เทศน์เช้า วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๘
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจฟังธรรมเนาะ เวลาโยมมาจังหัน สิ่งนี้เป็นวัตถุ ค่าของน้ำใจ สิ่งที่เสียสละ เวลาฟังธรรมๆ ให้ธรรมเป็นทานๆ ให้ธรรมเป็นทานคือให้ความปลอดโปร่งของหัวใจไง หัวใจเวลามันอัดอั้น มันอั้นตู้ ถ้ามีสัจธรรมเข้าไป เข้าไปหล่อเลี้ยงมัน เข้าไปหล่อเลี้ยงให้หัวใจมันพอผ่อนคลาย สิ่งที่ผ่อนคลายได้
เวลาเราเกิดมา เราเกิดมาในชาตินี้ เกิดมาเป็นเด็กเป็นเล็ก ดูสิ พ่อแม่ถนอมรักษา รักษาขึ้นมา เราเติบโตขึ้นมา ถ้าเราประสบความสำเร็จในชีวิต พ่อแม่จะมีความสุขไง มีความสุข ลูกเราประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ถ้าลูกของเรา ขอให้เป็นคนดี จะมีหน้าที่การงานอย่างใดขอให้เป็นคนดี แล้วขอให้มีความสุข ถ้ามีความสุข ความสุขอันนี้มันเกิด สัจธรรมๆ ความสุขในชีวิตไง
แต่การแสวงหาของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก คำว่า ตัณหาความทะยานอยาก คือมันพยายามอยากได้สิ่งที่ทำไม่ได้ แต่ถ้าเราอยากได้ในสิ่งที่เรามีความสามารถที่จะทำได้ มันไม่ใช่กิเลสหรอก มันเป็นหน้าที่การงานของเรา เวลาเป็นกิเลสๆ พระเราบวชมาอยากจะสิ้นกิเลส เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา อดอาหาร อดนอนผ่อนอาหาร อันนี้ก็เป็นกิเลสน่ะสิ เพราะนี่เป็นการมุ่งมั่น ความเพียรชอบ เราอดอาหาร ผ่อนอาหาร เราพยายามต่อสู้กับกิเลสของเราแล้ว ถ้ามันไม่ชอบธรรม มันมีสมุทัย มันมีความเห็นแก่ตัว มันมีความคาดหมายของเราเข้ามา อย่างนี้มันยังไม่สะอาดบริสุทธิ์ มันยังทำแล้วไม่ได้ผลเลย
คำว่า ไม่ได้ผล เวลาไม่ได้ผล เราบอกมันเป็นกิเลสๆ ถ้ามีความอยาก มีตัณหาความทะยานอยาก มันจะปฏิบัติไม่ได้ แต่ถ้าปฏิบัติไม่ได้เลย ทำอย่างไรล่ะ ก็นอนจมอยู่อย่างนั้นใช่ไหม นอนจมอยู่อย่างนั้น รอให้สิ่งนั้นมันมาใช่ไหม
เขาถึงบอก เวลาขอพร ขอพร เราทำดีดีกว่าขอพร เราก็ทำคุณงามความดีของเรา เราขยันหมั่นเพียรของเรา เรามีการกระทำของเรา การกระทำอันนี้มันเกิดมาจากไหน เกิดมาจากการฝึกฝน เกิดมาจากพ่อแม่วางรากฐานไว้ให้
นี่ก็เหมือนกัน สัจธรรมๆ เกิดมามีสิ่งที่มีชีวิตแล้ว สิ่งที่มีชีวิตมันต้องแสวงหา มันต้องมีอาหารของมัน ต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย สิ่งใดเป็นเครื่องอาศัย ถ้าเราแสวงหาสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นหน้าที่ คำว่า หน้าที่ๆ เลี้ยงชีพไว้ไง เลี้ยงชีพไว้ทำคุณงามความดีไง ถ้าเลี้ยงชีพไว้ทำคุณงามความดี ถ้าเราประสบความสำเร็จทางโลก มันเป็นวัตถุ มันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย เป็นเครื่องอาศัย ทุกคนก็อยากได้ ทุกคนก็อยากมีความสุขไง เราปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ ความสุขที่เรามีสมบัติ มีพัสถานของเรา แต่มีสมบัติพัสถานของเรา ดูสิ คนชอบบ้าน คนชอบรถ คนชอบสมบัติต่างๆ ถ้ามันได้ความชอบธรรมมาแล้วมันก็มีความสุข ถ้าได้มาแล้วมันไม่ชอบ ไม่ชอบมันก็ยังว่ามันจนอยู่อย่างนั้นน่ะ มันยังทุกข์ยังยากอยู่อย่างนั้นน่ะ
แต่ถ้าเป็นเรื่องของหัวใจล่ะ เรื่องของหัวใจนะ ถ้าหัวใจ ถ้ามันมีสติมีปัญญา รู้จักประหยัดมัธยัสถ์ คำว่า ประหยัดมัธยัสถ์ มันไม่ต้องมีมากมายขนาดนั้น สิ่งที่มันจะมีมากมายขนาดนั้น มีมากมายเพราะเราหามาด้วยอำนาจวาสนาของเรา แต่จิตเราใช้สอยในตัวของเราด้วยความประหยัดมัธยัสถ์ ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน สอนอย่างนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียสละทั้งนั้น เสียสละ จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ๆ ครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นธรรมๆ นะ ท่านปรารถนาสิ่งใดก็ได้ แต่ท่านก็ประหยัดมัธยัสถ์ของท่าน คำว่า ประหยัดมัธยัสถ์ มันเป็นเครื่องหมายของคนดีไง กตัญญูกตเวที ประหยัดมัธยัสถ์ของเรา คำว่า ประหยัด ประหยัดเพราะมันมีสติปัญญาไง
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด ความพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาท สังขารร่างกาย สังขารที่เราดูแลรักษามัน สังขารที่เป็นความคิด ความปรุง ความแต่ง ถ้ามีสติปัญญา เรารู้จักควบคุมดูแล การควบคุมดูแลมันรู้จักเหตุรู้จักผล ถ้าไม่รู้จักเหตุรู้จักผลก็ไม่รู้จักประหยัดมัธยัสถ์ใช่ไหม ประหยัดมัธยัสถ์ ร่างกายสุขภาพก็ดี สุขภาพจิตก็ดี สุขภาพดีไปหมดเลย ด้วยความประหยัดมัธยัสถ์
มันไม่ใช่ว่าเราจะแสวงหามามหาศาลแล้วจะเป็นของเราๆ มันเป็นของเราจริงๆ เป็นของเราในชาตินี้ ถ้าเป็นของเราในชาตินี้แล้วมีสติปัญญา เราเสียสละสิ่งนั้นๆ เสียสละเพื่อบริหารจิตใจไง เพื่อพัฒนาใจของเรา ถ้าใจมันมีแล้วมันรู้จักเสียสละ มันพัฒนานะ แล้วคนอย่างนี้มันมีอำนาจวาสนามีบารมี
แต่คนของเราถ้ามันตระหนี่ถี่เหนียวมันคับแคบของมัน มันไม่มีอำนาจวาสนาบารมีหรอก แล้วมีสมบัติก็มีไว้อย่างนั้นน่ะ มีสมบัติคือมีโอกาส มีโอกาสได้ทำคุณงามความดีของเราทั้งนั้นน่ะ ถ้ามันไม่ทำ ถ้ามันทำของมันก็ได้ประโยชน์ ประโยชน์ที่ไหน? ประโยชน์ที่ใจ
ถ้าใจ ดูสิ เวลาความสุขความทุกข์มันบีบคั้น มันทุกข์ยากมาก เวลามันปลอดโปร่ง มันมีความสุขมาก แล้วถ้าใครฝึกหัดประพฤติปฏิบัตินะ ถ้าจิตมันสงบเข้ามา ถ้าจิตสงบเข้ามา มันมีความสุข ความสุขนี้ซื้อไม่ได้ ดูสิ คนที่เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีนะ ถ้าเขาอยากได้มรรคได้ผลนะ ถ้ามันซื้อได้นะ เขากว้านซื้อหมดน่ะ เขาซื้อสติ ซื้อสมาธิ ซื้อปัญญา เขาซื้อมาหมดน่ะ ซื้อมรรคซื้อผลเขาก็ซื้อของเขามา แต่มันซื้อไม่ได้ ใครอยากได้ต้องประพฤติปฏิบัติเอา ใครอยากได้ต้องทำของเราขึ้นมาเอง ฉะนั้น เวลายากดีมีจนไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าเราแบ่งเวลาของเราเอง เราแบ่งเวลาของเราเอง เราดูแลรักษาหัวใจของเรา ถ้าดูแลรักษาหัวใจของเรา พัฒนาขึ้นมา
เวลาพระบวชใหม่ๆ พระบวชใหม่ สิ่งที่ทนได้ยากคือทนคำสอน คำสอน นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ ไม่ได้ไปทั้งนั้นน่ะ พระบวชใหม่บวชมาแล้วยังต้องฝึกหัดต้องขอนิสัย ถ้าได้นิสัยขึ้นมาแล้ว ๕ พรรษาเป็นผู้ฉลาด พ้นนิสัย
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิบัติใหม่ คนที่ปฏิบัติใหม่นะ มันจะไปจับอย่างไรล่ะ จิตมันเป็นอย่างไรล่ะ ความรู้สึกมันก็ความรู้สึกเราอยู่นี่ มันจะจับอย่างไรล่ะ มันจับต้นชนปลายไม่ถูก ฉะนั้น เขาถึงให้หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา ถ้าเป็นรูปธรรม หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ หายใจแล้วมันก็ตะครุบเงา เดี๋ยวตะครุบก็หายไปแล้ว ตะครุบอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่ถ้าฝึกหัด เราฝึกหัดของเรา มันเป็นนามธรรม จิตของเราแท้ๆ ให้มันปรากฏขึ้นมา
ในแก้วน้ำ มันมีน้ำอยู่เต็มแก้วเลย เรารู้ไม่ได้ว่ามันมีน้ำหรือไม่มีน้ำไง แต่ถ้าในน้ำนั้นมันมีสีมีสันขึ้นมา โอ้! เห็นเลย นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็นนามธรรมให้มันระลึกพุทโธ มันก็ระลึกขึ้นมา แล้วพุทโธๆ ถ้าเราระลึกขึ้นมา พุทธานุสติ เพราะจิตมันทำ จิตมันระลึกมันถึงเป็นพุทธานุสติ แต่ถ้ามันเป็นพิธีกรรม พุทโธก็แยกไว้ส่วนหนึ่งเป็นคำพูด ลมหายใจ ความรู้สึกก็แยกไว้ส่วนหนึ่ง มันไม่เป็นประโยชน์กับใคร สิ่งที่ทำๆ ก็เป็นประโยชน์กับความรู้สึกเรา เป็นประโยชน์กับหัวใจเรา
นี่ไง เวลาเราทุกข์เรายาก เราต้องการคนช่วยเหลือ ต้องการคนคุ้มครองดูแล แต่หัวใจของเรา แล้วมันอยู่ไหน ใครจะคุ้มครองมัน แล้วคุ้มครองอย่างไรล่ะ แต่ถ้าเราระลึกพุทโธขึ้นมา มันปรากฏตัวขึ้นมา มันปรากฏตัวขึ้นมา ใครระลึกพุทโธ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ มันเหมือนน้ำ น้ำในแก้วน้ำนั้น เรารู้ว่ามีน้ำหรือไม่มีน้ำไม่รู้ ถ้ามีสีสันขึ้นมา เราจะรู้ได้ว่า เออ! ในน้ำ มันมีน้ำ ในแก้วมันมีน้ำ เพราะมันมีสีมีสันที่เราเห็นได้
พุทโธๆ เราก็ท่องกันปากเปียกปากแฉะก็ว่ากันไป แต่ถ้ามันมีสติระลึกได้ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ถ้ามันทำไม่ได้ คนมันทำไม่ได้เขาเรียกสัทธาจริต สัทธาจริตคือความมั่นคง ใครมีความมั่นคงทำสิ่งนี้ได้ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ แต่ถ้ามันเป็นพุทธจริต มันคนที่มีปัญญานะ ของมันเหมือนไม่มีค่า ของมันแบบว่า ใครพุทโธ พุทโธมันจะเป็นอะไร มันก็แค่คำบ่น บ่นทุกข์ๆๆ มันก็บ่นกันอยู่แล้ว แล้วเราต้องมาบ่นพุทโธอีก
ไอ้บ่นมันส่วนบ่นสิ ไอ้บ่นเพราะมันทุกข์แล้วมันถึงได้บ่น ไอ้บ่นเพราะกิเลสมันบีบคั้นหัวใจแล้วถึงได้บ่น อันนี้เราตั้งใจ เราระลึก ระลึก วิตก วิจาร เราระลึกขึ้น วิตกคือยกจิตเราขึ้น ยกจิตเราขึ้น ระลึกถึงพุทโธ ยกจิตเราขึ้น ถ้ายกขึ้น ถ้าเราไม่ยกจิต เราไม่ระลึก พุทโธมันมาจากไหนล่ะ วิจาร พุทกับโธ พุทกับโธ เรายกขึ้นมาแล้วเราก็วิตก วิจาร พุทโธๆ เพราะมันบริกรรมให้มันมีการกระทำ
กิจจญาณ คือจิตมันมีการกระทำ จิตมันได้ฝึกฝนตัวมันเอง จิตมันรักษาตัวมันเอง จิตมันก็เด่นขึ้นมา แต่นี่มันไม่เห็น กิเลส อารมณ์ความรู้สึกมันครอบงำมันอยู่ มันบีบมันคั้น มันลากไปเลย นู่นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ดี ทำก็ไม่ได้ ไม่มีดีสักอย่าง แต่เราระลึกพุทโธของเรา เพราะพุทโธเป็นพุทธานุสติ มันไม่มีใครให้ค่า กิเลสก็เข้ามายุ่งไม่ได้ เราเองก็จะปรารถนาให้เป็นดั่งใจเราก็ไม่ได้ ระลึกพุทโธ ๒ ทีจะให้เป็นสมาธินะ ระลึกพุทโธแล้วฉันต้องเป็นคนดีนะ ระลึกพุทโธแล้วฉันจะเป็นพระอรหันต์นะ...ก็ไม่ได้ กิเลสมันก็มาแทรกไม่ได้ ใครทำไม่ได้ ถ้าเราระลึก เห็นไหม มันเป็นกิจจญาณ มันเป็นการกระทำไง
ถ้ามีการกระทำขึ้นมานะ พอมันบริหารจัดการอย่างนี้แล้วจิตมันถึงแสดงตัวขึ้นมา ถ้าพุทโธๆๆ พุทโธจนถ้ามันพุทโธไม่ได้นะ พุทโธๆ มันจะมีอาการของมัน มันจะเวิ้งว้าง มันจะมีอาการ มันจะตกที่สูงที่ต่ำ มันจะเป็นของมัน นี่ไง เหมือนกับเราคนสิ่งที่มีวัตถุอยู่ มันมีปฏิกิริยาของมันไง สิ่งที่เคลื่อนที่มันมีพลังงาน
จิตก็เหมือนกัน ที่มันกำหนดพุทโธ มันรู้สึกตัวมัน มันมีคุณประโยชน์ มันเป็นของดี พุทธานุสติ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง ไอ้พุทธจริตบอก เออ! พุทโธๆ พุทโธอะไรกัน อะไรพุทโธ ทำไมต้องพุทโธ มันเห็นเป็นของไร้ค่า ของไร้ค่ารู้จักเก็บรู้จักถนอมรักษา มันจะมีค่า ทีนี้คนถ้าเป็นพุทธจริต พุทธะ มันเป็นผู้มีปัญญา ทำไม่ได้ มันไม่มั่นคงพอ ศรัทธาไม่มั่นคงพอ ไม่มีความมั่นคงพอ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ พอมันคิดขึ้นมา มีสติทันความคิดไป คิดทำไม คิดแล้วคิดอีก คิดทำไม คิดมาให้ทุกข์นี่คิดทำไม ถ้าคิดทำไมมันก็หยุด เดี๋ยวก็คิดต่อ ธรรมชาติของจิตเป็นแบบนี้
ฟังธรรมๆ เพื่อรักษาจิตดวงนี้ไง แล้วจิตดวงนี้ถ้ามันมีค่า เราอาบเหงื่อต่างน้ำทำหน้าที่การงานกันมาแสนทุกข์แสนยาก แล้วความสุขหาที่ไหน ความสุขหามาเพื่อเราทำงานประสบความสำเร็จแล้วถึงเป็นความสุขของเรา
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าความสุขแล้ว ความสุขนี้จะเป็นสมมุติ เป็นสุขชั่วคราว ก็ต้องแสวงหาให้มากขึ้นเพื่อให้มันพอใจ ถ้ามีความพอใจ มันสนองตัณหาแล้วมันก็มีความสุขของมัน มันต้องเป็นอามิส ต้องได้เสพสิ่งที่พอใจมันถึงมีความสุขไง นี่สุขทางโลก
แต่ถ้าเป็นสุขทางธรรมๆ นะ เสียสละ สมบัติเราก็วางไว้นั่น ของเราจริงๆ นี่แหละ เงินในบัญชีไม่หายไปไหนหรอก มันอยู่ในบัญชีนั่นแหละ วางไว้ อย่าไปคิดถึงมัน มาพุทโธดีกว่า มาพุทโธดีกว่า มาพุทโธ มาใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเราดีกว่า สมบัติก็เป็นสมบัติอยู่อย่างนั้นแหละ ถ้าสมบัติของเรา เราไปคิดถึงมันก็ไปผูกพันอยู่กับมันนั่นน่ะ สมบัติของเรา เราวางไว้แล้วเราพุทโธของเราให้จิตเป็นอิสระ ให้จิตเป็นตัวของมันเอง ถ้าเป็นตัวของมันเอง เราทำแบบนี้
เวลาเรามาวัดมาวา เรามีวัตถุมาเสียสละ นี่เป็นการเสียสละ นี่มันเป็นเจตนา เพื่อเป็นบุญกุศลนี่เป็นอามิส เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา วิธีการมันก็เป็นวิธีการ ก็เหมือนอามิส แต่เวลาเป็นจริงขึ้นมามันเป็นที่ใจ ถ้าเป็นที่ใจ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต เราเห็นสัจจะความจริง เห็นในหัวใจของเรา เราทำเพื่อเหตุนี้ไง ถ้าเราทำเพื่อเหตุนี้ มันเป็นการปฏิบัติบูชา
การปฏิบัติ เราขวนขวายมานี่ก็เป็นการปฏิบัติ เราขวนขวายมาไม่ใช่เป็นการปฏิบัติ แต่มันปฏิบัติโดยอามิส เป็นวัตถุที่เราจับต้องได้ มันถึงพอใจ แต่เวลาเราทำของเราเอง มันเป็นนามธรรม เราทำของเราขึ้นมา เวลาทำขึ้นมานะ จิตสงบแล้ว สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี จิตสงบระงับนี้มีความสุขมาก ถ้าไม่มีความสุขมาก พระไม่ติดว่าเป็นนิพพาน เวลาไปติดสมาธิ ติดสมาธิก็คิดว่ามันเป็นนิพพานนี่ไง ถ้าเป็นนิพพาน เวลามันคลายตัวออกมา เพราะนิพพานมันคงที่ของมัน แต่สมาธิมันเจริญแล้วเสื่อม
ถ้าเป็นนิพพานมันเสื่อมไม่ได้ อกุปปธรรมไม่มีวันเสื่อม ไม่มีวันแปรสภาพ อกุปปธรรม เหนือโลก เหนือสงสาร เป็นอีกอันหนึ่งที่แน่นอนคงที่ของมัน แต่คงที่แบบไม่มี คงที่แบบมารหาไม่เจอ คงที่แบบจับต้องไม่ได้ แต่คงที่
แต่สมาธิมันขึ้นไป ว่างๆ ว่างๆ เดี๋ยวก็เรียบร้อย แต่ถ้าเราฝึกหัดของเรา ดูแลของเรา พัฒนาขึ้น ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากสัมมาสมาธิถึงเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนา ปัญญาของพุทธศาสนา ปัญญาของพุทธะ ไม่ใช่ปัญญาอย่างที่เราทำกันอยู่นี่หรอก ปัญญาอย่างนี้เขาเรียกว่าวิชาชีพ มันเป็นสัญญา มันเป็นทางโลก มันเป็นประโยชน์ไหม? เป็น ถ้าไม่มีปัญญาอย่างนี้ ไม่มีการค้นคว้าอย่างนี้ เราจะไม่มาวัดมาวากัน เราจะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าศาสนาจริงหรือไม่จริง เราไม่สามารถพิสูจน์ได้ เราสามารถพิสูจน์กันนี้ เราก็พิสูจน์ด้วยปัญญาของเราไง ปัญญาอย่างนี้ปัญญาทางโลก ปัญญาทางวิทยาศาสตร์ของเรา พิสูจน์ของเรา
อย่าเพิ่งเชื่อ กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อสิ่งใดทั้งสิ้น ให้พิจารณามากขึ้น ปฏิบัติมากขึ้น ให้เป็นความจริงขึ้นมาในใจ ถ้าใจมันเป็นความจริงขึ้นมา นี่จะเป็นประโยชน์กับใจดวงนี้
ฟังธรรมๆ เพื่อเหตุนี้ไง เรามีสติปัญญา เราก็เลือกได้ แยกแยะได้ทางโลก แต่ถ้าเป็นการประพฤติปฏิบัติ เราต้องมีครูบาอาจารย์คอยแยกแยะผิดถูกกับเรา เพื่อหัวใจดวงนี้ เอวัง