ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

รู้แล้วพูด

๒๖ ธ.ค. ๒๕๕๘

รู้แล้วพูด

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๘

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : เรื่อง สนามรบ

สืบเนื่องจากคำถามเมื่อวันที่ ๓๐ ม.๒๕๕๘ และหลวงพ่อได้เมตตาตอบไว้เมื่อวันที่ ๗ ก.๒๕๕๘ ผมได้ทำตามที่หลวงพ่อแนะนำ มันก็สำรอกคายออกมาได้ครั้งเดียวเท่านั้น อย่างอื่นมันก็ไปต่อได้เรื่อยๆ ที่เขียนมานี้เขียนมารายงานตัว เผื่อได้อุบายไปรบกับกิเลสเพิ่มเติม

ส่วนตัวผมเอง ขอยอมรับหมอบราบคาบแก้วว่า หลวงพ่อองค์เดียวที่ตอบคำถามผมได้ชัดเจนที่สุด ผมรู้ทั้งรู้นะครับว่า คนไม่เป็น ไม่เคยผ่าน คิดให้ตายก็ตอบไม่ได้ แต่หลวงพ่อตอบได้แบบน้ำไหลไฟสว่างเลย ผมจึงพิจารณาตามและผ่านไปได้เป็นพักๆ ขอกราบขอบพระคุณมากครับ

ตอบ : อันนี้เวลาเขียนนะ เวลาเขียนเขาเขียนมา แต่เขียนมาเวลาตอบปัญหา เราจะตอบปัญหาเพื่อผลของการปฏิบัติ ถ้าใครประพฤติปฏิบัติแล้วมีการขัดข้อง มีการขัดข้องหรือปฏิบัติแล้วมันติดขัด 

คำว่า ติดขัด” นะ มันต้องเข้าใจว่า ตัวเองเข้าใจว่าติดขัด แต่ส่วนใหญ่แล้วคนที่ปฏิบัติไม่ยอมเข้าใจว่าตัวเองติดขัดไง พยายามจะเข้าใจว่าตัวเองมันทะลุปรุโปร่ง ตัวเองคิดพิจารณาแล้วทำได้ ถ้าทำได้มันก็แบบว่าคร่อมไว้อย่างนั้น เห็นไหม เขาบอกว่าคร่อมตอไว้เฉยๆ ตอของจิตๆ มันไม่รู้ไม่เห็นขึ้นมามันทำสิ่งใดไม่ได้หรอก แต่ถ้ามันรู้มันเห็นขึ้นมา ตอบเพื่อเหตุนั้น ตอบเพื่อเหตุนั้นนะ 

ดูสิ เวลาหลวงตาท่านออกประพฤติปฏิบัติ ท่านก็จะหาครูหาอาจารย์ที่ไว้ใจได้ ถ้าไม่ไว้ใจได้นะ ตอนนี้มีคนตอบปัญหาเยอะมาก มีคนตอบปัญหา มีคนพยายามจะชี้นำเรื่องการปฏิบัติ แต่ปฏิบัติไปแล้วมันจะมีผลจริงหรือเปล่า ถ้ามันไม่มีผลจริง ไม่มีผลจริงแต่เวลาเราทำตามเขาไป เห็นไหม มันเป็นอุปาทานหมู่ เป็นอุปาทานหมู่นะ 

คนคนหนึ่งพยายามพูดกรอกหูกัน มันดีอย่างนั้นๆ” มันดีอย่างนั้นมันเป็นอุปาทานหมู่ไง พูดกรอกหูกัน ชักจูงกัน โน้มน้าวกัน นี่เป็นอุปาทานหมู่ อุปาทานหมู่เพราะอะไร เพราะถ้าตัวเองผิดอยู่คนเดียวมันเก้อเขินใช่ไหม ถ้าผิดกันเป็น ๑๐ คน ๒๐ คน เอออย่างนี้อุ่นใจหน่อย ไอ้คนนั้นก็ว่าใช่ ไอ้คนนี้ก็ว่าใช่

แต่เวลาเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัตินะ เวลาองค์สมเด็จ-พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบพระองค์เดียว เวลาเทศนาว่าการปัญจวัคคีย์ ๕ คนเท่านั้น เวลามีดวงตาเห็นธรรมก็พระอัญญาโกณฑัญญะองค์เดียวเท่านั้น อีก ๔ คนยังไม่ได้ เวลามันรู้ มันรู้อยู่คนเดียว รู้โดยปัจจัตตัง รู้โดยในหัวใจ แล้วมันรู้ได้โดยยาก แต่ถ้ามันรู้ได้จริง เห็นไหม นี่ไง เวลาเขาตอบปัญหา ตอบปัญหาก็เพื่อเหตุนี้ 

ฉะนั้น เวลาที่ว่า “เขียนมาเพื่ออุบาย เพื่อหาโอกาส

เวลาครูบาอาจารย์สมัยหลวงปู่มั่น เห็นไหม เวลาอยากฟังธรรมๆ พยายามทำอะไรให้ผิด ทำอะไรให้มันขัดแย้ง เวลาหลวงปู่มั่นท่านจะเทศน์นะ หลวงตาท่านบอกเลย หลวงปู่มั่นเทศน์กัณฑ์ใดก็แล้วแต่ เทศน์ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เทศน์ถึงนิพพานหมดเลย แต่มันไม่แทงใจ

ฉะนั้น หลวงตาท่านจะไปหาหลวงปู่มั่นนะ ทำนู่นให้ผิด ทำนี่ให้ผิด ไม่ก็ถามปัญหาท่าน ถามปัญหาเรื่องธรรมะนี่แหละ ถ้าถามแล้วท่านยังตอบเฉยๆ ท่านก็ยังถามไปเรื่อย คือภาษาเรานะ โง่ให้เป็น คือถามให้มันผิด มันก็รู้อยู่แล้วว่าผิด แต่ถ้าผิดมันไปสะเทือนใจหลวงปู่มั่นหรือไม่ 

ถ้ามันไปสะเทือนใจหลวงปู่มั่นนะ พอหลวงปู่มั่นสะเทือนใจท่านจะบอกเลยว่า ไม่ใช่!” ถ้าไม่ใช่แล้วใช่คืออะไร พอบอกว่าไม่ใช่นะ หลวงตาท่านบอกว่า เออได้เปิดก๊อกน้ำได้แล้ว” ถ้าได้เปิดก๊อกน้ำนะ ตอนนี้ไปฟังเทศน์นะ ฟังให้ดี บอกไม่ใช่ แล้วถ้าใช่ท่านจะอธิบายแจงเป็นชั้นๆๆ มาเลย นี่ท่านบอกว่าเปิดก๊อกน้ำได้แล้ว

เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ ท่านเทศน์จากประสบการณ์จริงของท่าน ท่านก็เทศน์ถึงระดับการประพฤติปฏิบัติเป็นแนวทางขึ้นไปจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ แต่มันฟังแล้วมันเป็นข้อเท็จจริง แต่ข้อเท็จจริง มันเกร็ด เกร็ดหรือว่าความหนักความเบามันไม่ถึงใจ ท่านถึงพยายามถาม ถามให้มันผิดๆ ถามให้มันออกนอก อันนี้มันเป็นอุบายหาโอกาสฟังเทศน์ท่าน

นี่ไง ถ้าคนจริงเป็นอย่างนั้น คนจริงเวลามีประสบการณ์ปั๊บ มันจะเข้าไปสะเทือนเลย ถ้าสะเทือนเลยนี่เวลาเขียนมา เห็นไหม เขียนว่า เผื่อได้อุบายที่จะไปภาวนาต่อ” ถ้าเผื่อได้อุบาย เห็นไหม คนรู้พูดมันเป็นเรื่องอีกเรื่องหนึ่งนะ ถ้าคนไม่รู้พูดมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้น เวลาพูด พูดได้ทั้งนั้น เวลาพูดใครๆ ก็พูดได้ แล้วเวลาพูดขึ้นมาแล้วมันก็อ้างอิง อ้างอิงพระไตรปิฎกนั่นน่ะ อ้างอิงอันนั้นน่ะ อ้างอิงอันนั้นแต่ความจริงมันวิธีการมันไม่ใช่ วิธีการมันเข้าถึงไม่ได้ ถ้ามันเข้าถึงได้ มันก็เข้าถึงได้เพราะครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติมาท่านจะรู้ของท่าน

อันนี้จะพูดถึงว่า เวลาคนที่เชื่อถือ เราพูดกันในหมู่ของเรา โลกธรรม ๘ ถ้าในหมู่คนเชื่อถือนะ เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์ทางภาคอีสาน สบายมาก อยู่สุขสบายมากนะ เพราะศรัทธา เขาศรัทธาอยู่แล้ว แล้วมีครูบาอาจารย์คอยคุ้มครองด้วย อยู่สุขสบายมากเลย

พอไปอยู่นอกบารมีสิ มาอยู่ภาคกลาง เรามาอยู่ที่โพธารามใหม่ๆ เขาถามว่า ลูกศิษย์ใคร” บอกว่า ลูกศิษย์พระมหาบัว” ไม่รู้จัก ไม่มีใครรู้จัก คนจะรู้จักคือคนที่ขวนขวาย คนที่สนใจเรื่องศาสนาจะรู้จัก แต่ไอ้คนพื้นบ้านไม่รู้จักหรอก เขารู้จักแต่หลวงตานั่น หลวงตานี่ เขารู้จักแต่พระพื้นบ้านของเขา เขาไม่รู้จัก 

พอเขาไม่รู้จักปั๊บ พอทำอะไรไปมันก็แบบว่าเขาไม่เคยเห็นไง เขาไม่เคยเห็น เขาไม่เคยรู้ เวลาเราออกไปเผชิญโลกแห่งความเป็นจริง เราจะรู้ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราอยู่ในสังคมที่ว่ามีครูบา-อาจารย์คอยคุ้มครองดูแล อยู่สุขสบาย 

นี่ก็เหมือนกัน คนที่เชื่อ พูดในกลุ่มชนที่เชื่อ นี่เห็นไหม หลวงพ่อพูดนี่น้ำไหลไฟดับ น้ำไหลไฟดับเขาก็บอกว่าเราขี้โม้เยอะ คนที่ต่อต้านเราก็เยอะมาก อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา โลกธรรม ๘ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มันมีคนเห็นต่างอยู่แล้ว 

ถ้าคนเห็นต่าง ถ้าไม่อย่างนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัม-พุทธเจ้าเวลาปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์ พูดอะไรคนก็ต้องเชื่อสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทวทัตจ้างคนมาฆ่าเลย เวลาขึ้นไปผลักหินลงมาใส่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ไอ้พวกเราเคารพบูชากันขนาดนี้ แต่ไอ้คนที่ไม่เชื่อมันทำลายเลย

ฉะนั้น เราจะบอกว่าหลวงพ่อตอบน้ำไหลไฟดับ อย่าภูมิใจว่าเป็นผลบวกนะ คนที่เขามีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เขาพยายามทำให้เป็นลบเยอะแยะไป ฉะนั้น เราเพื่อหาอุบายเพื่อประพฤติปฏิบัติให้มันเป็นความจริงขึ้นมา แล้วเราปฏิบัติของเรา เอาความจริงของเรา ไอ้เรื่องความเห็นของโลกเรื่องของเขา

ถาม : เรื่อง เสียงธรรมหลวงตา

โยมได้เห็นหนังสือเสียงธรรมหลวงตาที่ท่านทำแจก ได้แต่เปิดดูคร่าวๆ เพราะคิดว่าจะโหลดเอาจากเว็บไซต์ได้ เนื่องจากชอบฟังมากกว่าชอบอ่าน เพราะการฟังช่วยให้จิตเกิดสมาธิ สติและปัญญามากกว่า เสียงธรรมของท่านจะเข้าสัมผัสจิตได้ดี ทำให้จิตสงบได้แนบแน่นลึกซึ้งกว่าการอ่าน ไม่ทราบว่าธรรมเทศนาที่ท่านนำมาเรียบเรียงทำเป็นหนังสือนั้น ท่านได้นำลงในเว็บไซต์ของท่านหรือเปล่าคะ จะได้โหลดไปฟังดีกว่าอ่าน เพราะการอ่านอาจจะทำให้ง่วงมากกว่าการฟังค่ะ

ตอบ : อันนี้เขาถามมาเฉยๆ ไม่มีประเด็นให้ตอบเลย

ฉะนั้น เสียงธรรมหลวงตา” ช่วงที่หลวงตาท่านเจ็บ ช่วงที่หลวงตาท่านเจ็บนะ ตอนที่ท่านไม่สบาย แล้วเรื่องหมู่คณะมันมีปัญหากัน ช่วงนั้นน่ะ เทศน์นั่นแหละ แล้วเราเก็บรวบรวมเอา รวบรวมเอาตอนที่หลวงตาท่านเจ็บ ท่านเจ็บไข้ได้ป่วย แต่เราสะเทือนใจ เราสะเทือนใจมันเลยออกมาอย่างนั้น เราเลยรวบรวมเอาเฉพาะช่วงนั้น ช่วงที่หลวงตาเจ็บ มันมีการกระทบกระทั่งกันในหมู่สงฆ์ มีคนเห็นด้วย มีคนไม่เห็นด้วยต่างๆ เราเทศน์นั่นแหละ เสียงธรรมหลวงตา

แล้วม้วนเสียงธรรมหลวงตา บอกว่า เสียงธรรมคือเสียงเทศน์ของท่าน แล้วเรารู้ เราเข้าใจของเราเองว่าคนที่เข้าไม่ถึงเสียงธรรม คนที่ไม่เข้าใจในคำเทศน์ของท่านเยอะ เราถึงบอกว่าเสียงธรรมหลวงตา ถ้าไม่รู้ให้แขวนไว้ก่อน คือเขาจะเอาไปแกะ แล้วเอาไปตีความ เราบอกว่า เสียงธรรมหลวงตา ถ้ายังไม่รู้อย่าเพิ่งตีความ อย่าเพิ่งเอาไปตามดุลพินิจของตน ให้แขวนไว้ก่อนๆ เสียงธรรมหลวงตา

ฉะนั้น จำนวนนั้นต้องดูวันที่ แล้วเข้าไป อยู่ในเว็บไซต์ เทศน์ไว้บนศาลาแล้วเขาไปแกะทำเป็นหนังสือ ทำหนังสือเพราะว่าในเว็บไซต์ เว็บไซต์เป็นข้อมูล เวลาพิมพ์เป็นหนังสือแล้ว บอกพิมพ์หนังสือแล้วใครจะเอา หนังสือพระสงบ หมาก็ไม่เอา

ไม่ต้องห่วง หนังสือเราเข้าห้องสมุดทั่วประเทศไทย พิมพ์มาหมื่นเล่ม เฉพาะเข้าห้องสมุดอีก ๒ - ๓ พัน ไม่ได้หวังมาแจกใคร ไม่ได้หวังมาแจกใคร หวังไว้ทำเพื่อประโยชน์ ใครเห็นได้ประโยชน์ เขาจะได้ประโยชน์ ใครถ้าไม่ได้ประโยชน์ ไม่เห็นประโยชน์ ไม่ต้องเอา ไม่ได้ต้องการจะให้ใครชื่นชม ไม่ต้องการ ทำตามหน้าที่ ทำตามหน้าที่ของเราไว้

นี่พูดถึงว่าเขาถามมา เดี๋ยวบอกว่า ถามหลวงพ่อเฉยๆ แหมหลวงพ่อเหน็บเอาเลย” 

ไม่ได้เหน็บ เพราะว่าสังคมเขามองอย่างนั้น โลกธรรม ๘ สรรเสริญ นินทา มันมีของมันโดยตลอดอยู่แล้ว แต่เราจะมีเชาวน์ปัญญาแยกแยะได้หรือเปล่า อะไรผิดอะไรถูก ถ้าเรามีเชาวน์ปัญญาแล้วหาเหตุหาผล แล้วคนคนนั้นจะได้ประโยชน์ ถ้าได้ประโยชน์จะได้ประโยชน์ของเขา ถ้าไม่ได้ประโยชน์ นั่นแขวนไว้ก่อน นี่พูดถึงว่าเสียงธรรมหลวงตา

ถาม : เรื่อง ขอเล่าประสบการณ์การภาวนาครับ

กราบนมัสการหลวงพ่อ กระผมขอเล่าประสบการณ์การภาวนาครับ ครั้งแรกและอย่างแรกที่ต้องขอเรียนว่า ตอนนี้เจอมากับตัวเองแล้วครับ ในเรื่องของจิตเจริญแล้วเสื่อม ยอมรับเลยครับว่าที่ผ่านมาเสื่อมแล้วถดถอยไปจากแต่ก่อนที่ฝึกภาวนาแรกๆ อยู่มาก แต่ตอนนี้ดีขึ้นมาบ้างแล้วครับ 

จุดเปลี่ยนน่าจะมาจากหยุดวันพ่อ แล้วตั้งใจว่าอยากอยู่วัดถือศีล ๘ เลยกลับบ้านไปเยี่ยมพ่อแม่ แต่คุณพ่ออยู่ต่างอำเภอ เลยพาคุณแม่ไปลองถือศีล ๘ ดู(เป็นครั้งแรกของแม่ครับหลังจากนั้นมาก็กลับมามีกำลังใจในการภาวนาดีขึ้นมากครับ

ต่อจากนี้ขอเล่าการภาวนาครั้งล่าสุดนะครับ พร้อมกับคำถาม ๒ ข้อนะครับ พอมีประสบการณ์การภาวนามากขึ้น จิตใจผมก็ไม่ค่อยมีความสงสัยอะไรแล้วครับ แต่ยอมรับครับว่าจากคนที่ไม่เคยเลยสมัยก่อน บวกกับยินดีได้ฟังความมหัศจรรย์ต่างๆ ในการภาวนา ทำให้การฝึกหัดสำหรับเริ่มต้นนั้นยากมาก พอจิตใจจะมา ตั้งตารอเลยนะครับ 

อันนี้เป็นสมาธิหรือยัง สงบหรือยัง สงบแล้วจะได้บุญหรือไม่ อุทิศบุญกุศลให้ตอนไหนดี เพราะเขาว่าได้บุญเยอะกว่าการทำทาน หรือรวมไปถึงเห็นแสง เห็นนิมิตต่างๆ มากมายครับ ทำให้ช่วงแรกมีความกังวลและความอยากต่างๆ นานาครับ

แต่ตอนนี้เจอจุดสำคัญที่ไปต่อได้แล้วครับ คือบอกตัวเองครับว่า ภาวนาเพื่อบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บวกกับฝืนใจให้อยู่กับพุทโธ พอไปรู้อะไรต่างๆ นานาก็พยายามไม่สนใจ ดึงกลับมาพุทโธ และปัญญาอบรมสมาธิครับ ความคิดฟุ้งซ่านก็ไม่ค่อยมีแล้ว ตอนนี้ก็เหลือแต่เรื่องเจ็บปวดของร่างกาย ได้สมาธิหรือสงบได้ ไม่ได้สนใจเท่าไรแล้วครับ เพราะพระอาจารย์บอก มันก็คืออดีต 

ส่วนในอาการการเจ็บปวด ครั้งนี้เริ่มรู้สึกใจตัวเองได้บ้างแล้วครับ เพราะบอกกับตัวเองว่าบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัม-พุทธเจ้านะ ผลสุดท้ายพอทำแบบนี้แล้วเห็นชัดเลยครับว่า ทั้งแสง ทั้งอะไรต่างๆ นานาที่จิตใจไปรับรู้ ผลสรุปคือไม่ใช่ของจริงเลย ใจของผมคิดไปเองนั้นเลยครับ (มีอาการหัวเราะเยาะตัวเองในอดีตที่เคยตื่นเต้นกับเรื่องพวกนี้เหมือนกันตอนนี้เลยไปต่อได้แล้วครับ ขอเข้าคำถามครับ

อาการตัวเบา ขนลุกขนพองไปทั้งตัวขณะภาวนา เป็นไปได้ไหมครับว่า อาการนี้คือกิเลสมาหลอกเหมือนกัน เพราะสมัยก่อนผมเคยดีใจและตื่นเต้นกับมัน แต่ครั้งล่าสุดนี้เวลาเกิดขึ้นก็ดูเฉยๆ ไม่ได้ดีใจอะไรไปกับมัน เลยเอะใจว่า มันคือกิเลสมาหลอกเราให้ดีใจหรือเปล่าครับ

เวลาภาวนานานๆ จะทำอย่างไร (หลังเลิกการภาวนาแล้วกับร่างกายที่ชา ไม่มีความรู้สึก เพราะครั้งนี้นานที่สุดของผมที่เคยทำมา แล้วยังไม่ชินครับ ลุกขึ้นข้อเท้ามันไม่มีความรู้สึก อ่อนไปหมด ต้องรออยู่นานกว่าจะเดินได้นะครับ(ค่อนข้างแปลกใจอยู่เหมือนกันครับเลยสงสัยว่าตามประสาคนฝึกหัดใหม่ครับ แล้วผู้ที่นั่งเป็นครึ่งวันหรือทั้งวันทั้งคืน พอหลังจากเลิกแล้ว เขาทำอย่างไรกับร่างกายนี้ครับ ขอบคุณท่านอาจารย์มากครับ

ตอบ : นี่เขาเขียนมานะ ทีนี้คำว่า เขียนมา” พูดถึงว่าเวลาเราภาวนากัน ทุกคนจะคิดอย่างนี้ไง ทุกคนแบบว่า เวลาเราคิดแล้วเหมือนกับการคำนวณ ถ้าเราคำนวณสิ่งใด เห็นไหม บวกลบคูณหาร พอตอบโจทย์แล้ว เลขที่บวกลบคูณหารเราก็จำคำตอบได้ใช่ไหม จำจำนวนได้ ที่ว่ามันบวกลบคูณหารแล้วเท่าไรก็คิดว่ามันจะอยู่อย่างนั้น 

ไอ้นี่มันเป็นการคำนวณไง มันเป็นการบวกลบคูณหารในทางเลข 

แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จะเป็นสมาธิไม่เป็นสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิแล้วก็เป็นสมาธิ พอถึงเวลาสมาธิแล้ว สมาธิ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เป็นสมาธิได้เพราะเรามีสติมีปัญญา มีคำบริกรรม มีปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิแล้วเดี๋ยวมันก็คลายตัวออกมา การคลายตัวออกมา การคลายตัวออกมามันก็รับรู้ใช่ไหม

คนเราเวลาเข้าฌานสมาบัตินะ เวลาเข้าฌานสมาบัติ ๗ วัน ๗ คืน เขานั่งของเขาอย่างนั้น เพราะอะไร เพราะจิตมันสงบเข้ามา มันเข้าไปอยู่ในตัวของมันเอง มันไม่รู้สิ่งภายนอกเลย มันก็อัปปนา-สมาธิ สักแต่ว่ารู้ เห็นไหม พอสักแต่ว่ารู้ มันไม่รับรู้สิ่งใดเลย 

แต่ขณะที่เราภาวนา เห็นไหม เวลาภาวนาความสามัญสำนึกของเรานี่เขาเรียกอารมณ์ความรู้สึก จิตนี้เพราะมันพาดพิงกับอารมณ์ความรู้สึก พอมันพาดพิงอารมณ์ความรู้สึก มันก็รับรู้ของมัน ถ้ารับรู้ของมัน ถ้าเรากำหนดพุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามันเป็น เข้าสมาธิ มันไม่พาดพิงกับอารมณ์ความรู้สึกอันนี้ ถ้ามันไม่พาดพิงกับอารมณ์ความรู้สึกอันนี้ มันเป็นสมาธิมันจะมีกำลังของมัน มันจะมีความรู้สึกของมัน แต่มันอยู่ได้อย่างไรล่ะ มันอยู่ได้อย่างไร เพราะมันเป็นสัญชาตญาณของเรา เราต้องรับรู้อยู่แล้ว เราต้องรับรู้อยู่แล้ว

ฉะนั้น เวลาจิตมันเป็นสมาธิมันหดตัวเข้ามา มันไม่พาดพิงกับอารมณ์ มันเป็นอิสระของมัน ถ้าเป็นอิสระทำอย่างไรถึงเป็นอิสระ เราถึงต้องมีคำบริกรรม เราถึงต้องมีพุทโธของเรา พุทโธๆๆ เห็นไหม ฟังสิ เวลาเขาจะเป็นสมาธิ พุทโธจนพุทโธไม่ได้ พุทโธไม่ได้คือมันไม่ระลึกพุทโธไง มันพาดพิงพุทโธไม่ได้ไง 

แต่ก่อนหน้านั้น ก่อนที่เรากำหนดพุทโธ เห็นไหม เขาเรียกองค์ของสมาธิ มีวิตก คือเรายกขึ้นนึกพุทโธ ถ้าเราไม่นึก พุทโธก็ไม่ใช่เรา เราไปนึกเรื่องอื่น เห็นไหม เรื่องอื่นก็คือเรื่องอารมณ์ เรื่องสัญญาอารมณ์ มันพาดพิงอยู่อย่างนั้น คือมันเสวยอยู่ มันเป็นเนื้อเดียวกันกับอารมณ์ จิตกับอารมณ์เป็นอันเดียวกัน

ทีนี้เราบังคับให้มันนึกพุทโธ ถ้าเราไม่นึก มันก็ไม่แยกมาคิดพุทโธไง ถ้ามันแยกมาคิดพุทโธ คำบริกรรมเกิดตรงนี้ เราแยกมาไง เราวิตก วิจาร เราระลึก เรายกขึ้น วิตก วิตกว่าพุท วิจารก็พุทโธๆๆ มันยกขึ้นวิตก วิจาร องค์ของสมาธิ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ 

เพราะเวลาเราพุทโธๆ นี่พุทโธชัดเจน พุทโธชัดเจน ชัดเจนจนมันคล่องตัวของมัน มันแยกเป็นอิสระต่อกัน แยกเป็นอิสระต่อกันจนพุทโธไม่ได้ มันพุทโธไม่ได้มันก็ไม่พาดพิง เห็นไหม มันเป็นอิสระ มันนึกพุทโธไม่ได้ พุทโธๆ จนละเอียด จนพุทโธไม่ได้ นั่นน่ะคือสมาธิ แล้วมันอยู่ได้ไหม มันอยู่ได้ด้วยกำลัง มันอยู่ได้ด้วยสติ อยู่ได้ด้วยคำบริกรรม

ถ้าเราบริกรรม ๕ ชั่วโมง เป็นสมาธิได้ ๒ นาที ถ้าบริกรรม ๑๐ ชั่วโมง เป็นสมาธิได้ ๓ นาที ถ้าบริกรรม ๒๔ ชั่วโมง เป็นสมาธิได้ ๕ นาที นี่ไง มันอยู่ที่คำบริกรรมมาก คำบริกรรมน้อย คำบริกรรมมากคือว่าเรารวบรวมไว้มาก เหมือนกับออกกำลังกาย เวลาออกกำลังกาย เราออกกำลังกาย ถ้าเราออกกำลังกายไว้ยาว สุขภาพเราจะแข็งแรง แต่ถ้าเราออกกำลังกายน้อย สุขภาพของเราจะอ่อนแอ 

จิตก็เหมือนกัน ถ้าเราพุทโธๆๆ แต่นี้ไม่อย่างนั้นน่ะสิ พอพุทโธ ๒ คำก็จะเอาสมาธิ ทีนี้คำว่า จะเอาสมาธิ” มันก็เข้ามาเจือจางไอ้คำบริกรรมนั้นน่ะ มันก็เลยไม่มีคุณภาพ ไอ้พุทโธของเราไม่มีคุณภาพ เพราะเราไม่ชัดเจน เห็นไหม มันก็ไม่ได้ผลไง นี้พูดถึงว่าโดยหลักของการทำสมาธิ ที่ว่าจิตเจริญแล้วเสื่อมๆ มันจะเป็นอย่างนี้

ฉะนั้น เวลาคำถาม เวลาอารัมภบทมา เห็นไหม แต่เดิมตอนเริ่มต้นมันยากมาก เพราะจิตไปตั้งตารอเลยครับว่าสมาธิมาหรือยัง สงบหรือยัง สงบแล้วจะได้บุญมากแค่ไหน จะอุทิศส่วนกุศลให้ตอนไหน” 

คนปฏิบัติใหม่ๆ ส่วนมากเป็นอย่างนี้ มันวิตกวิจารณ์ไปหมดล่ะ คือเราไม่เคยรู้เคยเห็นไง แต่ไม่เคยรู้เคยเห็นแล้วก็คำนวณเอาคิดเอา แล้วมีคนชักนำด้วยว่า ภาวนาแล้วจะได้บุญอย่างนั้น ภาวนาแล้วจะได้เป็นอย่างนี้” ภาวนาเพื่อความสงบของใจ ภาวนาเพื่อเอาสมาธิ ภาวนาเพื่อไม่ให้มันมีความทุกข์ แล้วถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา มันเป็นความจริงขึ้นมาเอง

ฉะนั้น พอเขาเห็นแล้วว่า เริ่มต้นก็วิตกกังวลไปหมด ส่วนใหญ่แล้วพอทำไปแล้ว เดี๋ยวนี้พอเข้าใจได้ พอมันจะไปเห็นนิมิตต่างๆ เห็นอะไรต่างๆ ก็มีความกังวลทั้งนั้น อยากได้อย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนั้น ความอยากเฉยๆ ไง แต่สุดท้ายแล้ว เห็นไหม เพราะว่าเขาขอบคุณมา 

เวลาปฏิบัติ เห็นไหม เราให้ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้า บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เหมือนกับเมืองไทยนี่ นโยบายของรัฐบาล วันเฉลิมพระชนมพรรษา ทำคุณงามความดีเพื่อพ่อ อู๋ยมันทำความดีทั้งประเทศเลย เด็กมันก็กวาดถนน เด็กมันก็เก็บขยะ ทำความดีเพื่อพ่อ แต่ความจริงเขาก็ทำความดีเพื่อเขานั่นแหละ เขาทำดี เขาก็ได้ดี แต่เราบอกว่าทำความดีเพื่อพ่อ ถ้าทำความดีเพื่อพ่อเพื่อแม่ โอ๋ยทำทั้งประเทศเลย แต่วันธรรมดามันไม่ทำ

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัม-พุทธเจ้า ถ้าปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่จริงๆ แล้วเราบูชาใจเรา แต่เวลากิเลส เราไม่ทันมันไง มันจะสงบเมื่อไหร่ สงบหรือยัง เราทำนี้ผิดหรือถูก” เวลาเราทำเอง เราห่วงไปหมดเลย 

แต่เราทำถวายในหลวง นี่เราทำถวายองค์สมเด็จพระสัมมา-สัมพุทธเจ้า ถวายท่านไปเลย เราบริกรรมพุทโธไปเลย ถวายในหลวง ถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เวลาสงบ ใจเราสงบ เวลาดี ใจเราดี แต่ก่อนหน้านั้นไม่อย่างนั้น อยากได้ อยากดี อยากเป็น เมื่อไหร่จะมาเสียที เมื่อไหร่จะเป็นเสียที แล้วเวลาเป็นแล้ว เห็นไหม คนไม่เคยสัมผัส

เวลาหลวงตาท่านพูดถึงจิตเสื่อมนะ ท่านบอกเลยนะ คนปฏิบัติใหม่ๆ มันไม่รู้สิ่งใด มันก็ปฏิบัติของมันไปด้วยความทุกข์ยากอย่างนั้น แต่เวลาคนมันได้สมาธิแล้ว แล้วเสื่อมนะ เหมือนเศรษฐีล้มละลาย เศรษฐีล้มละลายกับคนที่เขาทำธุรกิจใหม่ คนทำธุรกิจใหม่เขาพยายามขวนขวายของเขา ไอ้เศรษฐีล้มละลาย สิ่งที่ล้มละลายไปมันไปติดข้องอยู่ตรงนั้น

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตมันเสื่อม มันไปติดข้องอยู่ตรงนั้น นี่ภาวนายาก จิตเสื่อมฟื้นฟูยากมาก แต่ถ้าคนมันเป็นแล้วนะ มันเป็นเช่นนั้นเอง มันต้องเสื่อม มันไม่มีอะไรอยู่ได้หรอก เพราะสรรพสิ่งในโลกนี้มันเป็นอนิจจัง แม้แต่สมาธิมันก็เปลี่ยนแปลงของมัน 

แต่เวลาเรารู้อย่างนั้นปั๊บ เราก็กลับมาที่บูชาองค์สมเด็จ-พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือเรากำหนดพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ อยู่ที่เหตุ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าเราทำเหตุถูกต้องดีงาม สมาธิมันมาเอง เพราะสมาธิมันมาแต่เหตุ เราทำเหตุของเรา เราสร้างเหตุของเราสมบูรณ์ของเรา สมาธิมันจะไปไหน

แต่นี้อยากได้สมาธิแล้วเหตุก็ป้ำๆ เป๋อๆ แต่อยากได้สมาธิ แต่ถ้าเรากลับมาที่เหตุสมบูรณ์ สมาธิจะมาไม่มาเดี๋ยวรู้กัน มันเป็นเอง ถึงบอกว่าให้บูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาว่า สุดท้ายนี้เขาเห็นแบบนี้ เขาชัดขึ้น ทั้งแสงต่างๆ สิ่งต่างๆ นานาที่รู้ไป สรุปลงมา สรุปคือไม่ใช่ของจริงเลย ใจเราคิดไปเอง แล้วยังมาหัวเราะเยาะตัวเอง” 

กว่าจะผ่านขั้นตอนนี้ กว่าจะผ่านขั้นตอนว่าเราเห็นความบกพร่องของเรา ทุกคนจะบอกว่าเราทำดีๆ ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จ-พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิบัติคุณงามความดีทั้งหมดเลย แล้วทำแล้วไม่ได้ผลเลย แสดงว่ามรรคผลไม่มีอยู่ มันจะคิดอย่างนี้ ทุกคนจะบอกว่าคนเราขวนขวายเต็มที่แล้ว ทำแล้วลำบากลำบนไปหมดเลย ทำสุดท้ายแล้วสงสัยมรรคผลไม่มี เพราะเราทำเต็มที่แล้ว

เต็มที่ของเราไง แต่ไม่ดูครูบาอาจารย์ท่านทำเต็มที่ของท่าน แล้วเวลาทำของท่าน ท่านทำด้วยสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องดีงาม ด้วยความเพียรชอบ ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ท่านทำของท่านตามความเป็นจริงของท่าน ท่านก็ได้ของท่านจริง

แต่นี่ของเรา เราตั้งใจของเรา เราตั้งใจจริงของเรา แต่สุดท้ายแล้วด้วยกิเลส ด้วยความไม่มีประสบการณ์ของเรา ฉะนั้น พอจะสรุปได้ว่ามันไม่ใช่ของจริงเลย เราคิดของเราไปเอง กว่าคนจะคิดได้อย่างนี้ นี่เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอนก็สอนอย่างนี้ สอนให้คนระลึกได้ สอนให้คนสำนึกได้ แต่กว่ามันจะสำนึกได้นี่ยุ่งมาก ทุกคนทิฏฐิมานะเต็มหัวใจ เก่งทั้งนั้น เก่งทั้งนั้น แล้วยังไม่ใช่เก่งธรรมดานะ สงสัยอาจารย์ท่านจะจำผิดมั้ง สงสัยอาจารย์ท่านจะพูดไม่ถูก นู่นน่ะ มันผิดอยู่เต็มตัวแล้วมันยังว่ามันเก่งอยู่นั่น

แต่ถ้ามันสำนึกได้ เห็นไหม เขาสำนึกได้ สุดท้ายพอทำแบบนี้แล้ว เห็นชัดเลยครับว่า ทั้งแสง ทั้งอะไรต่างๆ นานาที่จิตรู้ ผลสรุปคือไม่ใช่ของจริงเลย ใจผมคิดไปเองครับ” 

นี่แค่รับรู้ได้ เห็นไหม แล้วพอมันรู้ได้นี่ขุมทรัพย์ พอเขารู้ได้นะ มีอาการหัวเราะเยาะเย้ยตัวเองเลย อดีตที่เคยตื่นเต้นกับเรื่องอย่างนี้ เห็นตัวเองเป็นตัวตลกเลย ถ้าเห็นเป็นตัวตลก แล้วเริ่มต้นทำใหม่ ทีนี้พอทำใหม่ปั๊บ เข้าคำถาม

อาการตัวเบา ขนลุกขนพองทั้งตัวนั้น การภาวนานั้นเป็นไปได้ไหมครับว่า อาการนี้คือกิเลสมาหลอกเหมือนกัน เพราะสมัยก่อนผมก็เคยดีใจตื่นเต้นไปกับสิ่งนี้

มันไม่ใช่กิเลสหลอก มันไม่ใช่กิเลสหลอกเพราะอะไร เพราะวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ มันมีอาการปีติมีความสุข มันมีของมันโดยข้อเท็จจริง 

แต่ถ้ามันจะเป็นกิเลสหลอก คือเราไปยึดติดมัน นั้นคือกิเลส แต่ถ้าเราไม่ยึดติด สิ่งนั้นมันมีอยู่ พอมีอยู่คนทำบ่อยครั้งเข้าๆ จนปีติเป็นความสุข มันเป็นเรื่องปกติ บางคนภาวนาไปนะ เวลาปีติไม่มี ก็บอกว่าไม่มีความสุข พอเกิดปีติ ก็กลับไปติดไปในปีตินั้น พอปีตินั้นจางไป พอปีตินั้นเบาบางลง ก็เดือดร้อนใจว่ามันไม่มีปีติ

แต่เราบอกมันมี มันมี แต่ว่ามันต้องผ่านไง พอมันครบองค์ประกอบ จิต สัมมาสมาธิมันมีองค์ประกอบของมัน มันมีหลักเกณฑ์ของมัน พอหลักเกณฑ์ของมันเราทำแล้วมันเป็นเรื่องปกติ พอปกติแล้วเราจะเอามากขึ้น เห็นไหม ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ มันตั้งมั่น มันเข้มแข็ง มันแข็งแรง มันผ่านอันนี้ไปไง พอมันผ่านไปอันนี้ไป มันก็มีองค์ประกอบ มีปีติอยู่ในนั้นแหละ แต่มันเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องที่ไม่เด่นๆ ไม่เป็น

ถ้าเด่นนะ เราจะเข้ากรุงเทพฯ ไปถึงนครปฐม เจดีย์นครปฐมสวยงามมาก ไม่ไปแล้ว อยู่ที่เจดีย์นครปฐมนั่นน่ะ แล้วมันจะเข้ากรุงเทพฯ ได้อย่างไรล่ะ เราจะเข้ากรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดนครปฐม ผ่านพระปฐมเจดีย์ ผ่านพระปฐมเจดีย์ ผ่านไหม ผ่าน เห็นไหม เห็น รู้ไหม รู้ แต่เราจะไปกรุงเทพฯ ปีติ สุข สุขเลยไป แล้วเอกัคคตารมณ์จิตตั้งมั่นเลยไปอีก มันผ่านไป แต่เวลาเราอยู่นี่ แต่เราผ่านไป เห็นไหม เรามีความชำนาญของเรา

ฉะนั้น ถ้ามันจะเป็นกิเลส เพราะไปยึดมั่นถือมั่นเป็นกิเลส ติดยึดติดมีปีติแล้วต้องมีปีติตลอดไป ไม่ใช่เรามีปีติ พอมีปีติขึ้นมา พอเราจะให้มันดีขึ้น พัฒนาขึ้น ปีติก็เป็นปีติ แต่มันไม่เด่น เห็นไหม 

มรรค ๘ งานชอบ เพียรชอบ สติชอบ สมาธิชอบ ปัญญาชอบ ถ้ามันสมบูรณ์ของมัน มันก็เป็นมรรค แต่ถ้ามันไม่สมบูรณ์ของมัน เห็นไหม อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค ทางสองส่วนที่ไม่ควรเสพ เราพอใจ ดีใจ ชอบใจ ก็กามสุขัลลิกานุโยค พอใจ มีความสุข ถ้าอึดอัดขัดข้อง อัตตกิลมถานุโยค มันไม่สมดุล มรรคไม่สามัคคี

ความมรรคสามัคคี ความสมดุลของการพิจารณา ความสมดุลของสมาธิ ความสมดุลของสติ ความสมดุลของปัญญาของเรา ความสมดุลมันพอดีของมัน มันพอดีของมัน รวมตัวของมัน เห็นไหม สมุจเฉทปหาน ขาด มัชฌิมาปฏิปทา ความสมดุลพอดี

เราบอกทางสายกลางๆ มันเอาตลับเมตรวัดเลย เออตรงกลางห้าสิบ เมตรหนึ่งใช่ไหม ๕๐ เซนติเมตร ตรงกลาง มันเป็นตลับเมตร ทางสายกลางๆ เราไปห่วงทางสายกลาง อยากให้มันกลาง... ไม่กลางไม่กลาง ไม่กลางเพราะไม่สมดุล สมดุลตรงไหน 

สมดุลตรงว่ากิเลสหยาบ กิเลสอย่างกลาง กิเลสอย่างละเอียด กิเลสของคนไม่เหมือนกัน กิเลสของคนเหมือนอาหาร คนกินข้าวอิ่มไม่เหมือนกัน คนหนึ่งต้องกินชามเดียวอิ่ม บางคน ๒ ชาม บางคน ๓ ชาม อิ่ม อิ่มคือความพอดี ความพอดี ความสมดุล เห็นไหม

ทีนี้ความสมดุล นี่พูดถึงว่าถ้าเราไม่ติด เราไม่ติด เราไม่ติดอะไร คือของมันมีอยู่ อย่างว่านิมิตๆ เขาบอกติดนิมิต นิมิตมันก็มีอยู่ แต่คนไม่ติดก็เยอะแยะไป แต่คนไม่มีอยากมี ไอ้มีแล้วไปติดอีก แต่คนที่เขามีปัญญาของเขานะ นิมิตก็เป็นทางผ่าน นิมิตมันมา ลมหายใจเราต้องมีลมหายใจไหม คนไม่มีลมหายใจก็ตายน่ะสิ แต่เวลาเราจะหายใจ จะอยู่ตรงหายใจ มันติดขัดไปหมด

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นไป พูดถึงว่าเขาถามให้หายสงสัยนะ หลวงพ่อยิ่งตอบ คนถามยิ่งสงสัยใหญ่เลย เขาถามเรื่อง อาการขนลุกขนพองมันเป็นกิเลสหลอกหรือเปล่า” เพราะเขาโดนกิเลสหลอกมาจนกลัว

ที่เราพูด เราก็เป็นห่วงไง บอกว่า อาการขนพองไม่เป็นกิเลส มันก็อยากจะมี อยากจะให้เป็นอยู่อย่างนั้น ถ้าเป็นอยู่อย่างนั้น มันก็จะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะมันมีแล้วมันจะเบาลง ละเอียดไป บางไป ก็บอกว่าภาวนาไม่ถูกอีก ถ้าบอกว่าใช่ มันก็ติด บอกว่าไม่ใช่ มันก็ติด ถ้าไม่ใช่นะ อ๋อไม่ใช่ก็ไม่อยากให้มีเลย

เราจะบอกว่า มันก็ต้องมีอยู่ มันมีอยู่เพราะว่าพอเกิดปีติไง ความสุขใจ ความสบายใจ มันก็มีของมัน เราถึงบอกว่าถ้ากิเลสไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ใช่ ไม่ติด ไม่ใช่กิเลสหลอก มันมีของมัน แต่ว่าถ้ามันอย่างนั้น เห็นไหม ถ้ามันไม่มีล่ะ แล้วถ้ามันมีล่ะ มันมี ถ้าเราคุ้นชินหรือเราชำนาญแล้ว มันเป็นเรื่องปกติ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์

เหมือนกัน เหมือนกับที่ว่าหลวงตาเวลาท่านพูดถึงว่าธรรมเกิดๆ ท่านบอกว่ากิเลสเกิด พอคนเรามันรู้สิ่งใดแล้วมันยึด มันยึดอยากให้เป็นอย่างนั้นอีก แล้วพออย่างนั้นอีก มันก็จะไปไขว่คว้า พอไขว่คว้าไม่ได้ก็ทุกข์แล้ว จริงๆ มันเป็นเอง ธรรมผุดๆ ธรรมมันผุด มันเป็นคุณธรรม แต่เพราะไปยึดมั่นถือมั่นอยากได้อีก เลยเป็นกิเลสไง

เวลาธรรมเกิดๆ หลวงตาท่านพูดบ่อย ไม่ใช่ธรรมเกิด กิเลสเกิด ถ้ากิเลสไปยึดมั่นถือมั่น ทุกข์หมดเลย แล้วกิเลสมันเป็น ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาตัวบงตัวเบา เวลาขนพองสยองเกล้า มันเป็นมันก็คือเป็น แล้วมีคนถามปัญหานี้มาก เมื่อก่อนนะ แหมมันชัดเจนมาก เดี๋ยวนี้มันไม่มีเลย

มี แต่จิตใจเราพัฒนาขึ้น จิตใจเราดีขึ้น จิตใจเราจะเอาสิ่งที่สูงขึ้น แล้วเวลาสูงแล้วเดี๋ยวมันก็ถอยลงมาได้ เวลามันสูงขึ้นไป เดี๋ยวมันก็กลับมาขนพองอีก กลับมาตัวเบาอีก ตัวเบาอีกมันก็เหมือนกินอาหาร พอกินเบื่อแล้วก็ไม่อร่อย พอนานๆ กลับมากินที เอออร่อยอีกแล้ว ไอ้ขนพองสยองเกล้าเหมือนกัน อาการของใจมันเกิดได้ร้อยแปด 

ฉะนั้น มันเป็นคุณสมบัติของสมาธิไง วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ แล้วปีตินี่ โอ้โฮคนที่มีอำนาจวาสนา ปีตินี่รู้วาระจิตได้เลย ปีติมันไปได้กว้างขวางมาก ถ้าพูดถึงปีติแล้ว ถ้าคนภาวนาเป็น คุยเรื่องนี้มันจะไปเยอะมาก แต่ถ้าพูดกับคนภาวนาไม่เป็น ไปยึด ยึดแล้วมันเป็นวิทยาศาสตร์ ต้องตายตัว

จิตมันไม่ตายตัว ความรู้สึกของคนมันไม่มีตายตัว มันมีเจริญมีเสื่อม มันมีชอบใจ ไม่พอใจ จิตของคนมันมหัศจรรย์ ธรรมะถึงต้องตามทันไง ธรรมะไปทุกอณูของความรู้สึกนึกคิดเลย แต่วิทยาศาสตร์มันเป็นสูตรสำเร็จใช่ไหม ถ้าพูดเป็นวิทยาศาสตร์นี่ตายเลย เดี๋ยวเถียงกันตาย ฉะนั้น ยกไว้ก่อน เราถึงว่าพุทธศาสตร์

เวลาภาวนาไปนานๆ เขาทำอย่างไรกัน เพราะเลิกภาวนาแล้วร่างกายรู้สึกว่าชา บางครั้งนั่งครั้งที่นานที่สุด ผมลุกขึ้นมา มันยังไม่ชิน ลุกขึ้น ข้อเท้ามันไม่มีแรง รู้สึกอ่อนแรง

ไอ้กรณีนี้ เวลาภาวนาไป เรื่องของหัวใจนี้สำคัญมาก สำคัญมาก 

เวลานั่งตลอดรุ่งของหลวงตานะ ท่านบอกว่าวันไหนถ้าจิตมันสงบลงได้เร็ว ถ้าจิตสงบลงได้เร็ว เห็นไหม จิตมันสงบลงได้เร็ว ร่างกายไม่บอบช้ำ นั่ง ๒๔ ชั่วโมง ลุกขึ้นเหมือนไม่ได้นั่งเลย วันไหนนั่งภาวนาแล้วมันไม่ลง พอไม่ลง มันต่อสู้กัน ๗ - ๘ ชั่วโมง โอ้โฮเวทนาสุดๆ เลย แต่ก็ลง แต่การลงแบบนี้มันบอบช้ำมาก มันบอบช้ำเพราะว่าความรู้สึกกายกับใจมันรู้สึกต่อกัน

มันรู้สึกต่อกัน เห็นไหม เวลาคนโกรธ เวลาเราโกรธ เลือดมันสูบฉีดนี่หน้าแดงหมดเลย อารมณ์ความรู้สึก จิตมันให้ผลกับร่างกายเยอะมาก ฉะนั้น เวลาเราภาวนาไป เวลาภาวนาไปถ้ามันต่อสู้กันมันบอบช้ำ จิตมันก็ลงได้ ลงได้คือมันปล่อยหมด แต่เวลาคลายตัวออกมา ร่างกายมันบอบช้ำไง ท่านบอกวันนั้นลุกไม่ได้ ท่านลุกแล้วล้มเลย ท่านเคยลุกแล้วล้มทั้งยืน

ฉะนั้น ถ้าร่างกายบอบช้ำ เห็นไหม ที่เขาบอกว่า เขานั่งแล้วขาชาหมดเลย เวลาออกจากสมาธิแล้วเรานั่งเฉยๆ ยืดขาออกไป ยืดขาไม่ได้ด้วย มันชาหมด เราเคยเป็น เอามือจับขา แล้วแยกออกไป แล้ววางไว้ พอวางไว้ เลือดลมมันเดิน พอเดินสักพักหนึ่ง โทษนะ กระดิกปลายเท้า ปลายเท้ากับนิ้วนี่กระดิกได้หรือเปล่า มันเริ่มกระดิกได้ แสดงว่าเลือดลมมันใช้ได้ เอออย่างนี้ลุกได้ แต่ถ้ามันยังกระดิกไม่ได้ ไอ้นี่ไม่มีผลในทางร่างกายเลย ไม่มีผลในการโรคภัยไข้เจ็บเลย มันเป็นเรื่องร่างกายเฉยๆ

ทีนี้เวลาเราไปคิดกันมันจะไปคิดทางโลกไง ไปคิดทางโลก หมอเขาบอกว่าห้ามนั่งสมาธินะ ถ้านั่งสมาธิเดี๋ยวไม่สบายนะ โอ้โฮมันไม่อยากนั่งอยู่แล้วไง พอหมอบอก มันอ้างหมอทั้งชาติเลยหมอเขาพิจารณาได้ของหมอ 

แต่เวลาของเรา เวลาของเราถ้ามันจะเจ็บไข้ได้ป่วยขนาดไหน เรารู้ของเรา แล้วเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาจิตมันสงบแล้วมันฟอกได้อีกต่างหาก ไม่อย่างนั้นมันจะธรรมโอสถหรือ ถ้ามีธรรมโอสถ เห็นไหม เวลามันทำให้ร่างกายสดชื่นขึ้น ทำให้ร่างกายนี้แข็งแรงขึ้น ทำให้โรคภัยไข้เจ็บนี้หายได้เลย แต่เวลาหมอพูดทางวิทยาศาสตร์ก็เป็นวิทยาศาสตร์ทั้งนั้น

ฉะนั้น ถ้าเวลานั่งไปแล้วมันชา ชาเราก็อย่าเพิ่งลุก เวลาคนปฏิบัติไปมันจะมีประสบการณ์อย่างนี้ เวลาเรานั่งสมาธินะ เรากำหนดพุทโธสู้กับมัน สู้กับมัน ถ้าพิจารณาเวทนาก็เวทนาสู้กับมัน ถ้าลงไม่ได้ บางทีลงไม่ได้จริงๆ นะ ถ้าลงไม่ได้นะ มันเจ็บมาก ลงไม่ได้นะ สู้กับมันเต็มที่ แล้วถ้าพอเลิกแล้วนะ ใจเย็นๆ เลิกแล้วเราก็กลับมาอยู่กับอารมณ์ปกติใช่ไหม อารมณ์ปกติแล้วจับขาง้างออกไป แล้วนั่งเฉยๆ ให้เลือดลมมันเดิน ให้เลือดลมมันเดินก่อน เลือดลมมันเดินเสร็จแล้วนะ ขยับปลายนิ้ว

เราเวลานั่ง ไอ้ปลายนิ้วเท้าขยับก่อนถ้ามันขยับได้ พอยิ่งขยับ เลือดมันยิ่งสูบฉีดดี ถ้าเลือดมันสูบฉีดดีแล้ว เราค่อยลุก ไอ้นี่มันเป็นประสบการณ์ของเรา จะไปเล่าให้ใครฟังล่ะ มันเป็นประสบการณ์ของคนคนนั้น แต่คนคนนั้นมีประสบการณ์อย่างนี้ แล้วถ้าวันไหนภาวนาดี อย่างที่หลวงตาท่านว่า วันไหนภาวนาดีนะ มันเหมือนไม่ได้ภาวนา มันไม่ใช่เหมือนไม่ได้ภาวนานะ สดชื่นด้วย แข็งแรงด้วย ดีด้วย 

แต่ถ้าวันไหนมันบอบช้ำ มันบอบช้ำคือว่าเราต้องทน ต้องสู้กับมัน ต้องสู้กับมันจนมันลง สู้กับมันเพื่ออะไร สู้กับมันเพื่อไม่ให้กิเลสมันได้ใจ ถ้าไม่สู้กับมัน กิเลสมันได้ใจ เอาเวทนามาบังไว้ มันแพ้หมด เอาเหตุการณ์มาวางไว้ แล้วพวกนี้ตายหมด อยู่แค่นี้ 

ถ้าวันไหนนะ เราจะสู้กับมันเพื่อไม่ให้กิเลสมันได้ใจ มึงเอาอะไรมากองไว้ต่อหน้า กูจะทำลายทั้งหมด มึงเอาอะไรมาบังไว้ กูจะเอาหัวชนฝาสู้กับมึง พอมันผ่านไปได้นะ กิเลสมันจะมาหลอกลวงไม่ได้ กิเลสเรามันจะมาวางกับดักไม่ได้ เวลาเราสู้ สู้เพื่อเหตุนี้ไง แต่ถ้าเราแพ้นะ มันเอามาบังไว้ตลอด 

นี่พูดถึงเวลาภาวนา ฉะนั้น เวลาที่ว่าขาชา เวลามันชา แก้ไขอย่างนี้ แล้วมันไม่มีผล มันไม่มีผลกับความเจ็บไข้ได้ป่วย ความเจ็บไข้ได้ป่วยมันเจ็บไข้ได้ป่วยเพราะมันชราภาพ มันชราคร่ำคร่า แต่เพราะเวลาของเรา เราวิตกกังวลไง วิตกกังวล พอมันเป็นสิ่งใด ใจมันก็วิตกกังวล จะเป็นอย่างนั้นแล้ว จะเป็นอย่างนี้แล้ว

เพราะการเจ็บไข้ได้ป่วย ในพระไตรปิฎกเราอ่านมาเจอ เป็นได้ ๓ อย่าง หนึ่ง โรคของกรรม โรคกรรมคือไปหาหมอ หมอตรวจไม่เจอหรอก เป็นอยู่อย่างนั้น โรคกรรม โรคชราคร่ำคร่าคือเจ็บไข้ได้ป่วยจริง กับโรคอุปาทาน อุปาทานนี่คิดจนเป็น คิดจนเป็น เห็นไหม คนขาเป๋เลี้ยงม้า ม้าดีๆ ไอ้คนขาเป๋เลี้ยงม้าจนม้าขาเป๋แล้วกัน มันเห็นเจ้านายเดินกะเผลก มันก็กะเผลกตาม อุปาทานนี่ 

ฉะนั้น กรณีนี้กรณีที่ว่าเจ็บไข้ได้ป่วย นี่อุปาทาน นี่ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าการเจ็บไข้ได้ป่วยของมนุษย์เป็นได้ ๓ อย่าง

โรคกรรม

เจ็บไข้ได้ป่วยตามความชราภาพของร่างกาย

อุปาทาน

หนึ่ง สอง สาม นี่อุปาทาน ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ท่านจะบอกว่า เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วให้ร่างกายมันเจ็บไข้ได้ป่วย อย่าให้จิตใจมันป่วยด้วย จิตใจมันป่วยด้วยคือมันมีอุปาทานยึดมั่นถือมั่นแล้วมันวิตกกังวลจนคนไข้เจ็บป่วยเล็กน้อยอุปาทานจนใหญ่โต จนหมอรักษาไม่หาย อันนี้ถ้าอย่างนี้ปั๊บ มันจะแก้ไข อันนี้พูดถึงขาชาไง ประสบการณ์น่ะ ประสบการณ์ของคนมี

ฉะนั้น เวลาผู้ที่ปฏิบัติ เวลาปฏิบัติแล้วมันชา เขาเป็นผู้ฝึกหัดใหม่จะทำอย่างไร

มันจะชานะ เวลาเราสู้กับเวทนานะ ถ้าเราพุทโธๆ เราสู้กับเวทนา ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าจิตมันรวมลง ถ้ามันชนะนะ มันรวมลง ว่างหมดเลย เวิ้งว้าง มีความสุขมาก 

แต่ถ้าวันไหนนะ พุทโธๆๆ ใช้ปัญญาอบรมสมาธินะ มันปล่อยแต่ไม่รวม มันชาอย่างนี้ มันชาหมดเลย เห็นไหม สุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา ขันติธรรม มันเสมอกันไง มันตรงกลาง มันจะชาหมด มันไม่สุข แล้วมันก็ไม่ทุกข์ เออ!จะแพ้เวทนาก็ไม่แพ้ จะชนะก็ไม่ชนะ มันอยู่ตรงกลาง ชา มึนชาอยู่อย่างนั้น นี่คืออัพยากฤต ทุกขเวทนา สุขเวทนา อุเบกขา มันลงตรงนี้ แต่จิตไม่ลง พุทโธอย่างไรก็ไม่ลง เวลามันไม่ลง มันคาอยู่อย่างนี้ ไม่ลง

ฉะนั้น เวลาภาวนาไปมันจะรู้หมด ถ้าเวทนามันขนาดไหน สู้มันได้ ถ้าสู้มันได้ เราเคยทำได้ กิเลสมันจะหลอกเราไม่ได้ ถ้ากิเลสหลอกเราไม่ได้ เวลามันชามันอะไร มันมีประสบการณ์ไป นี่พูดถึงขนาดว่าออกจากภาวนาแล้วมันชานะ 

แต่เวลาเราสู้กับมัน สู้เพื่อประโยชน์กับเรา สู้เพื่อความเป็นจริงของเรา ฉะนั้น พูดถึงว่า แก้ไขของเรา ทำเพื่อประโยชน์กับเราเนาะ นี่พูดถึงว่า ถ้ารู้แล้วพูด มันชัดเจน ไม่รู้พูด ไม่รู้พูดมันก็ต่างคนต่างด้นเดา ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้ใดด้นเดาธรรม มันก็ได้ธรรมะด้นเดา เอวัง