เทศน์พระ

เข้าหู

๒๕ ธ.ค. ๒๕๕๘

 

เข้าหู
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๘
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมนะ ฟังธรรมพร้อมกับเสียงเครื่องจักรกล เครื่องจักรกลมันเป็นเรื่องโลก มันเป็นเรื่องโลก สิ่งที่มันเป็นเรื่องโลก เห็นไหม เราอาศัยอยู่กับเขา เราเกิดมาๆ จากโลก แต่เกิดมาจากโลกแล้วพอเราเห็นภัยในวัฏสงสารเราถึงได้มาบวชพระ มาบวชพระ เห็นไหม บวชพระ บวชพระมาเพื่ออะไร เพื่อร้องเรียกสิทธิไง

นักพรตผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะหาทางออก หาทางออกนะ ออกที่ไหนล่ะ เวลาคนหาทางออกมันต้องมีถนนหนทางให้เขาออก แต่ของเรานี่หาทางออกทางใจ ถ้าหาทางออกทางใจนะ ใจมันมืดบอด มันไม่มีถนนหนทาง แล้วมันจะไปออกที่ไหนล่ะ

ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม บุพเพนิวาสานุสสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ ก่อนหน้านั้นเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปประพฤติปฏิบัติกับเขา ใครชี้แนะ ใครบอกท่าน สมาบัติ ๘ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญนาสัญญายตนะ ใครก็เข้าได้ออกได้

เวลาคนออกนะ ทางของใจๆ นะ ทางของใจมันก็เป็นสัมมาสมาธินะ ถ้าเป็นสัมมา สมาธิมันก็ยกสู่วิปัสสนาใช่ไหม แต่ถ้ามันเป็นมิจฉาล่ะ มิจฉาก็ไปยึดมั่นถือมั่นไง ยึดมั่นถือมั่นว่าฉันรู้ฉันเห็น ฉันเก่งไง ฉันรู้ฉันเห็นฉันเก่งแล้วมันเป็นอะไรล่ะ มันก็เสื่อมไง นี่มันเป็นโลกียะ มันเป็นฌานโลกีย์ ฌานโลกีย์ ฌานโลกีย์มันเกิดที่ไหน เกิดจากใจ เพราะใจนี้เป็นความมหัศจรรย์

แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสรู้ธรรม เขาก็ได้เข้าฌานสมาบัติกันได้ กาฬเทวิลนะเป็นเพื่อนพระเจ้าสุทโธทนะ เขาระลึกอดีตชาติได้ ๔๐ ชาติ อนาคตได้ ๔๐ ชาติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม วิชชา ๓ บุพเพนิวาสานุสสติญาณนี่ย้อนอดีตชาติไปไม่มีที่สิ้นสุด จุตูปปาตญาณ อนาคต เห็นไหม ระลึกได้อนาคต จิตดวงนี้มันเวียนว่ายตายเกิดขนาดไหน อาสวักขยญาณ ชำระล้างกิเลสในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

กาฬเทวิลระลึกอดีตชาติได้ ๔๐ ชาติ อนาคตได้ ๔๐ ชาติ ไปนอนอยู่บนพรหม แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เขาเป็นพรหมเขารับรู้นะ เขามาขอดู เห็นไหม ทั้งดีใจ ทั้งเสียใจ ดีใจๆ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดแล้ว เสียใจๆ เพราะตัวเองต้องตายก่อนไง เสียใจเพราะตัวเองต้องตายก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เขารู้ รู้ถึงวาระสุดท้ายของชีวิตด้วย แล้วเขาได้อะไรล่ะ

นี่ไง หาทางออกๆ ไง ทางออก ทางออกของโลก เห็นไหม ทางออกของโลกไม่มี เพราะการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะนี้ทางออกของโลกไง ทางออกของโลกเวลามันเกิดวิกฤติต่างๆ แล้วนี่ปัญหามันก็แก้ไขไป มันจะเกิดปัญหาไปข้างหน้าตลอดไป ปัญหามันไม่มีวันที่จะสิ้นสุด

แต่ปัญหาของธรรมๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ้นสุดแล้วนะ แก้ไขในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ้นสุดแล้ว เห็นไหม เสวยวิมุตติสุข วิมุตติสุขถึงได้มาสั่งสอนเรา เสวยวิมุตติสุข ความสุขๆ อย่างยิ่ง นิพพานเป็นความสุขอย่างยิ่ง ความสุขอย่างยิ่ง เห็นไหม มันไม่มีไม่ไปอดีตอนาคต ไม่มีการเคลื่อนไปข้างหน้าและไม่มีการย้อนไปอดีต มันไปไหนไม่ได้ มันจบสิ้นของมันกระบวนการของมัน เห็นไหม มันจบสิ้นกระบวนการของมัน มันไม่มีทางไปและทางมา นี่ไงวิมุตติสุข วิมุตติสุขในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เราเห็นภัยในวัฏสงสาร เรามาบวชพระ บวชพระเป็นนักรบ นักรบหาทางออกไง ทางออกเห็นไหม เวลาทางออกของเรา ดูสิ โปฐิละ โปฐิละ มีการศึกษา รู้มาก มีลูกศิษย์ลูกหามหาศาล เวลาไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “โปฐิละใบลานเปล่ามาแล้วหรือ ใบลานเปล่ากลับแล้วหรือ”

ใบลานเปล่าๆ มีการศึกษา ลูกศิษย์ลูกหา ๕๐๐ นี่พูดสิ่งใดมีคนเชื่อถือทั้งนั้น ใบลานเปล่าๆ ไง แล้วนี่เรามีการศึกษาเราศึกษามาทำไม เราจะเอาใบลานเปล่าหรือเราจะเอาความจริงในหัวใจ ถ้าเอาความจริงในหัวใจ เห็นไหม ดูสิ เวลาจะออกไปประพฤติปฏิบัติกับสามเณรน้อยให้เปรียบร่างกายนี้เหมือนจอมปลวก ปิดรูซะ ๕ รู นี่เหลือไว้รูหนึ่งเพื่อจับตัวเหี้ยนั้น เหี้ยมันอยู่ในจอมปลวกนั้น

จิตใจที่มันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจของเรานะมันมีเหี้ยหรือเปล่า มันเหี้ยหรือมันดี ถ้ามันดีมันก็เป็นมรรค ถ้ามันเหี้ยมันก็เป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก นี่ปิดรู ๕ รู เปิดไว้รูหนึ่งคอยจับเหี้ยตัวนั้น เหี้ยตัวนั้นมันอยู่ในหัวใจของเรา เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติ นั่นสามเณรน้อยสอนพระโปฐิละ แล้วสุดท้ายแล้วโปฐิละเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว สิ่งที่เป็นพระอรหันต์นะ ท่านประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์ไปแล้ว พระโปฐิละเป็นพระอรหันต์ ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามสามเณรน้อยว่า

“สัทธิวิหาริกของเธอสอนยากหรือไม่ยาก”

“ไม่ยากเลย สอนง่ายๆ”

นี่ไง คำว่าสอนง่ายๆ สอนคือว่าสอนเขาเชื่อเขาฟังของเขา เพราะเขาลงใจสามเณรน้อย นี่อยากจะประพฤติปฏิบัติเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสะกิดหัวใจมา “ใบลานเปล่าไปแล้วหรือ? ใบลานเปล่ามาแล้วหรือ?” นี่ไงเวลาสามเณรน้อยสอนเข้าถึงอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ปิดมันไว้ นี่สิ่งที่สัมผัสได้เราปิดไว้ เหลือแต่หัวใจนั้นไว้ พุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิในหัวใจนั้น จับเหี้ยตัวนั้นให้ได้

จิตสงบแล้วเห็นสติปัฏฐาน ๔ เห็นตามความเป็นจริงของจิตนั้นมันจะเป็นมรรค มันจะเป็นอริยสัจ มันจะเป็นความจริง แต่ของเรามันไม่เป็นความจริง ถ้ามันเป็นความจริง เห็นไหม ดูสิ เวลาโลกธรรม ๘ เสียงใดที่มันถูกใจ เสียงใดถูกใจยึดมั่นถือมั่นมัน เสียงใดที่ไม่พอใจจะผลักไสๆ มัน เห็นไหม ดูสิ ทางโลกเขาว่าพูดเข้าหูไง ถ้าพูดเข้าหูนะ พูดประจบสอพลอ เวลาสอพลอกันนั่นนะมันเข้าหูไง นี่มันยกยอปอปั้น เวลายกยอปอปั้น แหม! มีความปลื้มปีติมีความสุขใจ

เวลาพูดสิ่งใดมันขัดหู มันอึดอัดขัดข้อง มันทำสิ่งใดไม่ได้เลย มันขัดหูขัดตาไปหมด ขัดหัวใจด้วย แต่ถ้ามันถูกหูไง ถูกหูมันถูกกิเลส กิเลสในหัวใจนี่ถ้าพูดอะไรชื่นชมแล้ว แหม สัทธิวิหาริก อู้โหย ลูกศิษย์ลูกหานี่ชื่นชม พูดถูกหู พูดเข้าหู แล้วหูมันมีชีวิตไหม นี่อายตนะ สิ่งที่เสียงกระทบหูอยู่ตลอดเวลา ถ้าจิตใจมันไม่รับรู้มันก็ได้สักแต่ว่าได้ยิน แต่ถ้าจิตใจมันพอใจมันยึดมั่นมันถือมั่นของมัน เสียงมันอยู่ถึงแดนไกลมันก็ยังไปเหนี่ยวรั้งมา

นี่ไง พูดถูกหูๆ ถูกกิเลสไง แล้วกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจนี่ ยกยอปอปั้นสรรเสริญนะ ชอบ แล้วเวลาชอบก็ชอบกิเลสไง สรรเสริญมันมีสาระอะไร โลกธรรม ๘ ธรรมะเก่าแก่ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ ของมันมีอยู่ประจำโลก

แต่ของเราไม่เป็นอย่างนั้น เห็นไหม ปิดรูทั้ง ๕ รู เปิดรูไว้รูหนึ่งเพื่อจับเหี้ยตัวนั้น นี่ไง เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติเราจับเหี้ยตัวนั้น กิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจนี่ ถ้าเราพุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ จิตมันจะสงบลงได้ ถ้าจิตเราสงบลงไม่ได้ เราปิดอายตนะทั้ง ๕ ไม่ได้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันแส่ส่ายไปหมด มันดิ้นรน มันไขว้คว้า มันจะหาสิ่งสนองความพอใจของมัน แล้วเวลาสนองความพอใจของมัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันก็ไม่ใช่รับรู้สิ่งมีชีวิตหรอก มันเป็นอายตนะ เวลากระทบมันกระทบลงมาที่ใจ แต่ใจมันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ไอ้กิเลสตัวนั้นมันมักใหญ่ใฝ่สูง มันจะเหยียบหัวคน มันอยู่ในหัวใจนั่นนะ ถ้าอยู่ในหัวใจนั่นนะ แล้วถ้าไปพูดถูกใจมัน พูดถูกกิเลสมัน มันก็บอกว่าพูดเข้าหูไง พูดเข้าหู มันก็ได้ยินแจ่มแจ้งชัดเจนไง

แต่เวลาเป็นธรรมะ เห็นไหม ธรรมะ สัจธรรม พูดสิ่งใดไปมันชักฟืนชักไฟออกจากหัวใจไง ถ้ามันชักฟืนชักไฟออกจากหัวใจ มันก็จะทำให้กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันอ่อนแรงลงไง นี่สิ่งที่จะไปทำลายมัน สิ่งที่จะไปจัดการมัน มันไม่พอใจๆ มันก็ขัดหูไง เวลามันขัดหูขัดตาไปหมดเลย มันไม่พอใจไง แต่ถ้าสิ่งที่มันพอใจก็มันพอใจกิเลสไง สิ่งที่ไม่พอใจมันก็ไปขัดแย้งกิเลสไง

ถ้ามันขัดแย้งกิเลส นี่ไงการปฏิบัติ นักรบ นักรบ นี่เราจะรบกับกิเลสมันต้องรบอย่างนี้ ถ้ามันจะรบกับกิเลสตามความเป็นจริง มันตั้งใจจริงเห็นไหม ถ้ามันตั้งใจจริงมันจะเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงขึ้นมานี่ สิ่งนี้มันถึงกิจจญาณ สัจจญาณ มันถึงมีการกระทำไง ถ้ามันมีการกระทำ แต่เราคาดการณ์คาดหมายกันไปเอง เรามีแต่ความปรารถนาของเราไปเอง ความปรารถนา มันเป็นความปรารถนา มันเป็นเจตนา

เราตั้งใจกัน เห็นไหม เราบวชเรียนกันทุกคนก็อยากจะพ้นจากทุกข์ทั้งนั้นนะ เวลาเราตั้งใจ ระลึกถึงวันที่ออกจากโบสถ์สิ เวลาอุปัชฌาย์บวชขึ้นมา แหม! มันฮึกเหิม มันฮึกเหิม มันอยากจะกระทำ แต่เวลาปฏิบัติไปๆ ไอ้ความฮึกเหิมมันหายไปไหน ไอ้ความตั้งใจมันหายไปไหน ไอ้สิ่งนั้นมันหายไปไหนล่ะ นี่ถ้ามันตั้งใจๆ มันก็ต้องเอาจริงเอาจังขึ้นมาสิ

ถ้าเอาจริงเอาจังขึ้นมานี่ เห็นไหม ความเพียรชอบ เวลาบอกมันเป็นความเพียร ความวิริยะความอุตสาหะขึ้นมานี่ ไอ้นี่ก็บอกว่ามันเป็นงาน มันเป็นงาน มันเป็นน่าเบื่อหน่าย ไอ้มรรคผลจะให้มันลอยมาจากฟ้า ลอยมาจากฟ้ามันเป็นอามิส มันเป็นกรรมไง บุญก็คือบุญ บาปก็คือบาป ไอ้บุญบาปที่มันทำมานั่นมันให้ผล แต่เวลามรรค มรรคคือการกระทำ มรรคคือสัจจะความจริง มรรคคือสิ่งที่มันเป็นมรรคญาณ ญาณหยั่งรู้ รู้อะไรล่ะ? รู้ตัวตนของเรา รู้ความเป็นจริงในใจของเรา มันมาจากไหน มันมาจากฟ้าเหรอ

เด็ก เห็นไหม ดูสิ มันฉลาดขึ้นมาได้ พ่อแม่ต้องเลี้ยงดูมันดูแลฝึกฝนมา ทางวิทยาศาสตร์เขาพิสูจน์ได้ เด็ก ๓ ขวบสมองมันกำลังเติบโต เป็นช่วงเวลาที่เราจะปลุกปั้นเราจะดูแลของเรา เพื่อประโยชน์กับเด็กนั้น พอโตจากนั้นมาก็ศึกษาได้ แต่ศึกษาได้ขนาดไหนมันไม่ฝังเข้าไปในหัวใจมันลึกซึ้ง

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำของเรา ถ้าเราตั้งสติเราไม่ได้ สมาธิเราอยู่ไหน ถ้าสมาธิเราไม่มี หัวใจเราอยู่ไหน สิ่งที่หามาคือหาหัวใจของเรา ปฏิสนธิจิตๆ นี่ ไอ้ความคิดความรู้สึกมันเป็นอาการทั้งนั้นนะ มันเป็นสถานะ

แร่ธาตุ ดูแร่ธาตุสิ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ สิ่งที่เป็นแร่ธาตุนะ ทางวิทยาศาสตร์ เขาบัญญัติชื่อไว้แล้ว สิ่งใดมันพิสูจน์ได้มันเป็นธาตุนั้น นี่ไงมันเป็นแร่ธาตุ สิ่งที่เป็นแร่ธาตุนะ ธาตุรู้ๆ มันเกิดเป็นเรานี่ เห็นไหม สถานะๆ ความเป็นเราๆ มันก็เป็นแค่ความคิด มันไม่ถึงใจหรอก แม้แต่ในปัจจุบันนี้นักปฏิบัติทำสมาธิกันไม่เป็น ไม่รู้จักสมาธิ ถ้ารู้จักสมาธินะ สิ่งที่เราคุยกัน สิ่งที่เรามีการศึกษานี่มันวางไว้แล้ว

สิ่งที่เป็นการศึกษานี้มันเป็นภาคปริยัติ มันจบแล้ว มันจบที่การศึกษา มันจบที่ภาคปริยัติ ปริยัติ เห็นไหม ๙ ประโยค ๙ ประโยคเขาศึกษามาทำไม เขาศึกษาให้ปฏิบัติ ไอ้ ๙ ประโยคมันก็จบกันที่ภาคปริยัตินั้น แต่ศีลสมาธิปัญญายังไม่เกิด ถ้าปัญญาไม่เกิดมันจบ ๙ ประโยคมาได้อย่างไง จบมาแล้วก็การศึกษาไง สุตมยปัญญา สุตมยปัญญามันก็เป็นวงรอบหนึ่งของการศึกษา ในการศึกษาต้องการปัญญา ต้องการทฤษฏี ต้องการหนทาง เห็นไหม ทฤษฏีจะออกจากทุกข์ๆ นั่นเป็นหนทาง นั่นหนทาง

แต่ในภาคปริยัติเขาบอกแล้ว ปริยัตินี่ศึกษามาเพื่อปฏิบัติ เขาศึกษามาปฏิบัติ โปฐิละๆ ใบลานเปล่าๆ นะ เขาเคยศึกษามา ศึกษามาแล้วไม่ปฏิบัติ จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นถึงวาสนาของเขา ถึงได้เตือนสติไง แล้วเตือนสติแล้วนี่เขาได้สติด้วย เขาละทิ้ง ละทิ้งสถานะความเป็นเจ้าอาวาส ความเป็นสัทธิวิหาริก ๕๐๐ แล้วหลีกเร้นไปองค์เดียว หลีกเร้นไปขอประพฤติปฏิบัติกับสำนักปฏิบัติ นี่ไงศึกษามา ๙ ประโยคศึกษามาทำไม ก็ศึกษามาให้ปฏิบัติ การศึกษานี่ศึกษาสุตมยปัญญามันจบกระบวนการของมันแล้ว มันจบกระบวนการของการศึกษา แล้วศึกษารู้ไหม รู้ ฉลาดไหม ฉลาด

ถ้าทางวิชาการนั่นนะเวลาส่งผลงาน จากผู้ช่วยศาสตราจารย์ก็ได้เป็นรองศาสตราจารย์ จากรองศาสตราจารย์ก็จะเป็นศาสตราจารย์ แล้วได้อะไรล่ะ ก็ได้กระดาษใบหนึ่งไง ได้สถานะทางสังคมไง ได้วิชาชีพไง ทำสิ่งใดก็ได้ค่าวิชาไง แล้วอย่างไรต่อ นี่มันเลี้ยงชีพ! แล้วมันมีคุณธรรมในใจไหม ถ้ามันมีคุณธรรมในใจนั้นนะ สิ่งที่ศึกษามานะศึกษามาเพื่อความรู้นั่นนะ สุตมยปัญญาศึกษามาแล้ว แล้วจะมาค้นคว้าๆ เอาความจริง แล้วความจริงนี่ ไอ้กระบวนการนี่ใครเป็นคนตรวจสอบ ใครเป็นคนบอกว่าเราได้สิ่งใด

ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก เวลาเป็นสมาธิขึ้นมาเป็นจริงๆ โอ้ สมาธิ จิตมหัศจรรย์มาก ธรรมะมีแน่นอน ใครทำความสงบของใจได้ ถ้าจิตมันสงบได้นะจะเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา จะเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนาเพราะเหตุใด จะเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนาเพราะมันเข้าสู่สัจจะ เข้าสู่จิตเดิม จิต ฐีติจิต ฐีติจิตเห็นไหม คนเวลาเกิดมา ทุกคนเกิดมาเกิดมาจากไหน เกิดเป็นมนุษย์นี่จิตมันเกิดปฏิสนธิในไข่ ในครรภ์ ในน้ำคร่ำ ในโอปปาติกะ กำเนิด ๔ มันเกิดมามันยังไม่รู้ว่าเกิดอย่างไงเลย เกิดมาแล้วไม่เชื่อว่านรกสวรรค์มี ไม่เชื่อว่าเราจิตนี่มันมาเกิด

แต่ทางวิชาการพิสูจน์กันว่าคนเกิดก็เกิดมาจากสเปิร์มของพ่อกับไข่ของแม่ เวลามันนิวเคลียสมันทำปฏิสัมพันธ์กันมันเกิดปฏิสนธิ นั่น! วิชาการนะเก่งเลย แล้วมาจากไหนว่ะ ไม่รู้ ค้นคว้ากันใหญ่ ทดสอบกันอยู่นั้น

นี่ นี่มันไม่รู้! แล้วไม่รู้มันก็อยู่ทางโลกนี่ ไม่มีใครรู้สักคน แล้วไม่รู้แล้วยังทิฏฐิมานะ ทิฏฐิมานะถือตัวถือตน ถือว่าตัวเองมีความรู้ แต่เวลาทำความสงบของใจ แล้วทำความสงบของใจ เห็นไหม ผู้ที่ปัญญาชนทำความสงบของใจทำได้ยาก เพราะอะไร? เพราะปัญญามันเยอะ พุทโธนี่มันจืดชืด ก็คำว่า “พุท” คำว่า “โธ” นี่ใครมันก็รู้แล้ว พุทโธก็พุทธะ พุทธะก็ชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็รู้รอบหมดแล้ว แล้วไปพุทโธทำไม ทำไมต้องพุทโธด้วย พุทโธแล้วไม่เห็นได้อะไรเลย พุทโธแล้วเครียด แต่ปัญญาฉันเยอะ ฉันรู้มาก รู้ว่าพระพุทธเจ้าเกิดที่ไหน ตรัสรู้อย่างไร รู้ว่าพระพุทธเจ้าสั่งสอนอย่างไร แล้วรู้ด้วยพระพุทธเจ้าปรินิพพานอย่างไร แล้วรู้ด้วยพระพุทธเจ้านี่วางศาสนาไว้เพื่อรื้อสัตว์ขนสัตว์ รู้หมดเลย

แต่ทำสมาธิไม่เป็น ทำสมาธิไม่เป็นก็ไม่เห็นตัวของตน ถ้าเมื่อไหร่เห็นตัวของตน เห็นตัวเห็นใจ ถ้าใจมันสงบๆ เพราะอะไร เพราะกิเลสมันเบาบางลง ถ้ากิเลสมันเบาบางลง เห็นไหม นี่สัมมาสมาธิ เพราะสัมมาสมาธินี่พระไตรปิฎกไง ตู้พระไตรปิฎกมันจะเปิดออก ถ้าตู้พระไตรปิฎกมันจะเปิดออกมันจะเกิดการค้นคว้า เกิดการค้นคว้านั้นมันจะเกิดภาวนามยปัญญา ปัญญานะ

พระไตรปิฎกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยนี้ไว้เพราะปรารถนาจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ เป็นทางวิชาการ เป็นปูนหมายป้ายทาง เป็นทางเดินของสาวกสาวกะ เป็นผู้ที่ค้นคว้า ผู้ที่หาทางออก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาประพฤติปฏิบัติไม่มี ไม่มีคือสัจธรรมมันมีอยู่โดยดั้งเดิมแต่ใครรู้ มันไม่มีใครรู้ๆ ไม่มีใครรู้จริง พอไม่มีใครรู้จริงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องพยายามประพฤติปฏิบัติด้วยความที่ไม่มีใครชี้ทาง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่า “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ด้วยพระองค์เอง”

การตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบ ด้วยพระองค์เอง เพราะมันไม่มีใครเคยรู้ได้ขนาดนี้ ไม่มีใครเคยรู้เคยเห็นสัจธรรมอันนี้ ถ้ามีใครเคยรู้เคยเห็นสัจธรรมอันนี้ เขาต้องแสดงสัจธรรมอันนี้มา เหมือนลิขสิทธิ์ทางโลก เพราะมันไม่มีวิชาการอย่างนี้ ในทางโลกไม่มี แต่เราเป็นคนที่ค้นคว้า เป็นผู้ที่ค้นคว้า เป็นคนที่วิจัยมา เราเป็นคนรู้คนแรก เราเป็นคนทำทำขึ้นมาให้สำเร็จ สำเร็จได้เป็นคนแรก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบด้วยพระองค์เอง เพราะมันไม่มีใครรู้

แต่ในปัจจุบันนี้กึ่งพุทธกาล พระไตรปิฎกดูสิจะเอาภาษาไหน จะเอาภาษาบาลี ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ จะเอาภาษาโรมัน จะเอาภาษาไหนมันมีไปหมด มีไปหมดมันก็เป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม นี่ศึกษามาๆ ศึกษามาเป็นสุตมยปัญญา ศึกษามาเพื่อเป็นแนวทาง แต่เวลาจะประพฤติปฏิบัติ ถ้าจิตมันไม่สงบเข้ามานี่เราเข้าไปสู่ตู้พระไตรปิฎกของเราไม่ได้

นี้เป็นตู้พระไตรปิฎกนะ เพราะตู้พระไตรปิฎกข้างในมันยังมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากครอบงำมันอยู่ไง แต่ถ้าเราไปแยกแยะของเรา ถ้าจิตมันสงบแล้วจิตเห็นอาการของจิต ถ้าจิตเห็นอาการของจิตมันถึงเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง ไอ้ที่รู้ที่เห็นนี่เห็นโดยอุปาทาน เห็นโดยจินตนาการ เห็นโดยความเห็นของเรา ความเห็นของกิเลสไง สมุทัยๆ นะความเห็นของเรานี่ เพราะเรารู้มาก เราเรียนมาก เราสร้างภาพได้มาก เพราะเรารู้หมดแล้ว เราจะทำอย่างไรก็ได้ให้มันรู้ตามเรานะ ถ้ารู้ตามเรามันก็เป็นไป เป็นไปตามนั้น

นี่ไง นี่เข้าหูไง พูดถูกใจ ปฏิบัติถูกต้อง ปฏิบัติแล้วสุดยอด ก็แค่นั่น! ไม่เป็นความจริง ถ้ามันเป็นความจริง มันเป็นความจริง มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตังหมายความว่ามันกำราบปราบปรามกิเลส มันปราบปรามกิเลส เห็นไหม พุทโธๆ นี่ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าจิตสงบแล้ว โอ้โฮ มหัศจรรย์ มหัศจรรย์เพราะอะไร มหัศจรรย์เห็นไหม ปลูกดอกบัวที่ใจ เราจะปลูกดอกบัวที่ใจมันต้องมีใจ เราต้องเห็นภวาสวะ เห็นภพ เห็นสถานที่

ครูบาอาจารย์เราถึงบอกว่าสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน เราไม่มีที่ตั้งการงาน คนทำงานมีออฟฟิศนะ แต่เดี๋ยวนี้เขาบอกว่า เขามีแป้น ทำงานโดยความคิดนะ คิดงานๆ คิดงานก็คิดที่ใจ คิดงานอยู่ที่เรา ต้องรีบจดไว้เลยเดี๋ยวมันลืม เดี๋ยวส่งงานผิดพลาด นี่คิดงาน

นี่ก็เหมือนกัน เวลาสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน นี่ไงตู้พระไตรปิฎกไง ถ้าใครรู้ใครเห็น ถ้ามันเปิดตู้ได้ จิตสงบแล้วจิตเห็นอาการของจิตคือเปิดตู้ได้ การเปิดตู้ได้คือค้นคว้าหาสัจจะ หาสิ่งที่มันเป็นอวิชชา ที่มันปักเสียบอยู่กลางหัวใจได้ ถ้ามันปักเสียบกลางหัวใจได้ เห็นไหม นี่การปฏิบัติ ศึกษามาๆ เป็นภาคปริยัติ ศึกษามามีความรู้มากขนาดไหนนะ ศึกษามานะ ๙ ประโยค ๑๐ ประโยคนะ เขาศึกษามาให้ปฏิบัติ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธะ

นี่ปริยัติแล้วปฏิเวธะไม่เคยมี ปริยัติแล้วปฏิเวธะนี่เขาว่ากันอย่างนั้น ว่าเขามีความรู้ ว่า เขามีความเข้าใจ ว่าเขาเป็นปฏิเวธะ ปฏิเวธะนี่คือความเข้าใจไง เห็นไหมพูดถูกหูไง ถ้าพูดขัดหูไม่พอใจ แต่ถ้ามันเป็นความจริงๆ นะ เห็นไหม สิ่งที่มันเป็นความจริง ถ้าจิตสงบแล้วนี่มันออกค้นคว้าของมัน ถ้ามันจะเป็นปฏิเวธะมันเป็นปฏิเวธะเพราะเหตุใดล่ะ ถือว่ามันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตังคือความรู้จำเพาะตน รู้จำเพาะในหัวใจนั้น เพราะอะไร เพราะปฏิสนธิจิต กำเนิด ๔ เวลาไปเกิดอะไรไปเกิด มันเป็นนามธรรมที่ไม่มีใครรู้เท่ามันเลย มันถึงไปเกิด

แต่เวลาพระอรหันต์ พระอรหันต์นี่รู้เท่าหมด รู้เท่าหมดมันไม่ไปข้างหน้าและมันไม่ไปข้างหลัง แล้วมันจะไปไหนล่ะ มันจะไปไหน มันไม่ไปไหน ไม่ไปไหนก็ไม่มีการเกิด ที่ไหนที่ไม่มีการเกิดที่นั่นก็ไม่มีการดับ ที่ไหนไม่มีเกิดที่นั่นก็ไม่มีการทุกข์ ที่ไหนไม่มีการเกิดมันเกิดไม่ได้ มันเกิดไม่ได้เพราะมันรู้เท่ามันเป็นข้อเท็จจริงของมัน มันเป็นข้อเท็จจริงตามนั้นเพราะได้ประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงอย่างนั้นแล้ว

แต่ของเราๆ ศึกษามานี่รู้ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ไหน เทศน์กับใคร เทศน์อย่างไรรู้หมดเลย แต่ทำความสงบของใจไม่เป็น นี่กรรมฐานนะ แม้แต่ทำความสงบของใจยังทำไม่ได้ ถ้าทำความสงบของใจไม่ได้ นี่ทุน คนจะทำสิ่งใดมันต้องมีทุน อย่างมนุษย์เห็นไหม สรรพสิ่งในโลกนี้มนุษย์ มนุษย์ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เราต้องเคารพความเป็นมนุษย์ เพราะเขาเห็นว่ามนุษย์นี่มีค่ามาก แต่มนุษย์เห็นไหม ดูสิ ที่เวลาเขามีภัยสงครามอพยพหนีเป็นล้านๆ สัตว์มันยังมีคุณค่า สัตว์เขายังถนอมรักษามากกว่ามนุษย์ มนุษย์นะเขาทิ้งไว้ มนุษย์อพยพเห็นไหม ไปออกสู่ทะเล ไปผจญภัยเอา เรือคว่ำตายหมด นี่มนุษย์

นี่ไงสิ่งที่ว่าเป็นมนุษย์ ที่มีคุณค่าๆ นะ เพราะอะไร เพราะนั่นสิ่งนั้น เพราะเขาขวนขวายกันทางโลก โลกเห็นไหม โลกพร่องอยู่เป็นนิจ มันมีเหตุเภทภัยนี่เขาก็จะแสวงหาตะเกียกตะกายไปหาความปลอดภัย ไปหาที่ที่เขาปลอดภัย ที่ที่เขาไม่ปลอดภัยเขาเสี่ยงภัยกับชีวิตเขา ชีวิตนี้มีค่า อยากรักษาชีวิตนี้ไว้ก่อน รักษาชีวิตนี้ไว้ นี่มนุษย์ไง

แต่ของเรานี่ เห็นไหม เราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เกิดในชาติอันสมควร ร่มเย็นเป็นสุข การเกิดที่ร่มเย็นเป็นสุขนี่ เกิดที่สังคมสงบระงับ สังคมที่สมควรแก่การประพฤติปฏิบัติ แต่ทำไมเราเฉื่อยชา ทำไมเราไม่กระตุ้นตัวให้มันฮึกเหิม มันฮึกเหิมนะ

กาลเวลา เห็นไหม ยักษ์ มืดกับสว่าง วันเวลาที่มันล่วงไปๆ มันกลืนกินมนุษย์ ยักษ์เวลามันกินคนมันกินคนนะ แต่นี่เห็นไหม เปรียบเหมือนเวลามืดและสว่างนี่มันกินสัตว์โลก กาลเวลามันผ่านไปมันกินชีวิตเราวันเวลาของชีวิตเราไป แต่เราใช้ชีวิตอย่างไร เราไม่มีกิเลสแล้วใช่ไหม เราไม่มีกิเลสในหัวใจกันเลยเหรอ เราไม่มีงานทำแล้ว เรานี่แหมมีความสุขมาก อย่างนั้นเหรอ

แต่ถ้าเราคิดได้นะ วันเวลามันล่วงไปๆ นะ แล้วเราทำอะไรกันอยู่ เราทำอะไร? เวลานั่งสมาธิภาวนามันก็มีสติกับจิตใจของเรานี้แหละ ถ้ามันสักแต่ว่าทำ เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา หลวงตาบอกว่าหมายังดีกว่า หมามันยังวิ่งไปวิ่งมา หมามันวิ่งไปวิ่งมา เราเดินจงกรมนี่สู้หมาไม่ได้ หมามันมี ๔ ขา ไอ้เรามี ๒ ขา เดินไปเดินมา สักแต่ว่าทำ ทำสักแต่ว่า ไม่มีสติไม่มีปัญญา หมามันยังดีกว่า

แล้วบอกเวลามีปัญหากันก็ว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่เวลาเดินจงกรมสู้หมาไม่ได้ มันยังวิ่งไปวิ่งมามันยังวิ่งดีกว่าเราอีก นี่ถ้ามันคิดอย่างนี้ คิดอย่างนี้คิดอย่างนี้เพื่ออะไร คิดอย่างนี้เพื่อให้จิตใจมันฮึกเหิม ถ้าจิตใจมันฮึกเหิมมันมีกำลังใจ กำลังใจมีนะ ทำอะไรก็ประสบความสำเร็จถ้ามีกำลังใจ แต่จิตใจนี่กิเลสมันครอบงำ นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ดี นู้นก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทำไปแล้วก็เหนื่อยน่าดูเลย ปฏิบัติแค่นี้เราก็รู้แล้ว ศึกษามาแล้ว โอ๋ย ปัญญาเรารอบรู้หมดแล้ว

ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือปัญญารอบรู้ในกองสังขาร กองสังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่ง ไอ้ที่ว่าปัญญาๆ นี่ เรามีสติปัญญาของเรานี่เท่าทันกับความคิด ความคิดความปรุงความแต่งนี้อันนี้เลย แต่ไอ้นี่ไอ้ความคิด ความปรุงความแต่งนั่นนะมันเป็นสังขาร สังขารคือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สถานะของมนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ นะ รูปคืออารมณ์ความรู้สึก เวทนาคือชอบหรือไม่ชอบ สัญญาคือข้อมูลเปรียบเทียบ ถ้าไม่มีสัญญานี่คิดอะไรไม่ได้เลย

สังขารที่ปรุงๆ ปรุงเพราะสัญญาทั้งนั้น สังขารปรุงแต่ง แล้วมันก็เกิดวิญญาณรับรู้ มันเกิดเป็นอารมณ์ ปัญญารอบรู้ก็รอบรู้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รอบรู้สถานะของความเป็นมนุษย์ มนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ นี่มันรอบรู้เท่าทัน เท่าทันมันก็จบ ถ้ามันจบนะ รูปรส กลิ่นเสียงเป็นบ่วงของมารเป็นพวงดอกไม้แห่งมาร สิ่งนี้มันขันธ์ ๕ มันก็สัมพันธ์กันมันก็มีค่าต่อกัน

แต่ถ้าปัญญารอบรู้เท่าทันแล้วนี่ รอบรู้ความคิดความปรุงความแต่งรอบรู้สังขาร ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในความคิด รอบรู้ในความปรารถนา รอบรู้ในความคิดของตนแล้วมันจะไปไหน มันจะไปไหนมันก็เท่าทันนะ เท่าทันมันก็จบ ถ้าพิจารณาซ้ำๆ มันมีกำลังขึ้นมา จิตมีกำลัง พอจิตมีกำลังขึ้นมานี่ปุถุชน กัลยาณปุถุชน เพราะกัลยาณปุถุชนนั่นนะเป็นผู้ที่ละรูป รส กลิ่น เสียง เป็นกัลยาณปุถุชน

ฉะนั้นคนที่ทำสมาธิได้ง่ายๆ คนที่ทำสมาธิชำนาญเขาว่าเป็นกัลยาณชนไง แต่ของเรามันเป็นปุถุชนไง ปุถุชนคนหนา เสียงอะไรมาก็ของฉัน พูดถูกหูก็ยกย่อง พูดขัดหูล่ะอาฆาตมาดร้าย สิ่งใดที่มันขัดหูเราล่ะหมายหัวเขาไว้เลย ถ้าถูกหูล่ะนั่นก็เอาสีแดงป้ายไว้เลย นี่พรุ่งนี้จะเข้าโรงฆ่าสัตว์ ป้ายไว้ สีแดงป้ายไว้ นี่เดี๋ยวมันโรงฆ่าสัตว์ ไอ้ถ้าไม่ถูกหูหมายหัวไว้เลย นี่ไง เพราะอะไร เพราะปุถุชนคนหนา

แต่ถ้าเป็นกัลยาณชน เป็นกัลยาณชนสัตว์ร่วมโลก สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย เขาก็มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ต้องแบกภาระไป เราก็มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ต้องแบกภาระไป เกิดมาทุกคนก็ต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย ถ้ามีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เขาก็จะขวนขวายผูกมัดยึดมั่นว่าเป็นของเขา คนที่เป็นกัลยาณชนเขาได้สิ่งใดมาเขาก็จะแจกจ่ายเจือจานกับสัพเพ สัตตา เพราะมีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เหมือนกัน

แต่จิตใจที่มันยึดมั่นถือมั่น มันไปตระหนี่ถี่เหนียว ไปยึดมั่นว่าเป็นของเรา แม้แต่ยึดถึงอารมณ์ความรู้สึก ยึดถึงความรู้สึกนึกคิด มันเป็นสิทธิ์ในหัวใจของคน ในหัวใจของเขา จิตใจของคนหยาบละเอียดมีความคิดแตกต่างกัน ความแตกต่างอันนั้นมันเป็นจริตเป็นนิสัยของเขา ถ้าเรามีสติมีปัญญา เราให้ปัญญากับเขา แล้วเขาไปแก้ไขของเขา เขาทำของเขาเพื่อประโยชน์ของเขา

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้า เจ้าจะเกิดบนหัวใจของเราไม่ได้เลย” มันเป็นความดำริ ความคิดความเห็นของเขา แล้วมารเอยๆ มารก็ครอบงำในจิตใจของเขา เขาก็ทุกข์ก็ร้อนทุกๆ ดวงใจ ทุกๆ ดวงใจก็มีกิเลสตัณหาความทะยานอยากที่มันบังคับบัญชาอยู่ ถ้าเรามีสติมีปัญญา เราให้อภัย เราให้ เห็นไหม สัพเพ สัตตา สัพเพ สัตตา ทุกคนก็มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เหมือนกัน ทุกคนก็ต้องแบกภาระไปเหมือนกัน แต่ใครมีกิเลสหนากิเลสบางแตกต่างกัน

กิเลสหนามันก็มีความทุกข์มาก กิเลสหนามันก็ยึดมั่นถือมั่นของมันมาก กิเลสเบาบางเขาก็ยึดมั่นถือมั่นน้อยหน่อย เพราะยึดมั่นถือมั่นมันก็ยึดมั่นถือมั่นเหมือนกัน ที่เรามาประพฤติปฏิบัติกันจะกิเลสหนากิเลสบางเราก็มีเป้าหมายเหมือนกันว่าเราจะชำระชะล้างมัน จะชำระล้างกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจของเรา ถ้าชำระล้างกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจของเราเพื่อเป็นมรรคญาณ เพื่อเป็นสัจธรรม ถ้าสัจธรรมอันนี้มันเกิดขึ้นมาจากใจดวงใด ใจดวงนั้นมันก็จะมีองค์ความรู้มีความจริง เห็นไหม เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก

ในเมื่อใจดวงหนึ่งที่มันมีกิจจญาณ มีสัจจญาณ มีสัจจะความจริงชำระล้างกิเลสไปได้ ทำไมเขาจะบอกถึงวิธีการการชำระล้างกิเลสอันนั้นไม่ได้ เพราะเขาทำของเขาได้ ถ้าเขาทำของเขาได้ ก็วิธีการกระทำอันนั้นมันทำขึ้นมาเป็นสัจจะความจริง ถ้าสัจจะความจริง วิธีการการกระทำนะทำอย่างใด แล้วล้มลุกคลุกคลานนี่บากบั่นมาอย่างใด แล้วเวลาคนอื่นเขาทำ วิธีการที่ทำมานะมันก็รู้มันก็เห็น ทำไมมันจะบอกกันไม่ได้ เห็นไหม “จากใจดวงหนึ่ง สู่ใจดวงหนึ่งไง”

โปฐิละใบลานเปล่าๆ เห็นไหม ความรู้ท่วมหัวแต่มันเป็นความรู้ของโลก มันเป็นการศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา มันเป็นแนวทาง ศึกษามาเป็นแนวทาง ศึกษามามันไม่ใช่สมบัติของเรา จำมาๆ นะ มันไม่ใช่สมบัติของเรา ถ้าลืมแล้วก็เปิดตู้พระไตรปิฎกทบทวน นี่เดี๋ยวก็ลืม ลืมเพราะอะไร ลืมเพราะมันไม่เป็นความจริงไง ลืมเพราะถ้ามันประพฤติปฏิบัตินะ มันเป็นความจริง อริยสัจในหัวใจไม่มีวันเลือนรางไปจากใจ เราเป็นคนทำเอง คนว่ายน้ำเป็นนะ มันลงน้ำเมื่อไหร่มันก็ว่ายได้

คนศึกษาการว่ายน้ำมา อวดว่าว่ายน้ำเป็น ผลักมันลงน้ำมันก็จมน้ำตาย มันว่ายน้ำไม่ได้ คนว่ายน้ำเป็นนะ มันจะลงน้ำเมื่อไหร่มันก็ว่ายของมันไปได้ นี่อริยสัจในหัวใจ มันเป็นความจริงอย่างนั้นนะ มันไม่ลืมหรอก มันก็เหมือนเราลงน้ำเมื่อไหร่มันก็ว่ายได้ เพราะมันเป็นความจริง มันว่ายน้ำเป็น ไอ้เราศึกษาวิชาการว่ายน้ำ กูนี้เก่งนะ กูนี่ทำความเร็วสถิติโลกเชียวมึง ลงน้ำเมื่อไหร่ก็ตายเมื่อนั่นนะ เพราะว่ายน้ำไม่เป็น

ถ้าพูดถึงรู้จริงเป็นอย่างนี้ รู้จริงเหมือนว่ายน้ำเป็น มันเป็นโดยตัวมันเอง มันเป็นโดยความเป็นจริงอันนั้น แล้วถ้าความจริงอันนั้นมันจะลืมไหม มันจะแนะนำเขาไม่ได้ใช่ไหม แต่ไอ้คนที่ว่ายน้ำไม่เป็นนี่สิ ไม่เป็นเราก็ต้องศึกษา ศึกษาก็ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน อยากจะว่ายน้ำๆ แต่มันยังว่ายไม่เป็น ถ้ามันว่ายน้ำเป็นมันก็เป็นปฏิเวธ นี่ไง สิ่งที่ว่าปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธะ ถ้ามันเป็นปฏิเวธมันก็เป็นความจริงอันนั้น

ฉะนั้นเราต้องมีสติมีปัญญาคอยดูแลหัวใจของเรา อย่าให้มันดิ้นรนนัก ไม่ดิ้นรนนักก็คือว่าไม่เข้าช่องทางของกิเลส ถ้ากิเลสมันครอบงำหัวใจมันจะดิ้นรน มันจะกวัดแกว่งของมัน แล้วมันก็จะดิ้นรนอย่างนั้น ถ้าเรามีสติมีปัญญารักษาฝึกหัดขึ้นมา เวลาเป็นจริงขึ้นมา เห็นไหม มันอยู่ที่อำนาจวาสนานะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เอตทัคคะ ๘๐ องค์นะ ดูพระอานนท์ได้ตั้งสี่ห้าสาขา องค์อื่นได้แต่ละอย่าง พระอานนท์นะได้เยอะเลย ได้เยอะเพราะอะไร เพราะพระอานนท์สร้างอำนาจวาสนามาอย่างนั้น

นี่ก็เหมือนกัน มันเป็นจริตเป็นนิสัยของเรา เราจะต้องทำความจริงของเรา แล้วหมั่นเพียรของเรา สิ่งใดถ้ามันกวนหัวใจไง ใครพูดมาอย่างใดมันจะเข้าหูหรือจะขัดหูก็แล้วแต่ นี่เราต้องแยกแยะ แล้วเราต้องดูใจของเราอย่าให้กระเพื่อม ไอ้ที่มันถูกหูหรือขัดหูนี่อีกเรื่องหนึ่งนะ กิเลสฟูขึ้นมานี่อีกเรื่องหนึ่งนะ พูดขัดหูนั่นนะ นั่นนะเขาพูดมีคุณค่า เขาคอยชี้นำบอกถึงวิธีการบกพร่องของเรา เขาเรียกว่าชี้ขุมทรัพย์ บอกถึงเราๆ ฟังแล้วขัดหู แต่เอามาวิเคราะห์วิจัยสิ มันเป็นจริงไหม ถ้ามันเป็นจริงทำไมไม่แก้ไข ถ้าไม่แก้ไขมันก็จะฝังรากไปอย่างนี้

ถ้าถูกหู ถูกหูมันมีคุณค่าอะไร เขายกยอปอปั้น เขาประจบสอพลอ เพื่อให้เราหลงใหลไปกับเขา ความจริงในใจของเรานี่ เราปฏิบัติมาเราไม่รู้ว่าเราดีหรือชั่วเหรอ เราดีหรือชั่วนี่เรารู้ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกนะ ถ้าคนเขาพูดจริง มันเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะพูดจริง เพราะเขาไม่รู้ มีใครรู้อริยสัจ มีใครรู้อริยสัจ แล้วมันจะรู้ใจเราได้อย่างไง แล้วไปหวั่นไหวอะไรกับเขา ไปบ้าบอคอแตกอะไรกับเขา เรารู้ตัวเรา เรารู้ตัวเรา เรารู้เป็นความจริงของเรา

ฉะนั้นถูกหูหรือขัดหูมันต้องมีสติปัญญาแยกแยะ แล้วพยายามแก้ไขเรา แก้ไขเรา ถ้าแก้ไขเรานี่ นี่สมบัติของเรา เรื่องของเขา เราเกิดมาท่ามกลางสังคมแบบนี้ เขามาพูดถามบ่อย เรื่องนิกายๆ นี่ บอกว่ามันเป็นประวัติศาสตร์ กูพึ่งบวช กูก็ไม่รู้มันมาจากไหนเหมือนกัน กูก็พึ่งบวช ไอ้นิกายๆ มันเป็นประวัติศาสตร์มากูจะไปรู้อะไร แล้วมันโทษอะไร แต่กูจะทำความดี

เราจะทำความดีของเรา เราอยู่ในธรรมวินัยของเรา มีครูบาอาจารย์ที่ถูกต้องดีงามสั่งสอน เราก็พยายามจะประพฤติปฏิบัติของเรา นี่แล้วแยกแยะ ตั้งสติแยกแยะ ดูแลหัวใจของเรา ปฏิบัติของเราให้เป็นสมบัติของเรา เอวัง