เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๙ ธ.ค. ๒๕๕๘

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๘
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ ฟังธรรมเพื่อเตือนสติตัวเอง ถ้ามีสติ ตัวเองทำสิ่งใดทำตามหน้าที่นั้น จะได้ผลประโยชน์ตามหน้าที่นั้น ถ้าสักแต่ว่าทำๆ ถ้าสักแต่ว่าทำ ทำสิ่งใดแล้วมันก็ได้แต่สักแต่ว่า มันไม่ได้สมประโยชน์หรอก แต่เวลาเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “เธอจงเห็นเป็นสักแต่ว่าเห็น เธอจงรู้สักแต่ว่ารู้”

ถ้าสักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่ารู้นั้นเป็นพระอรหันต์ท่านเข้าใจของท่านแล้ว ท่านถึงให้เรามองอย่างนั้น แต่ถ้าชีวิตของเรายังมีความจำเป็นของเราอยู่ เราต้องตามความจริงของเราไง เราต้องตั้งสติของเรา ทำสิ่งใดทำด้วยความมั่นคงของเรา ทำด้วยความจริงของเรา เพื่อประโยชน์กับเราไง เวลาภาวนาก็ต้องภาวนาจริงๆ ไง ถ้าภาวนาจริงๆ ภาวนาจริงๆ แล้วมันเคร่งเครียด ภาวนาแล้วมันตามสบายแล้วมันจะสบาย ตามสบายมันสบาย เราวางเป็นกลาง วางเป็นกลางแล้วนะ ถ้าเคร่งเครียดจนเกินไป เราก็พยายามตั้งสติของเราแล้วกำหนดพุทโธ พยายามอย่าให้มันไปเกาะเกี่ยวสิ่งใดให้มันเป็นการกดดันตัวเอง ถ้ามันเป็นความจริง เป็นความจริงอย่างนั้น

คนปรารถนาความสุข เราเกิดมาทางโลก เราปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ ความสุขของใครล่ะ ถ้าความสุขของทางโลก เขาแสวงหาของเขาเพื่อความสงบความสุขของเขา เพื่อทรัพย์สมบัติของเขา มันก็เป็นความสุขทางโลกไง ทางโลกมันเป็นอย่างนั้น ถ้าทางโลกเป็นอย่างนั้น เพราะเราเกิดมาเป็นสิ่งที่มีชีวิต สิ่งที่มีชีวิตต้องมีอาหาร เทวดา อินทร์ พรหมเขาต้องมีอาหารของเขา เวลาเขาจะหมดอายุขัยของเขา คืออาหารของเขาร่อยหรอลง ไม่มีอาหารกิน เขาก็ต้องหมดอายุขัยของเขา

แล้วของเราทำขึ้นมา อาหารเต็มบ้านเต็มเมือง แต่ร่างกายมันรับไม่ได้ ร่างกายเรากินไม่ได้ เราแสวงหามาเพื่อความสงบสุขของเรา แต่ถึงเวลาที่สุดแล้วต้องพลัดพรากจากเขา การพลัดพรากจากเขาแล้ว พลัดพรากแล้วเรามีสิ่งใดเป็นสมบัติของเรา ถ้ามีสิ่งใดเป็นสมบัติของเรา เทวดา อินทร์ พรหมของเขา เวลาเขาหมดอาหารของเขา เขาหมดอายุขัยของเขา เวลาคนตกนรกอเวจี เขาสิ้นเวรสิ้นกรรมของเขา เพราะเขาสิ้นเวรสิ้นกรรมของเขา เขาถึงหมดอายุขัยในภพในชาตินั้น เขาถึงเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะไง

แต่มนุษย์ของเราหาสมบัติมาๆ สมบัติมหาศาลเลย กองอยู่นั่นๆ แต่เราใช้ประโยชน์มันไม่ได้ แต่ถ้าขณะที่เราใช้ประโยชน์ได้ อยู่กับหลวงตาท่านบอกว่า พระหนุ่มเณรน้อยถ้าฉันได้ให้ฉันนะ เพราะโตขึ้นแล้วมันจะฉันไม่ได้ เพราะแก่เฒ่าแล้วมันจะฉันไม่ได้ ฉันไม่ได้เพราะร่างกายมันรับไม่ได้ไง

เวลาเราต้องการ เราก็ไม่มี เวลาเรามีขึ้นมาแล้ว ร่างกายมันก็ไม่ต้องการแล้ว เวลาเรามีขึ้นมามันสมบูรณ์จนเรามองข้ามไปแล้ว นี่มันมีแค่สติของเราไง ถ้าเรามีสติคัดเลือกคัดแยกของเรา เราใช้สมประโยชน์กับที่เราจำเป็นต้องใช้

พระเรามีปัจจัย ๔ ปัจจัยเครื่องอาศัยๆ ปัจจัยเครื่องอาศัยเพื่อรักษาชีวิตนี้ไว้ เวลาเราอยากเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราอยากเกิดทันองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ถ้าเธออยากพบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้อุปัฏฐากภิกษุไข้เถิด ถ้าอุปัฏฐากภิกษุไข้เท่ากับอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

นี่ไง ถ้าภิกษุไข้แล้วมันไข้จริงหรือเปล่าล่ะ ภิกษุไข้ เราอุปัฏฐากภิกษุไข้ ภิกษุไข้นั้นต้องเป็นผู้ที่เชื่อฟัง ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตาม มันควรอุปัฏฐาก แต่ถ้าอุปัฏฐากแล้วดื้อดึงขึ้นมา ปัจจุบันนี้ เธอจงอุปัฏฐากภิกษุไข้เถิด ภิกษุไข้เต็มเลย พอไข้ขึ้นมาทำอะไรก็ได้

นี่ไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเปิดทางไว้ เปิดทางไว้ให้กับคนที่ทำคุณงามความดีไง ถ้าคนจะทำคุณงามความดี ทำสิ่งใดมันก็ติดขัดขัดข้อง เพราะมันเป็นเรื่องของโลก มันซับซ้อนกัน ถ้าเราทำคุณงามความดีของเรา ท่านเปิดทางไว้ให้ผู้ปรารถนาดี แต่ไอ้ผู้ที่ปรารถนาเข้ามาเพื่อหาผลประโยชน์ ถ้าหาผลประโยชน์มันก็เป็นแบบนั้น เราต้องเลือกเอาของเราเอง ถ้าเลือกของเราเอง เธออยากได้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เธออุปัฏฐากภิกษุไข้เถิด เพราะภิกษุเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา สิ่งที่หามาๆ แล้วมันเป็นประโยชน์สิ่งใดกับใครล่ะ ถ้าเราหาสิ่งนั้นมา แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะหาหัวใจของเรา

หัวใจเป็นนามธรรมนะ หาสมบัติมา สมบัติมีมากน้อยขนาดไหน เราก็ต้องเก็บรักษามัน คุณงามความดีในหัวใจมันมหาศาลเลย ขณะที่เราทำสิ่งใดก็ได้มันเก็บได้หมดแหละ พอเก็บได้หมดนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบุพเพนิวาสานุสติญาณ ย้อนอดีตชาติไป สิ่งที่อดีตชาติไม่มีต้นไม่มีปลาย มันเก็บอยู่ในดวงใจดวงนั้น ดวงใจดวงนั้นมันซับไว้หมด เวลาบุพเพนิวาสานุสติญาณ ถ้ามันยังไม่จบไม่สิ้น มันยังต้องไปข้างหน้าอีก สิ่งที่เป็นนามธรรมที่เก็บไว้ในหัวใจๆ มันสำคัญอย่างนั้นน่ะ แล้วเวลาเราจะมาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะล้างหัวใจสิ่งนี้ให้มันสะอาดบริสุทธิ์ ให้มันผ่องแผ้ว

จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส มันจะผ่องใสอย่างไร เวลามันทำความสงบของใจเข้าไป มันติดขัดขัดข้อง มันอึดอัดขัดข้องในใจของเราเพราะเหตุใด อึดอัดขัดข้องมาเพราะมันเป็นจริตนิสัย จริตนิสัยของคน ดูสิ การทำความสงบ ๔๐ วิธีการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านวางไว้ถึง ๔๐ วิธีการให้มันตรงกับจริตของคน สัทธาจริต พุทธจริต จริตของคนที่มันมีขนาดไหนมันต้องมีปัญญาของมัน

ถ้ามีปัญญาแล้ว พอเข้าไปแล้ว พอเข้าไป จิตเดิมแท้นี้ผ่องใสๆ เวลาทำความสงบของใจเข้าไปมันก็ผ่องใส ถ้าผ่องใสขึ้นมา ผ่องใสในมิติหนึ่ง แต่ถ้ายกขึ้นสู่วิปัสสนา มันจะไปเห็นความหมักหมมของกิเลสในใจอีกมหาศาลเลย ถ้าความหมักหมมกิเลสมหาศาล เราจะทำความสะอาดอย่างไร เราจะถอดถอนอย่างไร ศรที่มันปักในหัวใจจะถอดถอนอย่างไร บุพเพนิวาสานุสติญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีต้นไม่มีปลาย มันสะสมมาขนาดไหน เป็นพระโพธิสัตว์ๆ สิ่งนั้น สิ่งที่มันเก็บไว้ในใจๆ ถ้าทำความสะอาดในหัวใจขึ้นมา ถ้ามันสะอาด มันผ่องแผ้วขึ้นมา มันสะอาดด้วยอะไร? สะอาดด้วยมรรคญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วางไว้ นั่นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้าธรรมจริงๆ ของเรา เราต้องทำของเราขึ้นมา แล้วของเรามันอยู่ไหนล่ะ

เวลาศึกษามา ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะเป็นธรรมชาติ เราต้องการสภาวะแวดล้อมที่ดี ถ้าสภาวะแวดล้อมที่ดี สิ่งที่ดี ถ้าที่ดี ดีจากภายนอกเป็นสัปปายะ แต่ถ้าดีจากภายในล่ะ ดีจากภายในต้องมีสติของเรา เก็บกวาดทำความสะอาดในใจของเรา ถ้ามันทำความสะอาดใจของเราได้นะ พุทโธได้ ปัญญาอบรมสมาธิได้ มันก็ลงสู่ความสงบของเราได้ ถ้ามันลงสู่ความสงบของเราได้ ถ้ามันลงสู่ความสงบแล้ว เวลามันคลายตัวออกมามันก็เป็นเรื่องปกติ เราก็ต้องมี ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เราก็ต้องทำความสงบของใจให้มากขึ้น เราต้องสร้างเหตุให้มากขึ้น ให้ชำนาญในวสี ชำนาญในวสีคือการรักษาไง ดูสิ เราต้องการสภาพความมั่นคง ทางพลังงานเขาต้องการความเสถียร ถ้าเสถียรแล้วทำสิ่งใดมันก็ทำได้ง่ายขึ้น

นี่ก็เหมือนกัน เวลามันสงบ เดี๋ยวก็สงบ เดี๋ยวก็คลายตัวออกมา มันไม่เสถียร ไม่เสถียรคือไม่ตั้งมั่น ถ้าเวลาตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว ฝึกหัดของเรา เราพยายามฝึกหัด แล้วเมื่อไหร่มันจะใช้ปัญญาๆ

ปัญญาก็ฝึกหัดใช้ปัญญานี่แหละ ฝึกหัดใช้ปัญญาฝึกหัด ฝึกหัดให้มันเสถียร ถ้าเสถียรขึ้นมาถ้ามันยกขึ้นสู่วิปัสสนา มันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริงของมันได้ เวลาฝึกหัดใช้ปัญญา พอใช้พลังไปแล้วมันก็ไม่เสถียรอีกแล้ว กลับมาทำความสงบของใจมาก ฝึกหัดของเรา การฝึกหัดอย่างนี้ เริ่มต้นที่มันทุกข์มันยากกัน ที่เราปฏิบัติแล้วไม่สมประโยชน์ ตรงนี้ ล้มลุกคลุกคลานอยู่กันตรงนี้ ก้าวเดินกันไม่ได้ไง

ถ้าก้าวเดินไปได้ เราก้าวเดินได้มันต้องฝึกหัดๆ มันก็เข้าไปสู่ที่จริตนิสัย เข้าไปอยู่กับอำนาจวาสนาของคน ใครสร้างบารมีมามากน้อยแค่ไหน ถ้าสร้างบารมีมามาก มันมั่นคงของมัน ดูเด็กที่มันเป็นเด็กกตัญญู เด็กที่เป็นคนดี มันมั่นคงของมัน มันขยันหมั่นเพียรของมัน มันขวนขวายของมันนะ เด็กบางคนมันทอดธุระ มันไม่เอาไหนเลย จิตใจของเราก็เป็นแบบนั้นน่ะ ถ้าจิตใจมันเป็นแบบนั้น มันมั่นคงอย่างนั้น มันทำอย่างนั้น

เวลามันทุกข์มันยาก นึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเอาตรงนั้นไง ถ้าเอาตรงนั้น เราเกิด ทุกคนเกิดมาปรารถนาความสุขเกลียดความทุกข์ ถ้าปรารถนาความสุขของเราคือความสุขทางโลก ความสุขทางโลกมันก็เป็นความสุขอันหนึ่ง ความสุขนี้เป็นของชั่วคราว มันต้องพึ่งพาอาศัยกันไปไง ชีวิตนี้มันต้องการทั้งนั้นน่ะ เราต้องการอากาศที่สะอาดบริสุทธิ์ เราต้องหายใจเพื่อฟอกเลือดของเราให้ร่างกายมันสมบูรณ์ของเรา เวลาร่างกายของเราเจ็บไข้ได้ป่วยออดๆ แอดๆ เขาจะมาภาวนามันก็ล้มลุกคลุกคลาน มันวิตกกังวลไปหมดเลย นี่เราก็ต้องการ ปัจจัยเครื่องอาศัยเราก็ต้องการ เราต้องการในปัจจุบันนี้ ต้องการใช้สอยให้เป็นประโยชน์ตอนนี้ แล้วถ้าเป็นประโยชน์แล้ว เราใช้สอย เวลาประพฤติปฏิบัติ ถ้าคนมีกำลังนะ คนมีกำลังมีจุดยืนนะ ถ้าปฏิบัติไปแล้ว มันเคยสงบแล้วทำไมมันไม่สงบอีก

เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าธาตุขันธ์ทับจิต ธาตุขันธ์ทับจิต จิตใจของเรามันเป็นนามธรรมที่มันนุ่มนวลมาก เวลามันหิวมันกระหาย มันก็ต้องการ เวลามันสุขสมบูรณ์ของมัน มันกลับไปหน่วง เขาก็ผ่อนอาหาร

ว่าปัจจัย ๔ ปัจจัย ๔ เราแสวงหาเพื่อประโยชน์กับเรา เพื่อสมบูรณ์แก่เรา แต่ถ้าเราอดนอนผ่อนอาหาร ผ่อนอาหาร สิ่งที่เป็นความสุขหยาบๆ ถ้าจิตมันเป็นสัมมาสมาธิ จิตมันสงบ มันเป็นสุขที่ละเอียดกว่า มันมีคุณค่ามากกว่า มันมีประโยชน์มากกว่า เราก็ขวนขวาย เขาเรียกพอใจทำๆ

เราทำคุณงามความดีกัน เขาว่าสิ่งใดก็เป็นทุกข์ สิ่งใดก็เป็นทุกข์ หน้าที่การงานก็เป็นทุกข์ เราปรารถนาความสุข แต่เพราะความทุกข์อันนั้น เราแสวงหาอันนั้น มันถึงมีความสุขมา เวลาเราต้องการความเป็นจริงของเรา เวลาเราเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาเป็นความทุกข์ทั้งนั้นน่ะ แต่มันพอใจจะทำ ทุกข์เพราะเรารู้ว่าเราอดเปรี้ยวไว้กินหวาน เพราะมันจะมีความจริงอยู่ข้างหน้า ความจริงที่มันรอเราอยู่ข้างหน้า ถ้าเราขวนขวายได้จริง เราจะเข้าไปสู่ความจริงอันนั้น ถ้าเข้าไปสู่ความจริงอันนั้นได้ มันเป็นความสุขจริง เป็นความสุขเพราะว่า ศีล สมาธิ ปัญญา มันเป็นเรื่องของนามธรรม มันเป็นธรรมะๆ สมาธิธรรม ปัญญาธรรม มันเป็นสัจธรรมที่มันเข้าได้กับหัวใจ เข้าได้กับความรู้สึกอันนั้น

ถ้าความรู้สึกอันนั้น ถ้าเรามีสิ่งนี้เป็นพยานขึ้นมา หัวใจอย่างนี้มันจะอดนอนผ่อนอาหารได้ มันจะภาวนาของมันได้ มันจะก้าวเดินของมันได้ไง ถ้าก้าวเดินของมันได้ มันแตกต่างกัน แตกต่างกันด้วยมุมมอง ด้วยความคิด ด้วยความรู้สึกในใจ นั่นน่ะเขาเรียกอำนาจวาสนาบารมีของคนที่มันมีมา

แต่โลกเขา “ประชาธิปไตยๆ” ไง ต้องเสมอภาค ขี้เกียจต้องขี้เกียจเหมือนกัน ขยันหมั่นเพียรก็ต้องขยันหมั่นเพียรเหมือนกัน แล้วหาที่ไหนล่ะ แม้แต่เราคนเดียวบางทีมันขยันหมั่นเพียร บางทีมันก็ขี้เกียจ บางทีมันทอดธุระ เราก็ต้องฝึกหัดจนมีความชำนาญ ฝึกหัดหัวใจของเรา ดูแลหัวใจของเราเพื่อประโยชน์กับเรา เวลาประพฤติปฏิบัติ ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกจากหัวใจดวงนี้

เวลาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษา ฟังจากครูบาอาจารย์มามันก็ทึ่งนะ แต่ถ้ามันเป็นจริงของเราๆ อันนี้มันเป็นการกระทำจากของเราเลยล่ะ นี่ไง จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่งไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาพระสมัยพุทธกาลไปรายงานผลการปฏิบัติกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะถามว่าใครทรมานมา คือใครเป็นคนสอน ใครเป็นคนชักจูง

ไอ้สั่งสอนชักจูง ใครเป็นคนทรมานมา ใครเป็นคนทรมาน ทรมานๆ อะไร ทรมาน เราคิดว่าการทรมานทางโลกไง คือการทำทารุณกรรมกัน นี่ไม่ใช่ การทรมานคือทรมานกิเลส คือการแนะนำให้มุมมอง การชักนำเพื่อให้หัวใจมันมีมุมมอง ใครทรมานมา มันจะมาอย่างไร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามว่าใครทรมานมา ก็บอกว่าพระสารีบุตรเป็นผู้ทรมานมา พระโมคคัลลานะเป็นผู้ทรมานมา

คำว่า “ทรมาน” คือชี้นำเป็นคนให้อุบาย แล้วใครทรมานมาๆ นี่ทรมานกิเลสไง แต่ถ้าเราทำได้จริง เราทรมานเราเอง เพราะเราเชื่อมั่น เราไม่มีความเชื่อมั่นใคร ดูสิ เวลาหลวงตาท่านเชื่อมั่นในองค์หลวงปู่มั่นมาก เวลาองค์หลวงปู่มั่นนิพพานไป ท่านไปนั่งอยู่ปลายเท้าของหลวงปู่มั่น นั่งร้องไห้ ใจดวงนี้มันดื้อนัก เพราะเรารู้จักนิสัยเราเอง นิสัยของผู้ที่มีสัตย์ มันจะฟังแต่คนที่มีสัจจะ คนที่พูดแล้วโลเลหรือมีเลศนัย พูดกันหนสองหนเขาไม่ฟังแล้ว แล้วมันไม่ยอมฟังใคร แล้วโลกมันหาคนสัจจะจริงๆ อย่างนี้ได้ยาก

เวลาหลวงปู่มั่นนิพพาน ท่านไปนั่งอยู่ปลายเท้านะ ใจดวงนี้มันดื้อนัก มันไม่เคยฟังใครเลย มันเคยฟังแต่หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นก็มานิพพานไปเสียแล้ว แล้วเราจะหาใครเป็นที่พึ่งล่ะ ท่านมีอำนาจวาสนาบารมีของท่าน ท่านก็ระลึกคำสั่งสอนของท่าน หลวงปู่มั่นสั่งไว้ว่าอย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ มันจะไม่เสีย อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ

อย่าทิ้งผู้รู้ก็อย่าทิ้งหัวใจเราไง หัวใจเราอย่าทิ้ง พวกเรามองข้ามกันไปเห็นแต่วัตถุ ไปเห็นแต่สิ่งที่จะเป็นความสุขทางโลก ความสุขอย่างนั้นกิเลสมันสร้างขึ้นมา เราก็อยากได้อยากดีไปกับเขา อารมณ์ความรู้สึก เห็นไหม อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งหัวใจของเรา ถ้าอย่าทิ้งหัวใจของเรานะ เราพอแล้ว เราไม่ขวนขวายจนเกินกว่าเหตุ เราไม่กว้านเอาความทุกข์มาใส่เรา อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ อย่าทิ้งพุทธะ

ถ้ามันอ่อนแอนัก มันท้อแท้นักก็ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทโธ พุทธะ อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ หลวงตาท่านเอาตรงนี้เป็นคติยึดมั่นในใจของท่าน แล้วท่านก็บุกบั่นของท่านไป ท่านทำของท่านไป

เวลาพระอรหันต์ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ใครทรมานมาๆ” ก็หลวงปู่มั่นทรมานมา ท่านพูดเอง หลวงปู่มั่นเป่ากระหม่อมเรามา หลวงปู่มั่นรักษาเรามา

นี่ก็เหมือนกัน เราเชื่อใครไม่ได้ เราก็อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ อย่าทิ้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รักษาหัวใจของเราไว้ หาที่พึ่ง หาความสุข หาความจริงในใจให้เจอ ถ้าหาความจริงในใจของเราเจอ เกิดมาเป็นมนุษย์มาพบพระพุทธศาสนา แล้วเกิดมาไม่เหยียบแผ่นดินผิด เราได้ฝึกหัดประพฤติปฏิบัติให้สัจจะ ให้คุณธรรมเกิดขึ้นมาในหัวใจของเรา เอวัง