยวกระทรวงการคลังมันจะจับ พระสงบไปตรวจสอบ ไอ้นั่นเรื่องของเขา แต่ของเรา เขาพูดของเขา ถ้าเป็นของเราเอง เราจะบอกว่า ถ้าเป็นของเราเอง เราทำให้มันถูกต้องเสีย เพื่อความสบายใจไง แต่ถ้าเราเป็นลูกจ้างเขา เราก็ทำอย่างมีความจำเป็นว่าอย่างนั้น

ลูกไม่อยากทำตามใจคนอื่นๆ ค่ะ แต่ลูกก็ไม่มีสภาพที่จะเลือกได้

ฉะนั้น เราทำของเรา นี่หาทางออกนะ หาทางออก พูดถึงว่าการถือศีล การประพฤติปฏิบัติ ธรรมกับโลก ถ้าเป็นเรื่องของโลกก็เป็นเรื่องของโลก แต่เรื่องของโลก เราก็ต้องคัดแยกของเรา 

ถ้าเป็นเรื่องของธรรมล่ะ เรื่องของธรรม เพราะเราปรารถนาไง เราปรารถนาอยากจะประพฤติปฏิบัติ อยากจะทำ ความจริงของเราขึ้นมาให้ได้ เพราะชีวิตนี้มีค่านัก ชีวิตนี้มีค่านัก เวลามีสติ เราก็เห็นคุณค่าของมันแล้ว เวลาเกิดสมาธิขึ้นมามีความสุขด้วย แล้วจะเห็นใจของเราเลย แล้วถ้าเกิดปัญญาขึ้นมา เกิดภาวนามยปัญญามันจะทึ่งมาก ทึ่ง

ถ้าเวลามันเสื่อม เวลาเสื่อมแล้วถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ ไม่มีหมู่คณะดึงไว้นะ มันเจริญแล้วเสื่อมๆ ไง คนเราเวลาปฏิบัติไปแล้วเกิดอาการส้มหล่น คนเรามันมีบุญนะ มีบุญบางครั้ง แต่เวลาปฏิบัติไปแล้วมันไม่ต่อเนื่อง มันเสื่อม ถ้าเสื่อมไปแล้วนะ มันก็เหลวไหลได้ นี่มันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญอยู่อย่างนั้น เราถึงเกิดในวัฏฏะไง นี่เราพยายามทำของเรา ปฏิบัติของเรา ให้เป็นประโยชน์กับเรา

นี่พูดถึงว่า ชีวิตมันเหมือนสองเส้นทางที่ตรงกันข้าม ทางหนึ่งเป็นทางโลก ทางหนึ่งเป็นทางธรรม แล้วเราตอนนี้ใจหนึ่งก็อยากจะประพฤติปฏิบัติ แต่ก็ต้องปรับตัวอยู่กับทางโลกเขา” 

นี่พูดถึง ให้คัดเลือก ให้คอยคัดเลือกคัดแยกเอาไง พยายามสร้างๆๆ สร้างสติปัญญาอย่าให้สับสน ถ้าข้างในไม่สับสนนะ ความเป็นอยู่อย่างนี้ไม่สับสนเลย เวลาคนที่มีปัญหาแบบโยม เขามีปัญหามาก่อน แล้วเขาเคลียร์ปัญหาของเขาได้นะ เขาพ้นจากความสับสนนั้นมา เขาก็อยู่ทางโลกได้ด้วยความสุขสบาย 

แต่ของเราเนี่ย เรามาเจอปัญหา พอเจอปัญหาขึ้นมา ข้างใน ของเราคือจิตใจของเรามันไม่มั่นคง ถ้าจิตใจเราไม่มั่นคง เราก็ศึกษาอย่างนี้ ศึกษาของเรา เราทำด้วยความจำเป็น เราไม่มีเจตนา เราทำเพื่อรักษาชีวิตนี้ไว้ก่อน รักษาชีวิตไว้เพื่อประพฤติปฏิบัติไง

ดูพระเราสิ พระเรา เห็นไหม ดูสิ บิณฑบาตมาดำรงชีวิตไว้ ดำรงชีวิตไว้ทำไม ดำรงชีวิตไว้เพื่อประพฤติปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติมันเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม ฉันอาหารของโลกเขาด้วยความไม่มีโทษเลยล่ะ แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เราบิณฑบาตมา เราฉันอาหารของเขา ถ้าเราทำตัวไม่ดี เราฉันอาหารด้วยความเป็นโทษนะ ความเป็นโทษ เป็นโทษว่าของเขาสะอาดบริสุทธิ์ไง แต่ของเราฉันไปแล้วเราไม่ทำความสะอาดบริสุทธิ์ นี่พูดถึงพระ

ถ้าจะคิด คิดแบบโยมไง คิดแบบทำธุรกิจแล้วมันมีปัญหา ถ้าคิดแบบพระคิดอย่างนี้ไม่กล้ากินข้าวใครเลยนะ บิณฑบาตมาแล้วก็นั่งมอง กลัว กลัวมาก ไม่กล้าฉัน แต่ถ้าฉันไปแล้ว เห็นไหม ถ้าฉันไปแล้วเราฉันเพื่อดำรงชีวิตไว้เพื่อประพฤติปฏิบัติ เพื่อทำคุณงามความดี ถ้าความดีมันเกิดขึ้น ความดีของเรามัน ดีขึ้นมา คิดได้ปั๊บ ถ้าขณะคิดได้ปั๊บ มันก็ทำได้ นี่เวลาเราคนคิด คิดดีๆ นะ

แต่เราดูข่าวเยอะ แล้วข่าวเวลาลงข่าวที่พระทำความผิด พระผิดกฎหมาย เห็นแล้วมันสะเทือนใจ มันสะเทือนใจที่ว่าแล้วเขาจะเชื่อกันได้อย่างไรล่ะ สังคมจะเชื่อได้อย่างไร แล้วสังคมไม่เชื่อแล้ว เวลาเขาเรียกว่าศาสนสัมพันธ์ เวลาแต่ละลัทธิ แต่ละศาสนามาคุยกัน ศาสนาเขาก็คุยของเขาว่าศาสนาเขามั่นคง ศาสนาเขาดีงาม 

ศาสนาพุทธเวลาเขาพูดถึง เขาพูดถึงพระที่ทำความผิด แต่เขาไม่ได้พูดถึงอริยสัจเลย เขาไม่ได้พูดถึงทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เขาไม่ได้พูดถึงสัจจะความจริงที่ทำได้จริงเลย แล้วคนทำได้จริง คนทำได้จริงแล้ว คนทำได้จริงส่วนใหญ่แล้วท่านจะเชิดชูไว้ในหัวใจ ท่านก็ไม่กล้าพูดออกมาเหมือนกัน เพราะกว่าจะทำได้จริงมันแสนทุกข์แสนยาก แล้วมันทำได้จริงๆ นะ แล้วพูดออกไปแล้วเขาไม่เชื่อด้วย แล้วพูดออกไป นรกสวรรค์ เขาก็ยิ้มๆ แล้ว เฮ้ยมันมีอยู่จริงหรือ เฮ้ยมรรคผล มรรคผล ยิ่งแปลกใจใหญ่เลย 

ฉะนั้น คนที่ทำได้จริงเขาก็พูดต่อเมื่อผู้ที่ปัญญาชนด้วยกันไง ไม่พูดกับพวกที่เอาสีข้างเขาถู มันก็เลยต่างคนต่างไม่พูดเข้าไปใหญ่ เขาก็เลยมองพระทางลบไปทั้งนั้นเลย ถ้ามองพระในทางลบ เขามองพระอย่างนั้นไง ฉะนั้น พระอย่างนั้นมันก็มีอยู่จริง แล้วเราจะปฏิเสธได้อย่างไร ก็เป็นวิทยาศาสตร์ ก็เห็นจริงๆ

แต่ถ้าความจริงล่ะ เขาพูดถึงอริยสัจไหม พูดถึงหลักการในศาสนาไหม แล้วเวลาพูดขึ้นมาก็พูดไม่เป็น พูดก็เอาสีข้างเข้าถูอย่างนั้นน่ะ แต่ครูบาอาจารย์เราผลัวะผลัวะอยู่หมดล่ะ ผลัวะเพราะว่ามันเป็นบัณฑิต มันฟังธรรมไง ถ้าไม่ฟังธรรมก็จบ

นี่พูดถึงว่าเวลาเราอยู่ทางโลก ชีวิตนี้มันเหมือนสองเส้นทางขนานกัน เส้นทางทางโลกเราก็ต้องหาสัมมาอาชีวะ เส้นทางทางธรรมเราก็ต้องประพฤติปฏิบัติ เราก็ต้องฝึกฝนอย่างนี้เพื่อให้จิตใจมันเข้มแข็งขึ้นมา ให้มันมีหลักมีเกณฑ์ นี่พูดถึงว่าสองเส้นทางทางโลกเนาะ

ถาม : เรื่อง กามตัณหา” 

เรียนถามหลวงพ่อ การละกามตัณหาชั่วคราวเป็นสมาธิใช่ไหมคะ จำเป็นจะต้องละถาวรไหมคะ หรือเป็นแค่ทางเท่านั้น เพราะถ้าตลอดเวลาจะทำงานไม่ได้ เดินไม่ได้

ตอบ : คำถามนี้แปลกมาก คำถามนี้คือว่าเวลาปฏิบัติขึ้นไป คนเราพยายามจะประพฤติปฏิบัติ แล้วเวลาปฏิบัติ เห็นไหม เวลาปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ปัจจัตตังคือประสบพบเห็น ปัจจัตตัง เรารู้เฉพาะหน้าของเรา สันทิฏฐิโกคือรู้เองเห็นเอง รู้ตามความเป็นจริง 

แต่เวลาคนเราไม่มีหลักเกณฑ์มันเป็นอย่างนี้ ถามว่า การ ละกามตัณหาชั่วคราวเป็นสมาธิใช่ไหมคะ” อันนี้เป็นข้อหนึ่งนะ การละกามตัณหาชั่วคราวเป็นสมาธิใช่ไหมคะ” มันก็เหมือนกับว่า เราทำความสงบได้ เราทำสมาธิ กามตัณหามันก็ไม่มีไง คือว่า “ละกามตัณหานี้เป็นสมาธิชั่วคราวใช่ไหมคะ” นี่คำถามนี้คำถามหนึ่งนะ แล้วอีกคำถามหนึ่งเขาบอกว่า ต้องละถาวรใช่หรือไม่ ถ้าละถาวรแล้วมันทำงานไม่ได้” 

ไอ้นี่คำถามนี้มันฟ้องหมดเลย แสดงว่ามันไม่ได้ละ มันกด ไว้เฉยๆ ถ้ากดไว้เฉยๆ อาการกด เพราะกดแล้วมันขยับไม่ได้ไง ถึงบอกว่าถ้าจะละตลอดไปคือทำงานไม่ได้เจ้าค่ะ ถ้าทำงานได้ ก็ต้องเคลื่อนไหว ถ้าเคลื่อนไหวก็กดไว้ไม่ได้ ก็เลยกลายเป็นว่า คำถามนี้มันเป็นสองประเด็น 

พอสองประเด็นปั๊บ คำถามมันฟ้องตัวมันเองหมดเลย คำถามว่า การละกามตัณหาชั่วคราวเป็นสมาธิใช่ไหมคะ” คำว่า “ชั่วคราว” คำว่า ชั่วคราว” ถ้ามันเป็นสมาธิมันก็ปล่อยวาง จิตมันก็เป็นสัมมาสมาธิมันก็ละได้ ละได้ชั่วคราว สมาธิ เห็นไหม สมาธิ อัปปนาสมาธิละกายได้เลย ละกายได้เพราะเป็นอัปปนาสมาธิสักแต่ว่ารู้ จิตนี้อยู่ท่ามกลางร่างกายนี้ มันหดจนไม่รับผิดชอบร่างกายเลย ทั้งๆ ที่อยู่ด้วยกัน แต่ไม่รับรู้เลย เห็นไหม แม้แต่ สมาธิละกายได้เลย 

อัปปนาสมาธิสักแต่ว่ารู้ คำว่า สักแต่ว่ารู้” คือไม่รับรู้เรื่องร่างกาย ไม่รับรู้อะไร ตัวจิตจะเด่น เด่นเฉพาะตัวเขา เฉพาะตัวจิตมันจะเป็นอิสระ เด่นของมันอยู่อันเดียว ไม่รับรู้อะไรเลย นี่อัปปนาสมาธิ แม้แต่สมาธิมันยังละร่างกายได้ชั่วคราวเลย แต่ละด้วยสมาธินะ ละด้วยสมาธิคือชั่วคราว เพราะว่าเรามีชีวิตใช่ไหม กายกับใจอยู่ด้วยกัน แต่ขณะที่เข้าสมาธิมันหดเข้ามาเป็นตัวมันเอง มันไม่รับรู้เรื่องร่างกาย นี่อัปปนาสมาธิ

เวลาออกจากอัปปนาสมาธิมันก็รับรู้เป็นธรรมชาติ เพราะมันหนีกันไม่ได้ไง เพราะเราเกิดมาเป็นคนใช่ไหม เราเกิดมาอยู่ในอายุขัยนี้ มันมีกายกับใจ ทีนี้ใจอยู่ในร่างกายนี้มันก็ต้องรับรู้ร่างกายนี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่เวลาเข้าสมาธิ เข้าสมาธิจิตมันเป็นอิสระ มันเป็นหนึ่งเดียว อัปปนาสมาธิมันก็ไม่รับรู้เรื่องร่างกายนี้เลย อันนี้เป็นสมาธิจริงๆ

แต่บอกว่า การละกามชั่วคราวเป็นสมาธิหรือไม่” การละกามชั่วคราว เพราะคำถามที่สองมันจะไปตอบคำถามแรก คำถามที่สองว่า ต้องละถาวรใช่หรือไม่ เพราะการละถาวร มันละไม่ได้ เพราะมันทำงานไม่ได้ มันเดินไม่ได้” 

ถ้าเดินไม่ได้มันเป็นขันติ เป็นการอดทน เป็นการกดทับไว้ ว่าหินทับหญ้าๆ เราไปกดทับไว้เฉยๆ ถ้าเราไปกดทับไว้เฉยๆ ถ้าจะละตลอดไปก็ต้องกดอยู่อย่างนั้นเลยขยับไม่ได้เลย 

มันไม่เป็นอย่างนั้น โธ่ก็ดูพระอนาคามี พระอนาคามีเขาละกามตัณหา พระอนาคามีนะละกามราคะ ปฏิฆะ พระอนาคามีละได้ แล้วพระอนาคามีก็ดำรงชีวิตปกติไง พระอนาคามีโดยปกติ พระอรหันต์ พระอนาคามี เขาดำรงชีวิตโดยปกติ ถ้าดำรงชีวิต ปกติเขาก็เคลื่อนไหวได้ เขาคิดได้ ทำอะไรได้ ทำได้ทุกอย่าง แต่ไม่มีกิเลส ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ก็มีอยู่ ขันธ์ที่สื่อสาร แต่มันไม่มีกิเลสไง แต่ถ้าเป็นปุถุชนเรา เขาเรียกว่าขันธมาร เพราะว่ามันมีมาร

แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ พระอนาคามี พระอนาคามีกามราคะ ปฏิฆะหมดแล้ว ถ้าหมดแล้วเขาก็เคลื่อนไหวได้ เขาก็อยู่ได้โดยปกติ อยู่ได้เพราะอะไรล่ะ อยู่ได้เพราะเขามีมรรค เวลาเขาเจริญมรรค เจริญมรรคมันสำรอก มันคาย มันฆ่า ฆ่ากิเลส กามราคะ ปฏิฆะเป็นสังโยชน์ สังโยชน์ที่มันอยู่ในใจที่มันผูกมัดที่มันมีอยู่โดยธรรมชาติในใจ ที่ว่ามันนอนเนื่องคือมันเป็นเนื้อเดียวกัน 

เหมือนกับน้ำที่มันมีขุ่นตะกอนมันอยู่ด้วยกัน แต่ถ้าลองได้ กรองตะกอนนั้นออกหมด น้ำใสๆ ที่ไม่มีขุ่นตะกอน มันก็เป็นน้ำอีกประเภทหนึ่งใช่ไหม น้ำที่มีตะกอนกับน้ำที่ไม่มีตะกอนแตกต่างกัน น้ำที่มีตะกอนก็คือพวกเรานี่ไง เดี๋ยวดี เดี๋ยวชั่ว เดี๋ยวร้าย นี่น้ำที่มีตะกอน พระอนาคามีคือน้ำที่ไม่มีตะกอนไง เพราะได้กรองตะกอนนั้นทิ้งหมดแล้ว ถ้ากรองทิ้งหมดแล้วนะน้ำใสๆ มันเขย่าอย่างไรมันก็ใส เขย่าขนาดไหนมันก็ใส นี่ก็เหมือนกัน ถ้าละกามราคะถาวรมันก็เหมือนน้ำใสๆ ที่ได้กรองตะกอนนั้นทิ้งแล้ว

แต่ของเรา เราบอกว่า ถ้าจะละถาวรมันทำงานไม่ได้เลย” แสดงว่ามันใสแต่น้ำข้างบนไง ตะกอนมันอยู่ก้นแก้วไง ขยับไม่ได้ ขยับนี่กามขึ้นเลย นี่ไงคำถามมันฟ้องเอง คำถาม มันฟ้องของมันเอง ถ้าฟ้องของมันเอง ฉะนั้น ถ้าการละกามราคะ เราจะบอกว่าทุกคนก็อยากจะรักษาหัวใจของเราไม่ให้มีสิ่งใดมา กระตุ้น ก็พยายามจะบอกว่าพยายามจะละกามราคะต่างๆ 

ไม่ต้องไปคิดอย่างนั้นหรอก เราพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ความสงบระงับนั่นแหละ อันนั้นเป็นข้อเท็จจริง แล้วถ้ามันจะละได้จริงๆ มันต้องพิจารณาของมัน พิจารณากาย สำรอกคายสังโยชน์ ๓ ไปก่อน ถ้ามันขาดไปแล้ว เห็นไหม แล้วถ้ามันพิจารณาต่อเนื่องไป กามราคะ ปฏิฆะอ่อนลง แล้วถ้าพิจารณาต่อเนื่องไป กามราคะปฏิฆะจะขาดไป อันนี้คือข้อเท็จจริง อริยสัจ สัจจะความจริงเป็นแบบนี้ สัจจะความจริง นี่ทำตามข้อเท็จจริง

คำว่า มาตรฐานๆ” มาตรฐานมันจะเป็นอย่างนี้ ถ้ามาตรฐานเป็นอย่างนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสรู้อย่างนี้ พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ตรัสรู้อย่างนี้ พระอัครสาวก พระอรหันต์เขาก็บรรลุธรรมอย่างนี้ แล้วเวลาบรรลุธรรมอย่างนี้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม เอหิภิกขุ บวชมาเอง ๑,๒๕๐ องค์ เป็นพระอรหันต์หมดเลย 

ถ้าพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแตกต่างกัน ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์เข้าใจได้หมดล่ะ ความเข้าใจได้เหมือนกัน ความเห็นเหมือนกัน ก็คือว่ามีความสะอาดบริสุทธิ์เหมือนกัน นี่มาตรฐาน มาตรฐานมีมาตรฐานเดียว มาตรฐานเดียว ความจริงเป็นอย่างนี้

แต่เวลาประพฤติปฏิบัติ พวกเรานี่เรามาปฏิบัติกัน เราไปหาครูบาอาจารย์กัน ต่างคนต่างมีแง่มุม ต่างคนต่างใส่ความเห็นของตัวเข้าไป ก็เลยเละกันอยู่อย่างนี้ ในวงปฏิบัติที่มันเละกันอยู่อย่างนี้เพราะอะไรล่ะ เพราะใครมีมุมมองอย่างไร ใครมีความเห็นอย่างไรก็ใส่เข้าไป แล้วก็ฉันรู้ๆ มันน่าเศร้า มันน่าเศร้าที่บอกว่า พระพุทธเจ้าเคยบอกไว้แล้วมันหายไป แล้วข้าพเจ้ามาค้นหาเจอ” น่าเศร้า น่าเศร้ามาก 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐ แล้วอย่างปัญญาอย่างนี้จะมาค้นเจอได้อย่างไร ถ้าค้นเจอมันต้องค้นกิเลสของเราเจอ ไอ้ค้นไอ้ความอยากดังอยากใหญ่ ทิฏฐิมานะ ไอ้มารเราเจอนี่สิอย่างนี้สุดยอด ถ้าค้นกิเลสเราเจอ เออเก่ง เก่งมากๆ ไอ้นี่ไปค้นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เคยพูดไว้ แล้วมันเลือนรางไป เราไปสะดุดเจอ เราไปสะดุดมันเลยเจอขึ้นมา นี่มีความคิดมีมุมมองอย่างนั้น มันก็เลยแตกต่างกันไปอย่างนั้น

ฉะนั้น สิ่งที่คำถาม ไม่รู้ว่าเขาถามเรื่องอะไร ก็เลยไม่รู้จะตอบอะไร แต่เพียงแต่ว่าเขาถามมาอย่างนี้ไง ถามว่า เรียนถามหลวงพ่อ การละกามตัณหาชั่วคราวเป็นสมาธิใช่ไหมเจ้าคะ จำเป็นต้องละถาวรใช่ไหมคะ หรือเป็นแค่ทางผ่านเท่านั้น เพราะถ้าละตลอดเวลาจะทำงานไม่ได้ เดินไม่ได้” 

ไอ้นี่มันเป็นมุมมองเป็นความเห็น เวลาปฏิบัติไปแล้วเราไปรู้ไปเห็นอย่างนี้เข้า ถ้ารู้เห็นอย่างนี้เข้ามันก็เป็นประสบการณ์อันหนึ่ง แต่ถ้าเป็นโยม โยมก็บอกว่า มันเป็นประสบการณ์ มันก็ทำมาเกือบตาย ทุกข์มากเลย หลวงพ่อต้องให้คะแนนบ้างสิ แหมหลวงพ่อจะลบหมดเลย” มันก็เป็นที่โยมที่ถามทำมาก็ได้ประสบการณ์ แต่ถ้าพูดถึงสัจจะ พูดถึงมาตรฐานเดียว มันเป็นที่โยมเขาไปได้สัมผัส แต่มันยังต้องก้าวหน้าไปกว่านี้อีกเยอะ มันไม่ใช่หรอก มันไม่ใช่

เพราะว่าการละกามตัณหามันต้องไปเห็นอสุภะ ถ้าเห็นอสุภะแล้วมันละ อสุภะนี้เป็นเหตุ ถ้ามันละได้ เราทำเจริญภาวนา ของเรามันก็เป็นเหตุ ถ้าเหตุมันชำระสะสางกัน มันเป็นผล เหตุ เหตุถ้ามันถูกต้อง ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าเหตุมันถูกต้องมันจะไปไหนล่ะ ถ้าเหตุถูกต้องมันก็ต้องถูกต้อง ถ้าเหตุมันผิด เหตุมันไม่สมควรแก่ธรรม เหตุไม่สมควร ฉะนั้น เหตุสมควรมันก็เป็นระดับที่เราสร้างได้แค่นี้ เรารู้ได้แค่นี้ แต่ผลมันยังไม่เป็นอย่างที่เป็นจริง 

ฉะนั้น เราก็ต้องพัฒนาขึ้นไป นี่ถ้าเป็นคำตอบจะตอบอย่างนี้ จะตอบอย่างนี้ไง ฉะนั้น จะตอบอย่างนี้ เพราะว่าไม่อยากถามหลวงพ่อเลย ถามทีไรก็ผิดทุกทีเลย แล้วถามหลวงพ่อทีไร หลวงพ่อก็ออกนอกลู่นอกทางตลอดเลย

เพราะเขาถามมาบ่อย ฉะนั้น ไอ้ที่ว่าเราพูด ธรรมของ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่มีขัดไม่มีแย้ง ไม่มีขัด ไม่มีแย้งกัน นี่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมถ้ามีขัดมีแย้งกันคือกิเลส ไอ้นี่เวลาเหตุผล เห็นไหม ที่เราพยายามจะพูดนะ พูดให้เห็นเหตุผลว่าความเห็นคือคำถาม คำถามคือความเห็นคือเหตุ มันยังขัดแย้งกันเลย มันยังขัดแย้งกันแล้วมันจะไปถูกได้อย่างไร มันขัดมันแย้งกัน มันไม่ตรง

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่มีขัดไม่มีแย้ง มันจะเป็นทางเดียวกัน ศีล สมาธิ ปัญญา โสดาปัตติ-มรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ มันจะส่งเสริมกันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ไม่มีขัดไม่มีแย้ง

ถ้ามีขัดมีแย้ง เราต้องตรวจสอบแล้ว เราต้องตรวจสอบ ต้องพิจารณา เราต้องแก้ไขของเรา เพราะมันขัดมันแย้ง มันผิด เราต้องตรวจสอบ ต้องทำให้มันถูกต้อง 

แต่ถ้ามันถูกมันต้องดีงามขึ้นไป เห็นไหม มันจะเจริญขึ้น บุคคล ๔ คู่ แล้วมันจะปฏิบัติไป นี่มาตรฐานเดียว มาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานของครูบาอาจารย์ มาตรฐานของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ

แต่มาตรฐานของคนถาม คนถามมันไปรู้ไปเห็นไง ถ้ารู้เห็นมันก็ภูมิใจ มันก็ดีใจ ถามมาไม่รู้หลวงพ่อจะว่าอย่างไร ถามมาแล้วก็พูดเท่านี้ สิ่งที่ทำมาเป็นประสบการณ์

การละตัณหา เราจะบอกว่าการละกิเลส ถ้าละกิเลส เราละกิเลสโดยความเป็นจริง ไอ้นี่ว่า ชั่วคราวหรือความเป็นจริง” ชั่วคราว ตทังคปหานมันชั่วคราวคือของชั่วคราว แต่ถ้าเป็นสมาธิมันก็ละได้ชั่วคราวเหมือนกัน แล้วถ้ามันจะเป็นถาวรมันต้องขาดจริงๆ เลย ไม่ต้องถาวร มันหายไปเลย ฆ่ามันเลย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไม่ให้ทำลายกัน ให้มีเมตตาต่อกัน แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสรรเสริญการฆ่ากิเลส การฆ่ากิเลสนี่สุดยอดมาก การฆ่า ต้องฆ่าแล้วทำลาย การฆ่าทำลายแล้วมันจะจบสิ้น แต่ถ้าคำว่า ถาวร” มันเป็นอกุปปธรรม กุปปธรรม อกุปปธรรมมันจะถาวร มันจะเป็นความจริงของมัน

ฉะนั้น ให้ปฏิบัติต่อเนื่องไป ให้ทำต่อเนื่องไป สิ่งที่ว่าเราเข้าใจสิ่งใดแล้วเข้าใจไว้ นั่นคือประสบการณ์ แล้วพยายามปฏิบัติ ถ้ามันละเอียดขึ้น มันดีขึ้น เราจะวางเอง ถ้าเราทำให้เหตุผลมันสูงส่งกว่า เราจะวางเรื่องนี้ แต่ถ้าเหตุผลของเรายังไม่ถึง เราก็ยังติดข้องอยู่อย่างนี้ เราพยายามดูแลของเรา ปฏิบัติของเราเพื่อให้มันเจริญงอกงาม ให้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เอวัง